เทศน์พระ

อาวุโส

๒๒ ม.ค. ๒๕๕๑

 

อาวุโส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันอุโบสถ พูดถึงสังคายนาธรรมวินัย ธรรมวินัยสมัยพุทธกาลนะ เวลาลงอุโบสถ ผิดถูกสะกิดกันไว้ เพราะมันเป็นภาษาพื้นบ้าน ภาษามคธ ภาษาสมัยนั้นเขาใช้ภาษามคธ คุยกันภาษามคธ พูดกันภาษามคธ เขาจะเข้าใจกันหมด ใครผิดอะไรก็จะปลงอาบัติ จะแก้ไข นี่ธรรมวินัยเพื่อความอยู่สงบสุข ทิฏฐิเสมอกันในหมู่สงฆ์ไง ธรรมและวินัย วินัยเป็นกฎหมาย อาวุโส-ภันเต

บอกว่าไม่รับอาวุโส มันไม่รับอาวุโสได้อย่างไร

ขณะที่ว่าเราทำดีในกฎหมาย กฎหมายมันเข้าไปถึงไม่ได้ อาวุโส-ภันเตมันเหมือนกฎจราจร คนดีหรือคนไม่ดีก็แล้วแต่ ออกไปใช้กฎจราจร เขาต้องไปตามกฎจราจรนั้น ไม่อย่างนั้นจราจรมันเคลื่อนไหวไปไม่ได้

อาวุโส-ภันเตนี่ธรรมวินัยนะ อาวุโส ผู้ที่เป็นอาวุโสกว่า การเข้าไป เราจะเข้าไปใกล้ท่านภายใน ๖ ศอก ถ้าท่านไม่ใส่รองเท้า เราใส่รองเท้าเข้าไป เป็นอาบัติทุกกฏ ในการนั่งในตั่งอันเดียวกัน อาวุโสต่างกันเกิน ๓ พรรษา ห้ามนั่งด้วยกัน ถ้าอาวุโสนั่งอยู่สูงกว่า เราต้องนั่งต่ำกว่า เพราะเคยมีพระนั่งบนตั่งนั้น ๔ องค์ขึ้นไปจนตั่งนั้นหัก ฉะนั้น อาวุโสถึงมีสิทธิ์นั่ง ภันเตไม่มีสิทธิ์นั่ง ภันเตต้องนั่งข้างล่างมา

ในการฉันอาหาร เราต้องนับอาวุโส-ภันเต ถ้าภันเตนั่งหน้าอาวุโส ภันเตเป็นอาบัติทุกกฏโดยอัตโนมัติเลย แต่ถ้าเริ่มมีการฉันไปแล้ว จะ ๑๐๐ พรรษา ๒๐๐ พรรษามา ก็จะมาให้ลุกไม่ได้ เพราะมันไปขัดกับธุดงควัตร ธุดงควัตรคืออาสนะเดียว ลุกจากอาสนะนั้นแล้วฉันไม่ได้ เห็นไหม แม้แต่อาวุโส ก่อนฉันอาวุโสมา มีสิทธิ เราต้องเลื่อนให้อาวุโสนั่งหน้า นี่อาวุโส มันเป็นวินัย วินัยมันเหมือนกฎหมาย ต้องเด็ดขาด ต้องชัดเจน ความชัดเจนในอาวุโส-ภันเต ชัดเจนในกฎหมาย เรายอมรับในกฎหมาย

แต่ในธรรม อาวุโสต้องเป็นผู้นำ อาวุโส เราเป็นอาวุโส พ่อแม่ครูจารย์ เป็นทั้งพ่อทั้งแม่ ทั้งครูบาอาจารย์ อาวุโสจะดูแลภันเต ภันเตผิดพลาดไป ภันเตมีปัญหาขึ้นมา อาวุโสจะประคับประคองไว้ ภันเตบวชเข้ามา เราบวชเข้ามา ได้จากอุปัชฌาย์มา นิสสัย ๔ เราได้จากอุปัชฌาย์มาทั้งหมด ผู้ที่บวชได้นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นิสสัย ๔ การดำรงชีวิต เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง สิ่งต่างๆ อกรณียกิจ สิ่งที่ทำไม่ได้ ๔ อย่าง การฆ่าคน การลักทรัพย์มันขาดจากพระทันทีเลย แต่ผู้ที่บวชออกมาใหม่ๆ จะเข้าใจเรื่องนี้ไหม แต่การบวชมาก็ต้องว่านิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ สิ่งนี้มันเป็นหัวใจเลย อาวุโสจะคอยดูแล ดูแลสิ่งที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ถึงต้องขอนิสัยไง

ถ้าอยู่กับอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ต้องดูแล ๕ ปี ถ้าอยู่กับอาจารย์ อาจารย์จะดูแล แล้วถ้าเป็นอาวุโส อาวุโสก็ดูแลภันเตไง ความดูแลอย่างนี้มันเป็นความดูแลจากวินัย การดูแล มันเกิดการขอนิสัย ยอมรับนิสัย อาวุโส-ภันเตเป็นอย่างนี้

ยอมรับอาวุโส ทำไมจะไม่ยอมรับ สิ่งที่ยอมรับอาวุโส ทุกคนบวชมา คนตาบอดทำไมไม่ยอมรับคนตาดี คนตาดีจะเป็นคนพาคนตาบอดให้พ้นจากสิ่งกีดขวาง พ้นจากสิ่งที่เป็นภัย นี่อาวุโส-ภันเตจากความเป็นโดยธรรม

แต่ถ้าอาวุโส กาในฝูงหงส์ ถ้ากาในฝูงหงส์ เราเป็นกา เพราะเราบวชใหม่ เราไม่รู้จัก เราเป็นกาในฝูงหงส์ ถ้าอยู่ในฝูงหงส์นั้น เราก็ยังพยายามทำตัวของเราให้เป็นหงส์

หงส์ในฝูงกา ถ้าหงส์ในฝูงกา เราเป็นหงส์ เราอยู่ในธรรมอยู่ในวินัย แล้วในฝูงกามันเป็นอลัชชีทั้งหมด อาวุโสอย่างนี้รับไม่ได้

ที่ไม่รับอาวุโส ไม่ใช่ไม่รับอาวุโส-ภันเตโดยธรรมวินัย ธรรมวินัย อาวุโสนี้รับแน่นอน เราต้องรับอาวุโส-ภันเต เพราะ “ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเธอ”

พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระสงฆ์จะพึ่งใคร”

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้ตถาคตก็ต้องปรินิพพานเป็นธรรมดา แต่เราเคยแสดงเอาไว้แล้ว ธรรมและวินัยนี้จะเป็นศาสดาของเธอตลอดไป”

จะเป็นศาสดานะ คำสอนไง คำสอนคำสั่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวินัย คำสอน สิ่งที่เป็นอริยสัจ สิ่งที่เป็นความจริง สิ่งที่ให้เรารื้อค้นน่ะ สิ่งนี้เป็นธรรม เห็นไหม “ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ”

ฉะนั้น เราเป็นภิกษุ เราเป็นสมมุติสงฆ์ จิตใจเรากระด้าง ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส กัลยาณปุถุชน โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ความเข้าถึงธรรม ถ้าใจมันเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมได้มากขนาดไหน เป็นพระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีล ในศีลพรต ในศีลคืออะไร? คือธรรมและวินัย “ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ”

หลวงตาท่านบอกเลย “พวกที่มีกิเลสหยาบในหัวใจ มันเหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป” คือมันเหยียบธรรมวินัยไป ถ้าธรรมวินัยนี้บัญญัติไว้แล้ว ถ้าเรามีคุณธรรมในหัวใจ เราจะเหยียบย่ำธรรมวินัยไปได้อย่างไร อาวุโส-ภันเตมันเป็นโดยอัตโนมัติเลย สิ่งที่อัตโนมัติเพราะใจมันเป็นธรรม มันเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราไม่ได้เคารพอลัชชีองค์นั้น อลัชชีองค์นั้นมันเป็นอลัชชี มันไม่มีความละอาย มันมีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของมัน แต่เราไม่ได้เคารพมัน เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหากล่ะ เรากราบธรรมวินัย เราเคารพธรรมวินัย เรากราบธรรมวินัย ไม่ได้กราบอลัชชีองค์นั้น ทำไมจะกราบไม่ได้ มันกราบได้ใช่ไหม เรากราบธรรมวินัยต่างหาก เราไม่เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป เราไม่ล่วงข้ามธรรมวินัยอันนี้ไป

ในเมื่อเขาเป็นอลัชชี เขาจะมี ๕๐๐ พรรษา กี่ร้อยพรรษาก็แล้วแต่ เราเข้าไปถึงเราก็เข้าไปกราบเขาเหมือนกัน กราบธรรมวินัย ไม่ได้กราบบุคคลคนนั้น ทำไมจะกราบไม่ได้ มันกราบได้ มันกราบธรรมวินัย ไม่ได้กราบบุคคลคนนั้น ไม่ได้กราบอลัชชีคนนั้น

แต่ในเมื่ออลัชชีเขาไม่มีความละอายต่อบาป เขาอยู่ในสังฆะใช่ไหม แต่เราเป็นผู้ที่มีความละอาย เราไม่ใช่อลัชชี เราไม่ใช่คนหน้าด้าน สังคมเราถึงหลีกเลี่ยงไง เราหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในสังคมนั้น สังคมไหนที่มีอลัชชีอยู่ เราก็หลบไปหลีกมา แต่ในเมื่อมีครูบาอาจารย์ของเราอยู่ด้วย ในเมื่อมีครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในสังคมนั้น เราก็จะไปในสังคมนั้นเพื่อครูบาอาจารย์ของเรา แต่เราไม่ยอมรับอลัชชีนั้น เราไม่ยอมเข้าไปอยู่ในสังคมอลัชชีนั้น เราถึงหลบๆ หลีกๆ

การหลบๆ หลีกๆ นี้ไม่ยอมรับอาวุโส-ภันเตที่ไหน ยอมรับในหัวใจ หัวใจยอมรับมาก ยอมรับในอาวุโส-ภันเต แต่ยอมรับในความเป็นธรรม อาวุโสต้องเป็นธรรมด้วย อาวุโสต้องมีคุณธรรมในหัวใจ ไม่ใช่อาวุโสนั้นมีแต่ความอาฆาตมาดร้าย มีแต่การทำลาย การทำลายอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา เห็นไหม

ธรรมและวินัย วินัยเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเอาธรรมวินัยมาแก้ไขเรา แต่ในเมื่ออลัชชีมันมาอย่างนั้น มันไม่เป็นอาวุโสหรอก จะกี่ร้อยพรรษากี่พันพรรษาก็ไม่มีความหมาย

แต่ถ้าพรรษาเขาอ่อนกว่า สามเณรน้อยทำคุณงามความดี สามเณรถ้าใจเป็นธรรม สามเณรน้อยอายุ ๗ ขวบทำไมเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ การเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันจะไปดื้อกระด้างกับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม เพราะสิ่งที่ได้มา เห็นไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เห็นธรรมวินัยโดยหัวใจ แล้วใจที่มันเป็นธรรมมันจะไปกระด้าง?

สิ่งนี้น้ำกับน้ำมันมันเข้ากันไม่ได้ ธรรมกับกิเลสเข้ากันไม่ได้ หัวใจเป็นธรรมแล้วมันจะเข้ากับกิเลสไม่ได้ แล้วสิ่งที่เขาทำมันเป็นกิเลสทั้งนั้น แล้วอ้างอาวุโสได้อย่างไร ทีนี้อ้างอาวุโส อ้างธรรมวินัยมาเพื่อผลประโยชน์ของตัว

ถ้าอ้างธรรมวินัยเพื่อประโยชน์ของตัว สิ่งที่อ้างมาเพื่อประโยชน์ มันไม่ใช่เพื่อตัวเอง ในธรรมวินัย “พรหมจรรย์นี้เธอปฏิบัติเพื่ออะไร” พรหมจรรย์นี้เราปฏิบัติเพื่อเราใช่ไหม ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อศาสดาของใคร ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อแก้ลัทธิต่างๆ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อคนอื่นทั้งหมดเลย

ธรรมวินัยนี้ปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ของเรา เพื่อความสงบสุขของเรา เพื่อหัวใจของเรา แล้วมันเพื่อใคร แล้วต้องทำให้ใครมาเคารพนบนอบเรา มันไม่ต้องมีใครมาเคารพนบนอบเราหรอก ไม่ต้อง ไม่ต้องเพราะอะไร เพราะสิ่งที่เคารพนบนอบมันเป็นภาระหน้าที่ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นภาระ มันเป็นการแบกหาม มันเป็นโลกธรรม ๘ สรรเสริญนินทามันคู่กันมาแล้ว แล้วทำไมต้องให้ใครมาเคารพนบนอบ ไม่ต้องการทั้งสิ้น

แต่ในเมื่อมันเป็นธรรม สิ่งที่ใจเป็นธรรม ถ้าเขาต้องการ เขาเชื่อฟัง เขาอยากได้คำแนะนำสั่งสอน นั่นมันเป็นสิ่งที่เขาลงใจ ถ้าเขาลงใจแล้วไม่ต้องไปบังคับใครเลย สิ่งนี้มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ ความเป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้ามันเป็นธรรม ทุกคนแสวงหานะ เราอยู่ในที่เร่าร้อนมาก เราอยู่ในที่กันดาร ทุกคนต้องการแหล่งน้ำ ทุกคนต้องการสุขสบาย ทุกคนต้องการความชุ่มชื่นในหัวใจ ในเมื่อหัวใจมันทุกข์ยาก ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ดูสิ เราทำการเกษตรกัน ถ้าเราหว่านไถมาขนาดไหน มันไม่มีน้ำขึ้นมา ฝนไม่ตก ดินมันแห้งแล้ง เราทำขนาดไหนมันจะได้ผลขึ้นมาไหม มันทำขึ้นมาไม่ได้ผล แล้วเราทุกข์ไหม เรามีอะไรดำรงชีวิตได้ไหม? เราไม่มีเลย

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราบากบั่นเข้าไปขนาดไหนแล้วมันไม่ได้ดั่งใจเรา มันไม่มีวันเป็นไป แล้วเราทำของเราอยู่อย่างนั้น ไม่มีคนชี้นำ เราจะทำได้อย่างไร ถ้ามีคนชี้นำขึ้นมา ทำไมไม่ไขน้ำเข้านา ในเมื่อที่มันแห้งแล้งอย่างนั้นมันจะไถหว่านได้อย่างไร ทำไมไม่เอาน้ำเข้ามา

นี่ก็เหมือนกัน ทำไมเราไม่ตั้งสติเราขึ้นมา ทำไมเราไม่ตั้งสติไม่ตั้งปัญญาเราขึ้นมา ทำไมเราไม่ดูศีลธรรมของเรา ศีลของเราเป็นปกติหรือไม่เป็นปกติ ศีลของเราดีหรือไม่ดี พื้นของเราดีหรือไม่ดี ถ้าพื้นเราดี เราต้องกลับมาดูที่นี่ ถ้ามันกลับมา กลับมาเตรียมความพร้อมของดิน ของน้ำต่างๆ ขึ้นมา การเกษตรนั้นมันก็จะมีประโยชน์ขึ้นมา แต่เราไม่เคยคิดเลย เห็นว่าทำนาๆ เราก็ทำนากันไป จะไถจะหว่านอย่างเดียว ถ้าจะไถจะหว่านอย่างเดียวมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ครูบาอาจารย์จะชี้มาตรงนี้ เพราะอะไร เพราะเราไม่มีความรอบคอบ เราไม่มีความสนใจ เราไม่มีความชำนาญของเรา เราไม่เคยมีประสบการณ์ นี่ครูบาอาจารย์สำคัญอย่างนั้น ถ้าครูบาอาจารย์สำคัญอย่างนั้น ใจเราจะลงไหม

ถ้าเราไม่เคยทุกข์เคยยาก เราไม่เคยแสวงหา เราไม่ต้องการความถูกต้อง เราก็จะว่าสิ่งนั้นไม่มีความจำเป็นเลย แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป โธ่! มันสุดวิสัยนะ มันเหมือนกับสุดวิสัยเลย เหมือนไม่รู้อะไรเลย แล้วมันทำไปอย่างไร เพราะอะไร เพราะทำด้วยอวิชชา ทำไปด้วยตัณหาความทะยานอยากของเราเอง ทั้งๆ ที่ว่า มรรค ความอยากโดยสัมมาทิฏฐิมันเป็นมรรค การกระทำของเราเป็นมรรค ความเพียรเราเร่งเข้าไปๆ เดี๋ยวมันต้องมีถูกมีผิดขึ้นมา มันก็ยังเข้าไปเผชิญกับสิ่งที่ว่าสุดวิสัย นี่คำว่า “เหมือนกับสุดวิสัย”

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ขึ้นมา ท่านจะให้อุบาย ถ้าบอกตรงๆ มันไม่เชื่อหรอก กิเลสมันไม่เชื่อใคร “ทำขนาดนี้แล้ว เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน อดนอนผ่อนอาหารมา ๑๐ วัน ๒๐ วันแล้ว มันไม่เห็นได้ผลอะไรขึ้นมาเลย แล้วจะให้ไปทำอย่างอื่น มันจะเป็นไปได้อย่างไร ขนาดทำมาขนาดนี้แล้ว” นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไม่ฟังใคร แล้วมันจะดื้อดึงมาก แล้วมันจะดื้อรั้นมาก แล้วมันจะอวดเก่งมาก แล้วมันจะว่าตัวมันถูกต้องตลอดไป ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ต้องมีอุบายวิธีการอย่างไรให้มันทวนกระแสกลับมา ให้จิต พลังงานที่ย้อนกลับ สิ่งที่พลังงานย้อนกลับนี้สำคัญมากเลย พลังงานย้อนกลับเข้ามาที่หัวใจได้อย่างไร

พลังงานที่ย้อนกลับเข้ามา พลังงานย้อนกลับมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ แต่มันเป็นใจของใครของมัน เป็นใจของใจดวงใดดวงนั้นนะ ใจดวงนั้นมันมีอำนาจวาสนา มันมีการกระทำของมัน กิจจญาณเกิดจากหัวใจ มันจะย้อนกลับเข้ามา ถ้าย้อนกลับเข้ามา มันเป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น นี่สันทิฏฐิโก จิตมันรู้เองเห็นเอง แต่กว่าจะรู้เองเห็นเอง มันจะรู้เองเห็นเองอย่างไร มันมีพลังงานที่ไหนมันย้อนกลับ มันมีน้ำที่ไหนไหลขึ้นที่สูง มีแต่เขาทดขึ้นไปต่างๆ เขาต้องมีพลังงานดึงมันขึ้นไป น้ำถึงจะขึ้นไป เพราะน้ำเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต

แต่ธาตุรู้มันมีชีวิตนะ ธาตุรู้มีชีวิตแล้วมันมีกิเลสครอบงำมันอยู่ มันจะไหลไปตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นล่ะ ไหลไปตามธรรมชาติของมัน กระแสของโลกเป็นอย่างนี้ วัฏวนเป็นอย่างนี้ ผลของวัฏฏะที่มาเกิดมานั่งกันอยู่นี่ สิ่งที่เกิดขึ้นมาเพราะความเผลอไผล ความไม่รู้จักธรรม ความไม่เข้าใจของมัน ถึงยังจะต้องเกิดต้องตายต่อไป การเกิดการตาย เกิดมาแล้วก็เกิดซ้ำ เกิดซ้ำขึ้นมา เกิดมาเป็นคฤหัสถ์ ยังเกิดอีกเป็นภิกษุ สมมุติสงฆ์ เกิดมาเป็นสมมุติสงฆ์ แล้วสมมุติสงฆ์ พอบวชขึ้นมาแล้ว อาวุโส-ภันเต นั่นบวชก่อน “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” อยู่แล้วเป็นอาวุโส มีสิทธิตามธรรมวินัย

สิทธิทางวินัยนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้เพื่อประโยชน์กับสงฆ์ ธรรมวินัยนี้เพื่อบังคับคนที่เก้อเขิน คนที่หยาบช้า ธรรมวินัยนี้เพื่อให้สงฆ์อยู่สุขอยู่สบาย ธรรมวินัยนี้บังคับไอ้คนเก้อเขิน คนเอารัดเอาเปรียบ กดขี่บังคับมันไว้ อย่าให้มันโผล่ออกมา

แต่คนที่เป็นธรรม ธรรมวินัยนี้ไม่ไปบังคับหรอก มันจะส่งเสริมด้วย คนที่อยู่สุขสบายแล้วให้อยู่สุขสบาย คนที่มีเจตนาดีเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อให้ทำตามศาสนา

แต่ทิฏฐิไง ทิฏฐิความเห็นของคนมันสูงมันต่ำ คนมันสูงมันต่ำ บวชแล้ว คนปรารถนาเพื่อเลี้ยงชีพ อย่างนี้อาวุโส ต้องทำตามอาวุโส อาวุโสจะพาทำอย่างไร จะเรี่ยไร จะหาเงินหาทองอย่างไรก็ให้ทำตาม แต่เราบวชเข้ามาแล้วในสังคมอย่างนั้น เราเห็นแล้วเรารับไม่ได้ เรารับไม่ได้ก็ต้องออกจากสังคมนั้น ดูสิ สังฆะ สังคมสงฆ์ อุโบสถสังฆกรรม นี่เราแยกของเราไป ถ้าสังคมมันเป็นสภาวะแบบนั้น นี่ยุคสมัย

บุญซ้อนบุญ เราเกิดมาเป็นคฤหัสถ์ เกิดอีกหนหนึ่ง เกิดมาเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุสมมุติสงฆ์ในสังคม สังคมของชาวพุทธ เกิดเป็นภิกษุ ภาษีก็ไม่ต้องเสีย รายได้ต่างๆ ยกเว้นให้หมด ไม่ต้องไปทำงานอย่างฆราวาสเขา ทุกอย่างไม่ต้องทำอะไรเลย ให้พยายามแสวงหา ถ้าการแสวงหา แสวงหาเพื่อใคร แสวงหาที่ไหน

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์สอนมาแล้ว ต้องเรียนปริยัติ อุปัชฌาย์ให้เรียนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นสงฆ์มาไม่ได้ เป็นสงฆ์มาไม่ได้เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้คนมันติดอยู่ ติดอยู่นี่มันบังเงาอยู่ กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้อยู่ แล้วอาศัยเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจออกหาเหยื่อ ออกหาผลประโยชน์ หากันไป อาวุโสอย่างนี้หรือ

อาวุโสเขาต้องคายเหยื่อ คายมันออกไป คายทิฏฐิมานะ คายความเห็นออกไป แล้ววิธีคาย คายอย่างไร ถ้าจะคายมันต้องคายให้ถูกต้องสิ ในเมื่ออยากเป็นอาวุโส มันก็ต้องมีคุณธรรมในอาวุโสนั้น อาวุโสนั้นต้องเป็นผู้ปกป้อง ต้องเป็นผู้ชี้นำ ต้องเป็นคนบอกความผิดความถูกกับภันเต

เราเป็นภันเต สัทธิวิหาริก เราบวชมาใหม่ ทุกคนบวชมาใหม่ทั้งนั้นน่ะ คนเริ่มบวชขึ้นมา ไม่มีพรรษาเลยนะ แล้วจะเอาที่พึ่งกับใคร แล้วมองไปที่ไหนมันมีที่พึ่งไหม พึ่งที่ไหนก็ไม่ได้ แหล่งน้ำที่ไหนมันก็มีแต่แหล่งที่เน่าเสีย แหล่งน้ำเน่าเสียแล้วมันดำรงชีวิตกันอย่างไร แล้วจะยอมให้ตัวเองเน่าเสีย?

สิ่งที่เป็นอาวุโส ในเมื่อมันเป็นน้ำเน่าเสียอย่างนั้น เราก็กลั่นตัวเองออกมาให้เป็นน้ำเสีย มีแต่น้ำปัสสาวะ น้ำอุจจาระออกมา แล้วมันเป็นอาวุโสๆ อาวุโสอย่างนั้น น้ำนั้นมันกินไม่ได้ น้ำจะกินได้ น้ำต้องสะอาดบริสุทธิ์สิ น้ำสะอาดบริสุทธิ์ น้ำบริสุทธิ์มาจากไหนล่ะ

อาวุโสต้องกลั่นออกมาให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา แล้วจะให้สัทธิวิหาริกได้ดื่มกินน้ำนั้น ได้อาศัยน้ำนั้นดำรงชีวิตไง ถ้าอย่างนี้เป็นอาวุโส ยอมรับ ยอมรับอาวุโสโดยธรรมวินัย ไม่ได้ยอมรับอาวุโสด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ในเมื่อความเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความมีทิฏฐิมานะ ใครบวชในศาสนานี้ ถ้าอายุพรรษาต่ำกว่าต้องเป็นภันเต ต้องมาหนุนความคิด ต้องมาหนุนทิฏฐิมานะอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอย่างนั้นเลย

พระพุทธเจ้าบอกไว้ในธรรมวินัย ถ้าในสังคมสงฆ์ไหนมันเป็นอลัชชี เราบังเอิญธุดงค์ไป แล้วผ่านไปในสังคมนั้น ถ้าเขาทำสังฆกรรมกัน เขาลงอุโบสถกัน ทำสิ่งต่างๆ ที่มันทุศีล เราจะไม่ยอมมีกรรมกับเขาด้วย ให้ค้านไว้ในหัวใจ ทั้งๆ ที่อยู่ในสังฆกรรมนั้นนะ แต่เราไม่ยอมรับสังฆกรรมนั้น ให้ค้านในหัวใจ จะได้ไม่ต้องมีกรรมร่วมไปกับเขา การร่วมไปกับเขา มีกรรมร่วมไปนะ สภาคกรรม

ดูคนเกิดมาในสังคมสิ สังคมไหนมีความสุขความทุกข์ ความสุขความทุกข์มันเกิดมาจากไหน ทำไมเราต้องมาเจอร่วมกัน นี่สภาคกรรม ในเมื่อเขาทำทุจริตกัน เขาทำสิ่งที่เป็นโมฆะ-โมฆียะในศาสนา แล้วเราอยู่ในสังคมนั้น แล้วสังคมนั้นเราไปค้านเขาก็ไม่ได้ ถ้าเราไปค้านเขา มันก็เป็นทิฏฐิมานะ มันต้องมีปัญหากัน เราก็ค้านไว้ในหัวใจ เราไม่ยอมรับก็ได้ ในเมื่อมันเป็นแหล่งน้ำที่เสียหาย เป็นแหล่งน้ำที่ไม่มีประโยชน์ ไปรดพืชผัก พืชผักมันก็ตายหมด เราไม่ใช้สังคมอย่างนั้น สิ่งที่เป็นอย่างนี้มันจะเป็นอาวุโสทำไม อาวุโสทำมาเพื่อให้มันร่วงโรยไป ให้ศาสนามันเศร้าหมอง ให้มันเป็นอะไรไป แล้วยังมาทิฏฐิว่าไม่ยอมรับอาวุโส

ทำไมจะไม่ยอมรับอาวุโส เพราะอาวุโส-ภันเตเป็นธรรมวินัย เห็นไหม ธรรมวินัย ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเชิดชูไว้บนศีรษะเลยนะ ธรรมวินัย “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” แล้วเราปฏิบัติเพื่อธรรมวินัย ปฏิบัติเพื่อตถาคต แล้วไม่ยอมรับตถาคตเสียเอง มันจะเป็นธรรมวินัยขึ้นมาได้อย่างไร ใจมันจะเป็นธรรมวินัยขึ้นมาไม่ได้ ใจมันจะเป็นธรรมได้อย่างไร ถ้าใจมันเป็นธรรม มันจะไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วธรรมของมันในหัวใจกับธรรมของพระพุทธเจ้ามันเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร

ในเมื่อ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วธรรมวินัยล่ะ ในเมื่อหัวใจเป็นธรรมแล้วมันคัดค้านกับธรรมวินัยได้อย่างไร เว้นไว้แต่มันเป็นอลัชชี! มันเป็นอลัชชี มันไม่ยอมรับ

ปากว่ายอมรับครูบาอาจารย์ ว่าสิ่งนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ธรรมวินัย ต้องยอมรับอาวุโส-ภันเต แต่เวลาการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ต้องการสิ่งใด ครูบาอาจารย์ต้องทำอย่างไร ดูสิ ในวัตรปฏิบัติ อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริก ถ้าอุปัชฌาย์กระสันอยากสึก เราจะต้องมีวิธีการ ต้องมีอุบาย เราต้องซักผ้า เราจะทำข้อวัตร ถ้าสัทธิวิหาริก ผู้ที่อุปัฏฐากเป็นผู้ป่วยขึ้นมา อุปัชฌาย์อาจารย์จะต้องซักผ้าให้ จะต้องเอาอาหารมาให้ ต้องดูแล นี่ข้อวัตรมันมีนะ อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร วัตรมีทุกอย่างหมดเลย

แล้วครูบาอาจารย์ของเรา ปฏิญาณตนกันนะว่าเป็นลูกศิษย์ ทุกคนก็ว่าเป็นลูกศิษย์ ทุกคนก็รักครูบาอาจารย์ทั้งหมดเลย แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำหน้าที่การงาน ท่านก็ต้องการปรารถนา ต้องการอุ้มโลก ท่านต้องการช่วยเหลือสังคม ทำไมมันคัดค้านกัน ทำไมมันคัดค้านกัน เวลามันคัดค้าน ต่อหน้าก็ว่าเป็นลูกศิษย์ ลับหลัง พฤติกรรมน่ะ มันคัดค้านด้วยพฤติกรรม! ปากพูดดีทั้งหมดเลย พฤติกรรมอย่างนี้มันคัดค้าน มันทำลายกัน อย่างนี้เป็นอาวุโสหรือ

เวลาคนอื่นเขาทำไปตามธรรมวินัย ครูบาอาจารย์ต้องการสิ่งใด มีความปรารถนาสิ่งใด เราทำวัตรปฏิบัติ เราร่วมมือไป นี่ต่างหากถึงว่ายอมรับอาวุโส-ภันเต การยอมรับอาวุโส-ภันเต คือความเห็นตรงกัน การร่วมกระทำมันตรงกัน มันทำอะไรร่วมกัน สิ่งนั้น นี่เคารพอาวุโส-ภันเต

แต่มันอ้างถึงว่าอาวุโส แต่ครูบาอาจารย์ท่านดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ ขัดขวางตลอด ขัดขวาง โต้แย้งตลอด การขัดขวางโต้แย้งอันนั้น นี่ไม่เคารพในอาวุโส-ภันเต ความไม่เคารพอาวุโส-ภันเตคือความคัดค้านในใจของเขา ในการโต้แย้งของเขา แล้วก็ไปทำกันใต้ดิน ไปต่อต้าน ไปหาทางคัดค้านเอา อย่างนี้เป็นอาวุโสไหม

ในเมื่อถ้าเป็นความจริง ทำไมไม่กล้าทำต่อหน้า ทำไมไม่ทำบนดิน ทำไมไม่ทำในที่เปิดเผย ในที่เปิดเผยนะ อ้างอิงกัน อ้างอิงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เราเป็นลูกศิษย์ลูกหา เราเป็นที่โปรด เราเป็นผู้ทำการแทน เราเป็นหัวหน้า เราเป็นต่างๆ นี่ในสิ่งที่เปิดเผย แต่ในทางลับ ในทางลับไม่เคยให้การส่งเสริม ไม่เคยให้ความร่วมมือ ไม่เคยทำสิ่งใดๆ เลย อย่างนี้หรือเรียกอาวุโส อาวุโส-ภันเตมันอยู่ตรงนี้หรือ

อาวุโส-ภันเตมันยอมรับกันตั้งแต่ในหัวใจ เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัตินะ

ดูนักวิชาการ ดูสิ เราเป็นนักวิชาการ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ถ้านักวิทยาศาสตร์เขาทดสอบทดลองมาแล้ว เราทดลองอย่างไรมันก็ต้องออกค่ามาเหมือนกันในทางวิทยาศาสตร์นั้น ถ้าจิตวิปัสสนาขึ้นมา มันเป็นธรรมขึ้นมาในหัวใจ ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านขึ้นมา มันเป็นธรรมขึ้นมา ถ้าในการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ถ้ามันออกค่ามาไม่เหมือนกัน มันจะเป็นสูตรวิทยาศาสตร์อย่างนั้นได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเชื่อมั่นว่าท่านมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าท่านมีคุณธรรมในหัวใจ ในการประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าปฏิบัติไปแล้ว ในเมื่อการกระทำนั้นออกมา คุณค่ามันต้องออกมาเหมือนกันสิ ถ้ามันออกมาเหมือนกัน มันก็เป็นธรรมเหมือนกัน ถ้าธรรมเหมือนกัน ในการคิดของท่าน ในการกระทำของท่าน มันจะมีกิเลสเข้ามาเจือปนได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีกิเลสเข้ามาเจือปนในสิ่งนั้น สิ่งนั้นมันก็เป็นธรรม แล้วเราคัดค้านไปนี่มันเป็นอะไร มันเป็นอะไร? มันก็เป็นกิเลสไง มันก็เป็นทิฏฐิมานะไง มันก็เป็นอลัชชีไง มันเป็นอลัชชีอย่างนี้ แล้วมันบอกว่าเป็นสิ่งที่เชื่อถือกันมา มันเป็นเรื่องโลกๆ นะ มันเป็นเรื่องการใส่หน้ากาก สิ่งที่เป็นการใส่หน้ากากเข้าหากัน

อาวุโส-ภันเต ในเมื่อครูบาอาจารย์ของเราเป็นธรรมอยู่แล้ว หลวงตาเป็นธรรม ครูบาอาจารย์ของเราที่อุ้มโลกอยู่นี่เป็นธรรม แต่ในการขับเคลื่อนไป ไอ้การที่โต้แย้งคัดค้าน อันนี้เป็นธรรมไหม? ไม่เป็นธรรม แล้วเวลาออกมาในหมู่คณะจะอ้างอาวุโส-ภันเต สิ่งนี้อ้างอาวุโส-ภันเต

อาวุโส-ภันเต มันต้องอาวุโส-ภันเตมาจากคุณธรรมสิ อาวุโส-ภันเตไม่ต้องมีใครบอกนะ ถ้าสิ่งที่เป็นธรรมอยู่ที่ไหน เทวดาฟ้าดินยังมาฟังเทศน์เลย เทวดามาฟังเทศน์นะ สิ่งต่างๆ มาฟังเทศน์ ยังมาปรึกษาข้อธรรม แล้วของเรามันต้องไปเรียกร้องใคร ในเมื่อเทวดา ในเมื่อพรหมอยู่บนฟ้าบนสวรรค์เขายังรู้ว่าอะไรดี อะไรผิดอะไรถูกเลย เขายังมาเคารพนบนอบ สิ่งนี้ต้องเรียกร้องไหม? มันไม่ต้องเรียกร้อง มันเป็นสัจธรรมความจริง

แล้วเราไปเรียกร้องอยู่นี่ สิ่งที่เรียกร้อง เรียกร้องอาวุโส-ภันเต อันนี้มันเป็นทิฏฐิมานะ อ้าง! อ้าง! อ้าง! อ้างธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ้างวินัย อ้างธรรมไง อ้างว่าเป็นธรรมวินัย ธรรมวินัยเป็นอาวุโส-ภันเต

“แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” ถ้าอยู่โดยซื่อสัตย์ อยู่โดยคุณภาพ สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่วาสนา วาสนาว่าเราปฏิบัติธรรม เราอยู่ขึ้นมา เราบวชขึ้นมา พรรษามากขึ้นมาขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ในเมื่อประพฤติปฏิบัติสุดความสามารถของเราแล้ว จิตใจเราซื่อตรงกับธรรมวินัย ถ้ามันยังไม่ได้ผลขึ้นมา อินทรีย์ พละ ความเป็นไปของใจ ใจมันรับสภาวธรรม

ดูสิ ดูพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี มันมีคุณค่าขนาดไหน อริยทรัพย์ ถ้าใจของเรามันมีคุณค่า หรือว่าสถานะมันจะยังรับสภาวะแบบนี้ไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาของเราไป เราวิปัสสนาของเราไป เราใคร่ครวญของเราไป สิ่งที่เราใคร่ครวญ เราทำของเรา สิ่งนี้ก็เป็นประโยชน์กับเรา ถึงมันจะไม่เข้าถึงคุณค่าอันนั้น ถึงมันจะไม่เข้าถึงธรรมวินัย ถึงไม่เข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็รักษาของเราไป มันซื่อสัตย์ ถ้าอาวุโส-ภันเตอย่างนี้ เคารพนะ เคารพด้วย เห็นใจด้วย เพราะการประพฤติปฏิบัติมันธรรมเหนือโลกไง

เราเกิดมาในโลก เกิดมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วเกิดซ้อนมาในภิกษุสงฆ์ ในสมมุติสงฆ์ แล้วถ้าเกิดมาในอริยทรัพย์จากภายใน เป็นอริยสงฆ์ในหัวใจ มันอยู่ในหัวใจนะ ถ้าเป็นอริยสงฆ์ในหัวใจขึ้นมา อันนี้เป็นสมบัติของเรา แล้วพระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ลบหลู่ครูบาอาจารย์ไม่ได้ ลบหลู่ภิกษุที่สูงกว่าไม่ได้

ภิกษุที่สูงกว่า ภิกษุที่มีอาวุโสสูงกว่ามันจะลบหลู่ได้อย่างไร มันไม่ลบหลู่หรอก ธรรมวินัยไม่ลบหลู่ แต่มันลบหลู่ไอ้กิเลสน่ะ มันลบหลู่ไอ้สิ่งที่แทงอยู่ข้างหลังน่ะ ไอ้ที่ทำลายกัน ไอ้อย่างนั้นลบหลู่ มันเห็นการกระทำของกิเลส อันนี้มันรับสภาวะอย่างนี้ไม่ได้ สภาวะอย่างนี้มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วเอามาซ่อนเร้นกัน เอามาซ่อนเร้นอยู่ในหัวใจ แล้วเอาออกมาทำลายกัน ออกมากระมิดกระเมี้ยนทำลายกัน แต่ผู้มีตาเขารู้ เขารู้ ผู้ที่มีตา ผู้ที่เขามีความรู้เขารู้เขาเห็น ถ้าเขารู้เขาเห็น เขาขยะแขยง เขารับสิ่งนี้ไม่ได้ เขารับสิ่งที่เป็นความขยะแขยงในหัวใจอันนั้นไม่ได้ ถ้ารับสิ่งที่ขยะแขยงไม่ได้ นั่นเป็นสิทธิของท่าน อากาศในโลกนี้ อากาศหายใจต้องขออนุญาตใคร ความรู้สึกของใจ ในเมื่อมันมีความเห็นอย่างนี้ มันต้องขออนุญาตใคร? มันขออนุญาตเหตุผลเว้ย! เหตุผลที่เราเห็น สิ่งที่ตามันเห็น มันเห็นแล้วมันรับไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่ออากาศหายใจ เรามีสิทธิ ทุกคนมีสิทธิหายใจเหมือนกันหมด เราเกิดมาเราก็มีอากาศหายใจ ทุกคนมีอากาศหายใจ โพรงจมูกใครก็โพรงจมูกมัน หายใจกันไปสิ อากาศของใคร อากาศเป็นของสาธารณะ ทุกคนก็หายใจได้

อันนี้ก็เหมือนกัน สิทธิความเป็นอยู่ของสงฆ์ ในเมื่อเราเป็นสงฆ์ เราเป็นพระ เรามีสิทธิ เพราะเราบวชมาโดยจตุตถกรรม เรามีสิทธิเหมือนกันในหมู่สงฆ์ เราก็อยู่ของเรา เราก็อยู่สิทธิของเราสิ ในเมื่อการเคารพหรือไม่เคารพมันบังคับใจกันไม่ได้ ความเคารพในสัจธรรมมันบังคับใจกันไม่ได้ แต่อาวุโส-ภันเต ในเมื่อเราไปอยู่ในสังคม เราออกไปในกฎจราจร แล้วออกไปในสังคม ถ้าอาวุโส-ภันเต อันนั้นก็ต้องเป็นไปตามอาวุโส-ภันเต มันธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของหยาบๆ เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของความเป็นอยู่ แต่มันไม่ใช่เรื่องของธรรม

เรื่องของธรรมเป็นเรื่องของความเห็นจากภายใน ความเห็นจากหัวใจที่มันเป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าหัวใจมันเป็นความเป็นจริง สิ่งที่เป็นความจริงแล้วมันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ มันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรม มันเป็นอฐานะที่มันจะทำความชั่ว

ความชั่ว ความต่างๆ มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นกุปปธรรม ธรรมเจริญ ทำสมาธิเจริญ ปัญญาเจริญ ว่าง ปล่อยวางกันหมด สิ่งต่างๆ เป็นความเจริญหมด เดี๋ยวมันก็เสื่อม กุปปธรรมมันเป็นอนิจจัง มันแปรปรวน มันไม่แน่นอน สิ่งนี้มันตลบหลังได้ มันคืน คือกิเลสมันฟื้นตัวได้ มันต่างๆ ได้ นี่กุปปธรรม

อกุปปธรรม อกุปปธรรม กิเลสมันตายไปจากหัวใจ ฟื้นไม่ได้ ไม่มีเชื้อ ไม่มีสิ่งใดให้มันฟื้น ไม่มี ไม่มีการสืบต่อ ไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นธรรมล้วนๆ ธรรมล้วนๆ มันเป็นธรรมอันเดียวกับธรรมวินัย ธรรมวินัยเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ออกมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกิริยาของธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา แล้ววางธรรมวินัยไว้ แล้วเราก้าวเดินตามนั้นมา เราจะมีความกตัญญูกตเวทีกับธรรมวินัยนั้นขนาดไหน นี่เราได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เราได้จากพ่อจากแม่ พ่อแม่มีคุณประโยชน์กับเราไหม

พ่อแม่ดีก็เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่ไม่ดีก็เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าพ่อแม่ไม่ดี คำว่า “ไม่ดี” ไม่ดีทางสังคมโลกนะ ไม่ดีในความเห็นของเขา ในความเห็นของโลก จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน แต่ดีไม่ดีก็แล้วแต่ก็คือพ่อแม่ของเรา ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ของลูก

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาจากธรรมวินัย โดยธรรมวินัย พ่อแม่ของเราดีอยู่แล้วด้วย เพราะเป็นศาสดา ไม่มีอะไรในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายอดเยี่ยมอยู่แล้ว สิ่งที่ดีอยู่แล้ว แล้วเราจะไม่ยอมรับ เป็นไปไม่ได้ เราไม่ยอมรับสิ่งที่ดี เป็นไปไม่ได้ ยิ่งใจมันเป็นสภาวะเป็นความจริงอยู่แล้ว มันเห็นของมันจริง มันรู้ของมันจริง มันจะปฏิเสธสิ่งที่เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นอฐานะ มันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นธรรมในหัวใจ ฉะนั้น เรื่องที่ว่าไม่เคารพอาวุโส-ภันเต มันเป็นไปไม่ได้เลย สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ เรื่องของความที่ไม่เคารพอาวุโส-ภันเต

แต่ผู้วิจารณ์ ผู้เห็น มันเป็นกิเลสตัณหา มันเอากฎหมายมาบังคับว่า สิ่งนี้ ในเมื่ออาวุโส-ภันเต ทุกคนต้องเห็น ถ้าอาวุโส-ภันเต สิ่งที่มันเห็นอาวุโส-ภันเต สิ่งนี้มันเป็นเรื่องกรอบไง แต่ในเมื่อความเป็นไป ในเมื่อหัวใจมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นสิ่งที่เป็นการกดขี่ มันเป็นการกดขี่นะ

เรานี่ขี้ทั้งตัวเลย เหม็นไปทั่วโลก แล้วจะให้คนบอกว่านี่เป็นน้ำหอม สิ่งนี้หอมมาก เป็นอาจารย์ของเรา ลอยมาจากสวรรค์ ตัวเขียวๆ เลย เป็นไปไม่ได้ นี่มันเป็นอกุศล สิ่งที่เป็นอกุศลในหัวใจ สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาในหัวใจ มันปกปิดมันไว้ ทั้งๆ ที่ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิดไว้ ความชั่วทั้งตัว ความอกุศลในหัวใจทั้งหัวใจเลย เอาธรรมวินัยปิดไว้ว่าเป็นอาวุโส จะต้องให้ใครยอมรับ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นี่ช้างตายทั้งตัว เหม็นไปทั่วเลย ความเห็นการกระทำของเรานี่เหม็น เหม็นเด็ดขาด จะปกปิดขนาดไหนก็เหม็น

กลิ่นของมนุษย์นี่กลิ่นคาว เทวดาได้กลิ่นคาวยังไม่อยากเข้าใกล้เลย นี่กลิ่นของอกุศล กลิ่นของกิเลสมันอยู่ในหัวใจ ทั้งๆ ที่ว่าเป็นสงฆ์นี่แหละ เป็นพระนี่แหละ แล้วเป็นอาวุโสด้วย เป็นพระที่มีศักยภาพด้วย แต่ในหัวใจมันเป็นบาปอกุศลทั้งหมดเลย มันจะออกมา กลิ่นของมันเหม็น ในเมื่อกลิ่นของมันเหม็น คนเขาได้กลิ่นนะ

อย่าเอาสิ่งนี้มากดขี่กัน อย่าเอาสิ่งนี้มาแอบอ้าง ไม่ต้องมาแอบอ้าง ความเป็นจริงต้องเป็นความเป็นจริง ถ้ามันจริง มันจริงของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมาหรอก ไม่ใช่กลองจัญไร ไม่ได้ตีเลย มันดังของมันเอง กลองมันต้องมีคนเขาตีสิ กลอง ระฆัง ถ้ามีคนตี มันจะมีเสียงกังวานของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เขาได้ถามหรือเปล่า เขาได้ขอนิสัยตัวหรือเปล่า เขาได้มีความจำนนหรือเปล่า ถ้ามีความดี เขาเข้ามาตี เขาเข้ามาเคารพนบนอบ อย่างนั้นค่อยดัง ถ้ามันดัง กลองเขาตีแล้วค่อยดัง ไม่ใช่กลองจัญไร กลองจัญไร เสียงมันดังกระหึ่มไป มันต้องการให้คนกลัว มีแต่คนวิ่งแตกตื่นหนี มีแต่คนแตกตื่นหนีมัน เพราะว่าเขาตกใจว่าไม่ได้ตี มันดังได้อย่างไร สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์หรอก

ถ้าเป็นประโยชน์นะ ให้มีสติสัมปชัญญะ ให้ยอมรับความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริง สิ่งที่มีว่ามี สิ่งที่ไม่มีว่าไม่มี ไม่มี ถ้าในหัวใจเราไม่มี เราก็อยู่เป็นพระเหมือนกัน น่าสลดนะ น่าสลดสังเวชมาก ถ้าใจไม่มีคุณธรรมในหัวใจก็ต้องยอมรับเสีย ยอมรับ แล้วอย่าให้กิเลสมันขี่หัว

นี่ไม่มีคุณธรรมในหัวใจ แต่กิเลสมันขี่หัว อยากดังอยากใหญ่ อยากขี่เสือ อยากนั่งหลังเสือ มันตะปบตายนะ

ถ้ามันมีความจริงขึ้นมา มันไม่ใช่ขี่หลังเสือ มันเป็นธรรมในหัวใจ มันเป็นความจริงของมันอย่างนั้น อย่าให้กิเลสมันแซงหน้าสิ อย่าให้กิเลสมันออกหน้านะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ดูหัวใจของเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ไม่จำเป็นเลย ครูบาอาจารย์เราอยากอยู่เฉยๆ อยากอยู่ในป่า อยากอยู่คนเดียว สุขสงบ มันสงบในหัวใจ คนเข้ามาวุ่นวายเดือดร้อน มันเป็นสิ่งที่เป็นภาระไปทั้งหมดเลย ถึงว่าไม่ต้องการให้ใครมานับหน้าถือตาหรอก การนับหน้าถือตา โลกธรรม ธรรมเก่าแก่ ถ้าคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไปกินเหยื่อ ไปกินเหยื่อกับสิ่งที่เป็นลาภสักการะ แล้วโมฆบุรุษตายเพราะลาภ โมฆบุรุษตายเพราะต้องการให้เขามายอมรับ ถึงว่าเป็นอาวุโส ต้องเป็นคนอื่นมายอมรับ มายอมจำนน

อย่า! ไม่จริงหรอก ถ้าเราดีจริงนะ หลวงปู่มั่นท่านเคยออกสังคมไหม หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์จะเข้าไปหาท่าน ต้องเดินเข้าไป คฤหัสถ์อยากไปทำบุญกับหลวงปู่มั่น ต้องซื้อทาง ซื้อแปลงนาของเขาเลย เพราะผู้เฒ่าผู้แก่เดินไม่ไหว นั่งเกวียนไป จะต้องซื้อทางผ่านนาเขาไป ดั้นด้นเข้าไปเพื่อจะไปกราบเคารพครูบาอาจารย์ของเรา นี่ท่านออกมายุ่งไหม

ความเป็นจริงมันเป็นจริงของมันอย่างนั้นนะ มันไม่ดิ้นรน ไม่หิวไม่กระหาย ความไม่หิวไม่กระหาย ไม่ต้องไปกังวลว่าพระที่ไหนเขาจะไม่เคารพบูชาเรา จะไม่มีใครเคารพนบนอบเรา ไม่มีถืออาวุโส-ภันเต

อาวุโส-ภันเต ขอให้เจอหน้ากันสิ ถ้าพรรษามากกว่าหรือบวชวันเดียวกัน แต่เวลาต่างกัน จะกราบให้ดู กราบเลย ไม่ได้กราบอลัชชี กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบธรรมวินัย จะกราบธรรมวินัยนะ เคารพธรรมวินัยมาก แต่ไอ้เปรต ไม่เคารพ เปรตคือเปรต ธรรมวินัยเป็นธรรมวินัย เราต้องแยกออก ๒ ส่วน แล้วเราจะอยู่ด้วยความไม่เศร้าหมอง ชีวิตเราจะไม่เศร้าหมองนะ ชีวิตเราจะอาจหาญ ชีวิตจะรื่นเริง กราบก็กราบธรรม กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมเป็นหนึ่งเดียวอยู่ในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว ในหัวใจเราเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ในเมื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สูตรทฤษฎีทั้งหมดอยู่ในหัวใจเรา การเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวของโลก เราเข้าใจหมด แล้วมันจะไปตื่นเต้นกับอะไร หัวใจดวงนี้จะตื่นเต้นกับใคร หัวใจดวงนี้จะไปหวั่นไหวกับสิ่งใด จะไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดๆ เลย ไม่ต้องไปหวั่นไหวกับใครทั้งสิ้น ขอให้ประพฤติปฏิบัติไป เขาจะพูด เขาจะติเตียน เขาจะนินทาขนาดไหน มันปากสกปรกจากข้างนอก ไกลแสนไกล หัวใจของเราอยู่กับเรา อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเราอยู่กับเรา เราจะต้องตื่นเต้นไปกับใคร

นี่ไม่ได้ตื่นเต้นไปกับใครเลย แต่ที่วิสัชนามานี้ก็เพราะว่ามันเป็นมารยาสาไถย มันเป็นมายา มายาเพื่อบอกว่าไม่เคารพในอาวุโส จะให้เราไปเคารพนบนอบเขา จะให้ก้มหัวไปหาเขาน่ะ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ้ามันเป็นความดี อยู่ที่ไหนเราก็เคารพ ไม่ต้องมากดหัว! มากดหัวไม่ได้! ถ้าเป็นธรรม ไม่มีการกดหัว ไม่ใช่โมฆบุรุษ มันเป็นสิ่งที่เห็นจริงๆ เราเห็นจริงๆ ของเราอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครมากด ไม่ต้องมีใครมาข่มขี่ ถ้าเป็นจริง จะวิ่งไปกราบเอง จะวิ่งไปสาธุเอง จะวิ่งไปยอมรับเอง เอวัง