ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หาที่พึ่ง

๒๗ เม.ย. ๒๕๖๒

หาที่พึ่ง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๓๔๒. เรื่อง “กราบเรียนเรื่องการปฏิบัติและขอคำแนะนำ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ อาทิตย์ก่อนรู้สึกเบื่อ และสงสัยกับอาการของจิตที่มันเกิดซ้ำๆ ซากๆ ทำไมมันถึงเกิดดับอยู่อย่างนี้ไม่มีวันหมด เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปหมด

เมื่อวานนี้ในขณะที่ภาวนาและทำสมาธิก่อนนอน จิตเข้าสู่ความสงบ ก็เกิดภาพผู้หญิงเปลือยกายขึ้นมา อาการของจิตเกิดขึ้นทันที เหมือนจุดไฟแช็ก ไม่รู้เป็นอย่างไร จับมาพิจารณาเฉยเลย

สุดท้ายได้เข้าใจว่า อาการของจิตที่ถูกกระทบนั้นเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สุขหรือทุกข์นั้นเกิดจากการปรุงขึ้นมาเองจากความเคยชินที่ถูกกิเลสหลอกเอาไว้ สติปัญญาคือตัวสำคัญ จะต้องไวและเฉียบคม ซึ่งไม่มีทางอื่นนอกจากความเพียรในการฝึกฝนเท่านั้น ประสบการณ์ในการปฏิบัติของผมมีแค่นี้ครับ ขอเมตตาหลวงพ่อแนะนำด้วย

ตอบ : คำว่า แนะนำ” แนะนำก็แนะนำผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทั้งหมด เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทั้งหมด เห็นไหม เราจะปฏิบัติบูชาๆ การปฏิบัติบูชาของเราเหมือนชาวพุทธ ชาวพุทธมันอยู่ที่หยาบ กลาง ละเอียด

ถ้าชาวพุทธพอพิธีกรรมๆ ชาวพุทธนี่นะ ชาวพุทธโดยทั่วไปเขาห่วงมาก เขาห่วงว่าเวลาเขาตายไปแล้วจะไม่มีที่จัดงานศพ จะไม่มีเมรุเผาศพ แล้วพระโดยทั่วไป เวลาในชุมชน เวลาเขามวลชนของเขา เขาจะขู่เลยนะ “ถ้าไม่เชื่อฉัน ตายแล้วไม่ให้ทำศพที่วัดนะ ถ้าไม่เชื่อฉัน ตายแล้วจะไม่ให้เผาศพที่วัดนะ ถ้าไม่เชื่อฉัน จะไม่ให้เผาศพที่วัด”

อู๋ย! มวลชนนี่กลัวมาก นี่ชาวพุทธโดยทั่วไปๆ ไง ชาวพุทธโดยทั่วไปก็คิดแค่ว่าเวลาตายไปแล้วเราจะไปเผาศพที่ไหน เราจะไปจัดงานศพเราที่ไหน เราจะไปเผาศพเราที่ไหน นี่พูดถึงชาวพุทธทั่วไปไง ถ้าชาวพุทธโดยทั่วไปมันก็เป็นชาวพุทธตามประเพณีไง ถ้าตามประเพณี

ถ้าจะนับถือศาสนาใดก็แล้วแต่ เวลาตายแล้วเขาก็มีพิธีกรรมตามศาสนพิธีของเขา เหมือนกัน คนที่ไม่มีศาสนา ดูสิ นักรบตายอยู่ในป่า ตายอยู่ในป่า เขาก็ทิ้งไว้ในป่าเท่านั้นน่ะ เวลาตายแล้ว เวลาตายแล้วมันก็สิ้นภาระของคนตายนั้นไป มันสิ้นภาระของคนตายนั้นไป สิ่งที่ซากศพก็ทิ้งไว้กับโลกนี้ไง แต่ใครนับถือศาสนาไหนก็ทำพิธีกรรมนั้น

นี่พูดถึงชาวพุทธ ชาวพุทธโดยพื้นฐาน ชาวพุทธโดยที่ว่าเป็นชาวพุทธ ก็เป็นห่วงเป็นใยไง เป็นห่วงเป็นใยว่าเวลาตายไปแล้วจะไม่มีที่ฝังศพ ตายไปแล้วจะไม่มีศาลาให้สวดศพ ตายไปแล้วจะไม่มีเมรุให้เผาศพ ก็เท่านั้นน่ะ นี่พูดถึงชาวพุทธโดยทั่วไป

ถ้าชาวพุทธที่ว่าเริ่มต้นจากเห็นคุณค่าของศาสนา จะเอาผลประโยชน์ของตนไง เราเสียสละของเรา เราทำทานของเรา เราทำบุญกุศลของเราๆ ที่ไหนที่เขาสกปรก ไปวัดไปวา เราจะทำความสะอาด เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เราได้สร้างบุญกุศลเราทั้งนั้นน่ะ เราเก็บเล็กผสมน้อย ทำคุณประโยชน์กับเรา นี่เป็นบุญทั้งนั้นน่ะ บุญนี้ไม่ต้องการทำบุญด้วยเป็นเงินเป็นทอง เราจะทำบุญด้วยให้ธรรมเป็นทานๆ ให้ธรรมเป็นทานคือให้การศึกษา เวลาบวชเณรภาคฤดูร้อน ก็เอาเด็กเอาเณรมาอยู่วัด มาฝึกหัดมันให้มันมีสติมีปัญญา การมีสติปัญญา นี่ให้ธรรมเป็นทานๆ

เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ธรรมก็คือสัจธรรม สัจธรรมคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือความดีความชั่ว ถ้ามันมีธรรม เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เห็นไหม เราฝึกฝนเขาๆ ถ้าฝึกฝนเขา ถ้าเรามีคุณค่าขึ้นมา นี่ไง เราจะเข้า ถ้ามีคุณค่าขึ้นมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราเป็นชาวพุทธไง เราควรจะ เราควรจะนะ เราควรจะมีสติมีปัญญา

เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านพูดเอง เวลาท่านมาเทศน์ที่กรุงเทพฯ ท่านบอกเลย เวลานั่งรถเมล์ไปทำงาน อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ เวลาหายใจเข้าแล้วให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรามีลมหายใจขึ้นมา เราก็ตั้งสติของเรา ตั้งสติกำหนดลมหายใจ มันก็เป็นอานาปานสติ เราจะอยู่ที่ไหน เราจะทำสิ่งใด เราก็กำหนดลมหายใจของเรา ถ้าเรากำหนดลมหายใจของเรา มันก็เป็นอานาปานสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ มันเป็นสังฆานุสติ มันมีสติกับธาตุ ๔ กับเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็กลับมามีประโยชน์กับเรา

ทั้งที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ ความเป็นอริยทรัพย์ เราจะขุดค้นทรัพย์สมบัติขึ้นมาจากธาตุ ๔ จากกายกับใจของเรา ถ้าจากกายกับใจของเรา เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราปฏิบัติบูชาของเราต่อเนื่องไปๆ เราไม่ได้เกิดมาหายใจทิ้งเปล่าๆ

ทั้งที่การเกิดมา เกิดมาด้วยอริยทรัพย์ แต่ถ้าไม่มีสติปัญญา หายใจทิ้งเปล่าๆ ถ้าหายใจทิ้งเปล่าๆ จะอยู่ที่ไหน ถ้าเราฝึกหัดตั้งสติ มันเป็นไปได้ แต่เวลาพูดถึงฆราวาสๆ ฆราวาสเวลาเขาเสพสุข เวลาเขาไปเที่ยวเพลิดเพลินในมหรสพสมโภช เขาจะเข้าให้ถึงไง ถ้าจะเสพสุข จะมีความสุข ต้องเข้าให้ถึง จะเข้าให้ถึง ถ้ามีสติ พวกนี้มันเข้ามาไม่ได้ มันเลยขัดแย้งกับชีวิตประจำวันไง ถ้าชีวิตประจำวัน มันจะเสพสุขในทางโลก ถ้าเสพสุขในทางโลก มันก็ต้องเสพให้เข้าถึง โอ้โฮ! เข้าถึงวัฒนธรรม เข้าถึงศิลปะ โอ้โฮ! เข้าถึงเลย ต้องเข้าถึง...ถ้าเข้าถึง นี่มันก็เป็นเรื่องโลกๆ

โดยธรรมชาตินะ ศิลปะ เขาบอกทำให้จิตใจของคนนุ่มนวล จิตใจ เห็นไหม เรามีสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงเพื่อให้จิตใจเราไม่แข็งกระด้าง นั่นก็เป็นเรื่องโลก แต่จิตใจมันส่งออก มันไปนู่นน่ะ

แต่ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันจะเข้ามาที่เรา ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธนี่ไม่ต้อง ไม่ต้องอาศัยสัตว์เลี้ยง ไม่ต้องอาศัยอะไรเป็นที่พึ่ง คนเราเหงา อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ต้องเป็นเพื่อน มันเป็นเพื่อนสองๆ ตลอด นี่ไง พูดถึงทางโลก ถ้าเราอยู่กับโลก

แต่ถ้าเราปฏิบัติ เรื่องการปฏิบัติ ขอคำแนะนำๆ

ปฏิบัติ เราอยากให้ปฏิบัติต่อเนื่อง ปฏิบัติต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่การปฏิบัติต่อเนื่องไป คนเขาจะติฉินนินทา คนเขาจะบอกว่า เวลาคนใกล้วัดๆ เขาเรียกพวกมหา มหา พวกคนใกล้วัด

ใช่ เรามหา เราจะหาความสุขของเรา เราจะหาความจริงของเรา ให้มันเป็นได้จริง ถ้าเป็นได้จริงแล้วนะ หนึ่ง มันจะเกิดความประหยัดมัธยัสถ์ มันจะมีเวลาในการประพฤติปฏิบัติ

ถ้าไม่มีเวลาในการประพฤติปฏิบัติ เวลาอยู่ทางโลกมันมีแต่ปัญหาสังคม ต้องรับรู้ทั้งหมด เราไปกับเขาทั้งหมด ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะเข้ามาถึงตัวเราเอง เราจะมีเวลา เราจะประหยัดมัธยัสถ์ หมายความว่า สติปัญญามันเกิดขึ้นมานะ มันไม่ต้องใช้จ่ายอะไรฟุ่มเฟือยเลย แค่ปัจจัย ๔ เท่านั้นน่ะ ไอ้ที่มันหาเงินหาทองกันไม่ทันเพราะมันฟุ่มเฟือย มันไปใช้จ่ายโดยไม่เป็นประโยชน์ ถ้าใช้จ่ายเป็นประโยชน์ ไม่ต้องให้ปัญญามันเกิดหรอก แค่มีสติปัญญา หัดปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว มันจะเกิดประหยัดมัธยัสถ์ ชีวิตเราไม่ฟุ่มเฟือย ชีวิตไม่ฟุ่มเฟือยแล้วจะมาปฏิบัติ

แล้วถ้ามาปฏิบัติ เริ่มต้นปฏิบัติต่อเนื่อง ปฏิบัติจนเป็นนิสัยนะ ถ้าปฏิบัติได้ มันเป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าเป็นจริตเป็นนิสัย ส่วนใหญ่แล้วถ้ามันปฏิบัติ โดยปัจจุบันนี้ เวลาลูกศิษย์มาหาเรา เมื่อสองวันนี้ก็มาคู่หนึ่ง “หลวงพ่อ หลวงพ่อทำให้หนูกลับมาปฏิบัติใหม่สิ” เขาเคยปฏิบัติแล้วเลิกไปไง

ไอ้พวกปฏิบัติไปแล้วมันเลิกไป เวลามาหาเรานะ เขาขอให้เราเสก เสกว่าให้เขากลับมาปฏิบัติใหม่ คำว่า หลวงพ่อๆ หลวงพ่อช่วยให้หนูกลับมาปฏิบัติใหม่สิ”

คำว่า ช่วยให้หนูกลับมาปฏิบัติใหม่” มันหมดแล้วล่ะ เพราะว่าเขาไม่มีขวนขวายเลย เขาไม่มีความฝังใจเลย เขาไม่มีความมุมานะเลย แต่สิ่งที่เวลาปฏิบัติ เวลาเราทุ่มเทๆ ไป แล้วมันคาดหวัง เวลาคาดหวัง ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรมไง

เวลาเราคาดหวังว่าเราจะต้องได้มรรคได้ผลต่างๆ แล้วพอได้มรรคได้ผล ความอยากได้อันนั้นน่ะมันก็พยายามจะเจาะ จะแสวงหา แล้วพอแสวงหาแล้ว อะไรที่ว่าว่างๆ ว่างๆ มันจะกล่าวตู่ “เป็นธรรมๆๆ” แล้วมันก็จะผิดหวังๆๆ นี่ไง ทำอะไรก็ผิดหวังๆ มันจะฝังใจมันไปไง

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนะ เราจะทำความสงบของใจของเราเข้ามา ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามา เราก็มีความพอใจกับผลงานของเรา แล้วถ้ามันเสื่อมไป เราก็มีสติเท่าทันกับความเสื่อมอันนั้น แล้วพอเราปฏิบัติต่อเนื่องไป สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วต้องเจริญ ถ้ามันเจริญแล้วเสื่อมไป เราก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันเสื่อมแล้วมันเจริญ เจริญก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราปฏิบัติของเราต่อเนื่องไปๆ นี่ประสบการณ์ ความรู้จากประสบการณ์อันนั้นน่ะมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

แล้วเราก็มีความขยันหมั่นเพียรของเราต่อเนื่องไป มันจะทำมากทำน้อยมันก็จะให้ทำต่อเนื่องไป เพราะว่าการเกิดเป็นมนุษย์ไง การเกิดเป็นมนุษย์ มันไม่มีสิ่งใดประเสริฐไปกว่าการปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก เวลาทำหน้าที่การงาน ทำหน้าที่การงานเพื่อการเลี้ยงชีพ การเลี้ยงชีพขึ้นมาแล้ว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เวลาจะหมดอายุขัยขึ้นมา มันคอตกทั้งนั้นน่ะ เพราะมันไม่มีที่พึ่ง มันจับสิ่งใดเป็นที่พึ่งไม่ได้หรอก ไม่มี ไม่มี

จะมีที่พึ่ง มีที่พึ่งก็ใจเรานี่แหละ พอใจเรา ถ้ามันมีพุทโธ ธัมโม สังโฆ นี่ที่พึ่ง ถ้ามันพร้อมแล้วนะ ถ้าจิตใจเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับธัมโม อยู่กับสังโฆ โอ้โฮ! มันจะมีอะไร โกหกหมดเลย สมมุติทั้งนั้น อยู่ข้างนอกนี่ เพราะอะไร เพราะมันมีอยู่ทุกคน โลกมันมีของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วสิ่งในโลกนี้มนุษย์สร้างทั้งนั้นเลย มนุษย์สร้างทั้งนั้น

ตอนนี้หน้าร้อนมาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขาจะดูเลยว่ามันจะพีคเท่าไร เมื่อปีกลายนี่ ๒๙,๐๐๐ กว่าเมกะวัตต์ นี่มันจะพีคเท่าไรๆ แล้วมันพีคไปเรื่อย มันจะร้อนไปเรื่อย แล้ว ๒๐,๐๐๐ กว่าเมกะวัตต์นี่ใครเป็นคนทำ มนุษย์สร้างๆ มนุษย์สร้างทั้งนั้น แล้วเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่ในสังคม เราก็ต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ใจล่ะ

ถ้ามันสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม มนุษย์ก็ต้องสร้างขึ้นมา ชาติที่เจริญแล้วก็เสื่อมสภาพไป เศรษฐกิจของชาติที่เจริญแล้วนะ เวลาเศรษฐกิจตกต่ำ นี่ไง มนุษย์สร้างไง มนุษย์สร้าง มันมีทุนไง มันมีทรัพยากร มันมีเรื่องโลก แต่ธรรมะสร้าง เวลาเราสร้างใจของเราขึ้นมา สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาๆ เราทำของเราปฏิบัติบูชา นี่ไง หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วเวลามา มาจากไหน จิตใจถ้ามันทำคุณงามความดี มันก็มาเกิดเป็นเรา แล้วเราก็จะมาสร้างตัวของเราอยู่นี่ แล้วถ้ามันจะตายไป มันก็ไปกับเรานี่แหละ นี่ไง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรมนี้มันฝังใจนั้นไป ใจมันจะประเสริฐของมันขึ้นไป เว้นไว้แต่ใจของคนที่มีกำลังหรือไม่ ใจของคนที่มันมีสติปัญญารักษาใจของตนหรือไม่ ถ้ามีสติปัญญารักษาใจของตน มันก็จะปฏิบัติบูชาไปเรื่อยๆ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เป็นเรื่องธรรมดา

เรื่องการปฏิบัตินี่เรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดา ไอ้ที่ปฏิบัติแจ๋วๆ แน่ๆ น่ะนะ เดี๋ยวหมด ไม่มีเหลือหรอก กุปปธรรม อกุปปธรรม ไม่มีสิ่งใดจะยั่งยืนยงในโลกนี้ ไม่มี มันเปลี่ยนสภาพตลอด เปลี่ยนสภาพตลอด เป็นอนิจจัง แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว พอจิตสงบแล้ว เวลาจิตเห็นอาการของจิต นี่ไง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ตั้งอยู่ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยการพิจารณาของเรา เห็นไหม ดับไป ไตรลักษณ์ไง ไตรลักษณ์ มันไม่มีอยู่จริง มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันเกิดขึ้นในสถานะของมนุษย์ มนุษย์มีอุปาทาน มนุษย์มีการคาดหมาย มันก็อุปาทาน มันก็คาดหมายของมันไป แล้วมันก็ให้ค่ามันไป มันไม่เข้าสู่ไตรลักษณ์ไง

เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้ว จิตเห็นอาการของจิต เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่ไตรลักษณ์ ถ้ามันจะเป็นไตรลักษณะจริง มันปฏิบัติบูชา ปฏิบัติด้วยอะไร ปฏิบัติด้วยภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการบูชา ปฏิบัติบูชาของตน ถ้าปฏิบัติบูชาของตน นี่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันสัจจะความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันจะเห็นเลย อนิจจังเรื่องของวิทยาศาสตร์ อนิจจังเรื่องของโลก อนัตตาเรื่องของธรรม เรื่องของนามธรรม เรื่องของสัจธรรม เราปฏิบัติบูชาของเราไปเรื่อย

นี่พูดถึงว่าในการปฏิบัติ เราจะพูดเป็นแนวทางไว้ว่า ถ้าปฏิบัติแล้วขอคำแนะนำๆ

นักปฏิบัติ นักปฏิบัติเวลาปฏิบัติไปแล้วจะให้ขั้นให้ค่าต่างๆ แล้วปฏิบัติไปแล้วพอมีการคาดหมาย พออุปาทานมันเจาะไปที่ไหน ความรับรู้ไปที่ไหน “เป็นธรรมๆๆ” แล้วพวกสำนักปฏิบัติที่เออออห่อหมกก็ยกค่าให้ค่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยพูดอย่างนั้นเลย ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ไม่มีใครรับประกันใครได้ ไม่มีใครให้ใครได้ ไม่มีใครให้ใบประกาศใครได้ มันเป็นจริง เป็นจริงทั้งนั้น เพียงแต่ว่าให้ค่าๆ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมา จนสัจจะความจริงในใจของท่าน ประกาศสัจจะความจริงในใจของท่านแล้ว เวลาสังคมเชื่อถือศรัทธา หลวงปู่มั่นท่านถึงให้ค่า ถึงบอกให้ไปหาหลวงปู่ขาว “ถ้าต่อไปนี้ถ้าให้พึ่ง ให้พึ่งมหานะ มหาดีทั้งนอกทั้งใน” ท่านพูดเพื่อให้พระที่ไม่มีหลักเกณฑ์ได้สะดุดใจ ได้ไปหาที่พึ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่รับประกัน รับประกันไม่ได้ ถ้ารับประกันแล้วเขาทำไม่ได้จริง มันจะเอาความจริงที่ไหนมาเป็นแนวทาง ที่ไหนเป็นการชี้บอกว่าถูกหรือผิด แต่ถ้าคนเป็นความจริงแล้วเป็นความจริงวันยังค่ำ

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่การปฏิบัติไง มาที่การปฏิบัตินี้ บอกว่า “ขอเรียนถามเรื่องการปฏิบัติ”

แล้วเวลาปฏิบัติ เราอยากให้ชาวพุทธมีการประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ปฏิบัติในใจของตน แล้วใจของตนมันจะสูงมันจะต่ำ มันจะเจริญมันจะเสื่อม มันธรรมดา ไม่ปฏิบัติก็คือไม่มีอะไรอยู่แล้ว ไม่ปฏิบัติมันก็เสมอทุนอยู่แล้ว แล้วปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่ได้มานั่นน่ะกำไรขาดทุน มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้น ให้ทำต่อเนื่องไปๆ

ไม่ต้องบอกว่า โสดาบัน สกิทาคามี...ไม่ต้อง ไม่ต้องให้ใครมาหลอก ไม่ต้องให้ใครมาจูงจมูก ไม่ต้องเอาจมูกไปให้ใครจูง ทำของเราขึ้นมาเถอะ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ พอเป็นจริงขึ้นมา ปัจจัตตัง มันจะพูดที่ไหนก็ได้ พูดเมื่อไหร่ก็ได้ มันถูกต้องหมดถ้ามันจริง

เว้นไว้แต่ไม่จริง กระมิดกระเมี้ยนเชียว ไม่กล้าพูด เวลาจะพูดขึ้นมา นี่อารมณ์รุนแรง เจ้าอารมณ์ ไม่มีเหตุผลอะไรเลย

อารมณ์ส่วนอารมณ์ เหตุผลก็มีอยู่ในอารมณ์นั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นจริงๆ นี่ให้ปฏิบัติบูชาเถอะ เขาจะขอคำแนะนำไง ฉะนั้น คำแนะนำของเขา การปฏิบัติของเขา ผลที่ปฏิบัติ เห็นไหม “อาทิตย์ก่อนรู้สึกเบื่อๆ สงสัยในอาการที่จิตมันเกิดซ้ำๆ ซากๆ”

มันเป็นอย่างนี้ของมันอยู่ธรรมชาติของมัน ถ้าอย่างนี้ปั๊บ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปหมด มันวุ่นวายไปหมด มันไม่มีสติไง ถ้ามีสติ ปัญญาอบรมสมาธิคือจัดกระบวนความคิดให้เรียบร้อย ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดของมัน มันจะเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ถ้าไม่มีสติปั๊บ ความคิดมันแตก ความคิดมันแบบว่ามั่วนิ่ม ไหนว่าชัวร์ กลายเป็นมั่วนิ่ม เพราะมันขาดสติไง

เรามีสติ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิคือเท่าทันความคิดของตน ก็จัดกระบวนความคิดให้เรียบร้อย กระบวนความคิดเรียบร้อย มันก็เกิดกระบวนความคิดนั้น แต่กระบวนความคิดนั้น เราจัดระเบียบให้มันเสร็จเลย เข้าที่หมด ดับ หยุดหมด นี่ปัญญาอบรมสมาธิ จัดกระบวนความคิด สติเท่าทันกระบวนความคิด ปัญญาอบรมสมาธิ กระบวนความคิด ให้ความคิดมันเรียบร้อย นี่ไง พอมันเรียบร้อย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์มันก็เบาแล้ว เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปหมด วุ่นวายเพราะขาดสติ พอขาดสตินะ พอสำนึกได้ ได้สติปั๊บ อ๋อ! สติเราอ่อนแล้ว มันเลยเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ถ้าสติเรามันเท่าทันนะ วางหมด สุขอย่างเดียว

มันมีสุขอย่างหยาบๆ สุขอย่างกลาง สุขอย่างละเอียด สุขแบบหยาบๆ หมายความว่า กิเลสเผาลนเราไม่ได้ คิดอะไรก็คิดไม่ออก คิดอะไรก็คิดไม่เป็น แต่ไม่คิด นี่คือสุขแบบหยาบๆ ถ้าสติเท่าทันความคิดแล้ว มันจะเกิดความสุขแบบหยาบๆ คือกิเลสไม่เผาลน

เวลาคิด คิดโดยความโลภ ความโกรธ ความหลง คิดด้วยโทสะ โมหะ มันเผาๆๆ นี่ไง มันเผานะ มันเผาเพราะเราไม่รู้ เฮ้ย! มันคิด มันคิด อู๋ย! มันคิด นี่มันเผา มันเผาไง แต่ถ้าสติมันทัน นี่ความสุขแบบหยาบๆ ไอ้ที่มันเผาๆ มันเผาไม่ได้แล้ว คือมันหยุด นี่ความสุขแบบหยาบๆ

ความสุขอย่างกลาง พอมันหยุดแล้วมันมีสติสัมปชัญญะเริ่มขึ้น มากขึ้น คำว่า มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น” มันเห็นถึงความรู้สึก เห็นถึงความรู้สึกคือเห็นจิต เห็นจิต แต่มันไม่คิด ถ้าสมาธิมันจะเป็นอย่างนั้น สมาธิ จิตตั้งมั่นๆ ธาตุรู้ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ตัวรู้น่ะ ตัวรู้ไม่พาดพิงอารมณ์ ถ้าไม่พาดพิงอารมณ์ แต่สติไม่เท่าทันมัน ก็ไม่เห็นมัน ไม่รู้ด้วยว่าอะไรรู้อะไรไม่รู้ แต่ถ้าคิดแล้วชอบ ถ้าคิดเป็นอารมณ์นี่ชอบ แต่พอมันปล่อยอารมณ์เข้ามาอยู่ในตัวมันเองน่ะไม่รู้

นี่ไง สุขอย่างหยาบๆ คือกิเลสไม่เผาลน สุขอย่างละเอียดคือความคิดนั้นหยุดนิ่ง หยุดนิ่ง แล้วมีสติสัมปชัญญะ สุขอย่างละเอียด ละเอียดเลย อู๋ย! สุดยอด นี่พูดถึงว่า ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เรียบเรียงความรู้สึกนึกคิดให้เข้าระเบียบโดยสติ

ถ้ามันเป็นปั๊บ ไอ้ที่ว่าเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ จบ นี่สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิไง

นี่พูดถึงว่าเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ มันวุ่นวายไปหมดเลย ถ้ามันวุ่นวายคือว่าสติเราอ่อนแล้ว เราวุ่นวายกับโลกแล้ว

นี่พูดถึงปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อเรานี่แหละ เราไม่ใช่ปฏิบัติ อู้ฮู! จะได้มรรคได้ผล ได้นิพพาน เวลาพูด ตามความปรารถนา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็สอนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่คุณธรรม นี่เป็นสมบัติ อัตตสมบัติ สำหรับดวงใจที่ประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้สัจธรรมตามความเป็นจริง นี่เป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน

แต่ไอ้พวกปฏิบัติเรา ปฏิบัติเราปฏิบัติขี้หมา ปฏิบัติตามเสียงเล่าลือ แล้วก็เอามรรคเอาผลมาตีค่า มาตีค่ามันก็ตีค่าไปของมันนั่นแหละ แต่เราปฏิบัติ เรามีเป้าหมายอย่างนั้น อย่าไปตีค่าแล้วเอามาผูกมัดกับใจ มันจะเป็นความทุกข์อย่างนี้ มันจะดิ้นรนไง มันจะดิ้นรนเลย แล้วเมื่อไหร่จะได้ เมื่อไหร่จะเป็น แล้วเมื่อไหร่ๆ มันก็เลยเดือดร้อนไปหมดเลย แต่สำนักปฏิบัติของเขา

วงกรรมฐานเขาไม่พูดเรื่องมรรคเรื่องผลนะ เขาจะพูดถึงแต่ความเพียร ครูบาอาจารย์สมัยที่เราอยู่ใหม่ๆ เรื่องมรรคเรื่องผลเขาไม่กล้าพูดหรอก เพราะพูดออกมาแล้ว ถ้ามันเป็นวินัยก็อวดอุตตริ มันเว้นไว้แต่หลง หลงว่าได้ แล้วพูดออกไป อันนี้ไม่ผิด

แต่ถ้าอย่างเรา ๑๘ มงกุฎ เมื่อคืนกูภาวนาได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี ได้อนาคามี...ปาราชิกทั้งนั้นน่ะถ้าเป็นพระ ไม่มีแล้วอวดอุตตริมนุสสธรรม

โดยกรรมฐานเขาไม่คุยกันนะ แต่เดี๋ยวนี้ โอ้โฮ! มันปล่อยข่าว ตัวเองไม่พูดนะ แต่ให้ลูกศิษย์พูดแทน โอ๋ย! ลูกศิษย์ลูกหาโฆษณากันนะ อู้ฮู! ไม่มีความละอายเลยหรือ หิริโอตตัปปะ ไม่มีหิริโอตตัปปะ แล้วไม่มีความสัตย์ ไม่มีพื้นฐานของการรับสัจธรรม แล้วเอ็งจะได้ธรรมอย่างไรวะ คนเราไม่มีจุดยืน พูดจาโป้ปดมดเท็จ เขาจะมีความจริงในใจเขาไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ผู้ที่พูดโกหกจะทำความชั่วอย่างอื่นอีกไม่ได้เลย ถ้าใครลองปลิ้นปล้อนหลอกลวงได้ ความชั่วมันทำได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วนี่พูดกันปลิ้นปล้อนหลอกลวงอยู่อย่างนั้นน่ะ

เราพูดอย่างนี้เพื่อไม่ให้คนที่ปฏิบัติไปคาดหมายอย่างนั้น แล้วจะเอาฟืนเอาไฟมาเผาตน เฮ้ย! เขาปฏิบัติกันนะ โอ๋ย! กะล่อนปลิ้นปล้อน ได้มรรคได้ผล แล้วเราล่ะ เราไม่มีเลย อู๋ย! คับอกคับใจ อู๋ย! ใจจะระเบิด อู๋ย! เขาไปขั้นนู้นขั้นนี้กันแล้ว อู๋ย! เราไม่เห็นได้อะไรเลย

ได้ความจริงไง ได้ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ได้สัจจะในหัวใจนั้น ได้ไม่ให้ความทุกข์อย่างหยาบๆ เผาลน ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากได้อยากดี อยากดัง อยากเด่น อยากให้คนนับหน้าถือตา มันเผาใจ เพราะอยากได้อยากดีอยากเด่น อยากให้คนนับหน้าถือตา ทำอะไรก็ได้ ทำความชั่วอะไรก็ได้ เอาเงินจ้างเขาให้เขามาเชื่อเราก็ได้ เอาอะไรก็ได้ทำให้เขายอมรับเรา ต้องลงทุนลงแรงจ้างให้เขายอมรับเชื่อถือเราหรือ ถ้ามันไม่ได้คิดอย่างนี้มันก็ไม่มีฟืนไม่มีไฟมาเผาลนไง นี่ไง ได้ไง ได้ความสงบ

ไม่ใช่ได้พระสงบนะ ได้ความสงบ ถ้าได้ความสงบของตนขึ้นมา นั่นน่ะคุณค่ามันสูงส่งแล้ว เราปฏิบัติบูชาของเราไป ถ้าปฏิบัติบูชาของเราไป หนึ่ง นับหนึ่ง แล้วเมื่อไหร่มันจะขึ้นเลขสอง เลขสาม เลขสี่ เรานับหนึ่งๆ เราอยู่พื้นฐาน เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้ามันจะเป็นไปมันก็ต้องขึ้นสอง เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ปฏิบัติบูชาของเราอย่างนี้ ปฏิบัติเพื่อหาที่พึ่ง อย่าให้ความเร่าร้อนมันเผาเรา นี่ไง ปฏิบัติบูชาของเรา

ฉะนั้นบอกว่า “เมื่อวานนี้นั่งภาวนาไป นั่งสมาธิก่อนนอน จิตเข้าสู่ความสงบ เกิดภาพผู้หญิงเปลือยกายเลย”

เวลาที่นักประพฤติปฏิบัติมันจะเกิดสิ่งใดขึ้นมา ไม่มีทางยับยั้งได้ถ้าคนไม่มีสติสัมปชัญญะ คนถ้ามีสติสัมปชัญญะ เขาจะยับยั้งของเขาได้ ถ้ายับยั้งของเขาได้

“เวลานั่งสมาธิไปเกิดความสงบ ถ้าเกิดภาพกายผู้หญิงมา” เห็นไหม เราก็เห็น แล้วเขาบอกว่า “หลงไปพิจารณาเลย”

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้ามันจับภาพนั้นไว้ ถ้ามันเห็นภาพกายผู้หญิงได้จริง แล้วถ้ามันมีสติจะจับภาพนั้น ถ้ากำลังของสมาธิไม่มี ภาพนั้นจะหายไปทันที ภาพที่ว่าเห็นนั่นน่ะ ภาพที่เห็นเพราะสติเราอ่อน แล้วมันเกิดภาพโดยเวรโดยกรรม เกิดภาพโดยอุปาทาน เกิดภาพอะไรก็ได้

แต่ถ้าเรามีสตินะ ถ้ามีสติกำหนดปั๊บ กำหนดผู้รู้ ถ้ามันเป็นจริงนะ มันเป็นจริงจะเห็นภาพสิ่งใดก็แล้วแต่ มันก็จะอยู่อย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าอุคคหนิมิต แล้วถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ เราก็จะแยกภาพนั้นแล้ว ภาพนั้นเราจะแยกให้มันแตกสลายออกไป อันนี้ปฏิภาคะ ถ้ามันเป็นจริง

แต่ถ้ามันเป็นไม่จริงตั้งแต่แรก ตั้งแต่ว่า “พอนั่งภาวนาไปแล้วจิตมันสงบก่อนนอน จิตเข้าสู่ความสงบ เกิดภาพผู้หญิงเปลือยกายขึ้นมา อาการของจิตเกิดขึ้นทันที เหมือนจุดไฟแช็ก”

“อาการของจิตเกิดขึ้นทันที” คือความรับรู้ทันที ความรับรู้ทันทีก็โดนมันฉุดกระชากลากไปทันที จะจัดการกับภาพนั้นให้มันเป็นประโยชน์กับเราทันที แต่ไม่รู้หรอกว่าภาพนั้นเป็นกิเลสมันหลอกทันที หลอกทันทีมันก็ทำให้เราอุตส่าห์ตั้งพุทโธ อุตส่าห์ภาวนา พอมันจะเป็นความดีขึ้นมาปั๊บ มันจุดไฟแช็กทันที จุดไฟแช็กทันทีคือเผาไหม้ทันที ทำลายทันที ก็สิ้นไปทันทีไง แล้วก็จบไปทันที ก็เลยกลับมาว่า “หลวงพ่อ นี่มันคืออะไรครับ” เพราะมันหายไปแล้วครับ

สุดท้ายแล้วเขาเข้าใจว่า “อาการที่เกิดกระทบนั้นเกิดจากเรื่องธรรมดา เป็นสุขเป็นทุกข์ธรรมดา”

สิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นมันต้องมีสติปัญญาเท่านั้น สติปัญญาเท่านั้น ฝึกหัด มีสติปัญญาเท่านั้น แล้วมีวุฒิภาวะเท่านั้น มีวุฒิภาวะ พอคนที่มีวุฒิภาวะนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันไม่ตื่นเต้น

เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลย ให้พุทโธๆ ชัดๆ แล้วพุทโธไม่ต้องหวังเอาสมาธิ ถ้าพุทโธ ๕ ชั่วโมง ถ้าเป็นสมาธิก็ ๒ นาที ถ้าพุทโธ ๑๐ ชั่วโมง มันจะเป็นสมาธิ ๔ นาที ถ้าพุทโธ ๒๔ ชั่วโมง มันจะได้เป็นสมาธิ ๕ นาที

ท่านพูดของท่านอย่างนั้นนะ เราก็ทดสอบ พุทโธๆๆ ทั้งวันทั้งคืน ไม่เอาสมาธิ มันจะลงสมาธิ ไม่ยอม ดึงไว้อย่างนั้นน่ะ พุทโธๆๆ แล้วไม่ยอมให้มันไปไหน เวลามันเต็มที่ของมันแล้วนะ เราก็พุทโธนะ แต่จิตนี้มันควงลงเลยล่ะ วืด วืดเลย

ถ้าเป็นคนอื่นก็จะตกใจอีก อย่างนี้ทันที จุดไฟแช็กทันที แต่ของเรานะ เราก็พุทโธของเราไป แล้วจิตมันจะลงนะ เชิญครับ เชิญ สติสัมปชัญญะพร้อม นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คนที่เป็นสมาธิ พอมันจะเป็นสมาธิ จะเข้าสมาธิ จะออกสมาธิ เขาไม่ตื่นเต้น เขาไม่ไปกวนมัน ไม่ไปทำให้เสียกระบวนการ เหมือนกับทำงาน งานจะเสร็จแล้ว ไปรื้อให้งานมันเสียหมด

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันจะลง มันจะเข้า ไปตกใจ ไปตื่นเต้น ไปจุดไฟแช็ก เสียหมด นี่พูดถึงว่าถ้าคนภาวนาเป็นนะ คนภาวนาเป็นมันเคยเข้าเคยออก เคยตรวจเคยสอบ เคยเป็นสมาธิ ไม่เคยเป็นสมาธิ สติปัญญามันจะเท่าทัน นี่พูดถึงผู้ที่ชำนาญ ผู้ที่ทำได้

แล้วคนที่ไม่เคยภาวนาเลย อย่างเด็กๆ มาถึงก็นั่งสมาธิเลย อัปปนาสมาธิ...หา จริงหรือวะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

คนทำสมาธิเขาก็เคยเข้าสมาธิออกสมาธิ คนฝึกหัดใช้ปัญญา เขาเป็นสมาธิแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา เขาก็ใช้ปัญญาของเขา ไอ้นี่ถ้าคนเป็นจริงมันเป็นจริงอย่างนี้ ไอ้ที่ในท้องตลาดพูดไปบ้าบอคอแตก มันเป็นทฤษฎีที่มันตีสำนวนโวหาร พูดถากพูดถาง พูดเหยียบพูดย่ำ พูดทำลายกันเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริงนะ ฮึบ! เงียบกริ๊บเลย

โอ้โฮ! เกือบเป็นเกือบตายกว่าจะได้ ได้แล้วจะรักษาอย่างไร แล้วจะเป็นอย่างไร

นี่พูดถึงว่า “พอจิตสงบแล้วเห็นผู้หญิงเปลือยกายข้างหน้า อาการของจิตเกิดทันที เหมือนจุดไฟแช็ก ไม่รู้เป็นอย่างไร จับมาพิจารณาเลย”

จับมาพิจารณา ถ้ามันพิจารณาได้จริง เฉย ถ้ามันจับมาพิจารณาได้จริงนะ จับมาพิจารณา ถ้ามันเป็นอุปาทาน มันหลอกอยู่แล้ว แล้วหลอกอยู่แล้ว มันก็สร้างภาพหลอกต่อเนื่องไป แล้วถ้าจะแก้ จะแก้ด้วยการทำสมาธินะ ตั้งสติ กำหนดพุทโธเฉยๆ ดับหมด

ขณะพุทโธชัดๆ คำว่า พุทโธชัดๆ” ถ้าจิตมันสมบูรณ์โดยตัวมันเองแล้ว จิตนี้รับรู้โดยตัวมันเอง มันจะไม่แฉลบไปรู้เรื่องอื่น ไอ้นี่มันแฉลบไปรู้ไง ไอ้เราก็นั่งอยู่นี่นะ ตาอีกตาหนึ่งมองนู่น มันเกิดสองได้อย่างไร ถ้าเป็นจริงๆ ถ้ามันไม่เป็นจริง วิปัสสนาไปไม่ได้หรอก ถ้าวิปัสสนาไปแล้วนะ มันพลิกมันแพลงไปตลอด

นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงว่า “เห็นภาพกายผู้หญิง”

เราจะบอกว่า การเห็นภาพผู้หญิงเปลือยกาย มันจะเห็นกาย เห็นกายจะเห็นอย่างไรก็ได้ ถ้าเป็นแนวทางปฏิบัตินะ จะเห็นเป็นหัวใจเต้นตุบๆๆ จะเห็นเป็นเส้นขน จะเห็นเป็นเส้นผม จะเห็นเป็นหัวกะโหลก จะเห็นเป็นกระดูก จะเห็นเป็นตับไตไส้ปอด หรือจะเห็นอาการ ๓๒ เลย เห็นเป็นผู้หญิงอย่างนี้ก็ได้ นี่คือการเห็นกาย แต่การเห็นกายมันต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะจับต้องได้ อุคคหนิมิต อุคคหนิมิตคือนิมิตที่เริ่มจะเกิดขึ้น แล้วถ้ามันเป็นจริง สมาธิมันเป็นจริง อุคคหนิมิตจะตั้งมั่น

คำว่า ตั้งมั่นแล้ว” มันพิจารณาเป็นวิภาคะ คือมันจะขยายส่วนแยกส่วน เป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนามันเป็นของมัน มันเป็นขั้นตอนของมัน ถ้าขั้นตอนอย่างนี้ นี่ปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่จับพลัดจับผลูขึ้นมาก็เป็นพิจารณากาย ไอ้นั่นมันพิจารณากายโดยการจับพลัดจับผลู สังคมโลกไง

ไอ้นี่พูดถึงว่าจะขอคำแนะนำ

คำแนะนำ วันนี้อยากจะพูดให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติแล้ว เราจะปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นคุณธรรมในใจของเรา แล้วปฏิบัติโดยเนื้อหาสาระ โดยข้อเท็จจริง ไม่ต้องไปวุ่นวายกับโลก

โลกมันเป็นตลาด มันเป็นเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ การโฆษณาชวนเชื่อโดยชุมชนที่เข้าใจว่าใช่ เข้าใจแล้วเชื่อกันไป ไม่มีอยู่จริง แต่คำว่า ไม่มีอยู่จริง” หลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านจะเงียบ ฟังแล้วก็ยิ้มๆ คือมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่เขาพูดกันอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยวุฒิภาวะของโลกที่อ่อนแอ ฟังแล้วมันเคลิบเคลิ้ม มันเป็นปรัชญาที่เข้าใจได้ แล้วซาบซึ้ง แต่ไม่จริง ซาบซึ้ง ซาบซึ้งโดยกิเลสไง

แต่ถ้าเป็นจริงๆ นะ มันจะเป็นขั้นเป็นตอนของมัน มันจะมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผลขึ้นมา ถ้าเป็นสัจจะความจริง นี่ผู้ที่ทำได้จริง ถ้าทำได้จริงมันจะเป็นความจริง

นี่พูดถึงว่า เขาขอคำแนะนำไง คำแนะนำในการปฏิบัติ

เราจะบอกว่า ให้ปฏิบัติของเราไป

นี่เขาพูดเองเลยบอกว่า “สิ่งที่มันสุขมันทุกข์เพราะกิเลสมันหลอกไปจนเคย จะมีอย่างเดียวที่จะเท่าทันเป็นสิ่งที่ช่วยได้คือสติปัญญา”

ไอ้นี่ก็ถูกต้อง สติปัญญา แล้วก็ประสบการณ์ในการปฏิบัติ แล้วก็เริ่มที่วาสนา วาสนาถ้าเข้มแข็ง มีสัจจะมีความจริง ทำสิ่งใดแล้วมันจะตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้าอ่อนแอ มันได้แต่เริ่มต้น ท่าทาง ไฟไหม้ฟาง เริ่มต้นท่าทางนี่ แหม! จริงจัง เอาจริงเอาจังนะ แต่ไฟไหม้ฟางถ้าไม่จริง ถ้าจริงนะ มันจะเสมอต้นเสมอปลาย

ในพระไตรปิฎก การปฏิบัติที่ไม่สม่ำเสมอคือไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย เป็นเหตุให้การปฏิบัติไม่ได้ผล ในวินัยปิฎก การปฏิบัติไม่สม่ำเสมอเป็นวิธีการปฏิบัติที่ทำให้ไม่ได้ผลของการปฏิบัติ

ถ้าการปฏิบัติต้องเสมอต้นเสมอปลาย สม่ำเสมอ ทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ผู้ที่ปฏิบัติสม่ำเสมอตามธรรมและตามวินัย อย่างน้อยพระอนาคามี นี่พูดถึงเวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่พวกเราปฏิบัติกันมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี แล้วก็ “หลวงพ่อ หลวงพ่อทำให้หนูกลับมาภาวนาใหม่สิ” ล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราจะมีความสามารถอะไรที่จะให้คนนู้นปฏิบัติได้ คนนี้ปฏิบัติได้ เราเอง เขาด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง เราเองยังไม่มีใครไว้เนื้อเชื่อใจเลย แล้วกูจะไปค้ำประกันไปให้คนโดนด่า ให้เหมือนกูเป็นคนที่สองอีกหรือ คนเดียวก็พอ อย่าให้เขาด่ามากกว่านี้ไปเลย เอวัง