รู้ไม่จริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๒๓๓๕. เรื่อง “ไม่เข้าใจเรื่องทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”
กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมมีข้อสงสัยเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ เพราะตามความเข้าใจของโยมเข้าใจว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะเรายังยึดขันธ์ ๕ เป็นเรา จึงเป็นทุกข์
โยมพิจารณาได้ว่า เราเป็นปุถุชนอยู่ ขันธ์ ๕ จึงเป็นทุกข์ แต่สำหรับคนอื่นนั้นไม่ยึดขันธ์ ๕ แล้ว ขันธ์ ๕ จึงไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ อันนี้โยมคิดถูกไหมครับหลวงพ่อ รบกวนถามหลวงพ่อแค่นี้ครับ
ตอบ : รบกวนหลวงพ่อแล้ว รบกวนแล้วให้พักแล้วนะ ผู้ถามถามแล้วมันซ้ำๆ ซากๆ คำว่า “ซ้ำๆ ซากๆ” มันเป็นปัญหาหญ้าปากคอก มันเป็นปัญหาหญ้าปากคอกเพราะว่ามันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์กับธรรมะ วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มีแต่โต้แย้งกับธรรมะมาตลอดว่าไม่มีนรกไม่มีสวรรค์ เกิดชาติเดียว นิพพาน อะไรเป็นนิพพาน มันไม่มีจิตอยู่ ไม่มีนามธรรมเป็นนิพพานอะไร
นี่ก็เหมือนกัน ถามแล้วถามเล่าๆ เราก็ตอบมาตลอดนะ คำว่า “เราตอบตลอด” เราตอบปัญหานี้ๆ เพราะเราประพฤติปฏิบัติมาใหม่ๆ ขณะที่ประพฤติปฏิบัติมาใหม่ๆ เริ่มต้นจากปฏิบัติ ไปถามพระองค์ไหน มันไปไหนมา สามวาสองศอกทั้งนั้นน่ะ มันมีแต่กะล่อน มีแต่ปลิ้นปล้อนทั้งนั้นน่ะ มันภาวนาไม่เป็นก็คือไม่เป็น แต่มันก็พยายามอยากจะอวดว่ามันรู้น่ะ สิ่งที่เป็นอันตรายมาก คนที่ไม่รู้แล้วอวดรู้ อวดรู้แล้วพยายามอธิบายธรรมะแล้วให้คนอื่นเขาสับสนน่ะ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ ประพฤติปฏิบัติใหม่ แล้วเวลาปฏิบัติใหม่แล้วก็เข้าใจ เวลาทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ แล้วก็มาตีความเป็นปรัชญาจะทำความเข้าใจกับมัน ถ้าทำความเข้าใจกับมันนะ มันก็อย่างนี้ มันเป็นขี้ลอยน้ำ เป็นเรือไม่มีหางเสือ วนอยู่นั่นน่ะ วนไปวนมาไม่มีวันจบสิ้นหรอก แล้วไอ้พระที่ปฏิบัติไม่เป็นมันก็บ้าบอคอแตก นี่ไง พยายามอ้างอิงไง
แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ไอ้เรื่องที่ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ปากเปียกปากแฉะ เอามาพูดกัน เอามาพูดกันจนหลวงตาท่านด่า
หลวงตาท่านเคยเห็นพระนะ เวลาวิจารณ์ธรรมะ ท่านบอกว่าพวกหมาบ้า กัดแม้แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า กัดแม้แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า มันไม่มีไง ในพระไตรปิฎกไง ทั้งขัดแย้ง ทั้งเห็นต่าง นี่ไง ไอ้พวกหมาบ้า พวกหมาบ้าเพราะใจมึงบ้า เพราะใจมึงบ้า ใจมึงหยาบช้า พอใจมึงหยาบช้า มึงเข้าใจเรื่องธรรมะไม่ได้ พอมึงเข้าใจธรรมะไม่ได้ มึงก็เข้าใจตามความกิเลสของมึง พอเข้าใจตามกิเลสแล้วมันแบบว่ามันงงไง มันไม่เข้าใจไง ไม่เข้าใจมันก็พาล พาลว่าพระไตรปิฎกผิด พระพุทธเจ้าสอนผิด มันถูกๆ นะ
นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เอ็งทำสมาธิเป็นหรือยัง ไอ้ผู้ที่ถามมา ไอ้ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ปฏิบัติใหม่ถามปัญหามา ไอ้นั่นจะเปรียบไอ้นี่ ไอ้นี่จะเปรียบไอ้นั่น ไอ้นี่มันหญ้าปากคอก ไอ้นั่นจะเปรียบ จะอวดรู้ วิทยาศาสตร์ไง วิทยาศาสตร์กับธรรมะมันขัดแย้งกันมาตลอด ถ้าวิทยาศาสตร์กับธรรมะขัดแย้งมาตลอด
เวลาวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์มันเก่งกว่าพวกมึงอีก ไอน์สไตน์บอกเลย ถ้ามันมีโอกาส มันขอนับถือศาสนาพุทธ แต่มันก็ไม่มีโอกาส แล้วถ้ามีปัญญาอย่างมัน มันก็ปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้เพราะอะไร เพราะปัญญามันมาก ปัญญามันมาก ถ้าของเราก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกับตัวตน เหมือนกับหัวใจของมันได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าหัวใจของมันไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันใช้แต่สัญญาความจำได้หมายรู้ มันใช้เรื่องของโลกไง นี่โลกียปัญญา ปัญญาของโลกๆ ไง
ปัญญาของโลกคือปัญญาของเราที่เป็นปัญญาชนที่มีปัญญา มันจะเทียบเข้าไปทางฟิสิกส์ เทียบเข้าไปทางวิศวะ เทียบเข้าไป เทียบเข้าไปแล้วก็เท่านั้นน่ะสิ นี่เพราะอะไร เวลาพระเขาเทศน์ เราฟังแล้วเราทุเรศ มันเปรียบเหมือนหินเหมือนทราย มันว่าไปเรื่อย เวลามรรคเปรียบเหมือนรากไม้ เปรียบเหมือนรากไม้ แล้วความจริงล่ะ
ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีความจริง มีวิทยานิพนธ์ แล้วท่านเปรียบเทียบออกมาให้เป็นรูปธรรม เขาเรียกว่าธรรมาธิษฐาน บุคลาธิษฐาน
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาพูดนี่เป็นนามธรรม สิ่งนี้เป็นนามธรรมๆ นามธรรม จะจับต้องมันอย่างไร นามธรรม จะมีความรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกแล้ว เราเปรียบเทียบเป็นรูปธรรม เปรียบเทียบเป็นรูปธรรม เราจะเปรียบเทียบมันเป็นอย่างไร ถ้ามันเปรียบเทียบไม่ได้ เราก็จับต้องตัวมันก่อน จับต้องก่อน ดูสิ เวลาวิทยานิพนธ์ของครูบาอาจารย์ เวลาหลวงตานี่เป็นจุดและต่อม เวลาจุดและต่อม เราก็คิดเลยนะ โอ้โฮ! เป็นไฟ เป็นหลอดไฟ เป็นเทียน เราฟังอยู่เยอะ พระมาถามปัญหาเยอะเลย จิตนี้เป็นเหมือนดวงดาว
ดวงดาว เขาเอาไว้องค์การนาซ่าไปสำรวจ มึงสำรวจหรือยัง เวลาคนมันเทียบมันก็เทียบ เพราะมันจะเปรียบเทียบ นี่วิทยานิพนธ์ของแต่ละบุคคล วิทยานิพนธ์ของครูบาอาจารย์ของเรา ท่านมีของท่าน หลวงปู่ขาวท่านมีของท่าน ท่านเปรียบเทียบของท่าน เปรียบเทียบ จิตถ้ามันสุกแล้วมันก็เหมือนเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวถ้ามันหุงหาแล้ว มันสุกแล้วมันก็เกิดอีกไม่ได้ เมล็ดข้าวถ้ามันดิบอยู่ นี่วิทยานิพนธ์ของท่าน ถ้าวิทยานิพนธ์นะ เราก็ไปวิเคราะห์วิจัย ชีวภาพเลยนะ เอาเรื่องข้าวมาวิเคราะห์เลยนะ สายพันธุ์ไหนนะ โอ้โฮ! วิเคราะห์ไปเลย ไปคนละเรื่องเลย
แต่ความจริงท่านเปรียบจิตของท่าน ภายในของท่าน เวลามันพิจารณาไป มันเปรียบเหมือนชีวภาพเรื่องพันธุกรรมของข้าว ท่านเปรียบออกไป มันยิ่งมหัศจรรย์นะ ถ้าคนที่เป็นธรรมแล้วคิดได้ แล้วคิดตามวิทยานิพนธ์ของท่าน มันมหัศจรรย์มาก
แต่ไอ้พวกโลกๆ นะ มันคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง วิทยาศาสตร์กระทำที่มันขัดแย้งกันไง ถ้ามันขัดแย้งกัน แล้วนี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่ามันเปรียบเทียบๆ ถ้าเปรียบเทียบ ถ้าใจมันสงบเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามาแล้วมันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ ไอ้ขันธ์ ๕ ที่ไปเห็นน่ะไม่เห็นหรอก ไอ้ขันธ์ ๕ มันเห็นก็เป็นความคิดของตน มันเป็นความเห็นของตนเท่านั้นน่ะ
ถ้ามันเป็นความจริงๆ นะ ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงพอจิตเห็นอาการของจิต นี่ไง จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกิเลส จิตเห็นความเป็นจริง ถ้าจิตเห็นความเป็นจริง มันจะเกิดความมหัศจรรย์ แล้วความมหัศจรรย์แล้ว พอจับไปแล้วมหัศจรรย์ เวลาพิจารณาของมันได้นะ เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอสมาธิมันเบาบางลงนะ เป็นสัญญาหมดเลย เป็นสัญญา เป็นสัญญาคือเป็นโลกไง เป็นโลกก็เป็นแบบกำปั้นทุบดินนี่ไง ก็เป็นปัญหาของเรานี่ไง ปัญหาที่ว่า อู้ฮู! กูมีปัญญาๆ แล้วปัญญาไปไหนล่ะ
มันก็เหมือนข้าว เก็บไว้ในหม้อ มันเน่าหมด มันบูดมันเน่า มันกินไม่ได้ เวลาหุงข้าวนะ พอหุงข้าวนะ สุกใหม่ๆ โอ้โฮ! กลิ่นมันหอม มันชวนให้กินนะ ลองเก็บให้มันบูดสิ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอเห็นขันธ์ ๕ เห็นทุกข์ๆ ใหม่ๆ มันก็ชวนนะ แหม! มันชื่นชมนะ พอพิจารณาไปเป็นสัญญา สัญญาก็มันเน่ามันบูดไง มันเสียอยู่นั่นไง ก็ยังตะบี้ตะบันอยู่อย่างนั้นไง ยังไม่รู้จักว่าอะไรผิดอะไรถูกไง เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้เริ่มต้นมาจากบรรทัดฐาน
ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าทำความสงบของใจเข้ามานะ จิตเจริญก็รู้ว่าจิตเจริญ จิตเสื่อมก็รู้ว่าจิตเสื่อม ถ้าจิตเจริญมันมีความปล่อยวาง มันมีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแลจิตของตนให้เป็นอิสระ จิตนี้ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีความสุข มีความสุขมาก แล้วพอมันไปพาดพิง มันพาดพิง เหมือนคนจมน้ำ คนจมน้ำ อะไรมามันก็จะเกาะใช่ไหม อารมณ์ใดมามันก็จะไปเกาะใช่ไหม พอมันไปเกาะเข้านะ เสียแล้ว มันเสียความเป็นอิสระแล้ว เสียความเป็นเสรีภาพ ไปอาศัยเขา เขาก็ครอบงำ ไปอาศัยอารมณ์ใด อารมณ์นั้นมันก็ครอบงำ พอครอบงำไปแล้วมันก็ส่งออก พอส่งออกก็ไปตามอารมณ์นั้นไง นี่ไง จิตเสื่อม จิตเจริญก็ต้องรู้ว่าจิตเจริญ จิตเสื่อมก็รู้ว่าจิตเสื่อม แต่คนถ้ายังไม่มีความชำนาญ มันไม่รู้จักเจริญและไม่รู้จักเสื่อม คนไม่รู้จักเจริญ ไม่รู้จักเสื่อม มันจะเป็นนักปฏิบัติได้อย่างไร แค่จิตเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ คนที่มีความชำนาญเขาก็รู้แล้ว
แต่ก่อนที่เขาจะรู้ เริ่มต้นไม่รู้หรอก พอเป็นสมาธิแล้วก็คิดว่าเป็นสมาธิตลอด เพราะอะไร เพราะว่าอารมณ์ของตนไง พอเป็นสมาธิแล้วอารมณ์อย่างนี้ใช่ไหม อารมณ์อย่างนี้เป็นสมาธิ ก็ใช้อารมณ์อย่างนี้ตลอดไปไง
ทีนี้อารมณ์มันก็เป็นอารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่สมาธิ พอมันเสื่อมแล้วมันพยายามพิจารณาให้มันเจริญขึ้นมา อ๋อ! เป็นอิสระเป็นอย่างนี้เนาะ มันไม่ใช่อารมณ์เนาะ ถ้าเป็นอารมณ์ มันก็ต้องรู้จักเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ นี่แค่สมาธิเสื่อม สมาธิเจริญ มันก็รู้แล้ว ถ้ารู้แล้ว พอมันไปวิปัสสนา วิปัสสนาคือขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้ามันไปพิจารณาตามความเป็นจริง ถ้ามันจับได้ แต่เราไม่เชื่อว่าจับได้ ถ้าจับได้ ไม่เป็นอย่างนี้หรอก
ของของหนูเป็นอย่างนี้ ของของหลวงพ่อเป็นอย่างนู้น...ของใคร ถ้าของเขา ของเรา ของใคร
ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริง จิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้วมันฝึกหัด ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญาๆ การที่ว่าจิตสงบ มีคนโต้แย้งมากๆ “ต้องทำสมาธิๆ แล้วเมื่อไหร่จะวิปัสสนา” อยากวิปัสสนาไง ก็เลยกลายเป็นขี้ลอยน้ำกันหมดนี่ไง ปัญญาๆ
เพราะคำว่า “ปัญญาๆ” นี่เราพูดถึงในวงปฏิบัตินะ แต่ถ้าพูดถึงในวงของสังคมโลก นักปฏิบัติ ใครปฏิบัติ สุดยอดทั้งนั้น ดีงามทั้งนั้น คำว่า “ดีงามทั้งนั้น” คือคนคนหนึ่งถ้าเขามีสติปัญญา จะเข้ามาค้นคว้าในความเป็นจริงในชีวิตเขา คนคนนั้นมีคุณค่า
คนคนใดก็แล้วแต่กลับมาจะค้นคว้าความเป็นจริงในชีวิตของตน ความเป็นจริงในสิ่งมีชีวิตที่มันเกิดขึ้นมา ถ้าจิตดวงใดก็แล้วแต่กลับมาค้นคว้าชีวิตจริงของตน ความเป็นจริงของตน จิตนี้มาจากไหน เกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม เกิดมาทุกข์ยากอย่างไร แล้วเวลาถ้ามันสุขมันทุกข์ มันเป็นอย่างไร แล้วตายไปแล้วมันไปตามอำนาจของเวรของกรรม แล้วถ้ามันจบ มันจบอย่างไร นี่ไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นน่ะเขามีคุณค่าแล้ว มีคุณค่าแล้ว
แต่ถ้ามันเป็นความจริงที่ว่าปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเป็นของของโยม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ เข้าใจว่าขันธ์ ๕ มันไม่เที่ยง แต่ว่ามันไม่ใช่เรา
ถ้าอย่างนี้ให้ไปค้นคว้าในพระไตรปิฎก ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะตอบได้ดีกว่า เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องพื้นฐาน นี่ภาษาเรานะ ภาษาเราคือว่าอารมณ์ของคน แล้วอารมณ์ของคน เราเอาอารมณ์มาเป็นปัญหาโต้แย้งกัน มันเป็นประโยชน์อะไร เอาความจริงสิ เอาความจริงสิ จิตสงบไหม จิตสงบแล้วรู้เห็นอะไร แล้วรู้เห็นแล้วมันเป็นประโยชน์หรือไม่ แล้วถ้าผิดถูกมันต้องถามอย่างนี้
เวลาจะถามปัญหาธรรมะกันน่ะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถ้าการสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ถ้ามันเป็นหมากัดกัน หมากัดกันมันเป็นเรื่องของกิเลสกับกิเลสเอาแพ้เอาชนะกันไง ถ้าเป็นเรื่องของหมา เรื่องของหมามันก็ต้องไปที่เขาเลี้ยงหมาจรจัด ไปเลี้ยงหมาอนาถาที่เขาทิ้ง นั่นต้องไปถามหมา แล้วหมามันจะได้ตอบ
แต่ถ้ามันเป็นคน คนเขามีสติมีปัญญา ถ้ามันย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาทำความสงบของใจก่อน รู้ให้มันรู้ตามความเป็นจริงไง รู้มันรู้ไม่จริง ความรู้อย่างนี้มันไม่จริง เรารู้ขึ้นมา คำว่า “เป็นจินตนาการ” มันจะจบลงที่ไหน มันจะจบลงที่ไหน จินตนาการไปทั่ว วันนี้จินตนาการได้เรื่องนี้ คราวหน้าจินตนาการได้อีกเรื่องหนึ่ง แล้วจินตนาการไปเรื่อย แล้วมันจบตรงไหนล่ะ
แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงไง ที่ว่าเป็นอนัตตา เขาบอกว่าสมาธิเป็นตัวตนนะ
ก็ตัวตนน่ะสิ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เกิดขึ้นมาไหม เห็นจริงหรือเปล่า จิตเห็นอาการของจิต นั่นล่ะเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด การวิปัสสนามันเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา แต่เราคิดได้ทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คิดได้เรื่องโลก โลกคืออนิจจัง เพราะมันมีของมันอยู่แล้ว สสารมีอยู่แล้ว มันเป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ถ้าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นทุกข์ แล้วมันทุกข์ไหม
คนเรามันไม่ทุกข์หรอก เวลาทำมาหากินมันอาบเหงื่อต่างน้ำ มันแสวงหา มันมีความสุข มีความสุขเพราะมันมีกำไร มันมีทรัพย์สมบัติ มันไม่เคยว่ามันทุกข์เลย แต่ถ้ามันโดนโกง มันโดนเขาจี้ปล้น นี่มันเริ่มทุกข์แล้ว
ถ้ามันเป็นสุข เป็นสุขเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของมัน มันถึงว่าเป็นสุขไง แต่ถ้ามันเป็นทุกข์ล่ะ ถ้าเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเป็นอย่างไร เพราะทุกข์มันเกิดมาจากไหน ทุกข์มันเกิดจากที่เราผิดพลาด ทุกข์เกิดเพราะเราไม่เท่าทันตัวเราเอง มันเกิดเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเป็นอย่างไร เป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเพราะเราจับทุกข์ได้ไง ถ้าเราจับทุกข์ไม่ได้ มันจะเริ่มต้นตรงไหน
ถ้าเราจับทุกข์ไม่ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้ววิปัสสนา ตั้งอยู่แล้วใช้ปัญญา ปัญญาอย่างไร แล้วเวลามันไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มันแปรปรวน เป็นอนัตตา เป็นอนัตตาอย่างไร เวลามันเป็นอนัตตา อนัตตาไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าไม่มีตัวไม่มีตน มันเกิดขึ้นอย่างไรถึงไม่มีตัวไม่มีตน แล้วเวลามันเกิดขึ้นมา ใช้ปัญญาอย่างไร ปัญญาที่มันใช้ไปแล้ว เวลามันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นอย่างไร นี่พูดถึงว่าถ้าทุกข์ไม่ใช่เราไง
ภาษาเราบอกว่า มันเป็นปัญหาของโลก มันเป็นปัญหาของวิทยาศาสตร์ ของสสาร แล้วเราจะมาคิดคำนวณเอาแบบธรรมะ ธรรมะเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีร่องรอย ไม่มีสิ่งใดเลย เป็นไตรลักษณ์ แล้วเป็นอย่างไรล่ะ แล้วตอนนี้มันก็ขัดแย้งกันนี่ไง มันก็ขัดแย้งสิ
เอ็งถาม เอาโลกๆ มาถาม เอาความรู้ความเห็น เอาอารมณ์มึงมาพูด แล้วเวลาความจริง ความจริงมันเป็นธรรมะ ของผมเป็นอย่างนี้ ของผู้ปฏิบัติที่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้น แล้วเป็นอย่างไรล่ะ
มันเป็นอย่างไร ให้กลับไปสำรวจใจของตนก่อน กลับไปสำรวจใจของตน ไม่ต้องไปทำความเข้าใจ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ กลับไปสำรวจใจของตน ให้ใจของตนมันมีความซื่อตรง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือมีความสัตย์
คนมีความสัตย์ เทฺวเม ภิกฺขเว ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ไม่ลำเอียงไปทางทุกข์ ไม่เอียงไปทางสุข คือไม่เอียงไปทางทุกข์ ไม่เอียงไปทางเข้าข้างตัวเอง ทางสุข ทางพอใจ ถ้าไม่ลำเอียงไปทั้งสองข้าง มันเป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา นั้นมันถึงเป็นสัจจะเป็นความจริง ถ้าเป็นสัจจะเป็นความจริง นั่นน่ะถ้าจิตเห็นอาการของจิต จิตมันเห็นขันธ์ ๕ จิตมันเห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสังขาร เห็นสัญญาตามความเป็นจริง
แค่เห็นตามความเป็นจริงมันก็แปลกประหลาดมหัศจรรย์แล้ว เพราะถ้าไปเห็นตามความเป็นจริง มันจะไปเปลี่ยนทัศนคติมุมมองของจิตใต้สำนึก เพราะจิตใต้สำนึกของคนมันคิดว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ไม่มีรูปร่างลักษณะ
แต่ถ้ามันจับได้ มันจับได้ด้วยกำลัง ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นแค่เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันจะเกิดความมหัศจรรย์ แล้วมันจะเกิดปรับทัศนคติจิตใต้สำนึกใจดวงนั้นเลยว่า เอ๊อะ! มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ อ๋อ! อ๋อ!
แต่มันไม่เคยเห็นอะไรบ้าบอคอแตกเลย มันเห็นแต่ความเห็นของมัน อารมณ์ทั้งนั้นน่ะ ไร้สาระ มันเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก การปฏิบัติ เพราะมันไม่มีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง มันตรวจสอบ มาตรฐาน มาตรฐานของกรรมฐาน มาตรฐานของหลวงปู่มั่น มาตราฐานของครูบาอาจารย์ของเราท่านมีมาตรฐาน
แล้วมาตรฐานจะเป็นแบบนี้ นี่ไง ที่ว่าหลวงตาท่านไปคุยธรรมะกับหลวงปู่แหวน มันมีมาตรฐาน เวลาท่านถามหลวงปู่แหวนไง พอหลวงปู่แหวนตอบเสร็จ “มหาค้านมาสิ มหาค้านมา” เพราะมันมีมาตรฐานของมัน
หลวงตาท่านบอกว่า “ผมไม่ค้านหรอกครับ ผมแสวงหาอย่างนี้แหละครับ ผมแสวงหาคุณธรรม อยากฟังธรรมอย่างนี้ครับ”
มันมีมาตรฐานของมัน แต่สังคมโลก มาตรฐานของเราคือวิทยาศาสตร์ เอาไว้กับกฎทฤษฎี แล้วเอานั้นมาเทียบเคียง ไร้สาระมาก ไร้สาระสำหรับเรานะ เพราะเราเย้ยหยันตลอด วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ ธรรมะ พุทธศาสน์เท่านั้นแก้กิเลสได้ เพราะกิเลสมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันปลิ้นปล้อน มันกะล่อน มันพลิกแพลง วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎีที่ซื่อตรง ถูกต้อง ไม่บิดเบี้ยว วิทยาศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ มันถึงชำระตามกิเลสเข้าไปไม่ได้ เพราะกิเลสมันปลิ้นปล้อน ทฤษฎีอะไรมามันหลอกแดกหมด มันพลิกแพลงมาเป็นเครื่องมือ กิเลสเอาไปตลบตะแลงได้หมดเลย
วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ พุทธศาสน์ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคต่างหากแก้กิเลสได้ แล้วมันจะแก้กิเลสได้จากคนที่มีอำนาจวาสนาบารมี คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีมันมีความสัตย์ มันไม่กะล่อนปลิ้นปล้อนไปกับกิเลส
เวลากิเลสมันปลิ้นมันปล้อนนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนซื่อตรง นั่งสมาธิตลอดทั้งวันทั้งคืนอย่างนี้ต่อสู้กับมัน คนที่มีอำนาจวาสนาเขามีจุดยืน เขามีมาตรฐาน แล้วเวลามีมาตรฐาน เขาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาขึ้นมาเพื่อสัจจะเพื่อความจริง เพื่อไปต่อสู้กับไอ้พวกปลิ้นปล้อนกะล่อน
แล้วถ้าเวลามันปลิ้นปล้อนมันกะล่อน เวลาเรามีสติปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาพิจารณาไล่มันไป มันทั้งหลบทั้งหลีก มันทั้งซ่อนเร้นนะ บังเงานะ อ้างธรรมะบังหน้าเลย เอาธรรมะมาบังหน้าเลย “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ อยู่นู่น กูนั่งอยู่นี่ อู๋ย! มันไกลเยอะเลย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา”...มันเอาธรรมะมาบังไว้ แล้วมันก็กะล่อน พอมันกะล่อนนะ ไอ้คนที่ไม่มีวุฒิภาวะแม่งก็เชื่อ แล้วก็เลยกลายเป็นนกแก้วนกขุนทองเลย ใครๆ ก็ท่องได้ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ใครท่องไม่ได้ เด็กแม่งก็ท่องได้ สามเณรน้อยก็ท่องได้ แล้วสามเณรน้อย ๘ ขวบ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ด้วย
โธ่! มันปลิ้นปล้อน มันกะล่อนทั้งนั้นน่ะ มันปลิ้นปล้อน มันกะล่อน
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรานะ ธรรมะและวินัย มีสัจจะความจริงของท่านอยู่แล้ว สัจจะความจริงอันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ฝึกฝนพวกเรา เวลาฝึกฝนพวกเรา เรามีความซื่อสัตย์มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความซื่อสัตย์ มีอำนาจวาสนานะ เราจะซื่อสัตย์กับตัวเราเอง ถ้าเราพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันรู้แจ้งมันรู้จริงขึ้นมา มันก็เป็นความรู้จริง มันจะอ๋อ! อ๋อ! แล้วมันจะมหัศจรรย์ของมันมาก แต่ถ้ามันยังไม่อ๋อ! เราอย่าเพิ่งตะแบง อย่าเพิ่งไปให้ชื่อ อย่าเพิ่งให้ค่า
เวลาหลวงตา เวลาท่านประพฤติปฏิบัติ ตอนที่ท่านไปอยู่บ้านผือ เวลาจิตที่มันเสวยอารมณ์ มันปล่อย อู้ฮู! คนเราเสวยอารมณ์ เหมือนคนทำงาน คนเรา อู้ฮู! วุ่นวายเต็มที่เลยนะ เวลามันปล่อย มันจะเกิดความมหัศจรรย์ขนาดไหน
นี่ก็เหมือนกัน พอเสวยอารมณ์แล้วมันปล่อย เสวยอารมณ์แล้วมันปล่อย “เอ๊ะ! อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ” แต่ด้วยมาตรฐาน ด้วยวาสนา ถ้าเอ๊ะ! แสดงว่าสงสัย ถ้าสงสัย ไม่เอา ท่านถึงหลุดมาอีกเปลาะหนึ่งที่กิเลสมันจะดักคอไว้ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ อย่างนี้ไม่ใช่ปล่อยวางแล้วหรือ อย่างนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษแล้วหรือ อย่างนี้แสดงว่ายังไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจ ไม่เอา
ไม่เอา ท่านก็ไปค้นคว้าของท่าน ก็ไปเจอจุดและต่อม เห็นไหม เวลาไปค้นคว้าของท่านไปข้างหน้า มันไปเจออยู่ข้างหน้า กิเลสมันทั้งปลิ้นทั้งปล้อน ทั้งหลอกทั้งลวง ทั้งทำให้ติดขัดไปหมด
นี่พูดถึงว่าถ้ามันไม่มีวาสนา ไม่มีสัตย์ ไม่มีความจริง เวลากิเลสมันไปเอาธรรมะนี่แหละมาสวมชื่อ มาบังเงา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักไว้กลางหน้าผากเลย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักไว้กลางหน้าผากเลย แต่หัวใจมันไม่เป็น มันไม่จริง
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ความเห็นของตนก็เป็นความเห็นของตน เพราะอะไร เพราะปฏิบัติไป มันเป็นทางโลกๆ ปัญญาของเรามันปัญญาเท่านี้ แล้วก็พยายามจะตะบี้ตะบันให้มันรู้ให้ได้ ไม่มีสิทธิ์หรอก
เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ กลับไปทำความสงบของใจให้มากขึ้น กลับไปทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้าใจของคนสงบมากขึ้น มันเป็นบาทฐานมันเป็นพื้นฐานสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งที่รองรับองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้น ฐานที่มันไม่มี ฐานที่มันเลวร้าย ฐานที่มันง่อนแง่น ความรู้สติปัญญาจะเกิดขึ้นบนฐานนี้ไม่ได้
สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน สมถกรรมฐานคือฐีติจิต คือจิตของบุคคลคนนั้น จิตของบุคคลคนนั้นมีอำนาจวาสนาได้สร้างพื้นฐานบาทฐานที่จะสร้างองค์ความรู้ คือวิปัสสนาญาณขึ้นมาจากใจดวงนั้น ถ้าขาดสัมมาสมาธิ ความคิดมันเกิดได้ ทางปฏิบัติเขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภพ ทัศนคติ โลกทัศน์ นี่แหละโลกียปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาจากภพ จากจริตนิสัย จากความชอบ แล้วคนตายก็ไม่มีความคิด คนมีความคิดคือคนที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตคือจิตวิญญาณ จิตวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ถึงให้ทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบใจเข้ามาให้สู่ฐานนี้ ถ้าฐานนี้ เวลาปัญญามันเกิดขึ้น มันเป็นปัญญาของจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วจิตดวงนี้มีกำลัง มีฐานที่มั่น แล้วเกิดภูมิปัญญาขึ้นมา ภูมิปัญญาของจิตดวงนี้มันจะปลด จะเลาะ จะปลดสิ่งสังโยชน์ที่มันร้อยรัดจิตดวงนี้ จิตดวงนี้มันโดนร้อยรัดด้วยเวรด้วยกรรมของมัน เห็นไหม สังโยชน์ ๑๐ แล้วถ้ามันพิจารณาของมัน ถ้ามันเห็นจริงนะ
ถ้าเห็นไม่จริง มันก็คาดหมายอีกแล้ว หลวงพ่อพูดถึงสังโยชน์ มีคนมาถามมากเลย หลวงพ่อ สังโยชน์เป็นอย่างไร ผมจะฆ่ามัน ผมยิงแม่งเลย สังโยชน์ บอกมาสิ สังโยชน์มันอยู่ไหน
แล้วสังโยชน์ของใครล่ะ สังโยชน์ของใคร ของใครหาย ของใครหาย คนคนนั้นต้องรื้อค้นหาของของตน ของของเราไม่หาย กูไม่มีของให้หาย กูไม่มีของหายแล้วกูจะไปแจ้งความได้อย่างไรว่ากูของหาย
ของใครหาย ของคนคนนั้นต้องไปแจ้งความว่าของหาย เราของไม่หาย กูไม่มีของ กูจะเอาอะไรหาย เพราะกูไม่มี ของใครหาย คนนั้นต้องไปแจ้งความ คนนั้นต้องเป็นคนไปรื้อค้นให้เห็นมา
จิตก็เหมือนกัน จิตที่เวลาจิตมันสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนา มันจะรื้อค้นของมัน เป็นปัญญาของมัน ถ้าจิตดวงใดไม่มีสติปัญญาอย่างนี้ แก้กิเลสไม่ได้ นี่ไง มาตรฐานของกรรมฐานไง
เวลาหลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวนไง เวลาครูบาอาจารย์ไปคุยกับหลวงปู่มั่นไง มันมีมาตรฐาน มีสัจจะความจริงทั้งสิ้น แต่ไอ้พวกที่ขี้โม้ๆ หลวงปู่มั่นชมเราว่าเป็นอย่างนี้ หลวงปู่มั่นชมเราว่าเป็นอย่างนั้น
หลวงปู่มั่นท่านเป็นมหาบุรุษ ท่านพูดอะไรออกไป มันต้องมีเหตุมีผล จะไม่ส่งเสริมพวกเปรตพวกผี พวกบ้าบอคอแตกไว้คอยทำลายศาสนา
หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านซาบซึ้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านซาบซึ้งในรัตนตรัย ท่านดูแลรักษา ท่านปกป้อง ท่านจะส่งเสริมแต่ผู้ที่มีคุณธรรม ช่วยกันส่งเสริม ช่วยกันคุ้มครองดูแล ช่วยกันรักษาศาสนา
ไม่มีครูบาอาจารย์องค์ไหนจะส่งเสริมไอ้พวกเปรตพวกผีมาจ้องทำลายศาสนา มาทำลายเรื่องการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้
นี่พูดถึงถ้ามีมาตรฐานนะ ทีนี้คำว่า “มีมาตรฐานอย่างนั้น” มีมาตรฐานที่ว่าสิ่งที่เป็นสัจจะเป็นความจริง
ฉะนั้นว่า ไอ้ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕
ภาษาเรานะ เลิกเถอะ เลิกเอามาคุยให้เขาเหยียดหยาม เลิกเอามาพูดเป็นของเล่น เลิกเอามาพูดเป็นสิ่งที่ไร้สาระ สิ่งที่มีคุณธรรม แค่ทำความสงบของใจ แค่ทำสมาธิ พวกมึงยังไม่รู้จักกันเลย พวกมึงยังทำกันไม่เป็น แล้วมึงจะบอกขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕
ไม่อยากจะพูดนะ เวลาพูดถึงขันล้างจาน ขันล้างบาตร เขาพูดแซว พูดแดกพูดดันนะ ขันเหมือนไก่ขันใช่ไหม โอ๋ย! พูดไร้สาระ อย่างนี้เขาเรียกว่าคนไม่เคารพธรรมไง ไม่เคารพธรรม
คือคนเรานะ เราเป็นคนไทย เราจะไปอยู่ที่ไหนในโลกนี้ เวลาเขาเสียดสี เขาเหยียดหยามประเทศไทย เราเจ็บปวดไหม เราคนไทย มึงไปอยู่ประเทศไหนก็ได้ แล้วเขาเหยียดหยามประเทศไทยของมึง มึงช้ำใจไหม
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมและวินัยเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพูดแดกพูดดัน พูดเหยียดพูดหยาม พูดกัน ทำลายกัน เฮ้ย! มึงเป็นใครวะ พวกมึงเป็นใคร
นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดไปพูดมา นี่ไง คำถามไง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ของผมเป็นอย่างนี้ ขันธ์ ๕ ของคนอื่นเป็นอย่างนั้น
ให้จิตมันสงบก่อน แล้วถ้ามันรู้มันเห็นตามความเป็นจริงนะ มึงจะเห็นความมหัศจรรย์ของมัน แล้วถ้าความมหัศจรรย์ของมันแล้วนะ ไม่ต้องมาเทียบมาเคียงอย่างนี้อีก ถ้าเทียบเคียงอย่างนี้มันเป็นเรื่องไร้สาระ ต่อไปนะ เอ็งถามไปในพระไตรปิฎก เปิดในพระไตรปิฎกในของมหามกุฏ มหาจุฬาก็มี นี่ศาสดาเลย ดีกว่าอันนี้อีก
ไอ้ที่เราพูด เราพูดเพราะว่าเราเป็นผู้บวชใหม่ๆ เราเจอมาก่อน ขนาดสมัยนั้นครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ทั้งนั้นนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ เราอยู่สมัยนั้นหมด แต่เรายังไม่ได้เข้าไปหาครูบาอาจารย์ บวชใหม่ๆ ไง ไอ้พวกตีกิน ไอ้พวกสวมรอย ไร้สาระ ไปไหนมา มันบอกสามวาสองศอก ถามช้าง แม่งตอบม้า ถามม้า แม่งตอบควาย
แต่พอเราไปเจอหลวงปู่จวน ผัวะ! จบ ครูบาอาจารย์ท่าน ผัวะ! ผัวะ! ผัวะ! ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มันเป็นมงคลชีวิต มันเป็นสัจจะเป็นความจริงจากที่ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาตามความเป็นจริง แต่ไอ้นี่มันแบบว่ามันสับสน จับม้า ถามช้าง
ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ อะไรของเอ็ง ปัญญาเกิดก็ปัญญาของเอ็ง มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้น ปัญญาอบรมสมาธิส่วนใหญ่แล้วมันก็แค่ลงสู่ความสงบ แล้วเป็นมิจฉาด้วย เป็นมิจฉาเพราะคิดว่ากูนี่ใช้ปัญญาแล้ว กูใช้ปัญญา กูได้ใคร่ครวญแล้ว กูเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า กูเป็นคนยอดคน ได้สติ ได้ปัญญา ได้วิปัสสนา มันเลยไม่มีอะไรรู้จริงสักอย่างหนึ่ง พอไม่รู้จริงสักอย่างหนึ่ง ไอ้นี่มันแค่เบสิก แค่พื้นฐาน ปัญญาอบรมสมาธิแค่ทำความสงบของใจเท่านั้น แล้วถ้ามันมีสติมีปัญญานะ มันเป็นสัมมาทิฏฐินะ ถ้ามันสงบแล้วมีสติปัญญา
คำว่า “สติปัญญา” มันรู้ได้ อ๋อ! ปล่อยหมดเลย ถ้าปล่อยหมดเลย มันก็รู้ นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันก็รู้ ถ้าคนทำนะ นี่ไง บอกว่า สมาธิมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เจริญก็รู้ว่าเจริญ เสื่อมก็รู้ว่าเสื่อม ถ้าไม่รู้ว่าเจริญ ไม่รู้ว่าเสื่อม เฮ้ย! นักปฏิบัติหรือวะ เฮ้ย! เอ็งจะปฏิบัติหรือ เอ็งไม่ใช่หอกข้างแคร่นะ เอ็งไม่ใช่ไอ้เข้ขวางคลองนะ เอ็งเป็นไอ้เข้หรือเปล่า คนที่เขาประพฤติปฏิบัติเขาจะไปข้างหน้า มึงมาขวางคลองอยู่นี่หรือ ต้องเป็นอย่างที่มึงบอกทั้งหมดใช่ไหม แล้วที่เป็นความจริงที่ดีกว่านี้ไม่มีแล้วใช่ไหม เอ็งเป็นไอ้เข้ใช่ไหม พระพุทธศาสนามีมึงคนเดียวหรือ พระพุทธศาสนาแตกต่างหลากหลาย เอตทัคคะยังมีมากมายมหาศาล
ฉะนั้น จบแล้วล่ะ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องหญ้าปากคอก มันรำคาญ ถามไปในเว็บไซต์ของมหามกุฏ มหาจุฬา พระไตรปิฎก ถามพระพุทธเจ้าโดยตรงเลย เอ็งถามพระพุทธเจ้าโดยตรงเลย แล้วตอบชัดเจนด้วย ดีกว่ามาถามพระบ้านนอก จะว่าพระป่า พระป่ามันยังมีศักดิ์ศรีเกินไป ไอ้พระบ้านอก พระที่ไม่มีความรู้ แต่ถ้าความจริงไม่เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นว่า รู้ไม่จริง แล้วเอาสิ่งที่รู้ไม่จริงคือเงา คือสิ่งที่จอมปลอมแล้วเอามาโต้แย้งกัน เบื่อหน่าย เสียเวลา เอาความจริงของเอ็งดีกว่า ที่ไหนจริง ไปที่นั่น เพราะที่เขาเอาข้อเท็จจริง เขาไม่เอาสำมะเลเทเมาแล้วเอาสีข้างเข้าถู ไร้สาระมาก เสียเวลา เสียเวลาคนที่จะมาโต้แย้ง แล้วเสียค่าไฟด้วย
มีคนเขาถามมา “หลวงพ่อ ค่าไฟเดือนหนึ่งเท่าไร”
เฮ้ย! กูเสียค่าไฟนะมึง กูคุยกับมึง เสียค่าไฟกู มึงไปถามมหามกุฏ มหาจุฬา ไปถามพระพุทธเจ้าโดยตรงเนาะ เอวัง