เทศน์พระ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันอุโบสถ อุโบสถ เวลาในพรรษา อุโบสถก็เป็นอย่างหนึ่ง เพราะในพรรษาไง ในพรรษา เราจะหาที่จำพรรษา เรามาเริ่มต้นไง จุดสตาร์ท เวลาออกพรรษาแล้วถึงเส้นชัย ถึงเส้นชัยแล้ว ใครจะได้สิ่งใดติดกำมือไป ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ นี่แหละมันมาแต่เหตุ เหตุคือการกระทำ การกระทำจากภายนอกนะ การกระทำมันกระทำจากภายนอกทั้งนั้นน่ะ แต่เหตุจากภายใน เหตุจากหัวใจ เหตุจากการกระทำของใจ ใจมันกระทำนะ ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ เราต้องยอมรับหมด เพราะเราเป็นคนทำเอง สิ่งที่เราทำเอง ศาสนาพุทธมันสำคัญตรงนี้ สำคัญที่ว่า สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา ถ้าทำสิ่งต่างๆ ที่เรากระทำแล้ว สิ่งใดที่ทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย เกิดมาจากไหนล่ะ? เกิดมาจากเพราะเราขาดสตินะ ถ้าเรามีสติ การกระทำของเราทุกอย่างมันจะไม่มีความผิดพลาด หรือถ้ามีผิดพลาดก็ผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะเรามีสติ การกระทำของเรามีสติตลอด
วัฏฏะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะเวียนตายเวียนเกิด เวียนไปเวียนมา ไม่มีสิ่งใดที่คงที่ มันจะแปรสภาพของมันตลอดไป สิ่งที่แปรสภาพ เห็นไหม สิ่งที่แปรสภาพมันเป็นสมมุติ สิ่งที่เป็นสมมุติมันแปรสภาพไป สิ่งที่เป็นวิมุตติมันไม่แปรสภาพนะ นี่สิ่งที่เป็นวิมุตติ
ดูสิ ความรู้สึกของเราไม่แปรสภาพ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่แปรสภาพ แต่ความรู้สึกว่าทุกข์หรือสุขมันแปรสภาพ สิ่งที่รู้ทุกข์รู้สุข ความแปรสภาพอย่างนี้มันเกิดดับ แต่ธรรมชาติที่รู้ ธรรมชาติที่รับรู้เฉยๆ พลังงานเฉยๆ ตัวนั้นไม่แปรสภาพ ตัวพลังงานเฉยๆ ยังเป็นอวิชชาเลย เพราะอะไร เพราะว่า จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส แต่จิตเดิมแท้ คนที่มองเห็นจิตเดิมแท้เห็นโดยสมมุตินะ เห็นโดยสมมุติคือเวลาจิตมันสงบขึ้นมา เห็นความสว่าง สว่างกี่รอบ สว่างกี่หน? สว่างได้ล้านๆๆ หน เพราะอะไร เพราะการทำสมาธินี้ทำได้ตลอดไป
เวลาทำสมาธิ ถ้าคนที่จิตมันมีความสงบ จิตที่มันมีความสว่าง จิตที่คนทำความสงบแต่ไม่สว่างก็มี มันสงบเฉยๆ สงบที่ตัวพลังงานเฉยๆ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันสว่าง สิ่งที่สว่าง เพราะสิ่งที่เป็นความสงบมันก็เป็นสมมุตินะ เวลามันฟุ้งซ่านมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เวลาสงบมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง
แต่ถ้ามันเกิดมรรคญาณขึ้นมา มันทำความสะอาดของใจขึ้นมา สิ่งที่จิตเดิมแท้โดยพระอนาคามีนั้นอันหนึ่ง จิตเดิมแท้ของที่เราไปรู้ รู้โดยไม่รู้ตัว ถ้าเป็นสมาธิไม่รู้ตัว เพราะมันสว่างขึ้นไป ยังมาถาม ไอ้สว่างๆ นั้นคืออะไร สิ่งที่เห็น สิ่งที่สัมผัสนั้นคืออะไร เพราะอะไร เพราะมันไม่รู้
แต่ถ้ามันเป็นอนาคามิมรรคนะ สิ่งที่มันเป็นไป มันจับต้องได้ เหมือนเราเลย เราเป็นคนนับเงินของเรา เราจะต้องไปถามคนอื่นไหมว่าเรานับเงินมาเท่าไร แต่ถ้าเรานับโดยที่เราไม่รู้เรื่อง เรานับของเราไปเรื่อย แต่เราไม่รู้ว่าเป็นเงินหรือไม่เป็นเงินนะ เราไม่รู้เรื่อง สิ่งที่ไม่รู้เรื่องไม่ใช่ของเรา เรานับโดยที่เราไม่รู้เรื่อง แล้วมันจะเป็นของเราได้อย่างไร เพราะมันนับโดยความไม่รู้ไง นี่อวิชชา
แต่ถ้ามันรู้โดยวิชชานะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส มันเห็นนะ เห็นการกระทำของเราแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นไป แต่นี่การกระทำของเรานะ ถ้าเรากระทำอย่างนี้
เวลาออกพรรษาแล้ว การลงอุโบสถของเรา ลงอุโบสถเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังฆะ ของสังคมของเราไง ความสะอาดบริสุทธิ์นะ ถ้าสิ่งใดเป็นภาชนะที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ภาชนะนั้นจะใส่อาหาร ภาชนะนั้นจะเก็บของสิ่งใดที่มีคุณค่า จะมีประโยชน์มาก แต่ถ้าภาชนะนั้นไม่สะอาด เราถึงต้องลงอุโบสถตลอดไป สิ่งที่ลงอุโบสถ เราลงอุโบสถเป็นสังฆะนะ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าความสะอาดบริสุทธิ์ เวลาลงอุโบสถเป็นสังฆกรรม มันก็เป็นวินัยกรรม มันเป็นศีลอันหนึ่ง แต่ขณะที่เรามีศีลของเราในความเป็นปกติของใจ นี่ไง เราจะลงอุโบสถ จิตเราจะเป็นอุโบสถตลอดเวลา จิตเราจะมีหลักมีเกณฑ์ตลอดเวลานะ ถ้าจิตของเรามีหลักมีเกณฑ์ เราจะรู้ทันตัวเราเอง เราจะควบคุมตัวเราเองได้ สิ่งที่เราควบคุมตัวเองได้นะ
ดูสิ เห็นเครื่องยนต์ไหม เครื่องยนต์เวลามันไม่ได้ติดเครื่องมันก็เป็นเครื่องยนต์ปกติ เวลาเครื่องยนต์ที่มันติดเครื่องขึ้นมา ในเครื่องยนต์นั้นมันจะมีพลังงานของมัน นี่แรงงานปฐม แรงงานปฐมนี้มันจะเอาไปใช้กับเครื่องยนต์กลไกอะไร มันจะผลิตสินค้า ผลิตวัตถุออกมาต่างๆ มันจะผลิตออกมาเป็นประโยชน์กับโลก
นี่ก็เหมือนกัน คนที่มีชีวิตนะ การแสดงออกของกิริยา สิ่งที่เป็นกิริยา เราเฉยๆ อยู่ นี่เครื่องยนต์ที่มันไม่ได้ติดเครื่องมันก็อยู่ในสภาพของมัน แต่ขณะติดเครื่องมันจะมีกิริยาของมัน มู่เล่ย์ เพลาต่างๆ มันต้องทำงาน เฟืองต่างๆ มันต้องหมุนไป
นี่ก็เหมือนกัน กิริยานะ สอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ กับ พระอรหันต์ที่ตายแล้วไง พระอรหันต์มีชีวิตอยู่นะ สิ่งที่ธาตุขันธ์ ขันธ์ ๕ ไง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ สิ่งนี้มันเป็นขันธมาร ขันธ์นี้ไม่เป็นอิสระหรอก ขันธ์นี้มันมีมารเป็นเจ้าของ มันมีความยึดมั่นถือมั่น มันมีความจงใจของมัน มันยึดของมันนะ แล้วมันก็ทุกข์ของมัน ยึดเพราะอะไร ยึดเพราะมันไม่รู้ พอยึดเพราะไม่รู้ปั๊บ ยึดสิ่งที่มันเป็นอากาศธาตุ มันจะเป็นไปไม่ได้หรอก ทั้งๆ ที่ธาตุ ๔ มันเป็นวัตถุที่จับต้องได้ คำว่า เป็นอากาศธาตุ คือมันไม่อยู่ในอำนาจของใคร เหมือนอากาศเลย ดูสิ เวลาลมพัด อากาศมันแปรปรวนตลอดไป
นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน ถ้าตายลงแล้ว วางไว้เฉยๆ มันย่อยสลายของมันไปเอง มันอยู่ของมันไม่ได้หรอก มันจะย่อยสลายกลับสู่ธรรมชาติเดิมของมัน แล้วสิ่งนี้จิตมันไปยึด จิตมันไม่รู้ว่าเป็นความจริง มันไปยึดของมัน มันต้องการที่อยู่ไง
คนเรา ถ้าคนเร่ร่อน คนไม่มีบ้าน มันอยากมีบ้านสักหลังหนึ่ง ดูสิ ครอบครัวใหม่นะ เวลาเขาสร้างครอบครัวใหม่เขาต้องมีบ้าน ซื้อบ้านหลังแรก ซื้อเครื่องยนต์กลไกของเขาเข้าไปในบ้านของเขาเพื่อความเป็นอยู่สุขสบายของเขา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ เลย เราพยายามยึดว่าเป็นของเรานะ จะไม่มีอะไรเป็นของเราได้เลย มันยิ่งเร่ร่อนสองชั้นสามชั้นนะ คนไม่มีบ้านเขาอาศัยสวนสาธารณะนอน เขายังมีที่นอน แต่นี่ของเราจิตเร่ร่อน จิตที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์มันไม่มีที่อยู่ แล้วมันก็เร่ร่อนอยู่ในวัฏฏะ แล้วมันก็เร่ร่อนอยู่ในอารมณ์ความรู้สึก แล้วมันก็จะเร่ร่อนอยู่ตลอดไป แล้วมันก็หาที่อยู่ไม่ได้ แล้วมันยึดนะ ฟังสิ สิ่งที่มันยึดมันไม่มีแก่นสาร แล้วมันยึดของมันนะ แต่สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ ท่านก็มีชีวิตของท่าน ไม่ยึดหรอก มันเป็นภาระ มันเป็นหน้าที่ เพราะรู้เท่าตามความเป็นจริง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์
กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะกายก็อยู่ตามสภาพของมัน ซากศพมันอยู่ของมัน มันไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีแต่ตัวหนอน พวกหนอนต่างๆ มันไปเจาะไปไช มันคิดว่าเป็นของมันนะ ก็ไม่ใช่ของมัน เพราะไข่แมลงวัน เกิดหนอน ไข่แมลงวันต่างๆ มันไปฟักตัวอยู่ในซากศพนั้น แล้วมันกินซากศพนั้นเป็นอาหาร มันก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ มันก็ต้องเกิดต้องตายไปกับซากศพนั้นเหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันยึดไม่ได้ ซากศพนี้มันยึดไม่ได้ สิ่งที่มันแปรสภาพไปยึดไม่ได้ แต่ใจมันไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ มันไปยึดสภาวะว่านี่เป็นของมัน ถ้ายึดสภาวะนี้แล้วใครเป็นคนยึดล่ะ นี่มันไม่จริงไง ไม่จริงเพราะจิตไปยึด
แต่ถ้าจิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตเป็นจิต ฟังสิ ความรู้สึกมันเป็นอันหนึ่ง ร่างกายมันเป็นอันหนึ่ง แล้วอุปาทานการยึดมั่นถือมั่นมันไม่มี ถ้าการยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ไม่มี มันเป็นอิสระของมันนะ แต่เรื่องกิริยาอาการมันเป็นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติอย่างนี้ ดูสิ เวลาเราไปหาครูบาอาจารย์กัน เขาหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง เขาไปหาครูบาอาจารย์ เห็นไหม เหมือนโค้ชเลย โค้ชนะ ดูสิ ดูฟุตบอล ในตะวันตกเขาจ้างโค้ชหลายๆ พันล้าน เพราะอะไร เพราะเขาต้องการคนวางแผน ต้องการคนรู้จริง ต้องการคนที่วางแผน แล้วให้อ่านเกมของฝ่ายตรงข้ามออก ถ้าอ่านเกมของฝ่ายตรงข้ามออกแล้วเราแก้เกมเขาได้ เราจะเป็นฝ่ายชนะ เราจะได้ผลประโยชน์
เราเป็นนักกีฬา เราพยายามหาครูบาอาจารย์ เราก็ต้องหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แต่การที่รู้จริง การรู้จริงกับเรามันต่างกัน มันต่างกันเพราะอะไร เพราะความรู้ของเรานะ เรารู้ว่าทำอย่างนี้ก็น่าจะเป็นฝ่ายชนะแล้ว ทำอย่างนี้มันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว
แล้วนักกีฬาคนไหนก็แล้วแต่นะ เบื่อหน่ายกับการฝึกซ้อมมาก ถ้าไม่ได้ลงแข่ง ถ้าไม่มีชื่อติดในทีมก็เสียใจมากว่า เรานี้มีความสามารถมาก แต่โค้ชไม่เห็นความสำคัญของเราเลย ทำไมไม่เอาเราลงแข่งขันล่ะ แต่โค้ชเขาอ่านเกมแล้วนะ ถ้าเอาอย่างนี้ลงไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ แล้วอาจทำให้เสียทั้งทีมด้วย ทำให้มีความเสียหายด้วย เขาถึงไม่เอาลงแข่งใช่ไหม เพราะเขารู้ของเขา เขาเป็นคนรับผิดชอบของเขา นี่เป็นโค้ชในเรื่องของกิเลสกันทั้งนั้นน่ะ เรื่องของผลประโยชน์กันทั้งนั้นน่ะ
แต่ครูบาอาจารย์ของเรา พ่อแม่ครูจารย์ ไม่มีสิ่งใดหวังผลประโยชน์จากพวกเราเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นสมมุติ
โมฆบุรุษนะ ถ้าเป็นโมฆบุรุษหวังในลาภหวังในสักการะ ในโลกธรรม ๘ มันเป็นบ่วงของมาร มันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร โมฆบุรุษตายเพราะลาภ เห็นลาภนะ ชื่อเสียงสรรเสริญ สักการะ ดูสิ เขาเอาอาหารมาถวายตอนเช้าเป็นหาบเป็นคันรถๆ เลยนะ แต่ถ้าเขาไม่เคารพนบนอบก็กินของเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่ยอมลงเราไง นี่สักการะ
ลาภคือสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นวัตถุ สักการะคือการยอมรับ แล้วทำไมต้องการให้เขายอมรับล่ะ เขามาหาเรานะ กิเลสของเขาก็มี ถ้าเรามีกิเลสนะ กิเลสของเราก็มี แล้วมันจะมายอมรับกันทำไม สิ่งที่เขาทำของเขามันเป็นประโยชน์ของเขา สิ่งที่เราทำหน้าที่ของเราเป็นประโยชน์ของเรา ถ้าเป็นประโยชน์ของเรา สักการะมันจะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญเลย ถ้าเรารู้ทันนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เราอยากให้สักการะ เราไปซื้อหุ่นยนต์มาทำให้มันกราบไหว้เราทั้งวันก็ได้ ทำไมเราไม่ยอมล่ะ
มันต้องการให้จิตไง ต้องการได้การยอมรับจากคนอื่น ถ้าเป็นโมฆบุรุษมันจะเห็นสิ่งนี้เป็นผลประโยชน์ แล้วถ้าพูดถึงผลประโยชน์ การแสดงธรรมโดยหวังลาภ การแสดงธรรมโดยหวังความยอมรับของเขา ไร้ประโยชน์
การแสดงธรรมมันต้องแสดงธรรมจี้เข้าไปในหัวใจของเขา เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันอยู่ที่ใจดำ ใครมีอะไรซ่อนไว้ในใจ ครูบาอาจารย์ต้องเทศนาว่าการเข้าไปรื้อตรงนั้น เข้าไปทำลายตรงนั้น เข้าไปทำลายสิ่งที่มันซ่อนเร้นในใจนั้นน่ะ สิ่งที่ซ่อนเร้นไว้ในใจนั้นคืออะไร สิ่งที่ซ่อนเร้นในใจคือกิเลสใช่ไหม ทางโลกเขาทำกันไม่ได้นะ ทางโลกโดยมารยาทสังคมเขาต้องอะลุ่มอล่วย ต้องเป็นสิ่งที่ว่าพยายามเป็นมารยาทสังคม จะพูดให้เจ็บเหน็บแนมกันไม่ได้
ในศีลนะ พูดกระทบกระเทือนกัน พูดส่อเสียด พูดอย่างนี้พูดด้วยกิเลสถากกิเลสไง แต่ถ้าเป็นธรรมนะ มันไม่ได้พูดส่อเสียด มันเป็นการชี้ขุมทรัพย์ สิ่งที่ขุมทรัพย์ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เวลาเราลังเลสงสัย เวลาเราเข้าไปเห็นการกระทำ เวลาปัญญามันก้าวเดินไป เราต้องการคนชี้นำ
หลวงตาท่านบอกว่าขณะที่ท่านจับจุดและต่อมของจิตได้ ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ กิเลสจะขาดเลย แต่เพราะหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว จะต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง จะไปหาใคร เวลาท่านรำพันเวลาหลวงปู่มั่นเสียไปแล้วนะ เรา กิเลสมันยังมีอยู่ เหมือนพระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เสียใจ ร้องไห้ พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน หลวงตาตอนหลวงปู่มั่นท่านนิพพาน หลวงตาเป็นพระอนาคามี กำลังเดินอรหัตตมรรค เพราะจับจุดและต่อมได้ การที่จับจุดและต่อมได้ นั่นน่ะอรหัตตมรรค
พระอนาคามี ครูบาอาจารย์ล่วงไปแล้วนะ นั่งน้ำตาไหลพรากทั้งวันๆ เลย เหมือนกับสัตว์ไม่มีเจ้าของ ต่อไปนี้จะไปถามหาใคร แล้วคนอย่างเรารู้อยู่ว่าถ้าคนพูดไม่มีเหตุไม่มีผล มันไม่ฟัง แล้วจะฟังใคร จะก้าวเดินขึ้นมาได้เพราะครูบาอาจารย์เป่ากระหม่อมมา ครูบาอาจารย์ท่านพยายามประคับประคองมา ท่านพยายามจูงหัวใจมา ไม่ได้จูงร่างกายนะ จูงหัวใจ จูงหัวใจมันคือความคิด ความคิดนะ ความเห็น ความดำริ ความคิดในหัวใจ แล้วท่านคอยชี้นำมา คอยประคองมา ใช้โอวาท ใช้อุบาย การประคองประคบประหงมมา
สิ่งที่ประคบประหงมมานะ เวลาโต้เถียง โต้เถียงด้วยความเห็นผิด เพราะเราเห็นผิด แต่โต้เถียงนี้โต้เถียงเพื่อความถูกต้อง เพื่อความสมาน เพื่อการหาข้อเท็จจริงถึงต้องโต้เถียง การโต้เถียง การหาเหตุหาผลกัน อันนี้เป็น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถ้าเราโต้เถียงกัน เราหาด้วยเหตุด้วยผล นักเหตุผล นักธรรมะ เขาจะฟังเหตุฟังผล จะไม่เอาสีข้างเข้าถู จะไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าโต้แย้งกัน การพูดรุนแรง การพูดนุ่มนวล อันนี้เป็นจริตนิสัย
การพูดรุนแรง การพูดนุ่มนวล แต่มีเหตุมีผล รับฟังเหตุฟังผลของกัน อันนั้นเป็นธรรม คนโทสจริต กิริยามันจะออกมาด้วยความรุนแรง คนโมหจริต คนราคจริต การแสดงออกมาแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เห็นไหม
การชักจูงใจ การประคบประหงม การประคองหัวใจ ครูบาอาจารย์สำคัญอย่างนั้นนะ แล้วถ้าครูบาอาจารย์สำคัญอย่างนั้น เวลาเทศนาว่าการจี้เข้ามาในหัวใจของเรา หัวใจของเรานะ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายมาแต่ใจทั้งสิ้น การกระทำของเราเกิดมาจากใจของเรา ถ้าใจมันสะอาด ใจมันบริสุทธิ์ เราทำเพื่อหมู่คณะ เราทำเพื่อสังคม ดูสิ เวลาเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น พระโพธิสัตว์จะเป็นหัวหน้า จะพาหมู่พาคณะหลบภัย มีสิ่งใดเกิดขึ้นจะออกรับทั้งหมดเลย แล้วให้หมู่ให้คณะหลบภัยไป ให้หลบให้หลีกให้พ้นจากอันตรายนั้นไป นี่หัวหน้าเป็นผู้เสียสละ หัวหน้าเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด หัวหน้าต้องรับผิดชอบ ไม่ปัดภาระให้บุคคลคนอื่น ถ้าปัดให้บุคคลคนอื่น เป็นหัวหน้าทำไม ทำไมอยากเป็นพระโพธิสัตว์ ทำไมอยากเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละชีวิตมาตลอดนะ สิ่งที่เรารับผิดชอบ การกระทำอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของหัวหน้า หัวหน้ารับผิดชอบ หัวหน้าดูแลรักษา แล้วถ้าหัวหน้ามีคุณธรรม สิ่งนี้จะมีความร่มเย็นเป็นสุข
แล้วเราเหมือนเด็กๆ เด็กๆ มันเรียกร้องตามความพอใจของมัน เด็กๆ มันไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย เด็กๆ แสดงออกโดยความไร้เดียงสา สิ่งที่ไร้เดียงสา กิเลสมันไร้เดียงสาใช่ไหม มันต้องการ มันเรียกร้อง มันก็เรียกร้องไปตามประสามัน มันไม่รู้ ไม่มีเหตุมีผล แล้วหัวหน้าเป็นผู้ใหญ่ เราจะประคบประหงมอย่างไร
ครูบาอาจารย์ท่านตั้งแต่เด็กนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ตอนไปหาหลวงปู่มั่นทีแรก จิตมันเสื่อม จิตมันเป็นสมาธิแล้วเสื่อม แล้วไปหาหลวงปู่มั่น โอ้! เหมือนเด็กๆ เนาะ เด็กๆ มันไปเที่ยวเล่น มันเพลิน เด็กๆ มันต้องกินอาหาร ไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องไปสนใจนะ กำหนดพุทโธๆ ไว้ ประเดี๋ยวมันหิวขึ้นมามันก็ต้องกลับมาเอง
จิตมันกินอารมณ์ความรู้สึก แล้วถ้าเรากำหนดพุทโธๆ นี่เป็นอาหารของมัน แล้วสิ่งที่จิตมันออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก อารมณ์ของโลกๆ ถ้ามันออกไปแล้วมันหิวอาหารของมัน เดี๋ยวมันกลับมาเอง ท่านพูดเอง หลวงตาท่านบอกว่าสอนเหมือนเด็กๆ เหมือนเด็กๆ ต่อเมื่อตัวเองพัฒนาขึ้นไปแล้ว แล้วตัวเองหันกลับมามองความรู้สึกขณะนั้นไง มันไร้เดียงสา การภาวนาแบบไร้เดียงสาเลย ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ยืนก็ไม่เป็น คลานก็ไม่เป็น แม้แต่ลุกนั่งก็ไม่เป็น นอนแบเบาะอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วทำจิตให้มันสงบเข้ามา มันเพิ่งหัดตั้งไข่ หัดยืนหัดนั่ง สิ่งที่หัดยืนหัดนั่งแล้วมันเสื่อมไป มันยืนไม่ได้ แล้วจะสอนโดยเอาเทคนิคอย่างคุณธรรมมาสอน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็สอนให้เด็กนี้ยืนขึ้นมาได้ ถ้าจิตมันพัฒนาการของมันขึ้นมา มันจะกราบนะ กราบครูบาอาจารย์แบบซึ้งใจมาก
เราผิดพลาดไป เราไม่รู้สิ่งใดเลย เข็มทิศชี้ลงใต้ แล้วก็บอกว่า นี่เข็มทิศๆ แล้วลงไปทางใต้กัน เข็มทิศมันชี้ขึ้นเหนือ แต่เข็มทิศเรามันชี้ลงใต้ เพราะเป็นเข็มทิศของกิเลส กิเลสมันชี้เรื่องโลกไง โลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่ มารยาทสังคมเป็นใหญ่ ทุกอย่างต้องเป็นคุณธรรมหมด ทุกอย่างเขาเรียกคุณงามความดีหมด โอ้โลมปฏิโลมกันอย่างนั้นมันเป็นเรื่องโลกๆ มันไม่เป็นธรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าท่านเป็นเหมือนช่างหม้อ ช่างหม้อจะปั้นหม้อต้องนวดดินให้ดี
แล้วนี่ดินก็นวดมันไม่ได้ เดี๋ยวดินมันเจ็บ น้ำก็ไปแช่ดินไม่ได้ เดี๋ยวดินมันร่วน จะทำอะไรไม่ได้ไปเลยนะ กิเลสมันไม่ยอมรับทั้งสิ้น มันปฏิเสธหมดเลย แล้วถ้ามันปฏิเสธอย่างนั้น แล้วมันจะเห็นธรรมได้อย่างไร มันเป็นเรื่องโลกๆ ถึงบอกว่า นี่เป็นธรรมะ กิริยามารยาทสังคม ใช่ กิริยามารยาทสังคมส่วนกิริยามารยาทสังคมสิ แต่ข้อเท็จจริงนั้น เพราะมันเป็นยาพิษเคลือบน้ำตาล เรื่องของโลกๆ มันเป็นยาพิษเคลือบน้ำตาล โอ้โลมปฏิโลมกันไปนะ แล้วจะขาอ่อน แล้วจะไม่มีศากยบุตร มันจะเป็นโมฆบุรุษกันไปหมด เพราะโอ้โลมปฏิโลมกันมันเป็นเรื่องการเกรงใจ ลูบหน้าปะจมูกไง พูดไปแล้วมันจะไปสะเทือนกิเลสเขา พูดไม่ได้ ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนนะ ก่อนจะเทศน์ต้องบอกว่าขออนุญาตก่อน เราจะพูดรุนแรง เราจะพูดสะเทือนหัวใจ กิเลสมันก็หัวเราะเยาะสิ
ดูสิ เทคนิคการสอนนะ ขณะที่เด็กมันไม่รู้เรื่อง เราจะพูดอย่างไรให้มันหยุดให้มันชะงัก ต้องพูดไม่ให้รู้ตัวล่วงหน้าไง ต้องเป็นปัจจุบันตลอด การที่จะเป็นปัจจุบันเพื่อจะกระตุกให้ใจมันได้คิด ถ้าหัวใจมันได้คิดนะ มันจะไม่ทำซ้ำอีก สิ่งที่เราทำมาอยู่นี้มันทำตามกิเลส กิเลสพาเราทำอยู่นี้ มันทำเข้าไปหาสิ่งที่เป็นอวิชชา เป็นสิ่งที่มันไม่รู้จริง อวิชชานะ ความรู้ที่เรารู้ๆ กันอยู่นี่มันมี อะ คืออวิชชา มันไม่รู้สัจจะความจริง แล้วเราจะไม่ได้สิ่งใดเลย
ดูสิ ดูเวลาเขาทำเขื่อนกัน เขาสร้างเขื่อนกัน เขาต้องอพยพผู้คน เขาทำลายสิ่งแวดล้อม เขาทำลายต้นไม้มหาศาลเลย แต่เขาจะได้น้ำนั้นมา มันต้องแลกกัน
ในการประพฤติปฏิบัติไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้าหรอก อย่าหวังนะว่าฝันเอาแล้วจะเป็นพระอรหันต์ มันเป็นการฝันเอา เป็นการเพ้อเจ้อ ถ้าเป็นความจริงนะ มันต้องลงทุนลงแรง การลงทุนลงแรง ตั้งสติก็ลงทุนลงแรง อดนอนผ่อนอาหาร คำว่า อดนอนผ่อนอาหาร มันเป็นวิธีการเท่านั้น การอดนอนผ่อนอาหารเพื่อให้ร่างกายมันไม่แข็งแรงจนเกินไป ถ้าจิตใจมันแข็งแรง
กินอิ่มนอนอุ่น มันจะคิดแต่เรื่องโลก กามราคะทั้งนั้นน่ะ นี่โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ผู้หญิงกับผู้ชาย ฝ่ายตรงข้าม ไม่ต้องไปเห็นภาพหรอก มันสร้างภาพในหัวใจได้ เพราะอะไร เพราะมันเคยเกิดเคยตายมามากมายแล้ว กามคุณ ๕ เรามีชีวิตกันอยู่นี่ มันเคยเสพกามทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้าวิปัสสนาไปนะ ในกามราคะ ไปเห็นจิตมันเสพตัวมันเอง มันจะทึ่งยิ่งกว่านี้อีก กามราคะ กามฉันทะ ความพอใจ ความพอใจเป็นกามแล้ว กามฉันทะ ความพอใจตัวมันเอง เพราะมีความพอใจมันถึงตั้งป้อมได้ มันถึงยืนขึ้นมาได้ มันถึงออกไปหาเหยื่อได้
แต่ถ้าเราไม่ให้มันมีความพอใจ กามฉันทะ ไม่ให้พอใจ ไล่เข้าไปถึงหัวใจมันจะเห็นหมดเลย เห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นโทษขนาดไหน สิ่งที่เป็นโทษคือความรู้สึกเราทั้งนั้นเลย คนอื่นก็เรื่องของคนอื่น มันเป็นกรรมของเขา ดีก็ดีของเขา ชั่วก็ชั่วของเขา มันเป็นกรรมของเขา แต่ถ้ามันเป็นกรรมโดยสายบุญสายกรรม มันอาจสะเทือนถึงเราบ้าง มันก็เป็นเรื่องข้างนอกนะ มันแก้ไขได้
แต่ถ้าเรื่องของเรา มันเป็นเรื่องภายในของเรา เราต้องแก้ไขของเรา ถ้าเราแก้ไขของเรา สิ่งที่เราจะแก้ไขของเรา สิ่งที่ทำมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา ครูบาอาจารย์ท่านชี้เข้ามาที่นี่ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ ตาบอดคลำช้าง เรื่องของโลกๆ ก็คุยกันเรื่องโลกๆ คำว่า โลก ดูสิ คนป่วยไปโรงพยาบาลทำไม ถ้าไปโรงพยาบาลนี่เป็นเรื่องอะไร? เป็นเรื่องของโลกนะ ถ้าเรื่องของโลกคือต้องไปโรงพยาบาลไปรักษา แต่เรื่องของธรรมล่ะ เรื่องของธรรมมันจะเห็นสภาวะเลย สิ่งที่เจ็บไข้ได้ป่วยมันเป็นอนิจจังไหม ร่างกายเสื่อมสภาพไหม
เราไปรักษา ถ้าการรักษาแบบโลก มันก็บอกว่าเข้าไปโรงพยาบาลแล้วรักษาต้องหาย แต่ถ้ารักษาแบบธรรมล่ะ มันจะหายหรือไม่หายมันเป็นเรื่องของโลกนะ ถ้ากรรมมันดี มันรักษามันก็หาย ถ้ากรรมไม่ดีมันก็ไปตายอยู่ที่โรงพยาบาลนั่นน่ะ มันถึงที่สุดของมันนะ ชีวิตนี้มันมีการพลัดพรากกันเป็นที่สุด สภาวธรรมมันเป็นความจริงอันหนึ่ง เราไม่สามารถบังคับได้หรอกว่าเราจะต้องมีชีวิตยืนยาวแค่ไหน แล้วดูสิ ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ทำไมถึงอีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ล่ะ จิตตะ วิมังสา เวลาตาย จิตมันออกจากร่างนะ
ดูสิ เวลาจิตมันสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามามันเห็นเทวดา อินทร์ พรหม เวลาจิตสงบเข้ามาระลึกอดีตชาติได้ จิตสงบเข้ามามันออกไปเที่ยวในวัฏฏะนี้ได้ ขณะที่จิตสงบเวลามันออก ออกอย่างนี้นะ ถ้าเป็นปุถุชนมันออกไป ตัวมันเองมันสำคัญตน พอสำคัญตนไปในสภาวะแบบนั้นมันก็ควบคุมตัวเองไม่ได้
แต่ถ้าออกแบบพระอริยเจ้า ออกแบบผู้ที่จิตสงบแล้ว จิตที่ไม่มีกิเลสแล้ว มันเห็นการเคลื่อนไปของมันทั้งหมด เวลาคนมันตาย อะไรมันตาย มันเคลื่อนไปอย่างไรมันเห็นหมด แล้วมันมีอะไรตาย มันไม่มีอะไรตายหรอก เขาไปโรงพยาบาลที่ว่าไปตายกัน ตายมันก็คือเปลี่ยนสภาวะเท่านั้น นี่คือสภาวธรรมไง
ธรรมกับโลก ถ้าเราพูดถึงเรื่องโลกๆ โลกคือต้องเอาเราเป็นใหญ่ ถ้าเอาโลกเป็นใหญ่นะ เข้าไปโรงพยาบาลต้องหาย การรักษาต้องเป็นไปตามความต้องการของเรา แล้วถ้าความต้องการของเรา ใครมันจะยอมตายล่ะ นี่ตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้น มันเป็นสมุทัยทั้งนั้น นี่สิ่งที่เป็นสมุทัย เห็นไหม
สมุทัยควรละ ละไอ้ความคิดผิดๆ นี้ ไอ้ความคิดเห็นแก่ตัว ไอ้ความคิดต้องการให้มันสมปรารถนาของเรา สิ่งนี้มันไม่มีสิ่งใดสมความปรารถนาของเราหรอก สิ่งที่สมความปรารถนามันคิดจากตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นสมุทัย มันเป็นความไม่จริง สิ่งที่ไม่เป็นความจริงมันก็เป็นไปตามความจริงของมัน แต่ขณะที่พระอรหันต์ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ถึงที่สุดแล้วตายยังต่ออายุได้เลย เพราะอะไร
เพราะการเกิดและการตายมันเป็นวัฏฏะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะ คนที่ประสบอุบัติเหตุ คนที่ยังไม่ถึงวาระต้องตายมันก็ต้องตายไป แต่คนที่ถึงวาระตายนะ นอนตายอยู่เฉยๆ คนที่หมดอายุขัยแล้วตายไป มันก็ตายไป การเกิดและการตายมันสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็อยู่ที่ ดูสิ เวลาเราทำบุญกุศลกัน ถ้าเรารักษาศีล เราไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเป็นคนที่มีชีวิตยืนยาว คนเราทำลายแต่ชีวิตของคนอื่น แล้วชีวิตมันก็สั้นลงๆ นี่มันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่การกระทำใช่ไหม สิ่งที่การกระทำอย่างนี้มันทำอย่างนี้ แล้วเราจะไปปรารถนาอะไร เราจะไปต้องการอะไรจากสิ่งภายนอก
เวลาฟังธรรมนะ ฟังแล้วถ้าจิตใจมันเป็นธรรม ฟังแล้วมันฮึกเหิม แต่ขณะที่เราไปภาวนา ทำไมมันห่อเหี่ยวล่ะ ขณะที่เราไปภาวนาของเรา เราปลุกไม่ขึ้นเลย หัวใจของเรามันปลุกไม่ขึ้นเลย ถ้าหัวใจมันปลุกขึ้น มันจะมีกำลังใจของมัน กำลังใจนะ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมมากี่ปี หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านไม่มีครูบาอาจารย์นะ มีแต่ที่ปรึกษาเฉยๆ เพราะยังไม่มีพระอรหันต์ ถ้าไม่มีพระอรหันต์ ไม่มีดวงใจดวงใดดวงหนึ่งที่ออกมาจากกิเลส ที่พ้นจากกิเลสได้ มันจะไม่รู้วิธีการหรอก ทั้งๆ ที่วิชาการ ตำรา พระไตรปิฎกมันอยู่เต็มตู้นั่นแหละ ยิ่งอ่านยิ่งศึกษายิ่งงงนะ ดูสิ ดูปัจจุบันนี้เทคโนโลยีสั่งมาจากนอก เรากางออกมาดูคู่มือ มันใช้ไม่ถูกนะ ใช้ไม่เป็น ดูสิ เขียนแบบสนามบิน จ้างเขาเขียนแบบ แล้วก็ต้องจ้างเขาอ่านแบบ อ่านไม่ออก ทำไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีพระอรหันต์ ตำรามีอยู่ พระไตรปิฎกมีอยู่ อ่านไม่ออกหรอก อ่านแต่ตัวอักษรออก แต่อ่านความหมายไม่ออก อ่านความรู้สึกไม่ออก อ่านการกระทำไม่ได้
ทั้งๆ ที่มีพระไตรปิฎก ทั้งๆ ที่มีผู้ปรึกษานะ หลวงปู่มั่น ท่านก็ต้องรื้อค้นของท่าน ท่านต่อสู้ของท่านมา สิ่งที่ท่านต่อสู้ ท่านค้นคว้าของท่านมา มาเพื่อเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา แล้วเรามีอำนาจวาสนา เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทำไมมันห่อเหี่ยว ทำไมไม่สู้ ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ชี้นำ แล้วถ้ามันไม่จริงอย่างที่เราคิด แล้วเรามีเหตุผลอะไรโต้แย้งท่านล่ะว่ามันไม่จริง จิตที่มันเป็นไปอย่างนี้ จิตที่มันสงบ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ไม่จริง แล้วเรามีข้อโต้แย้งอะไรว่าไม่จริง ก็โต้แย้งออกมาสิ
เวลาหลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ถ้าเรายังมีของเราอยู่ เรามีความรู้สึกของเราอยู่ เราก็โต้เถียงท่านเพื่อหาข้อเท็จจริง เราโต้เถียง เราเถียงเพราะอะไร เพราะเรามีของเราใช่ไหม ต้องโต้เถียงสิ เวลาธรรมะนะ ธรรมะไม่มานิ่มนวล แล้วแต่นิสัยครูบาอาจารย์ นิสัยครูบาอาจารย์บางองค์ก็นุ่มนวล ก็มาอย่างนั้น แต่ถ้านิสัยของครูบาอาจารย์ สิ่งที่โต้แย้งเพื่อหาเหตุหาผล มันต้องโต้แย้งกัน โต้แย้งขึ้นมาแล้วลงด้วยเหตุด้วยผล
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจเรามันมีทิฏฐิมานะ มันว่าสิ่งนี้เป็นความรู้จริง แล้วความรู้จริงมันมีคุณค่าอะไร ความรู้จริงในใจของเรามันมีคุณค่าอะไรบ้าง ความรู้จริงของเรามันเป็นความเป็นจริงไหม แล้วกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย มันไม่ใช่เพราะเหตุใด แล้วที่มันไม่ใช่ มันมีอะไรถึงไม่ใช่...มันไม่ใช่ มันมีเหตุมีผลหมดนะ แล้วมีเหตุมีผล มันวางไว้ตามความเป็นจริง กายจริงของกาย จิตจริงของจิต ทุกข์จริงของทุกข์ มันแยกส่วนกันโดยที่รวมตัวกันอีกไม่ได้ มันรวมตัวกันอีกไม่ได้เพราะเหตุใด ทำไมมันถึงรวมตัวกันอีกไม่ได้ ทำไมเมื่อก่อนมันอยู่ด้วยกัน มันเป็นอันเดียวกัน แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา สุขทุกข์เป็นเราไปหมดเลย แล้วถ้ามันแยกออกจากกันไปโดยธรรมชาติแล้ว แล้วมันรวมตัวกันอีกไม่ได้ ทุกข์อันนี้จะเข้ามาอยู่ในจิตไม่ได้ มันไม่ได้เพราะเหตุใด แล้วทำไมมันถึงไม่ได้ คนถ้าไม่รู้มันจะเข้าใจตรงนี้ได้อย่างไร คนถ้าไม่รู้ว่ามันแยกแล้ว มันก็ต้องเผลอสิ เผลอมารวมตัวกัน เผลอก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เผลอรู้จริงขึ้นมาแล้วลืม รู้จริงขึ้นมาแล้วไม่เข้าใจ
ให้มันเห็นสภาวะแบบนี้ รู้จริงขึ้นมาแล้วไม่มีลืม รู้ขึ้นมาแล้วไม่มีการไม่เข้าใจ คนว่ายน้ำเป็นนะ ตกน้ำเมื่อไหร่มันก็ว่ายน้ำได้ทั้งนั้นน่ะ คนเราขี่รถเป็น คนเราขี่จักรยานได้ มันขี่ได้ตลอด คนขี่จักรยานไม่เป็นต่างหากต้องอาศัยเขาพ่วงไปตลอด มันขี่ไม่ได้ มันขี่ไม่เป็น แต่ถ้าเขาขี่ถีบให้ แล้วเรานั่งไป เป็น อาศัยคนขี่นำหน้าแล้วเรานั่งพ่วงท้ายไป นี่ไง เราว่าเราขี่จักรยานเป็น แต่ถ้าเราขี่ของเราได้ มันเป็นหมด จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันแยกมันแยะเพราะเหตุใด เวลามันขึ้นไป มันเป็นไปได้ นี่ไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นอย่างนี้นะ
ถ้าเวลาเราภาวนาของเรา เราต่อสู้ของเรา แล้วมันอ่อนแอมันไม่สู้นะ ถ้ามันไม่สู้ นั่นแหละกิเลสมันเหยียบหัวเรา ถ้าเราจะต่อสู้ เราต้องต่อสู้กับกิเลสเรา การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม มันเริ่มต้นนะ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมมันเป็นกิริยา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราต้องการจิตดวงนั้น จิตดวงที่มันสงบเข้ามา จิตดวงที่มันสงบเข้ามามันมีฐานของมัน มันมีภวาสวะ ภวาสวะคือตัวภพ ตัวภพเป็นตัวฐานที่ตั้ง ดูสิ ฐานยิงจรวดมันมาจากไหน ความคิดที่มันเกิดมาจากใจมันเกิดมาจากไหน ถ้ามันเกิดมาจากที่นั่น เราย้อนกลับเข้ามาที่นั่น แล้วเราหาสิ เราสร้างฐานยิงจรวดได้ไหม เราปล่อยจรวดได้ไหม
ปล่อยด้วยความเห็นของเรานะ แต่เราไม่รู้ ขณะที่มันคิดมันเหมือนกับฐานยิงจรวด มันยิงออกไปตลอดเวลา มันมีอยู่แล้ว ของที่มันมีอยู่แล้ว แล้วมันยิงออกไปเป็นความคิด ความคิดนี้วนกลับมาทำลายเราตลอด เราไม่รู้ตัว
แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา มันจะเข้าไปหาฐาน แล้วจับฐานได้ แล้วดูว่ามันยิงออกไปอย่างไร สิ่งที่ความคิดมันเกิดอย่างไร เกิดจากที่ไหน เกิดออกไปแล้วมันมีอะไรบวกออกไป ความคิดบวก-ความคิดลบคิดออกไปจากไหน มันจับได้มันจะแยกแยะ แยกแยะ ทำลาย
แต่เดิมฐานยิงอันนี้ ภวาสวะอันนี้ ภพอันนี้มันยิงออกไป มันคิดออกไป ยึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชชา แต่เพราะเราทำความสงบของใจเข้ามา พอมันสงบเข้ามาแล้วเข้าไป ความสงบนี้มันเป็นสมถะ สมถะ คำว่า ฐานที่ตั้งของการงาน คือฐานไง แต่ฐานยิงความคิดนะ ถ้าเราจับฐานยิงได้ เราเห็นฐานยิงนั้น มันเป็นวิปัสสนา
วิปัสสนามันเป็นปัญญาการแยกแยะ เห็นการกระทำ ถ้าเห็นการกระทำอย่างนั้น ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันจะหยุดความรู้สึกอันนี้ได้ หยุดความรู้สึก แล้วถ้าเห็นการหยุดความรู้สึก มันเห็นผล เห็นผลเพราะอะไร
เพราะถ้าเมื่อก่อนนี้มันยิงออกไปโดยธรรมชาติของมันคืออวิชชา มันคิดออกไป มันไปยึดมั่นถือมั่นของมันเข้ามา มันไปหาเหยื่อของมันเข้ามา ชอบใจ พอใจ ทุกข์ใจ ดีใจ เสียใจ มันเอากลับมาเหยียบย่ำใจ ทุกข์มาก ไม่รู้จักวิธีการดับ ไม่รู้จักวิธีการรักษา ขณะที่มันเกิดวิปัสสนา เข้าไปถึงฐาน เห็นฐานยิง เห็นจรวด เห็นสิ่งที่เป็นแรงขับ ทุกอย่างมีแรงขับ แรงขับมันทำงานกันอย่างไร มันออกไปเอาอารมณ์มาอย่างไร เห็นที่มาที่ไปของความรู้สึก เห็นที่มาที่ไปของความคิด เห็นที่มาที่ไปของบวกและลบ คือชอบใจ ดีและชั่ว พอเห็นดีและชั่ว มันก็ใช้ปัญญาแยกแยะออกไป นี่สิ่งที่มันมีงานทำนะ ถ้าจิตมันมีงานทำขึ้นมา คนเราทำงานเหมือนกับทำธุรกิจ ถ้าการทำธุรกิจแล้วได้กำไร ได้ผลประโยชน์ มันอยากทำ พยายามจะหาผลประโยชน์ มันจะทำของมัน การภาวนาอย่างนี้มันก็จะมีกำลังใจขึ้นมา มันมีผลงานนะ
ทุกข์ ขณะที่จิตมันฟุ้งซ่าน
ทุกข์ ขณะที่จิตมันไม่สงบ
ทุกข์ ต่อเมื่อภาวนาแล้วมันไม่ได้ดั่งใจ
แต่ขณะที่ทำงาน จิตไม่สงบทำงานไม่ได้ ขณะที่จิตสงบนี่เราได้ผลงานแล้ว เห็นไหม โรงงาน การสร้างสินค้าเก็บไว้ในคลังสินค้ามากมายมหาศาลเลย แล้วถ้าไม่ได้ระบายสินค้าออกไป โรงงานนั้นอยู่ไม่ได้หรอก สมาธินะ จะทำให้สงบขนาดไหน จะทำให้มั่นคงได้ขนาดไหน ถ้ามันไม่มีวิปัสสนา ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่มีการระบายสินค้าออกไป โรงงานนั้นเจ๊งนะ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันทำสมาธิแล้วมันไม่รู้จักออกวิปัสสนา มันอยู่ไม่ได้หรอก โรงงานนั้นต้องล่มสลาย สมาธิอยู่โดยตัวมันเองไม่ได้ สมาธิอยู่ได้เพราะเหตุมีสติ สติกับคำบริกรรมทำให้สมาธิอยู่ได้ตลอดไป เพราะมันมีเหตุ เหตุทำให้สมาธิมั่นคงตลอดไป แต่คนที่รักษาเหตุมันยังไม่มีอารมณ์กระทบไง ถ้ามีอารมณ์กระทบ ความดีใจความเสียใจเข้าไปกระเทือนใจ มันออกรับรู้อย่างนั้นแล้วมันทรงตัวไว้ไม่ได้ สมาธิถึงอยู่โดยตัวเองไม่ได้
โรงงานถ้ามีสินค้าไว้มากมายขนาดไหน ถ้าเราระบายสินค้าไม่ได้ เจ๊งอย่างเดียว แต่ถ้าเราระบายสินค้าออกไปได้ สิ่งที่เป็นสินค้าของเราออกไปแล้วเป็นผลกำไรขาดทุนเข้ามา นี่ก็เหมือนกัน การที่เราใช้ปัญญาออกใคร่ครวญวิปัสสนา เห็นฐานยิง แล้วใคร่ครวญกับมัน ใคร่ครวญถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ใคร่ครวญถึงความเป็นไป สิ่งที่ใคร่ครวญแล้วเห็นโทษเห็นคุณ
เห็นโทษ เห็นโทษว่าสิ่งนี้ถ้าเราไม่รู้ทันมัน มันเหยียบย่ำตลอดไป
เห็นคุณ เห็นคุณจากสมาธิ เห็นคุณจากปัญญาการใคร่ครวญแล้วมันปล่อยวาง การปล่อยวางคือการระบายสินค้าออกไปแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา
จิตมันสงบเข้ามา จิตมันปล่อยวางเข้ามา การปล่อยวาง การระบายสินค้า กับการหาทุนตั้งโรงงานต่างกันมาก การหาทุนตั้งโรงงานนะ ต้องกำหนดพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ การตั้งโรงงานตั้งมาแล้วยังไม่มีตลาดเลย ขณะที่ระบายสินค้าออกไป มันต้องมีโรงงานก่อน มันต้องมีสินค้าก่อน มันต้องมีสมาธิก่อน มันต้องมีสติก่อน มันต้องมีปัญญาก่อน แล้วใคร่ครวญออกไป ใคร่ครวญออกไป ระบายสินค้าออกไป ผลที่ตอบรับมาคือมันปล่อยวาง มันมีความสุขอีกชั้นตอนหนึ่ง ทำจนถึงที่สุดมันปล่อยวาง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง นี่ทำอย่างนี้ถ้าคนมีงานทำ จิตนี้มีงานทำนะ
การทำธุรกิจของเรา การทำโรงงานของเรา แล้วเรามีสินค้า เรามีการระบายออกไป เรามีผลตอบแทน เราจะขยันขันแข็ง เราจะทำงานด้วยความชุ่มชื่นใจ เพราะมันเห็นผลตอบรับ มันเห็นผลประโยชน์ของมัน การวิปัสสนา การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ถ้ามันมีผลตอบรับอย่างนี้ มันขยันขันแข็ง
ที่เราหดหู่ เราไม่อยากทำ เราทำแล้วไม่ได้ผล เพราะเราทำของเราแล้วไม่ได้ประโยชน์ไง แต่ถ้าเราทำของเราได้ประโยชน์นะ เราทำแล้วเป็นประโยชน์ของเรา เราจะขยันขันแข็งของเรา แล้วเราได้ผลประโยชน์ผลตอบแทนของเรา ตรงนี้เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ขณะในทางจงกรม ขณะนั่งสมาธิภาวนา สิ่งที่ตอบสนองมาอย่างนี้เราก็แช่มชื่นแล้ว ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต นี่ผู้ใดเห็นธรรม เห็นสมาธิธรรมก็ได้ เห็นโลกุตตรธรรมก็ได้ เห็นปัญญาธรรมก็ได้ สิ่งนี้ถ้ามันเห็นขึ้นมา เราเตาะแตะขึ้นไป จิตนี้มันมีที่ยืนนะ
ศาสนาอยู่ที่ไหน เวลาธุดงค์กัน เวลานั่งสมาธิภาวนากัน ศาสนาอยู่ที่ไหน? ศาสนาอยู่ที่ความรู้สึก ถ้าความรู้สึกมันเข้าใจมันแจ่มแจ้ง มันปล่อยวางเข้าไป ศาสนาอยู่ที่นั่น
ใจดวงหนึ่งมันสะอาดบริสุทธิ์ แล้วใจดวงหนึ่งมันมืดบอด ใจของโลกมันมืดบอดทั้งนั้น แล้วมันไปเอาเฟอร์นิเจอร์ เอาความคิดสวมไว้แนบกับตัวจนไม่เห็นตัวเลยนะ สิ่งที่แนบไปคือความคิดความรู้สึกของโลกๆ ไง เอาความคิด เอาทิฏฐิมานะใส่หัวไว้จนเต็มหัว แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ สิ่งนั้นเป็นเรื่องของโลก แบกไปไม่ได้ สิ่งนั้นมันเป็นอาการของใจ เกิดกับใจ ดับกับใจ แล้วมันเกิดอย่างนั้นเดี๋ยวมันก็ลืม เดี๋ยวมันก็ต้องไปทบทวน มันจะลืมไป แต่ถ้าเป็นอริยสัจนะ ใจที่มันสะอาดมันไม่ใช่ใจมืดบอดนะ มันสว่างตลอดเวลา มันรู้แจ้งตลอดเวลา
สิ่งนี้เป็นเรื่องของสมมุติ มารยาสาไถยทั้งนั้น มันเป็นมายาภาพ มันจะมาอยู่กับดวงใจที่สะอาดไม่ได้ สิ่งที่เป็นมายาภาพของโลกๆ เขา ไม่ให้มาอยู่ในความสะอาดของใจดวงนี้ ถ้าใจดวงนี้เกิดขึ้นมาตลอดเวลา มันสว่างตลอดเวลา มันเข้าใจตลอดเวลา แล้วเห็นโทษตลอดเวลานะ
เหมือนผู้ใหญ่เลย เดินไปบนถนน ถ้ามีขวากมีหนามมีสิ่งใดที่มันจะทำให้เราเจ็บปวด จะทำให้เราได้รับโทษ เราจะพาลูกศิษย์ของเราฝ่าหลบไปทางอื่น ฝ่าไม่ให้เดินไปขวากไปหนาม หรือถ้าจำเป็นต้องไป เราจะต้องทำลายอันนี้ก่อน ต้องกวาดขวากหนามนี้ออกไปให้ทางนี้โล่งเตียนก่อน เราถึงจะให้ลูกศิษย์เดินผ่านไป แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อมันเป็นประสบการณ์ของใจ มันก็ต้องมาเจอสภาวะแบบนี้ทั้งนั้นน่ะ เพราะหนามอันนี้มันเป็นหนามตำใจ มันเป็นหนามของส่วนบุคคล มันเป็นกิเลสในหัวใจของแต่ละบุคคล พูดขนาดไหนก็ไม่เชื่อ ไม่มีใครเชื่อใครหรอก เพราะมันเป็นกิเลสของแต่ละดวงใจ มันไม่ใช่กิเลสอันเดียวกัน
กิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำลายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว กิเลสของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ท่านก็ทำลายของท่านไปแล้ว กิเลสของครูบาอาจารย์ท่านก็ทำลายของท่านไปแล้ว แต่กิเลสของเราก็เป็นกิเลสของเรา ในตำราในวิธีการนั้นเป็นของครูบาอาจารย์ท่านต่างหากล่ะ ท่านทำของท่านมา ท่านผ่านของท่านมา แล้วท่านบอกวิธีการเราไว้
แต่เพราะเรายังเป็นเด็กอ่อนกันอยู่ ใจของเรานี้อ่อนแอ ท่านพยายามประคองไว้ให้เฉยๆ นะ นี่ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเรื่องอย่างนี้ ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องธรรมวินัย ปฏิปทาเครื่องดำเนิน เราต้องรักษาของเรา แล้วเวลาทำแล้วถ้าเป็นเรื่องของโลก มันเห็นว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย
เขื่อนมันพังเพราะตามดนะ สิ่งที่กระแสน้ำเจาะถนน มันทำลายเขื่อน ทำลายทุกๆ อย่าง มันก็เป็นสิ่งที่มันกัดเซาะไปทั้งนั้นน่ะ ข้อวัตรนี้ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นของเล็กน้อย เพราะถ้ามันทำเคยชินไปแล้ว ของเล็กน้อยนี่ไงจะทำให้คนเสียคน ดูสิ เราให้เงินเด็กๆ มันไปใช้สอย ถ้ามันใช้ไม่เป็นก็ของเล็กน้อยไหม เพราะเราให้มันไปใช้สอยเพื่อเป็นประโยชน์ แต่มันก็ไปทำเป็นโทษของมัน
ใจก็เหมือนกัน สิ่งที่ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเป็นการกระทำ เราต้องเข้มแข็ง เราต้องพยายามดึงพยายามฝืนความรู้สึกว่า ไม่เป็นไร คำว่า ไม่เป็นไร โลกเขาพูดกัน แต่เราฟังไม่ได้เลยนะ โน่นก็ไม่เป็นไร นี่ก็ไม่เป็นไร เป็นสิ เป็นเพราะทำให้เสียนิสัยไง พอมันเสียนิสัย ผู้อื่นก็จะเอาตามแบบนั้น
หมู่คณะนะ หมู่คณะของเราเปรียบเหมือนร่างกาย ร่างกาย ถ้าสิ่งใดเจ็บไข้ได้ป่วย ดูสิ เวลาเส้นเลือดตีบแค่เส้นหนึ่งมันทำให้ร่างกายเสียหายหมดเลย มันชำรุดจุดเดียว แต่มันทำให้ร่างกายพิการไปหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสังคมของเรา ถ้าทำข้อวัตรกันไป แล้วฝ่ายหนึ่งไม่ทำ ฝ่ายหนึ่งทำ มันก็เป็นอย่างนั้น เว้นไว้แต่ว่ามันเป็นผลประโยชน์ของเรา มันเป็นการกระทำของเรา สิ่งนี้มันเป็นของของเรานะ ถึงต้องตั้งใจกลับมาที่นี่
ออกพรรษาแล้ว เข้าพรรษาก็ถืออธิษฐานพรรษากันเพื่อจะให้เข้มงวด เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ นี่ออกพรรษากันก็หาที่วิเวก ใครจะไปวิเวกบ้างก็ได้ ใครจะอยู่ ใครจะทำอย่างไรแล้วแต่ความเห็น แล้วแต่ทิฏฐิมานะ แล้วแต่นะ ทิฏฐิของคนไม่เสมอกัน คนชอบไม่เหมือนกัน คนทำไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างหา ต่างคนต่างแสวงหาเพื่อตนเอง เอวัง