ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บูชาคุณ

๒๙ ก.ย. ๒๕๖๑

บูชาคุณ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๒๘๓. เรื่อง “ความกตัญญูต่อพ่อแม่ครูอาจารย์”

หลวงพ่อ : โอ้โฮ! มันถามมาแทงใจเลยนะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมมีพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านอยู่ไกล ทางอีสาน ท่านเคยเมตตาอนุเคราะห์ผม ที่อยู่ที่กิน และคำแนะนำสั่งสอน เมื่อครั้งผมไปบวชเรียน พระคุณของท่านนั้นผมคงไม่มีวันตอบแทนได้หมด แต่ทุกวันนี้ผมต้องทำมาหากินอยู่ภาคกลาง นานๆ ครั้งที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปกราบท่าน ที่ผมได้ทำอยู่เสมอๆ คือโอนเงินไปทำบุญถวายท่าน เงินจำนวนเล็กน้อย เพราะผมไม่ได้ร่ำรวย และมีภาระอยู่

ผมมาคิดดูว่ามันดีพอหรือยัง ผมว่ามันยังไม่พอครับ มันต้องตอบแทนมากกว่านี้ ผมจึงตั้งใจที่จะฝึกตนเองให้คิดดี พูดดี ทำดีต่อทุกๆ คน คือพยายามทำตามคำสั่งสอนที่ท่านได้เมตตาผมไว้ ผมมีโอกาสทำได้แค่นี้เองจริงๆ

ผมอยากขอความเห็นหลวงพ่อว่า มันเพียงพอไหม หรือว่าผมควรทำสิ่งใดเพิ่มเติม ได้โปรดกรุณาชี้แนะ ผมจะพยายามทำให้ได้ครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : อันนี้คำถามเฉยๆ คำถามพื้นๆ แต่คำถามพื้นๆ มันก็เรื่องทั่วไปธรรมดา ถ้าเรื่องทั่วไปธรรมดา มันคนจิตใจสูงส่งหรือจิตใจคนต่ำต้อย จิตใจของคนสูงส่ง เห็นของเล็กน้อยเป็นของมีคุณค่า จิตใจที่มันต่ำต้อย ของมีค่าขนาดไหนมันก็มองไม่เป็น มองไม่ออก

แต่ถ้ามันเป็นคำถามพื้นๆ คำถามทั่วๆ ไป แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่คนที่มีคุณธรรมในหัวใจนะ ของอย่างนี้เป็นของที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่มากนะ พระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์มันเป็นของที่ยิ่งใหญ่มาก ของที่ยิ่งใหญ่มาก ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ พระอรหันต์ทั้งนั้นนะ ระลึกถึงบุญถึงคุณของท่าน เป็นพระอรหันต์ ท่านยังซาบซึ้งบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดกัน ไม่ได้นัดไม่ได้แนะ ไม่ได้นัดแนะกัน แต่หัวใจของพระอรหันต์เหมือนกัน ระลึกถึงบุญถึงคุณของท่านที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมาจนได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ได้นัดไม่ได้หมาย ต่างคนต่างมาพร้อมกัน ๑,๒๕๐ องค์ ไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นน่ะ พูดถึงเวลาระลึกถึงบุญถึงคุณของครูบาอาจารย์มันสูงส่งขนาดนั้น ถ้ามันสูงส่งขนาดนั้นนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นกษัตริย์ แล้วเวลาท่านเป็นศาสดา เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านต้องการผลตอบแทนจากใคร ไม่หรอก นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นบุญเป็นคุณ บุญคุณๆ ครูบาอาจารย์ เขาบอกว่า “ครูบาอาจารย์ผมอยู่ทางภาคอีสาน ผมอยู่ทางภาคกลางนี้ ผมจะโอนเงินไปให้ท่านเป็นครั้งเป็นคราว ของเล็กน้อย เพราะผมไม่ได้ร่ำไม่ได้รวย แล้วผมมีภาระความรับผิดชอบ”

โดยทั่วไปเวลาคนทำบุญๆ ทำบุญมากได้บุญมาก ต้องทำบุญตัวเลขสูงๆ ถึงจะได้บุญมาก...ไม่ใช่ ทำบุญนะ ทำบุญด้วยเจตนา ถ้าเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์ ปฏิคาหก ผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์นะ

ดูสิ ในสมัยพุทธกาล ที่ว่าทุคตะเข็ญใจรับจ้างทำนา รับจ้างทำนานะ ถึงเวลาแล้ว ถึงเวลาเช้า ภรรยาต้องเอาข้าวมาส่ง แล้ววันนั้นภรรยามาสาย โอ้โฮ! โมโหมาก ไถนาไป เดี๋ยวมา ต้องเอาเรื่องเต็มที่เลย เดี๋ยวมาต้องเต็มที่เลย

แล้วพอมาสายๆ พระสารีบุตรหรือพระกัสสปะออกจากฌานสมาบัติ เดินผ่านมา ทางภรรยาก็เอาอาหารมาให้พอดี สุดท้ายแล้วด้วยโมโหหิว โมโหหิวนะ แต่เห็นพระแล้วศรัทธามากกว่า ถวายอาหารนั้นกับพระไปเลย ถวายกับพระสารีบุตรหรือพระกัสสปะ ท่านออกจากสมาบัติมา ถวายเสร็จแล้ว ท่านฉันเสร็จแล้วท่านอนุโมทนา มันก็อิ่มบุญน่ะ จากที่โมโหหิว อิ่มบุญมาก ลงไปไถนา เวลาดินพลิกขึ้นมาเป็นทองคำหมดเลย อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ใครไม่เชื่อ เราเชื่อ เพราะมันยืนยันมาจากพระไตรปิฎก

แล้วมันยืนยันมาจากตัวบุคคล เพราะพระเจ้าพิมพิสารนะ พอสุดท้ายแล้ว พอเห็นแผ่นดินเวลาไถไปแล้วมันพลิกขึ้นมาเป็นทอง ไอ้คนไถมันก็คงงงนะ คนที่ไถนา รับจ้างไถนา มันไถนาอยู่ทุกวัน เราไถแผ่นดินทุกวัน เราทำอยู่ทุกวัน มันก็เป็นดินทั้งนั้นน่ะ แต่เวลามันพลิกขึ้นมาเป็นทองคำ คนที่ชำนาญการไถนา แล้วเวลามันพลิกขึ้นมาเป็นทองคำ คนคนนั้นจะสะอึกไหม คนคนนั้นจะมีความมหัศจรรย์ขนาดไหน

แต่เขาก็มีปัญญานะ ถ้าเขาบอกทองนี้เป็นของเขา เขาจะต้องโดนคนเพ่งโทษ เพราะชาวนาจะไม่มีทองคำเป็นก้อนๆ หรอก จะไม่มีทองคำได้ขนาดนั้น แต่ด้วยความฉลาดของเขา เขาไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร บอกเขาเป็นคนทุคตะเข็ญใจ เขาไถนาอยู่ที่ตำบลนั้น แล้วเวลาไถนาไปแล้ว เวลามันพลิกขึ้นมาแล้ว ดินนั้นเป็นทองคำหมดๆ

พระเจ้าพิมพิสารท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านก็รู้ ถ้าไปบอกกับพวกนักวิทยาศาสตร์ ปัญญาชนสมัยปัจจุบันนี้ มันบอกเป็นไปไม่ได้ ดินจะเป็นทองเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ นี่ถ้าพูดถึงเป็นวิทยาศาสตร์

แต่นี่เขาเป็นพระโสดาบัน เขารู้จักบุญรู้จักกุศล รู้จักอริยทรัพย์ เขาถึงบอกว่า มีประมาณเท่าไร

ประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน

ก็ให้มหาดเล็กเอาเกวียนไปเข็นมา พอมหาดเล็กไป พอยกทองคำขึ้นมากลายเป็นดิน ก็กลับไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร บอกว่า เวลาไป ใช่ มันเป็นทองคำอยู่ เวลายกขึ้นมาเป็นดินหมดเลย มันกลับไปเป็นดินอย่างเดิม

พระเจ้าพิมพิสารบอกว่าให้กลับไปใหม่ ให้ไปบอกว่า ไปเอาทองคำของทุคตะเข็ญใจคนนี้ ไม่ใช่ทองคำของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่ใช่ทองคำของรัฐ ไม่ใช่ไปยึดของเขา มันเป็นสิทธิของคนคนนั้น

เขาก็ไปบอก ไปถึง ไปที่เดิม ไปยกทองคำ บอกว่าจะมาเอาทองคำของทุคตะเข็ญใจคนนี้ ไม่ใช่ทองคำของใคร ยกขึ้นมาเป็นทองคำเหมือนเดิม ทุกมา ๘๐ เล่มเกวียน มาวางอยู่ในพระราชวังของพระเจ้าพิมพิสาร

พระเจ้าพิมพิสารถามว่า ในอาณาจักรของตน ใครมีทองคำมากเท่านี้ไหม

ไม่มี

ฉะนั้น ตั้งให้ทุคตะเข็ญใจคนนี้ได้เป็นเศรษฐีประจำรัชกาล

นี่อยู่ในพระไตรปิฎก

นี่พูดถึงว่า เวลาเราทำบุญกุศลกันมา เราก็บอกว่า เราเป็นคนจน เราไม่มีเงินทองที่จะทำบุญมากมาย เราจะไม่มีเงินทำตัวเลขได้เท่ากับชาวบ้านเขา คนที่เขาเป็นเศรษฐีเขาก็ต้องโกยบุญไปหมดเลย เราเป็นคนจน เราจะไม่มีบุญกุศลเลย...มันไม่ใช่ เห็นไหม นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ

ฉะนั้นจะบอกว่า ไอ้เรื่องบุญเรื่องกุศล มันทำมันอยู่ที่เจตนา ในพระพุทธศาสนาท่านสอนถึงการกระทำ สอนถึงเรื่องหัวใจ เรื่องถึงความเชื่อมั่น เรื่องถึงการกระทำนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ผมโอนเงินไปให้ท่านทุกเดือน แต่ก็โอนให้ได้เล็กน้อย เพราะผมมีภาระรับผิดชอบ

อันนี้เราแค่โอนเงินไปบาทเดียว เราก็เป็นบัณฑิตแล้ว เพราะอะไร เพราะเราระลึกถึงบุญคุณของท่าน คนที่ได้ระลึกถึงบุญคุณของผู้มีบุญคุณ นั่นน่ะยิ่งใหญ่ หัวใจที่ระลึกถึง หัวใจที่นึกถึง หัวใจที่เราระลึกถึงคุณของท่านนี่ยิ่งใหญ่ ไอ้เงินที่จะโอนไปๆ เล็กน้อย เล็กน้อยมาก ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือหัวใจของเราไง ขอให้เราทำคุณงามความดีไง

แล้วยิ่งบอกว่า ผมมาคิดว่าสิ่งที่ทำแล้วมันยังน้อยไป แต่ผมพยายามคิดดี ทำดี พูดดี

อันนี้สำคัญมาก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อสัตว์ขนสัตว์ให้คนมีความสุขมีความร่มเย็น ให้คนคิดดีทำดี คนมีสติมีปัญญา

แล้วพอสติปัญญาทางโลก สติปัญญาทางธรรม สติปัญญาทางโลกก็รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันทุกๆ อย่าง สติปัญญาทางธรรม ก็ทำให้จิตใจของคนสูงส่งขึ้น จิตใจของคนรู้จักประพฤติปฏิบัติ จิตใจของคนมันมีคุณธรรมในใจขึ้น นี่ถ้าสติปัญญาทางธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนั้น

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งพระอานนท์ไว้ “อานนท์ เธอบอกเขาเถอะ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”

นี่ไง ถ้าจะบูชาบุญคุณของครูบาอาจารย์นะ ถ้าเราคิดดี ทำดี พูดดี อันนี้สำคัญที่สุด ถ้าสำคัญที่สุด เราเป็นคนดีคนหนึ่ง แล้วคนดีคนหนึ่ง ถ้าระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ครูอาจารย์ แล้วเราเป็นคนดีคนหนึ่ง แล้วสอนลูกของเรา สอนหลานเราไป สังคมมันต่อเนื่องไปไง

พระพุทธศาสนาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป สงฆ์ยังไม่ขาดไปจากโลก สงฆ์ขาดไปจากโลกไม่ได้ ถ้าสงฆ์ขาดไปจากโลก เราจะบวชพระสงฆ์ต่อไปไม่ได้ มันส่งต่อกันมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ๒,๐๐๐ กว่าปี ส่งต่อกันมาจากคุณงามความดี จากความกตัญญูกตเวที จากการรู้บุญรู้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันสืบต่อกันมาๆ แล้วมันจะสืบต่อกันไป สืบต่อกันไปด้วยคุณธรรมอันนี้ อันนี้ยิ่งใหญ่

ที่เขาบอกคิดดี พูดดี ทำดีต่อทุกๆ คน

สิ่งแค่นี้ แล้วเขาบอกว่า ผมมีโอกาสทำได้แค่นี้จริงๆ ครับ

ของแค่นี้มันยิ่งใหญ่นะ มันยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ถ้าจิตใจเป็นธรรม จิตใจเป็นธรรมนี่ยิ่งใหญ่มาก ร่มโพธิ์ร่มไทร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวนะ สอน ๓ แดนโลกธาตุ สอนตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหม สอนมนุษย์ พระมาลัยไปโปรดพวกนรกอเวจีนั่นน่ะ ไปจากไหนล่ะ ก็ไปจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปจากศาสดา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับเรานะ เราปฏิบัติบูชาท่าน เราปฏิบัติบูชาบุญคุณของท่าน ถ้าเราระลึกถึงบุญคุณของท่าน มันเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์เพราะอะไร เพราะเรามีครูบาอาจารย์องค์นี้ เราไปศรัทธาครูบาอาจารย์องค์นี้ มันเป็นสายบุญสายกรรม

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ ต้นขั้วใหญ่ก็มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเวลาเผยแผ่ธรรมาๆ ใครมีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ใครจะทำคุณประโยชน์แค่ไหน ใครชอบอย่างใด

ดูเวลาอย่างพระ เวลาพระเราเวลาธุดงค์ไปๆ ต้องขอนิสัยนะ ถ้าขอนิสัย ให้ดูกัน ๗ วัน ถ้าดูกัน ๗ วันแล้วเข้ากันไม่ได้ ให้เก็บบริขารไป ถ้า ๗ วันแล้วว่าเข้ากันได้ ถึงให้ขอนิสัย เห็นไหม เขายังต้องให้ดูนิสัยเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์องค์ใด ถ้าครูบาอาจารย์ที่ถูกจริตนิสัยเรา เราทำได้ก็เป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเรานะ แล้วถ้าทำต่อเนื่องไป ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ครูบาอาจารย์ที่ดี

เพราะครูบาอาจารย์ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ ไอ้เรื่องที่ว่าเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย ภาษาเรา ล้นเหลือ ท่านมีมากมายมหาศาล แต่ท่านต้องการให้ลูกศิษย์ของท่านเป็นคนดี ต้องการให้ลูกศิษย์ของท่านเป็นผู้ที่มีปัญญา

ถ้ามีปัญญาไปแล้ว ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “มารเอย เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง กล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่นิพพาน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรารถนาตรงนี้ ปรารถนาตรงให้ลูกศิษย์ลูกหา บริษัท ๔ เข้มแข็ง ฉลาด สามารถกล่าวแก้คำลบหลู่คำดูหมิ่นของลัทธิอื่นๆ ได้

เวลามาฆบูชา มารก็มานิมนต์อีก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน” นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่สุดแล้วปรินิพพาน แต่ปรินิพพานไปด้วยผลงานของท่าน ผลงานของท่านมาถึงในปัจจุบันนี้

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่า ผมทำได้แต่คิดดี พูดดี ทำดี ผมจะคิดดี พูดดี ทำดีต่อทุกๆ คน

ทำตรงนี้ได้ประเสริฐ ประเสริฐเพราะอะไร ประเสริฐเพราะว่า สิ่งต่างๆ ทางโลกเขา ทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุด ถ้าทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุด ทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์เรามีคุณค่า มนุษย์เรานี่นะ มีสติมีปัญญา สติปัญญา สติปัญญาของเรา เราเกิดจากพุทธะ เกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนมา สั่งสอนเข้ามา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ให้มีการเสียสละ ให้เห็นคุณค่า ไม่แก่งแย่งไม่ชิงดีกับใคร ทำดีเพื่อความดีของเรา

ทำดีเพื่อความดีของเรานะ มันจะทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน เราก็พยายามทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับเรา คนเราเกิดมา หน้าที่การงานมันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน ถ้าธรรมชาติของมันนะ เราไม่ไปเปรียบเทียบกับใคร ไม่ไปแข่งขันกับใคร เราทำของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราๆ

ทีนี้สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม มันมีเวรมีกรรมต่อกัน มันมีผลกระทบกระทั่งต่อกัน ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็พาชีวิตของเราให้มันราบรื่นไป ถ้าเราไม่มีสติปัญญาขึ้นมา เราก็มาน้อยเนื้อต่ำใจของเราว่าเรามีทุกข์มียากอย่างนั้นๆ ทุกข์ยากอย่างนั้นเพราะเราห่างเหินจากธรรม

ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเรามาได้ขนาดนี้ สิ่งที่เราจะโอนไปถึงครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเราทำได้ มันก็เป็นการประกาศ ประกาศความดี ถ้าเราโอนไปได้ ท่านเห็นว่าเราโอนไป ท่านก็ยังดีใจว่า เออ! สั่งสอนไปแล้วมันยังมีผลตอบกลับมา มันก็เป็นประโยชน์กับน้ำใจของคน ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่สำคัญที่สุดคือชีวิตของเรา ครูบาอาจารย์ทุกองค์ต้องการให้เรามีความสุข ต้องการให้เรามั่นคง ต้องการให้เราเป็นคนดี ถ้าเราทำสิ่งนี้มันขจรขจายไป “ลูกศิษย์ใคร ลูกศิษย์ใคร”

เวลาพระในสมัยพุทธกาลไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ใครทรมานมา ใครทรมานมา” ใครทรมานคืออาจารย์ของเขาสั่งสอนมาๆ ถ้าลูกศิษย์ของเขามามากๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะภูมิใจเลยว่า ลูกศิษย์ของท่านมีคุณภาพ ลูกศิษย์ของท่านได้ทำประโยชน์กับ ๓ แดนโลกธาตุ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนดีๆ แล้วเราเป็นลูกศิษย์ใคร เราทำแล้ว ไอ้คนนี้ใครอบรมสั่งสอนมา เห็นไหม ที่ว่าคิดดี พูดดี ทำดี มันเป็นการประกาศว่าอาจารย์เราดี อาจารย์เรามีคุณภาพ มันถึงสามารถสอนให้เราเป็นคนดีได้ แล้วเราเป็นคนดี เรามีจุดยืนด้วย แล้วเราทำความดีต่อเนื่องไป

แล้วเราทำความดี จากหนึ่งความดี เราทำความดีกับทุกๆ คน ถ้าเขาได้คำพูดที่ดี การกระทำที่ดีจากเราไป ถ้าเขาคิดได้ เขาระลึกได้ เขาทำต่อไปๆ สังคมมันก็จะร่มเย็นเป็นสุขขึ้น

สังคมจะบอกเลย “คนนั้นก็เห็นแก่ตัว คนนั้นก็เห็นแก่ตัว คนนั้นก็เอาเปรียบ” สังคมมีแต่บ่นอย่างนี้ สังคมไม่มีบ่นบอกว่าคนนั้นเขาช่วยเหลือเจือจานเรา สังคมไม่เคยบ่นเลยว่า โอ้โฮ! คนนั้นเขาค้ำชูเรา

ถ้ามันมีการค้ำชู มีการส่งเสริมกัน ตรงนั้นแหละมันจะเป็นการต่อเนื่องไปว่า เออ! เราเคยได้รับการค้ำชู ได้รับการสนับสนุนจากครูบาอาจารย์อย่างนั้นๆ มันระลึกถึงแล้วมันซาบซึ้งใจ

แต่มันก็เป็นกรรมของสัตว์นะ เราไปเกิดในชุมชนใด เกิดในหมู่บ้านใด ถ้ามันเป็นความดี มันก็เป็นดีไป ถ้าไปเกิดในหมู่บ้านนั้น ถ้าคนมีสติมีปัญญาก็พยายามสร้างตัวเราให้ดีขึ้นมา ถ้ามันดีได้

นี่พูดถึงว่าปฏิบัติบูชา ความกตัญญูกับครูบาอาจารย์สำคัญมาก ถ้าสำคัญๆ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมๆ ท่านจะเคารพครูบาอาจารย์ คำว่า เคารพครูบาอาจารย์” มันย้อนกลับมาที่จิตใจเรานี่แหละ

จิตใจเรานะ เวลาปฏิบัติที่มันผิดพลาด จิตใจเราเวลากิเลสมันบีบคั้นนี่เจ็บมาก แล้วเราหาทางออกไม่ได้ แล้วครูบาอาจารย์ของเราพยายามให้อุบายนะ “ทำอย่างนั้นๆ” อย่างหลวงปู่มั่น เวลาพระที่เวลาปฏิบัติแล้วยังไม่ได้เรื่องได้ราว ให้ไปอยู่ในป่านั้น เสือมันเยอะๆ เดี๋ยวเสือมันจะคาบไปกิน ให้ไปอยู่ในถ้ำนั้น ผีดุๆ

ไอ้คนจะไปเกือบตาย แต่พอเวลาไปแล้วไปนั่งแล้วพยายามใช้สติปัญญา สงบลงได้ อู้ฮู! มันยิ่งระลึกถึงบุญคุณๆ นะ นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านทำของท่านอย่างนั้นน่ะ ท่านส่งลูกศิษย์ไปหาที่สงัดหาที่วิเวกเพื่อให้ไปเผชิญกับความจริง แล้วพอมันเป็นความจริงในใจของลูกศิษย์ของท่าน ลูกศิษย์ของท่านกลับเคารพบูชาท่านมาก กลับเคารพบูชาท่านมาก

ไปที่ไหน เห็นไหม ดูสิ ในสังคมพระให้เจ้าฟ้าเจ้าคุณกัน ให้ยศถาบรรดาศักดิ์ หลวงปู่มั่นเคยให้อะไรใคร ให้แต่ไปเจอเสือเยอะๆ ไปเจอผีดุๆ แต่ทำไมลูกศิษย์ของท่านมั่นคง ทำไมลูกศิษย์ของท่านเคารพบูชาหลวงปู่มั่นมาก

หลวงตาท่านพูดประจำ “หลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมเรามา หลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมเรามา” หลวงตาท่านพูดนี่

แต่วัดโดยทั่วไปนะ เขาให้เจ้าฟ้าเจ้าคุณ ให้ตาลปัตร ให้พัดยศ แต่หลวงปู่มั่นท่านให้อุบายวิธีการประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านพยายามชี้ทางให้พาหัวใจให้รอด

นี่ไง ความกตัญญูกตเวทีมันแตกต่างกันอย่างนี้ มันแตกต่างกัน เราระลึกถึงแล้ว โอ้โฮ! น้ำตาไหล ระลึกถึงครูบาอาจารย์นี่น้ำตาไหล น้ำตาไหลเลย เพราะเวลามันทุกข์มันยากนะ เราหันหน้าเข้าหากันแล้วระบายความทุกข์สิ มันไม่จบเลย

ถ้าหันหน้าเข้าหากัน พูดถึงสมาธิมันยังทะเลาะกันเรื่องสมาธิเลย สมาธิถูก สมาธิผิด แต่ถ้ามันคุยกันเรื่องทุกข์นะ โอ๋ย! เหมือนกันหมดเลย มันคุยกันได้ตั้งครึ่งวันเลย ระบายความทุกข์ แค่ทำสมาธิมันยังทำถูกทำผิดเลย

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เรา ไม่ ถ้ามันเป็นความจริงคือความจริง ถ้ามันไม่ใช่ มันก็แค่ภวังค์เท่านั้นน่ะ อยู่ตรงนั้นแหละ แล้วมันไปไหนไม่ได้แค่นั้นแหละ เพราะท่านรู้ถึงต้นสายปลายเหตุ จิต จริตนิสัยของคนมันแตกต่างกัน จริตนิสัยอย่างนี้มันจะเข้าได้หรือไม่ได้ ถ้าจริตนิสัยมันเข้าได้แล้ว ถ้ามันเคยเข้าได้ มันเคยเข้าไปแล้ว มันจะทำอย่างนั้นได้อีกหรือไม่ ถ้ามันทำอีกไม่ได้ ถ้ามันเสื่อมไปแล้ว เสื่อมไปแล้วเอากลับมาได้ยาก ขนาดทำครั้งแรกมันยังเกือบตายเลย แล้วมันจะทำครั้งที่สองให้ได้เหมือนเดิม ไม่มีทาง

ทำไปเถอะ แต่ถ้าคนเรามีอำนาจวาสนา ถ้ามันเสื่อมไปแล้วให้มันเสื่อมไป แล้วถ้าทำไม่ได้ ไม่ได้ สู้กับมัน เพราะครั้งแรกมันทำได้ ของมันทำได้คือของมันมีอยู่ ทำไมเราทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้แสดงว่าเราก็ก้าวหน้าไปไม่ได้ ถ้าเราจะก้าวหน้าได้ มันก็ทำของมันจนได้ ถ้าทำจนได้แล้วรักษาให้ได้ รักษาให้ดี พอรักษาให้ดี

เราก็ย้อนกลับมาว่า ทำบุญไม่ได้บุญๆ

ทำบุญหรือไม่ได้บุญก็ตรงนี้แหละ ตรงที่บารมีของสัตว์โลก ถ้าคนที่เขามีบุญกุศลของเขา เขารักษาได้ง่าย เขามีปัญญาแยกแยะได้ถูกต้อง แล้วเขาพยายามจะพาจิตใจของเขาให้เข้าสู่สมาธิ ให้เข้าสู่ปัญญาได้ตามข้อเท็จจริง

ไอ้คนที่ไม่ได้ ไม่ได้มันก็สั่นไหว ไม่ได้มันก็โลเล พอไม่ได้มันโลเลขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นสัญญา เป็นการจำ เป็นตรรกะคิดเอาเอง เออเอาเอง แล้วเออเองก็เอออยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วไม่ก้าวหน้า ไปไม่ได้ แต่พยายามจะยกตัวเองให้ได้ พอยกตัวเองให้ได้แล้ว “เอ๊! พระไตรปิฎกมา ๒,๐๐๐ กว่าปี พระไตรปิฎกเขียนผิด เราถูก” มันไปนู่นแล้วนะ ไปถึงบอกตำราผิดเลย กูถูก มันจะเก่งกว่าตำราไปเลยนะ นั่นน่ะคนที่บารมีอ่อนแอ

อ่อนแอไปทางนู้น ไปว่าตำราผิดแล้วกันแหละ กูนี่ถูก แล้วพอกูถูกแล้วไปออกนอกลู่นอกทางไปเลย ถ้าออกนอกลู่นอกทางไปเลย ถ้าเขามีสติเสียหน่อยหนึ่ง แล้วเขาเอามาเปรียบเทียบกับพวกฌานโลกีย์ ถ้าเขาไปเปรียบเทียบกับไอ้พวกเกจิอาจารย์มันจะเหมือนกันไหม มันไปทางนู้นแล้ว เวลาออกนอก ออกนอกไปนู่นหมดแหละ นี่ส่งออก ออกนอก

เข้าใน เข้าสู่จิต เข้าสู่สัมมาสมาธิ นี่พูดถึงว่าถ้ามีอำนาจวาสนา นี่พูดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านรู้ ทีนี้ท่านรู้แล้วมันแก้อะไรไม่ได้ มันแก้อะไรไม่ได้เพราะมันแก้อดีตชาติไม่ได้ มันแก้ต้นเหตุไม่ได้ ต้นเหตุคือมันสร้างมาจนเป็นน่ะ เมล็ดพันธุ์พืชที่มันไม่มีคุณภาพ เมล็ดพันธุ์พืชที่มันอ่อนแอ ปลูกแล้วมันปลูกไม่ขึ้น

เมล็ดพันธุ์พืชที่จะลงมันต้องแก่ ต้องสมบูรณ์ ลงสู่ดินแล้วมันถึงจะเกิดเป็นต้นขึ้นมาได้ เมล็ดพันธุ์ที่มันมีเชื้อโรค เมล็ดพันธุ์ที่มันพิการ เมล็ดพันธุ์อย่างไรก็ปลูกขึ้นไม่ได้ นี่ไง ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น ฉะนั้น มันก็เป็นกรรมของสัตว์

แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้ที่ดีงาม เขาพยายามฝึกฝนของเขา พยายามกระทำของเขา ทำของเขาขึ้นมาเพื่อให้เขาก้าวหน้าขึ้นไปให้ได้ แล้วก็ไม่ถอยลงต่ำ ไม่ถอยลงไปจนเป็นฤๅษีชีไพร เป็นพวกศาสนาถือผีไปนู่นน่ะ แก้กรรมร้อยแปด ออกนอกไปเลย อันนั้นมันก็กรรมของสัตว์ ถ้าสัตว์มันมีความเห็นการกระทำอย่างนั้นมันก็เป็นกรรมของสัตว์

แต่ถ้าสัตว์ยังมีอำนาจวาสนา เขาก็พยายามจะดั้นด้นของเขา รักษาคุณภาพในใจของเขาให้เป็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องดีงามต่อเนื่องไป นี่พูดถึงว่าความกตัญญูกตเวทีแด่ครูบาอาจารย์ของตนนะ จบ

ถาม : ข้อ ๒๒๘๔. เรื่อง “ความกลัวขณะนั่งสมาธิ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมได้ฟังธรรมของพระหลวงตามหาบัวและหลวงพ่อ แล้วเกิดความศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติธรรม จึงเริ่มประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังตามกำลังของตนประมาณครึ่งปีแล้วครับ โดยมีพุทโธเป็นหลักให้จิตเกาะ และการรู้ถึงลมหายใจเข้าออกเป็นตัวประคองสติรู้ตัวครับ

วันหนึ่งผมได้นั่งสมาธิตามปกติครับ แต่เกิดสภาวะทางจิตบางอย่างให้เกิดความหวั่นไหวและตื่นกลัว สภาวะตอนนั้นร่างกายนิ่งประหนึ่งหินหรือเหล็ก จิตเองก็นิ่งโดยไม่วอกแวกไปเรื่องใด มีความรู้สึกว่าจิตอยู่ในภาชนะสักอย่าง (รู้สึกเหมือนกายเป็นภาชนะ) ตอนนั้นทุกอย่างขาวโพลนไปหมดทุกทิศทาง ผมรู้สึกได้ว่าเราไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน สักพักผมเริ่มรู้สึกกลัว แต่ก็พยายามเฝ้ามองการเปลี่ยนไปของจิต ของกาย และตั้งมั่นในพุทโธมากขึ้น ความหวั่นไหวและความกลัวเริ่มทวีมากขึ้น ร่างกายเองก็รู้สึกซ่าไปทั่วตัว เหงื่อเริ่มออกที่ฝ่ามือ น้ำตาเริ่มซึม สุดท้ายทนความกลัวไม่ได้ เลยลืมตาออกจากการนั่งสมาธิ

ผมอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ผมประพฤติปฏิบัติอะไรผิดไปหรือเปล่าครับ กลัวตัวเองเดินผิดทาง หรือผมควรทำอย่างไรดีถ้าเจอแบบนี้อีก สุดท้าย หลวงพ่อเมตตาสั่งสอนผู้เริ่มต้นด้วยครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถาม ถ้าให้นั่งหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ นี่คือคำบริกรรม ถ้าคำบริกรรม จิตนี้มันได้บริกรรมของมัน คำบริกรรมของเรา เราตั้งอยู่โดยข้อเท็จจริง เราอย่าไปคาด อย่าไปอยากได้ อย่าไปเพื่อกดดันตัวเอง พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ ถ้ามันจะเป็นสิ่งใดให้มันเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้าตามข้อเท็จจริงนั้นนะ คนนั้นมีสติมากน้อยแค่ไหน

ทีนี้เขาบอกว่า เวลาเขานั่งไปแล้วประมาณ ๖ เดือน วันหนึ่งนั่งไปแล้วเกิดสภาวะอย่างที่ว่าความรู้สึกนะ รู้สึกว่าเหมือนกายนี้เป็นภาชนะ

ถ้าเหมือนกายเป็นภาชนะ กายเป็นภาชนะ ความรู้สึกมันอยู่ในภาชนะนั้น จิตที่มันดีขึ้น จิตที่มันดีขึ้นมันอยู่ในภาชนะนั้น

แต่ถ้าเวลาจิตมันนิ่งเหมือนหิน เหมือนเหล็กอะไรนี่ อันนี้เวลามันเป็นสิ่งใด มันเป็น มันเป็นอาการของจิตๆ แต่เวลาเรานั่งสมาธิ เรานั่งสมาธิเพื่อค้นหาใจของตน ค้นหาใจของตนก็ค้นหาสมาธิ

สมาธิคือจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่น จิตที่มันไม่มีเวรไม่มีกรรมสิ่งใดที่เข้ามาระราน มันจะพุทโธๆๆ มันจะละเอียดเข้ามาเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้าเป็นขณิกสมาธิ จิตที่มันรู้นี่มันพอแล้ว ถ้าอัปปนาสมาธิเข้าไปนี่สักแต่ว่ารู้เลย นี่พูดถึงผลของสมาธิ

เพราะศีล สมาธิ ปัญญาใช่ไหม ทีนี้บอกว่า ศีล แล้วบอกสมาธิ สมาธิจะเป็นอย่างนี้ๆ ถ้าปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงโดยหลักการ

แต่โดยการกระทำของคน โดยที่ว่าจิตมันสงบแล้วมันหัดใช้ปัญญาก็ได้ ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาโลกๆ มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ก็ฝึกหัดกันไป ถ้าฝึกหัดกันไป ถ้าจิตมันพัฒนา คนเราฝึกหัด คนฝึกงานๆ ถ้าฝึกงาน ถ้าทำงานผิดแล้ว เราทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ คือว่ามันผิด ขั้นตอนมันต้องมีความที่ผิดพลาด เราก็ทำใหม่ๆ ทำใหม่จนเห็นว่าเราผิดตรงไหน เราทำเสร็จแล้วมันสมบูรณ์ตรงไหน ถ้ามันสมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว ผลมันต้องให้ตามความเป็นจริงไง ถ้าผลให้ตามความเป็นจริงนั้นมันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา

แต่นี่บอกว่า เวลาภาวนาไป เราเริ่มทำความสงบของใจเข้ามา พยายามทำความสงบของใจ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติพุทโธๆ เป็นหลัก แล้ววันหนึ่งมันเกิดสภาวะแบบนั้น พอมันเกิดสภาวะแบบนั้นแล้วมันเกิดอาการกลัว พอเกิดอาการกลัวขึ้นมา อาการที่กลัวมาก เราทนสิ่งนั้นไม่ได้ๆ

อาการกลัว เห็นไหม แสดงว่าพื้นฐานของเรายังไม่มั่นคงพอ ถ้าพื้นฐานเรามั่นคงพอ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้าเรามีศีลสมบูรณ์ของเรา ฐานมันมั่นคงพอ ถ้าอะไรจะเกิดขึ้นก็ให้มันเกิด พุทโธไปเรื่อย พุทโธไปเรื่อย พุทโธไปจนเกิดเป็นสภาวะแบบนี้ ถ้าเกิดสภาวะแบบนี้ เรายังพุทโธได้อยู่ เรายังพุทโธได้อยู่ เรายังพุทโธต่อเนื่องๆ

ถ้าเรายังกำหนดพุทโธต่อเนื่องไปๆ ไอ้สภาวะนั้นน่ะมันจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยอำนาจที่จิตมันสงบมากน้อยแค่ไหน จิตเพราะอะไร เพราะสิ่งที่สภาวะที่เกิดขึ้น ใครรู้ล่ะ ก็จิตรู้ แล้วเมื่อก่อนทำไมมันไม่รู้ล่ะ เมื่อก่อนมันไม่รู้เพราะจิตมันไม่สงบระงับเข้ามาจนระดับฐานที่มันรู้ได้

เมื่อก่อนมันก็เหมือนปกติ เราเป็นคนปกติใช่ไหม ตา หู จมูก ลิ้น กายเราก็ปกติ หูก็ได้ยินปกติ ตาก็มองเห็นปกติ มันก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องปกติก็เป็นเรื่องสภาวะ ปกติก็เป็นเรื่องของมนุษย์เราสภาวะปกติ แต่เราพุทโธๆ พอจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม เพราะอะไร เพราะในปาราชิก ๔ อุตตริมนุสสธรรม ฌานสมาบัตินี่ก็อุตตริมนุสสธรรม คำว่า อุตตริมนุสสธรรม” คือธรรมเหนือมนุษย์ไง คือธรรมะที่เหนือปกตินี่ไง ธรรมที่เหนือปกติ นี่อุตตริมนุสสธรรม มันก็ต้องเหนือสิ สมาธิก็เหนือ เพราะในปาราชิก ๔ นี่ชัดๆ

ฉะนั้น เวลามันดีขึ้น มันจะดีขึ้น แต่เราตกใจ แล้วเราก็กลัว นี่อันหนึ่งนะ แต่ถ้ามันแบบว่ามันผิดปกติทางจิตใจอย่างนี้ พอมีอะไรขึ้นมันก็หวั่นไหว ความหวั่นไหวนั้นมันหวั่นไหวเพราะว่าเรามีทุนเดิมอยู่ แต่ถ้าเป็นโดยปกติ โดยปกติถ้ามันมีศีล เรามั่นคงพอ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น พุทโธไปเรื่อยๆ สิ่งที่เห็นก็เกิดจากพุทโธ

เวลาใครมาหาเรานะ แล้วเขาบอกว่า เวลาเขาภาวนาแล้วไปเห็นนั่นๆ แล้วบอกทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมเมื่อก่อนมันไม่เห็นล่ะ

เมื่อก่อนไม่เห็นก็คือความปกติไง คือความปกติ คือปกติธรรมดา ตาก็เห็นรูป หูก็ได้ยินเสียงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าจิตสงบแล้วมันละเอียดกว่านั้น มันรู้ได้โดยไม่ต้องใช้หู มันรู้ได้โดยไม่ต้องใช้ตา มันรู้โดยตัวมันเอง เวลาถ้ามันเป็นอย่างนั้นได้เพราะจิตมันมีพุทโธ จิตมันมีพุทโธ จิตมันเป็นอิสระ จิตมันไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก มันรู้โดยตัวมันเอง ทีนี้พอรู้โดยตัวมันเอง มันก็มีคุณภาพของจิตแล้ว จิตที่เขามีอำนาจวาสนาขึ้นมา เขามีหลักของเขา เขาไม่กลัวอะไรเลย ยิ่งรู้อะไรยิ่งดีใหญ่

แต่จิตของคน จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก มีนะ เวลาจิตมันเป็นอะไรไปแล้ว สิ่งที่ว่ามีผู้มาภาวนาที่นี่ บอกเวลาเดินจงกรมแล้วเห็นมีกายมาเดินอยู่ข้างหน้า เห็นกายมาเดินอยู่ข้างหลัง

เรารับฟัง แต่มันไม่ใช่มาตรฐาน การที่จะเห็นได้อย่างนั้นน่ะ จิตของคนมันต้องดีมาก แล้วดีมาก เห็นได้อย่างนั้นมันพิจารณาได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาเห็นได้อย่างนั้น เวลาเห็น จิตถ้ามันเห็นได้มันก็เห็นโดยเพราะเราภาวนาพุทโธมันถึงเห็นได้

ถ้าไม่พุทโธ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็ส่งโรงพยาบาลน่ะสิ อยู่ดีๆ ไปเห็นวิญญาณเดินอยู่รอบข้าง ก็ศรีธัญญาน่ะสิ

แต่ถ้าเราพุทโธๆ จิตเราสงบได้ มันเห็นได้ แต่เห็นได้อาการแบบนี้มันยังไม่มั่นคง แต่ถ้าจิตมันพุทโธๆ จนจิตมันสงบระงับนะ สิ่งที่ว่าเห็นได้ เห็นไหม อยู่ในพระไตรปิฎก พระเดินจงกรมอยู่ในป่า สามีภรรยาเขาทะเลาะกัน ภรรยาหนีผ่านมาก่อน แล้วสามีตามมาเจอพระเดินจงกรมอยู่ ถามว่า “เห็นคนเดินผ่านทางนี้ไปไหม”

“ไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูกเดินผ่านไป” นี่จิตเขาสมบูรณ์ขนาดนั้นน่ะ เห็นแต่โครงกระดูกผ่านไป ไม่เห็นเป็นหญิงเป็นชาย ถ้าพูดได้อย่างนี้ พูดอย่างนี้อนาคามิมรรค เขากำลังพิจารณาอสุภะของเขาอยู่

แต่พระเราไปอ่านกันแล้วนะ “โครงกระดูกๆ” พร่ำเพ้อ เพ้อกับฝันไง ไม่เพ้อเจ้อก็ฝัน มันไม่เป็นความจริงหรอก

ถ้ามันเป็นความจริงเห็นได้ขนาดนี้ รู้ได้เลยว่าภูมิจิตของเขาอยู่ตรงไหน จิตของเขาอยู่ตรงไหนถึงเห็นอย่างนี้ ถ้าจิตของเขาไม่มีภูมิ เขาเห็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่ไอ้ที่เห็นๆ เรื่อยไป เห็นด้วยความผิดปกติ ไอ้นี่พวกโรงพยาบาลศรีธัญญา เพราะอะไร เพราะเอ็งยังไม่เป็นอะไรเลย เอ็งยังไม่มีภูมิอะไรเลย เอ็งจะเห็นแบบที่ว่าภูมิของพระอนาคามี

อสุภะ การพิจารณาอสุภะ ตั้งแต่สกิทาคามีจะขึ้นเป็นพระอนาคามี พิจารณาอสุภะ จะละกามราคะ แล้วเอ็งเป็นอะไร กัลยาณปุถุชนก็ยังไม่ได้เป็น เป็นปุถุชนคนหนาด้วย แล้วมันจะเห็นแบบเขามันเป็นไปได้อย่างไร นี่พูดถึงวุฒิภาวะนะ นี่พูดถึงภูมิของจิตนะ

แต่ถ้าเวลาภูมิของจิต เวลาเขาเดินจงกรมแล้วเขาเห็นนู่นเห็นนี่ เราก็รับฟัง แล้วเราจะบอกด้วย เห็นเพราะพุทโธ แต่พุทโธแล้วมันไม่มั่นคง พุทโธแล้วมันก็มาแบบวูบวาบ พุทโธแล้วมันก็เหมือนมาเห็นชั่วคราว เห็นโดยอำนาจวาสนาบารมี เห็นโดยบุญโดยกรรม มันไม่ได้เห็นโดยอริยสัจ

ไอ้นี่เวลาถ้าเห็นกายๆ นะ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเห็น ใครมาพูดให้ฟัง ถ้าจะเห็นก็เพราะพุทโธ แต่เห็นชั่วคราว เห็นด้วยอำนาจวาสนา ไม่ใช่เห็นด้วยมรรค

ถ้าเห็นด้วยมรรค มันต้องเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เขาถึงจะไปเห็นของเขาโดยมรรค อย่างที่หลวงตาพูดไง หลวงตาติดสมาธิ ๕ ปี ผ่านสกิทาคามีมา แล้วติดสมาธิ ๕ ปี หลวงปู่มั่นท่านลากออกมาจากสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ไปพิจารณาอสุภะไง จนไม่ได้หลับไม่ได้นอนไง นั่นแหละอนาคามิมรรค

“เวลาติดสมาธิก็ว่าเป็นสมาธินะ ให้ออกมาใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญา ตอนนี้ใช้ปัญญาจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน”

“นั่นน่ะไอ้บ้าสังขาร”

นั่นน่ะถ้ามันออกมามันจะเจออย่างนั้นน่ะ ไอ้ที่อสุภะๆ ถ้ามันจะเกิดได้ มันอยู่ที่วุฒิภาวะ วุฒิภาวะขั้นใดรู้ได้อย่างไร ระดับใด มันเรื่องหนึ่ง วุฒิภาวะมีหนึ่ง สอง สาม สี่ สี่คู่ อริยสัจมันอยู่ตรงนี้ นี่เป็นธรรม เป็นธรรมตรงนี้

นี่พูดถึงผู้ถามไม่ได้ถามเรื่องอย่างนี้เลยเนาะ ผู้ถามมันต้องถามให้หลวงพ่ออธิบายถึงอนาคามิมรรค อนาคาเมิคอะไร จะถามว่าผมเป็นอย่างไร

ถ้าผมเป็นอย่างไร นี่พูดถึงว่า เวลาถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้ พูดถึงว่าเวลาคนมันเห็น ถ้าคนมันเห็นนะ ถ้าพื้นฐานมันมั่นคง เราพูดถึงว่า ถ้าพื้นฐานมั่นคง ไอ้ความกลัวมันก็น้อยลงหรือแทบไม่มีเลย

แต่ถ้ามันมีความกลัว ความกลัวนี่พื้นฐานมันไม่มั่นคง ถ้าพื้นฐานไม่มั่นคง เราก็กลับมาพุทโธของเราต่อ สิ่งที่ผ่านไปก็คือผ่านไป สิ่งที่ผ่านไปแล้ว

“จิตที่มันเกิดสภาวะร่างกายประหนึ่งเป็นหินเป็นเหล็กไปเลย”

เวลามันเป็นปีตินี่นะ มันเป็นได้หลากหลาย เวลาปีติ ขนาดรู้วาระจิตคนยังได้เลย ปีติเล็ก ปีติใหญ่ ปีติมันกว้างขวางมาก ฉะนั้น เวลาเป็นหินเป็นเหล็กไปมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราพิจารณาไปมันก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วเขาก็ออก ออกจากการภาวนา

แล้วเวลาจะภาวนา เราก็กลับว่าให้กลับไปภาวนาแบบเดิม คือหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ไอ้สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว เราไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องไปหวั่นไหวกับสิ่งนั้น เราอยู่กับพุทธะ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะคุ้มครองดูแลผู้ที่กำหนดพุทโธ เรากำหนดพุทโธๆ เราหายใจเข้านึกพุท เราหายใจออกนึกโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะคุ้มครองเรา คุ้มครองดูแล

แต่ที่เรากลัวนี้ กิเลสมันเข้ามาปั่นป่วน กิเลสมันเข้ามาให้เราตกใจ กิเลสมันเข้ามาอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องของตัณหาความทะยานอยาก เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าไม่ใช่เรื่องของธรรม เราก็กลับมาประพฤติปฏิบัติใหม่ กลับมาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นไป แก้ไขของเรา อยู่ที่พุทโธ อยู่กับพุทโธ

หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย อยู่กับพุทโธไม่ตกใจ ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้งกลัว เราอยู่กับพุทโธของเราต่อเนื่องไปๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอาการของจิตทั้งนั้น แล้วอาการของจิตมันทำให้เราส่งออก ออกไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราพุทโธๆ เราจะเข้าสู่พุทธะ เข้าสู่ความร่มเย็น เข้าสู่จิตของเรา เข้าสู่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะคุ้มครองดูแลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง