ฆ่าเห็นแก่ตัวตาย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๒๗๗. เรื่อง “โจร”
กราบนมัสการหลวงพ่อ อยากให้หลวงพ่อวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ให้ด้วยครับ
มีโจรอยู่กลุ่มหนึ่งได้จับคนมา ๒ คน หัวหน้าโจรได้โยนมีด ๑ เล่มให้ แล้วบอกว่า ให้เลือกเอา จะฆ่าตัวเองหรือฆ่าอีกคน ถ้าฆ่าอีกคน ข้าจะปล่อยเจ้าไป แต่ถ้าเจ้าฆ่าตัวตายซะ ข้าจะปล่อยอีกคนหนึ่งไป
หลังหัวหน้าโจรพูดจบ ชายคนนี้ก็ได้จับมีดฆ่าตัวเองตายโดยไม่ลังเล ในทางพระพุทธศาสนา การฆ่าตัวตายถือว่าบาปหนักมาก ตกนรก แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ครับว่าชายผู้นี้ได้ฆ่าตัวตายจริง แต่ทำให้อีกคนหนึ่งมีชีวิตรอดต่อไป จะเป็นบาปได้อย่างไรกันครับหลวงพ่อ กราบนมัสการหลวงพ่อ
ตอบ : มันจะเป็นบาปได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อเราเป็นผู้ที่เสียสละให้คนหนึ่งรอดตาย เราจะเป็นบาปได้อย่างไร
การฆ่าตัวตายเป็นบาปแน่นอน การฆ่าตัวตายนะ ในพระพุทธศาสนา การฆ่าตัวตาย อย่างเช่นวันนี้พระสงบตรอมใจมาก แล้วก็ทำการฆ่าตัวตาย นี่เราฆ่าตัวตาย บาปมาก เพราะอะไร เพราะเราฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายเป็นบาปแน่นอน เพราะอะไร เพราะพระพุทธศาสนาเห็นคุณค่าของชีวิต เห็นคุณค่าของหัวใจ
ดูหลวงตาท่านพูด พระไม่ทรงธรรมทรงวินัย ใครจะทรง
คำว่า “ทรงธรรมๆ” คือหัวใจมีคุณธรรม หัวใจมันเป็นผู้ที่ทรงธรรมได้ หัวใจเป็นคุณธรรมได้ คนเราชั่วช้าสามานย์ คนเราทำเลวร้าย คนเราทำลายคนอื่น ก็คิดมาจากใจทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น หัวใจนี้สำคัญมาก
หัวใจนี้สำคัญมาก ใครฆ่าตัวตายนะ การฆ่าตัวตายเป็นบาปแน่นอน แล้วบาปหนักด้วย ฉะนั้น พระพุทธศาสนาหรือศาสนาต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะลงความเห็นเป็นมติเดียวกันว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป ห้าม เป็นบาปแน่นอน เป็นบาปแน่นอน
ถ้าเป็นบาปแน่นอนแล้ว ทีนี้เวลาคน คำว่า “มีโจร” โจรจับคนมา ๒ คน แล้วเอามีดให้คนหนึ่ง ให้ฆ่าอีกคนหนึ่งก็ได้ หรือฆ่าตัวตายก็ได้ ถ้าจะปล่อยคนหนึ่งไป เขาเอามีดฆ่าตัวเขาตายโดยที่เขาไม่ลังเลเลย ถ้าไม่ลังเล สิ่งนั้น โจรก็ปล่อยคนนั้นไป เขาก็เลยตาย
นี่การตายแบบนี้ การตายแบบนี้มันเป็นการเสียสละ การเสียสละ เห็นไหม ว่าการเสียสละ ดูสิ เวลาทหารออกรบ เวลาเราออกรบ เราเป็นผู้ที่เสียสละ เราเสียสละเพื่อให้บ้านเรือนมั่นคงแข็งแรง อย่างนี้เป็นการฆ่าตัวตายไหม
เวลาตายมันต้องอยู่ที่เหตุอยู่ที่ปัจจัย ถ้าอยู่ที่เหตุที่ปัจจัย ผู้ที่เสียสละๆ เวลาเขาออกไปรบ ออกรบ ออกไปเผชิญกับภัยพิบัติ เขาเสียสละๆ นะ เวลาคนที่เสียสละ ในทางกฎหมายว่าเป็นผู้ที่เสียสละ เสียสละชีวิตของตนเพื่อความมั่นคงของชาติ เสียสละชีวิตของตนเพื่อแก้วิกฤติการณ์ในเหตุการณ์ต่างๆ นี่ผู้ที่เสียสละๆ การเสียสละอย่างนั้นเป็นการฆ่าตัวตายที่ไหน มันไม่เป็นการฆ่าตัวตาย เป็นการเสียสละ
แต่นี่เป็นกรณีที่โจรจับใช่ไหม กรณีที่โจรมันจับไป แล้วโจรโยนมีดให้ ไอ้นี่เป็นการตั้งขึ้นมา ตั้งขึ้นมาเพื่อจะให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายมันมีคุณประโยชน์ไง เพราะเขาบอกว่า ผมก็อดสงสัยไม่ได้ครับว่า ชายผู้ที่ฆ่าตัวตายจริง แต่ทำให้อีกคนหนึ่งรอดชีวิต
ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่เหตุปัจจัย การฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายคือมันไม่มีเหตุไม่มีผลสิ่งใด มันมีแต่ความทุกข์ความร้อน มีแต่การบีบคั้นในชีวิต มันบีบคั้นเรา แล้วเราทำร้ายตัวเราเองเพราะอะไร เราทำร้ายตัวเราเองเพราะว่าเราโดนกิเลสมันครอบงำ เราเป็นคนอ่อนแอ แต่ถ้าเป็นคนที่แข็งแรง คนที่แข็งแรง สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา ถ้าเขามีสติมีปัญญาขึ้นมา เขาจะแก้ไขเหตุการณ์นั้นไปได้
แต่ถ้ามันบอกว่า ศาสนาห้ามเด็ดขาด อุดมคติของคนห้ามทำร้ายตัวเองทั้งสิ้น ไม่ให้ทำร้ายตัวเอง ให้เผชิญหน้ากับความจริงอันนั้น ถ้าให้เผชิญหน้ากับความจริงอันนั้น เรามีทางแก้ไขไป แต่คนเราเวลามันอ่อนแอ มันทำร้ายตัวมันเองๆ ไง
ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำพรรษาที่ไหนไม่รู้จำไม่ได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกจะเข้าวิเวก พอเข้าวิเวก ใครจะเข้าไปหาท่านไม่ได้
เวลาพระปฏิบัติ เวลาพิจารณาไปแล้ว พิจารณาอสุภะแล้วมันขยะแขยง พอขยะแขยง ก็เอาบริขาร ๘ ของตนไปจ้างให้ช่างกัลบก ช่างตัดผม เอามีดโกนเชือด เอาบริขารนั้นเป็นค่าจ้าง ฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายเต็มเลย
สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากที่วิเวกมา ถามพระอานนท์ว่าทำไมพระมันร่อยหรอลงไปล่ะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่ พระไปจ้างช่างกัลบกเชือดคอตาย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าติเตียนนะ โมฆบุรุษ คนโง่เขลา คนเบาปัญญา
แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เหตุการณ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ล่วงหน้าไปหมด ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปล่อยแบบนั้น ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมา
เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมา เขาบอกว่า พระพวกนั้น แต่เดิมอดีตชาตินะ เพราะในพระไตรปิฎก เหตุการณ์มันเยอะมาก อาจจะคลาดเคลื่อน ออกตัวไว้ก่อนเลย แต่เขาว่าในเหตุการณ์นั้น เหมือนกับพระพวกนั้นเขาเคยเป็นพวกประมง เขาไปทำ เมื่อก่อนแถวโพธารามก็มี เขาทำเป็นซุ้มที่ดักปลา เอาไม้ซุ้มๆ ไว้เป็นกอ แล้วไปจับ ไปจับพร้อมกัน ชุดนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าอดีตชาติเขาเคยทำอย่างนั้นๆ มา กรรมมันให้ผลไง
เวลากรรมมันให้ผล มันกรรมของเขามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลบหลีกไปก่อน เพราะให้เหตุการณ์นั้นมันเกิดขึ้น แล้วพอเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บัญญัติต่อเนื่องมา ว่าฆ่าคนอื่นก็ดี ฆ่าตัวเองก็ดี ในปาราชิกไง การฆ่าคนอื่นตายเป็นปาราชิก การฆ่าตัวตายเป็นปาราชิก ห้ามทำทั้งสิ้น นี่พูดถึงว่า สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ห้ามๆๆ มาตลอด
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญ สรรเสริญการฆ่ากิเลส ถ้าการฆ่ากิเลสตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญตรงนั้น
ถ้าเราเกิดมาแล้วนะ เรามีความทุกข์ มีความวิกฤติในชีวิตของเรา ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราแก้ไขของเราไปได้ แล้วถ้าเรามีสติปัญญา เราทำความสงบของใจเข้ามาได้ แล้วเวลาเราพิจารณาไป การฆ่าที่ประเสริฐคือการฆ่ากิเลส
ทีนี้การฆ่ากิเลส การฆ่าคือการทำลายความเห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งนี้ศาสนาสอน สอนตรงนี้ ศาสนาเวลาสอน สอนให้ทำลายกัน เอารัดเอาเปรียบกัน สอนให้การทำลายการเห็นแก่ตัว การทำลายต่างๆ อันนี้ศาสนาสรรเสริญ
แต่ถ้าการฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายนะ มันเป็นบาปแน่นอน มันเป็นบาปอยู่แล้ว ทีนี้การเป็นบาปอยู่แล้ว คำถามถามว่า “แต่ผมเห็นว่าเขาทำเพื่อให้คนอื่นรอดไป”
เขาทำเพื่อให้คนอื่นรอดไป การฆ่าตัวตายก็เหมือน ดูสิ เวลาในข่าวมีประจำว่าการฆ่าตัวตายๆ การฆ่าตัวตายคือการทำร้ายตัวเขาเองโดยที่ไม่มีเหตุการณ์อะไรบังคับให้เขาทำ แต่เขาทำด้วยความเครียดของเขา เขาทำด้วยอารมณ์โกรธของเขา เขาทำด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจของเขา
ศาสนาสอน สอนตรงนี้ไง สอนคนที่น้อยเนื้อต่ำใจ คนที่จะทำลายตัวเอง ถ้าเขามีสติมีปัญญา ถ้าไม่มีสิ่งใดเป็นที่พึ่งของเขา ก็มีศาสนานี่แหละเป็นที่พึ่ง ก็มีศาสนาเป็นคนคอยเตือนคอยบอกว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้ นี่ไง ศาสนาบอกทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธศาสนาเขาสอนไม่ให้ทำ
แต่เขาบอกว่า การทำแบบนี้ ผมเห็นว่าเขาทำเพื่อให้คนอื่นรอด
ไอ้ทำเพื่อให้คนอื่นรอดมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่ามันอยู่ในวิกฤติอย่างนั้น ในเหตุการณ์อย่างนั้น
นี่การฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายหมายความว่า การทำร้ายตัวเอง การทำลายตัวเองให้สิ้นชีวิตไป การฆ่าตัวตาย แต่กรณีนี้มันอยู่ในวิกฤติ วิกฤตินั้นเขาบอกว่า วิกฤตินี้ เพราะว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป แสดงว่าเขาฆ่าตัวตาย เขาก็ต้องเป็นบาปด้วย
มันเป็นบาป เราถึงยกขึ้นมาถึงว่า ผู้ที่เสียสละ ทหาร ผู้ที่ออกรบ หน่วยกู้ภัย ผู้ที่แบบว่าหน่วยกู้ภัยต่างๆ เขาไปช่วยเหลือคน เขาช่วยเหลือคน บางทีเขาต้องสละชีวิตนะ อันนั้นเป็นการฆ่าตัวตายหรือ เขาปรารถนาดีกับคนอื่น เขาต้องการช่วยเหลือคนอื่น แต่มีการผิดพลาด มีการทำให้เกิดวิกฤติขึ้นมา เขาถึงกับเสียชีวิตไป อันนี้ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตายหรือ
นี่ก็เหมือนกัน แต่ไอ้นี่เริ่มต้นจากโจรมันจับไปก่อน ไม่รู้ว่าโจรที่ไหนจับไปแล้วก็โยนมีดให้ บังคับ คือว่าจะพูดว่าการฆ่าตัวตายโดยที่มีเหตุมีผลมันจะเป็นบาปอยู่หรือ นี่คำถาม คำถามถามขึ้นมาเพื่อให้มีทางออกหรือไม่มีทางออก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าการฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายหมายความว่า การเจ็บช้ำน้ำใจ การซึมเศร้าต่างๆ เป็นการฆ่าตัวตาย เป็นบาปทั้งนั้น
แต่ถ้ามีการเสียสละเพื่อประโยชน์ นั่นพูดถึงไม่มีใครเขาอยากทำหรอก แต่กรณีอย่างนี้มันเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปได้
ฉะนั้นถึงบอกว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาปในพระพุทธศาสนา ในศาสนาไหนก็เป็นบาปทั้งสิ้น แต่ถ้ามีเหตุ มีเหตุมีการกระทำอย่างนั้น มันก็เหมือนกับเริ่มต้น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ถ้าเหตุผลสมบูรณ์ขึ้นมาก็สมบูรณ์ของมัน
ถ้าเหตุผลไม่สมบูรณ์ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีลขาด ศีลด่างพร้อย ศีลเศร้าหมอง เวลาทำไปบางทีมันเศร้าหมองใช่ไหม มันไม่ถึงกับขาด แต่มันไม่สมควร มันเศร้าหมอง พระเราไม่ได้ตั้งใจทำ มันผิดพลาดไป นี่มันเศร้าหมอง บางทีมันเศร้าหมอง สิ่งต่างๆ มันด่างพร้อย แต่ถ้าสมบูรณ์ ศีลขาด นี่ก็เหมือนกัน กรรมมันอยู่ที่เหตุที่ผล อยู่ที่การกระทำ
นี้จะบอกว่า สิ่งนี้ให้หลวงพ่อวินิจฉัยไง
เราก็วินิจฉัยว่า ถ้าเรามีโอกาสอย่างนั้น การทำเพื่อประโยชน์ มันก็อยู่ที่ว่าวุฒิภาวะของคน จิตของคนสูงต่ำขนาดไหน ถ้าจิตของคนมันสูงส่ง มันทำเพื่อประโยชน์คนอื่นได้มากมาย ถ้าจิตของคนมันไม่สูงส่ง มันก็ทำเพื่อตัวเองก่อน แล้วเพื่อตัวเอง เห็นไหม
ตอนนี้มันมีทั่วไป ถ้าบุคคลข้างเคียงของเราเป็นคนที่มีสติมีปัญญาที่ดี เราจะมีความสุขมาก บุคคลข้างเคียงของเรา บ้านใกล้เรือนเคียง ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด มีความเห็นแก่ตัว ทุกข์มากนะ บ้านใครก็แล้วแต่ อยู่บ้านติดกับใคร แล้วใครมีความเห็นแก่ตัว ทุกข์มาก แต่ถ้าเรามีแต่คนที่มีสัมมาทิฏฐิ มีคนดีงามอยู่ข้างๆ ใกล้บ้านเรา อันนั้นมีแต่ความสุข
ฉะนั้น ในศาสนาท่านบอกถึงการทำร้ายสิ่งที่มีคุณค่าคือชีวิตของเรา ชีวิตของเรา เรายังทำลายได้ ทำไมเราจะทำลายคนอื่นไม่ได้ เราทำลายได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าเราเห็นคนอื่นมีคุณค่า เราก็ย้อนกลับมาที่ว่าชีวิตเราก็มีคุณค่า แล้วถ้าชีวิตเรามีคุณค่า เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาให้มีคุณธรรมของเราก่อน
ถ้าเรามีคุณธรรมมาแล้วนะ มันจะยกสถานะ ยกสติปัญญาแจ่มชัดมากเลย มันเข้าใจ มันเข้าใจเรื่องเหตุเรื่องผล เข้าใจมากมายเลย แต่ถ้ากิเลสนะ อวิชชาความไม่รู้มันปิดหูปิดตานะ นู่นก็ไม่เข้าใจ นี่ก็ไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าบัญญัติอย่างนั้นแล้วเราก็ไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยสักอย่างเลย แต่พอจิตใจของเรามันสูงส่งขึ้น ยกวุฒิภาวะขึ้น อื้อหืม! ทำไมพระพุทธเจ้าสุดยอดขนาดนั้น ทำไมพระพุทธเจ้าสุดยอดขนาดนั้น
นี่พูดถึงว่าการฆ่าตัวตาย บาป แต่เหตุการณ์แบบนี้ให้วินิจฉัย วินิจฉัย เราก็จะบอกว่ามันเป็นการเสียสละ แต่ภาษาเรานะ ถ้าคนมีสติปัญญาเขาแก้ไขได้ ที่เขาบอกว่า พอโจรโยนมีดให้เขา เขาก็ฆ่าตัวตายทันทีเลย แต่ถ้าคนที่มันฉลาดนะ พอโยนมีดให้ มันก็จับมีดนั้นทิ่มโจรก่อนเลย โธ่! เนาะ พอโจรโยนมีดให้ พอจับมีดได้ก็พุ่งทิ่มโจรก่อน รอดทั้งคู่
นี่มันวิกฤติ คือว่าคำถาม เราถึงบอกคำถามมันแปลกไง คือว่าคำถามเขียนมาตีกรอบให้ตอบแบบนี้ ตีกรอบให้การฆ่าตัวตายมันบาป แต่มันมีเหตุมีผลให้คนอื่นรอด มันบาปได้อย่างไร มันเป็นการที่เราตั้งโจทย์เอง
แต่ถ้าเราตั้งโจทย์ตอบกลับผู้ถามนะ ถ้าโจรมันให้มีดมา บุคคลทั้งคู่นั้นเขาก็เอามีดนั้นทิ่มโจรตายก่อน รอดทั้งคู่เลย มันก็ไม่มีการฆ่าตัวตาย เป็นการฆ่าโจร ได้รางวัลด้วย เป็นบุคคลดีเด่นแห่งปี
มันอยู่ที่โจทย์ไง โจทย์ตั้งมาให้คนตอบมีทางออกอย่างไร แต่ถ้าโจทย์มันตั้งมาอย่างนี้ เราก็ตอบว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปแน่นอน แต่ถ้าการฆ่าการเห็นแก่ตัว การฆ่ากิเลส การฆ่าการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น อันนี้พระพุทธเจ้ายกย่อง
นี่พูดถึงว่าสิ่งที่ให้หลวงพ่อพิจารณา ถ้าพิจารณา มันก็อยู่ที่เหตุการณ์ อยู่ที่เหตุปัจจัย จบ
ถาม : ข้อ ๒๒๗๘. เรื่อง “อาการที่จิตแสดงออก สะท้อนความหมายอย่างไรถึงการปฏิบัติ”
กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมขอเล่าถวายเป็นข้อๆ ดังนี้
๑. ตั้งแต่เด็กมา (ตอนนี้ผมอายุ ๖๑ ปีแล้วครับ) มักมีอาการตอนตื่นมาพบว่าไม่มีกาย แต่มีความคิด ความรู้สึกตัว ความกลัว ความจำยังมีอยู่ครับ มีแต่ความรู้สึกว่าเป็นรูปกาย พอพยายามจะบิดตัว มันจะดีดกลับมาอยู่ท่าเดิมที่นอนอยู่เสมอ และไม่สามารถรับรู้เรื่องภายนอกได้ ต้องรอเวลาหนึ่งหรือสองนาทีจึงจะเริ่มคลายออกมารับรู้จากกายภายนอก บางครั้งมีอาการก่อนจะหลับ แต่ก็ได้แต่นึกว่าจิตเรายังไม่หลับ แต่ทำไมกายกลับไปแล้ว คือไม่สามารถติดต่อกับกายได้ครับ (กายหายไปครับ)
๒. ประมาณปี ๒๕๔๐ ผมเริ่มสนใจปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่นั่งสมาธิ เดินจงกรม เมื่อปี ๒๕๕๘ อากรเหมือนข้อที่ ๑ ยังอยู่ แต่อาการใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก คือมีความรู้สึกว่ามีพลังงานบีบอัดแน่นเข้ามาจากทุกด้าน แล้วกระจายออก เป็นอยู่ ๓ ระลอก แล้วคลายออก รู้กายภายนอก บางครั้งพลังนี้ดีดให้มีความรู้สึกว่าหลุดออกไปนอกกายครับ
๓. ในปี ๒๕๖๐ หลังนั่งสมาธิเสร็จ พอล้มตัวลงนอน ผมยังไม่ทันหลับ จิตก็ถอดออกจากกายนี้ มีพลังงานมาก มีอาการพาเราพุ่งไปเหมือนนั่งเครื่องบินอย่างแรง นานถึง ๔-๕ นาที แล้วจึงคลายตัวออกรู้กาย ในเดือนนี้เป็นอยู่ ๓ ครั้งครับ เหล่านี้เป็นอาการแปลกๆ ที่ผมไม่มีภูมิปัญญาจะเข้าใจได้ครับ ถามเพื่อนๆ ก็ไม่มีใครเคยเป็นครับ จึงขอความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อช่วยอธิบายด้วยครับ และถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี จำเป็นต้องแก้ไขอย่างไรต่อไปครับ
ตอบ : เป็นสิ่งที่มันเป็นจิตคึกจิตคะนอง
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาภาวนาเป็นเรื่องปกติๆ เวลาเป็นเรื่องปกติ เรายังภาวนากันเกือบเป็นเกือบตาย การภาวนา เห็นไหม การภาวนาเพื่อความเป็นปกติของใจ ทำจิตให้มันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี คำว่า “จิตสงบไม่มี” จิตมันพักมันผ่อน จิตมันพักผ่อนในตัวมันเองนะ มันมีความสุขในตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าจิตสงบๆ
แต่เวลาที่เราทำกัน จิตมันไม่สงบ มันเป็นอาการ เราจะบอกว่าเป็นอาการ อาการว่างๆ ว่างๆ เป็นอาการ มันรับรู้ความว่าง เวลาจิตมันคิด เวลาจิตเราคิดไปร้อยแปดพันเก้า มันฟุ้งซ่าน เวลามันคิดเรื่องว่างๆ เราก็คิดว่าเป็นสมาธิ มันก็ว่างๆ แต่มันคิดอยู่ มันทำงานอยู่ มันไม่เป็นอิสระ มันถึงไม่มีรสของความสงบ รสของสมาธิธรรม
รสของสมาธิธรรม เวลาคนทำความสงบ ทำความสงบ จิตมันสงบเข้ามานะ พอเป็นสมาธินะ โอ้โฮ! มีความสุขมาก แล้วก็ติดอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ ความสุขนี้ทำได้ยาก แล้วการรักษา รักษาไว้ได้ยาก แต่ก็ต้องทำให้มันถูกต้องดีงามขึ้นมา แต่โดยส่วนใหญ่ โดยส่วนใหญ่ที่ทำๆ กันมานี่อารมณ์ว่าง
คำว่า “อารมณ์ว่าง” กับ “ความว่าง” คนละเรื่องกันนะ อารมณ์ว่าง เหมือนอารมณ์ว่าง เพราะธรรมชาติของจิตมันต้องคิดของมัน มันเป็นอิสระไม่ได้ พอมันคิดอารมณ์ว่าง มันก็เหมือนกับความคิดนี่แหละ แต่ความคิดมันมีรสมีชาติใช่ไหม อารมณ์ว่างมันก็เป็นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งไง มันถึงไม่ได้สงบจริงๆ ไง ถ้าไม่สงบจริงๆ ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ เอ๊ะ! ว่างๆ ว่างๆ มันทำได้แค่นั้นมันก็เป็นแค่นั้น
เพราะเวลามันฟุ้งมันซ่าน มันทุกข์ เวลามันคิดฟุ้งซ่าน เวลามันแบกรับภาระ มันฟุ้งซ่านมาก ถ้ามันคิดอารมณ์ว่างได้มันก็เป็นการปล่อยวางระดับหนึ่ง แต่มันไม่เป็นอิสระโดยความเป็นจริง
ถ้าเป็นอิสระโดยความเป็นจริงมันไม่ใช่อารมณ์ว่าง อื๊อๆๆ ไม่ต้องพูด ถ้าพูดนั่นมันอารมณ์ทั้งนั้นน่ะ นี่ไง นี่พูดถึงว่าทำสมาธิถ้ามันสงบนะ
แต่ถ้าไม่สงบ โดยปกติการทำสมาธิเรื่องหนึ่ง แล้วเวลาโดยปกติเราก็ทำสมาธิได้แสนยากอยู่แล้ว แต่คนจิตที่มันคึกจิตที่มันคะนอง ในประวัติหลวงปู่มั่นน่ะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอก เวลามีแขกมา เขาเชิญขึ้นบ้าน บ้านยกสูงไง มันก็กระโดดขึ้นไปหลังคา บอกลงมา ลงมามันก็ลงไปใต้ถุนนะ มันไม่เข้าบ้านน่ะ จิตคึกจิตคะนอง แล้วใครรู้ ใครจะสอน
ถ้ามันไม่เป็นๆ สมาธิก็เป็นสมาธิ ทำว่างๆ ว่างๆ แล้วถ้าพูดถึงมันก็บอกว่า มันจะติดนิมิต มันจะร้อยแปด...ไม่หรอก จิตมันก็เป็นจิตทุกๆ ดวง ถ้าจิตอย่างนี้จะไปภาวนารูปแบบใดมันก็เป็นแบบนี้ มันไม่ใช่อยู่ที่พุทโธๆ
เขาบอกว่า พุทโธเป็นสมถะ พุทโธไปแล้วมันจะติดนู่นติดนี่ ร้อยแปด
ถ้ามันย้อนกลับมา นี่ไง ที่ว่าทำไมจิตของผมเป็นแบบนี้ จิตเป็นอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่า จิตของคนที่มันคึกมันคะนองมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ในบรรดาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ใน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันจะมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ปั๊บขึ้นมา ถ้ามีครูบาอาจารย์เขาจะแก้ไขของเขา ถ้าแก้ไขของเขา
ทีนี้เวลาจิตมันคึกจิตมันคะนอง มันเข้าสู่คำถาม คำถามที่ ๑ ตั้งแต่เด็กๆ มา ตอนนี้อายุ ๖๑ ตั้งแต่เด็กๆ มา มันรู้สึกกายหาย ตัวหาย มันมีอะไรวูบๆ วาบๆ
ถ้าคนตั้งแต่เด็ก บางทีเด็กมันจะมีความรู้สึกอย่างนี้ไง เด็กบางทีมันจะเห็นอะไรแปลกๆ อย่างเช่นนิยาย ว่าเด็กบางคนมันจะเห็นผีมาตั้งแต่เด็กๆ เลย เด็กบางคนมันจะมีอะไรฝังใจมาตั้งแต่เด็กๆ เลย แต่เด็กโดยส่วนใหญ่บางคนมันก็ไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย มันก็เป็นของมันใช่ไหม เราจะบอกว่า นี่เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมก่อนนะ
มันยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นหนึ่งคือผิดปกติทางจิต ถ้าผิดปกติทางจิตคือจิตมันบกพร่อง อย่างเช่นกรมสุขภาพจิต ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยเป็นโรคซึมเศร้า ๘ เปอร์เซ็นต์ที่ไม่แสดงอาการ นี่ไง เวลาถ้าจิตเป็นปกติ จิตผิดปกติมันก็แสดงอาการอีกอย่างหนึ่ง
ถ้าจิตคึกจิตคะนองมันจะเป็นต่อเมื่อมันภาวนา ภาวนาแล้วมันจะมีอาการของมันอีกอย่างหนึ่ง เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านจะแก้เป็นบุคคลๆ ไปไง
ทีนี้เขาบอกว่า ตั้งแต่เด็ก เขามีความรู้สึกว่ากายมันหายไป รับรู้กายไม่ได้
แต่ยังดีอยู่นะ กายมันหายไป เพราะมันเป็นโดยข้อเท็จจริงใช่ไหม อย่างเช่นเวลาเราร้อน เราก็อาบน้ำ เวลาเราอยู่ในที่แจ้ง เวลาร้อน เราก็เข้าสู่ที่ร่ม มันมีสติสัมปชัญญะว่าเราอยู่ที่ไหน เกิดอาการอย่างใด นี่เรารู้ ไม่ใช่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย...โอ๋ย! ปวดหัว
แต่นี่เขารู้ของเขา เขารู้ของเขาหมายความว่า บอกตอนเป็นเด็ก เวลากายหายก็รู้ว่ากายหายไป ประมาณ ๒ นาที ๓ นาที ถ้ามันกลับมา แสดงว่าสติมันดีไง แสดงว่าสติเราใช้ได้ เรายังมีสติสัมปชัญญะอยู่ แต่ถ้าบางคน ถ้ามันหลุด มันไปเลย มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงข้อที่ ๑
แล้วพอข้อที่ ๑ มันเป็นแบบนี้ มันเป็นสมบัติของจิตแต่ละดวง ทำไมเด็กบางคนคิดแต่ดีๆ ตลอดทั้งชีวิต ทำไมเด็กบางคนมันคิดต่อต้านมาตลอดชีวิต นี่ไง มันอยู่ที่เวรกรรม เวรกรรมคือวุฒิภาวะของจิต วุฒิภาวะ จริตนิสัยมันเป็นมาแบบนี้ ถ้าเป็นมาแบบนี้ นี่พูดถึงจริตนิสัยนะ
เวลาคนจะมาภาวนา ภาวนาทั้งนั้นน่ะ ก่อนที่ภาวนา ภาวนาก็เพื่อมาจัดระบบความคิด จัดระเบียบจิตของเราให้เป็นปกติ ทำให้มันหยุดคิดเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนามันจะใช้ปัญญาของมันไป นี่ข้อที่ ๑ ใช่ไหม บอกว่า ทำไมตั้งแต่ตอนเด็กมันเป็นแบบนี้
“๒. ในปี ๒๕๔๐ เริ่มมาหัดนั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิขึ้นมาแล้วมันเกิดอาการมากขึ้น”
ทีนี้มันอัดไง นี่อารมณ์อัด เพราะตอนก่อนหน้านั้นมา ก่อนปี ๔๐ เขาบอกเขามีอาการแบบนี้ๆ นี่มันคือเวรคือกรรม นี่คือจริตนิสัย การแสดงออกโดยธรรมชาติ พลังงานมันแสดงออกของมันอย่างนี้โดยเวรโดยกรรมของสัตว์
แต่พอเริ่ม ๒๕๔๐ มาเริ่มภาวนา มันเกิดอาการบีบอัด อัดแน่นเข้ามา
อัดแน่นเข้ามา เหมือนกับคนจะเป็นสมาธิ เวลาจิตมันจะลง วูบตกใจ หลุดหมด เวลามันตกจากที่สูง เวลามันจะวูบลง ถอนหมดน่ะ ทั้งๆ ที่อยากได้สมาธินะ เวลาจะเป็น กลัวมันอีก ถ้ากลัวแล้ว พอกลัว มันก็เหมือนแผลเป็น พอมีแผลเป็น แผลเป็นมันจะฝังกับเรา แผลใจ ใจไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วมันจะตกใจ มันจะกลัว มันจะกลัว ต่อไปพอเจออย่างนั้นมันจะกลัวของมัน ต้องค่อยๆ แก้ ค่อยๆ ให้มันเป็นของมันไป
ฉะนั้น เวลาภาวนาแล้วมันก็มีอาการที่มันบีบอัด มันมีอาการบีบอัดจากภายนอก แล้วสุดท้ายแล้วมันก็เหมือนมีอาการหลุดออกไป คำว่า “หลุดออกไป” มีพระเป็นกันมาก เวลาคนภาวนาไปนี่นะ มันจะเหมือนกับนั่งสมาธิไป เห็นไหม มีมากนะ พอนั่งสมาธิไป แล้วพอจิตสงบแล้วเห็นวิญญาณลุกขึ้นมาจากร่างกาย เดินออกไปข้างนอก แล้วมองกลับมาที่กายของตน หรือเวลาเดินออกไป ไอ้กรณีนี้ เวลาออกไป สิ่งนี้มันไม่ใช่เป็นอริยสัจ มันเป็นที่ว่าด้วยกำลังของจิต ด้วยจริตนิสัย
แล้วเวลาบางทีมันหลุดออกไป มีพระหลายองค์บอกว่า พอนั่งสมาธิแล้วเหมือนจิตของเขาออกจากร่างไป แล้วไปรับรู้เรื่องร้อยแปด แล้วเขามาเล่าให้เราฟัง เราบอกผิด ผิดหมด เพราะอะไร เพราะจิตหลุดออกไป คำว่า “จิตหลุดออกไป” มันก็เข้ากับพวกอภิญญาใช่ไหม พวกอภิญญา อย่างเช่นทางทิเบตเวลาเขาจะถอดจิต เวลาพระเขาจะให้จิตออกไป เขาจะออกทางท้ายทอย เรื่องอย่างนี้มันทำได้ทั้งนั้นน่ะ ในไสยศาสตร์ก็ทำได้ ในการฝึกหัดก็ทำได้
ทีนี้พอคำว่า “ทำได้” มันไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลยใช่ไหม พระพุทธศาสนาสอนถึงศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธศาสนาสอนถึงศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธศาสนาสอนสมาธิ คือจิตตั้งมั่น จิตที่รู้ตัวของตัวเอง แล้วจิตที่มันหลุดออกไปน่ะ ภาษาเรานะ มึงหลุดออกมา มึงไม่รู้หรือว่ามึงหลุดออกมาทำไม อ้าว! ลองถามจิตสิ มึงหลุดออกมาทำไม
ก็กูไม่รู้ กูหลุดออกมา ออกมากูเก่งไง กูไปรู้นู่นรู้นี่ กูเก่ง หลงแล้วทั้งนั้นน่ะ ผิดทั้งนั้นน่ะ
แล้วมีพระมาหาเราหลายองค์ บอกว่าจิตเขาออกไป
เราบอกไม่ใช่ ทำไม่ได้ ให้บังคับพุทโธๆ ไว้ อย่าให้มันออก
เขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะเขาเคยทำใช่ไหม เขาเคยหลุดออกไป คือปล่อยธรรมชาติมันก็เป็นแบบนั้น แล้วพอจะมาบังคับ มันเป็นงานใหญ่ งานหนัก เขาไม่ทำ เขาก็ปล่อยอยู่อย่างนั้นน่ะ สุดท้าย ๓ องค์ สึกไปหมดแล้ว สึกไปหมดแล้ว
จิตหลุดออกไปๆ ไม่ใช่ จิตหลุดออกไปๆ มันเป็นจริตนิสัย จิตที่มันเคยเป็น
นี่ไง เขาบอกว่า ถึงเวลาแล้วเห็นว่ามันจะหลุดออกไปจากกายนี้เลย ทีแรกก็ไม่รับรู้เรื่องจิต จิตส่วนจิต กายส่วนกาย ไม่รับรู้กัน นี่เวลาไม่ได้ภาวนา พอภาวนาเกิดแรงอัด เกิดจิตหลุดออกไป...ไม่ใช่ทั้งนั้นเลย
จิตคึกจิตคะนอง เราก็ต้องพุทโธของเราไว้ พุทโธของเราไว้ รักษาของเราไว้ ถ้ารักษา ไม่ให้ออก ให้รู้อยู่ภายใน ถ้ารู้อยู่ภายใน เวลาจิตมันสงบแล้วให้จิตมันสงบ พอจิตสงบมันจะมีความสุข มีความสุขของมัน แล้วพอมีความสุขของมัน เวลามันออกรับรู้สิ่งใด มันออกรับรู้อะไร มันออกรับรู้ ออกรับรู้นะ มันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าจิตสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันจะก้าวเดินตรงนี้
เวลาคนที่ปฏิบัติ ปฏิบัติเริ่มต้นจากตรงนี้ สมถกรรมฐาน ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ ตรงนี้สำคัญมาก ส่วนใหญ่แล้วยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ มันเป็นวิปัสสนูปกิเลส เขาให้วิปัสสนา ไม่ใช่วิปัสสนู
วิปัสสนาคือรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาฝึกหัดใช้ปัญญาของตน แยกแยะให้เป็นวิปัสสนาการู้แจ้ง รู้แจ้งในสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ในกามราคะ ปฏิฆะ ให้รู้แจ้งในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่ใช่วิปัสสนู
วิปัสสนูปกิเลส เห็นไหม สว่าง สงบ ผ่องใส...อุปกิเลส ๑๐ วิปัสสนูปกิเลส
เวลาจิตมันตั้งมั่นแล้ว ถ้ามันเป็นวิปัสสนา เป็นเรื่องหนึ่งนะ เป็นวิปัสสนู เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ วิปัสสนูคือกิเลสมันชักนำไปนะ แล้วมันหลงทางไปนะ
นี่พูดถึงว่ามันเป็นอริยสัจหรือมันไม่เป็นอริยสัจ นี่พูดถึงที่ว่าจิตมันหลุด แหม! จิตหลุดแล้วโอ้โฮ! เก่งมากเลย สึกหมดแล้ว ไอ้เก่งๆ เห็นสึกไปหมดแล้ว เพราะว่าเวลามันสำคัญตน ผู้วิเศษไง ผู้วิเศษถ้ารู้นู่นรู้นี่ขึ้นมา จะสำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเหนือคนอื่น คนอื่นจะรู้ได้ไม่เหมือนเรา แล้วมันก็จะเข้าไปละครทีวี เขียน ละครทีวีเขาแต่งมา เขาแต่งมานะ แล้วเขาเขียนไป แล้วเอ็งจะไปตามเขา เอ็งไม่รู้อะไรจริงเลยใช่ไหม เอ็งไม่มีความจริงในใจเอ็งเลยใช่ไหม นี่พูดถึงข้อที่ ๒ ไง
นี่พูดถึงว่า ถ้ามันบีบอัดเข้ามาแล้วจิตจะหลุดนะ พุทโธๆ ไว้ ถ้าฝึกหัดภาวนานะ พุทโธไว้ อานาปานสติไว้ รั้งได้ ลองตั้งสติดีๆ สิ ถ้าจะรั้งนะ ตั้งสติไว้ ความรู้สึกไว้ ถ้าความรู้สึก สติมันพร้อม มันออกไม่ได้หรอก แต่ส่วนใหญ่แล้วมันไม่รั้งไว้ไง มันถลำไปกับเขาไง เวลาพุทโธๆ แล้วพอจิตมีอาการแบบนั้น อู้ฮู! กำลังจะรู้แจ้ง...มันถลำไปกับเขาแล้ว ไปหมดเลย แล้วพอไปเจออาจารย์นะ ผิด ถ้าผิด นี่ถ้ามันเป็นไปได้จริง
๓. เวลานั่งสมาธิแล้ว สิ่งที่ว่าเขานั่งสมาธิเสร็จ ล้มตัวลงนอนแล้วยังไม่ทันจิต จิตมันก็ถอดออกจากร่างกาย มีพลังมาก มีอาการพาเราพุ่งเหมือนเครื่องบินเลย
อาการพุ่งๆ นี่ส่งออก ทำไมว่าภายนอก ภายใน คำว่า “ภายนอก” จิตมันออกสัมผัส มันรู้ต่างๆ นี่ภายนอก เราก็ต้องรู้เรื่องภายนอกแล้ววางไว้ อย่างเช่นพวกเราจะไม่สงสัยเรื่องสิ่งสภาวะภายนอกเลย เพราะเรารู้เราเห็น แล้วภายในล่ะ รับรู้แล้วมีความสุขหรือความทุกข์ล่ะ เวลาเขาบอกภายนอก ภายใน
ภายนอกเป็นอย่างไร ภายนอก อายตนะมันสัมผัส มันรับรู้ ภายนอก ภายในมันกระทบเหมือนกัน กระทบ รับรู้ไง แล้วมันรู้จริงเห็นจริงหรือไม่
ทีนี้เราบอกว่า เวลาจิตมันมีกำลัง มันพุ่งออกไป
จิตคึกจิตคะนองผิดทั้งนั้น คำว่า “ผิดทั้งนั้น” แต่ว่าเวลามันปฏิบัตินะ สมมุติว่าผู้ถามเริ่มปฏิบัติใหม่ แล้วพอปฏิบัติใหม่ พอจิตเขามีกำลังแล้ว มันมีกำลังอย่างนี้ ถ้าถามว่าถูกไหม
เราจะบอกว่าถูก ถูกหมายความว่า ให้ฝึกหัด ให้ฝึกหัด ให้มีตุ๊กตา ให้มีข้อเท็จจริงของใจขึ้นมา แต่เวลาตุ๊กตาแล้ว เราก็จะมาแก้ไขให้มันถูกต้อง อย่างนี้ผิดแล้ว ผิดคือว่ามันต้องเจริญดีขึ้นไปกว่านี้
เวลาคนมาถามปัญหา ถูกไหม
ถูกๆ
คำว่า “ถูก” ถ้าไม่ถูก จะมีคำถามหรือ คำถามคือมันมีเหตุมีผลขึ้นมาให้ถาม แต่ถ้ายังทำอยู่อย่างนี้มันก็ได้แค่นี้ แล้วได้แค่นี้มันจะเสื่อมไปด้วย
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าพอจิต ข้อที่ ๒ จิตมันอัดอั้นเข้ามา เวลาข้อที่ ๓ ขึ้นมา เวลาล้มตัวลงนอนแล้วจิตมันพุ่งออกไป หลุดออกไป
ถ้ารั้งไว้ เพราะมันรั้งไว้ตั้งแต่ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ มันจะเห็นโทษแล้ว อ๋อ! แบบนี้คือการส่งออก แล้วส่งออกไป ส่งออกนะ ผลของส่งออกเป็นทุกข์นะ ผลของส่งออกไม่ใช่ความสุขนะ ผลของความสุขคือรู้แจ้งภายใน
ถ้ามันส่งออก คือว่ากำลังมันเป็นแบบนี้ จริตนิสัยเป็นแบบนี้ เราเห็นว่าผิด พอเรารู้ว่าผิดแล้วเราก็เริ่มบังคับได้ไง บังคับโดยการตั้งสติ พุทโธๆ ไว้ หรืออานาปานสติไว้ ถ้าสติสมบูรณ์ปั๊บ มันเป็นอิสระของมันขึ้นมา
แล้วเวลาคำว่า “มันพุ่งออกไป” แต่ถ้าเรามีสติ เราให้เห็นกายล่ะ เหมือนเครื่องบินที่มันพุ่งออกไป อยู่ที่คนขับเครื่องบิน คนขับเครื่องบินจะพาเครื่องบินนั้นไปที่ไหน มีสติสัมปชัญญะ จิตสงบแล้ว สติสัมปชัญญะโดยเจตนาของเรา จะพาจิตของเราไปในทางไหน
ไปทางเห็นสติปัฏฐาน ๔ ไปทางเห็นกิเลส กับปล่อยให้มันพุ่งไปเลย แล้วพอมันหมดกำลังก็ถลากลับมาเลย แล้วก็มาหอบแฮกๆ อยู่นี่ เสื่อมหมดเลย ไม่เห็นได้อะไรเลย
มันก็อยู่ที่สติสัมปชัญญะ เราจะพาไปไหน ถ้าเราพาได้ เราก็ทำของเราได้
ถ้าพูดถึงถ้าจิตมันพุ่งออกไปเลย พุ่งออกไป ภาษาเรานะ พุ่งออกไปแล้วก็แล้วกันไป นี้คือประสบการณ์ แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแล ถ้าเป็นอย่างนี้อีกมันก็พุ่งไปอีก ก็พุ่งไปเรื่อยๆ พุ่งไปจนกว่าไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรเลย พุ่งไปจน เฮ้อ! ปฏิบัติแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย นี่พุ่งจนเสื่อม พุ่งจนไม่มีสมบัติสิ่งใดติดค้างในใจ
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแลรักษา แล้วเราดูแลของเรา แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ถ้าเราเป็นคนขับเครื่องบิน เราจะพาจิตเราไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วพาเครื่องบินนั้น ผู้โดยสารได้ค่าระหว่าง ได้ค่าสัมภาระ ได้เงินได้ทอง ได้ผลประโยชน์ ได้สติ ได้ปัญญา ได้การรู้แจ้งในการฆ่ากิเลสไง
รู้แจ้งในการฆ่ากิเลส รู้แจ้งในการฆ่าความเห็นแก่ตัว รู้แจ้งในการทำร้ายตนเอง แล้วเราได้ผลประโยชน์มาจากประสบการณ์ จากมรรคจากผล จากการวิปัสสนา จากการค้นคว้า มันเป็นประโยชน์กับเราไง
นี่พูดถึงว่า “อาการที่แปลกๆ แบบนี้ ผมไม่มีภูมิปัญญาที่จะเข้าใจได้ ถามเพื่อนๆ ก็ไม่มีใครเป็นครับ จึงขอความอนุเคราะห์จากหลวงพ่ออธิบายด้วยครับ ถ้ามีสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี จำเป็นจะต้องแก้ไข จะทำอย่างไรครับ กราบขอบพระคุณ”
ตั้งสติไว้ รักษาไว้ รักษาไว้คือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มัชฌิมาปฏิปทาคือดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมคือมรรค ๘ มรรค ๘ คือทางสายกลาง คือศีล สมาธิ ปัญญาในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องมรรค ๘ เรื่องการชำระล้างกิเลส ชำระความเห็นแก่ตัว ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดให้ถูกต้องดีงาม นี้คือมรรค ๘ แล้วฝึกหัดแก้ไขแบบนี้ เพราะได้อธิบายมาแล้ว เอวัง