ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เบื่อโลก

๒๔ ธ.ค. ๒๕๖o

เบื่อโลก

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “เบื่อโลก”

ผมเป็นเด็กวัยรุ่นที่เบื่อทุกอย่าง เบื่อสังคมในโรงเรียน เบื่อผู้คนที่เห็นแก่ตัว น้อยใจเหลือเกินครับที่เกิดมาต้องเจออะไรแบบนี้ อิจฉาคนอื่นที่ได้ไปเที่ยวเล่นได้ แต่ผมต้องทำงานช่วยพ่อแม่ ผมเบื่อไปหมดเลย ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน อยากเหมือนเด็กคนอื่นที่ได้เที่ยวเล่น น้อยใจชีวิตเหลือเกินครับ ผมอยากมีความสุขกว่านี้

ตอบ : นี่พูดถึงว่าเบื่อโลกนะ มีคนเบื่อโลก เบื่อกับชีวิตจำเจของตนเอง มีปัญหามามาก ถ้ามีปัญหามามากนะ มันมีผู้บริหาร เวลาเขามาหาเรา เขามาพูดทำนองนี้เหมือนกัน บอกเขาก็เบื่อ เบื่อมาก เบื่อมากเพราะเขาเป็นผู้บริหาร

ผู้บริหารแล้วแบบว่าเขาได้ทุนการศึกษา พอศึกษามาต้องใช้ทุน ใช้ทุนสอนมหาวิทยาลัยไง แล้วเด็กมันไม่สนใจนี่แหละ แล้วเขาเบื่อมากๆ เพราะว่าความรู้ของเขา เขาศึกษามามันมีคุณประโยชน์ แต่เขาว่าความรู้ของเขาควรได้ประโยชน์มากกว่านี้แต่สังคมไม่สนใจ เขาก็เบื่อของเขา

เราก็ตอบเขาไปตอนนั้นน่ะ บอกว่าถ้าเขาเบื่ออย่างนั้น เขาว่าเบื่อสังคมอย่างนี้ คิดว่าสังคมจะสมความปรารถนาของเรา แล้วเราคิดว่าเราจะหนีสังคมไป มันหนีไม่พ้นหรอก

เพราะว่าในสังคมเราก็คือมนุษย์เหมือนเดิมนี่แหละ มนุษย์เหมือนกัน แต่เราอยู่ในสังคมหนึ่ง เราก็คิดว่าอีกสังคมหนึ่งมันจะมีคุณค่า แล้วคิดว่าสังคมอื่นมันจะมีประโยชน์ไง แล้วเราก็คิดว่าหาสังคมนั้น คือเราตั้งค่าไว้สูง เราตั้งค่าความรู้ของเรา เราตั้งเป้าของเราไว้สูง แล้วมันไม่ได้สมความปรารถนาของเรา เราก็เบื่อหน่าย อันนั้นเขาเบื่อหน่ายในทางบวกนะ

แต่นี่เขาว่า ผมเป็นเด็ก เบื่อหน่ายทุกๆ อย่าง เบื่อหน่ายสังคม สังคมในโรงเรียน เบื่อหน่ายคนเห็นแก่ตัว น้อยใจครับที่เกิดมาเจออะไรแบบนี้ไง

เบื่อหน่ายคนที่เห็นแก่ตัว เบื่อหน่ายต่างๆ ความเบื่อหน่าย เบื่อหน่าย มันเบื่อหน่ายแล้วมันจะย้ำคิดย้ำทำ พอย้ำคิดย้ำทำ มันทำให้ตัวเองต่ำต้อยไปเรื่อย ตัวเองต่ำต้อยไปเรื่อย ถ้าตัวเองต่ำต้อยไปเรื่อยนะ

นี่พูดถึงเขาบอกเขาเป็นเด็ก คำว่า “เป็นเด็ก” พอเป็นเด็ก วุฒิภาวะมันยังแบบว่าสะอาดบริสุทธิ์อยู่ มองโดยภาพใสๆ ไง มองด้วยภาพความเห็นของตน

แต่ในธรรมะนะ ในความเป็นจริง ในความเป็นจริงนะ เวลาการเกิด การเกิดมีคุณค่ามาก ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเอาไว้ว่า มันเปรียบเหมือนนะ ในการเกิดคือเปรียบเหมือนท้องทะเลเลย แล้วมันมีบ่วงอยู่บ่วงหนึ่ง แล้วมันมีเต่าตาบอดมันโผล่จากในทะเลขึ้นมา ถ้ามันได้เข้าบ่วงนั้นมันถึงจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์นะ

การที่ได้เกิดเป็นมนุษย์มีคุณค่ามากๆ แต่มีคุณค่ามาก พอเราได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วเราได้สถานะของความเป็นมนุษย์แล้ว พอเราได้สถานะความเป็นมนุษย์แล้ว พอเราเบื่อหน่ายขึ้นมาแล้ว เราคิดว่าสิ่งนี้มันไม่มีค่า สิ่งนั้นไม่มีค่า

สิ่งความเกิดเป็นมนุษย์มันมีค่ามากๆ

แต่ที่พูดว่า เกิดด้วยบุญกุศล เกิดด้วยมีเวรมีกรรม เกิดด้วยความต่ำต้อย แต่ความต่ำต้อยนะ ในสังคมทางโลก ถ้าใครประกอบธุรกิจจากศูนย์จนขึ้นมาเป็นเศรษฐีโลก นั่นน่ะเขาว่าคนคนนั้นมีความสามารถ

ถ้าเกิดมาปากกัดตีนถีบมา จากลบเลย จากไม่มีสิ่งใดเลย เขาประกอบธุรกิจ เขาทำธุรกิจของเขาจนเขาประสบความสำเร็จ นั่นคือความสามารถของเขา เขาประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จ อย่างนั้นน่ะโลกถึงยอมรับ ถ้าโลกยอมรับนะ

แต่ถ้าคนเกิดมาได้รับมรดกตกทอด เกิดมาก็ โอ้โฮ! พ่อแม่มีแสนแสนล้านแล้วอย่างนี้ เกิดมาแค่รักษามรดกอย่างนี้ มันจะรักษาได้หรือรักษาไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ นี่พูดถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ถ้าคุณค่าของความเป็นมนุษย์นะ ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่มันมีค่าๆ มีค่าคือความเป็นมนุษย์นี่

ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาเป็นเด็ก พอเขาเป็นเด็กขึ้นมา เราจะบอกว่า คุณค่าของการเกิดมามันมีค่า ถ้ามีค่า มันทัศนคติตรงนี้ไง ทัศนคติตรงที่ว่า ถ้าเห็นไง เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายคนเห็นแก่ตัว

คนเห็นแก่ตัว ถ้าพูดถึงว่า เขาบอกว่าเขาอยากได้เที่ยวเล่น เขาอยากได้อะไร เขาไม่ให้เราเล่น ไม่ให้เราเที่ยวเล่น ถ้ามีการช่วยเหลือนะ มีการช่วยเหลือครอบครัว มีหน้าที่การงาน ถ้าเราทำของเรา เราทำด้วยหน้าที่การงานของเรา เพราะเราเกิดมาแบบนี้ เวลาเรามอง ให้มองมุมกลับ

มองมุมกลับนะ เวลาคนที่เกิดมามีอำนาจวาสนา มีคนส่งเสริม มีคนดูแล แล้วคนที่ไม่มีอำนาจวาสนา หนึ่ง แล้วดูคนพิการๆ ตอนนี้มีคนพิการที่เขาไม่มีแขนไม่มีขา เวลาเขามุมานะของเขา เขาพยายามขวนขวายของเขา เขาพยายามมีการศึกษาของเขา จนเขาเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบให้กับสังคมได้ ทุกคนต้องนับถือน้ำใจของเขา

ถ้าเราคิดดูสิว่า เขาพิการอาการไม่ครบ ๓๒ ทำไมเขาไม่เบื่อหน่ายชีวิตเขาล่ะ ทำไมเขาขวนขวายจนเขาดำรงชีพของเขาจนเป็นผู้ที่ชี้นำสังคมได้ล่ะ อันนั้นพูดถึงว่านั่นเป็นทัศนคตินะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคำว่า “เบื่อหน่ายๆ” เพราะถ้ามันเบื่อหน่ายต่อเนื่องไป มันน้อยใจไป มันก็ทำให้ตัวเองต่ำต้อยไป ความรู้สึกนึกคิดของคนมันจะแบบว่าเหลวไหลไป แต่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะคิดขึ้นมาได้ คิดขึ้นมาได้ก็เริ่มต้นจากเรานี่แหละ เริ่มต้นจากความเกิดเป็นมนุษย์นี่

เริ่มต้นจากความเป็นมนุษย์ เราเสมอภาค เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ทุกคนเวลาเกิด เกิดจากพ่อจากแม่ เกิดจากเวรจากกรรมทั้งนั้น เราเสมอภาคกัน เกิดมามีปากมีท้องเหมือนกัน เกิดมามีพ่อมีแม่ทุกคน เพียงแต่ว่าพ่อแม่เลี้ยงดูดี กับพ่อแม่ที่ว่าไม่มีความพร้อม เขาเอาไปให้คนอื่นเลี้ยงดูนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราก็ได้เกิด

เราคิดว่าคำว่า “เสมอภาค” เกิดมามีปากมีท้องเหมือนกัน เกิดมาต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน ถ้าเขามีสติปัญญาของเขา เขาใช้สอยของเขาพอประมาณ ที่เหลือของเขา เขาทำประโยชน์กับโลกได้ด้วย

แต่ของเรา เราขาดแคลน ขาดแคลนมันก็เป็นบุญกุศลของเรา เวลามาบวชเป็นพระ จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน ทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน มาบวชเป็นพระแล้วมีผ้า ๓ ผืนเหมือนกัน พระพุทธเจ้าให้ถือผ้า ๓ ผืน ไอ้ที่เหลือนั่นบริขารโจล คือเขาใช้สอยของเขาด้วยความเกินที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้

แต่ถ้าเป็นพระเราผ้า ๓ ผืนเหมือนกัน จะมั่งมีศรีสุขทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน บวชมาแล้วถือผ้า ๓ ผืนเหมือนกัน เวลาบิณฑบาตเหมือนกัน

ทีนี้บิณฑบาตขึ้นมาแล้ว พระสีวลีเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุด บิณฑบาตที่ไหนมีแต่คนใส่บาตรมหาศาลเลย พระทุคตะเข็ญใจเป็นพระอรหันต์เหมือนกันนะ บิณฑบาตไม่เคยอิ่มเลย ฉันไม่เคยอิ่มเลย นั่นก็บุญกุศลของเขา

จนพระสารีบุตรสงสัยนะ ไปถามว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นหรือ เพราะพระสารีบุตรไม่เคยเจอสภาพแบบนั้น เพราะพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ลาภสักการะมหาศาล เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ ไปถามก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

พอเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยบุญกุศล พระสารีบุตรต้องจับบาตรไว้นะ จัดอาหารแล้วจับบาตรไว้ เพราะพระสารีบุตรปล่อยบาตร อาหารนั้นจะค่อยๆ จางไปหายไป จับบาตรไว้เลย พระองค์นั้นฉันอิ่มมื้อนั้น ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยฉันข้าวอิ่มแม้แต่มื้อเดียว แต่พอฉันข้าวมื้อนั้นอิ่มก็นิพพานวันนั้นเลย นี่กรรมมันให้ผลอย่างนั้น พอกรรมให้ผลอย่างนั้นปั๊บ

เราจะพูดถึงว่า เรื่องเวรเรื่องกรรมมานี่มันทำมาแต่ภพชาติใดก็แล้วแต่ แล้วเราเกิดมาแล้วในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่ปัจจุบันนี้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเข้ามา สอนเข้ามาในใจของเราไง

ถ้าในใจของเรานะ ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา แค่ได้เกิดเป็นมนุษย์นี่เราพอใจนะ แปลก ในใจลึกๆ เรานี่ เราถือว่าการเกิดเป็นมนุษย์มีค่าเท่ากัน เสมอภาคกัน แล้วเราพอใจ เราไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตเลย เราไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจอะไรเลย มีอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ มุมานะลุยอย่างเดียว จะปฏิบัติ จะเอาไปให้ได้อย่างเดียว

มันไม่เท่ากันหรอก เกิดเป็นลูกเศรษฐีในตระกูลเดียวกันก็ยังมาน้อยใจว่าพ่อแม่รักแตกต่างกัน มีทรัพย์สมบัติเหมือนกันนะ มันก็ยังมาน้อยใจนะ แม่รักคนนู้น พ่อรักคนนี้ ไอ้คนนี้ไม่ได้รับความรัก

แต่ความจริงพ่อแม่ก็รักลูกทุกคนนั่นแหละ แต่มันจะมากจะน้อยมันอยู่ที่ดุลพินิจไง อยู่ที่ความเห็นน่ะ ความเห็นว่าลูกคนนี้มีความฉลาดมีความสามารถก็ดูแลน้อยหน่อย ลูกคนไหนของเราบกพร่อง ลูกคนไหนของเรามันจะไม่ทันเขา เราก็ดูแลเข้มข้นหน่อย ไอ้ลูกมันก็มาน้อยใจกันน่ะ แต่ความรักของพ่อแม่มันเรื่องธรรมดา มีอยู่แล้ว

นี่พูดถึงว่าการเกิด เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์มีค่ามาก

ฉะนั้น พอบอกเบื่อโลกๆ

พอเบื่อโลกนะ มันมี เวลาเบื่อโลก ถ้าถึงกับประชดประชันมันก็ทำให้ชีวิตไม่ราบรื่นทั้งสองฝ่าย เวลาพ่อแม่หรือในสังคม ลูกของเรานะ ถ้าเขาประชดประชันขึ้นมามันก็มีความกระเทือนไปทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงประชดประชันนะ แต่ถ้าพูดถึงทำร้ายตัวเองนั่นจบเลยนะ

ฉะนั้น ถ้ามันย้อนกลับมา พ่อแม่นี้เป็นพระอรหันต์ของลูก ท่านให้ชีวิตเรามานี่พอแล้ว ให้ชีวิตเรามา เรามีชีวิตแล้ว ชีวิตนี้มีค่าแล้ว เราจะขวนขวายของเรา แล้วถ้ามีอำนาจวาสนา ยังหาสิ่งนั้นมาทดแทนบุญคุณพ่อแม่อีกต่างหาก

พ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา ทรัพย์สมบัติที่ได้หามาก็เหมือนกับของพ่อแม่ เพราะถ้าไม่มีพ่อแม่ก็ไม่มีเรา เพราะมีเรา เราถึงมีสมบัติ แล้วสมบัตินั้นน่ะเราทดแทนได้หมดเลย นี่เรื่องของสมบัตินะ

แต่ถ้าเรื่องของปัญญา ปัญญาพ่อแม่ ถ้าอยากให้พ่อแม่ประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ก็ต้องมีอุบายอย่างไรให้พ่อแม่รู้จักนึกพุทโธขึ้นมา มันต้องมีอุบาย ถ้ามีอุบายขึ้นมา อันนั้นถ้าอุบายพยายามดัดแปลงให้เข้ามาปฏิบัติ ให้เข้ามาอย่างนี้ อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นเป็นวิธีการ เป็นอุบาย อุบายจะให้ทรัพย์สมบัติที่ดีกว่านี้ ให้ทรัพย์สมบัติที่จะไปภพชาติหน้า

แต่โลกไม่เข้าใจหรอก โลกเห็นแต่ทรัพย์สมบัติในชาตินี้แหละ ไอ้ชาติต่อไป ไม่รู้ว่าชาติต่อไป การเกิดต่อไปมันจะมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน

นี่พูดถึงว่าอุบายการที่เราจะตอบแทนบุญคุณน่ะ มองกันได้แค่วัตถุ ถ้ามันเรื่องถึงบุญกุศล มองได้ไม่ถึงนั่น แต่มองได้แค่วัตถุ ในแค่วัตถุนะ แค่ความเป็นอยู่ในโลกนี้มันก็มีปัญหาแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ว่าเบื่อโลกๆ

เบื่อโลกแล้วจะเอาสิ่งใดตอบแทน คำว่า “เบื่อโลก” ถ้ามันเบื่อกิเลสสิ เบื่อความเห็นผิดสิ แต่ชีวิตภพชาติของเรา โลกคือภพ ว่าสัตว์โลกๆ เราก็เป็นโลกธาตุหนึ่ง โลกธาตุหนึ่งเพราะเรามีหัวใจ ภวาสวะ ภพนี้โลกหนึ่ง

เพราะบาปบุญคุณโทษเกิดจากหัวใจเรานี้ แล้วเวลาหัวใจเรานี้มันสะสมบุญกุศลแล้วมันก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะตามเวรตามกรรมนี้ มันก็เป็นแบบว่าจิตของเราเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วมันจะวนไปในวัฏฏะ ถ้าวัฏฏะมันหมุนไปตามนั้น นี่พูดถึงผลของวัฏฏะนะ แต่ถ้าพูดถึงในปัจจุบันนี้เราก็คิดว่าตั้งแต่เกิดจนหมดอายุขัยไปนั่นก็ภพชาติหนึ่ง ถ้าภพชาติหนึ่งในภพชาตินั้น

ถ้าพูดถึงว่า ผมเป็นเด็กวัยรุ่น ผมเบื่อมาก เบื่อสังคมโรงเรียน

ถ้าเบื่อสังคมโรงเรียน เราไปโรงเรียนเพื่อการศึกษา ถ้าเราศึกษา สังคมโรงเรียน เพราะว่าสังคมโรงเรียนถ้ามันแบบว่าแข่งขันกัน เด็กที่มันด้อยโอกาสมันก็มีปมด้อย นั่นพูดถึงปมด้อย เพราะเราคิดไง

แต่ถ้าเราคิดถึงว่าเราไปศึกษา ถ้าสังคมในโรงเรียนเรามีปมด้อยสิ่งใดนั่นมันก็เป็นเรื่องของเรา แต่เด็กมันบริหารไม่ได้หรอก ฉะนั้น มันก็น่าเห็นใจอยู่

แต่คำว่า “เบื่อโลกๆ”

เราพยายามจะบอกว่า เราเกิดกับโลก เราต้องอยู่กับโลก โลกมันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราก็อยู่กับโลก อยู่กับโลกโดยเหนือโลก

อยู่กับโลกโดยอยู่กับโลก อยู่กับโลกโดยแบกโลก มันก็มีทุกข์มียากแตกต่างกันไป ถ้ามันแตกต่างกันไปนะ แต่ถ้ามันมีทัศนคติ ถ้ามองเป็นบวกแล้วมีบุญกุศลหมด แล้วทำได้ เราเกิดมาภพชาตินี้แล้วเราจะจัดการขึ้นมาให้สิ่งที่ยั่วยุในใจที่มันปิดบังในใจ ให้เรามีทัศนคติความเห็นผิด

มันเป็นอย่างนั้นจริงนะ เบื่อคนที่เห็นแก่ตัว จริง ถ้าเบื่อคนที่เห็นแก่ตัว แต่เพราะเวรเพราะกรรมถึงเกิดมาเจอเขาไง

อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เราไม่อยากเสวนากับคนพาล เราไม่อยากเสวนากับคนเห็นแก่ตัว แต่มันอยู่ในสังคมเดียวกัน สังคมเดียวกัน เราก็ต้องรักษาหัวใจของเรา เราต้องเท่าทันหัวใจของเรา แล้วถึงเวลาแล้ว เวลาเรียนแล้ว เวลามันจบแล้วมันก็แยกกันไป ถ้ามันแยกกันไป เห็นไหม

สิ่งที่ว่า น้อยใจที่เกิดมาต้องมาเจออะไรแบบนี้ อิจฉาคนอื่นที่เที่ยวเล่น

อิจฉาคนอื่นๆ เดี๋ยวเราก็ได้เที่ยวเล่น เดี๋ยวเราก็โตขึ้นมา เวลาคนที่เขามีสติปัญญาเขาทำงานมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นมาแล้วเขาเที่ยวรอบโลก

นี่ก็เหมือนกัน เขาไปเที่ยว เราแค่มองแค่นั้นน่ะ แล้วเขาไปเที่ยวที่ไหนก็แล้วแต่ ที่นั่นธุรกิจบริการเขาต้องอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว เวลาเราคิดนะ อย่างเช่นตอนปีใหม่เขาไปเที่ยวธรรมชาติกัน

เมื่อก่อนกูอยู่ในป่า กูอยู่กับน้ำตกมาตลอด เราอยู่มาอย่างนั้น เราอยู่ตอนที่เขาไปเที่ยวกันนั่นน่ะ เมื่อก่อนเราเที่ยวธุดงค์ก็อยู่ในนั้นน่ะ เราอยู่ป่าน้ำตก ๗ สี น้ำตก เรานอนอยู่นั่น เรานอนอยู่กับน้ำตกมาตลอด ไอ้บรรยากาศดีๆ อากาศดีๆ เราอยู่มาหมดแล้ว แล้วเดี๋ยวนี้เขาต้องไปแสวงหากัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น เขาว่า ผมต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ผมเบื่อไปหมด เบื่อที่บ้าน เบื่อที่โรงเรียน อยากเหมือนเด็กที่ได้เที่ยวเล่น

เดี๋ยวเราก็ได้ ถ้าเรามีความจำเป็นนะ คนเราเกิดมาฐานะไม่เท่ากัน เราเกิดมาจากพ่อแม่ที่ว่าไม่ร่ำรวยเหมือนเขา หรือไม่มีความพร้อมเหมือนเขา หรือพ่อแม่ที่ดีนะ ถึงจะร่ำรวยนะ เวลาลูกเขาก็ต้องให้รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ให้ลูกนิสัยเขาเสีย บิลล์ เกตส์เขาบอก เขาบอกว่าไม่อยากให้โรครวยทำลายลูกชายเขา

เขาใช้คำว่า “โรครวย” นะ โรครวยคือการปรนเปรอไง การปรนเปรอจนเด็กมันไม่รู้จักยั้งคิด เขาไม่ต้องการให้โรคแบบนี้ทำลายเด็ก คนรวยคิดอย่างนี้ก็มี

แล้วของเรา ถ้าเราจะขาดแคลน เราจะไม่ได้เที่ยวเล่น มันเป็นเวลาที่เราต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เราก็ทำให้มันเสร็จ แล้วเวลาเราพักหัวใจเราได้มันจะเป็นประโยชน์นะ

นี่ถ้ามันเป็นประโยชน์ เราอยากจะให้ตั้งสติ ตั้งสตินะ แล้วพยายามทำให้มันสำเร็จไปได้ ถ้ามันสำเร็จไปได้ ชีวิตในครอบครัวมันก็จะราบรื่น แต่ชีวิตในครอบครัวมันมีผลไง อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อกว่าแม่ใช่ไหม บุตรที่เกิดมามีเวรมีกรรม แต่ก็บุตรทั้งนั้นน่ะ

แต่มันมี อยู่ในพระไตรปิฎก เราศึกษาในพระไตรปิฎกมาหลายรอบ เห็นเรื่องอย่างนี้มาเยอะ ถ้าเห็นเรื่องอย่างนี้มาเยอะ แล้วพอเขาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นเช่นนี้ ท่านบอกมันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ชาตินั้นๆ เคยเป็นมาอย่างนี้ๆ มันต้องมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ

ทีนี้เราไม่รู้ที่มาที่ไปไง แต่ในปัจจุบันนี้เราต้องมารับสถานะสภาวะแบบนี้มันก็อึดอัดนะ แต่ถ้าเรามาศึกษาธรรมะแล้วนะ แล้วพยายามวางใจให้ได้ วางใจให้ได้ วางใจให้ได้เพราะมันเป็นการชดใช้ ถ้าเป็นกรรมเก่า แต่ถ้าเป็นปัจจุบันนี้เราก็พยายามจะรักษากันเพื่อจะให้เจริญก้าวหน้านั้นไป

นี่พูดถึงการเบื่อโลก เพราะเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติจนรู้แจ้ง ถ้ามันรู้แจ้งมันก็ไม่มีกิเลส ถ้ามันไม่มีกิเลสก็คือมันไม่ทุกข์ แต่นี้เพราะเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เราถึงไม่รู้อะไรเลยไง

เราจะไปรู้แจ้งได้อย่างไร เราไม่รู้ถึงความคิดเราว่าความคิดนี้ถูกหรือผิด ความคิดที่เราคิดอยู่นี่มันถูกหรือผิด แต่เพราะความชอบ เราเห็นบทบาทของเพื่อน หน้าที่ของเพื่อนกับหน้าที่ของเรา เราไปเทียบเคียงกันเท่านี้ไง เราไปเทียบเคียงที่เราเห็นเท่านั้นไง แต่เราไม่รู้หรอกว่ามันมาจากไหน

ฉะนั้น ถ้ามันไม่รู้มาจากไหน เราก็อาศัยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พยายามประพฤติปฏิบัติให้มันอยู่ในกรอบเพื่อจะไม่ให้มันบาดหมางกันมากเกินไป

แต่ถ้ามันจะรู้แจ้งนะ เรื่องอย่างนี้ แหม! ภาษาเรานะ มันไม่ใช่เรื่องความทุกข์เลย มันไม่ใช่เรื่องอะไรเลยนะ แต่เด็กมันทุกข์เกือบตายนะ แต่ภาษาเรา เพราะเรามองโลกอีกแง่มุมหนึ่งเลยไง

เรามองโลกว่า กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วสิ่งที่เราเกิดมานี่เกิดมาจากเวรจากกรรม มันก็จะมีเวรมีกรรม ใครมีเวรมีกรรมนะ มันก็ต้องแจกแจงไปตามเวรตามกรรมอันนั้นไง

ทีนี้เวรกรรมอันนั้นหนึ่ง แต่เรามีสติปัญญามากกว่านั้น มีเวรมีกรรมก็แล้วแต่ เราก็ฝืน เราฝืนนะ ถ้าฝืนก็ฝืนด้วยความรู้สึกนึกคิดให้มันนึกคิดสิ่งที่ดี แล้วเวลาฝืนแล้วเราจะมาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม

คนที่มีบุญกุศลเวลาปฏิบัติแล้วมันราบรื่น ปฏิบัติแล้วมันดีงาม เรามีเวรมีกรรมมาก เวลาปฏิบัติแล้วลุ่มๆ ดอนๆ ปฏิบัติก็ไม่ได้เรื่องสิ่งใด ปฏิบัติแล้วก็มีความทุกข์ความยาก เราก็จะฝืนของเรา เราก็จะทำของเรา

เพราะทุกคนเกิดมามีกายกับใจเหมือนกัน มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน แต่คนเรากิเลสหยาบ กิเลสหนา กิเลสบางต่างกันตรงนี้ มันทำให้การปฏิบัติราบรื่นต่างกัน ทุกข์ยากแตกต่างกันไป แต่การปฏิบัติเหมือนกัน ถ้ามันเข้าสู่อริยสัจเหมือนกันนะ มันก็สิ้นกิเลสไปได้เหมือนกัน นี่มันเป็นสิทธิเสรีภาพที่เสมอกัน มันแตกต่างกันด้วยเวรด้วยกรรม

เวรกรรมคือทัศนคติ เวรกรรมคือความเห็น เวรกรรมของคนน่ะ ทำไมคนนี้คิดดี๊ดี โอ้โฮ! คนคิดดีคิดดีมากๆ นะ คิดเลวร้ายไม่ได้ ไอ้คนคิดเห็นแก่ตัว อย่างที่ว่าผมเบื่อมากเลยที่คนเห็นแก่ตัว มันคิดอย่างนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ

ถ้าเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราก็มีจุดยืนของเรา เรามีจุดยืนของเรานะ เวลาเขาเห็นแก่ตัวก็เรื่องของเขา เราพยายามจะไม่เห็นแก่ตัวแบบเขา แล้วเขาเห็นแก่ตัวอย่างไร เขาแสวงหาสิ่งใดก็ปล่อยเขาไป

บอกว่า เราแก้ไขเขาไม่ได้ แต่ถ้าเขาไปเห็นคนอื่นที่ทำดีๆ จนเขาสำนึกได้ วันนั้นเขาจะแก้ไขเขาได้ นี่พูดถึงว่า เราไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไขใครทั้งสิ้น เรามีหน้าที่แก้ไขหัวใจของเราไง แก้ไขว่าเบื่อโลกๆ ทำให้มันพ้นไป

เพราะคำว่า “เบื่อโลก” นะ เราเกิดมากับโลก เพราะมันมองมุมมองต่างกัน เรามองว่าสิ่งที่มีค่าคือหัวใจของคน สิ่งที่มีค่าคือหัวใจนี้มีค่ามาก ถ้ามีค่ามากแล้ว สิ่งอื่นๆ มันมาทีหลังทั้งนั้นน่ะ

แต่ในเมื่อคนมันมีความคิดอย่างนั้น เราต้องอยู่ในสังคมอย่างนั้น เราจะรักษาหัวใจของเรา เราจะไม่ปล่อยหัวใจของเราให้เลวร้ายไปแบบเขา แล้วถ้าไม่เลวร้ายไปแบบเขา แต่ทำไมเราทุกข์ล่ะ

เราทุกข์เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกหัด ไม่ได้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาทุกข์เวลายากไปออกประพฤติปฏิบัติ ออกปฏิบัติอยู่ ๖ ปีทุกข์ยากขนาดไหน ท่านยังฝ่าฟันอุปสรรคมาทั้งหมด สุดท้ายแล้วท่านทำจริงทำจังของท่าน ท่านถึงสำเร็จไปหมด แล้วเรื่องนั้นเลยกลายเป็นเรื่องไร้สาระเลย แต่เวลาเราอยู่นั้นมันจะมีปัญหามาก นี่พูดถึงการเบื่อโลกนะ จบ

ถาม : เรื่อง “มีดเชือดคอ”

ขอบพระคุณหลวงพ่อในการตอบคำถามที่ผ่านมา เรื่อง “พุทโธได้ดี” ตอนนี้พยายามทำพุทโธให้ชำนาญครับ ทำไปทำมามีเรื่องสะกิดใจนิดหน่อยครับ

๑. นั่งสมาธิช่วงนี้เป็นบ่อย เหมือนมีมีดเย็นๆ มาเชือดคอครับ ไม่เจ็บแต่เสียวๆ บางทีพุทโธถี่ๆ อาการก็หาย บางทีเห็นเป็นภาพคอขาดวิ่นเลยครับ พลิกแพลงมาหลายท่าแล้วครับ

๒. เวลานั่งสมาธิ ผมจะมีแสงจ้าค้างอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าจะนั่งปิดไฟหรือเปิดไฟในห้องก็จ้าเท่ากัน ช่วงนี้มีกะพริบวาบๆ ได้ด้วย ผมถอยมาที่พุทโธชัดๆ เลยไม่ค่อยได้สนใจ จนกระทั่งมีอารมณ์ละเอียดว่างๆ เนียนๆ มาแทรก มันเริ่มรู้พุทโธไม่ชัด ไฟเริ่มดับ กายเริ่มหาย ยื้อสักพักชักไม่ไหว ก็เลยกระชากความรู้สึกมาที่กายก่อน วิธีนี้พอจะแก้ไขได้ไหมครับ

ตอบ : อันนี้แปลกนะ อันนี้แปลก หมายความว่า ผู้ถามเป็นปกติหรือไม่ ถ้าผู้ถามเป็นปกตินะ คำว่า “ปกติ” เราเป็นปกติธรรมดา

ถ้าไม่ปกติ เพราะในกระทรวงสาธารณสุขเขาบอกว่าพวกจิตเภท พวกอะไร ในสังคมไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์มีอาการผิดปกติทางจิต ถ้ามีอาการผิดปกติทางจิตต้องไปหาจิตแพทย์นิดหนึ่ง ถ้าไปหาจิตแพทย์แล้วกลับมาให้เป็นปกติก่อน ถ้ามันไม่เป็นปกติ เวลาภาวนาไปมันจะเริ่มเป็นแบบนี้ พอเริ่มเป็นแบบนี้ มันมีความโน้มเอียงไปนะ

ที่ว่า “๑. นั่งสมาธิช่วงนี้เป็นบ่อย เหมือนมีมีดเย็นๆ มาเชือดคอครับ ไม่เจ็บแต่เสียวๆ บางทีพุทโธถี่ๆ อาการก็หาย บางทีเห็นเป็นภาพคอขาดวิ่นไป” นี่มันเห็นน่ะ “เห็นเป็นภาพคอขาดวิ่นไปเลยครับ พลิกแพลงมาหลายท่าแล้วครับ”

พลิกแพลงมาหลายท่าแล้วกลับมาพุทโธชัดๆ กลับมาพุทโธชัดๆ อยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทโธแล้วสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้น อาการ “เหมือนมีมีดเย็นๆ มาเชือดที่คอ”

มันเป็นการ...ถ้าจิตใต้สำนึกมันเหมือนกับชักนำ จิตเภท จิตมันจะชักนำไป พอจิตชักนำไป เริ่มต้นจากเหมือนมีมีดเย็นๆ มาเชือดคอ นี่เป็นความรู้สึก แล้วมีภาพเห็นว่าคอขาดไปเลย เห็นภาพคอขาดวิ่นไปเลย ตกไปเลย มันเป็นภาพมาให้เห็นแปลกๆ

ไอ้กรณีนี้มันจะย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลนะ เวลาพระประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติเห็นเป็นอสุภะแล้วขยะแขยงในตัวเองมาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ท่านรู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่าเรื่องเหตุนี้จะเกิดขึ้น ท่านก็เลยเข้าวิเวก พอเข้าวิเวกแล้วท่านจะมีคำสั่งห้ามว่าห้ามพระเข้าไปหาไง

ฉะนั้น พวกพระที่เขาประพฤติปฏิบัติเขาไปเห็นอสุภะ เห็นตัวเองเน่าเป็นช้ำเลือดช้ำหนองแล้วมันรังเกียจไง รังเกียจก็คิดเอง คนที่ไม่มีปัญญามันคิดได้ขนาดนั้นน่ะ พอรังเกียจขึ้นไปก็เอาบริขารของตน

เพราะพระไม่มีสมบัติ พระมีบริขาร ๘ มีมีดโกน มีธมกรก มีบริขาร ๘ เอาบริขาร ๘ ไปเป็นสินจ้าง สินจ้างให้ช่างกัลบกคือช่างตัดผมเชือดคอให้ เชือดคอตาย โอ๋ย! แล้วเชือดคอตายเยอะมากเลย

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากการปลีกวิเวกมาเห็นพระที่มันแบบร่อยหรอลง ก็ถามพระอานนท์ “ทำไมเป็นเช่นนั้น” พระอานนท์บอกว่า “เวลาเขาภาวนาไปแล้วไปเห็นอสุภะ”

คำว่า “เห็นอสุภะ” โดยสัมมาทิฏฐิ จิตมันสงบแล้ว พิจารณาไปแล้วเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเห็นอสุภะ อนาคามิมรรค

แต่นี่พอมันเป็นปุถุชน พอไปเห็นอสุภะๆ เห็นแล้วมันขยะแขยง เพราะมันไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสิ่งใดรองรับไง ก็เลยไปจ้างเขา มันสะอิดสะเอียนจนจ้างเขาเชือดคอตาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงห้าม ห้ามเด็ดขาด ภิกษุ ทำลายชีวิตคนอื่นเป็นอาบัติปาราชิก ภิกษุทำลายชีวิตตัวเองก็ไม่ได้ ทำลายชีวิตคนอื่นก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งสิ้น ไอ้นี่ไปจ้างเขา นี่พูดถึงเวลาภาวนาไปแล้ว นี่สมัยพุทธกาลเขามีแบบนี้

แต่อันนี้ย้อนกลับมาที่นี่ไง ย้อนกลับมาที่นี่ เพราะมันสองที “๑. เหมือนมีมีดเย็นๆ มาเชือดที่คอ มันไม่เจ็บแต่เสียวๆ นี่มีความรู้สึก”

ไอ้นี่มันไม่มีหรอก มันเป็นความรู้สึกของตน มันเป็นวิตกวิจารณ์ของตน ถ้าวิตกวิจารณ์ไปแล้ว “แล้วพอพุทโธถี่ๆ อาการนั้นหายไป บางทีเห็นเป็นภาพคอที่ขาดวิ่นไปเลย”

ไอ้กรณีนี้ถ้ามันเป็นการภาวนาที่เป็นธรรมมันก็ดีไปอย่างหนึ่ง แต่ทำไมมันไปลงในทางเดียวกันหมดล่ะ

ฉะนั้น ถ้าจิตมันเป็นปกติ ถ้าจิตสงบแล้วเห็น มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นธรรมให้เราเห็น ให้เราเห็นเป็นการพิจารณา แต่ถ้าจิตของเรามันไม่ปกติ ไม่ควรทำนะ ไม่ควรทำซ้ำอย่างนี้ กลับมาพุทโธซะ

แต่เราจะบอกว่า หนึ่ง ควรไปปรึกษาหมอก่อน ไปปรึกษาจิตแพทย์ รักษาเช็กตัวเองให้เป็นปกติซะ แล้วถ้ากินยาอยู่ก็วางก่อน ถ้ากินยาอยู่ยังไม่ต้องปฏิบัตินะ

บางคนมาที่นี่ หลายคนบอกว่าผมกินยาอยู่ครับ คือเขาผิดปกติ เขากินยาอยู่ ถ้ากินยาอยู่ ปฏิบัติไปนะ ถ้ากินยาหรือว่าจิตมันไม่ปกติ ให้พุทโธเฉยๆ

การพุทโธๆ คือพยายามสร้างจิตเราให้เข้มแข็งให้เป็นปกติ พอจิตถ้ามันพุทโธได้ แต่พอถ้ามันไม่ปกติแล้วมันจะให้เห็นภาพหลอนอย่างนี้ มันจะเป็นภาพหลอนไป ถ้าเป็นภาพหลอนไป

เราจะบอกว่า ให้กลับไป ต้องไปปรึกษาหมอทีหนึ่ง ควรปรึกษาหมอก่อน ถ้าปรึกษาแล้ว ถ้าเป็นปกติแล้วเรามาสู้กัน นี่ข้อที่ ๑. นะ

“๒. เวลานั่งสมาธิผมมีแสงจ้าค้างอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าจะนั่งปิดไฟหรือเปิดไฟในห้อง จะจ้าเท่ากัน ช่วงนี้กะพริบวาบๆ ได้ด้วย ผมถอยมาที่ผู้รู้ พุทโธชัดๆ เลยไม่ค่อยได้สนใจ จนกระทั่งมีอารมณ์ละเอียดว่างเนียนๆ แทรกเข้ามา เริ่มพุทโธไม่ชัด ไฟเริ่มดับ กายเริ่มหาย ชักยื้อกันชักไม่ไหวก็เลยออกมา”

นี่มันต่อเนื่องกันมา แบบว่าเวลาเราพยายามประพฤติปฏิบัติกัน เราภาวนากันนี่ ภาวนาเพื่อให้ความสงบของใจให้ใจมันสงบระงับ พอใจสงบระงับ ความสงบระงับเหมือนคนแข็งแรงสมบูรณ์ คนแข็งแรงสมบูรณ์จะทำสิ่งใดมันทำไปโดยข้อเท็จจริงเป็นกิจจะลักษณะ นี่คือการวิปัสสนา นี่คือการประพฤติปฏิบัติจิต

แต่ถ้าจิตใจของเรามันไม่สมบูรณ์ จิตใจไม่สมบูรณ์ เวลาจิตมันสงบมันไปรู้เห็น นี่มันส่งออก การส่งออก ถ้ามันส่งออก มันส่งออกไปแล้วมันไปรู้ไปเห็นสิ่งใด

เวลาบอกว่าจิตสงบแล้วจะเห็นแสงสว่าง เห็นต่างๆ

อันนั้นเป็นวาสนาของคน ถ้าจิตมันสงบแล้วเห็นแสง เห็นแสงเพราะนั่นไปรู้แสง แต่ถ้าเอาจริงแล้วมันต้องกลับมาที่ความสงบของใจ ถ้าใจสงบระงับมากขึ้น แสงนั้นมันคือสิ่งที่จิตมันไปรู้ แล้วกลับมาที่ความสงบนี้

ถ้าจิตมันสงบแล้วมันสว่าง สว่างทั้งตัวของจิตสว่างด้วย อันนั้นมันเป็นผล ผลที่มันเป็นจริตอย่างนั้น ถ้าจริตอย่างนั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไง

ฉะนั้น คำว่า “แสงสว่าง แสงมันจ้าๆ” แล้วพอมันจ้าแล้วมันกะพริบๆ กะพริบด้วย มันแว็บๆ แว็บๆ

มันไปเสริมข้อแรก เพราะข้อแรกมันเป็นแบบนั้นแล้วใช่ไหม พอข้อที่ ๒. มันเป็นซ้ำแต่มันเป็นอีกแนวทางหนึ่ง นี่เวลามันออกรับรู้ข้างนอกมันเป็นอย่างนี้

เริ่มต้นที่ว่ามีมีดเย็นๆ เหมือนเชือดคอ เห็นภาพคอตัวเองขาดไป

นั่นก็เป็นนิมิตอันหนึ่ง

แล้วพอจิตมันนั่งไปมีแสงจ้ามันค้างอยู่โดยปกติ

แสงจ้าที่ค้างอยู่ปกตินี่ไม่ใช่แล้ว เพราะเวลาจิตมันสงบระงับมันถึงเห็น เวลาจิตมันกลับมาเป็นปกติแล้วมันก็เป็นปกติธรรมดา มันจะมาค้างอยู่ที่ไหน

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันค้างอยู่เป็นปกติ แสดงว่ามันผิดปกติ

เวลาจิตมันสงบ เห็นแสงก็เห็นแสง เวลาถอนออกมาแล้วก็จบ เวลาจิตมันถอนออกมามันก็ไม่เห็นแสงของมันแล้ว เพราะออกมาเป็นปกติไง

เวลาในการประพฤติปฏิบัตินะ ในการศึกษา โปฐิละ โปฐิละใบลานเปล่าๆ เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาโดยการท่องจำ เวลาท่องจำแล้วพระพุทธเจ้าบอกว่านี่ใบลานเปล่า เพราะมันมีการศึกษา ศึกษามาจากการท่องจำ แล้วเป็นความจริงมันไม่มีในใจ

ทีนี้เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะประพฤติปฏิบัติมาให้เพื่อเป็นความจริงในใจ ถ้าเพื่อความจริงในใจ สิ่งที่ศึกษามาอยู่ข้างนอก ไอ้ที่แสงต่างๆ มันอยู่ข้างนอก

แต่จริงๆ แล้วถ้าตัวใจมันสงบแล้ว แสงนั้นมันจะไม่เข้ามารบกวนใจนี้ ถ้ามันทำเป็นสัมมาทิฏฐิความถูกต้องดีงาม

แต่ถ้ามันทำมาแล้วโดยความที่พลั้งเผลอ โดยความที่เราไม่เข้าใจ มันจะเห็นแสงบ้าง เห็นอะไรบ้าง นั่นก็เห็น แต่เห็นอย่างนั้น ถ้าคนที่เขาเป็นนะ เขาไม่ต้องการแสง เขาต้องการจิตที่สงบแล้วจิตยกขึ้นสู่วิปัสสนา จิตฝึกหัดใช้ปัญญา จิตฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาในอะไร

ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ ปัญญาในการพิจารณากาย ปัญญาในการพิจารณาเวทนา ปัญญาในการพิจารณาจิต ปัญญาในการพิจารณาธรรม การใช้ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาจะชำระล้างกิเลส ปัญญาในพระพุทธศาสนา

แต่การที่เห็นกันอยู่นี้มันเห็นโดยสามัญสำนึกของโลก ถ้าเป็นสามัญสำนึกของโลกเขาเรียกอภิญญา

อภิญญาก็รู้เรื่องโลกๆ นี่ไง มันไม่ใช่เรื่องอริยสัจนะ มันไม่ใช่เรื่องในศาสนา ถ้ามันไม่ใช่เรื่องในพระพุทธศาสนาแล้วเราปฏิบัติไปๆ เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เราปรารถนาปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติในการวิปัสสนา แต่ความจริงแล้วมันปฏิบัติโดยทางโลกไง แล้วทางโลกถ้ามันเป็นปกติมันก็หลงอยู่ในโลกไง ถ้ามันผิดปกติขึ้นไปมันก็จะทำให้เราออกนอกลู่นอกทางไป

นี่พูดถึง คำว่า “แสงจ้าหรือแสงไม่จ้า”

ถ้ามันค้างอยู่นี่ เราวางหมด เวลาปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลานนะ เราเริ่มต้นใหม่ เวลาปฏิบัติแล้วมันดีขึ้น เวลาจิตมันเสื่อม เราก็ต้องพยายามฟื้นฟูขึ้นมา ฟื้นฟูขึ้นมาให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ให้เป็นความเป็นปกติของเรา ถ้ามันผิดปกติต้องทำอย่างนี้

ฉะนั้น ทั้ง ๒ ข้อ ฉะนั้น เขาบอกว่า เขาขอบคุณมาข้อหนึ่งว่า “พุทโธได้ดี”

เวลาบอกพุทโธ พุทโธนี้สำคัญมาก พุทโธได้ดี เวลาเราจะทำสิ่งใดเรายึดพุทโธไว้ ถ้ายึดพุทโธไว้ จิตมันอยู่กับพุทโธ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรายืนยันตลอดนะกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติว่า กอดพุทโธไว้จะไม่เสียหาย กอดพระพุทธเจ้าไว้

พระพุทธเจ้ากอดไม่ได้ พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วสองพันกว่าปี เราจะไปกอดพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

แต่พุทธานุสติ ถ้าพุทธานุสติ จิตเราระลึกพุทโธอยู่นี่ เหมือนกับเรากอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ กอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ เหมือนกับพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็เอาหัวใจเราอยู่กับใจของเราโดยความมั่นคงของเราไว้ มันจะไม่เสียหาย

ฉะนั้น คนที่ผิดปกติ คนภาวนาแล้วมีอุปสรรค เราจะบอกว่า พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ

เพราะเราเชื่อหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นบอกว่า อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

แล้วถ้าอย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ มันก็จะดีขึ้น มันก็จะแบบว่าให้เราปลอดภัย ให้เราไม่โดนใครชักนำไปทางอื่น ไม่ให้ชักนำไปนอกลู่นอกทางไง

ฉะนั้น เขาบอกว่ามันดีขึ้น พอดีขึ้นแล้ว เขาปฏิบัติไปแล้วก็เลยเกิดความสะกิดใจอยากมีเรื่องจะถามข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. นี้มา

ถ้าข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. ขึ้นมา ถ้าไม่ผิดปกติ อยู่กับพุทโธมันจะดีขึ้น อยู่กับพุทโธ สิ่งต่างๆ จะหายไปหมดนะ

แล้วอย่างที่ว่า มีดเชือดคอ หรือว่าคอขาดไป หรือแสงต่างๆ

วางให้หมดเลย เพราะเราปฏิบัติเพื่อไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติเพื่อผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราปฏิบัติเพื่อหัวใจของเรา เราเป็นชาวพุทธ เราต้องการไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เราอยากจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งของเรา

เราไม่ต้องการใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเราไม่ต้องการใดๆ ทั้งสิ้น พยายามพุทโธชัดๆ พุทโธไว้ แล้วอย่างที่ว่ามานี่ให้วางให้หมด

เพราะคำถามมันเฉียดๆ ไปในทางจะเสีย มันเฉียดๆ ไปในทางส่งออก

ฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ผิดปกติ ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันสติสัมปชัญญะที่มันไม่สมบูรณ์หรือมันขาดแคลนอย่างไร ต้องวางนะ แล้วกลับมาทำให้เป็นปกติ แล้วจะไม่มีเรื่องกระทบกระเทือน ปฏิบัติแล้วจะไม่เสียหาย เอวัง