เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ มี.ค. ๒๕๖๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ตั้งใจฟังธรรมะนะ ตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรมเพื่อหัวใจไง คนเราเกิดมา เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะการเกิดเป็นมนุษย์ สิ่งมีชีวิตต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยนะ ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัยของสัตว์ เวลาสัตว์นะ สัตว์ป่าเวลามันหาอาหารของมัน เวลาเกิดภัยแล้ง เวลาอาหารมันไม่มี มันต้องตาย มันต้องตายเพราะการขาดอาหาร มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์เราฉลาด มนุษย์เรามีคลังอาหาร เรามีการคำนวณว่าอาหารต้องใช้ประมาณเท่าไร นั่นคือสมองของมนุษย์ทั้งนั้นน่ะ

 

มนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนาสอนนะ สอนถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่ต้องเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาต่อเมื่อหัวใจที่เป็นธรรม หัวใจที่เป็นธรรมไง

 

แต่หัวใจของเรา หัวใจเรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้ามีการฟังธรรมๆ เพื่อสัจธรรม สัจธรรมให้มนุษย์มีความสุขพอสมควร มีความสุขพอสมควรไง

 

คนเราเวลามีความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากเพราะความนึกคิดของเรา ความนึกคิดของเราความนึกคิดโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันคิดด้วยความประมาท มันคิดโดยเป็นอัตตา คิดโดยเป็นวัตถุ คิดว่าเป็นของคงที่

 

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ คนเรามีเวรมีกรรม เวลามีเวรมีกรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันคือความรู้สึกนึกคิดของคนมันแตกต่างกัน

 

คน ความรู้สึกนึกคิดที่มีคุณธรรมขึ้นมา เขาคิดสิ่งใด เขาทำสิ่งใด เขาไม่เบียดเบียนตัวเขาเองไง เราคิดสิ่งใดทำสิ่งใดเราก็ปรารถนาสิ่งนั้น ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ ทุกคนอยากมีความสุข ความสุขโดยความเข้าใจของเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความสุขๆ ไง

 

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความสุขด้วยการละ ความสุขโดยการวาง ความสุขโดยการละวาง การละวาง ละวางด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ไม่ใช่โยนทิ้งทรัพย์สมบัติของเราไป

 

ทรัพย์สมบัติของเรา เราเก็บรักษาของเราไว้เพื่อทำประโยชน์กับเรา เว้นไว้แต่เรามีสติมีปัญญาของเรา เราจะทำเพื่อประโยชน์กับเรา ไม่ใช่ว่าการละการวางคือการโยนทิ้ง การขว้าง การไม่ดูแล

 

การดูแลนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านดูแลของท่าน ข้อวัตรปฏิบัติของท่าน ของแม้แต่เล็กน้อย ของเล็กน้อย แต่มันฝึกหัวใจของคนให้ยิ่งใหญ่ได้

 

เราเห็นแต่ของเล็กน้อยๆ ของเล็กน้อยใช้สอยโดยฟุ่มเฟือยเป็นจริตเป็นนิสัย กลายเป็นคนพาล

 

แต่ของเล็กน้อยๆ นั่นน่ะฝึกหัดคน ฝึกหัดคนให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยการประหยัด ด้วยการมัธยัสถ์นะ จะเห็นว่าของน้อยๆ ไง สิ่งที่จะฝึกหัด ฝึกหัดมาจากไหน สิ่งที่ฝึกหัด ฝึกหัดมาจากครูบาอาจารย์ท่านฝึกหัดของท่านมาอย่างนั้น ถ้าฝึกหัดของท่านมาอย่างนั้น ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ของใจๆ หัวใจมันอยู่ไหน หัวใจเราอยู่ที่ไหน หัวใจเรามันไม่มีที่อยู่อาศัย

 

ถ้าเรามีสติ ถ้าสติปัญญาขึ้นมามันก็สำนึกตนขึ้นมาได้ ถ้าสำนึกตนขึ้นมาได้ ทำสิ่งใดถ้ามีสติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นคำสุดท้ายเลย “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความประมาทในชีวิต ความประมาทในทรัพย์สินของเรา ความประมาทในความรู้สึกนึกคิดของเรา ประมาท

 

แต่ถ้าเราฟังธรรมๆ ฟังธรรมก็ตอกย้ำอย่างนี้ ฟังธรรมตอกย้ำให้เรามีสติมีปัญญาขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญา ร่างกายมันต้องการอาหาร คนเรา สิ่งมีชีวิตต้องอาศัยอาหารทั้งนั้นน่ะ แต่หัวใจของเราๆ กินอิ่มขนาดไหน นอนอุ่นขนาดไหน มีความสุขปรนเปรอขนาดไหนมันก็ทุกข์

 

เราแสวงหาสิ่งนั้นมาเป็นอาหารของชีวิตนี้ แต่ชีวิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ พระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สร้างสมบุญญาธิการมาขนาดนั้น เวลาเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาไปเที่ยวสวนเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันมีความคิดขึ้นมา เราต้องเป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าเราต้องเป็นเช่นนั้นหรือ ชีวิตของเรามีเท่านั้นหรือ

 

ดูสิ ชีวิตเราต้องมีคุณค่ากว่านั้นไง ถ้ามันมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีฝั่งตรงข้าม ฝั่งตรงข้ามยังไม่มี ฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันเป็นอย่างใด ถ้ามันเป็นอย่างใด มันกระตุ้นให้ตัวเองมีอุดมการณ์ ให้ตัวเองมีความคิด มีการหาทางออก เวลาหาทางออกขึ้นไป

 

แล้วเวลาหาทางออก เวลาออกบวชไปแล้ว ๖ ปี ไปศึกษากับเขา ผู้ที่เป็นศาสดาๆ ไม่มีทางออกจริงเลย ไม่มีทางออกจริงที่ไหน ไม่มีทางออกจริงเพราะเราไปศึกษากับเขาแล้ว เราประพฤติปฏิบัติแล้วเรายังสงสัยอยู่ ความสงสัย ความลังเลสงสัย อวิชชา เพราะอวิชชาถึงได้พาเกิด เพราะเราเผลอ เราโง่ เราไม่มีสำนึกเราถึงได้มานั่งกันอยู่นี่ไง

 

แต่พระอรหันต์สติสมบูรณ์ ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ ฉันทะคือความพอใจ จิตตะคือจิตของตน มีวิมังสา การดูแลรักษาด้วยปัญญา มีความเพียร นี่เวลามีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ มันไม่เผลอไง มันมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไง

 

แต่เวลาร่างกายมันชราคร่ำคร่า สิ่งที่เราอาศัยบ้านเรือนของเรา บ้านเรือนที่เราอาศัยมันชราคร่ำคร่า มันอยู่อาศัยไม่ได้แล้ว เราก็สละทิ้งไป สิ่งที่สละทิ้งไป สอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งที่เราอาศัยมันอยู่ แต่จิตใจที่สมบูรณ์แล้ว สมบูรณ์เพราะการฝึกหัดการประพฤติปฏิบัติของเรา

 

แล้วเราเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ไง “อานนท์ เธอบอกเขาปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน มีคนกราบไหว้บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาล การกราบไหว้บูชานั้นเป็นอามิส แต่ถ้าปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด

 

ถ้าปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์เราท่านกระตุ้น กระตุ้นให้ชาวพุทธเรารู้จักการปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาแล้วถ้าปฏิบัติได้ผลของเราก็เป็นสมบัติของเรา ถ้าปฏิบัติแล้วผลของเรายังไม่เกิดขึ้น มันก็เป็นจริตนิสัย เป็นการฝึกหัดไง

 

คนทำงาน คนทำงานเป็นแล้วเขาก็ได้ผลงานของเขา คนทำงานที่ยังไม่เป็นก็พยายามฝึกหัดทำงานของเราขึ้นมา ถ้าทำงานขึ้นมา ปฏิบัติบูชามันมีโอกาสไง แต่การปฏิบัติบูชามันต้องมีเวลาใช่ไหม มันต้องมีสติสัมปชัญญะใช่ไหม

 

เวลางานทางโลกทุกคนบอกว่าอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยความทุกข์ความยากเพื่อประกอบสัมมาอาชีวะทั้งนั้นน่ะ

 

งานของพระ เวลาทำภัตกิจเสร็จแล้ว ผู้เข้าสู่เรือนว่าง เข้าสู่โคนไม้ ถ้าใครทำฌานสมาบัติได้ก็ทำฌานสมาบัติ ใครทำสมาธิได้ก็ทำสมาธิ ใครฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้อย่างนั้น นี่งานของพระๆ

 

เวลางานของใจนะ ใจที่มันจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อะไรไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายล่ะ เพราะเราเผลอเราไผล เราไม่รู้จัก เราถึงมานั่งอยู่นี่ เพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จำมา จำมา ทรงจำธรรมวินัย แล้วก็มาขยายความ พอขยายความก็เป็นความรู้สึกนึกคิดในสัญชาตญาณ สัญชาตญาณคือโลกียปัญญา โลกียปัญญาคือเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเรา ความรู้สึกนึกคิดนี้เกิดจากภวาสวะ คือเกิดบนภพ ภพคืออะไร

 

ภพคือจิตปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เพราะสิ่งที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันได้สร้างสมบุญญาธิการของมันมา มันถึงได้คิดแต่เรื่องดีๆ ไง คนที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมา มีเวรมีกรรมมา มันก็มาจองล้างของผลาญกันไง ความจองล้างจองผลาญนั้นน่ะ นี่ไง บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รู้แจ้งแทงตลอดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พวกเรายังไม่รู้ เราศึกษามาเราก็มาท่องจำกัน แล้วก็เสียว เสียว กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้ ให้พวก ๑๘ มงกุฎคอยมาปอกลอก ขู่เข็ญ “เป็นกรรมๆ นะ เป็นกรรม” แบอยู่นี่ กำตรงไหน ชีวิตเราแบอยู่นี่

 

กรรมคือกรรมดีและกรรมชั่ว อย่าให้ใครมาหลอก อย่าให้ใครมาข่มขู่ กรรมคือการกระทำ กูทำเอง ดีก็ทำมา พลั้งเผลอทำผิดพลาดไปก็มี ทำไปด้วยความไม่เข้าใจก็มี อันนั้นเพราะเรายังไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจแล้ว อย่ามาขู่ ใครทำอะไรเราไม่ได้ทั้งสิ้น มันอยู่ที่นี่ไง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเราอยู่นี่ไง ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด

 

พอปฏิบัติบูชาขึ้นมา ไม้บรรทัด เราจะไปวัดสิ่งใดล่ะ ชีวิตของเรา จิตของเรา ถ้าเราเข้าสู่ทางจงกรม ทางจงกรมนั้นจะเป็นไม้บรรทัดวัดจิตของเรา ถ้าวัดจิตของเรา มันจะกรรมดีหรือกรรมชั่วล่ะ ถ้ามีกรรมดีขึ้นมา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันก็ได้ประโยชน์ขึ้นมาบ้าง ถ้าได้ประโยชน์ขึ้นมาบ้าง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี

 

คนเราเดินทางมามีแต่ความเร่าร้อนไง ถ้าได้พักร่มเงาที่ไหน ได้ดื่มน้ำเย็นที่ไหนสักจอกหนึ่ง เราก็จะได้ความชุ่มชื่นขึ้นมาใช่ไหม จิตที่มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราทำความเพียรของเรามาตลอดไง ถ้ามันสงบระงับเข้ามา เหมือนหัวใจมีเรือนได้พักได้อาศัย ใครทำสัมมาสมาธิได้เหมือนมีเรือนอยู่หลังหนึ่ง มีเรือนอยู่หลังหนึ่งเหมือนกับเราได้พักได้อาศัย เพราะเราคนไร้บ้านไง ไม่มีที่พักที่อาศัย ให้แต่อารมณ์มันพัด ให้แต่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดกระหน่ำหัวใจเราอยู่นี่ไง เราไม่มีที่พักที่อาศัยในหัวใจเราเลยไง แต่เราก็ยังเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา เราก็ยังกระทำของเราอยู่ แต่เป็นการกระทำแบบประเพณีวัฒนธรรมไง มันไม่เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมา จิตอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่ไหน

 

เราอยู่ที่นี่ไง ใครจะพูดสิ่งใดก็แล้วแต่ คนเราเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรมนะ สูง ต่ำ ดำ ขาว ไม่เหมือนกัน เกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน สูง ต่ำ ดำ ขาว ก็ไม่เหมือนกัน รูปสมบัติ คุณสมบัติ รูปสมบัตินี่ก็เป็นเวรเป็นกรรมอันหนึ่ง แต่คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ อริยทรัพย์ภายในมันสำคัญกว่าไง เห็นไหม สำคัญกว่า

 

เขาบอกให้ดูคน ดูที่ความรู้สึกนึกคิดนี่ไง ดูที่ปัญญา ถ้าปัญญาของคนมันพัฒนาขึ้นมา มันเป็นประโยชน์ตรงนั้นไง พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการฝึกหัดนี่แหละ

 

เราก็เห็น ทำงานทุกอย่างมันก็ต้องปากกัดตีนถีบทั้งนั้นแหละ ผู้ที่เขาทำมา อย่างที่ว่าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คำว่า “ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย” เขาก็สร้างของเขามา พาหิยะๆ ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ เขาสร้างของเขา ปฏิบัติสละชีพมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ

 

นี่ไง ที่ ๑๘ มงกุฎมันจะมาขู่ว่ามีกรรมๆ นะ นั่นกรรมดีของท่าน แต่ท่านก็ยังหลงใหลของท่าน เรือแตกมาก็คิดว่า ตัวเองขึ้นจากทะเลมา ก็นุ่งห่มผ้าเป็นชีเปลือย คนก็กราบไหว้ว่าเป็นพระอรหันต์ๆ

 

สิ่งที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมากับสัทธิวิหาริกของท่าน คือพรรคพวกของท่าน แล้วพรรคพวกของท่านเป็นพระอนาคามีอยู่บนสวรรค์นะ อยู่บนพรหมนั่นน่ะ ลงมาชี้เลย “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ให้ไปฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เขาถึงระลึกได้ เพราะบุญของเขาไง บุญของเขา เพราะบุญของเขาที่ได้สร้างมา ก็เลยต้องบากบั่นไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิณฑบาตอยู่ไง

 

ขอฟังธรรมๆ

 

เราบิณฑบาตอยู่ ชีวิตคนมันสั้นนัก

 

ขอเทศนาเถิด

 

ก็เทศนาไง เธอจงโลกนี้เป็นความว่าง ยศถาบรรดาศักดิ์ที่เขานับหน้าถือตานั่นน่ะปอกลอกทั้งนั้น ปอกลอกโอกาส ปอกลอกสิ่งที่มันจะบรรลุธรรม ปอกลอกสิ่งที่จะเป็นจริงทั้งหมด เธอจงมองมันเป็นความว่าง อย่าไปติดในการยกย่องสรรเสริญของใครๆ ทั้งสิ้น ให้มันรู้จริงขึ้นมาจากภายใน

 

พอฟังเทศน์นะ ย้อนกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ อัตตานุทิฏฐิคือความรู้สึกเดิม ธาตุรู้ที่มันออกไปยึดความคิดนั่นน่ะ ทำลายทั้งหมด เห็นไหม ถ้ามันเป็นจริงๆ พูดถึงว่าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย มันก็ต้องรู้ง่ายด้วยการประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องรู้ง่ายด้วยภาวนามยปัญญา มันต้องรู้ขึ้นมาด้วยปัญญาของตนไง

 

ไอ้นี่ว่าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เราก็แห่กันไป เป็นเหมือนปลาแดดเดียว ไปตากจนงอแล้วก็กลับบ้าน ไม่เห็นได้อะไรมาเลย ไอ้พวกปลาแดดเดียวไง ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย

 

ไอ้ปลาแดดเดียวเขาเอาไว้ไปทอดกิน เขาไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามความเป็นจริง เราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิภาวนาของเราให้มันเป็นจริงในใจของเราขึ้นมา

 

พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งเหตุและผล ไม่มีเหตุไม่มีผลขึ้นมา ให้แต่คนยกย่อง ให้แต่คนชักนำ ให้แต่คนจูงจมูก แล้วก็เอามาขู่กันนะ กรรมๆ

 

กำอะไร กูแบอยู่ ใครจะกำให้มันกำไป แต่เราแบ เราแบด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันเป็นจริงๆ เราต้องเป็นจริงสิ ดูสิ คนที่ประพฤติปฏิบัติ “คนนู้นเขาชี้ให้มรรคให้ผล หนูยังไม่รู้เรื่องเลย”

 

“เพราะเอ็งไม่รู้นั่นน่ะเอ็งถึงได้ ถ้ารู้แล้วไม่ได้”

 

ธรรมะเป็นอย่างนั้นหรือ เขาพูดกันอย่างนี้ แล้วชาวพุทธเขาเชื่อได้อย่างไร เอ็งเป็นโสดาบัน “หนูเป็นโสดาบันได้อย่างไร หนูไม่เห็นรู้สึกอะไรเลย หนูไม่มีความรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาเลย หนูจะเป็นโสดาบันได้อย่างไร”

 

“นี่แหละ เพราะเอ็งไม่อยากเอ็งเลยเป็นโสดาบัน”

 

อ้าว! แล้วถ้าอยากล่ะ เวลาอยากนะ เราก็รังเกียจ แต่หลวงตาท่านสอนนะ อยากได้ อยากดี อยากประพฤติปฏิบัติ เป็นมรรค คนเราจะดีได้ด้วยความวิริยอุตสาหะ ด้วยการกระทำ การกระทำนั้นมันจะผิดมันจะถูก เราก็ค่อยมาคัดแยกเอา ถ้าเราทำไปแล้วมันผิด อันนี้มันผิด เราก็วางของเราเสียใหม่

 

แต่ถ้าไม่มีการทำสิ่งใด ไม่มีความอยากเลย ขอนไม้ ขอนไม้มันก็ไม่อยาก ศาลานี้มันไม่เคยอยากเลย ศาลานี้เป็นพระอรหันต์ มันไม่ร้องด้วย ทุบมัน มันก็ไม่เจ็บ ไม่อยากอย่างนั้นหรือ

 

มันต้องอยากสิ แต่อยากแล้วให้เป็นสัมมาทิฏฐิ อยากแล้วให้มันถูกต้องดีงาม กว่าจะถูกต้องดีงามได้ อารมณ์ของเรามันแปรปรวนอย่างนี้มันจะถูกต้องได้อย่างไร เราก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ให้จิตมันตั้งมั่น ให้เหมือนศาลานี้ แต่ศาลานี้มันไม่มีชีวิตไง แต่หัวใจของเราถ้ามันตั้งมั่น มันมีชีวิตนะ มันรู้สึกผิดชอบชั่วดีนะ สิ่งมีชีวิตที่มันตั้งมั่นแล้วมันรู้จักผิดชอบชั่วดี

 

แล้วถ้าทำแล้ว คิดว่าชอบ แต่มันไม่ชอบ ถ้ามันไม่ชอบ เราก็แก้ไขของเรา ถ้ามันชอบขึ้นมา มันมียถาภูตัง เกิดญาณทัสสนะ ยถาภูตังคือการฆ่ากิเลส เกิดญาณหยั่งรู้ว่า โอ๋ย! นั่นกิเลสตาย อ๋อ! กิเลสกูมันตายแล้วนะน่ะ อ๋อ! กิเลสมันตายเพราะความเพียรเรา มันชัดเจนอย่างนี้ คนที่ปฏิบัติมันจะเห็นเลย จิตมันตั้งมั่นแล้วมันจับต้องได้ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นมันเห็นกิเลส เห็นกิเลสแล้วกิเลสกับธรรมก็ต่อสู้กัน ต่อสู้ด้วยสติด้วยปัญญาของเราไง ไอ้กิเลสมันก็ยุแหย่ให้เราผิดพลาดไง มันก็ประหัตประหารกัน

 

นี่ไง เวลาหลวงตาท่านเทศน์ไง กองทัพกิเลสกับกองทัพธรรมประหัตประหารกันกลางหัวใจไง กองทัพธรรมๆ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเข้าพันตูกับกิเลสในใจของเราไง แล้วถ้ามันไม่มีการพันตูกันระหว่างกิเลสกับธรรมในใจของตน มันฆ่ากันอย่างไร

 

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุผล ฉะนั้น เรามาวัดมาวาฟังเทศน์ ฟังเทศน์เพื่อเหตุนี้ไง ฟังเทศน์เพื่อให้หัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมา เอาหัวใจเราไว้ในหัวอกของเรา อย่าไปฝากไว้กับใครทั้งสิ้น

 

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาถ้าไม่เชื่อสิ่งใดๆ ต้องมีศรัทธามีความเชื่อ เชื่อแล้วเข้าไปศึกษา เวลาศึกษาแล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนกาลามสูตร อย่าเชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา เพราะอาจารย์ของเราสอนก็เป็นความเชื่อนะ แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความจริงของเรานะ

 

เราปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานจะไม่ได้สิ่งใดเลย ก็เป็นความเพียร ความวิริยะของเรา เราจะโทษใครล่ะ เราก็จะโทษอำนาจวาสนาของเราไง อำนาจวาสนาของเรามีแค่นี้ อำนาจวาสนาของเราต่ำต้อย มันก็ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าเขา

 

พาหิยะฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวแล้วเป็นพระอรหันต์ คนอ้างกันเยอะมาก อ้างว่าพาหิยะฟังเทศน์หนเดียวๆ

 

จริงๆ ฟังเทศน์หนเดียวในพระไตรปิฎก แต่ก่อนที่ท่านจะมาฟังเทศน์ ท่านได้ทุ่มเทมาขนาดไหน เพราะเขาก็เอาคำนี้ไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมพาหิยะฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะขอบวช ไม่มีบริขาร ไปหาบริขารอยู่ โดนแม่ควายขวิดตายน่ะ พระอรหันต์โดนควายขวิดตายเป็นเพราะอะไร

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแจกแจงมาหมดเลย แจกแจงอย่างที่เราก็อ่านมาในพระไตรปิฎก ถึงมาพูดนี่ไงว่าท่านทำอะไรของท่านมาท่านถึงได้มาฟังเทศน์หนเดียวสำเร็จ

 

ไอ้ของเราทำมาของเราอย่างนี้ ก็เราทำมา เราเป็นคนทำกันมานะ ถ้าเราจะน้อยใจก็น้อยใจว่ากูโง่ กูทำมาน้อย ก็เท่านั้น แต่ถ้าเรามาสร้างเอาเดี๋ยวนี้ เรามาสร้างเดี๋ยวนี้เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวนี้เรามีสติมีปัญญาใช่ไหม เราจะทำคุณงามความดี ความดีที่เป็นความดี ความดีแบบทิ้งเหว ความดีแบบไม่ต้องการปรารถนาผลตอบแทน นั้นคือความดีแท้

 

เราทำความดีที่ไหนก็ได้ เราอยู่ที่ไหนเราก็ทำความดีของเราได้ ทำความดีโดยไม่ต้องให้ใครเห็น ทำความดีโดยไม่ให้ใครเชิดชู ทำความดีเพื่อความดี ทำความดีเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีของเรา

 

เวลาเราจะไปประพฤติปฏิบัติอยู่โคนต้นไม้ อยู่ในถ้ำเงื้อมผาที่ไหน เราก็ทำคนเดียวเหมือนกัน เราก็ภาวนาคนเดียวเหมือนกัน แล้วถ้าจิตมันมีคุณงามความดีของมัน มันมีผลในการประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม มันก็จะได้สมความปรารถนาของเรา เราทำเพื่อหัวใจของเรา พระพุทธศาสนาสอนแบบนี้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะในหัวใจของเรา เอวัง