ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เราทำกับเขาว่า

๒๙ ต.ค. ๒๕๖o

เราทำกับเขาว่า

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ภาพความจำ ทำอย่างไรให้หายไปในขณะนั่งสมาธิครับ”

กราบเรียนหลวงพ่อ

๑. เวลานั่งสมาธิ พอหลับตาจะเกิดมโนภาพความจำเกิดขึ้นทันที เป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เรื่องในอดีต เรื่องในอนาคต ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ผมแก้โดยการนึกถึงรูจมูกตัวเองและจับความรู้สึกลมหายใจเข้าออกแทน พร้อมนึกในใจว่าพุทโธๆ การทำอย่างนี้ใช่หลักการในการทำสมาธิหรือไม่ครับ

๒. ตั้งใจฝึกทำสมาธิในระยะเวลาสองเดือน มีอยู่สองครั้งที่พอนั่งไปสักพักใหญ่ๆ ราว ๒๐ นาที (กระผมจะนั่งสมาธิประมาณ ๓๐ นาทีต่อครั้ง) ความรู้สึกเกิดขึ้นกับตัวเองเหมือนกับหูอื้อ แต่นึกถึงรูจมูกตนเองและนึกพุทโธขณะหายใจเข้าออก สักอึดใจเกิดขนลุกแผ่ซ่านทั้งตัวจนถึงก้นที่นั่ง ๒-๓ ครั้ง กระผมตกใจบ้างนิดหนึ่ง แต่ก็เร่งนึกคำพุทโธๆ แล้วความรู้สึกตัวกระผมเหมือนคล้ายกับว่าก้นตัวเองลอยกลับหัวและหัวปักลงไปในท่านั่งขัดสมาธิ อาการแบบนี้คืออาการของคนที่ฝึกทำสมาธิต้องเจอใช่หรือไม่ครับ ไม่ใช่ว่านั่งนานแล้วงงหรือมึนหัวใช่หรือไม่ครับ

๓. การนั่งสมาธิแล้วจิตสงบ กับนั่งโดยความตั้งใจแต่จิตไม่สงบสักที ได้บุญเหมือนกันหรือไม่ครับ

กระผมขอถามอาจารย์แบบง่ายๆ ตามกำลังปัญญากระผมที่พอทำได้เท่านี้ และพอเท่าที่กระผมรู้สึกได้ในขณะที่ฝึกทำเท่านี้ครับ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามที่ ๑. เวลานั่งสมาธิ พอเรานั่งหลับตาไปแล้วมันจะเกิดมโนภาพ ภาพจะเกิดทันทีเลยนะ ภาพประจำวัน ในชีวิตประจำวัน ในอดีต ในอนาคต ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี

นี่เวลาคนนั่งสมาธิ คนเพิ่งฝึกหัดใหม่จะเป็นแบบนี้ เวลาฝึกหัดใหม่ บางทีพุทโธๆ พุทโธไม่ได้ด้วย พุทโธมันคิดไปร้อยแปด แต่นี้เวลาเราจะนั่งสมาธิ ภาพความคิดมันจะเกิดขึ้น ความคิดมันจะเกิดก่อน มันจะดึงเราไปก่อน

แต่ถ้าเวลาเขานั่งพุทโธๆ เวลาเขาอยากจะประพฤติปฏิบัติ เขานึกถึงรูจมูกของตัวเอง คือนึกถึงพุทโธชัดๆ คิดถึงพุทโธชัดๆ คิดถึงรูจมูกของตัวเอง และจับความรู้สึกที่ลมหายใจเข้าออกแทน แล้วนึกว่าพุทโธๆ ทำอย่างนี้ใช่หลักการในการทำสมาธิหรือไม่ครับ

หลักการของมัน หลักการของการทำสมาธิ เราตั้งสติ เราตั้งสตินะ ถ้าสติมันพร้อมนะ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันก็อยู่ที่พุทโธ ภาพความคิดต่างๆ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ที่ภาพความคิดมันเกิดขึ้นแสดงว่ามันแฉลบไปคิดก่อน ถ้าแฉลบไปคิดก่อน มันคิดออกไปนอกเรื่องไง ไอ้พุทโธนั้นมันก็ไม่ชัดเจน พุทโธนั้นก็ทำสักแต่ว่า

พุทโธทำสักแต่ว่า แต่เราด้วยความเข้าใจของเรา เราก็ว่าเราตั้งใจทำนะ เราก็ตั้งใจทำพุทโธ เราก็ทำของเราด้วยความสมบูรณ์ แต่ภาวนาแล้วทำไมไม่ได้ผลสักที

เหมือนเวลาคนแบบว่าตักน้ำใส่ตุ่มแต่ตุ่มมันรั่ว มันก็ออกไปทางอื่นหมดน่ะ มันก็ไม่เต็มตุ่มสักที แต่ถ้าเราตั้งสติของเราชัดๆ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วให้จิตอยู่กับพุทโธ ถ้าอยู่กับพุทโธมันก็ไม่คิดเรื่องอื่น

ถ้าไม่คิดเรื่องอื่นนะ ถ้ามันไม่ละเอียด ถ้ามันไม่รอบคอบ มันก็ไม่เป็นสมาธิ มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ ครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ นี่เวลาการนั่งสมาธิ

เขาบอกว่าที่เขาพยายามจะนึกถึงรูจมูกของตัวเอง

คือว่ามารับรู้ลมหายใจชัดๆ ไง ถ้ามารับรู้ลมหายใจชัดๆ หมายความว่าเอาจิตนี้มันเกาะอยู่กับอะไรล่ะ ที่เราพุทโธๆ เรากำหนดคำบริกรรม เราก็จะเอาจิตของเราไปบริกรรมพุทโธ ไปเกาะอยู่กับพุทโธไง ให้อยู่กับพุทโธ ไม่ให้คิดแฉลบไปเรื่องอื่น ไม่ให้ไปนอกเรื่องนอกราว ให้อยู่กับพุทโธชัดๆ ให้อยู่กับพุทโธชัดๆ

ผลของมัน ผลของมันถ้ามันเป็นหนึ่ง เวลาเราคิดเรื่องโลกๆ เขาเรียกสัญญาอารมณ์ อารมณ์มันต่อเนื่องไปเรื่อย อารมณ์มันต่อเนื่องไปเรื่อย แต่ถ้าเรามาพุทโธๆ อารมณ์มันเป็นหนึ่งไง แล้วมันมีแต่พุทกับโธ พุทกับโธ วิตก วิจาร วิตก วิจาร วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ถ้ามันอยู่ตรงนี้แล้วมันบริกรรมของมัน มีการกระทำของมัน มันชัดเจนของมันนะ อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้ แล้วจิตมันเป็น จิตมันเป็นเองไง เวลาจิต ถ้าจิตตัวมันเป็นสมาธิ จิตมันเป็นเอง

แต่ไอ้ของเราเวลาเราคิด ภาพประจำวันมันเกิดขึ้น ความรู้สึกในอดีตอนาคตมันเกิดขึ้น

นี่เสวยอารมณ์ จิตเป็นจิต แต่ไอ้สิ่งที่คิดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่คิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้จิตมันไปคิดเรื่องนั้นแล้ว จิตไปคิด เวลามันไวไง

เวลาบอกว่า พอนั่งสมาธิปั๊บมันจะเกิดมโนภาพขึ้นมาทันที เป็นในชีวิตประจำวัน เรื่องนั้นเรื่องนี้

มันก็เรื่องนั้นเรื่องนี้ มันเคย ของมันเคย เหมือนเราตื่นเช้าขึ้นมาทำอะไร พอตอนสายเราทำอย่างไร กลางวันทำอะไร ตอนเย็นทำอะไร ทั้งวัน ชีวิตประจำวัน แล้วพอนั่งปั๊บ มันห่วงแล้ว ไปคิดเรื่องนู้นก่อน มันไปนู่นแล้ว พุทโธมันไม่อยู่ปัจจุบัน มันไปนู่น คิดเรื่องตั้งแต่กลางวัน คิดตอนเย็นไปนู่น เวลาคิดไปอย่างนั้น นี่กิเลสมันอดีตอนาคต มันไปอย่างนั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติใหม่เป็นแบบนี้ แต่มีวาสนานะ เขาบอกว่า เวลาเกิดเรื่องนั้นปั๊บ เขาก็นึกถึงรูจมูกตัวเองชัดๆ

ลมหายใจมันกระทบรูจมูก รูจมูกมันไม่มีชีวิตหรอก มันคิดไม่ได้ จิตมันคิด จิตมันคิดถึงรูจมูก จิตมันคิดถึงลม จิตมันคิดถึงพุทโธ ถ้าจิตมันคิดพุทโธ

สิ่งนี้โดยหลักการทำสมาธิอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

ใช่ โดยหลักการทำสมาธิต้องทำแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้ โดยหลักของสมาธิ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เราจะมรณานุสตินึกถึงความตายก็ได้ เรานึกถึงพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เราระลึกของเรา

วิธีการ วิธีการที่เราทำที่มันถนัด แล้วพอมันคุ้นชิน เวลามันคุ้นชินมันก็จะจำเจ จำเจ ถ้าเรามีอุบาย เราเปลี่ยนแปลงของเรา เราทำของเรา พยายามฝึกหัดใจของเราให้มันเป็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นแบบนี้ นี่โดยหลัก

แล้วถ้ามันเป็นไปได้นะ นี่เข้าข้อที่ ๒.

๒. ตั้งใจเริ่มฝึกทำสมาธิได้สองเดือน มีอยู่สองครั้งที่ทำแล้วมันเกิดอาการไง มันเกิดอาการขนลุก หูอื้อ หูอื้อไปหมดเลย แต่เขาก็กลับมาถึงรูจมูกของตัวเอง

มันจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ เราไม่ทิ้งพุทโธ เราไม่ทิ้งพุทโธของเรา เราไม่ทิ้งพุทโธของเราคือเราไม่ทิ้งหัวใจของเราไง ถ้าเราทิ้งหัวใจของเรา หัวใจมันเสวยอารมณ์ หัวใจ ธาตุรู้ ใจเปรียบเหมือนน้ำใสอยู่ในแก้ว

น้ำใสในแก้ว บางทีในแก้วเราไม่เข้าใจว่าในแก้วมีน้ำหรือไม่มีน้ำ เพราะน้ำมันใส แต่ถ้ามีสีมีสันลงไปในน้ำนั้น เราจะรู้ว่า อ๋อ! ในแก้วนี้มีน้ำ

จิตใจของเรา โดยธรรมชาติของมัน ตัวจิต ตัวจิต ธาตุรู้ แล้วใจมันเป็นอย่างไร อะไรมันคือใจ แต่ถ้ามันคิดนี่รู้ทันทีเลย คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดเรื่องนู้น เวลาคิดนี่รู้ อ๋อ! นี่คือใจ

แต่ความจริงไม่ใช่ ความคิดไม่ใช่ใจ ความคิดมันเกิดดับ ความคิดมันคิดมาจากใจ แต่ตัวใจเหมือนน้ำใส แต่มันก็ต้องอาศัยความคิดมันถึงแสดงตัวไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันแสดงออก มันเสวยอารมณ์ เสวยอารมณ์ก็เสวยความคิดนั้นน่ะ แต่ถ้ามันพุทโธๆ เราจะกลับไปสู่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสๆ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส นี่ไง น้ำใสๆ แต่ที่เวลามันคิด น้ำมันได้มีสิ่งใดเข้าไปเจือปนมันแล้ว พอเจือปนก็แสดงออกอาการอย่างนั้นๆ ที่ความรู้สึกนึกคิดที่เราคิดต่างๆ นี่มันเป็นสิ่งที่จิตเสวยอารมณ์ทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น พอเราไปคิดไง คิดให้ว่างๆ ว่างๆ

คิดว่างๆ มันก็คิดว่างได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เติมเข้าไปในน้ำใสใช่ไหม มันไม่ใช่ตัวจิตที่มันใส ถ้าตัวจิตที่ใส ถ้ามันทรงตัวมันได้ด้วยการตั้งสติ ด้วยคำบริกรรมพุทโธ ด้วยการหายใจเข้าออก ด้วยการกำหนดลมหายใจๆ นั่นน่ะ ถ้ามันกำหนดทรงตัวมันได้ นั่นน่ะตัวน้ำมันจะใสของมันเอง ถ้าตัวน้ำมันใสของมันเอง นั่นน่ะคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิน่ะ

แต่ถ้าไอ้คิดๆๆ โดยธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของมัน แล้วมันก็เป็นจริตเป็นนิสัยของคนนะ ถ้าเป็นจริตเป็นนิสัยของคน มันก็อยู่ที่วาสนาของคน

วิธีการ พุทธานุสติ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ นั้นคือวิธีการ แต่คนที่มากำหนดพุทโธ คนที่มาทำความสงบ ๔๐ วิธีการนี้เขามีเวรมีกรรมของเขา จริตนิสัยของเขา ความชอบของเขา คนเรามันมีความชอบไง คนมันมีความชอบ มีความฝังใจของคน

ทีนี้ไอ้ความฝังใจนั้นน่ะคืออุปสรรค ไอ้ความฝังใจนั้นคือกิเลสของคน ถ้ากิเลสของคน มันก็ต้องมีวิธีการ

พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ

ไอ้เรื่องเวรกรรมของคน ใครมีมากมีน้อยมันก็พยายามฝืนของคนคนนั้นเอง ฝืนกิเลสตัณหาความทะยานอยากเข้ามาสู่สัจธรรม เข้ามาสู่สัมมาสมาธิ เข้ามาสู่ความสงบตามความเป็นจริงของใจของตน ถ้าใจของตน เห็นไหม

มันถึงว่าวิธีการเหมือนกัน แต่อุปสรรคที่ได้พบแต่ละจิตไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกัน อยู่ที่เวรที่กรรมของแต่ละบุคคล แต่วิธีการอันเดียวกัน วิธีการอันเดียวกัน แล้ววิธีการอันเดียวกันนั้นมันอยู่ที่วาสนา

วาสนาของคนที่มีวาสนาเขาจะทำของเขาชัดๆ เขาจะมีสติสมบูรณ์ของเขา เขาจะมีความกระทำของเขาด้วยความมั่นคงของเขา แต่วาสนาของคนอ่อนแอ “เราก็ทำแล้ว เราก็ตั้งใจแล้ว” นี่มันไปคิดอย่างนั้นน่ะ มันคิดท้อถอย มันคิดทำลายตัวเอง มันไม่ได้คิดด้วยความมั่นคง นี่มันอยู่ที่วาสนา

นี่พูดถึงวิธีการหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ วิธีการ พุทธานุสติ วิธีการของคำบริกรรม วิธีการอันเดียวกัน แต่มันจะแตกต่างกันด้วยวาสนาของคน แตกต่างกันด้วยจิตของคน แตกต่างกันด้วยบุญญาธิการของคน

อันนี้อยู่อีกกรณีหนึ่งนะ ไม่ใช่ว่าวิธีการเหมือนกัน ทำต้องเหมือนกันหมด

ไม่ใช่ ไม่ต้อง เราทำของเรา ให้ทำของเราด้วยความสมบูรณ์ของเรา ทำของเราให้จิตสงบของเรา ถ้าเป็นผลงานของเราก็เป็นเรื่องของเรา

ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่าเขานั่งมีอยู่สองครั้ง เวลาเขาเป็นเขาบอกว่ารู้สึกว่าอึดอัดใจ รู้สึกว่าขนลุก

แล้วขนลุกขนพอง ถ้าขนลุกขนพองมันอยู่ในองค์ของฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เพียงแต่ว่าเราจะเจออารมณ์ไหน มันจะสัมผัสอันไหน วิตก วิจารคือเราอยู่กับพุทโธชัดๆ วิตกกับวิจาร วิตกคือนึกขึ้น เขาเรียกวิตก วิจารคือระหว่างพุทกับโธ วิตก วิจาร คำบริกรรม วิตก วิจาร นวกรรม จิตมันมีการกระทำ

จิตมันต้องมีการกระทำ ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อตัวเองให้ทรงตัวได้ ทำให้ตัวเองยืนอยู่ได้ ตัวเองไม่ต้องไปอาศัยอารมณ์ ตัวเองไม่ต้องไปอาศัยความคิดถึงจะแสดงตนได้ ตัวเองให้ยืนในตัวของตัวเอง

วิตก วิจาร พอวิตก วิจารเข้า ถ้าจิตมันดีขึ้น จิตมันไหลลื่นขึ้น มันพัฒนาขึ้น มันก็เกิดปีติ เกิดปีติก็เกิดการขนลุกขนพอง เกิดอาการตัวขยายใหญ่ขึ้น ไอ้นี่มันคือผลข้างเคียงทั้งนั้น

เพราะจากปีติแล้ว ถ้าคนยังรักษาหัวใจได้ดีขึ้นนะ มันจะเกิดความสุข เกิดปีติไปแล้วขนพอง ตัวใหญ่ ตัวแทบจะระเบิดเลย พอมันผ่านไปนะ มันจะเกิดความเย็นความสุขของมันนะ แล้วพอผ่านไป ความสุข ความสุขก็ไปติดสุข พอผ่านไปมันก็เกิดเอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น จิตที่มันเข้าไปสู่สัจจะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสๆ ที่มันตั้งมั่นได้ ที่มันทรงตัวของมันเองได้นั่นน่ะ นั่นน่ะเอกัคคตารมณ์คือจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นขึ้นมา นี่องค์ของสมาธิ

เพียงแต่ว่าจิตเราเริ่มกระทำขึ้น จิตของเรามันดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ดีขึ้นในระดับไหน ดีขึ้นในระดับวิตก วิจาร ก็พุทโธชัดๆ นี่ไง พุทโธๆๆ มันกลมกล่อม อยู่ในขั้นของวิตก วิจาร วิตก วิจาร มันดีขึ้น จิตเรามันเป็นอิสระ ไม่ไปอยู่กับความคิด ไม่ไปเสวยอารมณ์ไง คือไม่ต้องมีสิ่งใดไปเจือปน มันอยู่ของมันได้ด้วยคำบริกรรม วิตก วิจาร พุทโธๆๆ แล้วถ้ามันพัฒนาขึ้นมันก็เกิดขนพองสยองเกล้า เกิดความรับรู้ แล้วถ้าไปมันก็จะเกิดความสุข

นี้พูดถึงว่า “สิ่งที่มันเกิดขึ้นสองครั้ง ผมตกใจนิดหนึ่ง” เขาว่านะ “ผมตกใจนิดหนึ่ง พอตกใจนิดหนึ่ง พอมีความรู้สึกตัวขึ้นมามันคล้ายกับว่า...”

“คล้ายกับว่า” นี่มันไปแล้ว

“...คล้ายกับว่าก้นของตัวเองลอยขึ้น กลับหัวกลับหาง หัวนี่ปักลงในการนั่งสมาธินั้น แล้วอาการที่ฝึกทำสมาธิต้องเจอแบบนี้ใช่หรือไม่”

นั่งนานไป นี่มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับการนั่งสมาธิอย่างหนึ่ง แต่คำถามของเขา เขาบอกว่า ไม่ใช่ว่านั่งนานแล้วมันงงนะ ไม่ใช่มึนหัวนะ

ไอ้งงไอ้มึนหัวนี่มันทางการแพทย์ไง ทางการแพทย์เวลานั่งไปแล้วเราเกิดมึนงง เราเกิดอาการวูบ มันก็มีในการที่คนที่เขาในทางการแพทย์ ในเรื่องของสรีระ ในเรื่องของร่างกายเรา

แต่เรื่องของความรู้สึกๆ จิต จิตที่มันเป็นไป จิตที่มันเป็นไป มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้ ที่ว่ามันเกิดอาการกลับหัวกลับหาง กลับความรู้สึก

ความรู้สึก ความรู้สึกก็เหมือนกับสิ่งที่รับรู้ ความรู้สึกเหมือนอาการ อาการที่มันเกิดขึ้น อาการที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่จิต ตัวจิตคือตัวเรา อาการก็เหมือนกับสิ่งที่ว่าแปลกปลอม สิ่งที่ไปรับรู้มานั่นน่ะอาการๆ

แต่โดยธรรมชาติของจิต โดยธรรมชาติของจิต ร่างกายมนุษย์ ธาตุรู้ ธรรมชาติที่รู้ รู้อะไร รู้สิ่งที่มันให้ถูกรู้ ธรรมชาติ จิตนี้เป็นผู้รู้ ธรรมชาติที่รู้ แล้วพอมารู้เรื่องอะไร มันรู้มันเป็นอันดับสอง อันดับสองคือว่าเสวยอารมณ์ไปแล้ว รู้เรื่องนั้นๆๆ เรื่องที่ไหน รู้เรื่องนั้น แล้วเรามาพุทโธๆ ก็รู้เรื่องนั้นๆ ก็พุทโธนี่แหละ แล้วให้มันถอยกลับมาไง

ธรรมชาติที่รู้ สิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ อาการหัวหกก้นขวิดมันเป็นอารมณ์ทั้งนั้นน่ะ แล้วจิตมันออกไปรับรู้ไง จิตมันออกไปรับรู้

รับรู้ให้มันรับรู้ แต่ถ้าสิ่งนี้พอเราเข้าใจแล้วว่ามันเป็นอาการ พอเป็นอาการ เราก็วาง ไม่ไปสงสัย ไม่ไปค้นคว้ามัน กลับมาที่พุทโธต่อ

โดยข้อเท็จจริง หลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้เลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”

พวกเราจะไม่ทิ้งผู้รู้ จะไม่ทิ้งพุทโธ ถ้าเราอยากจะประพฤติปฏิบัติเข้าไปสู่อริยสัจ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา จากสัมมาสมาธิ จากจิตที่มั่นคง เดี๋ยวเราจะเห็นอริยสัจ เห็นสัจจะความจริงในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าเราไปจับต้องได้ตามความเป็นจริง เราจะเห็นคุณค่า คุณค่าว่าจิตของเราได้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตของเราพยายามฝึกฝนของเราจนมันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นมาในใจของเรา เราจะเห็นคุณค่ามากเลย นี่ถ้ามันเป็นความจริงอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเริ่มฝึกหัดใหม่ก็เป็นแบบนี้ เพราะคำถาม คำถามว่า อาการอย่างนั้นเป็นอะไร สิ่งที่มันอาการที่มันเหมือนตัวเองกลับหัวกลับหาง มันมีอาการที่ลอยขึ้นต่างๆ

อาการอย่างนี้มันเป็นไปได้ทั้งนั้นน่ะ คำว่า “เป็นไปได้” มันก็ย้อนกลับมาตรงนี้ ย้อนกลับมาที่ว่า จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น อาการที่เป็นมันเป็นได้ทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นแล้วท่านพยายามจะบอกว่า ให้ทำกลับมาให้เป็นปกติ ศีลคือความปกติของใจ สัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่น กลับมาเป็นความปกติของเรา กลับมาเป็นความรับรู้สึกความเป็นจริงในใจของเรา แล้วถ้าจิตมันสงบแล้ว เราจะก้าวหน้าต่อไปด้วยการฝึกหัดใช้ปัญญา

ปัญญา ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคไง มรรคคือดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ ถ้าความชอบธรรมในมรรคนั่นน่ะ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมามันจะเกิดนิโรธ รู้จริงเห็นจริง เกิดนิโรธ นิโรธรู้แจ้ง รู้แจ้งในอริยสัจ ถ้ารู้แจ้งในอริยสัจ

นี่เราทำเพื่อกลับมาเป็นเหตุนี้ ในพระพุทธศาสนาสอนเรียบง่าย แล้วทำได้แสนยาก เพราะมันเรียบง่ายจนคนมองข้าม มองข้ามว่า ทำสมาธิแล้วมันจะไปรู้นั่นรู้นี่ มันจะมหัศจรรย์

แต่ไม่รู้หรอกว่าความมหัศจรรย์คือมหัศจรรย์ในตัวเราต่างหาก ความมหัศจรรย์คือมหัศจรรย์ในหัวใจของเรา ในหัวใจของเราที่มันไม่มีใครรื้อค้น ไม่มีใครดูแลรักษามันน่ะ

ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ แต่พอเรามีสติมีปัญญา เราควบคุมด้วยศึกษา ด้วยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วฝึกหัดให้เกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา แล้วมันจะเกิดมรรคในหัวใจของเรา มรรคญาณ มรรคญาณเกิดในหัวใจของเรา ชำระล้างในหัวใจของเรา อันนี้สิ นี่แหละหัวใจของศาสนา อันนี้สำคัญ ถ้าสำคัญ

ค่อยๆ ค่อยๆ เข้ามานี่ไง นี่พูดถึงว่า ที่เขาเป็นอย่างนี้ หัวหกก้นขวิด มันเป็นอาการที่นั่งแล้วงงหรือเปล่า มันเป็นการมึนหัวใช่หรือไม่ ให้หลวงพ่อวินิจฉัยไง

ไอ้เรื่องร่างกาย เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเรื่องภาวนามันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ละเอียดอ่อนมากกว่านั้น

นี่พูดถึงว่า ถ้าอาการเป็นแบบนี้มันเป็นอาการของเรา ให้กลับมาที่ว่ารูจมูกชัดๆ นั่นน่ะ รู้ลมหายใจชัดๆ นั่นน่ะ กลับมาตรงนี้ แล้วกลับมาให้เป็นความปกติ

พระพุทธศาสนาสอนเรียบง่าย ไม่ส่งออกไปรู้เรื่องต่างๆ แต่ถ้าเป็นอำนาจวาสนา คือจิตมันสร้างมาอย่างนั้นก็ต้องแก้ไขควบคุมดูแลกลับมาให้เป็นปกติ กลับมาให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แล้วพยายามฝึกหัดใช้ปัญญาให้เกิดมรรคเกิดผล เราจะเข้าใจเรื่องชีวิต เรื่องที่มาที่ไปของจิตนี้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนอดีตชาติไปไม่จบ จุตูปปาตญาณ อนาคตไปไม่จบ เวลากลับมาอาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาดับเดี๋ยวนี้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย ของจริงอยู่ที่นี่

ไอ้สิ่งที่รู้เห็นนั้นมันฝืนได้ยาก คำว่า “จริต” เหมือนเด็ก เด็กมันนิสัยเป็นอย่างนี้มันก็เป็นแบบนี้ ถ้าเด็กเราฝึกหัด ฝึกหัดให้มันดีขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน เหมือนจิตที่มันไร้เดียงสา เราเข้าไปสู่ตัวมันเอง เหมือนไร้เดียงสา มันแสดงออกโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราจะคุมอย่างไรล่ะ ไม่เป็นหรอก คนปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ เข้าไปเห็นใจของตนแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร งงๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ครูบาอาจารย์ท่านฝึกบ่อย ชำนาญในวสี เคยเข้าเคยออก เคยดูเคยแล เคยบำรุงรักษา แล้วมันจะดีขึ้นๆ เพราะการบำรุงการรักษา การดูแลหัวใจของเราเอง

ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจของเราเองนะ งง แต่ถ้าศึกษาธรรมะน่ะเก่ง เวลาพูดนี่ โอ้โฮ! ต่อยหอยเลยนะ แต่เวลาทำด้วยตัวเอง งง เอ๊ะ! ทำไม่ถูก แต่ชำนาญในวสีแล้วเดี๋ยวมันจะดีขึ้น

“๓. การนั่งสมาธิแล้วจิตสงบ กับนั่งโดยที่ตั้งใจแต่จิตไม่สงบสักที ได้บุญเหมือนกันหรือไม่ครับ”

ถ้าคำว่า “ได้บุญเหมือนกัน” ได้บุญเหมือนกันหมายความว่าความเพียรชอบ เรามีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มีความเพียร

เวลาเรานั่งสมาธิภาวนา บุญกิริยาวัตถุ คือคนเราจะเดิน จะนอน จะนั่ง จะสุขสบายอย่างไรก็ได้ แต่เราเสียสละ เราเสียสละกิริยาที่เราจะอยู่สุขสบาย เรามานั่งสมาธิบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกายและใจ เรามาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยร่างกายนี้ ยกถวายบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บุญไหม

โยมมาทำบุญ นั่นน่ะบุญเป็นอามิส คือเป็นอาหาร เป็นเครื่องใช้ไม้สอย นั่นโยมไปหามา แต่เวลาโยมนั่งภาวนานะ โยมนั่ง เรานั่งภาวนาถวายกายและใจนี้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บุญไหม ได้

ทีนี้เขาบอกว่า ฉะนั้น นั่งสมาธิแล้วจิตสงบ และตั้งใจแต่จิตไม่สงบ มันจะได้บุญเท่ากันหรือไม่

จิตสงบมันก็ต้องได้บุญมากกว่าอยู่แล้ว เพราะจิตสงบมันมีความสุขไง เพราะจิตสงบเราได้สัมผัสรสของธรรมไง ถ้าจิตไม่สงบ เราได้สัมผัสกับกิเลสไง ได้สัมผัสกับความหงุดหงิด ได้สัมผัสกับความทุกข์ความยากไง

แต่เราเอากิริยาเริ่มต้นไง เอากิริยาเริ่มต้นที่เราได้ถวายกายกับใจนี้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นกำลังใจกับเราไง

แต่ถ้านั่งแล้วมันแบบว่านั่งสมาธิแล้วจิตสงบ กับนั่งสมาธิแล้วจิตไม่สงบ จะได้บุญเท่ากันหรือไม่ ได้บุญเท่ากันหรือไม่

ถ้าผู้ปฏิบัตินี่ชัดเจนมากเลย ทีนี้ถ้าจิตมันสงบแล้ว อันนั้นน่ะสำคัญมาก สำคัญว่าเราได้รู้ตัวตนของเราไง เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้ามันมีสองอย่าง จิตสงบและจิตไม่สงบ เวลาจิตสงบมันก็เป็นบุญเป็นกุศล มันเป็นสิ่งที่ดี จิตไม่สงบมันก็เป็นทุกข์เป็นยากไง แล้วมันก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายแล้ว กิเลสมันจะแบบว่ามันบังเงา กิเลสมันจะแบบว่าคอยทำลาย

เราถึงพยายามบอกว่า เวลาปฏิบัติให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลานั่ง นั่งบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงบไม่สงบนั่นอีกเรื่องหนึ่งไง

แต่ถ้าสงบมันก็ชอบ ไม่สงบก็คือไม่ชอบ ไม่ชอบมันก็ฟุ้งซ่าน ไม่ชอบมันก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายขึ้นไปแล้วมันก็จะเป็นช่องทางให้กิเลสมันบอกว่า “เลิกเถอะ เราไม่มีวาสนา” แต่เราไม่ให้กิเลสมันมายุมาแหย่ ไม่ให้กิเลสมันมาช่วงชิงศรัทธาของเรา เราถึงบอกว่าเราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราไม่ปรารถนา คำว่า “สงบ” กับ “ไม่สงบ” มาเทียบกัน มันก็แบ่งแยกแล้ว

ฉะนั้น ถ้าเราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาหมดเลย สงบก็โอเค ถ้าไม่สงบก็ทำใหม่ เออ! อย่างนี้จบ มันไม่มีให้กิเลสเข้ามาโต้แย้ง ไม่ให้กิเลสเข้ามาสอดไง

นี่พูดถึงว่า กระผมถามแบบง่ายๆ อย่างนี้เพราะปัญญาที่พอทำได้เท่านี้

เพื่อความถูกต้องไง โอเค การฝึกหัดใหม่ๆ ก็ฝึกหัดอย่างนี้ การฝึกหัดไปมันมีประสบการณ์ไง ไม่อย่างนั้นเราฟังแต่เขาเล่าว่า แล้วเราทำแล้วจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แล้วไปฟังคนสอน ไอ้นั่นก็สอนอย่างหนึ่ง ไอ้นี่ก็สอนอย่างหนึ่ง งงไปหมดเลย

เอาที่เรานี่ เอาที่เรานี่ เอาให้มันชัดเจนของเรานี่ แล้วถ้าทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์กับเรานะ จบ

ถาม : เรื่อง “ธรรมแตกหรือกรรมฐานแตก”

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ตอบปัญหาธรรมที่ลูกเขียนมาตลอด ขอบคุณอย่างสูงครับ ลูกได้สนทนาธรรมกับพี่ที่มางานกฐินที่ผ่านมาครับ เห็นญาติธรรมบอกว่าท่านสำเร็จโสดาบันแล้ว ผมลองสนทนาธรรมกับท่านครับ คุยกันไปมา ธมฺมสากจฺฉากัน ท่านพูดขึ้นมาว่า ผมกำลังธรรมจะแตกแล้วจะบ้าได้ ท่านไม่พูดต่ออีก กลัวผมจะบ้าได้ และไม่ให้เบอร์โทรคุยกัน ท่านบอกตรงๆ ว่ากลัวผมบ้า ไม่อยากรับผิดชอบ ท่านให้ผมไปถามหลวงพ่อครับ เพราะกลัวบ้า ไม่อยากรับผิดชอบ

ท่านกลัวว่าผมบ้า ผาดโผน และกำลังเยอะ และไปแหย่รังแตนเข้าให้ แล้วให้ระมัดระวังตนให้ดี มีโอกาสให้ถามหลวงพ่อเลยครับ ผมเลยถามหลวงพ่อทางตอบปัญหาธรรมเลยครับ เพราะกลัวธรรมแตก

ที่ฝึกฝนมาลูกจะเน้นสมาธิท่าเพชรเป็นหลัก เพราะลองไปเรียนรู้ท่าสมาธิเพชรมากับพระมหารูปหนึ่งสอนวิธีที่ถูกต้องให้ และลูกก็เรียนรู้ปรับปรุงและค้นคว้าเอง ผลก็คือเวทนามาเร็วนิ่ง กำลังฐานสมาธิดี ข่มกิเลสตนเองได้ ชอบด่ากิเลสตนเอง ชอบข่มกามราคะตนเอง และได้ผลพอสมควร กำลังสมาธิดี และนั่งท่าสมาธิเพชรถึงใจมากครับ

ถ้าไปนั่งสมาธิปกติไม่ถึงใจครับ เวทนามาช้า ต้องนั่ง ๒ ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะมา ลูกเลยเน้นท่าเพชรเป็นหลัก ฝึกหัดตนมา ๓-๔ เดือนแล้วครับ กำลังดี เวทนาแรงดี ถึงใจมากครับ นั่งเฉลี่ยวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อวัน จะเพิ่มเวลาก็ยังไม่กล้า เวทนาแรงกล้ามาก และชอบฝึกฝนมากครับ ปวดจนชินแล้ว เวลานั่งเสร็จเอาขาออก ปวด เลยต้องรอเวลานิดหน่อย แล้วเดินจงกรมต่อแบบปวดไปเดินไป ต่อมาฝึกขันติความอดทนไปด้วย ที่กล่าวมาลูกฝึกผิดหรือเปล่าครับ

ถ้าเป็นเรื่องอีกมิติหนหนึ่งก็จะเจอกิเลสตนเองเล่นงานเป็นเรื่องปกติครับ มีสติรู้เท่าทัน มันไม่ตกเป็นเหยื่อของกิเลสครับ ผมขอให้หลวงพ่อวินิจฉัยด้วยครับ ลูกกลัวธรรมแตก ลูกไม่มีโอกาสได้ถามหลวงพ่อที่วัดโดยตรงเพราะติดงานทางโลก ตอนนี้ลูกรอหลวงพ่อตอบอย่างเดียวครับ ฝึกฝนสมาธิเพลาลงไปก่อน เพราะกลัวธรรมแตก

ตอบ : คำว่า “ธรรมแตกๆ” มันเป็นเรื่องหนึ่งนะ ธรรมแตกหมายความว่าคนที่ปฏิบัติไปแล้วสติขาดแล้วเสียหายไป นั่นก็ธรรมแตก ถ้ามันปฏิบัติไปมันไม่มีเหตุมีผลอะไร เอาธรรมอะไรมาแตก

ทีนี้กลับมาเริ่มต้นคำถามก่อน เขาบอกว่าเขาสนทนากับพี่คนหนึ่ง ญาติธรรมเขาบอกว่าท่านสำเร็จโสดาบันแล้ว

ไอ้คำว่า “สำเร็จโสดาบัน ไม่สำเร็จโสดาบัน” ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถ้ามันมีสัจจะความจริงในหัวใจ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมามันจะมีคุณธรรมในใจ ถ้ามีคุณธรรมในใจนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

แต่ถ้าบอกว่า ญาติธรรมเขาบอกเป็นโสดาบัน

ญาติธรรมบอก เราไม่ได้บอก เราไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นนะ ไอ้คนนั้นเป็นนู่นเป็นนี่มันเป็นปัญหาสังคมทางโลก สังคมทางโลกเขาเอามรรคเอาผลมาเป็นสินค้า ไอ้นั่นได้โสดาบัน ใครปฏิบัติก็ได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี ได้อนาคามี เขาไปเอาสิ่งนั้นเป็นการชักนำเป็นการชักจูงให้คนเข้ามาปฏิบัติไปเชื่อเขา

ดูสิ เขาบอกว่าขายนรกขายสวรรค์ ไอ้นี่มันขายมรรคผลนิพพานไง ถ้ามันขายมรรคผลนิพพาน ไอ้นี่ไอ้ที่ว่าญาติธรรมเขาบอกว่าเป็นโสดาบัน

เราไม่รับรู้ เพราะที่นี่ไม่มี เวลาของเรามีแต่คนโทรมาเรียกร้องค่าเสียหายนะ มันมีผู้มาปฏิบัติที่นี่สองคน เวลาเขาปฏิบัติ เขาออกไปเขาแบบว่าหลุด ออกไปแล้วขับรถไปชนกัน ญาติเขามาที่นี่เลย มาเรียกค่าเสียหาย

เราบอกว่า เรียกค่าเสียหายอะไรล่ะ เพราะว่าญาติธรรมคุยกันเอง เขาไม่เคยมาถามปัญหาอะไรเราเลย เราไม่เคยได้ฝึกเขา ได้สั่งสอนเขาเป็นเรื่องส่วนตัวเลย ไม่มีเลย แล้วเขาไปมีปัญหา เขาจะมาเรียกร้องค่าเสียหายอะไร

มีอีกคนหนึ่งมาปฏิบัติที่นี่สองรอบ ไปปฏิบัติเองนะ เขาบอกว่านั่งสมาธิแล้วหลวงพ่อส่งจิตมาสอนทางสมาธิเลย

เราบอก ไม่ได้ไปหรอก นอนอยู่ในห้องนี่ไม่เคยไปไหนเลย

คิดเองเออเองไง แล้วพอกลับไปที่บ้านก็มีปัญหา เขาโทรมาที่วัดนี้ โทรมาบอกว่าทำให้ลูกสาวเขาเสียหาย จะรับผิดชอบอย่างไร จะจ่ายเท่าไร

เออ! ที่อื่นนะ เขามีแต่เอามรรคเอาผล โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เอามาเป็นสินค้าเพื่อหาเหยื่อกัน ไอ้ของเรามีแต่คนโทรมาเรียกค่าเสียหาย มีมาปรับไหมค่าเสียหาย รับผิดชอบว่า ลูกสาว ผู้ที่มาปฏิบัติเสียหาย ๒-๓ คน

แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลย เราให้สถานที่ เราให้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาเขามาปฏิบัติเขาปฏิบัติของเขากันเอง แล้วเขาก็ไปคุย ญาติธรรม ญาติธรรมคุยกันเอง แล้วเวลามีปัญหาไปก็จะมาปรับผิดเอาจากทางวัด

ถ้าพระสอนนะ ถ้ามีปัญหาเข้ามาคุยกับเรา ไอ้ที่ว่าโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มาพูดกับเราตรงๆ สิ เราไม่เคยรับรู้อะไร ใครมาพูดว่าได้โสดาบันไม่ได้โสดาบันอะไรกับเราเลยนะ เราไม่รู้เรื่องเลย แล้วเอ็งไปพูดกันเองน่ะ แล้วพอพูดกันเอง

เราที่พูดนี่เพราะเห็นกับที่ปฏิบัติที่อื่นๆ เขาจะบอกว่า ถ้าปฏิบัติแล้วจะได้โสดาบัน คนนั้นได้สกิทาคามี

เราไม่เชื่อหรอก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลาประพฤติปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติมีคุณธรรมในหัวใจ เขามีคุณธรรมในหัวใจ นั่นน่ะเป็นคุณสมบัติของเขา เวลาเป็นคุณสมบัติของเขา เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รับรองความเป็นจริงในคุณสมบัติของเขา

ถ้าคุณสมบัติในตัวของเขามันมีจริง มันไม่ใช่ว่าอยู่ที่สถานที่หรือครูบาอาจารย์องค์ไหนเป็นผู้รองรับ ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงขึ้นมาจากภายใน ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาจากภายใน เขาจะมีคุณธรรม ถ้ามีคุณธรรมปั๊บ ถ้าเข้าใจเรื่องธรรมะแล้ว ไอ้เรื่องสิ่งที่ว่าธรรมแตกไม่แตก คนละเรื่องเลย

ไอ้นี่ตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วก็จะมาแบบว่า “ถ้าอย่างนี้ไปหาหลวงพ่อนะ เพราะไม่อยากสอน ไม่อยากรับผิดชอบ”

รับผิดชอบอะไร เข้ามาที่วัดนี้เขามาหาใคร ถ้าเขามาหาใคร เขาควรไปหาเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสเป็นคนจัดการ

แล้วนี่บอกว่าเดี๋ยวจะเป็นธรรมแตก

ไอ้นี่มันเป็นการแบล็กเมลกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไปบอกว่า “ถ้าอย่างนี้แล้วเดี๋ยวจะธรรมแตกนะ ไม่รับผิดชอบแล้วไปหาหลวงพ่อ ให้ไปคุยกับหลวงพ่อ”

แล้วทำไมไม่มาหาเราล่ะ ทำไมไม่มาคุยกับเรา

ไอ้เรื่องปัญหาๆ นี้มา ส่วนใหญ่แล้ว ไปไหนมา สามวาสองศอก คือเขาคิดของเขาไปเอง แล้วเขาเข้าใจของเขาไปเอง แล้วเวลาเราเทศนาว่าการเราก็เทศนาว่าการโดยสัจจะโดยความจริง แล้วถ้ามีความสงสัยในธรรม มีความสงสัยอะไรก็มาคุยกับเราได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่อย่างนั้น

เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ หลวงตาท่านบอกเลย หลวงปู่มั่นเวลาเทศน์ นิพพานหยิบเอาได้เลย เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านเทศน์ถึงสัจจะความจริงในใจของท่าน ตั้งแต่เริ่มจากปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ จากข้อเท็จจริงในใจของหลวงปู่มั่น

ไอ้พวกเราฟังเข้าไปมันก็ โอ้โฮ! นิพพานจะหยิบจับเอาได้เลย พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบ นิพพานมืดตึ๊ดตื๋อ จับไม่มีสิ่งใดได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเทศนาว่าการ เราก็เทศนาไปตามข้อเท็จจริง ทีนี้คนฟัง คนฟังฟังแล้วเป็นคติธรรม ก็พยายามจะปีน จะจับ จะต้อง จะให้ได้ประโยชน์

เวลาเราเทศนาว่าการ เราเทศนาว่าการเพื่อเหตุนี้ เพื่อมันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แล้วผู้ที่ฟัง ผู้ที่ปฏิบัติ หัวใจของเรามันมีคุณภาพแค่ไหน มันก็พยายามจะเอาสิ่งนั้นเป็นแบบอย่าง แล้วพยายามจะฝึกหัดให้ได้อย่างนั้น นี่เป้าหมายของผู้เทศน์ เป้าหมายของการเทศนาว่าการ

ไอ้ผู้ฟังฟังแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้ามันไม่เข้าใจมันก็เป็นคติธรรม คติธรรมคือข้อเท็จจริง ข้อธรรมะที่เราจะเก็บไว้แล้วไปเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา พยายามฝึกหัดทำหัวใจของเราให้มันกระจ่างแจ้ง ให้มันรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงในใจของเรา

นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านเทศน์อย่างนั้น ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์แล้ว ไอ้ผู้ฟังก็รู้อยู่แล้ว ผู้ฟัง ภาษาเรานะ เขาไม่แจ่มแจ้งหรอก แต่ลูกศิษย์กับอาจารย์เป็นอย่างนี้ อาจารย์ก็เป็นไม้เท้าคอยเปิดทางให้ ลูกศิษย์ก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติตามไป

นี่กรรมฐานเขาทำกันอย่างนี้ วัดป่าเขาทำกันอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เทศนาว่าการเป็นถนนหนทางไปให้กับลูกศิษย์ลูกหาผู้ก้าวเดินตามไป ฉะนั้น เขาจะรู้เท่าทันอาจารย์ เราคิดว่าเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น เวลาเทศนาว่าการเทศน์อย่างนี้

แต่เวลาเขาไปแล้วเขาไปคุยกัน แล้วเขาไม่ได้มาสอบถามเราเลย แล้วที่ว่ามีปัญหาไป ๒ คน โอ้โฮ! พ่อแม่เขามานี่เลยนะ “หลวงพ่อจะรับผิดชอบอย่างไร”

สุดท้ายแล้วพอเราบอกว่า รับผิดชอบเรื่องอะไรล่ะ เพราะลูกสาวของโยมมาอยู่วัด เราก็ไม่ได้สั่งอะไรเขาเลย เขาก็ไม่เคยถามปัญหาเราเลย เหมือนกับโรงพยาบาลน่ะ เราเป็นหมอ เรายังไม่ได้รักษาเขาเลย เราไม่ได้ผ่าตัด ไม่ได้ฉีดยา ไม่ได้ทำอะไรเขาเลย แล้วเขามีโรคภัยไข้เจ็บ

แล้วพ่อแม่ของเขาบอก ใช่ เด็กคนนี้เขาสติเสียมาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แล้วตอนหลังมันดีขึ้น ดีขึ้นจนเด็กคนนี้จบพยาบาลนะ เป็นอาจารย์สอนพยาบาลด้วย แต่เขาคุมยามาตลอด พอคุมยามาตลอด เขามาปฏิบัติเอง แล้วเขาก็คุยกันเอง เขาวางยา เขาเลิกยาไง ก็เลยหลุดไง

ไอ้นี่มันก็เป็นข้อเท็จจริง เพราะพ่อแม่เขาบอก ใช่ ลูกเขาเป็นมาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แต่นี่อายุเกือบ ๓๐-๔๐ แล้วนะ มันก็มีที่มาที่ไปไง

คือเราไม่ได้ทำอะไรเลย คือเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาเป็นของเขากันเอง แล้วเขาเป็นเอง แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ป้ายขี้เราหมดเลย คนที่สองก็เหมือนกัน เราเจอปัญหาอย่างนี้บ่อยมาก

ปัญหาอย่างนี้แสดงว่า วัด วัดนี้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสังคม สังคมใครทุกข์ใครยากเขาก็มาอาศัยวัด แต่ถ้าอาศัยวัดแล้ว ภาษาเรานะ มันต้องเป็นสุภาพบุรุษ ต้องซื่อสัตย์ ต้องพูดคุยกันตามข้อเท็จจริง อยากจะเป็นโสดาบันไม่โสดาบัน ก็ต้องคุยกับเราก่อน ถ้าเรารับว่าเป็นโสดาบันก็อีกเรื่องหนึ่ง

ไอ้นี่เราก็ไม่เคยรับ เราก็ไม่เคยรู้อะไรเลย ไม่เคยรับไม่เคยรู้ แล้วไม่เชื่อด้วย เพราะถ้าเป็นโสดาบันมันมีสติสมบูรณ์ไง ถ้าเป็นโสดาบันนะ ไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบไม่คลำ มันจะชัดเจน ถ้ามันยังพูดจาไม่ชัดเจน ยังล่อกแล่ก มันจะเป็นโสดาบันได้อย่างไรวะ กูไม่ดูหรอกว่ามึงเป็นโสดาบันตอนไหน ไม่เป็นโสดาบันตอนไหน ดูคุณธรรมก็พอแล้ว ถ้าเป็นจริงนะ

นี่พูดถึงว่า เขาว่าเป็นโสดาบัน ญาติธรรมเขาว่าอย่างนั้น

พอว่าอย่างนั้นปั๊บ ไอ้คนฟังมันก็เลยเกร็งไปหมดเลย

เขาบอกว่า นี่จะธรรมแตกแล้วนะ ต้องไปหาหลวงพ่อ

ไอ้ตรงนี้เราแปลกๆ เวลาเอ็งคุยกัน ถ้าเป็นผลประโยชน์ เอ็งก็เข้ากันได้ เวลาเอ็งคุยกันไม่ถูกใจกัน ต้องไปหาหลวงพ่อ

หลวงพ่อไม่รู้อะไรด้วยเลย หนังก็ไม่ได้กิน มีแต่กระดูกแขวนคออย่างเดียว เนื้อเน้อไม่เห็นทั้งนั้นน่ะ ไอ้พวกนั้นมันได้เนื้อได้หนังไปหมดเลย กระดูกให้หลวงพ่อ แขวนพับ! เลย อันนี้มันขำน่ะ

แล้วทีนี้พอมันไอ้นี่เขากลัวว่าธรรมแตก

ธรรมแตก หมายความว่า เวลาเรานั่งไปแล้วเราไปรู้ไปเห็นสิ่งใดแล้วเราหลุด เราฟุ้งซ่านไป

แต่ถ้าเขาบอกเขานั่งสมาธิเพชร

สมาธิเพชรกับนั่งสมาธิราบมันก็เหมือนกัน การนั่งสมาธิราบ เราก็นั่งปกติของเรา แต่หลวงปู่สิมก็นั่งสมาธิเพชรนะ มีครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านถนัดนั่งสมาธิเพชร สมาธิเพชร สมาธิราบ มันอยู่ที่จริตนิสัย มันเป็นกิริยา มันเป็นวิธีการไง วิธีการนี้ทำเพื่อให้เราเข้าไปสู่ศีล สมาธิ ปัญญา วิธีการประพฤติปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผล วิธีการ

ทีนี้พอถ้าธรรมมันจะแตก มันอยู่ที่เหตุผลที่ปฏิบัติไปแล้วไปรู้อะไร ไปเห็นอะไร ไปตกใจในเรื่องอะไร หรือไปเห็นนิมิตแล้วเชื่อ ให้นิมิตมันพาไปอย่างนี้

ถ้าเราไม่ไปเชื่อตามนิมิตนั้น เราไม่เชื่อตามสิ่งเร้าที่มันหลอกลวงให้หัวใจตามไป เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราอยู่กับผู้รู้ เราอยู่กับพุทโธ เราไม่ทิ้งอะไรเลย ไม่มีทาง

สมาธิเพชรกับสมาธิราบมันเป็นวิธีการนั่งสมาธิ มันเป็นรูปแบบ รูปแบบท่านั่ง แต่ไอ้ที่มันจะดีหรือจะเลวมันอยู่ที่มรรคผล มรรคผล สิ่งที่เกิดขึ้นจากหัวใจไง

ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสมาธิมันเป็นไปได้จริง เราทำแล้วเป็นสมาธิ นั่นคือผลที่ดี แต่ถ้ามันทำแล้วไม่ได้สมาธิ เราก็ต้องหาอุบายวิธีการเปลี่ยนแปลงพลิกแพลงให้เราฉลาดขึ้น

เหมือนหลวงตาท่านพูด ปฏิบัติโง่อย่างกับหมาตาย

หมามันตายแล้ว หมาตายมันไม่ขยับแล้วล่ะ แล้วเราทำสมาธิ เราเป็นนักปฏิบัติ เราต้องมีปัญญาพลิกแพลง เขาเรียกอุบายวิธีการเพื่อจะทำให้เราดีขึ้นน่ะ

อันนี้มันไม่ใช่ธรรมแตกหรอก ธรรมแตกมันอยู่ที่ว่าความรู้ความเห็นน่ะ

ฉะนั้นบอกว่า เขานั่งสมาธิ สิ่งที่นั่งสมาธิเพชรแล้วมันเกิดเวทนาเร็ว มันจะข่มกิเลสได้ มันชอบด่าตัวเอง

ไอ้ชอบด่าตัวเอง ไอ้นี่ถ้าตามไป นั่งสมาธิเป็นสมาธิเพชร เขานั่งเพื่อเอาสมาธิ ถ้าพูดถึงว่าถ้าข่มกิเลส ข่มไปทำไม จะทำกิเลส อย่างนี้ถ้ามันทำกิเลส

ไอ้ที่ว่าจะธรรมแตกไม่ธรรมแตก เขานั่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงของเขา

ไอ้นี่เป็นวิธีการนั่งนะ แต่ธรรมจะแตกหรือธรรมไม่แตก เขาเรียกสติแตก สติแตกก็คือธรรมแตก สติที่มันแตก เวลาสติของเราไม่เท่าทัน เกิดอะไรแล้วมันเห็นแล้วมันตกใจไป วูบ นี่มันจะตามนั้นไป ถ้าตามนั้นไป เสียสติไปเลย แล้วถ้าเสียสติแล้วก็ต้องไปศรีธัญญา ส่งศรีธัญญาก่อน ศรีธัญญาให้ยาก่อนเพื่อให้เป็นปกติ พอปกติแล้วค่อยกลับมาฝึกหัดปฏิบัติใหม่ ถ้าธรรมแตก ถ้าธรรมไม่แตกส่วนธรรมไม่แตก

ทีนี้เพียงแต่ว่าเขาเป็นคนที่ไปคุยกันเองใช่ไหม แล้วเขาบอกว่าให้หลวงพ่อวินิจฉัย

ถ้าเฉพาะเรื่องวิธีการนั่งสมาธิ ไม่เกี่ยว มันจะเสียหายๆ จะนั่งสมาธิราบหรือสมาธิอะไรก็แล้วแต่ ถ้าขาดสติไปรู้เห็นสิ่งใดแล้วตกใจ รู้เห็นสิ่งใดแล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ นั่นน่ะธรรมแตก

แต่ถ้าเราควบคุมด้วยสติ ด้วยมีสมาธิ พอเจอสิ่งใดแล้วแก้ไข เราพลิกแพลงของเรา เราแก้ไขของเรา การแก้ไขคือพัฒนา การฝึกหัดสมาธิ ใช้ปัญญา คือพัฒนาให้จิตเข้มแข็งขึ้น ให้เราเข้าใจ เข้าใจในวิชามาร

กิเลสมารมันเอาวิชาการ เอาความตกใจ เอาความชอบ เอาความไม่พอใจมาหลอกลวงตลอด เราฝึกหัดนั่งสมาธิ ถ้ามันใช้ปัญญา ให้ปัญญามาใคร่ครวญวิชามาร ใคร่ครวญที่มารเอาวิชาของมันมาหลอกมาลวงเรานี่ เราใช้สติปัญญาแยกแยะให้รู้เท่า

รู้เท่า พอมันรู้เท่า มารมันอาย มารเอาสิ่งที่มันเอามาหลอกลวงก็หายว้าบ มันก็ว่างหมด มันก็มีความสุข เห็นไหม เวลาทำสมาธิ เราใช้ปัญญาเพื่อการปล่อยวาง เพื่อความชัดเจน เพื่อความรุ่งเรืองของธรรมะในหัวใจ อย่างนี้ธรรมไม่แตก

ถ้าธรรมแตกเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ อันนี้มันเป็นคำถามที่เขียนมาได้เท่านี้ไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาคุยกันโดยส่วนตัว มันต้องมีเหตุการณ์มากกว่านี้มาก ฉะนั้น ข้อที่เขียนมามันมีเท่านี้ ก็ตัดสินเท่านี้ว่า วิธีการนั่ง วิธีการนั่งไม่ทำให้คนเสียหาย

วิธีการนั่งไม่ทำให้คนเสียหาย คนเสียหายคือวิชามาร คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากพลิกแพลงหลอกลวง แล้วเราไปส่งเสริมมัน เราก็ตามมันไป นั่นน่ะเสีย

ถ้าเรามีสติปัญญา เราอยู่กับพุทโธ เราอยู่กับผู้รู้ เราไม่ตามมันไป เราจะทำความสงบของใจแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา เข้าสู่อริยมรรค เข้าสู่มรรคเข้าสู่ผล เข้าสู่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียบง่ายกลางหัวใจ ไม่คึกคะนองแบบทางโลกเขา ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะรักษาเราได้ ถ้าทำอย่างนี้จะไม่ธรรมแตก เอวัง