ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปฏิบัติเพื่อรู้

๓o ก.ย. ๒๕๖o

 

ปฏิบัติเพื่อรู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๑๓๗. เรื่อง “ความรู้สึกเหมือนถึงทางตัน”

กราบขอความเมตตาหลวงพ่อเจ้าค่ะ หนูปฏิบัติใช้พุทโธ ดูลมหายใจที่ปลายจมูกค่ะ พอลมหายใจเริ่มเบาๆ ตัว (ขาและหัวเข่าเริ่มเบา) ก็มากำหนดความรู้สึกอยู่ที่มือ แล้วพิจารณากาย เวทนา จิต เป็นคนละส่วนกันโดยการนึกค่ะ ทำสลับกับพุทโธ คำถามนะคะ

ข้อที่ ๑ บางครั้งเกิดเวทนาปวดตรงข้อเข่าตุ๊บๆ บางครั้งรู้สึกเหมือนไม่เจ็บ จิตก็ไปกำหนดรู้เฉยๆ กับอาการตุ๊บๆ เข่าส่วนหนึ่ง ปวดส่วนหนึ่ง รู้ส่วนหนึ่ง หนูทำถูกไหมคะ

ข้อที่ ๒ พิจารณาธรรม หมายความว่าอย่างไรคะ

ข้อที่ ๓ บางครั้งเหมือนทางตัน ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อค่ะ ได้แต่รู้เฉย รู้เฉย ทำความรู้อยู่ที่มือพร้อมกับพุทโธ จิตส่งออก พอรู้ตัวก็เพิ่มกำลัง พุทโธเร็วๆ บ่อยๆ บางครั้งนั่งจนจิตเวิ้งว้าง พูดไม่ถูก กลัวๆ กล้าๆ ก็จะเรียกลมหายใจแรงขึ้นมา นั่งภาวนาเหมือนกินอาหารซ้ำๆ แบบเดิม แต่หนูไม่เบื่อภาวนานะคะ ควรจะทำอย่างไรต่อไปคะ ทุกวันนี้บอกกับตัวเองว่านั่งไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคาดหวังอะไร นั่งเอาบุญ กราบขอบพระคุณในความเมตตาค่ะ หนูชอบสถานที่ปฏิบัติธรรมวัดสันติฯ มาก เพราะเป็นป่าน้อยๆ

ตอบ : เขาว่านะ เวลาชอบมันก็ดีไง เวลาไม่ชอบมันก็เป็นโทษไง อันนี้พูดถึงว่าการปฏิบัติว่าถึงทางตันๆ ไอ้เวลาจักรวาล ดวงดาวต่างๆ สิ่งที่จักรวาลมันกว้างใหญ่ไพศาล ทีนี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ โลกทัศน์คือหัวใจของเรา เห็นไหม เวลาที่ว่าจิตใจนี้มันครอบจักรวาลๆ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงว่านิพพานในใจของท่านครอบ ๓ โลกธาตุ ท่านบอกหัวใจนี้ยิ่งใหญ่ มันเหมือนมังกรอยู่กลางอากาศเลย มันกว้างขวางมาก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่คือจิตใจของมนุษย์ จิตใจของมนุษย์สร้างบุญญาธิการได้มหาศาล แล้วจิตใจของมนุษย์ตอนนี้มันโดนกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันไว้ พอครอบงำไว้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรามาศึกษาของเราไง เวลาศึกษาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงวิธีการปฏิบัติ แล้ววิธีการปฏิบัติมันก็อยู่ในวิธีการใช่ไหม แล้วเวลาสังคมไทยๆ สังคมเราเวลาปฏิบัติก็กลัวบ้า กลัวเสียสติ การปฏิบัติต้องมีครูบาอาจารย์คอยควบคุม แล้วถ้าปฏิบัติไปแล้วกลัวจะเสียสติ กลัวไปหมด

เวลาจะประพฤติปฏิบัติ เรากลัวแต่โทษ แต่เวลาเราทำความผิด เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา มันใช้ให้เราทำความชั่ว ทำความพอใจของกิเลส เราไม่เคยกลัวมันเลย แต่เราจะทำคุณงามความดี เรากลัวไปหมดทุกอย่าง ทำสิ่งใดเรากลัวจะผิดพลาดไปทั้งนั้นน่ะ นี่กลัวไปทั้งนั้นเลย ฉะนั้น เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ปฏิบัติบูชาๆ การปฏิบัติบูชา ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้ว เราปฏิบัติตามนั้น

การปฏิบัติมันก็เหมือนอยู่ในสังคม สังคมใดก็แล้วแต่ ถ้าสังคมนั้นเขาเคยทำอย่างนั้น เขามีวัฒนธรรม มีประเพณีอย่างนั้นนะ เราทำให้เข้าสู่วัฒนธรรมประเพณีมันก็ดีงามทั้งนั้นน่ะ นี่สังคมปฏิบัติ สังคมปฏิบัติไง สังคมของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเกิดมาแล้วเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วท่านก็คิดของท่านขึ้นมาเองไง ถ้ามันมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีฝั่งตรงข้ามที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย คนเราที่มันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันจะมีความสุขขนาดไหน ท่านก็แสวงหาของท่านจนท่านประสบความสำเร็จของท่าน นี่คือหัวใจของศาสนา หัวใจของศาสนาคือตรงนี้นะ คือการแก้การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เกิด แก่ เจ็บ ตายมันจะไม่มีจากใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ไปเลย พ้นจากทุกข์ไปเลย แล้วมันมีที่ไหน เห็นไหม

ทางวิทยาศาสตร์เขาก็พยายามจะคิดค้นกัน ทางการแพทย์จะจรรโลง อยากจะให้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ จะให้คนอายุยืน มันก็ได้แค่นั้นน่ะ แต่บอกว่าไม่ให้ตายนี่ไม่มี แต่ในพระพุทธศาสนาบอกเลย ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่ฝั่งตรงข้ามเลย เวลาฝั่งตรงข้ามแล้วมันทำอย่างไรมันถึงไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายล่ะ

เวลาเกิดกลับไม่รู้นะ ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ ไม่รู้ว่ามันเกิดอย่างไร เวลาอวิชชาความไม่รู้มันถึงได้เกิด แล้วพอรู้แล้วมันไม่เกิด แล้วไม่เกิด ไม่เกิดอย่างไร ถ้าไม่เกิดมันก็จบสิ้นใช่ไหม ฉะนั้น คำว่า “ไม่เกิด” เวลาการกระทำมันก็ต้องไปทำที่ต้นเหตุ ต้นเหตุว่าอะไรมันเกิดล่ะ แล้วเราไปดับก็ดับตรงที่มันจะเกิดนั่นน่ะ มันก็ไม่เกิด พอมันไม่เกิดขึ้นมามันก็เป็นสัจจะเป็นความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริง เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สังคมที่ความจริง เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่าน จนหลวงปู่มั่น เขาร่ำลือกันว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์

ในพระไตรปิฎก พระอรหันต์คือไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เสวยแต่วิมุตติสุข จิตที่มีความสุขมหาศาล เขาก็ไปถามหลวงปู่มั่นว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์หรือ

หลวงปู่มั่นบอกว่า สิ่งที่กระแสสังคม โลกธรรม ๘ เป็นเรื่องของโลกธรรม ๘ ไอ้ความจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์มันเป็นอยู่ในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติท่านดำรงชีพเป็นแบบอย่างให้เราดูไง ฉะนั้น ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นที่อยู่กับหลวงปู่มั่นส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันปฏิบัติตามความเป็นจริงไง ถ้าเป็นจริงมันก็เป็นจริงขึ้นมา แล้วสังคมมีความเชื่อถือ มีความมั่นคงขึ้นมา สังคมก็อยากประพฤติปฏิบัติ เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็เข้ามาสู่คำถามของหนูนี่ไง หนูปฏิบัติ หนูกำหนดพุทโธ ดูลมหายใจที่ปลายจมูก เวลาลมหายใจก็เริ่มตัวเบาๆ เข่ากับขามันก็เริ่มเบาลงๆ เอาความรู้สึกไว้ที่มือ ไว้ที่มือแล้วก็เริ่มพิจารณากาย เวทนา จิต มันเป็นคนละส่วนกัน มันโดยการนึกเอา ทำสลับกันไปกับพุทโธเจ้าค่ะ

นี่เรามีการศึกษา เรามีการกระทำ เราศึกษาแล้วเราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็มีความเข้าใจของเราไปเอง พุทโธๆๆ จนตัวมันเบา พอตัวมันเบา หนูก็พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่ก็เป็นการนึกเอาค่ะ

โดยการนึกเอามันก็ตามแนวทางนั่นน่ะ นี่ไง ส่วนใหญ่คนที่จะประพฤติปฏิบัติก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นน่ะ เราก็ศึกษา ศึกษาโดยวุฒิภาวะ ใครมีความรู้ขนาดไหนก็ทำตามนั้น นี่ก็เหมือนกัน เรากำหนดพุทโธๆ ตัวมันเบา พอพุทโธๆ เด็กจัดให้มันนั่งเรียบร้อยมันก็เรียบร้อยแล้ว จิตใจของเราก็เหมือนกัน จิตใจของเรา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร เพื่อเอาหัวใจไง

เวลาเขานั่งสมาธินะ แล้วเขาถ่ายรูปไปลงในโซเชียลกัน โอ้โฮ! นั่งสวย โอ้โฮ! นั่งตรง เขาถ่ายรูปนั่งสมาธิ

นั่งสมาธินะ ถ้าเราไปจ้างช่างปั้นรูปเลย รูปพระสงบนั่งไว้นะ แล้วพระสงบนั่งนิ่งเลย โอ้โฮ! รูปปั้นไม่ใช่ตัวเรา ไอ้ตัวเราทุกข์ฉิบหาย ปวดเกือบตาย ไอ้รูปปั้น นี่ก็เหมือนกัน นั่งแล้วก็ถ่ายรูปๆ

เรานั่งสมาธิ เดินจงกรม เราต้องการค้นคว้าหาหัวใจของเรา หาหัวใจของเราให้เจอไง ธรรมชาติของมนุษย์นะ มีกายกับใจๆ แต่มันส่งออกไปข้างนอก ไปคิดหมดเลย ไปอยู่ที่ความคิด เสวยอารมณ์ เสวยแต่ความที่มันพอใจ แต่ไม่เคยเห็นใจของตัวเองไง กำหนดพุทโธๆๆ ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาสู่ เวลาความคิดมันเกิดจากอะไรล่ะ คนตายคิดได้ไหม วัตถุธาตุมันคิดได้ไหม มันคิดได้แต่สิ่งที่มีชีวิต สัตว์มันก็คิดของมันได้ สัตว์มันคิดของมันได้ สัตว์เดรัจฉานมันทำความดี ความชั่วได้ แต่มันทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้ เพราะมันไม่มีสมองเหมือนมนุษย์ ไม่เหมือนมนุษย์ไง มนุษย์ สิ่งที่มีสมอง เวลามีสมองขึ้นมา สมองโดนกิเลสมันปิดหูปิดตา ส่งออกหมด คิดไปร้อยแปดนั่นน่ะว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ

นี่ก็เหมือนกัน พอกำหนดที่ลมหายใจ พอกำหนดลมหายใจแล้ว พอเข่ามันเบาๆ ก็ไว้ที่มือ พอเสร็จแล้วก็พิจารณาเลย อันนี้มันเป็นสูตรสำเร็จ เป็นสูตรสำเร็จ แต่ถ้าทำ มันทำได้มันมีความพอใจ มันภูมิใจก็บอกว่าฉันก็นักปฏิบัตินะ ปฏิบัติตามแนวทางอริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เลย ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเป็นแนวทาง แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติมันต้องมีสติมีปัญญา มันต้องมีการแก้ไข

เวลาหลวงตาท่านมีอำนาจวาสนา ท่านปฏิบัติสิ่งใดไปแล้วท่านไม่เชื่อ ท่านต้องพิสูจน์ เวลาท่านเล่าให้ฟัง เวลาจิตมันเสวยอารมณ์แล้วมันปล่อย มันปล่อยแล้วมันว่างหมด แล้วกิเลสไง หรือความสำนึกของตนมันก็คิดขึ้นมา “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ มันว่างหมดนี่ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ” ท่านบอกว่า “ถ้าอย่างนี้ไม่เอา” เห็นไหม ท่านจะทดสอบ ท่านจะตรวจสอบ “ถ้าอย่างนี้ไม่เอา” อย่างนี้ไม่เอาก็หาเหตุหาผล พอหาเหตุหาผล เดี๋ยวกิเลสมันก็ฟูขึ้นมาอีก

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาทำเขาต้องทดสอบตรวจสอบทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาแนวทางคำสอน เห็นไหม ทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญา นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธที่ปลายจมูกค่ะ ลมหายใจมันเบา เวลาจิตใจมันเบา หัวเข่ามันเบา ทุกอย่างมันเบา ก็เอาความรู้สึกไปไว้ที่มือ แล้วก็พิจารณากาย แล้วก็คิดส่งออกไง คิดเองได้หมด นี่จินตนาการได้ทั้งนั้น แล้วจิตนี้มันทำได้ทั้งนั้น จิตนี้เป็นนามธรรม เวลาเราฝันน่ะ ปั๊บๆๆ เป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ เพราะจิตมันไว ความคิดเร็วมาก แล้วพอเรามีแนวทาง เรามีการศึกษาก็มีข้อมูลไง มันมีข้อมูลอยู่ในใจอยู่แล้วนะ เวลาใจมันจะเป็นอย่างนั้นไปเลย แล้วเป็นอย่างนั้นไปเลย ถ้าเรายังมีบุญมีวาสนานะ มันก็คิดได้ ทำได้ เห็นจริงเห็นจังนะ แต่นี่โลกียปัญญา ปัญญาที่จิตยังไม่มันสงบ แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นไปนะ มันจะคิดได้ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้เยอะ

แล้วพอเวลามันคิดได้ เวลากำหนดพุทโธๆ แล้วเราก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมเลย โดยการนึกเอาค่ะ ถ้ามันคิดได้มันก็คิดได้ค่ะ ถ้ามันคิดไม่ได้นะ เดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่านค่ะ เดี๋ยวมันก็โต้แย้งค่ะ เดี๋ยวกิเลสมันก็ต่อต้านค่ะ พอต่อต้านขึ้นมาแล้วทำอย่างไร นี่ไง การทำแบบเราไง

แล้วเราก็มาสงสัย เอ๊ะ! เราก็ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านะ แล้วเราก็ทำตามนั้นเลย ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ ไม่เป็น เพราะกิเลสมันหลอก กิเลสมันหลอกอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าเราทำความสงบของใจ แล้วพอจิตสงบแล้วเราไม่มีความสามารถจะทำอย่างใดให้มากขึ้นไปกว่านี้ ก็ฝึกหัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ปัญญามันเป็นวิธีการที่เราฝึกหัดใช้ได้ แต่ถ้านี่การฝึกหัด คำว่า “การฝึกหัด” มันยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง การฝึกหัด การฝึกหัด เราเอาเด็กมาฝึกงาน เราก็ให้เด็กมันฝึกงาน แต่งานจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะว่าเราเป็นคนบอกใช่ไหม แต่ถ้าเด็กมันคิดได้ มันทำของมันได้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันทำ มันทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทีนี้พอทำบอกว่า จิตมันเบาๆ แล้วเราก็ใช้ปัญญาค่ะ ใช้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันพิจารณาได้ค่ะ

ถ้าพิจารณาได้ ถ้ามันพิจารณาโดยสติปัญญานะ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” หมายความว่า จิตมันคิดโดยธรรมชาติของมัน เราก็ให้มันมาคิดเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม ถ้ามันคิดโดยสติปัญญา พอจบกระบวนการความคิดมันก็มันหยุด การหยุดอันนี้มันหยุดขึ้นมาเพราะมันปล่อยวาง แต่ถ้ามันไม่มีสติปัญญาบอกว่านี่คือวิปัสสนา...ไม่ใช่

วิปัสสนา จิตต้องสงบก่อน จิตสงบ จิตมันสงบมากกว่านี้ แล้วเวลามันเห็นกายมันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนกิเลส ถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วจับเวทนามันไม่เจ็บไม่ปวดไง ถ้าเวทนาเป็นเรา โดยธรรมดาเวลาเรานั่งไปแล้วเรามีความเจ็บปวด เราจะมีความดีใจเสียใจ นั่นคือเวทนาของจิต ถ้าเวทนาเป็นเราอยู่นี่ มันไปจับเวทนา เวทนายิ่งเจ็บช้ำน้ำใจมากขึ้น แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตสงบแล้วไปจับเวทนา

เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตมันจับเวทนาได้สบายๆ เลย จับเวทนา เวทนามันมาจากไหน เวทนาเป็นนามธรรม สิ่งที่เวทนามันเกิดที่เข่า เกิดที่เอว จะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ เพราะจิตมันไปหลง จิตมันไปรับรู้ ถ้าจิตมันไปรับรู้แล้ว หัวเข่า เอว แข้ง ขา มันเจ็บไม่ได้ เอวมันเจ็บไม่ได้ เอวมันเจ็บไม่เป็น หัวเข่าก็เจ็บไม่เป็น หัวเข่ามันมีเซลล์ มีสิ่งมีชีวิต แต่มันเจ็บไม่เป็น แต่ที่เจ็บเป็นเพราะจิตมันหลง จิตมันโง่ มันถึงไปเสวยอารมณ์ว่านั่นเป็นความเจ็บปวด

ถ้าจิตสงบแล้วสติปัฏฐาน ๔ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจิตไม่สงบ สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นภูเขา มันทับเอาตายเลย ทีนี้มันทับเอาตายเลย แต่ก็ฝึกหัดใช้ นี่พูดถึงการฝึกหัดนะ

นี่เขาบอกว่า การปฏิบัติเขาปฏิบัติเพื่อให้รู้ เห็นไหม เรียนปริยัติก็เรียนเพื่อทรงจำธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติก็ปฏิบัติให้รู้เรื่องสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติให้เกิดปัญญา การปฏิบัติให้เกิดปัญญา ปัญญาเป็นของเรา ปัญญาที่เวลาไปทำงานแล้ว มันประสบการณ์สิ่งใดแล้ว มันรู้มันเห็นขึ้นไป มันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไป แล้วเราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนรู้เอง เราเป็นคนเห็นเอง มันชัดเจนของมัน ถ้ามันชัดเจนของมัน นี่คือเป็นอริยสัจในหัวใจของใจดวงนั้นไง

นี่พูดถึงว่า เขาอารัมภบทมาก่อนไง เราถึงบอกว่า สิ่งที่เขาทำ เขาทำโดยทางวิชาการ ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วก็ใช้สติปัญญา แต่เขาบอกว่า เขาพุทโธไป ที่เขาใช้ปัญญานี้มันก็เป็นปัญญาแบบนึกเอา นึกเอามันก็แบบว่าเป็นการฝึกหัด จะบอกว่าไม่ใช่เลย ไม่ดีเลย มันก็เป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติ เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากสามัญสำนึกทั้งนั้นน่ะ ปัญญาเกิดจากโลกๆ นี่แหละ แต่ถ้าเราทำบ่อยครั้งเข้าๆ เราจะบอกว่า ทำบ่อยครั้งเข้ามันจะละเอียดลึกซึ้งไปกว่านี้ไง

ถ้าบอกว่าอันนี้ถูกปั๊บ เวลาถูกปั๊บ มันก็เหมือนคนทำงานจบแล้ว ถึงเป้าหมายแล้ว มันจะไม่ทำต่อไป แล้วพอจิตมันละเอียดเข้าไป เราจะไม่ยอมให้จิตละเอียดเข้าไป เราจะไม่ยอมรับปัญญาที่ละเอียดกว่านี้ไง เพราะคิดว่าเราใช้ปัญญาจบแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่หลอกลวง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเป็นสิ่งที่อริยสัจที่ละเอียดขึ้น ละเอียดสุด ละเอียดที่จนละเอียดเข้าไปถึงชำระกิเลสได้ แต่ตอนนี้มันเป็นโลกียปัญญา เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา มันจะละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป แต่ก็ต้องมีสติปัญญาประคองเข้าไป อย่าคิดว่าตัวเองทำตรงนี้แล้วมันจบแล้ว

นี่พูดถึงว่า ถ้าจะไม่ใช่มันก็ใช่ แต่ถ้าว่าใช่ มันก็เป็นเรื่องโลกๆ มันยังไม่เป็นเรื่องธรรม

ถ้าเป็นเรื่องธรรม ถึงเข้าที่คำถาม “๑. บางครั้งเวทนาปวดตรงข้อเข่าตุ๊บๆ บางครั้งรู้สึกไม่เจ็บ จิตก็ไปกำหนดรู้เฉยๆ และอาการตุ๊บๆ ส่วนหนึ่ง ปวดส่วนหนึ่ง หนูทำถูกไหมคะ”

นี่แบบว่ามีสติปัญญาก็ถูกค่ะ ถูกแบบว่าเราทำเรามีสติ สติเราก็ดูแลไป แล้วกำหนดพุทโธไว้ กำหนดพุทโธ เขาบอกเขากำหนดพุทโธๆ แล้วก็ใช้ปัญญาเลย

กำหนด ถ้าเราจะเอาสมาธิ เราจะเอาความสุข เราจะเอาความสงบ เรากำหนดพุทโธไว้ ยังไม่ต้องพิจารณาอะไรทั้งสิ้น พุทโธๆๆ พอพุทโธไป เราจะเห็นความละเอียดของใจเข้าไป พุทโธๆ จนพุทโธมันคล่องแคล่ว พุทโธมันชำนาญ พุทโธๆๆ มันจะเจือจางขนาดไหน เราก็ต้องชัดๆ ไว้ อย่าทิ้ง พุทโธๆ จนถ้ามันพุทโธไม่ได้โดยข้อเท็จจริงนั้น นั่นคือจิตแท้ๆ ถ้ายังพุทโธได้อยู่นี่มันเป็นสอง คือตัวจิตกับตัวคำบริกรรม

พุทโธๆๆ ถ้าเอาชัดๆ เอาชัดๆ อย่างนี้ แต่ชัดๆ แล้วมันเครียด ชัดๆ แล้วมันทำไม่ได้ผล ถ้าไม่ได้ผล จะวางแล้วมาใช้ปัญญาอย่างนี้ก็ได้

ระหว่างใช้ปัญญากับคำบริกรรมต่อเนื่องไป แต่ที่ว่าเวลาจิตมันกำหนดรู้เฉยๆ แล้วมันเกิดอาการตุ๊บๆๆ พอมันละเอียดขึ้นไป หลวงตาท่านบอกว่าท่านอยู่ในป่านะ หมากหัวใจมันเต้น เราจะได้ยินหัวใจเราเต้นเองเลยนะ เวลาจิตดีๆ พูดไปแล้วมันจะเหมือนกับหนังจีน มดเดินยังได้ยินนะ มดเดิน ใบไม้ตกแป๊ะ! เวลาถ้าจิตมันสงบมันจะ โอ้โฮ! ชวนนี่ดีมากเลย อันนี้มันเป็นเฉพาะบุคคล ฉะนั้น เวลาท่านได้ยินหัวใจของท่านเต้นเอง

นี่คำถามไง บอกว่าเวลามันปวดมันปวดดังตุ๊บๆ เวลามันปวดเขาบอกว่ามันดังตุ๊บๆๆ เลย แล้วเราแบ่งส่วนเลย แบ่งส่วนตุ๊บๆ นั้นเรื่องหนึ่ง แบ่งส่วนที่เวทนานั้นเรื่องหนึ่ง หนูทำอย่างนี้ถูกหรือไม่คะ

ถ้าจิตมันดีๆ มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้เสร็จแล้ว เป็นไปได้มันก็เป็นประสบการณ์หนหนึ่ง แต่เวลาเรานั่งสมาธิ เรานั่งเช้า กลางวัน เย็น หรือพระภาวนาทั้งวันเลย อาการแบบนี้พอมันเกิดแล้ว มันเต็มที่แล้ว มันก็คลายออกมา เดี๋ยวมันก็เข้าอีก ออกอีก ความรู้สึกของเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วเราจะไปกำหนดว่าอารมณ์อารมณ์หนึ่งเป็นของตายตัว แล้วอารมณ์เราไม่เปลี่ยนแปลงเลย มันจะคงที่อย่างนั้นไม่ได้ อารมณ์ของเรามันจะเปลี่ยนแปลงทั้งวันเลย แต่ถ้าเรามีสติ มีคำบริกรรมไว้ มันจะทำให้อารมณ์นั้นคงที่ อารมณ์นั้นไม่เปลี่ยนแปลงรุนแรงจนเกินไป นี่คือการรักษาใจ การรักษาใจ เราต้องมีสติ มีคำบริกรรมไว้ รักษาใจของเราไม่ให้มันวูบวาบ ไม่ให้มันสูงมันต่ำจนเกินไป ให้มันนิ่มนวลของมัน แล้วรักษาของเราไปจนมีความชำนาญ นี้การปฏิบัติ ในการปฏิบัติ ชำนาญในวสีไง ชำนาญในการดูแลรักษาใจของตนไง

แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไป เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย เวลามันดีขึ้นไป วูบวาบไปหมดเลย เวลามันร้ายนะ มันเจ็บมันปวดจนไม่ยอมนั่งภาวนาเลย เห็นไหม อาการอย่างนี้มันจะเกิดโดยธรรมชาติของมัน แต่เวลาปฏิบัติไปมันจะมีอาการอย่างนี้ เราถึงบอกว่า ปฏิบัติให้รู้ ปฏิบัติให้มีปัญญา การปฏิบัติเป็นการเสริมปัญญา ปัญญาที่เราฝึกหัดปฏิบัติอยู่นี่ เวลาปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติไป เราจะมีองค์ความรู้ เราจะมีการกระทำ แล้วที่เราได้ฟังมา เห็นไหม “ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วก็พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม” อันนี้เป็นสูตร มันเป็นสูตรที่จะให้ทำ แต่ใจเรามันถึงระดับนั้น มันทำได้อย่างนั้น ทำแล้วได้ผลอย่างนั้นมันก็สมบูรณ์ ถ้ามันทำไม่ได้ เราจะแก้ไขอย่างไร

เราจะแก้ไขนะ ถ้ามันไปไม่ได้ มันพิจารณาไปไม่ได้ เราต้องกลับมาทำความสงบ ถ้าความสงบแล้วมันตัน ทางมันตันๆ เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราเพื่อเปิดช่องทางให้หัวใจมันพัฒนาขึ้นไป นี่ข้อที่ ๑.

“๒. การพิจารณาธรรม หมายความว่าอย่างไรคะ”

การพิจารณาธรรม การพิจารณาถ้าจิตมันสงบแล้ว ที่ครูบาอาจารย์ที่จิตใจท่านเป็นธรรมแล้วท่านบอกธรรมะเป็นธรรมชาติ เห็นสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมไปทั้งหมด ธรรมะเป็นธรรมชาติ แต่หัวใจล่ะ หัวใจมันยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาตินั้น มันมีคุณค่ามากกว่าธรรมชาตินั้น มันถึงพิจารณาธรรมชาติได้ แต่หัวใจที่มันเล็กน้อย หัวใจที่มันต่ำต้อย หัวใจที่มันโดนธรรมชาติเหยียบหัวใจอยู่ไง

เหยียบหัวใจอยู่ หมายความว่า จิตใจที่มันต่ำต้อย จิตใจที่มันต่ำต้อยมันทุกข์มันยาก มันน้อยเนื้อต่ำใจ โลกธรรม ๘ ขี่มันน่ะ เขาติฉินนินทา เสียใจ ทุกข์ใจ ถ้าจิตอย่างนี้มันพิจารณาไม่ได้หรอก

การพิจารณาธรรมๆ พอจิตมันสงบก่อนแล้วพิจารณาธรรมไง พิจารณาธรรม จิตสงบแล้วเห็นอารมณ์ความรู้สึกก็เป็นธรรมไง นั่นการพิจารณาธรรม

ฉะนั้น ข้อที่ ๒. พิจารณาธรรมหมายความว่าอย่างไร

ถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าไปสงสัยมันมาก ยิ่งสงสัยมันมาก กิเลสมันยิ่งเอาธรรมอย่างนี้มาต่อรองเรา แต่ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติไป ประเดี๋ยวพอพิจารณาเข้า เราพิจารณาโดยที่เราไม่รู้เลย แต่มันพิจารณาโดยข้อเท็จจริงของมัน พอมาฟังเทศน์แล้ว อ๋อ! การพิจารณาธรรมพิจารณาอย่างนี้เอง อย่างนี้เองต่อเมื่อมันทำแล้วไง แต่ถ้าเรายังไม่เป็น มันเป็นนามธรรมใช่ไหม เราก็จะมีตุ๊กตา จะทำอย่างนั้นๆๆ ผิดทั้งนั้นเลย เพราะมันเป็นการสร้างภาพ มันเป็นการสร้างภาพขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ นะ เดี๋ยวมันพิจารณาของมันเป็นจริง นี่ข้อที่ ๒.

“๓. บางครั้งเหมือนทางตัน ไม่รู้ต้องทำอย่างไรต่อ ได้แต่รู้เฉย รู้เฉย ทำความรู้พร้อมกับพุทโธ จิตส่งออก รู้ตัวก็เพิ่มกำลัง”

รู้ตัวก็กลับมาแบบว่า เขาเรียกพุทโธกลับมาชัดๆ เลยนะ เรียกพุทโธกลับมาชัดๆ หมายความว่าบริกรรมชัดๆ ขึ้นมา ถ้าบริกรรมชัดๆ ขึ้นมา พุทโธเร็วๆ พุทโธเร็วๆ แล้วพอทำไปแล้วจิตมันเวิ้งว้างก็กล้าๆ กลัวๆ

อยู่กับพุทโธแล้วจิตไม่เสีย ไอ้ที่ว่าเวิ้งว้างแล้วกล้าๆ กลัวๆ สิ่งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมันก็มีความวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราพุทโธชัดๆ ไว้ คำว่า “พุทโธชัดๆ ไว้” เราอยู่กับพุทธานุสติ เราอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงตาไว้ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ไม่มีเสีย จะรู้จะเห็นสิ่งใดให้พุทโธชัดๆ ไว้ เรามีพระพุทธเจ้าคุ้มครองเราอยู่ เรามีพุทโธ ผู้รู้ตื่นอยู่นี่ มันจะไม่มีสิ่งใดเสียหายเลย แต่ถ้าเราไปรู้ไปเห็นสิ่งใด คำว่า “ตกใจ” แล้วปล่อยไป วูบไป คิดไปตามนั้นมันตกใจ ตกใจแล้วมีความกลัว มีความวิตกกังวล ไอ้นี่เราพุทโธชัดๆ ไว้

แล้วพุทโธชัดๆ ไว้ เข้าไปเห็นนะ พอไปเห็นสิ่งใดขึ้นมา นั่นน่ะเห็นอริยสัจ ไม่ต้องตกใจ แต่สิ่งที่เราตกใจ เขาบอกว่าพอไปเห็นกายแล้วมันจะเกิดการพุพองเปื่อยเน่า เหมือนจะเห็นผีแล้วมันจะกลัว

เห็นผีส่วนเห็นผี ถ้าเห็นอริยสัจ นี่เห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์คือเห็นกายของเรามันแปรสภาพ แปรสภาพในปัจจุบันธรรม แต่โดยข้อเท็จจริง คนเราตายแล้ว ๓ วัน ๗ วันมันถึงจะเน่าไง แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิเห็นพับๆๆ กำหนดแล้วเป็นอย่างนั้นเลยล่ะ แล้วมันเห็นแล้ว โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมาก อันนั้นถ้าจิตมันเป็นจริงนะ ถ้าจิตเป็นจริงให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่เป็นจริง เราก็กำหนดพุทโธไว้ กำหนดพุทโธไว้แล้วฝึกหัดของเรา

ฉะนั้น ข้อที่ ๓. มันรู้เฉย รู้เฉย

รู้เฉยก็พุทโธชัดๆ รู้เฉยแบบว่ามันไม่พุทโธ ถ้าพุทโธแล้วจบ บริกรรมไว้ไง อย่าปล่อย ไม่ใช่พุทโธๆๆ แล้วทิ้งพุทโธเลย แล้วไปทางอื่น พอทิ้งพุทโธเลย จิตทีนี้มันอิสระแล้ว มันจะคิดอะไรก็ได้ มันจะทำอย่างไรก็ได้ เรากำหนดพุทโธไว้ จำไว้เลยนะ ห้ามทิ้งคำบริกรรม อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ผู้รู้คือหัวใจของเรา คนที่เสียคือทิ้งผู้รู้ พอทิ้งผู้รู้ เราก็ไม่มีจุดหมายปลายทางใช่ไหม ไม่มีตัวตนของเราใช่ไหม แล้วพอเห็นอะไรก็ตื่นเต้นไง

แต่ถ้าเราอยู่ในร่างกายนี้ เราอยู่ในบ้านของเรา ใครจะมาอะไร เราอยู่ในบ้านล็อกประตูไว้ จบ เข้ามาไม่ได้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับผู้รู้คือบ้านของเรา ผู้รู้คือเรา อย่าทิ้ง อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ไม่เสีย

แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่ทิ้งผู้รู้ มันก็ไม่เห็นอะไรเลย ถ้าทิ้งผู้รู้แล้วมันออกไปข้างนอกก็ไปเห็น ก็อยากไป พอไปแล้วก็ตกใจ นี่คนที่มีปัญหานะ ถ้าไม่มีปัญหา มันจะไม่มีปัญหานี้ เขาถามว่า สิ่งนี้ควรจะทำอย่างไรต่อไป

ถ้าควรจะทำอย่างไร ก็ทำให้มันดีขึ้น ดีขึ้น เขาบอกว่าเขาเรียกลมหายใจกลับขึ้นมา แล้วนั่งภาวนาไปเหมือนกินอาหารซ้ำๆ กินอาหารซ้ำๆ แต่ไม่เบื่อ

กินอาหารซ้ำๆ คนที่จะออกกำลังกายเขาออกกำลังกายทุกเช้า คนที่ไปออกกำลังกายที่เขาออกกำลังกาย เขาก็ไปทุกวัน นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาได้ตลอดเวลา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรานะ

เราจะบอกว่าทำเพื่อรู้ ทำเพื่อเกิดปัญญา ให้เกิดปัญญา ทำให้เป็นผู้ที่ฉลาด ไม่ใช่ทำให้เป็นผู้เซ่อ ถ้าเป็นผู้ฉลาดมันจะฉลาดขึ้นมานะ จบ

ถาม : ข้อ ๒๑๓๙ เรื่อง “เวทนาดับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมมีความสงสัยในขณะนั่งสมาธิว่า เวทนาที่เกิดขึ้นขณะนั่งสมาธิมีทั้งปวดทั้งร้อน มันดับได้อย่างไรหรือครับ ล่าสุดที่นั่ง พอเลยไปถึงเกือบๆ ชั่วโมงไป ความเจ็บปวดในร่างกายก็เกิดขึ้นครับ แต่ตอนนั้นผมยังมีสมาธิอยู่ครับ ใจไม่ร้อนรนกับความเจ็บ พอมันปวด ก็เลยทำใจนิ่งๆ แล้วดูว่าอาการปวดมันจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมก็ดูมันไปเรื่อยๆ ผ่านไปพอเริ่มทนไม่ไหวก็คิดในใจว่าขออีกหน่อยนะ ยังไม่ขยับไม่ลุก มาอีกทีก็ขออีก ดูอยู่อย่างนั้น ใจยังนิ่งอยู่ ไม่อึดอัด แต่สุดท้ายมันก็ร้อนขึ้นมามากๆ รู้สึกว่านิ่งและทำเฉยๆ มันสู้ไม่ไหว ดูอยู่ต่อไปไม่ไหว ใจร้อนรน เหงื่อแตก

พอเลิกนั่งสมาธิ อาการเจ็บก็หายไปภายในไม่ถึง ๕ นาที ก็หัวเราะเยาะตัวเองครับว่า เราสู้มันไม่ได้ ทั้งๆ ที่พอเลิกนั่ง อาการปวดมันก็หายไป กลับมาเป็นปกติ พอเลิกนั่ง ก็เห็นถึงความไม่แน่นอน มีเจ็บ มีหายเจ็บ แต่ไอ้ตอนนั่งนี้คิดถึงอนิจจังอย่างไรมันก็ไม่ปล่อยไม่วาง มันก็ปวดอยู่อย่างนั้น แต่บางครั้งอาการปวดเกิดขึ้นเวลานั่งนานๆ ตอนนั้นไม่ได้ดูอาการปวด แต่พยายามน้อมเอาจิตใส่ดูตามร่างกายตั้งแต่ผมจนถึงนิ้วเท้า มันก็ลืมปวดได้ แต่พอหยุดพิจารณาร่างกาย มันก็มาสนใจปวดอีก แบบนี้เขาเรียกว่าพลังของสมาธิยังน้อยใช่หรือเปล่าครับ

ตอนนี้ผมก็บอกตัวเองว่าพยายามทำให้มากๆ ทำ ๓ เวลาคือเช้า กลางวัน หรือก่อนนอนครับ รู้สึกว่ามันมีความคุ้นเคยกับการกำหนดรู้อะไรสักอย่าง ผมทำแบบนี้มาถูกทางหรือควรแก้ไขอย่างไรครับ

ปล. ปีติหรือแสงสว่างเกิดขึ้นทุกครั้งเวลาจิตสงบ จนไม่ดีใจหรือตื่นเต้นอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้างแล้วครับ ขอหลวงพ่อเมตตาด้วย

ตอบ : ไอ้นี่พูดถึงว่าจะผ่านเวทนา เวลาผ่านเวทนา เราพุทโธของเราไว้ เวลาผ่านเวทนานะ เวลาเรานั่งไป โดยธรรมชาติของมัน ทางการแพทย์เขาบอกเวลานั่งแล้วเลือดลมมันเดินไม่สะดวก มันก็มีอาการของมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทีนี้ท่านั่งมันเป็นท่ามาตรฐาน ยืน เดิน นั่ง นอน เวลายืน เดิน นั่ง นอน เรานั่งขึ้นไป เรานั่งเพื่อจิตสงบ ทีนี้พอจิตสงบ จิตนี้มันเป็นนามธรรมที่มันละเอียดไง พอเราไม่ได้ทำสิ่งใดเลยนะ มันก็สะดวกสบายของมันนะ เวลานั่งปกติ “โอ๋ย! เรื่องการภาวนานี่ของง่ายๆ เรื่องภาวนานะ ใครๆ ก็ทำได้” นี่เวลาถ้าไม่นั่งภาวนามันเก่งทั้งนั้นน่ะ พอไปนั่งกัน ๕ นาทีมันนึกว่า ๕ วัน พอนั่งหลับตา ๕ นาทีมันนึกว่า ๕ วัน สู้ไม่ไหว นี่จิตนี้มันหลอกไปทั้งนั้นน่ะ มันหลอกลวงตลอดเวลา เวลาหลอกลวงตลอดเวลา ฉะนั้น สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะค้นคว้านะ เราก็ค้นคว้าเข้าไปที่หัวใจของเรา เห็นไหม เวลาพระสารีบุตรไปฟังเทศน์พระอัสสชิ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ

นี่ก็เหมือนกัน เหตุการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย อะไรมันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันก็จิตนี้มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตาย แล้วถ้าจะแก้ต้องไปแก้ที่จิตนั้น ถ้าไปแก้ที่จิตนั้น แล้วถ้าแก้ที่จิตนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาอาสวักขยญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาธรรมของพระสารีบุตรก็เป็นของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็เป็นของพระโมคคัลลานะ แล้วที่คำว่า “เป็นธรรมๆ” คือมันเกิดปัญญา เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาในใจดวงนั้น มันเกิดมรรคขึ้นมามันก็ไปชำระล้างกิเลสในใจดวงนั้น มันก็จบสิ้นในใจดวงนั้น แล้วใจดวงอื่นมันก็ต้องเป็นของคนอื่นไง แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมาตรฐานใช่ไหม ใครๆ ก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันต้องปฏิบัติเกิดขึ้นจากใจดวงนั้นไง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นรูปแบบ เป็นแบบอย่าง แต่คนจะไปทำๆ คิดอย่างไรทำอย่างไรก็แล้วแต่ มันต้องเกิดเป็นธรรมะของใจดวงนั้น มันจะเกิดเหมือนกันอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นเอกสิทธิ์ของจิตดวงนั้น แต่ของคนอื่นมันอยู่ข้างนอก เอาเข้ามาไม่ได้หรอก เอาเข้ามาก็เป็นความจำ ความจำแก้กิเลสไม่ได้ แต่เวลาศึกษา ศึกษาความจำมาเป็นแนวทางไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะปฏิบัติ เวทนาเป็นเวทนา คนดีใจเสียใจมีทุกคน แล้วคนดีใจเสียใจมีมากมีน้อย คนดีใจเสียใจที่มีสติปัญญาเขาก็มีสติปัญญายับยั้งความดีใจเสียใจของเขาได้ ไอ้คนที่ยับยั้งความดีใจเสียใจเขาไม่ได้จนเป็นบ้าต้องส่งโรงพยาบาลไปเลย เพราะเขาขาดสติไง

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษามา แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาจะสู้กับเวทนา เราศึกษามา เรารู้ทุกคนน่ะ เขาบอกเลย เวลาเขานั่งไป เวทนา ขออีกนิดหนึ่งๆ ขออีกนิดหนึ่งก็สู้มันได้ไง แต่พอถึงที่สุดแล้วขอไม่ได้ คำว่า “ขอ” ไม่ได้ใช้ปัญญา

แต่ถ้าเราเอาจริงนะ เรานั่งสมาธินะ เรานั่งพุทโธๆๆ ถ้าจิตสงบ สงบไปเลย แต่ถ้าวันไหนพุทโธๆ จิตไม่สงบนะ เวทนามันมานะ มันต่อต้านแล้ว เวลามันต่อต้านขึ้นมา ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราสู้มันไม่ได้ เราพุทโธชัดๆ ไป คำว่า “พุทโธชัดๆ ไป” มันก็ดึงความรู้สึกทั้งหมดมาอยู่ที่พุทโธ ความรู้สึกนี้มันไม่ไปรับรู้เวทนา เห็นไหม อย่างที่เวทนามันเกิดขึ้น เพราะว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเกิดที่ไหน เกิดที่ร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันเกิดเวทนาไม่ได้ เวทนากายมันต้องมีจิตรับรู้มันถึงเกิดเวทนากาย เวทนาจิตเกิดจากจิตล้วนๆ เลย

เวทนากาย เวลาคนพลั้งเผลอ คนที่เขาเพลิดเพลิน เขานั่ง ๕ วัน ๗ วัน เขาไม่เกิดเวทนาเลย แต่ถ้าเวทนา เวทนากายมันต้องมีจิตโง่เข้าไปรับรู้ในเรื่องของกายนั้นมันถึงเกิดเวทนา กายจริงๆ เกิดเวทนาไม่ได้ แต่กายจริงๆ มันก็ต้องอาศัยจิตนั่นแหละ ทีนี้เวลาเวทนามีเวทนากาย เวทนาจิต แล้วเวลามันจะหลอกเรามันก็หลอกเวทนากาย เวลานั่งไปนะ ปวดเข่า ปวดเข่า ปวดเอว ปวดเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเวทนาเป็นเรา ปวดน่าดูเลย แต่เราพุทโธๆ พุทโธไว้ เราเอาจิตของเรามาไว้ที่พุทโธหมด พอถ้ามันชัดเจน มันมีกำลังขึ้นมา สามารถควบคุมจิตได้ ลงสมาธิ เวทนาหายหมด แล้วพอจิตมันสงบแล้วนะ เรานั่งต่อไป พอคลายออกมา ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับเวทนานะ เห็นไหม จิตจับเวทนา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จับแล้วมันพิจารณาได้ไง เวลาคนพิจารณาเวทนา มันจับเวทนา เวทนาเกิดจากอะไร รื้อค้นเลยในตำรา กระดูกเป็นเวทนาหรือ เนื้อเป็นเวทนาหรือ เอ็นเป็นเวทนาหรือ ไม่มีอะไรเป็นเวทนาเลย แล้วเวทนาเกิดได้อย่างไรล่ะ ก็มึงโง่ไง เพราะมึงโง่ ถ้ามึงฉลาดแล้วมันไม่มีอะไร ไม่มีอะไรก็ปล่อย นี่การพิจารณาเวทนา นี่การพิจารณานะ

แต่อันที่ว่าเขาถาม มันเกิดจากการนั่งสมาธิ แล้วถามเรื่องเวทนา แล้วถ้าเวทนามันเกิดขึ้นนะ แล้วที่เขาทำมันดีขึ้น คำว่า “ดีขึ้น” นะ แต่ก่อนนั้นพอจิตมันดีขึ้นแล้วเขาบอกว่าเขาเกิดแสงสว่าง เกิดการแพรวพราวขึ้นมา มันก็มีความมหัศจรรย์ของมันขึ้นมา เวลาจิตมันสงบมันเป็นอย่างนั้นน่ะ จิตสงบ ดูสิ ฤๅษีชีไพรเขาทำอยู่อย่างนั้นน่ะทั้งชาติของเขา เขาก็ทำสมาธิของเขาอยู่อย่างนั้น แล้วเวลาเขาทำสมาธิของเขาด้วยความชำนาญของเขานะ ด้วยสมาบัติ ๘ อย่างนี้ เขากำหนดพยายามทำเป็นอภิญญา รู้เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช นั่นเรื่องโลกๆ ไง

แต่ของเราถ้าจิตสงบแล้วมันจะย้อนกลับมาสติปัฏฐาน ๔ ให้เห็นกาย ให้เห็นเวทนา ให้เห็นจิต ให้เห็นธรรม นี้คือภาวนามยปัญญา ปัญญาการพิจารณาใคร่ครวญในกายและใจของมนุษย์ ปัญญาใคร่ครวญในกายและใจของเราเอง เพราะมันมีเรา มันติดตัว มันรักเรามันถึงไปรักคนอื่น มันถึงไปรักทุกๆ อย่าง แต่ถ้ามันทำลาย ชนะตนเองแล้ว มันวางตัวเองไว้เป็นธรรมชาติ วางตัวเองไว้เป็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายโดยเวรโดยกรรม แต่หัวใจที่มันฉลาด มันรื้อค้นขึ้นมาแล้วมันปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง จิตมันจะเป็นอิสระขึ้นมา ถ้าจิตมันปล่อยวางขึ้นมา จิตมันเป็นอิสระขึ้นมา จิตไม่เข้าไปรับรู้ ไม่เข้าไปเป็นขี้ข้าตัณหาความทะยานอยากอีก มันจะพ้นจากสิ่งที่โดนครอบงำ นี่คือการใช้ปัญญาในพระพุทธศาสนา

ปัญญาในพระพุทธศาสนา พิจารณากายและใจของเราเอง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ปฏิฆะ กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ มานะถือตัวถือตนนี่ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่เวลาจะชนะกิเลสชนะตรงนี้ ชนะตรงสังโยชน์ ๑๐ ชนะตนเอง นี่มานะ ๙ ไง เก่งนัก ดีนัก ยอดนัก มานะทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้ามันชนะหมดล่ะ นี่ปัญญาในพระพุทธศาสนา แล้วถ้าปัญญาในพระพุทธศาสนาชนะตรงนี้ได้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เออ! ชนะหมดเลย

แต่ที่แพ้ก็แพ้ตัวเองนี่แหละ ไอ้การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายก็ตัวเรานี่แหละ แล้วจะไปรู้เรื่องอะไร แล้วศึกษาขึ้นมาจะไปรู้เรื่องอภิญญาไง จะไปรู้เรื่องภายนอกไง นั่นเรื่องโลกๆ อภิญญาเรื่องโลก แต่ธรรมะล่ะ ธรรมะเรื่องภายใน ถ้าเรื่องภายใน เขาว่าเขาจะชนะเวทนาได้อย่างไร แต่ตอนนี้เขาเริ่มดีขึ้น เขาเริ่มปล่อยวางดีขึ้น ความเจ็บปวดอย่างไร นั่นเวลาชนะเวทนา

๑. เวลาคนที่เขาจะพิจารณานะ เขาจะพิจารณาเรื่องเวทนา พิจารณาเรื่องกาย

เราบอกทำความสงบของใจเข้ามาก่อน เวลาสิ่งใดที่มันเกิดเฉพาะหน้า บางทีมันก็เห็นกาย บางทีมันก็เห็นเวทนา บางทีมันก็เห็นจิต ถ้าเห็นธรรมๆ เห็นอารมณ์ อารมณ์ที่หงุดหงิดนั่นน่ะถ้ามันจับได้ ถ้าจิตสงบแล้วมันจับได้ สิ่งใดที่เกิดขึ้น เราจะบอกว่ามันเป็นปัจจุบัน ทีนี้ถ้ามันเป็นปัจจุบันนะ เราจะคิดเลยนะ บางคนภาวนาใหม่ๆ จะชนะกามราคะ ทุกคนจะเอาอสุภะๆ

อสุภะมันเป็นข้าศึกใหญ่ แต่ความจริงเราติดในกายของเราก่อน เราทำความสงบของใจเข้ามา มันรู้มันเห็นสิ่งใดเป็นปัจจุบัน เอาตรงนั้น ไม่ใช่จำเป็นว่าเราจะต้องมีข้าศึกคนนั้น เราจะต้องมีข้าศึกคนนี้ ไอ้เรื่องข้าศึกคนนั้น ข้าศึกคนนี้ เราตั้งเป้าของเราไว้ แต่ถ้าความจริงๆ สิ่งที่มันเป็นกิเลส สิ่งที่มันเป็นคู่กรณีกับจิตของเรามันโผล่ขึ้นมาเฉพาะหน้า ตรงหน้าเดี๋ยวนั้น เอาตรงนั้น เอาสิ่งใดที่มันเกิดมาเฉพาะหน้า เกิดมาตรงหน้า แล้วจับตรงนั้นพิจารณา นั่นน่ะเป็นปัจจุบัน แล้วปัจจุบันนี้มันจะแก้ไขตรงนั้นได้

นี่พูดถึงว่า การปฏิบัติ เขาบอกว่าปฏิบัติเพื่อรู้ เราทำเพื่อรู้ ทำเพื่อเกิดปัญญา แต่นี่เวลาเกิดปัญญา สิ่งที่คำถาม คำถามมามันเป็นแบบว่าผู้ฝึกหัดใหม่ ฝึกหัดใหม่แล้วเรามีสติปัญญา ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาศึกษาทางทฤษฎี แล้วเราปฏิบัติแล้วเราก็จะปฏิบัติตามทฤษฎีการศึกษานั้น แต่ในความเป็นจริง ในความเป็นจริงเราปฏิบัติแล้วตามข้อเท็จจริง นี่ครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ มีประสบการณ์อย่างนี้ เริ่มต้นเราปูพื้นฐานของเราให้เรามั่นคงขึ้นมา แล้วจิตสงบแล้วเราพิจารณาของเรา นี่เป็นงานส่วนตัวนะ เป็นงานรื้อภพถอนชาติ เป็นงานภพรื้อชาติในใจของเรา

ไอ้ที่เราทำๆ กันนี่เป็นงานของโลก การตลาด ทำหน้าที่การงานขึ้นมา ผลประโยชน์ของสังคม เราเป็นวิชาชีพของเรา นั่นงานทางโลก แต่ถ้างานทางธรรมเป็นงานส่วนตัวของเรา งานของเรา พิจารณาอย่างนี้ ถ้ามันแก้ไขอย่างนี้มันจะเป็นปัญญาของเรา ทำเพื่อรู้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ทำเพื่อให้จิตรู้ ทำเพื่อให้จิตฉลาด ทำให้จิตคลายความสงสัย ทำให้จิตมีหน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงาน เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกของจิตดวงนั้น เอวัง