ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้ความจริง

๑ ต.ค. ๒๕๖o

 

รู้ความจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๑๔๐. เรื่อง “ฆราวาสบรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ดำรงตนอย่างไร”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ลูกมีปัญหาธรรมที่อยากจะถามแบบจริงจังครับ

๑. บุคคลคู่ที่ ๑ การดำรงตนในเพศฆราวาสเหมือนปกติคนทั่วไปในศีล ๕ ศีล ๘ ใช่หรือเปล่าครับ

๒. บุคคลคู่ที่ ๒ ถ้ามีวาสนาบารมีมากพอที่จะบรรลุได้ จะดำรงตนเหมือนข้อที่ ๑ หรือเปล่าครับ

๓. บุคคลคู่ที่ ๓ ถ้าคนคนนั้นมีวาสนาบารมีมากพอที่จะทำได้ตั้งแต่ในเพศฆราวาส แต่ดำรงตนเหมือนข้อที่ ๑ ใช่หรือเปล่าครับ

๔. ขั้นสูงสุดไม่ขอกล่าวถึง พอรู้ว่าอยู่ในเพศฆราวาสไม่ได้ ต้องบวชอย่างเดียว

ที่ถามเพื่อรู้ไว้เป็นคติธรรมครับ และเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ลูกไม่มีเจตนาลบหลู่ใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อคลายสงสัยมานานมากครับ

ด้านสมาธิก็ดำเนินตามขั้นตอนและแนวทางคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด ก็พัฒนาขึ้นทุกๆ ด้านครับ เริ่มที่จะรู้เฉพาะตนเองขึ้นเรื่อยๆ ครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : อันนี้พูดถึงบุคคลคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ อันนี้เป็นอริยสัจ เป็นสัจจะเป็นความจริง เป็นสัจจะเป็นความจริง เป็นอกุปปธรรม เป็นอกุปปธรรมในพระพุทธศาสนา

เวลาในพระพุทธศาสนามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาแสดงธัมมจักฯ ไป พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมๆ อันนั้นไง

ในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนามีพระอรหันต์มากมายมหาศาลในสมัยพุทธกาล ในสมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ในบ้านหนองผือ ยายกั้งมองไปที่วัดหนองผือ มันสว่างไสวนะ มีดาวดวงเล็กดวงใหญ่ มีครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นที่เป็นพระอรหันต์ มีลูกศิษย์ลูกหาที่ประพฤติปฏิบัติมา มันมีเพชรนิลจินดา มีคุณธรรมประดับไว้ในศาสนา พระพุทธศาสนามีคุณธรรม สิ่งที่เป็นสัจจะเป็นความจริง ถ้าใครทำความเป็นจริงได้อย่างไร มันจะได้ผลอย่างนั้น ถ้าได้ผลอย่างนั้น นี่ไง ไม่ใช่ศาสนาว่างเปล่า ไม่ใช่ศาสนาที่ไม่มีคุณธรรม ไม่ใช่ศาสนาที่ไม่มีสิ่งใดเป็นความจริง มันมีความจริงของมันอยู่แล้ว ถ้ามีความจริงอยู่แล้ว บุคคลคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ มันมีอยู่ในพระพุทธศาสนา เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย ลัทธิศาสนาอื่นไม่มี ถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน สุภัททะที่มาถามไง ศาสนาไหนก็ว่าดี ศาสนาไหนก็ว่าดี

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ไม่มีมรรคคือไม่มีสัจจะความจริง ไม่มีอริยสัจ ไม่มีผลหรอก

ฉะนั้น เวลาผู้ถามถามเสร็จแล้วให้พระอานนท์บวชเลย เธอบวชเลย บวชเสร็จแล้วให้ประพฤติปฏิบัติเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานคืนนั้น สุภัททะก็ได้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนเอง นี่ไง นี่พูดถึงว่ามันเป็นความจริง มันเป็นสัจจะเป็นความจริง ถ้ามันมีความจริงในพระพุทธศาสนา ถ้าเราคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ มันเป็นความจริงของมันถ้าคนทำได้ไง

แต่ผู้ถามถามก็คิดว่า ถ้าเราทำไปแล้ว เราเป็นฆราวาส เราได้เป็นโสดาบัน ได้เป็นสกิทาคามี ได้เป็นอนาคามี ได้เป็นพระอรหันต์ เราจะดำรงชีพเป็นฆราวาสได้หรือไม่ หรือเราต้องไปบวชเป็นพระ โอ๋ย! มันวิตกกังวลไป...ไม่ต้อง ทำให้ได้ก่อน ทำขึ้นมาเลย เป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีในหัวใจ มันเป็นเองไง

เวลาหลวงตาท่านถามนะ ลูกศิษย์มาถามท่านมากเลย จะเป็นอย่างนั้นๆ

ท่านบอกเลย ท่านไม่เห็นต้องถามใครเลย

มันมีผู้ที่ปฏิบัติแล้วหลงว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไปถามหลวงตาว่า ดิฉันเป็นพระอรหันต์แล้วค่ะ จะให้ดิฉันทำอย่างไรคะ

ท่านตอบกลับนะ เราไม่เห็นถามใคร พระอรหันต์ไม่เห็นต้องถามใคร

มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกใช่ไหม เรามีเงินอยู่หนึ่งล้าน เราต้องไปถามใคร เราต้องเอาเงินล้านหนึ่งแล้วก็ไปถามเพื่อนๆ เฮ้ย! เงินล้านนี้ทำอะไรดีล่ะ เงินล้านหนึ่ง มีใครเอาแล้วก็ไปเที่ยวถามเพื่อนๆ ไหมว่าเงินของฉันจะทำอย่างไรๆ มันเก็บไว้มิด มันไม่ให้ใครเห็นเลย มันกลัวเขายืม มันกลัวเขาขอแบ่งปัน มันเก็บในตู้เซฟฝากธนาคาร มันเก็บมิดเลย ไม่ให้ใครเห็นเลยเวลาถ้ามีเงินล้าน

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่าอย่าวิตกกังวล วิตกกังวล มันก็เป็นห่วงเป็นใยเนาะ โอ้โฮ! ตอนนี้ถ้าเป็นทางโลกนะ เราก็มีครอบครัว เราก็มีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วถ้าบังเอิญเราเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไร โอ๋ย! มันเป็นทุกข์เป็นร้อนไปหมดเลย ถ้าเป็นทุกข์เป็นร้อนอย่างนี้วางไว้ ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ถ้าเป็นคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ นะ มันเป็นในหัวใจ

เวลาเป็นคู่ที่ ๑ ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ละสังโยชน์ คนนะ ละสังโยชน์ออกไปจากหัวใจ เวลามันขาด สังโยชน์ขาดไปจากใจ มันกังวานกลางหัวใจนะ คนคนหนึ่งเกิดมา อย่างพวกเราทุกคน เราสงสัยเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไหม สงสัยทุกคน สงสัย เทวดา อินทร์ พรหมมีไหม สงสัยทุกคน แล้วสงสัยว่าเราเกิดมาจากไหนไหม สงสัยทุกคน แต่เวลาถ้ามันพิจารณาของมันไปนะ เวลาสังโยชน์มันขาด โอ๋ย! มันรู้เลยว่าอีก ๗ ชาติ อีก ๗ ชาติเท่านั้น มันไปสงสัยอะไร

แล้วเวลาปฏิบัติไป สังโยชน์มันขาดไปนะ ปฏิฆะ กามราคะอ่อนลง นี่พระสกิทาคามี นี่คู่ที่ ๒ เวลาคู่ที่ ๓ ปฏิฆะ กามราคะขาดไปเลย ไม่เกิดอีกแล้วในกามภพ คือถ้าเป็นพระอนาคามี เกิดบนพรหมอย่างเดียว ไม่เกิดอีกแล้ว ตั้งแต่เทวดาลงมาไม่เกิดอีกแล้ว

แล้วถ้ามันพิจารณาไปถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์นะ หมดเลย พ้นจากวัฏฏะ วิวัฏฏะ ที่บอกว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติคือเหนือวัฏฏะ เหนือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ นี่เหนือธรรมชาติ เหนือหมดเหนือทุกอย่าง รู้ธรรมชาติแล้ววางธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริงไง อันนี้รู้ธรรมชาติ เราเป็นธรรมชาติ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของอันนั้นสิ

เรารู้ธรรมชาติทั้งหมด รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้ววางมันไว้ตามความเป็นจริง ไม่เกี่ยว วางไว้เลย เหนือหมดทุกอย่าง เวลาเหนือหมดเป็นอย่างนั้นนะ นั่นน่ะเป็นความจริง เป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อเท็จจริง รู้ความจริงแล้วจบ รู้ความจริงแล้วนิ่ง รู้ความจริงแล้ว เวลาหลวงตา เวลาครูบาอาจารย์นะ ท่านบรรลุธรรมแล้วท่านจะบอกเลย เอ๊ะ! จะไปพูดให้ใครฟังได้หนอ ถ้าพูดไปเขาก็จะหาว่าเราบ้า ทุกคนก็คิดว่าจะหาว่าเราบ้า เพราะมันลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เรานึกคิด แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เป็นตั้งแต่บุคคลคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ เป็นความจริงอย่างนั้น แล้วเราไปศึกษาความจริงอย่างนั้น แล้วเราก็คุ้นชินไง ในชาวพุทธเราก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ทางทฤษฎีทุกคนก็เข้าใจได้ไง แล้วก็เอามาวิเคราะห์วิจัย แล้วผู้ที่มีอำนาจวาสนาบารมีอย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ปัญญาท่านมหาศาล ท่านกว้างขวาง ท่านอธิบายได้แยกแยะไป แล้วเราก็ไปศึกษา ดูสิ เจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ของเจ้าคุณอุบาลีฯ ในประเทศไทย ที่ท่านจดจารไว้ ใครไปอ่านแล้วมันลึกซึ้ง เวลาท่านเทศน์ขึ้นมา เราก็ไปศึกษาอย่างนั้น ศึกษาอย่างนั้นไง แต่ถ้ามันศึกษาแล้วมันขยายความไป ขยายความไปมันก็เป็นเรื่องโลกทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ขึ้นมา เห็นไหม

ฉะนั้น บุคคลคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ ที่เขาถามว่ามันเป็นเช่นนั้นใช่ไหม

รู้แล้วเงียบ รู้แล้วเขานิ่ง เขาไม่พูดหรอก เพราะมันเหนือโลกไง ไอ้นี่จะรู้อย่างนั้น ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ รู้อย่างนั้น แต่เราพูดถึงว่า ถ้ารู้จริงนิ่ง ถ้ารู้จริง ความรู้จริงมันจบ แล้วจบแล้วนะ มันเหนือโลกเหนือสงสาร แล้วเขาไม่เอามาพูดพร่ำเพื่อด้วย เว้นไว้แต่ครูบาอาจารย์ท่านธมฺมสากจฺฉา

คำว่า “ธมฺมสากจฺฉา” นะ เวลาเราพิจารณาธรรมๆ อย่างเช่นหลวงตาท่านก็พิจารณาของท่าน แล้วท่านอยู่กับธรรมนะ ท่านอยู่กับธรรม หมายความว่า เวลาท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาของท่าน ท่านบอกเลย กิ่งก้านของธรรมเอามาพิจารณา เอามาพิจารณาเป็นข้อธรรมๆ ท่านพิจารณาของท่านไปด้วยความเพลิดเพลิน วิหารธรรม มันเป็นเครื่องอยู่ เป็นวิหารธรรม แล้วเวลาหลวงปู่ลี อาจารย์สิงห์ทอง ครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรม แล้วท่านมาแยกแยะไง เพราะพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล สุกขวิปัสสโกเป็นอย่างไร เตวิชโชเป็นอย่างไร แล้วพระอรหันต์แต่ละชนิดๆ เป็นอย่างไร ท่านคุยกัน ท่านสนทนากันให้มันแตกฉาน มันแยกแยะออกไปไง เพราะของเรา เราทำของเราด้วยความชำนาญของเรา เราก็ทำความชำนาญของเราใช่ไหม ความชำนาญของบุคคลอื่นเขาทำอย่างนั้นใช่ไหม มันก็เหมือนกับทางวิชาการเป็นอีกแขนงหนึ่งๆ แล้วมาสนทนากันๆ มันก็ทำให้แตกแยกแยะไป โอ๋ย! มันยิ่งมหัศจรรย์ๆ เวลาเขาสนทนาธรรมกันเขาสนทนาอย่างนี้ เขาสนทนาธรรมเป็นธมฺมสากจฺฉา เป็นมงคลชีวิต

แต่ของเรา เราฟังเทศน์ เราก็ฟังท่านสนทนาธรรมนั่นแหละ แต่ฟังแล้วก็งงๆ แต่ก็ยังดี ยังดีที่มันมีร่องมีรอยให้เราได้ศึกษา มีให้เราทำให้เป็นความจริงของเราไง ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม นี่รู้ความจริง ความจริงเป็นอย่างนั้น พระพุทธศาสนามีคุณธรรมอันนี้ ไม่ใช่ศาสนาว่างเปล่า ไม่ใช่ศาสนาที่ไม่มีเหตุมีผล ไม่ใช่ศาสนาที่พอทำเป็นพิธี

พิธี ลัทธิศาสนาอื่นเขาทำพอเป็นพิธี พอทำเป็นที่พึ่ง พอทำเป็นเครื่องอาศัย แต่พระพุทธศาสนานะ ทำเพื่อปลดเปลื้องเลย ทำเพื่อหัวใจเป็นอิสระ นี่ไง เหนือโลกเหนือสงสาร เหนือทุกอย่าง วิวัฏฏะ หักออกไปจากวัฏฏะเลย นี่เป็นข้อเท็จจริง

ฉะนั้นบอกว่าคู่ที่ ๑ เป็นอย่างนี้ คู่ที่ ๒ เป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นความคาดหมาย ความคาดหมายไปแล้ว เวลาพูดไปแล้วคาดหมายไปต่างๆ

ฉะนั้น บุคคลคู่ที่ ๑ จะเป็นฆราวาสต้องมีศีล ๕ ศีล ๘ หรือไม่

ฆราวาสเป็นฆราวาส ถ้ามันมีคุณธรรมแล้ว อันนั้นเป็นอริยบุคคล ถ้าคู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ อันนั้นปฏิบัติไปแล้วรู้หมด แต่ถ้าพูดเป็นกรอบแล้ว เดี๋ยวก็เอาแล้ว แล้วเดี๋ยวจะมีว่าต้องอย่างนั้นๆ แล้ว ใครละเอียดกว่าใคร ใครกว้างแคบกว่าใคร

อันนั้นไอ้กว้าง แคบ ละเอียดมันเป็นเรื่องหนึ่งนะ เรื่องจริงๆ อริยสัจ เรื่องจริงๆ เวลาปัญญามันหมุนน่ะ เรื่องจริงๆ เวลามรรคญาณที่มันชำระล้างกิเลส ตรงนั้นน่ะสำคัญ สำคัญที่ว่ามรรค ๘ มันเป็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องดีงาม แล้วรู้เองโดยชอบ ความชอบธรรมในการประพฤติปฏิบัติ ความชอบธรรมในมรรค นั่นแหละสำคัญที่สุด ถ้าอันนั้นขึ้นมาแล้วนะ ไอ้ที่ว่าเป็นคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ นั่นจบเลย จบ ฉะนั้นบอกว่า รู้ความจริงแล้วจบ

ฉะนั้น คำถามนะ “ถามมาเพื่อว่าเป็นคติธรรม เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ไม่มีเจตนาลบหลู่ใดๆ ทั้งสิ้น”

เจตนาส่วนเจตนาอันหนึ่งนะ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง

“แต่ด้านสมาธิก็ดำเนินตามขั้นตอนและแนวทางคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์เคร่งครัดขึ้น พัฒนาขึ้นทุกที ทุกครั้งทุกด้าน เริ่มรู้เฉพาะตน”

ทั้งหมดก็ดี ดีตรงนี้ “เริ่มรู้เฉพาะตน” เริ่มรู้เฉพาะตนเองขึ้นมาเรื่อยๆ ไง เริ่มรู้เฉพาะตนก็ประสบการณ์ของตนไง เริ่มรู้เฉพาะตนแสดงว่าจิตมันดีขึ้นไง จิต เราพัฒนา เวลาเราศึกษา ศึกษาด้วยสมอง ศึกษาด้วยสัญญา สัญญาคือการวิเคราะห์วิจัย แล้วเดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ทบทวนอย่างนั้นน่ะ นี่คือสุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา เวลาศึกษามามากน้อยขนาดไหน หลวงตาเวลาท่านจะประพฤติปฏิบัติ ท่านก็ตั้งเป้าไว้ที่หลวงปู่มั่น เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลย “มหา มหาเรียนมาจนถึงเป็นมหานะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐมากนะ เก็บใส่ในลิ้นชักสมองไว้ เพราะใครศึกษา คนนั้นศึกษาแล้วก็มีความรู้ ความรู้แล้วสิ่งนั้นถ้ามาปฏิบัติแล้วกิเลสมันอาศัยความรู้นั้นน่ะคอยพลิกแพลง เอาชนะหัวใจเราตลอดเวลาไง เอาความรู้ที่การศึกษาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใส่ลิ้นชักในสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติของเรา เวลาปฏิบัติของเราถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ความจริงของเรา ความจริงของเรากับสิ่งที่ศึกษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามันจะเป็นอันเดียวกัน”

คำว่า “อันเดียวกัน” คือธรรมะสัจจะความจริงอันนั้นกับการปฏิบัติจริงในใจของเรามันเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกัน การยืนยันการศึกษานั้นว่าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว แล้วเวลาปฏิบัติของเราไปเป็นความจริงแล้วมันเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกันเพราะว่ามันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเหมือนกัน ถ้าเป็นอันเดียวกันอย่างนั้นมันถึงเป็นประโยชน์

นี่พูดถึงว่าถ้ามีความรู้เฉพาะตนๆ นี่ ตรงนี้สำคัญ ที่ปฏิบัติกันเขาปฏิบัติกันตรงนี้ ปฏิบัติเพื่อจะให้ความรู้อันนี้มันพัฒนาขึ้น การพัฒนาขึ้น นี่ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติเพื่อรู้ๆ ปฏิบัติเพื่อหัวใจมันดีขึ้น พัฒนาขึ้น

พอมันพัฒนาขึ้น พอมันพัฒนาขึ้นมาอย่างนี้มันถึงไปสงสัย บุคคลคู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๔ คู่ที่ ๔ เนาะ เพราะมันมีแวว มีแววว่ามันพัฒนาขึ้น มันจะได้ มันจะได้คู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ แล้วถ้าได้แล้ว อืม! มันจะอยู่อย่างไรเนาะ อันนั้นเรื่องหนึ่ง แต่เขาเขียนมาเขาก็ถามมาเพื่อเป็นคติธรรม เป็นแนวทาง ไม่ได้ถามด้วยความลบหลู่

ก็ไม่มีใครลบหลู่ แต่เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ อันไหนที่เป็นความสำคัญท่านจะข้ามไปๆ ท่านบอกพูดไม่ได้ กิเลสมันจำ จำแล้วมันสร้างภาพ พอสร้างภาพ คนที่ปฏิบัติแล้วเป็นโทษเลย สิ่งที่บอกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อเป็นคุณนั่นแหละ แต่กิเลสมันพลิกแพลงเอามาทำร้ายเราไง เหมือนเรา พ่อแม่รักลูกมาก ให้มรดก ให้เงิน ให้ทองทั้งนั้นน่ะ ลูกเสียหมดเลย ด้วยความรักเกินไปไง โรครักลูก โรครวย โรคมีเงินมีทองทำลายลูกเรา ทำลายลูกเราจนลูกเราทำมาหากินไม่เป็นไง

เวลาจะให้เงินให้ทองลูก ให้พอประมาณ แล้วให้แล้วให้มันรู้จักหาอยู่หากิน ให้แล้วให้มันรู้จักคุณค่าของเงิน เงินนี้หามาได้ลำบากยากเย็นขนาดไหน ไม่ใช่ให้ด้วยความรักความผูกพันแล้วเสียคนไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกเศรษฐีธรรมๆ แสดงธรรมๆ ไป บอกมันหมดๆ มันก็เลยบอกว่ามันรู้มันเป็นไปหมดแล้วล่ะ เลยทำอะไรไม่เป็นเลยไง แต่เวลาพูดถึงเทศนาว่าการให้มันทำงาน ให้มันรู้จักขยันหมั่นเพียร แล้วเวลาถึงความจำเป็น เป็นแนวทาง ไม่พูดให้ฟัง แล้วให้มันทำเอง พอทำเอง มันได้ผลประโยชน์ขึ้นมา อ๋อ! กลับมารายงานเลย นี่ทำเสร็จแล้ว เออ! ใช่ นี่ไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกข้ามไปๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน ขั้นนั้น ขั้นนี้

รู้แล้วเงียบ รู้แล้วนิ่ง รู้ความจริง ความจริงสุดยอด ความจริงพ้นจากความลังเลสงสัยจากใจของเรา เพราะใจของเรามืดบอด ลูบๆ คลำๆ ถึงได้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ รู้จริงเห็นจริงแจ่มแจ้งในหัวใจ อกุปปธรรมที่ไม่เคลื่อนที่ แล้วมันจะไปไหนล่ะ มันจะไปไหนล่ะ ก็มันรู้จริง มันจะไปไหน นี่ความจริงมันเป็นแบบนี้ไง นี่รู้ความจริงแล้วจบ จบแล้วเนาะ

ถาม : ข้อ ๒๑๔๑. เรื่อง “ตกหลุมอากาศ”

กราบนมัสการพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพ ผมก็เคยมากราบถามปัญหาธรรมที่วัดก็ตาม ส่งมาก็ตาม คำของหลวงพ่อดีเสมอครับ (วัวงาน/ในสมาธิท่อนหลังและอื่นๆ) ทำให้ผมหาอุบายต้อนความฟุ้งซ่าน จนฟังไปบางที หลวงพ่อใช้คำอบรมดุเดือด แต่ใจมันยังสบาย แต่ถ้าไม่มีการตึงๆ ของสายป่านว่าว คือสติกับภาวนา รับรองผลให้ตัวเองได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าฟุ้งซ่านตั้งแต่เริ่มฟังแน่ๆ จิตเอาให้มันอยู่กับคำบริกรรมชัดๆ ด้วยผมจะพูดก็ช่าง สวดอะไรก็ช่าง อารมณ์จะกดใจไว้ว่าท่องๆ เครียดตึงไป ก็ผ่อนสลับกับการสวดบทนะโมช้าๆ ให้ตัวรู้มันเด่นๆ พออารมณ์ดีเฮฮาก็หวดมันให้ไวๆ บางทีสงัดนักก็จับอานาปานสติฉุกใจให้คิดว่า ความแปลกใหม่จากการสัมผัสกับอาการมีปีติก็ไม่แตกต่างจากอาหารใหม่ที่เรายังไม่เคยได้กินหรือได้เห็นมาในแต่ก่อน พอเกิดโยกคลอนก็คำบริกรรมมี แต่จริงๆ เพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่าไอ้โยกๆ คลอนๆ ใจเราเท่านั้นที่มันรู้สึกว่าโยก (พอดีถือสิ่งของอยู่ นั่งรอ และภาวนากับมีลมหายใจคู่กัน เผลอลืมคำบริกรรม) มานึกย้อนในสภาวะอารมณ์ว่า เราโยกหรือ ของในมือก็ไม่สั่นกระเพื่อม แสดงว่าสติกับคำบริกรรมของผมห่างเกินไป ผมเลยจับหลักไม่ได้ แต่อารมณ์ใจเบิกบานปกติแบบนี้

ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มันจริงๆ แล้วมีหลายครั้งหลายคราว แต่มีอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือจะนั่งสมาธิเพื่อเอาสมาธิ มันก็มีความอยากเข้ามาแล้ว จะพุทโธไง ก็แค่ตึง แต่ด้านๆ กับวันนี้ที่ไม่สนผลลัพธ์จากใจ สักแต่ว่า แต่ทำด้วยอาการอยากทำที่ไม่คาดไม่หมาย อยากให้ท่านอาจารย์โปรดเมตตาชี้ว่าตัวนี้มันมีกระผมหลงคิดหรือเข้าใจผิด

๒. เวลาชีวิตประจำวัน ปกติผมจับคำบริกรรมพุทโธคู่กับลมหายใจ ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง งานยังทำ กิริยายังมี เดินสะดุดนั่นนี่กลับไม่ตกใจ แต่กลับคุมการระวังเสียหลักได้ดีด้วยซ้ำ แต่มีอีกทีคือก่อนนอนจะนอนแล้วภาวนา ปกติหลับตาครับ แต่วันนั้นไม่ภาวนาคำบริกรรม เอาแต่อานาปานสติล้วนๆ ไฟก็ปิด แต่ลืมตาขึ้นแบบหรี่ๆ แล้วจู่ๆ สว่างโล่งสบาย ไฟคอมเพรสเซอร์ของแอร์ติดแค่ดวงนิดเดียวในห้องมืด แต่กระผมถึงกับสะดุ้งตกใจ อารมณ์เบากับการเห็น สะดุ้งนี้กระผมควรจะทำหรือกระชับเข้ามาด้วยการตรองในสิ่งที่เกิด หมายถึงย้อนตรองคิดไปว่าทำไมเราถึงสะดุด ถึงสะดุ้ง การตื่น สติไม่มีหรือ แบบนี้จุดไหนถูกครับ

แต่อย่างหนึ่งถูกในความรู้สึกผม คือมันเกิดขึ้นมาในเวลาเสี้ยววินาที ใช้สัญญาไปเทียบไม่ได้เลย เพราะมันไม่เหมือนเดิมจริงๆ แตกต่างจนเหมือนกับได้กิน เห็นอาหารจานใหม่ เพราะใจมันรับรู้ว่าแบบนี้ยังไม่เคยเจอ มันไวสุดๆ ถ้าจะให้เปรียบเทียบ กระผมขอเทียบว่ามันเหมือนผัดกะเพรา ที่จานหนึ่งกะเพราหมู อีกจานหนึ่งกะเพราไก่ พอเทียบว่าการรับรู้ยังมี แต่ก็เหมือนแค่อมกะเพรา คือกว่าจะฉุกคิดเห็นว่าไม่สนนะ ใจก็รื้อหาจนแทบจะทั่วโลกไปแล้ว เพิ่งมาได้สติ ขอกราบท่านอาจารย์ช่วยอธิบายสภาวะแบบนี้ สิ่งที่กระผมควรเพิ่มครับ หรือแนวทางใช้สติคำบริกรรมตรงไหนอ่อนไป หรือคิดเข้าข้างตัวเองครับ

ปล. กราบขอพระอาจารย์ว่า จะทำมาถูกก็ดี ผิดก็ตาม ขอได้ฟังการเทศน์ของพระอาจารย์ แล้วบางครั้งที่พระอาจารย์ขบขันในระหว่างเทศน์ กระผมปลาบปลื้มยินดีมากว่าพระอาจารย์ใจดี ไม่ดุนะ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมมีความเปรมปรีดิ์ ข้อคำถามนี้ขอไม่แรงนะครับ ถ้ามีสิ่งใดไม่ถูกต้องเหมาะควร ขอให้ท่านอาจารย์ยกโทษให้ด้วย

ตอบ : ไอ้เขียนมาเสียยาวเชียว แต่เขาก็คงกล้าๆ กลัวๆ

คำว่า “ตกหลุมอากาศๆ” เวลาเขาภาวนาของเขามา เวลาเขาภาวนาของเขามา เขาบอกว่า เวลาฟังเทศน์ท่านอาจารย์ดุเดือดมาก ดุเดือดมาก แต่ดุเดือดแล้วมันก็เป็นความดีของเขา ความดีของเขาคือว่าถ้าฟังแล้วมันไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไปไง แล้วเวลาพิจารณาไปๆ เวลาภาวนาไป เวลาคนภาวนาไปนะ เวลาเราเอาจริงเอาจังกับชีวิตของเรา ถ้าเอาจริงเอาจังกับชีวิตของเรา คำถามข้อที่ ๑ ถามว่า เวลาภาวนาไปแล้วตัวมันโยกๆ คลอนๆ ตัวมันโยกๆ คลอนๆ เราก็ว่ามันโยกจริงหรือไม่โยกจริง

คนที่พยายามจะทดสอบความเป็นจริง เวลานั่งขึ้นมา มันเอียงไปนู่น มันเอียงไปนี่ ความรู้สึกส่วนใหญ่มันเป็นความรู้สึกไง เวลานั่งที่เวลามันเอียงไปข้างหน้า หรือมันโยกมันคลอน มันมีอยู่บ้าง มันมีอยู่บ้าง แต่ไอ้ใจที่มันส่งเสริมมามันจะโยกคลอนแรงไปกว่านั้นไง เวลาโยกคลอนมันเป็นความรู้สึก ความรู้สึกที่โยกๆ คลอนๆ ถ้าเราตั้งสติไว้มันก็จบ นี่พูดถึงถ้าเป็นความจริงนะ แต่ไอ้คนที่ทำๆ มันไม่เชื่อ เพราะอะไร เพราะความรู้สึกมันวูบวาบ ความรู้สึกแบบว่ามันชัดเจน พอมันชัดเจนขึ้นมา “นี่คือการภาวนา นี่ภาวนาแล้วมันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้”

โอ้โฮ! มันต้องแก้ไขไง แก้ไขเพราะมันเป็นเด็ก เวลาเด็กมันภาวนาไปมันรู้สิ่งใดไปมันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความสำคัญๆ แต่คนที่ผู้ใหญ่เขาภาวนาแล้ว ไอ้นั่นมันเป็นพื้นฐาน มันเป็นเบสิกตื้นๆ แต่คนทำใหม่ๆ นะ โอ๋ย! มันเรื่องใหญ่นะ มันเรื่องใหญ่ มันเรื่องมหัศจรรย์ มันเรื่องโอ้โฮ! โลกมันจะเคลื่อนที่ จักรวาลมันก็จะหมุน หลุมดำมันกำลังจะดูดดาวทั้งหมดเลย มันคิดไปนู่นเลยนะ โอ้โฮ! มันจริงจังมาก แต่คนภาวนาไปๆ โอ้โฮ! มันเพิ่งหัดภาวนาไง

มันโยกๆ คลอนๆ เห็นไหม ที่มันโยกไปทางนู้น มันคลอนไปทางนี้ มันคลอนจริงหรือมันคลอนไม่จริงไง แล้วมันคลอนจริงมันควรจะทำอย่างใด

เรานั่งสมาธิ นั่งสมาธิเพื่อเอาแต่พุทโธๆ ไง แล้วนั่งสมาธิเอาพุทโธ ว่าผลลัพธ์ๆ เราก็วางไว้ เรานั่งสมาธิเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การนั่งสมาธิ เริ่มต้นจากการนั่งสมาธิมันต้องเอาชนะตนเองอยู่แล้ว เวลาเอาชนะตนเองนะ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ เวลาจะเป็นคนดีเป็นได้ยาก แต่ถ้าเป็นสำมะเลเทเมาเป็นได้ง่าย ถ้าจะไปเที่ยว ไปดูหนัง ฟังเพลง โอ๋ย! สบายๆ...สบายๆ ของไอ้เบิร์ดมันไง เวลาภาวนาแล้วสบายๆ ภาวนาแล้วสบาย

แต่ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมา เราต้องมีสติสัมปชัญญะ จะนั่งก็นั่งเพื่อจะค้นคว้าหาใจของตน คือนั่งเพื่อความสงบ นั่งเพื่อสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มีนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนน้ำฝน ใสสะอาด จืดสนิท เย็นดี แต่ถ้าเป็นทางโลก มันจะเป็นกระแช่ เป็นเหล้า เป็นไวน์ โอ้โฮ! รสชาติมันดีๆ นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์โลกๆ อย่างนั้นน่ะ เวลาจะมากินน้ำฝนไง น้ำสะอาด ให้คุณประโยชน์กับร่างกาย จืดสนิท

นี่ก็เหมือนกัน นั่งเพื่อเอาความสงบๆ ความสงบคือความสงบ ไม่ใช่ไปรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้น ความรู้นั้นไปเห็นนิมิต ความเห็นส่งออกๆ นั่นน่ะ เว้นไว้แต่จิตมันคึกจิตมันคะนอง จิตที่มีอำนาจวาสนามันต้องเห็น ต้องเห็นก็พยายามตั้งสติบังคับไว้ อยู่กับพุทโธชัดๆ อยู่กับคำบริกรรมชัดๆ สิ่งนั้นจะหายไปเอง หายเพราะอะไร หายเพราะจิตไม่ออกไปรับรู้ จิตจะรับรู้ของตัวจิตเอง ตัวจิตเองมั่นคงขึ้นมา มันมีความสุข จิตเพราะมีความสงบไง เห็นไหม เรากินน้ำสะอาด เราทานอาหารที่ไม่มีพิษมีภัย ร่างกายอุดมสมบูรณ์

เรากินอาหารที่มีรสจัด กินอาหารที่มันมีสารพิษ กินเข้าไปแล้วนะ มันมีแต่โรคภัยไข้เจ็บ นี่อารมณ์โลก อารมณ์ที่เราทุกข์เรายากกันอยู่นี่ อารมณ์ของกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง แต่เราพุทโธๆ พุทโธชัดๆ พุทธานุสติ ให้เอาพุทธานุสติกรองอารมณ์ความรู้สึกของตน เวลามันใสมันสะอาดขึ้นมา มันสงบขึ้นมา ไอ้โยกๆ คลอนๆ มันก็เป็นอาการ อาการที่มันพัฒนาขึ้นไปแล้วมันก็จะสำรอกจะคาย จะชะล้าง การทำความสะอาดก็ต้องลงทุนลงแรง จะซักผ้าล้างผ้า เดี๋ยวนี้เขาใช้เครื่องเนาะ กดปุ่ม ตู้ซักเสร็จเข้าตู้อบ ตู้อบเสร็จแล้วพับเก็บเรียบร้อย แต่เมื่อก่อนเขาต้องทุบนะ ต้องตีต้องซัก โอ้โฮ!

นี่ก็เหมือนกัน นั่งสมาธิ พุทโธๆ นี่ฟอกจิต มันจะมีอาการร้อยแปดพันเก้า จะมีอาการสิ่งใดก็แล้วแต่พุทโธของเราไว้ พุทโธของเราไว้ชัดๆ พุทโธของเราไว้นะ อาการสิ่งต่างๆ ที่มันเป็นขึ้นไปมันจะเบาลงๆ เบาลงจนเราเข้าใจว่า เออ! แต่ก่อนเราตื่นไปเอง อะไรพัดมา ลมพัดก็ว่าเย็น กลิ่นอะไรมาก็ว่าหอม ในปัจจุบันนี้มันก็กลิ่นปกติ กลิ่นความบริสุทธิ์ ลมพัดก็คือความเคลื่อนไหวของอากาศ มันก็ไม่มีอะไรแปลกประหลาดมหัศจรรย์ เรานั่งเพื่อหัวใจของเรานะ พอมันโตขึ้นมามันจะคิดอย่างนี้ไง อะไรที่ผ่านมา ผ่านมาก็ผ่านไป รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นบ่วงของมารคือความสงสัยรัดคอ เป็นพวงดอกไม้คือมันยกมันยอไง เป็นเทวดาแล้วแหละ นั่งภาวนานี่เทวดามาอนุโมทนา มันเยินยอไง รูป รส กลิ่น เสียงมันยกมันยอทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเรานั่งของเราเฉยๆ เรานั่งของเรา เราจะดีเราจะเลวก็เพื่อเรา เราทำเพื่อประโยชน์ของเรา มันจะเป็นอย่างไร เราก็รักษาหัวใจของเราแล้ว อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเบาลงๆ เบาลงเพราะอะไร เบาลงเพราะกิเลสมันหลอกหัวใจเราไม่ได้ เบาลงเพราะเราไม่ตื่นเต้นตกใจไปกับอาการที่เกิดขึ้น สิ่งใดที่เกิดขึ้น แล้วเราขาดสติ เราไม่มีปัญญารอบคอบ เราก็ตื่นเต้นตกใจ ดีใจ เสียใจกับสิ่งที่รู้ที่เห็น สิ่งที่รู้ที่เห็นนี่บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร หลอกลวงทั้งนั้น มันหลอกลวงหัวใจ สิ่งที่เกิดขึ้นจากใจ สิ่งที่เราพยายามค้นหาความจริง แล้วมันเกิดขึ้นกับใจ แล้วก็มาหลอกหัวใจของเรา

หลวงตาท่านสอนประจำ ท่านใช้คำว่า เราเขียนภาพขึ้นมาเอง แล้วเราก็กลัวภาพที่เราเขียนขึ้นมาเอง จิตใจมันคิดกันขึ้นมาเอง แล้วเราก็ไปตกใจกับสิ่งที่จิตมันคิดขึ้นมาเอง พอจิตมันคิดขึ้นมาเอง เราก็ตกใจไปกับมันไง นี่ไง บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร หลอกลวงหัวใจของเรา แล้วหัวใจของเรา เราทำเพื่อความสะอาด ทำเพื่อความสงบ เราไม่ต้องตื่นเต้นตกใจไปกับมัน เราเข้มแข็งขึ้นมา มีสติปัญญาขึ้นมา วางสิ่งนี้ทั้งหมด มันจะกลับมาสู่ความสงบ สู่ความสงบคือสู่ความเป็นจริงของเรา สู่ความเป็นจริงของเราคือธาตุรู้ ธาตุรู้ นี่คือสมบัติของเรา นี่การประพฤติปฏิบัติค้นคว้าหาสิ่งนี้ ค้นคว้าหาสิ่งที่เป็นจริง แต่มันหาได้ยาก มันลุ่มหลงกับสิ่งที่มันเป็นความจอมปลอม ลุ่มหลงกับรูป รส กลิ่น เสียงที่มันหลอกมันลวง ใจเขียนขึ้นมาเอง ใจเห็นเอง ใจก็ตื่นเต้นตกใจไปกับมันเอง เห็นไหม นี่เรื่องโยกๆ คลอนๆ เรื่องการรู้การเห็น พุทโธชัดๆ ไว้ นี่ข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒ พอข้อที่ ๒ เขาบอกว่า เวลาเขานั่งภาวนาไป มันเกิดอาการวาบ แม้แต่ไฟคอมเพรสเซอร์จุดเล็กๆ อู้ฮู! มันสว่างวาบเลย

นี่จะคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง ไอ้ที่วาบมันวาบมาจากไหนไง ไอ้จิตที่เวลามันลง หลวงตาท่านอยู่ในป่า เวลาเสียง อยู่ใต้ต้นกระบก เวลามันตกใส่ ปัง! ปัง! โอ้โฮ! จิตเหมือนฟ้าแลบเลย แปล๊บๆๆ เลยล่ะ นั่งอยู่ที่ร้าน แล้วอยู่ใต้ต้นกระบก ต้นกระบกมันร่วงใส่หลังคา ปัง! ปัง! โอ้โฮ! จิตมันพับ! พับ! เหมือนฟ้าแลบเลย

นี่ไง เขาก็เป็น สิ่งที่เป็นๆ เวลาจิตมันเป็นมันเป็นอย่างนั้นนะ เวลาจิตที่บอกว่า มันเกิดเหมือนไฟนิดเดียว มันแสงสว่างวาบขึ้นมาเลยนะ มันก็เลยตกใจว่าในห้องของเรามันมีไฟอยู่ดวงเดียว ไฟคอมเพรสเซอร์ที่ติดแอร์อยู่ แล้วแสงมันมาจากไหนล่ะ แสงมันก็มาจากจิตนั่นแหละ จิตที่มันรู้มันเห็น บางคนบอกว่า พอจิตมันเป็นสมาธิแล้วมันจะเกิดความสว่างไสว

ความสว่างไสวมันเป็น ๒ อย่าง สว่างไสวคือความปลอดโปร่ง สว่างไสวคือความเข้าใจทั้งหมด ความสว่างคือแสงแห่งปัญญา แล้วถ้าสว่างไสวแบบแสงไฟ แสงไฟนั้นถ้าคนที่จิตเป็นหลักนะ เกิดความสว่างอย่างนั้นก็ไม่มีปัญหา มันจะมีปัญหาแต่ไอ้พวกตื่นเต้นน่ะ โอ้โฮ! เห็นแล้วตื่นเต้น ไอ้พวกนี้มีปัญหามาก

แต่ถ้ามันไม่มีปัญหา เพราะอะไร เพราะเราเป็นคนรู้คนเห็นทั้งนั้น ถ้าเราไปรู้ไปเห็น มันเกิดจากอะไร เกิดจากจิต มันเกิดจากจิต ไอ้ที่ว่าพอมันสว่างวาบ แล้วมันเกิดความมหัศจรรย์ ทีนี้เขาก็เขียนมาถามมาว่าอันนี้มันคืออะไร แล้วต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็ต้องของบประมาณก่อน ตั้งห้องแล็บ แล้วก็ต้องตั้งกล้อง แล้วก็เอามานั่งแล้วก็จับเลยว่ามันจะเกิดตอนไหน แล้วมันจะวาบอย่างไร กล้องก็ส่องไม่เห็นเสียอีก เพราะมันเป็นเรื่องจิต มันไม่ใช่เรื่องร่างกาย มันก็มองไม่เห็นหรอก นี่พูดถึงทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเราเป็นปัญญาชนไง เราจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เราต้องเชื่อสิ่งที่มีเหตุมีผล เราก็ต้องว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นๆ แต่ความจริง จิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้มันเป็นของมัน ไอ้สว่างอย่างนี้มันสว่างขึ้นมา มันเป็นผลของการปฏิบัติ ถ้าจิตมันเป็นอย่างนั้นแล้วมันเป็นหนเดียวแหละ ถ้ามันจะเป็นอีกข้างหน้า ถ้ามันเป็นอีกเพราะมันเป็นจริตนิสัย มันจะมาอีก มาแล้วเราก็เข้าใจ เราก็วางไว้ ถ้ามันจะไม่มาอีก มันก็เป็นแค่หนเดียวเท่านั้นแหละ ถ้าเป็นหนเดียว มันก็เป็นเพื่อทดสอบ

ที่ว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว มันกลับเข้ามาตรงนี้ คนทำดีแล้วได้ดี ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระทั่วไป คนทั่วไปบอกว่า เพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาถึงเคารพศรัทธาอย่างนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ เป็นเพราะเราทำมา เราทำความดีมา เราเป็นพระโพธิสัตว์มา เราได้เสียสละมามหาศาล เราได้ทุ่มเทและเสียสละชีวิตมานับไม่ถ้วน ฉะนั้น เวลามาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเกิดจากผลที่เราทำมาต่างหาก นี่ไง สิ่งที่ทำมา

นี่ก็เหมือนกัน พอเรามาปฏิบัติใช่ไหม จิตใจของคนที่ทำคุณงามความดีมา จิตใจคนที่สร้างอำนาจวาสนามา เวลาจิตมันสงบแล้วมันก็จะไปรู้เห็นสิ่งที่มันได้สร้างสมมา ไอ้ของเราขี้ครอก ไม่เคยทำอะไรเลย เสร็จแล้วจะให้เหมือนเขา ไม่มีหรอก

เราไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เวลาจิตสงบก็สงบเฉยๆ ถ้ามีอำนาจวาสนา ทำให้สงบได้นะ ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา ทำให้สงบไม่ได้ ทุกข์ด้วย ถ้ามีอำนาจวาสนา ทำให้สงบได้ มันก็สงบลงไปด้วยอำนาจวาสนาของตน ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของตนสร้างมาอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นแบบนี้ สร้างมาอย่างนี้ แล้วมีแบบนี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ได้ด้วย ถ้าทำได้ มันก็ได้สงบไปธรรมดา ถ้าธรรมดาแล้ว ไอ้แสงสว่างอย่างที่ว่ามันก็ไม่มี

ไอ้แสงสว่างที่ว่ามันมาเพราะว่าสิ่งที่มันกระทบ จิตมันไปกระทบ มันก็รู้ มันก็วาบขึ้น พอวาบขึ้นมาแล้วเขามหัศจรรย์นะ พอมหัศจรรย์ เขาก็สงสัยใหญ่เลยล่ะ โอ้โฮ! พอมันมีความรู้อย่างนี้ขึ้น มันสะดุ้ง มันสะดุดขึ้นมา แล้วมันตื่นขึ้นมา ตื่นมาไม่ลืมสิ่งนี้เลย แล้วเขาบอกว่ามันดีอยู่อย่างหนึ่งเท่านั้นน่ะ “แต่อย่างหนึ่งที่รู้ความสุขของผมคือมันเกิดขึ้นมาในเสี้ยววินาที ใช้สัญญาไปเทียบไม่ได้เลย”

ใช้สัญญาคือความคาดหมายเทียบไม่ได้เลย แล้วมันก็ไม่เหมือนเดิมจริงๆ พอมันเห็นอย่างนี้แล้วมันเปลี่ยนไปเลย เขาบอกว่าต่อไปนี้มันเหมือนกับความรู้สึกเดิมก็เป็นกะเพราหมู ความรู้สึกใหม่ก็เป็นกะเพราไก่ เป็นกะเพราเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

ปริยัติกับปฏิบัติไง ไอ้ปริยัติศึกษามาก็กะเพราหมู ไอ้ปฏิบัติไปแล้วกลายเป็นกะเพราไก่ ไอ้หมูกับไก่มันไม่เหมือนกัน แต่เป็นผัดกะเพราเหมือนกัน นี่ความเห็นของเขา นี่เวลาเขาเขียนมาถาม ถ้าถามอย่างนี้มันก็แบบว่ามันเป็นประสบการณ์อันหนึ่งของจิตที่มันผ่านไปแล้ว แล้วสิ่งที่กลับมาก็กลับมา กลับมาเริ่มต้นปฏิบัติเหมือนเดิม เหมือนเดิม เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติ จนใช้ปัญญาไปแล้วไปถามหลวงปู่มั่น ถามเสร็จแล้วหลวงปู่มั่นให้ทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า กลับมาทำความสงบของใจ กลับมาพุทโธ แล้วใช้ปัญญาต่อสู้ต่อเนื่องไป

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นๆ เกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาจากเรากำหนดพุทโธ เกิดขึ้นมาจากเรากำหนดอานาปานสติ เราก็ไปกำหนดตรงนั้น ตรงนั้นถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันก็เข้ามาสู่จุดนี้ จุดนี้แล้วมันจะรู้มันจะเห็นอย่างไร ตอนเป็นปัจจุบันธรรม แล้วเราค่อยพิจารณาของเราไปไง

นี่เขาถามว่า สิ่งที่เขาถามมามีสิ่งใดที่ควรจะเพิ่ม ควรจะลด จะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็กลัวว่าหลวงพ่ออย่าแรงนะ

วันนี้ไม่แรง เห็นไหม วันนี้ไม่แรง พูดด้วยเหตุด้วยผลไง ถ้ามันถามมาด้วยเหตุด้วยผล ถ้ามันจะแรง มันก็จะแรงต่อเมื่อ มันมีเยอะมากที่เขาไม่ได้ปฏิบัติ เขาเข้ามาฟังในเว็บไซต์ แล้วเขาก็มาจับประเด็นในเว็บไซต์ แล้วก็กลับมาถามเรา ถามเป็นการต่อล้อต่อเถียง ถ้าจะบอกว่าถามมาเพื่ออวดดีน่ะ ถ้าอย่างนั้นเจอทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร ถ้าปฏิบัติมาอย่างนี้ ใครปฏิบัติก็แล้วแต่ถ้ามันรู้มันเห็นสิ่งใด มันเป็นผลงานของตน มันเป็นความมหัศจรรย์นะ เพราะการปฏิบัติมันลงทุนลงแรงมาก แล้วกว่าจะได้มาแต่ละชิ้นแต่ละอัน อันนั้นจะรู้ได้ ถ้าถามมาด้วยการปฏิบัติ ถามมาเพราะความไม่เข้าใจ ถามมาเพราะว่าเราอยากรู้อยากเห็น นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถามมาบางทีมันมีอยู่หลายๆ เจ้า เขียนมาจนบอกว่าอย่าเขียน ก็ยังจะเขียน อย่างนั้นน่ะเช็ดเลยล่ะ เพราะมันไม่เป็นประโยชน์กับใคร คำที่เราพูดอยู่นี่มันอยู่ในเว็บไซต์ แล้วก็เอาคำพูดของเรามาถามเรา มันก็เหมือนเอาอ้วกของเรากลับมาให้เรากินไง เรากินอาหารเข้าไปแล้วเราก็อ้วกออกไป แล้วเขาก็เก็บๆ มา มาป้อนหลวงพ่อใหม่ อย่างนี้เจอ ถ้าเจออย่างนั้นก็จบ

ฉะนั้น เขาบอกว่า หลวงพ่ออย่าแรงนะ หลวงพ่อเอาแค่พอดีๆ ถ้าพอดีๆ ฟังแล้วดีมากเลย ชอบ แต่ถ้าหลวงพ่อแรงเกินไป

ไอ้ที่ว่าแรงหรือเบา เราดูที่เจตนาของคนถาม ถ้าเจตนาเขาถามด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจตนาคนอยากรู้ เราก็ขยันตอบนะ โดยพระทั่วไปเขาไม่ตอบหรอก เขาจะตอบนี่เขาต้องใส่ซองเยอะๆ ถ้าซองไม่หนาๆ กูพูดไม่เป็นนะมึง ถ้าซองหนาๆ โอ้โฮ! น้ำไหลไฟดับเชียว นั่นเขาไม่ตอบกันหรอก แต่เวลาเราพูด เราอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านบอกเลย ไปไหนก็ไปเอาใจของคน

ใจคนมันสงสัย ใจคนมันอยากรู้ ใจคนมันอั้นตู้มันต้องตอบ ศาสนาตอบอย่างนี้ ศาสนาสอนเรื่องหัวใจของคน ศาสนามันเข้าไปแก้ความสงสัย ศาสนามันพุ่งเข้าไปใจดำของคน นี่แหละคือตัวศาสนาแท้

ศาสนาไม่ใช่พิธีกรรม ศาสนาไม่ใช่ให้ใครอ้อนวอน ศาสนาเกิดจากผลของการปฏิบัติ ศาสนาเกิดจากจิตที่มันทุกข์ แล้วมันพ้นจากทุกข์ นั้นคือตัวศาสนา เอวัง