พ่อแม่พระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๓๐๕. เรื่อง “พระกราบพ่อกราบแม่ได้ไหมครับ”
พอดีว่ามีญาติคนหนึ่งบวชครับ เป็นพระนานแล้วครับ วันนี้ผมเห็นพระรูปนี้มากราบพ่อเนื่องในวันพ่อ จึงสงสัยครับ มากราบได้ไหม พระกราบพ่อกราบแม่ได้ไหม
ตอบ : เวลาพระกราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่ พระก็มีพ่อมีแม่เหมือนกัน เวลาพระมีพ่อมีแม่แล้วมาบวชเป็นพระ มาบวชเป็นพระแล้ว ถ้าพูดถึงโดยวิทยาศาสตร์นะ โดยวิทยาศาสตร์ โดยกฎหมาย กราบไม่ได้ กราบไม่ได้ กราบไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าโดยวินัย ภิกษุห้ามไหว้ ๑๐ อย่าง ห้ามรับไหว้นานาสังวาส ภิกษุเป็นนานาสังวาส ภิกษุพรรษาน้อยกว่า สามเณร คฤหัสถ์ ภิกษุรับไหว้ไม่ได้ รับไหว้เป็นอาบัติ ถ้าพูดถึงตามกฎหมาย ตามวินัยนี่ห้าม ภิกษุนี่ห้ามเลย ถ้ายกไหว้เป็นอาบัติทันที ยกไหว้เป็นอาบัติทันที นี่พูดถึงว่าถ้าโดยกฎหมายนะ
ถ้าโดยกฎหมายกราบได้ไหม
ไม่ได้ ไม่ได้โดยกฎหมาย โดยวินัยไหว้ไม่ได้
ทีนี้ไหว้ไม่ได้ เวลาพระเรา พระก็มาจากมนุษย์ พระก็มาจากคน คนก็มีพ่อมีแม่ เวลาพ่อแม่ของเขา พ่อแม่ของเขา เวลาพระเทศน์ธรรมะ พระเวลาสอนธรรมะให้มีความกตัญญูกตเวที ให้รู้จักบุญรู้จักคุณ ถ้าให้รู้จักบุญรู้จักคุณ การแสดงความกตัญญูกตเวที
แล้วพระมาไหว้พ่อในวันพ่อได้หรือไม่
ถ้าพระมาไหว้พ่อในวันพ่อได้หรือไม่ ถ้ามันเป็นวันพ่อนะ ถ้าภาษาเรา ไหว้พ่อได้ไหม
ได้
โดยกฎหมายไหว้ไม่ได้ โดยวินัย เพราะวินัยเขียนไว้ โดยกฎหมายเขียนไว้เลย ภิกษุห้ามรับไหว้ ภิกษุเป็นอาบัติ เพราะว่าภิกษุพรรษาที่อ่อนกว่า ภิกษุนานาสังวาส สามเณร พระรับไหว้ไม่ได้ แล้วคฤหัสถ์นี่ไม่ได้เลย
เวลาเมื่อก่อนเราบวชใหม่ๆ เราบวชใหม่ๆ โดยอยู่ในภาคกลาง เวลาพระให้พร พระพนมมือ เวลาเราไปอีสาน ไปอีสานขึ้นมา เวลาพระพนมมือ เขาถามว่าพนมมือทำไม เพราะการให้พรๆ การรับไหว้ รับไหว้คฤหัสถ์ได้ไหม รับไหว้คฤหัสถ์ไม่ได้ หลวงปู่มั่นบอกไม่ได้ สมัยหลวงปู่มั่นท่านให้พรก็ให้พรอย่างนี้ เราอยู่กับหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนให้พรก็ไม่ยกมือ
การยกมือๆ เวลาเราเข้าบ้านตาดครั้งแรกเราตกใจเลย ไปเห็นหลวงตาท่านพนมมือ
เราก็ถาม ท่านบอกว่า เวลาคุยพอนานไปด้วยเหตุด้วยผล ท่านบอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่น เพราะท่านเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมา เห็นมาตลอดว่าหลวงปู่มั่นไม่ได้ยกมือ ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นก็ไม่พาทำหรอก แต่เวลาท่านเห็นของท่าน ท่านเห็นของท่านว่าการยกมือมันเป็นมารยาทที่สวยงาม คำว่า “มารยาท” ท่านใช้คำว่า “มารยาท” เวลาเราถามท่าน
เราถามท่านว่าทำไมยกมือ เพราะมันต้องถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามธรรมวินัย ทีนี้ประเพณีของเรา พระทั่วไปของเรา เวลาให้พรยกมือทั้งนั้นน่ะ คือรับไหว้
เวลาเราสวดมนต์บ้าน เวลาเราสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน อันนี้เป็นการเจริญพุทธคุณ นี่เวลาเราสวดมนต์ สวดมนต์ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกมือได้
แต่ถ้ายถาฯ การให้พร ยถาฯ มันเป็นคำแต่งขึ้นมาทีหลัง ยถาฯ คือว่า บุญกุศลเหมือนกับห้วงน้ำ ฝนตกทีละหยดทีละหยาดมันยังท่วมท้นได้ ยถา วาริวหาฯ เป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าการรับไหว้
การรับไหว้ตามกฎหมายอย่างหนึ่ง แต่การแสดงความกตัญญูกตเวทีนี้เรื่องหนึ่ง ทีนี้เป็นเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้น พระเป็นคน คนที่มีพ่อมีแม่ ถ้ามีพ่อมีแม่ นี่พูดถึงตามกฎหมายก่อนนะ ตามกฎหมาย ตามวินัยไหว้ไม่ได้
แต่ถ้าตามธรรมสิ มันมีธรรมและวินัยไง มีนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ตามกฎหมายนี่เพียะเลย ไม่ได้ แต่ตามรัฐศาสตร์ ทำไมพระยังสอนให้เรามีความกตัญญูกตเวที ทำไมพระถึงสอนให้เราเคารพพ่อแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แล้วทำไมพระเราจะเคารพพ่อแม่ไม่ได้ พระเราเคารพพ่อแม่ได้ เคารพพ่อแม่ได้นะ แต่มันก็ต้องเป็นกาลเทศะ
ถ้าคำว่า “กาลเทศะ” อย่างเช่นดูพระทั่วไป ถ้ามีลูกชายคนเดียว เป็นลูกชายคนเดียวแล้วลูกชายมาบวชพระ ลูกชายบวชพระ เวลาพ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วย เช็ดเนื้อเช็ดตัวดูแลได้หมด พระดูแลได้หมด ดูแลได้หมดเพราะธรรมวินัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตไว้ มันก็เหมือนเป็นดุลพินิจนี่แหละ
เวลาดุลพินิจ เพราะในสมัยพุทธกาลมี เวลาพระไปบวช เป็นลูกเศรษฐีนะ เป็นลูกเศรษฐี เวลาไปบวชลูกชายคนเดียวไง คนใช้ในบ้าน ทาสในบ้านคดโกงจนหมดเนื้อหมดตัว จนเป็นขอทานน่ะ พอเป็นขอทาน ข่าวก็ร่ำลือไป ท่านวิเวกไปไง ร่ำลือไปว่าพ่อแม่ของตนเป็นเศรษฐี เศรษฐีโดนคดโดนโกง โดนคนใช้หลอกหมด จนไม่มีจะกิน มาเป็นขอทาน
ก็มาเร่าร้อน บวชมา ๑๖ ปียังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ตัวเองก็ทุกข์จนเข็ญใจ ตัวเองก็พยายามประพฤติปฏิบัตินะ พยายามเอาตัวเองให้รอดให้ได้ แล้วเวลาข่าวคราวของพ่อแม่มา โดนโกง โดนเขาฉ้อฉลจนหมดเนื้อหมดตัว จนไปเป็นขอทาน เดินกลับมาจะมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ พอมาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ก็มาคิดขึ้นมาเลยว่าจะไปดูพ่อแม่ก่อนหรือจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน
ตัดสินใจว่าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่ามาทำไม
มาเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ เล่าให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เอามาไว้ในวัด แล้วบิณฑบาตเลี้ยงดูตลอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตเอง
พระก็ร่ำลือกันว่าบิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ บิณฑบาตมาเลี้ยงฆราวาส ร่ำลือไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมสงฆ์ ท่านบอกว่า เวลาประชาชนยังทำกันได้ ทำไมพระจะทำไม่ได้ พระทำได้ ทำได้เพราะอะไร เพราะท่านมีลูกคนเดียว คำว่า “มีลูกคนเดียว” นี่ทำได้นะ แต่กาลเทศะนะ
แต่ถ้าพูดถึงมีลูกหลายคน มีลูกหลายคนก็ควรจะให้คนที่ไม่ใช่เป็นพระเป็นผู้ดูแล ถ้ามีลูกหลายคนนะ ถ้าลูกคนเดียว เราก็ดูแลได้ ถ้าเราดูแลได้ เราดูแลของเรา
นี่พูดถึงว่า พระกราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่
มันต้องย้อนกลับมา มันต้องย้อนกลับมา เพราะว่าผู้ที่ถามนะ เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราก็ศึกษาของเรา แล้วประเพณีวัฒนธรรมของเรา พระนี่ โอ้โฮ! สูงส่งมาก พอพระสูงส่งมาก พระศีล ๒๒๗ ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ ผิดหมดเลย แล้วพอผิดหมดเลย สิ่งนี้ถ้าพระไปไหว้พ่อไหว้แม่ ถ้าคนอื่นถ้าไม่รู้จัก เห็นแล้วมันแปลกเลยนะ แต่นี่ใครก็รู้จักว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันไปทำสิ่งนั้น พอไปทำสิ่งนั้น มันเป็นวันพ่อไง
ถ้าเป็นวันพ่อ วันพ่อ พูดถึงทำได้นะ มันเป็นดุลพินิจตามความเห็นเรานะ ถ้าเขาจะทำก็ทำได้ถ้าเป็นเรา ถ้าเป็นเรา เราก็ไป ถึงเวลาระลึกถึงวันพ่อวันแม่ เราก็ไปดูแลพ่อแม่ให้ชื่นใจ ดูแล เราก็ดูแลเฉยๆ เราไม่ถึงกับต้องกราบ
แล้วถ้าต้องกราบ เพราะอะไร เวลาบวชพระ พ่อแม่ก็กราบไหว้ลูก ลูกบวชพระออกมา พ่อแม่ยกมือไหว้หมด เพราะพ่อแม่ต้องการพึ่งชายผ้าเหลือง พ่อแม่เป็นพ่อเป็นแม่ในภพชาตินี้ เวลาตายไปแล้ว มีพ่อมีแม่ มีบุญกุศลต่อไปภพชาติหน้า ภพต่อไป ถ้าภพต่อไป สิ่งที่บวชเป็นพระมันสูงส่งมาก สูงส่งจนพ่อแม่สามารถเกาะชายผ้าเหลืองได้
พ่อแม่สามารถเกาะชายผ้าเหลืองของลูกได้เพราะลูกไปบวชพระ พ่อแม่ก็สามารถเกาะชายผ้าเหลือง ถ้าเกาะชายผ้าเหลือง อยากสูงส่งให้มีคุณธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริง ถ้ามันเป็นคุณธรรมอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น ถ้าเป็นประโยชน์อย่างนั้น พ่อแม่ก็ยกมือไหว้ลูก
แต่นี่มันเป็นวันพ่อไง เป็นวันพ่อ วันพ่อวันแม่ เวลาวันแม่เขาก็จัดงานตามโรงเรียน ให้ลูกๆ ให้ล้างเท้าพ่อล้างเท้าแม่ โอ๋ย! ล้างเท้าพ่อล้างเท้าแม่ อยู่บ้านทะเลาะเบาะแว้งกันนะ เวลาไปโรงเรียน แหม! ล้างเท้าแม่ มันแทงใจดำ
พอมันแทงใจดำขึ้นมา อยู่บ้านต่างคนต่างงอนกันนะ เวลามาล้างเท้าพ่อล้างเท้าแม่ น้ำหูน้ำตาไหลนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว มันเป็นเรื่องในหัวใจ ถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องในหัวใจ สิ่งนี้มันเหมือนกับพยายามดึงคุณธรรม ดึงสามัญสำนึกของคนให้กลับมา ให้กลับมาสำนึกในตัวของตัวเอง ว่าตัวเอง ใครเป็นผู้มีพระคุณ ใครเป็นผู้เลี้ยงดูดูแลมา มันสะเทือนใจทั้งนั้นน่ะ เวลาถ้าวันพ่อวันแม่
วันพ่อ พระไปกราบพ่อได้ไหม
ถ้าพูดถึงไปกราบพ่อ ภาษาเราแบบว่าคนเห็นแล้วมันก็แปลก มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมของเรา ถ้าเรื่องวัฒนธรรมของเรานะ พระเป็นผู้ที่สูงส่ง แต่ถ้าจิตใจของเขา เพราะว่าเขาได้ชีวิตนี้มา เพราะยิ่งถ้าเขาบวชมา แล้วถ้าเขามีคุณธรรมในใจของเขาขึ้นมา เขายิ่งเคารพพ่อแม่ของเขามากขึ้น มากขึ้นเพราะอะไร เพราะชีวิตนี้ได้มาจากใคร ได้มาจากพ่อจากแม่ ได้มาเป็นมนุษย์ เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนาได้มาบวช มาบวชมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ได้ค้ำจุนศาสนาด้วย เพราะเป็นสาวก สาวกะ เป็นผู้ศึกษา เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้จรรโลงศาสนา มันยิ่งเห็นบุญคุณที่มาที่ไป
แต่คนนอก คนนอกพอไปเห็นเข้ามันก็แปลกไง พอเห็นเข้าก็แปลก “เอ๊ะ! ทำไมพระไปกราบฆราวาส พระไปกราบใคร” ไม่รู้นี่ว่าเขามีความสัมพันธ์เป็นพ่อเป็นลูกกัน ไม่รู้ว่าความสัมพันธ์เป็นแม่เป็นลูกกัน นี่ไง พ่อแม่ของพระ พระก็มาจากคน เวลาบวช เวลาทางสังคมเขาเสียดสี ยกมือไหว้ ไม่เห็นได้ยกมือไหว้พระเลย ได้แต่ลูกชาวบ้านๆ
ลูกชาวบ้านก็ลูกชาวบ้าน เวลาลูกชาวบ้าน แต่มาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระแล้ว ถ้าบวชถ้าเป็นธรรมนะ เป็นธรรม เห็นไหม เวลาพระมาบวชแล้วตายจากฆราวาส นี่จริงตามสมมุติไง ตายจากฆราวาส ตายจากนาย ก. มาเป็นพระ ก. แล้วก็มีฉายาในศาสนา ตายจากนาย ก. มาเป็นพระ
แล้วเวลามาเป็นพระ ศากยบุตรพุทธชิโนรส เวลาเกิด เกิดจากใคร เกิดจากอุปัชฌาย์ไง เกิดจากอุปัชฌาย์อาจารย์ เวลาสังคมไทยเวลาเขานับถือ นับถือ ๒ อย่าง นับถือพ่อแม่ของตน พ่อแม่ทางโลก พ่อแม่ทางธรรม พ่อแม่ทางธรรมคืออุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์บวชให้เราเป็นพระขึ้นมา
ฉะนั้น เวลาถ้าเป็นธรรมนะ เวลาพระกรรมฐานที่เขาเข้มข้นเข้มงวดของเขา ตอนนี้เขาได้ตายจากฆราวาสมาบวชเป็นพระ พูดภาษาเราว่า ขาดจากพ่อจากแม่มา แล้วมีพ่อแม่ใหม่ พ่อแม่ใหม่คือมีอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นพ่อแม่ครูจารย์ เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งครูบาอาจารย์ เลี้ยงดู พยายามอบรมสั่งสอน ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นพระอริยเจ้า ให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมในใจ เวลาถ้ามันเด็ดขาดมันเด็ดขาดอย่างนั้นนะ
เวลาเด็ดขาดขึ้นมา ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านบวชแล้วท่านก็ไปของท่าน เต็มเหนี่ยวของท่านเลย เวลาสุดท้ายแล้วแม่ของท่านก็มาบวชชี แม่ของท่านบวชชีไปอยู่กับท่าน ท่านก็พาวิเวกอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายแล้วท่านก็พาแม่ของท่านไปส่งให้พี่น้อง เพราะยังมีพี่น้องอยู่ไง
จะบอกว่า ถ้ามีลูกคนเดียว เราต้องรับผิดชอบดูแล แต่ถ้าพี่น้องเราหลายคนใช่ไหม คนอื่นเขาดูแลได้สะดวกกว่า แต่ถ้าเป็นความจริง พ่อแม่ของเราก็อยากจะมีดวงตาเห็นธรรม พ่อแม่ของเราก็อยากจะมีอริยทรัพย์เหมือนกัน แต่อยากมีอริยทรัพย์ ถ้ามันทำได้มันก็ควร
แต่ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ได้ หมายความว่า อย่างที่หลวงปู่มั่นท่านยังออกธุดงค์อยู่ เวลาพ่อแม่มา ท่านไปเอาไม้นะ ไปบนต้นไม้ไปกั้นเป็นคอกไว้ เพราะอะไร เพราะสมัยนั้นเสือมันมาก พอเสือมันมา ท่านบอกเลย ถ้าเป็นผู้ชาย เสือมันยังไม่ค่อยกล้า ถ้าเป็นผู้หญิง มันตะปบเลย ถ้าเป็นผู้หญิงมันทันที
ท่านก็ทำเป็นคอกไว้บนต้นไม้ แล้วเอาแม่ของท่านไปไว้บนนั้น แล้วไปไหนก็ต้องทำอย่างนั้นตลอด ให้ชาวบ้านเขาทำให้มันไม่สะดวกไง ก็เลยบอกว่าเอาแม่ไปคืน เอาแม่ไปคืนญาติพี่น้อง ให้ญาติพี่น้องดูแล แล้วท่านก็ออกมาวิเวกต่อ นี่พูดถึงว่า เวลาที่ว่าพระก็มีพ่อมีแม่เหมือนกัน เวลามีพ่อมีแม่ขึ้นมา เวลาบวชไปแล้ว เวลาหลวงปู่มั่นท่านดูแลรักษา นี่ไง ท่านอาจารย์ใหญ่ ครูบาอาจารย์ของเราไง
อุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์อาจารย์นี่พ่อแม่ในทางธรรม ถ้าพ่อแม่ในทางธรรม เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พ่อแม่ครูจารย์ของเรา เรามีความผูกพัน มีความผูกพัน เราเลือกได้ เวลาเราเลือกได้ จะขอนิสัย จะขอนิสัยใคร ถ้าขอนิสัยขึ้นมา ถ้านิสัยมันไม่เข้ากัน มันเข้ากันไม่ได้ เรายังมีสิทธิ์เลือก แต่เวลาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีสิทธิ์เลือกเลย มันเป็นไปตามเวรตามกรรม เวรกรรมมันจะเป็นเช่นใด มันเป็นไปตามนั้น
ฉะนั้นจะบอกว่า เวลาทางโลก ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ก็มองเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเป็นทางธรรม ทางธรรมมันก็แบบว่าผู้ที่เข้มข้นมากน้อยขนาดไหน ถ้าผู้ที่เข้มข้นมากน้อยขนาดไหน เราบวชเป็นพระแล้ว ถ้าบวชเป็นพระแล้ว เราได้ตายจากฆราวาสแล้วมาบวชเป็นพระ มาบวชเป็นพระแล้วถือนิสัยใคร
เวลาถือนิสัย มีครูบาอาจารย์ เราก็แสวงหาประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่เป็นความจริงขึ้นมา สิ่งนี้เป็นความจริงขึ้นมามันก็ยังระลึกถึงกันอยู่ เพราะว่าสิ่งที่เราเกิดมานี่จริงตามสมมุติ พ่อแม่นี่จริงตามสมมุติ จริงตามสมมุติเพราะมันจริงๆ มันเป็นเรื่องจริง มันเป็นข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงโดยสมมุติไง เพราะว่าในทางโลกมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันกลับกัน จากพ่อจากแม่เป็นลูก มันสับเปลี่ยนกันไป ภพชาติไหน ภพชาติใดที่ใครเป็นพ่อ ใครเป็นแม่ ใครเป็นลูก มันสับเปลี่ยนกันมา มันสับเปลี่ยนกันมา แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้นะ อันนั้นยกไว้ แต่เราเอาชาติปัจจุบันนี้ ถ้าเอาชาติปัจจุบันนี้มันก็เป็นพ่อแม่จริงๆ พ่อแม่จริงๆ จริงตามสมมุติ จริงตามสมมุตินี่ไง แต่เวลาถ้าเป็นทางธรรม ทางธรรมๆ ที่เวลาเราตัดกันเลย
นี่พูดถึงว่า ถ้าทางวินัยกราบไม่ได้ แต่ถ้าเป็นทางธรรมได้
ถ้าเป็นทางธรรมๆ เพราะเป็นทางธรรม เป็นทางธรรมเพราะมันเป็นอาบัติของส่วนตนๆ แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัตินะ เวลาที่ว่ามันเป็นวินัย ถ้าเป็นวินัย เวลาใครบวชมาแล้วก็ศึกษา อย่างเช่นทางโลก เราเป็นคนไทย เราปฏิเสธกฎหมายไทยไม่ได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่มีใครรู้ ทำอะไรผิดไม่ผิดต้องไปหาทนาย แต่เราก็ปฏิเสธกฎหมายไทยไม่ได้
เรามาบวชเป็นพระ เราบวชเป็นพระศีล ๒๒๗ ธรรมและวินัยๆ วินัยบังคับใช้ทั้งนั้นน่ะ เวลาทำผิดมันก็ผิดวินัยใช่ไหม ถ้ามันผิดวินัย ถ้าคนที่อยากจะประพฤติปฏิบัติเขาก็พยายามจะทำให้ถูกต้องดีงามทั้งหมด เพราะความถูกต้องดีงามทั้งหมดคือมันขาวสะอาด เวลาขาวสะอาดจะมาทำสมาธิภาวนาขึ้นมามันก็สะดวก
แต่ถ้ามันเศร้าหมอง เวลามันเศร้าหมอง มันต่างๆ เวลาทำสมาธิขึ้นมามันก็ทำไม่ได้ ทั้งง่วงเหงาหาวนอน ทั้งมีอะไร ฉะนั้น เวลาพระเรา เวลาถ้าภาวนาไม่ได้แล้วเขาจะย้อนกลับมาที่ศีลเลย ศีลมันถึงสำคัญมาก
ถ้าศีลสำคัญมากนะ เวลาศีลเป็นความปกติของใจ ถ้าใจปกติแล้ว ถ้ากลับไปสู้กับกิเลสของตน ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันทำได้ ทำได้ง่ายขึ้น มันก็ทำได้ง่ายขึ้น มันจะตรวจสอบตลอด
ฉะนั้นจะบอกว่า สิ่งที่ว่าพระกราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่
โดยดุลพินิจนะ ได้ แต่ทีนี้คำว่า “ได้” ขึ้นมา ได้เพราะว่าเราอยากเป็นคนดี มันเป็นเครื่องหมายของคนดี คนมีความกตัญญูกตเวทีมันผิดที่ไหน มันผิดมันก็ผิดแบบที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ บุคคลไม่ควรไหว้ ๑๐ อย่าง บุคคลไม่ควรไหว้ ผู้ใดรับไหว้เป็นอาบัติทุกกฏ เป็นอาบัติ คำว่า “เป็นอาบัติ” ถ้าเวลากราบพ่อทีหนึ่งเป็นอาบัติทีหนึ่ง เรายอมไหม ถ้าเรายอม เราไปปลงอาบัติเอา ถ้าเรายอม
แต่โดยธรรม โดยธรรมเป็นการกตัญญูกตเวที แล้วถ้าพ่อแม่ที่ดีงามเขาก็ปลื้มใจว่าลูกของท่านได้มาบวชเป็นพระ แต่พ่อแม่ที่จิตใจเขาสูงส่งเขาบอกไม่ต้อง ไม่ต้อง รับรู้กันเอง นี่พูดถึงไม่ต้องกราบก็ได้ ถ้าพูดถึงถ้าเราไปแสดงความกตัญญูกตเวทีโดยทางอื่นก็ได้
แต่ถึงขนาดว่าถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเราต้องดูแล คำว่า “ดูแล” ดูแลพระอรหันต์ของเรา ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติเรายังไม่ได้อะไรทั้งสิ้น แต่เป็นพระอรหันต์ของเราเพราะสิ่งที่ให้ชีวิตนี้มา
ฉะนั้น คำถามมันเป็นเรื่องคาใจ แล้วมันเป็นประสบการณ์ชีวิตไง ประสบการณ์ชีวิต ถ้าเราเด็กน้อย เด็กน้อยเวลาศึกษามาแล้วมันเป็นอุดมการณ์อุดมคติ ต้องทำอย่างนั้นๆ แต่โลกแห่งความเป็นจริง โลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่
แต่ขณะที่เราศึกษา เรากำลังค้นคว้า เรามีอุดมคติ เรามีอุดมการณ์ เรามีเป้าหมาย คำว่า “เป้าหมาย” ต้องมีความเสมอภาค ต้องภราดรภาพ ต้องมีความเสมอ...แล้วมันเป็นจริงอย่างนั้นได้ไหม เพราะคนเรามันมีเวรมีกรรม
แต่พอมีประสบการณ์ พอมีประสบการณ์ของเราไป สิ่งที่ว่า พระกราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่
เวลาเขากราบเขาก็กราบในบ้านในเรือน ไม่มีใครเห็น ในที่ไม่บาดหูบาดตาใคร แต่ถ้าเป็นความจริงนะ กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีวัฒนธรรมแต่ละท้องที่ๆ ในทิเบตนะ ในความเชื่อของเขา ทุกครอบครัวต้องให้ลูกคนหนึ่งเป็นผู้บวช พระในทิเบตถึงได้เยอะมาก พระในทิเบตเยอะมากเพราะว่าวัฒนธรรมของเขา ทุกบ้านทุกครอบครัวถ้ามีลูกชายสองคนต้องไปคนหนึ่ง ถ้ามีลูกชายสามคนต้องไปคนหนึ่ง เขามีคนหนึ่งโดยความเชื่อของเขา
ถ้ามีลูกหลายคนแล้วไม่ไปบวชสักคนหนึ่ง มันเหมือนกับเข้ากับชาวบ้านเขาไม่ได้ ในความเชื่อของชาวทิเบตนะ แล้วเวลาเขาไปบวชแล้วก็บวชทั้งชีวิต เขาบวชตลอดชีวิต พระของเขาถึงได้มาก
ไอ้ของเราถ้าบวชโดยเป้าหมาย เวลาบวช คนที่มีศรัทธามีความเชื่อมีเป้าหมายที่อยากจะบวชเอาจริงเอาจังขึ้นมาก็มี เวลาคนบวชขึ้นมา เวลาคนทุกข์คนยากขึ้นมาบวชก็มี เพราะศาสนาเป็นที่หลบภัย ศาสนาเป็นที่ให้ค้นคว้า ให้คนประพฤติปฏิบัติให้เกิดความจริงขึ้นมาได้
นี่พูดถึงว่า “พอดีมีญาติคนหนึ่งไปบวชเป็นพระนานแล้ว วันนี้ผมเห็นพระรูปนี้มากราบพ่อเนื่องในวันพ่อ จึงสงสัยครับ กราบได้หรือไม่”
มันแต่ละข้อเลย พระรูปนี้มากราบพ่อ เขาระลึกถึงพระคุณของพ่อเขา พ่อเขาให้ชีวิตนี้มา เนื่องในวันพ่อ มันเป็นวันพ่อแห่งชาติ ทุกคนแสดงออกไง เวลาคนแสดงออกมันเป็นสิ่งที่ดีงาม เขาอยากแสดงออก เพราะมันกระตุ้นความแสดงออก
“ผมถึงสงสัยว่ากราบได้หรือไม่”
เพราะเขาก็ไม่เคยเป็นพระ โดยทั่วไปเขาไม่ได้เป็นพระ เขาก็ไม่รู้ของเขา เวลาเป็นพระ ถ้าเป็นพระที่ศึกษาแล้ว วินัย อาบัติ มันอาบัติหนัก อาบัติเบา อาบัติต่างๆ มันมีของมันเพื่อให้พระอยู่ในรูปในรอย แต่พระมันก็มีจริตนิสัยของพระ พระแต่ละองค์ไม่เหมือนกันนะ
ดูสิ เวลาพระรัฐปาล ชื่อรัฐปาล มีลูกชายคนเดียวเหมือนกัน พ่อแม่ร่ำรวยมาก เวลาเขาอยากบวชมากๆ พออยากบวชมาก พ่อแม่มีลูกคนเดียว พ่อแม่ไม่ให้บวชหรอก ถ้าไม่ให้บวชก็อดอาหารเลย ถ้าไม่ให้บวชก็ตาย สุดท้ายแล้วก็เอาเพื่อนมากล่อม เอาใครมากล่อม เขาบอกเลย เพื่อนก็เลยไปพูดกับพ่อแม่เขา “พ่อแม่อยากเห็นหน้าลูกไหม”
“อยาก”
“ถ้าอยากต้องให้บวช ถ้าไม่ให้บวชตายแน่” เพราะเพื่อนมันรู้นิสัยกัน ก็เลยให้บวชไป
พอบวชไปขึ้นมา บวชไป เขาประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ กลับมาเยี่ยมบ้าน พ่อแม่ทรัพย์สมบัติมหาศาลเลย ก็เอาทรัพย์สมบัติมากองไว้เลย กองให้ลูกดูว่าสมบัตินี้มรดกนี้จะเอาไว้ให้ใคร เพราะพ่อแม่ห่วงอาลัยอาวรณ์สมบัติมาก อยากให้ลูกมารับสมบัตินี้ต่อไป เพราะแสวงหามาเกือบเป็นเกือบตาย
ลูกมันบอกเลย นี่เป็นพระอรหันต์ เพราะจิตใจของเขาเหนือโลกเหนือสงสาร เหนือวัฏฏะ บอกเลย บอกพ่อแม่เลย “ให้เอาทรัพย์สมบัตินั้นใส่ล้อเกวียน แล้วไปดัมพ์ใส่แม่น้ำไปเลย”
เพราะว่าเขาไม่ไยดีทรัพย์สมบัติอย่างนี้ แต่เขามีคุณธรรมในหัวใจแล้ว เขาไม่ยินดีทรัพย์สมบัติอย่างนี้ แต่พ่อแม่เห็นทรัพย์สมบัติอย่างนี้มีคุณค่า แต่ลูกเห็นคุณธรรมในใจเป็นคุณค่า ลูกเห็นความเป็นพระอรหันต์มีคุณค่า มันแตกต่างกันอย่างนี้ไง นั่นน่ะวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเรา แล้วความเชื่อในสังคมชาวพุทธไง ถ้าใครมีลูกชายคนเดียว อยากให้บวชตลอดชีวิตไหม สมบัติของตนล่ะ สมบัติของตนก็อยากให้ใครสืบต่อสกุลต่อไป
ฉะนั้น ความเห็นแต่ละคนมันไม่เท่ากัน บางทีลูกอยากบวชมาก พ่อแม่ไม่ให้บวชก็เยอะแยะไป ไอ้นี่พูดถึงว่าเวลาที่ความเห็นมันแตกต่างกันไง ถ้าความเห็นแตกต่างกัน สิ่งที่วัฒนธรรมประเพณีมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ความเห็นความแตกต่างกันมันก็ผลของวัฏฏะ ผลของเวรของกรรมที่เราไปเกิดเจอสภาพแบบนั้น ถ้าสภาพแบบนั้น เห็นไหม
ฉะนั้น มันเลยเป็นสิ่งที่ว่า “ผมถึงสงสัยครับว่ากราบได้หรือไม่”
ในดุลพินิจ ได้ แต่โดยกฎหมาย ผิด โดยกฎหมายผิดก็ปลงอาบัติเอา ถ้าใครมีปลงอาบัติ แต่ถ้าคิดว่ามันไม่ได้เป็นอาบัตินะ แล้วไม่ได้เป็นอาบัติ เพราะนี่เป็นการทำคุณงามความดี การทำคุณงามความดี แต่กฎหมายมันห้ามไว้ไง
ห้ามไว้ว่า ฆราวาสกับภิกษุ ภิกษุนี้เป็นภิกษุต้องอยู่ในธรรมวินัย อยู่ในธรรมวินัยสมณสารูป มีอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นพ่อแม่ มีพ่อแม่ใหม่ พ่อแม่ใหม่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ดีไง
ในปัจจุบันนี้สังคมติเตียนกันมา อุปัชฌาย์เป็ด อุปัชฌาย์ไก่ บวชแล้วไม่สั่งสอน ไม่ฝึกฝน ไม่ดูแล บวชแล้วทิ้งๆ ขว้างๆ ไง เราถึงต้องมาดูแลกันไง
ฉะนั้น เวลาสมัยก่อนนั้นน่ะ สมัยที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานะ พระกรรมฐานเป็นสิ่งที่เชิดชูมาก เพราะกรรมฐานคุ้มครองดูแลกัน มีความผูกพันกัน มีการรักกัน จะขอนิสัยต่างๆ เคารพบูชากัน พระกรรมฐานนี่ พระกรรมฐานเพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมไง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม คำว่า “เป็นธรรมๆ” มันไม่มีความลำเอียงไง คำว่า “เป็นธรรม” เสมอภาคไง คำว่า “เป็นธรรม” ใครไปอยู่ด้วยมันก็ไว้เนื้อเชื่อใจไง
แต่ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงว่าพวกเรา ลำเอียงว่าพวกเขา ลำเอียงว่าคนนั้นผิด คนนั้นถูก แล้วมันถูกผิดจริงหรือเปล่า พอเริ่มลำเอียงขึ้นมา ความไว้เนื้อเชื่อใจมันก็เบาบางลง ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่มีขึ้นมามันจะไปขอนิสัยใคร มันก็เลยไม่อบอุ่นเหมือนเดิมไง ถ้าอบอุ่นเหมือนเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นธรรม ทุกคนเคารพบูชาทั้งสิ้น นี่พูดถึงว่าในวงกรรมฐาน ถ้าความเคารพบูชาในการขอนิสัย นี่ถ้ามันเป็นจริงนะ
ฉะนั้นว่า “พระกราบพ่อแม่ได้หรือไม่”
เราบอกว่าได้ ทีนี้คำว่า “จะบอกว่าได้” ที่เราพูดนี้เราพูดถึงให้เห็นว่า มันมีวินัย มันมีวินัยอยู่ สิ่งที่ทำมันต้องมีที่มาที่ไป บุคคลที่กราบไหว้ไม่ได้ บุคคลที่รับไหว้ไม่ได้ ๑๐ อย่าง ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านทำมันมีที่มาที่ไปทั้งนั้น ทีนี้มีที่มาที่ไปแล้วมันขัดแย้งกับวัฒนธรรมความเชื่อ ความเชื่อมันเป็นอย่างนี้ไง ทำกันมาเรื่อยๆ จนเป็นความเชื่อ แต่วินัยมันมีของมัน
ทีนี้เวลาหลวงปู่มั่นท่านก็ทำมาในชีวิตท่าน แล้วครูบาอาจารย์ทำมาหลายรุ่น แล้วเวลาเราไปอีสาน เราไปศึกษามา เราไปเห็นมาว่าหลวงปู่ฝั้นก็ไม่ได้ทำ หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่หลุย ท่านไม่ยกมือ ท่านไม่รับไหว้คฤหัสถ์ เหมือนการรับไหว้กัน
นี่พูดถึงว่าบุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ อย่าง ถ้าผู้ใดไหว้ เป็นอาบัติทุกกฏ แล้วมันมีที่มาที่ไปหมด สิ่งที่ทำแล้วมันเป็นอาบัติ ทีนี้อาบัติมากอาบัติน้อยขนาดไหน แต่ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหลวงปู่มั่น ชีวิตแบบอย่าง
ชีวิตแบบอย่าง เวลาหลวงตาท่านพูดไง ถ้าเป็นลูกศิษย์เราต้องถือธุดงค์ ถ้าไม่ถือธุดงค์เป็นลูกศิษย์เราไม่ได้ ถ้าถือธุดงค์ๆ ท่านก็พูด เวลาท่านอบรมสั่งสอน ท่านบอกว่า ธุงควัตร ธุดงควัตรมันเป็นอาวุธไว้ต่อสู้กับกิเลส เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส
มันเป็นเครื่องขัดเกลาๆ กิเลสมันอยากได้อยากดี มันอยากสุขอยากสบายทั้งนั้นน่ะ มีธุดงควัตรไว้ให้มันดัดสันดานกิเลส ดัดสันดานกิเลส อยากได้ก็ไม่ได้ อยากจะสุขสบายก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งสิ้น นี่ไง มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่เวลาจะชำระกิเลสมันก็ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องภาวนามยปัญญาเท่านั้น ไม่มีอะไรฆ่ากิเลสได้ แต่มันเป็นเครื่องขัดเกลา เครื่องขัดเกลาไง
ฉะนั้น ท่านถึงบอกว่า ถ้าเป็นลูกศิษย์เราพยายามให้ถือธุดงค์ เพราะต่อไปมันจะมีแต่ตัวอักษร มันจะมีแต่ตำรับตำรา ผู้ที่จะทำต่อไปทำไม่เป็น ทำไม่ได้นะ แล้วจะทำอย่างไร ท่านให้สืบต่อไว้ๆ เหมือนกับพระกัสสปะ พระกัสสปะถือธุดงควัตร เวลาองค์สมเด็ตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “กัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา อายุ ๘๐ เท่ากัน” อายุพระกัสสปะกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่ากัน “อายุ ๘๐ แล้วยังถือผ้าสามผืน ยังถือธุดงควัตรไง เธอทำไปทำไม”
“ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุ แล้วขอแลกสังฆาของท่าน เพราะของพระกัสสปะสังฆาปะชุนถึง ๗ ชั้น แลกสังฆาของท่านกับพระกัสสปะ
สิ่งที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม เธอทำทำไม อายุ ๘๐ แล้ว เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ต้องทรมานกิเลสอีกหรือ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ไม่ต้องทำสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ท่านทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังไง
ครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร ท่านพ้นกิเลสไปแล้ว ท่านนอนสบายๆ อย่างไรก็ได้ แต่ท่านก็ยังรักษาธุดงควัตร ท่านก็ยังรักษาของท่านเพื่ออะไร เพื่ออนุชนรุ่นหลัง รุ่นหลังธรรมทายาท ธรรมทายาทต่อมา จนเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติมา ถ้าในการประพฤติปฏิบัติมา เวลาพูดถึงธรรมวินัยแล้วมันก็ต้องตามธรรมวินัยที่มันมีเป็นตัวอักษรเลย ที่ว่ากราบไหว้ไม่ได้
แต่โดยธรรม พ่อแม่ของเรา พ่อแม่ของพระ พระก็มีพ่อมีแม่ แล้วถ้าพ่อแม่มีลูกคนเดียว การดูแลรักษานี่สมควรมาก แต่ถ้าลูกหลายคนนะ ก็สมควรให้คนอื่นดูแล เราอยู่เบื้องหลังก็ได้ เราส่งเสริมทางไหนก็ได้ เราทำสิ่งใดก็ได้ เพราะว่าเรามีพี่มีน้องให้ช่วยดูแล มันไม่สมควรทำให้สังคมติฉินนินทา
สังคมเขามองเขาเพ่งเล็งของเขานะ เพราะพระเป็นบุคคลสาธารณะ ใครๆ ก็ใส่บาตรได้ ใครๆ ก็ทำบุญได้ ใครๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้ามันไปทำสิ่งใดให้สังคมติฉินนินทา มันไม่เป็นประโยชน์หรอก แต่ถ้าเราฉลาด เราก็อยู่เบื้องหลังซะ ถ้ามีลูกหลายคน เห็นไหม
นี่พูดถึงว่า พระก็มีพ่อมีแม่ แล้วใครจะดูแลอย่างไร ดูแลได้มากน้อยแค่ไหน นี่พูดถึงว่า ในเจตนาดีของผู้เป็นลูกนะ ในเจตนาดีของสังคมนะ
แต่โดยทั่วไป อย่างพระที่ว่า พ่อแม่เป็นเศรษฐีแล้วโดนโกงจนเป็นยาจกในสมัยพุทธกาล นั่นน่ะถ้าลูกมาดูแล ท่านก็ต้องภูมิใจ ท่านก็ต้องแบบว่า จากเป็นคนขอทานจะมีกินไม่มีกิน มีลูกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ท่านก็คงต้องมีความพอใจว่าท่านก็มีลูกเหมือนกัน อันนี้เราเห็นด้วยนะ
แต่โดยทิฏฐิมานะของพ่อของแม่ กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกโดยวัฒนธรรม แต่โดยความเป็นจริงพ่อแม่สอนได้ยากยิ่ง ยิ่งว่าเป็นลูกของกู ยึดถือสิทธิ์ มันไม่ฟังหรอก แก้ไม่ได้หรอก การที่บอกว่าจะดูแลพ่อดูแลแม่ให้เป็นพระอรหันต์
เออ! ดูไปเถอะ เถียงกันวันหนึ่งไม่จบหรอก พ่อก็เอาอย่าง แม่ก็เอาอย่าง จะไปวัดเขายังจะเอาโซ่ล่ามไม่ให้มานู่นน่ะ นี่เวลาวัฒนธรรมของเรา เราก็เชื่อของเราอย่างนี้ เราก็ภูมิใจของเราอย่างนี้ แต่โดยข้อเท็จจริง กิเลสร้ายนัก ทิฏฐิมานะในใจแสนร้ายนัก แล้วยิ่งแม่กับลูก ลูกจะไปสอนแม่...เออ! กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง เย็บปากเลย ห้ามเถียง จบเลย
นี่พูดถึงว่า ถ้าจะเอาธรรมะเพื่อแก้ไขโดยความเป็นจริงนะ วัฒนธรรมประเพณีเป็นเรื่องหนึ่งนะ วัฒนธรรมประเพณีเป็นเรื่องหนึ่ง ทีนี้สังคมไทย สังคมไทยนะ เราเชื่อเรื่องบุญเรื่องกุศล เข้าไปในวัด ออกจากวัด สิ่งที่ว่าเศษดินเศษทรายติดรองเท้ามา เรายังทำเจดีย์ทราย ก่อเจดีย์ทรายเพื่อคืนของของสงฆ์ เราเห็นคุณค่าตามประเพณีวัฒนธรรม
แต่โดยพฤติกรรมที่ประพฤติสิ เห็นไหม ของในวัดหายหมด ของในวัดโดนฉก โดนลัก โดยขโมย ร้อยแปด แต่โดยประเพณีวัฒนธรรมเชื่อว่าของของสงฆ์นะ ของของสงฆ์นะ ไอ้ที่เคารพบูชาก็เคารพบูชามาก ไอ้พวกที่เห็นแก่ตัว ไอ้พวกที่ไม่เชื่อเวรเชื่อกรรมมันก็มีมหาศาล นี่พูดถึงว่าในวัฒนธรรมเรื่องหนึ่ง ในความเป็นจริงเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้นบอกว่า การกราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่
เราว่าโดยวัฒนธรรม ได้ โดยธรรม ได้
แต่โดยวินัย โดยวินัยเราพูดตามกฎหมาย กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว กฎหมายบัญญัติ บุคคลไม่ควรไหว้ ๑๐ อย่าง ชัดเจน ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายบังคับไว้เลยว่าพระต้องเป็นพระ
พระอานนท์ พระอานนท์เห็นเดียรถีย์นิครนถ์เขาไม่มีจะกิน สงสารเขามาก เวลาอาหารที่เหลือ พระอานนท์เป็นผู้ให้เดียรถีย์ไป เดียรถีย์มันไปโฆษณานะ บอกพระอานนท์ให้อาหารนี้มา แสดงว่าพระอานนท์เป็นลูกศิษย์เขา มันร่ำลือไปทั่วไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติไง ภิกษุห้ามให้อาหารนักบวชนอกศาสนา
ภิกษุห้ามให้อาหารนักบวชนอกศาสนา เพราะนักบวชนอกศาสนามันจะไปบอกว่า “นี่ไง พระยังให้ฉันมาเลย พระยังให้ฉันมาเลย อาจารย์ของเอ็งที่ยิ่งใหญ่ยังเคารพบูชากูเลย”
นี่มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ไอ้เราก็เมตตาใช่ไหมว่าเขาอดอยาก เราอยากจะไปช่วยเขา แต่เอ็งลองไปช่วยเขาสิ พอช่วยแล้วเขาไปโฆษณาเลย “นี่ไง พระที่เอ็งไปเคารพบูชากันยังต้องมาถวายอาหารกูเลย กูนี่ยอดกว่า” ทั้งๆ ที่เราให้เขาด้วยความเมตตานะ
ฉะนั้น ความเมตตา มันจะเมตตาโดยไม่มีสติปัญญาไม่ได้ คนอื่นเขาไปแอบอ้าง แอบอ้างว่าเราไปเชิดชูเขา เราเป็นลูกศิษย์เขา เราไปยอมจำนนกับเขา เราไปยอมรับเขา แต่ความจริงเราอยากให้เขา เราอยากให้เขาเพราะเห็นว่าเขาไม่มีจะกิน
แต่ขนาดเขาไม่มีจะกินนะ เขาไม่มีจะกินโดยเรื่องวิทยาศาสตร์ โดยเรื่องโลก แต่กิเลสเขายิ่งใหญ่ กิเลสเขา เขาอยากจะอวดว่าเขาเหนือกว่า นี่ไง นี่ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าบัญญัติ ภิกษุห้ามให้อาหารนักบวชนอกศาสนา
แต่ของเรานะ “ศาสนสัมพันธ์ เราต้องมีความสัมพันธ์กัน” ศาสนสัมพันธ์มันก็เรื่องโลกนะ เราก็เห็นด้วย เรื่องความสามัคคี เรื่องความสงบร่มเย็นในสังคม เราเห็นด้วยทั้งนั้นน่ะ แต่เรื่องกิเลส เวลากิเลสมันพลิกมันแพลงขึ้นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีวินัยบัญญัติห้ามๆๆ เลย
เวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาเราจับอะไรผิด วินัยจะตีมือเลย เพียะ! เพียะ! อย่า! อย่า! อย่า! แต่เรานี่เสี้ยน อยาก อยากนัก ทำอะไรนี่ แหม! อวดดี ไอ้นั่นมันพ้นกาลพ้นสมัย
กิเลสมึงมีท่วมหัว กิเลสมึงน่ะ มึงไม่รู้จักกิเลสมึงหรอก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้
เราจะบอกว่า เวลาบอกว่ากราบพ่อแม่ได้หรือไม่
เราว่าได้ อันนี้เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สวยงาม แต่เวลาจะแก้พ่อแม่ได้หรือไม่ เวลาจะแก้พ่อแม่ให้พ่อแม่ประพฤติปฏิบัติ ให้พ่อแม่เห็นตามความเป็นจริงนี่ยาก เพราะพ่อแม่มันก็ต้องอย่างที่ว่าเมื่อเช้า ใจมันเรียกร้องความช่วยเหลือ แล้วใครจะไปช่วยมันได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่ปัญญา ก็ต้องปัญญาของเขา ต้องปัญญาของเขาถึงแก้เขาได้นะ
ถ้าไม่ใช่ปัญญาของเขา เราจ้ำจี้จ้ำไช กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง คือว่าเขาอาย เขาถือสิทธิ์ว่าความเป็นลูกเป็นแม่ไง แม่ต้องสูงกว่า พ่อแม่ต้องสูงกว่าใช่ไหม ลูกต้องต่ำกว่า แล้วลูกจะมาสอนพ่อแม่ มันสอนได้อย่างไร เขายอมรับโดยนั้นไม่ได้
ฉะนั้น เวลาจะสอน ที่ว่าผู้ประเสริฐ เราต้องฉลาดกว่า ไม่ได้สอน แต่นี่แค่แนะนำ ไม่ได้สอน นี่แค่แนะนำ นี่แค่ช่วยกันทำ ไม่ได้สอน นี่แค่ช่วยกันทำ ทำความดีด้วยกัน
อู้ฮู! แสนยาก ทิฏฐิมานะพ่อแม่นี่สูงส่งกับลูกนะ แต่กับเพื่อนฝูงของเขาอีกเรื่องหนึ่งนะ กับลูกมันมีโดยธรรมชาติ นี่พูดถึงว่าจะแก้ไขไง
เราถึงบอกว่า กราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่
ได้ แต่ถ้าจะหวังว่าจะแก้ไข จะแก้ไขให้พ่อแม่จะให้ประพฤติปฏิบัติให้บรรลุธรรม มันต้องแบบว่าคู่เวรคู่กรรม อาจารย์ของเขา เขาได้สร้างเวรสร้างกรรมด้วยกันมา เขาฟัง ถ้าเขาไม่มีเวรไม่มีกรรมร่วมกันมาเขาไม่ฟังหรอก เขามีทิฏฐิมานะของเขา เขาถือตัวถือตนของเขา
ไอ้นี่พูดถึงว่าเรื่องของกิเลสนะ พระอรหันต์ของเราก็ยังมีกิเลส แต่พระอรหันต์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาไม่มีกิเลส พระอรหันต์ของลูกมีกิเลส เพราะว่ามันเป็นบุญเป็นคุณในทางโลกไง
ฉะนั้น พระอรหันต์ของเรา เราจะดูแลรักษามันต้องใจเย็นๆ ต้องค่อยๆ เพราะว่ามันเป็นพระอรหันต์ของเรา พระอรหันต์ของลูก แต่ถ้าเราจะแก้ไขให้ได้เป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา มันต้องมรรคผลนิพพาน มันต้องมีเหตุมีผล ต้องมีการกระทำ
ฉะนั้น ย้อนกลับมาว่า กราบพ่อกราบแม่
ตามวินัยนี่ผิด แต่ตามธรรมนี่ถูก ความกตัญญูนี่ถูก ฉะนั้น ทำแล้วมันเป็นดุลพินิจ เราทำแล้วไม่ให้ประเจิดประเจ้อ
ทีนี้จะบอกได้ มันก็ไม่สมที่จะให้โลกเขาแบบว่า นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเขาไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่มีใจเป็นธรรมเขาชื่นชมทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่ลูกยังระลึกถึงพ่อแม่ เขาชื่นชมทั้งนั้นน่ะ ถึงว่าลูกจะเป็นครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเขาก็ยังชื่นชม ถ้าเขายังกตัญญูกับพ่อแม่ของเขา
แต่คนที่มีคุณธรรมเขากตัญญูกับพ่อแม่ของเขาอยู่แล้ว แต่ด้วยการแสดงออก แสดงออกในวิธีการใดเท่านั้น การแสดงออกเพื่อไม่ให้ไปบาดหูบาดตาสังคมไง ไม่ให้บาดหูบาดตาใคร แต่ด้วยความคิดความเห็นในหัวใจ เต็มหัวใจ ล้นหัวใจ ถ้ามันเป็นธรรมนะ เว้นไว้แต่เป็นกิเลส มีความเห็นแก่ตัวนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น กราบพ่อกราบแม่ได้หรือไม่
โดยธรรม โดยธรรม ได้ เอวัง