ใจเรื่องมาก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๓๒๕. เรื่อง “ขอวิธีแก้ไข”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกขออนุญาตเล่าปัญหาที่เกิดในการปฏิบัติเลยนะคะ ตอนนี้นิมิตไม่เกิดแล้ว (หนูคนที่เคยไปกราบถามหลวงพ่อเรื่องนิมิตที่วัด) หลายเดือนมานี้การปฏิบัติของหนูไม่ก้าวหน้า เวลาภาวนา ใจไม่เคยสงบแบบสดชื่น ไม่ง่วงแบบรู้ลมชัดๆ เลย
ตอนนี้พอนั่งไม่กี่นาทีก็รู้สึกเคลิ้มๆ เหมือนง่วง ตัวเอียงและนิ่งอยู่อย่างนั้นสักพัก จากนั้นก็มีน้ำลายเต็มปาก แล้วรู้สึกว่าปากตัวเองเหมือนมีอาการเคลื่อนไหวอ้าปากกว้าง ลูกเลยลืมตา แล้วเอามือจับดู ปรากฏว่าอ้าจริง แต่ไม่กว้าง แล้วหลังจากนั้นอาการตัวโยกโคลงก็เกิดขึ้น บางทีหน้าผากก้มติดพื้น แล้วอาการนี้เกิดขึ้นตรงเวลาด้วย อาการตัวโยกแบบนี้เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ในขณะที่อาการตัวโยกเกิด ลมหายใจจะโล่งมาก (ปกติเหมือนหายใจไม่ออก ลูกต้องเปลี่ยนมากำหนดรู้ตรงหน้าอกแทนจมูก) ลูกเลยแก้โดยวิธีการกินกาแฟแก้ง่วง ปกติหนูไม่กิน แต่ก็ไม่หาย
แล้วสุดท้ายหนูเลยเปลี่ยนจากอานาปานสติมาบริกรรมพุทโธเพื่อไม่ให้มันเผลอสติ แก้ได้บ้างนิดหน่อยคืออาการทั้งหมดจะเกิดขึ้นช้ากว่า แต่พอใจสงบแล้วสติมันจะไปจับลม แต่ลูกก็ไม่ทิ้งคำบริกรรมนะคะ อาการเหล่านี้ก็กลับมา
สุดท้ายลูกเปลี่ยนคำบริกรรมจากพุทโธเป็นสังโฆ เพราะคำบริกรรมพุทโธ ใจมันอาจคุ้นชิน ลูกเลยคิดว่าลูกอาจจะเผลอสติ ลูกพยายามแก้ไขมาหลายเดือนแล้ว ลูกคงสร้างกรรมไม่ดีไว้เยอะ อาการทั้งหมดนี้คือจิตเสื่อมหรือตกภวังค์ใช่หรือไม่ ขอหลวงพ่อเมตตาลูกด้วยเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : อันนี้มันเกิดจากความตั้งเป้า คือเจตนาอยากจะประสบความสำเร็จ เจตนาของเราคืออยากจะปฏิบัติแล้วให้จิตสงบ ให้เป็นสมาธิ ให้มีความสุข อันนั้นเป็นเป้าหมายที่ดีงาม เป้าหมายที่ทุกคนที่นักปฏิบัติทั้งหมดเขาตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้เหมือนกันทุกๆ คน แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ไอ้สิ่งที่เป้าหมายแล้วผิดหวังด้วยไง ปฏิบัติมันก็ทุกข์มันก็ยากอยู่แล้ว แล้วถ้าผิดหวังซ้ำสองมันเกิดความทุกข์ยากมากขึ้น ถ้าเกิดความผิดหวังทุกข์ยากมากขึ้น มันก็เลยเกิดความทุกข์ เกิดความทุกข์ไง
แต่ถ้าเราตั้งใจไว้ เราแก้ไขประเด็นนี้ โดยลูกศิษย์ส่วนใหญ่ เราจะบอกว่าให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราปฏิบัติของเราไป เป้าหมายเราก็ตั้งเป้าหมายของเราไว้นั่นแหละ แต่มันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ นั้นอยู่ที่ความเพียรของเรา
ถ้าความเพียรชอบไง ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว มันเป็นวิทยาศาสตร์เลยแหละ ถ้าเราทำประพฤติปฏิบัติตรงต่อความเป็นจริงนะ ผลมันต้องเกิดขึ้นแน่นอน มันเป็นวิทยาศาสตร์เลย
แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วคือการคาดหมาย พอการคาดหมายว่าอยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ แล้วมันไม่ได้เป็นดั่งใจ มันก็เกิดความทุกข์ความยากขึ้นมา เวลามันเกิดความทุกข์ความยากขึ้นมา มันจะพาลสิ่งที่ปฏิบัติมาแล้วว่าสิ่งที่ปฏิบัติมาแล้วมันเป็นความหลงผิด เป็นการปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เป็นการปฏิบัติแล้วมีความทุกข์ความยาก อันนั้นมันก็เป็นเรื่องจริง มันก็เป็นความทุกข์ความยากจริงๆ นั่นน่ะ
แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว มีทางเดียวเท่านั้นคือการประพฤติปฏิบัติให้พ้นไปจากทุกข์ไป ทางอื่นไม่มี ไม่ต้องว่าทางนี้ที่เราจะพยายามปฏิบัติกันอยู่นี่ มันเป็นความทุกข์ความยาก แล้วเราจะหาทางอื่นออกทางอื่น ลัดหาช่องแต่พอตัวออกทางอื่นไป มันไม่มี มันมีทางนี้ทางเดียวเท่านั้นน่ะ ทางนี้ทางเดียว แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาปฏิบัติไปเหมือนกับเราไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งใด เราก็สบายใจ พอตั้งใจทำสิ่งใดปั๊บ อุปสรรคต่างๆ มันก็มากีดขวาง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปใช่ไหม คำถามเขาบอกว่า หลายเดือนนี้ที่ปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เวลาภาวนาแล้วใจไม่เคยสงบแบบสดชื่น แบบไม่ง่วงนอนเลย เหมือนที่รู้ลมชัดๆ
เวลาเราปฏิบัติที่มันรู้แล้ว เวลามันสดชื่น ไม่ง่วงเลย แล้วมันชัดเจนไง เวลาปฏิบัติไปมันจะชัดเจนนะ เห็นลมก็เห็นลมชัดๆ พุทโธก็พุทโธชัดๆ สิ่งที่มันชัดๆ ชัดๆ นี่ไง นี่เป็นวิทยาศาสตร์เลย สมกับความเป็นจริงๆ ไง ถ้าสมความเป็นจริง สิ่งนั้นมันก็ฝังใจ
“ปฏิบัติมาตั้งหลายเดือนแล้ว มันไม่สดชื่นแบบไม่ง่วงนอนเลย”
สิ่งนั้นที่ปฏิบัติไป ที่มันสมควร มันเป็นการยืนยันว่าเราเคยทำได้ ถ้าเราเคยทำสิ่งนั้นได้ อันนั้นมันเป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่เราทำของเราอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นขึ้นมามันเคลิ้ม มันง่วงเหงาหาวนอน ตัวมันเอียง ตัวมันโยก ตัวมันคลอน
ตัวมันเอียง ตัวมันโยก ตัวมันคลอน ก็เราปฏิบัติมาไม่ได้ปฏิบัติมาเพื่อประกวดกับใคร เวลาปฏิบัตินะ ถ้าเริ่มต้นขึ้นมาตัวตรงดีเลยล่ะ พอไปๆ แล้วมันชักแบบว่าโคลงเคลง บางคราวหัวจรดพื้นเลย หัวติดพื้นเลย
หัวติดพื้น เราก็ลุกขึ้นมา หัวติดพื้นนี่มันดี ดีที่ว่าเรารู้ไง แล้วไม่รู้ขึ้นมาบอกว่า โอ้โฮ! ตอนนี้ท่าสวย เพราะมันไม่เห็นไง แต่ถ้ามันเห็นของมันนะ
ท่ามาตรฐานคือการนั่งสมาธิ นั่งขัดสมาธิตั้งตัวตรง มันเป็นท่ามาตรฐานที่เราจะนั่งได้นานที่สุด แต่เวลายืนก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้ นั่งก็ได้ อิริยาบถ ๔ เพราะการอิริยาบถ ๔ กิริยาทั้งหมด เราทำเพื่อจิตสงบ เราทำเพื่อรักษาหัวใจของเรา นี่ไง แบบโปฐิละๆ ไปหาสามเณรน้อย ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก จอมปลวกนี้ปิดไว้ ๕ รู เหลือรูที่หัวใจไว้ แล้วคอยจับเหี้ยตัวนั้นๆ
นี่ก็เหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เราปิดไว้ เราปิดไว้คือเราหลับตาลง เรานั่งสมาธิลง แล้วเราก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ตั้งใจจะจับเหี้ยตัวนั้น ก็จับคือจับหัวใจของเรานั่นแหละ ถ้าจับแล้วเรามาพิจารณามาใคร่ครวญของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราไง
สิ่งที่เวลาเรานั่งเริ่มต้น ท่าที่มาตรฐานเวลานั่งสมาธิ แล้วเราปิดเสีย ๕ ช่องทาง เหลือไว้แต่หัวใจ เหลือไว้แต่ความรู้สึก แล้วคอยจับมัน คอยจับตัวความรู้สึกนี้ ถ้าเราจับความรู้สึกนี้ เราก็จับหัวใจของเราได้ ถ้าเราจับหัวใจของเราได้ เห็นไหม
มนุษย์เกิดมาเหมือนแบตเตอรี่ เหมือนกับพลังงาน ตัวมันเองไม่รู้จักตัวมันเอง แต่มันมีพลังงานนะ แบตเตอรี่มันมีไฟนะ นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมา จิตของเราเป็นตัวพลังงาน แต่เราไม่เคยเห็นตัวเราเลย แต่จิตนี้มันส่งออกรับรู้ไปหมด ไปกว้านทุกอย่างมาเป็นทุกข์หมดเลย แล้วเรานั่งสมาธิภาวนา แบตเตอรี่นั้นให้มันรู้จักตัวมันเอง แบตเตอรี่มันรู้จักตัวมันเองไม่ได้ แบตเตอรี่มันจะไปไหนไม่ได้ มันต้องให้คนยก ให้ช่างซ่อม ให้ช่างเปลี่ยนแปลง ให้ช่างซ่อมบำรุงรักษา แต่ถ้าแบตเตอรี่มันไม่รู้จักตัวมันเอง เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน เราหาหัวใจของเรา ถ้ามันหาพลังงานนั้น จับตัวพลังงานได้ นั่นคือตัวสมาธิ ตัวสมาธิ มันสดชื่น มันไม่ง่วงนอน มันแจ่มใส มันปลอดโปร่ง อู๋ย! มันดีงามไปหมดเลย แล้วตอนนี้ก็จะหาอีก เจอแต่เปลือกแบต โอ้โฮ! มันหนัก โอ้โฮ! หนักมาก ยกแล้วมันหนักมาก มันก็เลยมีปัญหาขึ้นมาไง
แล้วเวลาเกิดขึ้น สิ่งที่มันเป็นไป แล้วตัวมันโยกตัวมันคลอน แต่เวลาตัวโยกตัวคลอนทีไร ลมหายใจมันโล่งดี
ลมหายใจมันโล่งดีมันเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เวลาง่วงนอนแล้วเขาก็บอกว่าเขามากินกาแฟ แต่มันก็ไม่หาย
นี่ไง เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพราะอะไร เพราะมันเป็นที่จิตของเรา ถ้ามันเป็นที่จิตของเรา สิ่งที่มันเกิดนิมิต สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เราก็ดูแลรักษา เวลาเราตั้งสติ มันเกิดไม่ได้ ตั้งสติแล้วเรารู้เท่าทัน รู้เท่าทันอารมณ์ นิมิตมันเกิดไม่ได้ นิมิตเกิดไม่ได้มันก็ออกทางอื่นไง เวลาคนมีอุปสรรคสิ่งใดก็บอกจะแก้ไขสิ่งนี้ พอแก้ไขสิ่งนี้ มันก็จะมีอุปสรรคใหม่มาตลอด คำว่า “อุปสรรค” แต่ละอย่างๆ กิเลสมันเป็นตัวจุดชนวน มันเป็นตัวอุบายที่มันจะสร้างอุปสรรคมาให้เรา ถ้ามันสร้างอุปสรรคนะ มากีดมาขวางเรา
หลวงตาท่านสอนประจำ ธรรมะนี่สุดยอด สิ่งที่มีปัญหาคือตัวกิเลสทั้งนั้นน่ะ ที่เราปฏิบัติธรรม เราพยายามทำคุณงามความดีแล้วไม่สมความปรารถนา ทำความดีแล้วเราล้มลุกคลุกคลาน ทำความดีแล้วเรามีแต่ความเศร้าหมอง นี่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย เรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย
แต่พอมันเป็นเรื่องตรงต่อสัจจะความจริง เห็นไหม โล่ง ปลอดโปร่ง สดชื่น นั่นน่ะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราปรารถนาสิ่งนั้น สิ่งที่ปฏิบัติธรรมแล้วให้สมควรแก่ธรรม แต่มันมีอุปสรรค อุปสรรคเพราะกิเลสของเรา
ถ้ากิเลสของเรา เราก็รู้อยู่แล้วว่ากิเลสของเรา กิเลสของเรา เพราะเรามีความปรารถนา มีความต้องการ เราถึงพยายามดำรงชีวิตแบบนี้ นี่พันธุกรรมของจิตๆ คือดำรงชีวิตอย่างไร เราทำอย่างไรมามันก็เป็นจริตเป็นนิสัยของเรามา แล้วถึงเวลาเราจะปฏิบัติ เวลาจะไปแก้ไขจะไปดัดแปลงขึ้นมา เราก็ต้องต่อสู้กับมันไป นี่คืออำนาจวาสนาของคนไง ฉะนั้น ทำไปตั้งสติไป
เขาบอกว่า “ลูกคิดว่าอาจจะเผลอสติ ลูกพยายามแก้ไขมาหลายเดือนแล้ว คงสร้างกรรมไว้เยอะ อาการทั้งหมดนี้คือจิตเสื่อมหรือตกภวังค์ใช่หรือไม่เจ้าคะ”
จิตมันเสื่อม มันก็เสื่อมไปแล้วไง ถ้ามันตกภวังค์ มันก็เป็นอดีตไปทั้งหมดทั้งสิ้น แต่เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยข้อเท็จจริง หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หรือพุทโธๆๆ ท่องเอาเฉยๆ ก็ได้ หรือใช้สติปัญญาใคร่ครวญในธรรมๆ คือปัญญาอบรมสมาธิ ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งขณะที่ทำ แล้วถ้ามันไม่ได้แล้วก็เปลี่ยนแปลงทำอย่างอื่นๆๆ ทำต่อหน้าครั้งละหนึ่งอย่างๆ ชัดๆ ชัดๆ ไป เราแก้ไขสิ่งนี้ไป ถ้าแก้ไขสิ่งนี้ไปมันก็จะเป็นความเพียร เห็นไหม ความเพียรชอบๆ ความชอบธรรมเท่านั้นที่ทำให้ถูกต้องดีงาม
แต่เวลาทำสิ่งใดแล้วอยากลัด อยากขั้นตอน อยากให้มันเป็นไป นี่กิเลสมันลัดขั้นตอน ไฟฟ้าลัดวงจร มันเผาไหม้บ้านเรือนหมดเลย ไอ้นี่ไฟฟ้าลัดวงจรเผาให้หัวใจเดือดร้อนหมดเลย ทำให้เราเดือดเราร้อน เราทุกข์เรายากไง ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราวางให้หมดเลย แล้วกลับมาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ปัญญาอบรมสมาธิ ทำของเราไป
ถ้ามันปลอดโปร่ง บอกเวลาตัวมันโยกมันคลอนแล้วหายใจมันโล่ง
หายใจมันโล่ง เรามีสติไว้ ถ้าสิ่งใดดี สิ่งนั้นเอาเป็นประโยชน์ สิ่งใดที่มันขัดแย้ง เราวางไว้ๆ เวลาคนจะเข้าบ้าน บ้านของคนสมัยปัจจุบันจะมีสวนหน้าบ้าน สวนหน้าบ้านคืออาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เราเดินจากประตูรั้วจะเข้าสู่บ้าน เราจะผ่านสวนอันนั้นไป ผ่านสวนอันนั้นคือผ่านปฏิกิริยาที่มันเกิดขึ้นนี่ไง ปฏิกิริยาที่มันเกิดขึ้น อันนู้นดี อันนี้ไม่ดีต่างๆ แล้วไปผูกพันไปติดพัน นี่แวะข้างทาง แวะข้างทางไม่เข้าสู่บ้านของตัวเอง แวะข้างทางคือมันไม่เข้าสู่ความสงบไง แวะข้างทางก็แวะอยู่ปากทางนั่นน่ะ อาการต่างๆ มันเกิดขึ้นได้ร้อยแปด
คนปฏิบัติ จิตนี้เรื่องมาก จิตของคนนี่เรื่องมาก มากเรื่องมาก แล้วเราพยายามจะจัดเรียงไง จัดเรียงให้มันเป็นที่เป็นทางไง ปัญญาอบรมสมาธิก็พยายามคิดค้น พยายามประพฤติปฏิบัติจัดเรียงความคิดของตัวเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นมา แล้วถ้ามันเข้าใจทั้งหมด มันวางหมด นั่นน่ะสัมมาสมาธิ
จิตนี้เรื่องมาก เรื่องร้อยแปด แล้วมันมีปัญหาตลอดไป เราแก้ไขอย่างนี้ เราแก้ไขของเรา เวลามันจะเผลอสติ มันจะอย่างไร เราก็แก้ไขไป งานอย่างอื่นเวลาทำแล้วไม่เสร็จ เราก็ยังขวนขวายทำให้เสร็จ นี่หัวใจของเรา เราปฏิบัติของเราไป เวลามันจบแล้วนะ เลิกเลยล่ะ ลาวัฏฏะเลย ลา ๓ โลกธาตุเลย กูไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว จบ นี่พูดถึงถ้ามันเป็นความจริงเนาะ จบ
ถาม : ข้อ ๒๓๒๖. เรื่อง “สติกับความคิด”
สืบเนื่องจากการนั่งสมาธิแล้วเกิดสภาวะของจิตแยกตัวออกมาจากร่างกาย ร่างกายเป็นเพียงก้อนซากศพอ้วนๆ ส่วนจิตนั้นสว่างไสวลอยเด่นอยู่นิ่งๆ แต่ความคิดกับสติแยกตัวออกมาต่างหาก โดยอยู่ห่างจากจิตและกายประมาณครึ่งเมตร จากนั้นจึงเกิดภาวะสติแตก ควบคุมความคิดไม่ได้ จึงไม่สามารถนึกถึงบทสวดมนต์หรือคำบริกรรมใดๆ ได้ และสติก็ดึงจิตให้เข้าสู่ร่างกาย ทุกอย่างจึงกลับสู่ภาวะปกติ จิตกับร่างกายรวมอยู่ด้วยกัน จึงใคร่ขอคำอธิบายโดยละเอียดเรื่องสติกับความคิดค่ะ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : สติกับความคิด สติก็คือสติ ความคิดก็เป็นความคิด นี่พูดถึงเรื่องรายละเอียดจากสติ จากความคิด
แต่อันนี้มันไม่ใช่ แต่เนื่องจากการนั่งสมาธิแล้วเกิดสภาวะของจิตแยกตัวออกจากร่างกายนี้ ถ้าจิตที่มันแยกตัวออกจากร่างกายนี้ไป เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปมันจะเห็นนิมิต ปฏิบัติไปแล้วเป็นสมาธิไม่ได้ ปฏิบัติไปแล้วมันฟุ้งซ่าน ปฏิบัติไปแล้วมันมีแต่ปัญหา ปฏิบัติไปแล้วมันคิดแต่ส่งออกไปทั้งหมดเลย นี่เวลาจะประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น
เวลาปฏิบัติเริ่มต้น คนที่ทำสัมมาสมาธิได้คือคนที่เอาชนะตนเองได้ การเอาชนะตนเองได้คือเอาชนะความคิดของตนได้ เอาชนะความรู้สึกของตนที่มันแผ่กระจายออกไป ธรรมชาติที่มันส่งออก ธรรมชาติของจิต พลังงานที่มันส่งออก ส่งออกโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมันที่ส่งออก ทางจิตวิทยา ทางการแพทย์ เขาศึกษา เขาเข้าใจของเขาเรื่องของสภาวะจิตๆ ไง แต่สภาวะจิต จิตมันเกิดจากอะไร เกิดจากเหตุสิ่งใด จิตวิทยาเกิดจากอย่างไร เวลามันเกิดขึ้นไป การศึกษาทางจิตแพทย์ ทางจิตแพทย์เวลาเขามีกระบวนการรักษาของเขา เขารักษาของเขาให้จิตกลับมาเป็นปกติไง
แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาคนเกิดมา บ้า ๕๐๐ จำพวก คำว่า “บ้า ๕๐๐ จำพวก” คือเกิดมาแล้วมันมีจริตนิสัยที่แตกต่างกันไป เวลามีจริตที่แตกต่างกันไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางกรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ
ทำความสงบของใจแล้วถ้าจิตเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนานั้นเป็นสติปัญญาที่รู้แจ้ง ถ้ารู้แจ้ง รู้แจ้งในอะไร รู้แจ้งในกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตน รู้แจ้งในจิตของตน รู้แจ้งจากสมบัติบ้า จากสมบัติที่มันได้กระทำมา สิ่งที่ทำสิ่งใดมา เข้ามารู้แจ้งขึ้นมาให้มันละให้มันวาง ให้ละวางด้วยสติด้วยปัญญา
เวลาพิจารณาไปแล้วมันวางบ่อยครั้งเข้าจนมีกำลังขึ้นไป เวลามันพิจารณาไป เวลามันขาด เวลามันขาด ขาดคืออะไร ดูสิ พันธุกรรมของจิตๆ เวลาพันธุกรรมของจิตที่มันมากับจิตนี้มันคืออะไร คือสิ่งที่มันมีการกระทำ มันมีเวรมีกรรมของมันมา เวลาทำสิ่งใดไปมันก็ให้ผลตามแต่วิบากของกรรม วิบากของกรรมอย่างนั้น
เวลาพิจารณาไป เวลาสติปัญญาที่มันรู้แจ้งๆ รู้แจ้งในเวรในกรรม ในสิ่งที่พัวพันกับจิตดวงนั้น ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันเห็นเป็นไตรลักษณะสิ่งใด มันทะลุมันทะลวงไป มันปล่อยวาง ปล่อยวางชั่วครั้งชั่วคราว นั่นตทังคปหาน เวลาเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา มันขาด กิเลสมันขาดเลย กิเลสมันตาย ตายจริงๆ ด้วย นี่เวลาถ้ามันทำไปตามความเป็นจริงไง
นี่พูดถึงว่า เวลาภาวนา เหตุที่มันจะภาวนา แต่เวลาเริ่มต้นจากการภาวนา จิตนี้มันสร้างเวรสร้างกรรมมามหาศาล เวลาสร้างเวรสร้างกรรมมามหาศาลนะ คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาส่วนใหญ่แล้วเวลาถ้าจิตมันสงบ สงบเฉยๆ ก็มี เวลาจิตมันจะสงบขึ้นมา เวลาจะเห็นนิมิตก็มี เวลาจิตมันจะสงบ มันตกภวังค์ไปเลย มันไม่ใช่สงบ มันเป็นหัวตอ
เวลามันเป็นหัวตอมันอยู่เฉยๆ นึกว่าเป็นสมาธิ แต่มันไม่ใช่สมาธิ มันเป็นภวังค์ นี่สมาธิหัวตอๆ แต่ถ้าเวลาจริตของคนมันแตกต่างกันไป เวลาพุทโธๆๆ ไป ภาวนาไป จิตมันหลุดออกไป จิตมันหลุดออกไป มีเยอะแยะมาก
ดูสิ ในพระไตรปิฎก ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พูดถึงบอกว่า เวลาพระที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่า เดินจงกรมอยู่ เวลาจิตมันออกจากร่างก็ได้ เห็นอสุภะเดินอยู่ข้างหน้าก็ได้
เวลาเดินจงกรมอยู่ มันมีครอบครัวครอบครัวหนึ่งเขามีปัญหากัน ภรรยาของเขาหนีออกจากบ้าน เดินผ่านนั้นไป เดินผ่าน พระก็เดินจงกรมอยู่ไง ฉะนั้น เวลาสามีเขาตามมาไง ตามมาเจอพระนั้นถามว่า “เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านไปหรือเปล่า”
“ไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูกมันผ่านไป”
นี่เห็นแต่โครงกระดูกมันผ่านไป ถ้ามันภาวนาไป เวลาจริตนิสัยมันเป็น มันเป็นของมันได้ แต่ถ้าจิตเวลาภาวนาไป เวลาจิตที่มันหลุดออกไป จิตที่หลุดออกไปมันไม่ใช่ว่าเห็นอสุภะ จิตหลุดออกไป จิตหลุดออกไปที่ว่ามันเหมือนกับนิมิตอันหนึ่ง จิตมันหลุดออกไป ถ้าจิตหลุดออกไป ถ้าเขามีสติปัญญานะ จิตนี้มันท่องเที่ยวนะ
มันมีผู้ปฏิบัติมาก ไอ้เรื่องที่ว่าเห็นตัวเองไปยืนอยู่ข้างนอก เห็นตัวเองไปยืนอยู่แล้วมองกลับมาที่ตน เยอะแยะ แล้วสึกหมดแล้ว ตายหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา มันเป็นจริตนิสัยอย่างนั้นไง
เวลานั่งสมาธิไปนะ เห็นตัวเองหลุดออกไปจากข้างนอกนะ แล้วก็มองกลับมาที่ตัวของเรานะ โอ้โฮ! เห็นตัวเรานั่งอยู่นะ พิจารณาไป มีพระมาถามปัญหาเรื่องนี้เยอะ แล้วบอกว่าให้ตั้งสติไว้ ให้ตั้งสติไว้ เวลารั้งไว้ไม่ให้มันออก เรามีสติสัมปชัญญะ เรารู้ตัว หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันเคลื่อนไหว มันรับรู้ เรารู้ได้ตลอดเวลา แต่เราจะปล่อยให้มันไปทางไหน เหมือนกับความรู้สึกเราจะคิดเรื่องอะไรล่ะ ถ้าเราไม่ไปคิดเรื่องนั้น มันก็ไม่ไปคิดเรื่องนั้นใช่ไหม ถ้ามันไปคิดเรื่องนั้น มันก็ไปคิดเรื่องนั้น แต่นี่เหมือนกัน เวลามันจะออกไป มันก็ออกไป เวลาออกไปแล้วก็ยืนมองกลับมา เห็นตัวเองนั่งอยู่นั่น
ไอ้นี่เขาบอกว่า เวลาจิตมันออกไป จิตมันแยกตัวออกไป แล้วย้อนกลับมาที่ร่างกาย เหมือนซากศพอ้วนๆ นั่งอยู่นั่นน่ะ ตอม่อนั่งอยู่นั่นน่ะ
เวลาตอม่อนะ ถ้าคนมันสำคัญตนว่า โอ๋ย! นี่เป็นสิ่งที่วิเศษ สิ่งที่ดีงาม มันก็จะติดพันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันติดพันอยู่อย่างนั้น แต่มันก็ไม่ไปไหนหรอก มันก็ไปรู้ไปเห็นอะไรเข้ามา คนบางทีพอจิตมันหลุดออกไป ไปเห็นจิตวิญญาณ ไปเห็นคนตาย รู้ว่าคนนั้นเกิดคนนั้นตายร้อยแปดเลย
จิตนี้เรื่องมาก รู้ได้หลากหลายนัก เป็นไปได้ร้อยแปด แล้วถ้ามันเป็นสิ่งใดไป มันเป็นพันธุกรรมของจิตๆ พอพันธุกรรมของจิตมันเป็นสิ่งใดแล้ว เรามีสติปัญญาเท่าทันมันนะ ก็บอกว่า “นี่เป็นธรรม โอ้โฮ! ปฏิบัติแล้วสุดยอดๆ”...มันจะตายไง
ดูสิ เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยไปโรงพยาบาล หมอประจำบ้านเขาเช็กก่อนเลย เป็นโรคอะไร พอวินิจฉัยโรคได้แล้วก็ส่งไปแผนกหมอเฉพาะโรค เฉพาะทาง ถ้าเฉพาะทาง เป็นอะไรก็ไปเฉพาะทาง
ไอ้นี่ยังเลย ตัวเองยังไม่สงบเลย แล้วไม่รู้ว่าเป็นสิ่งใดเลย จิตมันเรื่องมาก พอจิตมันเรื่องมากขึ้นไป เวลามันเห็นอย่างนั้นแล้วปั๊บ มันออกไป
“จิตแยกตัวออกจากร่างกาย เห็นกายเพียงแต่ซากศพอ้วนๆ จิตนั้นสว่างไสว ลอยเด่นนิ่งอยู่ ลอยเด่นนิ่งอยู่ แต่ความคิดกับสติที่แยกออกจากกันต่างหาก พอมันอยู่ห่างจากจิตและกายประมาณครึ่งเมตร”
เวลามันแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก เห็นไหม จิตมันลอยเด่นของมันอย่างนั้นน่ะ ถ้ามันมีสติปัญญาของมันได้ แล้วคนที่เวลาเขาหลุดออกไปอย่างนี้เขายังเที่ยวไปรู้ไปเห็นต่างๆ แต่นี่พอมันออกไปแล้ว แล้วเขาบอกว่า “จากนั้นสติควบคุมความคิดไม่ได้ จึงไม่สามารถสวดมนต์หรือคำบริกรรมใดๆ ได้”
ถ้ามีสติปัญญา คำว่า “มีสติปัญญา” หมายความว่า จิตบางดวงเขามีอำนาจวาสนามากกว่า เขามีความรู้สึกนึกคิดได้มากกว่า เขาคิดได้ เขาทำได้ แต่ถ้าจิตบางดวงมันมีอำนาจวาสนาน้อยกว่า หลุดออกไปแล้วคิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ถ้าคิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ พอสติมันควบคุมไม่ได้ พอควบคุมไม่ได้ก็สวดมนต์อะไรไม่ได้
คำว่า “สวดมนต์” ดูสิ เวลาคนหลุดออกไปแล้วไปดู ไปดู ไปพิจารณา ไปเที่ยวเล่น เที่ยวเล่นเป็นชั่วโมงๆ นะ แล้วพระที่เขาเป็นนี่เขาชอบมาก วันไหนถ้าพอนั่งสมาธิแล้วมันจะออกไปข้างนอกแล้ว ออกไปข้างนอก ไปดูผีดูสาง ไปเที่ยวเล่นนะ แล้วสำคัญตนว่าอันนั้นเป็นธรรมๆ แล้วก็ไปคุยกับพระ พระที่เขาทำไม่ได้เขาก็ว่าเป็นผู้วิเศษ
เวลาพามาหาเราบอกว่าตาย นี่ทางตายเลย เหมือนกับวัยรุ่น เวลาไปเที่ยวกับเพื่อน เพื่อนพาไปใจแตกเที่ยวกลางคืนก็อย่างหนึ่ง ถ้าเพื่อนวัยรุ่นพาไปเสพยาก็อย่างหนึ่ง ถ้าเพื่อนวัยรุ่นพาไปจี้ไปปล้นก็อย่างหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันออกไป ไปรู้ไปเห็นอะไร นั่นน่ะมันไปแล้ว แล้วถ้ามันไปติดจนเป็นนิสัย จิตมันพอใจ มันไปไหน เหมือนเด็กวัยรุ่นที่ออกไปแล้วเพื่อนพาเสีย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าออกไปแล้ว ถ้ามีสติปัญญานะ เสีย มีแต่เสียกับเสีย
นี่ไง ย้อนกลับมาที่หลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้ไง “ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ”
ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับหัวใจดวงนี้ไง อย่าให้มันออกไป ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ ถ้าอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย แต่ถ้ามันออกไปนี่เสีย ถ้าออกไปรู้ส่งออกนี่เสีย เสียหายทั้งนั้น แต่ถ้ามันไม่เสียหายต้องกลับมา
แต่คนที่ออกไปเขามีปฏิกิริยา เขามีการกระทำไง อู้ฮู! เขาเก่งนะ ไอ้นั่งเฉยๆ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธนี่ดักดาน ไม่เห็นรู้อะไรเลย
ไอ้ดักดานนี่เป็นคนดี เด็กเราอยู่ที่บ้าน มันไม่เที่ยวไปกับเพื่อน อยู่บ้าน ทำงานบ้านช่วยพ่อช่วยแม่ นี่เด็กดีทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทธะ อยู่กับหัวใจของเรา เด็กดีทั้งนั้นน่ะ ไม่เสีย ถ้าออกไปนี่เสียหมด
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันออกไปไง มันแยกออกไป แล้วย้อนกลับมาดูร่างกายตัวเอง เขาบอกเลยนะ เหมือนกับซากศพอ้วนๆ นั่งหายใจฟอดๆ อยู่นั่นน่ะ จิตออกไปอยู่ข้างนอก
มันไม่ใช่ความมหัศจรรย์ใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จิตมันเป็น แต่คนที่ไม่เป็นมันไม่มี มันก็นึกว่ายอดเยี่ยมไง แต่พอคนมันเป็นแล้วนี่เรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดาเสร็จแล้ว ถ้าแก้ไขก็รั้งไว้ จิตมีสติ พุทโธชัดๆ ไว้ มันออกไม่ได้ ถ้าออกได้นั่นคือเผลอ นั่นคือเผลอนะ ถ้าคนมีสติแล้ว ไม่ให้ออก แล้วออกไม่ได้
แต่เวลาคนขาดสติ พรึบ! มันไปแล้ว พอมันไปแล้ว นั่นคือความผิดพลาด นั่นคือการเผอเรอของตน สิ่งที่ออกไปคือความเผอเรอของตนโดยที่ไม่เข้าใจ พอตนเองเผอเรอแล้วออกไปแล้ว กลับไปสำคัญว่าเป็นของดี กลับไปสำคัญว่าเป็นของดี แล้วสิ่งที่เผอเรอแล้วออกไป มันจะเป็นของดีได้อย่างไร มันก็ไปกว้านเอาความตกใจ ไปกว้านเอาสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็นขยะให้กับหัวใจ แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ ของเรา เรามีสติสัมปชัญญะไม่ออกไป ไม่ให้ออกไป ไม่ให้มันส่งออก เราพยายามหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธไว้
แต่คำถามต่อไป เวลามันออกไปแล้ว จากนั้นสติควบคุมความคิดไม่ได้
แต่ถ้าคนที่มันมีกำลังมากกว่า มันคิดได้ มันทำได้ ที่ว่ามันไปได้ แต่นี้มันออกไปแล้วมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้ มันก็กลับมา ถ้ามันกลับมาโดยอายุขัยของคน โดยอายุขัยของคน เวลาจิต เวลาอภิญญาไปรู้ไปเห็นต่างๆ ไปโดยอภิญญา เขากลับมา ร่างกายนี้เขายังไม่หมดชีวิต อย่างนี้ได้ เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลเข้าฌานสมาบัติ ๗ วัน นั่งอยู่ ๗ วันนี่อยู่ได้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาของคนทำได้ แต่จะเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของคนที่ยังปฏิบัติไม่ได้
แต่คนที่เขาปฏิบัติได้ เขาอยู่อย่างนั้น มันเรื่องธรรมดาๆ ธรรมดาของกำลังของจิตนะ ไม่ใช่ธรรมดาของมรรค นี่ไม่เกี่ยวกับมรรคเลย นี่ไม่เข้าสู่มรรคเลย ถ้าเข้าสู่มรรคนะ ศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาคือความปกติของใจ ถ้าใจสงบแล้ว จิตนี้เด่นมาก จิตเป็นสัมมาสมาธิคือจิตเด่นมาก ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เวลาอุปจารสมาธิ อุปจาระคือรอบจิต ความรู้สึกมันคิดได้ มันรับรู้ได้ วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ถ้าอัปปนาสมาธินะ จบ
ได้ยินพระเขาพูดนะ “อัปปนาสมาธิมันยังคิดลึกๆ ได้”
อัปปนาสมาธิของใครวะ “อัปปนาสมาธิมันคิดลึกๆ ได้ว่าเราไม่ติดโลก เราไม่ห่วงโลก”
คนไม่เคยเป็นไม่รู้ พูดผิดหมด เป็นไปไม่ได้ เวลาถ้าเข้าสู่อัปปนาสมาธิได้ แต่การเข้าสู่อัปปนาสมาธิมีส่วนน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วก็อุปจาระ แล้วแค่นั้นน่ะ อุปจาระมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด อุปจาระอย่างหยาบๆ อุปจาระอย่างกลางๆ อุปจาระอย่างละเอียด
เวลาอุปจาระอย่างละเอียด เขาก็คงคิดว่านั่นเป็นอัปปนาไง มันถึงว่าคิดลึกๆ คิดลึกๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีอยู่จริง ถ้ามันไม่มีอยู่จริงนะ
ฉะนั้น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันก็เป็นขั้นของสมาธิอันหนึ่ง เห็นไหม ขั้นของสมาธิอันหนึ่ง แต่เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนานั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงถ้ามันถูกต้องดีงามนะ แต่ถ้าพูดถึงคำถาม คำถามเพียงแต่บอกว่าจิตมันแยกออกไปจากร่างกายนี้ แล้วให้อธิบายว่านี่มันคืออะไร
สิ่งที่อธิบายคือว่าถ้าจิตเวลาเราภาวนา ถ้าจิตมันสงบแล้ว เห็นนิมิตก็ได้ รับรู้สิ่งใดก็ได้ ถ้ามันแยกออกไปก็ได้ สิ่งที่แยกออกไปก็ได้มันเป็นผลของสมาธิ คำว่า “สมาธิ” หมายความว่า จิตของเราถ้าเป็นปกติ คือสามัญสำนึกของเรา เราก็คิดได้แบบโลกๆ คิดได้แบบมนุษย์ เราจะคิดจินตนาการอย่างอื่นขึ้นไปมันคิดไม่ได้
แต่เวลาภาวนาๆ ใครหัดภาวนาก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันดีขึ้น ถ้าจิตมันดีขึ้น มันคิดแต่สิ่งต่างๆ มันคิดได้ละเอียดกว่า คิดได้รอบคอบกว่า นั้นเพราะกำลังของจิตมันดีขึ้นมา
นี่ไง คนที่ฝึกหัดภาวนานะ เวลาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้ามันมีกำลังของมัน มันมีฐานของมัน เวลาไปตรึกในธรรม คิดเรื่องธรรมะนี่ อู้ฮู! ทำไมมันสดชื่น ทำไมมันปลอดโปร่ง ทำไมมันซาบซึ้ง นั่นน่ะผลของสมาธิทั้งนั้นน่ะ ถ้าสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน เป็นพื้นฐานนะ ปัญญาที่เกิดบนพื้นฐานอันนี้มันชัดมันเจนของมัน มันมีรสมีชาติ มันมีความสุข มันมีความเข้าใจ มันซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา
แต่ถ้าสมาธิของเราไม่มี มันก็เหมือนความคิดของเราเหมือนกับคนทำงานที่มันล้า แล้วความคิดเกิดบนความล้า ล้าจากความรู้สึกอันนั้น มันไม่ธรรมดา มันคิดเบื่อๆ มันไม่อยาก เพราะอะไร เพราะเราล้า เราเหนื่อยเรายากเต็มที แล้วความคิดเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ดูดดื่ม
นี่ก็เหมือนกัน จิตของคนมันไม่ได้ภาวนามามันก็เป็นแบบนี้ มันล้า มันแบกหามความคิด มันแบกหามความทุกข์ความยากมาทั้งภพทั้งชาติ แล้วก็ไปตรึกในธรรมะๆ ถ้ามีสติมีปัญญานะ มันตรึกด้วยสติปัญญาของมัน พอมันเข้าใจ มันปล่อยวางนะ นั่นน่ะปัญญาอบรมสมาธิ ฉะนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสูงสุดนั่นน่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ
คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” หมายถึงว่า เขาขวนขวายการกระทำของเขา แล้วเป้าหมายของมันโดยข้อเท็จจริงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ โดยสัมมาทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะ แต่ถ้ามันขาดสติสัมปชัญญะ เขาคิดแบบนั้นน่ะ แล้วเขาบอก “นี่วิปัสสนา นี่รู้แจ้ง” นี่เขาคิดของเขาไป ความคิดไง ไม่ใช่ความจริง
“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”
ไอ้นี่มันด้นเดา คาดหมาย จินตนาการ มันปฏิบัติโดยการคาดหมาย การจินตนาการ มันก็ได้ผลของเขาอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเราปฏิบัติเป็นอย่างนั้น เราก็วางไว้ พิสูจน์กัน คราวนี้เป็นอย่างนี้ ก็ทำความสงบของใจอีก แล้วก็ใช้ปัญญาอีก ถ้ามันรอบคอบ มันสมดุล เออ! มันจะเกิดรสเกิดชาติ รสของธรรม รสของปัญญาธรรม รสของวิปัสสนา มันจะมีรสมีชาติ เราก็ปฏิบัติเทียบเคียง คราวนี้ดีกว่านี้ คราวนั้นเป็นอย่างนี้ ทำบ่อยครั้งเข้า ทำซ้ำทำซากๆ วิธีการ วิธีการคือการพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันผิดพลาดขึ้นมา เดี๋ยวเราจัดเรียงใหม่ เราทำใหม่ มันดีขึ้น รอบคอบขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วพอมันคลายตัวก็ทำซ้ำๆ ทำซ้ำอยู่อย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ แยกแยะอย่างนี้จนชัดเจนของมัน เวลาพอมันเป็นความจริง ความจริงมีอันเดียว
พอมันเป็นความจริงนะ สิ่งที่ผ่านมา เออ! นี้คือการขวนขวาย นักกีฬา คนทำงานเขาก็ลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาการของเขา เวลามันขาด มีอันเดียว นิโรธดับทุกข์มีหนึ่งเดียว แล้วถ้านิโรธปั๊บนะ จบเลย ที่แล้วๆ มาคือการฝึกหัด คือการกระทำที่ดีขึ้นเท่านั้น ถ้าจะเป็นความจริงนะ นิโรธมีหนึ่งเดียว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธคือขณะจิต
เขาบอกไม่มีขณะก็ได้ ไม่ต้องมี
ไม่ต้องมีก็ไม่มีนิโรธ ไม่มีนิโรธก็อริยสัจ ๓ ทุกข์ สมุทัย มรรค นิโรธไม่มี อริยสัจ ๔ ไม่มี สัจจะความจริงไม่มี แต่เอาสีข้างเข้าถูกันอยู่ตอนนี้ ไม่ต้องมีขณะก็ได้ ไม่ต้องรู้จริงก็ได้ไง ไม่ต้องรู้จริง รู้จำๆ นี่แหละ รู้แถๆ ก็ใช้ได้ รู้แถกไปแถกมานี่ก็ใช้ได้ ไอ้รู้จริงๆ ไม่ต้อง ไม่ต้องเพราะอะไร ไม่ต้องเพราะมันทำไม่ได้ไง ถ้ามันทำได้ก็เป็นความจริงขึ้นมาไง
นี่พูดถึงว่า จิตนี้เรื่องมาก จิตใจของคนเรื่องมาก แล้วมาเรียบเรียง เรียบเรียงให้มันเข้าที่เข้าทาง นี่สัมมาสมาธิ เรียบเรียงให้เข้าที่เข้าทาง ถ้าเป็นสมาธิแล้ว ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา กิเลสไม่ต้องมายุมาแหย่ กิเลสไม่ต้องมาปั้นมาแต่ง มันจะเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา เกิดจากการขวนขวาย การฝึกหัดการกระทำของเรา
ฉะนั้นบอกว่า สิ่งนี้ให้อธิบายถึงว่าสติกับความคิดมันไม่ใช่อันเดียวกัน มันไม่ใช่อันเดียวกันอย่างไร สิ่งที่มันไม่ใช่อันเดียวกันเพราะกำลังของเราเท่านั้นแหละ ถ้ากำลังของเราดีนะ มันมีสติด้วย มีความคิดด้วย แล้วมันยังจะเป็นผู้วิเศษอีกนะ มันจะไปเที่ยวดูป่าช้าเลย แล้วจะกลับมาบอกครอบครัวนั้นเลยว่าญาติเอ็งไปอยู่ไหนเลยล่ะ ถ้าสติกับความคิดมันไปด้วยกัน อันนี้มันอยู่ที่กำลัง กำลังคืออำนาจวาสนา คือพันธุกรรมของจิต ใครได้สร้างมามากมาน้อย
แล้วคำว่า “สร้างมามากมาน้อย” สร้างมามากแล้วถูกด้วยนะ ไม่ใช่สร้างมามากแล้วผิด สร้างมามากผิด เดียรถีย์นิครนถ์เขาก็มีวาสนานะ ในศาสนาเชน พร้อมกับพระพุทธเจ้า นั่นน่ะเขาบอกเขาปล่อยวางหมด เขาเป็นชีเปลือย เขาไม่นุ่งห่มอะไรเลย เขาปล่อยวางได้จริง สมณะต่างหากยังห่มจีวร
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราบอกนะ ถ้าเป็นจริงมันต้องมีสติมีปัญญา มีความละอาย ต้องมีความละอาย มีสติสัมปชัญญะว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งที่ไม่ควร ถ้ามีสติปัญญา ถ้าปฏิบัติได้จริง มันจะมีความละอาย รู้สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ชีเปลือยล่อนจ้อนไปอย่างนั้นน่ะ มันจะไปเผยแผ่ศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนานะ
แต่เขาบอกว่าเขาปล่อยวางได้หมดเลย สมณะต่างหากยังห่มผ้าจีวร ยังติดอยู่
แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า แม้แต่ความละอาย ความควรไม่ควรยังรู้ไม่ได้ แล้วจะเป็นศาสนาได้อย่างไร นี่เวลาครูบาอาจารย์เราโต้แย้งนะ
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าสติกับความคิดทำไมมันแตกแยก มันควบคุมไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มันก็เพราะกำลังของเราเท่านั้นน่ะ ถ้ามันมีกำลังปั๊บ มันควบคุมได้ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นไปของมันได้
แต่กรณีอย่างนี้ปั๊บ อย่างที่ว่า จิตมันเรื่องมาก แล้วไม่มีความจำเป็นว่ามันจะต้องทำอย่างนั้น แต่ประสบการณ์ของผู้ที่ถาม ผู้ที่ทำแล้วมันได้ขึ้นมา มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาโดยการกระทำของเรา แล้วไม่รู้ว่ามันคืออะไรไง
คนทำอยู่ที่บ้านนะ แล้วก็เขียนมาให้พระตอบที่วัด พระไม่ได้ทำด้วยนะเว้ย เพียงแต่ว่าที่จิตมันแยกออกจากร่างไปมันคืออะไร แล้วมันทำอย่างไร
เราก็กลับมาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธของเราต่อเนื่องไป แล้วถ้าออกไปแล้วไม่มีความจำเป็น ความสำคัญของเราคืออยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ ต้องการความสงบของใจ ต้องการศีล ต้องการสมาธิ ต้องการภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิตที่รู้แจ้งในจิตของตน เอวัง