เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ พ.ค. ๒๕๖๒

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมะนะ ธรรมะนี้เพื่อชโลมหัวใจของเราไง หัวใจของเรามันทุกข์มันยาก เวลามันทุกข์มันยากมันโดนนามธรรมนะหัวใจนี้

หัวใจมันเป็นหัวใจ ๔ ห้อง นี่มันเป็นธาตุ แต่ถ้าหัวใจความรู้สึกก็เปรียบเหมือนหัวใจ จิตและหัวใจ จิตและใจ ถ้าจิตและใจ จิตและใจเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม นามธรรมบีบคั้นมัน นามธรรมบีบคั้นด้วยอะไร ด้วยการคาดการหมาย การจินตนาการ การต้องการความสุขไง

ถ้าการต้องการความสุขๆ ความสุขมันมาจากไหน

ความสุขทางโลก ความสุขทางโลกเราก็ปรารถนากันเป็นความสุขๆ ถ้าความสุข เวลาสิ่งใดที่สมความปรารถนาแล้วมันก็ต้องการได้มากกว่านั้น ต้องการให้ได้ราบรื่นกว่านั้น อันนั้นมันว่าเป็นความสุขในเรื่องของทางโลกเขา

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นกิเลสๆ ไง ถ้าเป็นกิเลสๆ แล้ว เวลาในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำไมถึงสอนถึงความเพียรชอบล่ะ ทำไมสอนถึงความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร คนเราจะประกอบสัมมาอาชีวะด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ ด้วยสติด้วยปัญญา ทำไมถึงสอนเรื่องความเพียรล่ะ

ความเพียรเป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ นะ

ความเพียรๆ ความวิริยะ ความอุตสาหะเป็นหน้าที่ หน้าที่เพื่ออะไร หน้าที่ จากพ่อจากแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้ามา เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้ามาก็เพื่อให้มีสติมีปัญญาให้เลี้ยงชีพของเขาได้ ถ้าเลี้ยงชีพของเขาได้ เขาดำรงชีวิตของเขาไป นี่มีสติปัญญาเพื่อเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพขึ้นมา ปัจจัยเครื่องอาศัยๆ สิ่งมีชีวิตต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย

เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบีบคั้นหัวใจ มันบีบคั้นหัวใจมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันจะไปจับต้องตัวมันที่ไหน มันเป็นความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดมันบีบคั้นหัวใจของเรา

ถ้าความรู้สึกนึกคิดนี้มันบีบคั้นหัวใจของเรา สิ่งที่จะไปแก้ไขปลดเปลื้องมันได้ก็คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันอยู่ที่ไหนล่ะ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันอยู่ในตู้พระไตรปิฎกใช่ไหม ตู้พระไตรปิฎกเป็นทฤษฎี เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เวลาไปศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ศึกษาเล่าเรียนแล้วมันก็มาประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาๆ ไง

เป็นความจริงขึ้นมา เหมือนอาหาร อาหารที่มันประกอบด้วยสารพิษ อาหารที่มันมีคุณค่าทางอาหารแล้วมันก็มีพิษมีภัย กินเข้าไปมันก็มีความจำเป็น ถ้าอาหารที่มันสะอาดบริสุทธิ์ อาหารที่มันไม่มีสารพิษเลย อาหารนั้นมันจะมีคุณค่ากับร่างกายนั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจ จิตใจของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความโลภไง ด้วยความโลภว่าอย่างนี้เป็นธรรมๆ นะ มันก็คาดมันก็หมายไปหมดเลยไง เวลามันคาดมันหมายไปหมด สิ่งนั้นมันก็ไม่เป็นสัจจะความจริง เห็นไหม

เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้กับบริษัท ๔ นะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ

ภิกษุมาจากอุบาก เวลาเป็นชาวพุทธๆ ชาวพุทธถือศีล ๕ ศีล ๕ ถ้าเป็นอุบาสก อุบาสิกาถือศีล ๘ เวลาถือศีล ๘ ขึ้นมาอยากจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระก็ศีล ๒๒๗ เป็นนักรบรบกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน

แต่ถ้าเราเป็นฆราวาส ฆราวาสธรรม สิ่งที่เราทำนี่เราปรารถนาความสุขไง ปรารถนาความสุขไม่ต้องบวชก็ได้ ไม่ต้องบวชเราก็หาความสุขในกามคุณ ๕

กามคุณ ๕ กามเป็นคุณ กามเป็นคุณเพราะมีศีลมีธรรม กามมันเป็นคุณ กามมันจะเป็นโทษต่อเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะประหัตประหารกัน มันแย่งชิงกัน มันทำลายกันเพราะจิตใจไม่เป็นธรรม ถ้าจิตใจที่เป็นธรรม กามคุณ ๕ กามเป็นคุณไง กามเป็นคุณสืบต่อสายสกุลของตนไง ถ้าสืบต่อสายสกุลของตน

นี่ฆราวาสธรรมๆ สิ่งใดเป็นฆราวาส เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ เรามาวัดมาวากันมาทำบุญกุศลของเราๆ ทำบุญกุศลของเราให้จิตใจมันไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มันไม่ไปกอดไอ้ความจินตนาการ ไอ้กิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มายุมาแหย่ ไม่ไปกอดมัน ไม่ไปปรารถนาไปแสวงหามัน เรามีสติปัญญา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมๆ ฟังธรรมขึ้นมาแล้วมันก็จะเข้ามาแทรก แทรกเข้ามาในใจของเรา

ภิกษุที่บวชแล้วเป็นผู้มักน้อยเป็นผู้สันโดษ เป็นผู้มักน้อยสันโดษผู้นั้นจะดำรงชีพได้ง่าย

เวลาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทำไมต้องประพฤติปฏิบัติ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พวกมัลลกษัตริย์เขาไปถวายดอกไม้ธูปเทียนต่างๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ไง บอก “อานนท์ เธอบอกเขาเถิด ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”

การปฏิบัติบูชา เห็นไหม เวลาโรงทานๆ ใครไปเข้าแถวโรงทานนั้นก็จะได้อาหารนั้น เวลาเรามีถ้วยมีจานของเรา ถ้วยจานของเราบรรจุอาหารของเรา การประพฤติปฏิบัติขึ้นมาคือโอกาสไง โอกาสที่เราจะได้คุณธรรมขึ้นมาในใจของตนถ้าปฏิบัติบูชา

ถ้าไม่ปฏิบัติบูชา เขามีโรงทานกัน เราก็ไม่สนใจในโรงทานนั้น เราจะไม่มีอาหารตกท้องของเราเลย เวลาเขามีสำรับเอาไว้เวลาตักอาหาร เราก็ไม่มีสำรับของเราเอาไว้ตักอาหารเลย

“ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”

การปฏิบัติบูชาปฏิบัติไปแล้วมันจะสมประโยชน์ไม่สมประโยชน์

โรงทานๆ โรงทานที่เราไปแล้ว ถ้าโรงทานนั้นอาหารหมดเราก็ไม่ได้อาหารจากโรงทานนั้น ถ้าสิ่งใดที่มันขาดตกบกพร่องเราก็ไม่ได้อย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติ ปฏิบัติถ้ามันถูกต้องดีงามมันปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุไง ถ้าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ “ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”

ฆราวาสก็ปฏิบัติของเขา เวลาฆราวาสปฏิบัติของเขา เห็นไหม เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตาพระมหาบัว ท่านบอกเลย การปฏิบัติที่ยากที่สุด คราวเริ่มต้นๆ คราวเริ่มต้นกับคราวสุดท้ายมันยากที่สุด

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะรู้ว่าเวลาคราวเริ่มต้นๆ ไง มันเหมือนเราประกอบธุรกิจใหม่ พอจบการศึกษามานี่เราพร้อมเลยจะทำธุรกิจๆ มืดแปดด้านเลย

เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน นี่กำลังจะปฏิบัติๆ แล้วจะปฏิบัติตรงไหน จะปฏิบัติอย่างไร จะทำอย่างไร แล้วทีนี้พอจะปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันอยู่ที่อำนาจวาสนาแล้ว

เวลาหลวงตาท่านเรียนจบนะ ท่านตั้งใจไว้เรียนถึงบาลี ๓ ประโยคแล้วจะออกปฏิบัติๆ ท่านตั้งสัจจะของท่านไว้ เวลาเรียนมา เรียนมาก็เรียนศึกษาธรรมะออกมาจบสิ้นแล้วแหละ แต่เวลาจะปฏิบัติ “เอ๊ะ! มันจริงหรือเปล่า”

นี่มันเชื่อ มันเชื่อ ทุกคนก็เชื่อ เราเชื่อธรรมะทั้งสิ้น แต่เวลาปฏิบัติไปเราก็คาดหมายไปทั้งสิ้น มันมีกิเลสทั้งสิ้น แล้วมันก็ลังเล มันกังวล

“ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดชี้บอกทางเราชัดเจน เราจะทำตามนั้นไง” แล้วจิตใจก็ปักไว้กับหลวงปู่มั่น ไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านชี้ทางๆๆ

เวลาเริ่มต้นพอท่านไปนี่เสื่อมหมดเลย เพราะเวลาเจริญแล้วเสื่อมๆ เวลาหลวงตา คนที่มีอำนาจวาสนานะ คนที่เป็นพระอรหันต์ได้มันจะมีพื้นฐาน คนที่มีพื้นฐานขึ้นมาจะมีหลักการ คนมีหลักการขึ้นมา ใครจะโน้มน้าวไปทางไหนเป็นไปได้ยาก เขาจะมีหลักการของเขา

นี่คนที่เป็นพระอรหันต์ ขนาดที่ว่ามีอำนาจวาสนาจะเป็นพระอรหันต์นะ เวลาออกประพฤติปฏิบัติปีแรกไปอยู่อำเภอจักราชพรรษาหนึ่ง เวลาบวชใหม่ๆ อยู่กับอุปัชฌาย์ เห็นอุปัชฌาย์เดินจงกรม เพราะยังไม่ได้ศึกษามา เวลาอุปัชฌาย์ปฏิบัติอย่างไร อยากจะปฏิบัติบ้าง อ๋อ! เราก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ท่านก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธนี่แหละ

เวลาเรียนศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเข้าใจพุทธประวัติ มันเข้าใจคำสอน มันเข้าใจๆๆ มีปัญญาขึ้นมาไง ก็กำหนดเฉยๆ ไม่ได้กำหนดพุทโธ มันก็เป็นไปได้ เพราะคนมันมีอำนาจวาสนา คนมีสติปัญญา มันก็เป็นไปได้ มันก็สงบได้เหมือนกัน ท่านบอกสงบนี่จิตนี้แน่นมากเลย

แต่เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติอาวุธมันต้องพร้อมใช่ไหม ท่านก็กลับมาเยี่ยมโยมที่บ้านท่าน แล้วท่านก็ทำกลดหลังหนึ่ง ไอ้ทำกลดหลังนั้นน่ะเสื่อมหมดเลย กลับเข้าสมาธิอีกไม่ได้เลย

คนเราเคยมีสมาธิ เคยมีความสุขแล้วมันเสื่อมไป โอ๋ย! มันทุกข์ร้อนมากนะ ทุกข์ร้อนจนท่านบอกท่านก็รู้ตัวของท่าน เวลาทำไปๆ รู้เลยว่าเข้าสมาธิไม่ได้แล้ว จิตมันเสื่อมแล้ว มันก็วิตกกังวล รีบๆๆ รีบให้เสร็จๆ เลย เสร็จแล้วก็จะตามไปหาหลวงปู่มั่น

พอจะไปหาหลวงปู่มั่นคือว่าจิตมันเสื่อมหมดแล้ว นี่ไง คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาโดยสัจจะความจริงไง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งในโลกเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพมาตลอด ไม่มีสิ่งใดคงที่เลยรวมทั้งอารมณ์ของเรา รวมทั้งถึงผลการปฏิบัติของเรา

ถ้ามันเป็นกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาๆ

นี่เป็นอนัตตา สรรพสิ่งใดเกิดขึ้นมันแปรสภาพหมด ไม่มีอะไรคงที่ เพราะมันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ไม่มีหรอกที่มันจะเป็นสมบัติของเรา มันเป็นของชั่วคราวๆ ชั่วคราวเพราะเราประพฤติปฏิบัติไง นี่เวลาประพฤติปฏิบัติใหม่ ประพฤติปฏิบัติใหม่มันยาก มันยากตรงนี้ไง ถ้ามันยากตรงนี้ไง เราก็กิเลสเต็มหัวเหมือนกัน แล้วเราก็มีจริตนิสัยของเรา เราชอบสิ่งใด

เวลาพระเวลาธุดงค์ไปจะไปพักที่วัดใดก็แล้วแต่ เขาให้ดูกัน ๗ วัน ถ้านิสัยพอเข้ากันได้จะให้ขอนิสัย ถ้าไม่ขอนิสัยต้องเก็บบริขารไป ไม่อย่างนั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่มันเป็นอาบัติมันเข้ากันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ยอมรับกัน

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หัวใจของเราเวลามันไปรับรู้อะไร มันเห็นสิ่งใด อู๋ย! เพราะมันไม่เคยเห็น สามล้อถูกหวย สามล้อมมันถูกหวยนะ อู้ฮู! มันเลี้ยงเขาหมดเลย แล้วกลับไปถีบสามล้อใหม่

นี่ก็เหมือนกัน โอ๋ย! มันรู้นู่นรู้นี่ เสร็จแล้วมันก็จะเสื่อมหมดเลย แล้วก็กลับไปทุกข์ยากใหม่ เป็นธรรมชาติ สัจจะเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครทำอะไรแล้วจะได้ตลอดไป ไม่มี

แต่คนที่ภาวนายังไม่เป็นไม่ก้าวหน้าไป มันก็ อู้ฮู! นั่นก็เป็นของเรา นี่ก็เป็นของเรา มันนึกว่าทำธุรกิจมันไง เงินบาทเก็บไว้ในเซฟของเราๆๆ

เอ็งไม่ใช้จ่ายใช่ไหม เอ็งจะอดตายหรือ เอ็งไม่ซื้ออาหารกินบ้างเลยหรือ เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะอยู่กับเรา

นี่พูดถึงว่าการปฏิบัติเริ่มต้นมันแสนยาก

นี่พูดถึงว่าในแนวทางปฏิบัตินะ นี่ฆราวาสธรรม เวลาปฏิบัติไปแล้วเวลาถ้ามีครูมีอาจารย์ขึ้นมา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญจนกว่าเขาจะตั้งหลักของเขาได้ เวลาเขาตั้งหลักของเขาได้นะ นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาถ้าเกิดปัญญามันจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ

ถ้าปัญญาของเราเกิด เราประพฤติปฏิบัติ เรามีสมาธิหรือไม่ มี ถ้าจะปฏิเสธว่าไม่มีสมาธิ เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็คนบ้า ศรีธัญญาน่ะ คนขาดสติ ขาดสมาธิ แต่มันเป็นสมาธิของปุถุชน

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มรรค ๔ ผล ๔ ปุถุชน กัลยาณชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ อรหัตตผลยังนิพพาน ๑ อีกนะ

อรหัตตผลไม่ใช่นิพพาน ขณะที่มันเป็นอยู่ ขณะที่มันเป็นนิพพานแล้ว มันเป็นนิพพานมันอีกเรื่องหนึ่งเลย

นี่เวลาผู้ที่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วถ้ามีสติปัญญารู้เท่ารู้ทัน เวลามันถอดมันถอนขึ้นมา นี่เป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมพ้นจากสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

กุปปธรรม คือสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กุปปธรรมคือธรรมชาติ คือสัจธรรมที่มันแปรปรวนที่มันเปลี่ยนแปลง

อกุปปธรรม อฐานะไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงที่ตายตัว

ตายตัวสำหรับถดถอยนะ แต่มันเจริญงอกงามขึ้นมาได้เพราะบุคคล ๔ คู่ เวลามันภาวนาขึ้นไป ภาวนาขึ้นไปมันเป็นแบบนั้น

นี่พูดถึงว่า เวลาฆราวาสธรรมก็เป็นส่วนเรื่องฆราวาสธรรมนะ ฆราวาสของเรา เรามาวัดมาวาขึ้นมาเพื่อบุญกุศลของเรา คำว่า บุญกุศลของเรา” ทำสิ่งใดก็ให้มีบุญกุศล มีอำนาจวาสนา ทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จในชีวิตของเรา ให้ไม่ต้องทุกข์ร้อนจนเกินไปนัก

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ เราทนอะไรไม่ได้นั่นก็เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น แต่ถ้ามันทนได้ มันชอบ มันเป็นความสุขไง ถ้ามันทนอยู่ได้เพราะมันชอบๆ แต่มันชอบเดี๋ยวมันก็เกลียด พอเกลียดมันก็ทนไม่ได้

พอทนไม่ได้ ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ แล้วเรามีอะไรที่ทนอยู่ได้บ้างล่ะ ในชีวิตนี้มีอะไรทนอยู่ได้บ้าง

ไม่มีอะไรทนอยู่ได้เลย มันเปลี่ยนแปลงกิริยาจนมันเป็นความเคยชินของเราอยู่แล้ว

ทุกข์คือความทนอยู่ไม่ได้ แล้วสัจจะความจริงมันเป็นอย่างไรล่ะ สัจจะความจริง

นี่ก็เป็นทุกข์ๆ ปากเปียกปากแฉะ อธิบายทุกข์กันหมดเลย แต่มันไม่เคยเห็นทุกข์

หลวงตาถึงสอนไง เวลาหลวงตาท่านพูด คนภาวนาเป็นพูดนะ กับคนภาวนาไม่เป็นคาดหมายไม่ได้ แล้วไม่เข้าใจ

ท่านบอกเลย กิเลสมันอยู่ที่หัวใจนั้น มันตื่นขึ้นมาแล้วมันก็ขับถ่ายความโลภ ความโกรธ ความหลงบนหัวใจนั้น แล้วมันก็หายไปแล้วนะ เราเพิ่งตื่นขึ้นมาได้กลิ่นขี้ อู๋ย! เหม็นมากเลย แล้วก็ทุกข์ไง

มึงไม่เคยเห็นทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ ไอ้ที่ว่าทุกข์ๆๆ นี่มันวิบาก ผลของขี้ที่กิเลสมันถ่ายคายไว้ แล้วมันเป็นทุกข์ๆ เพราะมันเป็นสมมุติบัญญัติของคนไง คนถ้ามันชอบมันก็ว่าไม่ทุกข์ไง คนถ้ามันเกลียดมันก็ว่าเป็นความทุกข์ไง

แต่เวลาจิตสงบแล้ว ถ้าจิตสงบแล้วมันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เวลาเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงเพราะอะไร เพราะกิเลสมันไม่เคยให้เห็นหน้ามัน ใครทำความสงบของใจเข้ามาไปได้ จิตสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ไปเห็นหน้ากิเลสไง พอเห็นหน้ากิเลส โอ้โฮ! เราเป็นยอดคนน่ะ เพราะอะไร

เพราะในสามโลกธาตุนี้ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น เพราะไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น เขาถึงไม่สามารถยกใจเข้าสู่วิปัสสนาได้ เขาไม่สามารถรักษาหัวใจของเขาให้รู้เท่าทันกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเขาได้

นี่ไง เราไปวัดไปวาก็ไปเพื่อเหตุนี้ ไปฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อให้จิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจที่มีอำนาจวาสนา ถ้าจิตใจที่มีอำนาจวาสนานะ เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น “จิตมันเสื่อมไปหมดเลย แล้วทำอย่างไร”

พอจิตมันเสื่อมหมดเลย ท่านบอกว่า จิตนี้เหมือนเด็กๆ มันต้องการอาหาร ให้กำหนดพุทโธๆๆ ไว้ พุทโธไว้นี่คืออาหารของมัน

อาหารของมันคืออะไร คือจิตมันทรงตัวของมันอยู่ไม่ได้ มันต้องอาศัยอารมณ์ๆ แต่เวลาว่าจิตมันเสื่อมๆ มันก็อาศัยอารมณ์ความเสื่อมนั้น ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ นี่คือพุทธานุสติ พุทธานุสติมันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากสติปัญญา เกิดจากคำบริกรรมของเรา

ถ้ากิเลสมันไม่ชอบ มันจะเสื่อมไป มันจะเที่ยวเล่นไปก็เรื่องของมัน เราก็พุทโธๆๆ ของเรา ก่อร่างสร้างตัวของเราขึ้นมา เราพยายามทำเอกภาพ ทำจิตใจเราให้มันโดดเด่นขึ้นมา เวลาโดดเด่นขึ้นมา ถ้ามันไปจนเสื่อมที่สุดแดนของมันแล้ว ไม่มีทางไปของมันแล้ว มันก็ยอมจำนนกับพุทโธ มันก็จะกลับมาอยู่กับพุทโธ กลับมาเสวยอาหารนั้น พอกลับมาเสวยอาหารนั้นจิตมันก็สงบได้ไง

พอสงบได้ ท่านบอก โอ้โฮ! ถอดเสี้ยนถอดหนาม ถอดความทุกข์ความวิตกกังวลในใจหมดเลย

ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน รู้ในหัวใจของตน อาจารย์องค์ไหนสอนแล้วเราประพฤติปฏิบัติ แล้วเรามีผลที่มันเป็นสัจจะความจริงอันนั้น มันมหัศจรรย์น่ะ

ไม่ใช่พูดแต่ปากปาวๆๆ ว่างๆๆ

ว่างอะไรวะ ว่างแล้วทุกข์ชิบหายเลย ว่างแล้วไปไหนไม่รอดเลย ว่างอะไรน่ะ

“อู๋ย! ได้ขั้นได้ตอน ผมไม่รู้อะไรเลย”

“เออ! เพราะเอ็งไม่อยากน่ะเอ็งได้”

ไม่รู้อะไรมันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ คนไม่มีสติไม่มีปัญญา ไม่มีสติปัญญาแยกแยะความถูกความผิด ไม่มีสติปัญญาเห็นโทษของมัน แล้วเอ็งจะรู้ได้อย่างไรล่ะ เอ็งรู้ไม่ได้หรอก

แต่เวลามันสัจจะความจริง เวลาพระเราถ้าเคารพครูบาอาจารย์ เขาเคารพกันอย่างนี้ไง เคารพที่ว่าไง ท่านพูดสิ่งใด เราประพฤติปฏิบัติสิ่งใดมันจะเข้าไปสู่จุดนั้นไง พอสู่จุดนั้น พอจิตสงบแล้ว เวลาท่านนั่งตลอดรุ่ง นั่งพิจารณาเวทนาของท่าน นั่นน่ะเวลาพิจารณาๆ ไป นั่นน่ะสิ่งที่ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิตที่สงบแล้วๆ เพราะจิตที่สงบแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

พอมีหลักมีเกณฑ์ของมัน จับสิ่งใดมันจับของมันได้ มันพิจารณาของมันได้ เพราะอะไร เพราะมันมีหลักมีเกณฑ์ใช่ไหม เพราะมีหลักมีเกณฑ์ เพราะจิตมันตั้งมั่น จิตมีกำลังของมัน เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาพร้อมที่จะทำงานมันทำงานด้วยความองอาจกล้าหาญนะ

ดูทหารมันออกรบสิ สัมภาระเต็มเลย ปืนเต็มเลย มันพยายามต่อสู้กับข้าศึก ต่อสู่กับฝ่ายตรงข้าม นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันพร้อมแล้วมันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ โอ้โฮ! มันมหัศจรรย์ของมัน มหัศจรรย์ของมัน

แต่เมื่อก่อนนั้นนอนอยู่นู่น ตายอยู่นู่นน่ะ “ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันจะเกิดสัจจะความจริง” มันนอนตายอยู่นู่นมันยังไม่รู้ว่าตัวมันนอนตายเลย

แต่พอมันปฏิบัติไปๆ เวลาก้าวเดินมันจะเห็น อ๋อ! มรรค ๔ ผล ๔ นะ บุคคล ๔ คู่เนาะ จิตใจนี้มันพัฒนาของมันขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาอย่างนี้ มันทำได้ความจริงอย่างนี้นะ มันมหัศจรรย์ของมันมาก มันพิจารณาของมันมาก นี่ไง ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกาปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ประพฤติปฏิบัติๆ

ธรรมะไม่มีเพศหญิงและเพศชาย เพศหญิงก็ตรัสรู้ได้ เพศชายก็ตรัสรู้ได้ สมาธิก็ไม่มีหญิงไม่มีชาย ไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีทั้งสิ้น แต่คนเราภาระหน้าที่เต็มสมอง ภาระบนบ่าเต็มที่

“ปฏิบัติดี ปฏิบัติดี”

พระนะ หน้าที่ของพระเดินจงกรม ๒๔ ชั่วโมง ปฏิบัติอย่างไร เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมามันเอาจริงเอาจังขึ้นมาจากสัจจะความจริง แล้วเวลาปฏิบัติไปมันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้ามันไม่เป็นจริง เราก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การประพฤติปฏิบัตินั้นมันเป็นโอกาสของเรา

เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าจิตสงบเรามาเราก็สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันเป็นการยืนยันในหัวใจ

เวลามันทุกข์มันร้อน เวลามันฟุ้งมันซ่าน มันเครียดมันกังวล มันทุกข์ยากมาก เวลามันสงบระงับเข้ามา แค่มันปล่อยเข้ามามันก็มีความสุขของมันแล้ว แล้วยิ่งมันสงบระงับเข้ามา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้เบิกบาน ผู้เบิกบานน่ะ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาไม่ต้องไปเขียนว่าเบิกบาน กูมีความสุขจริงๆ ไม่ใช่ บ.ใบไม้ สระอา น.หนู ไม่ใช่ๆ ไอ้นั่นเวลาเป็นแล้วกลัวเขาไม่รู้ว่ากูเบิกบานไง

แต่ถ้ากูเบิกบาน กูเบิกบานของกูคนเดียว นี่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา แล้วเวลาถ้ามันไปเห็นสัจจะความจริง เห็นหน้ากิเลสไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาถึงเห็นหน้ากิเลส แล้วพิจารณากิเลส ยถาภูตัง กิเลสมันตาย เกิดญาณทัสสนะ รู้ว่ากิเลสหลุดไป

คนจะเป็นโสดาบันนะ พิจารณาจนมันแยกมันแยะ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์

วิธีการดับทุกข์ ทุกข์มันดับ กิเลสมันตาย เกิดญาณทัสสนะ เกิดความรู้จริง เกิดความเห็นจริง

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ไง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตอีกตัวหนึ่งรวมลง แยกเป็นสามทวีปนะ ทุกข์กับจิตแยกออกจากกันห่างเป็นสามทวีป กลับมารวมกันอีกไม่ได้เลย นี้คือสัจจะความจริง

สัจจะความจริงนี้เกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น ตำราก็คือตำรา หลวงตาพระมหาบัวท่านเทศน์ก็สมบัติของท่าน เราจำของท่านมาก็ขี้ปาก แล้วเราพยายามเอามาเป็นคติธรรมของเรา เราพยายามขวนขวายของเราให้มันเป็นจริงขึ้นมา

ของท่าน สาธุ เอาไว้กับท่าน อยากได้ของเรา อยากได้ความจริง อยากได้สัจธรรม

ก็ทำจริงๆ สิ ทำขึ้นมาเป็นของเรานะ

ใครจะยกย่องสรรเสริญยกย่องบูชานั่นเรื่องของเขา ไร้สาระ โลกธรรม ๘ มันอยู่ข้างนอก ทุกข์หรือสุขมันอยู่ที่ใจของเรา ความจริงมันอยู่ที่ใจดวงนี้ ใจดวงนี้มีอำนาจวาสนาหรือไม่มี ถ้าไม่มีก็ยังตามเขาต้อยๆ ให้คนนู่นยกย่องสรรเสริญ ให้คนนั้นให้ค่า

แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก กูทำเอง มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำคอยชี้แนะ แต่กูทำเอง ให้เป็นสมบัติของกูเอง เอวัง