รู้จักทุกข์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ว่างแบบมีอยู่”
ตอบ : เขาเขียนมานะว่า “ว่างแบบมีอยู่” แต่ว่างแบบมีอยู่มันไปซ้ำกับไอ้ที่ว่า “จิตหยุด” นั่นน่ะ จิตหยุดนั้นเป็นเรื่องสังคม สังคมใช่ไหม
นี่ก็เหมือนกัน “ว่างแบบมีอยู่” ถ้าว่างแบบมีอยู่ เขาก็เขียนไปยาวอีก ๔ หน้ากระดาษเหมือนกัน ๔ หน้ากระดาษ แต่ขณะที่เขียนมา ๔ หน้ากระดาษ
ในการประพฤติปฏิบัติในวงกรรมฐานเรานะ เวลาประพฤติปฏิบัติเขาปฏิบัติให้เข้าสู่ความจริง ให้เข้าสู่อริยสัจ ถ้าเข้าสู่อริยสัจ
ครูบาอาจารย์ของเรา แต่เดิมในการประพฤติปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัตินะ สังคมไทยเวลาปฏิบัติไปแล้วเขาต้องมีอาจารย์ ถ้าไม่มีอาจารย์ปฏิบัติแล้วจะเป็นบ้านะ ขนาดมีอาจารย์แล้ว ปฏิบัติแล้วเขายังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ในการปฏิบัติ ทุกคนไม่กล้าปฏิบัติ
แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติแล้วท่านปฏิบัติตามความเป็นจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติแบบมรรคแบบผล แบบมรรคแบบผลคือมีข้อวัตรปฏิบัติ มีข้อเท็จจริง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปฏิบัติแบบศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็สู่มรรค ๘ ถ้าเข้าสู่มรรค ๘ มันเป็นพระพุทธศาสนา
แต่จิตใจของคนมันมหัศจรรย์ จิตใจของคน เห็นไหม เวลากองทัพธรรม กองทัพธรรมจะมาส่งเสริมชาวอีสาน ว่ามาปราบพวกที่เขาถือผีถือสางไง เวลาถือผีถือสาง เขาถือผีถือสาง เวลาถือผีถือสางนะ กลางคืนจะมีเสียงนั่นเสียงนี่ดังในหมู่บ้านของเขาตลอด แล้วเวลาผิดผีๆ เขาต้องไปขอขมาผีกันตลอด นั่นน่ะเขาถือผีถือสาง นี่เรื่องของจิตวิญญาณมันก็เป็นได้อย่างนั้น
แต่ถ้าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ไม่เชื่อเรื่องผีเรื่องสาง แต่ให้เชื่อเรื่องมรรคเรื่องผล ถ้าเชื่อเรื่องมรรคเรื่องผล เวลาปฏิบัติขึ้นมามันจะเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่สัจจะความจริง เวลามีมรรคมีผลขึ้นมา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมามันจะไปแก้กิเลส มันจะไปแก้กิเลส ไปกำจัดกิเลสในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ
ไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติแล้วไปรู้ไปเห็นต่างๆ แล้วเวลาไปรู้ไปเห็นต่างๆ แล้วเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เวลาชีวิตประจำวันมีความทุกข์ความยากขึ้นมา มีความทุกข์ความยากขึ้นมาก็มีความกดดัน พอมีความกดดัน ปฏิบัติขึ้นมาแล้วก็ปฏิบัติเพื่อเป็นมรรคเป็นผล เป็นมรรคเป็นผล ความกดดันอันนั้นมันก็สร้างภาพ สร้างเป็นอุปาทาน สร้างเป็นผลกระทบจากจิต
แล้วจากจิตก็เขียนปัญหามาถามไง “ว่างแบบมีอยู่” ว่างแบบมีอยู่นะ เสียงกระทบจากเสียง เสียงกระทบจากความรับรู้ เสียงกระทบจากต่างๆ
ไอ้นั่นน่ะถ้าพูดถึงโดยทั่วไป โดยทั่วไปโดยความคิดโลกเขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากโลก ปัญญาเกิดจากจินตนาการ ถ้าปัญญาเกิดจากจินตนาการ พุทธจริต พุทธจริตผู้ที่มีปัญญาเขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็ใช้สติปัญญาไล่ตามความคิดของตัวเองไป ถ้าเท่าทันความคิดของตัวเองนะ ด้วยเห็นเป็นโทษ พอเห็นเป็นโทษมันก็หยุดคิด ความหยุดคิดอันนั้นมันก็เป็นเริ่มต้นของการทำความสงบของใจ การทำความสงบของใจโดยการใช้ปัญญา โดยการใช้ปัญญา เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันก็คือปัญญาอบรมสมาธิ
แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ ขึ้นมา เขากำหนดพุทโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หรือพุทโธๆ ท่องพุทโธ จิตมันมีการกระทำ ถ้าจิตมีการกระทำ มีสติมีปัญญา มันก็เข้าสู่ศีล เข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ปัญญา เข้าสู่มรรค เข้าสู่ผล เข้าสู่การประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ไม่ใช่แบบ...เขาบอกว่าเขาเคยเขียนคำถามมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อตอบเรื่อง “ตกหลุมอากาศ” หลวงพ่อตอบเรื่องนั้นตอบเรื่องนี้ พอตอบเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก็เลยเขียนมาถาม เขียนมาถามก็เลยกลายเป็นละครน้ำเน่าไปเลย นี่มันเป็นเรื่องละครทีวี ไปรู้ไปเห็นทวิภพ ๓ ภพ ๔ ภพนั่นน่ะ ไอ้นั่นมันเป็นนิยาย
เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราประพฤติปฏิบัติจากโลกให้เป็นธรรม จากโลก เรื่องสมมุติโลกให้เข้าสู่สัจธรรม ถ้าเข้าสู่สัจธรรม เข้าสู่สัจจะความจริง ไอ้สัจจะความจริง คนจะเข้าสู่สัจจะความจริงมันก็น่าเห็นใจนะ น่าเห็นใจ
คนเราเกิดมา คนเราเกิดมามีกายกับใจ คนเราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ทุกคนเกิดมาต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เวลามีปัจจัยเครื่องอาศัยก็ต้องมีอาชีพ มีอาชีพก็ต้องทำหน้าที่การงาน
เวลาทำหน้าที่การงานขึ้นมาแล้ว ทำหน้าที่การงาน คนที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือมันตกทุกข์ได้ยากขึ้นมาก็บอกว่าเราไม่มีโอกาสปฏิบัติเพราะเราต้องรับผิดชอบกับชีวิตของเรา ไอ้คนที่เขาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาประสบความสำเร็จในชีวิต เขามีหน้าที่การงานของเขา เขามีเวล่ำเวลาปฏิบัติ เราก็มานั่งวิตกวิจารณ์ เราน้อยเนื้อต่ำใจ นี่ผลของกรรมๆ ถ้าผลของกรรม
ทีนี้คำว่า “น่าเห็นใจ” มันก็เรื่องชีวิตประจำวัน ถ้าชีวิตประจำวัน สิ่งนั้นน่ะมันก็เป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
ถ้าคนมีสติมีปัญญา สิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันนั่นน่ะเอามาเป็นเหตุให้ได้ใช้ปัญญาได้เลย ถ้าใช้ปัญญา มันจะทุกข์มันจะยากขนาดไหนถ้ามีสติปัญญา เขาก็อยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญาของเขา
อยู่ในศีลก็ทำหน้าที่การงานของเรา ทำตามสุดความสามารถของเรา ทำคุณงามความดีของเรา ทำคุณงามความดีแล้วฝึกหัดสติปัญญาของเรา ถ้าสติปัญญามันดีขึ้น ทำหน้าที่การงานขึ้นมามันก็ประสบความสำเร็จ มันก็ดีขึ้น
ในปัจจุบันนี้เขาถึงพยายามจะไปนิมนต์พระ นิมนต์พระไปในองค์กรต่างๆ เพื่อไปแสดงธรรมๆ เพื่อพัฒนาบุคลากร ในบริษัทต่างๆ ถ้าบุคลากรในบริษัทนั้นถ้าเป็นบุคคลที่เป็นสุจริต บุคคลที่มีสติปัญญา องค์กรนั้นก็มั่นคง องค์กรนั้นแข็งแรง เวลาชาติที่เจริญ บริษัทที่เจริญ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรมนุษย์น่ะสำคัญที่สุด ทรัพยากรมนุษย์ นั่นทุกคนเขาก็ปรารถนาดีทั้งนั้นน่ะ
แต่ถ้าของเรา ถ้าเรามีความจำเป็นของเราว่าเรามันไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดแล้วมันมีปัญหา นี่พูดถึงคำถามไง คำถามเขาถามมาอย่างนี้ เขาถามมาว่า เขาไปกู้หนี้ยืมสินแล้วเขามีปัญหาของเขา แล้วมีปัญหาของเขา เขาพิจารณาของเขาแล้วมันก็ปล่อยวางของเขา รู้เท่าทันอะไรของเขา
ไอ้นั่นเป็นของเขา นั่นมันเป็นผล เป็นผลทางโลกๆ แล้วถ้าเป็นผลทางโลก ถ้ามีสติปัญญามันก็เรื่องโลกๆ ไง โลกๆ คือแบบว่าเราสบายใจ เรื่องโลกๆ คือว่าเราเผชิญกับชีวิตโดยที่ว่าไม่เครียด เผชิญกับชีวิตโดยไม่ให้กิเลสมันบีบคั้นว่า ถ้าคนไปเผชิญกับชีวิตแล้วชีวิตนี้มันอัดอั้นตันใจ มันก็จะประชดประชันกับชีวิตของตัวเอง
แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา ไอ้นั่นก็เป็นเรื่องของปัญญาทางโลก ถ้าปัญญาทางธรรม ปัญญาทางธรรม เราปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยเข้าสู่มรรคสู่ผล
เรื่องอย่างนี้เรื่องที่การพิจารณามา ๔ หน้า ๕ หน้า ในความรู้สึกของเรานะ เวลาเราตอบปัญหาอยู่นี่ มันเป็นผลจากประสบการณ์ของเรา ประสบการณ์เวลาเราประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ไปหาครูบาอาจารย์ ถามไก่ ตอบเป็ด ถามช้าง ตอบม้า ไปไหนมา สามวาสองศอก เราเจอประสบการณ์อย่างนี้มาจนมันเซ็งมันเศร้าใจไง เราถึงพยายามจะตอบปัญหาอยู่นี่
แล้วตอบปัญหาอยู่นี่แล้ว เวลาใครถามปัญหามา แล้วถ้าตอบปัญหาแล้วเขาเข้าใจ เขาพัฒนาของเขาขึ้น เออ! เราก็คุ้มค่าการเสียเวลา
แต่ถ้าเวลาปัญหาที่ถามมานะ วันนี้ถามมาเรื่องหนึ่ง ถามคราวหน้ามามันยิ่งต่ำต้อย มันยิ่งเป็นเรื่องน้ำท่วมทุ่ง มันเสียเวลา มันเบื่อหน่าย มันเบื่อหน่ายนะ
เออ! ถ้าเราตอบปัญหาไป คนที่ถามปัญหามาแล้วเขาพัฒนาขึ้น จิตใจเขาดีขึ้น เขามั่นคงขึ้น เขาภาวนาแล้วเขาขวนขวายขึ้น เออ! คุ้มกับการเสียเวลา
ไอ้นี่เสียเวลาแล้ว ไปไหนมา สามวาสองศอก นี่เขียนคำถามมานะ เคยถามหลวงพ่อมาอย่างนั้นๆๆ หลวงพ่อตอบเรื่องนั้นๆ เขียนมาหมดเลยนะ แล้วพอนี้มา จากเดิมถามเรื่องปัญหาการประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วมันไปเผชิญสิ่งใด มันมีวิกฤติสิ่งใดก็ถามมา เราก็ตอบเป็นครั้งเป็นคราวไป คราวนี้รวบยอดมา โอ้โฮ! ๔ หน้ากระดาษ
ไอ้นี่มันจะเขียนนิยายธรรมะนะ จะเขียนนิยายธรรมะแล้วก็ไปลงในหนังสือธรรมะ แล้วเดี๋ยวเขาก็จะตอบแทนค่าเรื่อง จะได้ผลตอบแทนค่าเรื่องเลย
มันเห็นแล้วมันเศร้า มันเศร้าเพราะว่าการประพฤติปฏิบัติมันต้องดีขึ้น ไม่ใช่ตกต่ำลง ไม่ใช่อ่อนแอไปเรื่อยๆ ถ้าอ่อนแอไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันถึงบอกว่าไม่ใช่
ถ้าการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันจะเป็นก็เป็นกรณีหนึ่ง กรณีที่บอกว่าเจริญแล้วเสื่อม เวลาจิตมันเจริญขึ้นมาแล้วมันก็มั่นคง มันทำสิ่งใดมันก็แบบว่าชุ่มชื่น เวลาจิตมันตกมันต่ำขึ้นมามันก็ตกต่ำนะ เวลาคนประพฤติปฏิบัติมันก็มีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดา นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่นี่มันเขียนมานี่มันเป็น อ่านแล้วแบบว่าภาษาเรานะ ถ้าเราไม่เอามาพูด เราจะโยนทิ้งได้เลย มันเป็นขยะ แต่ที่เอามาพูดเพราะต้องการเตือนว่าการถามปัญหามันต้องพัฒนาขึ้น กระชับ เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะถามจะตอบกันโดยเฉพาะเรื่องผลของภาวนา
ไอ้นี่เขียนไปกลายเป็นนิยาย กลายเป็นเรื่อง ภาษาเรานะ เรื่องโลกๆ ฉะนั้น ไอ้นี่มันไปซ้ำกับไอ้ที่ว่า “จิตหยุด” จิตอะไรนั่นน่ะ แล้วก็มานี่ “ว่างแบบมีอยู่” ภาษาเรานะ ไร้สาระ ขยะ จบ
ถาม : เรื่อง “ขออนุญาต”
ตอบ : เมื่อวานเราพูดไปแล้ว เพราะเราต้องการให้มันทันเวลา “ขออนุญาตมาวัด”
เราบอกไม่ต้อง ไปวัดที่เขาชื่นชม ไปวัดที่เขาดีงาม อันนั้นจะดีกว่า ไปวัดอย่างนั้นแล้วต่างฝ่ายต่างจะแบบว่ามีความสุขไง
มาวัด มาวัดป่าแล้วเขาแบบว่าเคารพในสถานที่ เคารพในสิ่งต่างๆ เหมือนกับการประชุมสภา ท่านประธานที่เคารพ แต่มันไม่เคารพ มันท่านประธานที่เคารพ มันเถียงน่าดูเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเคารพในสถานที่ ทุกอย่างมันจะพัฒนาขึ้น ถ้าไม่เคารพสิ่งใดเลย มันดึงให้ต่ำ มันเป็นเรื่องโลกๆ ไปวัดที่เข้ากันได้ ถ้าวัดอย่างนี้แล้วมันต้องมีสูงมีต่ำ มีถูกมีผิด อันนั้นจบ
ถาม : เรื่อง “อยากรู้วิธีเข้าอรูปฌาน”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีข้อสงสัยครับ จึงอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อครับ แต่คำถามของผมอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
หลวงพ่อ : มันก็ไร้สาระจริงๆ นั่นน่ะ
ถาม : ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระอย่างยิ่ง ดังนั้นหลวงพ่อจะเมตตาตอบหรือไม่ตอบก็ได้ครับ ส่วนเหตุที่ผมถามนั้นก็เนื่องจากผมได้ค้นคว้าจากหลายที่แล้ว แล้วผมก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนหรือตรงกับข้อสงสัยที่ผมมี ผมเลยขอรบกวนกราบเรียนถามหลวงพ่อครับ
ในการทำสมาธิ ผมรู้จักอาการของการตกภวังค์ รู้จักวิตก วิจาร รู้จักปีติ รู้จักสุข รู้จักเอกัคคตารมณ์ รู้จักอัปปนาสมาธิ และเมื่อจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ผมจะออกพิจารณาขันธ์ ๕ อันมีเวทนาเป็นหลัก ส่วนกายผมสามารถจับได้เป็นบางครั้ง แต่การตั้งกายไม่ได้ เลยพิจารณากายไม่ได้ เนื่องจากกำลังของสมาธิผมไม่สูงพอ ผมเลยได้แต่พิจารณาเวทนาเป็นหลัก
และเมื่อพิจารณาเวทนาแล้ว กายผมรู้จัก เวทนาผมรู้จัก ขันธ์ผมรู้จัก ทุกข์ผมรู้จัก ตทังคปหานผมรู้จัก อันนี้ผมขอสรุปย่อๆ เพียงแค่นี้นะครับ และรูปฌาน ๔ ผมรู้จัก แต่อรูปฌานผมไม่รู้จักเพราะผมทำไม่เป็น ดังนั้นผมจึงขอกราบเรียนถามดังนี้ครับ
๑. การเข้าอรูปฌานมีวิธีเข้าและจุดสังเกตได้อย่างไรบ้างว่าเรากำลังอยู่ในอรูปฌาน เพราะในการทำสมาธิเมื่อผ่านปีติแล้วจะเป็นสุข และเราจะต้องภาวนาต่อจนละสุขและอารมณ์ภายนอกจนหมด และเหลือเพียงแต่ตัวรู้เพียงอย่างเดียว นี่จึงเป็นจุดสังเกตว่าจิตของเราเป็นสมาธิหรือไม่ และสมาธิอยู่ในระดับใด
ดังนั้น ถ้าผมอยากลองเข้าอรูปฌานดู ผมจะต้องทำอย่างใด และจะต้องสังเกตจุดใดได้บ้างครับ
ผมเข้าใจดีว่าคำถามนี้เป็นเรื่องไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการภาวนา แต่ผมยังอยากลองดูครับ ขอกราบเท้าหลวงพ่อด้วย
ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามคืออยากเข้าอรูปฌาน นั่นเข้ารูปฌานคือเขาทำความสงบ รูปฌาน อรูปฌาน
รูปฌานก็สมาธิ มันมีจุด เรากำหนดพุทโธ นี่รูปฌาน จิตสงบแล้วมันก็มีตัวมีตนนั่นแหละ
อรูปฌาน อรูปฌานมันก็เป็นสมาธิที่ไม่มีรูป ถ้าไม่มีรูป สิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีรูป รูปราคะ อรูปราคะ
รูปราคะก็สมาธิ รูปราคะคือสมาธิที่ไม่เกาะเกี่ยวสิ่งใด นี่รูปราคะ
อรูปราคะ สมาธิที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ แต่ได้ ถ้าไม่ได้มันจะเป็นอรูปราคะได้อย่างไร ไม่ได้มันจะเป็นสมาธิที่ว่างได้อย่างไร ถ้ามันเป็นสมาธิที่ไม่มีรูปร่าง ไม่รูปฌาน อรูปฌาน อรูปฌาน อรูป ไม่มีรูปไม่มีร่าง แต่เป็นสมาธิ
นั่นน่ะเวลาเขาทำ สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ นิโรธสมาบัติ เวลาเขาพูดกันไป แล้วเขาก็เขียนแล้วก็ทำเป็นขั้นเป็นตอนนะ “ถ้าใครเข้านิโรธสมาบัติได้อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี แล้วเราเข้านิโรธสมาบัติได้ เราเป็นพระอะไร” นี่มันมีสิ่งแบบว่ามีผลประโยชน์ ทำเพื่อผลประโยชน์ เวลาพูดสิ่งใดก็เพื่อประโยชน์กับเขา
อันนี้มันเป็นเรื่องของทฤษฎี เรื่องของทฤษฎีคือเรื่องทางทฤษฎีทางวิชาการทางการศึกษา แล้วศึกษาแล้วมันก็แบบว่า คนถ้าไม่สุจริตเขาก็เขียนเป็นตำรับตำราไว้ แล้วเขาก็ไปทำมาแล้วก็เข้าตำรานั้น แล้วก็ให้เขามีมรรคมีผลไง อันนั้นเป็นเรื่องของรูปฌาน อรูปฌาน ฉะนั้น สิ่งที่รูปฌาน อรูปฌานนะ
แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นอริยสัจ เราทำสมาธิของเรา ทำสมาธิของเราแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ปัญญาก็มีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาหลายขั้นหลายตอนขึ้นไป
หลายขั้นหลายตอนมันก็เหมือนกับคำถามที่เขาว่านี่ เขาบอกว่าเวลาเขาเข้าสมาธิเขารู้ได้ เขามีจุดสังเกตได้ เวลาจุดสังเกตว่าอย่างนี้เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ
ถ้ามีจุดสังเกตของเขา เวลาฝึกหัดไปแล้วมันมีความชำนาญ มันจะจับต้องได้แล้วชำนาญของมันนะ มีจุดสังเกต มีต่างๆ มันจับต้องได้ นี่พูดถึงว่าทำสมาธิได้
แต่เวลาเขาว่าจุดสังเกตของรูปฌานเขาจะสังเกตตรงไหน เพราะเขาทำของเขาไม่ได้ เขาทำของเขาไม่ได้ เขาไม่เคยทำ นี่พูดถึงคนที่ซื่อสัตย์ไง
แต่มันมีเยอะมากเลยนะ เราเห็นอยู่ในวงปฏิบัติ เวลาบอกว่าเขาเข้าสมาบัติกัน เข้าสมาบัติ เขาเข้ากันอย่างไรล่ะ เขากำหนดสีกับกำหนดแสง กำหนดอะไร นั่นมันนอกเรื่องนอกราวเลย
เวลานอกเรื่องนอกราว เขาทำของเขานะ แล้วอาการของใจ อาการของใจมันเป็นไปได้ทั้งนั้นน่ะ เวลามันเป็นไปแล้วคนก็แตกตื่นไปเชื่อกันนะ เชื่อกันมันไร้สาระมาก
เวลาเรื่องไสยศาสตร์ เวลาพระเขาบอกว่าเขาจะเข้าฌานเข้าสมาบัติกัน เขาจะจัดเป็นพิธีกรรมอะไรกัน เรียกร้องเอาเงินกันน่ะ แล้วคนก็ไปทำบุญกัน
มันเป็นเรื่องแบบคำถาม เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ไร้สาระ
มันเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไร้สาระให้กิเลสมันหลอก แต่ถ้าจริงๆ แล้วมันเป็นสาระ มันเป็นสาระเพราะอะไร เพราะมันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นสาระมันเป็นพื้นฐานที่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นสาระ
แต่สาระอย่างนี้มันเป็นสาระส่วนบุคคล สาระส่วนตัว สาระบุคคลคนนั้น ไม่ใช่ว่าเอามาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ เอามาเพื่อผลประโยชน์นั้น อันนั้นมันเป็นเรื่องไร้สาระ ไร้สาระเพราะอะไร เพราะมันจะเป็นบาปเป็นกรรมไง เป็นบาปเป็นกรรม เป็นการหลอกลวง เป็นการฉ้อฉล ให้วงการปฏิบัติมันมัวหมอง
แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เราทำของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่ได้มันก็เป็นความทุกข์ความยากของเรา ถ้าเราปฏิบัติได้มันก็เป็นผลบุญของเรา เราปฏิบัติแล้ว ถ้าเราได้เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงมันเป็นสาระกับเราเลยล่ะ
แต่คำว่า “เป็นเรื่องไร้สาระ” ไร้สาระเพราะมันจะเป็นสิ่งที่ให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ไง เวลาพูดอะไรไปแล้วคนอื่นมันจะจับประเด็นแล้วเอาไปใช้ประโยชน์อย่างนั้น ไอ้นั่นมันไร้สาระ เหมือนกับว่าเราชี้โพรงให้กระรอก
แต่ถ้าเป็นความจริงๆ นะ ครูบาอาจารย์ถ้าเป็นสิ่งใดที่เป็นไฮไลต์ เวลาปฏิบัติ หลวงปู่มั่น ถ้าเป็นสิ่งที่ว่าขณะจิตที่มันจะเป็น ท่านบอกว่าตรงนี้มันสำคัญ ข้ามไปๆ เพราะท่านสงสาร สงสารคนฟัง พอฟังแล้วมันไปจับ มันจะให้กิเลสเป็นสาระแล้ว
กิเลสมันก็จะเอาไปหลอกตัวเองไง สร้างภาพไง อารมณ์เป็นอย่างนั้นๆ ไง แล้วก็อู้ฮู! เหมือนกันเลย ใช่เลย เพราะอาจารย์เคยพูดไว้อย่างนั้น มันก็เลยกลายเป็นโทษกับตัวเอง ตัวเองเพราะอะไร
เพราะตัวเองไม่มีความสามารถ ตัวเองไม่มีกำลังพอที่จะจับต้องเป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่ก็อาศัยสัญญา อาศัยการจำมาอย่างนั้น แล้วกิเลส เรื่องจิตมันก็สร้างอุปาทาน มันก็สร้างภาพของมันอย่างนั้น แล้วก็เป็นไปอย่างนั้น นี่จิตมันเป็นได้หลากหลายนัก หลากหลายนัก
ไร้สาระไม่ไร้สาระมันอยู่ที่สติปัญญา สติปัญญาของคนมันเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับเรามันก็เรื่องไร้สาระทั้งนั้นน่ะ ไร้สาระสำหรับเรา แต่มันจะเป็นสาระกับกิเลส สาระกับคนที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ของเขา ไอ้นั่นเป็นสาระ สาระเพื่อจะหลอกลวงไง เพื่อจะเอาความจริงไง
นี่เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ หลวงพ่อจะตอบก็ได้ ไม่ตอบก็ได้
สิ่งที่ตอบก็ได้ ไม่ตอบก็ได้ ทีนี้เวลามันจะตอบก็ตอบเพื่อเป็นสาระนี่แหละ เป็นสาระ ตอบเพื่อเป็นเหตุเป็นผล
เขาบอกว่า ผมอยากถามว่า เขาบอกว่าเขาไปค้นคว้าจากสถานที่ต่างๆ หลายที่แล้วมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
คนทำอะไรไม่เป็นมันจะเอาอะไรมาตอบ แล้วตอบแล้วมันจะชัดเจนได้อย่างไร รูปฌาน อรูปฌาน ในพระไตรปิฎกเขาก็สอนวิธีการเหมือนกัน อย่างเช่นอรูปฌาน
รูปฌานก่อน รูปฌาน อารมณ์ของฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ถ้ามันวิตก วิจาร นี่อารมณ์ของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มันมีรูปมีร่าง มันจับต้องได้ทั้งนั้นน่ะ
อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ขึ้นไปนู่นแล้ว ขึ้นไปนู่น ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติท่านทำของท่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปแล้ว แล้วขึ้นไปเลย
มันเลยสำคัญ สำคัญตอนถอยต่างหาก เวลาถอยลงมาจากละเอียดมาหยาบ จากเนวสัญญานาสัญญายตนะ มาอากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากาสานัญจายตนะ นี่เวลามันถอยลงมา เวลาถอยลงมาแล้วมันจะเข้ามาสู่จตุตถฌาน ตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน แล้วก็ขึ้น แล้วก็ลง ขึ้นลงอย่างนี้
คนที่ทำได้ โอ้โฮ! มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์แล้วแปลกประหลาดมาก มันจะเกิดผลประโยชน์มหาศาลกับจิตดวงนั้น ผลประโยชน์จากอภิญญานะ ทางโลก
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่สอนอย่างนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา มันอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น ไอ้จุดสังเกตต่างๆ จะบอกว่าไม่รู้หรือ มันก็บอกว่าจะตอบปัญหาเขาได้อย่างไร ปฏิบัติไม่เป็น ไอ้จะบอกว่ารู้หรือ คนมันก็พยายามจะเอาจุดไปขายกินเยอะมาก
เพราะมีคนเข้ามา มันมีลูกศิษย์กับอาจารย์พากันมาที่นี่หลายกลุ่มแล้ว เขาบอกว่าอาจารย์เขาเข้าสมาบัติได้
เวลามานะ เราไม่ค่อยได้ถาม เราจะอธิบายให้เขาฟังว่ามันจะเข้าอย่างไร เขากลับหมดล่ะ เพราะอะไร สิ่งที่เขาทำนั้นเรื่องไร้สาระมาก มันเรื่องไร้สาระมาก เป็นการโกหกกัน แล้วเป็นการโกหกกันที่ว่าวุฒิภาวะด้อยมาก ไอ้พวกที่เชื่ออะไรได้ง่ายๆ เชื่อให้เขามหาศาลเลย ไอ้เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ อันนั้นก็เรื่องหนึ่ง
แต่เรื่องผู้ถาม ในการทำสมาธิ “ผมรู้จักอาการตกภวังค์ อาการตกภวังค์วูบหายไป ผมรู้จักการวิตก วิจาร พุทโธ รู้จักปีติ รู้จักสุข รู้จักเอกัคคตารมณ์ รู้จักอัปปนาสมาธิ”
อันนี้เราแขวนไว้ก่อน คำว่า “รู้จักอัปปนาสมาธิ” เพราะอัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่า มันไปอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ อันนี้แขวนไว้ แต่ถ้าเขาเป็นสมาธินี่เป็นสมาธิได้ ถ้าเป็นสมาธิแล้ว
เขาบอกว่าเวลาจิตเขาถอนออกมาแล้วจากอัปปนา
แต่เราไม่เชื่อว่ามันจะถึงอัปปนานะ
“ผมจะพิจารณาขันธ์ ๕ ทันที”
พิจารณาของเขาได้ เขาทำของเขาได้ แต่เขาพิจารณากายของเขา เขาบอกจิตกำลังเขาไม่พอ ไม่พอแล้ว พอพิจารณาของเขาไป เขารู้จักเวทนา รู้จักกาย รู้จักอะไร
คำว่า “รู้จักๆ” เห็นไหม ถ้ามันรู้จักทุกข์ รู้จักทุกข์ พิจารณาไปแล้วเวลามันปล่อยมันวาง โอ้โฮ! มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์
เขาบอกว่าเขารู้จักตทังคปหาน เขารู้จัก
ถ้ารู้จักมันต้องต่อเนื่องกันไปๆ
แต่เขาไม่รู้จักอรูปฌาน
ไม่รู้จัก ไม่รู้จักเพราะอะไร เพราะเรามีศีลมีธรรมไง เราซื่อสัตย์ไง เราไม่หลงใหลไปในอารมณ์ เวลาสัญญาอารมณ์มันสร้างภาพ สัญญาๆ สัญญามันเปรียบเทียบขึ้นมาแล้ว แล้วพอสัญญาขึ้นมา พอมันเป็นความจำอย่างนั้นขึ้นมาจากหัวใจ แล้วมันมีอาการขึ้นมาก็บอกว่ามันจะเป็นอย่างนั้นโดยความให้คะแนนตัวเองสูงกว่าตามความเป็นจริง อันนั้นมันก็เสียหายไป
ฉะนั้น คำถามข้อที่ ๑. การเข้ารูปฌานมีวิธีเข้าอย่างใด มีจุดสังเกตอย่างใด
มีวิธีเข้าเวลาเขายกของเขา การเข้าสมาธิ การทำสมาธิ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเข้ารูปฌาน เพราะมันชัดเจนอยู่แล้วรูปฌาน มันเป็นเหมือนกับสมมุติโลก มันมีของมันอยู่แล้ว วิทยาศาสตร์มันมีของมันอยู่แล้ว เราคำนวณตามทฤษฎีในการเราจะคำนวณสิ่งใด นั่นน่ะการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ มันมีอยู่แล้ว นี่รูปฌาน
อรูปฌานๆ การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ใช่ไหม แต่เวลาเราคำนวณอรูปฌาน เราคำนวณตามประสบการณ์ของคนไง
เวลาของคน เวลากรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน ๔๐ ห้องมันอยู่ที่จริต เวลาคนที่เข้าได้ เราเชื่อว่าคนที่เข้าได้เขาทำของเขาได้ ถ้าเขาทำของเขาได้ เขามีวิธีการของเขา แล้วความถนัดของเขา มันอยู่ที่ความถนัด ความถนัด ดูสิ การเพ่งกสิณ กสิณอากาศ กสิณน้ำ กสิณไฟ การเพ่งกสิณต่างๆ
เขาบอกการเพ่งกสิณจนเข้าสู่รูปฌาน นี่เขาทำของเขา แต่ของเราใครกำหนด
อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำได้ ทำได้เพราะอะไร จุดสังเกต จุดสังเกตเวลาถอยจากเนวสัญญาลงมา ลงมาหยาบละเอียด หยาบละเอียด โอ้โฮ!
เพราะมันหยาบละเอียด จิตมันถึงพัฒนาของมัน มันพัฒนาของมัน เวลาจิตมันมีกำลังของมันแล้วมันถึงเหาะเหินเดินฟ้าได้ รู้วาระจิตได้ รู้ได้หมด อภิญญา ๖ ได้หมด แต่ชั่วคราวทั้งนั้น ชั่วคราวตรงไหน ชั่วคราวตอนจิตที่มันมีกำลังนี่ เวลาจิตมันถอนออกมานะ จบ ปกติ เหาะๆ อยู่ยังตกเลย ถ้ามันมีของมันนะ อันนี้มันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นฌานโลกีย์ ฉะนั้น เป็นฌานโลกีย์มันเจริญแล้วเสื่อมได้ ถ้าเจริญแล้วเสื่อมได้ แต่มันมีของมันอยู่จริง
เวลาสังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มันเป็นโดยรูปราคะ อรูปราคะ ราคะคือความกำหนัด คือความข้องเกี่ยวของจิต มันเป็นสังโยชน์เบื้องบน คือว่ามันเป็นความว่าง รูปฌาน อรูปฌาน คือสมาธิ คือฌาน กิเลสอย่างหยาบมันดับไปแล้ว คำว่า “เกาะเกี่ยว” มันติดพันของมันไง สังโยชน์ เวลาทำลายสังโยชน์เบื้องบน
คำว่า “สังโยชน์” คือว่ามันอยู่กับจิตเลย ว่าอย่างนั้นเถอะ คือมันเป็นปกติของจิตระดับนั้นน่ะ แล้วจิตระดับนั้นน่ะมันยังทิ้งรูปราคะ ทิ้งอรูปราคะ มันก็ทิ้งสมาธิ รูปฌาน อรูปฌาน สมาธิที่เป็นรูปกับสมาธิที่ไม่เป็นรูป
สมาธิ ถ้าเป็นสมาธิได้คือกิเลสมันยุบตัวลงนะ ถ้ามีกิเลสนะ กิเลสมันฟุ้งซ่าน กิเลสมันทำให้เรามีความทุกข์บีบคั้นในใจ กิเลสนี่ แต่ถ้ากิเลสมันไม่มีแล้ว คำว่า “สมาธิ” มันไม่มีกิเลสบีบคั้น แต่มันก็ไม่สิ้น ไม่สิ้นเพราะอะไร เพราะมันมีจิตอยู่ มันมีภพอยู่ ถ้ามีภพอยู่ ภพนี้เป็นสมาธิ นี่รูปราคะ อรูปราคะ
แล้วเวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว นี่ไง ญาณวิถี มรรคญาณ เวลามันทำลายนั่นน่ะ ทำลายรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สิ้นไปนู่นน่ะ
ไอ้นี่เป็นเรื่องปกติ ถ้าคำว่า “รูปราคะ อรูปราคะ” มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนกับเรารู้ร้อนรู้หนาวเป็นเรื่องปกติ แต่สุขทุกข์ในร้อนในหนาวนั้นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องร้อนเรื่องหนาวเป็นเรื่องอากาศ แต่พอใจไม่พอใจในร้อนในหนาวนั่นเป็นกิเลส
นี่เหมือนกัน รูปราคะ อรูปราคะ มันไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสเพราะอะไร ไม่มีกิเลสเพราะสังโยชน์เบื้องต่ำท่านทำลายไปแล้วไง มันไปอยู่เบื้องบน
ฉะนั้นบอกว่า รูปราคะ อรูปราคะ มันเป็นกิเลสตรงไหน
มันไม่เป็นกิเลสหรอก สมาธิมันไม่เป็นกิเลส รูปฌาน อรูปฌานไม่ใช่กิเลส มันเป็นกิเลสอย่างละเอียด ละเอียด ละเอียดในจิตไง นี่พูดถึงถ้าจิตเป็นปกตินะ
เขาบอกว่า วิธีเข้ารูปฌาน อรูปฌานเป็นอย่างไร
เราจะบอกว่า มันเป็นความชำนาญของคน คนที่เขาชำนาญเขาทำของเขาได้ ไอ้ผู้ที่ชำนาญแต่ละวิธีการ แต่เราไม่บอก แต่จะให้พูดของเราเอง ไม่พูด ไม่พูดไง ของที่เราทำของเรามันก็เป็นความชำนาญของเรา เราทำของเราเอง แล้วเราก็เข้าเองออกเอง ไอ้นี่เรื่องรูปฌาน
ฉะนั้น จุดสังเกต จุดสังเกตมันก็เข้าแล้ว โอ้โฮ! สุดยอด แล้วมันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป เวลามันคลายออกมา มันก็รู้ว่าการคลายออกมา มันคลายมันต้องถอยเข้าถอยออก ถ้าคนจะสร้างประโยชน์นะ
แต่ถ้าเวลาทำเข้าไปครั้งหนึ่งแล้วเราคิดว่าเป็นอย่างนั้น อย่างเช่นเราทำสมาธิ วันนี้ได้สมาธิ แล้วพรุ่งนี้จะทำสมาธิอีก ทำไม่ได้ แค่สมาธิยังเข้าไม่ค่อยได้เลย ยังรักษาไม่ได้เลย
ไอ้นี่มันเข้าไปแล้ว แล้วออก มันเข้าออกๆ ถอยเข้าถอยออกจนมีกำลัง มีกำลังนะ มันก็ทำประโยชน์ได้ ไอ้นั่นพูดถึงทำประโยชน์นะ แต่ไม่ใช่มรรค
เวลามรรค ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาต่างหาก ปัญญาที่ฆ่ากิเลสนี่ปัญญาต่างหาก ถ้าปัญญาต่างหาก เห็นไหม
ฉะนั้น จุดสังเกตนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง วิธีการทำสมาธิ เขาบอกว่า ถ้ามันผ่านปีติ ผ่านสุข
ไอ้นั่นมันเป็นความละเอียดไง ถ้าคำว่า “การผ่าน” ผ่านอย่างนี้มันเป็นเรื่องโลก มันเป็นเรื่องสร้างภาพ การสร้างภาพ สร้างภาพอย่างหนึ่ง ถ้ามันเป็นความจริงอีกอย่างหนึ่งนะ
เราควบคุมไม่ได้ เราจะต้องมีปัญญารักษาของเราเอง ถ้ารักษาของเราเองมันจะดีขึ้นของมันไป
จุดสังเกต
ไม่ต้องจุดสังเกต มันชัดเจนของมัน มันชัดเจนเลยเวลามันเป็น จุดสังเกตที่การปฏิบัตินั้น จุดสังเกตการปฏิบัติ จุดสังเกตหรือแบบว่าสติกับปัญญาที่คอยควบคุมการกระทำของเรา สติกับปัญญาที่ควบคุมการเข้าและการออก สติและปัญญาของเราควบคุมในการประพฤติปฏิบัติของเรา สติและปัญญาควบคุมในการที่เราจะให้ดำเนินการ
ดำเนินการคือว่าเข้าสมาธิแล้วออกไปใช้ปัญญาอย่างไร ออกใช้ปัญญาเสร็จแล้ว ถ้ามันใช้กำลังไปแล้ว เราจะดึงกลับไป ดึงกลับไปนะ เวลาจะดึงกลับไปมันไม่อยากไปหรอก เพราะมันละล้าละลัง มันห่วงงาน มันอยากได้งาน เพราะเข้าไปสมาธิเราแค่ไปพัก มันบอกว่านั่นไม่ใช่งาน แต่ความจริงนั่นน่ะเป็นงาน เป็นงานที่กลับมาทำงานใหม่ งานจะสำเร็จได้
แต่ถ้าทำงานอยู่นี่มันสำเร็จไม่ได้ สำเร็จไม่ได้แล้วงานมันจะเสีย เสียเพราะสมาธิมันไม่สมดุล สมาธิมันไม่ดี ปัญญาที่ใช้ไปแล้วมันอ่อนด้อย แล้วกิเลสมันเหิมเกริม พอกิเลสมันเคยชนะแล้วมันเหิมเกริม เราจะกลับมาต่อสู้ กลับมาควบคุมมันได้ยาก ที่ว่าทำแล้วจะเสร็จๆ มันกลับไม่เสร็จ
ไอ้ที่ว่าบอกว่าปล่อยแล้วมันไม่ใช่ได้งาน ปล่อยไปแล้วเพราะมันไม่ใช่ใช้ปัญญา อันนั้นน่ะมันจะสำเร็จ สำเร็จเพราะมันวางตรงนี้แล้วมันกลับไปทำความสงบ ทำความสงบเสร็จแล้ว จนมีกำลังแล้วกลับมาพิจารณา
กิเลสมันไม่เคยชนะ ไม่เคยได้ชนะ มันไม่มีกำลังมากพอ มันก็ไม่เคยมีโอกาสได้เหยียดหยาม แต่ถ้าพอสมาธิกลับมามีกำลังที่ดีขึ้น พิจารณาต่อเนื่องๆ ไป ชำระกิเลส ไอ้ที่ว่ามันจะไม่ได้งานๆ นั่นน่ะกลับจะเป็นงาน กลับจะเป็นงาน กลับจะเป็นสิ่งที่ดีงาม กลับจะเป็นสิ่งทำแล้วประสบความสำเร็จ
แต่คนเราเวลามันคิด มันคิดไม่เหมือนกัน คนคิดไม่มีประสบการณ์จะคิดอย่างนั้นน่ะ ขณะใช้ปัญญาอยู่มันยังไม่สำเร็จ มันยังใช้ไม่ได้ แล้วจะกลับมาทำสมาธิมันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร นี่เวลาคนคิดคิดอย่างนี้ แต่คนไม่เคยทำ แล้วไม่เคยเสื่อม ไม่เคยแพ้ ไม่เคยโดนกิเลสมันหลอก ก็คิดของเขาอย่างนั้น
แต่คนที่เคยโดนกิเลสหลอก คนที่เคยเสียท่ากิเลสแล้ว เขาจะระวังของเขา แล้วเขาจะรักษาของเขาเพื่อไม่ให้กิเลสมันหลอกแล้วหลอกเล่า เพื่อไม่ให้กิเลสมันมีกำลังที่มากกว่า ให้มันชนะ เขาเลยกลับไปทำสมาธิแล้วกลับมาใช้ปัญญา
ถ้ามีปัญญาหรือใช้ปัญญาต่อเนื่องจนมันสมดุลของมัน เวลามรรคสามัคคี จากตทังคปหานปล่อยเป็นครั้งเป็นคราว กับสมุจเฉทจะขาดเลย พอขาดไปแล้ว รสชาติ
จุดสังเกต จุดสังเกตของตทังคปหาน มันปล่อยว่างหมดเลย แต่ไม่รู้จบอะไร เหมือนกับว่าเราได้ใช้หนี้ แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับ
แต่เวลาสมุจเฉทปหาน เวลาสมุจเฉทปหานมันขาด เราใช้หนี้ เจ้าหนี้เซ็นให้เรียบร้อย ถอนสิ่งที่วางจำนองไว้ กลับบ้าน สบาย จบ นี่เวลาสมุจเฉทมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย นี่จุดสังเกต จุดสังเกตของตทังคปหาน จุดสังเกตของสมุจเฉทปหาน
ฉะนั้น สิ่งที่มันจุดสังเกตมันก็มีของมันทั้งนั้นน่ะเวลาคนเป็นนะ เวลาครูบาอาจารย์ในวงกรรมฐานเขาเรียก “ขณะ” ถ้าไม่มีขณะคือไม่มีจุดของความสำเร็จ ทีนี้ขณะ ขณะที่มันจบสิ้นกระบวนการ
แต่พอผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็เลยสร้างอารมณ์ขณะ “เออ! อันนี้ใช่แล้ว เออ! อย่างนี้ใช่”
“เออ! อย่างนี้ใช่” เอ็งสร้างทั้งนั้นเลย มันไม่ใช่ความจริง ถ้าความจริงมันไม่มีเออและไม่เออ มันจบสิ้น เวลาเราตัดฟืน เวลาฟืนมันขาดออกจากกัน มันไม่มีใครเออไม่เออหรอก ฟืนดุ้นเดียวกันเวลามันขาดออกจากกัน ต่างคนต่างแยกออกไป มันไม่มีใครมาสนับสนุนใคร ไม่มีใครมารับรองใคร ไม่มีหรอก มันขาดออกไปสิ้นเชิง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาขณะมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันมีขณะ แต่ขณะที่สร้าง ขณะที่เราพลิกแพลง ขณะที่เราอุปโลกน์ขึ้นมาคนละเรื่องเลย คนละเรื่องเพราะอะไร มันพูดไม่ถูก พูดไม่ชัด พูดแล้วไม่เป็นความจริง นั่นพูดถึงเวลามันสร้างขึ้นมา
“ดังนั้นผมถึงอยากลองเข้าอรูปฌานดูบ้าง จะต้องทำอย่างไร และจะสังเกตอย่างใด”
ไอ้นี่ก็กำหนดของเรา เวลาเราจะเข้าบ้าง เรากำหนด เรากำหนดเป็นรูปฌานอยู่แล้ว เราทำสมาธิอยู่แล้ว เรากำหนดความว่างสิ กำหนดความว่าง เวลาโมฆราชไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เธอจงมองดูโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ผู้ที่รู้ว่าว่าง”
แม้แต่ความว่าง คนไปรู้ว่าว่าง มันยังมีผู้เป็นเจ้าของ ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น เกิดมีทิฏฐิมีมานะ แต่ถ้ามันดูว่าโลกนี้เป็นความว่าง มันก็ไม่ไปวุ่นวายกับโลก
ถ้ามองโลกนี้เป็นของเรา โลกนี้มันมีเจ้าของ โลกนี้มีได้มีเสีย เราก็ต้องไปยุ่งกับโลก ถ้าเรามองโลกเป็นความว่าง โลกเป็นเช่นนี้เอง เขาก็อยู่ของเขา เราก็อยู่ของเรา เราก็อยู่ของเรา แต่เราอยู่ไหนล่ะ...กลับมาถอนไอ้ตัวเรานี่
นี่ก็เหมือนกัน เวลากำหนดรูปฌาน แล้วอรูปฌานความว่าง ก็กำหนดเข้าสิ ทำของเราขึ้นมา ถ้ามันเป็นไปได้นะ มีอำนาจวาสนา มันก็จะเจริญขึ้นไป ถ้าเป็นขึ้นไปมันก็เป็นเริ่มต้นจากภาวนา จะได้ไม่ได้ก็อยู่ที่การกระทำของเรา อยู่ที่วาสนาของเรา
“ผมเข้าใจดีว่าคำถามนี้เป็นเรื่องที่ไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการภาวนา แต่ผมก็อยากลองดูครับ”
อันนี้คือความปรารถนา คือความตั้งใจของเขา คำถามก็เป็นคำถาม ถ้าคำถามถ้าภาวนาเสร็จแล้วมันเหมือนคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็ไปหาหมอ หมอก็ให้ยาตามนั้น แต่นี่คนไม่ได้ป่วย ไม่ได้ป่วย เพราะว่าไม่มีคำถามของตัวเอง แต่แบบว่าอยากจะเข้าอรูปฌาน อยากจะลองเข้าอรูปฌาน อันนั้นก็เป็นความปรารถนาของตน แล้วถ้าตนทำได้ก็เป็นเรื่องการฝึกหัดหัวใจ
การฝึกหัดภาวนามันก็มีขั้นมีตอนของมัน มันจะเจริญก้าวหน้าได้มากได้น้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ความมุมานะ อยู่ที่การปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติได้มากได้น้อย มันก็เป็นสมบัติของเราเนาะ
ฉะนั้น คำถาม “อยากรู้วิธีการเข้าอรูปฌาน”
ถ้าเข้าอรูปฌานมันก็เป็นสมบัติของเรานะ รูปฌาน อรูปฌาน ถ้าอรูปฌาน ถ้าเราฝึกหัดของเรามันก็เป็นประสบการณ์ของชีวิต มันก็เป็นอำนาจวาสนาบารมีของจิต ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อความฉลาดของหัวใจ เพื่อคุณงามความดีของใจดวงนั้น เอวัง