เป็นธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๒๖๕. เรื่อง “จิตดูเวทนา”
กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมมีคำถามที่จะขอโอกาสหลวงพ่อเมตตาชี้แนะค่ะ โยมชอบเดินจงกรมจนจิตมีสมาธิอยู่กับผู้รู้ เมื่อจิตออกจากผู้รู้ โยมมักใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือไม่ก็พุทโธรัวๆ เพื่อให้จิตอยู่กับผู้รู้มากขึ้น
โยมเคยกราบครูบาอาจารย์องค์สำคัญที่จังหวัดสกลนคร ท่านเมตตาให้โอวาทโยมว่า “ให้เอาผู้รู้เป็นที่พึ่ง” โยมพยายามทำตามที่ท่านสอนอย่างเคร่งครัด เมื่อรู้ของโยมตั้งมั่น จะออกพิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งสามารถเห็นการเกิดดับของเวทนาได้เร็วมาก พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นบนกาย ขึ้นและลง และพิจารณาลงไตรลักษณ์ โดยมุมไตรลักษณ์ที่โยมถนัดคืออนิจจัง
คำถามที่ขอเมตตาหลวงพ่อตอบค่ะ
๑. ที่โยมพิจารณาเวทนาถูกต้องหรือไม่ โยมพยายามตรวจสอบด้วยตัวเอง โยมคิดว่าถูก เพราะหลวงพ่อเคยตอบคำถามที่เกี่ยวกับการพิจารณาว่า สติต้องตั้งมั่น
๒. หลวงพ่อเคยตอบคำถามอื่นเกี่ยวกับการพิจารณาว่า อะไรเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ให้พิจารณาอันนั้น แต่จิตโยมไม่ยอมพิจารณากายเลย เพราะมองว่ากายคือก้อนธาตุนิ่งๆ ไม่รู้จะดูไปทำไม
๓. มุมไตรลักษณ์ที่โยมชอบพิจารณาคืออนิจจัง โยมควรพิจารณามุมทุกขัง อนัตตาด้วยหรือไม่ แต่ทุกขัง จิตโยมก็มองว่าไม่รู้จะพิจารณาทำไม เพราะเห็นทุกข์อยู่แล้วในขณะพิจารณาเวทนา
สุดท้ายกราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงเจ้าค่ะ
ตอบ : เวลากราบขอบพระคุณอย่างสูง เวลาเขาว่าเคยเขียนมาถาม หลวงพ่อตอบมากมายมหาศาล หลวงพ่อตอบมาอยู่แล้ว หนูเข้าใจหมดๆ
ความเข้าใจหมดส่วนความเข้าใจไง ความเข้าใจเป็นความเข้าใจ แต่ความจริงเป็นความจริงอีกอันหนึ่งนะ เพราะว่าสิ่งที่คำถาม เราอ่านแล้วมันรู้สึกว่าขัดแย้งกัน เวลามันขัดแย้ง มันขัดแย้งโดยตัวมันเอง
คำถามว่า “โดยพิจารณาไตรลักษณ์ มุมไตรลักษณ์ที่โยมถนัดคืออนิจจัง”
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ไง เวลาสิ่งที่ว่าในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
ว่าเป็นอนัตตา ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คืออนัตตา เวลากรณีอย่างนี้ เพราะเราฟังพระองค์หนึ่งเวลาเขาพูดถึงนะว่า เขาไปอยู่เมืองนอก พวกฝรั่งเมืองนอกเวลาพูดถึงอนิจจัง เขาบอกว่า เขาเข้าใจได้ เขารับได้ เพราะสรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ไง ถ้าวิทยาศาสตร์ เขารู้ได้ว่าเป็นอนิจจัง เพราะสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดคงที่ทั้งนั้นน่ะ มันแปรสภาพทั้งนั้น โดยธรรมชาติก็เป็นจริงอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติเป็นจริงอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นอนิจจังๆ เราจะบอกเป็นอนิจจัง มันส่งออก มันอยู่ข้างนอก แต่เป็นไตรลักษณ์ๆ ไม่มีใครเคยเห็นไตรลักษณ์ ไม่มีใครรู้จักไตรลักษณ์
นี่ไง ถ้าไตรลักษณ์เป็นอนิจจัง อนิจจังเป็นเรื่องอนิจจัง เป็นเรื่องของวัตถุ อนิจจังเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องของโลก นี้เป็นอนิจจัง ดูสิ บ้านเรือน บ้านที่มีคนอยู่ บ้านนั้นมันชราคร่ำคร่าได้ช้าเพราะมันมีคนดูแลรักษา บ้านร้างที่ไม่มีใครอยู่ บ้านนั้นจะผุจะพัง จะเสื่อมสภาพได้เร็วมาก
ความเสื่อมสภาพไป นั่นไง มันเห็นชัดๆ เวลาอนิจจังๆ ไง ทุกคนก็เห็น อนิจจัง ทุกคนก็รับได้ไง เพราะอนิจจังมันไม่เกี่ยวกับเราไง อนิจจังคือวัตถุที่มันแปรสภาพให้เห็นไง มันก็เลยแบบว่าเสียดายมันก็เสียดายอยู่ แต่มันไม่กระแทกหัวใจ ถ้าวัยรุ่นเขาบอกไม่โดนใจ มันไม่โดนใจ มันไม่โดนถึงความรู้สึกไง นี่ไง อนิจจัง อนิจจังก็อยู่ข้างนอกนู่น
ฉะนั้นบอกว่า ในมุมของโยมบอกว่าที่พิจารณาไตรลักษณ์เป็นอนิจจัง มันขัดแย้งกัน อนิจจังเป็นเรื่องสาธารณะ อนิจจังเป็นเรื่องของโลก อนิจจังเป็นสิ่งที่แปรสภาพ แล้วไตรลักษณ์คืออะไร
นี่ไง เขาบอกเลยนะ พระเขาไปอยู่เมืองนอก เขาบอกว่าเวลาพวกฝรั่งเขามาคุยด้วย เขาบอกว่าอนิจจังเข้าใจได้เลย บอกศาสนาพุทธนี้สุดยอดเลย แต่ไอ้ตัวตน ไอ้ทำลายตัวตน มันไม่รู้จะทำลายอย่างไร เขารับไม่ได้ เขารับไม่ได้คือเขาเห็นไม่ได้ ทีนี้เขาเห็นไม่ได้ไง ฉะนั้น ถ้าเขาจะเห็น ถ้าว่าเป็นไตรลักษณ์ๆ สิ่งที่ว่าเป็นไตรลักษณ์ อะไรเป็นไตรลักษณ์
พอเวลาศึกษา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป สิ่งที่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับเป็นธรรมดา แล้วอยู่ไหนล่ะ อยู่ไหน เวลามันพัดมา ลมพัดมาเป็นธรรมดา พายุมาก็เป็นธรรมดา เวลาพายุสงบแล้วก็จบไง บ้านเรือนพังราบอยู่นั่นไง มันเป็นธรรมดา ก็เป็นข้างนอกนะ นี่ไง สิ่งที่ว่าเป็นธรรมดา กรณีนี้เป็นกรณีที่สำคัญมาก คนที่ภาวนาไม่เป็นไม่รู้
อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ท่านพูด จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ความคิดของเราทั้งหมดเป็นสมุทัยหมดเลย ไอ้ที่คิดกันอยู่ ไอ้คนที่คิดๆ กันอยู่ ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากจิต แล้วคิดเรื่องอะไร ความคิด พอมันคิดขึ้นมามันส่งออกแล้ว
สิ่งที่ส่งออก จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของสมุทัยเป็นทุกข์
ค้นคว้ากันอยู่นี่ สิ่งที่ความคิดทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์ นี่ไง แต่ถ้าเวลาจิตเห็นจิต จิตเห็นจิตเป็นมรรคผลจากการที่จิตเห็นจิต คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การจะหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด
นี่ไง มันต้องอยู่ที่ก่อนนี้ สิ่งที่ว่าเป็นอนิจจัง สิ่งที่เราคิดกันอยู่มันเป็นอนิจจังทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าว่าไตรลักษณ์ มันเกิดอย่างไร ไตรลักษณ์มันเกิดอย่างไร นี่ไง ฉะนั้น มันเกิดขึ้น
ฉะนั้น ไฮไลต์ในโศลกธรรมของหลวงปู่ดูลย์น่ะ จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต
ถ้ามันไม่เห็น เอาอะไร มันไม่เห็นนะ ไม่เห็นก็อนุมานเอา ในปัจจุบันนี้เราอนุมานกันเอง ถ้าภาษาเรานะ อุปาทาน เป็นอุปาทานทั้งนั้นน่ะ คิดเองเออเอง ให้ผลเอง ยอมรับเอง ได้เอง แล้วคุยกันรู้เรื่องนะ เพราะมันเป็นปรัชญา
ดูสิ อย่างเช่นเวลาพูดธรรมะที่เป็นปรัชญา ถ้าธรรมะเป็นปรัชญา พระเรวัตตะไง นิยายธรรมะไง อ่านนิยายธรรมะแล้วซาบซึ้งๆ ผู้ชนะสิบทิศ มันมีเรื่องจริงเป็นตำนานอยู่นิดหนึ่ง แล้วก็เขียนขยายความไป
นี่ก็เหมือนกัน พระเรวัตตะเป็นน้องชายของพระสารีบุตร มีตัวตนอยู่จริงนะ แล้วก็เขียนเป็นนิยายธรรมะ แล้วก็ซาบซึ้ง อู้ฮู! น้ำหูน้ำตาไหล โลกรู้ได้อย่างนี้ เป็นอนิจจัง เรื่องโลกๆ เป็นตรรกะ
แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ของเราต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ใจสงบแล้ว คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด การหยุดคิดนั้นคือสมาธิ หยุดคิดนะ จิตคิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การจะหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด ถ้าไม่ใช้ความคิดล้างความคิด เอาอะไรไปหยุดคิด ถ้ามันไม่หยุดคิดมันก็คิดของมันไป แล้วเวลาหยุดคิดแล้ว จิตเห็นอาการของจิต
ที่เราเทศน์เมื่อ ๒ วันนี้ “หมูป่าสอนธรรม” ถ้าค้นหาไม่เจอ ช่วยหมูป่าไม่ได้ ค้นหาไม่เจอ เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาหมูป่า ๑๓ ตัวออกจากถ้ำ มันเข้าไปมุดอยู่ในถ้ำ ไม่รู้มันอยู่ตรงไหน เจาะแล้วเจาะอีกก็หาไม่เจอ
นี่ไง หลวงตาท่านสอนประจำ การขุดคุ้ยหากิเลสเป็นงานอันหนึ่ง การขุดคุ้ยหากิเลส การเจอกิเลสนั้น รู้จักกิเลส เห็นหน้ากิเลส
ไอ้คนภาวนาไม่เป็นมันเห็นตรงนี้ไม่มีค่า เห็นการค้นคว้าค้นหาไม่มีความจำเป็น กูจะช่วยหมูป่า กูจะพังภูเขาเลย กูจะระเบิดนิวเคลียร์ระเบิดมันเลย แล้วไปเอาหมูป่าออกมา ตายอยู่นั่นหมด ไม่มีเหลือ ไม่มีเหลือหรอก
นี่ก็เหมือนกัน คนที่ภาวนาจะเป็นมันต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ เริ่มต้นจากสมถะยกขึ้นสู่วิปัสสนา จากสมถะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ไม่มีสมถะ ยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ ถ้ายกได้ เป็นอุปาทาน เป็นจินตนาการ เป็นความเพ้อเจ้อ เพ้อเจ้อในธรรมะ แล้วเยอะนะ เพราะเพ้อเจ้อไม่มีขอบเขต
การเขียนนวนิยาย ใครมีมุมมองอย่างใด ยิ่งเขียนได้ลึกซึ้ง ยิ่งเขียนนะ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ไง ไอ้นักสืบ ยิ่งเขียนไป เจมส์ บอนด์ เขียนไปร้อยตอนแสนตอน เขียนได้ตลอดเวลา พลิกแพลงเขียนได้อยู่อย่างนั้นน่ะ
นี่ไง นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาขึ้นมา จินตนาการ ธรรมะ แล้วคุยกัน อู้ฮู! ซาบซึ้ง...ไร้สาระ ไร้สาระเพราะอะไร เพราะมันไม่เข้าสู่สัจธรรม มันไม่เข้าสู่ความจริง
นี่ไง เวลาวงกรรมฐานเรา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาหลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่บัว คุยกับหลวงปู่ขาว คุยกับหลวงปู่ฝั้น เวลาคุยกันๆ แหละคือการตรวจสอบธรรม เหมือนกับทางวิชาการ เวลาประชุมทางวิชาการ แล้วทฤษฎีของใครเอาขึ้นมาวางบนโต๊ะ แล้วพิจารณากัน มีเหตุมีผลพอหรือไม่
ถ้ามีเหตุผลพอ อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้ามันมีความจริงแล้ว ตรงกันหมด เข้าได้กันหมด จบวิศวะมาสาขาไหนก็แล้วแต่ เวลาจะสร้างคอนโด สาขาไหนเอามาประชุม แล้วออกมาเป็นคอนโด อยู่ได้สุขสบาย ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ อริยสัจต้องเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นขึ้นมา
ฉะนั้น เขาบอกว่า “มุมมองของโยมพิจารณาไตรลักษณ์ ถนัดในเรื่องของอนิจจัง”
ถ้าไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นะ มันเกิดขึ้น คำว่า “เกิดขึ้น” จิตสงบแล้ว จิตเห็นอาการของจิตคือการเกิดขึ้น การเกิดขึ้นคือค้นหาพบ จะเป็นกาย จะเป็นเวทนา จะเป็นจิต จะเป็นธรรม อะไรก็แล้วแต่ สติปัฏฐาน ๔ เพราะนั่นน่ะมันสะเทือนกิเลส เพราะถ้าคนเห็นจริงนะ คนเห็นจริงมันสะเทือนกิเลส
เวลาสะเทือนกิเลส มันแปลกประหลาด ลึกลับมหัศจรรย์ ทั้งๆ ที่ของที่เราก็รู้ๆ อยู่ เส้นผมบังภูเขา เวลาของหายหาไม่เจอ อย่างไรก็หาไม่เจอ เวลาเจอแล้ว เออ! แค่นั้นน่ะ แต่เจอ
แหวนเพชร ทำแหวนเพชรตกหาย หาเท่าไรๆ หาเท่าไรก็ไม่เจอ เวลาเจอแหวนเพชรก็คือแหวนเพชร แต่เจอ อารมณ์ที่เจอไง อารมณ์ที่เจอกับเวลาที่มันไม่เจอ มันทุกข์ไหม แหวนเพชรมันก็คือแหวนเพชร แต่คนที่ไปเจอแหวนเพชรแล้ว เออ! จบ ไม่ต้องหา เพราะเจอแล้ว
จิตเห็นอาการของจิต หาเท่าไรก็ไม่เจอ หาเท่าไรก็ไม่เจอ พอหาไม่เจอแล้วก็บอกว่า “เฮ้ย! กิเลสเป็นนามธรรม ไม่ต้องไปเจอมันหรอก กิเลสมันก็เป็นกิเลส เราก็จะฆ่ากิเลส” มันก็เหมือนศาลฎีกาตัดสินโทษประหารไง เวลาโทษประหารก็คือโทษประหารใช่ไหม ศาลฎีกา ถ้าฆ่าคนตายโดยเจตนามันก็ต้องประหารชีวิตนั่นน่ะ แต่จับคนร้ายไม่ได้ คนร้ายก็จับไม่ได้ ก็ไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ทำอะไรเลย แต่การฆ่าคนตายโดยเจตนา โทษของมันคือประหารชีวิตนะ
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสก็ไม่เห็น วิปัสสนาก็ไม่ได้ทำ ไม่มีสิ่งใดเลย แต่ปฏิบัติน่ะ บรรลุธรรมน่ะ...โอ้โฮ! ปวดหัว ปวดหัว อันนี้มันเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของเขา เราจะพูดถึงเรื่องของสังคม สังคมเขาเป็นอยู่กันแบบนั้น ถ้าสังคมเป็นอยู่แบบนั้น
ถ้าเป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังเหมือนกับเด็กๆ เหมือนกับพวกเรา เราศึกษาสิ่งใดแล้วเราเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจังใช่ไหม ผู้ใหญ่ สิ่งใดที่เราได้มา สิ่งใดที่เราเสียหายไป เราก็เข้าใจได้ใช่ไหม มันต้องแปรสภาพไป ผู้ใหญ่ สิ่งใดเราไม่เสียใจเลย แต่เด็กมันร้องไห้นะ มันไม่พอใจนะ ไอศกรีมละลายหมดแท่งมันยังไม่ยอมเลย ต้องซื้อให้มันแท่งใหม่
ไอศกรีมหมดแท่งมันละลายไปแล้ว หมดแท่งก็หมดแท่ง เราก็รับรู้ได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม แต่เด็กมันไม่ยอมนะ ไม่ยอมน่ะ ไม่ยอม ไอศกรีมต้องอยู่ในแท่งนั้นน่ะ ต้องไปซื้อแท่งใหม่ให้มัน เวลามันไม่รู้
แต่เราก็รู้ มันเป็นอนิจจังๆ ใครๆ ก็รู้ได้ เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่ไตรลักษณ์มันไม่เคยเห็น ไตรลักษณ์มันไม่เป็นแบบนี้ ถ้าไตรลักษณ์ไม่เป็นแบบนี้นะ
นี่พูดถึงว่า เวลาเขาบอกว่า คำถาม เขาขอโอกาส ถามหลวงพ่อมาหลายเรื่องแล้ว ให้อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ
ถ้าอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันก็มีความสุขของมัน ถ้ามีความสุขของมัน ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริง เขาบอกว่า การพิจารณาร่างกาย การพิจารณาเวทนาเกิดดับ
เวทนาเกิดดับนะ เวลาคนภาวนาไม่เป็น เวลานั่งไปแล้ว เวลาเวทนามันเกิด เจ็บปวดแสบร้อน เวลาเวทนา ทุกคนก็อยากจะชนะเวทนาทั้งนั้นน่ะ ถ้าการชนะเวทนา ถ้าเรานั่งสมาธิด้วยการกำหนดพุทโธ พุทธานุสติ เรากำหนดพุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันสงบไปก่อนที่เวทนาจะมา แต่ถ้าเราพลั้งเผลอ เราสติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์ เราทำสักแต่ว่า ทำด้วยความพลั้งเผลอ ทำๆ ไป เวลาเวทนามันมา โอ้โฮ! เจ็บปวดแสบร้อน แต่เราก็พยายามจะสู้ทนกับมัน เป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้นน่ะ
มันเหมือนกับเราทานอาหาร อาหารถ้ามันเผ็ดเกินไปมันก็มีรสเผ็ด อาหารที่มันมีรสจืดมันก็จืดใช่ไหม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน การภาวนา จิตมันได้สัมผัสอารมณ์ของตน สัมผัสอารมณ์ของตนนะ ผู้รู้ ตัวของผู้รู้อย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่ถูกรู้มันถึงกระทบ มันถึงเกิดอารมณ์ขึ้น มันถึงเกิดความรู้สึกขึ้น
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาผู้รู้มันไม่รับรู้ของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็รับรู้อยู่ บางทีเรานั่งเหม่อลอย เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมาถามว่า เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมาไหม เห็นๆ อยู่ แต่รู้อะไรไหม ไม่รู้ เพราะมันไม่ออกรับรู้
ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ถ้าเรารับรู้เต็มที่ มันก็รับรู้ของมันไป ถ้ามันไม่รับรู้ของมัน แต่มันรู้ได้มันก็รู้ของมัน แต่รู้แบบเบลอๆ พูดถึงว่าถ้ามันไม่ชัดไม่เจนของมัน
แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ ถ้าจิตสงบเข้ามา มันวางหมด ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตรับรู้ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้าคนภาวนายังไม่เป็นก็ไม่รู้ว่าจิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต
สิ่งที่เราเกิดขึ้นมา รูปคืออารมณ์ความรู้สึก เวทนาคือความรู้สึกในอารมณ์นั้น สัญญาคือความรับรู้ว่าอารมณ์อะไร เราพอใจไม่พอใจ สังขาร สังขารคือมันคิดปรุงแต่งต่อเนื่องไป วิญญาณ วิญญาณรับรู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันสัมพันธ์กัน สัมพันธ์กันก็เป็นอารมณ์ขึ้นมา ถ้าไม่มีวิญญาณรับรู้อารมณ์นั้น อารมณ์แต่ละอารมณ์ อารมณ์ที่จะคิดขึ้นมามันก็เป็นอารมณ์อารมณ์หนึ่ง แต่มันก็สมบูรณ์แบบในขันธ์ ๕ นั้น แต่ความเร็วของจิตที่มันเป็นไป เราไม่รู้ทันมันหรอก มันก็หมุนอยู่อย่างนั้นน่ะ แว็บๆ แว็บๆ อยู่ในใจนั่นน่ะ แล้วเราก็จินตนาการจะเปรียบเทียบกับธรรมะข้อไหนก็ได้ จะรับรู้อะไรก็ได้ พูดถึงว่าภาวนาแบบเพ้อเจ้อ
หลวงตาท่านพูดโดยมารยาท ท่านบอกว่าไอ้พวกนี้พวกทำพอเป็นพิธี เห็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำจริงจังของท่าน ท่านมีมรรคมีผลของท่าน ไอ้พวกนี้มันก็เลียนแบบ เดินจงกรม กูก็เดินได้ นั่งสมาธิ กูก็นั่งได้ ทำอะไรได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เป็นรูปแบบ เนื้อหาสาระไม่มี เนื้อหาสาระไม่มี มีแต่รูปแบบ
แล้วคำว่า “รูปแบบ” ใช่ไหม รูปแบบ ใครก็ทำได้ใช่ไหม เพราะรูปแบบ ใครๆ ก็มานั่งได้ ใครๆ ก็มาเดินได้ ใครก็มาหย่อนก้นนั่งได้ ใครก็เดินได้ เอาตุ๊กตามาเดินก็ได้ ไปปั้นตุ๊กตาสวยๆ มาตั้งไว้รูปหนึ่งก็ได้ รูปแบบมันมีหมดแหละ แต่อารมณ์มันเป็นไปหรือไม่ ภาวนาเป็นหรือไม่เป็นอยู่ตรงนี้
ถ้าไม่ทำพอเป็นพิธี เพราะวิธีปฏิบัติมันมี อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วกูก็ทำให้เหมือนเลย มันก็เหมือนกับตุ๊กตาไขลานเลย ให้ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วจิตมันมีไหม มันไม่มีจิต แต่ของเรามันมี มันมีแล้วทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ก็เอารูปแบบอย่างนั้นน่ะ แล้วก็มากล่าวตู่กัน
ฉะนั้น ถึงบอกว่า คำว่า “ไตรลักษณ์ๆ” ใช่ ไตรลักษณ์แน่นอน แต่เป็นอย่างไร คนภาวนาไม่เป็นไม่มีทางรู้ได้
อย่างเช่นเมื่อวานวันอาสาฬหบูชา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับไปเป็นธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ แหละ แต่มันเกิดที่ไหนล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี แล้วมันเกิดตรงไหนล่ะ แล้วอะไรมันเกิดล่ะ ใครเป็นคนกระตุ้นให้มันเกิด กระตุ้นให้มันเกิดขึ้นมาแล้วมีปัญญาอย่างไร นี่ไง คำว่า “เกิดขึ้น” นี่ไง เกิดขึ้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับไปเป็นธรรมดา
เราจะบอกว่า เวลาทำความสงบของใจ มีพระ พระอวดเก่งเขาบอกว่าทำสมาธิมันเป็นตัวตนนะ
แล้วใครบอกมึงว่าไม่เป็นล่ะ เพราะอะไร เพราะมึงจะละตัวตน ถ้ามึงไม่เห็นตัวตนของมึง มึงจะไปละอะไร คนที่จะละตัวตน ถ้าเข้าไม่ถึงตัวตนของตน จะเอาตัวตนไปละตรงไหน
ตัวตนของตน อีโก้ ยึดมั่นถือมั่นในใจ แล้วก็ไปกว้านเอาเรื่องคนอื่นมานินทากัน เวลานินทา ปัญญาๆ วิเคราะห์วิจัยเรื่องของพระพุทธเจ้า วิเคราะห์วิจัยเรื่องธรรมะ แล้วเรื่องของมึงล่ะ เรื่องในใจมึงล่ะ
เวลาวิเคราะห์วิจัยเขาก็วิเคราะห์วิจัยจากในใจมึง ใจมึงก็คือตัวตนของตนไง ก็สัมมาสมาธิไง แล้วเวลามันเกิด ถ้ามันเกิดมันต้องเกิดตรงนั้น เพราะคำว่า “เกิดตรงนั้น” เกิดขึ้น เกิดขึ้นคือเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง
ที่คุยๆ กันอยู่นะ สติปัฏฐาน ๔ โดยความคิดนึกเอาเอง ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตมันจะสะเทือนกิเลส มันจะสะเทือนกิเลสแบบว่าเก็บแหวนเพชร แหวนเพชรหายไป แหวนเพชร ค้นคว้าอย่างไรก็แล้วแต่ ขุ่นมัวเนาะ แหวนเพชรหาย กังวลฉิบหายเลย หาๆ หาไม่เจอ หาอย่างไรก็ไม่เจอ กังวลไหม กังวล เพราะอะไร เพราะแหวนเพชรหายไป
แต่ไปเจอแหวนเพชร เฮ้อ! เฮ้อ! นะ พอใจไหม เฮ้อ! อย่างนี้สุขใจไหม เฮ้อ! อย่างนี้สมบูรณ์แบบไหม จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เหมือนเจอแหวนเพชร อารมณ์ความรู้สึกไม่เจอกับเจอแตกต่างกัน
จิตเวลาสงบแล้วมันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เห็นกาย เห็นกายจริงๆ พอมันเห็นจริงๆ อารมณ์ที่มันกระเทือน แล้วพอกระเทือนแล้วมันจะสอนจิตดวงนั้นเลย การที่แหวนเพชรหายไปมันมีแต่ความวิตกกังวล มีแต่ความทุกข์นะ พอเจอแหวนเพชรมันโล่งหมดเลย ภูมิใจ พอใจ โอ๋ย! ของกูๆ ตัวตนๆ แล้วพอของกูแล้ว ของกู แต่กูไม่เห็นของกู ทำอย่างไร
เพราะกูเห็นของกู นี่ไง เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นนะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วเกิดอย่างไรล่ะ
ไอ้ที่เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกนี้มันเกิดโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ มันเกิดโดยสถานะของความเป็นมนุษย์ มันเกิดโดยโลก มันเกิดโดยชีวิตของเรา เวลาสิ่งที่ความคิดมันเกิด มันเกิดโดยธรรมดาของมัน
แต่เวลาเป็นธรรมๆ ขึ้นมามันเกิดด้วยความสามารถของเรา มันเกิดด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาที่มันไปรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง ถ้ารู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงมันถึงจะเป็นมรรค ความเป็นมรรคขึ้นมามันเกิดขึ้นอย่างนั้นน่ะ นั่นไตรลักษณ์มันอยู่นู่นๆ
ภาษาเรานะ โม้ไปเถอะ ทางวิชาการมึงพูดไปเถอะ ปฏิบัติพอเป็นพิธีไง พิธีปฏิบัติก็มีแล้วนะ ตอนนี้มันก็เป็นพิธีแสดงธรรม แสดงธรรมจากหลวงปู่มั่น แสดงธรรมจากครูบาอาจารย์ มันก็แสดงของมัน
แล้วแสดงขึ้นมาแล้ว ภาษาเรา พอแสดงไปแล้ว โลกไม่มีภูมิ ไม่มีวุฒิภาวะ ใครจะโกหกอย่างไรก็เชื่อ แต่หลวงตาท่านเคยย้ำบ่อยนัก ผู้รู้จริงเขามีนะ ผู้รู้จริง ผู้รู้จริงฟังทีเดียวก็รู้ว่าโกหกหรือจริง ผู้ที่รู้จริงแล้วทำตามความเป็นจริงมาแล้ว ฟังรู้หมดแหละ
หลวงตาเวลาท่านพูดถึงหลวงปู่มหาเขียน ๙ ประโยค ที่ท่านไปฟังทีแรก ท่านไปฟังทีแรกตอนไปทอดผ้าป่า ท่านบอกปริยัติ เพราะท่านจบ ๙ ประโยค ฟังรู้หมด แล้วปริยัติคือว่าทางวิชาการที่มันเป็นอย่างนั้น เพราะมันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงก็ไม่พบแหวนเพชร แหวนเพชรหายไป หาชาตินี้ทั้งชาติไม่เจอ
แต่ถ้าใครหาแหวนเพชรเจอนะ เอาแหวนเพชรเลย ส่งไปที่สถาบันรับรองเพชร ว่าเพชรมันเพชรจริงหรือเพชรปลอม มันวิเคราะห์วิจัยได้เลยว่าเพชรของกูจริงหรือปลอม เวลาหายไปแล้วมันไปหมักหมมอยู่ในดินในโคลน เพชรมันแวววาวขึ้นหรือเพชรมันหมองลง
นี่ไง เวลาเจอแหวนเพชรแล้วมันพิจารณาได้ มันจับต้องได้ถ้าศีล สมาธิ ปัญญามันพอ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่พออีกแหละ ไม่พอคือสมาธิไม่พอขึ้นมามันก็เสื่อม แล้วปัญญาก็ไม่เดินไป
นี่พูดถึงว่าอนิจจัง อนิจจังกับไตรลักษณ์มันคนละอันกัน ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลาเป็นอนัตตา อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ถ้าเป็นอนัตตา ตัวเฉพาะอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป นี่เป็นอนัตตา
พอเป็นอนัตตาขึ้นมา ทางวิชาการเลยบอกว่า “มันเป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปมันไม่มี ก็มันเป็นอากาศธาตุ มันเป็นอยู่แล้ว มันไม่มี”
อู๋ย! ปวดหัว ปวดหัวเลย นักวิชาการมันเยอะ นี่ถ้าปวดหัวนะ
ถ้าไม่มี ไม่มี พระพุทธเจ้าเกิดมาได้อย่างไร ไม่มี ทำไมเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไม่มี ทำไมเอหิภิกขุ ๑,๒๕๐ องค์ ถ้าไม่มี พระอรหันต์เขาคุยอะไรกัน ไม่มี ความเป็นพระอรหันต์กับความเป็นอรหันต์เขาเอาอะไรวัดกัน มันไม่มีตรงไหน มันไม่มีอย่างไร
ถ้าไม่มี มันไม่มีกิเลส แต่มันมีคุณธรรมในใจ พระอรหันต์เขารู้นะ เหมือนเศรษฐี เศรษฐีเขามีเงินมีทองของเขา เขาเก็บเงินไว้ เขาสุขสบายใจของเขา
เฮ้ย! กูก็เป็นเศรษฐี แต่กูกู้เงินมาทั้งหมดเลย แล้วเงินของกูเป็นเศรษฐี กูยังไม่ได้ไปกู้เขามาเลยนะ
เศรษฐีเขานิ่งของเขา เขารู้ของเขา เขามีความสุขของเขา นี่พูดถึงถ้าเป็นความจริง ถ้าความจริงเป็นแบบนั้น
อันนี้เราพูดให้เห็นว่า เพราะเขาบอกว่าเขาภูมิใจไง ถามหลวงพ่อมาหลายทีแล้ว หลวงพ่อตอบ คราวนี้หนูเขียนมาชัดเจนเลย เพราะอะไร เพราะ ๑. ที่โยมพิจารณาเวทนานี้ถูกต้องหรือไม่ โยมพยายามตรวจสอบด้วยตัวเอง โยมคิดว่าถูก เพราะหลวงพ่อเคยตอบว่า โยมคิดว่าถูกเพราะหลวงพ่อเคยตอบหนูมาถูกหมดเลย ทำอะไรก็ถูกๆ ถูกทั้งนั้นเลย
ถูกก็คือถูกนะ ถูก ไม่ใช่อริยบุคคลนะ เพราะเมื่อก่อนมีคนมาถามเรา ถามเรื่องการพิจารณากาย อย่างนี้ถูกไหมคะ
ถูก เพราะอะไร เพราะเขาพิจารณากาย จะเป็นพิธีหรือไม่เป็นพิธี เวลาเขาพูดมามันเป็นรายละเอียดว่าใช่ เท่านั้นแหละ อู้ฮู! หลวงพ่อว่ากูถูก หลวงพ่อรับรองกู...ตาย
ต่อไปนี้เราจะบอกว่า ถ้าถูกก็ส่วนถูกนะ ถูกหมายความว่า เอ็งมานับคำนวณให้กูฟังนี่ถูกไหม ถูก แต่เอ็งคำนวณเป็นหรือยัง ยัง เพราะเอ็งไม่มีเหตุผลที่จะมาคำนวณไง ถ้าเอ็งคำนวณ
นี่ไง เวลาจะตอบนี่นะ มันก็จะให้กำลังใจบุคคลบ้าง ใครทำสิ่งใดให้มันแบบว่ามีแนวทาง แต่บอกว่าถูก มันให้คะแนนมันเกินไป ๕-๖๐๐ โยชน์นู่น
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน หลวงพ่อเคยตอบหนูว่า มันก็เหมือนเรา เหมือนพ่อแม่มีลูกอ่อน กินข้าวๆ กินข้าวนะ กินข้าว อ้ำๆ นี่ก็เหมือนกัน ถูกไหม อ้ำๆ มันก็ให้กำลังใจไง จะบอกว่าผิดเลย
โทษนะ ลูกเราเพิ่งเกิด จะเลี้ยงลูกของเรา ลูกเรายังหากินไม่เป็น มันกินอะไรไม่ได้เลย แล้วเราไม่สอนให้มันกินมันจะโตขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าจะให้มันกินนะ อ้ำๆๆ ถูกไหม อ้ำเลย ถูกไหมก็อ้ำเลย ถูก
โอ้โฮ! มันไปบอกว่าหลวงพ่อรับประกันว่ามันมีขั้นมีตอน โอ๋ย! กูปวดหัว กรณีนี้เจอมาบ่อยมาก
นี่ก็เหมือนกัน หนูเข้าใจว่าถูก เพราะหลวงพ่อเคยตอบหนูว่าถูก
เออ! เวรกรรม ถ้าตอบปัญหาอย่างนี้มันตอบปัญหา เราตอบปัญหานี้ เราพยายามจะตอบปัญหานะ ให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันยังมีแนวทาง อย่างใดก็แล้วแต่มันยังมีแนวทาง เราจะคิดอย่างไร เราจะมีความเห็นของเราอย่างไรนะ เวลาถาม หลวงพ่อ ถ้าหลวงพ่อเอาใจก็ถูก ถ้าหลวงพ่อจะปั๊มหัวใจ เวลาหลวงพ่อจะปั๊มหัวใจใช้ไฟปั๊มหัวใจปุ๊บ ถ้าอย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาจะปั๊มหัวใจ สะดุ้งเฮือกเลย แต่ถ้าทำถูกไหม อ้ำๆ เลยนะ
ส่วนใหญ่เวลาตอบปัญหานะ อ้ำๆ จะให้กินไง ฝึกหัดกินให้เป็น ทำให้ได้ ทำขึ้นมา ถ้าทำขึ้นมา เอ็งก็ทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเอ็ง เรากินเข้าไปนะ เด็กมันร้องไห้ เด็กมันหิวกระหาย พอมันได้กินอาหารแล้วนะ มันก็นอนเล่นพักหนึ่ง เพราะมันอิ่มท้อง ไอ้นี่ก็อ้ำเลย พอมันภาวนาดีขึ้นนะ ไม่มาหากูพักหนึ่งเลยนะ พอหิว มาอีกแล้ว หลวงพ่อๆๆ อ้ำๆ ป้อนเลย ถูกของเราคืออย่างนี้ คำว่า “ถูก” น่ะ
แต่จะภาวนาไปถึงมรรคผลนะ โธ่! การภาวนามรรคผลมันต้องไปเป็นแบบบิล เกตส์ เป็นแบบผู้ที่แจ๊ค หม่า คือคนคนหนึ่งเขาพยายามสร้างธุรกิจของเขาขึ้นมา ใช้ความรู้ของเขา ใช้ประสบการณ์ของเขา ใช้ทุนของเขา การภาวนาเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ การภาวนา คนคนนั้นจะต้องมีศีล ต้องมีสมาธิขึ้นมา พอมีสมาธิขึ้นมา ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงขึ้นมา เขาต้องบริหารจัดการของเขา เขาพิจารณาของเขา ใคร่ครวญของเขา มันเหมือนกิจการอันหนึ่งเลยล่ะ แล้วจะรักษาอย่างไร จะดูแลอย่างไรให้มันเจริญงอกงามขึ้นไป
ไอ้นี่ของเรามีแต่จะซื้อ ซื้อทางออนไลน์ จะซื้ออย่างเดียว แต่ค้าขายไม่เป็น จะซื้ออย่างเดียว แล้วมันจะมีธุรกิจอะไรขึ้นมา
นี่พูดถึงว่า ถ้าจริงๆ ต้องเป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้นเพราะอะไร เป็นแบบนั้นเพราะหลวงตาไปคุยกับหลวงปู่แหวนก็เป็นแบบนั้น หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่บัว “มีอะไรว่ามา” หลวงปู่บัวก็เลยเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา นั่นน่ะกิจการหนึ่งๆ มรรค ๔ ผล ๔ บุคคลหนึ่งคู่ สองคู่ สามคู่ สี่คู่ นั่นคือ ๔ กิจการ กิจการของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่คือกิจการกิจการหนึ่งเลยนะ เริ่มต้นขึ้นจากการก่อร่างสร้างตัว เริ่มต้นขึ้นจากการกระทำ เริ่มต้นขึ้นมาจากประสบความสำเร็จเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้าไม่ประสบความสำเร็จเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันจะเกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเป็นความจริงๆ ขึ้นมา เวลานักปฏิบัติเขาเป็นอย่างนี้นะ
แต่คนที่ภาวนาไม่เป็นนะ “เฮ้ย! อย่าไปฟังไอ้หงบมัน โอ๋ย! ลำบากฉิบหายเลย โอ้โฮ! โลกนี้มันมีอยู่คนเดียว อย่าไปยุ่งกับมัน ให้มันบ้าของมันไปเถอะ เรามาพิจารณาของเรากันนี่ ไม่ขาดก็ไม่เป็นไร พิจารณาของเรา บรรลุธรรมกันอย่างนี้มีความสุข”...เดี๋ยวนี้เขาคิดอย่างนี้กันเยอะแยะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นกระแสสังคม กระแสของเขา กลุ่มของเขาทำกันอยู่อย่างนั้น มันก็เหมือนกับเราผู้ที่พิการ ผู้ที่ด้อยวุฒิภาวะ ทำสิ่งใดที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดมีแต่ความล้มเหลว ก็ไปกองกันอยู่นั่น เป็นสมาคม เป็นชมรม ชมรมผู้พิการ ชมรมผู้ที่ภาวนาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แล้วก็ไปสร้างเหตุการณ์ สร้างความเชื่อของตน แล้วก็บอกเอาอย่างนี้พอ ไอ้พวกนี้ช่างมันไปเถอะ ไอ้พวกที่ แหม! มันต้องมีกิจการ ไอ้พวกที่มันต้องบรรลุธรรม มันต้องขาด ช่างมัน ปล่อยมันไป ปล่อยมันไป
อย่างนี้ใครถูกใครผิด ตอนนี้สังคมเป็นแบบนี้ ไอ้ผู้ที่ทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดแล้วมีแต่ความล้มเหลว มันไปกองรวมกันอยู่นั่น แล้วต่างคนต่างบกพร่องในอารมณ์ บกพร่องในความคิดไง แล้วก็มีความสุขกันอยู่อย่างนั้นนะ แล้วเวลาเอาจริงๆ ขึ้นมา พอเอาจริงขึ้นมา เพราะเราได้ยินนะ เราได้ยินเวลาพระมาถามปัญหา แล้วพระเล่าให้ฟัง พระเวลาเขาอยู่สังคมอย่างนั้นมาก่อน เขาบอกว่าสังคมอย่างนั้นเขานินทานะ บอกว่า “โอ๋ย! ทำไมต้องขาด เราไม่ต้องขาดก็ได้ อ้าว! ไม่ต้องขาดมันจะตายหรือ”
คนเรารักษาโรคภัยไข้เจ็บไม่ต้องหายก็ได้ พอบรรเทาๆ ไปอย่างนั้นน่ะ แล้วเดี๋ยวหายแล้วหรือ คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาโรคไม่เคยหาย แล้วมันจะปลอดภัยไหม มันเป็นไปไม่ได้ที่จะปลอดภัย
แต่คนเรารักษาโรค โรคต้องหายขาด พอโรคหายขาดแล้ว นั่นน่ะชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่ไง ไตรลักษณ์เป็นไตรลักษณ์ อนิจจังเป็นอนิจจัง มันไม่เกี่ยวกัน
แล้วข้อที่ ๑. โยมพิจารณาของโยม พิจารณาเวทนาถูกต้องหรือไม่
พิจารณาเวทนา พิจารณาเวทนา จิตสงบแล้วพิจารณาเวทนา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนามันเกิดขึ้นจากอะไร เวลาเวทนามันเกิดขึ้นจากจิตโง่ จิตนี้มันโง่นะ เวลามันยึด เวทนานี้เป็นนามธรรม เวทนากาย เวทนาจิต
เวทนากาย นั่งนานนอนนานก็เป็นเวทนา เวทนาจิต นั่งเฉยๆ มันก็ไม่พอใจ เวทนากาย เวทนาจิต แล้วเวทนามันเกิดอย่างไร ถ้าคนจิตสงบแล้วจับเวทนาได้มันพิจารณาเวทนาอย่างไร
โอ๋ย! เวทนาจับไม่ได้ เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา ทุกข์เกือบเป็นเกือบตาย เวลาคนที่มีความทุกข์ทำร้ายตัวเองเพราะอะไร เพราะความทุกข์มันท่วมท้นไง พิจารณาเวทนา เวทนานอก เวทนาใน เวทนาของโลกกับเวทนาในอริยสัจ
เพราะในพระไตรปิฎกมันมี เวลาพระไปคุยกับนักบวชนอกศาสนา ไปยืนกรานเวทนา ๒ แล้วเขาเถียง เถียงเขาไม่ขึ้น เวลากลับมาหาพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าด่าเอาเลยนะ โมฆบุรุษ โมฆบุรุษ ถ้าไม่มีปัญญาไม่ต้องไปพูด
เวทนามันมีเวทนา ๓ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา แล้วอายตนะ ๖ อายตนะ ๑๒ อายตนะ ๑๘ อายตนะภายนอก อายตนะภายใน เวลาคนมันจับได้ ถ้ามันจับได้มันจะเห็นหมดเลยนะ เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านเป็นมหา เวลาประพฤติปฏิบัติมาแล้วมันเข้ากันหมดเลย เห็นไหม ทางวิชาการเป็นทางวิชาการ แต่ความจริงเราไม่มี มันก็เหมือนทางวิชาการที่เราจำได้ จำไม่ได้ ต้องทบทวนตลอดเวลา
นี่ก็เหมือนกัน โยมพิจารณาเวทนาถูกต้องหรือไม่
ถ้าการพิจารณาเวทนา ถ้าจิตมันสงบแล้วเราจับเวทนาได้ พิจารณาเวทนา เวลาพิจารณาเวทนา เวลาขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ถ้ามันถูกต้องมันก็ถูกต้องของมัน
ถ้ามันไม่ถูกต้อง มันพิจารณาไปแล้ว ขนาดว่าสมาธิมันไม่พอ ถ้าพิจารณาเวทนาไปแล้วมันก็ไปยันกันไว้ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกเลย “มหา มหาภาวนาอย่างนั้นหรือ ทำไมภาวนาอย่างกับหมากัดกัน” คำว่า “หมากัดกัน” คือว่าจับเวทนาได้แล้วไม่ได้พิจารณา ยันไว้อย่างนั้นน่ะ ยันไว้อย่างนั้น
หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าหลวงปู่มั่นส่งจิตมาดูท่านก่อนหน้านั้นชั่วโมงหนึ่ง แล้วเราไปทำข้อวัตร ท่านจะชื่นชมเราเลย บอกว่า แหม! มหานี่เก่งมาก มหาพิจารณาเวทนาฟาดฟันกับมัน
ใช้ปัญญาฟาดฟันค้นคว้าในเวทนานั้น เวทนามันเกิดที่ไหน เกิดที่หัวเข่า หัวเข่ามันมีเวทนาหรือไม่ ธาตุขันธ์มันเป็นเวทนาหรือไม่ เวทนามันเกิดที่เอว เวทนามันเกิดบนศีรษะ เวทนามันเกิดบนหน้าอก เวทนามันเกิดบนหน้าอกเกิดอย่างไร เห็นไหม เวลาท่านใช้ปัญญาฟาดฟันกับมัน
ถ้าฟาดฟันกับมันจนฟาดฟันไปแล้วมันเหนื่อย มันเหนื่อยเพราะมันใช้ปัญญามาก เวลาใช้ปัญญา เวลาคนทำงานมันใช้ปัญญามากมันจะเหนื่อยอ่อนมาก เหนื่อยอ่อนมากก็เลยพัก พักก็เลยถอนปัญญาออก แล้วก็ยันไว้ด้วยสมาธิไง หลวงปู่มั่นส่งจิตมาดูพอดี “มหา มหาพิจารณาอย่างนั้นหรือ”
นี่การพิจารณา นี่พูดถึงกิจการไง กิจการของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค กิจการหนึ่งๆ การกระทำการหนึ่ง มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันชัดเจนของมัน ถ้าอย่างนั้นมันถึงจะถูกต้อง
แต่ถ้าโยมพิจารณาเวทนาของโยม พิจารณาอย่างนั้นแล้วบอกว่า หลวงพ่อเคยตอบมาตั้งหลายทีแล้ว
เวลาตอบมันก็อ้ำไง อ้ำ อ้ำเลย ให้ภาวนาให้เป็น เพราะถ้าภาวนาได้แล้วมันเป็นสมบัติของตน ใครก็แล้วแต่ทำกิจการใดประสบความสำเร็จ มันจะเป็นผลงานของเขา มันจะเป็นกิจการของเขา ไม่ใช่ของเรา เราเป็นผู้ให้ที่เป็นผู้ปรึกษา ที่ปรึกษา ถ้านึกถึงที่ปรึกษา นี่จะอ่อยเหยื่อเขาแล้วนะ ไม่หรอก มันเป็นของใครของมัน นี่พูดถึงผู้พิจารณาเวทนา
“๒. หลวงพ่อเคยตอบคำถามเกี่ยวกับการพิจารณาว่าเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันให้พิจารณาอันนั้น แต่จิตของโยมไม่ยอมพิจารณากายเลยเพราะเห็นว่าเป็นวัตถุธาตุนิ่ง”
เวลาพิจารณาไปแล้วนะ ถ้าพิจารณาเวทนา มันก็เห็นกายแบบเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมแบบเวทนา
เวลาพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พิจารณากายก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ แต่ถ้าพิจารณาไปแล้ว เพราะโสดาบันเป็นโสดาบันเหมือนกัน แต่พิจารณากายเป็นโสดาบัน พิจารณาเวทนาเป็นโสดาบัน พิจารณาจิตเป็นโสดาบัน พิจารณาธรรมเป็นโสดาบัน การพิจารณาเป็นโสดาบันคือโสดาบันเหมือนกัน แล้วถ้าเหมือนกันแล้วมันจะรู้ผลเหมือนกัน อย่างเช่นเราจะเดินทางด้วยรถ รถก็รถเหมือนกัน แต่รถมันคนละยี่ห้อ รถมันก็แตกต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาให้เหมือนกัน มันก็เหมือนกัน
แต่ทีนี้พอพิจารณาไปแล้ว เขาบอกพิจารณาไปแล้ว แต่เวลาพิจารณากาย กายนี้เป็นแค่ก้อนธาตุ มันนิ่งๆ อยู่
ไปดูมันทำไม ฉะนั้น ไอ้นี่มันยืนยันกันอยู่แล้ว ในเมื่อรถ รถเป็นเพื่อการคมนาคม รถเป็นที่อาศัย รถมันก็เป็นการขนส่งที่จะพาให้เราไปถึงปลายทางได้ ไม่ใช่ว่าสงสัยเรื่องรถ
นี่ก็เหมือนกัน แต่รถของกูวิ่งได้ รถของมึงวิ่งไม่ได้ เวทนาของเราวิ่งได้ แต่ก้อนธาตุมันอยู่นิ่งๆ ก้อนธาตุมันไม่ไปไหน อ้าว! เป็นอย่างนั้นไปอีก
แต่ถ้าคนภาวนาเป็นแล้ว รถก็คือรถ ถ้ารถมีคุณภาพดีหน่อยมันก็สะดวกสบายหน่อยหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเกวียน เกวียนก็ไปได้ เกวียนก็ถึงเหมือนกัน ถ้ามันเคลื่อนที่ไปได้มันก็ไปได้ ขนส่งได้เหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอย่างนี้ เวลาพิจารณากาย กายมันนิ่งๆ อยู่ ไปดูมันทำไม แสดงว่ารถมันวิ่งไม่ได้หรือ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนที่พิจารณากายเยอะนะ ถ้าพูดอย่างนี้นะ ไปสังคม ไปหลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ ไปหาหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะเอาตายเลย พอพิจารณากายแล้วมันนิ่งๆ หลวงปู่เจี๊ยะถนัดกายนัก คนที่ถนัดกายมันก็เป็นเรื่องของกาย มันอยู่ที่ว่าคนที่ถนัด ถ้าถนัดแล้วก็จบ
ฉะนั้นบอกว่า ถ้าพิจารณาแล้วมันเหมือนกัน ถ้าพิจารณาเป็นธรรมแล้วนะ ธรรมะไม่มีขัดไม่มีแย้งกัน ถ้าธรรมะแท้ๆ นะ ธรรมะ เห็นไหม ดูสิ เราขับรถไป เราไปเติมน้ำมัน ถ้าน้ำมันชนิดเดียวกัน เติมที่ปั๊มไหนก็ได้ แต่เว้นไว้แต่ปั๊มมันไม่มีน้ำมัน มันมีแต่น้ำ พอไปเติมแล้วยุ่งเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน ที่ไหนมันก็เติมได้
นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาเวทนา พิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เหมือนกัน เหมือนกัน แต่คนพิจารณาแตกต่างกัน เพราะมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วเหมือนกันอย่างไร ถามได้ แต่เรื่องมันจะยาวเกินไป ถ้าพูดเลย คืนนี้ไม่จบนะ ถ้าอธิบาย แล้วเวลาไม่จบ มันสนุกคนอธิบายนะ เพราะมันอธิบายด้วยความสนุก
ไอ้คนฟังก็เบื่อ หลวงพ่อเลิกเถอะ ไม่รู้เรื่อง
นี่อธิบายแล้วมันจะยุ่ง ไอ้คนอธิบาย เพราะมันเป็นชิ้นเป็นอัน มันเป็นเนื้อหาสาระไง ไอ้คนฟัง อู๋ย! เกาหัวแกรกๆ เลย เมื่อไหร่จะเลิกสักทีวะ เพราะไม่รู้เรื่องด้วย เพราะภาวนาไม่เป็นไง ถ้าภาวนาเป็นมันมีเนื้อหาสาระอยู่ในตัวมันโดยข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ฉะนั้นบอกว่าให้จบก่อน เดี๋ยวมันจะเลยเถิด
“๓. มุมไตรลักษณ์ที่โยมชอบพิจารณาคืออนิจจัง โยมควรพิจารณามุมทุกขัง อนัตตาหรือไม่”
ความเป็นอนิจจัง คำว่า “เป็นอนิจจัง” สภาวะอนิจจัง เรานั่งดูสิ เราจุดเทียนสิ เทียนมันจะเผาตัวมันเอง อนิจจังไหม เวลาเราจุดเทียน เทียนมันจะเผาตัวมันเองหมดเล่ม ตัวมันเองเป็นอนิจจังนะ แต่ตัวเราไม่ได้อะไร เพราะมันอยู่ข้างนอก
แต่นางปฏาจารา ตั้งแต่สามีเสียไป เสียลูกไปสองคน เสียพ่อเสียแม่จนบ้าไป แล้ววิ่งแก้ผ้าไป พระพุทธเจ้าว่า “ปฏาจารา เธอเป็นอะไร” แล้วโยนผ้าให้ แล้วให้บวชเป็นภิกษุณี ไปพิจารณาเทียนนี่แหละ
ไปพิจารณาเทียน เห็นไหม การพิจารณาเทียน เพราะมันทุกข์ยากมาตลอด มันพิจารณาไปแล้วมันพิจารณาจากภายนอก มันย้อนเข้ามาเป็นภายในไง ถ้าย้อนเข้ามาเป็นภายใน มันเป็นเหมือนชีวิตเราไง ชีวิตของเราเหมือนกับเทียน ท่านเปรียบเทียบว่าชีวิตเราเหมือนเทียนเล่มนี้ แล้วเทียนเล่มนี้มันจุดมันเผาของมันไป เทียนเล่มนี้ก็ต้องหมดไปไง ชีวิตเรา ชีวิตสามี ชีวิตลูกสองคน ชีวิตพ่อ ชีวิตแม่ ชีวิตเรา ชีวิตเรา เทียนมันกำลังเผาอยู่ นี่ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์เพราะมันเป็นปัจจุบันไง
เพราะชีวิตสามี ชีวิตลูก ชีวิตพ่อ ชีวิตแม่ มันเป็นข้างนอก มันตายไปแล้วไง แต่ชีวิตเรายังมีชีวิตอยู่ไง แต่ชีวิตของเรามีสติปัญญา เราเปรียบเทียบชีวิตนี้ เปรียบเทียบหัวใจนี้เหมือนเทียนเล่มนี้ พอเหมือนเทียนเล่มนี้ พิจารณาเทียนเล่มนี้ มันก็ย้อนเข้ามาสู่ตัวเอง เป็นพระอรหันต์จากการพิจารณาเทียน
นี่ก็เหมือนกัน เราบอกว่าเป็นอนิจจังๆ มันเหมือนเทียนเล่มนี้มันอยู่ข้างนอก แต่ถ้ามันจับได้ มันต้องจับได้ นี่ไตรลักษณ์ สัมมาสมาธิคือจิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตเป็นสัมมาสมาธิ จิตมีสติปัญญา จิตมันพิจารณาของมัน นี่ตัวตนของมัน ไตรลักษณ์มันเกิดตรงนี้
ไตรลักษณ์ ที่ว่าเวลาฆ่ากิเลส ฆ่าตัวตน เวลาเราชำระกิเลส กิเลสคือชำระตัวตนของเรานะ ตัวตนอย่างหยาบๆ ชำระเป็นชั้นๆ จนตัวตนอย่างละเอียด ชำระตัวตนจนไม่มีตัวตน ตัวตนคือภวาสวะ คือภพ โลกทัศน์ แกนของจิต หลักของอวิชชา
นี่มันจะพูดของมันคนเดียว คนอื่นงงกับมันนู่นน่ะ พูดของมันคนเดียว ตำราคือตำรา แต่ถ้าเห็นจริงในใจแล้วจบ นี่ถ้าพูดถึงนะ ถ้ามันเป็นความจริง
ถ้ามุมไตรลักษณ์ก็เป็นมุมไตรลักษณ์ คำว่า “มุมไตรลักษณ์” ไตรลักษณ์คือพระไตรลักษณะ พระไตรลักษณะ พระอริยบุคคลต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นตามความเป็นจริง แต่นี้เราพยายามจะพูดถึงความเห็นของเราว่ามันเป็นไตรลักษณ์ แล้วบอกว่า ไตรลักษณ์ที่มุมมองของโยมชอบอนิจจัง ไม่ชอบทุกขัง ไม่ชอบอนัตตา โยมควรพิจารณาในมุมของทุกขังหรือไม่ โยมควรพิจารณาในมุมของอนัตตาหรือไม่
ในมุมของอนิจจัง ในมุมทุกขัง ในมุมอนัตตา มันเป็นสมมุติทั้งนั้นน่ะ
แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริงจากภายใน ถ้ามันเป็นความจริง จิตสงบแล้วรู้เห็นตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงมันจะเร็วกว่านี้เยอะมาก แล้วมันแบบว่า คำถามนี่นะ ประสาเรา คำถามของโยมเปิดไส้เปิดพุงหมดเลย ไส้พุงมีเท่าไรแบหมดเลย นี่ไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ใครรู้เท่าไรพูดได้เท่านั้น ใครปฏิบัติได้เท่าไร ได้เท่านั้น ถ้าคนจริงมันเป็นความจริงแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย
นี่พูดถึงมันเป็นโลกหรือเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม เวลาพูดอย่างนี้มันเหมือนกับที่หลวงตาท่านจบมหามา ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐนัก เก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันเป็นความจริงเสมอกัน
เวลาหลวงตาท่านมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอใจท่านเป็นจริงท่านบอกเลย ที่ศึกษามาอันเดียวกันเลย
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมุมของอนิจจัง เป็นมุมของทุกขัง เป็นมุมของอนัตตา นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าหมดเลย เรียนมาแล้ว เวลาปฏิบัติมันขัดมันแย้ง มันขัดมันแย้งเพราะอะไร มันขัดมันแย้งเพราะรู้หมดแล้ว รู้จริงหมดแล้ว หลวงพ่อตอบให้ถูกนะ หลวงพ่อตอบไม่ถูก หลวงพ่อผิดนะ
สุดท้ายแล้วเปิดไส้เปิดพุงหมดเลย เป็นเรื่องโลกๆ ไม่เป็นธรรม
เป็นธรรมหรือเป็นโลก
เป็นธรรมคือเป็นสัจธรรม เป็นธรรมความเป็นจริง เป็นผลจากการประพฤติปฏิบัติ เป็นสันทิฏฐิโก นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก
เป็นโลก เป็นโลกคือวิชาการ เป็นโลกคือความรู้สึกนึกคิดของเรา ด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เป็นโลกๆ ไม่เข้าสู่ธรรมเลย ปฏิบัติพอเป็นพิธี ไม่ได้ปฏิบัติตามความเป็นจริง
เป็นโลกหรือเป็นธรรม
ถ้าเป็นธรรม อย่างที่ว่า พูดถึงพรุ่งนี้เช้าเลย พูดแบบหลวงปู่อ่อน เทศน์จนโยมหนีหมด เหลือหมาตัวเดียว ถ้าเป็นธรรมพูดได้ทั้งวันทั้งคืนเลย
ถ้าเป็นโลก เป็นโลกง่วงนอน กลับบ้านดีกว่า มันไม่เป็นธรรมแล้ว มันปวดหัว พูดอยู่คนเดียว ไม่รู้ด้วย
เป็นโลกหรือเป็นธรรม ถ้าเป็นโลก เป็นอย่างที่เขียนมา ถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมจะเป็นสัจธรรมในหัวใจของเรา แล้วซาบซึ้งมาก เป็นธรรม เป็นธรรมมันคายกิเลส เป็นธรรมมันถอดถอน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพื่อโลก เอวัง