เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะนะ วันนี้วันพระ วันพระนะ สมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แสดงธรรมๆ เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง การรื้อสัตว์ขนสัตว์คือการประพฤติปฏิบัติ
เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วพระเจ้าพิมพิสารเป็นคนขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ลัทธิศาสนาอื่นเขามีวันสำคัญในศาสนาของเขา ทำไมพระพุทธศาสนาไม่มีวันสำคัญในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติไง ให้วันพระเล็กพระใหญ่เป็นวันทำบุญกุศลของชาวพุทธไง
ถ้าวันทำบุญกุศลของชาวพุทธขึ้นมา เราไปวัดไปวาเราไปจำศีล ไปจำศีลก็เพื่อฟื้นฟูหัวใจของเรา ไปฟังธรรมๆ ฟังธรรมก็เพื่อสติปัญญาของเรา
วันนี้วันพระ วันพระในพระพุทธศาสนา ในศาสนา ในลัทธิความเชื่อต่างๆ ในปฏิทิน วันหยุดวันสำคัญในโลกนี้มหาศาล มหาศาลนะ ซ้อนกันๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ลัทธิความเชื่อ แต่ความจริงๆ ความจริงในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เชื่อใคร ให้เชื่อในผลการประพฤติปฏิบัติไง แต่ของเรา เรายังไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เราเชื่อเขาไปเรื่อย
ศรัทธาความเชื่อนะ ศรัทธาความเชื่อเป็นหัวรถจักร หัวรถจักรดึงให้เราขึ้นมาศึกษาธรรมะขององค์ศมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษาแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมากิเลสมันหลอกทั้งนั้นน่ะ
ถ้ากิเลสมันหลอกแล้วเราไม่เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่เชื่อนะ เราเชื่อผลในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราเชื่อในผลการประพฤติปฏิบัติ เวลามันเกิดความมหัศจรรย์ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
ถ้าสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เราก็แปลกใจนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบวชมาตั้งแต่เป็นสามเณร ทั้งชีวิตของท่าน ท่านอยู่ในเพศสมณะ ท่านมีความสุขอย่างไร
ของเราอยู่ทางโลกๆ เราว่าเรามีความสุขของเราๆ ความสุขแบบนี้มันเป็นความสุขแบบโลกีย์ ความสุขทางโลกๆ ไง ความสุขเหมือนทางโลกเลย เวลาคนกินเหล้าเมาไง พอกินเหล้าเมา “อิ่มแล้ว พอแล้วแหละ จะไม่กินอีกแล้ว” เดี๋ยวกินอีกแล้ว เมาแล้วเมาเล่า พอเสื่อมเมามันก็อยากเมาต่อไง นี่ก็เหมือนกัน มีความสุขแล้ว สุขอะไร
แต่ถ้าเป็นความจริง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตมันคืออะไร จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ ตั้งแต่พระเวสสันดรไปนะ เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะในพระพุทธศาสนา การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสร้างอำนาจวาสนาบารมีของตน ถ้าสร้างอำนาจวาสนาบารมีของตนเป็นจริตเป็นนิสัยๆ มันจะฟังแต่สิ่งที่ดีๆ แต่ถ้ามันมีอำนาจวาสนาขึ้นมา มันคิดแต่เรื่องดีๆ เลือกความคิดของเรานะ เลือกคิดแต่เรื่องดีๆ มันไม่คิดแต่เรื่องที่จะชักนำเราไปในทางที่เสียหาย นี่ถ้ามีอำนาจวาสนาขึ้นมา
คนที่อ่อนแอๆ คิดสิ่งใดก็คิดล้มลุกคลุกคลาน คิดสิ่งใดก็พึ่งตัวเองไม่ได้ไง ถ้าพึ่งตัวเองไม่ได้ แพ้ใจของตัวเองก่อนไง พอแพ้ใจของตัวเองก่อน คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีของเขา เขาสร้างสมบุญญาธิการของเขาขึ้นมา เขามีความคิดที่ดีๆ เขามีความคิดที่จะชนะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก
แล้วถ้ามีความคิดที่จะชนะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ความคิดมันก็เกิดดับ ความคิดเกิดดับ ทำอย่างไรจะให้เรามั่นคง ทำให้เรามั่นคง เขาก็จะหัดประพฤติปฏิบัติ เขาจะหัดภาวนาของเขา
เวลาภาวนาของเขา เขาทำใจของเขาให้มั่นคงขึ้นมา ถ้าใจของเขามั่นคงขึ้นมา กิเลสมันหลอกไม่ได้ เวลากิเลสมันหลอกไม่ได้ นั่นคือความสุขไง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันเป็นอิสรภาพชั่วคราวๆ ไง
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนเรื่องมรรคๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือรั้วกั้น ถ้าเราทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ กั้นมันไว้ๆ ว่าทำอย่างนั้นมันจะผิด ทำอย่างนี้ทำไม่ได้ รั้วกั้นมันไว้ ถ้ามันเป็นธรรมๆ ก็เป็นธรรมในหัวใจของเรา
ถ้าเป็นธรรมในหัวใจของเรา แล้วเราจะหาหัวใจของเราที่ไหน ถ้าเราหาหัวใจของเราไม่เจอ ถ้าเรายังทำความสงบของใจเราไม่ได้ มันจะรู้เห็นได้อย่างไร ความรู้ความเห็น จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ก็ตัวจิตนั่นน่ะมันมืดบอด เพราะตัวจิตนั้นมันมีอวิชชา เพราะมันไม่รู้ในตัวของมัน พอตัวของมัน เวลาทำความสงบเข้ามาก็เข้าสู่ตัวของมันนั่นแหละ
เวลาเข้าสู่ตัวของมัน มันก็มีความสุขของมันแล้ว เห็นไหม แต่มีความสุขแล้วมันก็ไม่มีความสามารถที่จะปลดเปลื้องอวิชชาในหัวใจของมันได้ มันก็ต้องฝึกหัดใช้ปัญญาๆ
ปัญญาที่เกิดขึ้นนี่โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เหนือโลก เหนือโลกเหนือสงสาร เหนือที่ไหนล่ะ ก็เหนือที่ในหัวใจของเรานี่ไง มันต้องเอาชนะตนเองก่อนๆ ชนะเรานี่ไง
ในพระพุทธศาสนา ในลัทธิศาสนาความเชื่อต่างๆ ทับซ้อนกันๆ ไง ใครจะเชื่อสิ่งใดๆ มันเชื่อด้วยความสะดวกด้วยความสบายไง ในเมื่อเราว้าเหว่ เราไม่มีที่พึ่ง เราก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งๆ ไง สิ่งใดที่มันเหนือกว่าเรา เราก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นที่พึ่ง
แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจของเรามันเหนือโลกเหนือสงสาร เหนือวัฏฏะ ดูสิ เทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจที่มันเหนือหมดเลย เพราะมันเหนือแล้วมันถึงผลของวัฏฏะไง แล้วจะมาเหนืออย่างไรล่ะ
เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็เร่ร่อนเหมือนกัน เราก็มีความทุกข์ความยากในใจของเราเหมือนกัน แต่สิ่งที่มีคุณค่าๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ ไง กราบธรรมที่ไหน กราบธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มันสถิตธรรมเต็มหัวใจอันนั้นไง เพราะมันสถิตธรรมเต็มหัวใจนั้น ถึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้ให้เราประพฤติปฏิบัตินี่ไง ถึงมีวันพระไง
วันพระ วันโกน เราแสวงหาของเราไง คนที่แสวงหาได้มากก็ได้มาก คนที่แสวงหาได้น้อย คนที่ไม่แสวงหาเลยไง “เราเกิดมาเราก็มีความทุกข์ความยากพอสมควรอยู่แล้ว เราจะมาทุกข์มายาก”...เขามองว่าความทุกข์ความยากไง
มันเหมือนกับการทำงาน เวลาทำงานขึ้นมา ทำงานต้องอาบเหงื่อต่างน้ำก็คือการทำงาน พระเราก็ต้องทำงานเหมือนกัน เวลาบวชเป็นพระๆ บวชเป็นตามประเพณี ประเพณีก็มาบวชพระ บวชเพื่อให้พ่อแม่ได้บุญกุศลไง บุญกุศลที่ไหน บุญกุศลที่เวลาลูกบวชแล้วไปค้ำจุนศาสนา ในทางภาคเหนือเขาเอาไม้ค้ำโพธิ์ๆ เหมือนค้ำศาสนา
นี่ก็เหมือนกัน เอาเลือดเนื้อเชื้อไขมาบวชในพระพุทธศาสนา ให้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สืบทอดกันมา สืบทอดมาด้วยพระ ด้วยการท่องบ่น ด้วยการศึกษาไง ทรงจำธรรมวินัยๆ เราได้บุญตรงนี้ พ่อแม่ได้บุญ ๑๖กัป
ไอ้ลูกก็มาศึกษาๆ มาให้เป็นคนสุก คนสุกคือให้รู้เท่าทัน ให้ชนะกิเลสในใจของตน ให้ชนะกิเลสในใจของตนนะ ออกไปมีครอบครัวจะได้เป็นที่พึ่งที่อาศัยไง จะพาครอบครัวไปให้เบิกบาน ไม่ให้ไปทุกข์ไปยากไง นี่ก็เป็นประเพณี เห็นไหม เวลาบวชมา บวชมาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง
แต่ถ้าผู้ที่บวชแล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ไง จะพ้นจากทุกข์ก็ต้องขวนขวายมีการกระทำขึ้นมาไง ที่ว่ามันเหนือโลกๆ มันจะเหนือตรงนี้ไง มันเหนือตรงที่หัวใจไง ถ้าหัวใจมันเหนือโลก เหนือโลกเพราะอะไร เหนือโลกเพราะมันมีสติมีปัญญา มันชนะตนเองคือชนะกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน ถ้าชนะกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตนแล้ว มันจะมีเภทมีภัยมาจากไหน
โลกก็คือโลกไง เราเกิดมากับโลก เราอยู่กับโลกนะ ผลของวัฏฏะ ผลของกรรมไง เจ้าชายสิทธัตถะที่เกิดมาก็เกิดมาเพราะได้สร้างคุณงามความดีมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ชาติสุดท้าย ชาติสุดท้ายสิ่งที่เกิดมาๆ ผลของวัฏฏะ ผลของเวรของกรรมไง
นี่ก็เหมือนกัน ที่เราเกิดเราตายกันอยู่นี่มันก็ผลของการกระทำของเรานี่ไง แต่การกระทำ กระทำแล้วเราจะทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีของเรา ทำเพื่อให้จิตใจมันเบิกบาน ทำเพื่อให้หัวใจมันมีสำนึก มีสำนึกว่า งานของเราๆ งานที่มาบวชเป็นพระๆ งานที่เรามาประพฤติปฏิบัติ
งานทางโลกเขาทำกันทั้งนั้นน่ะ พระเพิ่งบิณฑบาตกลับมา นี่งานทางโลก ปัจจัย ๔ พระก็ต้องทำงาน บิณฑบาตเลี้ยงชีพๆ ชีวิตนี้มันต้องการอาหาร มันต้องมีปัจจัยเครื่องอยู่อยู่แล้ว
ทีนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมวินัยไว้กับบริษัท ๔ไง บริษัท ๔ เช้าขึ้นมาก็อยากได้บุญกุศล อยากทำบุญกุศลของเรา เราต้องหุงหาอาหารเพื่อเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ข้าวปากหม้อเราก็ตักบาตรใส่ผู้ทรงศีลๆ เพราะผู้ทรงศีลท่านไม่มีอาชีพของท่าน แต่ท่านก็ต้องดำรงชีพของท่าน ท่านก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งของท่าน นี่งานของพระ งานของฆราวาสที่ทำบุญกุศลขึ้นมาไง
แล้วงานของฆราวาส ฆราวาสทำบุญกุศลนะ กินอาหารแล้วก็ออกไปทำหน้าที่การงานของตนไง หาสิ่งนั้นไว้เพื่อดำรงชีพต่อไปไง
งานของพระๆ ทำภัตกิจเสร็จแล้วเข้าทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่งานของพระไง งานที่ว่าจะรื้อภพรื้อชาติไง เหนือโลกๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาๆ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานไง คนที่เบิกบานได้มากน้อยแค่ไหน คนที่ไม่เบิกบานเลย คนที่หมักหมม การทำมาหาอยู่หากินของเขาทำด้วยความมุมานะบากบั่นของเขา ถ้าเขามีบุญของเขา ประสบความสำเร็จของเขา เขาก็ชื่นใจของเขา
ถ้าเขาไม่มีบุญกุศลของเขา ทำสิ่งใดขาดตกบกพร่องไป เขาก็มีความทุกข์ความยากในหัวใจ ผู้ที่มีบุญกุศลทำสิ่งใดแล้วสมความปรารถนา นี่มีบุญกุศล มีความสุข มีความปรารถนาในชีวิต สิ่งใดที่เขาได้บุญกุศลของเขาเพื่อประโยชน์กับเขา เขาก็ทำประโยชน์กับโลกของเขาเพื่อประโยชน์กับเขา ถ้ามีบุญกุศลทำสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จ นั่นก็เป็นเรื่องของเขา นี่มันเป็นเรื่องหน้าที่การงาน เรื่องเวรเรื่องกรรม
แต่ถ้าใครมีสติมีปัญญา เวลาเขาทำหน้าที่การงาน เขาประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์กับโลกอยู่แล้ว เขาจะหาประโยชน์กับหัวใจของเขา เขาจะขวนขวายหาเวลาของเขาเพื่อทำความสงบของใจ เพื่อค้นคว้าสัจจะความจริงในใจของเขา แล้วเวลาคนที่มีสติมีปัญญาของเขาที่อยากจะกระทำนะ “ทางฆราวาสเป็นทางคับแคบ ทางฆราวาสเป็นทางคับแคบ” ในพระไตรปิฏกพูดไว้ทุกกระทงเลย
ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวินัย “ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ ทางของสมณะเป็นทางที่กว้างขวาง”
“ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ” ไอ้คนที่มันตีตามกิเลสก็บอกว่านี่เห็นแก่ตัวๆ
แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีสิ่งใดเห็นแก่ตัว ท่านพูดความจริงเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดแล้วหนึ่งไม่มีสอง
ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะกาลเวลาของเขา คับแคบเพราะหน้าที่การงานของเขา คับแคบเพราะเขากระเสือกกระสน เวลาที่จะมาประพฤติปฏิบัติหาได้ยาก อย่างมากก็ได้ตอนก่อนนอน ตื่นนอน นั่นน่ะได้เวลาโอกาสปฏิบัติของเขา นี่คับแคบ คับแคบเพราะไม่มีเวลา คับแคบเพราะความจำเป็นบีบคั้นชีวิตของเขา คับแคบเพราะความเป็นจริง
ทางของสมณะกว้างขวาง ทำภัตกิจเสร็จแล้วเข้าสู่ทางจงกรม เข้าสู่เรือนว่าง พยายามประพฤติปฏิบัติของตน หน้าที่การงานของตนๆ ไง มีการกระทำขึ้นมา ถ้ามันจะประเสริฐ มันประเสิฐที่นี่ไง
คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอยู่ ๖ ปี พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะขวนขวายแสวงหา แต่เวลาจะเป็นจริงก็เป็นจริงในใจของพระโมคคัลลานะ ของพระสารีบุตร
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะได้ความจริงๆ เราต้องได้รสชาติไง รสชาติคือองค์ของมรรค รสชาติคือศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีรสมีชาติ
เวลามันทุกข์มันยากนี่แสนทุกข์แสนยาก เวลามันทุกข์มันยากนะ รสของทุกข์ ใครๆ ก็รู้จัก รสของธรรมๆ รสที่มันอิ่มเอิบ รสที่มันมีความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วถ้าเกิดปัญญาโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์นี่มันไม่มีหรอก เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาวนามยปัญญาๆ ปัญญามันเกิดจากมรรค
นี่ก็เหมือนกัน แต่เวลาไปศึกษาแล้ว ศึกษามันก็เป็นสุตมยปัญญา คือการศึกษาทั้งนั้น เวลาศึกษามันก็เป็นความจำทั้งนั้น ความจำ ดูสิ ซื้อโทรศัพท์มา รุ่นของใครใช้ได้มากได้น้อย รุ่นของใคร รุ่นใหม่มันใช้ได้มากกว่า
นี่จำมาขนาดไหนมันก็คิดได้แค่นั้นน่ะ คิดได้ตามที่เขาทำมาให้นั่นน่ะ เพราะมันเป็นการศึกษาไง สุตมยปัญญาไง แต่เวลาภาวนามยปัญญาไม่เป็นอย่างนั้น มันไปทั่ว หลวงตาท่านพูดไว้นะ คนภาวนาเป็น ท่านบอกว่า ตาข่ายของปัญญามันครอบคลุมไปทั่ว สัมมาสมาธิเหมือนน้ำล้นฝั่ง สมาธิคือสมาธิ แต่ถ้าคนไม่มี แห้งแล้งทุกข์ยาก แต่คนมีสมาธิ โอ๋ย! มันอิ่มเอิบ มีความสุขนะ นี่สมาธิคือสมาธิไง
แต่เวลาขั้นของปัญญาเรดาร์มันจับไปหมด เครือข่ายมันไปได้ ๓ โลกธาตุ นี่เวลาขั้นของปัญญาๆ คนเป็นเป็นอย่างนั้นน่ะ
แล้วบอกปัญญาเป็นอย่างไร เฮ้ย! ๓ โลกธาตุ เฮ้ย! เรด้าห์มันเป็นปัญญาได้อย่างไร เฮ้ย! ปัญญาเรดาร์มีด้วยหรือ มันก็ไม่เคยเห็นน่ะ
แต่ถ้ามันไปรู้ไปเห็น โอ้โฮ!
มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากสัมมาสมาธิ มันเกิดจากจิต จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก หลวงปู่มั่นบอก “จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก”
จิตนี้ ผลของวัฏฏะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม จิตนี้ไปตกนรกอเวจี จิตนี้มาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มาเกิดเป็นสัตว์ให้เขาทำลาย ให้เขาทำให้เจ็บซ้ำน้ำใจ นี่ไง จิตมันเป็นได้หลากหลาย นี่ผลของวัฏฏะนะ ผลของเวรของกรรมนะ
แต่เวลาภาวนา พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตมันฝึกหัดใช้ปัญญา โอ้โฮ! นี่ไง ดาบเพชรมันทะลุทะลวงกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ครอบครัวของมารตั้งแต่ปู่มันนะ นี่ไง พญามาร ครอบครัวของมาร มันก็ต้องตั้งป้อมสู้กับธรรมะในหัวใจของเรา ครอบครัวของมารมันยึดครองหัวใจของสัตว์โลกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้ เพราะไม่มีต้นไม่มีปลาย
แล้วเพราะเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราถึงขวนขวายมาประพฤติปฏิบัติ เราเพิ่งมาสร้าง เราเพิ่งมามีศีล มีขอบมีเขต มีขอบเขต เราเพิ่งทำสัมมาสมาธิเข้าไปสู่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้งแห่งภพ ฐานที่ตั้งแห่งจิต ฐีติจิตที่มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราเพิ่งค้นพบสถานที่ทำงานของเรา
แล้วพอเราฝึกหัดใช้ปัญญายกขึ้นสู่วิปัสสนา นี่ความมหัศจรรย์ของจิต ความมหัศจรรย์ของจิตที่มันเกิดขึ้น เห็นไหม นี่ไง ภาวนามยปัญญาๆ ปัญญาที่เกิดจากการภาวนาไง ถ้าปัญญาที่เกิดจากการภาวนามันเกิดที่ไหน มันเกิดที่จิตของสัตว์โลก จิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันไม่เกิดอยู่ในตำรา ตำราเป็นตำรา
หลวงตาท่านเรียนจบมหานะ ท่านบอกว่า ภาวนามยปัญญาหรือวิถีแห่งจิตที่มันไปตามความเป็นจริงในตำราไม่มี แม้แต่ในพระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็จะไม่บอกไว้
เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านบอกว่า สิ่งที่มันเป็นความจริงๆ บอกไม่ได้ กิเลสมันจะเอาไปเป็นสัญญา กิเลสมันจะเอาสิ่งนี้ไปเป็นอาวุธ “ฉันรู้ๆๆ” กิเลสนี้ร้ายนัก ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่เป็นความเป็นจริงท่านจะไม่พูดออกมาให้กิเลสมันได้ยิน กิเลสได้ยิน กิเลสมันจะไปแอบอ้าง
นี่ไง ความเป็นจริงๆ เป็นอย่างนั้น ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ท่านก็เป็นจริงของท่าน ไอ้เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม
นี่วันพระ พระเป็นผู้ประเสริฐ แล้วถ้าผู้ประเสริฐ ไปวัดไปวามันก็จะมีพระประธานในโบสถ์ พระประธานที่ศาลา แล้วก็สมมุติสงฆ์ให้เรากราบไหว้ แต่ถ้าเราเห็นพุทธะในหัวใจของเรา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ในวัด สำคัญก็พระประธานในโบสถ์เป็นหัวใจ เป็นหัวใจของวัด
นี่ก็เหมือนกัน พุทธะในใจของเราเป็นหลักใจของเรา เป็นสัจจะความจริงในใจของเรา พุทธะ ถ้าเราพยายามค้นคว้าหาขึ้นมา นี่ผู้ประเสริฐ ประเสริฐที่ใจนี้จริงๆ นะ เวลามันเป็น เป็นสิ่งที่ดีงามมากๆ เวลามันเลวร้าย เลวร้ายมากๆ คนเราทำลายกันด้วยความรู้สึกนึกคิด มันคิดก่อนแล้วมันถึงทำลาย แต่ถ้ามันจะเป็นความจริงมันคิดแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้นน่ะ แล้วมันจะส่งเสริมขึ้นมาให้มันดีขึ้นมา
แล้วถ้าเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันไม่ทำความเสียหายหรอก มันทำแต่เรื่องดีๆ เรื่องดีๆ เพราะอะไร เพราะมันต้องการให้หัวใจนี้ดี ต้องการให้มันประเสริฐขึ้นมาไง ถ้ามันประเสริฐขึ้นมา นั่นน่ะคือเป็นหัวใจของเรา เป็นอุดมการณ์ของเรา
เขาสร้างวัดสร้างวา สร้างสิ่งมหาศาลในพุทธศาสนา เราจะสร้างหัวใจของเรา เราจะสร้างพระเป็นๆ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในหัวใจของเรา เอวัง