เทศน์บนศาลา

ในสติปัฏฐานสี่มี

๑๗ ต.ค. ๒๕๖๑

ในสติปัฏฐานสี่มี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะ ตั้งใจฟังธรรมนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงอาทิตตปริยายสูตร ชฎิล ๓ พี่น้องได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

การประพฤติปฏิบัติธรรม การฟังธรรมมันมีคุณค่า มีคุณค่าที่ไหน มีคุณค่าที่ว่าธรรมที่เกิดจากหัวใจของครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมๆ ออกมาจากหัวใจที่เป็นธรรมนั้นมันจะมีคุณธรรม

ถ้าออกมาจากความจำๆ ก็อ่านหนังสือ เวลาหนังสือมีการท่องจำ นกแก้วนกขุนทอง สิ่งนั้นมันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธนะ ทางอีสาน เวลาวัดที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาไม่มีพระไปอยู่นะ เขาจ้างให้พระไปอยู่จำพรรษา จ้างให้ไปอยู่เพื่อเขาจะได้สร้างบุญสร้างกุศลของเขา

นี่เขาขาดพระไม่ได้ เพราะว่าประเพณีวัฒนธรรมของเขา เขาต้องทำบุญกุศลของเขา เขาทำเพื่อความสุขใจของเขา ถ้าไม่มี ไม่มีเขาก็แสวงหา ถ้าแสวงหาอย่างนั้นมา สิ่งนั้นมันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ถ้าวัฒนธรรมของเขาก็เป็นวัฒนธรรมของเขา

เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษามาก็นกแก้วนกขุนทอง เรามาท่องจำกันไง ถ้าท่องจำ ท่องจำนี่มีการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ถ้าส่งเสริมพระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้มีการศึกษา ศึกษามาเพื่อมาประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาเพื่อเป็นการท่องจำไง

ท่องจำกันมาแล้วนะ ใครมีความรู้มากความรู้น้อย ถ้าความรู้มากความรู้น้อยก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ก็เอากิเลสของตนใส่เข้าไป เวลากิเลสของตนใส่เข้าไปก็ความชอบใจของตน พอความชอบใจของตนนะ มันปฏิบัติไป เวลาพูดไปแล้วก็มีการขัดแย้งกัน ถ้าขัดแย้งกันก็บอกของใครถูกของใครผิดไง

มันถูกมันผิด มันผิดที่กิเลสทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นความถูกต้องดีงามมันเข้าสู่สัจธรรม ถ้าเข้าสู่สัจธรรมก็เข้าสู่หัวใจของตน ถ้าเข้าสู่หัวใจของตน เห็นไหม เรามีความอบอุ่น มีความองอาจมีความกล้าหาญนะ แต่ความกล้าหาญ กล้าหาญของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กล้าหาญกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตน กล้าหาญในการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ในการใช้สติปัญญาของเรา กล้าหาญในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่กล้าหาญไปอวดใครหรอก

ไปอวดใครนั่นมันเรื่องกิเลสทั้งนั้นน่ะ การยกตนข่มท่าน การเหยียบย่ำทำลายกัน มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเป็นความจริงๆ นะ มันย้อนกลับมาสู่หัวใจของตน

เวลารวงข้าว ข้าวมันออกแล้วมันน้อมลงต่ำ แต่จิตใจของคนที่มีธรรม จิตใจของคนที่มีธรรมเขาเอาไว้ในหัวใจของเขา เขาเห็นแล้ว หลวงตาท่านพูดไง ถังขยะ โลกเป็นถังขยะ มันเป็นที่น่าสะอิดสะเอียน มันน่าขยะแขยง แล้วไปยุ่งกับมันทำไม

แต่นี้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เป็นมนุษย์ด้วยกันไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันจะไปพูดกับใคร เขาจะหาว่าเราบ้า หาว่าเราบ้าไง หาว่าเราบ้า บ้าเพราะมันพูดเรื่องนอกเหนือจากโลก โลก เรื่องของโลก เขาก็แสวงหาของเขาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตน อุดมสมบูรณ์ของตนในความรู้สึกของเขาไง

แต่เวลาถ้าเป็นนักปฏิบัตินะ เขาแสวงหาที่สงบสงัด เขาแสวงหาที่วิเวก เขาแสวงหา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติกัน วันเวลามันช่างเชื่องช้าเหลือเกิน ทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดแล้วมันกระวนกระวายไง

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ วันคืนล่วงไปเร็วมาก เดี๋ยววันๆๆ ทำไมมันเร็วไปขนาดนั้นน่ะ เพราะจิตใจมันอยู่กับข้อวัตรปฏิบัติไง จิตใจมันอยู่กับธรรมวินัยไง จิตใจมีสติยับยั้งดูแลมันไง ถ้ามีสติยับยั้งดูแลมัน มันมีแต่ความสุขทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีความสุข วันเวลามันล่วงไปเร็วมากๆ

แต่ถ้าเวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ วันเวลามันเชื่องช้ามาก มันมีแต่ความทุกข์ความยาก มันมีแต่ความบีบคั้นหัวใจ เมื่อไหร่จะหมดเวลาจริงๆ...หมดทำไม ปฏิบัติเอาคะแนนไง ปฏิบัติเท่านั้นชั่วโมง ปฏิบัติเท่านี้ชั่วโมง ปฏิบัติแล้วมันได้ความสุขความสงบ

จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เป็นได้หลากหลาย จิตนี้มหัศจรรย์นัก ถ้าจิตนี้มหัศจรรย์นักนะ ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา นี่เป็นอริยทรัพย์เพราะเราเกิดมามีกายกับใจๆ ไง เพราะร่างกายนี้มันต้องบีบคั้น ร่างกายนี้มันต้องการอาหารของมัน ร่างกายต้องการความอบอุ่น ร่างกายต้องการพักผ่อน ร่างกายมีการกระทำ เห็นไหม

เวลาเราเกิดมา ร่างกายมันบีบคั้น เวลาเทวดาเขามีแต่กายทิพย์ๆ เขามีความสุขของเขานะ เขามีความสุขของเขา เขาไม่ต้องขี้ไม่ต้องเยี่ยว ไม่ต้องเช็ด ไม่ต้องคอยอาบน้ำอาบท่า เขาไม่ต้องเลย เขาเป็นทิพย์สมบัติหมด

แต่ของเรามันมีภาระรับผิดชอบพะรุงพะรังไปทั้งนั้น ภาระรับผิดชอบ โรคประจำตัวของเราคือโรคหิว โรคหิวมันบีบคั้นขึ้นมา เวลาคนหิวคนกระหายขึ้นมาก็ต้องแสวงหาขึ้นมาปรนเปรอมัน ถ้าคนมีสติมีปัญญาเขาระลึกได้ไง เราเกิดมาทำไมๆ เกิดมา สิ่งที่มันบีบคั้น นี่ความสุขน้อยนิด แต่ความทุกข์มหาศาล

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เวลาเขาครองเรือนๆ ความสุขน้อยนิด แต่ความทุกข์ความยากมหาศาล เหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลเลย เพื่อเอาปลาตัวเดียว แต่ก็ครองเรือนกันทั้งโลก ไม่มีใครออกจากเรือน ไม่มีใครออกประพฤติปฏิบัติ เวลาออกไปประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ทุกข์ๆ ยากๆ

เวลาประพฤติปฏิบัติ เราก็พยายามขวนขวายของเรา ถ้ามันประพฤติปฏิบัติ คนที่มีอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วจะประพฤติปฏิบัติ ออกบวชๆ เวลาออกบวชขึ้นมาแล้วจะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ดี เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อให้พ้นจากทุกข์ๆ ไง แนวทางปฏิบัติก็มหาศาลใช่ไหม

เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามขวนขวายของท่านๆ ท่านไปแสวงหาที่ไหนก็แล้วแต่ เพราะคนที่มีอำนาจวาสนามันจะมีจุดยืนนะ เวลามีจุดยืนมันจะเทียบเคียงกับคำสั่งสอนของเขา พฤติกรรมของเขา การกระทำของเขา มันมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามันไม่มีอยู่จริง เราทิ้งสละจากที่นั้นไป ไปหาที่ใหม่ๆ หาที่ไหนมีคนรู้แจ้ง คนรู้แจ้งมันหามาจากไหน มันหาไม่ได้ เห็นไหม ท่านถึงพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามข้อวัตร แล้วพยายามค้นคว้าขึ้นมา

เพราะมันเป็นยุคเป็นคราวนะ คำว่าเป็นยุคเป็นคราวเวลาคนมีบุญเกิด เวลาคนมีบุญเกิดนะ สังคมร่มเย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การอยู่ของสังคมมันมีความสุข เวลามีแต่คนบาปเกิดนะ สังคมมีแต่ความทุกข์ความร้อน มีแต่ภัยแล้ง อาหารการกินก็ไม่มี ทุกอย่างทุกข์ยากไปหมด

เวลาคนมีบุญเกิด ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ไว้ในพระไตรปิฎก ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง กึ่งกลางพระพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ว่า มันจะเจริญตั้งแต่สมัยพระจอมเกล้าฯ ก่อน พ.. ๒๕๐๐ กึ่งพุทธกาลนั่นน่ะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน มันมีแนวทาง สังคมมันซับซ้อนมาเพื่อจะให้ค้นคว้าไง เวลาค้นคว้าขึ้นมา แล้วใครรู้จริงล่ะ สัจธรรม สัจธรรมมันอยู่ที่ไหน

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเราๆ ก็ได้ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทางกับเรา ศึกษามา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ก็แนวทางในพระพุทธศาสนามันมีอยู่แล้ว แต่ศึกษามาๆ ก็ไปหยิบฉวยมาประดับเกียรติของกิเลส กิเลสเอามาชูธง ชูธงว่า แนวทางปฏิบัติแนวทางนั้นดี ปฏิบัติไปแนวทางนี้ดี

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าชำระล้างกิเลส เห็นไหม รวงข้าว เวลาข้าวมันออกรวง มันแก่ มันน้อมลงต่ำ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นไม่เคยไปทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เคยไปโชว์ใครเลยว่าแนวทางไหนดี ท่านเก็บเนื้อเก็บตัวของท่าน ชื่อเสียงกิตติศัพท์กิตติคุณขจรขจายไปทั่วโลก คนที่จะประพฤติปฏิบัติต้องแสวงหา ต้องพยายามขวนขวายไปหาท่าน

พอไปหาท่าน ท่านไม่ให้อยู่ด้วย พระอยู่จำพรรษากัน ๔ องค์ ๕ องค์เท่านั้นอย่างมาก นอกนั้นให้อยู่ชายขอบ มีเวลาเข้ามาแล้วให้เข้ามาฟังธรรม เสร็จแล้วให้ออกไปประพฤติปฏิบัติ นี่ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา เห็นไหม สูงสุดสู่สามัญไง น้อมลงต่ำๆ ไม่ชูธงว่า สิ่งนู้นดีอย่างนี้ สิ่งนี้ดีอย่างนั้น เวลาไปปฏิบัติก็ไปปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔

เวลาครูบาอาจารย์แล้วปฏิบัติอย่างไร

ก็ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะ

แล้วเอาอะไรปฏิบัติล่ะ

ก็ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะ

แนวทางสติปัฏฐาน ๔ ก็ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ก็ท่องจำกันมาไง แล้วเอาอะไรปฏิบัติล่ะ

ก็ปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ อย่างไร

ก็แนวทางสติปัฏฐาน ๔

ก็เอาบาลีมาถกเถียงกัน แล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ

แต่จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้ เห็นไหม แค่ชาวพุทธเรามีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา เราก็แสวงหาคุณงามความดีของเรา เราพยายามแสวงหาความดีของเรา เดี๋ยวกิเลสมันแทรกแซงมาก็พยายามใช้สติยับยั้งมัน เราปฏิบัติของเราไปมันก็ยังมีความร่มเย็นเป็นสุขไง เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติไปจะถูกต้องดีงามไม่ดีงามอย่างไร เขาก็พยายามขวนขวายของเขา พยายามหักห้ามความรู้สึกนึกคิดของเขา มันก็อยู่ในแนวทาง ก็แค่นั้น

แนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะ

เวลาทำปฏิบัตินะ แล้วเวลาปฏิบัติไป เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติ นี่พูดถึงว่าในแนวทางที่เขายกย่องว่าเป็นปัญญา เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยกันหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เขาบอกไอ้นั่นเป็นสมถะ ไอ้นั่นมันเสียเวลาเปล่า ไอ้นั่นไม่เป็นวิปัสสนา

คนที่มีสติมีปัญญาก็พยายามขวนขวายของเขา เวลาขวนขวายของเขา เวลามันไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมามันก็ว่านั่นคือการพิจารณา

มันจะไปพิจารณาอะไร โลกียปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญา โลกุตตระมันจะเกิดอย่างไร ถ้ามันยังไม่เกิด มันเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม

เวลาเราเป็นนักปฏิบัตินะ เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติ เราก็มีความทุกข์ความยากมาในหัวใจทั้งนั้น เรามีเป้าหมายของเราว่าเราจะพ้นจากทุกข์ เราอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้มรรคได้ผล ถ้าได้มรรคได้ผลขึ้นมา เราปฏิบัติของเรา ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทำความสงบของใจเราเข้ามา เราก็มีความสุข ความสงบระงับพอสมควร ถ้าพอสมควร ถ้ามันรู้มันเห็นสิ่งใด มันก็รู้เห็นของมันใช่ไหม ตามแต่ที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแนวทางของใคร

แนวทางส่วนแนวทาง แต่ความจริงกับความเท็จอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม ระหว่างกิเลสกับธรรมๆ ถ้ามันเป็นธรรมๆ ขึ้นมา มันก็จะเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เป็นธรรมๆ ขึ้นมา ใจมันก็มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมามันก็พัฒนาของมันขึ้นไป

ถ้ามันไม่เป็นธรรมๆ มันก็เป็นเรื่องวิปัสสนึก นึกเอาเอง นึกเอาเอง สร้างภาพเอง มันก็เป็นไปตามความเห็นของมันนั่นน่ะ

ถ้าประพฤติปฏิบัติ นี่ไง หลวงปู่มั่นท่านบอกไง จิตนี้เป็นได้หลากหลายนักๆ เริ่มต้นก็กิเลสของเรากิเลสอย่างหยาบๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่พอใจต่างๆ เวลาถ้าทำความสงบของใจเข้ามา อุปกิเลส กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดมันก็หลอกมันก็ล่อ เห็นไหม

เวลาครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นไงจิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ จิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ”...กายอะไร

เวลาคำว่ากายเวลาโดยพื้นฐาน โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ โดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นสัจจะเป็นความจริงทั้งนั้นน่ะ เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ

เวลากิเลสมันรุนแรงขึ้นมา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ มันก็หายใจไม่ได้ กำหนดคำบริกรรมก็ไม่ได้ เห็นไหม ให้กำหนดมรณานุสติ ระลึกถึงความตายๆ เวลาคนที่มันมีพื้นฐานที่หยาบช้า คนที่หัวใจที่มันดื้อด้าน เวลาหัวใจมันดื้อด้าน ครูบาอาจารย์ก็บอกว่าให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปอยู่กับซากศพ ให้ไปพิจารณา มันก็เป็นพื้นฐานเพื่อทำความสงบของใจทั้งสิ้น นี่โดยพื้นฐานๆ

นี่ไง มนุษย์เกิดมาจากไหน จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะๆ เวลามันเกิดมา มันเกิดมาเพราะอะไร มันเกิดมาเพราะเวรเพราะกรรมของมัน ถ้าเพราะเวรเพราะกรรมของมัน แต่มันได้มีบุญกุศล มันได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้วถ้ามีสติมีปัญญา เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองดูแลหัวใจของตน มันก็จะพยายามของมัน

ถ้ามีความพยายาม การพยายาม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันจะรู้เฉพาะตน มันเป็นสันทิฏฐิโกรู้เฉพาะหัวใจดวงนั้น ถ้าหัวใจดวงนั้นเป็นความจริงขึ้นมา มันมีอำนาจวาสนาขึ้นมา มันก็พยายามขวนขวายของมัน ถ้าขวนขวายของมันนะ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา

ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะมันก็มีแต่คารม มีแต่สัญญาอารมณ์ มีแต่การคาดหมายกันไป แต่ด้วยมารยาทสังคม ปฏิบัติแล้วมันก็นุ่มนวล นุ่มนวลก็ดูว่าเป็นจริงเป็นจัง

แต่เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่ประพฤติปฏิบัตินะ ถ้ามันมีอำนาจวาสนาแล้วดูแลดีๆ เวลาจิตมันสงบระงับมันก็เป็นไปของมัน เวลาที่มันเสื่อม เวลาที่มันดื้อด้าน เวลามันดื้อมันด้าน มันฟาดงวงฟาดงา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ากิเลสเหมือนช้างสารที่ตกมันอยู่ในกลางหัวใจเรานี่ เวลาช้างตกมันก็กระฟัดกระเฟียดขนาดไหน ถ้ามันกระฟัดกระเฟียดขนาดไหน เวลาจิตที่มันประพฤติปฏิบัติถ้ามันดีงาม มันก็ดีงามของมัน

เวลามันกระฟัดกระเฟียด ดูผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วแหลกเหลวไปก็เพราะว่าเวลาจิตมันเสื่อม จิตมันตกต่ำ แล้วมันไม่มีการฟื้นฟู มันไม่มีการกระทำของมันขึ้นมาไง นี่เวลาถ้ามันไม่มีสติไม่มีปัญญา ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงบอกพยายามจะให้รักษา พยายามจะดูแลให้ดีขึ้นมา ถ้าดูแลให้ดีขึ้นมา เห็นไหม

ถ้าเป็นจริง ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบระงับแล้ว ถ้ามันเป็นจริงแล้วมันจะรู้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ถ้ารู้เห็นตามความเป็นจริงของมัน

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ศีล สมาธิ ปัญญา เรามีศีลหรือไม่ เรามีสมาธิหรือไม่ เรามีปัญญาหรือไม่ ถ้าเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา เราขวนขวายขึ้นมา มันจะเริ่มต้นในการวิปัสสนา ในการทำคุณงามความดีของเรา แต่มันไม่มี พอไม่มีขึ้นมากาย กายก็เป็นอริยสัจ เวทนาก็เป็นอริยสัจ จิตก็เป็นอริยสัจ ธรรมก็เป็นอริยสัจ”...มันจะเป็นอริยสัจไปได้อย่างไร ความที่เป็นอริยสัจนี้มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นปัญญาสามัญชน มันจะเป็นอริยสัจไปไหน มันเป็นอริยสัจไปไม่ได้

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามีจิต ในสติปัฏฐาน ๔ มี ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ถ้าในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญาคือการศึกษามาๆ ก็ท่องจำทั้งนั้นน่ะ การท่องจำนกแก้วนกขุนทองมันไม่มีอยู่จริงหรอก

แต่ถ้ามันจะเป็นจริงๆ ขึ้นมา ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม ถ้ามันเปรียบเทียบ เหมือนกับอาหาร สิ่งที่มีอาหารขึ้นมา เขาจะแกงเทโพ เวลาแกงเทโพเขามีหมู มีพริกแกง เขาต้องมีผักบุ้ง เขามีต่างๆ เขาก็แกงขึ้นมา มันเป็นแกงเทโพ

แกงเทโพมีผักบุ้ง แต่ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ ในผักบุ้งก็ผักบุ้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เวลามีศีล มีสติ มีสมาธิ ถ้ามีศีล มีสติ มีสมาธิขึ้นมา เรามีวัตถุพร้อมแล้ว ถ้ามีวัตถุที่พร้อมแล้วเราจะแกงเทโพ มันก็จะเป็นแกงเทโพขึ้นมา

ถ้าผักบุ้งก็มี หมูก็มี พริกแกงก็มี ปล่อยไว้ให้มันเน่ามันเสีย แกงไม่เป็น แกงไม่เป็นก็ทิ้งไว้นั่น เห็นไหม แล้วพอแกงไม่เป็นขึ้นมา พอปฏิบัติไปมีอายุพรรษาขึ้นมา เวลาสั่งสอนนะ กายก็คืออริยสัจ เวทนาก็คืออริยสัจ จิตก็เป็นอริยสัจ ธรรมก็เป็นอริยสัจ เป็นสติปัฏฐาน ๔”...สติปัฏฐาน ๔ อะไร

ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม

ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ ไม่มี

ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ ในแกงเทโพมีผักบุ้ง

ถ้าเป็นผักบุ้ง ผักบุ้งคือผักบุ้ง กายก็เป็นกาย จิตก็เป็นจิต เวทนาก็เป็นเวทนา ธรรมก็เป็นธรรม

กาย ถ้ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นอริยสัจ คนตาย ซากศพเยอะแยะไปหมด นั่นคือกาย เวลาร่างกายของเรามันเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายของเรามันเป็นอริยสัจไหม คนอยู่นอกศาสนา คนที่ไม่เชื่อในพระพุทธศาสนา เขาไม่เชื่อของเขา กายเป็นอริยสัจไหม กายไม่เป็นอริยสัจ

เวทนา เจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ความยาก เป็นอริยสัจไหม ถ้าเป็นอริยสัจ ทำไมเอ็งเจ็บปวดคร่ำครวญร้องไห้ ถ้าเป็นอริยสัจ ทำไมเอ็งไม่วิปัสสนา เอ็งไม่รู้แจ้งในเวทนานั้น

จิต ดูสิ คนคิดฟุ้งซ่าน คนคิดร้อยแปดไป มันเป็นอริยสัจไหม

เวลาอารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก ธรรมารมณ์ๆ มันเป็นอริยสัจไหม มันไม่เป็น มันไม่เป็นอริยสัจ

กาย เวทนา จิต ธรรม ก็คือกาย เวทนา จิต ธรรม แนวทางสติปัฏฐาน ๔ แนวทางสติปัฏฐาน ๔ ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแนวทางสติปัฏฐาน ๔

เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามาแล้ว นี่ใจสงบระงับมันยังยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่เป็น นี่ไง เวลาเรามีศีล มีสมาธิ ปัญญาวิปัสสนาไม่ได้ มีผักบุ้งพร้อม มีหมูพร้อม มีพริกแกงพร้อม ทิ้งไว้เน่าหมดเลย เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันเอาแกงเทโพมาจากไหน

แกงเทโพมันก็อยู่ที่การประพฤติ อยู่ที่การฝึกหัด อยู่ที่การกระทำ ถ้าอยู่ที่การประพฤติ อยู่ที่การฝึกหัด อยู่ที่การกระทำ เห็นไหม เป็นพ่อครัวใหม่ เวลาเห็นเขาแกงก็แกงตามเขาไป มันจะเป็นแกงก็ไม่เป็นแกง ก็เป็นต้ม เวลาทำไม่เป็นขึ้นมา เขาแกงเทโพ ไอ้นี่มันเป็นแกงส้ม แกงส้มผักบุ้ง

เขาแกงเทโพ เขามีกะทิ เขาก็มีเครื่องแกงของเขา มันแกงเทโพ เราก็ทำกับเขา แต่เราใส่ไม่สมบูรณ์ของเรามันก็เป็นแกงส้ม แล้วผักบุ้ง ผักบุ้งมันจะไปผัดผักบุ้งไฟแดงนู่นน่ะ แล้วมันก็จะแถกายเป็นอย่างนั้น กายเป็นอย่างนี้ ผักบุ้งจะเป็นอะไรก็ได้ถ้าเราใช้สติปัญญาของเรา

ผักบุ้งก็คือผักบุ้ง นี่เขาพูดถึงแกงเทโพ ผักบุ้งมันจะผัดผักบุ้งไฟแดงก็ได้ ผักบุ้งแกงส้มก็ได้ ผักบุ้งจิ้มน้ำพริกก็ได้

นี่ก็เหมือนกันพิจารณากายสิคะ เวลาจิตสงบแล้วพิจารณากายสิ พิจารณากาย

พิจารณาอย่างไร แล้วพิจารณาแล้วมันเป็นอย่างไร เคยกินแกงเทโพไหม เคยกินแกงส้มไหม เคยกินผักบุ้งไฟแดงหรือเปล่า มันต่างรสชาติ มันต่างสถานะ มันมีความแตกต่าง มันมีรสชาติไม่เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันภาวนาเป็นนะ ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ นอกสติปัฏฐาน ๔ นี่ไง กายก็คือกาย มันเป็นเรื่องโลกๆ เวลาคนเกิดมา มนุษย์เกิดมามีกายกับใจๆ แล้วก็ตายหมด เกิดมาตายทิ้งเปล่าๆ ไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติเป็นชิ้นเป็นความดีของตนไปเลย แล้วเกิดมาแล้วยังทำความเลวทรามต่างๆ มันยิ่งได้เวรกรรมเพิ่มมากขึ้นไปอีก

เวลาเกิดมาแล้ว ตายแล้วอย่างน้อยให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัติ ถ้าจะเป็นเทวดา อินทร์ พรหม สร้างคุณงามความดี เวลาตายแล้ว จิตตคหบดี เขาเอารถเทวดามารับ รถสวรรค์มารับเลย นี่ไง ถ้าจิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เชื่อกรรม กรรมคือการกระทำ ทำดี ทำชั่ว ถ้าทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีทางโลก เราก็ได้สิ่งที่เป็นผลเป็นอามิส ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะฝึกหัดใจของเราขึ้นมาให้เป็นสัจจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นสัจจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันจะรู้ความจริงของมันขึ้นมาในหัวใจอันนั้น

ถ้าหัวใจอันนั้นนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น เวลาคนที่ปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าปุถุชน ปุถุชนคนหนา ถ้าปุถุชนคนหนา กิเลสมันย่ำยีทั้งนั้นน่ะ ถ้าปุถุชนคนหนา กิเลส เจ้าวัฏจักรมันครอบครองหัวใจของสัตว์โลกตั้งแต่พรหมลงมาเลย มันครอบครองหมด เว้นไว้แต่พรหมที่เป็นอริยเจ้า ถ้าอริยเจ้ามันมีส่วนของพญามาร แต่ลูกหลานมัน เขารู้ทันมัน ควบคุมมันได้ นี่ถ้าเป็นจริงๆ นะ

แต่ถ้าไม่เป็นจริงนะ มืดบอด มืดบอดก็ไม่รู้หน้ารู้หลัง ไม่รู้สิ่งใดทั้งสิ้น เชื่อแต่ความเห็นของตน เชื่อแต่ความหยาบช้าของกิเลสที่มันเหยียบย่ำทำลายหัวใจของตน แล้วถ้าคนไม่มีวาสนามันก็ไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย ถ้าคนมีวาสนาเวลาเชื่อขึ้นมาก็เชื่อโดยกิเลสที่มันบิดเบือน บิดเบือนให้อ้างอิง อ้างอิงไปไง

นี่ไง แต่ถ้าเป็นจริงๆ ขึ้นมา คนที่มีสัจจะมีความจริงขึ้นมา เขาต้องทดสอบใจของเขา ทดสอบใจของเขา ถ้าเป็นสมาธิ แค่เป็นสมาธินี่มหัศจรรย์แล้ว ส่วนใหญ่ที่ทำกันไม่ได้ ทำสมาธิไม่เป็น ทำสมาธิไม่เป็นแล้วกายยังเป็นอริยสัจอีก

ผักบุ้งไม่ใช่แกงเทโพ กายเป็นกาย กายมันจะเป็นไปได้ แนวทางสติปัฏฐาน ๔ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แต่ท่านสอนตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงเพราะคนเรามันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่อำนาจวาสนา เห็นไหม พันธุกรรมของจิตๆ ใครได้สร้างสมบุญญาธิการมามากน้อยขนาดไหน

ในเมื่อในดวงใจของใครที่สร้างสมบุญญาธิการมา เมล็ดพันธุ์ ใจดวงนี้เป็นเมล็ดพันธุ์เป็นทุเรียน มันก็ปลูกเป็นทุเรียนทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเป็นส้มก็ปลูกเป็นส้ม ถ้ามันเป็นกล้วยมันก็ปลูกเป็นกล้วย

นี่ก็เหมือนกัน มันจะพิจารณาเป็นแนวทางอย่างใดมันอยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยขึ้นมา ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านสอนเฉพาะๆ ทั้งสิ้น เวลาสอนเฉพาะๆ ที่ว่าองค์ที่มีความสามารถ องค์ที่ประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าองค์ที่ไม่มีความประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านก็ดูแลไว้เป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ ก็เท่านั้น นี่มันเป็นเรื่องวาสนาของคน ถ้าเรื่องวาสนาของคน

ถ้ามันเป็นจริงๆ ขึ้นมา มันไม่เป็นโดยสูตรสำเร็จหรอก ปฏิบัติโดยสูตรสำเร็จ ไม่มี ปฏิบัติโดยการฝึกทหาร ไม่มี มันเป็นแม่เป็ด เป็ดเดินเป็นแถวๆ ไม่มี มันปฏิบัติ มันปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนั้น ปฏิบัติตามความเป็นจริงในกิเลสของคน นั่นในกิเลสของคน เห็นไหม

ถ้าแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันจะรู้จะเห็นสิ่งใดขึ้นมา มันเห็นสิ่งใดก็ได้ แล้วไม่จำเป็นต้องเห็นสิ่งใดอย่างหนึ่งตลอดไป มันจะพิจารณาของมัน ถ้ามันจับต้องสิ่งใดมันจะพิจารณาอย่างนั้น ถ้ามันมีสัจจะความจริงนะ ถ้ามีสัจจะความจริง มันจะเห็นคุณค่าของจิตที่สงบ

จิตที่สงบนะ เริ่มต้นการกระทำ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนประจำ ผู้ฝึกหัดใหม่ให้ทำความสงบของใจเข้ามา ผู้ที่ปฏิบัติฝึกหัดใหม่ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วนะ ถ้าใจมันสงบระงับขึ้นมามันจะเห็นคุณค่าของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระ ถ้ารักษาหัวใจของตนได้ มันจะมีคุณค่าในความเป็นพระ นี่ในความเป็นพระไง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดทำความสงบของใจเข้ามาได้นี่เห็นพุทธะ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานของหัวใจ ถ้าหัวใจมันตื่น มันเบิกบาน มันองอาจ มันกล้าหาญของมันนะ มันกล้าหาญ กล้าหาญในจริยธรรม กล้าหาญในการไม่ยอมให้หัวใจถูกกิเลสกดขี่ มันจะมีสติมีปัญญา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา

แต่ถ้าจิตมันไม่สงบเข้ามา มันเป็นโลก คำว่าเป็นโลกเห็นไหม เราอยู่ในบ้าน แต่จิตใจเราไม่อยู่ในบ้านเลย มันร้อนรนคิดแต่ส่งออกไปนอกบ้านหมด พระ พระที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเลยเวลาจิตมันเสื่อม ถ้าจิตมันมีสติปัญญา ความคิดที่ส่งออกๆ ไป มันส่งออกไปจากภวาสวะ ส่งออกไปจากจิตของเรา

ซากศพคิดไม่เป็น ซากศพคิดไม่ได้ คนตายคิดไม่ได้ คนที่จะคิดได้ เฉพาะคนเป็นๆ เท่านั้น คนเป็นๆ มันมีจิตอยู่

จิต เวลาจิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้มาเกิดเป็นเราๆ ด้วยอำนาจวาสนาของเรา มันคิดได้ประสาเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปกว้างไกลขนาดไหน ไม่มีต้นไม่มีปลาย นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาเราไม่มีความสงบระงับขึ้นมา เราไม่สามารถย้อนหรือสามารถดูได้เลยว่าเรานี้มันมาจากไหน เราไม่รู้หรอก ถ้าทำความสงบไม่เป็น เห็นไม่ได้

เวลาทำความสงบของใจเข้ามา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง เวลานั่งลงสู่โคนต้นโพธิ์นั้นคืนนี้ถ้าไม่ตรัสรู้ เราจะไม่ลุกจากที่นี่เริ่มกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ดูแต่ลมหายใจอย่างนั้น อย่างใดๆ ไม่สนใจทั้งสิ้น พอจิตมันสงบระงับเข้าไป พอจิตมันสงบเข้าไป นี่สัมมาสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้าไปๆ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตคนที่มันสงบระงับเข้ามา ถ้ามันรักษาตัวมันเองได้ มันมีอำนาจวาสนาบารมี มันสามารถรู้ได้ คำว่ารู้ได้แต่ถ้ามันโดยอ่อนด้อย พอมันไปรู้ไปเห็นสิ่งใด มันไปตื่นเต้นกับความรู้ความเห็นไง นี่ไง พอตื่นเต้นกับความรู้ความเห็น ในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เขาบอกว่ากำหนดพุทโธ กำหนดลมหายใจเข้าออกมันจะไปเห็นนิมิต มันจะไปติดนิมิตนั้น นั่งหลับตาๆ มันเป็นฌาน มันต้องนั่งลืมตา

หลับตาหรือลืมตา สมาธิก็คือสมาธิ ตาก็คือตา ตาไม่เกี่ยวกับสมาธิ สมาธิไม่เกี่ยวกับตา แต่ในวงกรรมฐาน การนั่งหลับตา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ การนั่งสมาธิ การนั่งสมาธิเป็นสมาธิได้ง่าย แล้วก็จะเสื่อมง่าย

การเดินจงกรมก็คือการลืมตา การเดินจงกรม สมาธิเกิดในทางจงกรมเกิดได้ยาก เพราะเคลื่อนไหวแล้วสงบ เคลื่อนไหวคือเดินอยู่ แล้วจิตสงบ แต่ถ้ามันสงบแล้วมันจะเข้มแข็ง มันจะมีจุดยืนของมัน

สมาธิก็คือสมาธิ ไม่เกี่ยวกับหลับตาลืมตา นี่ไง แต่ความเข้าใจผิดว่า สมาธิหลับตานี่เป็นฌาน เป็นฌานโลกีย์ มันไม่ใช้ปัญญา ถ้าลืมตา ลืมตามันจะเป็นปัญญา แต่เวลาปิดใจมันไม่บอก ใจปิดกั้น ใจปฏิเสธ ใจไม่ยอมรับความจริง มันจะเป็นสมาธิไปได้อย่างไร

สมาธิมันก็คือสมาธิ สมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตไม่วอกแวกวอแว จิตตั้งมั่นแล้วจิตมีกำลัง ถ้าจิตมีกำลัง ถ้ามันจะเห็นนิมิต ถ้ามันจะรู้สิ่งใด นั้นมันคือจริตนิสัย นั้นคือกรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ผลของวัฏฏะๆ เพราะจิตดวงนี้เคยเวียนว่ายตายเกิดมาในวัฏฏะ เพราะจิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันทำบุญทำกรรมสิ่งใดมา เวลาจิตสงบเข้าไปแล้วมันก็จะไปรู้ไปเห็นตามแต่อำนาจวาสนา ตามแต่กรรมของตน

ถ้ากรรมของตน คนมีกรรมๆ ถ้าคนมีกรรมเวลามันเห็นสิ่งใด เขาก็มีสติปัญญาคอยแยกแยะคอยแก้ไข ถ้าเห็นผีเห็นเปรต เห็นอดีตอนาคต เห็นคนโน้นจะไปหา คนนี้จะไปหา...ไร้สาระ ไร้สาระเพราะเราตั้งต้นตั้งแต่เริ่มปฏิบัติว่าเราจะนั่งสมาธิ เราไม่ได้ตั้งต้นว่าเราปฏิบัติแล้วเราจะไปรู้เห็นสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้ารู้เห็นสิ่งใดๆ นะ สิ่งที่ว่าพวกฤๅษีชีไพร พวกหมอดู พวกทายโชคทายชะตา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธทั้งนั้นน่ะ ปฏิเสธไม่ไปเกี่ยวข้องวอกแวกวอแวกับเขา เพราะมันไม่มีอยู่ในตำราพระพุทธศาสนา

ตำราในพระพุทธศาสนาสอนถึงศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ ความจะเป็นมรรค ๘ มันอยู่ที่วาสนาไง แล้วเราก็ตั้งใจแล้วว่า เราบวชมาหรือเรานักปฏิบัติมา เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเข้าสู่สัจจะความจริงๆ

ถ้าเข้าสู่สัจจะความจริง ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา แล้วถ้ามันรู้มันเห็นสิ่งใด ถ้าครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอก ทำความสงบของใจเข้ามา รู้เห็นสิ่งใดวางไว้ๆ สิ่งนั้นเห็นแล้ววางไว้ๆ เห็นแล้วไปตื่นเต้นทำไม เราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราต้องการหัวใจของเรา เราต้องการฟื้นฟูหัวใจดวงนี้ ถ้าฟื้นฟูหัวใจดวงนี้ เห็นสิ่งใดก็วางไว้ๆ มันจะเข้มแข็งขึ้นมา

แต่คนที่มันอ่อนด้อยไปรู้เห็นสิ่งใดอู้ฮู! ฉันมีกำลัง ฉันมีความรู้นี่ไง ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ แกงเทโพมีผักบุ้ง ในผักบุ้งไม่มีเทโพ จะเอาผักบุ้งไปทำอะไร จะรู้เห็นอะไร จะออกนอกไปไหน ผักบุ้งยังไม่มีหมู ยังไม่มีพริกแกง เพราะอะไร

เพราะการวิปัสสนา จิตสงบแล้วในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม แต่ในนิมิต เห็นนิมิตในนิมิตนั้น มันเป็นไปโดยวาสนา มันเป็นไปโดยวาสนาว่าคนไปรู้ไปเห็น

. เป็นไปโดยวาสนา

. พอมีวาสนาแล้วมันเกิดอุปาทาน

เคยรู้เคยเห็นแล้วอยากรู้อยากเห็นให้ชัดๆ เคยเห็นสิ่งนี้แล้วอยากจะเห็นให้มันชัดเจน นี่มันหลอก ถ้ามันเป็นไปโดยข้อเท็จจริง มันจะเป็นไปโดยวาสนาของคน มันจะเป็นไปโดยจริต แต่โดยจริตคนที่มีอำนาจวาสนานะ โดยจริตถ้าจริตมันเข้มแข็งมันวางได้ เพราะไม่ต้องการ แต่คนที่อ่อนแออ่อนด้อยเห็นแล้วสำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นจริง

ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ ความรู้ความเห็นสิ่งนี้มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ มันไม่เข้าสู่แนวทางการประพฤติปฏิบัติ แต่มันก็เป็นเพราะด้วยอุปาทาน เพราะด้วยความอ่อนด้อย เพราะด้วยไม่มีวาสนา เพราะด้วยการกระทำมันอ่อนด้อยไป แล้วมันจะพาถูลู่ถูกังไป จนถึงที่สุดเออ! ไม่เห็นได้อะไรเลย เออ! ปฏิบัติมาตั้งนาน เหนื่อยน่าดูเลย” ...ก็เอ็งโง่ไง ก็เอ็งโง่ เพราะเอ็งไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ

ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ ทำไปเถอะ เห็นไปเถอะ เห็นจนเหนื่อย เห็นแล้วเห็นอีก เห็นแล้วได้อะไร เห็นแล้วพลังงานที่ส่งออกไปมันมีประโยชน์อะไร สิ่งที่เห็นๆ กล้องถ่ายรูปดีกว่าเอ็งอีก กล้องวงจรปิดมันจับภาพทั้งวันเลย แล้วมันได้อะไรขึ้นมา

ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ กล้องมันก็คือกล้อง มันก็เห็น กล้องมันก็จับได้ ตาเราก็จับได้ แล้วเราจะลดค่าตัวเราไปเท่ากับกล้องวงจรปิดหรือ เรามีคุณค่ามากกว่านั้น เพราะเราเป็นคนไปติดตั้งมันขึ้นมาเอง ติดตั้งมันขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับการรักษาความปลอดภัย แล้วจิตของเราไปรู้ไปเห็น เราเสียรู้ไป มันจะรักษาความปลอดภัยตรงไหน เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งใดเลยหรือ นี่ไง ถ้าจิตใจมันอ่อนด้อย

ถ้าจิตใจมันฉลาด เราไม่ดูก็ได้ เดี๋ยวเราไปเปิดกล้องดูทีหลัง นี่ไปรู้สิ่งใดมันก็วาง วางหมด นี่ไง ผักบุ้ง ต้องมีหมู ต้องมีพริกแกง ต้องมีเครื่องปรุง ต้องมีทุกอย่างพร้อม ทำความสงบของใจเข้ามาๆ ถ้าใจมันสงบแล้วของมันมีมากมายมหาศาล พอมีมากมายมหาศาล เราต้มเราแกงเป็นหรือไม่ ถ้าเราต้มเราแกงไม่ได้ ได้สิ่งใดมาก็สำคัญตน แล้วก็วางไว้ๆ มันเน่ามันเสียไปทั้งนั้นน่ะ

พระที่ประพฤติปฏิบัติที่ไม่ได้ผลก็เพราะตรงนี้ไง ได้สิ่งใดมาเพราะไม่มีวาสนา ไม่มีวาสนาเพราะอะไร เพราะดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ดำริชอบ ดำริเพื่ออะไร ดำริเพื่อออกจากทุกข์ ไม่ใช่ดำริว่า ปฏิบัติเพื่อจะรู้เห็น เพื่อจะสำคัญตน เพื่อจะเก็บคะแนน

การเก็บคะแนน การสะสมนั้นคือกิเลสมันหลอกลวงไป การละ การวาง การเสียสละนั้นน่ะ ยิ่งละยิ่งวางได้มากเท่าไหน จิตใจยิ่งสะอาด จิตใจยิ่งเบาบาง จิตใจเบาบางเพราะอะไร เพราะได้ละได้วางๆ

เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมนั้นกิเลสมันพอกพูนขึ้นมาในหัวใจดวงนั้น มันถึงมันทุกข์มันยากของมันขนาดนั้น

ถ้ามันทุกข์มันยากขนาดนั้น เรามาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อละเพื่อวาง ไม่ปฏิบัติเพื่อจะได้มักมากอยากใหญ่ เพราะความมักมากอยากใหญ่ อยากรู้อยากเห็น มันเลยไม่รู้สิ่งใด กิเลสมันก็ทิ่มมันก็แทงให้เราได้ออกนอกลู่นอกทาง

แต่พอมีสติปัญญาขึ้นมา ย้อนกลับมา สติปัญญาย้อนกลับมา เฮ้อ! โดนหลอกอีกแล้ว พอโดนหลอกอีกแล้วก็กลับมาฟื้นฟู กลับมาฟื้นฟูไง ถ้ากลับมาฟื้นฟู ต้องมีสติ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สตินะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมีสติ แล้วต่อไปข้างหน้าจะมีมหาสติ สติมันจะลึกซึ้งเพราะอะไร

เพราะขณะที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ จะบอก โอ้โฮ! จิตนี้ไวมาก จิตนี้คิดเร็วมาก สิ่งที่ไวมาก คิดเร็วมาก เพราะมันเป็นนามธรรมที่มันมีความรวดเร็ว ถ้ามีความรวดเร็ว เวลาสติขึ้นมามันทันหมด แล้วพอมันทันหมดแล้วถ้ามันละเอียดขึ้นไปๆ นะ นี่สังโยชน์ สังโยชน์ ๑๐ เวลาขึ้นไป รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

รูปราคะ อรูปราคะนะ ราคะคือความกำหนัดของตน รูปราคะ รูป อรูปภายใน โอ้โฮ! มันละเอียดกว่านั้นอีกเยอะมาก

นี่ไงแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะ ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะไอ้ไม่เป็นเลยก็วิปัสสนึก นึกไปเลย กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอริยสัจ มันเป็นตรงไหน มันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นขึ้นมา ทำไมจับต้องสิ่งใดไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน

ถ้ามันจับต้องสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา เวลามันละมันวางขึ้นไป ยิ่งละยิ่งวาง ยิ่งแวววาว ยิ่งผ่องใส ถ้ามันละมันวาง แต่เพราะละวางไม่ได้ แล้วกลัวด้วย กลัวว่าละวางไปแล้วเราจะเสียความรู้สึก เราจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะเรากลัวเสียความรู้สึก เสียการรับรู้อันนั้น เราถึงยึดมั่น

ยิ่งยึดยิ่งไม่มี ยิ่งยึด กิเลสยิ่งพาหลงทาง พอละวางสัญญาอารมณ์ ความคิดเกิดจากจิต มันลากไปทั้งนั้นน่ะ เราละเราวาง เราก็จะไปอยู่กับจิตเรา ถ้าเราละเราวางสิ่งต่างๆ มันก็เข้มแข็งขึ้นมา การที่เข้มแข็งขึ้นมา สติกับความรู้ ความรู้กับสติอย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธเป็นคำสั่งเสียของหลวงปู่มั่น

อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ แล้วไม่เสีย

ไม่ทิ้งผู้รู้คือไม่ทิ้งหัวใจของเรา ไม่ทิ้งจิตของเรา

อย่าทิ้งพุทโธ เพราะจิตของเรามันวอกแวกวอแว จิตของเรามันจะทรงตัวของมันอยู่ไม่ได้ ผู้รู้นี้ต้องกำหนดพุทโธ ผู้รู้นี้กำหนดพุทโธเพราะเราจะไปเฝ้าพุทธะ ถ้าผู้รู้นี้อยู่กับพุทโธ พุทโธๆๆ ของเราต่อเนื่องไปๆ ฟ้าดินจะถล่ม เรื่องของเขา ความรู้ความเห็นต่างๆ เรื่องของเขา อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ

มันจะแวววาว มันจะมีกำลังของมัน ถ้าแวววาว มีกำลังของมันนะ นี่ไง ถ้ามันเป็นจริงๆ เห็นไหม ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย เวทนา จิต ธรรม เราน้อมไปที่กาย ถ้ามันน้อมไปที่กายนะ คนที่พิจารณา เวลามันพิจารณาไปแล้ว นั่งภาวนาไป ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเวทนามันเกิดขึ้น ถ้ามันจับเวทนาได้ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนา เราจับเวทนามาพิจารณาได้

แต่ถ้าเวทนาเป็นเรา เห็นไหม ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ ถ้าเวทนากับเราเป็นอันเดียวกัน ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ เวลาเวทนาเกิดขึ้นเจ็บปวดนัก นี่เวทนาล้วนๆ เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตรงไหน มันจะเป็นจะตายอยู่นี่ ถ้ามันจะเป็นจะตายอยู่นี่ ถ้าจิตสงบเข้ามานะ แล้วมันจับต้องของมันได้ จิตสงบแล้วมันจับเวทนาได้ เวทนาก็เป็นเวทนา แล้วเวทนาขึ้นมา เวลาวิปัสสนาไปมันจะรู้มันจะเห็นของมัน มันแยกแยะของมัน เวทนานี้เป็นนามธรรม เวทนามันเกิดขึ้นมาเพราะเอ็งโง่ เพราะไปยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม

เวลาเวทนามันเกิดขึ้น เกิดขึ้นในแข้งในขาของเรา เวลานั่งภาวนา เวลาพิจารณาไปๆ มันแยกมันแยะของมันนะ อะไรเป็นเวทนา เอาตัวมันมาสิ กระดูกเป็นเวทนา หนังเป็นเวทนา ขนเป็นเวทนา อะไรเป็นเวทนา ไม่มีสักอย่างที่เป็นเวทนา เวทนาเพราะอะไร เพราะจิตมันโง่มันถึงไปรับรู้ มันถึงเป็นเวทนาไง

แล้วมีเวทนากาย เวทนาจิต ถ้าเวทนาจิตน่ะ ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ มันมาจากไหน มันมาจากกายหรือเปล่า ไม่เห็นมาจากกายเลย มันมาจากหัวใจทั้งนั้นน่ะ เวทนากาย เวทนาจิตไง

ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันวิปัสสนาขึ้นมา มันพิจารณาของมันขึ้นมา นี่ถ้าพิจารณา ในสติปัฏฐาน ๔ มี

นอกสติปัฏฐาน ๔ นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ จอมปลอม ปลอมๆ ของปลอมๆ ของปลอมๆ คือของจำ ของจำมา ของเพ้อเจ้อ นี่ขนาดเพ้อเจ้อนะ เพ้อเจ้อมันยังมีความสุขเลย ขนาดเพ้อเจ้อเพราะอะไร เพราะท่องทรงจำธรรมวินัยไง ท่องธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วใคร่ครวญๆ

ถ้ามันเป็นจริงๆ เวลาถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือการตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นกันอย่างไร

นี่ไง เวลาคนที่ทำงานเขามีสถานที่ทำงานใช่ไหม เวลาปฏิบัติขึ้นมาเขาต้องมีสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน นี่สมถกรรมฐาน เวลาปัญญามันเกิด มันเกิดบนฐานนั้น เวลาปัญญามันเกิด มันเกิดบนภวาสวะ มันเกิดบนจิตนั้น มันจะแก้ มันจะถอดมันจะถอน มันจะสำรอกมันจะคายกิเลสจากจิตนั้น ถ้าคายกิเลสจากจิตนั้น

สิ่งที่การกระทำ สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราพยายามหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วถ้ามันทำไม่ได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิๆ ความคิดมันเกิดจากไหน ความคิดมันเกิดจากจิต ความคิดเกิดจากฐานนั้นน่ะ ความคิดของคนเกิดบนภวาสวะ เกิดบนภพ

ไม่มีสถานที่ที่ตั้ง ไม่มีสถานที่ ความคิดเกิดไม่ได้ คนตายไม่มีความคิด แม้แต่คนเป็นๆ นะ เวลามันเผอเรอมันยังไม่คิดเลย อายตนะไม่เกี่ยวเนื่องกัน ความสัมผัสระหว่างผิวหนังกับบรรยากาศ ถ้าจิตรับรู้ ลมพัด แต่ถ้ามันลมพัดเย็นๆ แต่จิต อายตนะไม่เกี่ยวกัน อายตนะภายนอกภายใน นี่ไง ความกระทบมันถึงรับรู้

แล้วเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรากำหนดก็ไม่ได้ เราทำอะไรก็ไม่ได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรึกในธรรมๆ ที่ว่าปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะเขาก็ตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ ตั้งจะเอาบาลีข้อไหน แล้วก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องดีงาม มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี้คือการทำความสงบของใจ เพราะผลของมันคือสมาธิ ผลของการใช้ปัญญาคือสมาธิ เพราะเป็นปุถุชน เพราะเป็นคนหนา เพราะจิตใจเรายังหยาบ จิตใจเรายังกระด้าง จิตใจเรามันยังไม่สมควรแก่ธรรม

นี่ไง เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาแสดงธรรมๆ อนุปุพพิกถา ให้เขาทำทาน ให้เขามีศรัทธา ให้เขามีความเชื่อของเขา สุดท้ายแล้วให้ถือเนกขัมมะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแสดงอริยสัจ คำว่าอริยสัจไง อริยสัจ นี่ไง อริยสัจคือมรรค

แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกสามัญสำนึก มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องโลก มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก มันเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของมนุษย์ ฉะนั้น เวลามนุษย์เรา เรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ตรึกในธรรมๆ แบบที่เขาบอกว่าปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สิคะ

แนวทางสติปัฏฐาน ๔ คือเขาตรึกในธรรม เขาเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใคร่ครวญ มาแยกแยะ เป็นคำร้อง เป็นกลอน เป็นการฝึกหัดปัญญา ถ้าเขาฝึกหัดปัญญาโดยความเป็นสัมมาสมาธิ โดยความเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องดีงาม ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือสมาธิ ผลของมันน่ะ แต่เขาไม่ยอม ไม่ยอมรับรู้ เขาบอกว่านี่เป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔

เขาพยายามจะบังคับให้ผักบุ้งเป็นแกงเทโพแล้วกันแหละ ก็มีพร้อม มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม

กาย เวทนา จิต ธรรมก็นึกเอา ผักบุ้งไม่ใช่แกงเทโพ ผักบุ้งจะผัดผักบุ้งไฟแดงได้ ผักบุ้งจะจิ้มน้ำพริกก็ได้ แต่ไม่ใช่แกงเทโพ มันไม่เข้าสู่อริยสัจหรอก

ถ้ามันจะเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่สัจจะความจริง มันต้องมีความสมบูรณ์พร้อม จากปุถุชน กัลยาณชน นี่ไง ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐินะ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้องดีงาม

แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเริ่มต้นตั้งแต่มิจฉาทิฏฐิด้วยความเห็นของตนกายก็เป็นอริยสัจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอริยสัจ”...อริยสัจตรงไหน อริยสัจตรงไหน เพราะอะไร เพราะด้วยความบกพร่อง เพราะคนภาวนาไม่เป็น เพราะคนไม่เคยเห็นสัจจะความจริง

การแสดงธรรม ถ้าแสดงธรรมมาจากหัวใจที่เป็นความเป็นจริง มันจะสมบูรณ์แบบของมัน ถ้ามันแสดงไม่เป็นความจริง มันไปจับเป็นชิ้นเป็นอัน จับตรงไหนก็แล้วแต่มาตั้งเป็นหัวข้อ แล้วหัวข้อนั้นก็ทำให้มีความผิดพลาด มีความผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเอาหัวข้อนั้นเป็นอริยสัจ เอาหัวข้อนั้นเป็นความจริง มันเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้

ถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปัญญาอบรมสมาธิๆ ต้องจิตนั้นเป็นสมาธิ จิตนั้นมันเป็นผู้เห็น ถ้าจิตนั้นเป็นผู้เห็นนะ ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย จิตมันรู้มันเห็นขึ้นมานะ อู้ฮู!

ขณะเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธินะ สมาธิ คนที่ทำสมาธิแล้วสมาธิเสื่อมไป สมาธิเสื่อมแล้วเราพยายามฝึกฝนขึ้นมา โดยธรรมชาติ โดยข้อเท็จจริง มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติมีหนักมีเบา เวลาถ้ากิเลสมันหนา กิเลสมันหนาคือสมาธิเสื่อม คือกิเลสมันฟาดงวงฟาดงากับหัวใจ นั่นแหละเขาต้องเข้มข้น

การเข้มข้น การอดนอนผ่อนอาหาร การเผชิญหน้ากับความจริง มันจะเผชิญหน้า ทำไมต้องเผชิญหน้าล่ะ ถ้าเราไม่เผชิญหน้า ถ้ากิเลสมันเคยชนะเราหนหนึ่งนะ ต่อไปมันจะเอาเทคนิคอย่างนี้คอยบีบบี้สีไฟ การประพฤติปฏิบัติของเราจะเหลวแหลก

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติมาตามแนวทาง การปฏิบัติสม่ำเสมอ การปฏิบัติต่อเนื่อง การรักษาหัวใจของเราให้มันมีมาตรฐาน เวลาถ้ามันเสื่อม เสื่อม เราก็ฟื้นฟูขึ้นมา ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา เราก็แก้ไขของเราตลอดไป รักษาให้มั่นคงๆ ขึ้นมา

แล้วถ้ามันน้อมไปสู่กาย น้อมไปสู่สติปัฏฐาน ๔ จิตสงบแล้วจิตตั้งมั่น จิตมีกำลัง ถ้ามันเห็นกาย มันสะเทือนกิเลสมาก ถ้ามันจับเวทนาได้ มันก็พิจารณาเวทนาเป็นชิ้นเป็นอัน ถ้ามันจับจิตของมันได้ แล้วถ้ามันจับธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้น มันพิจารณา

เพราะถ้าจับธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ อารมณ์คืออะไร อารมณ์ ถ้าอารมณ์มันสมบูรณ์แบบของมัน มันก็เป็นความคิด ความคิดมันเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร ความคิดมันเกิดขึ้นมาได้เพราะสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้

เด็กๆ เกิดมา นี่สีเขียว นี่สีแดง เด็กๆ ไม่รู้จักสีสันหรอก เราก็พยายามฝึกฝนให้เขามีการศึกษา ให้เขาจำได้ ให้เขาจำตัวอักษรได้ ให้เขาผสมคำได้ต่างๆ นี่คือสัญญาทั้งนั้นน่ะ สัญญาคือการศึกษา คือการศึกษาทางโลก

ทีนี้การศึกษาทางโลก สิ่งที่รู้ที่เห็นขึ้นมา รู้เห็นแต่สัญญา สัญญามันรับรู้ รับรู้ขึ้นมา สังขารก็ปรุง เวลาสังขารปรุงขึ้นมาแล้ว เวทนา ปรุงดีหรือชั่ว มันเกิดวิญญาณรับรู้ วิญญาณรับรู้มันก็เป็นรูปเป็นอารมณ์ขึ้นมา พอเป็นอารมณ์ขึ้นมา เห็นไหม

ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันจับแล้วมันแยกมันแยะได้นะ อารมณ์อารมณ์หนึ่งมันก็เหมือนวงจรหนึ่ง ถ้ามีสติปัญญาเข้าไปแยกวงจรนั้นออก ดับ อารมณ์นั้นดับ นี่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔

แต่ถ้าไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ในผักบุ้งไม่ใช่แกงเทโพ ในความรู้สึกของเรา ความรู้ก็มีอารมณ์ มีโกรธ มีโลภ ไม่พอใจ ทุกข์ใจ อ้าว! ก็เราคิด เราดี เราเก่ง เราแน่ เรายอด มันก็ไปตามประสามัน นี่ไง มันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ หรอก

ถ้ามีสติปัฏฐาน ๔ คือมันจะจับได้จริงๆ มันจับอารมณ์ของเราได้ จับสติปัฏฐาน ๔ คือธรรมารมณ์ จิตสงบแล้ว มีกำลังแล้วจับได้ พอจับได้ เพราะอารมณ์นี้ พญามาร ครอบครัวของมารมันได้ใช้อาศัยเพื่อสร้างเวรสร้างกรรมมากับชีวิตของเรามหาศาล แล้วชีวิตของเราก็อยู่ใต้อำนาจของมารที่ให้มันข่มขี่กันมาตลอด

ในผักบุ้งไม่ใช่แกงเทโพ ในความรู้สึกนึกคิดของเรามันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทำลายล้างเรามาตลอด ถ้ามันมีสติมีปัญญาจะสร้างคุณงามความดีขึ้นมาบ้าง มันก็ตีโพยตีพาย มันก็บอกว่าไม่มีความจำเป็น ไม่จำเป็นจะต้องทำตอนนี้ ไปทำตอนใกล้จะเสียชีวิตก็ได้ การภาวนา ภาวนาตอนไหนก็ได้ ตอนนี้สำมะเลเทเมากันไปก่อน

นี่ไง ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ ในความรู้สึกนึกคิดถ้ามันไม่มีความสงบของใจ แล้วไม่เห็นตามความเป็นจริง นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงไหน สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นอย่างใด

เวลาจิตที่สงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่เป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ คือจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา

เวลาวิปัสสนาไปๆ คนเราวิปัสสนา คนเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราพิจารณาไปแล้ว ทีแรกพิจารณาไปแล้วมันก็แช่มชื่น พิจารณาไปแล้วมันก็ทะลุปรุโปร่ง พิจารณาไปแล้ว แหม! มันสุดยอด

การทำงานมันต้องพัก ถ้าการทำงานไม่พักแล้ว คน พอมันเหนื่อยจากงาน คนมันสมบุกสมบันแล้วมันจะเอากำลังที่ไหนไปทำงาน แต่ด้วยคนเราถ้ามันเป็นสมาธิๆ มันไม่ใช้ปัญญา เวลาสมาธิไม่ใช้ปัญญา ทำสมาธิเกือบเป็นเกือบตาย ตอนนี้พอใช้ปัญญาแล้วก็จะจ้วงจะฟัน จะเอาให้ได้มรรคได้ผลขึ้นมาไง พอมันใช้ไป สมาธิมันก็เสื่อมลง เวลาคิดไปมันเป็นสัญญาทั้งนั้นน่ะ เวลาใช้ปัญญาไปๆ

คนที่ภาวนาใหม่ๆ มันก็จะตกไปในสองฝ่าย อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มันจะตกไปในสองส่วน มันตกขอบไปทั้งซ้ายและขวา

มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลพอดี ความสมดุลพอดีมันต้องมีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน มันจะไม่ทำให้จิตเราตกขอบได้ทั้งสองด้าน ถ้าการตกขอบสองด้าน เวลามันภาวนาดี มันภาวนาใช้ได้ อู้ฮู! สุดยอดๆ นี่กามสุขัลลิกานุโยค มีความสุขมีความสงบของมันไป

แล้วทำสมาธิมาเกือบเป็นเกือบตาย สมาธิมันเป็นสมาธิเท่านั้นแหละ มันไม่ใช่เป็นปัญญา เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้ว วิปัสสนา นี่แนวทางสติปัฏฐาน ๔ พอพิจารณาต่อเนื่องไป มัชฌิมาปฏิปทา มันเบาบางลง เพราะในมัชฌิมาปฏิปทา สมาธิชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมมันเกี่ยวเนื่องกันไป

ถ้าความชอบธรรมมันเกี่ยวเนื่องกันไป วิปัสสนาไป มันใช้ปัญญาไป มันสมดุลมันก็ปล่อยวาง การปล่อยวาง ปล่อยวางมันชั่วคราว พอชั่วคราว พอปล่อยวางแล้วกำลังมันใช้ไปขนาดไหนล่ะ กำลังใช้ไปขนาดไหน พอคราวต่อไปมันก็เป็นปัญญา ปัญญาที่กิเลสสมุทัยเจือมาแล้ว สมุทัยคือกิเลส ตัณหา วิภวตัณหา มันก็สอดเข้ามาแล้ว พอสอดเข้ามาแล้วอู๋ย! ภาวนาดี ภาวนาเก่ง ภาวนาเลย ปัญญายอดเยี่ยม โอ้! ภาวนาไป”...นี่กิเลสมันหลอก

พอไปถูลู่ถูกังไป สัญญาทั้งนั้น สัญญาคือเราเคยทำได้ เราคิดว่าเราทำอย่างนี้ก็จะได้ แต่ไปแล้วมันเป็นอดีตอนาคต สิ่งที่ทำมาแล้วคืออดีต สิ่งที่ยังไม่เป็นคืออนาคตคาดหมายว่าเราเคยทำอย่างนี้แล้วจะได้อย่างนี้

อดีตอนาคตนะ มันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นปัจจุบันไปไม่ได้เพราะมันขาดสัมมาสมาธิ มันขาดพื้นฐานของความตั้งมั่นของจิต ถ้ามันขาดพื้นฐานขึ้นมา มันเป็นสัญญา คือเราเคยรู้เคยเห็นไง เคยเป็นไง นี่ไง เวลามันฉุดกระชากลากไปไง

ถ้าคนที่ประพฤติปฏิบัติใหม่มันก็จะไป เพราะว่ามันแตกต่าง คือผลตอบสนองมันมากกว่า คือปัญญามันทะลุทะลวงไป โอ้โฮ! มันสุดยอด แล้วพอมันได้ มันก็จะจ้วงจะฟัน จะเอาให้ได้ เอาให้ได้ นี่กิเลสมันพลิกแพลง

พอกิเลสพลิกแพลง สมุทัยเจือเข้ามา สมุทัยคือกิเลส ตัณหา ภวตัณหา คืออยากได้อยากดีนั่นแหละ มันเจือเข้ามา พอเจือเข้ามา แล้วถ้าเจือเข้ามา มันจะเป็นสัมมาทิฏฐิได้อย่างไร มันจะเป็นมัชฌิมาได้อย่างไร มันเป็นกิเลสแล้ว

ถ้าเป็นกิเลสแล้ว ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ ท่านจะบอกเลยเอาเลย เอาให้เต็มที่เลยเต็มที่มันก็ถลำไปเลย พอถลำไปเลยนะ ผักบุ้งเน่าแล้ว หมูเหมอเน่าหมดแล้ว แล้วทำอย่างไรล่ะ

กลับมาหาใหม่ไง กลับไปเก็บผักบุ้งตามชายคลอง แล้วก็ไปหาใหม่ หาใหม่ก็ต้องกลับมาทำความสงบของใจเข้ามา บางคนทำได้ บางคนทำไม่ได้ บางคนน้อยเนื้อต่ำใจ บางคนสละทิ้ง

การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นจากการขวนขวาย การมุมานะขึ้นมา แล้วพอทำๆ ไปแล้วนะ ทั้งไม่มีอุดมการณ์ ทั้งไม่มีจุดยืน ไม่มีสัจจะ ไม่มีกำลังของตน เห็นไหม ในหมู่พระที่ปฏิบัติเขาต้องมีครูมีอาจารย์ไง เวลามันท้อแท้ เวลามันสิ้นหวัง เอาครูบาอาจารย์เป็นที่ตั้ง

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเวลาท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านทุ่มเททั้งชีวิต แล้วทุ่มเททั้งชีวิต เวลาขาดตกบกพร่อง เอาใครเป็นตัวอย่าง เวลามันเหลวแหลก คนทำงานแล้วมันจะประสบความสำเร็จไปทุกทีๆ หรือ

การทำงานประสบความสำเร็จ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ล้มเหลวสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ก็นับว่ายอดเยี่ยมแล้ว ถ้ามันประสบความสำเร็จ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อันนั้นคำว่าประสบความสำเร็จๆในผลการปฏิบัติ ไม่ใช่ประสบความสำเร็จถึงการที่มันชำระล้างกิเลส

การชำระล้างกิเลส ขณะจิตสมุจเฉทปหาน การฆ่าการทำลายกิเลสชัดๆ ถ้าไม่มีการฆ่าการทำลาย อย่าหลอกตัวเอง การหลอกตัวเอง นั่นแหละมันเป็นผลร้ายของตัวเอง เป็นผลร้ายของการกระทำของเรา ถ้ามันเป็นผลร้ายเพราะอะไร เพราะว่ากิเลสมันก็ท่วมท้นในหัวใจอยู่แล้ว เรายังไปร่วมมือกับมันอีกใช่ไหม

เราจะฆ่าจะทำลายเขา เราไม่ใช่ไปร่วมมือกับเขา เราจะร่วมมือกับธรรมะ เราจะร่วมมือกับอริยสัจ เราจะร่วมฟื้นฟูหัวใจของเรา ถ้าเราจะฟื้นฟูหัวใจของเราเพื่อเป็นอริยสัจ เพื่อเป็นสัจจะเป็นความจริง เราต้องมีความหมั่นเพียร เพียรชอบ งานชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะ เป็นความหมั่นเพียร

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง สอนการละการวาง แต่การละการวางมันต้องการละวางแบบเศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรม เวลาหลวงตาท่านชื่นชมหลวงปู่ลี เศรษฐีธรรมๆ

มันต้องเป็นเศรษฐีแล้วปล่อยวาง ไม่ใช่ขี้ครอกผมก็เป็นอริยสัจ ขนก็เป็นอริยสัจไม่รู้อะไรเลย แล้วเป็นเศรษฐีได้อย่างไร ไม่รู้อะไรเป็นเศรษฐีธรรมได้อย่างไร

เศรษฐีธรรมคือเขาสร้างสมขึ้นมามากมายมหาศาล เริ่มต้นจากการใช้ปัญญาๆ คนที่ปฏิบัติไปเขาจะรู้ถึงตทังคปหาน คือการใช้ปัญญาด้วยความแยกแยะของเรา แล้วมันมีกำลังสมดุลของมัน มันปล่อยวาง เหมือนเลย เหมือนกิเลสตาย โอ้โฮ! โล่งโถงไปหมดเลย แต่มันไม่มีสิ่งบอกเหตุ ไม่ได้ชำระล้างกิเลส มันไม่มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกายของตน ความเห็นผิด ความเห็นคือจิต

สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์คือร่างกายนี้ กายกับใจๆ ที่บวกกันเป็นมนุษย์นี้ สิ่งที่เป็นสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญรับรองการเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีกฎหมายรองรับ ห้ามทำลาย ห้ามเบียดเบียนกัน

แต่กิเลสที่มันครอบงำอยู่มันครอบงำหัวใจ มันทำลายล้างด้วยความทุกข์ความยาก เราใช้สติใช้ปัญญาการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยมรรคด้วยผล ด้วยมรรค ๘ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยความสมดุลของตน เห็นไหม พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราวๆ

คนที่ปล่อยวางนะ ปล่อยวางแล้วถ้าเผลอไผล ปล่อยวางแล้วสำคัญตน เสื่อมหมด เสื่อมเพราะอะไร เสื่อมเพราะสิ่งร้อยรัด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันร้อยรัดจิตอยู่ สังโยชน์ร้อยรัดกิเลสกับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน

การวิปัสสนา วิปัสสนาเพื่อผ่อนเพื่อคลาย การผ่อนการคลายนั้นคือปหานชั่วคราวๆ คำว่าชั่วคราวๆ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ถ้าท่านผิดพลาด เวลามันปล่อยวางแล้วมันมหัศจรรย์ ก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แล้วถ้าพลั้งเผลอหรือปล่อยปละละเลย เสื่อมหมด ถอยกรูดๆ ไปเลย แล้วกลับมายาก

แล้วถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนเคยผิดพลาด มันมีบทเรียน บทเรียนการประพฤติปฏิบัตินี้คือประสบการณ์ ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมาแต่ละองค์ๆ ในสายของหลวงปู่มั่น มันมีวาสนามาแตกต่างกัน

แต่คนที่ประสบความสำเร็จ ครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นที่ท่านประสบความสำเร็จที่หลวงตาท่านชื่นชม ชื่นชมว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งๆ ท่านมีประสบการณ์อย่างนี้ แล้วประสบการณ์ของแต่ละองค์ๆ ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนา

คนเราเกิดมาแตกต่างกัน การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมาแตกต่างกัน แล้วเวลาท่านพิจารณาของท่าน สิ่งที่ท่านคุยกัน ธมฺมสากจฺฉา ในวงปฏิบัติเขาถึงรู้ของเขา ถ้าเขารู้ของเขาขึ้นมา เวลาที่มันปล่อยวางชั่วคราวๆ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงๆ แบบนี้ ท่านเคยผิดพลาด เคยปล่อยวางแล้วชะล่าใจ เสื่อมไป ท่านก็ฟื้นฟูขึ้นมา ท่านก็พยายามขวนขวายของท่าน

ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้าจะไปจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมขึ้นมาพิจารณาโดยจิต โดยสามัญสำนึก โดยโลกียปัญญา เป็นไปไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้ เพราะไปอนาคตมันยังมีสติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา มันมีปัญญาญาณ ปัญญารอบคอบ เพราะอะไร

เพราะบุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย เวทนา จิต ธรรม

ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมโดดๆ ไม่มีจิต จิตตภาวนาเข้าภาวนาร่วมด้วยไม่มี แล้วคนที่ไม่เป็นก็ไปจับวัตถุจิตโดดๆ ความโดดๆ นั้นมาบอกว่าเป็นอริยสัจ มันเป็นไปไม่ได้

หนึ่ง ผู้ที่ภาวนาไม่เป็นจิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิคะ

แต่ครูบาอาจารย์ของเราพิจารณากายสิ พิจารณาอสุภะเลย พิจารณากายแยกแยะเลย เป็นไตรลักษณ์

มันจะเป็นอสุภะๆภะไหน ภะอย่างไร มันไม่เป็น เพราะมันไม่เป็นถึงเหลวแหลก พอเป็นพิธี พอเป็นพิธีสมบูรณ์แบบแล้วว่าก็ใช่ พิธี ใครทำไม่ได้ พิธีกรรมเยอะแยะไปหมด ปฏิบัติพอเป็นพิธี แล้วสังคมชื่นชมกัน สังคมคือโลกไง โลกเป็นใหญ่ ไม่ใช่ธรรมเป็นใหญ่

ธรรมเป็นใหญ่นะ ครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่าในเขา ท่านบรรลุธรรมองค์เดียว ท่านกังวานในใจของท่านองค์เดียว แล้วท่านเก็บเงียบ แล้วมีครูบาอาจารย์ที่ท่านใฝ่หาค้นคว้า ท่านถึงแสวงหาเข้าไปศึกษา เข้าไปศึกษาก็เริ่มต้นจากทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจสงบระงับแล้ว พอคนทำสัมมาสมาธิได้ จิตสงบระงับแล้วจะชื่นชม จิตนี้จะยอมรับในพระพุทธศาสนา

ไอ้ของเรายอมรับแต่ปาก ปากว่าเป็นชาวพุทธ อยากจะประพฤติปฏิบัติ แต่โลเล ไม่แน่ใจ หมดกาลหมดสมัย เวลาปฏิบัติแล้วจะได้ผลหรือไม่ ปฏิบัติไปไม่เหนื่อยเปล่าหรือ แล้วคนสอนสอนถูกหรือเปล่า เอ๊ะ! เขาจะพาเราไปไหนเนี่ย ร้อยแปด

แต่ถ้ามันมีครูบาอาจารย์นะ ท่านบอกว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจสงบนะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันจะรู้แจ้งในใจของตน ความรู้แจ้งในใจของตนจะเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่ไง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน น้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถึงเป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

ไม่ใช่แนวทางสติปัฏฐาน ๔ ด้วยโวหาร ด้วยคำพูด ด้วยพิธีกรรม ไม่มีอยู่จริง แต่มันมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น สอนอย่างนั้น ให้คนทำอย่างนั้นจากหัวใจของเขา ไม่ใช่ให้ทำแบบนั้นโดยการพร่ำเพ้อ โดยการนึกเอา โดยวิปัสสนึก มันไม่มีอยู่จริง

ถ้ามันเป็นจริง ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมาก่อน ถ้ามันเป็นจริง เวลาตทังคปหาน มันใช้ปัญญาชั่วคราว ปัญญาชั่วคราวมันไม่ได้ถอนสังโยชน์ ถ้าไม่ได้ถอนสังโยชน์ ต้องทำซ้ำๆ การทำซ้ำๆ ก็เพื่อพิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอน เพื่อแยกเพื่อแยะ ไตรลักษณ์นั่นแหละ ลักษณญาณ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันขาด เวลามันขาดนะ อะไรมันขาด สังโยชน์ขาด สักกายทิฏฐิ ถ้าสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิ ทิฏฐิมานะขาด ความลังเลสงสัยมีได้อย่างไร การลูบคลำจะลูบคลำได้อย่างไร เพราะมันขาดไปแล้ว

พอมันขาดไปแล้วนะ ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะไม่มีต้นไม่มีปลาย วัฏฏะนี้รู้ได้ยากๆ แต่เป็นพระโสดาบันพาดกระแส การพาดกระแสมันไม่รู้จักวัฏฏะได้อย่างไร แค่พาดกระแส มันรู้จักวัฏฏะจากใจของมัน

ใจดวงนั้นเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีต้นไม่มีปลาย มืดบอด แต่เวลาพาดกระแสมันรู้เลยว่า ๗ ชาติ รู้ชัดๆ พระโสดาบันต้องรู้ ถ้าไม่รู้ ไม่ใช่พระโสดาบัน เพราะอะไร เพราะปุถุชนเขาก็ไม่รู้ไง ไม่มีใครรู้ผลของวัฏฏะ ไม่มีใครรู้ว่าเรามาจากไหน เราเกิดมาทำไม แล้วจะไปไหน ไม่มีใครรู้ แต่พูดธรรมะจ้อยๆๆ เลยนะ

ในแกงเทโพมีผักบุ้ง ในผักบุ้งไม่มีแกงเทโพ ในผู้ที่ไม่รู้ รู้ไม่ได้ ทำไม่ได้ ถ้ามันทำก็แกงส้ม แกงส้มผักบุ้ง ถ้ามันเอาไปผัดก็ผักบุ้งไฟแดง ไม่ใช่แกงเทโพ

ในสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม ในอริยสัจมีสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วมันต้องทำขึ้นมาจากข้อเท็จจริง เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ความเหมาะสมพอดีของความเพียร เพียรชอบ

งาน คืองานในการค้นคว้าต่อสู้กับกิเลสในใจของตน

สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องดีงาม ดีงามจากปัญญาญาณ ดีงามจากปัญญาของตน ดีจากความเห็น ความเห็นของจิต จิตที่มันแก้ไขตัวของมันเอง แล้วมันสว่างโพลงกลางหัวใจ ดอกบัวบานกลางหัวใจ มันจะไม่รู้ได้อย่างไร

แต่ที่แจ้วๆ กันอยู่นี่ มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย มันไม่มีสิ่งใดบานกลางหัวใจ มันถึงไม่รู้จักวัฏฏะ แล้วลูบๆ คลำๆ

แต่ถ้าเป็นจริงนะ อกุปปธรรม พระอรหันต์คือไม่หันไปไหนแล้วอะรอบตัว อกุปปธรรม เริ่มต้นตั้งแต่พระโสดาบัน อกุปปธรรมคือคงที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง เอวัง