เทศน์พระ

เทศน์พระ ๓๐

๒๖ ต.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เป็นวันออกพรรษา ออกพรรษาแล้ว ๓ เดือน ไตรมาส ๑ ไตรมาสเรามาเข้าพรรษา ผู้บวชใหม่ได้บวชครบพรรษา รับกฐินเป็นคนสุก ทางโลกนะถ้าเป็นคนดิบ คนไม่เคยผ่านศาสนา ในสังคมชาวพุทธ ไปขอลูกสาวเขา เขาไม่ให้นะ เขาจะถามว่า “ได้บวชหรือยัง?” ถ้าบวชเรียนแล้ว เห็นไหม เป็นคนสุก คนสุกคือคนที่ได้บ่มเพาะด้วยศาสนาไง

ในศาสนา บวช ๑ พรรษา รับกฐินแล้วสึกออกไปเป็นบัณฑิต เป็นทิด ทิดคือบัณฑิต บัณฑิตคือใคร บัณฑิตคือได้ศึกษาได้ฟอกไง ฟอกใจจากคนดิบเป็นคนสุก เห็นไหม “ตบะธรรม” ทำให้จิตใจนี้เป็นสุขนะ ทำให้จิตใจจากคนดิบเป็นคนสุก

“สุก” มันสุกจนไหม้ สุกจนแบบว่าเกรียม แต่ถ้า “สุข” ขอไข่ มีความสุข กับ “สุก” โดยกอไก่ สุกโดยกอไก่มันสุกนะ โดนต้มจนสุก ต้มจนสุกจนแบบว่าบ่มเพาะจนเน่า ความสุกอย่างนั้น “ดิบกับสุก” กับ “ทุกข์กับสุข”

วันนี้เป็นวันออกพรรษา เป็นวันมหาปวารณา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจำพรรษากับพราหมณ์ ลืมใส่บาตรอยู่ไตรมาสหนึ่ง พอออกพรรษาแล้ว มารดลใจไง ดลใจพราหมณ์ให้พอออกพรรษาแล้วถึงนึกได้ นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำพรรษาไว้แต่ไม่เคยใส่บาตรเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องฉันข้าวดิบ แล้วพระด้วยกันภิกษุด้วยกันที่จำพรรษา ทุกคนดิ้นรนกระสับกระส่ายจะหาทางออก

ไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ทั้งนั้น แม้แต่พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก จะเหาะไปบิณฑบาตอีกทวีปหนึ่งนะ จะพลิกง้วนดินขึ้นมากินเองเลยนะ แล้วพระโมคคัลลานะพูดกับใคร พูดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพูดโกหกได้ไหม

“ข้าพเจ้าจะพาพระภิกษุออกไปอีกทวีปหนึ่ง”

“แล้วภิกษุบวชใหม่ ไปไม่ได้ จะทำอย่างไร”

“ผมจะจูงมือครับ จะพาเหาะไปครับ แล้วจะพลิกง้วนดินขึ้นมา”

“แล้วประชาชนของเราที่อยู่บนทวีปนี้จะทำอย่างไร”

“ผมมีฤทธิ์ ผมจะเอามือ ให้ประชาชนอยู่ในมือนี้ผมก่อน แล้วผมจะพลิกง้วนดินขึ้นมา แล้วผมจะเอาประชาชนวางไว้อย่างเดิม”

มีฤทธิ์ขนาดนั้นนะ ทำได้หมดเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาต อดทนกันมาจนออกพรรษา พอออกพรรษาแล้วนะ

“เธอชนะแล้ว..เธอชนะแล้ว.. ”

เห็นไหม ชนะตนนี้แสนยาก เราชนะใจเรานี้แสนยาก การชนะใจเรานะ

อยู่ในสังคมเห็นไหม การบวชมาจะเข้าใจเรื่องสัปปายะ ๔ เลย ถ้าใครบวชมาใครประพฤติปฏิบัติมา นักประพฤติปฏิบัติธุดงค์ไปแต่ละสำนัก แต่ละหมู่คณะ ธุดงค์ไป ๒ องค์ ๓ องค์ องค์เดียว ธุดงค์ไปคราวใดเจอหมู่คณะที่ธุดงค์ไปแล้วมีจิตใจที่เข้มแข็ง ธุดงค์ไปแล้วปฏิบัติด้วยกัน ธุดงค์ไปกับเพื่อน เพื่อนธุดงค์ไปแล้วจะไปหาลาภสักการะ ธุดงค์ไปกับเพื่อนองค์นี้จะไปหาเหล็กไหล ธุดงค์ไปกับองค์นี้ๆ ไปเจอหมู่คณะ ไปเจอลาภสักการะแล้วตายไปกับลาภสักการะ

การธุดงค์ การมีประสบการณ์ไปจริง มันจะเห็นประสบการณ์อย่างนี้ แล้วมันจะซึ้งใจมากกับสัปปายะ เวลาเราเทศน์เราอ่านพระไตรปิฎก “สัปปายะ ๔” อาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ฟังจากหูหนึ่งก็ทะลุอีกหูหนึ่งไง

แต่เวลาเราลงไปในสังคมนั้น ๑ พรรษานี่เราชนะไหม ในหมู่คณะนั้นเป็นสัปปายะไหม ในสถานที่เป็นสัปปายะ ในทิฏฐิความเห็นเป็นสัปปายะไหม ถ้าไม่เป็นสัปปายะมันจะมีการกระทบกระเทือนกัน สิ่งที่กระทบกระเทือนกัน ถ้าเราปล่อยไปตามอารมณ์เรา ปล่อยไปตามความกระทบกระเทือนนั้น นั่นล่ะแพ้ตนเอง

ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือความเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น แล้วการทะเลาะเบาะแว้งกัน การมีปัญหากัน เป็นสภาวธรรมไหม มันเป็น “สภาวอธรรม”

ในเมื่อเป็นอธรรม ดูสิ เวลาพระสารีบุตร เห็นไหม พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระราหุลนะ สามเณรราหุลเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางพิมพาให้ราหุลขอสมบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคิดถึงสมบัติของโลกเห็นไหม ถ้าให้สืบราชการก็เป็นกษัตริย์ต่อไป สมบัติอย่างนั้นมันก็ชั่วชีวิตนี้เท่านั้นเอง เห็นไหม ให้บวชซะ จะให้ทรัพย์จากภายใน

พ่อแม่เจ็บปวดมาก พระเจ้าสุทโธทนะเสียลูกไปองค์หนึ่ง เพราะพระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ ก็หวังจะเอาลูกเป็นกษัตริย์ แล้วขนาดพราหมณ์พยากรณ์ไว้ว่าถ้าเป็นกษัตริย์ก็จะเป็นจักรพรรดิ คือจะรวบรวมแว่นแคว้น เห็นไหม แต่ละแว่นแคว้น แต่ละประเทศ

ในอินเดียสมัยโบราณมันแบ่งแยกกันหมด ไม่ใช่เหมือนอินเดียในปัจจุบันนี้ เห็นไหม ถ้าเป็นจักรพรรดิจะรวบรวมได้ “ถ้าลูกของเราอยู่…” ภาษาทางโลกนะ “…จะประสบความสำเร็จมาก” แต่ก็เสียลูกไปนะ อุตส่าห์ถนอมรักษา ดูแลรักษาอย่างดีเลย ไม่ให้ออกไปเห็นอะไรต่างๆ แล้วยมทูตก็มาแปลงร่างให้เห็น คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เพราะบารมีธรรม สะเทือน เห็นไหม เสียลูกไปก็เจ็บปวดมาก จากวันที่ลูกไป มีแต่ความทุกข์กลัดหนองในหัวใจเลย แล้วไปสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นิมนต์กลับมายังมาเสียหลานไปอีกนะ เสียลูกไปก็อยากเอาหลานให้เป็นกษัตริย์ ลูกก็ยังมาเอาหลานไปอีกคน ดูสิ ตรอมใจขนาดไหน

กว่าจะได้ทรัพย์จากภายในมา ดูสิ หัวอกของพ่อ เสียลูกแล้วเสียหลานอีก จนไปขอพรกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ต่อไปนี้ ถ้าจะมีใครบวช ต้องให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายอนุญาตก่อนนะ” ถ้าไม่อนุญาต เพราะมันความเจ็บช้ำ อันนี้เจ็บช้ำมาก เจ็บช้ำในหัวใจ เจ็บช้ำทางโลกไงว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน เสียลูกไป เสียสถานะคนสืบสกุลไปมันเจ็บปวดขนาดไหน มันเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดนี้มันเจ็บปวดแบบโลกๆ ไง เจ็บปวดแบบเราต้องเสียสละถึงจะได้สิ่งตอบแทนมา

ถ้าเราไม่เสียสละ ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ออกประพฤติปฏิบัติ เจ้าชายสิทธัตถะไม่ออกไปบวช แล้วจะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาไหม จะมีคนมาชี้นำไหม สุดท้ายแล้วพระเจ้าสุทโธทนะนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศนาว่าการจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ผลของพระอรหันต์นะสุดยอดมาก สุดยอดเพราะมันไม่เวียนตายเวียนเกิด เกิดเป็นกษัตริย์ในชาตินี้ ถ้าพูดถึงทำบาปอกุศลไว้ ไปเกิดชาติหน้าจะเป็นยาจกก็ได้ ไปเป็นไพร่พลคนเดินเท้าเขาก็ได้ สิ่งต่างๆ นี้มันเวียนผลัดกัน เห็นไหม ผลของวัฏฏะไง

แล้วสามเณรราหุลมาขอสมบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมบัติจากภายใน ให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์เป็นผู้บวชให้ ราหุลเป็นบุตรนะ เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บวชให้เองล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรบวชให้ล่ะ

ให้พระสารีบุตรบวชให้ แล้วเวลาธุดงค์ไป เวลาเขาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีพระมามากมหาศาลเลย สามเณรเป็นพระอรหันต์นะ ไปถึงพระก็แย่งชิงที่พักกัน กุฏินี้แย่งกันหมดเลย แล้วเณรล่ะ พระอรหันต์แต่เป็นเณร ตามศักดิ์ในธรรมวินัย จะต้องให้ภิกษุก่อน เวลาเราอุปโลกน์กัน “เถระสะ” ต้องเถระก่อน แบ่งกันต้องเถระ ต้องภิกษุ ต้องสามเณร ต้องคฤหัสถ์ แบ่งกันไป แบ่งทานกันมา

ถ้าเป็นธรรมนะ สิ่งที่เป็นธรรมมันจะถือความเสมอภาค แบ่งกันโดยธรรมด้วยความสวยงาม ด้วยหน้าที่ ถ้าเถระหรือผู้ใหญ่เสียสละ “เราเป็นผู้ใหญ่ เราเสียสละให้ผู้น้อย เราเป็นผู้ใหญ่ เราไม่เอา เราให้ไป” แบบนี้มันก็ทำได้ แต่โดยสิทธิ์ตามวินัยจะถืออย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พระไปถึงพระก็จองที่หมดเลย เณรไม่มีที่อยู่นะ พระอรหันต์ไม่มีที่อยู่ ไปนอนอยู่ในส้วม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระสารีบุตร “สารีบุตรเธอรู้ไหม สัทธิวิหาริกของเธออยู่ที่ไหน?”

ไม่รู้!! พระสารีบุตรไม่รู้นะว่าสามเณรอรหันต์ไปนอนอยู่ในส้วม ไม่มีที่นอนแล้วไปนอนอยู่ในส้วม “รู้ไหมว่าสามเณรไปนอนอยู่ในส้วม” ทำความสะอาดส้วมแล้วไปนอนอยู่ในส้วม

“พระอรหันต์” สิ่งที่เป็นพระอรหันต์นี้คือความกว้างขวางของศาสนา ถ้าเป็นเรา เห็นไหม พ่อทำไมไม่เอาลูกบวชเอง เป็นอุปัชฌาย์ด้วย แล้วเป็นอุปัชฌาย์องค์เดียว เอหิภิกขุ เห็นไหม บวชภิกษุมหาศาลเลย แต่เณรให้พระสารีบุตรเป็นคนบวชให้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วให้พระสารีบุตรเป็นคนสั่งสอน แล้วองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สั่งสอนด้วย เพราะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา

สิ่งต่างๆ นี้เพื่อความกว้างขวางของศาสนา เพื่อความกว้างขวางของศาสนธรรมของเรา มันมีนะ มีผู้ใหญ่ มีเด็ก มีต่างๆ กันไป องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา พระอัครสาวกทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา แล้วยังมีพระอานนท์ เห็นไหม เป็นพหูสูต มันจะกว้างออกไป ถ้าเรากว้างออกไป มันธรรมวินัยอันเดียวกันนะ ถ้ามันธรรมวินัยอันเดียวกัน เราเป็นพระด้วยกัน เราเป็นสงฆ์ด้วยกัน มันเสมอกันด้วยทิฏฐิ เสมอกันด้วยความเห็น เสมอกันด้วยอะไรต่างๆ มันก็มีความสุขไง มันมีความสุขด้วย มันมีความถูกต้องด้วย แล้วเราต้องถือเพราะอะไร มันผิดถูกเห็นไหม เวลาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ดูสิ ภิกษุอยู่ถึงภาคตะวันตกนั้น เขาปฏิบัติตามเรา เขาทำเหมือนเรา เหมือนเขาอยู่กับเรานะ ภิกษุจับชายจีวรเราอยู่นะ แต่ไม่ปฏิบัติตามเรา ไม่ทำเหมือนเรา จับชายจีวรเราอยู่ กอดเราอยู่ด้วย ก็เหมือนไม่ได้อยู่ใกล้เรา”

ไม่อยู่ใกล้เรา เห็นไหม ธรรมวินัยเป็นเครื่องตัดสินนะ ทิฏฐิมันก็มีส่วนด้วย ทิฏฐิของเรานะมันเข้ามามีส่วน มีส่วนว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องไหม ถ้าสิ่งนั้นมันถูกต้อง ถ้าเราคิดเอาความถูกต้อง เราคิดว่าเป็นเรื่องของเรา เราบวกมันเข้าไป การที่เราบวกความคิดเห็นของเราเข้าไป เราจะเอาความเห็นของเราเข้าไปเป็นความเห็นไม่ได้ ความเห็นของเรามันมีกิเลสอยู่ใช่ไหม ต้องตัดสินกันด้วยธรรมวินัย ควรหรือไม่ควร แล้วควรมันมีเหตุมีผลไหม สิ่งที่ทำลงไปเขาทำไปเพื่ออะไร มันไม่มีหน้าที่นะ คนเรานะไม่เป็นผู้นำ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ จะไม่รู้หรอกว่า การเป็นผู้นำมันต้องรับผิดชอบขนาดไหน

ถ้าการเป็นผู้นำแล้วตัดสินไป ถ้าเราเป็นผู้ตาม เราจะมองคนตัดสินกันอย่างไร ตัดสินว่าถูกต้องไหม ตัดสินเป็นอย่างไร แล้วมันมีเหตุผล สิ่งแวดล้อมมันมีเหตุมีผล เช่น ขณะนี้น้ำท่วม น้ำป่ามา ออกบิณฑบาตไม่ได้ ออกบิณฑบาตไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร คราวข้าวยากหมากแพง บิณฑบาตมาได้แต่บาตรเปล่ามา แล้วได้บาตรเปล่ามาจะทำอย่างไร

มันอยู่ที่กาลเทศะ เห็นไหม ดูสิ เวลาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจำพรรษากับพราหมณ์ ข้าวยากหมากแพงบิณฑบาตไม่ได้เลย แล้วเขาก็ไม่มีจะกิน ชาวบ้านเขาไม่มีจะกินนะแล้วเขาจะเอาอะไรมาให้ พ่อค้าโคต่าง เขาจะเลี้ยงม้าของเขาด้วยข้าวกล้อง เขาก็ใส่บาตรพระแบบนั้น

สิ่งที่ไม่มีไม่เป็นของเขา แล้วเราเป็นผู้นำ เราจะต้องดูแลของเรา เราต้องแบกรับภาระนะ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์สิ่งนี้มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม

อำนาจวาสนานะ อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน ดูพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ไปบิณฑบาตข้างหน้าเขาก็ลืมใส่ ไปข้างหลังเขาก็ลืมใส่ ไปตรงกลางเขาก็ลืมใส่ เพราะกรรมของเขา เขาทำกรรมของเขาขึ้นมานะ ดูสิ แม้แต่เป็นเศรษฐี มดนะ เวลาข้าวตกมดมันขนไป ยังขุดเอามันขึ้นมาเลย ด้วยความตระหนี่อันนั้น แต่เขาก็ทำคุณงามความดีของเขาเหมือนกัน เขาถึงมี

ถ้าคนจะเป็นพระอรหันต์ได้มันต้องมีการสร้างบุญญาธิการมา สร้างบุญญาธิการมามันเป็นเรื่องเชาว์ปัญญานะ ดูสิ คนจนคนทุกข์คนเข็ญใจ แต่เขามีเชาว์ปัญญา เขาจะประคองชีวิตของเขาไปได้ คนมั่งมีศรีสุข ถ้าเขามีเชาว์ปัญญาของเขา เขาจะรักษาสมบัติของเขาได้ แต่ถ้าคนไม่มีเชาว์ปัญญาจะรักษาสิ่งนี้ไว้ไม่ได้เลย

ดูสิ คนมั่งมีศรีสุข เขาก็มีเชาว์ปัญญาได้ คนทุกข์คนเข็ญใจ เขาก็มีเชาว์ปัญญาได้ เชาว์ปัญญานี้มันเป็นนามธรรม มันเป็นความเห็นจากภายใน แต่เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยมันเป็นเรื่องของภายนอกนะ

สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของความกว้างขวาง เรื่องของหมู่คณะมันจะกว้างออกไป เราจะรับผิดชอบกัน เราจะต้องคุยกัน เราจะต้องปรับความเห็นของเราเพื่อสังคมของเรานะ นี่เป็นเรื่องของสังคม แต่เรื่องของกรรมล่ะ เรื่องของความเห็นของเราจากภายในเห็นไหม วันนี้วันมหาปวารณา ถ้าเรามีกิเลส มีความทิฏฐิมานะ การปวารณาของเรามันเป็นเหมือนหมาจิ้งจอก หมาจิ้งจอกนะมันเจ้าเล่ห์ เพราะจิตเราไม่ได้คิดอย่างนั้น จิตเราไม่เห็นอย่างนั้น จิตเราจะต้องมีเมตตานะ

ทิฏฐิมานะของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ดูนิ้วของเราสิ นิ้วของเราไม่เท่ากันนะ นิ้วโป้งกับนิ้วก้อยมันไม่เท่ากัน หน้าที่การงานมันก็ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนก็ไม่เหมือนกัน เราจะต้องให้อภัยกันด้วยหัวใจ สิ่งที่ให้ด้วยหัวใจนะ ถ้าคุยกันปรับความเข้าใจกัน ถ้าความเข้าใจอันนี้มันแก้ไขได้ มันถึงจะเป็นผลของมหาปวารณา

มหาปวารณาเป็นอริยะประเพณี ประเพณีของสงฆ์ ประเพณีของสังฆะ ดูสิ ด้วยความกว้างขวางของศาสนา ศาสนาจะกว้างจะแคบด้วยจิตสาธารณะ จิตสาธารณะคือเราไม่โลภไม่ถือสิทธิ์ด้วยเราคนเดียว เราแบ่งภาระหน้าที่กันออกไป เราจะแบกรับภาระ เห็นไหม ให้คนอื่นได้ก่อน เราได้ทีหลัง ถ้าจิตไม่เป็นสาธารณะมันต้องเป็นของเราก่อน

เราต้องให้ของคนอื่นก่อน หัวใจเขาหัวใจเรา เราไม่ชอบสิ่งใดเขาก็ไม่ชอบสิ่งนั้น เราชอบสิ่งใดเขาก็ชอบสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นของดีงามเราเสียสละ เห็นไหม เสียสละให้กับคนอื่น เสียสละให้กับหมู่คณะ เสียสละออกไป สิ่งที่เสียสละออกไปมันจะได้บารมีธรรม ได้กลับมา ใครเป็นผู้เสียสละผู้นั้นเป็นคนได้

ใครเป็นผู้รับ เราเป็นผู้ทุกข์คนเข็ญใจคนจน เขาเสียสละอะไรมาเราก็ได้ใช้อาศัย นี้มันเป็นบุญของเขานะ เขาเป็นผู้เสียสละ แต่เราต้องอาศัยสิ่งนี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าเราเป็นผู้เสียสละล่ะ การเสียสละออกไปอย่างนี้เราเป็นคนได้ ได้บารมีได้ความเป็นไป แล้วได้บารมีขึ้นมา ได้มาจากไหน

เวลาภาวนากัน เราอยากภาวนา อยากมีจิตที่มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์ทำไมปัญญามันไม่เกิด ถ้าปัญญามันเกิดสิ่งนี้มันสะเทือนใจเรานะ ดูสิ พระในสมัยพุทธกาล จะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตมันภาวนาอยู่ มันหมุนอยู่ข้างบนเห็นไหม จะไปถามปัญหา แต่เวลาไปเจอแล้วฝนตก ฝนมันตกจากชายคามา พื้นน้ำมันเป็นจุดเป็นต่อม มันแตก เกิดดับๆ

การเกิดดับทุกคนพูดอย่างนั้นนะ แต่พูดกันที่ปาก ถ้าพูดถึงการเกิดดับที่ปาก พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกก็เหมือนกัน สิ่งใดๆ ก็เหมือนกัน เงินเราเต็มกระเป๋าเลย ถ้าเราใช้มันหมดแล้วก็หมดกันไป นี่ก็เกิดดับทั้งนั้น แล้วเกิดดับทำให้คนเสียคน เกิดดับทำให้เราไม่ได้สิ่งใดเลย

เนี่ยว่างๆ ความว่างคืออะไร ว่างทั้งนั้น อากาศมันก็ว่าง ทุกอย่างมันก็ว่าง ความว่าง ถ้าว่างทำไมมันถึงว่าง เหตุผลที่ทำให้ว่างมันเป็นอย่างไร มันไม่ใช่การฟอกตัวนะ เรามาประพฤติปฏิบัติกัน เรามาฟอกตัวกันเฉยๆ สิ่งนี้ไปจำมา ไปจำสิ่งต่างๆ มา แล้วครูบาอาจารย์เทศน์ธรรมะเห็นไหมว่า ธรรมะเฟ้อ

“ไม่เฟ้อหรอก” ธรรมะมันเป็นศาสนธรรม เหมือนน้ำ น้ำไม่เฟ้อนะ เพราะอะไร เพราะปลามันอยู่ในน้ำ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีปลา ถ้ามีธรรมะ เห็นไหม เราศึกษาธรรมกัน เราสนทนาธรรมกัน

จิตของผู้สนทนาธรรม จิตที่สนใจในธรรม เห็นไหม ถ้ามันมีอำนาจวาสนามันสะเทือนใจนะ กิเลสมันอยู่ที่ใจ เวลาสนทนาธรรมมันจะสะเทือนหัวใจ ถ้าสะเทือนหัวใจนะมันขนลุกขนพองเลย มันเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทิฏฐิ เปลี่ยนความเห็น

ถ้าเปลี่ยนทิฏฐิ เปลี่ยนความเห็น เห็นไหม มรรคหยาบ-มรรคละเอียด ความคิดมันจะละเอียดเข้าไปนะ เราศึกษาปริยัติมาเราท่องจำได้ เราว่าเรารู้นะ นกแก้วนกขุนทอง นั่งโต้วาทีกันนะ โอ้โฮ.. สุดยอดเลยธรรมะ ธรรมะไหลเป็นน้ำป่าเลย

แต่ความจริงมันเข้าถึงหัวใจไหม ถ้ามันไม่เข้าถึงหัวใจนะ มันจะไม่มีจิตใจสาธารณะ มันจะไม่เสียสละ มันจะไม่ให้คนอื่นได้ก่อนไง ถ้าคนอื่นได้ก่อน ของสิ่งใดมาเราเสียสละให้คนอื่นไปก่อน เสียสละเพื่ออะไรล่ะ เพื่อความสุขของเขา ถ้าความสุขของเขามันก็เป็นความสุขของเรา

ถ้าเป็นความสุขของเรา เห็นแก่ปากแก่ท้อง ถ้าเห็นแก่ปากแก่ท้องเรา ใครจะอยู่กับเราได้ ถ้าไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ได้สิ่งใดมาก็แบ่งเสมอภาคกัน ทุกอย่างเสมอกันเห็นไหม ถ้าเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน สิ่งนี้เป็นความเสมอกันจากภายนอก แล้วถ้าเป็นภายในล่ะ

ภายในนะ จิตเป็นสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะมีความสุขของมัน ถ้าคนยังภาวนาอยู่นะ “มหาปวารณา” ถ้าเราภาวนากันนะ เราจะปวารณากัน ปวารณากันเพื่ออะไร เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าใครยังไม่ประพฤติปฏิบัติยังไม่เห็นคุณค่าหรอก ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมนะ ถ้าจิตเรากระทบกัน มันฟุ้งไหม ถ้าจิตมันฟุ้งจิตมันคิดออกไป จิตอันนั้นมันจะฟุ้งซ่านไหม แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามาล่ะ ถ้าทุกคนให้ความสนับสนุนกัน ทุกคนให้โอกาสต่อกันในการบริกรรมภาวนา จะไม่กระทบกระเทือนกัน จะไม่เบียดเบียนกัน มีความสุขมากเลย

แต่ความสุขมากอันนี้ก็ต้องให้เป็นความจริงนะ อย่าให้เป็นหมาจิ้งจอกนะ ถ้าเป็นหมาจิ้งจอกนะ ให้กันเหมือนกับวางยา โอ้ย..ให้ความสะดวก มันจะสะดวกอะไรล่ะ ความสะดวกอย่างนั้น ความสะดวกโดยเล่ห์ ถ้าความสะดวกโดยเล่ห์ มันยิ่งให้อย่างนั้นนะ คนภาวนายิ่งรับไม่ได้ รับไม่ได้นะ รับไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันรู้

สิ่งที่มันรู้ถ้าเป็นความจริงนะ สมบัติของใครก็เป็นของคนนั้นใช่ไหม สมบัติของคนนั้นมันก็ต้องเกิดจากคนนั้นใช่ไหม ถ้าสมบัติของคนนั้น สมาธิก็เป็นสมาธิของผู้ประพฤติปฏิบัตินั้น ปัญญาก็เป็นปัญญาของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น เขาปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงสิ เราเป็นครูบาอาจารย์เราเป็นคนเปิดทางให้เขา ถ้าเราเป็นคนเปิดทางให้เขา เราเป็นคนชี้นำให้เขา ถ้าเป็นคนชี้นำให้เขาเห็นไหม มันจะเป็นความจริงอย่างนั้น แล้วมันจะซึ้งใจมาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานมาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ ๒,๕๕๐ ปีแล้ว ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ สมาธิมันก็เป็นสมาธิ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญามันหมุนขึ้นมา มรรคญาณมันหมุนขึ้นมานะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้อย่างนี้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร แล้วมันกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร เราไม่เคยเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ทำไมเรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจของเรา

แล้วนี่ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาจากเรา ทำไมเราจะไม่เคารพครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ไหนถ้าจะมาเป็นครูบาอาจารย์ไม่ต้องห่วงกลัวว่า ลูกศิษย์จะเคารพหรือไม่เคารพเลย!! ไม่ต้องไปห่วงมัน ไม่มีความหมาย!! ไม่มีความหมายเลย!! ตัวใครตัวมัน!!

แต่มันเป็นหน้าที่ใช่ไหม มันคือศากยบุตรใช่ไหม เราเป็นศากยบุตร เราจะมาเกิดความกว้างขึ้นมา เพื่อจะให้สังคมนี้มันสงบเย็นขึ้นมา สังคมนักรบ หัวหน้านะ นักรบนะ ผู้นำ ถ้าผู้นำนักรบออกไป ดูสิ สงครามที่ไหนมันก็ชนะ ถ้าเป็นเอกภาพ เป็นเอกภาพเพราะอะไร เพราะหัวหน้ามันมือสะอาดไง หัวหน้าเป็นที่ไว้ใจได้

ความลงใจ ถ้าคนมันลงใจชีวิตนี้เอาไปเลย ดูสิ พระอานนท์ ทำไมพอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมา พระเทวทัตให้เขาปล่อยช้างนาฬาคิรีมา ช้างมันจะชนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระโดดขวางเลยนะ ถ้ามันลงใจ ถ้าใจมันลงไม่ต้องไปห่วงว่าเขาจะเคารพเราหรือไม่เคารพเรา ไม่ต้องห่วงเลย ถ้าต้องการให้เขาเคารพเรา จะไม่มีใครเคารพเราเลย เพราะอะไร เพราะนี่มันเป็นเล่ห์ ถ้ามันเกิดจากเล่ห์ ทุกอย่างเกิดจากเล่ห์ จะไม่มีความหมายเลย

แต่ถ้าทุกอย่างเกิดจากธรรม ถ้าจิตใจเราเป็นจิตใจสาธารณะ ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ถ้าทำประโยชน์ให้เราให้ได้ ถ้าประโยชน์ขึ้นมากับเรา ถ้าทำประโยชน์กับเราได้ แล้วจิตมันเกิดมาอย่างไร ปัญญาที่เกิดขึ้นมา ธรรมที่เกิดขึ้นมาในหัวใจนี้มันเกิดมาจากไหน มันทุกข์มาขนาดไหน มันต่อสู้กับกิเลสมาขนาดไหน

เรื่องสังคมของโลกนะ ความยอมรับกันมันไร้สาระ! ไร้สาระมากๆ เพราะอะไร เพราะในหัวใจเรามันทุกข์อยู่ ถ้าหัวใจเรายังเกิดยังตายอยู่ เขายกย่องเรานะ เขาทำปราสาทยอดปราสาท เขาจะเอาเราไปไว้บนดวงจันทร์เลย เราก็ต้องไปตายอยู่บนดวงจันทร์

ถ้าหัวใจของเรามันพ้นจากทุกข์นะ เราจะอยู่ใต้บาดาลไหน เราจะอยู่ที่ไหน ไม่มีความหมายเลย เพราะจิตนี้มันพ้นจากกิเลส ถ้าจิตมันพ้นจากกิเลส จะต้องให้ใครมายอมรับ จะต้องให้มีใครมาพะเน้าพะนอ ไม่ต้องหรอก

การพะเน้าพะนอ ถ้าเขาทำเป็นธรรมนะ คือเขาศึกษา มันเป็นอาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เห็นไหม อุปัชฌายวัตร สิ่งที่เป็นอาจริยวัตร มันเป็นธรรมวินัย ถ้ามันเป็นธรรมวินัย เขาศึกษาของเขา เขาอยากจะสร้างบุญกุศลของเขา เขาทำของเขามันได้ประโยชน์ของเขา มันทำให้จิตใจมันลงไง จิตใจมันควรแก่การงาน ถ้าจิตใจมันลง มันฟังครูบาอาจารย์ มันอ่อนลงนะมันเปิดกว้าง เหมือนเราเปิดห้องทำงานของเรา ถ้าเราเปิดมากอากาศมันถ่ายเทมาก ความเป็นอยู่ของเราจะสะดวกสบาย แต่ถ้าเราปิดให้มันอับเห็นไหม

การทำข้อวัตร การแสวงหาครูบาอาจารย์ การฟังธรรมมันจะเปิดหัวใจของเรา ถ้าเปิดใจมันหน้าที่ของเขา เขาหาผลประโยชน์ของเขา เขาจะตักตวงผลประโยชน์ของเขา หน้าที่ของเขา เขาก็รักษาผลประโยชน์ของเขา แล้วหน้าที่ของเราล่ะ เรามีสิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเขาไหม ถ้าเรามีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเขา ทำขึ้นมาแล้วมันเป็นประโยชน์กับเขานะ อาวุโส ภันเต เขาทำของเขาได้อยู่แล้ว ถ้าหัวใจของเราเป็นธรรมขึ้นมาด้วย ยิ่งทำมันยิ่งได้มาก เพราะเนื้อนาบุญ เนื้อนานั้นมันบริสุทธิ์ขึ้นมา เขาหว่านพืชลงไปเท่าไร ผลก็เกิดได้ขนาดนั้น

สิ่งนี้มันเป็นโอกาสนะ ครูบาอาจารย์ที่ยังดำรงชีวิตอยู่เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุเพื่อโลก เพื่อโลกให้เขาตักตวงผลประโยชน์ของเขา มันเป็นพื้นนา มันเป็นพื้นที่ที่เขาจะทำประโยชน์ของเขา แล้วถ้าพื้นที่นั้นล่วงไปแล้ว ถ้าจิตมันตายไปแล้ว พื้นที่นั้น ดูสิ เราไปกราบศพครูบาอาจารย์กัน กราบศพมันก็กราบแต่ซาก เพราะใจมันออกจากร่างไปแล้ว ใจดวงนั้นต่างหาก ใจดวงที่ให้ผลตอบสนองมาต่างหาก มันเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าใจมันลง ถ้าใจของเขาลงของเขา เขาทำของเขามันเป็นหน้าที่ของเขา หน้าที่ของเขา ผลประโยชน์ของเขา

หน้าที่ของเรา เห็นไหม หน้าที่ของเรา เราเป็นหัวหน้า เราเป็นครูบาอาจารย์ เราจะชักนำเขาไป เพราะกว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ได้ต้องสละตาย ไม่เคยสละตายขึ้นมา จะเอาอะไรมาเป็นครูบาอาจารย์ของเขา ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เขา มันวิธีการ เห็นไหม วิธีการที่จะชนะกิเลสแต่ละขั้นแต่ละตอน

ชนะตนนะ ชนะตนมันชนะอย่างไร ทุกอย่างมันต้องการมันเรียกร้องไปทั้งหมด หัวใจนี้มันเรียกร้องไปทั้งนั้น แล้วเราจะมีสติยับยั้งมันอย่างไร ต้องมีสติยับยั้งเขาก่อน ยับยั้งสิ่งที่มันถูกกระชากลากไป ยับยั้งแล้วสมาธิจับ ปัญญาตัด แล้วปัญญามันเกิดอย่างไร ปัญญาที่เกิดขึ้นมานะ ปัญญาขี้โม้นี่มันเป็นสุตมยปัญญา ปัญญาท่องจำมา ปากเปียกปากแฉะ ปัญญาปรัชญาอย่างนี้ ปัญญาจริงๆ เขาไม่โม้หรอก เพราะปัญญาจริงๆ มันไปตัดในจิต

มรรคญาณมันหมุนเข้าไปในหัวใจนะ แล้วมรรคญาณมันเข้าไปชำระกิเลสนะ แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหน กิเลสมันอยู่ที่ปากหรือ? กิเลสมันอยู่ที่หูของคนฟังหรือ? กิเลสไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แล้วเราจะเอาปัญญาเอาคำพูดของเราไปบาดหูคนอื่น มันจะมีประโยชน์อะไร อันนั้นมันเป็นมรรคที่ไหน

มรรคมันเกิดจากใจนะ มรรคมันเกิดจากใจมันย้อนกลับมาภายในนะ ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญามันเกิดอย่างนี้ มันถึงจะย้อนกลับเข้าไป แล้วยิ่งมีปัญญาอย่างนี้เหมือนคนที่มีขุมทรัพย์ เขาจะเอาขุมทรัพย์ ดูสิ เรามีแก้วแหวนเงินทอง เราจะใส่แก้วแหวนเงินทองไปอวดโจรไหม จะใส่เฟอร์นิเจอร์ไปให้โจรมันปล้นหรือ เขาจะเก็บอยู่ในหัวใจนะ

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะที่ปัญญามันละเอียด พูดออกมามันเป็นโจรทั้งนั้น กิเลสคือโจร กิเลสมันไม่ยอมฟังใคร แล้วพูดออกไปให้เขาหัวเราะเยาะ มันจะพูดออกมาทำไม มันจำเป็นต้องพูดให้เขาฟังหรือ มันจำเป็นต้องให้เขายอมรับหรือ มันไม่จำเป็นเลย แต่เมื่อใดที่เขาทำขึ้นมาเสมอเรา เขาจะลงเต็มที่เลย เขาลงเต็มที่ต่อเมื่อเขาไปประสบไง “อ๋อ...เขาทำกันอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านแลกมาด้วยชีวิตอย่างนี้ ท่านเอาชีวิตอย่างนี้แลกมา” แล้วมันทุกข์มาขนาดไหน มันทำมาอย่างนั้น

ไอ้ของเรามันปากเปียกปากแฉะนะ เหมือนกับเขาใส่ของเทียมเลย เอาทองคำปลอมๆ ใส่ไปอวดกัน โชว์กันไปก็โชว์กันมานะ แล้วเอาไปที่ร้านนะ จะเอาไปขายก็ไม่ได้ราคา เพราะมันเป็นของปลอม

ของปลอมอะไร ดูสิ ทองคำมันมีค่าใช่ไหม ทองคำเป็นของแท้ แต่นี่เพราะสัญญาของเรา เพราะความจำของเรามันเป็นของปลอม พอมันเป็นของปลอม ก็อ้างว่าเป็นทองคำไง แล้วดูสิทองชุบมันมีประโยชน์อะไรขึ้นมา เขาขูดทีเดียวมันก็หมดแล้ว ข้างในมันมีแต่ของเก๊

ธรรมะปากเปียกปากแฉะ ไม่มีประโยชน์หรอก และไม่ต้องการสิ่งนั้น เขาจะลงไม่ลง ลงใจของเขา ถ้าใจมันลงนะ ดูสิ ทำไมพระอานนท์ ทำไมเสียสละชีวิตให้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระโดดขวางเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ เธอไม่ต้อง” เพราะบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตานะ โลกธาตุนี้หยุดได้หมดนะ เพียงแต่ว่าท่านไม่ทำ บางโอกาสก็ทำบางโอกาสก็ไม่ทำ เช่น เวลาที่เขาจ้างคนมาด่า “สมณะหัวโล้นๆ” ด่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนพระอานนท์ทนไม่ไหว

มีฤทธิ์นะแต่ทำไมไม่ทำ ถ้ามีฤทธิ์ก็ทำอย่างนั้นได้ เพ่งกสิณไฟก็ได้ กระโดดไปเลยล่ะ กสิณไฟกสิณลมเอาพายุพัดไปก็ได้ แต่ท่านไม่ทำ ไม่ทำเพราะอะไร? เพราะว่าเป็นคติไง

“โลกธรรม ๘” ดูสิ มีไว้ในพระไตรปิฎกว่า “แม้แต่ศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังโดนโลกธรรมแผดเผา โลกธรรมแผดเผาที่ร่างกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มารไม่มี ทุกอย่างเข้าถึงใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้” ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม “สิ่งนี้มันเป็นกระโถนของโลกธรรม” ร่างกาย ชีวิต แต่หัวใจ เห็นไหม ทำไมเทวดา อินทร์ พรหม ต้องมาฟังเทศน์ล่ะ ทำไมเทวดา อินทร์ พรหม ยังต้องมาถามปัญหา เพราะเทวดา อินทร์ พรหม เขาไม่รู้เรื่องอย่างนี้ ไม่มีใครรู้เรื่องอย่างนี้เลย

สิ่งที่เกิดขึ้นมาในหัวใจเป็นคติไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำสิ่งต่างๆ ไว้ มันเป็นคติ ดูสิ เวลาพระกัสสปะ เห็นไหม “กัสสปะเอย...เธอก็มีอายุปานเรา ทำไมต้องถือธุดงควัตร” ก็ถือไว้เป็นคติเป็นแบบอย่าง ผู้ที่เขาประพฤติปฏิบัติเขาจะได้อ้างอิงได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ใครที่โดนโลกธรรม ๘ ในโลกนี้ ไม่มีใครโดนเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ฤทธิ์เดชก็มากที่สุด ตั้งพระโมคคัลลานะเป็นฝ่ายมีฤทธิ์ ผู้ที่แต่งตั้งเขาต้องรู้มากกว่าเขา รู้มากกว่าทุกๆ อย่าง

เอตทัคคะ ๘๐ องค์ เห็นไหม ไปรวมอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดเลย จะทำอะไรก็ได้ แต่ถึงเวลาทำก็ทำ ไม่ถึงเวลาไม่ควรทำก็ไม่ทำ ไม่ใช่ทำพร่ำเพรื่อ พร่ำเพรื่อไม่ได้เพราะอะไร? เพราะวุฒิภาวะของโลกมันไม่เหมือนกัน วุฒิภาวะของคนมันไม่เหมือนกัน

ดูสิ เวลาที่พระโมคคัลลานะให้ลูกศิษย์เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทร์เห็นไหม แล้วห้ามไม่ให้ทำ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำเองได้ ทำเองเพื่ออะไร เพื่อจรรโลงศาสนา พอบัญญัติว่า “ต่อไปนี้ ภิกษุที่มีอภิญญา ห้ามแสดงออก” มันเป็นเรื่องของอภิญญา แล้วถ้าแสดงออกเรื่องของอภิญญานะ เดี๋ยวนี้นะ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์เจริญอย่างนี้ อายเขาตายเลย

เดี๋ยวนี้ทุกคนหูทิพย์หมดเลยนะ เด็กอนุบาลก็หูทิพย์ มันมีหูทิพย์มันมีโทรศัพท์กันนะ เหาะเหินเดินอากาศ เดี๋ยวนี้เขาเหาะกันทั่วโลก ถ้าไปเอาเรื่องนี้มาเป็นหัวใจนะ น่าขายหน้า เรื่องนี้นะ สมัยพุทธกาล เทคโนโลยีไม่เจริญ ผู้ที่เหาะเหินเดินฟ้าได้ มันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ แต่เดี๋ยวนี้ใครก็ทำได้ถ้ามีตังค์ ทำได้ทั้งนั้นเลย แต่เรื่องอริยสัจไม่มีใครรู้ แล้วทำไม่ได้ ทำไม่ได้หรอก

สัจจะความจริงอันนี้จะย้อนกลับเข้ามาภายในของเรา เห็นไหม ห้ามไม่ให้ผู้อื่นทำ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับศาสนา ท่านแสดงเอง เพราะลัทธิต่างๆ เขาเห็นว่าบัญญัติว่าห้ามแสดง ท้าเลยนะ ท้าแสดง แล้วพอท้าแสดงขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับท้า แสดงยมกปาฏิหาริย์ เห็นไหม แสดงกับเขา

พวกคหบดีถามเลย “แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามหมดเลย ห้ามสาวกทั้งหมด ห้ามแสดง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงได้เองได้อย่างไร?” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมนะ “อ้าว..ก็เราเป็นเจ้าของศาสนา เราห้ามเขาได้ เราเป็นเจ้าของห้ามคนอื่นเข้ามาลักของได้ แต่เราเป็นคนใช้ของเราได้เอง เหมือนกับสวนมะม่วง สวนมะม่วงเราห้ามไม่ให้คนอื่นมาเด็ดมะม่วงเรา แล้วสวนมะม่วงเรา เราเด็ดของเราเองได้ไหม” “ได้ครับ” เห็นไหม

เวลาแสดงธรรมนะ ถ้าคนมีปัญญามันพูดให้เขาเห็นภาพได้นะ พอเห็นภาพปั๊บ พวกคฤหัสถ์ พุทธบริษัท ๔ เขาก็ยอมรับ พอยอมรับพระพุทธเจ้าก็แสดงฤทธิ์ พวกนั้นก็พ่ายแพ้ไป

เวลาคนมันหยาบ มันต้องแสดงกันด้วยฤทธิ์ เวลาคนมันละเอียดมันต้องแสดงกันด้วยปัญญา เราใช้ปัญญาเข้าไปในหัวใจของเขา เสนอเข้าไป ความสงบเข้าไปจากภายในของเขา ให้เขาเกิดปัญญาชำระกิเลสของเขา แล้วเขาจะซึ้งใจมาก เห็นไหม เราให้อาหารเขา กับเราสอนให้เขาทำอาหาร ถ้าเขาทำอาหารเป็นนะ เขาจะรักษาชีวิตของเขาได้ เขาจะดำรงชีวิตของเขาได้

เราให้อาหารเขาแต่ละมื้อๆ เราต้องให้เขานะ เขาต้องมานั่งรอรับอาหารจากเรานะ แต่ถ้าวันไหนเราสอนให้เขาทำอาหารได้ เขาหาอาหารกินเองเป็น เขาจะดำรงชีวิตของเขาได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าธรรมที่เขาเกิดขึ้นมาจากครูบาอาจารย์ จากเราที่เราประสิทธิ์ประสาทให้ ทำไมมันจะไม่ลงใจ ใจมันลงทั้งนั้นนะ สิ่งที่ลงอย่างนี้ สังคมของเรา สังคมของศาสนานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ให้เรา เราเป็นอนุชนรุ่นหลัง กึ่งพุทธกาลศาสนาเจริญ ก็เจริญในใจของครูบาอาจารย์ของเรามาก่อน แล้วครูบาอาจารย์ถ้ามันจะเจริญในใจของครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ต้องสมบุกสมบันมา ไม่ใช่นอนหลับตื่นขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์หรอก ถ้านอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาเป็นพระอรหันต์นะ มันฝันไป ถ้าฝันอย่างนั้นนะ ใครก็เข้าข้างตัวเองเห็นไหม

แต่การจะเป็นพระอรหันต์ การจะเป็นพระอริยบุคคล ขึ้นมาแต่ละชั้นแต่ละตอนมันต้องต่อสู้กับตนเอง ต่อสู้กับกิเลสนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเอาแค่ใจของเราให้สงบ นี่ก็ทุกข์ขนาดไหน แล้วทุกข์นะ เพราะมันเป็นของดิบๆ แล้วจะให้มันสุกขึ้นมาเห็นไหม ให้มันออกประกอบเป็นอาหารขึ้นมา ให้มันออกประกอบเป็นปัญญาขึ้นมา มันยิ่งทุกข์ยากมาก ทุกข์ยากเพราะอะไร? เพราะคนเราสร้างมาไม่เหมือนกัน

ดูสิ คนมีเงินมากนะ วัตถุสินค้าจะมีขนาดไหน ก็ซื้อได้นะ คนเรามีเงินน้อย ของมันแพงกว่า กว่าจะได้มาแต่ละชิ้น ต้องผ่อนนะ จะต้องผ่อน ต้องดูแลรักษา ต้องทุกอย่างเลย นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาของเรา จริตนิสัยของเรา ถ้าคนมีเชาว์ปัญญา เขาคิดของเขาได้ เขามีปัญญาของเขา เขาแยกแยะของเขาได้ อะไรควร อะไรไม่ควร ไอ้ของเรานะ มึนตื้อเลย มึนงงไปหมด ควรไม่ควรอย่างไร แต่ก็ต้องฝึกนะ ฝึกขึ้นมา ยิ่งการประพฤติปฏิบัตินะ “ให้ทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง”

ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมานะ สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นมาชำระกิเลสของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมามันเกิดจากการปฏิบัตินะ การปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติมาเพื่อเรานะ สิ่งที่ปฏิบัติเพื่อเรา แต่เราก็ต้องอยู่ในหมู่คณะ เวลาเราอยู่คนเดียวเราก็ต้องปฏิบัติของเราคนเดียว เวลาเราอยู่ในหมู่ชน เราก็ต้องปฏิบัติในหมู่ชน การประพฤติปฏิบัติเราปล่อยวางไม่ได้

การปล่อยวางนะ ดูสิ เราถากหญ้าเห็นไหม ถ้าเราปล่อยไว้เดี๋ยวหญ้าจะขึ้นเต็มไปหมดเลย กิเลสก็เหมือนกันเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ตัดป่า แต่ไม่ได้ถางต้นไม้เลย” ป่ารกชัฏในใจนะ เราปล่อยไม่ได้ อยู่ผู้เดียวเราก็ต้องปฏิบัติของเรา อยู่ในหมู่คณะเราก็ต้องปฏิบัติของเรา แล้วเราจะปฏิบัติอะไรถ้าไม่มีธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง ถ้าธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง เราเคารพธรรมวินัยกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานมาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี เรายังกราบได้ เรายังพอใจเคารพศรัทธา แล้วนี่ดูสิ มรรค ผล นิพพาน หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านรื้อค้นมานะ ครูบาอาจารย์ท่านเห็นพวกเราแล้วท่านหัวเราะเยาะนะ เพราะในสมัยครูบาอาจารย์เรานะ ไม่สุขสบายขนาดนี้หรอก ไปไหนนะไม่มีใครให้ความร่วมมือทั้งนั้นเลย มีแต่แรงต่อต้าน มีแต่สิ่งต่างๆ ที่เขาไม่ยอมรับกัน

แต่ก็ทนทำทนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนเดี๋ยวนี้ปัจจัยเครื่องอาศัยของเรานะ เรามีหลักมีเกณฑ์นะ เรามีครูบาอาจารย์เห็นไหม เรามีหนังสือ เรามีเทป เรามีธรรมะของครูบาอาจารย์ให้มาปฏิบัตินะ แต่หลวงปู่มั่นท่านไม่ได้ฟังจากใคร มีแต่พระไตรปิฎกไปรื้อค้นขึ้นมามีแต่ความลังเลสงสัย เห็นไหม เรามีโอกาสมากแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นมาเพราะสังคมมันมากขึ้น สังคมมันเสื่อมถอย ถ้าสังคมมันเสื่อมถอย ความประสบการณ์ของเรา เราเข้ามาได้ขนาดนี้ เราเป็นผู้ชนะ ๓ เดือนนี้ผ่านไป สิ่งที่กระทบกระเทือนมาในหัวใจมันเป็นบทเรียน ถ้าบทเรียนเกิดจากเราแล้ว เราควรเก็บไว้ แล้วจะไม่ไปทำกับใคร เราพูดบ่อยนะ

สิ่งที่เกิดขึ้น เราโดนมามากกว่าหมู่คณะอีก เพราะสมัยเราออกธุดงค์ เราไปองค์เดียว แล้วเราไปองค์เดียวน่ะ ดูสิ ดูหน้าตาเราสิ เห็นไหม มันไม่เข้ากับเขา มันไม่เป็นไปตามโลกไง แล้วไปอยู่ที่ไหนมันเป็นคนจริงด้วย

ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราถือธรรมวินัยด้วยความเป็นจริง มันจะมีแรงเสียดสี เราทนเรื่องอย่างนี้มาเยอะมาก ฉะนั้นเวลาเกิดขึ้นมา จะบอกว่า สังคมของเรามีเท่านี้นะ ประเทศไทยมันเล็กมากแคบมาก ในสังคมในกรรมฐานเรายิ่งแคบเข้าไปใหญ่

ถ้าในสังคมกรรมฐาน เราจะคบกันไว้เป็นหมู่คณะไหม เราจะเอาไว้เวลาเรามีการพึ่งพิงกัน ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วให้เป็นบทเรียน แล้วผู้ที่ทำแล้วไปบาดหมางเขา ต้องคิดว่าสิ่งนี้ทำแล้วบาดหมางคนอื่น สิ่งที่เราเห็นว่าทำแล้วกระเทือนใจเรา ให้เป็นบทเรียนว่า “เราจะไม่ไปทำกับคนอื่น” จำคำนี้ไว้นะ!! โตขึ้นมาแล้วอย่าไปทำกับใครนะ

เห็นขี้บนหัวคนอื่นเห็นได้ตลอด แต่ขี้บนหัวตัวเราจะไม่เห็นนะ กิเลสถ้าเรายังไม่เป็นผู้นำ ยังไม่เป็นผู้รับผิดชอบ ยังไม่รับรู้สิ่งนี้ ถ้าเราเป็นผู้นำ เราเป็นผู้รับผิดชอบนะ มันรับผิดชอบมันตัดสินใจ ขี้บนหัวเราไง ขี้บนหัวเรานะ สิ่งนี้มันเป็นประสบการณ์ นี่เป็นเรื่องเปลือกๆ ทั้งนั้น เพราะการแสวงหาที่ควรประพฤติปฏิบัติในวิสุทธิมรรค เห็นไหม

การหลงธุดงค์ไป อย่าไปในที่วัดสร้างใหม่ เพราะมีการก่อสร้าง การก่อสร้างความเห็นต่างๆ กันมันต้องกระทบกระเทือนกันเป็นธรรมชาติ เห็นไหม อย่าไปในต้นไม้ที่มีผล เพราะมันมีนกกามากินอาหารนั้น มันก็มีเสียงหนวกหู เวลาเราจะไปที่ไหน เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ นั่นในวิสุทธิมรรคนะ

แต่ในปัจจุบัน แต่เดิมในสมัยก่อนนี้ มันมีป่าเขาอุดมสมบูรณ์ไง เดี๋ยวนี้ป่าเขามันเป็นป่าเขาที่มีเจ้าของ มีผู้ถือผู้ดูแล เราจะประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องมีคนรู้จักมีอะไรนะ สิ่งนี้เรารักษาของเราไว้ รักษาของเราไว้นะ เพื่อศาสนา เพื่อความเป็นไป

วันนี้วันปวารณา ถ้าการปวารณาโดยกิเลส มันปวารณาโดยสักแต่ว่า เป็นประเพณี แต่ถ้าเป็นวันปวารณาโดยหัวใจ สิ่งที่บาดหมางกัน สิ่งที่กระทบกระเทือนกัน เลิกแล้วต่อกัน ให้อภัยต่อกันนะ ถ้าให้อภัยต่อกันสิ่งนี้มันเหมือนปลงอาบัติไง ให้อภัยต่อกันไปแล้วก็แล้วกันไป

แล้วสิ่งที่เราจะทำใจของเราได้หรือไม่ได้ อนาคตเราทำของเราเพื่อไม่ให้มีเวรมีกรรมต่อกัน “เวร...ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ถ้าเราระงับด้วยการไม่จองเวรเห็นไหม เราเป็นผู้ชนะไง ๓ เดือนนี้เราชนะแล้วนะ เราชนะด้วยเราอยู่ครบเวลา แล้วเรายังจะชนะใจเราต่อไป ชนะที่ไม่ให้ไปอาฆาตบาดหมางต่อใครทั้งสิ้น ให้อภัยกันให้หมด

แล้วหัวใจของเรา เรารักษาหัวใจของเรา การประพฤติปฏิบัติการประสบมา มันเหมือนกับเราได้บ่มเพาะใจเรา ใจเรามีอะไรกระทบกระเทือนเราก็เก็บไว้ในใจ เก็บไว้ในใจ ทุกคนโดนมานะ หลวงปู่มั่นโดนมากกว่านี้ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ในโลกธรรม ๘ จะไม่มีใครโดนแรงเสียดทานเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านเล่านะ หลวงปู่มั่นไปอยู่ที่ไหน เห็นไหม เขาจับเขาตรวจเขาสอบมาตลอดนะ แล้วท่านก็ทำของท่าน ท่านก็ธุดงค์ของท่านไป จนเป็นที่ยอมรับของสังคม แล้วในปัจจุบันนี้ ของอย่างนี้มันเป็นของเล็กน้อย ถ้าเทียบกับครูบาอาจารย์ที่ท่านโดนแรงเสียดสีมา

แรงเสียดสี สังคมจากที่ไม่มีใครเป็นผู้นำเลย สังคมทั้งสังคมไม่ยอมรับเลยนะ แต่นี่สังคมยอมรับแล้ว แต่เพราะสังคมยอมรับแล้ว ก็เอาสังคมเป็นตัวตั้ง เราถึงเอากฎกติกาของสังคมนั้นมา แล้วถึงทำผิดหมดไง เราถึงต้องเอาธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง เราจะไม่ให้สังคมมาเป็นใหญ่

วัดกับบ้านไม่เหมือนกัน วัดคือวัดไง บ้านคือบ้าน แล้วเราทำของเรา ถ้าครูบาอาจารย์ของเรามีหลักมีเกณฑ์ ท่านจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าครูบาอาจารย์ไม่มีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม โคนำฝูง ถ้าโคดีจะนำฝูงโคนั้นขึ้นจากน้ำสู่ฝั่ง ถ้าโคเป็นผู้ที่ไม่ฉลาดเห็นไหม จะนำฝูงโคจากฝั่งออกสู่น้ำ แล้วจะตายกันหมดนะ

สิ่งนี้คืออำนาจวาสนา เราเกิดมาเจอหลวงปู่มั่น เห็นไหม เจอหลวงปู่มั่นที่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมา เราฟังจากลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เพราะเราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นรื้อค้นบากบั่นนะ แล้วเราประพฤติปฏิบัติมา รื้อค้นบากบั่นเกิดจากความจริงจากใจ แต่ทางโลกเขารื้อค้นบากบั่นจากตำรา แล้วก็ท่องจำกันอย่างนั้น ตีความกันออกนอกลู่นอกทาง จะจูงฝูงโคนั้นลงสู่น้ำ แต่ครูบาอาจารย์เราจะจูงฝูงโคนั้นจากน้ำสู่ฝั่ง เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติต่างกันอย่างนี้ เราถึงเรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาให้เป็นประสบการณ์ของใจ ให้ปวารณา ให้อภัยต่อกันจากหัวใจ...เอวัง