ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปัญหาทำดี

๘ ก.ย. ๒๕๖๑

ปัญหาทำดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๗๔. เรื่อง “จะบาปไหมครับ”

กราบหลวงพ่อ ผมได้ดูแลมารดาตอนท่านป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต มีอยู่วันหนึ่งผมต้องล้วงเศษอาหารในปากท่าน แล้วท่านกัดนิ้วผมไม่ปล่อย ผมจำไม่ได้ว่าท่านโกรธผมเรื่องอะไร แต่ผมก็เลยตบไปที่แก้มท่านให้ท่านอ้าปาก ผมอยากถามหลวงพ่อว่าผมจะบาปไหมครับ แต่หลังจากนั้นก็สำนึกผิดและกราบขอขมาท่าน

ตอบ : นี่มันตกค้างในใจไง เห็นไหม เวลาพระอรหันต์ของลูกๆ เราได้ชีวิตนี้มาจากพ่อจากแม่ เวลาเราได้ชีวิตนี้มาจากพ่อจากแม่ เราจะตอบแทนบุญคุณของท่านด้วยการเลี้ยงดู ดูแลท่าน พยายามอุปัฏฐากท่าน ทีนี้การอุปัฏฐากมันก็มีอุปสรรคเหมือนกัน มันก็มีอุบัติเหตุ มันมีสิ่งต่างๆ แล้วมันมีสิ่งใดแล้วมันจะตกค้างในใจ

เวลามันตกค้างในใจ ตกค้างในใจ เราก็พยายามขอขมาลาโทษ อย่างที่เขาทำมันถูกต้องอยู่แล้ว ถ้ามันถูกต้องแล้ว ผมจะบาปไหมๆ

จะบอกว่าจะไม่มีเวรมีกรรมเลย กรรมคือการกระทำ พอเราทำแล้วมันมีกรรมดีกรรมชั่ว กรรมมันมีอยู่แน่นอนอยู่แล้ว ถ้ากรรมมันมีอยู่แน่นอนอยู่แล้ว คือการกระทำบอกมันไม่มีอะไรเลยๆ

มันไม่มีอะไรก็พระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์ไม่มีเวรมีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแค่กิริยา เป็นกิริยาเพราะพระอรหันต์ไม่มีมารยาสาไถย อย่างพวกเรามี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันจะไม่มีเวรมีกรรมต่อเมื่อพระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์ไม่มีเวรมีกรรมต่อกันแล้ว เพราะว่าถ้าตัดอวิชชา ถ้าพญามารขาดแล้วมันไม่มีมารยาสาไถย มันเพียงกิริยา มันก็เหมือนกับลมพัดไปลมพัดมามันเป็นธรรมชาติ ดูสิ อุบัติเหตุ เวลาวาตภัยขึ้นมา เราไปเรียกร้องความเสียหายจากใครไม่ได้เลย เพราะมันเป็นภัยธรรมชาติ

นี่ก็เหมือนกัน พระอรหันต์ไม่มีเจตนา ไม่มีการจงใจทำร้ายใครทั้งสิ้น ถ้ามีก็มีแต่เมตตาทั้งนั้นน่ะ ฝนตกทำให้ชุ่มชื่นขึ้นมา นี่พูดถึงว่า ถ้าไม่มีเวรไม่มีกรรมคือพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นมี มากหรือน้อย ถ้ามากหรือน้อยขึ้นมาแล้ว เราเป็นปุถุชน เราเป็นชาวพุทธ เรามีพระอรหันต์ในบ้าน เรามีพ่อมีแม่ เราอุปัฏฐากท่าน เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต มีวันหนึ่งเราป้อนอาหาร เศษอาหารมันอยู่ในปาก เอานิ้วไปล้วงแล้วท่านกัดนิ้วผม เจ็บน่ะสิเนาะ ก็เลยอย่างที่ว่าพยายามแกะออก แกะออกมาแล้ว แล้วมาคิดได้ว่ามันตกค้างในใจของเรา แต่เวลาตัวท่าน ท่านก็จบแล้ว นี่เขาบอกว่าแม่เขาเสียไปแล้ว ถ้าแม่เสียไปแล้วมันก็จบ แต่เขามาคิดได้ทีหลังว่ามันจะบาปหรือไม่

คำว่า บาปหรือไม่” หนึ่ง เรามีเจตนาที่ดีที่จะอุปัฏฐากที่จะดูแล นี่เจตนาที่ดี มันเริ่มต้นตั้งแต่เจตนาที่ดี เห็นไหม ดูคดีอาญาสิ เจตนาฆ่าคนตาย ฆ่าคนตายด้วยความบันดาลโทสะ ฆ่าคนตายโดยแบบว่าวิสามัญ เพราะว่ามันอันตรายต้องป้องกันตัว มันก็มีตรงนั้นใช่ไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน เรามีเจตนาที่ดี ถ้าเราไม่มีเจตนาที่ดี เราจะไม่อุปัฏฐากดูแลพ่อแม่ของเราหรอก เราอุปัฏฐากดูแลพ่อแม่ของเราเพราะเรามีเจตนาที่ดีอยู่แล้ว แต่คนมีกิเลสมันมีผลกระทบกระทั่งกันทั้งนั้นน่ะ มันมีผลกระทบ ถ้ามันมีผลกระทบขึ้นมาแล้ว เวลามันกระทบแล้วเราควบคุมตัวเองไม่ได้ การแสดงกิริยาออกมาที่ไม่ถูกต้อง แสดงกิริยาที่ไม่ดีออกมา แล้วถ้าเราระลึกได้เราขอขมาลาโทษ มันก็ทำถูกต้องตามธรรมวินัยแล้ว ทำถูกต้องแบบที่ชาวพุทธแล้ว เราจะทำดีของเราๆ ทำดีมันก็มีปัญหา เวลามีปัญหาขึ้นมา ทำดี เห็นไหม คนดีกับคนดีทะเลาะกัน มีปัญหามาก นี่มีปัญหามาก

พระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้นี่สุดยอดเลย ดูลัทธิศาสนาอื่นคนละนิกายฆ่ากันไม่มีวันจบวันสิ้น การฆ่านั้นฆ่าแล้วได้บุญด้วย ฆ่าแล้วไปอยู่กับพระเจ้า นั่นน่ะเขาทำกันอย่างนั้น แต่ของเราไม่มี

พระพุทธศาสนา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงชีพอยู่ พระจุนทะไปเห็นศาสนาอื่นเขามีปัญหากัน มาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามันขาดวินัย

ถ้าขาดวินัย ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกยัง ไม่มีเหตุ ทำไม่ได้ มันต้องมีเหตุขึ้นมาก่อน

แล้วธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว มีผู้ทำผิดแล้วทั้งนั้น ใครทำผิดแล้วเป็นต้นบัญญัติ ไม่มีอาบัติ แต่เอาเหตุนั้นเป็นสาเหตุ สาเหตุแล้วก็บัญญัติธรรมวินัยนี้มา แล้วเราพยายามทำตามนั้นๆ

ถ้าทำตามนั้น เราทำดีที่สุดอยู่แล้ว แล้วสิ่งใดให้อภัยกัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เรื่องเวรเรื่องกรรม เราไม่ไปจองเวรจองกรรมต่อใครทั้งสิ้น เพราะเราเป็นคนฉลาด เราไม่เอาตัวเราไปติดกับไง ถ้าจองเวรจองกรรมมันก็ต้องติดกับตลอดไปใช่ไหม ถ้ามันมีเวรมีกรรม เราอยากจะสิ้นเวรสิ้นกรรมกัน แต่มันไม่สิ้นน่ะสิ มันไม่สิ้นเพราะอะไร เพราะคนเรายังมีลมหายใจอยู่ มีลมหายใจอยู่มันก็มีผลกระทบกระเทือนกันไปทั้งนั้นน่ะ ถ้ากระทบกระเทือนไปแล้วมันก็เป็นกรรมของสัตว์ๆ ไง

มันมีกรรมของสัตว์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปอาฆาตมาดร้ายใคร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยอาฆาตมาดร้ายใครทั้งสิ้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเป้าเลย ใครๆ ก็ทำลายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจะทำลายพระพุทธศาสนาต้องทำลายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำลายๆๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปทำลายใคร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนกระทำมาจากเจ้าลัทธิศาสนาอื่นเต็มไปหมดเลย แต่ท่านก็เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่จองเวรจองกรรมใครทั้งสิ้น แต่ก็มีสติปัญญานะ ถ้าไม่มีสติปัญญา ท่านจะไม่สอน เห็นไหม เวลาสอน โมฆบุรุษตายเพราะลาภ โมฆบุรุษไม่ให้ไปโต้แย้งกับลัทธิศาสนาอื่น โมฆบุรุษๆ ถ้าจะไป ให้พระสารีบุตรไป ให้พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะไป เพราะพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมีสติมีปัญญาสามารถจะกล่าวแก้การเหยียดหยามเย้ยหยันของใครก็ได้ ถ้าเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ แต่คนอื่นท่านบอกโมฆบุรุษ โมฆบุรุษไม่ควรทำ โมฆบุรุษไม่ต้องทำ โมฆบุรุษเอาตัวเองให้รอดให้ได้ก่อน โมฆบุรุษพยายามทำตัวเองให้มีสติปัญญาขึ้นมาก่อน แล้วจะไปช่วยเหลือใคร นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาพุทธไง

ฉะนั้นบอกว่า เขาทำอย่างนี้กับแม่แล้วจะเป็นบาปหรือไม่ คำถามคือจะเป็นบาปหรือไม่ๆ

มันมีกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีคือสิ่งที่ทำดี บาปนั้นเป็นเพราะว่าบันดาลโทสะ หรือว่าเราต้องการเอามือเราออก เห็นไหม มันมีเหตุ เราจะบอกว่ามันมีเหตุให้กระทำแบบนั้น ก็เหมือนกับทางโลก แบบว่าป้องกันตัวไง เวลาฆ่าคนตายเพราะว่าเราป้องกันตัว มันมีโทษไหม มี แต่เขาก็ให้อภัย รอลงอาญา มันก็มีของมัน นี่ก็เหมือนกัน จะบอกว่าไม่มีเลย แหม! มันก็แปลกเนาะ ทำแม่แล้วไม่มีอะไรเลย มันก็มี แต่กรรมดีเราก็มีไง

เราจะบอกว่า เราจะทำความดีๆ ให้สะอาดบริสุทธิ์เลย เราก็ตั้งใจทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันมีสิ่งใดมันเป็นโทษก็ขออโหสิกรรมอย่างที่เขาทำก็ถูกต้องแล้ว แล้วเราก็ทำคุณงามความดีของเราต่อเนื่องไป

ทีนี้เขาบอกว่า มันตกค้างในใจ มันตกค้าง ผมจะบาปไหม

เราก็ภาวนาของเรา สิ่งนั้นทำไปแล้ว แล้วไม่ถามกลับบ้างเลยว่า ผมดูแลพ่อแม่ ผมจะได้บุญไหม ก็ถามกลับสิว่าผมดูแลพ่อแม่ของผม ผมจะมีบุญไหม แล้วพอมีบุญแล้วก็ไปลบล้างที่ว่าผมจะมีบาปไหม ก็ลบล้างหน่อย ไม่อย่างนั้นเราทำอะไรกันไม่ได้เลยนะ สิ่งที่ว่าเขาทำอะไรไม่ได้เพราะตกอย่างนี้ กรรมมันคลุกเคล้า แต่เราวางใจให้เราเป็นกลาง วางใจให้เราทำคุณงามความดี แล้วเหตุการณ์เฉพาะหน้าเราต้องแก้ไข ความที่แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ตกค้างมาในหัวใจ

แล้วเวลาที่ดูแลพ่อแม่มานี้มันไม่มาพูดถึงเลยนะ มันไม่มาบอกว่าเราทนทุกข์ทนยากเพื่อดูแลพ่อแม่เรามา มันไม่พูดถึงเลย แต่เวลามันทำอะไรผิดหน่อยเดียวมันเอามาพูดตลอดเวลาเลยนะ กิเลสมันจะทำให้เราไขว้เขวไง จบ

ถาม : ข้อ ๒๒๗๕. เรื่อง “มรรคมีองค์ ๘ คืออะไร”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูขอกราบถามหลวงพ่อว่ามรรคมีองค์ ๘ คืออะไร เพราะว่ามีอยู่ช่วงระยะหนึ่งหนูทำงานมาก แล้วละเลยการภาวนา คือหนูรู้สึกขี้เกียจ แล้วใจมันก็คอยแต่ตำหนิตัวเองที่ขี้เกียจภาวนา พอนอนหลับก็ได้ยินเพียงเสียงของใครก็ไม่รู้ว่า “มรรคมีองค์ ๘” หนูก็เปิดดูในโทรศัพท์ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี แต่ก่อนหน้านี้จะได้ยินคำว่า มรรคมีองค์ ๘” นอนหลับก็ได้ยินเสียงถามว่า “พุทโธเอ็งอยู่ที่ไหน” (ช่วงนั้นละเลยการภาวนาค่ะ) หนูก็เลยตอบไปว่า “อยู่ที่ใจ” หนูรู้สึกไปเองว่าครูบาอาจารย์ท่านคงเห็นหนูขี้เกียจ เลยคอยเตือนหรือเปล่าคะ แต่หนูสงสัยคำว่า มรรคมีองค์ ๘” นี่แหละค่ะว่ามันคืออะไร

ตอบ : อันนี้เราพูดให้เป็นอิสระกันก่อนเนาะ เราเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นอุบาสก อุบาสิกาใช่ไหม เราก็ฝึกหัดภาวนาของเรา ถ้าเราภาวนาของเราสิ่งใดแล้วเราขยันหมั่นเพียรของเรา แต่ถ้าการกระทำสิ่งใดแล้ว เราไม่ต้องเอาใจไปไว้ที่ใครไง เพราะเขาว่า “หนูก็ได้คำตอบว่า หนูรู้สึกไปเองว่าครูบาอาจารย์ท่านคงเห็นหนูขี้เกียจ ก็เลยคอยเตือน”

ไม่มีหรอก อย่าไปคิดว่าครูบาอาจารย์ท่านคอยส่งจิตมาคอยอะไรมา นี่จะเอาใจเราไปไว้ที่คนอื่นไง ครูบาอาจารย์ท่านก็เตือนตรงๆ นี่แหละ ท่านเตือนตรงๆ แล้ว ทำแต่สิ่งดีก็เป็นสิ่งดีงามไป

ถ้าเราบอกว่า สิ่งใดที่มันแว่วมาในหัวใจ สิ่งใดที่มันเข้ามาในตัวเรา ก็บอกว่าเป็นของครูบาอาจารย์ๆ เราก็เลยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าจริงหรือเท็จไง แต่ถ้าเราแยกแยะได้ว่าสิ่งนี้เป็นความดี นี่เป็นความจริง สิ่งนี้เป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องการชักนำไปทางที่ผิด นี่เรื่องกิเลส

ถ้าเราบอกว่านี่เป็นครูบาอาจารย์ นี่เป็นคุณธรรมแล้ว เราจะแยกแยะไม่ได้เลยว่าอันนี้ถูกหรือผิด ถ้าเราจะแยกแยะเลยว่าสิ่งที่มันแว่วมา มันได้ยินมา มันเข้าใจว่าครูบาอาจารย์ส่งมา...ให้วางไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ ไม่ต้องไปเชื่อ ไม่ต้องไปเชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น เอาความจริงของเรา ถ้าเราขี้เกียจก็เราขี้เกียจ ถ้าเรามีสติปัญญาก็เราขยัน ถ้าเราขี้เกียจ แสดงว่าเราไม่เอาไหน ถ้าเราขยันหมั่นเพียร เราปฏิบัติของเรา เราก็เป็นลูกศิษย์ตถาคต เราเอาความจริงตรงนี้

ไม่ใช่ว่า “แหม! มีครูบาอาจารย์ท่านเป็นห่วง ท่านส่งจิตมาเตือน” อย่างนี้ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องเอาชีวิตเราไปอยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น เราต้องเป็นอิสระของเรา เป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีเราก็สาธุ เวลาตั้งแต่หลวงตาลงมา อย่างสายกรรมฐานหลวงปู่มั่น ก็ระลึกถึงองค์หลวงปู่มั่น ระลึกถึงหลวงปู่เสาร์ เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรามันไม่เสียหายอะไรทั้งสิ้น ถ้าเราระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ดี

แต่ถ้าบอกว่า “เสียงแว่วนี่เป็นอาจารย์มาเตือน” นี่ก็เหมือนกัน “หลวงปู่มั่นว่าอย่างนั้น หลวงปู่มั่นว่าอย่างนี้”

หลวงปู่มั่นสอนอย่างนั้นจริงๆ หรือ หลวงปู่มั่นท่านสอนให้อยู่ในป่าในเขา หลวงปู่มั่นท่านสอนให้รู้จักมักน้อยสันโดษ หลวงปู่มั่นไม่เคยสอนให้ไปเจ๊าะแจ๊ะกับโยม ไม่เคย หลวงปู่มั่นไม่เคยให้ไปโฆษณาชวนเชื่อตัวเอง หลวงปู่มั่นไม่เคยทำอย่างนั้น อย่ามาอ้าง ถ้ามันไม่อ้างอย่างนั้นปั๊บก็จบไง อย่าเอาเรื่องครูบาอาจารย์มาอ้าง อ้างเพื่อจะมีอำนาจเพื่อไปกดขี่คนอื่น อย่า เอาตัวเองให้รอด ถ้าเอาตัวเองให้รอดมันก็จบ

นี่พูดถึงว่า เพราะเขาบอกว่า “หรือว่าเป็นครูบาอาจารย์ท่านคอยมาเตือนหนู”

ไม่มี อย่าไปเชื่อใครทั้งสิ้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามรรคมีองค์ ๘

มรรคมีองค์ ๘ โดยมาตรฐานเรื่องพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ คือธรรมาวุธ คืออาวุธสุดยอดยอดเยี่ยมในพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนา ศาสนานะ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมตลอดว่า ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ในศาสนาในโลกนี้ไม่มีศาสนาไหนมีเลย มีแต่พระพุทธศาสนานี้เท่านั้นที่มีมรรคมีองค์ ๘ ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ ไง เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ให้เดินทางสายกลาง ทางสายกลางคือมรรคมีองค์ ๘

ธัมมจักฯ สวดกันทุกวันๆ อยู่นี่ ทางสายกลางๆ มีสติชอบ ปัญญาชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรม มรรคมีองค์ ๘ คือทางสายกลาง คือทางในพระพุทธศาสนา

มรรคมีองค์ ๘ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาด้วยมรรคมีองค์ ๘ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แล้วมันต้องเป็นมรรคจริงๆ ไง เป็นมรรคจริงๆ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มงคลชีวิตไง สนทนาธรรม สนทนาธรรมด้วยความเป็นจริงไง

ถ้าสนทนาธรรมด้วยความเป็นจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมๆ มรรคมีองค์ ๘ การกระทำ เวลาหลวงปู่บัว หลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่บัว คุยกับหลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว มรรคมีองค์ ๘ นี่ไง ถึงว่าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ศาสนาไหนทำไม่เป็น มันพูดถึงมรรคไม่เป็นหรอก เวลามันพูดถึงมรรคมันก็ย้อนไปมรรคในทฤษฎีไง เวลาพูดธรรมะกันนี่แหม! เปิดพระไตรปิฎกกันเลยแหละ โอ๋ย! เถียงกันปากเปียกปากแฉะ

เราเห็นแล้ว โอ้โฮ! ศาสนาพุทธมันไม่เจริญเลยเนาะ ถ้าศาสนาพุทธมันเจริญไป ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วปฏิเวธ รู้แจ้งแล้ว เขาจะคุยธรรมะกันโดยที่ไม่ต้องใช้ตำรา เขาใช้คุณธรรมในใจคุยกันน่ะ โอ้โฮ! อันนั้นน่ะสุดยอด ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ไอ้นี่ปฏิเวธเปิดพระไตรปิฎกคนละเล่มแล้วเถียงกัน มันเป็นปฏิเวธมาจากไหนวะ มันเป็นปฏิเวธในความรู้เอ็งไม่มีเลย เถียงกันด้วยพระไตรปิฎก ก็เอาพระไตรปิฎก คือเอาพระพุทธเจ้ามาทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าเอ็งกับพระพุทธเจ้ากูคนละองค์ แล้วก็ทะเลาะกัน ทะเลาะกันด้วยความเห็นไง

นี่ไง ถ้ามรรคมีองค์ ๘ มันต้องรู้จริงขึ้นมาจากหัวใจ ถ้ามันเป็นความจริง สติ โอ้โฮ! มันเห็นมาหมด ขับรถนะ รถถ้าพวงมาลัยไม่ดีมันก็ไปไม่ได้ รถเบรกใช้ไม่ได้ก็ไปไม่ได้ รถน้ำมันไม่มีก็ติดเครื่องไม่ได้ รถยางไม่มีก็ไปไม่ได้ รถมันขาดส่วนใดส่วนหนึ่งนะ มันไปได้นะ มันก็เข็นกันไป ดูแลกันไป แค่ทางระยะสั้นๆ มันไปไม่ได้หรอก รถมันต้องสมบูรณ์ของมัน ต้องมีล้อ ต้องมีพวงมาลัย ต้องมีเบรก ต้องมีคันเร่ง มีทุกอย่างพร้อม รถมันไปได้

นี่ก็เหมือนกัน มรรคมีองค์ ๘ สติชอบ งานชอบ เพียรชอบไง บอกนู่นก็ไม่จำเป็น นี่ก็ไม่จำเป็น ล้อก็ไม่ต้องมี คันเร่งก็ไม่จำเป็น โอ๋ย! เบรกไม่ต้องใช้เลย ใช้เท้ายันไว้ วิ่งไป ใช้เท้ายันไว้เลย โอ๋ย! เบรกรถฉันไม่ต้อง ฉันใช้เท้ายันกับพื้น...ไร้สาระ ถ้ามันมีสาระของมันขึ้นมามันจะสมบูรณ์แบบของมัน แล้วสมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบในหัวใจนะ

เศรษฐีโลกที่เขาคิดเทคโนโลยีขึ้นมาจนเขาให้ชาวโลกได้ใช้ จนเขาเป็นเศรษฐีขึ้นมาเพราะอะไร เพราะว่ามันใช้ได้จริงไง มันใช้แล้วนะ คนที่ใช้งานนั้นเขาได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีนั้น เขายอมเสียเงินมาใช้ ยอมเสียเงินมาใช้

นี่ก็เหมือนกัน คนที่ใช้ มรรคมีองค์ ๘ ถ้าเขาคิดได้ เขามีสติปัญญา มันมีวิทยานิพนธ์ประจำใจดวงนั้นไง ใจดวงนั้นมีความรู้อย่างนั้น ทำได้อย่างนั้น มันก็เหมือนกับเศรษฐีโลกที่เขาคิดเทคโนโลยีได้แล้วให้ประชาชนใช้สอยนี่แหละ

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็มีของท่านในหัวใจของท่าน แล้วพวกเราลูกศิษย์ลูกหาก็ไปอาศัยท่าน อาศัยท่านเป็นที่โคจร เป็นที่ศึกษา เป็นที่มีการกระทำ แล้วมันก็จะเกิดขึ้นมาในใจของเรา พอมันเกิดขึ้นมาในใจของเรานะ เวลามันคุยกันมันคุยกันด้วยความรู้ มันคุยด้วยข้อเท็จจริงนะ มรรคมีองค์ ๘ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในวงกรรมฐานเขาถึงไม่กล้า

เวลาหลวงตาท่านบอกท่านนั่งอยู่ ไม่มีใครกล้าไปยุ่งกับท่านน่ะ เพราะอะไร เพราะเวลาท่านพูดออกมา เราไม่เข้าใจนะ เหมือนเราเดินไปไหนก็แล้วแต่ ใครไม่รู้มาตีหัวโป๊กเลย อู้ฮู! งงเลยนะ หันหาคนตี หาไม่เจอ แต่เอ็งโดนตีไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน คนที่เขารู้จริงเขายิงคำถามมาแล้ว เขายิงคำถามมาให้เอ็งได้รับรู้แล้วว่าผู้รู้จริงเขามี เอ็งยังงงๆ อยู่นั่นนะ ยังไปไม่ถูก มันถึงไม่จริงไง

นี่พูดถึงมรรคมีองค์ ๘ คืออะไรคะ

มรรคมีองค์ ๘ คือหัวใจของพระพุทธศาสนาเลยนะ หัวใจของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จะบอกว่า ถ้ามรรค ๘ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา อริยสัจมันอยู่ไหน

เราถามทุกวัน อริยสัจๆ ทีนี้คำว่า อริยสัจ” คือทุกข์ ทุกข์คือสัจธรรม อริยสัจ ทุกข์ ความทุกข์ทุกคนมันมีอยู่ประจำใจอยู่แล้ว สมุทัยคือกิเลสทุกคนท่วมหัว นิโรธคือการดับทุกข์ ดับทุกข์ด้วยมรรค ๘ มรรค ๘ คืออริยสัจ คือหัวใจของพระพุทธศาสนาเลยล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมาก็ด้วยมรรคมีองค์ ๘ นี่แหละ คืออริยสัจนี่แหละ ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านก็ต้องมีคุณธรรมขึ้นมาในใจจากมรรคมีองค์ ๘ นี่แหละ

แล้วถ้ามรรคมีองค์ ๘ คนที่มีคุณธรรมนะ เขาจะมีกตัญญูกตเวที เขาจะรู้บุญรู้คุณนะ แล้วเขารู้บุญรู้คุณคนสอน รู้บุญรู้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ที่ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเฝ้าด้วยหัวใจนะ เพราะเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ถึงบุญถึงคุณนะ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดไม่ได้หมายนะ นั่นน่ะถ้ามันมีจริง มีคุณธรรมจริงขึ้นมา มันรู้บุญรู้คุณของผู้สอน แล้วพอรู้บุญรู้คุณของผู้สอน แล้วสอนเรื่องอะไรล่ะ มรรค ๘

มันถึงยิ่งรู้บุญรู้คุณของมรรค ๘ มรรค ๘ คือข้อเท็จจริงไง แต่ข้อเท็จจริงนั้นเกิดขึ้นมาจากในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สอนไง สอนอะไร สอนมรรค ๘ ไง

แล้วมรรค ๘ คือข้อเท็จจริงนะ แต่เวลาสอนท่านก็สอนโดยปัจจุบัน โดยปัจจุบัน ทุกข์เป็นอย่างไร มันก็ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ ให้ระลึก มรรค ๘ แต่เอาอะไรออกก่อน เอาสมาธิออกก่อน เอาปัญญาออกก่อน เอาอะไรออกก่อนสำหรับบุคคลคนนั้นไง ถ้ามันเป็นความจริงไง

“มรรค ๘ มันคืออะไรคะ”

สงสัยต้องกลับไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ต้องกลับไปเรียนนั่นน่ะ มันเรียนศัพท์ไง ไอ้นี่เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่นะ เด็กรุ่นใหม่ พระไปเทศน์ ต่อไปเด็กรุ่นใหม่มันเถียงเลยล่ะ เพราะเขาเอาศาสนามาสอนกันใหม่ เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่มันท่องได้หมดนะ อริยสัจก็ท่องได้ เวทนาท่องได้ อายตนะท่องได้ นี่มันเป็นศัพท์ในพระพุทธศาสนา เหมือนกับศัพท์ภาษา ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาไทย มันเป็นศัพท์ ศัพท์ในบาลีเขาแปลเป็นภาษาไทย มันเป็นศัพท์บาลี

แต่มรรคมีองค์ ๘ ก็ความรู้ ๘ อย่าง สติ สมาธิ ปัญญา การงานชอบ ความอุตสาหะคือความเพียร ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความชอบธรรม

“มรรคคืออะไรคะ”

มรรคมันเป็นเหมือนกับคิดงาน เราคิดงาน เราก็คิดมาจากสมอง คิดมาจากความรู้สึกของเรา ถ้ามันสมบูรณ์แบบขึ้นมาก็เป็นงานขึ้นมา มรรคที่เป็นความจริงขึ้นมา มรรคแท้ๆ

“สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ” ไอ้นั่นมันข้างนอก แล้วเวลาพูดกัน เราเห็นพูดอย่างนั้นทั้งนั้นน่ะ ไม่เคยพูดว่า “คิดชอบ ภาวนามยปัญญาชอบ ความเพียรแก้กิเลสชอบ” ไม่เห็นมีใครพูดถึงเลยนะ

พอความเพียรชอบเอาทีเดียว อู๋ย! ทั้งขยันหมั่นเพียร อู๋ย! คนดูแล...มันพูดถึงวิชาชีพ พูดถึงการดำรงชีพ แล้วถ้ามันผิดไหม ถ้าบอกว่าผิด ผิดก็ต้องไปลบตำราทิ้งน่ะสิ

ตำราก็คือตำรานะ แต่ตำรามันมีหยาบ มีละเอียด มีนอก มีใน นอกคือชีวิตของมนุษย์ ในคือธรรมะ ในคือผู้ที่ปฏิบัติธรรม ในคือผู้ที่ถอดถอนกิเลส กิเลสมันถอดถอนจากข้างใน แต่ข้างนอก ข้างนอกคือการดำรงชีพมนุษย์เรานี้ แล้วเวลาคนสอนเขาจะเอาข้างนอกเป็นตัวตั้ง หรือเอาข้างในเป็นตัวตั้ง หรือเอาสัจธรรมเป็นตัวตั้ง จะสอนเรื่องอะไร เวลาคนสอนน่ะ

ทีนี้เวลาพอบอกมรรคมีองค์ ๘ มรรคเป็นนามธรรมขึ้นมา เดี๋ยวมันจะไปเอาพระไตรปิฎกมาให้เราดูไง “นี่ไง มรรค มรรค ๘ ก็เป็นอย่างนี้ไง” นั่นก็เป็นตัวอักษรอีกล่ะ เป็นตัวอักษร พอตัวอักษร อยู่ที่คนอ่าน ใครอ่านแล้วเข้าใจว่าอย่างใด วุฒิภาวะของคนที่สูงและต่ำ แล้วก็เอาตัวนั้นน่ะมาเถียงกัน

ทีนี้พอสุดท้าย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยบอกว่าเป็นตาบอดคลำช้าง แล้วก็เถียงกัน ขาช้าง หูช้าง งวงช้าง เถียงกันอยู่นั่นน่ะ แล้วก็ไปเถียงกันเรื่องมรรค ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยมรรค ๘ แล้วเราก็เอามรรค ๘ มานั่งเถียงกัน เถียงกันไม่จบไม่สิ้น

ฉะนั้น มรรค ๘ คือมรรค ๘

เขาถามว่ามรรค ๘ คืออะไร เลยตอบไม่ได้ว่ามรรค ๘ คืออะไร เพราะไปจับมรรค ๘ มาไม่ได้ ไปจับมรรค ๘ เอาไปให้เขาดูไม่ได้ ก็เลยมรรค ๘ ก็คือมรรค ๘ ไง ถ้าเราศึกษาแล้วเราจะได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์กับเราคือมรรค ๘

ทีนี้เพียงแต่ว่า เพราะว่าเขาบอกว่าเขานอนหลับแล้วมันผุดขึ้นมาในใจเขาว่ามรรคมีองค์ ๘ ไปเปิดโทรศัพท์ดูเลยนะ ไม่ได้เปิดหนังสือ เปิดโทรศัพท์เลยเดี๋ยวนี้

แล้วกูก็เปิดไม่เป็น โทรศัพท์ก็ไม่มีด้วยน่ะสิ มันคนละยุคแล้วมาคุยกัน มันคุยกันไม่รู้เรื่องแล้วแหละ ฉะนั้น มรรค ๘ ก็คือมรรค ๘ ถ้าศึกษาแล้วนะ เป็นแก่นของศาสนาเลย แล้วถ้าแก่นของศาสนาไปทำอย่างไร

แก่นของศาสนาเราก็ต้องมาฝึก ฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญา เราก็ฝึกให้มันมีขึ้นมา มรรค ๘ ก็ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันฝึกฝนขึ้นมามันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นความจริงนะ จบ

ถาม : ๒๒๗๖. เรื่อง “ภาวนาด้วยการสวดมนต์”

กราบเรียนหลวงพ่อ กราบเท้าพ่อแม่ครูจารย์ที่เมตตาแสดงธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ฝึกหัดภาวนาให้ได้แนวทางที่ถูกที่ควรต่อการประพฤติปฏิบัติมานานหลายปี ผมย้ายมาอยู่ทางอีสาน ไม่ได้กราบพ่อแม่ครูจารย์ที่วัด แต่ก็ได้ติดตามฟังทางเว็บไซต์เสมอมา ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่ได้ทำเว็บไซต์ด้วยครับ

ผมมีคำถามเรื่องหัดภาวนาด้วยการสวดมนต์ดังนี้

คุณพ่อขาไม่ค่อยดี เดินไม่ถนัด ทำให้เดินจงกรมไม่ได้นาน และเวลานั่งสมาธิ (นั่งสมาธินั่งกับพื้นไม่ได้แล้ว) ก็มักจะหลับ ต่อสู้กับความง่วงได้ยาก จึงเน้นให้กราบสวดมนต์ให้มีสติ ก็ดูจะไม่ได้มากไปกว่าวิธีอื่น

คำถามคือ ผู้ที่ยังทำสมาธิไม่ได้ หากเริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการสวดมนต์บทต่างๆ โดยไม่ได้นั่งสมาธิหรือเดินจงกรม หากสวดมนต์วันละหลายๆ ชั่วโมงจะเป็นการสร้างเหตุที่เพียงพอที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิได้หรือไม่ โดยข้อเท็จจริง การสวดมนต์ทำให้จิตสงบได้หรือไม่ครับ

ตอบ : ได้ การสวดมนต์ทำให้จิตสงบได้ คนที่เวลาสวดมนต์ เราหัดสวดมนต์ๆ พอหัดสวดมนต์ เราก็ต้องหัดท่องก่อน พอหัดท่องขึ้นมาแล้ว พอเราท่องขึ้นมาแล้ว เวลาสวดมนต์ เห็นไหม พระทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ถ้าใครสวดผิดมันจะไปขัดแย้งกับเขาเลย การสวดมนต์ สวดมนต์ต้องสวดให้ถูกนะ ถ้าสวดพร้อมกันแล้วมันผิดคนหนึ่งมันไปทำให้เขาล่มนะ ต้องสวดให้พร้อมกัน นี้การสวดมนต์ให้พร้อมกันมันก็ต้องท่อง

เวลาสวดมนต์เป็นสมาธิได้ไหม

ได้ ได้ แต่มันเนิ่นช้าไง คำว่า เนิ่นช้า” มันมีวิธีการที่ดีกว่า วิธีการที่ดีกว่าคือวิธีการบริกรรม ถ้าวิธีการบริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ กรรมฐาน ๔๐ ห้องมันก็เป็นการทำความสงบที่ตรงตัว แต่ถ้าเวลาตรงตัวขึ้นมาแล้ว ในเมื่อถ้าเราทำได้ เราก็ทำได้โดยที่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปหาทางอื่น

แต่ถ้าเป็นผู้ป่วย พ่อของเราๆ ถ้าพ่อของเรานั่งไม่ได้แล้ว

นั่งไม่ได้แล้ว นอนก็ได้ เวลาคนติดเตียงทำอย่างไร เวลาคนนอนติดเตียง นี่เป็นโอกาสให้ภาวนาพุทโธได้เลย เวลานอนติดเตียง หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงนั่งไม่ได้ เรานอนก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถ ๔ อิริยาบถใดก็ได้ แต่เพียงแต่ว่า ไอ้นั่งสมาธิ นั่งสมาธิมันเป็นท่านั่งที่มาตรฐาน ท่ามาตรฐานคือท่านั่งสมาธิ เพราะการนั่งสมาธิ ถ้าเราเป็นบุคคล เป็นบุคคลที่ยังอายุน้อย ยังกระฉับกระเฉง เรานั่งแล้วมันเป็นท่าที่นั่งได้นานที่สุด มันเป็นท่ามาตรฐาน

แต่ท่ามาตรฐาน ไอ้นี่เป็นท่ามาตรฐาน แต่ใจมันไม่มาตรฐานน่ะสิ นั่งท่ามาตรฐาน แต่ใจมันไม่ลงสมาธิ นี่ถ้าเป็นท่ามาตรฐาน

แต่ถ้าเวลาคนพิการ คนอะไร เขาทำท่าไหนก็ได้ เพราะเวลายืน เดิน นั่ง นอน เพื่อทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจคือค้นหาใจของตน ค้นหาให้ใจเป็นสมาธิ จะทำท่าใดก็ได้ให้มันเป็นสมาธิ แล้วถ้าคนพิการ คนชราภาพ คนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าคนติดเตียงก็นอนภาวนา เวลาท่ามาตรฐาน เวลาเป็นมาตรฐานของพระ วัตรนะ หลวงตานี่ไม่ได้เลย นอนฟังเทศน์ท่านก็เอ็ดเอานะ ท่านบอกไม่เคารพธรรม

เวลาคำว่า ไม่เคารพธรรม” ไม่เคารพอย่างนั้น เพราะเราร่างกายอาการ ๓๒ การที่เราไม่นั่งท่ามาตรฐาน เราทำได้ แต่เราไม่ทำ ทิฏฐิมานะมันยกตนข่มท่าน ทิฏฐิมานะของตนยกว่าใจนี้สูงนัก ทิฏฐิมานะยกว่าเรายิ่งใหญ่ แล้วก็จะไปเหยียบย่ำคนอื่นด้วยความทิฏฐิมานะของตน

ถ้ามันไม่มีการยกทิฏฐิมานะของตน ทุกคนถ้ามีความเคารพบูชาในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ายอมรับในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ยอมรับในท่านั่งที่มาตรฐาน พอท่านั่งมาตรฐาน จิตใจมันก็ไม่อหังการ จิตใจมันก็ไม่มีทิฏฐิมานะ เห็นไหม เวลาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันก็จะได้ผลง่ายขึ้นมา การนั่งท่ามาตรฐานมันมีคุณประโยชน์ มันมีการลดทิฏฐิมานะอหังการในใจของตน ในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แต่เวลาถ้าหัวใจที่มันเป็นธรรมๆ ขึ้นมาแล้ว เวลามันเป็นธรรมขึ้นมา

ต่ถ้าเราพิการ เราชราภาพ เราทำไม่ได้ เราจะนอนก็ได้ เพราะเราเคารพอยู่แล้ว เราเคารพจนเราภาวนาขึ้นมาจนเราเห็นคุณค่า เรายอมรับ แต่เพราะร่างกายของเรามันชราภาพ เราเคารพที่หัวใจ เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพกันที่หัวใจแล้ว กิริยาภายนอกเรื่องไร้สาระเลย ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ บอกว่า ได้คุยกับท่านเจี๊ยะแล้ว ใครจะมาฟ้อง มาโจทย์อะไรนะ ไม่มีทาง

ลองท่านได้พูดคุยธรรมะกันแล้ว ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํด้วยมรรค ๘ แล้ว ใครจะมาโป้ปดมดเท็จ มายุมาแหย่ ท่านบอกว่าไปไกลๆ ไร้สาระ

นี่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ ไอ้เรื่องภายนอกไร้สาระเลย

แต่ถ้าของเรา เราจะเอาจริงเอาจังของเรา มันก็ต้องท่ามาตรฐาน ทีนี้พอท่ามาตรฐาน โอ้โฮ! หลวงตานี่ดุมากนะ นอนฟังเทศน์นี่ท่านอัดเลย ท่านบอกไม่เคารพธรรมของท่าน เวลานั่งกับท่าน เราอยู่บนศาลา จำแม่นเลย พระมันลืมตัวมั้ง ท่านเทศน์อยู่ ทำอย่างนี้

ท่านชี้เลย มันอยู่ในเสขิยวัตร นั่งยันพื้น นั่งค้ำยัน นั่งชันเข่า นั่งรัดเข่า ทุกกฏหมด นี้มันเป็นอาบัติ มันผิดกฎหมายไง แล้วทำต่อหน้าท่านน่ะ ท่านชี้เลยนะ “ใครน่ะ!

โอ้โฮ! ลีบเลย นี่ไง นั่งเท้าแขน นั่งเท้าแขน นั่งชันเข่า นั่งรัดเข่า พระไตรปิฎก แล้วเวลาทำนี่ทำต่อใคร มันผิดกฎหมายไหม มันผิดกฎ เอ็งทำผิดกฎต่อหน้า ชี้หน้าเลย

อันนี้เราบอกว่าถ้าด้วยความเคารพมันก็ด้วยความเคารพแบบนี้ ทีนี้ถ้าด้วยความเคารพ เราเคารพด้วยหัวใจกันอยู่แล้ว ถ้าเราเคารพด้วยหัวใจ แต่พ่อ นี่เขาถามเรื่องพ่อว่า พ่อนั่งไม่ได้ พ่อนั่งไม่ได้เพราะชราภาพ นั่งไม่ได้เลย ต้องนั่งบนเก้าอี้

นั่งเลย ไม่เป็นไร แค่ให้มีหัวใจระลึกถึงพระพุทธเจ้า สุดยอดแล้ว สิ่งที่การกระทำทั้งหมดนี้เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งนั้น แต่เวลาท่านคอยเผดียง คอยกำราบไอ้พวกทิฏฐิมานะ ไอ้พวกกิเลสสูงๆ ไอ้พวกที่ถือตัวถือตนสูงๆ นั่นน่ะท่านฟันหัวเลย แต่ถ้าไอ้คนที่มันยอมรับยอมจำนน แต่ร่างกายเราเป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นไร

นี่พูดถึงความเคารพนะ นี่พูดถึงในวงกรรมฐาน แต่คำถาม คำถามว่า “สวดมนต์แล้วจิตเป็นสมาธิได้หรือไม่”

ได้ ได้เพราะการสวดมนต์นั้นน่ะมันเป็นสมาธิอ่อนๆ อยู่แล้ว ถ้าไม่มีสมาธิ สวดมนต์ไม่ได้ การทำงานทุกคนก็ทำงานด้วยสมาธิใช่ไหม ถ้าเรามีสมาธิ งานเราก็จะเรียบร้อย การทำสิ่งใดก็แล้วแต่ มันใช้สมาธิทั้งนั้นน่ะ จะใช้สมาธิมากหรือสมาธิน้อย การสวดมนต์ก็ต้องใช้สมาธิ

การสวดมนต์ก็ต้องใช้สมาธิ แล้วมันก็กลับมาฝึกหัดสมาธิ ทำไมมันจะไม่ได้สมาธิ ได้ ได้สมาธิอยู่แล้ว แต่ได้สมาธิแบบเริ่มต้นใช่ไหม เราก็ทำของเราไป สวดมนต์ก็ได้ แล้วความจริงถ้าพูดกันความเข้าใจได้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันง่ายกว่าสวดมนต์

ให้พ่อ บอกพ่อเลย หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วเราเข้าไปหาพ่อบ่อยๆ “พ่อพุทโธอยู่หรือเปล่า” หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วก็นั่งเฉยๆ แล้วก็บอกว่า “หายใจอยู่แล้ว”

ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันก็ละเอียดขึ้นไง มันละเอียดกว่าสวดมนต์ สวดมนต์มันท่องเป็นคำๆๆ มันต่อเนื่อง

เวลาหลวงตาท่านสอนไง ท่านบอกว่า อ่านหนังสือธรรมะ อ่านแล้วมันธรรมสังเวช มันสะเทือนใจ ถ้าอ่านหนังสือประโลมโลก อ่านหนังสือประโลมโลก อ่านแล้วมันมีอารมณ์ไปกับโลก สวดมนต์มันเป็นคำพูดต่อเนื่องๆ กันไป ถ้าพุทโธมันตัดๆ เห็นไหม พุทโธๆๆ ถ้าพุทโธๆๆ มันอยู่กับพุทโธไง ถ้าธรรมะ ธรรมะมันจะอยู่โดยตัวมันเองไง

แต่ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์มันจะต่อเนื่องกันไป คืออารมณ์ อารมณ์ถ้ามันมีรักมีชัง มีอะไรมันก็ไปใช่ไหม ไอ้นี่ถ้าสวดมนต์แล้วมันก็เป็นเรื่องเป็นราวไป ถ้าพุทโธๆ มันกระชับ พุทโธๆๆ มันกระชับ เห็นไหม ถ้าพุทโธได้ พุทโธดีกว่า

แต่ถ้าสวดมนต์ คำว่า สวดมนต์แล้วมันจะเป็นสมาธิได้ไหม”

ได้ เพราะการสวดมนต์ก็ต้องใช้สมาธิอยู่แล้ว แล้วถ้าพุทโธๆ ล่ะ พุทโธมันก็ดีขึ้นได้เรื่อยๆ ไง การกระทำมันก็อยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่คนมีความเห็นไง

ฉะนั้น สวดมนต์เป็นสมาธิได้ไหม

ได้

พุทโธๆ เป็นสมาธิได้ไหม

ได้

ทุกอย่างที่เราทำแล้วมีเจตนาทำคุณงามความดีมันได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาคนอื่นเขียนมา “มันได้ๆ หลวงพ่อโต้แย้งเขาทำไม”

มันได้แล้ว เห็นไหม ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ คนเราทำคุณงามความดีทั้งวันๆ ไง เวลาถามเราๆ พระพุทธศาสนา ศาสนาสอนถึงเรื่องอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

เวลาเราบอกว่าได้ แต่ถ้าบอกว่ามันจะได้อะไร มันก็ได้ความเพียร ได้ความสุขของเรานั่นไง แต่ถ้ามันจะเอามรรคเอาผล เอามรรคเอาผลมันก็ทำให้มันเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ถ้ามันไม่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมามันจะเอามรรคเอาผลมาจากไหน ถ้าเอามรรคเอาผลขึ้นมา

เวลาบอกได้ๆๆ ทั้งนั้นน่ะ เราถึงอนุโมทนากับเด็กๆ นะ มันฝึกหัดขึ้นมาแล้วมันมีสติ จิตใจมันดีขึ้น อู๋ย! เราชอบใจ เราพอใจมาก แต่ถ้าเอามรรคเอาผล โอ๋ย! มรรคผลยังอีกไกล มรรคผลยังต้องฝึกหัดไปข้างหน้า

นี่ไง เวลาบอกว่าได้ๆๆ ได้เพื่อให้ฝึกให้หัด ได้เพื่อให้คนแสวงหา ได้ด้วยความสามารถของคน แต่ถ้ามรรคผล มรรคผลต้องคุยตามความเป็นจริง ตามอริยสัจ ตามข้อเท็จจริง ๑ ๒ ๓ ๔ ตามข้อเท็จจริง ไม่มีพวกเขาพวกเรา ไม่มีพอใจไม่พอใจ ไม่ใช่พอใจหรือไม่พอใจ จริงหรือเท็จเท่านั้น ถ้าพูดถึงเรื่องอริยสัจ

แต่ถ้าเรื่องการหัดภาวนา ได้ ได้ ฝึกหัด เราต้องฝึกหัดค้นคว้ากัน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำทั้งนั้น แต่ที่เวลาโต้แย้ง โต้แย้งถึงข้อเท็จจริงไง จริงต้องเป็นจริงสิ ความจริงต้องเข้ากับความจริง เท็จเข้ากับจริงไม่ได้ เอาเท็จมาเป็นจริงก็ไม่ได้ ทำให้มันสีเทาๆ ก็ไม่ได้

จริงคือจริง เท็จคือเท็จ นี่เวลาหลวงปู่มั่นเวลาท่านเอาจริง จริงอย่างนั้น ถ้าจริงอย่างนั้นมันก็เป็นความจริงใช่ไหม

ฉะนั้นบอกว่า ได้ เราฝึกหัดแค่ดูแลให้ท่านมีความสุข มันก็เป็นการกตัญญูแล้ว แล้วถ้าฝึกหัดได้ เราก็ฝึกหัดของเราไป แล้วถ้าทำได้นะ ได้ ทำความดีทำต่อเนื่องๆ ไป ทำความดีของเรา เราจะทำคุณงามความดี ทำความดีที่ใครมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้ามันเป็นการติฉินนินทา ทำอะไรเขาก็ติฉินนินทาทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นคนนอกนะ เขาจะติเลยล่ะ “อู้ฮู! พ่อแก่ขนาดนี้แล้วทำไมไม่ให้พ่อนอนสบายๆ ทำไมไม่ทำ” นี่ไง โลกเขามองไปนู่น

เรารักพ่อแม่เรา เราก็อยากให้พ่อแม่เราได้บุญกุศล เราก็อยากให้พ่อแม่เราหัดภาวนา แต่ถ้าจะฟังคำติฉินนินทาจากโลกนะ เราจะทำอะไรกันไม่ได้เลย

ใครจะว่าอย่างไรเรื่องของเขา เราจะทำความดีว่ะ ทำความดีที่มีสมอง คิดได้สูงส่งดีแค่ไหน ทำตามความสามารถของเรา เอวัง