เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะคือสัจจะความจริง แต่เราอยู่กับสมมุติ สมมุติคือการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฤดูกาลๆ หน้าหนาว หน้าหนาวเราเมืองร้อน เวลาหน้าหนาวเป็นเวลาท่องเที่ยวของเรา
เวลานกมันมีภัยหนาวมามันบินอ้อมโลกเลยล่ะ นกตัวเล็กๆ มันบินข้ามทวีปนะ มันทำได้อย่างไรล่ะ มันทำโดยสัญชาตญาณของมัน สัญชาตญาณของมัน มันต้องรักษาชีวิตของมัน เวลานกมันยังรู้จักภัยของมัน ไม่มีอาหาร มันอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องย้ายถิ่นของมัน มันเป็นนกอพยพ เวลาเห็นนกมันบินมา เราทึ่งมากนะ สัตว์ตัวเล็กๆ มันยังแสวงหาเอาชีวิตรอดของมัน
เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงคุณงามความดีในหัวใจของเราไง คุณงามความดีของสังคม เราไปเรียกร้องไม่ได้ คุณงามความดีของสังคมมันอยู่ที่การเกิดของเราไง ถ้าเราเกิดด้วยอำนาจวาสนานะ สังคมร่มเย็นเป็นสุข เราจะมีความสุขของเราไง แล้วเราจะเรียกร้องให้สังคมสมความปรารถนาเรา เราจะเรียกร้องให้สังคมตามความปรารถนาเรา มันเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเรียกร้องได้ เรียกร้องในหัวใจเรานี่ ถ้าในหัวใจเรานี่
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบอกนะ อย่าเบียดเบียนกัน อย่าทำลายกันนะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญ สรรเสริญการฆ่ากิเลส กิเลสมันคืออะไรล่ะ กิเลสคือความทุกข์ยากในหัวใจ ความบีบคั้นในหัวใจ ไอ้ตัณหาความทะยานอยากที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไอ้สิ่งที่มันกระตุ้นในหัวใจ ถ้าได้ฆ่าได้ทำลายมันแล้วนะ มันจะมีความสุขอย่างยิ่งๆ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญด้วย สรรเสริญการฆ่ากิเลสในใจของคน สรรเสริญการฆ่ากิเลสในใจของเราๆ
แต่ธรรมชาติของมนุษย์นะ มันไม่เห็นความผิดพลาดของตนหรอก มันจะเห็นความผิดพลาดของคนอื่นตลอดไปหมดเลย ความผิดพลาดของตนไม่เห็น ความผิดพลาดของคนอื่นนะ แม้แต่เล็กน้อยอย่างกับเท่าภูเขา ความผิดพลาดของเราเท่าภูเขามันบอกไม่มี มันไม่เห็นของมันน่ะ นี่ไง มันยาก มันยากตรงนี้ไง พอยากตรงนี้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนอนุปุพพิกถา
เวลาจะเทศนาว่าการนะ เทศนาว่าการเรื่องทาน เรื่องการเสียสละ เรื่องทำคุณงามความดี ฝึกหัดๆ การเสียสละทานมีคุณค่ามากๆ โดยธรรมชาติ ใครมันจะให้ เว้นไว้แต่คนที่จิตใจประเสริฐใช่ไหม ที่ไหนเขาขาดแคลน ที่ไหนเขามีความลำบากลำบน เราก็อยากช่วยเหลือเจือจานเขา นั่นจิตใจที่เป็นสาธารณะ จิตใจคนที่มีคุณธรรมในหัวใจมันเป็นแบบนั้น
แต่ถ้าจิตใจของเราที่มันจะเสียสละเพื่อบุญกุศลในหัวใจมันทำไม่ได้ ของเราๆ นะ กำไว้จนมันเน่า ของเก็บไว้จนเสีย แล้วไม่เคยให้ใครได้ประโยชน์ มันเองก็ไม่ได้ประโยชน์ ตัวเจ้าของเองก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้ามันเสียสละแล้วจะเป็นประโยชน์กับเราทั้งสิ้นเลย เป็นประโยชน์กับเราเพราะอะไรล่ะ สิ่งนั้นได้ประโยชน์กับสังคมใช่ไหม แต่จิตใจของเรา สิ่งที่มันตระหนี่ถี่เหนียวมันได้เสียสละออกไป นี่การฝึกหัดๆ ถ้าการฝึกหัด นี่ระดับของทาน ถ้าทานมีการฝึกหัด มีการเสียสละขึ้นมา เสียสละขึ้นมาเพื่อหัวใจของเรานี่ไง ถ้าหัวใจของเรานะ
เราเสียสละทางสังคมกันไม่ได้ เราไว้ใจกันไม่ได้ เราถึงต้องไปวัดไปวา คิดถึงผู้ทรงศีล ผู้ทรงศีลคงจะไม่โกหกมดเท็จ แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ถ้าคนเรายังโกหกได้ จะทำความชั่วอย่างอื่นที่ต่อไปมากมายที่สิ้นสุดไม่มี ลองได้โกหกมดเท็จนะ แล้วเวลามันโกหก โกหกอย่างไร
โกหก เราจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกันนะ คนอยู่ด้วยกันมันจะเห็นการสื่อสาร แล้วคุยกันน่ะ พูดอย่างทำอย่าง จบแล้ว ศีล ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ธรรมะจะรู้ได้ จะรู้ได้ตอนแสดงธรรม ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่ออ้าปาก คนเวลาพูดมาโง่ฉลาด มันรู้หมดแหละ เวลาคนพูดออกมาโง่ฉลาด รู้ทั้งนั้นน่ะ เวลาคนพูดออกไปมีแค่ไหนก็พูดแค่นั้นน่ะ
ฉะนั้น เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันดับหนึ่ง การเทศนาว่าการเป็นอันดับหนึ่งนะ การบันลือสีหนาท การแสดงฤทธิ์ ฤทธิ์ที่มีอำนาจที่สุดคือการบันลือสีหนาท เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม กิเลสหมอบหมดเลย ไม่มีใครกล้าโต้แย้ง
แต่ของเราชอบมีฤทธิ์มีเดชไง มีฤทธิ์มีเดชนั่นน่ะอภิญญา อภิญญาเป็นเรื่องโลกๆ ไง เรื่องโลกมันกำลังของใจ กำลังของใจนะ ดูสิ คนที่มีจุดยืนมากกว่า คนที่ควบคุมตัวเองได้มากกว่าก็ควบคุมเกมได้ ไอ้คนที่อ่อนไหวควบคุมเกมไม่ได้ นี่คือกำลังใจทางโลกนะ แต่ถ้าทำสัมมาสมาธิ จิตมันสงบเข้ามาแล้ว มันมีกำลังอย่างนั้นได้ มันทำของมันได้ ถ้าทำได้ เป็นกำลังของใจ ไม่ใช่สติปัญญาอะไรเลย ถ้าเวลาสติปัญญาขึ้นมา สติปัญญามันละเอียดลึกซึ้ง ละเอียดลึกซึ้งที่ไหน
เวลาที่เราบอกว่าเป็นปัญญา นั่นคือสัญญาทั้งนั้น คือความจำได้หมายรู้ไง การศึกษาของเราไง การศึกษาขึ้นมาโดยสัญชาตญาณมันแสดงออกอย่างนั้นไง แต่ถ้าเป็นปัญญาฆ่ากิเลสๆ มันต้องเหนือกิเลสไง ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด แล้วปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือเหนือความคิดนั้น คือเหนือความคิดของเรา
ไอ้ความคิดของเรา เพราะเรามั่นใจในความคิดของเรา เราถึงได้ทุกข์ได้ยากใช่ไหม คนเราทุกข์เพราะความคิด ที่มันทุกข์ๆ อยู่นี่เพราะความคิดทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ไม่เป็นอะไรจริงสักอย่างหนึ่ง วิตกกังวลไปหมดเลยว่าเราจะเป็นอย่างนั้นๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ไม่เป็นตามจริงอย่างนั้น มันเป็นไปตามเวรตามกรรม
คนเราจะทุกข์ก็ทุกข์เพราะความคิดของตน แล้วปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิดไง นี่ก็ปัญญาอบรมสมาธินะ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธิคือปัญญารอบรู้ในความคิดของเรา ปัญญาไล่ความคิดของเราจนเราปล่อยวางความคิดของเรา ถ้าเราปล่อยวางความคิดของเราโดยสัมมาทิฏฐิ โดยความเห็นที่ถูกต้องดีงาม มันก็จะเป็นสมาธิคือมันหยุดคิด ความหยุดคิดนั้นพร้อมกับสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ความหยุดคิดแบบเหม่อลอย ความคิดแบบไม่รู้ตัวไง เวลาคนเผลอคนไผลไปมันก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน แต่นั่นเพราะมันขาดสติ
แต่ถ้าเรามีสติปัญญาไล่กับความคิดเราไปนะ เราคิดทำไม เราคิดมาคิดซ้ำคิดซาก คิดเพื่ออะไร พอปัญญาอันนั้นปัญญาสำคัญกว่า เพราะมันรอบรู้ในกองสังขาร มันรอบรู้ในความคิดของตน พอความคิดของตนไม่มีเหตุมีผล มันสู้เหตุผลไม่ได้ เหตุผลคือสติปัญญาที่มันเท่ากับความคิดของตน มันสู้เหตุผลไม่ได้ คิดทำไม คิดแล้วมันจริงหรือเปล่า คิดแล้วไปกว้านเอาฟืนไฟเข้ามาทำไม มันอาย เวลาสติปัญญามันทัน กิเลสมันอายนะ พอกิเลสมันอายมันก็หยุดไง ถ้ากิเลสมันหน้าด้าน มันยุมันแหย่ โอ้โฮ! เราคิดถูกคิดดี เราสุดยอด พอสุดยอดขึ้นมาก็ไปกว้านเอาแต่ความทุกข์ความยากมา มันไม่เป็นความจริงหรอก มันยังไม่ถึงเวลา
เวลาทำงานๆ เวลาทำงานเสร็จแล้ว ทำงานแล้วงานทิ้งไว้ที่ทำงาน อย่าเอางานกลับมาบ้านนะ เวลากลับมาบ้านคิดแต่เรื่องงาน เวลาไปที่ทำงานคิดแต่ที่บ้าน มันไปคิดโต้แย้งกันหมดไง คิดที่ไหนก็วางไว้ที่นั่น งานก็คืองาน งานเสร็จแล้ว เพราะคนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงานทั้งนั้นน่ะ ใครรับผิดชอบมากรับผิดชอบน้อยมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ถ้าอยู่ที่อำนาจวาสนาของคนทำสิ่งใดเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ทำเพื่อประโยชน์ไง ประโยชน์โลก ประโยชน์ตน ถ้าประโยชน์ตน นี่ถ้ามีอำนาจวาสนา ถ้ามีอำนาจวาสนา มันจะมีสติปัญญาเท่าทันกับความคิดของตน ถ้าเท่าทันกับความคิดของตน นั่นคือธรรมะ คือสัจธรรม
แต่เวลาแสดงธรรมๆ เวลาพูด ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาเรามีเหตุมีผล เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผลนะ ด้วยเหตุผล เหตุผลของใครดีกว่า คนนั้นควรจะวินิจฉัย แต่ถ้าเราเอาทิฏฐิมานะประหัตประหารกัน เวลาเราชอบโต้แย้งกันๆ โต้แย้งกันไปทำไม ถ้าเราพูดเป็นธรรมๆ ถ้ามันมีเหตุผลเราก็ฟัง ถ้าไม่มีเหตุผล วางไว้ เราวางไว้ เราไม่กว้านเอามาสะสมไว้ในใจของเรา ในใจของเราขยะพอแรงอยู่แล้ว มันล้นหัวใจอยู่แล้ว จะไปเอาอะไรมาทับถมมันอีก
แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สำคัญ ธรรมโอสถๆ สิ่งที่สัมผัสธรรมได้ๆ คือความรู้สึกของคน เวลาเราศึกษา ศึกษามาจากกระดาษ เวลาเราศึกษา เราศึกษา เราอ่านมาจากหนังสือ อ่านมาจากตำรับตำรา วางไว้นะ ปลวกมันก็กิน ปลวกมันกินตำราเข้าไปเลยล่ะ ปลวกมันก็เป็นปลวกวันยังค่ำ เราศึกษามาๆ ก็ศึกษามาจากตำรา ศึกษามาจากกระดาษ
แต่ถ้าจะเป็นจริงๆ มันเป็นจริงที่ในหัวใจไง ถ้าเป็นจริงในหัวใจ ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้นคือมันยับยั้งตัวเองได้ เวลาเราศึกษามา พ่อแม่สั่งสอน พ่อแม่สั่งแล้วสั่งอีก ลูกมันทำตามไหม มันไม่ทำตามหรอก แต่ถ้าใครคิดได้ ใครคิดได้ ตรงนี้สำคัญมาก เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ท่านเอาตรงนี้ เอาตรงที่เป็นประเด็น ตรงที่ให้สำนึกได้ ให้รู้ได้
ให้รู้ได้ๆ เวลามันชี้ให้รู้ได้มันจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเห็นความผิดของตนๆ เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัตินะ ทำไมเราโง่อย่างนี้ ทำไมเราโง่อย่างนี้ แต่พวกเราฉลาดอย่างนี้ ฉลาดอย่างนี้ ฉลาดโดยกิเลสไง
เวลาถ้ามันโง่ กิเลสมันโง่ แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันสำนึกได้แล้ว เวลาสำนึกได้ สิ่งที่เป็นประโยชน์มันเป็นประโยชน์ตรงนี้ไง เป็นประโยชน์ คนที่สำนึกได้ คนที่คิดได้ ถ้าคนที่คิดได้ นี่สัจธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่นี่ นี่ไง ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล คือถ้าในหัวใจมันไม่มีสติปัญญาขึ้นมา มันจะเอามาจากไหน จำมาทั้งนั้น จำมาแล้ว ความจำ ความจำถ้ากิเลสมันมีกำลังมากกว่า มันเอามาบังเงานะ เอามาเป็นสมบัติของตนๆ สมบัติของตนทำไมหยำเปอย่างนั้นน่ะ สมบัติของตน
เวลาในวงศาสนา เป็นถึงมหา ๗ ประโยค ๘ ประโยค พอสึกไปแล้วหัวราน้ำ เรียนมามันก็รู้อยู่นะ อบายมุขคืออบายภูมิ สิ่งที่เป็นอบายมุข ศีล ๕ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา สิ่งที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ถ้ามันเป็นอบายมุข แล้วถ้าอบายมุขถ้าเสพแล้วมันก็ไปอบายภูมิ ตำรามันบอกไว้ชัดๆ ก็เรียนมา เรียนจบจนได้ใบประกาศ แล้วเวลาสิกขาลาเพศไปก็ไปหัวราน้ำ นี่ไง เพราะมันอยู่ข้างนอก มันสำนึกไม่ได้ มันคิดไม่เป็น ถ้ามันคิดเป็น มันรู้ อบายมุขมันจะให้ผลอะไร ให้ผลก็เป็นอบายภูมิไง อบายภูมิมันก็นรกอเวจีไง มันก็ไปนู่นไง แล้วสิ่งที่เป็นธรรมๆ ล่ะ เป็นธรรมมันคืออะไร
เวลาธรรม สัจธรรมในหัวใจของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีสติขึ้นมา สรรพสิ่งในโลกนี้เราควบคุมได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีสตินะ สิ่งที่เราผิดพลาดเพราะเราขาดสติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวาระสุดท้ายเลย ”ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด“
คำว่า “ประมาท” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งไว้เป็นประโยคสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วสติมันตรงข้ามกับความประมาทไง ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราตรงข้ามกับความประมาทนั้น
ความประมาทเลินเล่อ ถ้ามีสติแล้วความผิดพลาดจะไม่มี ถึงมันจะมีเวรมีกรรมนะ เราไม่ได้ทำผิด แต่คนอื่นเขามาชนเรา เขามาทำลายเรา อันนั้นมันเวรกรรม มันเวรกรรม เห็นไหม เหมือนเรา เรานะ เวลาอยู่ในสังคม คนนั้นถูกชะตาคนนั้น คนนั้นน่ารื่นรมย์ คนนี้ไม่ถูกชะตา นั่นน่ะ กรรมเก่าทั้งนั้นน่ะ กรรมเก่ามันมีความขัดแย้งมาจากภายใน
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มนุษย์ที่เราเกิดมาร่วมกัน ที่จะไม่เคยมีเวรมีกรรมต่อกันมาไม่มี เราเคยเกิดมา ไม่เป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกันมาไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง เพราะอะไร เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี้มันแสนยืดยาว ฉะนั้น สิ่งที่เราเคยสัมพันธ์กันมา เราเป็นญาติ เราเป็นพี่เป็นน้องกันนะ ถ้าเราเป็นญาติ เราเป็นพี่เป็นน้องกัน เราจะทำลายกันทำไม เราจะเบียดเบียนกันทำไม ถ้าเราเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้องกัน เราจะเบียดเบียนกันทำไม ถ้ามันมีความคิดขึ้นมาไง เราจะไม่เบียดเบียนกัน
แต่มันพรหมวิหาร ๔ พอถึงที่สุดแล้ว เราแก้ไขแล้ว เราพยายามตักเตือนเขาแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันเป็นกรรมของสัตว์ มันเป็นอย่างนั้นไง ไส้เดือน เราปรารถนาดีกับไส้เดือน พยายามจะเอาไส้เดือนมาไว้บนบ้านเรา เอาไส้เดือนมาไว้บนโต๊ะ เป็นไปไม่ได้ ไส้เดือนมันต้องอยู่ที่ดินนั่นน่ะ ไส้เดือนมันอยู่ใต้ดินนั่นน่ะ มันเอาดินนั้นเป็นอาหารของมัน ไส้เดือนก็เป็นไส้เดือน เราปรารถนาดี แหม! ไปพยายามขุดไส้เดือนเอามาไว้บนโต๊ะ มันเป็นไปไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน พรหมวิหาร ๔ ถึงที่สุดแล้ว เราทำแล้ว ทำคุณงามความดีของเราแล้ว แล้วถ้าเขาจะเป็นอย่างนั้น เขาไม่เห็นสิ่งใดเป็นคุณเป็นคุณเป็นโทษเลย นั่นก็กรรมของสัตว์ นั่นเรื่องของเขา พอเรื่องของเขานะ มันเป็นอุเบกขา ถ้าเราวางอุเบกขาได้ ถ้าเราวางอุเบกขาไม่ได้ เพราะเราวางอุเบกขาไม่ได้ เราเห็นสิ่งใดแล้วเราจะให้มันดีงามไปหมด เราเห็นสิ่งใดแล้วจะให้มันเลอเลิศไปหมด เพราะมันมีกรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมดี กรรมชั่ว
กรรมชั่วเป็นกรรมชั่ว เข้ากันโดยธาตุ ธาตุของเขาเป็นอย่างนั้น ธาตุของเขาเป็นอย่างนั้น เขาต้องเป็นอย่างนั้น ธาตุของคุณงามความดีมันอยู่ในที่ชั่ว มันก็เป็นความดี ในสุตตันตปิฎก มันมีนกพิราบ นกแขกเต้า ๒ ตัวมันเกิดมาด้วยกัน สุดท้ายแล้วตัวหนึ่งมันไปอยู่กับโจร มันไปจำแต่เรื่องของโจรทั้งนั้นน่ะ อีกตัวหนึ่งมันไปอยู่กับนักปราชญ์ มันเป็นนักปราชญ์ นกไปอยู่ที่ไหนมันยังได้ซึมซับอย่างนั้นมาเลย นี่เวลาสุตตันตปิฎก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกเป็นตัวอย่าง ธรรมาธิษฐาน บุคลาธิษฐาน แต่เราบอกว่าเป็นนิทานๆ
เป็นนิทาน เขาสรุปลงด้วยศีลธรรม เขาสรุปด้วยคุณงามความดี เขาสรุปไว้ไง ว่าเราเป็นคนปัญญามากใช่ไหม เราต้องเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางจิต วิถีแห่งจิตเลย ก็ไม่รู้เรื่อง เวลาธรรมะสอนเด็กๆ สอนเรื่องนิทาน เรื่องคุณงามความดี อู๋ย! ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนิทาน เป็นเรื่องครึ เรื่องล้าสมัย ของฉันนี่สุดยอด ใหม่เอี่ยม ยอดเยี่ยม มันคิดไปนู่นน่ะ
พระไตรปิฎกเขาสอนไว้ บริษัท ๔ คนเรามีสูงมีต่ำ คนเรามีผู้เฒ่าผู้แก่ มีเด็กน้อย มีผู้เข้ามาใหม่ มันก็มีธรรมะไว้ต้อนรับทุกคนที่มีปัญญา มีปัญญามากน้อยแค่ไหนไง พอเราเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องสุดยอด สุดยอดก็นั่งภาวนาสิ สุดยอดก็จับให้ได้สิ สุดยอดให้เห็นจริงๆ ว่าวิถีแห่งจิต จิตมันคิดอย่างไร สิ่งที่ให้ความทุกข์ๆ เรานี่ใครให้มา สิ่งที่เป็นความทุกข์ในใจของเรา ใครยัดเยียดเข้ามา ไม่มี เราคิดเอง เราหลงเอง เป็นเพราะเราทั้งนั้น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถึงเป็นศาสนามหัศจรรย์นะ
พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความมหัศจรรย์มาก เพราะในลัทธิศาสนาอื่นเขาต้องอ้อนวอน พระเจ้าบันดาล พระเจ้าเป็นผู้ตัดสิน เพราะอะไร เพราะตัวเองเชื่อตัวเองไม่ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธหมด ไม่มี
สิ่งที่พระเจ้าๆ พระเจ้าก็เหมือนเทวดา อินทร์ พรหม เขาเองเขาก็ทำบุญกุศลเขาถึงได้เสวยภพอย่างนั้น ที่ว่านรกสวรรค์มันเป็นผลของวัฏฏะๆ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เขามีของเขาอยู่อย่างนั้น แบบโลกมีอยู่อย่างนี้ แบบทวีปมีอยู่อย่างนี้ แต่เราจะไปอยู่ในทวีปไหน จะอยู่ในที่ไหน เราจะไปอยู่ที่ไหนมันต้องมีเหตุมีผลถึงไปอยู่ที่นั่นได้
นี่ก็เหมือนกัน เพราะมันมีเหตุมีผล เราถึงได้มาเกิดอย่างนี้ ถ้ามาเกิดอย่างนี้เพราะด้วยบุญด้วยกรรมของเราไง เขาก็ด้วยบุญด้วยกรรมของเขา มันก็เป็นสิทธิ์ของเขา มันก็เป็นสิทธิ์ของเรา ทำไมต้องให้เขามาตัดสิน ทำไมต้องให้เขามาตัดสิน ทำไมเราไม่ตัดสินตัวเราเอง ทำไมเราไม่ทำด้วยเวรกรรมของเราเอง
ถ้าเราทำด้วยเวรกรรมของเราเองนะ เรามีสติปัญญาของเรา เราทำขึ้นไปๆ ทำจนสว่างกระจ่างแจ้ง เทวดา อินทร์ พรหมต่างหากมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดา อินทร์ พรหมต่างหากมาขอฟังเทศน์จากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เทวดา อินทร์ พรหมต่างหากต้องมาขอสัจจะความจริงจากใจผู้รู้จริง
ใจเท่านั้นที่สัมผัสธรรมๆ แล้วใจของเรานี่ไง ใจของเรา เราชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกาได้มรดก ได้พินัยกรรมกันมา แต่หาธรรมะไม่เจอในใจของตน
พยายามของเรา สร้างสติสร้างปัญญาของเรา อย่าเชื่อ กาลามสูตร อย่าเชื่อแม้แต่คนพูด อย่าเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้พิสูจน์ในใจ ให้พิสูจน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศธรรมไว้แล้ว ให้พิสูจน์จากใจของเรานั่นน่ะ อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น แล้วพยายามฝึกหัดขึ้นมา
พอฝึกหัดขึ้นมา เวลาธมฺมสากจฺฉา เราทำแล้วเรามาคุยกัน เรามาสนทนาธรรมกัน เราเอาความเป็นจริงอันนี้เอามาเผยแผ่กัน เอามาเทียบเคียงกัน นั่นน่ะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตรงนั้นไง ประโยชน์ตรงเทียบเคียงเพื่อประโยชน์กับหัวใจของเราไง มันเป็นความจริง ความจริงสัจธรรมๆ พระพุทธศาสนาถึงมหัศจรรย์ ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อความจริงในใจของตน แต่ยังภาวนาไม่เป็นก็หวังพึ่งครูบาอาจารย์บ้าง หวังพึ่งนะ แล้วอยู่ใกล้ชิดจะรู้ ถ้าพูดหน้ามือหลังมือ พูดอย่างทำอย่าง อย่าเชื่อ ต้องฟังแล้ววินิจฉัย อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น กาลามสูตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอกย้ำไว้ตลอด อย่าเชื่อ อย่าเชื่อแม้แต่อาจารย์ของตน เอวัง