เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ สัจธรรม สัจธรรมคือความจริง แต่มันซ้อนกันอยู่ โลกสมมุติ สมมุติบัญญัติๆ เราเกิดเป็นมนุษย์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นอริยทรัพย์ การเกิดนี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่เวลาเป็นสัจธรรมๆ ชาติปิ ทุกฺขา การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะมีการเกิดมันมีความทุกข์ความยากตามมาตลอดเลย สิ่งที่มันทุกข์มันยากคือชีวิตของเราไง ชีวิตที่เราต้องแสวงหาเพื่อดำรงชีพของเราๆ ดำรงชีพของเราถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันกระทุ้ง มันก็พยายามแสวงหามาเพื่อจะอยู่เหนือคนอื่น ความอยู่เหนือคนอื่น เหนือด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง
แต่ถ้าเป็นความจริงๆ คุณค่าของคนๆ คนถ้าทำคุณงามความดีเพื่อสังคม คุณงามความดีเพื่อโลก นั่นคุณงามความดีเพื่อโลก แล้วความดีของเขาล่ะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ ถ้าความดีของเราๆ คือความดีคุณค่าในใจของเราไง ถ้าคุณค่าในใจของเรา เราอยู่ที่ไหนเราก็มีความสุขของเรานะ คำว่า “ความสุข” คือมันพอเพียง มันพอของมันนะ คำว่า “พอ” คือเศรษฐี
คนที่ยังแสวงหา คนที่ยังต้องการอยู่นั้นมันเป็นขี้ทุกข์ขี้ยากทั้งนั้นน่ะ เวลามันพอ มันพอที่ไหนล่ะ จิตใจมันเคยพอไหม นั่งเฉยๆ ให้มันสงบระงับได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ มันกระตุ้นอยู่ในหัวใจ มันกระตุ้นอยู่ในหัวใจ
คุณค่าของคนๆ คุณค่าของคนมันอยู่ที่ไหน ของคุณค่าของคนมันอยู่ที่ผลของงาน งานข้างนอก งานภายนอก งานแสวงหามา แสวงหามา ผู้นำที่ดีๆ คุ้มครองดูแล ดูสิ พ่อแม่ที่ดีเลี้ยงลูกมา ฝึกอบรมสั่งสอนมา การอบรมสั่งสอน การอบรมสั่งสอนจริตนิสัยมันฝึกได้ยาก ของที่แสวงหาๆ มา สิ่งที่แสวงหามาเพื่อลูกๆ สิ่งที่ว่านี้มันก็แสนยากอยู่แล้ว แต่จะให้เขาเป็นคนดีๆ แล้วเป็นคนดีด้วยแล้วมีความสุขด้วยนะ ขอให้ลูกเรามีความสุข ความสุขมันเกิดจากอะไรล่ะ
คุณธรรมๆ ถ้าใจเรามีคุณธรรม ใจเรามีสัจธรรมในหัวใจ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา คุณค่าของคนๆ ไง หัวใจของคน จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกในหัวใจของเรามีค่าที่สุดไง เราแสวงหาสิ่งใดมาก็แล้วแต่เป็นสมบัติของเราใช่ไหม แล้วถ้าไม่มีเรา สิ่งนั้นมันเป็นของใครล่ะ สิ่งที่เราแสวงหามาๆ ใครเป็นคนแสวงหามา เราแสวงหามาทั้งนั้นน่ะ แล้วแสวงหามาว่าจะเป็นสมบัติของเราๆ เป็นสมบัติของเราที่ไหนล่ะ สมบัติของเราเป็นสมบัติสาธารณะใช่ไหม ของในโลกนี้เป็นสมบัติสาธารณะ ผู้ที่มีอำนาจวาสนาจะแสวงหาสิ่งนั้นมาเพื่อเป็นสมบัติของเรา คำว่า “เป็นสมบัติของเรา” ก็เป็นสมบัติของชั่วคราวไง
เรามีสมบัติใช่ไหม เราก็มีต้นทุน ใครสายป่านยาว เขาทำสิ่งใดเขาก็ประสบความสำเร็จของเขา ใครสายป่านสั้น เราก็ต้องแสวงหาของเราขึ้นมา เขาเอามาเป็นทุน เขาเอาสิ่งนั้นเป็นทุน เขาเอาสิ่งนั้นมาเพื่อทำคุณงามความดีไง ความดีสองชั้นสามชั้น สิ่งที่มีค่าๆ คือหัวใจของมนุษย์ เวลาหลวงตาท่านไปไหนท่านบอก เราไปเอาใจของคน เอาใจของคน เอาใจของคนให้คนมันมีสติสัมปชัญญะ ให้มีสติสำนึก สำนึกถึงชีวิตของเราไง ชีวิตนี้ลำบากไหม หายใจเข้า หายใจออกก็ทุกข์นะ เวลาคนที่หายใจไม่ได้เขาต้องให้ออกซิเจนนั่นน่ะ หายใจเข้า หายใจออกก็เป็นงานอันหนักหนามาก แล้วเวลาถ้าไม่หายใจเข้ามันก็ตาย ทำไมต้องหายใจล่ะ หายใจไว้ทำไม หายใจไว้เพื่อออกซิเจน เพื่อชีวิตนี้ไง แล้วชีวิตนี้มีไว้ทำไม ชีวิตนี้เราเกิดมาทำไม
เราเกิดมาเพื่อเราแหละ เราเกิดมาเพื่อเรา แต่เวลาเราเกิดในวัฏฏะเราก็มีพ่อมีแม่ มีชาติมีตระกูลของเรา เราก็ต้องมีชาติตระกูลของเราให้มั่นคง เราเกิดเรื่องชาติเรื่องตระกูลของเรา แล้วเวลาจริงๆ แล้วมันก็ใจของเรา
เราเกิดมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่ข้างนอกเข้ามาข้างใน จากข้างนอกนะ ทั้งๆ ที่มันจากข้างในก่อน ข้างในคือปฏิสนธิจิต จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ กำเนิด ๔ เพราะมีกำเนิด ๔ ถึงมีชีวิต พอมีชีวิตขึ้นมาแล้ว มีชีวิตแล้วมันก็เป็นโลกสมมุติใช่ไหม เราก็ต้องแสวงหา เห็นไหม ดูสิ สัตว์ สัตว์เวลามันเกิดขึ้นมามันก็มีพ่อมีแม่ของมันเหมือนกัน พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงดูมันมา สัตว์นักล่าเวลาลูกมันโต มันต้องให้ลูกมันออกไปหากินด้วยตัวของมันเอง สัตว์เวลาดูแลรักษามันเป็นโลกของสัตว์ ถ้าโลกของมนุษย์ กำเนิด ๔
กำเนิด ๔ การเกิดเกิดจากภายใน ภายในเราเกิดมาแล้ว เกิดมามีพ่อมีแม่ พ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ของเราเพราะเราได้ชีวิตนี้จากพ่อจากแม่ แล้วชีวิตจากพ่อจากแม่ พันธุกรรมของร่างกาย พันธุกรรมก็ได้สืบต่อกันมา แต่เวลาหัวใจๆ เรื่องบาปบุญ สายบุญสายกรรม
นี่ไง เวลาจากข้างนอก ข้างนอกเราเกิดมา เราเกิดมากับโลก ว่าสิ่งที่โลกมันเห็น เวลาเกิดมาแล้ว เครื่องหมายของคนดีก็มีกตัญญูกตเวที คนที่มีกตัญญูกตเวที ดูแล ทำแต่คุณงามความดีในครอบครัวของเรา แล้วในครอบครัวของเรา ถ้าเราเกิดมาแล้วมีคนที่มีความเห็นต่าง มีความเห็นต่างมันก็เป็นภาระรับผิดชอบของเรา เป็นภาระรับผิดชอบ เป็นมุมมองที่แตกต่าง ในบ้านยังมีปัญหาขัดแย้งกันไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันมีบุญๆ มันคุยกันรู้เรื่องนะ
ถ้ามันคุยกันไม่รู้เรื่อง นั่นก็บอกว่าสายเวรสายกรรมมันมีของมันมา ถ้ามีของมันมา เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าเรามีสติมีปัญญา เรายับยั้งของเรา มันเป็นความทุกข์อันหนึ่งนะ ความทุกข์ว่าคนอยู่ด้วยกัน แต่ความเห็นแตกต่างกัน มันเป็นความทุกข์มาก
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามงคล ๓๘ ประการ อยู่กับคนพาลๆ ทุกข์ของบัณฑิต บัณฑิตคือผู้ที่มีปัญญา ทุกข์มาก อยู่กับคนพาลนี่ อยู่ใกล้คนพาลมีความทุกข์อย่างยิ่ง แต่นี่มันสายบุญสายกรรมอยู่ด้วยกันแล้ว อยู่ด้วยกันเราก็มีสติปัญญารักษาหัวใจของเรา รักษาหัวใจ ดูแลหัวใจของเรา คำว่า “ดูแลหัวใจ” คือมีสติปัญญารักษา
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เพราะมันมีเวรมีกรรมต่อกันถึงได้มาเกิดร่วมกัน พอเกิดร่วมกันแล้วเราก็มีสติปัญญารักษา นี่เป็นเรื่องภายนอกทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเรื่องภายในๆ มันก็เรื่องเข้ามาในหัวใจของเรา เรามีสติมีปัญญาของเรา
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่มีคุณค่าๆ คือหัวใจ คุณค่านี้คือหัวใจมีค่ามากๆ แล้วเกิดคนที่มีประมาทพลาดพลั้งไป เวลาเขาเสียชีวิตไป ทุกคนเสียดายๆ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขายังทำคุณงามความดีของเขาต่อเนื่องไป เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถ้ายังมีชีวิตอยู่ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าจิตมันสงบระงับมันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นคุณธรรมในใจนั้น เพราะมันเกิดจากใจนั้น มันเป็นสมบัติของใจดวงนั้น นี่คุณธรรมของนักพรต
เวลาพระ ถ้าไม่ทรงธรรมทรงวินัย ไม่ทรงคุณธรรม ใครจะทรง เวลาทรงธรรมทรงวินัย ทรงที่ไหน เวลาทำขึ้นมามีการศึกษาๆ ก็สมองจำมา จำมาก็เป็นเรื่องโลกๆ ไง โลกเขาจำกันมา สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา ศึกษาคือการจำ จำได้เดี๋ยวมันก็ลืม ลืมแล้วก็ทบทวน ทบทวนก็จำได้ จำได้ก็พยายามค้นคว้า พยายามวิเคราะห์วิจัยมันด้วยสมอง
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกศึกษามา ทรงจำธรรมวินัยแล้วให้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าประพฤติปฏิบัติ สติก็เป็นสติจริงๆ ขึ้นมา ไม่ใช่เป็นตัวอักษร ถ้าเป็นสมาธิก็สมาธิจิตใจมันตั้งมั่น จิตใจที่มีความสุขสงบระงับ ถ้ามีปัญญาขึ้นมาก็เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภายใน นี่ศึกษามา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริง ความจริงจากภายใน เห็นไหม
คนถ้ามันมีคุณค่าขึ้นมาก่อน มันถึงวางสมบัติภายนอกได้ สิ่งที่เป็นภายนอกๆ เป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติของวัฏฏะ สมบัติของโลก สมบัติของจิตที่มีบุญมีกุศลเกิดมาแล้วมาแสวงหา มารักษาสิ่งนั้น รักษาสิ่งนั้นถ้ามีสติปัญญา วางสิ่งนั้นได้เพราะว่ามันเป็นสิทธิ เป็นสมบัติสาธารณะ ทุกคนก็มีสิทธิ์หมด ทุกคนมีสิทธิ์ทั้งนั้นถ้าเขามีสติปัญญา เว้นไว้แต่เวรกรรมของเขา
เวรกรรมของเขา เขาเห็นเป็นความขัดแย้ง เห็นเป็นการต่อต้าน เขามีการกระทำ เขาทำให้มีความเสียหาย ความเสียหายเพื่อประโยชน์กับเขา นี่เป็นทุจริต เวลาทุจริตก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเขา มันก็เลยเป็นบาปเป็นกรรมของเขา เป็นเวรเป็นกรรมของเขาไป
ถ้าเขาเกิดมาแล้วถ้าเขามีสติปัญญา คนที่มีสติปัญญา สิ่งที่เป็นบุญกุศล เป็นคุณงามความดี จิตใจเป็นสาธารณะ ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เขามีคุณค่าขึ้นมา เขาเกิดบารมี คำว่า “บารมี” คือสังคมยกย่องสรรเสริญ บารมีของคนเชื่อฟังใช่ไหม คนที่มีบารมีพูดสิ่งใดใครก็น้อมนำ ใครก็เชื่อฟัง นั่นเขาเกิดบารมีขึ้นมาเพราะเขาทำคุณงามความดีของเขา ถ้าสติปัญญาเขาทำเพื่อประโยชน์กับหัวใจของเขา นี่ถ้ามีสติปัญญา สมบัติสาธารณะ
แล้วถ้าเป็นสมบัติของเราๆ เรามีสติปัญญา เราจะบอกว่าเราทำเพื่อสาธารณะเลย แล้วสิ่งที่เป็นสมบัติของเราจากภายในมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่เป็นภายในๆ ก็เป็นความเกิดดับในใจนี้ ความคิดที่มันเลวๆ ขึ้นมา เวลามันมีสติปัญญารักษา ความคิดมันเข้าสู่ระบบ ปัญญาอบรมสมาธิมันจะเรียบเรียงความคิดของเราให้เป็นความคิดที่ดี เหมือนคนเรา ดูสิ เวลาเรือ เวลาหางเสือมันเสียหายไป มันชำรุดไป เรือเคว้งคว้างอยู่กลางแม่น้ำเลย
นี่ก็เหมือนกัน เราไม่มีสติปัญญา เราก็ปล่อยความคิดเรา แล้วแต่มีความขับดันของตัณหาความทะยานอยาก เราไม่เคยมีสิ่งใดดูแลรักษา เห็นไหม เรามีสติปัญญาขึ้นมา เราพยายามรักษาของเราขึ้นมา เรือมันเริ่มมีหางเสือ มันไปในทางที่เราต้องการใช่ไหม ไปตามที่เราต้องการ เราคุมได้ เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิที่มันเป็นคุณงามความดีขึ้นมา พอขึ้นมาแล้วเห็นขึ้นมาไง
กระแสสังคม เวลาเป็นบุคคลสาธารณะทำคุณงามความดี พูดสิ่งใดเขาเชื่อถือ มันก็เป็นสมบัติของโลกไง เวลาเราควบคุมดูแลหัวใจของเรา เราคิดของเรา มันสงบระงับเข้ามา มันปลอดโปร่งกว่า มันมีคุณค่ากว่าไง ถ้ามีคุณค่ากว่า คนที่มีสติปัญญาเขาก็จะเอาสัจจะความจริงจากภายใน จากภายในมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน จำเพาะผู้ที่รู้นั้น เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อสัตว์ในหัวใจ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นการกำเนิดไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ ตั้งแต่เราเคยเป็นพระเวสสันดรไป จิตมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะอย่างนั้นไง ถ้ามันไม่ได้รักษาขึ้นไปมันก็จะกำเนิดต่อไปข้างหน้า
ผู้ที่มีความรู้ความเห็นสัจจะความจริงภายในจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ เขาต้องรื้อสัตว์ขนสัตว์ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตที่มันจะเกิดมันจะตายนั่นไง ถ้ามันจะเกิดมันจะตาย แล้วมันจะเกิดจะตาย ใครจะไปเห็นมัน มันก็ต้องเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ต้องจิตดวงนั้นเป็นผู้ค้นคว้าเอง ถ้าจิตดวงนั้นเป็นผู้ค้นคว้า แล้วจิตมันอยู่ไหน จิตที่มันอยู่ไหน
นี่ไง เวลาเราพร่ำเพ้อกันไง “ปฏิบัติๆ” ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกปฏิบัติพอเป็นพิธี ทำกันพอเป็นพิธีนะ เขาเดินจงกรม กูก็เดินบ้าง เราจะสร้างหุ่นยนต์ไว้เดินจงกรม หุ่นยนต์นั่งด้วย เราจะสร้างหุ่นยนต์เป็นสายพานเลย แล้วก็มีบาตรไว้คอยรับบริจาคด้วย ใครอยากได้บุญๆ ไม่ต้องภาวนา มาใส่บาตรนี่ มาใส่เงินนี่ได้บุญ นี่ไง มันเป็นหุ่นยนต์ ทำพอเป็นพิธีไง
ถ้าทำจริงธรรมะอยู่ฟากตาย ฟากตายเพราะอะไร เพราะกิเลสมันเอาความเป็นความตายในหัวใจมาต่อรอง พอมันต่อรองขึ้นมา เราทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็ยอมแพ้มันไง นี่เราก็แพ้ตนเอง
ชนะศึกคูณด้วยร้อยคูณด้วยพัน สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น ชนะใจของตนๆ นี่สมบัติของเราชนะใจที่นี่ไง ถ้ามันชนะขึ้นมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาครูบาอาจารย์ท่านไป ท่านไปปรารถนาเอาหัวใจของคนๆ เอาหัวใจของคนคือเอาสติปัญญา เอาความระลึกถึงได้ ระลึกว่าจะเอาข้างนอกหรือเอาข้างใน ถ้าเอาข้างนอกก็โลดเต้นเผ่นกระโดดไปกับโลก แสวงหาไปกับโลก กว้านมาแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นของตนทั้งสิ้น ถ้าเป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติสาธารณะนี่ไง เผยแผ่ธรรมๆ เผยแผ่ธรรมก็เป็นปัญหาสังคม
แล้วถ้ามันเป็นความจริงๆ ในใจล่ะ ถ้าเป็นความจริงในใจแล้ว นี่ไง ถ้าความจริงในใจแล้วสงบระงับ ถ้าสงบระงับ สิ่งที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ที่นี่ ถ้ามหัศจรรย์ที่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมาสอนที่นี่ไง นี่ภายนอก ภายใน ถ้าเป็นคุณค่าของคนๆ คุณค่ามันจะเกิด มันเกิดที่นี่ไง
ถ้าคุณค่า ข้างในมันมีแต่ความขับดัน มันจะเอาคุณค่ามาจากไหน นั่นเรื่องภายนอกทั้งนั้น แสวงหามาเถอะ แสวงหาสิ่งใดแล้วมันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง มันไม่มีอะไรคงที่เลย ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันแปรสภาพตลอดเวลา ถ้ามันแปรสภาพตลอดเวลา แล้วมันแปรสภาพอย่างไรล่ะ แต่เราก็พยายามบำรุงรักษามัน
ดูสิ เราต้องชราคร่ำคร่าไปนะ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุดแน่นอน แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น ถ้าช้าหรือเร็วเท่านั้น หน้าที่การงานเราก็ทำของเรา แต่เราก็รักษาหัวใจของเรา ดูแลหัวใจของเรา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา มันจะละเอียดไปเรื่อยๆ แล้วเวลาละเอียดไปเรื่อยๆ มันจะมีความเห็นต่างกับโลก
โลกเขาจะมองว่า สิ่งที่เห็นได้ จับต้องได้ นี่โลกเจริญ คำว่า “โลกเจริญ” แต่ถ้าเป็นธรรมนะ สิ่งนั้นเป็นเรื่องของโลก ภายนอก ไม่ขัดแย้ง ไม่ขัดแย้ง ไม่โต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น วางไว้ให้กับผู้ที่มีสติปัญญาเท่านั้น มีสติปัญญาเรื่องโลก แต่เรื่องภายในของเรา เรื่องภายในของเรานั่นสมบัติแท้ สมบัติแท้คือความรู้สึกอันนี้ ถ้าสมบัติแท้คือความรู้สึกอันนี้ ใครรักษาสมบัติแท้อันนี้ได้ ผู้นั้น นี่คุณค่าของคนๆ คนจะมีคุณค่าที่ไหน เราก็มองที่นั่นน่ะ
นี่ก็เหมือนกัน คุณค่าทางโลก เขานับกันด้วยทางบัญชี คุณค่าของคน เขานับกันด้วยอำนาจวาสนาบารมี ความจริงในหัวใจ บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ต้องเป็นหนึ่งเดียวข้างหน้านู่น ถ้าหนึ่งเดียวอันนั้น เห็นสิ้นไปจากผลของวัฏฏะ มันเป็นวิวัฏฏะ พ้นออกไป นั่นคุณค่ามันอยู่ตรงนั้น แล้วคุณค่าอยู่ตรงนั้น มันต้องมีผล มีการกระทำ
ฉะนั้น เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราไม่ทำพอเป็นพิธี พอเป็นพิธี เวลาปฏิบัติแล้วต้องมีวิธีการ ต้องต่างๆ นั้นเป็นปฏิบัติพอเป็นพิธี ถ้าความจริงต้องเป็นปัจจุบัน สิ่งใดที่มันขับดัน สิ่งใดที่มันทำลาย ตรงนั้น นั่นแหละเอาตรงนั้น เอาให้มันอยู่ให้ได้ ถ้าเอาหัวใจเราอยู่ได้ จบ
ถ้าหัวใจเราอยู่ได้นะ หัวใจมันอยู่ได้ ผลของวัฏฏะไง แกนของโลก เวลาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วถ้ามันจบแล้ว กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ นี่วัฏฏะไง สิ่งที่เป็นวัฏฏะ อจินไตย ๔ โลก กรรม ฌาน พุทธวิสัย นี่อจินไตยๆ วัฏฏะมันเป็นอจินไตย มันอยู่ของมันอย่างนั้น แต่เราไม่ไปกับมัน วิวัฏฏะ นี่ผลของมันๆ
ค่าของคนๆ ค่าของคนเราแสวงหาที่ไหน แสวงหาด้วยภายนอก ด้วยโลก ก็เป็นค่าของคนในทางสาธารณะ ค่าของคนที่มันมีคุณค่า ถ้าค่าของคนที่มีคุณค่า หลวงปู่มั่นท่านทำหัวใจของท่านดวงเดียว ท่านเป็นประโยชน์มหาศาล จากสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเท่านั้น
นี่ไง ค่าของคนถ้าทำคุณงามความดีแล้ว เวลาพูดถึงวงกรรมฐาน ท่านอาจารย์ใหญ่ๆ ท่านอาจารย์ใหญ่เป็นผู้เป่ากระหม่อมมา ก็คือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา มันถึงเป็นความจริง ทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขนะ สังคมไม่เดือดร้อนจนเกินไปเพราะมีคุณธรรมนะ
ถ้าสังคมไม่มีธรรมะมาเจือจานนะ สังคมจะแย่งชิง ชิงดีชิงชั่ว ชิงว่าข้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ชิงชื่อชิงเสียง ชิงมา นั่นน่ะถ้าไม่มีคุณธรรมแล้วมันจะเป็นการช่วงชิง ชิงแต่ความเลวร้าย แต่ถ้าเป็นธรรมๆ ต่างคนต่างสงบ ต่างคนต่างมีคุณธรรมในใจ นั้นเป็นเป้าหมายของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง