เทศน์พระ

เทศน์พระ ๓๘

๖ มี.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์พระ วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรม ตั้งใจนะ ฟังธรรม ธรรมะ ดูสิ ทางโลกเขา ดูโลกเขาน่าสงสารมาก เพราะตอนนี้ใครมาหาก็บอกว่าทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ ความทุกข์ของเขา ทำมาหากินแสนทุกข์แสนยาก แสนทุกข์แสนยากเลย เพราะอะไร เพราะเรื่องของเขา เรื่องของทุกข์ เศรษฐกิจมันแย่มาก เศรษฐกิจแย่มากแล้วเขาก็ต้องหาอยู่หากินของเขา เขาหาอยู่หากินของเขา เขาก็ทุกข์ของเขา นี่ทุกข์ของโลกมันมหาศาลนะ ถ้าทุกข์ของโลกมหาศาลแล้ว เราหนีโลกมา ถ้าเราหนีโลกมา พอใจมันมาเคยชินกับธรรม ธรรมและวินัย ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วเราไปคุ้นชิน ครูบาอาจารย์ท่านถึงไม่ให้คุ้นชินไง เขยใหม่ ถ้าเขยใหม่ ดูสิ เราบวชใหม่ๆ เราจะกลัวไปหมดเลย ไอ้นั่นก็จะผิด ไอ้นี่ก็จะผิด ผิดไปทั้งนั้นแหละ แต่พอมันชินชาหน้าด้าน มันไปคุ้นชิน เห็นไหม

โลกเขาก็ทุกข์ โลกเขาหาทางออกกัน แล้วเรามีศรัทธาความเชื่อ เขาหาทางออกอยู่แล้ว เรามาแล้ว เราอยู่ในศาสนา เป็นสมมุติสงฆ์ ถ้าสมมุติสงฆ์ เราต้องตื่นตัวสิ ถ้าเราตื่นตัวขึ้นมา ชีวิตเราจะมีคุณค่านะ

ของมันเป็นของร้อนทั้งนั้นน่ะ ถ้าใครไปจับของร้อน มันมีแต่เจ็บไข้ได้ป่วย มือมันต้องพอง แล้วของเรามันอยู่กับธรรมวินัย ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกในธรรม ถ้าพวกเรา สิ่งที่เราปฏิบัติ อลัชชีเวลากินข้าวไปเหมือนกินถ่านแดงๆ เลย ถ่านแดงๆ ใส่เข้าไปในปาก แต่เราไม่เห็น อะไรถ่านแดงๆ อร่อย กับข้าวอร่อย สิ่งที่อยู่ในบาตรนี่ของน่ากินทั้งนั้นน่ะ ของน่ากินมันเป็นเพราะกิเลสมันมองนะ

แต่ถ้าเป็นธรรมมันมองสิ่งนี้ ดูสิ ทางการแพทย์เขายังรู้เลย ผู้ที่เป็นหมอ อะไรกินเข้าไปแล้วมันเป็นผลร้ายกับร่างกาย เขาจะเลือกของเขา แม้แต่เขาเรียนทางการแพทย์เขายังรู้เลยว่าอะไรควรไม่ควร แล้วนี่เราเรียนเรื่องธรรมวินัย สิ่งที่เป็นธรรมวินัย ถ่านแดงๆ เข้าไปในปากเลย เพราะอะไร เพราะเวลามันให้ผลแล้ว เวลากรรมมันให้ผล เราทุกข์ยากมาก นี่เวลากรรมให้ผล ทีนี้กรรมมันยังไม่ให้ผลสิ กรรมยังไม่ให้ผลเพราะอะไร เพราะเราทำคุณงามความดีมา

เพราะเราไม่มีบุญกุศล เราไม่ได้เกิดเป็นพระ เราไม่ได้เกิดเป็นโยม ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ นี่เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วยังมีศรัทธาความเชื่อในศาสนา ศรัทธาความเชื่อในศาสนา ดูสิ เขาเรียกร้องโอกาสกัน คนเขาเรียกร้องโอกาสกัน ขอให้เขามีโอกาสได้แสดงความสามารถของเขาบ้าง เขาไม่มีเวทีแสดงความสามารถของเขา ถ้าเขามีเวทีแสดงความสามารถ เขาจะแสดงความสามารถของเขาว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสามารถมาก ทำไมสังคมไม่ให้โอกาสเขาเลย เห็นไหมเขาเรียกร้องโอกาสเขามาก นี่เขาไม่มีโอกาสของเขา อันนี้มันเรื่องของกรรม เรื่องของกรรม เพราะวาสนาของคนไม่เหมือนกัน คนเกิดมา เกิดมาจากพ่อแม่เหมือนกัน พ่อแม่เดียวกัน โอกาสยังไม่เหมือนกันเลย แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วยังมีศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อในศาสนา ถ้าความเชื่อในศาสนา ในศาสนาพุทธด้วย ดูสิ ในลัทธิอื่นๆ เขาว่าเป็นศาสนาเหมือนกัน มันเป็นลัทธิ ลัทธิอื่นๆ

“สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

แล้วศาสนาพุทธของเรามันมีมรรค มัคคา มรรคเครื่องดำเนิน มัคคามันอยู่ที่หัวใจ มัคคา เครื่องดำเนิน มัคคาอันนี้เราแสวงหาของเรา ถ้ามัคคาอันนี้มันเกิดขึ้นมา มันต้องมีภาวะรองรับ ภาวะนะ ภาวะรองรับ จริตนิสัยของคน ดูสิ จริตนิสัยของคนที่มันจะมีเชาวน์ปัญญาขนาดไหน มันจะมีจุดยืนขนาดไหน มันก็เป็นกิเลสของเขา กิเลสที่มันละเอียดมันหยาบต่างกันในใจนั้น ถ้ามันหยาบละเอียดต่างกันในใจนั้น ถ้ามัคคะมันสมดุลกับใจนั้น มันก็แก้กิเลสของใจนั้น

สิ่งที่มันว่าเป็นธรรมๆ ที่มันจะเกิดขึ้นมา มันต้องมีภาวะของเรารองรับ ภาวะรองรับอันนี้ เห็นไหม เราถึงต้องดูใจเราไง สิ่งที่ใจเรา ดูความเป็นอยู่ของเราสิ ที่เราเป็นอยู่แบบพระป่า เราอยู่บ้านนอกคอกนา บ้านนอกคอกนามันเจาะจง บิณฑบาตมันเจาะจง เจาะจงว่าบ้านนั้นๆ มันมีไม่กี่บ้านไง แล้วมันเจาะจงไม่กี่บ้าน มันก็เป็นการวัดใจกัน วัดใจกันเพราะอะไร เพราะเขาเป็นคนให้ เขาเป็นคนให้ เขาว่าเขาต้องมีคุณมากกว่าเรา เพราะเขาเป็นคนให้เรา

แต่เขาไม่ได้เข้าใจเลยว่าเราเป็นคนให้ เราเป็นคนให้ธรรมเขา เราให้โอกาสเขา โอกาสเขาได้ทำบุญกุศลของเขา ถ้าไม่มีพระ เขาจะทำบุญกับใคร เขาไม่มีหรอก แต่ด้วยความที่ว่าเขาเป็นคนทุกข์คนจน คนทุกข์คนจน สิ่งที่เขาหามามันมีคุณค่าทั้งนั้นน่ะ ข้าวเมล็ดหนึ่งก็มีคุณค่านะ

ยิ่งในปัจจุบันนี้ ดูสิ เขาเอาไปทำพลังงานทดแทน ต่อไปอาหารจะแพงขึ้น โลกนี้กำลังจะปรับตัว ทุกอย่างมันจะมีคุณค่าของมันหมดเลย อาหารจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก เพราะอะไร เพราะเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เราถึงว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไปที่ไหนมันก็มีกิน ไม่ทุกข์ไม่จนหรอก แต่เราไปตื่นเต้นกับเรื่องเทคโนโลยี เทคโนโลยีมันกินไม่ได้ พอมันกินไม่ได้ พอมันเสื่อมค่าไปๆ ต่อไปอาหารจะมีคุณค่ามาก อาหารมีคุณค่ามากเพราะมันต้องกินทุกวัน แล้วถ้ามีคุณค่า จะเกิดจลาจลก็เพราะเรื่องอาหาร เรื่องอาหาร ปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ มันจะมีคุณค่าขึ้นมาแล้ว เพราะอะไร เพราะจะมีราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ นี่สิ่งที่มีราคาแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

สิ่งที่มันมีคุณค่า แล้วคนทุกข์คนจนเขาหาสิ่งนี้มา แล้วเขาจะให้เรา เขาจะสละทาน คนทุกข์คนจน สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขา แล้วเขาสละมา เขาต้องมีประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราเป็นคนดีของเรา เขาจะให้หรือไม่ให้ กาลเวลามันพิสูจน์ ความดีความชั่วมันพิสูจน์กันเอง แม้แต่ตามองตากันมันรู้นะ คนทำดีทำชั่วในหัวใจมันปิดไม่อยู่หรอก มันอยู่ในหัวใจของเรานี่แหละ มันแสดงออกมาจากใจนี่แหละ เปิดอกเราเลย อกเรามีเท่านี้

ถ้าเรามีจุดยืนของเรา อิ่มบ้างอดบ้างมันเรื่องธรรมดา ขณะที่เขาเข้าใจผิด เขาไม่เห็นด้วยกับเรา นั่นมันเรื่องของเขา แต่ถ้าเมื่อไหร่เขาเข้าใจถูกของเขาขึ้นมา เขาจะเสียใจภายหลัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย แต่ธรรมะ ธรรมะมันอยู่ในหัวใจของเรานะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ดูสิ เรามีศรัทธาความเชื่อแบบเขา เราถึงได้ออกมาจากคฤหัสถ์ มาเป็นบรรพชิต เป็นบรรพชิต เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เรายืนอยู่นี่ เรามองออกไปที่โลกสิ ดูเวลาเมื่อก่อน ความเป็นอยู่เขามีความสุขอุดมสมบูรณ์พอสมควร แล้วมันอัตคัดขาดแคลนไปเรื่อย อัตคัดขาดแคลนนะ เราจะต้องเจือจานกัน ต้องหาแหล่งน้ำ ต้องหาอาหาร คำนวณเลย ผู้บริหารเขาต้องหาอาหาร ต้องหาแหล่งน้ำ ต้องมีพื้นที่เพาะปลูกขึ้นมาเพื่อจะมีอาหารเลี้ยงประชากร ประชากรจะมีเท่านั้น ต่อไปในอนาคตมันจะมีเพิ่มมากขึ้น จะต้องอยู่ต้องกินขนาดไหน ต้องคิดคำนวณกันไปตลอดเวลา

สิ่งนี้ แล้วสิ่งที่เขาหา มันเป็นโอกาสของคนแต่ละคน โลกก็เดือดร้อน ในโลกเดือดร้อนแล้ว เราหนีมาแล้ว เรามาเป็นพระแล้ว เราเป็นภิกษุแล้ว เราก็ไปเห็นภัยแล้ว มันก็ยังเป็นโลกอยู่ เป็นโลกอยู่เพราะใจเรายังเป็นโลกอยู่ ถ้าใจเราเป็นโลกอยู่ เราต้องรักษาใจเรา อย่าให้มันตื่นเต้นไปกับโลกเขา ถ้ามันตื่นเต้นไปกับโลกเขา ในนวโกวาท ที่ไหนมีเสียงดัง เราไปกับเขา นี่ไม่มีจุดยืนเลย ที่ไหนมีการละเล่น มีเสียง มีฟ้อนรำ ไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันอยู่กับเรา เราเป็นพระภิกษุบวชมาอยู่โคนไม้ รุกฺขมูลเสนาสนํ เพื่อจะหาตัวตนของเรา แต่มันฟังแต่ข่าวเขานะ ที่นั่นมีงานนั้น ที่นั่นมีงานฉลองไอ้นั่น ที่นั่นมีพัดยศ ที่นั่นมีงาน อยากไป อยากยุ่งไปกับเขาหมดเลย “อ้าว! ก็พระเหมือนกัน เขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ”...พระเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

ดูสิ ดูวัวสิ วัวที่เขาใช้ วัวเขาขุนเอาไว้เพื่อจะเชือดเป็นอาหาร กับวัวที่เขาใช้ทำงานไถนา เขามีคุณ เขามีคุณ คนที่เขาเห็นคุณ เห็นคุณของสัตว์ สัตว์เดรัจฉานมันไถนา ให้มันทำนามากับเราตั้งแต่มันเกิดมา ตั้งแต่ได้มันมา จนมันแก่เฒ่า เขาไม่เอาไปขาย เขาไม่ฆ่ากินนะ เขาเก็บไว้จนมันตายไปเอง แล้วเขายังทำบุญกุศลให้มันอีกด้วย นี่สัตว์มีคุณ ถ้าสัตว์มันมีคุณ วัว เขาเลี้ยงไว้เป็นอาหารก็มี เขาเลี้ยงเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์การงานขึ้นมา แล้วเขาเห็นคุณของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเป็นโลกอยู่ โลก แต่โลกเหมือนวัว วัวงานเว้ย! มันไม่ใช่วัวขุน วัวขุนมันจะรอให้เขากินเนื้อ มันจะรอให้เขาเอาไปเชือด เราเป็นวัวขุนหรือวัวงาน ถ้าเป็นวัวงาน เราก็ต้องอยู่ในโลก ก็ต้องพยายามหาทางออก ถ้าหาทางออก มันจะไม่ตื่นเต้นไปกับเขา ไม่ตื่นเต้นไปกับโลก อยู่กับโลก เราก็โลก ว่าไม่ใช่โลกๆ...ไม่ใช่โลกที่ไหน ก็มนุษย์เหมือนกัน

พระก็เป็นคน พระก็เป็นคนคนหนึ่ง แล้วพระเป็นคนคนหนึ่ง แล้วพระจะไปตื่นเต้นอะไรกับเขา ในเมื่อเราเห็นภัยใช่ไหม ดูสิ มองขึ้นมา มันมองขึ้นมาให้เป็นธรรม โลกมันเป็นอย่างนั้น โลกเขาเดือดร้อนกัน เดือดร้อนต้องแสวงหา ในเมื่อเราเกิดมา ชาติปิ ทุกฺขา มีชาติ ชาติการเกิดเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ในเมื่อชาติการเกิดเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง เราจะลบภพลบชาติ เรามาลบภพลบชาติ เราจะทำอย่างไร

ถ้าทำอย่างไร ชาติมีการเกิดอย่างนี้ เราจะเกิดอีกไหม ถ้าเกิดมา ในปัจจุบันชีวิตเราทั้งชีวิต เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกขนาดนี้อยู่แล้ว แล้วยังคิดไปข้างหน้า แล้วเราเกิดมา ถ้าเกิดมาใหม่อีกต่อไปมันจะเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นอย่างไร แล้วมันต้องเกิดอีกไหม ถ้าเกิดอีกก็เกิด ถ้ามันไม่ถึงที่สุด อยู่ในวัฏสงสารก็ให้บุญพาเกิดเถิด ถ้าการประพฤติปฏิบัติ เราลงทุนลงแรงเต็มที่แล้ว ดูสิ ดูวัวงานสิ วัวงานนี่วัวไถ ไถดีก็มี ไถไม่ดีก็มี วัวที่มันตั้งใจก็มี วัวที่มันเกเรก็มี ขนาดวัวงานเหมือนกันมันก็ยังมีเกเร มันก็ยังมีตั้งใจทำงานของมันนะ มันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ในดวงใจ ภาษาใจมันสื่อกันได้ มันมีสุขมีทุกข์เหมือนกัน เราเป็นเจ้าของมัน เราก็เห็นเหมือนกัน บางทีอารมณ์เราก็โกรธขึ้นมาเหมือนกัน ไถไปแล้วมันไปเจอรากไม้ เจออะไรต่างๆ มันก็ต้องสะดุด มันก็ต้องมีอุปสรรคอยู่ตลอดไป อุปสรรคของเราจะแก้ไขกันอย่างไร วัวมันจะพาหลบหรือเราจะพาหลบล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นไป กว่ามันจะทำสมาธิได้ กว่าเราจะเห็นคุณประโยชน์ของเรา กว่าเราจะเห็นนะ ทั้งๆ ที่มันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์นะ ชีวิตนี้เป็นประโยชน์มาก ชีวิตนี้ทำให้เราออกจากทุกข์ได้ ชีวิตนี้ยังมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก อานาปานสติ คนไม่มีชีวิตจะไปภาวนาอะไร

ถ้ามาภาวนา สิ่งที่ภาวนาทำเป็นพิธีกรรม เราปั้นตุ๊กตาขึ้นมาคนหนึ่งก็ได้ ปั้นตุ๊กตา ปั้นพระพุทธรูป เกจิอาจารย์ เขาปั้นมามีชื่อเสียงโด่งดัง เขาปั้นกันทั้งนั้นน่ะ เราก็ปั้นเราสักคนหนึ่ง เราก็ปั้นเราสิ เกจิ เราก็เป็นเกจิ ปั้นรูปเราแล้วตั้งไว้ มันจะเป็นเอง นี่วัวงานไง มันเป็นพิธีเฉยๆ มันก็เป็นแค่นั้นแหละ มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ปั้นรูปเหมือนมาขนาดไหนมันก็เหมือนแค่นั้นล่ะ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิต มันมีความรู้สึก ความรู้สึกอันนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา

รูปปั้นมันก็เป็นรูปปั้น รูปปั้นที่ศักดิ์สิทธิ์จริงก็มี รูปปั้นเพราะปั้นกันเองก็มี ปั้นขึ้นมาเพื่อหาเงินหาทองก็มี ปั้นขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์ก็มี สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของโลกๆ เขา แต่โลกมันเป็นสิ่งที่มันเป็นเรื่องของหยาบๆ เรื่องหยาบๆ เรื่องมวลชนของเขา

แต่ของเรา อย่างไรก็แล้วแต่ ชีวิตเรามีคุณค่า เราจะเอาชีวิตที่มีคุณค่าของเราให้รอดให้ได้ ถ้าชีวิตของเรามีคุณค่าได้ ชีวิตของเรา ชีวะ ชีวะคือชีวิต ชีวะคือผู้รู้ ผู้รู้คือเรา ถ้าผู้รู้คือเรา สิ่งที่เกิดดับๆ ความคิดเรามันเป็นจริตนิสัย สิ่งที่เป็นจริตนิสัย ขอนิสัย อยู่กับครูบาอาจารย์ ขอนิสัย ขอนิสัยก็ปรับนิสัยนี้ไง ปรับนิสัยให้เข้าสู่ธรรม ถ้าปรับนิสัยเข้าสู่ธรรม เราปรับเราเข้าสู่ธรรมะ ถ้าปรับเราเข้าสู่ธรรมะ มันจะเอาอะไรปรับล่ะ

ข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่ปรับ ดัดแปลงตน ถ้าดัดแปลงตนขึ้นมาได้มันก็ดัดแปลงใจ ถ้าดัดแปลงใจได้ ดัดแปลงใจได้มันเป็นผลประโยชน์ของใคร มันเป็นผลประโยชน์ของครูบาอาจารย์ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการสิ่งตอบแทนจากเราบ้างไหม ศาสดาของเราต้องการสิ่งตอบแทนจากเราบ้างหรือเปล่า ครูบาอาจารย์ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนจากเราเลย ใครทำใครได้ ใครทำ ใครแสวงหา คนนั้นเป็นคนได้

หายใจ ต่างคนต่างหายใจ หายใจออกมามันก็เพื่อฟอกอากาศ ฟอกเม็ดเลือดของเรา นี่มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้น ถ้าเราหายใจแล้วมันเป็นไปไม่ได้ล่ะ ปอดเราเสียหายล่ะ ปอดเสียหายมันก็ต้องแก้ไขไป สิ่งใดเสียหาย เราก็บำรุงรักษา

เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม

แล้วรักษาธรรม ธรรมมีในหัวใจให้เสียสละไหมล่ะ ถ้าธรรมไม่มีในหัวใจให้เสียสละ มันจะกล้าเสียสละไหม มันก็ไม่เสียสละ มันจะเสียสละชีวิตเอากิเลสต่างหากล่ะ เสียสละชีวิตเลย หลอกลวงเขาไป ทำเล่ห์เหลี่ยมหลอกเขาไปเรื่อย ถ้าเล่ห์เหลี่ยมหลอกเขาไปเพื่ออะไร? เพื่อเอาผลประโยชน์ เอาโลกธรรม โลกธรรมให้โลกสรรเสริญเยินยอ สรรเสริญเยินยอมันมีประโยชน์อะไร? มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะ เรารู้ทั้งนั้นน่ะ เรารู้อยู่เต็มหัวอก เราทำงาน ทุกคนแบกหามกันออกแรงทั้งนั้นน่ะ วัวงานมันไถนา มันลากแอกลากไถไป มันหนักไหม มันหนักทั้งนั้นล่ะ นี่วัวงาน

นี่ก็เหมือนกัน ทุกอย่างที่ทำไปเป็นกิจของสงฆ์หมดเลย กิจ ดูสิ ดูกิจ ข้อวัตรปฏิบัติมันก็เป็นงานอย่างหนึ่ง ภัตกิจ กินก็เป็นงานอย่างหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน งานอย่างหนึ่ง งาน ถ้าการแสดงธรรมเป็นหน้าที่นะ โธ่! การแสดงธรรมมันแสดงออกมาจากหัวใจ มันเป็นหน้าที่ มันเป็นความเมตตาว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเห็นแล้วมันสังเวช มันสังเวชมาก สังเวชว่ากิเลสมันขี่หัวพวกมึงอยู่นี่ แล้วมึงแสดงออกมากันทำไม เอากิเลสแสดงออกมาทำไม กิเลสมันมีประโยชน์อะไรถึงต้องเอามันแสดงออกมา

เอาธรรมแสดงออกมาสิ ธรรมะนี่แสดงออกมา ถ้าเอาธรรมะแสดงออกมา สิ่งที่ธรรมแสดงออกมาให้มันขัดเกลา ให้มันเห็นสิ่งที่มันเป็นกิเลสในใจเรา ขัดเกลามัน ต่อต้านมัน การต่อต้านมันเป็นประโยชน์กับเรานะ เรายิ่งแสดงออกไปขนาดไหน ครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำ “เปิดอกมาเลย ธรรมะฉันมีแค่นี้” ไปเปิดอกให้เขาดูทำไม เปิดอกให้เขาเห็นเลยว่าอกเราเน่าๆ เขามีแต่ปิดไว้

ดูสิ ดูพวกที่ขี่หลังเสืออยู่นี่ ที่มันไม่ยอมแสดงธรรม “ครูบาอาจารย์ยังอยู่” ที่มันไม่พูดเพราะมันกลัวเปิดอกเน่าออกมาไง ถ้ามันเปิดออกมา อกมันจะเน่า มันถึงต้องปิดไว้ อ้าง! อ้าง! “ครูบาอาจารย์ยังอยู่ แสดงไม่ได้” เพราะคิดว่าถ้าครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปแล้วจะไม่มีใครรู้ไง ถ้าเน่า ถ้าคนไม่เห็นเขานึกว่าดี นี่มันเหม็น ของเน่ามันเหม็น ไม่มีใครต้องการหรอก

ฉะนั้น สิ่งที่มันอ้างกันไป อ้างเล่ห์ อ้างเล่ห์หาทางออกกัน แต่ของเราไม่ใช่อ้างเล่ห์ นึกว่าพูดแล้วไม่มีใครรู้เท่าเรา ไม่รู้เท่าเราได้อย่างไร ของมันรู้ทั้งนั้นล่ะ มันเป็นไป แม้แต่ธรรมะ แสดงธรรมอยู่นี่ ผู้ที่เข้าไม่ถึงธรรมเขาก็ไม่เข้าใจ เขาไม่เข้าใจถึงธรรมของเขา เขาไม่เข้าใจก็ว่าสิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้ไม่มี เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมไง ถ้าความไม่เข้าใจ ใจเขาต่ำอย่างนั้น เขาไม่เข้าใจอย่างนั้น มันก็เรื่องใจของเขา มันเรื่องใจของเขา

เพราะใจเราสูงกว่า ดึงสิ่งที่ต่ำกว่าขึ้นมา พระโสดาบันแก้ปุถุชน พระสกิทาคามีแก้โสดาบัน พระอนาคามีแก้สกิทาคามี พระอรหันต์แก้อนาคามี แก้คือการบอกกล่าว บอกกล่าวว่าสิ่งนั้นผิดถูก ผิดถูก บอกด้วยเทคนิค บอกด้วยอุบายวิธีการให้ผ่านพ้นขั้นตอนนั้นเข้ามา ให้ผ่านพ้น หาทางหลุดพ้นออกไปจากสิ่งที่ใจมันติด

สวะ สวะมันติดสิ่งใดมันไปไม่ได้หรอก มันติดอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเราจะทำอย่างไรให้สวะมันหลุดออกไป ก็เอาไม้เขี่ยแล้วมันก็หลุด ถ้ามันเป็นสวะ มันไม่มีชีวิต แต่กิเลสมันมีมากกว่านั้นอีก กิเลสมันบอก “ฉันถูกต้อง ฉันมีความรู้ สิ่งที่จะมาแก้ฉันนั้น ไอ้สิ่งนั้นมันต่ำต้อย มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก สิ่งที่เป็นประโยชน์คือการเยินยอกันอยู่นี่ไง คือการสรรเสริญเยินยอกันอยู่นี่ นี่คือธรรม”

แต่สิ่งนั้นมันไม่เป็นธรรม เพราะอะไร เพราะมันเหี่ยวแห้ง มันไม่มีคุณค่าอะไรเลย

มันจืดชืด จืดชืดนี่เป็นธรรม สิ่งที่อยู่กันโคนไม้ อยู่กันโดยที่ไม่มีใครมาสรรเสริญเยินยอ อย่างนั้นมันเป็นธรรมได้อย่างไร...เป็นธรรมสิ เป็นธรรมด้วยความจริง มันเป็นความจริงของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแต่ละบุคคล

พระสีวลีมีลาภมหาศาลเพราะอะไร เพราะเขาสร้างของเขามา ถ้าเราสร้างของเรามา มันเป็นโดยธรรมชาติ มันเป็นโดยสัจจะความจริง ปิดไว้ขนาดไหนเขาก็มา สิ่งต่างๆ เขามาของเขาเอง เพราะอะไร เพราะเขาต้องการ เขาแสวงหาของเขา แต่ไอ้อย่างนี้มันไม่ใช่ อย่างนี้มันไม่ใช่เพราะอะไร เพราะเราต้องการ เราต้องการมันก็เป็นกิเลสเราทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่เป็นกิเลส มันไม่ควรแสดงออกไป ถ้าไม่แสดงออกไป มันไม่แสดงออกไปมันก็ไม่เปิดสิ่งเน่าเหม็นออกไปภายนอก

สิ่งที่เน่าเหม็นอยู่ภายใน เราก็แก้ไขของเรา เพราะสิ่งที่เน่าเหม็นอยู่ภายใน ดูสิ เชื้อโรคอยู่กับเรามันก็อึดอัด อึดอัดนะ สิ่งที่อึดอัดมันก็จะผ่อนคลายออกไป พอผ่อนคลายออกไป เราตั้งสติไว้ ต้องต่อสู้ ต้องทำลาย ถ้าต่อสู้ ทำลาย นี่เป็นหน้าที่การงานของเรา

วัวงานเขาไถคราดไถแปลงของเขาเพื่อจะหว่านข้าว เพื่อผลประโยชน์ของเขา ไอ้วัวงานของเรา เราก็ต้องดูจิตของเรา ไถด้วยสติสัมปชัญญะ มีสติตั้งไว้เป็นฐาน ปัญญาเกิดขึ้นมาไหม มันจะไถลงไปที่จิตเราได้ไหม ถ้ามันไถลงไปที่จิตเราได้ เราก็หว่านไถของเราเหมือนกัน ถ้าหว่านไถ ธรรมะมันจะเกิด หน่อของธรรมมันจะผุดออกมาจากหัวใจของเรา ถ้าหน่อในหัวใจผุดขึ้นมา นี่มันเป็นอย่างนี้ มันทำมากับมือ มันเห็นมากับมือ ถ้าเห็นกับมือแล้วมันลงทุนลงแรงขนาดไหน

เวลาชาวไร่ชาวนาเขาทำทั้งวัน แดดเปรี้ยงๆ ดูสิ เขาทำงานของเขาตลอดเวลา แล้วของเรา เราจะทำอะไรของเรา นี่ขนาดงานในอาชีพของเขา เขายังลงทุนลงแรงขนาดนั้น แล้วงานของเรา งานเอาชนะเรา เราจะอ่อนแอได้อย่างไร มันว่าสิ่งนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีความสุข

สุขมาก สุขมากต่อเมื่อเป็นผล แต่ถ้ายังไม่เป็นผลนี่มันทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะลงทุนลงแรง ทำการค้าธุรกิจแล้วมันขาดทุน มีใครพอใจบ้าง แต่ทำการค้าธุรกิจของมัน ถ้ามันมีประสบการณ์ มีอำนาจวาสนา มันเป็นไปได้ เป็นไปได้ นี่เรื่องการทำธุรกิจนะ มันต้องมีตลาด มันมีต้นทุนทุกอย่าง

ไอ้ของเรามันมีแต่ความรู้สึกทั้งนั้นเลย สติอยู่ที่ไหน สมาธิอยู่ที่ไหน ความรู้สึกอยู่ที่ไหน ความรู้สึกมันอยู่ในหัวใจของเราทั้งนั้นเลย ปลาอยู่ในสุ่ม ร่างกายนี้เป็นสุ่มครอบมันไว้ ครอบความรู้สึกนี้ไว้ แต่ถ้าเป็นงานของเรา ตลาดมันอยู่ที่นี่ ทุกอย่าง มรรคของมันอยู่ที่นี่หมดเลย แล้วอยู่ที่นี่หมดเลย ครูบาอาจารย์ของเราเป็นคนชี้นำ

เราเป็นที่ปรึกษา บริษัทที่ปรึกษา จะทำอะไรบอกมาสิ ปรึกษาตรงนี้เลย ควรจะทำอย่างไร ลงทุนอย่างไร รักษาอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านก็เป็นที่ปรึกษา เป็นที่คอยชี้นำ ชี้นำให้เราประพฤติปฏิบัติ แล้วเราทำของเราขึ้นมา ถ้าทำของเราขึ้นมา ย้อนกลับมา ย้อนกลับมา ผลตอบรับมันอยู่ที่ใจ ผลตอบรับ สิ่งนี้เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ว่าไปปรึกษา ไปปรึกษาบริษัทที่เขาไม่ถนัด เขาไม่เคยทำกิจการอย่างนั้น เขาก็ปรึกษาเราไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจริตนิสัยมันไม่ตรงกัน ปรึกษาอย่างไร “มันจะใช่หรือ มันจะเป็นไปหรือ” สิ่งนี้มันก็กรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์นะ กรรมของสัตว์เพราะสัตตะเป็นสัตว์ผู้ข้อง เขาข้องของเขามาอย่างนั้นก็เรื่องของเขา ในเมื่อเขาข้องมา เราชี้นำแล้ว เราชี้บอกไป เขาไม่เชื่อ ไม่เชื่อก็ต้องไม่เชื่อ มันเป็นอะไรไป มันไม่มีความหมายหรอก ไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ ไม่มีคุณค่าสิ่งต่างๆ เลย

ถ้าเขาเชื่อ เขาเชื่อก็มีคุณค่า เขาเชื่อก็เรื่องของเขา เพราะเขาเชื่อก็เป็นประโยชน์ของเขา เขาไม่เชื่อก็ไม่เป็นประโยชน์ของเขา ผู้ที่สั่งสอนก็คือผู้ที่สั่งสอน มันก็เท่านั้นน่ะ แต่มันเป็นหน้าที่ เพื่ออะไร? เพื่อศาสนาไง ดูสิ พระกัสสปะอายุเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ทำไมเธอถึงถือธุดงควัตร”

“ข้าพระพุทธเจ้าถือไว้เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติแบบอย่าง”

คติแบบอย่าง นี่ธุดงควัตร ถ้าใครยังไม่ศึกษาธรรมวินัย ยังไม่เข้าใจ เราบวชใหม่ๆ ธุดงค์นี้อ่าน ๑๓ ข้อ ยังตีความไม่ถูกเลย ถือธุดงค์ แล้วเวลาถือธุดงค์ไปตลอดเลย เนสัชชิกไป เวลามีพระธุดงค์มาเขาบอกว่านั่นก็ผิด นี่ก็ผิด ก็งงไปกับเขานะ เดินไปตามบ้าน เดินไปลัดขันข้าว เดินไป เทคนิคต่างๆ ก็ว่ากันไปแล้วแต่ความชอบของใคร แต่จริงๆ แล้วมันก็เจตนา มันก็ถูกของมันนั่นแหละ แต่มุมมองต่างๆ มันก็ว่ากันไปตามประสาของมุมมองนั้น

พระกัสสปะทำไว้เป็นตัวอย่างนะ เป็นตัวอย่าง ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้ว ทำแล้วท่านจะได้ประโยชน์อะไรกับเรา แต่เพื่ออนุชนรุ่นหลัง ความเมตตาไง ความเมตตา ปลงธรรมสังเวช สังเวชในสัตตะ สัตตะผู้ข้อง ขนาดอยู่ชิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระผู้เฒ่าบอกว่า “ดีแล้ว ตาย อยู่แล้วคอยติคอยว่า น่าเบื่อมากเลย เออ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สบาย ตอนนี้สบาย”

พระกัสสปะเป็นอาจารย์ของพระผู้เฒ่า ได้ยินได้ฟังแล้วสลดหัวใจมาก เพราะอะไร เพราะคนเรา เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะหาหมอ เราจะหายา เราจะหาคนที่เมตตาอาทรกับเราเพื่อชี้นำทางเรา แต่มีพระผู้เฒ่าบอกว่าตายไปเถอะ ให้หมอนั้นตายไปเถอะ ดี ยาเยอก็ไม่ต้องรักษา อยู่กันสุขสบาย...สุขสบายของเขาคือการกินการอยู่อย่างนั้นหรือ

สุขสบายของจิตมันต้องปล่อยวาง มันต้องละกิเลสสิ ความสุขความสบายของใจมันต้องมีกรรมวิธีของเขา มีกิจจญาณ มันถึงจะสุขสบายจริง

นี่มันไม่สุขสบายจริง มันถึงว่า “ตายเสียเถอะ ดี จะได้อยู่สุขสบาย” มันเหมือนกับวัวไม่มีเจ้าของนะ วัวมีเจ้าของ เขาหาหญ้าหาน้ำให้กิน เขาดูแลรักษา มันปกป้องภัย วัว ถ้าเจ้าของตายไป วัวนั้นเดินไปไหน ไปกินพืชไร่เขา เดี๋ยวเขาก็ฆ่าทิ้ง

นี่ก็เหมือนกัน “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะได้อยู่สุขสบาย” ความคิดของกิเลสมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันตามืดบอด มันจะตายอยู่แล้วมันยังไม่รู้เลย มันว่ามันฉลาด

พระกัสสปะสังเวชมาก สังเวช ถึงว่าเป็นผู้ทำสังคายนา ทำสังคายนามาเลย สิ่งที่สังคายนามา แล้วลงมติกัน สงฆ์ ๕๐๐ รูป ที่ทำสังคายนา เป็นเถรวาท เถระ พระเถระ ๕๐๐ องค์ ลงมติกันว่า ต่อไปนี้ธรรมวินัยจะไม่แก้ไข ไม่แก้ไขเพราะเหตุผล เหตุผลคือถ้าเราแก้ไขไป ในสมัยนั้น สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีศาสดาต่างๆ ตายไป แล้วพอตายไป ศาสนาเขาแตกกระสานซ่านเซ็น

พระกัสสปะลงมติกันว่า ดูสิ ในลัทธิต่างๆ พออาจารย์เขาเสียไปก็มีปัญหา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าเราทำสังคายนาแล้ว แล้วถ้าให้มีการแก้ไข เขาจะติเตียนว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แค่ชีวิตของพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยนี้ก็ทรงอยู่ไว้ไม่ได้ เลยลงมติกันไว้ว่าเราจะไม่แก้ไข เราจะไม่แก้ไข เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ “สิ่งใดแม้เล็กน้อย อนาคต ในการปฏิรูป ในประเทศอันสมควร จะแก้ไขบ้างก็ได้ จะแก้ไขบ้างก็ได้” ความถือ ความเห็นต่างๆ ลัทธิต่างๆ ในศาสนามันถึงได้ต่างๆ กันไป

แต่เถรวาทเราถือตรงกันมา ถือตรงกันมาโดยทฤษฎี แต่ในการปฏิบัติมันเป็นไปไหมล่ะ ในภาคปฏิบัติมันเป็นไปไหม มันไม่เป็นไปเพราะมันตีความกันเอง ถึงว่าเชื่อ คำว่า “เชื่อ” เชื่อคือถือตามๆ กันมา ถือตามๆ กันมา แต่ครูบาอาจารย์ของเรารื้อฟื้นขึ้นมา รื้อฟื้นขึ้นมาในภาคปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติเข้าไปรู้จริง ไม่ใช่ถือตามๆ กันมา ถือแต่พิธีกรรมตามๆ กันมา แล้วปฏิบัติเป็นพิธี

ในเมื่อศาสนาเราเป็นศาสนาพุทธ ประเทศชาตินับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธ บริษัท ๔ เขาศรัทธาของเขา เขาก็เคารพนบนอบ แล้วเราบวชเป็นพระ เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สิ่งต่างๆ นี้ เราคิดว่าสิ่งนี้มันเป็นโอกาส เป็นโอกาสคือเป็นการพลั้งเผลอ พลั้งเผลอ สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นความคิด มันเป็นความคิดทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราทำของเราโดยสัจจะความจริง สัจจะความจริง เพราะเราเกิดมาด้วยมนุษย์สมบัติ บวชมาเป็นสมมุติสงฆ์ แล้วอยู่ในศาสนาเป็นศากยบุตร ศากยบุตรโดยสมมุติ ถ้าเราพิสูจน์ของเราขึ้นมา พยายามปฏิบัติของเราขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมา มันจะซึ้งในธรรมมาก เพราะอะไร มันจะต่างไปไหน ไอ้นั่นมันเป็นทฤษฎี ความจริงมันอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราอยู่ในความจริงขึ้นมา สิ่งนี้ทำไมเราจะบอกใครไม่ได้ บอกเขาก็บอกเขาด้วยความเป็นจริง บอกเขาต่อเมื่อเขาต้องการ เขาไม่ต้องการให้บอกเขา ยิ่งไม่มีค่าใหญ่ เขายิ่งดูถูกเหยียดหยาม สิ่งที่เขาดูถูกเหยียดหยามมันมีประโยชน์อะไรขึ้นมา มันเป็นกรรมของเขา มันเป็นสิ่งต่างๆ ในหัวใจของเขา แล้วเราไปทำสิ่งนั้นขึ้นมาทำไม สิ่งที่เป็นความอ่อนควรแก่การงาน หัวใจอ่อนควรแก่การงาน มันถึงจะประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วเราไปทำให้มันกระด้าง ไปทำให้เขาไม่มั่นใจในศาสนา

ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน มรรคผลมีไหม สมาธิเป็นอย่างไร มันจะมีจริงหรือไม่มีจริง เราก็ลังเลสงสัย แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านมา ท่านยืนยันกับเราได้ ยืนยันในวิธีการ บอกได้ด้วยว่าทำอย่างไร ดูสิ เทวดาถามพระพุทธเจ้า “พระอินทร์มีหรือเปล่า สวรรค์มีหรือเปล่า”

“เธออย่าถามเลยว่ามีหรือไม่มี วิธีการทำให้เป็น ยังรู้เลย ทำสาธารณประโยชน์ ทำแหล่งน้ำ ทำที่พักอาศัยต่างๆ” นี่พระอินทร์ เพราะอะไร เพราะสัตว์โลกมันอาศัย เวลาเขาได้บุญ ได้ความสุขของเขา เวลาเขาไปเกิดเป็นเทวดาเขาก็ไปเป็นบริษัทบริวารของพระอินทร์ เราทำความที่เขาได้พึ่งพาอาศัย เราจะได้ต่อเมื่อมันเป็นสัจจะความจริง เพราะเขาได้มีการพึ่งพาอาศัยกัน

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีความจริงของเราขึ้นมา เราจะเห็นของเราเป็นสัจจะความจริง แล้วความจริงทำไมมันจะพูดไม่ได้ ความจริงมันพูดได้ แต่พูดกับพวกคนที่เขาสนใจสิ สิ่งที่เขาสนใจ เขาสนใจ แล้วของอย่างนี้มันดูกันง่ายๆ ว่าเขาเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ก็ไม่ต้องไปสนใจเขา ในเมื่อไม่เชื่อ ไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ ไม่เชื่อมันจะเป็นอะไรไป เพราะมันเป็นกรรม กรรมของสัตว์ เขาไม่เชื่อก็ไปบีบบังคับให้เขาเชื่อ มันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ “ฉันพูดสัจธรรมนะ”

อย่างวิทยุเขาก็เชื่อ ธานินทร์ เปิดเป็นร้อยๆ เครื่องเลย เขากราบธานินทร์หรือ เขาไม่ได้กราบธานินทร์นะ เขากราบธรรมของหลวงตา เสียงธรรมเพื่อประชาชน เขาเคารพธรรมเสียงธรรมของหลวงตา แต่เขาฟังผ่านธานินทร์

นี่ก็เหมือนกัน จะให้เขาเชื่อเราได้อย่างไร เราเป็นธานินทร์หรือ เราจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันจะเป็นอะไรล่ะ เราไม่ใช่วิทยุ เราไม่ใช่กระจายเสียงเฉยๆ เรามีชีวิตนะ เรามีคุณค่ากว่าวิทยุธานินทร์ วิทยุนี้มันเป็นวิทยุที่มันมีคุณค่า วิทยุนี้ถ้าเราฟังธรรมเป็นธรรม เราฟังเป็นธรรมเพื่อเตือนหัวใจของเรา แต่เราไม่ทำตัวเป็นธานินทร์ เราไม่ทำตัวถ่ายทอด เราไม่ได้ทำตัวให้เสียงเป็นสภาวะแบบนั้น

หน้าที่ของเราคือรักษาใจของเรา รักษาใจของเราให้มันเป็นธรรมขึ้นมา ถ้าเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว เขาศรัทธา เขาเชื่อมั่นเราเอง ถ้าเขาเชื่อมั่นขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับทั้งเขาทั้งเรานะ เพราะอะไร เพราะศาสนามั่นคง ในสังคมสงฆ์ ถ้าทิฏฐิเสมอกัน จริตเสมอกัน มุมมองเสมอกัน มีความสุขนะ มีความสุขมาก

กิเลสมันอยากจะอยู่บนหัวคน มันมีทิฏฐิมานะอยากจะนั่งบนหัวคน อยากให้คนเคารพนบนอบ มันจะเป็นประโยชน์อะไร มันเป็นกิเลส กิเลสเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าใครมีกิเลสอยู่ มันมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นตลอดไป

แต่ถ้ามันเป็นสัจธรรมขึ้นมา มันสังเวช มันสังเวชเพราะถ้าเราไม่พ้นจากกิเลสมา เราจะไม่รู้จักกิเลสว่ามันเป็นอย่างไร แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกิเลสร่วมไปกับกิเลส มันก็มีมุมมองไปเป็นแบบกิเลส แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมานะ โลกธรรม ๘ แล้วโลกเป็นอย่างนี้ โลกเป็นอย่างนี้ แล้วสิ่งนี้มันเกิดมาจากไหน ไม่มีใครทำให้เขาเลย เพราะตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันทำขึ้นมา ถ้าตัณหาความทะยานอยากทำ มันเหมือนใส่แว่น แว่นนั้นสีอะไร เราก็เชื่อภาพที่เห็นเป็นสีนั้น จริตนิสัยของคนเป็นอย่างไร มันมีมุมมองออกมาอย่างไร มันก็ว่าของมันถูกต้องเป็นของเขาแบบนั้น

แล้วเราไม่ได้ใส่แว่น เรารู้เลย ที่เขามองผ่านแว่น มองผ่านแว่นคือมองผ่านอวิชชา มองผ่านแว่นคือมองผ่านความรู้สึกของเขา มองผ่านแว่นคือมองตามจริตนิสัยของเขา ในเมื่อจริตนิสัยเขามองผ่านแว่นอย่างนั้นออกมา มันมีมุมมองอย่างนี้ ถ้ามุมมองอย่างนี้ มุมมองมันเรื่องสิทธิส่วนตัว สิทธิของเขา สิทธิของเขาก็เรื่องสิทธิของเขา แต่เราอยู่ร่วมกัน เรามีข้อวัตรปฏิบัติ เรามีที่ที่เป็นสาธารณะ สิ่งที่เป็นสาธารณะต้องทำเหมือนกัน ทำร่วมกัน ถ้าทำร่วมกัน ทำเหมือนกัน สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติเราทำร่วมกัน บิณฑบาตร่วมกัน ข้อวัตรปฏิบัติทำเหมือนกัน สิทธิเสมอกัน อาวุโส-ภันเตอย่างนี้ นี่คือธรรมะสาธารณะ สิ่งที่เป็นสาธารณะทำร่วมกัน มันก็อยู่กันสุขสบาย แต่ทิฏฐิอย่าไปแก้ ทิฏฐิใครทิฏฐิมัน

หลวงปู่มั่น ขณะที่อยู่หนองผือ เวลาแจกอาหาร หลวงปู่ตื้อ ขณะแจกอาหารอยู่ หลวงปู่ตื้อท่านฉันอาหารเลย พอฉันอาหาร หลวงปู่มั่นหันมา “ตื้อ ทำอะไรน่ะ”

“อ้าว! ผมกินข้าว”

“อ้าว! กินทำไมล่ะ”

“ก็ผมหิวน่ะ”

นี่สิทธิของหลวงปู่ตื้อ ท่านทำของท่านมา “เพราะว่าผมหิวน่ะ”

แล้วหลวงปู่มั่นท่านพูดกับพระนะ “หมู่คณะจำไว้นะ ใครอย่าทำแบบนี้นะ นี้เพราะเป็นของหลวงปู่ตื้อท่าน”

หลวงปู่มั่นท่านยังยอมรับเลย ยอมรับว่าให้หลวงปู่ตื้อทำของท่านได้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน หลวงปู่ตื้อเป็นพระอรหันต์นะ ในเมื่อจริตนิสัยเป็นอย่างนั้น จริตนิสัยคือเรื่องสิทธิส่วนตัว นั่นเรื่องของเขา เราไม่ไปก้าวล่วงในสิทธิส่วนตัวของเขา แต่สิ่งที่เป็นสาธารณะ สิ่งที่มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติมันต้องเสมอกัน เราต้องทำร่วมกัน ถ้าทำร่วมกัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน อยู่กันสุขสบาย แต่จริตนิสัยจะปรับให้เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

หลวงปู่มั่นท่านจะรู้เรื่องอย่างนี้ดีมาก ขณะที่อยู่หนองผือ ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าองค์ไหนปฏิบัติแล้วเป็นสมาธิ จิตเป็นอย่างไร สมาธิดีขึ้นไหม ถ้าองค์ไหนอยู่ในขั้นของปัญญา ปัญญาต้องก้าวเดินไปขนาดไหน เวลาเข้ามาทำข้อวัตรนะ “ปัญญาเป็นอย่างไรแล้ว พิจารณากายกี่รอบแล้ว พิจารณากายแล้วปล่อยไหม ปล่อยแล้วมันเป็นอย่างไร” มันจะมีวุฒิภาวะของมันนะ มรรคผลนิพพาน มันมีมรรคหยาบมรรคละเอียด ขั้นตอนของจิต จิตมีขั้นตอน มันพัฒนาของมันขึ้นไป นี่อริยสัจมันตรวจสอบได้ ครูบาอาจารย์ที่ผ่านอริยสัจมา ท่านจะคอยชี้นำ ท่านจะคอยประคองขึ้นไป ถ้ามันประคองขึ้นมาอย่างนี้มันเป็นประโยชน์ไหม มันเป็นประโยชน์ของเรา

สิทธิของเราเป็นสิทธิของเรา ชีวิตเป็นสิทธิของเรา อำนาจวาสนาก็สิทธิของเรา ปัญญาก็สิทธิของเรา แล้วเราอยากได้ไหม อยากได้มรรคผลไหม อยากกระทำไหม

ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนเรา ท่านจะสอนเราให้เราก้าวเดินตามสิทธิหน้าที่ สิทธิ สิทธิเพราะมันเป็นจริตความเชื่อ จริตความเชื่อมันตรงกับกิเลส มันเข้ากับความพอใจของตัว สิทธิ สิทธิมันย้อนกลับ มรรคญาณก็ย้อนกลับเข้าไป ครูบาอาจารย์ท่านมีจริตนิสัย ท่านต้องเป็นอย่างนี้

กล้วยไข่ก็เป็นกล้วยไข่ กล้วยหอมก็เป็นกล้วยหอม กล้วยน้ำว้าก็เป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยเหมือนกันมันยังไม่เหมือนกันเลย แล้วเราจะให้คนเหมือนกัน มันเป็นไปได้อย่างไร คนมันเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้นะ แต่ครูบาอาจารย์ท่านมีจริตนิสัย ท่านเคยผ่านประสบการณ์มา กล้วยน้ำว้าก็คือกล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้าควรทำอาหารประเภทใด กล้วยไข่ควรทำอาหารประเภทใด กล้วยหอมควรทำอาหารประเภทใด อาหารที่มาทำ กล้วยแต่ละชนิด อาหารที่ออกมามันยังมีรสชาติไม่เหมือนกันเลย แล้วเราจะให้คนเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้นะ ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องจริตนิสัย ไม่เข้าใจเรื่องธรรมะ เราจะเอาคนทุกคนมาตีกรอบให้เหมือนกัน เรานี่บ้า

เอาปูมาเดิน แล้วเราไปพยายามให้ปูมันเดินให้ตรง เหมือนคนสูงต่ำไม่เท่ากัน แล้วจับให้มันนอน หัวให้เสมอกัน เท้าให้เสมอกัน มึงดึงไปเถอะ ดึงไปทั้งชาติ เพราะคนสูงต่ำไม่เท่ากัน แล้วหัวกับเท้ามันจะเท่ากันได้อย่างไรเวลานอน ถ้าหัวเท่ากันแล้ว หรือเท้าเท่ากัน สิ่งใดอันหนึ่ง แล้วที่มันสูงต่ำ มันจะต่างกัน มันก็เรื่องของเขา

มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปตีเส้น แล้วจะให้คนอื่นเป็นเหมือนเรา เพียงแต่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ธรรมก็คือธรรม กิเลสก็คือกิเลส ถ้าธรรมคือธรรม ธรรมควรจะทำอย่างไรให้มันเป็นธรรม ถ้าธรรมควรจะเป็นธรรม ทำเข้ามาเถิด สมาธิเป็นสมาธิ ดูสิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ทางก้าวเดิน มันไปนิพพานมันยังไปตามจริตนิสัยเลย แล้วจริตนิสัยของใคร ใครทำเพื่อใคร ใครทำ ทำแล้วตรงหรือไม่ตรง ตรงเข้ามากับเราไหม นี่ครูบาอาจารย์จะทำอย่างนี้ เพื่อศากยบุตรพุทธชิโนรส

เพราะเราเป็นหมู่พระสงฆ์ด้วยกัน เรามาลงอุโบสถร่วมกัน เราจะร่วมกันให้เป็นสังฆะ ให้กำลังของสงฆ์เข้มแข็ง ถ้ากำลังของสงฆ์เข้มแข็ง สังฆะ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้นะ ศาสนาจะเสื่อมเพราะพระสงฆ์ พระเป็นผู้ที่ทำให้ศาสนาเจริญและทำให้ศาสนาเสื่อม วงนอกทำไม่ได้หรอก ยิ่งลัทธิต่างๆ นอกศาสนาทำลายศาสนาไม่ได้ ทำลายศาสนาก็มีบริษัท ๔ ที่ทำลายศาสนา แล้วเรา ถ้าเราทำใจเราเป็นธรรมขึ้นมา ตัวศาสนามันอยู่ที่ใจ

ดูอย่างหลวงตาท่านพูดสิ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมอยู่ที่ใจ เป็นหนึ่งเดียว เอโก ธมฺโม ธรรมเป็นเอก ธรรมเป็นหนึ่ง ธรรมธาตุ แล้วมันอยู่ที่ใจ ถ้ามันอยู่ที่ใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะ พระธรรม ธรรมคือศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมารวมลงอยู่ที่ใจเราหมดเลย ถ้ารวมอยู่ที่ใจเรา คิดดูสิ พระไตรปิฎกทั้งตู้ ดูสิ ฎีกา อรรถกถาเขาแต่งกันออกมา ธรรมบท อู้ฮู! แต่งฎีกากันไปไม่รู้จักจบจักสิ้น มันส่งออกไปหมดเลย แต่ของเรา จุดศูนย์กลางของมัน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่ใจ แล้วมันอยู่ที่ใจของเรา แล้วเราเป็นผู้บริหารเอง เราจะตื่นเต้นกับโลกเขาไหม เราจะเป็นศาสนทายาทไหม เราจะเป็นศากยบุตรไหม เราจะเป็นผู้ที่สั่งสอนสังคมไหม นี่ดวงตาของโลก ดวงตาของโลกเพื่อใคร

โลกทัศน์ ตอนนี้เรายังเป็นโลกอยู่ วัวงาน งานของโลกเขาก็ทุกข์ของเขา งานของเรา เราก็เป็นโลกอยู่นะ แต่ถ้าเมื่อใดจิตเราเข้าถึง มันเป็นอกุปปธรรม มันเหนือโลก สิ่งที่เหนือโลก ธรรมะเหนือโลกอยู่ในหัวใจของเรานะ อยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่อยู่ในตู้พระไตรปิฎก สิ่งต่างๆ อยู่ในตำรับตำรา ตำรับตำราเขาบอกต้องทำไว้เพื่อจะได้ค้นคว้ากัน ศึกษากัน ศึกษานะ ศึกษาด้วยตำรามันก็ยังหมุนอยู่ในหัวเป็นทฤษฎีเท่านั้นล่ะ แต่ถ้าเขาจะรู้จริงขึ้นมาเขาต้องออกประพฤติปฏิบัตินะ

แล้วในการประพฤติปฏิบัติ ต่อไปมันก็จะสร้างกัน เพราะเข้ากันไม่ถึง นี่จิตคนหยาบ หยาบด้วยปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาอย่างโลก ปัญญาอย่างโลกสร้างภาพหมด สร้างสภาวธรรมขึ้นมาในหัวใจทั้งหมดเลย

แต่ถ้าเป็นความจริงมันทิ้งหมดนะ ยิ่งทิ้ง ปัญญายิ่งกว้าง ทิ้งหมดเลย ทิ้งสิ่งที่รู้ที่เห็นทั้งหมด ถ้าไม่ทิ้งสิ่งที่รู้ที่เห็น เพราะสิ่งที่รู้ที่เห็นนั่นใจมันรู้ คือภพ คือความรู้สึก คือม่านกั้น กั้นความรู้ได้แค่นี้ มันทะลุเข้าไปถึงสัจธรรมไม่ได้

แต่ถ้าเราทิ้งทั้งหมดเลย ทิ้งทั้งหมด พอทิ้งทั้งหมดมันก็รวมตัวเป็นสัจธรรม มันจะพุ่งเข้าไปในม่านกั้น ม่านกั้นคือตัณหา คือสมุทัย ม่านกั้นนะ ม่านกั้นระหว่างโลกกับธรรม ถ้าเราทะลุทะลวงสิ่งที่มันเป็นม่านกั้น ม่านกั้นคือสิ่งที่มันเป็นม่านกั้นในหัวใจ เหมือนที่ว่าแว่นตาที่เราใส่แว่น สิ่งที่มันอยู่ในตามันจะทะลุทะลวงสิ่งที่เป็นนามธรรมที่มันกั้นหัวใจเข้าไปที่สัจจะความจริง ทะลุทะลวงสิ่งนั้นเข้าไป ปล่อยวางเท่าไรยิ่งทะลุทะลวงไป ทิ้งให้หมด แล้วใช้ปัญญาไป ทิ้งให้หมด แล้วใช้ปัญญาไป

แต่ถ้าเรายึดปัญญาไว้ ปัญญานั้นมันจะตีกลับ ปัญญานั้นมันจะทำให้เราผ่านม่านสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะตัวม่านคือตัวอวิชชา ตัวม่านคือความไม่รู้จริง รู้ในสิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมรู้ในจินตมยปัญญา เพราะจิตมันเป็นธาตุที่มีชีวิต ธาตุที่มีความรู้สึกมันเป็นสันตติ แล้วมันเกิดดับๆ แล้วมันสร้างสภาวะอย่างนั้น แต่ถ้ามันทิ้งๆๆ ทิ้งทั้งนั้น รู้แล้วทิ้ง ปัญญาหมุนแล้วทิ้ง สัจธรรม มรรคญาณ หมุนแล้วทิ้ง หมุนแล้วทิ้ง หมุนแล้วทิ้ง มันจะหมุนของมันไป ยิ่งทิ้งมันยิ่งเกิด

ดูสิ ดูเห็ด เขาเก็บเห็ด เห็ดที่เขาเก็บแล้ว ถ้ามันมีเชื้ออยู่มันก็เกิดอีก ปีหน้ามันก็เกิดอีกๆๆ นี่ก็เหมือนกัน ยิ่งทิ้ง ปัญญามันเกิดอีก ปัญญามันเกิดอีกมันก็ลึกเข้าไปอีก มันก็หมุนเข้าไปอีก สิ่งที่เป็นสภาวะอย่างนี้มันจะเกิดกับใคร เกิดกับใคร มันจะเกิดกับใจเราไหม สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมากับเรา สิ่งที่เกิดสัจธรรมอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา ให้มันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมาสิ มันถึงเป็นสมบัติของเรานะ

ถึงไม่ต้องไปห่วงสิ่งใดเลย เพราะเราศึกษากันมาแล้วกลัวไม่รู้ กลัวไม่เข้าใจ สัญญาทั้งนั้น เรากลัวไม่รู้ไม่เข้าใจแล้วไปยึดมัน แต่ถ้าทิ้งมัน ทิ้งสิ่งที่มันเป็นอดีตอนาคต มันเป็นปัจจุบัน แล้วถ้าเป็นปัจจุบัน ดูสิ พระอรหันต์ลืมในอะไร ลืมในสมมุติบัญญัติ พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ พระอรหันต์ไม่ลืมในสัจจะความจริง รู้นี้รู้ตลอด

สิ่งที่เป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นความรู้สึกจากข้างนอกมันลืมได้ แต่ตัวมันเอง ตัวสัจธรรม ตัวธรรมะ ตัวธาตุ ธรรมธาตุมันรู้ตลอดเวลา สิ่งนี้ต่างหาก มันจะไม่มีสิ่งใดไปเกาะเกี่ยวสิ่งต่างๆ ไปยุ่งกับสิ่งนี้ได้เลย แล้วมันจะลืมได้อย่างไร มันลืมไม่ได้หรอก นี่ธรรมอย่างนี้

เรามีโอกาสนะ โลกเขาสละงานของเขามา เขาพยายามทำของเขามา เขาอยู่กับโลกมา เขาอยู่กับโลก เขาเห็นโลกมันน่าเบื่อ เราเกิดมา เราเสียสละตั้งแต่คฤหัสถ์ เสียสละตั้งแต่ฆราวาส บวชเป็นสงฆ์แล้วนะ ถ้าเราบวชเป็นสงฆ์เป็นพระ ดูสิ เขากราบไหว้บูชา เวลาใส่บาตร ยกบูชานบนอบ แล้วเราฉันของเขา แล้วเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาให้มันเกิดสัจจะความจริงขึ้นมา ถ้าเกิดสัจจะความจริงขึ้นมา สมบัติของเขาที่เสียสละ เขาก็ได้บุญมหาศาลเลย

เราดำรงชีวิตอยู่ในวัฏฏะด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง แล้วพยายามเลี้ยงหัวใจขึ้นมา ให้เกิดสัจธรรมขึ้นมา แล้วธรรมะมีชีวิต ธรรมะไม่ใช่ธรรมะตายๆ ธรรมะที่มีชีวิตสามารถแก้ไขเจือจานต่างๆ ได้ ไม่ใช่ธรรมะที่มันตายแล้ว ธรรมะที่ตายแล้วเราต้องไปรื้อค้นขึ้นมา แล้วตีความของเรา เอากิเลสไปตีความ แล้วก็ยุ่งไปตามกิเลส กิเลสมันทำให้เป็นปมด้าย งงไปหมดเลย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ แต่กิเลสพางง ถ้าใจเราเป็นธรรม เราจะไม่งงกับกิเลสของเรา เราจะเข้าใจสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่อยู่กับเรานะ เราเป็นสงฆ์ สมมุติสงฆ์ ประพฤติปฏิบัติแล้วเราจะเป็นสงฆ์จริงๆ ในหัวใจของเรา เอวัง