ขันติธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๒๗๐. เรื่อง “จิตดูเวทนา (๒)”
หลวงพ่อ : แสดงว่าต้องมี “จิตดูเวทนา (๑)” มาก่อน
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ โยมขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ตอบคำถามโยมเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ในหัวข้อเรื่อง “เป็นธรรม” ซึ่งหลวงพ่อได้เมตตาชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องและละเอียด
ตอนที่หลวงพ่อตอบคำถามใหม่ๆ โยมก็คิดเยอะเรื่องการภาวนาของตัวเอง และจับผิดตัวเองเรื่องการภาวนา แต่ตอนนี้พยายามคิดว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว หันมาทำปัจจุบันให้ดีดีกว่า โยมเลยหันมาฝึกสมาธิมากขึ้น พยายามให้จิตแนบพุทโธตลอด ซึ่งการภาวนาของโยมช่วงนี้ วันที่ ๑๖ สิงหาคม เป็นดังนี้ค่ะ
๑. ถ้าสติตั้งมั่นเข้าสมาธิก่อนเวทนาจะเกิด จิตโยมสามารถหนีบเวทนาออกได้ และหากเกิดนิมิต กำลังสมาธิสามารถดับนิมิตได้
๒. ถ้าพลั้งเผลอเกิดเวทนาก่อน สมาธิตั้งมั่น หลายครั้งสมาธิก็จะกดเวทนา ซึ่งเวทนาจะดับ สักพักใจเวทนาจะเกิดใหม่ และโยมก็จะใช้กำลังสมาธิกดเวทนาใหม่
๓. ถ้าเกิดเวทนาและสมาธิโยมไม่ตั้งมั่น โยมก็จะเข้าขันติธรรม นั่งสมาธิทนเวทนาจนครบจำนวนเวลาที่ตั้งไว้ โยมเคยทนเวทนาจนจิตรวม ซึ่งหลวงพ่อเคยเทศน์ไว้ว่า สภาวะธรรมแบบนี้เป็นสภาวะธรรมแบบส้มหล่น มีครูบาอาจารย์สายวัดป่าซึ่งท่านเองผ่านเวทนา ท่านได้ให้หลักการฝึกภาวนาว่า ให้ใช้หลักคงที่ต่อเนื่อง เช่น ถ้าเดือนแรกฝึกนั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมงให้ชำนาญ และเดือนที่ ๒ ขยับจำนวนการนั่งสมาธิเป็น ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที หรือ ๒ ชั่วโมง ให้ชำนาญ และค่อยๆ ขยับจำนวนชั่วโมงนั่งสมาธิขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโยมจะใช้หลักการดังกล่าวในการฝึกภาวนาเพื่อผ่านเวทนาค่ะ
สุดท้ายกราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะในคำชี้แนะ ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะตัวของโยม แต่เป็นประโยชน์ผู้อื่นด้วย
ตอบ : อันนี้พูดถึงเขาบอกว่าในหัวข้อเป็นธรรมๆ โทษนะ เราลืมไปหมดแล้ว เป็นธรรมนี่เรื่องอะไรก็ไม่รู้เนาะ เป็นธรรมๆ สิ่งที่ตอบเรื่องเป็นธรรมก็จบไปแล้ว
ทีนี้เวลาตอบนี้เป็นปัจจุบัน อย่างที่ว่า เพราะคำถามนี้บอกว่าเป็นปัจจุบันเลย อดีตอนาคตเราไม่ไปยุ่งกับมัน เราจะเอาปัจจุบันนี้ ทีนี้คำว่า “เป็นปัจจุบันๆ” ถ้าเป็นปัจจุบันมันก็เป็นประโยชน์กับเราอยู่แล้ว ถ้าเป็นประโยชน์กับปัจจุบันนะ แล้วปัจจุบันเวลาที่เราทำสมาธิแล้วมันยิ่งมีกำลังมากขึ้นๆ
ถ้ามีกำลังมากขึ้น ถ้าจิตสงบแล้ว คนที่หัดภาวนาเขาจะมีหลักการตรงนี้ ตรงที่ว่า ถ้าเราใช้ปัญญา เราใช้ความคิด ความคิดมันฝืด ฝืด มันไม่คล่องตัว สอง ความคิดมันไม่ทะลุปรุโปร่ง ไม่ทะลุทะลวง แสดงว่ากำลังสมาธิไม่พอแล้ว
แต่ถ้าคนเคยภาวนาแล้วพอใช้ปัญญาไปแล้วนะ เวลาใช้ปัญญาไปแล้วนะ มันไปไม่ได้ แล้วตัวเองยังคิดว่าจะใช้ปัญญา เพราะมันหวังผล มันอยากได้ผล แล้วมันคิดว่ามันใช้ปัญญาแล้วจะได้ประโยชน์ๆ เพราะโดยความเชื่อฝังใจเลยว่ากิเลสจะขาดด้วยปัญญาๆ ก็ใช้ปัญญาไปเรื่อย มันก็เลยห่วงแต่ปัญญา แล้วจะใช้ปัญญาต่อเนื่อง ใช้ปัญญาจนมันได้คิด มันฉุกใจคิด เอ๊อะ! พอเอ๊อะ! มันหยุดแล้วมันกลับมาทำสมาธิใหม่นะ นั่นแหละเขาจะกลับมาทำสมาธิได้
แต่ถ้าเขายังคิดว่านี่เป็นปัญญาๆ อยู่ เขายังมุมานะอยู่ต่อไปนะ มันจะฟั่นเฝือไปเรื่อยๆ แล้วจะตึงเครียด จะเดือดร้อน โอ้โฮ! แต่คิดว่านี่เป็นปฏิบัติธรรมนะ
แต่ถ้าคนเคยเจอประสบการณ์อย่างนี้แล้ว พอมันตึงเครียด พอมันใช้ปัญญาไปแล้วมันฝืดเคือง มันรู้เลย สมาธิไม่พอแล้ว เขาจะกลับมาทำสมาธิเลย ฉะนั้น คนที่ภาวนาไปแล้วมันจะเห็นความสำคัญของสมาธิมาก ถ้ามีสมาธิโดยมีหลักเกณฑ์ มันเหมือนผู้ใหญ่เลย ผู้ใหญ่นี่นะ คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหนเขาก็กลับบ้านได้ทั้งนั้นน่ะ เด็กพอมันหลงทางหน่อยเดียวมันกลับไม่ได้เลย
จิต จิตถ้ามันไม่มีสมาธิ จิตมันเป็นเด็กอยู่แล้ว จิตมันทำอะไรนะ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น แต่พอถ้ามันฝึกหัดทำสมาธิเป็น ฝึกหัดใช้ปัญญาเป็น แล้วใช้ปัญญากลับมาสมาธิ สมาธิใช้ปัญญา เหมือนกับเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันทำงานแล้วมันจะไปเผชิญอุปสรรคอย่างไรมันก็แก้ไขอุปสรรคนั้นได้ แล้วมันจะแก้ไขของมันไปเรื่อย
มันจำเป็นตรงนี้แหละ จำเป็นที่ว่า มันเคยเป็นสมาธิหรือไม่ ถ้าเป็นสมาธิแล้วมาฝึกใช้ปัญญาแล้วปัญญามันก้าวเดินไป มันเห็นผลนะ แล้วพอใช้ปัญญาไปๆ ขาดสมาธิ มันก็รู้อีกแล้ว อ๋อ! ถ้าสมาธิไม่พอจะเป็นแบบนี้ แต่มันก็ยังพลั้งเผลอนะ พลั้งเผลอเพราะเราทำสมาธิแล้ว เราหัดใช้ปัญญาไปแล้ว เราใช้ปัญญา สมาธิมันยังสดชื่น สมาธิมันยังเข้มแข็งอยู่ อู๋ย! มันเพลิดเพลินนะ มันทะลุทะลวง ปัญญามันพิจารณาอะไรไปแล้วมันปล่อยวางไปหมด อู้ฮู! มันสุดยอด แล้วก็เพลินไป เพลินไปจนรู้ตัวอีกที อ้าว! ไอ้นี่มันสัญญาทั้งนั้นนี่หว่า คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย เหนื่อยเปล่า เหนื่อยฟรี กลับมาพุทโธใหม่ กว่ามันจะได้คิด
ฉะนั้น คนถ้ามันเคยทำสมาธิแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไป มันจะเห็นคุณค่าของสมาธิมาก แล้วบอกว่า สมาธิเป็นหินทับหญ้า สมาธิเป็นปัญญาไม่ได้
ตัวสมาธินั่นแหละตัวสำคัญเลยล่ะ เพราะมีสมาธิมันทำให้คนคนหนึ่งให้เห็นว่าโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันอย่างไร ให้คนคนหนึ่ง เหมือนนักวิทยาศาสตร์เลย นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองแล้วได้พิสูจน์แล้วมันจะฝังใจเลย แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยทดลองเลย มีแต่ทฤษฎีอ่านมา นี่เขาว่าอย่างนั้นๆ แต่ตัวเองยังไม่ได้ทดลอง ยังไม่รู้ถูกรู้ผิด มันก็ยังผิดๆๆ ไปอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดลองแล้วนะ เออ! ใช่ คราวนี้ต้องระวังนะ คราวนี้มันจะผิดอย่างนี้ นั่นน่ะคนคนนั้นมันจะมีโอกาสไปเรื่อยๆ
ฉะนั้น สมาธินี้สำคัญมาก แต่เวลาทำสมาธิๆ ทุกคนจะว่าได้สมาธิแล้ว ทุกคนก็ว่าสงบแล้ว สงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาก็ไม่เสียหาย ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาเพื่อเปิดหนทางให้หัวใจมันเข้าสมาธิได้ง่าย เราไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นภาวนามยปัญญาเลย มันเป็นโลกียปัญญาอยู่นั่นแหละ เพราะสมาธิมันยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ สมาธิมันทำเพื่อความผ่อนคลายเท่านั้น
พอผ่อนคลายเท่านั้น พอมันสดชื่น เวลามีโอกาสแล้วมันก็จะฝึกหัดใช้ปัญญาของมัน ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาของมันก็เหมือนกับที่ว่าจัดกระบวนความคิดนี่แหละ มันทำให้มันสมดุล ทำให้มันเข้าที่ เออ! ดีไปหมดแหละ ดีไปหมด
คนเรานะ ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ อาหารชนิดใด ถ้ามันเป็นสิ่งที่ว่ารสชาติดีมาก แต่กินทุกวันๆ ก็เท่านั้นน่ะ กินทุกวันๆ แล้วมันจืดชืด เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันพอทำสมาธิแล้วคิดว่ามันจะดีแล้วอะไรแล้ว มันทำบ่อยครั้งๆ เดี๋ยวมันก็จืดชืด แล้วพอจืดชืดขึ้นมา ทีนี้ไปอย่างไรต่อ ไปอย่างไรต่อนะ แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ไม่มีจืดชืดหรอก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาบอกว่า สิ่งที่เขาแนะนำไปแล้วในหัวข้อเรื่อง “เป็นธรรม” เขามาใช้กับความคิดของตน ถ้าความคิดของตนแล้ว พอได้ฟังแล้วมันวางไว้หมดเลย แล้วมาฝึกหัดทำสมาธิให้มากขึ้นๆ
ทำความสงบของใจมันมีคุณค่า ดูสิ คนเรานะ ถ้าทำงานตลอดโดยไม่พักผ่อนก็อยู่ไม่ได้ ถ้าพักผ่อน เราก็ไม่มีอาชีพที่ไว้ทำมาหากิน เราก็ต้องทำ
นี่ก็เหมือนกัน ทำสมาธิๆ ถ้ามันไม่ได้พักสมาธิโดยความเป็นจริงนะ งานที่ว่าจะก้าวหน้าไป เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องโลกๆ นี่แหละ แล้วเป็นเรื่องโลก ไม่ใช่โลกธรรมดานะ เวลาทุกข์เวลายากมาศึกษาธรรมะแล้วมันเห็นผลประโยชน์มันชื่นใจก็อยู่กับธรรมะ พอเดี๋ยวกิเลสมันฟูขึ้นมานะ เดี๋ยวก็หลุดออกไป มีเท่านั้น มันต่อเนื่องไปไม่ได้หรอก
แต่ถ้ามาทำความสงบของใจให้ได้ก่อน เอาใจให้สงบก่อน พอสงบแล้วนะ ฝึกหัดใช้ปัญญาไป แล้วถ้ามันก้าวหน้าไป พอก้าวหน้าไปมันเห็นถูกเห็นผิด มันรู้จักผิดชอบชั่วดี มันทำต่อเนื่องไปๆ มันจะเป็นประโยชน์กับมัน นี่พูดถึงการกระทำนะ
ทีนี้เข้ามาคำถาม “๑. ถ้าสติตั้งมั่นเข้าสมาธิก่อนเวทนาจะเกิด จิตโยมสามารถหนีบเวทนาออกได้ และหากเกิดนิมิต กำลังสมาธิสามารถดับสมาธิได้”
พอมันเป็นสมาธิจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ เป็นสมาธิจริงๆ นะ สมาธินะ คือจิตตั้งมั่น จิตมันสงบระงับเข้ามา จิตไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
สิ่งที่ว่าว่างๆ ว่างๆ อารมณ์ทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้าเป็นความคิดก็เป็นอารมณ์ทั้งนั้นน่ะ เวลาเราพุทโธๆ ก็เป็นอารมณ์หนึ่งๆ เห็นไหม หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตก วิจาร อยู่กับอารมณ์นั้นๆ ถ้ามันละเอียดเข้ามาๆ จนมันคล่องตัวขึ้นมา แล้วถ้ามันพุทโธจนพุทโธไม่ได้ มันปล่อยพุทโธ มันเป็นตัวมันเองเลย เห็นไหม
ถ้ามันตั้งมั่น เพราะถ้าจิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วมันมีสติ มีสติสัมปชัญญะ สมาธิเราก็เป็นสมาธิ แล้วมันจะรู้มันจะเห็น ทำไมเราจะไม่รู้ตัว อย่างเช่นบอกว่า เวลาเป็นสมาธิแล้วมันสามารถดับนิมิตได้
พอเป็นสมาธิแล้วมันจะรู้มันจะเห็นอะไรก็ได้ ถ้ามันจะรู้มันจะเห็นนี่มันโดยวาสนา ถ้ามันจะรู้เห็นโดยวาสนา เรามีสติอยู่นี่ มันเหมือนสวิตช์เลย เปิดปิดได้ ปิดก็ได้ เปิดก็ได้ จะให้เห็นก็ได้ จะดับก็ได้ ถ้ามีสมาธิ มีสมาธิคือมีสติ คือมีผู้ควบคุม มีผู้ควบคุม เราก็จะควบคุมจิตเราไม่ให้หลงใหลไปทางอื่นได้ใช่ไหม
แต่ถ้ามันไม่มีสติ เห็นนิมิตแล้วทำอย่างไรล่ะ มันก็เห็นไปเรื่อย มันก็อยากรู้ มันก็ชักเราไปเรื่อย มันก็ลอยลมไปเรื่อย นี่ไง ไม่มีสติ
ถ้ามีสตินะ พอเห็นนิมิต นิมิตอะไร
โธ่! หลวงปู่มั่น หลวงปู่จวนท่านพูดเลย ถ้าเห็นนิมิตนะ ถ้าอยากรู้ ถามเลยคืออะไร ถ้ามันพร้อม สติมันพร้อม
นี่ไง บอกว่า ถ้าเขาเป็นสมาธิเขาสามารถดับนิมิตได้ แล้วที่ว่าจิตของโยมสามารถหนีบเวทนาออกได้
คำว่า “หนีบเวทนา” มันเป็นคำเทศน์หลวงตาเนาะ บอกว่าหลวงปู่ฝั้นท่านพูด เวทนามาก็หนีบเวทนาเลย คือตัดเลย แต่คำว่า “ตัดเลย” คำว่า “หนีบ” ท่านพูดให้เป็นคำกระชับ ถ้าหนีบ เอาอะไรไปหนีบ หนีบเวทนา หนีบมันก็กดไว้เฉยๆ
แต่ถ้าเป็นเวทนา เราจะดับเวทนา หัวเข่า มันเจ็บที่หัวเข่า หัวเข่าเป็นเวทนาได้หรือไม่ หัวเข่ามีชีวิตหรือไม่ กระดูกมีชีวิตหรือไม่ เนื้อหนังมีชีวิตหรือไม่ มันไม่มีทั้งนั้นน่ะ แล้วเวทนามันเกิดได้อย่างไร ทำไมมันไปเกิดตรงหัวเข่า
เกิดตรงหัวเข่าเพราะจิตเราไปรับรู้ที่หัวเข่า หัวเข่ามันก็มีความเจ็บปวดที่หัวเข่า มันก็เลยกลายเป็นเจ็บเข่า แต่ถ้ามันพิจารณาไป เข่ามันเจ็บอย่างไร พอเข่ามันไม่เจ็บ จริงๆ จิตมันไม่รับรู้ ถ้าเวทนาดับด้วยปัญญานั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ
คำว่า “หนีบ” มันก็เหมือนกับการกดทับไว้ ว่าหินทับหญ้าๆ
แต่ถ้ามันเป็นปัญญาใคร่ครวญนะ แต่คำว่า “หนีบ” ของหลวงปู่ฝั้น หนีบด้วยปัญญา ตัดขาดด้วยปัญญา
นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนเจโตวิมุตติ หมายถึงว่าจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นกาย รำพึงให้กายเป็นอย่างใดๆ แล้วกายมันแปรสภาพนั่นคือปัญญา ปัญญาคือมันเห็นภาพ ปัญญารู้โดยภาพ รู้โดยตัวอักษร รู้โดยเสียง รู้โดยอะไร เราฝึกหัดปัญญา เราโดยอะไร ถ้าเราฝึกหัดปัญญาโดยสิ่งใดมันก็เห็นสิ่งนั้น
แต่คำว่า “หนีบๆ” ถ้ามันขาด ขาดโดยคำรำพึง ขาดโดยอะไร มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเราตั้งแต่ว่า “ถ้าสติตั้งมั่นเข้าสมาธิก่อนเวทนาจะเกิด จิตโยมสามารถหนีบเวทนาก็ได้ หากเกิดนิมิต กำลังสมาธิสามารถจับนิมิตได้”
ถ้ามันทำได้จริงมันชัดเจน ชัดเจนเพราะมีสติ มีสติสัมปชัญญะแล้วมีกำลังของสมาธิทำอะไรก็ได้ สติสมบูรณ์หมดเลย มีสติพร้อม แต่สมาธิเราอ่อนแอ สมาธิอ่อนแอคือจิตมันไม่แข็งแรง ถ้ามันรู้มันเห็นอะไรก็เหมือนกับคนติดยา ติดยา เขาไม่ต้องทำอะไร เขาเอายามาล่อ ไปแล้ว นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันอ่อนแอมันเห็นอะไรมันก็ตามเขาไป ถ้ามันมีสติมันก็พร้อม นี่พูดถึงว่าถ้าสมบูรณ์ สมบูรณ์เป็นอย่างนี้
“๒. ถ้าพลั้งเผลอ เกิดเวทนาก่อน สมาธิตั้งมั่น หลายครั้งสมาธิก็จะกดเวทนา ซึ่งเวทนาจะดับได้ พักใหญ่เวทนาก็จะเกิดใหม่ และโยมก็จะใช้สมาธิกดเวทนาใหม่”
ถ้าเราพุทโธๆๆ ถ้าจิตลงสมาธิก่อน เวทนามาทีหลัง จิตเป็นสมาธิก่อน เวทนามาทีหลัง เราสามารถจับเวทนาได้ แต่ถ้าเวทนามาก่อน เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา ถ้าจิตเราเป็นสมาธิ สมาธิเป็นเรา เวทนา เห็นไหม เวทนาเป็นอาการ เวลาเวทนาเป็นอาการ จิตที่มันจับเวทนา มันถึงจับเวทนา คือว่าถ้าจิตสงบแล้วจับเวทนา พิจารณาเวทนา มันทำได้ ไม่เจ็บปวดจนเกินไป
แต่ถ้าเวทนาเป็นเราๆ เวทนากับเราเป็นอันเดียวกันแล้ว พอเวทนาเป็นเรา เราไปจับเวทนา อู๋ย! ทุกข์มาก ปวดมาก ถ้าพุทโธๆ จนสงบเข้าไปก่อน ถ้าเวลาพลั้งเผลอ เวลาสมาธิยังไม่ตั้งมั่น หลายครั้งที่เวทนามาก่อน เขาบอกเขากดไว้ ทับไว้
กดไว้ ทับไว้ ก็พุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีกำลังมันเป็นได้ จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก มันอยู่ที่วิธีการ อยู่ที่วาสนาของคน คนคนนี้ ผู้ถามทำอย่างนี้ได้ เราคนฟัง เราเคยอยากทำ เราจะทำอย่างนี้บ้าง เราก็จะไปทำอย่างนี้บ้าง...ไม่ได้ วาสนาคนไม่เหมือนกัน แต่ถ้ามันถนัดไปทางอื่นไง แต่ถ้ามันจะกดเวทนาไว้
แต่สำหรับเรานะ ถ้าเราพุทโธๆ ถ้าเวทนามานะ กูก็พุทโธไวๆ ไว้ก่อน พุทโธอย่างเดียว เวทนาส่วนเวทนา ไม่ให้มันเข้ามายุ่ง พุทโธจนลงไปได้ แต่ถ้าวันไหนพุทโธๆๆ จนลงสมาธิไปแล้วนะ สบายมาก เวทนามานี่จับพิจารณาได้ แต่บางทีก็ประมาท คนภาวนาเป็นอย่างนี้เหมือนกัน เราเคยประมาท บางทีนั่งสมาธิไป นั่งสบายๆ เวทนามันมา โอ้โฮ! พุทโธเกือบตาย เอาจนกว่ามันจะลงได้เหมือนกัน
นี่เขาพูดเลยว่าเขากดไว้ๆ
คนภาวนา มันขำตัวเองไง เวลาขำตัวเอง เวลาเจอ เวลาเจ็บเองถึงได้รู้จัก ดีแต่สอนคนอื่น เวลาตัวเองเจ็บก็เจ็บอย่างนี้แหละ แต่มันก็ผ่านมาได้ นี่มันเป็นข้อเท็จจริง คนมันเคยผ่านมาแล้ว เวลาใครถามปัญหามันถึงตอบเขาได้ ถ้าคนไม่เคยถามปัญหาก็ตอบเขาด้วยความจริงจังนะ ทางวิชาการ เวลาเขาถามเข้ามาจริงๆ เขาก็ต้องถามหาข้อสงสัยของเขาไง ตอบเขาไม่ได้หรอก พอตอบไม่ได้ก็ว่า เออ! ก็ตำราบอกไว้อย่างนั้น แต่ถ้ามันเคยทำนะ มันยืนยันได้เลย เออ! ทำมาแล้วๆ
ไอ้นี่มันเป็นเวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวลาเราสู้กับเวทนานะ
๑. เวทนาดับ
๒. เวทนาไม่ดับ แต่ก็ไม่รบกวนเราจนเกินไป เขาเรียกว่า “เวทนาสักแต่ว่าเวทนา”
เวทนามันไม่ดับไปหรอก เวทนามันมีของมันอยู่ แต่มันก็ไม่รุนแรงจนเราเป็นเวทนา เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาเกิดขึ้น แต่เราไม่สามารถเอาชนะมันได้ ยันกันไว้เฉยๆ แล้วถ้าพิจารณาไปจนถึงที่สุดเวทนามันดับ ดับหมดเลย จิตนี้เด่นมาก
มันมีตั้งแต่เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา แล้วพิจารณาเวทนาจนมันดับ แล้วพิจารณาซ้ำบ่อยๆ ครั้งเข้าให้มีความชำนาญมากขึ้น เพราะมันเป็นการดับชั่วคราว คำว่า “ดับชั่วคราว” มันไม่สะสางจนถึงสิ้นสุดของมัน ถ้ามันดับชั่วคราว เดี๋ยวเวทนามันเกิดอีก เราก็พิจารณามันอีก พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันดับเด็ดขาด พอมันดับเด็ดขาด มันจะรู้แจ้งกลางหัวใจ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก
เวลาหลวงตาท่านพิจารณาเวทนาจนเวทนามันดับเด็ดขาด ท่านพูดเองนะ เวลามันอหังการในหัวใจ ตั้งแต่บัดนี้ไป ไอ้มาร กิเลส มันจะเอาเวทนาอะไรมาหลอกเราอีกวะ เวทนาหน้าไหนจะหลอกเราได้อีกวะ มันจะรู้แจ้งเวทนาทั้งหมดเลยถ้ามันขาดโดยข้อเท็จจริง
แต่ที่มันดับไปนี่มันชั่วคราวๆ คำว่า “ชั่วคราว” หมายความว่าเราทำได้แล้ว แล้วเราพยายามทำให้มันชำนาญขึ้นๆ จนรื้อค้นชำระล้างจนเด็ดขาดไปเลย ทำไปข้างหน้า อย่าชะล่าใจ
ไม่ใช่ว่ามันดับไปแล้ว ใช่ ถูกต้อง เราก็น่าจะภูมิใจเพราะทำได้ แต่มันยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันมีเล่ห์เหลี่ยมพลิกแพลงหลอกลวงอยู่ในจิตใต้สำนึก เราก็ต้องพิจารณาเวทนาแล้วพิจารณาเล่า มันจะผ่านไปแล้ว มันจะดับไปแล้ว เดี๋ยวเรานั่งภาวนามันก็เกิดเวทนาอีก จิตสงบแล้วถ้าเวทนามันมา เราก็จับเวทนาได้อีก สิ่งที่มันดับไปแล้วมันก็คือดับไปแล้ว เหมือนคำถามที่ว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว
แล้วเวทนาปัจจุบันที่มันเกิดขึ้น เราก็จับเวทนาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันจะดับชั่วคราวๆๆ ละเอียดลึกซึ้งเข้าไป แล้วมันก็จะพลิกแพลงหลอกลวงละเอียดลึกซึ้งเข้าไป เราก็ทำของเราต่อเนื่องไปๆ เพราะมันยังมีเชื้อมีไข เหมือนโรคภัยไข้เจ็บที่มันยังไม่หายขาด มันมีเชื้อโรคที่ยังไม่จบสิ้น เราก็กินยาต่อเนื่องๆ จนกว่ามันจะดับสิ้นไป พิจารณาซ้ำไปๆ ไม่ใช่ว่ามันดับแล้วเราจะเข้าใจ ทำต่อเนื่องไป แล้วถ้ามันจะดับเด็ดขาด มันจะมีคำตอบขึ้นมากลางหัวใจเด็ดขาด
ถ้ามันยังไม่มีคำตอบขึ้นมากลางหัวใจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกัน ท่านสนทนาธรรมกันแบบนี้ไง สนทนาธรรม ธมฺมสากจฺฉา หลวงปู่บัวที่ท่านไปเล่าให้หลวงตามหาบัวฟัง หลวงตามหาบัวว่า “พูดมาสิ”
ท่านก็พูดมาเรื่อย พูดมาเรื่อย
หลวงตามหาบัวท่านก็บอกว่า “พูดต่อไปสิ”
ทีนี้หลวงปู่บัวท่านพูดได้แค่นั้นไง คือว่ามันดับ แต่ยังไม่เด็ดขาดทั้งสิ้นไง ท่านบอกว่า “ก็หมดแล้วไง วิมุตติก็เป็นอย่างนี้แหละ”
หลวงตาท่านบอก “อุ๊ย! ตาย”
คำว่า “อุ๊ย! ตาย” มันยังมีเชื้อไข คนที่เป็นรู้อยู่ คนที่เคยผ่านมามันมีของมันอยู่ข้างหน้าใช่ไหม ท่านถึงให้ทำซ้ำลงไป ทำซ้ำลงไปอีก
แต่ผู้ที่ไม่รู้นะ “ก็มีเท่านี้แหละ จบเท่านี้” ไอ้คนที่รู้เท่านี้ก็พูดเท่านี้จริงๆ นะ พูดด้วยความรู้ของตน ด้วยความเด็ดขาดของตนว่า “เท่านี้แหละใช่”
แต่คนที่เขาอยู่เหนือกว่าเขาบอก “อุ๊ย! ตาย” แล้วท่านบอก “เอานะ ถ้าอย่างนี้ก็แค่นี้ แล้วให้พิจารณาอย่างนี้ จับตรงนี้ต่อเนื่องไปอย่างนี้ๆ แล้วให้ทำต่อเนื่องไป”
นี่พูดถึงว่าเด็ดขาดหรือไม่เด็ดขาดไง ถ้าชั่วคราว จะบอกว่ามันผิด มันไม่ผิดหรอก มันถูก ภาวนาเก่งด้วย เพราะกว่าจะตั้งตัวได้ กว่าจะพิจารณาได้ มันต้องมีความสามารถพอสมควรมันถึงพิจารณามาได้ แต่มันยังไม่เด็ดขาด ไม่ดับโดยสิ้นเชิง มันยังมีเชื้อไขของมันอยู่ แล้วถ้าเราเลินเล่อ เดี๋ยวมันก็ฟื้นฟูมาๆ แล้วมันจะเป็นปัญหาเหมือนกับเรา ต้องไปเริ่มต้นภาวนาใหม่
นี่พูดถึงว่าการกดเวทนาไว้ การพิจารณาของมันไว้นะ
“๓. ถ้าเกิดเวทนาและสมาธิโยมไม่ตั้งมั่น โยมก็จะใช้ขันติธรรมนั่งสมาธิทนเวทนาจนครบจำนวนเวลาที่ตั้งไว้ โยมเคยทนเวทนาจนจิตรวม ซึ่งหลวงพ่อเคยเทศน์ไว้ว่า สภาวะธรรมแบบนี้เป็นสภาวะธรรมแบบส้มหล่น มีครูบาอาจารย์สายวัดป่าซึ่งท่านเองผ่านเวทนา ท่านได้ให้หลักการฝึกภาวนาว่าให้ใช้หลักคงที่ต่อเนื่อง”
ถ้าคงที่ต่อเนื่อง กรณีอย่างนี้มันเป็นอุบาย อุบายว่า เวลาจิตเราสงบแล้วเราจะทำของเราให้มันดีขึ้น พัฒนาของเราขึ้น เวลาจิตเราสงบแล้ว จิตสงบส่วนจิตสงบ พอจิตสงบแล้ว ถ้าคนไม่เคยวิปัสสนามันจะเริ่มต้นไม่ได้
แต่จิตของคนนะ เวลาสงบแล้วรื้อค้น ถ้าจิตสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นอาการแล้วเขาเรียกว่าขุดคุ้ยจนเห็นมันแล้ว เวลาจิตพิจารณาไปแล้ว เราก็จับแล้วพิจารณาของมันได้ด้วยปัญญา
เวลาพิจารณาแล้วถ้าเราเหนื่อยนัก พิจารณาแล้วแบบว่ามันฟั่นเฝือ สมาธิมันอ่อนแอ เราก็วาง กลับมาที่พุทโธๆ พอปล่อยจากพุทโธมันก็เข้าไปสู่งานนั้น คนที่ขุดคุ้ยหามันเจอแล้วก็เริ่มฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะต่อเนื่องๆ ไป เราจะดึงจิตของเราให้กลับไปที่สมาธิ ให้กลับไปพุทโธเฉยๆ ให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าเราไม่ได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราใช้สติปัญญาใคร่ครวญถึงความไม่สงบของเรา ทำไมจิตมันไม่สงบ ไม่สงบเพราะว่ามันไปคิดเรื่องอะไร คิดเรื่องนั้นแล้วเป็นอย่างไร อย่างนี้คือปัญญาอบรมสมาธิให้จิตสงบ
ถ้าจิตสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง จิตเห็นกายก็เหมือนกับมีคู่ต่อสู้ระหว่างเรากับกาย เรากับเวทนา เรากับจิต เรากับธรรม
แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราพิจารณาหัวใจของเราให้มันสะอาด พิจารณาหัวใจของเราให้มันปล่อยวาง เห็นไหม นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิกับปัญญาพิจารณา ถ้าคนภาวนาเป็น ถ้ามันขุดคุ้ยจนค้นคว้าหากิเลสเจอ แล้วมันใช้ปัญญาอย่างนั้นไปมันก็ใช้ปัญญาอย่างนั้นไป ถ้าใช้อย่างนั้นไป พอมันใช้ปัญญาแล้วถ้ามันฟั่นเฝือ เราก็กลับมาพุทโธ ถ้าพุทโธ
แต่เวลาคำถามเขาถามว่า “ถ้าเกิดเวทนาและสมาธิไม่ตั้งมั่น โยมใช้ขันติธรรม”
ใช้ขันติธรรมมันก็ถูกต้อง เวลาคนที่ภาวนาเริ่มต้นบอกว่า “เวลาภาวนาไปแล้วมันปวดมาก” นี่ไง ปวดมาก เรากลับมาพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ นี่คือถอยกลับมา คือเราไม่ไปเผชิญกับเวทนา ไม่ไปจับเผือกร้อน ว่าอย่างนั้นเลย ไม่ไปจับเผือกร้อน
เผือกมันร้อน เผือกร้อนวางอยู่บนมือ อู๋ย! ร้อนน่าดูเลย แต่ก็พุทโธๆๆ เราพุทโธของเราไว้ พุทโธไว้ไม่ไปจับเผือกร้อน แต่ถ้าเวลาเราพุทโธจนจิตสงบแล้ว ถ้าไปเห็นเวทนา จับเวทนา เผือกร้อนมา เราจับได้เลย
นี่พูดถึงว่า ถ้ามันไม่ได้ เราก็กลับมาพุทโธชัดๆ คือว่าไม่ต้องไปต่อสู้ ทีนี้มันมีอยู่ ๒ วิธีการ วิธีการหนึ่งเขาบอกว่า ถ้าจิตสงบแล้ว จิตมีกำลังขึ้นมา ถ้าเวทนาเกิดขึ้น เราก็พิจารณาเวทนา การพิจารณาเวทนาคือเราจับ คำว่า “เวทนา” คือความปวด มันจะเวทนาในเรื่องอะไร เวทนากาย เวทนาใจ เวทนามันเกิดที่ศีรษะ เวทนามันเกิดที่หน้าอก เวทนาเกิดที่แขน เกิดที่เอว เกิดที่หัวเข่า เวทนามันเกิดแต่ละจุด นี่เราจับเวทนาแล้วต่อสู้กับเวทนา นี่ถ้าจิตสงบแล้วจับเวทนา แล้วพิจารณาเวทนา
แต่ถ้าเวทนามันยังไม่มา เรากำหนดพุทโธ แล้วถ้าเวทนามาช่วงนั้น เขาบอกว่าถ้าจิตมันไม่ตั้งมั่นเขาใช้ขันติธรรม ใช้ขันติธรรมอดทนไป อดทนไปแล้วเขาบอกว่า หลวงพ่อเทศน์ไว้ว่าเป็นสภาวะธรรมเป็นแบบส้มหล่น
ส้มหล่นมันไม่ได้พิจารณาเลย พิจารณาแต่ข้างนอก เวลามันส้มหล่นมันเป็นไป ถ้าส้มหล่นกับธรรมเกิดมันอาการใกล้เคียงกัน เวลาธรรมเกิด เราใช้พุทโธๆ มันผุดขึ้นมา
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถึงเวลามันส้มหล่น แล้วบอกว่า เวลาวัดป่าสายครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าให้คงที่ต่อเนื่อง อย่างเช่นว่า ภาวนา ๑ ชั่วโมงก็ค่อยเป็นชั่วโมงครึ่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงต่อเนื่องไป
ไอ้คำว่า “ชั่วโมง ชั่วโมงครึ่ง” ถ้าภาวนาโดยเวลาที่มันมากกว่า เราก็เห็นด้วยนะ แต่ถ้าเราบอกว่า เวทนา เวลาเราภาวนาไปมันไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีหลักเกณฑ์ เห็นไหม พระเราเมื่อก่อนไม่มีนาฬิกา เขาก็ใช้เทียนเล่มหนึ่งหรือว่าธูปเล่มหนึ่ง จนกว่าธูปมันจะหมดเล่มหรือเทียนมันจะหมดเล่ม แล้วท่านก็ภาวนาไปเพื่อเป็นบรรทัดฐาน อย่าให้เข้าข้างตัวเอง อย่าให้เอาแต่สะดวกสบายต่อไป
ฉะนั้น เวลาไปเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แหม! ธูปมันช้าเหลือเกิน เทียนก็ แหม! มันเผาช้าจัง โอ๋ย! มันอึดอัดมาก แต่มันก็บังคับตัวเองไว้ มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตรงนี้ไง เวลาภาวนาถ้ามันไม่ลง ภาวนาแล้วมันไม่สมความปรารถนา แต่เราก็ต้องมีกติกาบังคับตัวเองให้มีความเพียร อย่างน้อยก็ภาวนาให้แบบที่เราตั้งใจไว้ ถ้าแบบที่เราตั้งใจไว้นี่เขาเรียกสัตย์ คนมีสัตย์
คนมีสัตย์ฝึกหัดไว้ ฝึกหัดให้เรามีสัจจะ ถ้ามีสัจจะ คนมีสัจจะต่อไปทำหน้าที่การงาน ทำสิ่งใดมันก็จะมีสัจจะ แต่คนมันล้มเหลว คนไม่มีสัจจะ ไม่มีสิ่งใดเลย ทำสิ่งใดแล้วไม่พอใจก็เลิก ไม่พอใจก็ไป ทำอะไรก็จะเอาแต่ความพอใจของตน ถ้าเราล้มเหลวอย่างนี้เราก็จะล้มเหลวเรื่อยไป ถ้าเราฝึกหัด นี่คือการฝึกหัดดัดแปลงนิสัยของตน ถ้ากรณีนี้เราเห็นด้วย
แต่ถ้าเวลาเป็นการภาวนา การภาวนาอย่างนี้เพื่อฝึกหัดให้เราเป็นคนมีสัตย์ ให้คนเรามีสัจจะ ให้คนเรารักษาคำพูดของตน รักษาเจตนาของตน ตั้งใจของตน อันนี้ได้ แล้วถ้ามันภาวนาแล้วเป็นสมาธิหรือฝึกหัดใช้ปัญญา อันนี้คือผลของการภาวนา อันนี้เราเห็นด้วย แล้วถ้ามันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์กับเรา มันฝึกหัดเราเพื่อประโยชน์กับเราไง ถ้าเพื่อประโยชน์กับเรามันก็ภาวนาของเราไป
ฉะนั้น ถ้ามันปฏิบัติไปมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกกับการปฏิบัติของเรานะ ถ้าเป็นการปฏิบัติของเรา นี่พูดถึงถ้ามันภาวนาไปแล้วมันก็มีเหตุมีผล
อันนี้คือว่าภาวนาเพื่อเอาความจริงในใจของตน ถ้าเอาความจริงในใจของตน มันจะเป็นสันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เราฟังแล้วไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อเพราะเหตุนี้ ไม่ให้เชื่อแล้วเราต้องมาพิสูจน์ พิสูจน์คือการปฏิบัติ แล้วให้เชื่อผลการปฏิบัตินั้น แล้วถ้าเวลาปฏิบัติแล้ว ผลการปฏิบัตินั้นมันก็ไปตรงกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปตรงกับธรรมะของครูบาอาจารย์ เห็นไหม เราเชื่อสิ่งนั้น พระสารีบุตรที่ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะอย่างนี้ ไม่เชื่อเพราะมันเป็นความจริงในใจของตน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันเป็นความจริงในใจของตนนะ เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมันลากไปเลยแหละ เคยได้ยินที่นั่น ครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนั้นแล้วมันจริงอย่างนั้น ถ้าจริงอย่างนั้นแสดงว่าครูบาอาจารย์กับการปฏิบัติของเราจริง
แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนะ ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น แต่มันไม่เป็นจริงสักที แล้วปฏิบัติมันก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องแสดงว่าผิดข้างหนึ่งแน่นอน แต่ถ้าเราทำของเราเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น มันก็เลยเป็นการปฏิบัติ
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้ามันปฏิบัติแล้วมันจะได้เหตุได้ผลขึ้นมา ถ้ามันได้เหตุผลขึ้นมานะ เอาความจริงอันนี้ เอาความจริงของเรา ถ้ามันได้ความจริงของเรานะ เราจะย้อนกลับ ย้อนกลับมาถึงการฝึกหัด แล้วทำจิตใจของคนให้มั่นคง
ย้อนกลับมาที่ว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านจะฝึกหัดมาตลอด ให้พวกเราทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน แต่การทำความสงบของใจของตนมันก็ไม่ใช่ของง่าย คำว่า “ไม่ใช่ของง่าย” มันเหมือนกับพ่อแม่กับลูก พ่อแม่ทุกคนปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีทั้งนั้นน่ะ แต่ลูกมันก็ไปตามแต่นิสัยมันน่ะ
นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านปรารถนาให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ศีล สมาธิ ปัญญา ความสงบนี่ทำยาก เพราะส่วนใหญ่แล้วมันสงบแบบโลกๆ มันสงบหมายความว่า ลูก เวลาคนเขามีปัญหานะ ถ้าลูกใครก็แล้วแต่ไปสร้างปัญหาที่ไหน เวลาตำรวจเขาไปถามพ่อแม่นะ “ลูกฉันเป็นคนดี ลูกฉันไม่เคยเสียหายเลย” ทุกคนจะบอกว่าลูกไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ไม่ทำความผิดแน่นอน เพราะเวลาอยู่ต่อหน้าแม่มัน มันทำดีไง พอพ้นจากหน้าพ่อแม่มันก็ไปแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ทำความสงบของใจๆ คำว่า “สงบ” สงบต่อหน้า เวลาอย่างนี้ว่าทำความสงบ แต่จริงๆ แล้วรักษาใจของตนได้หรือไม่ ถ้ารักษาใจของตนได้ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ความคิดที่เข้ามารังแกหัวใจเรามันจะไม่มี ความคิดที่ฟุ้งซ่าน ที่ความเครียด ความทุกข์ความยากในใจ ถ้าจิตสงบแล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ เราก็รักษาหน้าของเราไว้ไง รักษาว่ามันสงบๆ แล้วสงบจริงหรือเปล่า
ฉะนั้นถึงบอกว่า มันก็เหมือนพ่อแม่กับลูก พ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนดีทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาลูกมันดีต่อหน้าเท่านั้นน่ะ ออกไปนะ ออกไปคบเพื่อน เพื่อนพาไปหยำเป พอมีปัญหาขึ้นมาไปฟ้องพ่อแม่ “ลูกฉันไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด” เพราะต่อหน้าอย่างกับผ้าพับไว้เลย ต่อหน้านี่แหม! สุดยอดเลย ออกไปมันก็คบเพื่อนเป็นธรรมดา
จิตที่สงบ มันสงบแล้วนะ ความฟุ้งซ่าน ความคิดโดยความเป็นโทษมันไม่เกิดกับจิตอย่างนั้นหรอก แต่ถ้ามันไม่สงบขึ้นมามันถึงมีปัญหาของมันขึ้นมาไง
ถ้ามันจิตสงบ เราก็ย้อนกลับมาที่นี่ ที่ว่าคำถาม ถ้าสมาธิๆ คำถามนี้เราภูมิใจในคำว่า “ถ้าจิตสงบ” ทำสมาธิแล้วเวลามันภาวนาไปแล้วมันจะเกิดผลของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
แต่ถ้ามันไม่สงบหรือมันไม่สงบจริงขึ้นมา เวลาทำไปแล้ว ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วทำอยู่อย่างนั้นนะ มันทำให้เรา ประสาเราเลยนะ ใจมันด้าน พอใจมันด้าน หลวงตาท่านพูดเลย ถ้ามันหน้าด้าน มันทำอะไรก็ได้
ถ้าใจมันไม่ด้านนะ ใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้มันเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น แล้วพยายามทำให้มันสงบระงับเข้ามา ถ้าสงบระงับเข้ามา ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมา แล้วมันภาวนาขึ้นไปนะ มันจะเห็นคุณค่า มันจะเป็นประโยชน์จริงไง ถ้ามันเป็นประโยชน์จริงขึ้นมา นั่นน่ะผลของการปฏิบัติ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก แล้วมันจะเห็นคุณค่าเลย
แต่ทำกันทำแต่พอเป็นพิธี ทำแต่พอเป็นอย่างนั้น เราก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องของโลกๆ เขา ถ้าเรื่องของโลก เราเห็นด้วย เห็นด้วยหมายความว่า ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเรามีมรรคมีผล ผู้ใดที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันควรจะได้ธรรมโอสถ ได้มรรคได้ผล ได้ความสุขสงบในพระพุทธศาสนา
ฉะนั้น เวลาใครเข้ามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเขามีความสุขอย่างนั้นมันก็สุขแบบโลกๆ แต่อย่างที่เราประพฤติปฏิบัติกัน เราต้องการให้ศาสนามีข้อเท็จจริง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระธรรมๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องปฏิบัติให้หัวใจเราเป็นธรรม นี่มันเลยต้องเข้มข้น ต้องทำให้จริง ให้มันได้จริงขึ้นมา มันก็จะเป็นความจริงของเรา พระพุทธศาสนาก็สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบมันสมบูรณ์แบบโดยการประพฤติปฏิบัติ สมบูรณ์แบบโดยข้อเท็จจริงนั้น
แต่ทางโลกมันเป็นทางโลก เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันก็ควรได้ประโยชน์กับพระพุทธศาสนา นั่นมันก็เป็นประโยชน์ของโลก ของมนุษย์ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ไอ้นั่นมันเป็นวัฒนธรรมของเรา เราก็เห็นด้วย แต่ตามข้อเท็จจริง มันอยากทำสมาธิๆ
คำถามนี้เป็นการยืนยัน ยืนยันว่า ถ้าทำสมาธิ สมาธิมันมีหลักเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว คนถามได้ประโยชน์จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมเกิดจากสัจธรรม เกิดการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนตื่นเนื้อตื่นตัวขึ้นมาของตนเองเลยล่ะ จนตื่นเต้นกับหัวใจของตนที่มันเป็นไปได้จริงตามหลักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยหลักการ โดยสัจจะโดยความจริง แล้วเราทำความจริงอันนี้ได้ เราทำความจริงอันนี้ขึ้นมา มันเป็นการพิสูจน์ พิสูจน์โดยพระพุทธศาสนาไง พระพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรมอยู่ในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง