ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผิดที่ผิดทาง

๗ ม.ค. ๒๕๖๑

ผิดที่ผิดทาง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “น้อมกราบขอขมาต่อองค์หลวงพ่อ”

น้อมกราบหลวงพ่อค่ะ ลูกได้มาใส่บาตรฟังธรรมองค์หลวงพ่อได้สองปีแล้ว และในปีนี้ช่วงเข้าพรรษา ลูกได้ภาวนาอยู่วัดโดยมากันทั้งครอบครัว มีสามีและลูกสาวมาด้วย ทำให้เกิดความไม่สงบ และยังส่งคำถามเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลมารบกวนหลวงพ่อด้วย

ลูกมาทบทวนความโง่เขลาของตัวเองที่ทำให้หลวงพ่อหนักใจ นึกถึงทีไรก็เสียใจว่าเรานี้เป็นศิษย์ที่ไม่เอาไหน เป็นทุกข์มากเจ้าค่ะ ลูกจึงกราบขอขมาลาโทษต่อองค์หลวงพ่อ ยกโทษให้ลูกด้วย ลูกเคารพหลวงตา หลวงพ่อ จึงรู้สึกทุกข์ใจมากกับความผิดที่ได้กระทำลงไป ท้ายนี้ขออาราธนาให้มีสุขภาพแข็งแรง

ตอบ : เขาว่านะ อันนี้พูดถึงโดยเป็นธรรมนะ โดยเป็นธรรมๆ เวลาขณะที่เราทำ ขณะที่เราทำเราคิดแบบโลก เพราะเรามานี่เรามาจากโลก มาจากโลก เราเกิดจากพ่อจากแม่ใช่ไหม เรามีครอบครัวมีลูกมีเต้าใช่ไหม เราอยู่กับสังคม สังคมต้องมีการแข่งขัน

ลูกของเราเกิดมาแล้วเราก็พยายามจะสอน จะพยายามฝึกให้ลูกเราเป็นผู้ที่ฉลาดให้เท่าทันคน ทำสิ่งใดเราก็จะสอนลูกเราให้เป็นคนที่เท่าทันโลกๆ นี่เป็นเรื่องของโลก ถ้าเรื่องของโลกต้องเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนานะ ไอ้เรื่องการเท่าทัน โดยสังคม เด็กมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป แต่โดยพื้นฐานๆ พ่อแม่ที่ดีนะ เขาจะฝึกลูกเขาด้วยมารยาท คำว่า “มารยาท” นะ ให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ ให้เด็กนี้มีมารยาท เพราะโตไปไอ้พวกมารยาท ไอ้เรื่องนิสัยมันเป็นเรื่องสันดาน เป็นเรื่องที่ว่าเราต้องฝึกมาตั้งแต่เด็กน้อย แต่เรื่องการศึกษา เรื่องเท่าทันคน ต่อไปอนาคตมันจะฉลาด มันจะพัฒนาขึ้นมา แต่การพัฒนานั้นอยู่โดยพื้นฐานที่ดี

มารยาทสังคมที่ดี ลูกหลานของเราจะเป็นลูกหลานที่ดี จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้นมา นั้นเวลาที่ว่าคนที่เขามีสติปัญญาเขาจะห่วงลูกเขาเรื่องมารยาท ไอ้เรื่องฉลาด เรื่องที่มันจะเท่าทันคนนั้นเรายังฝึกฝนกันได้ ไอ้เรื่องมารยาทเราต้องฝึกหัดมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้น เรื่องฝึกหัดมาตั้งแต่ต้นใช่ไหม

ฉะนั้น เวลาที่ว่าพ่อแม่พาลูกมาวัดๆ เรื่องนี้ดีไหม ดี ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมๆ ท่านรู้ไงว่าศาสนานี้มันต้องมีผู้สืบต่อไป เห็นไหม ศาสนาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปีส่งต่อมาเป็นรุ่นๆๆ ไง เวลาครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ที่ชี้แนวทางได้ แต่ถ้าไม่ชี้แนวทางได้ เราต้องฝึกฝน เราต้องค้นคว้าเอง

เวลาอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านสอน เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราต้องขวนขวายเองโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์ เราต้องขวนขวายเอง มันจะตกทุกข์ได้ยาก มันจะผิดพลาด มันจะพลั้งเผลออย่างไร เราก็ต้องฝึกหัดของเราเอง เราต้องพิสูจน์ของเราเองว่ามันถูกหรือผิดไง

เวลาพิสูจน์นี่มันเสียเวลามาก เสียเวลาเพราะอะไร เพราะกำลังเราไม่พอ ขณะที่มันผิดๆ อย่างนี้ เรายังเข้าใจว่ามันถูก แล้วเวลาภาวนาขึ้นไปแล้วมันจะต้องพิจารณาโดยความถ่องแท้ เราจะเสียเวลามาก

ท่านบอกเลย ถ้าจะทำได้มันก็เสียเวลามาก แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยแนะ เวลาจะสั้นเข้า การกระทำของเราจะดีขึ้นไง

แล้วถ้ามันมากไปกว่านั้นนะ มันหลุดไปเลย มันเสียไปเลย คือมันกู่ไม่กลับ เวลาภาวนา ภาวนาไปมันตอกย้ำๆ เพราะเราทำอย่างนั้น เราเห็นอย่างนั้น มันคุ้นเคยกับอารมณ์อย่างนั้น มันคุ้นเคยกับความเห็นอย่างนี้ มันคุ้นเคยกับการกระทำของเรานะ “อันนี้ถูกต้องดีงาม อันนี้ประเสริฐ คนอื่นผิดหมด” แน่ะ เวลาถ้ามันถูกนะ มันว่าคนอื่นผิดหมดเลย นี่ไง ถ้ามันมากกว่านั้นคือเสียหายไปเลย

เสียหายไปเลยเพราะ หนึ่ง วุฒิภาวะของเราไม่เข้มแข็งพอที่เราจะพิสูจน์ได้ตรวจสอบได้ว่ามันถูกหรือมันผิด ว่ามันจริงหรือมันเท็จ แล้วมันไม่มีครูบาอาจารย์บอก ถ้าเรามีอำนาจวาสนามันก็จะเข้มแข็งขึ้นมา มันจะพิสูจน์ได้ว่าถูกหรือผิด มันเสียเวลามาก

๑. เสียเวลา

๒. ถ้ามันไม่เสียเวลานะ มันก็ถึงกับเสียหายไปเลย หลุดไปเลย หลงทางออกนอกลู่นอกทางไปเลย

นี้พูดถึงการแสวงหาครูบาอาจารย์ เรื่องนี้สำคัญมาก สำคัญมากนะ เพราะอะไร เพราะถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ดีแล้วเราพยายามฝึกฝนที่ดี เราพยายามดัดแปลงตนของเราที่ดี เพราะครูบาอาจารย์เป็นหลักประกันอยู่แล้ว ไอ้เรามันหลักประกันเราไม่ได้หรอก เพราะเรามีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราต้องมีครูบาอาจารย์เป็นหลักประกัน

แต่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันบอกว่า “เสมอกัน ประชาธิปไตยเท่ากัน มีความรู้เหมือนกัน ทำไมต้องไปฟังด้วย” เก่งนัก นี่เสียหายทั้งนั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่าเวลาสังคมที่เราแสวงหาครูบาอาจารย์ใช่ไหม ทีนี้แสวงหาครูบาอาจารย์แล้ว เขาพูดถึงว่าการน้อมขอขมาๆ

ขณะที่เราพูดนี่พูดให้เห็นว่า มีเยอะมากพวกเด็กวัยรุ่นหรือพวกครอบครัวใหม่ เพราะเขาเป็นเด็กเพิ่งโตมา เขาจะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เด็กๆ ต้องให้มันสงบเรียบร้อยมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องปล่อยให้มันแสดงออกเต็มที่

การแสดงออกเต็มที่ มันอยู่ที่ผู้โง่หรือผู้ฉลาดไง การเอาลูกเอาหลานมาวัดเป็นสิ่งที่ดีไหม ดี ดีเพราะเราฝึกฝนไว้ เราฝึกฝนไว้

เรานี่นะ ๔๐ พรรษาแล้ว เรามาอยู่โพธารามพรรษา ๑๐ นี่ ๓๐ ปี ๓๐ ปีที่เราได้แจกขนมเด็กๆ เราได้ดูแลเด็กๆ มานี่นะ เด็กๆ หลายคนจะเข้ามาหานะ เวลาเข้ามาหา พอโตขึ้นมาเดี๋ยวนี้เรียนปริญญาตรี จบปริญญากันไปเยอะแยะแล้ว ที่รับยาคูลท์ตั้งแต่เด็กๆ เวลามันโตขึ้นมันมาหา “หลวงพ่อจำได้ไหม” จำเขาได้ไหม บางทีเราจำไม่ได้นะ “ก็หลวงพ่อเคยแจกอาหารไง” อ๋อ! เขายังระลึกถึงบุญคุณนะ เขายังคิดถึง มันระลึกถึงกันน่ะ

แล้วบางทีเด็กบางคนเวลาได้รับๆ แล้วไปที่อื่นมันจะเห็น เวลาพ่อแม่พาลูกๆ มา “พ่อ ทำไมที่นู่นหลวงพ่อแจกล่ะ ทำไมที่อื่นเขาไม่เห็นแจกเลยล่ะ ทำไมที่อื่นถึงไม่มีเลย”

เพราะในสังคมไทย ในสังคมไทยเราทั่วไปบอกว่าศีล พระที่รับของสิ่งใดแล้วจะให้ใครไม่ได้ เดี๋ยวมันจะเป็นเปรต เดี๋ยวคนนั้นจะเสียหาย แต่พระมันเอาไว้กินเยอะๆ ไม่เป็นไร แต่พระจะแจกคนอื่น เดี๋ยวเป็นเปรต

มันพูดอย่างนี้ไปให้เข้ากันไม่ถึงใช่ไหม แล้วจะทำสิ่งใดเราก็ทำ แต่ถ้าเราอยู่กับบริษัท ๔ ถ้าพระที่มีพฤติกรรมสิ่งใด เช้าบิณฑบาต เขาไม่ให้กินหรอก นี่มันตรวจสอบกันได้ มันตรวจสอบกันได้ไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาวัดที่อื่นเขาไม่ให้ๆ เขาไม่ให้เพราะเขากลัวไง

แต่สำหรับเรานะ โดยวินัย โดยวินัย สิ่งที่ว่าโยมตักบาตรเพื่อถวายพระ ไม่ใช่ถวายเด็ก ต้องพระให้ศีลให้พร พระฉันเสร็จแล้ว เหลือแล้วถึงจะแจกได้ แต่ของเรา เราถือว่าโยมใส่บาตรมาแล้ว เป็นของพระแล้ว แล้วถ้าพูดถึงเด็กมันจะรีบกลับหรือว่าถนนหนทางมันห่างไกลกัน เขาไม่เคยมาวัด เราแจกตั้งแต่นั้นเลย เพราะอะไร

เขาบอกว่าเดี๋ยวเป็นเปรตนะ

ถ้าเป็นเปรต เราบอกกับโยมนะ ที่เขาใส่ไคล้กันน่ะ อยู่ข้างในเขาบอกว่า พระที่เขาบอกอย่าไปรับกับพระองค์นี้นะ ถ้ารับแล้วลูกหลานจะเป็นเปรตหมดเลยนะ

เราบอกว่า ถ้ามันจะเป็นเปรตนะ เปรตตัวแรกเลยที่จะเป็นคือหลวงพ่อ หลวงพ่อจะเป็นเปรตเลย เป็นเปรตเพราะอะไร เพราะหลวงพ่อเป็นคนแจก เอ็งไม่ได้ลัก เป็นเปรตได้อย่างไร

เอ็งไม่ได้ลัก ไม่ได้ฉก ไม่ได้ฉวย ไม่ได้ฉ้อฉลใคร เอ็งได้รับการแจกทานจากหลวงพ่อมา เอ็งรับจากหลวงพ่อไป เอ็งจะเป็นเปรตได้อย่างไร เอ็งไม่มีกิริยาของการลักของการขโมยเลย เอ็งจะเป็นเปรตได้อย่างไร

เราต่างหากที่เป็นคนให้ แล้วเราเป็นคนให้ เป็นคนให้เพราะเขาใส่บาตรเรามา ใส่บาตรมาเป็นส่วนบุคคล เป็นของของเราแล้ว แล้วเราจะให้ต่อทานมันจะไปเสียหายตรงไหน

นี่พูดถึงเวลาเอาเด็กมาวัด เขาบอกว่าเขามาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ เอาลูกสาวมาอยู่วัดแล้วมาทำเสียงรบกวน ตอนนี้สำนึกได้ กราบขอขมาหลวงพ่อมาก เสียใจมาก ทุกข์ใจมาก

เสียใจมาก ทุกข์ใจมาก พอมันคิดได้ไง ถ้ามันสำนึกได้มันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเราสำนึกได้ว่าเราทำสิ่งใดแล้วผิดพลาดไปแล้วไม่ดีเลย พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดทำแล้วรู้สึกนึกคิดได้ภายหลัง นั่งร้องไห้ สิ่งนั้นไม่ดีเลย

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงสอนว่า ก่อนทำสิ่งใดต้องให้มีสติ ก่อนทำอะไรให้มีสติสัมปชัญญะ ทำไปด้วยการไตร่ตรองที่ดีงามแล้วถึงทำ

อย่าทำไปด้วยประชาธิปไตย เสมอภาค ฉันทำได้ๆ แล้วพอคิดได้มันเสียใจภายหลังไง เสียใจภายหลัง เพราะอะไร เพราะว่าเราก็รักลูกเราใช่ไหม ลูกเราก็เล็กน้อยใช่ไหม มันจะส่งเสียงดังได้ เด็กจะไปควบคุมได้อย่างไร มันเป็นสิ่งสุดวิสัย นี่เวลาคิดไปนู่นน่ะ

แต่ถ้าจริงๆ แล้วทำได้ เราถึงเวลาถ้ามันเป็นเวลาปกติ เราก็ส่งเสียงดังบ้างมันไม่เป็นไร แต่ถ้าขณะที่จะเทศนาว่าการ มันทำลายโอกาสของผู้ฟังธรรม

อานิสงส์ของการฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว เคยได้ยินมาแล้วมันก็ตอกย้ำให้มันชัดเจน สิ่งใดที่เกิดความลังเลสงสัยให้เกิดความแจ่มแจ้งในหัวใจ

นี่อานิสงส์ของการฟังธรรมนะ เวลาฟังธรรมไปแล้วเข้าใจสว่างกระจ่างแจ้ง คนฟังธรรมๆ ไป ฟังธรรมจนจิตสงบเป็นสมาธิ โอ้โฮ! สว่างไสวไปหมดเลย แล้วเราเอาลูกเรามาส่งเสียงดังกระทบกระเทือนเขา มันดีไหม

สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นเป็นความดีงาม แล้วเรามากระทบกระเทือนเขา สิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์มันจะเสียไป ถูกต้องไหม ถ้ามันไม่ถูกต้อง แล้วเราเพียงแต่อุ้มออกไปจากศาลา เราเอาเด็กของเราไปอยู่ข้างนอกก่อน มันดีหรือมันชั่ว มันดีทั้งนั้นน่ะ

แต่พอเขาทำไป เอาลูกเข้ามาแล้วมาส่งเสียงดังบนศาลา เพิ่งมาสำนึกได้ พอสำนึกได้แล้วหนูเป็นทุกข์มากเลย แต่ตอนทำนี่ โอ้โฮ! ทำด้วยความอหังการนะ

นี่พูดถึงว่าการพัฒนาของใจ ใจที่มันพัฒนาแล้ว มันโตขึ้นมาแล้วมันจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีงามและไม่ดีงาม ไอ้ตอนที่มันคิดไม่ได้มันก็บอกว่า เป็นไปไม่ได้ จะไปควบคุมให้ไม่มีเสียงเลยมันเป็นไปไม่ได้

มีหลายคนมากเวลาเราบอกว่าให้เอาเด็กออกไปก่อน เขาโกรธกระฟัดกระเฟียดเลยนะ เขาบอกมันเป็นไปไม่ได้หรอก เด็กมันตัวเล็ก จะไม่ให้มันส่งเสียงได้อย่างไร มันก็ต้องส่งเสียงเป็นธรรมดา

ไอ้นั่นมันเป็นห้างสรรพสินค้าที่เขาต้องการลูกค้า เขาก็บริการไง แต่ที่นี่เป็นวัด ที่เป็นวัดเป็นที่สงบระงับ เป็นที่การประพฤติปฏิบัติ เราเอาลูกเอาหลานมามันเป็นกาลเป็นเวลา แต่ถึงเวลาแล้วเขาจะทำกิจกรรม เราก็แค่เอาลูกของเราออกไปนอกบริเวณสักพักหนึ่ง พอกิจกรรมนั้นจบแล้วเราค่อยเอากลับมา มันจะเป็นอะไรไป

แล้วเอากลับมาแล้วเรายังแจกด้วย เพราะอะไร เพราะเราก็อยากได้ดวงใจนะ อยากได้หัวใจของเด็กๆ ให้มันอยู่ในศีลในธรรม ให้มันโตขึ้นเป็นอุบาสกที่ดี ให้ช่วยกันปกป้องคุ้มครองศาสนา เราก็ต้องการผู้ที่สืบต่อคุ้มครองดูแลศาสนาต่อเนื่องไปเหมือนกัน

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่การคุ้มครองดูแลของชาวพุทธ ชาวพุทธก็จะช่วยกันจรรโลง ช่วยกันดูแลต่อไป เราก็ฝึกคนรุ่นใหม่ต่อไป มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ

แต่ในปัจจุบันนี้คนที่มาประพฤติปฏิบัติแล้วเขาต้องการความสงบ ต้องการความวิเวก เขาต้องการให้ใจของเขามีคุณธรรม เราก็ส่งเสริมกัน ในปัจจุบันนี้ก็ส่งเสริมผู้ที่อายุมากแล้ว ไอ้เด็กๆ ก็เอาไว้ทีหลัง ให้มันโตก่อนมันจะได้คิดได้ทีหลังไง เราก็ดูแลกันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

เราเป็นกิจจะลักษณะ เวลาเป็นกาลเป็นเวลาควรทำอย่างใด ทำตามนั้น แล้วมันก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติ มาฟังธรรมด้วย ทั้งที่เด็กพามาเข้าวัดมันมาเห็น เห็นอย่างนี้ เวลามันไปที่อื่นมันจะรู้นะ “ทำไมที่อื่นทำไม่เหมือนเราเลยเนาะหลวงพ่อเนาะ ที่อื่นเขาทำอย่างนั้น”

มีนะ มีพวกโยมมาที่นี่ แล้วเขาข้าราชการย้ายไปที่อื่นไง เขาพยายามหาวัดทำบุญน่ะ เขาเสียใจมาก เขาบอกว่า “หลวงพ่อ มันไม่เหมือนวัดเราเลย ไปที่ไหนมันก็ไม่เหมือนวัดเราเลย ทั้งๆ ที่ดูข้างนอกมันก็น่าจะดีนะ แต่พอเริ่มทำพิธีกรรม เห็นแล้วก็ถอดใจ”

เขาทำกันอย่างนั้นเพราะเขาไม่มีหลักใจ ถ้ามีหลักใจ อย่างที่เราพูดนี่ ศีล “สิ่งที่ได้มาแล้วต้องให้พระได้อนุโมทนาแล้วของนั้นถึงจะแจกได้ ของในวัด พระที่ไม่ได้แจก โยมที่มาทานอาหารกันจะเป็นเปรตหมดเลยนะ” เขาว่านะ

แต่ของเราไม่ใช่ เพราะของเรา เราให้ตั้งแต่ต้น สิ่งที่ได้มา ถวายทาน หัวหน้า ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ก็พิจารณาก่อน ตักก่อน แล้วก็ต่อเนื่องไปถึงพระ ถึงสามเณรน้อย ถึงผู้จำศีลที่วัด แล้วก็ถึงฆราวาสเรา เรากินเราอยู่ด้วยกัน พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ สอนให้มีเมตตา สอนให้เสมอภาค สอนให้ดูแลกัน พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว

เขาบอก ไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้อนุโมทนา ยังไม่ได้กล่าวคำถวาย ยังไม่ได้

เออ! เอ็งไปเป็นแมลงวันเฝ้าอยู่นั่นน่ะ ไอ้มดแดง มะม่วงของกูๆ แล้วไม่กินอะไรเลยอย่างนั้นหรือ มะม่วงของเจ้าของสวน แต่คนอื่นเขาก็ขอแบ่งปันได้ อันนี้พูดถึงว่าถ้าความเป็นจริงนะ

นี่พูดถึงเราเห็นใจนะ คนที่เขาเขียนมา เขาเขียนมาขอขมา ขอขมาลาโทษ

เราไม่มีโทษมีภัยกับใครทั้งสิ้น เว้นไว้แต่นะ เว้นไว้แต่ทำผิดครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ถ้าทำผิดซ้ำซากโดนหมดน่ะ เพราะวัดเป็นที่ปฏิบัติให้คนมันดีขึ้นพัฒนาขึ้น ไม่ใช่เลวลง

ถ้าครั้งที่ ๑ ผิดนะ เราก็ให้อภัยต่อกัน ถ้าครั้งที่ ๒ เตือน ถ้าครั้งที่ ๓ นะ วัดนี้ไล่ออกหมด แล้วถ้าใครมาทำผิดซ้ำซาก จะลงบัญชีดำห้ามเข้ามาในวัดนี้ ในวัดนี้ขึ้นบัญชีดำไว้เยอะ คนที่โดนขึ้นบัญชีดำไว้ เวลาจะขอมาปฏิบัติ...โน กุฏิเต็มหมดเลย แน่นเอี๊ยดเลย ไม่มีที่เข้าได้เลย คือไม่ให้เข้า ถ้าทำผิดซ้ำซาก ไปหาที่สุขที่สบายของเอ็งเถอะ ที่เอ็งพอใจน่ะ

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ เวลาทำบุญ เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ ที่สะดวก ที่ปลอดโปร่ง ที่เราพอใจ ควรไปที่นั่น

แต่ถ้าจะเอาผลกันล่ะ

นี่พระพุทธเจ้าเอาแล้ว ถ้าจะเอาผลกัน มันก็เหมือนเนื้อนาบุญ เนื้อนาที่ดี เนื้อนาปานกลาง เนื้อนาที่เลว มันจะให้ผลตอบแทนดี ปานกลาง และเลว บางที่มันจะไม่มีผลเลย นี่ถ้าพูดถึงจะเอาจริงๆ

แล้วถ้าเนื้อนาที่ดี เนื้อนาที่ดี ดินดี น้ำดี แดดดี ทุกอย่างดี แล้วดีเกิดจากอะไร ดีเกิดจากผู้ที่บำรุงรักษา ดินทำต่อเนื่องไป ดินก็ดินหมดสารอาหาร ทำต่อเนื่องจนไม่ได้ฟื้นฟู ดินนั้นก็กลายเป็นดินดาน ดินนั้นก็จะเสียหายไปหมดเลย อยู่ที่ผู้ดูแลรักษา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าขอขมาลาโทษ

เห็นใจมาก เราไม่ถือสา ไม่ติดใจใครทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ทำผิดซ้ำซาก ทำผิดซ้ำซากนะ แสดงว่าเอ็งกับข้าไม่มีวาสนาต่อกัน เอ็งต้องไปหาที่ที่เอ็งพอใจ ที่นี่ไม่ต้อนรับ ไม่ได้ต้อนรับด้วยว่า กุฏิเต็มแน่นเอี๊ยดเลย ไม่มีที่เข้าได้เลย เต็มหมด

โทรมาก็ไม่ได้ อย่างไรมาก็ไม่ได้ ลองขึ้นบัญชีดำแล้วไม่ได้ พูดอย่างใดต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างไรต้องพูดอย่างนั้น ได้คือได้ ไม่ได้คือไม่ได้ ไม่ต้องมาอ้อนวอน ไม่มีสิทธิ์ ลองได้ตัดแล้วจบนะ นี่พูดถึงเวลาเอาจริงนะ

แต่เวลาเห็นใจนี่เห็นใจมาก นี่พูดถึงว่าขอขมาลาโทษ

เราจะบอกว่าไม่มีความอะไรติดใจเลย ถ้าติดใจเรานะ เอ็งไม่ต้องขอขมาหรอก กูไล่ออกไปนานแล้ว ถ้าผิดน่ะไปแล้ว ถ้าซ้ำซาก ไม่ได้เข้ามาหรอก ไล่อย่างเดียวเลย รักษาสงวนไว้เพื่อประโยชน์ แล้วอย่างว่าจะดีจะชั่ว แล้วแต่เป็นสิทธิ์ ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ แล้วแต่หัวใจสูงต่ำแค่ไหน นี่เป็นกรรมของสัตว์ จบ

ถาม : เรื่อง “กลัวทุกข์”

ผมพยายามนำการฝึกสติมาใช้ในชีวิตประจำวัน สังเกตอารมณ์สภาวะหนัก กดดัน หรือเพลินสบาย พยายามรู้ตัว รู้ตามความคิด เมื่อมีกิจการที่จะต้องคิด รู้เลยว่ามันไม่สบาย ทุกข์ พยายามทำใจให้เป็นกลางๆ รู้ดีว่าเป็นการปรุงแต่ง แต่ก็สลัดออกมายากมาก ยังดีที่ฝึกมานาน ทำให้ยังนอนหลับได้สบาย ตื่นมาก็แจ่มใส พอกระทบหรือเริ่มวนไม่สบายใจ ทุกข์อีก ขอเมตตาถามครับ

๑. ผมกลัวทุกข์หรือความต้านทานทุกข์มันต่ำลง (เดิมทีผมจะคลุกกับปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์คือคิดๆๆ ก็พออยู่กับทุกข์ได้) พอมาฝึกพยายามตัด ละ ไม่ปรุงแต่ง มันเลยกลัวทุกข์มาก จะทำอย่างไร

๒. ผลของการกลัวทุกข์ ผมเลยมีอาการไม่อยากจะทำอะไร ปลีกตัว คิดว่าให้มีผัสสะน้อยๆ ผมไม่ทำงานแล้ว พอที่จะอยู่ได้ มันเบื่อๆ กับวิถีชีวิตที่เคยมาตลอด และก็คิดเอาเองว่าเข้าใจแล้วผมยังหลงอะไรอีกหรือเปล่าครับ

ตอบ : นี่พูดถึงการภาวนานะ ผลของการภาวนาๆ ทุกคนเกิดมาแล้ว ถ้าขาดสติหรือติดโลกอยู่ มันก็วนอยู่กับในโลกนั้นน่ะ คิดว่าเราจะร่ำจะรวย เราจะมีความสุขกับทางโลก เราจะหาความสุขทางนั้น

ความสุขอย่างนั้นเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา มันเป็นเวทนา ๓ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะเกิดความสุข สุขในพระพุทธศาสนา สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี

จิตสงบนี้สงบมาจากตัวจิตมันสงบขึ้นมาโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งใดเป็นอามิส ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดเป็นสิ่งที่เสพ ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดมากระตุ้นให้เกิดความสุขขึ้นมา

ความสุขในพระพุทธศาสนาคือสุขในตัวของมันเอง สุขในตัวของมันเองโดยความเพียรชอบ ในความวิริยะ ในความอุตสาหะ ในการกระทำขึ้นมา หัวใจนี้มีคุณค่าๆ ที่เรามาประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้ก็เราต้องการสัจจะความจริงจากใจของเรา เราไม่ต้องการสิ่งใดที่มีการเชิดชูในโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศในทางโลกนั้น

ฉะนั้น เวลาที่เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา คนต้องมีวาสนาไง ไม่ใช่คนที่ติดโลก อยู่กับโลก จะหาความสุขทางโลก หาความสุขทางโลกมันก็ได้แต่ความทุกข์ไง ไม่มีความสุขจริงในทางโลกไง

ถ้าจะเอาความจริงๆ มันต้องมีวาสนา เวลาคนมีวาสนา เวลาจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็อยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่อำนาจวาสนา

ถ้ามีอำนาจวาสนา คนที่มีอำนาจวาสนา ดูสิ เวลาหลวงตามหาบัว เวลาท่านจะบวช ท่านไม่อยากจะบวช แต่พ่อแม่ก็ขอให้บวช บวชแล้วก็ว่าจะเรียนก่อน เรียนก่อนแล้วจะปฏิบัติ เวลาจะปฏิบัติแล้วก็จะหาครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องดีงามไง

เพราะท่านเป็นคนที่มีสติปัญญา คนที่มีสติปัญญา มีการศึกษามาถึงเป็นมหาใช่ไหม คนที่จะสอน ถ้าไม่มีประสบการณ์ ไม่มีสติปัญญา เขาจะสอนได้อย่างไร

เอ็งไม่ต้องมาสอนข้าหรอก หนังสือข้าก็อ่านเป็น เดี๋ยวนี้พระไตรปิฎกในคอมพิวเตอร์กดได้หมดน่ะ จะศึกษาอย่างไรก็ได้ แต่คนจะชี้จะแนะจะบอกเราจะหาที่ไหน เวลามันจะหาตามความเป็นจริงนั้น

นี่พูดถึงว่าเวลาจะหาครูบาอาจารย์ก็แสนยาก เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันไม่เชื่อหรอกว่ามรรคผลมีหรือไม่มีไง เวลาปฏิบัติไปก็ปฏิบัติแต่ความเห็นของตนไง ถ้าความเห็นของตน เวลาปฏิบัติไปโดยวุฒิภาวะที่อ่อนแอ โดยวุฒิภาวะที่อ่อนแอ ที่ไหนเขาว่า ที่ไหนเขาว่า ตามเขาไปหมดเลย เขาว่าอย่างไรก็เป็นตามนั้น ที่ไหนเขาว่าอย่างไรก็ว่าตามเขา ไม่มีพื้นฐานสิ่งใดเลย

เวลาในพระพุทธศาสนานะ เราต้องมีศรัทธาความเชื่อ มีศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อเป็นอริยทรัพย์ เป็นหัวรถจักร หัวรถจักรคือศรัทธาความเชื่อมันจะดึงความรู้สึกความคิดเราเข้าไปค้นคว้า เข้าไปศึกษา

พอเข้าไปศึกษา ถ้าเราศึกษานะ ศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาคือศรัทธาในพระพุทธศาสนา พอเข้าไปศึกษาแล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้ว กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของตนพูด

ไม่ให้เชื่อนะ เพราะความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ มันต้องเป็นความจริง แล้วความจริงเกิดจากที่ไหน แต่ก่อนที่จะไม่เชื่อนี่ ถ้าไม่เชื่อก็ขี้ลอยน้ำไง ไม่เชื่อก็ไม่เชื่ออะไรเลย

แต่ถ้ามันเชื่อก่อน เชื่อเข้ามาแล้วศึกษาๆ ศึกษาเป็นมหา แต่เวลาปฏิบัติแล้วห้ามเชื่อ ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น กาลามสูตร ให้เชื่อผลจากการปฏิบัติ ให้เชื่อจากสติปัญญา จากการกำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธจนจิตมันสงบจริงๆ

จากพุทโธไม่ได้ มันพุทโธๆ กับจิตมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันกลมกลืนกัน มันพุทโธได้คล่องแคล่ว มันสะดวก พุทโธแล้วปลอดโปร่ง

พุทโธๆ พุทโธจนละเอียดจนพุทโธไม่ได้เลย พุทโธไม่ได้เลย แต่จิตมันเด่นชัด โอ้โฮ! มันชัดเจนของมันน่ะ แล้วพอฝึกหัดวิปัสสนา พอจิตมันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

ถ้ามันพิจารณาอย่างนั้นมันจะเกิดปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้น นี่มันเป็นความจริงทั้งนั้นน่ะ มันเกิดจากการกระทำ มันเกิดจากจิตที่เป็นน่ะ ถ้ามันเกิดจากจิตที่เป็น มันจะเชื่อใคร เชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อ ทีนี้จิตไม่ต้องเชื่อ

เราจะบอกว่า พูดตั้งนานแน่ะ เราจะบอกว่า คนต้องมีอำนาจวาสนามันถึงจะทำอย่างที่เราพูดได้เป็นชั้นเป็นตอน แต่ส่วนใหญ่แล้วคนมันไม่มีวาสนา แม้แต่สมาธิจริงๆ ยังทำกันไม่ได้

พอบอกว่าสมาธิๆ ความสงบของใจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ชาวพุทธประพฤติปฏิบัติ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันทำความสงบของใจไม่ได้ พอมันทำไม่ได้ขึ้นมามันก็สร้างอารมณ์ว่าง ความคิดฟุ้งซ่านมันก็หาแต่ความคิดมาให้เราฟุ้งซ่าน มันคิดในอารมณ์ว่างๆ ไง

ว่างๆ เหมือนอมน้ำ อมน้ำไว้ในปากมันทำอะไรไม่ได้เพราะน้ำเต็มปาก

นี่ก็เหมือนกัน มันคิดเรื่องว่างก็อมความว่างไง จิตเสวยอารมณ์ เสวยว่าว่างๆ ว่างๆ แต่มันไม่ว่าง มันไม่เป็นสมาธิจริงหรอก แต่เพราะศึกษามาก ว่าสมาธิเป็นความว่าง ธรรมะเป็นความว่าง มันก็อมน้ำไว้ ว่าง อมอารมณ์ไว้ อารมณ์ว่าง ไม่ใช่ว่าง มันไม่มีอำนาจวาสนา มันทำสิ่งใดขึ้นมาเป็นความจริงไม่ได้ พอเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้มันก็ล้มลุกคลุกคลาน ไอ้ที่ปฏิบัติกันไม่ได้ผลๆ ก็อยู่นี่ไง

ปฏิบัติไม่ได้ผล มันเหมือนนักกีฬา นักมวย นักกีฬามันไม่มีความฟิตเลย มันไม่เคยซ้อมเลย มันจะลงเแข่งๆ จะเอาที่ไหนไปแข่งกับเขา นักกีฬาทุกชนิดมันต้องมีความฟิตก่อนใช่ไหม มันต้องมีกำลังของมันใช่ไหม สุขภาพแข็งแรงใช่ไหม เจ็บป่วยลงแข่งกีฬาไม่ได้หรอก แพ้ทุกที

นี่เหมือนกัน จิตของคนที่มันจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันต้องมีสัมมาสมาธิที่เข้มแข็งก่อน ถ้ามีสัมมาสมาธิเข้มแข็งก่อน เวลาวิปัสสนาขึ้นมามันจะรู้เห็นตามความเป็นจริง

แต่ถ้ามันไม่มีสมาธิขึ้นมาก่อนเลย มันก็จะเข้าคำถามนี้ เพราะอะไร เพราะเขาบอกว่าเขาฝึกมานานในชีวิตประจำวัน

แต่ก่อนเวลาฝึกมานาน โดยปัญญาแบบว่าพุทธจริตมันจะมีปัญญามาก เวลามีปัญญามาก มันไม่เหมือนสัทธาจริต ถ้าสัทธาจริตมีความมั่นคงมาก จะกำหนดพุทโธๆ ชัดเจนมาก ไอ้พวกพุทธจริตปัญญามันเยอะ มันบอกพุทโธนี้เป็นคำท่องบ่น พุทโธไม่เห็นมีความมหัศจรรย์อะไรเลย พุทโธ พอพุทโธนานๆ แล้วมันจะเครียด พวกนี้มันต้องใช้เหตุผล

การใช้เหตุผล เราถึงใช้ว่า เพราะว่าหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านสอน เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ มันมีแนวทางปัญญาอบรมสมาธิๆ ปัญญาอบรมสมาธิหมายถึงว่าใช้สติกับปัญญาไล่ความคิดของตน เวลาคิดเรื่องสิ่งใดใช้ปัญญาไล่ความคิดไป ถ้าปัญญามันเหตุผลเหนือกว่า ไอ้ความคิดที่เกิดขึ้นจะดับ

ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนว่าดูจิตๆ ดูความคิด ดูจนเห็นจิต ถ้ามันเป็นความจริง จิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตสงบมันปล่อย มันจะรู้จักจิตของมัน แล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีก คิดอีกก็ใช้ปัญญาไล่ต่อไปอีก ทำอยู่อย่างนี้เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ก็เข้ามาคำถามไง คำถามว่า เขาเคยภาวนามาแล้ว เวลาความคิดปรุงแต่งขึ้นมาก็รู้เท่ารู้ทันมาตลอด พอรู้เท่าทันตลอด ตอนนี้แต่ทำไปแล้วแบบว่ามันจำเจไง มันไม่เป็นผล แล้วตอนนี้ก็เลยปล่อยวางหมดเลย เพราะเวลามันกลัวทุกข์ๆ

คำถาม ๑. เพราะผมกลัวทุกข์ ความต้านทานทุกข์มันต่ำลง แต่เดิมที่ผมคลุกกับปัญหาๆ คลุกกับปัญหาที่ใช้ความคิดๆ อยู่กับความทุกข์ได้ ใช้ความคิดๆ สติปัญญามันได้ไง แต่ตอนนี้มันทิ้งไปแล้ว พอทิ้งแล้ว พอมาฝึกๆ มันจะมาตัด

จะมาตัด เอาอะไรไปตัด นี่มันผิดที่ผิดทางไง มันทำสิ่งใดมันไม่เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา ถ้ามันเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา มันต้องทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจสงบแล้ว มีกำลังขึ้นมาแล้ว เราฝึกหัดใช้ปัญญา

ปัญญาในพระพุทธศาสนา ภาวนามยปัญญา เป็นมรรคเป็นผล มหัศจรรย์มาก คนทำนี่ตื่นเต้น เอ๊อะ! เอ๊อะ! เลยนะ แต่คนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมันพูดปากเปียกปากแฉะ มันเล่านิทานกัน มันเล่านิทานธรรมะ นิทานธรรมะของหลวงปู่มั่น นิทานธรรมะของหลวงปู่สิม นิทานธรรมะของหลวงตา นิทานธรรมะของหลวงปู่ฝั้น

แต่คนที่เทศน์สัจธรรม หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงตามหาบัว หลวงปู่ฝั้น ท่านไม่ใช่นิทานนะ ท่านพูดจริงๆ นะ

เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมท่านพูดจริงๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราศึกษาๆ มันเป็นความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านบอกวิธีการบอกกิริยาให้เราศึกษา เวลาใครศึกษาแล้วไปทำความจริงแล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา

นี่เหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นความจริงในใจของท่าน เวลาท่านพูดจริงๆ ของท่าน

แต่ไอ้เราไปฟังมาแล้วก็เป็นนิทานไง ก็เลยกลายเป็นนิทานธรรมะ พอเป็นนิทานธรรมะมันก็สร้างภาพ ปฏิบัติพอเป็นพิธี มันก็สร้างเหมือนเลย ทำทุกอย่างเหมือนเปี๊ยบ ก๊อปมาเลย เต็มที่ในใจเลย แล้วเราก็บอกว่าเป็น เป็นไหม เป็นตอนใหม่ๆ เป็นตอนฝึกหัด ทุกคนฝึกงานๆ ใครทำงานได้ก็ตื่นเต้น

นี่เหมือนกัน ไม่เคยปฏิบัติ อยากปฏิบัติ เวลาปฏิบัตินี่ โอ้โฮ! มันเครียดไปหมดเลย เวลามาก๊อบปี้รูปแบบขึ้นมาเลย เป็นอุปาทานขึ้นมาเลย สร้างภาพขึ้นมาเลย เป็นจินตนาการขึ้นมาเลย แหม! กูก็เก่ง ทำได้ๆ มันก็มีความสุขอยู่พักหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ความจริง พอมันเสื่อมไปแล้วจบ ร้อนเป็นไฟ อยู่อย่างนั้นน่ะ มันไม่มีความจริงขึ้นมาไง

ถ้าเป็นความจริงๆ มันอยู่ที่จริตนิสัยนี้ ถ้าจริตนิสัยขึ้นมา ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ไอ้ที่ว่ากลัวทุกข์ๆ เพราะเราไปแหยงกับมันไง มันผิดที่ผิดทางไง มันไม่ถึงเวลาไง ถ้าไม่ถึงเวลานะ นี่เวลาภาวนาไม่เป็นนะ มันกลัวทุกข์กลัวยาก

เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาเป็นแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านพูด เวลาเป็นน้ำป่า นอนไม่ได้เลย พักไม่ได้เลย ปัญญามันจะหมุนตลอดเลย เวลาภาวนาเป็นแล้วไฟไหม้ ไฟป่า เวลาไฟป่ามันจุดติดแล้วนะ มันเผาทั้งป่านะ ดับไม่ได้ จะดับไฟป่าอย่างไร

เวลาปัญญา เวลาศีล สมาธิ ปัญญามันหมุนของมัน มันเป็นของมันแล้ว หยุดไม่ได้ เวลาภาวนาเป็นแล้วไปเจอเหตุการณ์อย่างนั้นมันยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ นี่พูดถึงถ้ามันเป็นจริงนะ

เพราะว่าเขาถามว่า การปฏิบัติของเขามันล้มเหลว พอปฏิบัติมาแล้วผมกลัวทุกข์ กลัวจนเดี๋ยวนี้ เวลาเมื่อก่อนก็เข้าไปคลุกคลีกับมัน

ไอ้เข้าไปคลุกคลี เพราะจิตยังไม่สงบมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ฝึกไปแล้ว พอมันฝึกไปนานเข้า เดี๋ยวนี้บอกไม่เอาแล้ว ใช้ตัด ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่ง ก็เลยกลัว กลัวมันจะมีไง

ถ้ากลัวมันจะมี มันผิดที่ผิดทางไปหมดน่ะ มันจะไปกลัวอะไร ในเมื่อเหตุการณ์อนาคตยังมาไม่ถึง เราจะไปวิตกกังวลอะไร เข้าไปทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ อะไรจะเกิดขึ้นยังไม่รู้เลย แล้วจะไปวิตกอะไร

เพราะเราไปวิตกกันเอง ไปดึงอดีตอนาคตมาเหยียบย่ำ ปัจจุบันก็ทุกข์อยู่แล้ว แล้วยังไปเอาอดีตอนาคตมาช่วยซ้ำเติม แล้วก็บอกว่าเราจะปฏิบัติ

ปฏิบัติแล้วมันผิดที่ผิดทางไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้จริงไง ถ้ามันรู้จริงอย่างที่ว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราเวลาท่านเทศนาว่าการเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่พวกเราฟังแล้วเป็นนิทาน แล้วถ้าเป็นนิทานธรรมะนี่ โอ้โฮ! มันเขียนมันแต่งกันร้อยแปด ถ้าร้อยแปด

นี่พูดถึงว่าถ้ามันกลัวทุกข์ใช่ไหม

เราบอกให้เลย ปล่อยหมด แล้วกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบแล้วกลับไปพิจารณา มันจะพิจารณาได้ ไม่ต้องไปกลัวทุกข์กลัวยาก กลัวทุกข์กลัวยาก เห็นไหม

เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ คนที่ขยันหมั่นเพียรที่มีการกระทำ สิ่งใดที่กระทบ จบหมดน่ะ มันวางได้หมด ถ้ามันวางตามความเป็นจริงนะ นี่ข้อที่ ๑.

“๒. ผลของความกลัวทุกข์ ผมเลยมีอาการไม่อยากจะทำอะไร ปลีกตัว คิดว่าให้มีสัมผัสน้อยๆ ผมไม่ทำงานแล้ว พอที่จะอยู่ได้ มันก็เลยเบื่อๆ กับชีวิตที่เคยมาตลอด และคิดเอาเองว่าเข้าใจแล้ว ผมยังหลงอะไรครับ”

เพราะคิดว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจอะไรล่ะ เข้าใจในนิทานใช่ไหม นี่ไง ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ในพระไตรปิฎก โดยนักวิชาการเขาบอกว่ามันเป็นนิทานๆ นิทานชาดกในสุตตันตปิฎก

มันมีวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก วินัยปิฎกเป็นกฎหมาย เวลาอนุบัญญัติ บัญญัติขึ้นมาต่างๆ บัญญัติว่าต้องมีพระทำผิด ท่านบัญญัติเป็นกฎหมายเลย แล้วถ้าเป็นสุตตันตปิฎก ถ้าพูดถึงในพระไตรปิฎกเขาว่าเป็นนิทาน

นิทานในสุตตันตปิฎกส่วนใหญ่แล้วเป็นธรรมๆ พระพุทธเจ้าจะยกขึ้นมา อดีตชาติ ไปฟ้องพระเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นๆ ท่านบอกว่าเมื่อชาตินั้นๆ สมัยนั้น มีบุคคลนั้นชื่อนั้นๆ เวลาทำดีทำชั่ว ทำดีทำชั่วแล้วก็ตายไปแล้วก็มาเกิด จะมาเกิดในปัจจุบันนี้ มาเกิดเป็นพระองค์ที่ทำผิด เป็นพระต่างๆ

ทางวิชาการบอกว่ามันเป็นนิทาน มันเป็นนิทาน มันไม่น่าเชื่อถือ

แต่เป็นความจริงๆ มันเป็นนิทาน แต่พระพุทธเจ้าจะสอนถึงที่มาที่ไปของกรรม กรรมที่คนที่กระทำอยู่นี่มันทำกรรมอยู่นี่ ที่มันมีนิสัยอย่างนี้มีความคิดอย่างนี้ มันเคยมีนิสัยและมีความคิดอย่างนี้มาตั้งแต่อดีตชาติสมัยนั้น เกิดที่เมืองนั้น ในลักษณะนั้น แล้วได้ทำกรรมอย่างนั้นไว้ เวลาเขาตายไปแล้วเขาจะมาเกิดในปัจจุบันนี้ พอในปัจจุบันนี้เขายังมีความคิดอย่างนี้อยู่ แล้วเขาก็ยังทำกรรมอย่างนี้ๆ นี่อยู่ในสุตตันตปิฎกเยอะแยะไปหมดเลย

แต่ก็บอกว่ามันเป็นนิทาน มันไม่น่าเชื่อถือ

เวลาที่ว่านกแขกเต้า นิทานถึงอดีตชาติ ในสุตตันตปิฎกจนมาเป็นวัฒนธรรมแห่พระเวสอย่างนี้ ไอ้ความเชื่อในพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่แล้วก็มาจากพระไตรปิฎกน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่ามันเป็นนิทานๆ นิทานเพราะเราไม่มีวุฒิภาวะ นิทานเพราะเราทำของเราไม่ได้ ถ้าเราทำของเราไม่ได้นะ

ฉะนั้น ผลของความกลัวทุกข์ ก็เลยไม่อยากทำสิ่งใดทั้งสิ้น จะปลีกตัว คือหนีปัญหา ว่าอย่างนั้นเถอะ ผลของความกลัวทุกข์ ผมก็เลยไม่เผชิญกับมันเลย ผมก็หันข้างให้เลย ผมก็หันหน้าหนีเลย แล้วจะให้ผมทำอย่างไรต่อล่ะ เพราะบอกว่าถ้ามันหันหน้าหนีเลยมันก็ไม่มีสิ่งใด แล้วเขาบอกเขาเบื่อๆ

ปฏิบัติไปแล้วนะ ไม่มีเบื่อ ปฏิบัติไปนะ มันจริงมันจังนะ เวลาภาวนาไม่เป็นนี่เบื่อ ภาวนาไม่เป็นนี่แสนทุกข์แสนยาก แต่ภาวนาเป็นแล้วนะ คนภาวนาเป็นมันพิจารณาแล้วมันแยกแยะของมันตามความเป็นจริงนะ มันเหมือนมีผล โอ้โฮ!

คนเราทำได้ผลประโยชน์ มันอยากได้มากขึ้นๆ มันจะมีความเพียรมหาศาลเลย นี่พูดถึงไอ้คำว่า “เบื่อ” ไม่มี ถ้าคนภาวนาเป็น แล้วถ้าภาวนาเป็นแล้วนะ มันจะเป็นความจริง อย่างที่ว่ามันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตังในหัวใจเลย ถ้ามันเป็นจริง เป็นจริงอย่างนั้น

ไม่ใช่อย่างที่เขาว่านี้ “เพราะผมคิดว่าเข้าใจแล้ว”

เพราะคิดว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจอะไร เข้าใจกิเลสไง เข้าใจว่ากลัวทุกข์นี้ไง ไปเข้าใจอะไร ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย ไม่มี

ถ้ามีความเข้าใจ ความเข้าใจก็รู้แจ้ง ถ้าเข้าใจนะ ปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะรู้หมดเลย ปัญหานี้เกิดจากอะไร คนที่เข้าใจแล้วเขาจะรู้จักเหตุ รู้จักที่มา รู้จักวิบาก คือผลของมัน แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร

อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเรา พระของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใครภาวนาไม่ได้ พยายามแล้ว เขาอดนอนผ่อนอาหาร เขาพยายามหาเหตุหาผลของเขา หาเหตุผลของเขาเพื่อทำให้มันดีขึ้นพัฒนาขึ้น

เพราะถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาต้องได้ความสงบของเขา เขาต้องได้ปัญญาของเขา เขาจะทำความเป็นจริงของเขา นั้นเพราะว่าเขารู้เหตุรู้ผลไง ถ้าเขารู้ตามความเป็นจริง เขาพยายามจะมีสติปัญญาทำให้มันขึ้นมาเป็นความจริงให้ได้

แต่นี่เราบอกเราเข้าใจ เราเข้าใจแล้วเขียนมาถาม “ผมกลัวทุกข์ เดี๋ยวนี้ผมไม่คลุกคลีกับมันแล้ว เดี๋ยวนี้ผมปลีกตัวเลย ผมไม่ทำกับมันเลย”

เราเป็นหนี้ แล้วบอกว่าเราใช้หนี้แล้ว เรายังไม่ได้ใช้ หนี้มันจะหมดไปได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ บอกเราเข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจเรื่องอะไร

ผมเป็นหนี้ แล้วผมใช้แล้ว แต่มันยังไม่ได้ใช้ ผมใช้แล้ว ลูกหนี้มันชอบ ลูกหนี้มันพูดอย่างนี้หมดน่ะ แต่เจ้าหนี้ไม่ชอบ

แต่หนี้เวรหนี้กรรม จะปฏิเสธอย่างไรก็อยู่ที่ความปฏิเสธ คำว่า “เข้าใจแล้ว” เข้าใจเรื่องอะไร เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติ แต่ปฏิบัติแล้วมันยังไม่ได้ผลตามความเป็นจริง ถ้าได้ผลตามความเป็นจริงนะ หนึ่ง จิตสงบระงับแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา จิตสงบระงับแล้วเรามีต้นทุน

นักกีฬาที่ฟิตดีแล้วยังไม่ได้ลงแข่งขัน ยังไม่มีผลงาน ไม่เคยชนะในการแข่งขันนั้น เขาจะไม่ได้รับรางวัล แต่ถ้านักกีฬาฟิตดีแล้วลงแข่งขัน แข่งขันกับกิเลส แข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม แล้วได้ชนะถึงได้รางวัล ถ้าได้รางวัล รางวัลนั้น นั่นน่ะคือความเข้าใจ

แต่นี่มันไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย สิ่งที่เห็นเป็นความจริงเป็นแค่ประสบการณ์ นี่คือคนเก่งในสนามซ้อมแต่ไม่เคยลงแข่งขัน ลงแข่งขันต้องเห็นกิเลสตามความเป็นจริงแล้วพิจารณาตามความเป็นจริง แล้วเวลาชำระล้าง ชำระตามความเป็นจริง มันจะถูกที่ถูกทางไง

ถ้ามันผิดที่ผิดทาง นี่ขนาดว่าเราเป็นชาวพุทธนะ แล้วมีจริตนิสัย มีการกระทำเพื่อความดีของเรา แต่เวลาทำไปแล้ว อดีตอนาคตไม่เป็นปัจจุบัน ไม่เป็นผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความสมควร ความพอดี เวลาปฏิบัติไปแล้ว อัตตกิลมถานุโยค รุนแรงเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค มีความสุข ติดสุขมากเกินไป

มัชฌิมาปฏิปทาคือความพอดี ความพอดี ความสมดุล ความว่าระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันพิจารณาต่อเนื่องกันไป เวลาถึงที่สุด อกุปปธรรม ผลของธรรมนะ

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

อกุปปธรรมไม่ใช่อนัตตา ผลของการประพฤติปฏิบัติ สัจธรรมมันอยู่ในหัวใจผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงถ้าทำถูกที่ถูกทาง เอวัง