อุบายภาวนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “การเพ่งกสิณไฟ”
กราบนมัสการหลวงปู่ครับ กระผมเคยบวชช่วงหนึ่งตอนวัยรุ่นแล้วได้ทดลองเพ่งกสิณไฟ ในตอนนั้นใช้เทียนจุดตอนค่ำมืด ปิดห้องมิดชิด เพ่งที่เปลวเทียนตรงกลาง ส่วนบนบ้าง โดยนั่งขัดสมาธิบริกรรมในใจ เตโชบ้าง ไฟบ้าง จนถึงวันที่ ๗ เกิดอาการเหมือนตัวขยายใหญ่เท่าโลกและจะระเบิด ในใจแว็บคิดว่า ถ้าเราไม่ตายก็บ้าแน่ (ตอนนั้นยังไม่มีหลัก แต่อยากลองดูว่าเวลาจิตเป็นสมาธิเป็นอย่างไร)
ตอนที่กลัว ทำอะไรไม่ถูกอยู่อย่างนั้น เห็นภาพหน้าหลวงปู่ขาวยิ้มให้ชัดเจนมาก ไม่เหมือนกับที่เรานึกเอา แล้วอยู่ๆ ก็เหมือนมีน้ำเย็นๆ มาราดลงที่หัวใจให้สงบลงจนปลิดทิ้ง เหมือนไม่ได้เกิดอาการอะไร ตั้งแต่นั้นมากระผมก็ไม่กล้าเพ่งกสิณอีกเลย หรือถ้าเพ่งบ้างก็จะกล้าๆ กลัวๆ กระผมอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า
๑. อาการที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไรครับ
๒. ถ้าหากเราเพ่งกสิณต่อ แล้วเกิดอาการอย่างนี้ จะเป็นอันตรายไหมครับ
กราบขอบพระคุณมาก
ตอบ : นี่คำถามนะ การเพ่งกสิณ การเพ่งกสิณมันก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง การทำสมาธิ ๔๐ วิธีการ การทำสมาธิ การทำสมาธิการทำความสงบของใจ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านสอนให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ
ตอนนี้เขาสอนทำสมาธิ สอนทำสมาธิก็คือทำสมาธินั่นแหละ แต่เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธินี้เป็นแค่บาทฐาน บาทฐานให้จิตเราสงบ แล้วมันจะฝึกหัดใช้ปัญญาไปข้างหน้า นี้คือมรรค ๘ ในพระพุทธศาสนา
แต่ถ้าการทำสมาธิ การทำสมาธิมันเกิดได้หลายลัทธิ เช่น ศาสนาอื่นเขาก็ทำสมาธิของเขาเหมือนกัน เขาทำของเขาเหมือนกันนะ ในลัทธิศาสนาอื่น แล้วในพวกอภิญญา พวกฌานโลกีย์ เขาก็ทำสมาธิเหมือนกัน
แต่ถ้าสมาธิของเรามันต้องเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิมันทำแล้วมันจะถูกต้องดีงาม สัมมาสมาธิคือจิตสงบเฉยๆ จิตสงบระงับเข้ามาแล้วมันมีความเบา มีความสบายใจ มีความสุขใจ มีความปลอดโปร่ง นั่นน่ะคือสมาธิ แต่ถ้ามันไปรู้ไปเห็นคือว่ามันส่งออก ส่งออกไปเห็น เห็นไหม
ฉะนั้น การทำสมาธิๆ การเพ่งกสิณก็เป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่ง เวลาครูบาอาจารย์ท่านมีจริตนิสัยนะ ท่านเพ่งกสิณไฟ เวลาเพ่งกสิณไฟ ท่านกำหนดเป็นไฟ ไฟจะเกิดขึ้นมาจากใจดวงนี้ แล้วก็เพ่งเอาไฟนี้ไปเผา ไปเผาได้เลย
หลวงตาท่านเคยเล่าว่า ลูกศิษย์ของท่านเป็นโยมฆราวาสผู้หญิงอยู่ที่เมืองจันท์ฯ ชำนาญเรื่องสมาธิไฟมากๆ แล้วมีพระองค์หนึ่ง มีพระองค์หนึ่งสมัยที่อยู่เมืองจันท์ฯ นั่นน่ะ ยายคนนี้เป็นลูกศิษย์มาเคารพบูชาหลวงตามหาบัว เวลาจะไปภาวนาก็จะไปภาวนาที่วัดหลวงตาที่วัดน้ำตกพลิ้ว
ฉะนั้น มันก็มีพระองค์หนึ่งก็จะมาชักชวน ชักชวนให้ยายนี้ไปภาวนาที่วัดเขา แล้วก็มาบอกว่าเขาสอนถูกทาง หลวงตามหาบัวท่านสอนอะไรก็ไม่รู้
ฉะนั้น ยายคนนี้แกได้กสิณ แกทำกสิณไฟได้ พอทำกสิณไฟได้ แกคิดในใจนะ เอ๊ะ! พระองค์นี้มาดูถูกครูบาอาจารย์กูได้อย่างไร เขาก็ทำเพ่งกสิณให้จิตมันสงบเข้ามา แล้วเขาก็เพ่งไฟใส่พระองค์นั้นเลย พระองค์นั้นสะดุ้งโหยงเลย
เพราะเขารู้ นักภาวนาด้วยกันนะ เลยบอกว่า “ยายทำไมเพ่งกสิณไฟใส่อาตมาล่ะ”
เขาก็ยิ้มๆ ไม่พูดไง เห็นไหม เวลาคนเขาทำได้
เวลายายเป็นลูกศิษย์หลวงตาพระมหาบัวอยู่ที่เมืองจันท์ฯ เขาทำของเขาได้นะ เขาทำของเขาได้ เขาทำความสงบใจของเขาได้เพราะอะไร เพราะเขาเป็นลูกศิษย์หลวงตามหาบัว เพราะหลวงตาพระมหาบัวท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านรู้ว่าอะไรเป็นการทำความสงบ ทำความสงบชนิดไหน
ถ้าชนิดไหนมันก็จริตนิสัย จริตนิสัยนะ เพ่งกสิณไฟ กสิณลม เพ่งดวงอาทิตย์ นั่นมันก็เป็นกสิณ เป็นความสงบชนิดหนึ่ง ความสงบชนิดหนึ่ง แต่มันกสิณจากชนิดใดมันก็มีอำนาจตามชนิดนั้นไง
นี่ก็เหมือนกัน คำถามบอกว่าเขาเพ่งกสิณไฟ เพ่งกสิณไฟ ๗ วัน ๗ วันเขาทำของเขาไม่เป็น ทำของเขาไม่เป็น เขาก็ทำของเขาโดยธรรมชาติของเขา เวลาตัวขยายใหญ่ขึ้นๆ ใจเขาคิดแว็บขึ้นมาเลยว่า ถ้ามันระเบิดขึ้นมาเขาจะตายแน่เลย ถ้าเขาไม่ระเบิดขึ้นมาเขาอาจจะบ้าเลย
เวลาไม่มีประสบการณ์มันก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้ามันเป็นแบบนี้ เวลาเราเพ่งกสิณ ถ้าเพ่งกสิณนะ คนอยู่ที่จริตนิสัย ถ้าเขาเพ่งกสิณแล้วได้ประโยชน์ของเขา เขาก็ทำของเขาได้ ถ้าคนเราเพ่งแล้วมันไม่ได้นะ มันก็เคร่งเครียดอยู่อย่างนั้นน่ะ
ถ้าเคร่งเครียดอยู่อย่างนี้ เราก็มากำหนดลมหายใจเข้าออก เรากำหนดคำบริกรรมพุทโธ เรามาระลึกถึงความตายของเรา ตายๆๆ มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย
การทำความสงบมันทำความสงบได้หลากหลาย แต่ขอให้เป็นการทำความสงบจริงๆ ทำความสงบจริงๆ คือว่ามันถูกต้องชอบธรรมไง
แต่ถ้าทำความสงบไม่จริง ไม่จริงคือเราก็นึกเอา เราก็เปรียบเทียบเอา เราก็สร้างภาพเอา การสร้างภาพอันนั้นมันเป็นการสร้างภาพ มันก็ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นการทำความสงบของใจเหมือนกัน กิริยาเหมือนกัน การตั้งใจทำเหมือนกัน แต่ผลไม่เหมือนกัน ผลไม่เหมือนกันเพราะเราเริ่มต้นมาจากความไม่ถูกต้องชอบธรรมไง
ถ้าความถูกต้องชอบธรรม เรากำหนดพุทโธ เรากำหนดลมหายใจเข้าออก เราเพ่งกสิณโดยธรรมชาติของเรา ถ้าจิตมันจะสงบได้มันก็สงบระงับเข้ามาในฐานของจิตของแต่ละดวง
ทีนี้ผู้ที่ถามเวลาเขาทำของเขาไป จิตมันต้องสงบระงับเข้ามามันถึงเห็นร่างกายของตนขยายใหญ่ขึ้นๆ อันนี้มันเป็นปีติ
เวลาทำความสงบของใจ ทำสมาธิ หรือเวลาเราเพ่งกสิณต่างๆ เวลาผลของมัน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่องค์ของสมาธิ องค์ของสมาธิมันประกอบไปด้วยวิตก วิจาร วิตก วิจารคือมีการเคลื่อนไหว
อยู่ดีๆ เราจะสงบไปอย่างนี้ เราสงบอย่างไร ถ้าจิตมันมีการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวเพื่อสงบไง อย่างเช่นบริกรรมพุทโธๆๆ ลมหายใจเข้าออกมันมีการเคลื่อนไหวทั้งนั้นน่ะ เคลื่อนไหวเพื่อความสงบ
นี่ก็เหมือนกัน เพ่งกสิณๆ มันมีการเคลื่อนไหวของมัน เวลามีการเคลื่อนไหวของมันปั๊บ เวลาตัวมันขยายใหญ่ขึ้น มันเกิดปีติ เวลาเกิดปีติ ปีติมันขยายใหญ่ขึ้น แล้วปีติมันอยู่ที่ว่าอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวง บางคนก็ปีติเล็กน้อย บางคนก็ปีติมาก บางคนปีติจนรับรู้เรื่องภายนอกได้หมดเลย
คำว่า “ปีติ” มันก็อยู่ที่คนทำได้หรือทำไม่ได้ ทางวิชาการก็บอกว่าปีติมีความรู้อย่างนี้ เราก็เข้าใจว่าอย่างนั้นไง แต่ถ้ามันเป็นที่จริตนิสัยของคนมันแตกต่างหลากหลายกันไป
ฉะนั้นบอกว่า เวลาเขาคิดว่าถ้าเกิดมันระเบิดขึ้นมาเขาจะตายแน่เลยน่ะ
นั่นน่ะคนอย่างนี้ไม่เป็นไร คนอย่างนี้คนที่ยังมีสติสัมปชัญญะรับรู้อยู่ เราจะตายแน่เลย แต่ถ้าคนที่จะเสียหาย มันไม่คิดว่าเราจะตายแน่เลย มันไปเลยไง มันระเบิดไปเลย มันไปเลย เพราะมันไม่มีคำว่า “ตายแน่เลย เราจะเป็นอะไรไป” พวกนี้มันกลัว มันกลัว มันยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ พวกนี้ไม่เป็นไรหรอก แต่ตกใจมาก แล้วหายใจฟืดฟาดๆ เพราะมันตกใจ แต่ตกใจ ตกใจมันก็ยังไม่ถึงกับเป็นอะไรไป
นี่พูดถึงว่ามันเป็นอะไร แล้วบอกว่าที่เขากลัว กลัวมากเลย แต่พอสุดท้ายแล้วเห็นภาพเป็นหน้าหลวงปู่ขาวยิ้มให้ พอยิ้มให้มันเย็นไปหมดเลย
เวลาเราไปตกใจ เราก็ไปตกใจไง พอเราเห็นหน้าหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวเป็นครูบาอาจารย์ที่เราเคารพใช่ไหม เพราะเราเห็นภาพหลวงปู่ขาว เราได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่ขาว พอเห็นภาพหลวงปู่ขาว จิตนี้เย็นไปหมดเลย เพราะอะไร
เพราะหลวงปู่ขาวเป็นพระอรหันต์ที่เราเชื่อมั่นของเรา พอเห็นภาพอย่างนั้นปั๊บ จิตนี้มันรับรู้ได้เลยว่าปลอดภัย เรามีครูบาอาจารย์มาเยี่ยมเยียนอย่างนี้ นี่มันเป็นสิ่งที่ดี พอสิ่งที่ดี
เขาบอกว่ามันก็เลยเกิดอาการเย็นไปหมดเลย มันเย็นเหมือนปลิดทิ้งเลย
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีหมายความว่ามันเป็นนิมิตที่ดี มันเห็นที่ดีไง พอสิ่งนี้แล้ว
ตั้งแต่นั้นมาเขาบอกว่าเขาก็ไม่กล้าทำกสิณอีกเลย เพราะเขาทำแล้วเขากลัวจะเจอสภาพแบบนี้อีก
ถ้าเจอสภาพแบบนี้อีก เราค่อยรักษาของเรา ถ้าเพ่งกสิณถ้ามันตรงกับจริตเรานะ
แต่คำถามบอกว่าเคยบวชตั้งแต่เป็นหนุ่มๆ ตอนนี้แก่แล้วอย่างนี้ มันนานมาแล้ว
พอมันนานมาแล้ว ถ้าเราจะปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ถ้าเราเอาแบบเรียบง่าย เอาแบบที่ไม่ให้สิ่งใดที่มันโลดโผนนะ เราก็ลมหายใจเข้าหายใจออก นึกพุทโธของเรา แล้วถ้าทำแล้วมันไม่ได้ผล ถ้าจะต้องไปเพ่งกสิณแล้วจิตมันสงบ นั้นก็เป็นจริตนิสัยของตน
ถ้าเราทำสิ่งใดแล้วมันไม่สงบ ถ้าจะต้องจำเป็นต้องเพ่งกสิณก็ไปเพ่ง เพ่งกำหนดไปที่ไฟให้มันนิ่งของมันไป กำหนดอย่างนั้น จิตนิ่งๆ จิตนิ่งๆ นี่เคลื่อนไหวเพื่อสงบ มันมีการกระทำของมันไง ทำความสงบของใจหรือทำสมาธิมันต้องมีการกระทำ
ไม่มีการกระทำมันเหมือนทิ้งขว้าง เหมือนไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าอย่างนั้น “ว่างๆ ว่างๆ” อันนั้นมันเสียเวลาเปล่านะ มันเสียเวลาเปล่า หมายความว่า เราจะทำสิ่งใดให้เป็นกิจจะลักษณะ เราจะได้ผลงานของเรา
ไอ้นี่เราทำครึ่งๆ กลางๆ ทำแบบไม่สนใจทำ ทำแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันก็จะได้ผลครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ปฏิบัติสมาธิก็จะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ มันก็จะเป็นนะ ไอ้ว่าจะเป็นหรือ มันก็ไม่เห็นเป็นสมาธิเสียที ไอ้ไม่เป็นสมาธิ มันก็ดีอยู่นะ นี่มันครึ่งๆ กลางๆ ไง
ทำให้มันจริงๆ จังๆ เคลื่อนไหวเพื่อสงบ กำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ บริกรรมพุทโธ กำหนดลมหายใจ เคลื่อนไหว ทำ ทำ อย่าขี้เกียจ ถ้าทำแล้วมันจะเกิดการกระทำ เคลื่อนไหวเพื่อสงบ
ฉะนั้น คำถาม คำถามว่า “อาการที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไรครับ”
มันเกิดจากเราเพ่งกสิณ ถ้าเพ่งกสิณต่อเนื่องๆ จิตมันเริ่มมีสมาธิ ว่าอย่างนั้นเลย จิตมันเริ่มมีกำลังของมัน มันจะเห็นอาการอย่างนั้น อาการอย่างนั้นมันไม่ใช่ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าเราสร้างภาพ เราทำอะไร มันเป็นของมันขึ้นมาเอง มันเป็นขึ้นมาเพราะอะไร เป็นขึ้นมาเพราะจิตมันมีการเคลื่อนไหวที่เพ่งกสิณนั่นแหละ พอเพ่งกสิณ จิตมันดีขึ้น พัฒนาขึ้น มันก็จะเห็นอาการแบบนั้น แต่เห็นอาการแบบนั้นโดยที่เราคาดไม่ถึง เราคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ไง
โดยธรรมชาติของเรา เราก็เป็นคนคนหนึ่งใช่ไหม แหม! เราจะไปรู้เห็นอะไรแปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรอย่างนั้น พอไปเห็นแปลกประหลาดมหัศจรรย์อย่างนั้นมันก็ตกใจ มันตกใจ
แต่ถ้าพอมันเคยเห็นครั้งที่ ๑ แล้วเราตั้งสติไว้ ถ้าพิจารณาไป ถ้าเห็นครั้งที่ ๒ นี่เป็นเรื่องปกติแล้ว ถ้าเห็นครั้งที่ ๓ เราไม่มาสนใจเรื่องนี้ เราสนใจที่เพ่งที่แสงไฟนั่น ถ้าเพ่งที่แสงไฟนั่น จิตก็สงบ ถ้ามันออกรับรู้ มันก็จะส่งออกแล้ว คลายออกไป มันจะคลายของมันออกไป
นี่ว่า “อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรครับ”
เกิดจากจิตของเราเพ่งแสงเทียนนั้น แล้วจิตของเรามันเริ่มจะมีกำลัง แล้วมันก็ไปรู้เห็น คือว่าเห็นนิมิตๆ นั่นล่ะ เห็นนิมิตก็เป็นจริตนิสัยที่มันเห็น บางคนเพ่งเกือบเป็นเกือบตายมันก็ไม่เห็น ถ้าไม่เห็นก็คือไม่เห็น ถ้าเห็น ถ้าเห็นแล้วมีสติแล้วก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาแบบว่า เรากลับมาเพ่งที่แสงไฟนั้น ที่แสงเทียนนั้น แล้วสิ่งนั้นวางลงๆ เดี๋ยวถ้ามันดีขึ้น มันจะดีขึ้น
แล้วถ้ามันขยายได้แล้วนะ พอเพ่งกสิณใช่ไหม มันนิ่งเป็นภาพ ไปเห็นแสงไฟนั้น แสงไฟนั้นจะมาเห็นในภายใน แล้วกำหนดแสงไฟนี้ให้ขยาย กำหนดแสงไฟไปที่ไหนก็ได้ ถ้าคนทำเป็นนะ
ถ้าคนทำไม่เป็น ไม่ต้องทำ เดี๋ยวที่ว่ามันตกใจ มันต่างๆ ถ้าคนทำเป็นแล้วไม่มีปัญหาเลย เขาเรียกว่ามันเป็นวิธีการเท่านั้น วิธีการจะทำให้ใจสงบ วิธีการจะทำให้เรามีกำลังขึ้นมา นี่พูดถึงว่าผลของสมาธิ
“๒. หากเราอยากเพ่งกสิณต่อ แล้วเกิดอาการอย่างนี้ขึ้น จะอันตรายไหมครับ”
ถ้าเกิดอาการอย่างนี้ขึ้น ถ้ามีสติ มีสติแล้วควบคุมได้ ไม่มีอันตราย แต่ถ้ามันไม่มีสติแล้วเราตกใจ เราตกใจเพราะมันมหัศจรรย์ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมีอภิญญา ท่านกำหนดดูสิ่งใด ท่านกำหนดรับรู้สิ่งใด ท่านกำหนดเสียงสิ่งใด ท่านตกใจอะไร ท่านเป็นคนมีสติกำหนด กำหนดรู้ว่ามันทำอะไรก็ได้ ถ้ามีสติกำหนด แต่ถ้ามันไม่มีสติ มันไม่กำหนด
ไอ้ที่ว่าถ้ามันเกิดขึ้นน่ะ ถ้ามันมีสติ มันกำหนดของมัน มันพิจารณาของมัน มันไม่ใช่พิจารณา มันควบคุมมันได้ แล้วควบคุมได้ มันมีแต่จะเสื่อมลง พอเสื่อมลง ส่วนใหญ่แล้วถ้าคนทุจริต คนทุจริตมันก็พยายามจะโป้ปดมดเท็จไง ทุจริตมันก็พูดแต่เรื่องของเดิมๆ ไง ทุจริตมันก็ไปพูดถึงสิ่งที่เขาเข้าสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ นู่นไง สมาบัติจะเป็นอย่างนั้นๆ
มีอยู่จริงหรือเปล่า ถ้ามีอยู่จริง มันทำอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าถ้าเพ่งกสิณต่อ ถ้าเกิดอาการอย่างนี้
เราบอกว่ามันจะไม่เกิดอีกง่ายๆ ไง เวลาเราไม่รับรู้ เราไม่ได้ตั้งใจ มันก็เกิด เวลาตั้งใจ ไม่เกิดหรอก อยากได้ ไม่มีหรอก อยากได้อยากเป็น ไม่มีหรอก แต่ถ้ามันเป็นธรรมชาติของมัน มันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น แต่ถ้าคนเขาเป็นเขาก็รักษา เพราะมันก็เป็นการเพ่งกสิณเฉยๆ เพ่งกสิณถ้ามันส่งออกมันก็เป็นอภิญญา
ถ้าสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามา เห็นไหม ฉะนั้น เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง “ศีล สมาธิ ปัญญา” คำว่า “สมาธิ” สัมมาสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้น พอเกิดปัญญาขึ้นมันจะเข้าสู่มรรค
แต่ถ้ามันเป็นกสิณมันส่งออกไป ไปเห็นภาพ ถ้าเห็นภาพ ถ้าไปเห็นกายล่ะ อย่างเช่นเขาบอกว่าพอเขากำหนดปั๊บ พอมันเย็นลง เกิดเห็นภาพเป็นหน้าของหลวงปู่ขาว
ถ้าเห็นภาพเป็นซากศพ เห็นภาพ นั่นน่ะก็เป็นอสุภะ ถ้าเห็นภาพก็เป็นการพิจารณากาย แต่นี่เห็นภาพเป็นหน้าหลวงปู่ขาว
เราบอก ถ้ามันเห็นภาพ ถ้าเห็นกาย นั่นน่ะเข้าสู่สติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้ามันเห็นเป็นเรื่องฤทธิ์ เรื่องเดช เรื่องอะไร นั่นไม่ใช่แล้ว นั่นมันออกแล้ว ถ้าออก
ถ้าเห็นเรื่องกายนี่โอเค เห็นเรื่องกายนี่ใช้ได้ ถ้าเห็นเป็นเรื่องอื่นนะ เราไม่ไป เราไม่ไปนะ เรากำหนดได้ คนที่ทำเป็นมันกำหนดควบคุมได้หมดน่ะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันถึงไม่เสียหายไง แต่ถ้าไม่มีสติมันจะเสียหาย
นี่พูดถึงว่า “๒. ถ้าเราเพ่งกสิณต่อ ถ้าเกิดอาการอย่างนี้อีกจะอันตรายไหมครับ”
ถ้าเกิดอาการอย่างนี้แล้วมีสติควบคุมได้ ไม่
แล้วควรทำอย่างไรต่อ
ทำอย่างไรก็กำหนดลงไปที่นั่นน่ะ ที่แสงไฟนั้น ถ้าแสงไฟนั้น กำหนดอย่างนั้น แล้วมันจะเห็นเป็นภาพภายใน ถ้าเป็นภาพภายในนะ
ไอ้นี่พูดถึงกสิณไฟ เพ่งใหม่ๆ ก็เพ่งข้างนอกนั่นแหละ พอเพ่งข้างนอกแล้ว ถ้าเป็นฤทธิ์เป็นเดช เขากำหนดไฟ อย่างที่ว่า กำหนดไฟไปเผาใครก็ได้ แต่มันเป็นบาปเป็นกรรมนะ กำหนดไปเผาเขาก็เป็นความร้อนสะดุ้งอย่างที่ว่านี่แหละ สะดุ้งเฮือกเลยนะ เอากสิณไฟเพ่งใส่เขา ถ้าอย่างนั้นเราไม่ทำสิ่งนั้นก็จบ
นี่พูดถึงว่า ถ้าเราควบคุมได้ ไม่เสียหาย แต่ถ้าเป็นมรรค เป็นวิธีการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ แต่เพ่งกสิณก็เพื่อความสงบของใจ ถ้ามันเป็นไปได้จริง
เราจะบอกว่า ถ้ามันเป็นจริตนิสัยจะต้องทำอย่างนี้ มันก็เป็นวาสนาของคน แต่ถ้ามันไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนี้ เราทำวิธีการอื่นก็ได้ ทำความสงบของใจกำหนดอย่างไรก็ได้เพื่อความสงบของเราเข้ามา แล้วถ้ามันเป็นขึ้นไป ถ้ามันดีขึ้นมาแล้วเราจะค่อยพัฒนาของเราขึ้นไป นี่พูดถึงว่ามันเป็นอุบายวิธีการอันหนึ่ง จบ
ถาม : เรื่อง “คำถามสุดท้าย ลูกแค่สับสน”
ตอบ : ไม่ต้องสับสนหรอก คำถามสุดท้ายไม่ต้องสับสน เราปรารถนาจะทำบุญที่ไหนให้ทำบุญที่นั่น เราปรารถนาจะถวายของที่ไหน ถวายของที่นั่น ไม่จำเป็นต้องขวนขวายไปที่มันเป็นภาระรุงรังกันไป
แล้วไอ้เรื่องอย่างนี้มันจบไปแล้ว เพราะคำถาม เวลาใครเขาถามปัญหามา เราก็ตอบแล้วก็จบ ถ้าเข้าใจได้ก็เข้าใจได้ ไม่เข้าใจได้ก็แสดงว่าเราพูดกันไม่ค่อยเข้าใจกัน เราก็ไปหาสิ่งที่เราพอใจก็จบ
จบ ไม่ต้องสับสน อยากทำบุญที่ไหน ทำบุญที่นั่น แต่ที่นี่ไม่จำเป็น เพราะของของเราเยอะแยะ เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย โอ้โฮ! เยอะแยะไปหมดเลย
เวลาใครมาถาม “หลวงพ่อขาดอะไร”
ขาดหัวใจคนน่ะ ขาดหัวใจที่เอ็งอยากปฏิบัติน่ะ เวลามาวัดเอาหัวใจมาด้วย แล้วเวลาปฏิบัติก็มีสติมีปัญญาขึ้นมานะ ของปัจจัยเครื่องอาศัยที่ไหนก็มีเยอะแยะไปหมด
เวลาพระเรา ถ้าพระเรานะ ด้วยสติด้วยปัญญา หาเอง ทำเอง ผ้าก็ตัดเอง ทุกอย่างทำด้วยมือทั้งนั้น ทำด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร ไม่อยู่ในอาณัติของใครทั้งสิ้น อยู่ใต้อาณัติธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ฉะนั้น ไม่ต้องสับสน ทำตามความสะดวกเลย แล้วไม่ต้องมาสนใจที่นี่ ที่นี่เขาจัดการกันเองได้ จบ
ถาม : เรื่อง “ไม่ลง”
กราบนมัสการท่านอาจารย์ ผมเขียนคำถามพระอาจารย์ครั้งล่าสุด เรื่อง “ทางเดิน” ซึ่งผมได้เขียนเล่าการภาวนาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันบางส่วน เล่าถวายท่านพระอาจารย์ โดยท่านพระอาจารย์เมตตาตอบรวมอยู่ในเรื่อง “ธรรมสอน” เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐ ครับ หลังจากนั้นผมก็ได้ภาวนาต่อเนื่องมา ครั้งนี้ผมขอโอกาสเล่าถวายพระอาจารย์ต่อเกี่ยวกับการภาวนาในระยะนี้ครับ
เนื่องจากปัจจุบัน สิ่งที่แสดงตัวชัดเจนภายในจิตใจของผม สังเกตได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องกามกิเลสและเรื่องความหงุดหงิดไม่พอใจต่างๆ (อันนี้เป็นมาประมาณ ๓ ปีแล้ว แต่สังเกตว่าระยะปีนี้จะค่อนข้างแสดงตัวชัดเจนมากครับ) ผมก็ได้พิจารณาเกี่ยวกับความสกปรก ความเหม็น ความเน่าของร่างกายตนเองและเพศตรงข้าม เพื่อเป็นยาแก้ไขจิตตนเองมาเรื่อยๆ โดยได้เพิ่มการทำความสงบให้มากขึ้นกว่าเดิมตามที่ท่านพระอาจารย์แนะนำมาเมื่อครั้งก่อน
ซึ่งผลในเรื่องนี้ชัดเจนมากครับ ยิ่งทำความสงบมากๆ ขึ้น พอมีเรื่องเกี่ยวกับความยินดีในความสวยงามมาสัมผัสในใจปุ๊บ พอจับอารมณ์นั้นได้ปั๊บ พอพิจารณาเอาความสกปรก ความเหม็น ความเน่าเข้าไปแก้กันเข้าไปให้เหตุผล ถามเหตุผลกัน ไปหักล้างกัน ใจจะเกิดความสะเทือน น้ำตาซึม และหดหู่ได้รวดเร็วกว่าตอนที่ทำความสงบน้อยกว่านี้ครับ ข้อนี้ผมสังเกตได้ชัดเจนมาก
เมื่อพิจารณาในเรื่องความสกปรกในร่างกาย ความเหม็น ความน่าขยะแขยงต่อไป โดยบางครั้งยกภาพตนเองหรือผู้อื่นเป็นภาพซากศพขึ้นมาในลักษณะต่างๆ ขึ้นมาดู หาเหตุผลว่า ร่างกายมันหอม มันสะอาด มันน่ารัก มันน่าทะนุถนอมจริงๆ หรือ ใจได้รับความสลดหดหู่มาเรื่อยๆ ครับ
แต่พอพิจารณาไปๆ ตอนนี้ผมไปเจอเงื่อนหนึ่งครับ คือผมกำหนดภาพหน้าคนคนเดียวกัน หน้าเละครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นหน้าสวยงามตามที่เราพอใจ และดูอยู่คู่กัน แล้วถามว่า ทำไมหน้าส่วนเละเราไม่ชอบ หน้าส่วนสวยเราถึงพอใจ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าเดียวกัน คนเดียวกัน (ถามอยู่แบบนี้ ปัญหามันก็ไม่ลงกันครับ) ผมจึงกลับไปทำความสงบต่อ พอได้จังหวะก็พิจารณาร่างกายสกปรกเรื่อยๆ ไปอีก จนมันก็ไล่มาติดในแง่ทำนองนี้อีกครับ
โดยคราวอื่นก็เปลี่ยนเป็นว่า ผู้หญิงขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยกัน ๒ คน ทำไมคนหนึ่งเราว่าสวย พอใจ อีกคนหนึ่งไม่สวย ไม่พอใจ เป็นไปในทำนองนี้ ซึ่งอุบายนี้ขึ้นมาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกันครับ แต่ไปในลักษณะเดียวกันคือ ทำไมสุนัขตัวเมียมันมีอวัยวะ ทำไมเราไม่ชอบ ไม่พอใจ แต่ทำไมเราถึงพอใจในผู้หญิง (ซึ่งมีอวัยวะเหมือนๆ กันกับสุนัข) หรือบางทีเห็นคนที่เราพอใจก็ว่าสวย เห็นคนไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็ว่าไม่สวย ตรงนี้มันอะไรกันนะ มันคืออะไร ใจมันถามอยู่อย่างนี้ พอมันไม่ได้คำตอบ ผมก็กลับมาทำความสงบแล้วเข้าไปใหม่ วนอยู่อย่างนี้ทำนองนี้มาสักระยะแล้วครับ
มีอยู่ครั้งหนึ่งพิจารณาในทำนองนี้ เกิดอาการขึ้นมาภายในใจรู้สึกว่า อาการอารมณ์ความสกปรกความเหม็นเน่ามันแน่น มันเต็มไปหมด มันฉ่ำไปหมด ใช้คำพูดไม่ถูกครับ มันดันออกมา มีความรู้สึกว่ามันจะระเบิดออกมา
ระยะนี้ผมภาวนาเป็นแบบนี้จึงเล่ามาถวายพระอาจารย์ หากผิดพลาดไม่ถูกต้องตรงจุดไหน ขอเมตตาช่วยชี้แนะนะครับ
ตอบ : อันนี้คำถามเนาะ คำถามอารัมภบทมายาวไกล มายาวไกลตั้งแต่สิ่งที่คำถามเขาถามมา เขาบอกว่าเขาถามมาตั้งแต่ปี ๕๐ เรื่อง “ทางเดิน” ตั้งแต่ปี ๕๐ นะ แล้วนี่เขาถามมาปี ๖๐ เรื่อง “ธรรมสอน”
ธรรมสอน ธรรมสอนก็นี่ไง ธรรมสอนๆ ที่คำถามทั้งหมดที่ว่าธรรมสอนๆ ธรรมสอนคือปัญญา ปัญญาที่มันเกิดธรรมๆ ขึ้นมามันจะสั่งสอนเรา ถ้าธรรมสอนมันจะมีข้อเปรียบเทียบไงว่า ไม่ให้เราเหลวไหล ไม่ให้เราตกไปในที่ต่ำ ไม่ให้เราทำในทางความชั่ว นี่ธรรมะสอนๆ ถ้าธรรมสอน มีคุณธรรมขึ้นมาแล้ว ธรรมมันสอนขึ้นมาแล้ว เราต้องเกิดความสลดสังเวช ถ้าเกิดสลดสังเวช
เวลาเขาพิจารณาของเขาไป ๓ ปี ๔ ปี สิ่งที่พิจารณาไปแล้วเขาจะพิจารณาให้เป็นอสุภะ พิจารณาไปให้ถอดถอนกิเลส
เราบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามาให้จิตสงบ
แล้วสิ่งที่บอกว่า มันเป็นกามราคะมันบีบคั้น มันจะไปสำเร็จกันตอนภาวนาๆ
เราปล่อยหมดน่ะ เราทำความสงบของใจดีกว่า ทำความสงบของใจ ใจมันสงบมันเป็นสมาธิเข้ามา ถ้าใจสงบเป็นสมาธิเข้ามาคือมันปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา ปล่อยสิ่งที่ว่าเป็นจริตนิสัย นิสัยของคน เขาเรียกว่ากามราคะ มันเป็นสิ่งที่มันกระตุ้นภายในใจ เขาเรียกว่ามันเป็นจริต โทสจริต โมหจริต โลภจริต
ถ้ามันมีจริตนิสัยอย่างนั้น เราคิดถึงความตายๆ เอาความตายเทียบเวลาไปข้างนอก แต่เวลาภาวนาที่ว่าจะต้องเป็นอสุภะ จะต้องเป็นอย่างนั้น
ไอ้นี่มันสร้างภาพไง นี่สร้างภาพๆ มันเป็นภายนอก สิ่งที่เป็นภายนอก ภายนอกเราก็พิจารณาของเราไป เราใช้ปัญญาของเราไป เราใช้ปัญญาไปแล้ว ถ้ามันสงบแล้วเรากลับมาพุทโธๆ ถ้ามันพุทโธได้ ไม่ต้องไปขวนขวายอยู่ขนาดนี้ไง ถ้าขวนขวายอย่างนี้มันเกลือจิ้มเกลือ ลางเนื้อชอบลางยา เวลาเราคิดเรื่องนี้มันก็มีปัญหาอยู่อย่างนี้
ทีนี้เวลาคิด เวลาหน้าหนึ่งซีกหนึ่งเป็นคนที่สวย ซีกหนึ่งเป็นซีกที่เน่า
ไอ้นี่เราคิดว่าเป็นการสร้างภาพมากเกินไป มันไม่มีความจำเป็นขนาดนั้นหรอก ถ้ามันสร้างภาพอย่างนี้นะ มันก็เลยกลายเป็นว่าเป็นจริตติดเรื่องอย่างนี้ไปเลย พิจารณาแต่อย่างนี้ เอาแต่เรื่องสมมุติขึ้นมาๆ สมมุติสร้างภาพขึ้นมา ไม่ต้อง
เราพุทโธของเราไปเลย พุทโธของเราอย่างเดียว พุทโธๆ ของเรา ไม่ต้องไปสร้างภาพๆ อย่างนั้น พุทโธให้จิตมันสงบ ถ้าจิตไม่สงบแสดงว่าจิตมันดื้อมันด้าน จิตมันจะออกไปสร้างอารมณ์อย่างนี้
ถ้าจิตมันไม่ออกไปสร้างอารมณ์นะ ไม่ไปสร้างว่า ทำไมผู้หญิงมาสองคน คนหนึ่งสวย...ชอบ คนหนึ่งไม่สวย...ไม่ชอบ
ผู้ชายทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้หมดน่ะ ใครๆ ก็ชอบคนสวย ใครก็ไม่ชอบคนไม่สวยทั้งนั้นน่ะ ใครๆ มันก็ชอบคนสวย
มีแต่พวกปัญญาชน ปัญญาชนเขาไม่ชอบคนสวย เขาชอบคนมีปัญญา คนไหนที่มีปัญญานะ คนที่มีปัญญาจะขี้ริ้วขี้เหร่ แต่ปัญญาของเขามันมีคุณค่ามากกว่าไง ไอ้ความสวยงาม ไอ้รูปร่างลักษณะภายนอก เดี๋ยวมันก็ชราคร่ำคร่าไป แต่ไอ้ปัญญานี่สิ ปัญญา ถ้าคนฉลาดนะ ฉลาดก็จริตนิสัย ถ้ามันจริตนิสัยเขาชอบตรงนั้น เขาเข้าใจตรงนั้น แล้วตรงนั้นมันอยู่ยั่งยืนด้วย
แต่ไอ้นี่มันธรรมชาติ ทำไมมีคนขี่จักรยานยนต์มาสองคน ไอ้คนสวย เราชอบ ไอ้คนไม่สวย เราไม่ชอบ
ทุกคนก็คิดอย่างนี้หมดน่ะ ทุกคนก็ชอบและไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบ มันเป็นไป มันเป็นอุบาย มันเป็นอุบายวิธีการที่เราจะใช้ปัญญาชนะ ชนะกิเลสในใจของตน ถ้ามันใช้ปัญญามันก็ใช้ปัญญา แต่พอมันใช้ไปแล้ว ปัญญามันไม่มีขอบเขต ถ้าไม่มีขอบเขต มันฟั่นเฝือไปเรื่อย แล้วจะเริ่มต้นตรงไหนล่ะ
ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคือหัวใจของเรา จิตตั้งมั่น ถ้าจิตมันตั้งมั่นแล้ว อย่างอื่นมันก็เป็นอันดับรองไปทั้งนั้นน่ะ
แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ หมายความว่า ถ้าเราพุทโธแล้วมันเครียด เราพุทโธแล้วมันพุทโธไม่ได้ ถ้าเราพยายามทำความสงบของใจแล้วใจมันไม่ลง มันดื้อ ถ้ามันพุทธจริต พุทธจริตมันต้องด้วยเหตุผล ถ้าด้วยเหตุผล เราก็ใช้เหตุผลไล่ของเราไป เหตุผลที่มันไล่ มันไล่ที่อารมณ์นี่ มันไม่ใช่ไล่ที่ผู้หญิงผู้ชายข้างนอกนู่น
มันไล่ที่อารมณ์ ทำไมเอ็งคิด ทำไมเอ็งชอบคิดขึ้นมา แล้วเวลาคิดเรื่องหน้าที่การงาน มันดื้อ ไม่ทำงาน เวลาคิดเรื่องอสุภะ เรื่องต่างๆ ก็คิดแล้วไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าคิดเรื่องผู้หญิงนี่ชอบทันทีเลย
เวลาคิด คิดเรื่องเป็นธรรมนี่ไม่เอา เวลาคิดเรื่องกามกิเลสนี่ชอบ แล้วคิดมาแล้ว แล้วผลของมันล่ะ ผลของมันก็คือให้แต่โทษให้แต่ภัยทั้งนั้นน่ะ ดูสิ แย่งชิงกัน แย่งชิงกันจนฆ่าจนฟันกัน มันเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากคนสติปัญญาเบา แล้วเราก็จะเป็นคนสติปัญญาเบาไปอย่างนั้นอีกคนหนึ่งหรือ ถ้ามันคิดไปอย่างนั้นมันก็ไม่คิดตามอันนั้นไป
นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าเป็นความจริงแล้ว ถ้ามันเป็นอุปาทาน เป็นการสร้างภาพขึ้นมา มันจะไม่เป็นประโยชน์มากมายนัก ถ้าไม่เป็นประโยชน์มากมายนัก เราจะบอกว่า ค้าขายแล้วขาดทุนน่ะ
เราต้องลงทุนลงแรงมาก แต่ผลของมันก็คือสมถะ ผลของมันคือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าผลของมันคือปัญญาอบรมสมาธิ เราพุทโธชัดๆ หรือเราใช้คำบริกรรมชัดๆ ถ้าเราชัดๆ ก็เพื่อความสงบเหมือนกัน
คือความสงบนี้ต้นทุนมันต่ำ ต้นทุนมันต่ำกว่าที่ว่าใช้ปัญญาอบรมสมาธิที่ต้องไปกว้านวิดทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาตัวเดียวอย่างนี้ อู้ฮู! กับดักสัตว์นี่ดักรอบป่าเลย ไม่ได้อะไรติดมาเลย ได้แต่ใบไม้แห้งๆ
แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ ของเราให้มันสงบไปเลย ถ้ามันสงบได้ ถ้ามันสงบไม่ได้ เราค่อยมาใช้อย่างนี้แล้วกลับไปทำความสงบของใจ แล้วถ้าพอมันสงบแล้วมันไปเห็นกายจริงๆ มันไม่เห็นอย่างที่เราพูดนี่หรอก มันไม่เห็นว่า ซีกหนึ่งสวย ซีกหนึ่งไม่สวย
ไอ้ซีกหนึ่งสวย ซีกหนึ่งไม่สวย ถ้าพูดถึงนะ ไอ้กรณีนี้เวลาคนปฏิบัติไปแล้วในขั้นของพระอนาคามี หลวงตาท่านพิจารณาถึงขั้นพระอนาคามีนะ เวลาพิจารณาอสุภะ พิจารณาอสุภะจนมันปล่อยวางหมดเลย แล้วมันไม่ขาดไง คือมันไม่จบ
ไม่จบ ท่านบอกว่าอย่างนี้ไม่เอา มันไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่เอา ท่านถึงไปเอาสุภะมาพิจารณา เอารูปสวยๆ มัดไปที่จิตเลย พอมัดแล้ว ๓ วันแรกบอกไม่มี ไม่สน ฉันสิ้นกิเลส เวลากิเลสมันหลอกนะ ฉันไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลส ท่านบอกท่านมัดไว้อย่างนั้นน่ะ ๓ วัน มันออกรับรู้ มันเคลื่อนไหว...ไหนว่าไม่มีไง
คนที่มีอำนาจวาสนาท่านไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่เชื่อให้กิเลสมันมาสวมเขาให้ ท่านต้องพิจารณาของท่านจนมันสั่นไหวออกมาจากหัวใจ แค่รับรู้ ท่านบอก ไหนว่าไม่มีไง พอมีปั๊บ ท่านก็พิจารณาสุภะคือความสวยงาม แล้วพอความสวยงาม พิจารณาให้มันแสดงตัว แล้วสุดท้ายแล้วท่านก็พิจารณาอสุภะเพื่อการเห็นโทษในมรรค ในมรรคคือเป็นความเป็นจริงของมันอย่างนั้น
ความเป็นจริงของกามราคะ กามฉันทะ หัวใจที่มันหมกมุ่น หัวใจที่มันฝักใฝ่ ท่านพิจารณาให้มันคลายออก นั่นเวลาท่านพิจารณาจริงๆ นั้นมันพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายของพระอนาคามี
ไอ้ของเรานี่ตั้งภาพเลยนะ ซีกหนึ่งสวย ซีกหนึ่งไม่สวย
จิตของเราไม่ดีขนาดนั้นหรอก จิตของเราไม่มีอำนาจวาสนาแค่นั้นหรอก เพียงแต่การตั้งแบบนี้มันเป็นอุปาทาน เราตั้งได้ทั้งนั้นน่ะ เหมือนคนฝัน ฝันอะไรก็ได้
เวลาคนถามปัญหามานะ โอ้โฮ! พิจารณาอย่างนั้นๆ เราฟังแล้วหูตั้งเลยนะ นึกว่ามันจริง พอถามไปถามมา “ผมนอนฝันครับ”
โอ้โฮ! ถ้าฝัน ฝันมันแก้กิเลสไม่ได้ เพราะฝันมันควบคุมไม่ได้ ฝันคือมันไม่มีสติสัมปชัญญะมันถึงได้ฝันอย่างนั้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็จบ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นอสุภะ อสุภะมันต้องเป็นขนาดนั้น
นี่พูดถึงบอกว่า ไอ้ที่ว่ามันเป็นอุปาทานๆ เวลาหลวงพ่อยกหลวงตาขึ้นมาพูดบ่อย ยกหลวงตาขึ้นมาพูดให้เห็นว่า เราไม่เชื่อผลของการปฏิบัติที่มันยังไม่เป็นความจริง มันต้องตรวจสอบๆ
แล้วถ้ามันสร้างภาพ “ไม่มีๆ อู๋ย! สิ้นกิเลสแล้ว สิ้นกิเลสแล้ว”
หลวงตาท่านไม่เชื่อ ถ้าสิ้นกิเลสๆ มันเป็นความลุ่มหลง แล้วลุ่มหลงแล้วเราเชื่อกิเลสมันหลอก แล้วเราก็ปล่อยมือในการปฏิบัติเพราะคิดว่ามันสิ้นกิเลสแล้ว ประเดี๋ยวพอมันเสื่อมนะ กิเลสมันฟูขึ้นมานะ ตายเลย คือมันสู้ไม่ไหวไง
คนที่เขาเรียกว่ากรรมฐานม้วนเสื่อ คนที่กรรมฐานม้วนเสื่อคือภาวนาแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ แล้วก็หมดโอกาสด้วย ม้วนเสื่อคือเลิก กรรมฐานม้วนเสื่อคือขาดความรอบคอบ ขาดการตรวจสอบความเป็นจริง แล้วมันจะเสียหายอย่างนั้น
นี่เวลาเรายกครูบาอาจารย์ขึ้นมาเป็นแบบอย่างเพื่อมาเตือนสติไง
แต่ไม่ใช่ว่า แหม! ภาวนาไปแล้วนะ ผมตั้งขึ้นมาซีกหนึ่งเป็นหน้าสวย ซีกหนึ่งเป็นหน้าเละ
โอ้โฮ! เพราะคำถามนี้บอกว่าทำสมาธิเกือบเป็นเกือบตาย มีปัญหาขึ้นมาก็ถามปัญหามาตลอด แล้วจะทำได้อย่างนั้นหรือ
มันเหมือนกับการแสดงสิ่งต่างๆ การละเล่นต่างๆ เขาต้องฝึกฝนมานะเขาถึงจะเล่นอย่างนั้นได้ เช่น โขน เช่น ลำตัด เขาต้องฝึกฝนมานะเขาถึงทำอย่างนั้นได้
นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติเราไม่เคยฝึกอะไรมาเลย บอกเราเล่นโขนเก่ง เรานี่นะเล่นเป็นหนุมาน โอ้โฮ! กระโดดเก่งมากเลย...จริงหรือ
นี่เหมือนกัน หน้าหนึ่งสวย หน้าหนึ่งเละ อะไรอย่างนี้
จริงหรือ เราไม่เชื่อนะ เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องอย่างนี้หรอก แต่เวลาคนที่เขียนปัญหามาถาม เราเห็นใจ เห็นใจว่ามันเป็นภาพความรู้สึก มันเป็นเรื่องความรู้สึกเป็นความนึกคิด เราจะไปถามใครล่ะ มันก็ต้องถามกับนักปฏิบัติด้วยกัน นักปฏิบัติด้วยกันเขาจะตามความคิด ตามความรู้สึก ตามหัวใจของตนได้
นักศึกษาเขาฟังแล้วเขาบอกว่า “โอ้โฮ! ไอ้พวกนี้อุปาทาน พวกนี้คิดกันไปเอง ปฏิบัติเดี๋ยวมันจะบ้านะ”
คนที่ไม่ปฏิบัติจะไม่เข้าใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เรื่องอารมณ์ของจิต วิถีแห่งจิต ว่าการเคลื่อนไปของจิต โอ๋ย! ร้อยแปด แล้วถ้ามันเป็นความจริงๆ มันต้องมีพื้นฐานมาก่อน ถ้าไม่มีพื้นฐานมาก่อน ที่เราทำกันอยู่นี่มันเป็นอุบายไง เป็นอุบาย เป็นการชักนำ
ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาถามมาตั้งแต่ปี ๕๐ เรื่อง “ทางเดิน” แล้วเพิ่งมาถามปี ๖๐ เรื่อง “ธรรมสอน”
คำว่า “ธรรมสอน” เราพูดไปแล้ว แล้วเราไม่รู้เหตุผลเป็นอย่างไรหรอก เพราะว่าปี ๖๐ ใช่ไหม เมษา ๖๐ ไอ้นี่ตุลาแล้ว ตอบไปแล้วก็เป็นอดีตไปแล้ว
แต่ถ้าคำว่า “ธรรมสอน” เราจะดูชื่อธรรม แล้วธรรมสอน ธรรมะสอน เวลามันสอนขึ้นมาเกิดธรรมสังเวช เกิดธรรมสังเวช ถ้ามันสังเวชมันก็เป็นประโยชน์
เวลาธรรมมันสอนเกิดภาพเหตุการณ์ขึ้นมา
หลวงตาท่านบอกว่ากิเลสสอน เพราะกิเลสมันอยากได้อยากดีอีก นั่นคือกิเลส
แต่ถ้าคนมีสติปัญญา ธรรมสอน สอนให้มีสติ สอนให้นึกคิด สอนให้มันเกิดปัญญา สอนให้ค้นคว้า ไม่ใช่มาเพิ่มกิเลสว่าเราทำแล้วเราแน่ เราดี เราเด่น ไม่ใช่
ธรรมสอน สอนให้สังเวช สังเวชคือสลดสังเวช มันคายออก มันสำนึกได้ มันมีคุณประโยชน์ ถ้าธรรมสอน ธรรมสอนเป็นแบบนี้
แต่เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านพูดบ่อย เพราะในพระไตรปิฎก เวลาธรรมผุดๆ นี่ธรรมสอน เราก็มาพูดบ่อย แต่ไปเจอหลวงตาบอก กิเลสสอน เพราะมันเป็นแล้วมันอยากได้ ก็จริงของท่าน จริงของคนปฏิบัตินะ ปฏิบัติมาเป็นอย่างนั้นน่ะ
นี้เราบอกว่า มันเป็นอุบาย อุบายการภาวนา มันเป็นการฝึกหัดภาวนา มันต่างคนต่างแสวงหา ต่างคนหาทางของเราเพื่อพยายามประพฤติปฏิบัติให้มีกำลังขึ้นมา ให้เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาเป็นสมบัติของใจดวงนั้น เอวัง