เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะนะ ตั้งใจฟังธรรม ฟังสัจธรรม สัจธรรมเป็นสัจจะความจริงนะ สัจจะความจริงเป็นสัจจะความจริง แล้วความจริง คนจะเข้าสู่ความจริงต้องเป็นคนจริง คนไม่จริงมันเหลวไหล
มนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง เวลาคิด คิดอย่างหนึ่ง คิดนะ แต่เวลาพูดไม่กล้าพูดอย่างที่ตัวเองคิด เวลาทำจะเอาแต่สะดวกสบายไง มันเลยทุกข์ยากไง ทุกข์ยากเพราะความคิดนั้นน่ะ ความคิดมันหลอกหลอนตัวเอง แล้วจะพูดออกไปก็ไม่ได้ เวลาจะทำก็ทำไม่ได้อย่างตนเอง ดูสิ เพราะความคิดของตนมันทำให้เราทุกข์เรายาก
ถ้าเราทุกข์เรายากขึ้นมา เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา ให้หยุดความคิด หยุดความคิดก็จะหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเวลาปฏิบัติขึ้นมาก็หยุดไม่ได้ พอหยุดไม่ได้ขึ้นมาเพราะอะไร เพราะว่าไปดูความคิดๆ แรงเราสู้มันไม่ได้ไง
จิตนี้เหมือนช้างสารที่ตกมัน เวลามันคิดสิ่งใดมันฉุดกระชากลากไปหมด แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน มีแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชามันน่ะ ยอมจำนนกับความคิดของตน ยอมจำนนกับกิเลสของตน แล้วให้กิเลสของตนลากไปๆ ไง
เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านบอกให้หยุดความคิดๆ ตัวเองก็จะไปหยุดความคิด เอาอะไรไปหยุดความคิดล่ะ ก็ตามความคิดนั้นไป แล้วก็ไปสร้างความคิดใหม่ๆ ว่างๆ ว่างๆ ไง ว่างๆ เพราะไม่มีสติปัญญาสามารถจะเอามันได้ไง นี่ไง มันก็เลยทุกข์เลยยากอยู่อย่างนั้นน่ะ ทุกข์ยากเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตน
แต่เวลาทางวิทยาศาสตร์เขาว่านะ ทุกข์เพราะเราขัดสน ทุกข์เพราะว่าเศรษฐกิจเราไม่ดี เราคนทุกข์คนจน เราก็มีความทุกข์ความยาก เวลามองกันเขามองตรงนี้ มองว่าเราทุกข์เราจน เราเป็นคนทุกข์คนยาก
คนจนผู้ยิ่งใหญ่ หลวงตามหาบัวนะ มีบริขาร ๘ หาเงินช่วยชาติเป็นหมื่นๆ ล้าน ทองคำเป็นหลายสิบตัน นี่คนจนผู้ยิ่งใหญ่ เวลาความเป็นอยู่ของท่านไม่เห็นต้องเดือดร้อนสิ่งใดเลย ด้วยศีลด้วยธรรมของท่าน กลิ่นของศีลกลิ่นของธรรม ด้วยอำนาจวาสนาของท่าน พูดสิ่งใดคนก็เชื่อถือ พยายามช่วยเหลือชาติ ช่วยเหลือบ้านเมือง เวลาคนที่ทำคุณงามความดีเขาไม่ทำคุณงามความดีไปอวดใครหรอก
หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเล่าถึงหลวงปู่มั่น ถ้าพูดถึงทางโลกนะ เหมือนเศษมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดอำนวยความสะดวกเลย อยู่แต่ในป่าในเขา อาศัยแต่ชาวบ้านคนทุกข์คนจนในป่าในเขาที่เขาใส่บาตร เขามีแต่ข้าวเปล่าๆ เท่านั้นน่ะ มันจะมีอะไรสุขอะไรสบายขึ้นมา ถ้าว่าจะแสวงหาความสุขทางโลก ไม่มีสิ่งใดเป็นความสุขเลย แต่ถ้าเป็นทางธรรมๆ เศรษฐีธรรม เป็นอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ ครอบเหนือโลกธาตุ เหนือ ๓ โลกธาตุ
นั่นน่ะถ้าเป็นความสุข ความสุขที่ชำระกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจได้แล้ว มันประเสริฐเลอเลิศอย่างนั้นน่ะ ถ้ามันประเสริฐเลอเลิศ มันจะทำความจริง คนต้องเป็นคนจริงไง ถ้าคนจริงจะได้ความจริงไง
เรามีแต่ความจอมปลอม คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง เป็นสัตว์ประหลาด เวลาสัตว์ประหลาดขึ้นมา เวลาจะปฏิบัติธรรมก็คิดอีกอย่างหนึ่ง คิดแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากขึ้นมา คิดแต่อ้างธรรมะ อ้างธรรมะไง กิเลสบังเงาไง ศึกษามามาก รู้มามาก รู้ทุกอย่าง แต่ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรเลย รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้ความคิดของตน ถ้าไม่รู้ความคิดของตน เห็นไหม
เราจะทำความจริงของเราขึ้นมา ถ้ามีความจริงของเราขึ้นมา เราทำความจริงขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมา เรามีสัจจะมีความจริง เรามีศีล เวลามีศีลขึ้นมาก็เป็นทุกข์เป็นยากขึ้นมา เวลาถือศีลลำบากลำบนไปหมดทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่ทำอะไรเลย
ถ้าเราคิด เราคิดนี่เป็นมโนกรรม กรรมเกิดจากการกระทำ มโนกรรม มโนกรรมมันตอกย้ำๆ พอตอกย้ำขึ้นมาจนเป็นจริตเป็นนิสัย เวลามีความคิดที่ดีขึ้นมา มีคุณธรรมขึ้นมา เราคิดอย่างนี้ไม่ได้ เราคิดอย่างนี้มันคิดใฝ่ต่ำ มนุสสติรัจฉาโน คิดแบบสัตว์ มนุสสเทโว คิดแบบเทวดา มนุสสเทโว มนุษย์นี่แหละยิ่งใหญ่กว่าเทวดาอีก เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราเทศนาว่าการ เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์ๆ
เทวดา อินทร์ พรหมที่ไหนจะมาฟังเทศน์มนุษย์ มนุษย์ที่ไหนจะยิ่งใหญ่กว่าเทวดา มนุษย์ที่มีคุณธรรมไง มนุษย์ที่มีสัจจะความจริงนี่ไง ถ้ามนุษย์ที่มีสัจจะความจริง ความจริงมาจากไหนล่ะ มาจากไหน มันต้องมาจากใจไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเป็นจริงๆ ในหัวใจแล้ว มันสติวินัย มันจะคิดสิ่งใด เหมือนหลวงตาท่านพูดเลย ความคิด เวลาจะคิดสิ่งใดขึ้นมา เหมือนไปแบกไปหาม
ไอ้เราคิดเพลิน คิดจนเคยตัว แต่คนที่เขามีสติปัญญาเขาคิดอะไรเหมือนกับจะไปแบกไปหาม ถ้าไปแบกไปหาม ถ้าเป็นของหนัก เราจะทำความผิด เห็นไหม เราไปแบกหามซุงทั้งท่อน แล้วซุงทั้งท่อนนี่ความคิดอันหนึ่ง มันจะคิดทำอย่างนั้นไหม มันจะคิดอะไรที่มันฉุดกระชากลากไปไหม แต่ถ้าเราไม่ทันมันๆ มันฉุดกระชากเราไปหมดเลย
แต่เวลาคนที่เขาเท่าทันมันหมดแล้ว เขาปราบปรามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สังโยชน์เครื่องร้อยรัด มันไม่ร้อยรัดแล้ว ความคิดเป็นความคิด จิตเป็นจิต ต่างอันต่างจริงต่อกัน ความคิดก็เป็นความจริงอันหนึ่ง เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่มันต้องอาศัยธาตุรู้ อาศัยผู้รู้เกิดบนธาตุรู้นั้น ธาตุรู้นั้น ด้วยคุณธรรมในสัจจะความจริงอันนั้น ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ความจริงกับความจริงอยู่ด้วยกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ใช่สัตว์ประหลาด
สัตว์ประหลาดคิดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง เพราะสังโยชน์ร้อยรัดไปรัดมันไว้ มันไม่รู้จักความเป็นจริงอันนั้น แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว มันมีนอกมีใน ความนอก ความนอกเป็นความทุกข์ข้างนอกนี่ เวลาความนอกขึ้นมา เราทุกข์เพราะเราเป็นคนทุกข์คนจน
เวลาคนจนผู้ยิ่งใหญ่ เขาคนจน คนที่เขามีศีลมีธรรมอยู่ในป่าในเขาของเขา ดูสิ ฆราวาสธรรมนี่แหละถือศีล ๘ ขึ้นมา ถ้าเขามีสติมีปัญญาของเขา เขาได้มีสติปัญญาควบคุมดูแลจิตใจของเขา เขารักษาน้ำใจของเขา เขาก็มีความสุขของเขา เขาพอใจในความเป็นอยู่ของเขา เขามีความสุขของเขา ความสุขเพราะมันพอใจในความสุขอันนั้นไง มันไม่ต้องให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันลากจูงไปไง นี่ถ้ามันไม่ลากจูงไป
ความคิดแบบนอกๆ ความคิดข้างนอกส่งออกไง เวลาใครจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ปฏิบัติแล้วมันจะมีฤทธิ์มีเดช นั่นอภิญญา มันอยู่นอกนู่นน่ะ มันไม่เข้ามาในใจเลย ถ้ามันเข้ามาในใจมันต้องทำความสงบของใจก่อน ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว ภายในๆ ภายนอก ภายใน ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่าในเขา พระธุดงค์นะ มีผ้า ๓ ผืน หน้าหนาวมันหนาวขนาดไหน มันหนาวกว่านี้เยอะ อยู่ในป่าในเขานี่นะ น้ำค้างนี่แฉะหมดเลย ตื่นเช้ามาเสียงเปาะแปะๆ เลย นี่น้ำค้างมันลง ใบไม้นี่น้ำหยดเลย มุ้งเปียกหมด แล้วดูสิ กลางคืนมันจะหนาวขนาดไหน ถ้ารับรู้อยู่ หนาวตายเลย
พุทโธๆ เวลาจิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามามันปล่อยหมด เข้าสู่สมาธิ สักแต่ว่า ปล่อยไว้หมดเลย เห็นไหม ของเรา ถ้าเป็นเรานะ ตาย โอ๋ย! ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่มีใครมาดูแลเลย โอ้โฮ! ทุกข์เลย มันพาล มันพาลมันจะไปหาเรื่องกับเขา ทั้งที่เราตั้งใจของเราใช่ไหม เราตั้งใจของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา บวชมาเพื่อค้นหาสัจจะความจริง ถ้าค้นหาความจริงขึ้นมา ถ้าอยู่ในสังคม สังคมมันก็พึ่งพาอาศัยกัน ต่างคนต่างจะพึ่งพาอาศัยกัน ต่างคนต่างช่วยเหลือเจือจานกัน มันก็พึ่งแต่คนอื่น พึ่งคนอื่นมันไปพึ่งข้างนอกใช่ไหม เราต้องหลีกเร้นจากสังคม เราเข้าไปหาที่วิเวกเป็นสัปปายะ เป็นที่ค้นคว้าหาใจของตนใช่ไหม ถ้าเราค้นคว้าหาหัวใจ เราเป็นผู้เจตนา เป็นผู้ค้นคว้า เป็นผู้ตั้งใจมาเอง เราตั้งใจมาเอง ตั้งใจมาเพื่ออะไร เพื่อค้นหาหัวใจของตน ถ้าค้นหาหัวใจของตน ถ้าถึงเวลาแล้ว ถ้ามีบุญกุศล ถ้าอากาศมันปลอดโปร่ง อากาศดี ที่นี่บรรยากาศดีมาก โอ้โฮ! อากาศเบา หายใจคล่องตัวมาก
นั่นมันก็เป็นฤดูกาล ฤดูกาล เห็นไหม เวลาพระที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาเขาไปหา เขาไปหาที่อากาศไม่อับ อากาศที่ปลอดโปร่ง อากาศที่ดี แต่เวลาฤดูกาลของมัน มันเข้าสู่หน้าหนาวมันก็หนาวเหน็บ มันเป็นเรื่องธรรมดา เราแสวงหาที่อย่างนี้เพื่อมาค้นคว้าหาใจของตนใช่ไหม เวลาใจของตน ถ้ามันพอใจๆ มันก็พอใจใช่ไหม เวลามันไปเจออากาศหนาวขึ้นมา มันไม่พอใจมันก็ดิ้นรน ถ้ามันดิ้นรน แล้วใครเป็นคนแสวงหาล่ะ จะไปโทษใคร
“ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่มีใครดูแลเลย” นี่เวลากิเลสมันขึ้นมานะ ก็เอ็งหาเอง เราหาของเรา เราหาของเรา เราจะเอาชนะกิเลสของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาเกื้อกูลเกื้อหนุนหรอก ไม่ต้อง
ถ้าคนเกื้อหนุนอยู่ ดูสิ เวลาเราอยู่ไม่ได้ต้องหาคนค้ำชู ไม้หลักปักขี้ควาย แล้วก็ค้ำกันไปค้ำกันมา ก็ค้ำกันอยู่นั่นน่ะ ไม่โตมันสักที ไอ้นี่มันต่างคนต่างหาเพื่อจะเป็นเสาหลัก ไม่ใช่ไม้หลักปักขี้ควาย ถ้ามันจะเป็นเสาหลักขึ้นมามันต้องมีสติมีปัญญา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา มันต้องมีความจริงไง ถ้ามันจริงขึ้นมา ถ้าตัวมันจริง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง เป็นอริยสัจนะ สัจจะความจริงที่ยิ่งใหญ่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เราต่างคนต่างเกิดมาเป็นมนุษย์นะ เรียกร้องสิทธิ์ๆ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ให้แก่บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แล้วเราก็มีสิทธิ์ไง ถ้าเรามีสิทธิ์ ทำไมเราไม่ค้นคว้าล่ะ นี่ไง พินัยกรรมอยู่นี่ไง พินัยกรรมอยู่นี่ เราค้นหาทรัพย์สิ หาสมบัติสิ แล้วสมบัติอะไรมันจะเลิศกว่าธรรม สมบัติอะไรมันจะเลิศกว่าธรรมะ ธรรมะที่มันมีอยู่ ความจริงนี่ แล้วทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนทำได้ทั้งนั้นน่ะ เดินจงกรมไม่เป็นหรือ นั่งสมาธิไม่ได้ใช่ไหม ไม่มีหัวใจหรือ ก็มีกันทุกคนทั้งนั้นน่ะ แต่มันเหลวไหล สัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง
ถ้าเป็นความจริงๆ นะ เราต้องจริงของเราก่อน เราต้องมีสัตย์ก่อน ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเราเวลาเข้าพรรษา อธิษฐานธุดงควัตร คำว่า “ธุดงควัตร” ศีลในศีลไง ศีล ๒๒๗ เวลาบวชสมบูรณ์แบบแล้ว แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราตั้งกติกาเรามากขึ้น พอตั้งขึ้นมา เอาความจริงให้มากขึ้น เอามากขึ้นแล้ว ความจริงอันนั้นอยู่ที่ไหน อันนั้นศีลก็คือข้อห้าม ความจริง ศีลคือความปกติของใจ ศีล ศีละคือมั่นคง ใจมั่นคง ใจไม่หวั่นไหว ใจไม่วอกแวก นั่นคือตัวศีลแท้ ถ้าศีลแท้ ข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ธุดงควัตรๆ ก็เป็นกติกา เป็นข้อห้าม เป็นการควบคุมใจเรา ถ้าใจเรา ใจเราต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา เวลาเป็นจริงขึ้นมา มันต้องค้นคว้า ต้องหาความจริง ความจริงอันนี้เข้ามาส่งเสริม เข้ามาเกื้อกูลกัน ความเกื้อกูลในหัวใจนี้เพื่อรักษาหัวใจของเรา นี่ถ้ามันเป็นจริงมันเป็นจริงอย่างนี้ ถ้ามันมีสัตย์
เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกเลย เวลาเข้าพรรษานะ ทั้งๆ ที่หลวงปู่มั่น เข้าหาท่านได้ยากมากนะ คนที่จะเข้าไปหาหลวงปู่มั่นได้ต้องเป็นคนจริง คนตั้งใจจริง พอขนาดคนตั้งใจจริงนะ หลวงตาท่านตั้งกติกาของท่านที่วัดป่าบ้านตาดกับลูกศิษย์ลูกหาทั้งหมด ท่านบอกว่า ถ้าเป็นลูกศิษย์เราต้องถือธุดงค์ ถ้าไม่ถือธุดงค์ไม่ใช่ลูกศิษย์ของเรา
เหตุผลของท่าน ท่านบอกว่า ธุดงควัตรมันมีอยู่ในตำรา ต่อไปแล้วมันก็จะเหลือแต่ตำรา มันไม่มีอยู่จริงในการกระทำ ฉะนั้น เราต้องกระทำไว้ กระทำไว้ให้เป็นแบบอย่างกับอนุชนรุ่นหลัง นี่คือความเห็นของท่านนะ แต่จริงๆ ลึกๆ แล้วท่านมีความฝังใจมา ความฝังใจมา ท่านเล่าให้ฟังเองว่า สมัยอยู่กับหลวงปู่มั่น คนที่จะเข้าไปหาหลวงปู่มั่นมีแต่คนที่จริงจัง คนที่มั่นคงเท่านั้นน่ะ แล้วเวลาก่อนเข้าพรรษา ทุกคนก็อธิษฐานพรรษา อธิษฐานธุดงควัตรกัน แล้วพอไปสัก ๕ วัน ๗ วัน เลิกไปๆ ล้มเหลวไปทั้งนั้นเลย
ท่านถึงได้พูด ท่านเล่าให้ฟังเป็นประจำนะว่าท่านสนิทคุ้นเคยกับหลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ ท่านสั่งหลวงปู่หล้าไว้ว่า เวลาจะเข้าหนองผือ กลับมาวัดมันจะเป็นทางสองแพร่งแล้วมาเจอกัน “หล้า ถ้ายังไม่เจอเรา อย่าเพิ่งเข้าวัดนะ ต้องเจอเราก่อน” นัดแนะกันมาเจอกันกลางทาง มีสิ่งใดเจือจานกัน เพราะไอ้พวกนั้นมันล้มเหลว มันเลิกไปหมดแล้ว
นี่เวลาธุดงค์นะ อธิษฐานกันเกือบทั้งวัดเลย สุดท้ายแล้วเหลือองค์สององค์อยู่ก่อนออกพรรษา นี่ไง ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริงอย่างนี้ เห็นไหม หลวงตาท่านก็จริง หลวงปู่หล้าท่านก็จริง หลวงปู่หล้านะ ขนาดท่านบิณฑบาตมา อะไรที่มันชอบใจ เรานะ เราคนภูมิภาคใด ได้อาหารที่ถูกปากเพราะเราเคยคุ้นเคยกับอาหารนั้น มันก็อยากฉันเป็นเรื่องธรรมดา พออยากฉันเป็นเรื่องธรรมดา ท่านบอกว่า ถ้าอะไรอยากฉัน ท่านจับเขวี้ยงเข้าป่า ท่านเอาออกจากบาตรนะ แล้วปาเข้าป่า นี่คนที่เขาอยากได้ตามแต่กิเลสมันปรุงนะ ก็ยังสู้ไม่ไหว แต่นี่ท่านทำของท่านได้แล้ว ขนาดที่ได้มาแล้ว เป็นสิทธิความชอบธรรมแล้ว ท่านยังเอาเขวี้ยงเข้าป่า
ไม่ใช่ดูถูกทานของเขานะ ไม่ใช่ทำลายทานของใคร ทานของเขา เขาได้ใส่บาตรแล้ว บุญกุศลของเขาสมบูรณ์แบบแล้ว พระที่บิณฑบาตมา บิณฑบาตมาพื่อขบฉัน แต่การจะขบฉันนั้น ขบฉันเพื่อดำรงธาตุขันธ์ แต่ถ้ามันจะมีคุณธรรมมากขึ้น กิเลสตัณหาความทะยานอยากอยากกินก่อนไง เวลาเราอยากกิน อะไรอยากกิน ยังไม่ได้กิน ปากยังไม่ได้กินเลย กิเลสมันกินก่อนแล้ว มันอยากนัก ปามันทิ้ง อันนี้ความค้นคว้าหาหัวใจของตน พยายามตั้งกติกาขึ้นมาเพื่อปฏิบัติไง
เวลาธุดงควัตร ธุดงควัตรมันเป็นศีลในศีล แต่ธุดงควัตรมันเป็นเครื่องขัดเกลา มันก็ยังเป็นข้อห้าม มันก็ยังเป็นกติกาอยู่วันยังค่ำนั่นแหละ แต่ถ้าเป็นจริงๆ มันต้องเป็นจริงโดยการกระทำของเรา ถ้าเป็นจริงๆ มันต้องมีสติปัญญาของเรา เวลาสติปัญญาขึ้นมา คิดค้นหาด้วยสติด้วยปัญญาจากภายนอก ภายใน
ภายนอก หนาวๆ หนาวๆ พุทโธๆ จนจิตมันหดเข้ามา หดเข้ามาจนอยู่ภายในนะ เอ๊อะ! สงบนิ่ง มีความสุข อบอุ่นอยู่ภายในหัวใจ อากาศหนาวไม่เกี่ยว นี่ไง แต่เวลาเกิดปัญญาๆ ขึ้นมา ปัญญาที่มันจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากภายใน นี่เกิดขึ้นจากภายใน ยังไม่ใช่เกิดภาวนามยปัญญาอะไรเลยนะ ยังไม่ได้ภาวนา ยังไม่เกิดอริยสัจเลย
เกิดอริยสัจต้องทำจิตสงบเข้ามาก่อน จิตสงบแล้วไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นกิเลสของตนไง
ใครเคยเห็นกิเลสของตนบ้าง ใครเคยเห็นกิเลสตัวเองบ้าง เห็นแต่กิเลสคนอื่น อู้ฮู! คนนู้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี คนนั้นก็ไม่ถูกต้อง คนนั้นทำอะไรผิดหมดเลย แต่ฉันนี่เทวดา คนอื่นผิดหมดเลย กิเลสคนอื่นชี้ได้หมดเลย แต่ของตัวไม่เคยเห็น
นี่ไง ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงขึ้นมา นั่นไง คนที่จะละกิเลสได้มันต้องรู้จักกิเลสของมัน คนไข้จะรักษาโรคหายได้ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร แล้วกินยาอะไรโรคมันถึงจะหาย
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสของเราเป็นอย่างไร แล้วเรามีความสงบระงับไหม เรามีสัมมาสมาธิไหม เรามีภพ มีธาตุรู้ไหม ถ้ามีธาตุรู้นะ นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน
จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตของเรามันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วในชาติปัจจุบันนี้มันมาเกิดเป็นเรา จิตของเราปฏิสนธิจิต ไม่ใช่วิญญาณรับรู้ วิญญาณอายตนะ ไม่ใช่
ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ ตัววิญญาณปฏิสนธิตัวนั้นน่ะ ถ้าจิตเข้าไปที่นั่น นั่นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานที่จะรื้อภพรื้อชาติเขารื้อกันตรงนั้น เขาไม่ได้สอพลอกิเลส เอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชากิเลส ไปบูชากิเลสในใจของตน แล้วก็สำคัญตนว่าฉันเป็นนักปฏิบัติผู้ยิ่งใหญ่ ฉันเป็นนักปฏิบัติผู้ยิ่งใหญ่นะ ฉันมีคุณธรรมสูงส่งนะ นั่นน่ะเอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชากิเลส ให้กิเลสควบคุมเราอีกทีหนึ่ง แล้วเราก็หลงใหลไปกับมัน เที่ยวไปโฆษณาว่าฉันเป็นผู้ที่ปฏิบัติผู้ยิ่งใหญ่ เที่ยวไปโฆษณาข้างนอกว่าฉันเป็นผู้ที่ปฏิบัติที่ยิ่งใหญ่ แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่ทำอย่างนั้น ท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน ท่านเป็นความจริงของท่าน
นี่เวลาพูดถึงสัจจะความจริง ธรรมะเป็นความจริง ผู้ที่แสวงหาต้องจริง ต้องมีสัตย์ ต้องมีความมานะอดทน ต้องมีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะเพื่อค้นคว้าหาความจริงในใจของตน ในใจของตน ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เอวัง