ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รักตน

๑๕ ก.ค. ๒๕๖๑

รักตน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๖๐. เรื่อง “ความเป็นของใจ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมได้ภาวนามาเรื่อยๆ เมื่อติดขัดในการภาวนาในหลายๆ ครั้งก็ได้ส่งจดหมายมากราบเรียนถามท่านอาจารย์ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันครับ ผมภาวนามาเรื่อยๆ ในระยะนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปัจจุบัน รู้ขึ้นมาภายในใจตัวเองเป็นระยะหลายๆ ครั้งจนแน่ชัดในใจว่าให้ผมพิจารณาทางด้านที่เกี่ยวกับกามราคะ ผมจึงได้ดำเนินโดยเน้นหยิบยกพิจารณาความเป็นปฏิกูลต่างๆ ของร่างกายทั้งหมด และผู้อื่นตามแต่จะสัมผัสขณะนั้น รวมถึงในบางครั้งก็ได้กำหนดตัดร่างกายอวัยวะแยกชิ้นส่วนร่างกาย (โดยใช้สมมุติ ใช้ปัญญา)

ผลคือหลายๆ ครั้งใจสงบร่มเย็นเข้ามาเรื่อยๆ แต่ผมสังเกตว่าวันไหนหรือช่วงไหนที่ผมพิจารณาตัดร่างกายหรือความเป็นปฏิกูล วันไหนที่ภาวนาดีๆ จิตใจสงบเยือกเย็นดี ในวันนั้นหรือระยะนั้นเมื่อผมนอนภาวนามักจะฝันถึงกรีดแยกอวัยวะต่างๆ ของตนเอง แต่ในบางครั้งก็จะฝันพบเพศตรงข้ามทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักมายั่วยวนให้เสพกาม (กราบขออภัยที่ต้องใช้คำตรงๆ ครับผม) เพราะในความจริงที่ผมพบนั้นเป็นจริงแบบนี้ครับ ทั้งๆ ที่ผมพิจารณาหาอุบายให้เห็นโทษในสิ่งนี้ พยายามลดพยายามไม่เอาสิ่งนี้เข้ามามาก (ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เริ่มภาวนาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ใจก็ไม่เคยสัมผัสเรื่องแบบนี้)

คำถาม

๑. แนวทางที่ผมกำลังดำเนินอยู่ถูกต้องหรือไม่ครับ

๒. ควรแก้ไขหรือเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่อย่างไรครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ ถามถึงว่าเวลาเขาพิจารณาไปแล้วเขาพยายามจะจับเรื่องของร่างกายแยกเป็นปฏิกูล แยกเป็นต่างๆ อย่างนี้ถูกต้องไหม

ถูก แต่คำว่า ถูก” เพราะว่าเราตอบบ่อยมากเวลาคำว่า ถูก” แล้วเขาก็ไปยกเมฆ ไปยกเมฆเลยว่าที่ทำมานี่เป็นได้มรรคได้ผล

คำว่า ถูก” ไง คำว่า ถูก” เริ่มต้นในการถูก ชาวนาจะเริ่มต้นทำนาก็เริ่มไถนา ถูกไหม ถูก ไถนาแล้วฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ ถ้าตกต้องตามฤดูกาลแล้วมันมีต้นกล้าหรือไม่ มันมีเมล็ดพันธุ์ นาหว่านก็ต้องหว่านด้วยข้าว นาดำก็ต้องดำด้วยต้นกล้า พอต้นกล้าแล้ว นาดำ นาหว่านทำเสร็จแล้วก็ต้องชักน้ำเข้านา ชักน้ำออกจากนา ถ้าน้ำน้อยไปก็ชักน้ำเข้านา ถ้าน้ำออกไปก็ต้องชักน้ำออกนา แล้วก็คอยดูวัชพืชว่ามันมารังแกต้นข้าวหรือไม่ ถ้าต้นข้าวมันโตแล้ว ต้นมันออกรวงแล้ว เราก็ดูความเหมาะสมของมัน

คำว่า ถูก” มันถูกมาตั้งแต่นู่นน่ะ มันถูกมาตั้งแต่เริ่มไถนา เริ่มจะปลูกต้นกล้า เริ่มจะมีเมล็ดพันธุ์ เริ่มตั้งแต่ทำนู่นน่ะ คำว่า ถูก” ถูกมันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถามว่า สิ่งที่ทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ สิ่งที่ทำมาอย่างนี้มีคนแก้ไขหรือไม่

ถ้าแก้ไข มันอยู่ที่ว่าเวลาทำไปแล้วมันจืดชืด เวลาทำไปแล้วมันคุ้นชิน ถ้าคุ้นชิน มันก็มีอุบายวิธีการที่เราจะพลิกแพลง ถ้าพลิกแพลงไปเรื่อยใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาบอกว่า เขาพิจารณาของเขาไปแล้ว โดยเขาแน่ใจในใจชัดว่าให้ภาวนาในทางนี้ ตัดอวัยวะเป็นชิ้นๆ พิจารณาร่างกายเป็นแยกส่วนๆ ไป แล้วเขาก็ขีดวงเล็บมาเลย (นี่ใช้โดยสมมุติ) สมมุติคือเรานึกขึ้นมา ถูกไหม ถูก คนที่ฉลาดไง

คนเราทำอะไรไม่เป็น เราจะทำสิ่งใดเราก็ต้องฉลาดของเราใช่ไหม ดูสิ ประเทศที่เจริญแล้ว เทคโนโลยีเขาคิดค้นขึ้นมาเอง ประเทศด้อยพัฒนาขึ้นมาก็ซื้อของเขามา แล้วก็เลียนแบบ เลียนแบบแล้วก็พัฒนาต่อเนื่องไป พัฒนาให้มันเป็นสมบัติของเราให้ได้ พัฒนาๆ แบบว่าเราคิดเองทำเองขึ้นมาให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราแยกชิ้นส่วน เรามาตัดชิ้นส่วน ก็ซื้อเทคโนโลยีเขามา คำว่า เราก็ซื้อของเขามา” ซื้อของเขามาแล้วเราพยายามพัฒนาตัวเราให้มันทำได้ แต่ถ้าคนที่มันคิดได้ขึ้นมาเอง เขาคิดค้นขึ้นมาเอง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราถ้าจิตสงบแล้วท่านยกขึ้นวิปัสสนา เขาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นก็เห็นด้วยอำนาจวาสนาบารมีของท่าน

ถ้าเราไม่เห็น บางคนที่ภาวนาแล้วมันไม่เห็น พอไม่เห็นขึ้นมา เราก็รำพึงขึ้น ก็นึกขึ้นมานี่แหละ รำพึงขึ้นมา รำพึงขึ้นมาก็ฝึกหัดๆ มันไป แต่เวลาฝึกหัดนี่ใช่หรือไม่ ถูกหรือไม่ ก็ถูก แต่ถ้ามันเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่จริง ถ้าไม่จริงขึ้นมา แล้วถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน เวลาทำขึ้นมา ทำขึ้นมามันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

คำว่า ถูก” ให้เราทำมาให้มันถูกต้อง เพราะอะไร เพราะว่าถ้ามันไม่มีสิ่งใดให้เราหยิบจับได้เลย เราจะฝึกงานได้อย่างไร เราจะฝึกหัดงาน เราต้องหยิบจับได้ เราต้องจับต้องได้ว่าเราจะควรทำสิ่งใด

นี่ก็เหมือนกัน เราพยายามทำใจเราให้สงบ ใจเราสงบได้หรือไม่ ถ้าใจสงบแล้วเราฝึกหัดของเรา เราฝึกหัดเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่ ถ้าเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ฝึกหัดๆ ถูกไหม ถูก แต่ไม่ต้องไปเตรียมยุ้งเตรียมฉางเกี่ยวข้าวนะ เพราะข้าวมันยังไม่ออกรวงเลย ถ้าข้าวมันจะออกรวง มันไปข้างหน้านู่น ข้างหน้าที่เรารักษาต้นข้าว รักษานาของเรา ต้นข้าวมันจะออกไปข้างหน้านู่น ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนนะ รดน้ำที่โคน ผลมันจะออกที่ปลาย รดน้ำที่โคน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็รักษาหัวใจของเรา ผลขึ้นมามันจะออกมรรคผลนั่น

ไอ้นั่นจะไปเอาผลที่ปลาย ทำอะไรก็จะไปเอาผลที่ปลาย แต่พวกเรา กรรมฐานเรารดน้ำที่โคนต้น แล้วดูแลรักษาลำต้น แล้วดูแลให้มันออกผล ออกผลมันออกที่ปลายต้นบนยอดต้นไม้นั้น นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาไป เราฝึกหัดภาวนาของเราไปเพื่อภาวนาของเรา

ถ้ามันทำอย่างนี้ คำถามถามว่า ที่ทำมาอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ที่ทำมานี่ถูกต้องหรือไม่

เวลาถูกต้อง วัดวัดหนึ่งจะเอาทุกเรื่อง โยมก็จะเอา ธรรมะก็จะเอา โอ้โฮ! วุ่นวายไปหมดเลย

แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ นะ คนเราถ้ามีอำนาจวาสนาขึ้นมามันมีปัญญา เราจะพร้อมของเรา เพื่ออะไร เพื่อเราไม่เป็นภาระคนอื่น เราจะไม่เป็นภาระใครทั้งสิ้น เราพยายามจะดูแลของเรา ถ้าไม่อย่างนั้นถ้าเราไม่ดูแลรักษาตัวเรานะ ตัวเราก็เป็นเรื่องของเราแล้วยังไปเป็นภาระคนอื่นอีก นิสัยเรานี่ไม่เลยนะ

แล้วเวลากรรมฐานไปคนเดียวเหมือนนอแรด ไปคนเดียวเหมือนนอแรดนะ ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของเราทั้งหมด ถ้าทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ปฏิบัติตรงก็ได้ความจริง ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็คือไม่ได้ แล้วถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็พยายามรักษาของเรานี่แหละ รักษาของเราขึ้นมาให้ได้ ถ้ารักษาขึ้นมาได้ เห็นไหม

คำถาม “ผมทำของผมอย่างนี้ แล้วผมปฏิบัติอย่างนี้โดยแน่ใจเลยว่าจะต้องพิจารณาโดยการพิจารณากาม”

ถ้าพิจารณากามนะ คนเราโทสจริต โมหจริต โลภจริต ถ้าจริตตัวอย่างไร มันมีธรรมะที่เป็นคู่กัน เป็นคู่กัน ถ้าเป็นกามวิตก เขาก็พิจารณาอย่างนี้เหมือนกัน แต่โดยธรรมชาติของสัตว์เป็นอย่างนั้นหมด เพียงแต่มันมากมันน้อยเท่านั้นน่ะ ถ้ามันมากมันน้อย เราก็รักษาของเรา ถ้ารักษาของเรา ถ้าคนมีปัญญา มีปัญญานะ

แล้วคนเรา โลกนี้มันก็เรื่องกามราคะเป็นเรื่องคู่กับโลก ทั้งสัตว์ ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวดาเสวยทิพย์สมบัติ เหมือนกันหมด ถ้าเหมือนกันหมดมันก็ฝังใจมา ถ้ามันฝังใจมา ใครที่มีปัญญามากน้อยแค่ไหนก็แก้ไขตัวเอง เอาตัวเองให้รอดให้ได้

ถ้าเอาตัวเองรอดได้แล้วนะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของการเสพ เสพกาม รสในโลกนี้ รสของธรรมชนะทั้งหมดเลย แค่เราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบ มันว่างหมดมันก็มหัศจรรย์แล้ว แล้วเวลามันเห็นอริยสัจ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เวลามันพิจารณาไป โอ้โฮ! รสชาติ เพราะรสชาติของสมถะธรรมกับรสชาติของวิปัสสนามันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันนะ ถ้าคนภาวนาจะรู้ แต่คนไม่เคยภาวนามันด้นเดาไป มันโม้ตลอดไป เป็นอย่างนั้นๆ ไม่มีอยู่จริงเลย

รสของสมถะธรรม จิตมันสงบ โอ้โฮ! มันสงบมาก เวลามันสงบมาก เวลาสงบ เวลาครูบาอาจารย์นะ พอจิตสงบแล้วมันคิดเรื่องนิพพาน “อ๋อ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง นิพพานมันว่างๆ”

ว่างอะไรของมึง ถ้าว่าง มันมีเหตุผลอะไรถึงว่าง ถ้าไม่มีเหตุมีผลมันมาจากไหน ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ไม่มีเหตุอะไรเลย ขี้ลอยน้ำ พอขี้ลอยน้ำก็เรื่องหนึ่งนะ

เวลาจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบบ่อยครั้งเข้าๆ รสชาติมันจะจืดขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าจิตสงบแล้วถ้าไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนานะ เวลามันเสื่อมมันคลายออกมานะ จบเลย เวลาเสื่อมออกมาแล้วนะ ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านปฏิบัติของท่านนะ พิจารณากายด้วย เวลาออกมาแล้วไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย “เอ๊ะ! ทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ” แล้วพิจารณาๆ ของท่านไป ไปลาบารมีธรรมของตน ไปลาพระโพธิสัตว์ เวลามาพิจารณา “อ๋อ! มันต้องเป็นอย่างนี้สิ” มันเบาออก มันเบาลง มันผ่อนคลาย สิ่งที่กดทับมันยกออก แล้วมันไม่มีเหลือสิ่งใด มันอ๋อ! อ๋อ! เลยนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิต รสของธรรม รสของธรรมรสอะไร แล้วธรรมขั้นไหน สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ปัญญาอย่างหยาบๆ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดสุด ปัญญาขั้นไหน แล้ววัดกันตรงไหน

โอ้โฮ! มันยิ่งกว่ามาตราชั่งตวงวัดอีก ถ้าเป็นธรรมๆ ไม่รู้พูดไม่ได้ ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีตราชั่งจะวัด เอาอะไรไปวัด ไม่มีมาตรฐานอะไรไปวัดเลย สิ่งที่ศึกษามาก็ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีมาตราชั่งตวงวัดเลย แต่ถ้าเป็นจริงๆ ขึ้นมา เห็น เห็นอย่างไร

กรณีนี้กรณีที่เวลาหลวงตาท่านไปสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวน เริ่มต้นแย็บเข้าไปก่อนเลย ท่านบอกตอบมา ๑๐ กว่านาที เริ่มต้นถูก พอถูก ท่านก็แย็บเข้าไปอีก ตอบมาอีก ๔๕ นาที “อ้าว! มหามีอะไรว่ามา ถ้ามันขัดแย้งให้บอกมา”

“ไม่หรอกครับ ผมหาฟังธรรมะแบบนี้ ธรรมะแบบนี้มันไม่มีอยู่ในตำรา”

หลวงตาท่านศึกษามาเป็นมหานะ ท่านบอกในตำราไม่มี ในตำรานะ เพราะถ้าในตำราไม่มี เราประพฤติปฏิบัติมาเราก็ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์มาเยอะ

เวลาหลวงปู่มั่น เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาท่านเทศนาว่าการท่านบอกเลย อะไรที่เป็นจุดสำคัญ อะไรที่มันจะเป็นการชำระล้างกิเลส ท่านบอกข้ามไปๆ บอกมันไม่ได้ เทศนาว่าการ ใครฉลาดไปจับมาแล้วมันจะเป็นสัญญา สัญญามันเป็นการสร้างภาพ

ในโลกเรา เราเบื่อคนสร้างภาพ ไอ้ที่เป็นคนไม่จริงแล้วพยายามสร้างภาพว่าเป็นคนจริง ถึงเวลามันทำให้สังคมเหลวแหลกหมดเลย เพราะสังคมอยากจะพึ่งคนจริง ก็คิดว่าเขาเป็นจริง เวลาเกิดวิกฤติขึ้นมามันไม่ทำหรอก มันไม่รู้ มันทำไม่เป็น เพราะอะไร เพราะมันสร้างภาพ มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงเขาไม่สร้างภาพนะ มันจริงมาตั้งแต่เกิด จริงตั้งแต่ในนิสัยใจคอของมัน จริงตั้งแต่ยังไม่มีสิ่งใดเลย มันจะรีบแก้ไขแล้ว แล้วถ้ามันแก้ไขมันหมด ถ้าคนจริงไม่ได้สร้างภาพ

นี่ไง เพราะในปัจจุบันนี้มันมีนักปฏิบัติสร้างภาพมันเยอะ แล้วพอมันสร้างภาพขึ้นมาเยอะ สิ่งต่างๆ ที่ว่าเวลาหลวงตาท่านพูดไง ในตำราไม่มี ในตำราไม่มี ถ้าในตำราไม่มี ไอ้มาตราชั่งตวงวัดมันมาจากไหน ถ้าคนไม่มี มันไม่มีมาตราชั่งตวงวัดในใจของมัน มันรักษาใจของมันไม่ได้ มันจะพูดได้อย่างไร มันจะเอาอะไรมาวัด

แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านชั่งตวงวัดสมบูรณ์หมดแล้ว ถ้าท่านไม่ชั่งตวงวัดสมบูรณ์แล้ว เวลาหลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์ไปหาหลวงปู่มั่น “เอ๊! ไปนี้ท่านจะรู้ความคิดเราหรือเปล่าเนาะ”

เวลาเข้าไปถึงท่าน ท่านสวนเลย “ใจของตนล่ะไม่ดู อยากจะให้คนอื่นดูให้ คนจะดีจะชั่วมันต้องดูที่ใจของตน ตนนั้นแหละเป็นผู้ที่รักษาใจของตนได้”

นี่มาตราชั่งตวงวัดเขาวัดเรียบร้อยแล้ว แล้ววัดเรียบร้อยแล้ว เห็นไหม เวลาใครไปหาหลวงปู่มั่น ท่านสวนกลับหมด แค่ไหน มีความรู้แค่ไหน มาตรา มาตราอะไร วัด วัดอะไร ตวง ตวงอะไร มาตรฐาน มาตรฐานแค่ไหน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ครูบาอาจารย์เราท่านเป็นแบบนี้ไง มันถึงเป็นสัจจะเป็นความจริง เป็นการยอมรับกันด้วยความเป็นจริง มันไม่ใช่การสร้างภาพ มันมีคุณธรรมในหัวใจสมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบนั้นจับต้องได้ วัดได้ แต่ต้องคนเป็นเท่านั้น

ฉะนั้น เวลาคนเป็นเท่านั้น ทีนี้เวลาคนเป็นเท่านั้น เวลามาภาวนาเราบอกว่าเขาทำอย่างนี้ถูกไหม ถูก แต่คำว่า ถูก” มันถูกแบบสมมุติบัญญัติ

ชีวิตเราก็เป็นสมมุติ จริงตามสมมุติ เวลาเราคิดขึ้นมาก็เป็นสมมุติ มันชั่วคราวเท่านั้นน่ะ แต่ถ้าเราไม่เริ่มจากตรงนี้ เราจะเริ่มต้นที่ไหน เราก็เริ่มต้นจากความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ ทั้งที่ความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นโลกๆ ความรู้สึกนึกคิดของเรามันมีแต่กิเลสทั้งนั้นน่ะ แต่เราก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติ อยากจะมีคุณธรรม ถ้าอยากมีคุณธรรมก็จับไอ้สมมุติบัญญัติที่มันเสเพล จับไอ้สมมุติบัญญัติที่มันไม่เอาไหน เริ่มต้นด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา จับต้องมัน วัดค่าของมัน วัดค่าของมัน ถ้าธรรมะมีกำลังมากกว่ามันก็สงบระงับเข้ามาอย่างที่คำถามนี้ “เวลาผมภาวนาไปแล้วรู้สึกว่ามันดีขึ้น จิตใจมีความสุข มีความสงบ จิตใจมันดีขึ้นๆ ในการภาวนามานี่ เพียงแต่ว่าผมทำแบบนี้แล้ว คำถามว่า ๑. แนวทางที่ผมดำเนินถูกต้องหรือไม่ครับ”

แนวทางที่ผมดำเนิน ถ้าถูกต้องก็ถูกต้องโดยจริตนิสัยของตน โดยจริตนิสัยของตนนะ ถ้ามันไม่ถูกต้องตามจริตนิสัยของตน คนอื่นมาเอาเลียนแบบ มันทำแล้ว “เอ๊ะ! ทำไมเขาทำแล้วดี ทำไมเราทำไม่ดี”

ดูสิ ในแหล่งท่องเที่ยวของเรา คนที่มาท่องเที่ยวก็มาจากสแกนดิเนเวีย ประเทศเขาเป็นประเทศที่แสงแดดหายาก ไอ้พวกเราก็อยากจะไปตากหิมะกัน ไอ้ประเทศร้อนก็อยากจะไปเที่ยวหิมะ ไอ้ประเทศหิมะมันก็อยากจะมานอนอาบแดด

นี่ไง เวลามันเหมาะสม เวลามันถูกต้อง ถ้ามันถูกต้อง มันถูกต้องโดยที่ว่าตรงจริตตรงนิสัย ถ้าไม่ถูกต้อง เราอยู่ในเขตร้อน เราก็อยากจะไปตากหิมะ อยากจะใส่แฟชั่นสวยๆ เราไม่มีแฟชั่นสวยๆ ใส่เพราะเป็นเมืองร้อน

เขาพูดกันประจำนะ เมืองหนาวเขาใช้จักรยานเป็นพาหนะ ไอ้เราน่าจะใช้จักรยานเป็นพาหนะมาก แต่มันเป็นเมืองร้อน พอเมืองร้อนขึ้นมา พอขยับหน่อยหนึ่งก็เหงื่อโซก

นี่ไง คำว่า ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง” ถ้าถูกต้อง ถูกต้องก็ตรงกับจริตตรงกับนิสัยของเรา ถ้าตรงกับจริตนิสัยของเรา เราอยู่เมืองร้อน เขตร้อน เขตศูนย์สูตร มันเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ แต่เรื่องภูมิอากาศมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วคนอยู่ในภูมิอากาศ พูดถึงเวลาเขาแสวงหาสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งที่นอกจากชีวิตประจำวันของเขา ไอ้นี่ของเรา เราก็ทำของเราให้มันถูกต้องของเรา

ถ้าถูกต้องหมายความว่าจิตมันสงบ ถูกต้องแล้วมันไม่ฟุ้งซ่าน ชีวิตเรามันไม่ฟุ้งซ่าน มันไม่เดือดร้อน มันไม่หาสิ่งใดมากดทับมัน ให้มันปลอดโปร่ง ให้มันสุขสมบูรณ์ของมัน แล้วถ้ามันมีสติมีปัญญายกขึ้นสู่วิปัสสนาได้นะ เราจะเป็นพระอริยเจ้า อริยบุคคล จิตนี้มันมีคุณธรรมของมัน ถ้ามีคุณธรรมของมันนะ แล้วมันมีคุณธรรมในหัวใจนั้นไม่มีใครรู้หรอก มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตนในหัวใจของตน

เวลาเหลวแหลกทุกข์ยาก รู้อยู่กลางหัวอก เวลามันจะเป็นอริยบุคคล ทำไมมันจะไม่อยู่กลางหัวอก มันรู้ของมัน เพราะมันรู้ของมัน มันถึงไม่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไง เพราะอยากรู้ แต่ไม่รู้ มันถึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไง อยากรู้อยากเห็น แต่ไม่รู้ ไม่รู้ก็ประพฤติปฏิบัติไป

นี่เขาถามว่า ถูกต้องหรือไม่

ถ้าถูกต้อง เรารักษาตน เราประพฤติปฏิบัติรักษาตน ค้นคว้าหาใจของตน แล้วยกใจของตนขึ้นสู่วิปัสสนา

“๒. ควรใช้หรือควรเพิ่มเติมอย่างไรครับ”

ควรใช้ก็ควรมีสติปัญญา เพิ่มเติม เพิ่มเติมให้มีสติปัญญาแล้วทดสอบ ต้องระวังของเราตลอดเวลา ประสาเรานะ คนที่โดยธรรมชาติเขาก็มีสติมีปัญญารักษาชีวิตเขาอยู่แล้ว นักปฏิบัติจะรอบคอบมากกว่านั้นไง ครูบาอาจารย์ของเรารอบคอบมากกว่านั้นนะ

เราอยู่กับครูบาอาจารย์ แม้แต่เดินนี่อย่าเสียงดังนะ นั่งเหม่อลอยไม่ได้ การเดิน การนั่ง หลวงตาท่านเอาหัวขาดเลย เวลาคนขาดสติ เวลาพูด สะเทือนใจนะ “นั่นน่ะซากศพเดินได้” ท่านเปรียบนักปฏิบัติที่ขาดสติเหมือนซากศพ

แล้วเราเป็นนักปฏิบัติแท้ๆ เราเดิน ไอ้คนเดินอยู่ยังโอ่อ่านะ โอ้! กรรมฐาน โอ้! มีชื่อเสียง หลวงตาบอก “นั่นน่ะซากศพเดินได้” ซากศพคือสิ่งไม่มีชีวิต มันขาดสติของมัน เหมือนผีหัวขาด ผีหัวขาดมันยังเดินไปเดินมาอยู่นั่นน่ะ ผีหัวขาด

เวลาหลวงตาท่านเตือนลูกศิษย์ไง ถ้าเดินไปเดินมาโดยขาดสติหรือเหม่อลอย ท่านบอก “นั่นน่ะซากศพ” คือมันหมดที่พึ่งแล้ว ซากศพเดินได้ แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นไหม

นี่พูดถึงว่าเวลาจะรอบคอบๆ เราก็ว่า “อู๋ย! อย่างเราก็เคร่งเต็มที่แล้ว” ไปเจอครูบาอาจารย์ พร้อมนะ ท่านเห็นคนเหม่อๆ ลอยๆ เห็นคนที่ขาดสติ มันบาดตา มันคับอก หัวอกจะแตก เวลาท่านพูด

เราฟังแล้ว แหม! แหม! เลยนะ แต่เพราะเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่าน ผ่านกิเลสมาแล้วไง เหมือนเราอยู่ท่ามกลางไฟไหม้บ้าน ถ้าคนเข้ามาช่วยไม่ทัน ตายหมดนะ เราอยู่ในบ้านแล้วไฟไหม้บ้านเรา หน่วยบรรเทาสาธารณภัยมันมาไม่ทัน ตายหมด

นี่ก็เหมือนกัน วันคืนล่วงไปๆ มันเผาเราอยู่ทุกวันตลอดเวลา กิเลสมันเผาอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ท่ามกลางอายุขัย ๑๐๐ ปีแล้วต้องตายไป แล้วยังเบิกบาน ทัศนศึกษา

นั่นน่ะถ้าเวลาครูบาอาจารย์ท่านเหน็บเอาเลยนะ เอาแบบเจ็บๆ ด้วย เหน็บเอาเพื่ออะไร เพื่อให้ได้สติ เพื่อให้ได้คิด เพื่อให้ได้ขวนขวาย เพื่อให้ได้หาทางออก นี่พูดถึงเวลาปฏิบัตินะ

ฉะนั้น จะเพิ่มแนวทางอย่างใดก็พยายามเปรียบเทียบเอาเพื่อเป็นประโยชน์กับเราก็ได้เป็นของเราไป จบ

ถาม : ข้อ ๒๒๖๑. เรื่อง “บริกรรมเอง ๓ องค์รัตนตรัย”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ กระผมฝึกหัดนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์เป็นกิจวัตรเช้าเย็น ครั้งละประมาณ ๑ ชั่วโมงมาเป็นเวลา ๒ ปี เคยสงบเย็นใจบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะฟุ้ง แต่ไม่ถึงกับหงุดหงิดรำคาญใจ แม้ออกจากการปฏิบัติก็ยังพอเย็นใจบ้างครับ แต่ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมารู้สึกว่าจิตจะบริกรรมเองโดยอัตโนมัติ แต่ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ (ขวาพุท ซ้ายโธ ขวาธัม ซ้ายโม ขวาสัง ซ้ายโฆ) ทั้งที่ฝึกมาให้ว่าพุทโธคำเดียว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ว่าไปอย่างนี้ครับ โดยเฉพาะการเดินจะรู้ชัดใน ๓ คำนี้ครับ

สำหรับผม หลังจากที่เริ่มปฏิบัติมา เวลามีกามราคะเกิด บางครั้งแทบจะร้องไห้ครับ หรือเกิดโทสะก็จะรู้สึกแปล๊บๆ ที่ลิ้นปี่ครับ หรือนึกถึงความตาย แต่ก่อนเสียวซ่านวุ่นวายไปหมด เดี๋ยวนี้จะเหลือแปล๊บๆ ที่ลิ้นปีครับ กราบเรียนหลวงพ่อโปรดเมตตาแนะนำแนวทางแก่กระผมด้วยครับ

ตอบ : ไอ้นี่พูดถึงคำว่า บริกรรมๆ” ถ้าบริกรรมพุทโธๆ ของเราไป ถ้ามันจะแบบว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ขวาพุท ซ้ายโธ ซ้ายพุท ขวาโธ ถ้ามีสติ ไม่เสียหาย

เรากำหนดเราก็พยายามกำหนดพุทโธ ถ้าบริกรรมพุทโธๆ ก็พุทโธไป ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกโธไป เพราะอะไร นี้มันคืออุบายวิธีการ อุบายวิธีการหมายถึงอาวุธ อาวุธเราควรจะมีหลากหลาย อาวุธของเราถ้ามีหลากหลายแล้วเราไม่เสียหายหรอก แต่เวลาเราใช้ เราใช้อย่างเดียว เวลาเราจะใช้งานเพราะเรามีมือเดียว เราจะใช้ปืนขนาดไหน เราก็ใช้ขนาดนั้น เราจะใช้มีด จะใช้ขวาน เราก็มีมือเดียว ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นบอกว่า คำบริกรรมก็ได้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธก็ได้ เวลามันพุทโธๆ อะไรก็ได้ คำว่า “ก็ได้” แต่เราใช้ด้วยมีสตินะ

มีด เราใช้ผิดพลาดมันก็ทำลายเรา ปืน ทำสิ่งใดแล้วถ้าเราใช้ไม่ถูก มันก็ทำร้ายเรา ทำร้ายเราทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน ซ้ายพุท ขวาโธ บริกรรมพุทโธๆ คำว่า ต่างๆ” ถ้ามีสติ ถ้ามีสติควบคุมได้ เราบริกรรมของเราไป ไม่เสียหาย ไม่เสียหาย เพราะนี่คือวิธีการทั้งนั้น เราจะพุทโธ เราจะอานาปานสติ เราจะซ้ายพุท ขวาโธ เพราะนี่คือวิธีการ

วิธีการ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุของมันคือเป้าหมายของเรา คือเราจะควบคุมใจของเรา การควบคุมใจของเรา วิธีการควบคุมด้วยคำบริกรรม วิธีการควบคุมด้วยกำหนดอานาปานสติ วิธีการควบคุมใจของเรา ถ้าใจของเราควบคุมได้แล้ว ควบคุมจนเป็นอิสระแล้ว ไม่ต้องควบคุมมัน ถ้าไม่ควบคุมหมายถึงไม่ต้องพุทโธ จิตมันสงบของมันด้วยสติใช่ไหม สัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตที่ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จิตที่มีสติสมบูรณ์ในตัวของมันเอง นี่ไง เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น มันมีคุณค่าของมัน ถ้ามันมีคุณค่าของมัน นั่นน่ะจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ที่มันเป็นสัมมาสมาธิที่มันถูกต้องดีงาม ที่เราทำ เราทำเพื่อเหตุนี้ไง ทำเพื่อเหตุนี้เพื่ออะไร

หนึ่ง จิตสงบแล้ว สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบนี้เป็นบาทฐาน นี่เป็นบาทฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ เวลาทำสมาธิเป็นสัมมาสมาธิสะอาดบริสุทธิ์ สัมมาสมาธิสะอาดบริสุทธิ์ควรแก่ที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนาโดยใช้ปัญญา ถ้าปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิมันจะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เข้าไปรู้เห็นแจ้งกิเลสในใจของตน นี่มันมีคุณค่าของมันอย่างนี้ไง ถ้ามีคุณค่าของมันอย่างนี้ นี่คือวิธีการๆ ฉะนั้น มันจะเป็นอย่างไร เราจะตั้งสติของเรา

แต่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ถ้าพุทโธก็ต้องเป็นพุทโธ ถ้าเป็นธัมโมขึ้นมาก็เริ่มหงุดหงิดแล้ว เอ๊ะๆๆ พอเอ๊ะๆๆ อย่างนี้ กิเลสมันถึงเอาสิ่งนี้มาทำให้เราลังเลสงสัย มาทำให้เราวิตกกังวล

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ หรือผู้ที่ปฏิบัติคล่องๆ นะ อะไรก็ได้ สำคัญที่สติ ถ้าสติแล้ว การกระทำนั้นมันก็เป็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องดีงาม ถ้าขาดสติมันคือพลั้งเผลอใช่ไหม

คนขับรถ คนขับรถถ้าหลับใน ตาย คนขับรถถ้าพลั้งเผลอ มีอุบัติเหตุ คนขับรถ นี่ก็เหมือนกัน เรากำหนดดูจิตของเรา เราควบคุมดูจิตของเรา ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เพราะถนน มันก็มีถนนที่มีอุปสรรค รถแน่นรถอะไร มันมี เราต้องควบคุมตลอดเวลา

สติ สำคัญที่สติ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสติมันมีอยู่พร้อม มันจะเป็นอย่างไรนะ เรารู้เท่าทันมันหมด แล้วพอรู้เท่าทัน ทีนี้มันก็หลอกไปเรื่อย เพราะเราเคยอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ พวกนักปฏิบัติเขาบอกว่า “ไอ้พวกพุทโธนี่โง่ฉิบหายเลย อะไรก็พุทโธๆ โอ๋ย! พวกนี้ไม่มีปัญญาเลย” พวกนี้เขาเป็นนักศึกษาด้วยนะ เขาเป็นมหาทั้งนั้นน่ะ

วันหนึ่งหลวงปู่เจี๊ยะก็นิมนต์พวกนี้มา พระมหา พระนักศึกษา นิมนต์มาก็ต้มน้ำชาเลี้ยงต้อนรับแล้วนั่งสนทนาธรรมกัน ท่านก็บอกว่า ท่านเป็นฝ่ายปฏิบัติ การศึกษามันไม่มากมาย อยากจะถามผู้มีการศึกษาว่า ไอ้การหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หรือคำว่า พุทโธๆ” มันสามารถจะทำให้จิตสงบได้หรือไม่

เขาบอกว่าได้

อ้าว! แล้วได้แล้วบอกว่าโง่ได้อย่างไรล่ะ เพราะที่เรียนมา เรียนมาเพื่ออะไรล่ะ ท่านบอกเลย เห็นไหม

เพราะในตำราก็บอกอยู่แล้ว แล้วเวลาเราไปพุทโธๆ เขาบอกว่านี่โง่เง่ามากเลย

นี่ท่านบอกนะ ถ้าพูดถึงเขาบอกว่าไม่ได้ ถ้าไม่ได้ ท่านจะบอกเลยให้บริกรรมขี้ๆๆ มันสงบได้ไหม ขี้ๆ

คำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่สำคัญว่าจิตได้บริกรรมหรือเปล่า ถ้าจิตไม่ได้บริกรรมจริงๆ มันเหมือนนั่งเหม่อลอย คนนั่งเหม่อลอยแล้วจิตมันจะสงบได้อย่างไร แต่ถ้าเรานั่งโดยตั้งใจแล้วมีคำบริกรรมชัดเจน คำบริกรรมเรา ถ้าคำบริกรรมชัดเจน เวลาทำชัดเจน

คนทำงานมันเบื่อหน่ายทั้งนั้นน่ะ คนทำงาน เด็กโดนบังคับมันเบื่อหน่ายทั้งนั้นน่ะ เด็กโดนบังคับให้นั่งนิ่งๆ เด็กคนนั้นร้องไห้ตายเลย ถ้าเด็กร้องไห้มันวิ่งเล่นตามสบายของมันนะ อู๋ย! ทั้งวันมันก็เล่นได้ ถ้าปล่อยให้มันคิดสำมะเลเทเมา คิดตามแต่มันจะคิด สบาย โอ๋ย! สบายๆ บังคับให้มันพุทโธมันจะเป็นจะตาย

นี่ไง แต่ถ้ามันเป็นได้จริงนะ ถ้าเด็กดีๆ เด็กที่มันใฝ่ดี มันพุทโธได้ง่ายๆ แบบว่าจริตนิสัยคนดีๆ มันทำได้ดี แต่ถ้าคนที่มีปัญหานะ ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้เลยก็มาปัญญาอบรมสมาธิ นี่พูดถึงว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

นี่พูดถึงเวลาบอกว่า ถ้าพุทโธๆ ไปแล้วมันเป็นพุทโธซ้าย พุทโธขวา

มันหลอก เพราะเราพุทโธอยู่แล้ว เราพุทโธอยู่แล้วเราก็พุทโธของเราไป มันจะซ้าย มันจะขวา เราก็มีสติไป แต่ถ้ามันหลอกใช่ไหม แล้วเราตามไป การภาวนาของเรา เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อคุณงามความดี แต่กิเลสหน้าที่ของมันคือการทำลายล้าง กิเลสตัณหาความทะยานอยาก งานของมันคือการทำลายล้างทุกๆ อย่างที่เราทำดี

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยเบียดเบียนหรือทำลายใคร หรือทำให้ใครมีความลำบาก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแวววาว ทำให้คนมีความสุข ทำให้คนมุ่งสู่ความดี ทำให้คนสิ้นสุดแห่งทุกข์ นี่คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ที่ประพฤติปฏิบัติไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน มีปัญหา นั่นกิเลสๆๆ กิเลสทั้งนั้น กิเลสในใจเราทั้งนั้น มันไม่มีใครทำเราเลย มีแต่กิเลสในใจของเราทั้งนั้นน่ะ แล้วกิเลสใครทำมาล่ะ...เรา เพราะเราทำมา เห็นไหม ดูสิ ทานอาหารชอบรสชาติอย่างไร ความเป็นอยู่ของเราชอบอย่างไร กิเลสมันก็คือสันดานเดิมเรานั่นแหละ สันดานเดิมของเรา

เธออย่าย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำแล้วจะเป็นจริตจะเป็นนิสัย สิ่งที่เราเป็นๆ อยู่นี่ก็เพราะเราเคยย้ำคิดย้ำทำ ทำมาซ้ำๆ ซากๆ จนเป็นความคิดของเรา กิเลสมันเกิดตรงนั้นน่ะ แล้วกิเลสมันก็เกิดขึ้นมา

นี่พูดถึงว่า ถ้าพุทโธแล้วมันมีปัญหา

เราอธิบายมายาวยืดเลยเพื่อให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นปัญหา มันจะพุทโธอย่างไรก็ช่างหัวมัน อย่ามาหลอกลวงเรา มีสติสัมปชัญญะพร้อมตลอด แต่ต้องมีคำบริกรรม มีสติพร้อม

ถ้าไม่มีสติ นั่งเหม่อลอย ไม่ได้ ถ้าจะปล่อยให้มันสงบเอง ไม่มี เป็นไปไม่ได้ มันจะพาไปลงสู่ภวังค์ ลงสู่สุญญากาศโดยขาดสติ

แต่ถ้ามันเป็นความจริงมันต้องควบคุมทั้งหมด การประพฤติปฏิบัติ สติสำคัญที่สุด สติ แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วคำบริกรรมก็สำคัญ เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนา ปัญญาก็สำคัญ เวลาสำคัญๆ แต่ถ้าขาดสติเริ่มต้นมามันจะโตขึ้นมาไม่ได้ ถ้าโตขึ้นมาก็โตขึ้นมาโดยลำดับของมัน นี่พูดถึงคำบริกรรมนะ

แต่สำหรับว่าเขาถามคำถามต่อไป “สำหรับผลของการปฏิบัติมา กามราคะที่เกิดบางครั้งแทบจะร้องไห้ หรือเกิดโทสะก็จะรู้สึกแปล๊บๆ ที่ลิ้นปี่ หรือนึกถึงความตาย แต่ก่อนมันจะเสียวซ่านวุ่นวายไปหมด”

นี่พูดถึงว่า ถ้าจิตมันยังไม่สงบ จิตมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ เวลามันคิดสิ่งใดไปแล้วมันก็คิดไปโดยกิเลส คิดไปโดยแรงเหวี่ยง แรงเหวี่ยงกิเลสมันเหวี่ยงไปแล้วมันจะมีปัญหามาก

ถ้าใจมันสงบแล้วกลับมาพิจารณาเรื่องนี้ พิจารณาถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย

พูดถึงการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เวลาโลงศพประดับประดาไว้สวยงาม ข้างในคือซากศพ ถ้าร่างกายเราก็เหมือนกัน เวลาผิวหนังของคนมันเต่งตึง เดี๋ยวมันก็เหี่ยวย่น เดี๋ยวก็ทำลายไป นี่เวลาถ้าเราคิดอย่างนั้น คิดดักหน้า คิดล่วงหน้าไว้เลย ถ้าคิดล่วงหน้าไว้เลยนะ มันไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันทั้งนั้นน่ะ มันไม่มีอะไรสวยคงที่ มันไม่มีสิ่งใดคงที่คงวาทั้งสิ้น

แม้แต่ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตของเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะกี่ภพกี่ชาติแล้ว ก็มากงกรรมกงเกวียน รอยล้อเกวียนก็ทับรอยเก่า เราก็เกิดมาอย่างนี้ทุกภพทุกชาติ แล้วเราก็จะมาซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ซ้ำซากอยู่อย่างนี้เพราะมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม

แต่เวลาเกิดมาแล้ว เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราจะมาประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะหลีกเร้นไปจากรอยกงเกวียนกงกรรมอันนี้ ถ้ากงเกวียนกงกรรมอันนี้เราพิจารณาของเรา ถ้ามันจะหลีกเร้นไปได้ก็ด้วยสติด้วยปัญญาเราเท่านั้น มันไม่มีอะไรจะทำให้เราหลีกเร้นไปได้

ถ้าไม่มีอะไรจะทำให้หลีกเร้นไปได้ ทีนี้มันก็ต้องเกิดเป็นเรื่องข้อเท็จจริง เพราะในทางการแพทย์มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันมีของมัน อย่างเรา มนุษย์เราก็มีการกิน การขับถ่าย ก็ธรรมชาติของมนุษย์ เวลาธรรมชาติของมนุษย์ ดูสิ ส้วมสาธารณะเต็มไปหมดเลย สถานที่สวนสาธารณะต้องมีส้วมสาธารณะ ถ้าสถานที่สาธารณะต้องมีส้วมสาธารณะหมด เพราะคนเรามันก็กินกับถ่ายเป็นเรื่องธรรมดา

นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของกามราคะต่างๆ ทางการแพทย์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ของเรามันเป็นการย้ำคิดย้ำทำให้หัวใจมันตอกย้ำ ตอกย้ำอยู่ในกามภพ

แต่ถ้าเราเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะถือพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือสิ่งปฏิบัติพรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ ไม่ปฏิบัติพรหมจรรย์ว่า ถ้าปฏิบัติพรหมจรรย์ เอาแล้วนะ ปฏิบัติพรหมจรรย์แล้วทำอย่างไร พรหมจรรย์ ทำไมถึงเป็นพรหมจรรย์...ปฏิบัติพรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ จบ แล้วเราทำของเราให้ได้ ถ้าทำของเราให้ได้ เห็นไหม

ฉะนั้น สิ่งที่มันแปล๊บๆ เราใช้ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้มันก็เป็นบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นความจริงของเรา เป็นความจริงของเรานะ มันจะรู้จริงขึ้นมา พอรู้จริงขึ้นมามันจะรู้เป็นชิ้นเป็นอันเลยนะ

ถ้าจิตสงบแล้ว สงบแล้วเสื่อม มันคลายออกมา เออ! มันเสื่อมอย่างนี้ เข้าแสนยาก พอมันเข้าได้ พอมันเข้าได้ รักษาได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ มันใช้ปัญญาไปได้มันก็จะใช้ปัญญาไป มันถึงเป็นความจริง เห็นไหม รู้จักรักษาตน รู้จักค้นคว้าตน รู้จักหาตน รู้จักรักตน รักตนรักอย่างนี้

วิชาความรู้ วิชาชีพนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่วิชชา วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน มีวิชชาด้วย มีจรณะด้วย มีสัมปันโน ความรู้จริงของเราด้วย ถ้าทำของเราได้ เราฝึกหัดของเราอย่างนี้ ถ้าฝึกหัดอย่างนี้มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่คำถามมานะ คำถามมาตั้ง ๒ คำถาม จะบอกว่า แล้วขอความเมตตาหลวงพ่อแนะนำต่อเนื่อง

การแนะนำต่อเนื่อง การปฏิบัติทุกคนปฏิบัติมาแล้วมันมีเหตุมีผลขึ้นมามันก็เห็นว่า ศาสนาพุทธ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีอยู่จริง มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง พอมีอยู่จริง มันก็มีแรงปรารถนาอยากจะประพฤติปฏิบัติต่อหน้าไป ก้าวหน้าไปเพื่อประโยชน์อันนั้น

ทีนี้การประพฤติปฏิบัติก้าวหน้าไปมันก็ต้องย้อนกลับมาดูพื้นฐาน พื้นฐานว่า ศีล สมาธิ ปัญญาของเราให้สมบูรณ์ขึ้นไป แล้วพยายามปฏิบัติของเราขึ้นไปให้ได้มาตรฐานของเรา รักษามาตรฐานของเราให้สุดความสามารถของเรา สุดความสามารถของเรา ถ้าแค่ไหนก็ได้แค่นั้น แล้วถ้ามันมีอำนาจวาสนามากขึ้น พิจารณาได้มากขึ้น ถ้าถึงที่สุดนะ มันตั้งแต่ตทังคปหาน คือรู้เท่าชั่วคราว รู้เท่าแล้วมันใช้สติปัญญารวบรัดทะลุแจ้งชั่วคราว แต่มันไม่มีบทสรุป

ถ้าบทสรุป เวลาหลวงตาท่านพูดถึงขณะจิต ขณะจิต จิตต้องมีขณะของมัน ขณะของมันคือปิดโครงการ โครงการใดปิดแล้ว ชำระบัญชีเสร็จ โครงการนั้นก็ถือว่าเสร็จ โครงการใดสร้างแล้วคาไว้อย่างนั้นน่ะ ปิดบัญชีไม่ได้ วางบิลแล้ววางบิลอีก เก็บเงินไม่ได้ เจ้าของโครงการก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ คากันอยู่อย่างนั้นน่ะ นั่นน่ะตทังคปหาน

เมื่อใดปิดโครงการ สมุจเฉทปหาน ขณะจิต กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ถ้าพิจารณาไปแล้วมันจะเท่าทันหมดเลย แยกเป็น ๓ ทวีปแล้วกลับมารวมกันอีกไม่ได้เลย ต่างอันต่างจริง ทุกข์ก็เป็นความจริง จิตก็เป็นความจริง อริยสัจก็เป็นความจริง ต่างอันต่างจริง ขันธ์ ๕ ก็เป็นขันธ์ ๕ จริง กายก็เป็นกายจริง กิเลสก็เป็นกิเลสจริงๆ แต่ตายอยู่นู่น จิตก็เป็นจิตจริงๆ ที่พ้นออกมา นี่พูดถึงถ้าเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง นี่ขณะจิต

ถ้าภาวนาต่อเนื่องไปๆ ถ้าเราภาวนาต่อเนื่องไป เรารักษาของเราไป ถ้าทำได้ ถ้าทำได้มันก็เป็นการยืนยันปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกในใจว่ามรรคผลมีอยู่จริง แล้วมีอยู่จริงๆ แล้วไม่ได้จริงที่อื่น จริงที่เราปฏิบัติแล้วรู้ท่ามกลางหัวใจของตน เพราะจิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วถ้ามันถึงคุณธรรม เกิดอีก ๗ ชาติ มันรู้อยู่เต็มหัวใจเลย

แต่เรานี่ไม่รู้ว่าเกิดมาอย่างไร ตายอย่างไร แล้วไปไหนอย่างไรไม่รู้ แต่พระโสดาบันรู้ อีก ๗ ชาติ รู้เลยว่าเกิดอีก ๗ ชาติ มันรู้ถึงเป้าหมายของตน รู้ถึงขอบเขตของตน พระโสดาบันจะรู้ถึงขอบเขตของความรู้ของพระโสดาบันแน่นอน ไม่อย่างนั้นเป็นพระโสดาบันไม่ได้ เอวัง