ศีลต้องรักษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ควรทำความจริงหรือทำตามนายสั่ง”
การประเมินผลงานขึ้นเงินเดือนต้องมีการกรอกชั่วโมงภาระงาน ซึ่งเราตั้งใจใส่ตามจริง เช่น นาย ก. ทำครึ่งชั่วโมง แต่เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ท่านอื่นที่ภาระงานน้อยเสนอหัวหน้าว่า ใส่ชั่วโมงภาระงาน ก. ตามเอกสารที่เขียนไว้คือ ๒ ชั่วโมง (ซึ่งรู้กันอยู่ว่าความจริงทำกันแค่ครึ่งชั่วโมง) แล้วหัวหน้าเห็นด้วย แถมสั่งลงมาว่า จากนี้ไปให้ทุกคนเขียนเอกสาร นาย ก. ไว้เป็น ๓ ชั่วโมง แล้วเวลาทำประเมินให้กรอกข้อมูลภาระงาน ก. เป็น ๓ ชั่วโมง
หนูรู้สึกมันเป็นการโกหก โกงเวลา รวมทั้งทำผิดศีลข้อ ๔ แต่ถ้าเราไม่ทำตามก็จะเกิดความขัดแย้งกับผู้ร่วมงานและหัวหน้า ถูกเพ่งเล็ง เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยไปคัดค้านหัวหน้าเรื่องการทำอะไรไม่ตามจริง เช่น แปลงบิลใบเสร็จ
อึดอัดใจค่ะ ครั้งนี้ลูกควรทำอย่างไรคะ ทำตามจริงหรือทำตามหัวหน้าสั่ง หรือมีอุบายวางใจอย่างไรคะ ชีวิตทางโลกนี้มันทำให้รักษาศีลให้เป๊ะๆ ยากจริงๆ เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่คอยเตือนให้สติ
ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามเหมือนไม่มีอะไรนะ แต่มี คำถามถึงว่าการรักษาศีล ๕
รักษาศีล ๕ ถ้าการรักษาศีล ดูสิ ในสังคมไทยๆ รัฐบาลทุกรัฐบาลอยากให้ประชาชนมีศีลมีธรรม ถ้ามีศีลมีธรรมขึ้นมา การปกครองมันก็จะสะดวกขึ้นมา ถ้ามีศีลมีธรรมขึ้นมาแล้วสังคมร่มเย็นเป็นสุข มันก็เป็นคุณงามความดี นี่ทุกคนอยากให้มีศีลมีธรรม
เวลามีศีลมีธรรมขึ้นมาอยู่ในสังคมไง เวลาไปตามงานวัด ไปตามงานพิธี เดี๋ยวๆ ก็ขอศีล เดี๋ยวๆ ก็ขอศีล ขออยู่นั่นน่ะ แล้วขอศีลแล้ว หลวงตาบอก ขอศีล ๕ แล้วได้ศูนย์
ขอแล้วไม่ปฏิบัติไง ขอกันเป็นพิธี ทำกันเป็นพิธี
แล้วสังคมเริ่มต้นเวลาประชุมกัน เขาประชุมเสร็จแล้วก็เก็บไว้ในลิ้นชัก เวลาทำอะไรก็ทำแค่พิธี พอเปิดงานเสร็จ ทำพิธีเสร็จก็จบ ไม่ทำอะไรกันเลย
นี่ก็เหมือนกัน สังคมไทยๆ ไง ถ้าสังคมไทยเป็นแบบนั้น พอเป็นพิธี ทำเป็นพิธีกัน มันง่ายน่ะ ทำงานที่ปากมันทำง่ายทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาทำจริงๆ ขึ้นมามันยาก
ฉะนั้น การรักษาศีลๆ ทุกคนมาบ่น มาปรับทุกข์ทั้งนั้นน่ะ การรักษาศีล ดูสิ ในทางทำการค้าเขาบอกว่า ถ้าเรารักษาศีลแล้ว เราค้าขายมันจะไม่สะดวก เราทำอะไรไม่สะดวกไปทั้งนั้นน่ะ
กรณีนี้หลวงปู่ฝั้น เวลาบอกว่า เวลาพวกข้าราชการเขาบอกว่าเขาต้องดื่มสุรา เพราะดื่มสุราเพื่อเป็นการเข้าสังคมๆ
ท่านถามกลับนะ เราไม่เคยกินเหล้าแม้แต่หยดเดียวเลย หลวงปู่ฝั้นน่ะ ศาลานี่ โอ้โฮ! คนเอี๊ยดเลย วัดหลวงปู่ฝั้นคนแน่นเอี๊ยดๆ เลย ท่านไม่เคยกินเหล้าสักหยดหนึ่ง
ไอ้พวกเรามันคิดกันไปเองไง มันก็เลยเป็นค่าสังคมไง ต้องเข้าสังคมๆ ถ้าไม่ดื่มสุราแล้วจะไม่มีเพื่อน ไม่ดื่มสุราแล้วจะไม่มีคนคบ
ไอ้การคบๆ มันคบแบบคนอ่อนแอไง เวลาคนอ่อนแอ ในปัจจุบันนี้ในทางราชการเขาพยายามสอนเด็ก ยาเสพติดอย่าเข้าใกล้ ยาเสพติดอย่าเข้าใกล้ เพราะเด็กมันเข้าไปในหมู่แล้ว ถ้าไม่เสพมันมา มันคบหมู่ไม่ได้ไง มันต้องเสพยาเสพติดๆ
แล้วเขาจะบอกเลย หนึ่ง ต้องตั้งสติไว้ ไม่ทำตามเขา ไม่ทำตามเขา
นี่ก็เหมือนกัน ดื่มสุราๆ มี มีเยอะมากที่ว่าคนที่ไม่ดื่มสุรา มีมาก แล้วถ้ามีมาก เขาอยู่ในกระแสสังคมเหมือนกัน แล้วก็โดนบีบคั้นเหมือนกัน ถ้าโดนบีบคั้นเหมือนกัน แต่เรามีหลักของเราไง
มีหลักของเรา เราเชื่อปากพระพุทธเจ้า เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้รักษาศีล ทาน ศีล ภาวนา ทาน ศีล ภาวนา
แต่สังคมเราเวลาพูดถึงคุณงามความดี เวลาขอความดีกันสองขั้นสามขั้น แย่งชิงกันความดีเลย แต่เวลาจริงๆ ขึ้นมาแล้วไม่ได้ทำสิ่งใดเลย นี่ก็เหมือนกัน รักษาศีลๆ รักษากันที่ปาก
ฉะนั้น เราบอกว่า สิ่งที่รักษากันที่ปาก แล้วเราอยู่ในสังคมไง การรักษาศีล การรักษาศีลเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐมาก แต่มันเป็นการทวนกระแส เป็นการทวนกระแสโลก แล้วทวนกระแสโลก
ถ้าทำตามๆ กันไปแล้ว อะลุ่มอล่วยกันไป แล้วก็หยำเปกันไปอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าทางโลกนะ มือถือสาก ปากถือศีลกันอยู่อย่างนั้นน่ะ มือถือสาก ปากถือศีล แล้วเวลามือถือสาก ปากถือศีล แล้วเวลาเราอยู่ในสังคม
ที่เอามาพูดเพราะว่าเป็นปัญหาโลกแตก แล้วเจอทุกคน เจอทุกคนเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นทัศนคติ ทัศนคติ เราอยู่ในสังคม สังคมที่เข้มแข็งที่เราไปเจอหัวหน้าที่ดีนะ หัวหน้าที่ดีเขาพยายามทำให้ดีเลย
ถ้าเราไปเจอหัวหน้าที่ว่าเห็นแก่ตัว หัวหน้าที่เอาตัวรอด แล้วไม่เอาตัวรอดธรรมดานะ เวลาถ้ามีความผิดขึ้นมาโยนให้ลูกน้องเลย โยนให้คนอื่นหมดน่ะ ตัวเองขาวสะอาดบริสุทธิ์ แต่เวลาจริงๆ แล้วตัวเองก็จะเอาผลประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราเจอหัวหน้าอย่างนี้มันก็เป็นกรรมของสัตว์ มันเป็นกรรมของสัตว์นะ
เวลาทางโลก เวลาทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีต้องทวนกระแสทั้งนั้นน่ะ แล้วต้องทวนกระแส แล้วเวลาจะถือศีลๆ เวลาพูดกัน ทุกคนว่าดีทั้งนั้นน่ะ ทุกคนก็เห็นคุณงามความดีทั้งนั้นน่ะ แต่ทำกันไม่ได้ แล้วถ้าใครทำได้ขึ้นมามันมีแรงเสียดสีแล้ว ถ้าแรงเสียดสี ทางโลกเราก็ต้องอดทน นี่การรักษาศีล
๑. การรักษาศีล เราต้องรักษาศีลในตัวเรา
๒. เราอยู่ในสังคมขึ้นมามันจะมีปัญหากระทบกระเทือนกันไปทั้งนั้นน่ะ
ถ้ามันมีปัญหากระทบกระเทือนกัน เพราะคนมันมีหยาบมีละเอียด เวลาที่หยาบๆ นะ เขาก็ว่าเราอวดดี ไอ้ที่ละเอียดก็บอกว่าเราซุ่มซ่าม ไอ้เราทำตัวไม่ถูกเลย แต่ถ้ามันจริงแล้วมันต้องเป็นที่ตัวเรา แล้วมันอยู่ที่ภาวะของสังคม
สังคม เวลากระแสสังคมมันขึ้นน่ะ เวลากระแสสังคม เวลาวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา กลางสนามหลวง นุ่งขาวห่มขาวนั่งสมาธิภาวนากัน ถ้ากระแสมันขึ้นนะ เวลาคนตั้งใจทำ ถ้าทำอย่างนั้นน่ะเราทำด้วยความสะดวก
แต่ถ้าเราทำเวลากระแสมันลง เขาเห็นแก่ตัวกัน เราไปทำอย่างนั้นนะ ดูเวลาเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยากแล้วเราจะไปช่วย คนเขามองเราแปลกๆ นะ เวลาจะไปช่วยแล้วเราก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันว่ามันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
นี่พูดถึงว่าการรักษาศีล เราจะยกตัวอย่างนะ ยกตัวอย่าง ศีล ในศีลนะ ภิกษุห้ามบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร เกิน ๓ บาตรนะ เพราะว่าเกินกว่านั้นไปมันใช้ไม่หมดหรอก มันแบบว่าฉันไม่หมดหรอก เก็บไว้มันก็เสียหายไง ห้ามเกิน ๓ บาตร
เวลาวันในพรรษามันมีธุดงค์ใช่ไหม เพราะธุดงค์ หลวงตาท่านพูดเอง ถ้าใครอยู่กับครูบาอาจารย์มา เราฟัง ฟังถึงเหตุผลของท่าน ท่านบอกเลย ธุดงควัตรมันเป็นการขัดเกลากิเลส
การขัดเกลาไง คือว่าเราอยู่สะดวกสบาย เราจะต้องการสิ่งใดก็ได้ตามแต่ความสะดวกของเราตลอดเวลา เวลาเข้าพรรษาแล้ว เวลาเข้าพรรษาพระเขาจะได้เข้มงวดกับการปฏิบัติ เขาก็ให้ถือธุดงควัตรเพื่อไม่ให้มันได้ดั่งใจไง บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ภาชนะเดียวเป็นวัตร สิ่งต่างๆ ให้ถือธุดงค์ๆ ท่านบอกว่ามันเป็นการขัดเกลากิเลส
เขาว่าธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ถ้าเครื่องขัดเกลากิเลสนะ แต่เวลาเราจะฆ่ากิเลส เราจะต้องฆ่ากิเลสด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาของเรา
ไอ้นี่มันเป็นศีลในศีล มันเป็นการให้เราตื่นตัว ให้เราไม่ต้องพะรุงพะรัง นี่มันเป็นเครื่องขัดเกลาๆ แล้วถ้าพระเราไม่ทำ ต่อไปก็ปล่อยปละละเลย แล้วถ้าไม่ทำ ต่อไปมันก็มีเฉพาะในตำรา พอมีแต่ในตำรา ต่อไปอนาคตนะ เด็กๆ มันไม่เข้าใจ มันก็จะต้องไปวินิจฉัยกันวุ่นวาย
ท่านถึงบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านพาทำมา หลวงปู่มั่นท่านพาทำตลอดชีวิตนะ แล้วที่วัดป่าบ้านตาด เวลาท่านก็จะธุดงค์เฉพาะในเข้าพรรษา แต่ท่านให้สิทธิ์พระนะ พระองค์ไหนก็แล้วแต่จะธุดงค์ได้ตลอดเวลา แต่ในเข้าพรรษาทั้งวัดต้องถือธุดงค์หมด เพราะท่านเห็นโทษของความมักง่าย ความอ่อนแอของพระ
เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า ก่อนเข้าพรรษา พระอธิษฐานธุดงค์เกือบทั้งนั้นเลย แต่พอไปกลางๆ พรรษาหายไปบ้างทีละองค์สององค์ สุดท้ายนะ เหลือท่านกับหลวงปู่หล้า
นี่ท่านเห็นความอ่อนแอของพระ ท่านถึงเห็นว่ามันต้องเข้มข้นมากขึ้น ท่านถึงบอกว่า ถ้าเป็นลูกศิษย์ของท่าน ต้องถือธุดงค์ ต้องถือธุดงค์
การถือธุดงค์ เราถือธุดงค์เพราะเราเห็นโทษของมันไง เห็นโทษของความอุดมสมบูรณ์ เห็นโทษของการนอนจมอยู่กับการดูแลของฆราวาสเขา นี่เราจะถือธุดงค์ของเรา ถ้าใครเห็นโทษ มันทำด้วยความแช่มชื่น มันทำด้วยหัวใจไง มันทำขึ้นมามันเป็นประโยชน์ เห็นไหม ขัดเกลากิเลสๆ
ฉะนั้น เวลาท่านแนะนำมา เราก็ทำตามกันมา ทำตามกันมา
ให้เห็นว่า หนึ่ง มันมีอยู่ในทฤษฎี มันมีอยู่ในตำรา อยู่ในธรรมวินัย แล้วก็มีผู้ที่ปฏิบัติให้เห็นๆ ไง แล้วพอทำขึ้นมา ยกตัวอย่างขึ้นมาในพรรษา ตอนมาใหม่ๆ เราก็บิณฑบาตเราปกตินะ เวลาเข้าพรรษาถือธุดงค์ แล้วพอมีโยมมาจากสุพรรณบุรีเขามาขอขมาทีหลัง เขาบอกว่าเขามาเห็นเราบิณฑบาต เขาบอกว่าเขาอึดอัดมาก พระอะไรโลภมาก อู๋ย! บิณฑบาตพะรุงพะรังไปหมดเลย เพราะมันต้องถ่าย
จะว่าเวลาธุดงค์นะ เป็นร้อยบาตรต่อวันน่ะ เขาบอกว่าทำไมพระมันโลภมากขนาดนี้ ทำไมพระมันเห็นแก่ตัวขนาดนี้ เขาอึดอัดมากเลยนะ แล้วพอเขาอึดอัดแล้วเขาก็เดินตามเราตลอด เขาคอยสังเกตว่าบิณฑบาตแล้วเอาไปไหน ในเมื่อฉันก็ฉันอิ่มเดียวเท่านั้นน่ะ
สุดท้ายพอมาแล้วก็มาจัดบาตร พอจัดบาตรเราก็แค่ในบาตร สิ่งที่เหลือทั้งหมด นู่น อยู่บนโต๊ะ บนโต๊ะเพราะอะไร ก็โยมมาวัด โยมก็ได้ถวายทาน พระเทศนาว่าการเสร็จแล้วโยมก็ได้ทานอาหาร สิ่งที่ทานอาหารเสร็จแล้วก็ให้คนงาน คนงานเสร็จแล้วเราก็แจกชาวบ้าน
เขามาขอขมานะ เขามาขอขมาเลยบอกว่า ทีแรกผมเห็นหลวงพ่อทำนะ ผมอึดอัดมากเลย พระอะไรทำไมโลภมากขนาดนั้น เพราะพระจะสอนให้มักน้อยสันโดษ ธุดงควัตรก็เพื่อความไม่ได้ดั่งใจ ได้ของที่ตกบาตร ได้แต่ของเล็กน้อยเท่านั้น ทำไมบิณฑบาตจนขนาดนั้น
ฉะนั้น เราจะย้อนตรงนี้ไงว่า ถ้าถือศีลๆ เวลาเราศึกษามา ศีลก็บังคับไว้อย่างนั้น แล้วเวลาทำขึ้นไปมันท่วมท้นน่ะ มันท่วมท้น ความท่วมท้น พระให้ถ่ายบาตรได้ ๓ หน แล้วเรานี่เป็นร้อย แสดงว่าเวลาสอนชาวบ้านอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงว่าถ้าคนเถรตรงนะ
แต่ทีนี้พอเขาเห็นว่าสิ่งที่บิณฑบาตมาแล้วมันใช้ประโยชน์ทั้งหมด มันไม่มีการสะสม ตั้งแต่พระจัดใส่บาตรก็เฉพาะพระท่านฉันพอมื้อหนึ่ง สิ่งที่เหลือแล้วก็ประชาชนทั้งนั้น พอประชาชนทานข้าวเสร็จแล้วก็ให้คนงานในวัด สุดท้ายแล้วก็แจกชาวบ้านข้างนอก จบ
เขาพูดเองนะ ข้าวเม็ดหนึ่งก็ไม่เคยทิ้งเสียเลย บิณฑบาตมา ข้าวแม้แต่เม็ดเดียวไม่ทิ้งเสียเลย พอเขาเห็นแล้วเขามาขอขมา
อันนี้เราจะบอกว่า ถ้าเรามองเฉพาะศีล เราไม่ได้มองธรรม ถ้ามองธรรมขึ้นมานะ ถ้าบิณฑบาต ๓ บาตร ๓ บาตร เราก็บิณเฉพาะ ๓ บาตรแรก แล้วที่เหลือไม่รับบาตร แล้วประชาชนที่เขามาทำบุญเขาจะคิดอย่างไร
แล้วกรณีนี้อยู่ที่บ้านตาดนะ เวลาบ้านตาด เวลาแจกอาหารจะมีถาดอยู่ พระข้างหน้า มีถาดอยู่คนละใบ เพราะว่าถึงเวลาแล้วพระต้องจัดอาหารใส่บาตรให้พระองค์อื่นให้แก่หมู่คณะ แล้วถ้ามันเป็นของแห้งก็ไว้ที่ถาด นี่เพื่อความกระชับ เพื่อความฉับไว เพื่อไม่ให้อุ้ยอ้าย เพื่อไม่ให้เสียเวลา
แจกๆๆ พอแจกเสร็จแล้วท่านก็ตักไปใส่ถ้วย ใส่ถ้วยไว้เป็นสำรับๆ ไว้ให้กับประชาชน เพราะให้ประชาชนตักเองมันก็มีเขามีเรา ท่านทำด้วยความเสมอภาคหมดเลยนะ แต่มันก็กินเวลา เห็นไหม
แต่ของเรา เราไม่ทำอย่างนั้น ของเราพระตักใส่บาตร ที่เหลือก็ไว้เป็นส่วนกลาง ส่วนกลางแล้วก็ให้หยิบกันเอง ให้หากันเอง ถ้าที่เหลือแบ่งๆ กันไป
นี่พูดถึงเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมๆ มันเป็นธรรม หมายความว่า มันมีเรา มีเขา มีประชาชน มีพระ มีภิกษุ มีคณะศรัทธา คณะศรัทธาเขามาแล้ว ความเสมอภาคของเขา เขาตั้งใจของเขา นี่เป็นธรรม มันเป็นธรรมมันก็มีการขัดแย้งอย่างนั้น
ทีนี้ย้อนกลับมาถึงว่าการถือศีล เขาถามไง เขาถามว่ารักษาศีล ๕ อยู่ทางโลกจะให้รักษาศีลเป๊ะๆ มันยากจริงๆ มันยากจริงๆ
มันยากจริงๆ ก็เข้ามาตรงนี้ไง เข้ามาว่า เราต้องรักษาศีลของเรา เราต้องรักษาศีลของเรา ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรา เป็นสมบัติของเรา แต่เราอยู่กับโลก เราอยู่กับโลก เราก็ต้องดูทิศทางลมไง ถ้าอยู่กับหมู่คณะที่ดี อยู่กับเพื่อนที่ดี ถ้ามีเป้าหมายเดียวกัน อยู่ก็อยู่ด้วยความสุขสมบูรณ์ ถ้าอยู่แล้วเป้าหมายแตกต่างกัน
แม้แต่ทางศาสนานะ ทางศาสนาถ้ามีทิฏฐิมีความเห็นแตกต่างกัน พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งสันติภาพ ศาสนาแห่งเสรีภาพ ไม่มีการทำร้ายกัน ลัทธิศาสนาอื่นคนละนิกายเข่นฆ่ากันมาเพราะอะไร ในศาสนาเดียวกัน แล้วถ้ามีความเห็นขัดแย้งกันนะ มันร้าวลึกแล้วมันทำลายกันทั้งนั้นเลยนะ แต่พระพุทธศาสนาเรานี้ไม่มี แต่นี้ไม่มี
เราพูดถึงการถือศีลๆ ไง
ถ้าถือศีล บางที่เขาก็ชี้หน้าเลย ไอ้นั่นก็ผิด ไอ้นี่ก็ผิดไง แต่ของเราสิ่งใดนะ ดูสิ เวลาพระเรา หลวงตาท่านไปธุดงค์ เวลาบิณฑบาตมาไม่มีสิ่งใดมาเลย ชาวบ้านเขาเห็นใจมาก เขาอยากให้ เขาก็ไปเอาปลาร้า ตำปลาร้ามาให้ แต่ปลาร้านั้นมันตำปลาร้าดิบ เพราะปลาร้าเอามาไม่ได้ย่างไฟก่อน เขาให้มาก็เอาน้ำใจเขา เขาใส่มาแล้วเขาชื่นใจนะ โอ้โฮ! เขาอุตส่าห์ได้ใส่ให้พระได้ไปขบฉัน
แต่เวลาท่านไปถึงที่พัก ท่านบอกว่ามันฉันไม่ได้ เอาน้ำใจคน บิณฑบาตให้เขาได้ชื่นใจ แต่เสร็จแล้วนะ ปลาร้านั้นก็ไปไว้บนแง่ไม้ ไปให้ทานกับสัตว์ ตัวเองก็ฉันข้าวเปล่าไปเหมือนเดิม นี่เอาน้ำใจเขา เอาน้ำใจเขา
แล้วก็ย้อนกลับมาการถือศีลเรานี่ เขามีความขัดแย้งกัน เขาจะมีการโต้แย้งสิ่งใด มันจะผิดหรือมันจะถูก เรามีจุดยืนของเรา เรารู้ว่ามันผิดมันถูก
แต่ลัทธิ คำว่า “ลัทธิ” นะ ในการประพฤติปฏิบัติ ในชุมชน ในการปฏิบัติ ดูในการปฏิบัติมันยังมีแตกต่างหลากหลาย ในมุมมอง ศีลมีอันเดียว ไม่มีแตกต่างหลากหลาย แต่มุมมอง มุมมองที่เขาว่าอันนั้นผิด อันนั้นเกินไป อันนั้นเป็นมุมมองของเขา
แต่ถ้าเราไม่ได้รักษาศีลแล้วเราปล่อยให้กิเลสมันฟูขึ้น ทำสิ่งใดก็ได้ตามแต่ความพอใจของตน กับเรามีศีล มีกรอบ มีขอบเขต นี่มันเป็นประโยชน์กับเรา
ถ้ามันอยู่ในเหตุการณ์ที่มันรุนแรง เราก็ผ่อนปรนไป แต่พอพ้นจากตรงนี้ไป เราก็กลับมาเหมือนเดิมของเรา เราต้องกลับมาเหมือนเดิม นี่คือธรรม ธรรมคือว่าเราจะต้องรักษา ศีลของเรา เราไม่ทิ้งแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทิ้งของเราแน่นอนอยู่แล้ว เราจะรักษาของเรา รักษาของเรา
แต่ถ้ามันมีเหตุ อย่างเช่นเราอยู่ปกติเราก็ปกติธรรมดา น้ำท่วม น้ำท่วมเอ็งจะขับรถฝ่าดำน้ำไปหรือ น้ำท่วมเราก็เอารถไปจอดไว้ที่สูง เราก็ไปเรือ เราก็หลบหลีกเอา นี้พูดถึงว่าเราจะรักษา ในการรักษาศีลของเราให้เรารักษาศีลได้
ถ้าเรารักษาศีลของเรานะ ที่มันจะอึดอัดขัดข้อง ที่มันจะคับแค้นใจ เราเกิดมา เราเกิดมาเจอหัวหน้าแบบนี้ ถ้าหัวหน้าที่ดี หัวหน้าที่ดีนะ ถ้าหัวหน้าที่ดี แล้วพูดถึงเวลาเราประพฤติปฏิบัติก็เป็นอย่างนี้
เราจะบอกว่า ในวงการของสงฆ์ ในวงการของพระนะ พระบวชใหม่ พระบวชใหม่ไม่เข้าใจสิ่งใดเลย เวลาศึกษาแล้วมุมมองของเขา เหมือนนักศึกษาจบใหม่ๆ ไฟแรงมาก เวลาทำงานนี่ไฟแรงมากเลย พอเข้าไปในองค์กรใดก็แล้วแต่ เดี๋ยวองค์กรนั้นมันกลืนหายหมดเลย
พระบวชใหม่ๆ ก็เหมือนกัน ออกมานี่ไฟแรงมาก ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้นเลย แต่เวลาอยู่ไปๆ มันมีประสบการณ์ไง
ที่พูดนี้เราจะบอกว่า ผู้ถามเวลาถามบอกว่า หัวหน้า เคยขัดแย้งกับหัวหน้า เคยเข้าไปต่อว่าหัวหน้า ไปปรึกษาหัวหน้า
นี่คือประสบการณ์ของเราแล้วนะ ต่อไปถ้าเราทำงานอยู่ เราจะต้องเติบโตขึ้นไป ถ้าเราจะเติบโตขึ้นไป เราจะปกครองดูแลลูกน้องอย่างไร
เวลาทัศนคติจะแบบว่าขีดเส้นให้เดินอย่างนั้นน่ะ การทำงานมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เวลาการทำงานนะ แต่ต้องซื่อสัตย์ ต้องเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรานะ นี่เป็นความจริงของเรา ถ้าเราทำได้อย่างนั้นมันจะเกิดบารมี
ดูสิ หัวหน้าที่ดีเวลาเขาเกษียณ เวลาเขาพ้นจากงานไป โอ้โฮ! ลูกน้องน้ำตาไหลคิดถึงเลย แล้วรู้เลยว่าไอ้ผู้มาใหม่นี่ระวังให้ดีเลย ทุกข์แน่ๆ เลย
ฉะนั้น เราจะบอกว่า การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ทุกอย่างมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่มันมีเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับเปลี่ยนแปลงที่เลวลง ถ้ามันเปลี่ยนแปลงที่เลวลง มันถึงเวลาของมัน ถ้ามันเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราก็ได้สร้างบุญสร้างกุศลมา ได้หัวหน้าที่ดี
นี่พูดถึงว่าการจะรักษาศีล
เพราะเราฟังตลอด เราฟังนะ มีคนมาปรับทุกข์เรื่องการรักษาศีล มันจะรักษาได้หรือไม่ได้ รักษาได้อย่างไร แต่ในความเห็นเรานะ ต้องรักษาศีลของเรา
แต่นี้อยู่ในสังคม สังคมในองค์กรต่างๆ ตอนนี้เขานิมนต์พระไปแสดงธรรม นิมนต์พระไปอบรมทั้งนั้นน่ะ เขาต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพ เขาต้องการบุคลากรเพื่อให้บริษัทของเขาทำผลงานได้ดี เวลาทำสิ่งใดแล้วมันจะได้ประโยชน์กับเขา
ตอนนี้เขาพยายามจะพัฒนาองค์กรของเขา พัฒนาบุคลากรของเขา แล้วถึงเวลาแล้วเขาก็นิมนต์พระๆ ถ้าเป็นทางโลกเขาก็เชิญนักวิชาการมาอบรมของเขาเพื่อบุคลากรของเขา นี่พูดถึงถ้าเป็นองค์กรเอกชนนะ เขาก็รักษาของเขา ในทางราชการก็เหมือนกัน ในทางราชการเขาก็พยายามจะพัฒนาทั้งนั้นน่ะ
แล้วตอนนี้สมัยนี้โลกเขาแข่งขันด้วยทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรมนุษย์ที่ฉลาด ทรัพยากรที่มีคุณภาพ ชาติจะเจริญ ถ้าชาติเจริญนะ ถ้าชาติเจริญแล้วเราก็เป็นบุคลากรหนึ่ง
จะเข้าสู่คำถาม “ในการประเมินผลงานขึ้นเงินเดือนต้องมีการกรอกเวลาชั่วโมง” ถ้าธรรมดาทุกคนก็รู้ เวลาเขาบอกว่า “เวลาทำงานจริงแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ในเอกสารเขียนมา ๒ ชั่วโมง”
เอกสารนั้นมันผิดมาแล้ว ถ้าเรามีหน้าที่ ถ้าเรามีอำนาจจริง เราก็ทำให้มันถูกต้องได้ แต่เราไม่มีอำนาจจริง เราแค่เป็นบุคลากรที่จะต้องรับผิดชอบเป็นเนื้องานขึ้นไป เรารับผิดชอบไม่ได้ ฉะนั้น ถ้ารับผิดชอบไม่ได้ขึ้นมา อย่างนี้ถือว่ามันผิดไหม
ถ้าเป็นของเรา เราก็รู้ว่ามันผิด แต่ถ้าเราจะทำให้มันถูก มันขัดแย้งกันไปหมดน่ะ ถ้ามันขัดแย้ง นี่เหมือนกัน หลวงตาท่านสอน ท่านบอกเลยนะ สิ่งที่หายากคือเงิน เงินทองนี้หายากมาก แต่มันก็มีอยู่ทั่วไป เงินทองมีอยู่ทั่วไป ทองมีอยู่ในมือในคอของคนเยอะแยะไป แต่ครูบาอาจารย์ที่ดี
ครูบาอาจารย์ที่ดี มันก็เปรียบเหมือนหัวหน้านี่แหละ ในวัดหนึ่งเจ้าอาวาสที่ดี หลวงตาท่านออกประพฤติปฏิบัติท่านพุ่งเป้าไปที่หลวงปู่มั่นอย่างเดียวเลย แล้วสุดท้ายท่านก็ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ทั้งๆ ที่หลวงปู่มั่นท่านดุมาก ท่านดุมาก ท่านก็พยายามจะรักษาความถูกต้องชอบธรรมนี่ไง แล้วมันจะหาได้อย่างไรล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่เป็นสัจธรรม ธรรมะมันอยู่ที่ใครล่ะ ธรรมะมีอยู่ที่มนุษย์ มนุษย์ก็มีคุณธรรมในใจ ธรรมะมีอยู่ในพระ พระก็มีคุณธรรม ธรรมะมันอยู่ในหัวใจของใครล่ะ แล้วธรรมะมันอยู่ในหัวใจของผู้ที่เป็นหัวหน้าของเรานะ เราก็ชื่นใจ
นี่ไง มันหายากไง เราจะบอกว่า หาคนตรง หาคนดีจริงๆ มันยาก มันหาได้ยาก พอมันหาได้ยากแล้วเราจะบอกว่า แล้วเวลาเรานะ เราโตไปเราจะเป็นหัวหน้า เราต้องมีจุดยืนนะ เราฝึกฝนขึ้นไป แต่นี่คือประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์การทำงานนะ
ฉะนั้นว่า การรักษาศีล ๕ มันแสนยาก หนูรู้สึกว่ามันเป็นการโกหก โกงเวลา รวมทั้งผิดศีลข้อที่ ๔ แต่เราจะไม่ทำตามก็จะเกิดความขัดแย้งกับผู้ร่วมงานและหัวหน้า
เราค้านไว้ในใจ ค้านไว้ในใจ เวลาเป็นธรรม เราธุดงค์ไป ไปเจอวัดหนึ่งเขาทำผิดในการลงอุโบสถ ทีแรกเราก็ด้วยความซื่อ เพราะตอนนั้นบวชใหม่ๆ เราก็บอกว่ามันผิดนะ แต่เขาบอก ก็ว่ากันตามพระไตรปิฎก ว่ากันตามทฤษฎี ก็อ้างกันตามทฤษฎี พออ้างกันตามทฤษฎีทั้งหมด เราถูก เขาผิด
แต่เขาสรุปลงว่า หมู่คณะของเขา คือวัดของเขามันมีหลายวัด แล้วหัวหน้าของเขาทำแบบนี้ สรุปลงโดยที่ว่าหัวหน้าเขาเห็นอย่างนี้ เขาก็เลยทำตามๆ กันมาอย่างนี้ เราก็เลยสาธุ
เพราะถ้าเราขัดแย้ง กับพระด้วยกัน ด้วยเหตุด้วยผล เพราะเราธุดงค์ เราเจอกันมา เราเป็นเพื่อนกัน เรารู้จักกัน เราคุยกันได้ แต่คุยกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยทฤษฎี ด้วยตามทฤษฎียันกันแล้วเราถูก พอเราถูกเสร็จแล้วเขาบอกว่าเขาเคยทำตามๆ กันมาแบบนี้
อ๋อ! แบบว่าพระเขาเป็นสังฆาทิเสส แล้วเขาบอกเขาเก็บวัตร เก็บวัตรเสร็จแล้วเขาเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ไง เขาเป็นผู้สวดด้วย
เราบอก ไม่ได้ เก็บไว้ เก็บไว้เฉยๆ แต่เก็บแล้วเขายังไม่เป็นปกตัตตะภิกษุ เขาไม่เป็นปกติภิกษุเขาจะร่วมอุโบสถไม่ได้ ถ้าเขาร่วมอุโบสถ อุโบสถนั้นจะเป็นโมฆะ เป็นโมฆียะเลย คือเท่ากับไม่มีการกระทำอุโบสถ
แต่ของเขา เขาเก็บปริวาส แล้วเขาถือว่าพอเก็บแล้วเป็นปกติ แล้วเป็นผู้สวดปาฏิโมกข์ด้วย
โอ้โฮ! มันผิดกันชัดๆ อย่างนี้แล้วทำอย่างไรล่ะ แล้วอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้นน่ะ แล้วถ้าไอ้พวกเดียวกันคุยกันมันก็มีใช่ไหม แต่เขาบอกว่าเขาทำตามๆ กันมา อาจารย์เขาทำแบบนั้น เราต้องไปทะเลาะกับอาจารย์เขา หรือเราไปลบล้างอาจารย์เขา
เหมือนกับโยมนี้เลย หัวหน้าคิดอย่างนี้ เราจะไปลบล้างหัวหน้าไง
เราก็เลยบอกว่า อ้าว! เขาเคยทำตามๆ กันมาอย่างไรก็ทำตามนั้น เราก็เลยค้านไว้ในใจ
เพราะเราอ่านพระไตรปิฎกมา ๒-๓ รอบ ในพระไตรปิฎกบอกว่า ถ้าที่ไหนการกระทำนั้นมันไม่ถูกต้องดีงาม แต่เขาเป็นผู้ที่มีอิทธิพล เป็นผู้ที่มีอิทธิพลในกลุ่มของเขา ให้ค้านไว้ในใจว่าเราไม่เห็นด้วย เวรกรรมอันนั้นเราจะได้ไม่เสวยด้วยไง
เพราะมันสายบุญสายกรรมไง การกระทำความผิดร่วมมันก็มีผลในการทำความผิดนั้น แล้วในการกระทำนั้นเขาทำกัน แต่เราค้านไว้ในใจว่าเราไม่เห็นด้วย
แต่ในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้มันเกิดขึ้นที่เขาทำกันอยู่แล้ว แล้วเราอยู่ร่วมในเหตุการณ์ เพราะไปอยู่ในวัดเดียวกันต้องลงอุโบสถพร้อมกันทั้งหมด ขาดองค์ใดองค์หนึ่งไม่ได้ สงฆ์เป็นวรรค ทำกรรมไม่ได้ คือสงฆ์ไม่สามัคคีกันทั้งหมด แม้แต่องค์หนึ่งก็ทำสังฆกรรมนั้นไม่ได้ สังฆกรรมนั้นต้องทำพร้อมกันทั้งหมด
แล้วเวลาทำสังฆกรรมต้องเป็นฉันทามติ ต้องสาธุพร้อมกันทั้งหมด ฉะนั้น ถ้ามันแยกไปองค์เดียวมันก็ทำกรรมไม่ได้ มันจำเป็นต้องลงสังฆกรรม เราก็เลยค้านไว้ในใจ
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่พระสารีบุตรไง วัชชีบุตรเป็นภิกษุที่โหดร้าย เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร แล้วพระไปบิณฑบาตก็มีเหตุการณ์เรื่องปาฏิโมกข์นี่แหละ มาฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เขาลงปาฏิโมกข์แล้ว เขารับเงิน แล้วเขาจะแบ่งให้ ไม่เอา ไปฟ้องพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปบอกให้พระนั้นกระจายออกไปให้หมด ไม่ให้จำพรรษาที่นั่น
เขาบอกว่า โอ๋ย! มันเป็นผู้โหดร้าย
พระพุทธเจ้าบอกให้เอาพระไปด้วย
นี้เวลาเกิดขึ้นมาเป็นชุมชน เป็นชุมชนมันเป็นสถานที่ไป อันนี้ก็เหมือนกัน เราไปเจอเหตุการณ์อย่างนั้น แล้วเราเคยศึกษามาในพระไตรปิฎก แล้วเราก็ทำในใจของเรา แล้วก็ลงอุโบสถร่วมกันมา
นี่ก็เหมือนกัน จะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเรื่องการถือศีลๆ การถือศีลนี่เห็นใจมากนะ เพราะว่าถ้าถือศีลนะ ถ้าเราถือแบบว่าซื่อแบบไม่มีปัญญา จะบอกว่าโง่อย่างนั้นน่ะ ซื่อบื้อไม่มีปัญญา
“ฉันถือศีลนะ ฉันมีศีล ๕ นะ ทำอะไรผิดไม่ได้นะ” เออ! มึงเข้ากับใครไม่ได้แน่ๆ เลย คือซื่อบื้อ “ฉันถือศีลนะ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้นะ” เอ็งอยู่กับสังคมยาก
แต่เราถือศีล เราถือศีลไว้ในใจสิ อะไรผิดอะไรถูกเราก็รู้ของเรา เราไม่ต้องเอาศีลไปวัดใคร เอาศีลอยู่ในหัวใจของเรา
เราเจอ โยมเขามาปรับทุกข์ บอกว่า เขาถือศีล เวลาไปตลาดจะไปซื้ออะไร จะไปซื้อปลา ปลามันก็เป็นหมดใช่ไหม แล้วเขาต้องไปคอยหาปลาที่ตายแล้ว จนชาวบ้านเขารู้ แม่ค้าขายปลาเขารู้นะ พอเห็นยายนี่มานะ เขาทุบหัวปลาไว้ก่อนเลย ดิ้นพราดๆ เลย แล้วเข้าไปซื้อ
ทำไมต้องไปเขียนไว้ว่าเราถือศีลล่ะ ถ้าปลาตายไม่มี มันมีแต่ปลาเป็น เราก็ไก่ที่เขาเชือดแล้วก็มีใช่ไหม เนื้ออย่างอื่นที่เขาเชือดแล้วก็มีใช่ไหม ก็ไปประกาศเขาไง
คนถือศีลใหม่ๆ ก็เป็นแบบนี้ไง กลัวแต่ว่าตัวเองจะผิด แล้วก็จะไปบอกเขานะว่าต้องถือศีลนะ ปลาเป็นเราไม่ซื้อ ซื้อปลาตาย ปลาเป็นตัวหนึ่ง ๕ บาท ปลาตายตัวหนึ่ง ๘ บาท ซื้อปลาตาย พอเอ็งเดินผ่านมา เห็นเดินมาแต่ไกล กูทุบหัวปลาไว้ก่อนเลย แล้วเขาก็มาเล่าให้ฟังว่าเขาก็เห็น พอเขาเห็นแล้วเขาก็บอกว่าเขาก็ไม่สบายใจ
เราก็ย้อนกลับไปว่า เพราะเป็นพฤติกรรมของเขาเอง
แต่ถ้าเราทำ เราไม่ต้องประกาศให้ใครรู้ แล้วไม่ประกาศให้ใครรู้ เราทำของเรานะ ทุกคนที่เขาเห็นเราทำแล้วนะ เขายิ่งยกย่องสรรเสริญนะ เขาเห็นด้วย คนถือศีลทุกคนเห็นด้วยนะ
ทุกคนอยากมีเพื่อนดี ทุกคนอยากมีเจ้านายดี ถ้าเป็นบริษัทอยากมีลูกน้องที่ซื่อสัตย์ ทุกคนต้องการคนดีทั้งนั้นน่ะ แต่การกระทำ การยอมรับที่เขาจะยอมรับเรานี้แสนยาก แต่ถ้าเราทำของเราดีขึ้นๆ เราจะดีของเราขึ้นไปเองไง
ฉะนั้นบอกว่า ถ้าหัวหน้าเขาเป็นแบบนั้น ถ้าเราโตขึ้น เรามีประสบการณ์ขึ้น แล้วเราจะรู้ว่ามันทำอย่างใด นี่พูดถึงว่าการถือศีลนะ
เขาบอกว่า “อึดอัดมาก อยู่ชีวิตทางโลกจะรักษาศีลให้เป๊ะๆ มันยากจริงๆ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น กราบพ่อแม่ครูอาจารย์คอยเตือนสติด้วย”
เราก็รักษาของเรา เราต้องรักษาของเราตลอดไป ถ้ารักษาต่อไป ทำงานอย่างนี้มันต้องเอกสารที่ไม่ถูกต้อง เราทำไปกับเขา เราทำตามเนื้องานไปแล้วเราค้านไว้ในหัวใจของเรา
การรักษาศีล รักษาศีล รักษาศีลมันแสนยาก รักษาศีลเพราะว่ามันเหมือนกับว่ามันมีเรามีเขา พอมีเรามีเขา มันมีการกระทบกระเทือนกัน แต่ถ้ามันไปชุมชนที่มีแนวทางเดียวกัน ทำเหมือนๆ กัน ทำเหมือนๆ กันก็ยังมีการขัดแย้งกัน
การขัดแย้งกันเป็นเรื่องของเขากับเรื่องของเรา เรื่องของเรา เรารักษาของเรา เรื่องของเขา เราก็ชื่นชมเขาถ้าเขาทำคุณงามความดีนะ แต่ถ้ามันไม่ถูกต้อง ค้านไว้ในใจ แล้วรักษาตัวเองให้รอด รักษาตัวเองให้อยู่กับสังคมได้ แล้วเราจะต้องรักษาศีลของเราต่อไป
ศีลกับธรรม ศีลเป็นศีล ธรรมคือไม่สะเทือนเขา ไม่ใช่เอาศีลของเรา เอาคุณงามความดีของเรา แล้วไปทำให้เขาสะเทือนไง
เราทำคุณงามความดีของเรา ถ้าเราทำความดีจริงนะ คนอื่นเขาเห็นเขาก็อยากศึกษา เขาก็อยากทำตามถ้าเรามีความสุขจริง ให้มันมีความสุขของเรา แล้วถ้าเวลาทำไปแล้วมันมีผลกระทบอย่างนี้ มันจะมีบาดแผลบ้าง มีคนเขาติฉินนินทาบ้าง มันไม่มีใครเลยที่ไม่โดนน่ะ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย รักษาศีลแล้วทุกคนจะให้คนยอมรับเลย มันไม่มีอยู่หรอก
เขาเห็นแต่ความดีของเราเท่านั้น ถ้าเขาเห็นความดีของเรา เขาถึงยอมรับความดีของเรา แล้วเขาก็ศึกษาของเขา แล้วเขาจะทำให้เหมือนเรา ถ้าเขาทำได้ นั่นเขาจะทำได้ ถ้าเขายังทำไม่ได้มันก็กรรมของสัตว์
สมบัติของเรา เราต้องรักษา แล้วเราอยู่กับสังคม สังคมเป็นแบบนั้นก็เป็นแบบนั้น นี่คือการรักษาศีล มันยาก แต่ก็ต้องทำ จบ
ถาม : เรื่อง “ขอหนังสือธรรมะของพระอาจารย์สงบ”
ผมขออนุญาตขอหนังสือธรรมะของพระอาจารย์สงบ เล่มเล็ก ๑๕ เล่ม เล่มใหญ่ ๑๐ เล่มครับ ทั้งหมดจะนำไปอ่านและถวายวัด และแจกเป็นธรรมทานครับ
ตอบ : หนังสือเรา หนังสือธรรม เราได้มาจากหลวงตา ตอนหลวงตาท่านมาเยี่ยมเราบ่อยๆ สมัยนั้นนะ ท่านบอกว่า “สงบ เราเห็นนะ เทปกับหนังสือนี่สำคัญ”
เทปกับหนังสือ เพราะท่านทำอย่างนี้มาตอนสมัยเราอยู่กับท่าน ท่านก็พิมพ์หนังสือแจกๆ หนังสือแจกนะ เวลาเขาถามว่า ทำไมหลวงตาท่านไม่ทำประวัติ
ท่านบอกว่าประวัติของท่านสมบูรณ์แบบแล้ว สมบูรณ์แบบก็คือเทปและหนังสือของท่านนั่นน่ะ สมบูรณ์แบบคือผลงาน สมบูรณ์แบบคือเราแสดงธรรม สมบูรณ์แบบคือเราทำธรรมะไว้ให้กับโลก นั้นคือประวัติ คือผลงานที่สมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ต้องทำประวัติของท่านหรอก ประวัติของท่านสมบูรณ์แบบแล้ว
แล้วที่ท่านทำ ตอนที่อยู่กับท่าน พิมพ์หนังสือมานี่นะ เขามาส่ง แบกหามกันนะ ส่งไปรอบโลก หนังสือหลวงตาเป็นคนส่งไปรอบโลก เพราะว่าธรรมะ ประวัติหลวงปู่มั่นเป็นภาษาอังกฤษส่งไปทั้งนั้นน่ะ หนังสือพิมพ์มาเพื่อแจก พิมพ์มาเพื่อเป็นธรรมทาน พิมพ์มาเพื่อเป็นประโยชน์ไง พิมพ์มาเพื่อแจก พิมพ์มาเพื่อสังคม
ทางสังคม เราทุกข์ร้อนกันมาขนาดนี้ สิ่งใดที่เป็นน้ำอมตะ น้ำที่จะบรรเทาทุกข์ น้ำที่จะบรรเทาทุกข์ในโลกนี้ ทำไมมันไม่สมควรจะให้ มันสมควรทั้งนั้นน่ะ
หนังสือธรรมะๆ หลวงตาท่านบอก “ให้แจกนะ อย่าให้มีการซื้อการขายนะ อย่าให้มี เพราะเราเป็นพระ ถ้าพระยังเป็นที่พึ่งของโลก พระยังทำประโยชน์กับโลกไม่ได้ ไม่ควรเป็นพระ” นี่ท่านพูดประจำนะ ท่านยืนยันของท่าน ยืนยันของท่าน จนหนังสือของท่านแบบว่าอิ่มสมบูรณ์แล้วท่านถึงได้หยุดระงับไป
แต่ที่ของเรา ที่เราทำต่อเนื่องมาเพราะว่า เหมือนกับท่านเห็นว่าตรงนี้มันจะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่ยั่งยืน ประโยชน์กับศาสนา ท่านถึงสั่งเราไว้ สั่งไว้เลยนะ “หงบ หนังสือธรรมะ หนังสือกับเทป เราเห็นว่าสำคัญ”
สมัยนั้นยังไม่มีวิดีโอ สมัยนั้นเทปแคสเซ็ตย่างเดียว “เทปกับหนังสือนะ เทปกับหนังสือ” ท่านย้ำกับเราไว้ ฉะนั้น พอท่านย้ำกับเราไว้ สิ่งที่เราทำ เราทำตามที่ว่าท่านแนะนำไว้ เราเป็นผู้เดินตามเท่านั้นน่ะ เราเป็นคนเดินตามก้นท่าน แล้วทำเพื่อที่ท่านต้องการให้ทำ ฉะนั้น หนังสือธรรมะไว้แจกแน่นอน
ฉะนั้น เขาบอกว่า ขอหนังสือธรรมะจากพระอาจารย์สงบ
เราจะให้เจ้าหน้าที่เขาดูก่อน เจ้าหน้าที่ที่เขาเป็นผู้แจก เราไม่รู้เรื่องอะไร โทรศัพท์ก็ไม่มี กดอะไรก็ไม่เป็น ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ดีแต่ด่าชาวบ้าน ทำอะไรไม่เป็นหรอก
ฉะนั้น เราจะบอกว่า หนังสือนี้แจกแน่นอน หนังสือเขาไว้แจกอยู่แล้ว แต่เราจะเอาให้เจ้าหน้าที่เขาพิจารณา แล้วเจ้าหน้าที่เขาเป็นคนแจก เจ้าหน้าที่เขาเป็นคนทำ การจะแจกหนังสือ เราให้เจ้าหน้าที่เขาเป็นคนจัดการ เขาต้องไปส่งไปอะไรกันนะ เพราะเราทำเองไม่ได้หรอก เราไม่เคยออกจากวัดเลย
ฉะนั้น เขาบอกเขาขอหนังสือ หนังสือธรรมะ
เราจะบอกว่า หนังสือนี้ไว้แจกอยู่แล้ว แต่เราจะให้เจ้าหน้าที่เขาพิจารณา เราจะให้เจ้าหน้าที่เขาเป็นคนให้ แล้วถ้าเจ้าหน้าที่เขาส่งให้แล้ว นั่นถึงจะส่งให้
ส่ง เพราะให้ธรรมเป็นทานๆ สิ่งที่ให้ธรรมเป็นทานเพื่อประโยชน์ไง ประโยชน์กับทุกๆ คน ประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ที่เขามาช่วยงานวัด ประโยชน์กับคนที่เข้ามาในวัดในวาเขาช่วยกันส่งเสริม แล้วก็เพื่อประโยชน์กับสังคม ทำเพื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อพระพุทธศาสนา เอวัง