ใช่หรือไม่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๒๖๗. เรื่อง “ขอคำอธิบาย”
กราบขอคำอธิบายดังนี้
๑. ขอคำอธิบายคำว่า “จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส”
๒. จิตเดิมแท้ที่ผ่องใส เหมือนหรือแตกต่างจากพระนิพพาน
๓. มีผู้กล่าวให้เข้าใจได้ว่า สุดท้ายแล้วดวงจิตทุกดวงจะกลับไปสู่จิตผ่องใส เช่น พระนิพพาน อุปมาคล้ายชีวิตคือการเขียนเส้นกลมที่จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดคือจุดเดียวกัน ดังนั้นการเกิดเป็นมนุษย์คือหนทางลัดของวงจรชีวิตที่เป็นวงกลมขนาดใหญ่ ในการหาหนทางปฏิบัติเพื่อกลับไปสู่จุดเริ่มต้นคือจิตเดิมแท้ได้เร็วขึ้นใช่หรือไม่ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : ๓ ข้อ
“๑. ขอคำอธิบายคำว่า “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส”
๒. จิตเดิมแท้ผ่องใส เหมือนหรือแตกต่างจากพระนิพพาน
๓. มีผู้กล่าวให้เข้าใจได้ว่า...”
โอ๋ย! พอเข้าใจว่าเต็มไปหมดเลย “กล่าวให้เข้าใจว่า” นี่เรื่องหนึ่งนะ เอาคำว่า “จิตเดิมแท้ก่อน”
จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้มันสิ่งที่ว่าจิต จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาว่าจิตนี้มาจากไหน จิตนี้มาจากไหน โดยธรรมชาติของคน คนสงสัยทุกคนแหละ เราก็สงสัย ตอนที่เราสงสัย ทีแรกมันก็ภาวนาไป ทีนี้พอภาวนาไปเสร็จแล้วมันก็เอาคำนี้มากันไว้ว่ามึงมาจากไหน
โอ๋ย! ตายเลย หาใหญ่เลยนะ มึงมาจากไหน มันก็ย้อนไปเรื่อย สาวไปเรื่อย อ๋อ! สาวไปจนถึงว่าจิตแบบว่าสัตว์เซลล์เดียว ไปนู่นเลย เขาบอกมันเป็นพืชๆ
เป็นพืชมันก็เป็นพืช แต่เวลามันสาวของมันไปนะ ไปเรื่อย สาวไปด้วยสติด้วยปัญญาของคนที่มีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน สาวไป เพราะคนที่สาวไป คนที่มีความลังเลสงสัย มีความสงสัยหรือมีความผิดปกติตรงไหน เขาก็จะค้นหาของเขา คนที่ไม่มีความสงสัย ไม่มีความทุกข์สิ่งใดเลย เขาก็ไม่สนใจหรอกว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเขา เช่น คนไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็ไม่สนใจเรื่องยา คนที่จะสนใจเรื่องยาก็เพราะคนนั้นเจ็บไข้ได้ป่วยเขาหายจากโรค
นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเขาจะหาวิธีการชำระล้างกิเลส ทำให้จิตใจของเขาสะอาดบริสุทธิ์ ในเมื่อเขามีสิ่งใดที่สงสัย เขาต้องแก้ของเขา ทีนี้คำว่า “แก้ของเขา” เวลาคนสงสัยมันสงสัยคนละมุม คนละมุม คนละเทคนิค คนละวิธีการที่ว่ามันสงสัย มันอยู่ที่กิเลสของใครสงสัยอย่างใด ฉะนั้น มีความสงสัยอย่างใดเราก็ค้นคว้าค้นหาของมัน มันมาจากไหน มันมาจากไหน
แต่มันมาจากไหน ถ้าเราสาวนะ เราจะบอกว่า พุทธวิสัย อจินไตย ๔ สิ่งที่เราจะไม่มีความสามารถรู้ได้เลย อจินไตย ๔ พุทธวิสัย ฌาน กรรม โลก ๔ อย่างนี้เป็นอจินไตย คำว่า “อจินไตย” เราจะสาวถึงว่าให้มันสิ้นสุดแล้วให้มันจบสิ้นกระบวนการไป เห็นไหม มันเป็นอจินไตย อจินไตยคือว่ามันไม่จบไม่สิ้น คำว่า “ไม่จบไม่สิ้น” ไม่จบไม่สิ้น ๒ เรื่อง ๒ เรื่องคือ
๑. เรื่องของกรรม กรรมนี้เป็นอจินไตย
๒. พุทธวิสัย ถ้าพุทธวิสัย ขนาดปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไป ย้อนจากจิตของตนแล้วสาวเข้าไปหาต้นเหตุ มันไม่มีต้นไม่มีปลาย
หนึ่ง คำว่า “ไม่มีต้นไม่มีปลาย” ปัญญาของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตยอยู่แล้ว คือมันกว้างขวางจนเกินพวกเราไม่รู้จะเทียบกันได้ ขนาดพระพุทธเจ้าค้นคว้าขนาดนั้นแล้วยังไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วเราจะให้มันจบสิ้นกระบวนการให้เราเข้าใจ มันมาจากไหน ถ้ามันมาจากไหน เราก็ค้นคว้าของเราไป เราก็สาวของเราไป แต่มันไปจบลงตรงที่นี่ ตรงที่ว่ามันเป็นพุทธวิสัย
ขนาดวิสัยของพระพุทธเจ้ายังจบไม่ได้ แล้วอย่างเรามันจะจบอย่างไร แต่มันสิ้นสงสัยไง มันสิ้นสงสัยคือว่า เออ! กูไม่ค้นอีกก็ได้ พอแล้ว มันจบแล้ว มันไม่ไปต่อ แต่ถ้ามันยังไม่สิ้นสงสัยมันก็จะไปของมันต่อไง พอมันไม่สิ้นสงสัย มันจะไปต่อ มันจะดึงเราไปหมดเลย ดึงสมาธิ ดึงกำลัง ดึงเวลาของเราไปค้นคว้าอยู่ตรงนี้ พอตรงนี้ปั๊บ มันเป็นเป้ารวม มันออกไปข้างนอกแล้ว มันไม่เข้ามาสู่อวิชชา มันไม่เข้ามาสู่กิเลส นี่ถ้ามันไปนะ
จิตเดิมแท้ คำว่า “จิตเดิมแท้” จิตเดิมแท้มันมีอยู่ทุกคน ไม่ใช่จิตเดิมแท้มีอยู่กับสิ่งที่มีชีวิต แม้แต่สัตว์ เทวดา อินทร์ พรหม เพราะอะไร เพราะจิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เพราะตัวจิตเป็นตัวอุบัติ กำเนิด ๔ ครรภ์ ไข่ น้ำครำ โอปปาติกะ กำเนิด ๔ จิตมันกำเนิดอยู่อย่างนี้ มันเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย
ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันอยู่ที่บุญกุศลไง เกิดสูง เกิดต่ำ เกิดด้วยบาป เกิดด้วยบุญ เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทุกข์ยาก คนเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาทุกข์จนเข็ญใจทั้งชีวิต บางคนพิการมาต้องดูแลติดเตียงตั้งแต่เกิดจนตาย บางคนเกิดมา โอ้โฮ! มันร่ำรวยมั่งมีศรีสุข นี่ไง เกิดเหมือนกัน แต่บุญพาเกิด บาปพาเกิด แต่จิตเหมือนกัน
จิตผ่องใสๆ คำว่า “จิตเดิมแท้” จิตเดิมแท้ก่อน แล้วพอจิตเดิมแท้ คำว่า “จิตเดิมแท้”
คำว่า “มีจิต” ดีกว่า คำว่า “มีความรู้สึก” ถ้าภาษาให้มันชัดเจนก็วิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณในปฏิสนธิ จิตวิญญาณ วิญญาณต่างๆ อันนี้เป็นวิญญาณ แล้วพอวิญญาณขึ้นมามันก็มาความรู้สึก มาความคิดแล้ว เพราะมันจะเข้ามาข้อที่ ๒.
“๒. จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส เหมือนหรือแตกต่างกับพระนิพพาน”
มันแตกต่างกันหมดเลย จิตเดิมแท้ก็คือจิตเดิมแท้ นี่ไง ที่ว่า ในพระไตรปิฎก ในบาลีนะ ฉบับบาลี “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”
คำว่า “ข้ามพ้นกิเลส” ข้ามพ้นกิเลสก็คือนิพพาน
แต่ถ้าจิตผ่องใสต้องข้ามพ้น มันก็ไม่ใช่นิพพานน่ะสิ
นี่บาลี เราไม่ได้บาลี บาลีชัดๆ เลย ๒ บรรทัด บรรทัดหนึ่งคือจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ก็พวกเรานี่แหละ จิตเดิมแท้ๆ ดูสิ อุปกิเลส ผ่องใส ความว่าง ความสว่าง กิเลสทั้งนั้น อุปกิเลส ๑๐ ว่างๆ ว่างๆ นั่นน่ะกิเลส กิเลสอย่างละเอียด ผ่องใส ผ่องใสก็กิเลส ทุกอย่างเป็นกิเลสหมด เพราะจิตผ่องใสต้องข้ามพ้นกิเลส
แล้วมันจะข้ามพ้นอย่างไรล่ะ
นี่ไง ฉะนั้น มันถึงแตกต่างกับพระนิพพานไง เพราะอะไร เพราะจิตเดิมแท้นี้ผ่องใสมันก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ตัวผ่องใสคือตัวเกิด หลวงตาเทศน์ไว้ไง ในธรรมชุดเตรียมพร้อม “จิตผ่องใสคืออวิชชา” ไปดูได้เลย “จิตผ่องใสคืออวิชชา” นี่คนภาวนาไปมันจะรู้ แล้วคนภาวนาไปนะ มันก็เหมือนกับคนเรียน ถ้าเรียนจบมันต้องเรียนเหมือนกันมา ถ้าอย่างนั้นมึงไม่จบ
นี่ก็เหมือนกัน จิตผ่องใสๆ เพราะอะไร เพราะว่าในธรรมชุดเตรียมพร้อมมันก็ไปเข้ากับพระไตรปิฎกบรรทัดข้อที่ว่าจิตผ่องใส
คำว่า “จิตผ่องใส” จิตผ่องใสมันต้องทำสมาธิ เข้าไปอัปปนาสมาธิ มันผ่องใสอะไรของมัน นี่พูดถึงว่า นี่แค่ผ่องใสนะ แล้วเวลาถ้าจิตรวมๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ฉะนั้นว่า จิตผ่องใส คำว่า “จิตผ่องใส” ก็เหมือนจิตเรานี่แหละ คือสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตมันเกิดมาด้วยสถานะของว่า กิเลสหนา กิเลสกลาง กิเลสอย่างหยาบ
ถ้ากิเลสอย่างหนาๆ มนุสสเทโว มนุสสเปโต มนุสสติรัจฉาโน นี่มนุษย์เหมือนกัน แต่มันโดนครอบคลุมด้วยอารมณ์ของความเป็นเดรัจฉาน ความเป็นเดรัจฉานมันหยาบ มันทำลายเขา มนุสสเปโต มนุษย์เปรต โดนครอบคลุมด้วยอารมณ์ของเปรต ก็เลยกลายเป็นมนุษย์เปรต
นี่ไง แล้วมนุษย์เดรัจฉาน มนุษย์เปรต มันมีจิตผ่องใสไหม
มี จิตมันมีอยู่ แต่มันไม่ผ่องใส เพราะมันโดนความครอบงำของอารมณ์เปรต อารมณ์เดรัจฉาน อารมณ์ต่างๆ มันครอบงำอยู่ มันเลยเป็นมนุสสเปโต มนุษย์เปรต มนุสสติรัจฉาโน
มนุสสเทโว จิตใจเหมือนเทวดา จิตใจ ดูสิ มีคนที่จิตใจสูงส่งจิตใจดีงามเขาชักชวนเราไปทำแต่ความดี เขาชักชวนเราไปเพื่อช่วยเสียสละกับบุคคลทุกข์จนเข็ญใจ นั่นเขาเปรียบเหมือนเทวดาเลยนะ เปรียบเหมือนเทวดาของสังคม สังคมมีความทุกข์ความยากมีผู้นำที่ดีเขาส่งเสริม พากระทำ เปรียบเหมือนเทวดาเลย สมมุติเทพ สมมุติเทพนี่เราตั้งให้เลยนะ แต่นี่เขาเป็นโดยน้ำใจของเขาเลย มนุสสเทโว เห็นไหม จิตผ่องใสไหม
มีจิตอยู่เหมือนกันเลยแหละ แต่จิตหนึ่งดำมืดด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จิตหนึ่งมีความสว่างไสวด้วยความเมตตาธรรม ความสว่างไสวด้วยเมตตาธรรม ความมืดดำด้วยอารมณ์เดรัจฉาน ด้วยอารมณ์เปรต เห็นไหม อารมณ์นี้จรมา อารมณ์ สิ่งที่เกิดขึ้น
จิตเดิมแท้เหมือนแผ่นดิน แผ่นดินปลูกพืชอะไรมันก็ได้ผลอย่างนั้น จิตเดิมแท้เหมือนแผ่นดิน จิตเดิมแท้ ปฏิสนธิจิต แล้วพอเกิดเป็นอะไรขึ้นมาเกิดด้วยบุญด้วยบาป
เกิดด้วยบุญกุศล เห็นไหม เกิดมา เด็กกตัญญูๆ มันเกิดมาด้วยความทุกข์ความยาก พ่อแม่มันพิการ พ่อแม่มันเจ็บไข้ได้ป่วย วิ่งไปโรงเรียน แล้วก็วิ่งกลับไปเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวพ่อแม่ปู่ย่าตายายมัน ป้อนข้าวป้อนน้ำเสร็จแล้วก็วิ่งไปโรงเรียน แล้วมันก็วิ่งกลับมา นี่ไง เวลาถ้ามันเกิดมา ถ้าจิตมันมีคุณธรรมในหัวใจมัน มันจะช่วยเหลือเจือจาน เพราะมันเกิดมาจากปู่ย่าตายายของมัน มันยังมีความกตัญญูกตเวที นี่จิตที่มันดีงาม
แล้วจิตที่มันหยาบช้าสิ มันฆ่าพ่อฆ่าแม่มันเลยล่ะ ให้น้อยไป ลำเอียง รักคนนู้นมากกว่า มันทำลายพ่อทำลายแม่มันเลย แต่ถ้าจิตมันดีงาม นี่มันอยู่ที่จิตมันทั้งนั้นเลย อยู่ที่สติปัญญา อยู่ที่ความเห็นในจิตนั้นเลย นั่นไง ผ่องใสไม่ผ่องใส นี่ไง
ว่า “จิตผ่องใสเหมือนนิพพานหรือไม่”
ไม่ จิตผ่องใสหมายถึงฤๅษีชีไพร ผู้ที่ทำหัวใจของเขาให้ผ่องใสได้ นิพพานคือพระอรหันต์เท่านั้น อย่างอื่นไม่มี กว่าจะเป็นพระอรหันต์ได้ มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๔ คู่ จิตต้องพัฒนาไปถึงที่สุดแห่งทุกข์มันถึงสิ้นกิเลสไป พอสิ้นกิเลสเป็นพระนิพพานแล้ว ธรรมธาตุ อยู่ในธาตุของธรรม มันไม่เกิดไม่ตายอีกแล้ว จิตผ่องใสมันก็อยู่ในวงจร อยู่ในข้อที่ ๓ นี่ไง มันเป็นเหมือนกับเส้นวงกลม มันหมุนอยู่อย่างนี้ ทีนี้เส้นวงกลมมันทำดีทำชั่ว ทำดีทำชั่วมันก็เกิดตามนั้นไง ผลของวัฏฏะ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ
กรณีนี้นะ เวลาไปอ่านสุตตันตปิฎกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ไหนเป็นพระที่ดี ทำคุณงามความดี ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ พระองค์ไหนทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ ทำไมมันง่ายดายอย่างนั้น ทำไมมันง่ายดายอย่างนั้น
อู๋ย! เขาทำมาอย่างนี้ๆๆ
ไอ้พระที่เลวทรามเที่ยวทำร้ายเขาทำลายเขา ทำไมมันเป็นอย่างนี้
โอ๋ย! มันเป็นอย่างนี้มาทุกภพทุกชาติเลย มันทำลายเขามา ในสมัยนั้น บ้านนั้น เมืองนั้น มันมีชุมชนนั้น ไอ้คนนี้เกิดเป็นคนนั้นแล้วได้ทำลาย ทำลายมาตลอดเลย
นี่ไง สิ่งที่ว่าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ที่ว่าผ่องใสๆ ที่มันผ่องใส ในสุตตันตปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาวัฒนธรรมของเราไง วัฒนธรรมของชาวพุทธ เวลาพระพุทธศาสนาชอบพูดเรื่องชาดก มันเป็นนิทาน
แต่นิทานมันเป็นเรื่องมีอยู่จริงนะ ประสาเรา ประวัติศาสตร์ อยุธยา สุโขทัยมีไหม มี นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดถึงอดีตของท่าน ในแว่นแคว้นต่างๆ ก่อนสมัยพุทธกาลมันมีอยู่ไหม มี มันมีอยู่จริงนะ แล้วท่านก็ยกขึ้นมาเรื่องจริงเลย แต่นี่มันยกขึ้นมาแล้วมันก็เป็นชาดก พอเป็นชาดกแล้วก็เหมือนไม่มี สุโขทัยมีไหม อยุธยามีหรือเปล่า มีทั้งนั้นน่ะ แล้วกษัตริย์ในสมัยอยุธยา ใครบ้างล่ะ รู้หมด
นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสุตตันตปิฎก แต่เราก็ไปตีค่ากัน แล้วก็ภาษาเรานะ ใกล้เกลือกินด่าง ของของเราไม่มีค่า ถ้าของคนอื่นมีค่าทั้งนั้นน่ะ ของเราชาวพุทธ โอ๋ย! ไม่มีค่า ครึ ล้าสมัย
แต่เวลาทุกข์ไม่ล้าสมัยนะ เวลาเจ็บปวดในใจไม่ล้าสมัย สดๆ ร้อนๆ เลยล่ะ
นี่พูดถึงว่า จิตเดิมแท้เหมือนหรือแตกต่างกับพระนิพพาน
แตกต่าง จิตเดิมแท้ก็คือจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตเดิมแท้มันปฏิสนธิจิต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นปัจจยาการ แต่โดยสามัญสำนึกของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกเวลาคิดกันครบองค์ประกอบนี่รูป
ในความรู้สึกมันมีเวทนา คืออารมณ์นี้ดีใจ อารมณ์นี้เสียใจ อารมณ์นี้ไม่พอใจ นี่คือเวทนา
สัญญา ถ้าเราไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีข้อมูล บางคนอารมณ์นี้หวั่นไหว เจอของเล็กน้อยมันก็หวั่นไหว บางคนหนักแน่น อารมณ์มากระทบมันก็ไม่หวั่นไหว สัญญา ข้อมูลของตน หลักการของแต่ละจิตไม่เท่ากัน
สังขารปรุง เวลามีสิ่งใดกระทบแล้วมันก็จะปรุงแต่งของมันไป วิญญาณรับรู้ รับรู้ในขันธ์ ๕ นี่แหละ วิญญาณคือว่า ๔ กอง ขันธ์ ๔ มันมีวิญญาณเชื่อมต่อกัน มันก็หมุนจรเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็เป็นสัญญาอารมณ์ ก็เป็นความคิด เกิดจากจิต
ขนาดในจิตตัวมันเองมันมีปัจจยาการของมันชั้นหนึ่ง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะมันไม่รู้ตัวมันเองมันถึงได้คิด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชา เพราะมีอวิชชามันถึงมีสังขาร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันก็มีความรู้สึกตัวมันคือวิญญาณ วิญญาณนั้นปัจจยา สฬายตนะ มันมีความรู้สึกในวงรอบของมัน ไอ้นั่นเวลาปฏิบัติไปมันจะรู้จะเห็นอย่างนี้เข้าไปนะ ถ้ารู้เห็นอย่างนี้เข้าไป
เวลาพิจารณาหยาบๆ มันเป็นเรื่องขันธ์ ๕ พ้นจากขันธ์ ๕ ไปเป็นเรื่องขันธ์ ๔ หลวงตาท่านใช้คำว่า “ขันธ์ ๔” แต่จริงๆ แล้วมันเป็นปัจจยาการ สิ่งนี้มีถึงมีสิ่งนี้ มันติดต่อกัน ไม่ใช่กอง ไอ้นั่นมันละเอียดไปกว่านั้น
นี่พูดถึงว่า จะนิพพานได้ต้องไปรู้ไปเห็น ไปชัดเจน ไปถอดไปถอน ไปสำรอกไปคายกิเลส ไปฆ่ามันๆ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย การเบียดเบียนการกระทำกัน พระพุทธเจ้าบอกว่ามันเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมหมดนะ ในพระไตรปิฎกเรื่องนี้มีเยอะมาก แล้วเราอ่านแล้วซึ้งมาก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เบียดเบียนกัน ไม่ให้ทำร้ายกัน ไม่ให้ทำให้กระทบกระเทือนกัน ขนาดนั้นนะ แต่เวลาไปชื่นชมส่งเสริม คือส่งเสริมการฆ่ากิเลส
ถ้าฆ่ากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชม เพราะการฆ่ากิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเป็นความรู้สึก มันเป็นกิเลสของเรา ยิ่งฆ่ายิ่งทำลายแล้วมันยิ่งแวววาว มันยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ มันยิ่งทำให้คนเป็นคนดี มันยิ่งทำให้คนเข้าถึงคุณธรรม ไอ้นั่นมันเป็นประโยชน์นะ ทำแล้วมันไม่มีใครตายไง มันไม่กระทบกระเทือนใครไง มันมีแต่กิเลสตายไง มันมีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของคนตาย
แล้วพอกิเลสตัณหาความทะยานอยากตายไปจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นกลับมีค่าขึ้นมา ใจดวงนั้น เทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์ ใจดวงนั้นกลับมีคุณธรรมขึ้นมา การฆ่าอย่างนี้ประเสริฐ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมการฆ่ากิเลส แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้สัตว์โลกรังแกกัน ไม่ให้สัตว์โลกรังแกกัน แม้แต่คนที่มีเวรมีกรรมต่อกันนะ อยู่ในพระไตรปิฎก มันมีบุคคล ๒ คนมันเป็นเพื่อนกันมาตลอด แล้วเวลาไปไหนก็เกิดมาร่วมกันนะ เวลาเป็นนายพรานป่าไปใช่ไหม ไปถึงนายพรานป่าไปพักกลางป่า พอคนนั้นหลับไป ไอ้เพื่อนมันคิดอยากฆ่า ฆ่าเพื่อนตายเลยชาตินี้ พอชาติต่อไปนะ มันก็ไปด้วยกัน ๒ คน อีกคนนอนหลับ ไอ้คนนั้นฆ่า ผลัดกัน
ชาติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พรานป่านี้อยู่ในป่า ๒ คน อีกคนหนึ่งลุกขึ้นมากำลังจะฆ่าเพื่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโดยฤทธิ์ อนาคตังสญาณ พุทธกิจ ๕ กิจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เห็น ๒ คนนี้ฆ่ากันมาทุกภพทุกชาติ พอชาตินี้อีกคนหนึ่งกำลังจะฆ่าอีกคนหนึ่ง ท่านมาด้วยฤทธิ์เลย อยู่ในพระไตรปิฎก แต่เราจำหน้า จำเรื่องไม่ได้เท่านั้นเอง
ท่านมาโดยฤทธิ์เลย “หยุดก่อนๆ” สั่งให้หยุด อย่าทำไง “ปลุกเพื่อนเธอให้ตื่นขึ้นมา” พอปลุกเพื่อนตื่นขึ้นมาแล้วนะ ท่านก็เทศน์เลย ๒ คนนี้มีเวรมีกรรมต่อกันมา ผลัดกันฆ่าทุกภพทุกชาติ ผลัดกันมาตลอด ชาตินี้อีกคนกำลังจะฆ่าอีกคนหนึ่ง ให้ ๒ คนสำนึกถึงใจของตน แล้วให้ขอขมาลาโทษกัน ให้ขอขมาลาโทษให้สิ้นเวรสิ้นกรรมกันไป อย่าฆ่ากันไปอย่างนี้
นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ โอ้โฮ! ไปอ่านเจอ แต่มันเป็นระหว่างคน ๒ คนนี้ ถ้าคน ๒ คนนี้ เราจำชื่อไม่ได้ มันเป็นบาลี ว่าการฆ่ามันฆ่ากันมาสดๆ ร้อนๆ ผลเลยรุนแรงชัดเจนไง แต่ของพวกเราเวรกรรมันซับซ้อนไง เคยทำกรรมหนัก กรรมเบา กรรมหนาต่างๆ มันซับซ้อน พอมันซับซ้อนมันก็เลยผลกระทบไปทั่ว แต่ผลมันหนักเบาต่างกันอย่างนี้
นี่พูดถึงว่า จิตที่ผ่องใส จิตที่ไม่ผ่องใส มันเป็นอย่างนี้ ถ้าผ่องใสๆ กิเลสมันเบาบางลง ผ่องใสคือเข้าสู่ฐีติจิต จิตเดิมแท้ๆ นี่ฐีติจิต แต่จิตมันมีกรรม มันมีเวรมีกรรมของมัน เวรกรรมพาให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวียนไปของมัน มันถึงเวียนของมันไป
จิตผ่องใส จิตเดิมแท้ ปฏิสนธิจิต วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท มันแตกต่างกัน คนภาวนาจะรู้ ถ้าคนภาวนานะ ถ้าคนภาวนาไม่รู้แสดงว่าภาวนาไม่เป็น ภาวนาไม่เป็นคือไม่เคยเห็น
รถถอยเข้าอู่ให้มันซ่อม ขันน็อตยังไม่เป็นเลย รถนี้มันเข้าอู่หมด ให้ช่างซ่อม ถึงเวลามันก็ไปรับรถ ไม่เป็น พวกนี้ซ่อมรถไม่เป็น แต่ถ้าเป็นคนซ่อมรถเป็นมันถอดได้หมดเลย ถอดได้หมด ประกอบได้หมด นี่ถอดแล้วเป็น นั่นคือคนภาวนาเป็น
นี่พูดถึงว่าถ้าภาวนาเป็น ถ้าสิ้นกิเลส รถกูถอดได้หมดเลย รถอยู่ไหน ไม่มี รถทั้งคันถอดออกหมดเลย รถอยู่ไหน เห็นแต่อะไหล่รถ ไม่เห็นมีรถเลย ประกอบกันขึ้นมา โอ้โฮ! รถกูอยู่นี่ๆ
นี่ก็เหมือนกัน พระนิพพานไม่มีอะไรเลย ถอดออกหมด ไม่มี แต่จิตผ่องใส จิตผ่องใสมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันคนละเรื่องกันเลย ต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย ฉะนั้น เข้าข้อที่ ๓
“๓. มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า”
เห็นไหม “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า” แต่เดิมมีผู้เข้าใจอย่างนี้มาทั้งหมด ในลัทธิศาสนาต่างๆ ประกาศตนว่าเป็นศาสดาทั้งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะได้ไปร่ำเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ ทุกลัทธิที่เขาว่าเป็นศาสดาๆ แต่พอเวลาศึกษาไปแล้ว เอ๊อะ! ไม่จบ ยังสงสัย นี่ไง เขาก็พูดของเขาอย่างนี้ “ผ่องใสๆ”
ผ่องใส กูยังจะเกิด ผ่องใส กูยังเอาตัวรอดไม่ได้เลย ผ่องใสอย่างไร เจ้าชายสิทธัตถะไม่เชื่อไง
นี่เขาบอกว่า “มีผู้พูดให้เข้าใจว่า”
ไม่ใช่มีผู้พูดให้เข้าใจว่า เขาเข้าใจอย่างนี้มาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล ก่อนสมัยพุทธกาลเขาก็เข้าใจกันอย่างนี้ แล้วก็สอนกันอย่างนี้ แล้วพระพุทธเจ้าไปเรียนกับเขามาหมดแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ ปฏิเสธ อยู่ในพระไตรปิฎกเยอะแยะเลย
ในพระไตรปิฎกนะ ท่านบอกความเชื่อแบบสัสสตทิฏฐิ เชื่อว่าคนเราต้องเกิดตลอด ทิฏฐิหนึ่งก็เชื่อว่าคนตายแล้วสูญ ทิฏฐิหนึ่ง มันมีอยู่ลัทธิหนึ่งเข้าใจว่า นี่มาเข้ากับอันนี้ บอกว่า คนเราเกิดมาแล้ว ๕๐๐ ชาติก็สิ้นกิเลสไป ฉะนั้น เกิดมาแล้วให้เสพกามเยอะๆ คือให้เสพสุขๆ มีอยู่ลัทธิหนึ่งในสมัยพุทธกาล ในพระไตรปิฎกนี่เราอ่านเจอ มนุษย์จะเกิด ๕๐๐ ชาติ เกิดมาแล้วให้เสพสุข เสพสุขให้เต็มที่เลย ครบ ๕๐๐ ชาตินิพพาน ในพระไตรปิฎกมี
ฉะนั้นว่า “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า”
แต่พอเราอ่านคำนี้แล้วเราสะเทือนใจ “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า” พระพุทธเจ้าไปศึกษามากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็มีความเข้าใจว่าอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น แต่พระพุทธเจ้าไปศึกษาแล้วมันว่างเปล่า มันไร้สาระ สร้างบุญกุศลมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เพื่อมาปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วจะมาเชื่อพวกมึงเนี่ยนะ สร้างมา ๔ อสงไขย สร้างบารมีมาขนาดนี้ แล้วจะมาเชื่อไอ้เรื่องไร้สาระอย่างนี้
ไอ้พวกเราไอ้บ้องตื้น เจอก็ โอ๋ย! กราบเลย เขายังไม่ทันบอกเลย เชื่อเขาไปแล้ว เชื่อเขาก่อนที่เขาจะสอนอีก เพราะอะไร เพราะเห็นเขาขลัง ดูท่ามันน่าจะดี ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษามันก็เชื่อแล้ว แต่พระพุทธเจ้าปฏิเสธมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว
“มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า”
เขาเข้าใจเรื่องอย่างนี้กันมาตั้งแต่ต้น ลัทธิศาสนาที่ไม่มีเหตุมีผลเขาเชื่อกันอย่างนี้ เขามีวุฒิภาวะความรู้แค่นี้ เวลาพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมันถึงได้มหัศจรรย์ไง เวลาพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าไปต่อกรกับพวกเจ้าลัทธิต่างๆ ศิโรราบหมดเลย มันถึงได้ปราบพวกนี้ได้หมดไง พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก โอ้โฮ! ไปหมดเลย ก็เพราะว่าเหตุผลมันกินขาด
“มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า”
เราจะบอกว่าวุฒิภาวะของสังคม คนปัญญาด้อยอย่างนี้ แล้วเขาก็พูดแบบนี้ ไร้สาระมาก
เขาบอกว่า “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า สุดท้ายแล้วจิตทุกดวงจะกลับไปสู่จิตผ่องใส”
ถ้าอย่างนี้นะ พวกเราจะไม่มีทุกข์เลย จิตทุกดวงกลับไปที่ผ่องใส เราก็จะมีความสุขไปข้างหน้า แล้วพระพุทธศาสนาสอนกรรมดีกรรมชั่ว ถ้ามึงทำกรรมชั่ว มึงจะผ่องใสไหม ถ้ามึงทำกรรมดี สร้างคุณงามความดี เออ! อันนั้นมีโอกาส แต่มีโอกาสผ่องใสก็ผ่องใสเดี๋ยวเดียว มีพลังงานที่ไหนไม่มีวันสิ้นสุด มีโรงไฟฟ้าไหนที่ทำแล้วมันจะมั่นคง
ไม่มีโรงไฟฟ้าไหนเลยมั่นคง ต้องคอยซ่อมบำรุงตลอด พลังงานที่ไหนก็แล้วแต่ มันต้องหมดอายุการใช้งานแน่นอน มันจะผ่องใสตลอดไปได้ไหม มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันแปรปรวนตลอดเวลา
แต่ที่มันจะผ่องใส ผ่องใสเพราะเรารักษา เราดูแล เราค้ำจุนมัน มันถึงจะผ่องใส แต่มันผ่องใสได้นานแค่ไหน มันจะผ่องใสตลอดไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ คำว่า “ผ่องใสๆ” นี่เรื่องโลกๆ แม้แต่พระอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์บอกเลย อีกกี่พันล้านปีมันต้องหมดอายุ แม้แต่ดวงอาทิตย์มันก็ต้องหมดอายุของมันไป มันจะมีอะไรคงที่ ไม่มี
ฉะนั้น “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า สุดท้ายแล้วจิตทุกดวงจะกลับไปสู่ความผ่องใส”
ถ้าทำชั่วมันจะผ่องใสไม่ได้ เว้นไว้แต่ทำดี ผ่องใส ผ่องใสก็แค่จิตเดิมแท้ ไม่มีสติไม่มีปัญญา มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร
นี่ไง หลวงตาท่านสอน เห็นไหม สมาธิจับ ปัญญาตัด
ไม่มีสมาธิก็จับต้องไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิเข้าสู่จิตเดิมแท้ไม่ได้ ไม่ได้
เข้าสู่จิตเดิมแท้แล้วเห็นอริยสัจ ๔ ตามความจริง นั่นอีกเรื่องหนึ่ง
แล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฝึกหัดเสร็จแล้วจนมรรคสามัคคี สามัคคีกันจนสมุจเฉทปหานตัดกิเลส นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องยังมีอีกหลายเรื่องเลยนะ ถ้าจิตเดิมแท้ ถ้ามันแท้ได้จริงนะ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น เขาบอกว่า “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า สุดท้ายแล้วจิตทุกดวงจะกลับไปสู่จิตที่ผ่องใส เช่น พระนิพพาน”
จิตผ่องใสไม่ใช่นิพพานอยู่แล้ว เช่น พระนิพพานต้องมีอย่างที่ว่านี้ ถ้าจิตผ่องใสแล้วถึงซึ่งพระนิพพาน ต้องมีมรรค ๔ ผล ๔ มีบุคคล ๔ คู่ มีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อรหัตตมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ต้องมีมรรค ๔ ผล ๔
มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ถึงเป็นนิพพานไง
จิตผ่องใสเป็นนิพพานตรงไหน ไหนมีใครอธิบายเรื่องจิตผ่องใสเป็นนิพพาน อธิบายมา เพราะผ่องใสมันของคู่ ผ่องใสคู่กับเศร้าหมอง ดีคู่กับชั่ว มืดคู่กับสว่าง ว่างคู่กับไม่ว่าง ของคู่เป็นอริยสัจไม่ได้ นี่ไง ถ้าเป็นพระนิพพาน นิพพานอย่างไร
“อุปมาคล้ายชีวิตคือการเขียนเส้นวงกลมที่จุดเริ่มต้น จะไปถึงจุดที่สิ้นสุดคือจุดเดียวกัน”
เส้นวงกลมมันก็เป็นเส้นวงกลม นี่คือจินตนาการ “มีผู้กล่าวว่า” นี่มันก็เหมือนสัญชัย “ไม่ใช่คือไม่ใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่”
เส้นวงกลมมันก็เป็นเส้นวงกลม แล้วเส้นวงกลมมันเกี่ยวอะไรกับชีวิตล่ะ เส้นวงกลมมันก็เป็นวงเวียน เส้นวงกลมมันก็เป็นเส้นวงกลมของมันอยู่อย่างนั้น เส้นวงกลมคือเส้นวงกลม มันไม่เกี่ยวกับชีวิต ชีวิตมันไปของมันนะ
อันนี้เวลาพูดอย่างนี้นะ มีผู้กล่าวให้เชื่อว่า เขามีความคิดอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ มันก็เขียนอย่างนี้ไง “มันจะไปสิ้นสุดที่เดียวกัน ดังนั้นการเกิดเป็นมนุษย์คือหนทางลัดของวงจรชีวิตที่เป็นวงกลมขนาดใหญ่ ในการหาหนทางกลับไปสู่จุดเริ่มต้นคือจิตเดิมแท้”
ไอ้นี่มันก็มีแต่ตายเกิดนั่นแหละ เวลาตายไปแล้วก็ไปอยู่นั่นแหละ ตายแล้วก็เป็นจิตวิญญาณเหมือนกัน นี่เวลากลัวผีๆ ไง ไอ้ผีตัวนี้ไม่กลัว ไอ้ผีคือเรานี่ ไอ้ผีคือจิตวิญญาณตัวนี้ นี่ก็ผีเหมือนกัน เพราะไอ้ผีตัวนี้มันว้าเหว่ เพราะไอ้ผีตัวนี้มันจินตนาการมันเลยกลัวผี
ถ้าไอ้ผีตัวนี้มันสมบูรณ์แบบของมัน ไอ้ผีตัวนี้ไม่กลัวใคร เอ็งจะไปกลัวใคร ดูคนไม่กลัวผีไม่เคยกลัวผีเลย สัปเหร่อนอนอยู่กับผีเลย นอนอยู่กับศพ ยิ่งมีผียิ่งดี ยิ่งได้ตังค์ สัปเหร่อไม่เคยกลัวผี แต่ไอ้เรากลัวผีน่าดูเลย ไอ้คนกลัวผี เพราะอะไร เพราะจิตมันกลัว ถ้าจิตมันสมบูรณ์แล้วมันจะไปกลัวอะไร มันไม่กลัวสิ่งใดเลย
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่ามันไปสู่จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ จิตเดิมแท้มันสู่จิตเดิมแท้ จิตเริ่มต้น มันมีแต่ว่าคนตายเกิดๆ แล้วตายเกิด ตายแล้วตายเล่าๆ แต่นี้เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาไง พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมดีกรรมชั่วไง กรรมดีกรรมชั่ว ทำให้คนเป็นคนดีไง ทำให้คนพัฒนาขึ้น พอพัฒนาขึ้น ถ้ามีบุญกุศลขึ้นมา ถ้ามันพัฒนาขึ้นจนมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติจนสิ้นสุดแห่งทุกข์ เขาจะเข้าใจ พระสารีบุตรที่ว่าไม่เชื่ออะไรเลย อย่างนี้ถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรตอบหมดเลย พระสารีบุตรนี้เคลียร์หมดเลย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ในหนทางปฏิบัติเพื่อกลับไปสู่จุดดั่งเดิมของตนคือจิตเดิมแท้ได้เร็วขึ้น”
กลับไปสู่จิตเดิมแท้ ไอ้นี่นะ ถ้าหลวงตา เวลาหลวงตาท่านใส่นะ ท่านบอกว่า ไอ้พรหมลูกฟัก สมาธิหัวตอ จะกลับไปอยู่อย่างนั้นหรือ กลับไปนอน จิตเดิมแท้ไง กลับไปเป็นพรหมลูกฟัก ไม่มีอะไรเลย เป็นพรหมแล้วไม่รู้อะไรเลยนะ นอนอยู่อย่างนั้นน่ะ
สามเณรในสมัยพุทธกาลไง ที่ว่าสามเณรน้อยอุปัฏฐากพระอรหันต์ ๕๐๐ อุปัฏฐากอยู่ทั้งพรรษาเลย อุปัฏฐากพระอรหันต์ได้บุญมาก ออกพรรษาแล้วพระอรหันต์บอกว่าให้อธิษฐาน เอาอะไร
โอ๋ย! ขอนอน
พอนอน ด้วยบุญกุศล ไปนอนอยู่นั่น พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ องค์ที่ ๓ เวลาตรัสรู้ ถาดทองคำจะไปตกที่นั่นน่ะ นอนอยู่ อุ๊ย! พระพุทธเจ้าเกิดอีกแล้วหรือ อุ๊ย! พระพุทธเจ้าเกิดอีกแล้วหรือ นอนอยู่นั่น นี่พรหมลูกฟัก
จิตเดิมแท้หรือ จิตเดิมแท้อย่างนั้นใช่ไหม จิตเดิมแท้กลับไปนอนเป็นพรหมลูกฟักอย่างนั้นหรือ แล้วนิพพานเหมือนพรหมลูกฟักหรือ...คนละเรื่อง ห่างไกลกันมาก แต่ที่พูดนี่นะ มันพูดมานี่เพราะว่า เขาบอกว่า “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า”
ถ้ามีผู้ที่กล่าวให้เข้าใจว่า เราจะบอกว่านี่เป็นปัญหาสังคม วุฒิภาวะของสังคมเราต่ำต้อย มีวุฒิภาวะที่รู้กันได้แค่นี้ ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธประกาศมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ชัดเจนในหัวใจของท่าน
แต่เราก็ยังเชื่อกันเรื่องอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้ นี่ไง นิยายธรรมะๆ ถ้าเป็นนิยายธรรมะนี่เป็นตรรกะ เป็นสิ่งจินตนาการ นิยายธรรมะคือพยายามพูดให้เราสร้างภาพได้ ให้เราจินตนาการได้ เราก็เชื่อ
แต่ธรรมะเป็นอริยสัจ เป็นสัจจะเป็นความจริงที่เหนือโลก เราจินตนาการไม่ได้ เราพยายามทำความเข้าใจไม่ได้ เราก็เลยตีโพยตีพายว่ามันไม่มีอยู่จริงไง แต่ถ้ามีผู้ที่พูดให้เข้าใจได้ว่า ก็จินตนาการได้ คิดได้ แล้วอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องฤๅษีชีไพร เป็นเรื่องการเข้าทรงทรงเจ้า
การเข้าทรงทรงเจ้า ไปถึงก็ ลูกช้างๆ พ่นน้ำลาย พ่วง! เออ! หาย ลูกช้างหาย มันกลับบ้านได้ หายแล้วค่ะ นี่เชื่อกันอย่างนี้ไง เชื่อการอ้อนวอน เชื่อการอ้อนวอนขอกันมาไง มันไม่ได้เชื่อด้วยสัจจะ ไม่ได้เชื่อด้วยความจริงไง ถ้ามันเชื่อด้วยสัจจะความจริงมันอีกเรื่องหนึ่งนะ
นี่พูดถึงสิ่งที่บอกว่าใช่หรือไม่ใช่
ไม่ใช่เลย จิตเดิมแท้ก็คือจิต นิพพานก็คือนิพพาน ไม่เกี่ยวกัน แต่จะเป็นนิพพานนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น คำว่า “จิตเดิมแท้ๆ” คำว่า “เริ่มต้น” ไปสู่จุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นในปัจจุบันนี้ จุดเริ่มต้นที่เรายังเป็นสิ่งที่มีชีวิต พอเป็นสิ่งที่มีชีวิต เราพยายามเข้าไปหาจิตของเรา นี่จุดเริ่มต้น แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเราขึ้นมา ได้เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา นี่มันเป็นความเพียรของเรา
แต่ไม่ใช่เราจินตนาการไปเป็นเรื่องเป็นราวไป มันเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน มันทำอะไรไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องเหลวไหล มันเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องของกิเลสหลอก เป็นเรื่องของการจินตนาการ เป็นเรื่องให้เราเชื่ออย่างนั้น ใช่หรือไม่ใช่ ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ จิตเดิมแท้ไม่ใช่นิพพาน จิตเดิมแท้ก็คือจิตเดิมแท้ แต่จิตเดิมแท้มันเป็นชื่อ แต่พวกเราไม่เคยเห็น พวกเราไม่เคยรู้จัก แต่ดัดจริต ต้องใช้คำนี้เลย ดัดจริตว่านี่คือจิตเดิมแท้ ไม่ใช่หรอก อารมณ์ อารมณ์เราเอง จิตเดิมแท้เป็นอย่างไรกูไม่รู้ แต่กูคิดได้แค่นี้กูก็เลยว่า “นี่จิตเดิมแท้” เป็นการดัดจริต ไม่ใช่จิตเดิมแท้
ถ้าจิตเดิมแท้ เห็นไหม นิ่งเงียบคือจิตเดิมแท้ เพราะว่าอ้าปากพูดมันก็เป็นสมมุติแล้ว มันเป็นสมมุติส่งออกมาข้างนอกไง ฉะนั้นถึงไม่ใช่ ไม่ใช่ใดๆ เลย แต่มันไปสำคัญตรงนี้ตรงที่ว่า “มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่า” มีผู้กล่าวให้เข้าใจว่าผู้สอนผู้พยายามชักนำเขามีความรู้ความสามารถอย่างนี้ มันเลยเป็นติรัจฉานวิชา เป็นไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อ ไม่ใช่พุทธศาสน์ ไม่ใช่ศาสนาพุทธ ไม่ใช่สัจจะความจริง
แล้วอย่างที่ว่า มันเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คนจะรู้จริงมันต้องปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา จบ
ไอ้นี่มันไม่ได้ถามปัญหา เราเลยจะตอบไปเลยไง
ถาม : ข้อ ๒๒๖๘. กราบเท้าหลวงพ่อ กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ลูกขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาให้ลูกได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด ๔ วันในช่วงเข้าพรรษา เป็นเวลาที่มีคุณค่ามาก เพราะได้ภาวนาอย่างเต็มที่ หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานจากทางโลกมา ยิ่งเมื่อได้ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วเหมือนโดนเคาะกะโหลกให้มีสติและความเพียรมากขึ้น หลวงพ่อเหน็ดเหนื่อยพร่ำสอน ปลุกปลอบการภาวนา เมตตาภาระในการกินอยู่ทุกอย่าง ขอเพียงพวกเราได้เอาหัวใจมาปฏิบัติภาวนา
ลูกฟังเทศน์แล้วสะเทือนหัวใจมาก มันซึ้งใจถึงคำว่า “พ่อแม่ครูจารย์” อย่างแท้จริง ทำให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำความเพียรต่อไป ลูกจึงขอกราบเท้าหลวงพ่อด้วยความสำนึกในความเมตตา และขอโอกาสรายงานการปฏิบัติเพื่อให้หลวงพ่อสั่งสอนค่ะ
๑. ในการภาวนา ลูกอาศัยการเดินจงกรมโดยมีพุทโธกำกับ ส่วนใหญ่ยังเดินต่อเนื่องได้ไม่นานนัก (ประมาณ ๒ ชั่วโมง) พอเกิดความเมื่อยล้าก็จะนั่งสมาธิต่อโดยดูลมหายใจและภาวนาพุทโธชัดๆ ลมหายใจค่อยๆ แผ่วลงไปจนไม่รู้สึกถึงลม แต่จะมีคำบริกรรมพุทโธอยู่ตรงกลางอก ลูกก็บริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้ถูกผิดอย่างไร ขอหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ
๒. ในระหว่างวัน ลูกพยายามภาวนาพุทโธไว้ในใจ และฝึกให้มีสติอยู่กับกายให้มาก รู้สึกว่าความคิดที่เคยมี หายไปเยอะ ใจก็นิ่งขึ้น พอกลับมาอยู่กับโลกก็ใช้วิธีรับมือกับกระแสกิเลสที่เข้ามา รู้สึกว่าช่วยประคองให้มีสติกำหนดพอที่จะกลับไปภาวนาที่บ้านได้ง่ายขึ้นเจ้าค่ะ (จนกว่าจะมีโอกาสได้กลับมาชาร์จแบตที่วัดอีก) กราบขอบพระคุณอย่างสูง
ตอบ : จบ เอวัง