เทศน์พระ

เทศน์พระ ๔๐

๒o เม.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์พระ วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะนะ เวลาพูดทั่วไป มันพูดไปก็แบบว่ามันเป็นศัพท์ มันเป็นโยมนะ แต่ถ้าเป็นพระ เราสละโลกมาแล้ว เราต้องศึกษา ศึกษาศัพท์ไง เห็นไหม เวลาโยมเขามาถาม “เวทนาคืออะไรคะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คืออะไร”

มันต้องไปอธิบายศัพท์ ถ้าอธิบายศัพท์ เวลาพูดเทศน์ไปมันจะพูดถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางศาสนาไว้ พระปัจเจกพุทธเจ้าวางศาสนาไว้ไม่ได้ก็ตรงนี้ ตรงที่บัญญัติศัพท์ บัญญัติศัพท์มันเหมือนวิทยาศาสตร์ ทับศัพท์มา ทับศัพท์มามันก็เป็นความเข้าใจของโลก ความเข้าใจของโลกว่าสิ่งนี้คือสื่อความหมายกัน

ขันธ์ ๕ ถ้าโลกเขาว่า ขัน ขันตักน้ำ ขันธ์ ๕ ขันธะ ขันธ์ ๕ ปญฺจกฺขนฺธา มันเป็นปัญจขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๕ แล้วขันธ์ทั้ง ๕ มันก็เป็นธรรมชาติสิ่งที่มีอยู่ คือเป็นความรู้สึกนี่แหละ บัญญัติขึ้นมา สมมุติบัญญัติ ถ้าสมมุติบัญญัติขึ้นมาเพื่อศึกษา ศึกษาอะไร? ศึกษาหัวใจของเรา

ที่เขาว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นพิษ ผลที่ออกมาจากกฎหมายลูกต้องเป็นพิษหมด

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อหัวใจมีอวิชชา หัวใจมันเป็นพิษ ถ้าหัวใจมันเป็นพิษ ความคิดที่ออกมาทางโลกเป็นพิษหมด สิ่งที่เป็นพิษมันเผาลนเรา ถ้าเผาลนเรา เห็นไหม สามเณรน้อยสอนพระโปฐิละ ให้เห็นร่างกายเปรียบเหมือนกับจอมปลวก มีรูทวารอยู่ ๖ ทวาร ให้ปิดไว้ ๕ เหลือไว้ทวารหนึ่ง คอยจับเหี้ยตัวใหญ่นั้น เหี้ยตัวใหญ่นั้นคือใจมันเป็นพิษ

ถ้าใจมันเป็นพิษ มันออกทั้ง ๖ ทวาร มันจับไม่ทัน ให้เหลือทวารเดียว เราถึงเป็นนักรบ เราเป็นพระ เรามาปิดทวารทั้ง ๕ ให้เหลือเฉพาะใจไว้ เหลือเฉพาะใจไว้นะ แล้วพยายามตั้งสติไว้เพื่อเอาความสงบของใจ ถ้าเอาความสงบของใจ ตัวเหี้ยมันจะออกทางใจนั้น ถ้าออกทางใจนั้น ในเมื่อใจเป็นพิษ ความคิดทุกอย่างเป็นพิษทั้งหมด ความเป็นพิษนี้ออกมาจากไหน? ความเป็นพิษนี้ออกมาจากใจ เราเป็นนักรบ ภิกษุเป็นนักรบ มันต้องเข้าไปรื้อค้นกันที่ใจของเรา ถ้ารื้อค้นใจของเรา ความเป็นอยู่โลกข้างนอก ปัจจัยเครื่องอาศัย สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาจารย์เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ

นี่อาหารเป็นสัปปายะ เราจะไปหาอาหารอะไรเป็นสัปปายะ อาหารมีส่วนประกอบของอะไร กินแล้วจะให้ผลต่อร่างกายอย่างไร...ไม่ใช่หรอก

อาหารอะไรก็ได้ที่กินแล้วไม่ง่วงเหงาหาวนอน อาหารอะไรก็ได้ เราอดนอนผ่อนอาหาร ผ่อนเพื่อเป็นสัปปายะ คือนั่งแล้วไม่สัปหงกโงกง่วง สิ่งที่ไม่สัปหงกโงกง่วง มันให้พลังงานกับร่างกาย แล้วคนธาตุหนักธาตุเบามันต่างกัน ไม่ใช่ว่าไปวิจัยเนื้ออาหาร มันไม่ใช่ไปวิจัยที่เนื้ออาหารนั้นเป็นสัปปายะ

การกินของเราเป็นสัปปายะ การกินของเรา ความเป็นอยู่ของเราเป็นสัปปายะ สัปปายะคือมันสมดุล กินมากกินน้อยเป็นสัปปายะที่นี่ ที่ว่ากินไปแล้วไม่ให้ไปกดถ่วงใจเรา ถ้าไม่กดถ่วงใจเรา กินพอประมาณนะ

แต่ถ้าอะไรมันติดค้างใจ มันติดค้างใจนะ ตอนเช้าเป็นสภาวะแบบนั้น ดูสิ ไปสถานที่ที่หมู่คณะเขาไม่เป็นสัปปายะ เขาได้สิ่งใดมา เขาแจกจ่ายกัน เขาเจือจานกันไม่ทั่วถึง เวลาฉันเสร็จแล้วไปนั่งวิตกวิจารณ์ “คนนั้นได้มากกว่าคนนี้ คนนี้ได้มากกว่าคนโน้น คนนั้นได้เป็นอย่างนั้น” มันเป็นสัปปายะไหม

อาหารเป็นสัปปายะคือว่าฉันแล้วมันไม่สัปหงกโงกง่วง แล้วมันไม่มีอะไรค้างคาใจ ค้างคาใจ สิ่งที่ค้างคาใจ “ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่เป็นอย่างนี้” มันคิดวิตกวิจารณ์ไป มันไม่เป็นสัปปายะ เพราะอะไร เพราะมันไปกวนใจ มันจะกวนใจเรามากถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เรามีสติ แล้วมันมีการใคร่ครวญ มันเป็นปัจจัยอยู่ภายนอก มันเป็นของอาศัยอยู่ภายนอก สิ่งภายนอก เราไปแบกหามมันมาทำไม เราไม่ต้องไปแบกหามมัน เราไม่ต้องไปคุ้นชินกับมัน สิ่งนี้เราต้องอาศัย คำว่า “เราต้องอาศัยมัน” เราก็จะอาศัยมัน อาศัยเพื่อดำรงชีวิต การสืบต่อของชีวิตต้องมีอาหารประทังชีวิตไป สิ่งนี้ประทังชีวิตไปเป็นวันหนึ่งๆ เท่านั้นนะ ร่างกายมันต้องผุพังไปเป็นธรรมดา สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องผุพังไปเป็นธรรมดา ในปัจจุบันนี้มีชีวิตอยู่ ทำไมเราไม่ตื่นตัว

ถ้าเราตื่นตัวของเรา เราใคร่ครวญสิ่งนี้ไง ร่างกาย สิ่งที่มันได้ผลประโยชน์จากอาหารนี้มันเป็นร่างกาย เป็นธาตุ เป็นธาตุเพื่อให้จิตมันครองร่างนี้อยู่ ถ้าจิตมันครองร่างนี้อยู่ ชีวิตมนุษย์เราก็มีอยู่ ถ้าชีวิตเรามีอยู่ เรามีชีวิตไว้เพื่ออะไร? เรามีชีวิตไว้เพื่อแสวงหาธรรม ค้นคว้าหาธรรมนะ ถ้าได้ธรรมะขึ้นมา ชีวิตนี้จะมีประโยชน์แล้ว

ชีวิตมีประโยชน์เพราะเราเกิดมา เกิดมาตามวัฏฏะ เกิดมาจากกรรม กรรมให้มันเกิดมา เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราออกมาเป็นนักรบด้วย ได้บวชเรียนศึกษาในพระพุทธศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นไหม พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในทางโลกเขาว่ากันไว้นะ ต้องไปอินเดีย ไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ มันจะสลดสังเวชไง

พุทธะมันอยู่ที่นี่ ไปสังเวชนียสถานมันเป็นที่สลดสังเวช มันให้เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าอยู่กลางหัวใจ พระพุทธเจ้าอยู่กับเรา นี่พระพุทธเจ้าที่มีชีวิต พระพุทธเจ้าที่มีความรู้ ความรู้สึกรู้สุขรู้ทุกข์ ความรู้ธรรม ความเข้าใจในธรรม อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าที่นี่สิ ไม่ต้องไปถึงอินเดีย ไม่ต้องไปถึงที่ไหน ถึงในกลางหัวใจของตัว

ในปัจจุบันนี้อยู่กับเรา เคลื่อนไหวไป พระพุทธเจ้าอยู่กับเรานะ ความรู้สึกอยู่กับเรา แต่เราไม่เห็นคุณค่าของชีวิต ไม่เห็นคุณค่าของกาลเวลา ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่สืบต่ออยู่นี่ ถ้าสืบต่ออยู่นี่มันสืบต่อกันไม่ได้นะ ชีวิตต้องวิบัติ มันต้องตายไป มันต้องแปรสภาพไป ดูเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยสิ ไปเหยียบหนาม หนามตำเท้ามันยังเจ็บเลย แล้วเวลามันกลัดหนองขึ้นมามันเจ็บมากกว่านั้นอีก นี่ร่างกายมันต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา แล้วในปัจจุบันนี้มันยังเดินเป็นปกติอยู่ มันยังมีโอกาสที่ให้เราประพฤติปฏิบัติอยู่ ทำไมเราไม่สนใจ เราต้องสนใจที่นี่นะ

งานข้างนอกมันเป็นเครื่องอาศัย คำว่า “เครื่องอาศัย” ใครสร้างขนาดไหนก็เครื่องอาศัย สิ่งที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่เขาสร้างไว้วิจิตรพิสดารขนาดไหน เขายังต้องซ่อมบำรุงรักษานะ มันเป็นธาตุเป็นวัตถุ มันไม่มีชีวิตหรอก แต่มันมีคุณค่า มีเนื้อหาสาระในตัวของมันเอง ถ้ามันเป็นแง่ของประวัติศาสตร์ เราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ได้ศึกษาสิ่งนั้นไป แล้วหัวใจเราล่ะ หัวใจของเรา เราได้ศึกษาไหม ในประวัติศาสตร์ของเราเอง เราได้ศึกษาไหม ในการเกิดและการตายของเรามันเป็นเรื่องของเรานะ ความที่เราชอบใจ เราผลักไส เราชอบใจ เราไม่พอใจ มันเป็นการสะสมมา ถ้าใจมันสะสมมา มันสะสมมา สิ่งใดตรงใจ สิ่งใดมันชอบใจ สิ่งใดที่มันขัดแย้งกับใจ สิ่งนั้นมันขัดแย้งใจเราตลอดเวลา เราต้องศึกษาตรงนี้ ในแง่ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันคือจริตนิสัยเลยล่ะ เห็นจริตนิสัย เห็นความเป็นไปของเรา มันมาจากเรานะ มันมาจากเรา แล้วมันมีพิษมีภัยในตัวเราเองด้วย

มีพิษมีภัยคือว่ามันไม่พอใจอะไรเลย มันไม่เคยพอใจอะไรเลยในความรู้สึกของมัน ในตัวเรา มันไม่พอใจอะไรทั้งสิ้น มันไม่พอใจแล้วสิ่งใดที่มันเป็นความพอใจล่ะ มันไม่พอใจทั้งการกระทำ ไม่พอใจทั้งตัวมันเอง ไม่พอใจอะไรต่างๆ เลย มันล้นฝั่ง ความคิดมันล้นฝั่ง เราถึงศึกษาธรรมไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสกลัวธรรมอย่างเดียวนะ กิเลสไม่กลัวอะไรเลย เราเอาอะไรป้อนมัน เอาอะไรคิดไป คิดตามมันไป แสวงหาเพื่อมัน จะไม่มีวันพอ แล้วมันจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ หยุดมัน! หยุดมันให้ได้

สิ่งที่เป็นพิษ ดูสิ อาหารที่เป็นพิษ มันจะเป็นพิษ มันจะมีกรดต่างๆ มันจะบวกตลอดเวลา มันจะมีกรดมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าใจเป็นพิษ ถ้าไม่มีธรรมไปชำระล้างมัน มันก็จะตอกย้ำเราให้มีความคิดมากไปกว่านั้น ทุกข์มากไปกว่านั้น ตรอมใจมากไปกว่านั้น แต่ถ้ามีสติยับยั้งมัน สิ่งที่เป็นพิษแก้ไขไม่ได้ มันจะเป็นพิษไปอย่างนั้น ต้องทำลายมันทิ้งไป หรือว่าต้องเอาไปฝังทิ้ง กลบทิ้งไป เพราะมันไม่เป็นประโยชน์กับใคร

แต่หัวใจที่เป็นพิษ มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันครอบงำใจอยู่นี้ ถ้าเอาธรรมะเข้าไปชำระล้างมัน ชำระล้างมันชั่วคราวนะ ถ้าทำความสงบของใจ มันมีโอกาสให้เราได้กำจัดมัน กำจัดสิ่งที่เป็นพิษในหัวใจ กำจัดได้นะ กิเลสมันเกิดจากใจ แต่มันไม่ใช่ใจ ถ้ามันใช่ใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ไม่สอนให้เรากำจัดมัน

กำจัดมันนะ ถ้าเรากำจัดสิ่งที่เป็นกิเลสในหัวใจของเรา เราจะมีโอกาส แล้วสิ่งที่จะเอาไปกำจัดมัน มันก็ไม่มีสิ่งใดจะกำจัดมันได้เลยถ้าไม่ใช่ธรรมโอสถขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูในลัทธิต่างๆ สิ ในศาสนาต่างๆ เวลาเขาพูดกัน “ทำสมาธิเหมือนกัน ใช้วิปัสสนาเหมือนกัน”...ไม่มีหรอก ในลัทธิศาสนาต่างๆ มันไม่มี ในเมื่อศาสดาเป็นผู้ที่ไม่สิ้นจากกิเลส ในเมื่อศาสดาของกิเลส ศาสดากิเลสมันคิดมาจากใจของเขา คิดมาจากกิเลสของเขา คิดมาจากตรรกะของเขา คนมีเชาวน์ปัญญามากขนาดไหนมันก็มีความคิดอะไรที่มันกว้างขวางกว่าคนอื่นไป แล้วกว้างขวางกว่า กว้างขวางแบบที่เราคิดตามไม่ทัน มันเข้ากาลามสูตรนะ เชื่อเพราะเป็นครูบาอาจารย์เรา เชื่อเพราะสิ่งนี้มันน่าเชื่อถือ เชื่อเพราะมันเชื่อได้ เชื่อเพราะมันเป็นตรรกะ มันนึกเอาแล้วมันเป็นไป เชื่อเพราะมันมีตำรา เห็นไหม มันไม่เป็นความจริงหรอก

ถ้าเป็นความจริงของเรา ในศาสนาของเรา พระพุทธศาสนา ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่เป็นธรรม ธรรมเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบ ความเพียรชอบ ตรัสรู้เองโดยชอบ สิ่งที่เป็นความเพียรชอบ สิ่งที่เป็นความชอบ กิเลสมันไม่ชอบ เพราะกิเลสมันชอบสิ่งที่เรรวน สิ่งที่มันปลิ้นปล้อน กิเลสมันปลิ้นปล้อนอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว มันชอบสิ่งที่ปลิ้นปล้อน ชอบสิ่งที่ไม่จริงจัง ชอบสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเวลาจะประพฤติปฏิบัติ จะเอาจริงจังขึ้นมา ตั้งสัจจะขึ้นมา สัจจะ คนมีสัจจะ ถ้าคนมีสัจจะ คนนั้นจะเป็นคนจริง คนจริง ของจริง

กิเลสเป็นของปลอม กิเลสมันกลัวความจริง เห็นไหม สัจจะเราไม่มี เราตั้งสัจจะขึ้นมา ดูสิ เวลาเราถือธุดงค์กัน อธิษฐานขึ้นมาว่าเราจะทำถึงกี่วันๆ ตั้งสัจจะ ถ้ามีสัจจะขึ้นมา คนมีสัจจะ สัจจะทำให้คนเป็นคน นี่ถ้ามีสัจจะ

คนไม่มีศาสนา คนไม่มีศีลธรรมมันก็สัตว์ตัวหนึ่งเท่านั้นน่ะ สัตว์มันก็เพ่นพ่านไปตามประสาสัตว์ แต่สัตว์ถ้ามันมีน้ำใจของมัน มันยังดูแลลูกน้องมัน มันยังดูแลครอบครัวของมัน แต่ของเรา เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราไม่มีสัจจะ เห็นไหม

สัจจะเราตั้งสิ่งใดขึ้นมาแล้วมันเป็นประโยชน์กับเราถ้าเราตั้งสัจจะขึ้นมา ถ้าตั้งสัจจะขึ้นมา เราจะดำรงวิธีการ วิธีการ ขันธ์ ๕ สิ่งที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นอาวุธ มันเป็นธรรมาวุธ มันเป็นสิ่งที่เข้าไปชำระกิเลส ศีลมันก็ต้องมีศีล ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา

ถ้ามีศีลขึ้นมามันอบอุ่นใจนะ ถ้าเรามีศีลของเรา ศีลทำให้องอาจกล้าหาญ จะเข้าสังคมใดก็ได้ สังคมไหน เราจะเข้าที่ไหนก็ได้ เราไม่เศร้าหมองในหัวใจของเรา เราไม่มีสิ่งใดในหัวใจของเรา นี่มือที่สะอาด มือที่ไม่เป็นแผล จะทำงานสิ่งใดก็ได้ มันจะไม่กลัวสารพิษที่จะเข้าไปในบาดแผลนั้น จิตใจที่มันมีศีลโดยปกติ ถ้ามีศีลปกติขึ้นมาจะทำสมาธิก็ทำสมาธิได้ง่าย ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา มันมีความสุขแล้ว มันมีความสุขนะ

โลกเขาหาความสุขกัน แต่เขาหาไม่เคยเจอ เพราะอะไร เพราะเขาวิ่งเต้นตามตัณหาความทะยานอยาก วิ่งไปตามกิเลส มันจะสิ้นสุดลงที่ไหนล่ะ ไม่มีวันสิ้นสุดหรอก แต่ถ้ากำหนด พุทโธๆๆ เข้าไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป มันจะเห็นความสุขได้นะ ความสุขที่เกิดจากจิตสงบ

จิตสงบ ถ้าเป็นสมาธิ มันติดสุขได้ ติดสุขมันเท่ากับสิ่งนี้เป็นนิพพานเลย เพราะมันสงบ มันไม่ได้คิดฟุ้งซ่านต่อไป มันเป็นหนึ่งเดียว เขาว่าผู้ที่ปฏิบัติที่ไม่ถึงธรรมเขาว่า “ยอดธรรม ยอดธรรมคือจิตมันไม่เสวยอารมณ์ จิตมันนิ่งอยู่ นั่นยอดธรรม” เขาว่านั่นเป็นนิพพานนะ

นิพพานอะไรมันเป็นภวาสวะ มันเป็นภพ มันเป็นสถานที่ที่จะเกิดความคิดอีกต่อไป ถ้าเป็นทางโลกมันเป็นอุเบกขา อุเบกขามันนิ่งอยู่ มันเฉยอยู่ อุเบกขามันก็จะเอียง ตาชั่งที่มันมีน้ำหนักบนตาชั่งนั้น เข็มนั้นก็ต้องกระดิกไปตามน้ำหนักของของนั้น ถ้าไม่มีสิ่งใดอยู่บนตาชั่งนั้น ตาชั่งมันก็นิ่งอยู่ “นี่อุเบกขา ยอดธรรมๆ” จิตมันเป็นสมาธิมันก็ไปติดสมาธิ เพราะอะไร เพราะมันไม่เคยใช้ปัญญา มันไม่เห็นการเป็นไปไง

คนเราจะมั่งมีศรีสุข จะมีทรัพย์สมบัติมา เขาต้องมีหน้าที่การงานของเขา เขาทำประโยชน์ของเขามา เขาถึงได้ผลตอบแทนสิ่งนั้นมา เราทำสมาธิ เราได้ผลตอบแทนเป็นสมาธิ แต่เราเข้าใจว่าสมาธินี้เป็นนิพพาน ว่ายอดธรรมๆ

ธรรมะในพระกรรมฐานเรา เวลาแสดงธรรม ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกัน มีทิฏฐิเสมอกัน มีความเห็นเสมอกัน เพราะศีล สมาธิมันเสมอกัน ถ้ามีสมาธิขึ้นมา เวลาแสดงธรรม มีศีลมีธรรม เวลาแสดงธรรมขึ้นมา ถ้าธรรมที่แสดงออกมา “ยอดธรรมๆ” มันบอกแล้ว ถ้าบอก “สิ่งนี้คือยอดธรรม จิตที่ไม่เสวยอารมณ์นี้เป็นยอดธรรม นี่คือนิพพาน” มันบอกทันทีเลยว่านั่นน่ะติดสมาธิอยู่ ติดสมาธิอยู่

เพราะสมาธิมันมีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิที่คิดไม่ได้ก็มี สมาธิที่คิดได้ก็มี สมาธิที่มันยังมีอารมณ์ความรู้สึกรู้อยู่ก็มี สมาธิมันก็มีขั้นของสมาธิ ถ้าทำถึงที่สุดของสมาธิ สมาธิถึงที่สุดแล้วมันก็น้ำเต็มแก้ว น้ำเต็มแก้วแล้วเราไม่เอาน้ำมาใช้ประโยชน์ น้ำก็ล้นแก้วไปเฉยๆ น้ำล้นแก้วไปแล้วไม่ได้เติมน้ำลงไป เดี๋ยวน้ำก็พร่องแก้วนั้นไป สมาธิมันจะเสื่อมลงๆ เป็นธรรมดา จะยอดธรรมขนาดไหน คงที่ไม่ได้หรอก

ฤๅษีชีไพรอยู่ในป่า มีคนไปถามฤๅษีว่า “ทำอะไรได้บ้าง”

“ไม่ได้เลย”

แม้แต่ขณะที่เห็นสัตว์มันเสพกันมันยังมีความรู้สึกตามเขาไปเลย นี่ฤๅษีชีไพรอยู่ในป่า เขามีสมาธิของเขาตลอด ดูสิ เวลาเขาเหาะเหินเดินฟ้า ไปเห็นผู้หญิงอาบน้ำอยู่ เหาะมานี่ตกเลย เพราะอะไร มันเป็นสมาธิ นี่เฉยอยู่ไง “ยอดธรรมๆ” ยอดธรรมมันยังเป็นอนิจจังอยู่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไปเรียนกับอาฬารดาบสมาอยู่แล้ว ได้สมาบัติ ๘ ปฏิเสธเลย สิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้กำจัดกิเลสอะไรเลย กิเลสนะ เวลาจิตมันสงบเข้ามามันก็เป็นความสงบเฉยๆ มันจะนิ่งขนาดไหน มันจะมีความอบอุ่นขนาดไหน มันเป็น เห็นไหม ดูสิ พอจิตลงเป็นสมาธิ เขาเรียกว่า “ปีติ” ปีติมันมีมหาศาลเลย ปีตินี้จะไปรู้วาระจิตก็ได้ ปีติมันรู้วาระจิต มันจะรู้สิ่งต่างๆ มันจะเหาะเหินเดินฟ้า มันเป็นปีติ ปีติมันมีหยาบ ตั้งแต่หยาบๆ ที่รู้แค่ตัวพองตัวใหญ่ต่างๆ นี่เป็นปีติอย่างเล็กน้อย ปีติอย่างกลาง ปีติอย่างละเอียด ปีติ จิตมันเป็น แล้วพอจิตมันสงบเข้าไป มันมีอาการของมันต่างๆ มันเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ สิ่งนั้นเป็นธรรม ใครบอกว่าเป็นธรรมล่ะ? กิเลสมันบอกนะ เพราะมันไม่ได้สะกิดกิเลสเลย กิเลสมันยังเต็มตัวอยู่เลย มันก็บอกสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม เพราะอะไร เพราะมันซ่อนตัวมันไว้ ถ้าบอกสิ่งนี้เป็นกิเลส เพราะมันมีกำลังแล้ว พอจิตมีกำลัง ถ้าบอกสิ่งนี้เป็นกิเลส มันก็โถมเข้าใส่กิเลส กิเลสมันก็ต้องเจอข้าศึก ต้องเจอธรรมาวุธ ต้องเจออาวุธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าใจคนเป็นพิษ สิ่งที่แสดงออกโดยปุถุชน สิ่งที่แสดงออกมามันเอาแต่ความเดือดร้อน ความเร่าร้อนมาเผาใจ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ใจมันเป็นพิษ ความเป็นพิษขึ้นมา พอมันมีสมาธิขึ้นมา สมาธิมีกำลังขึ้นมา สิ่งที่เป็นพิษแทนที่มันจะต่อสู้กับเรา มันหลบนะ มันหลบอยู่ในใจเรา มันไม่ปกป้องตัวมันเอง มันปกป้องมันว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันเอาธรรมมาหุ้มไว้ไง หมามันห่มหนังเสือ ถ้าหมามันห่มหนังเสือ เสือเวลามันร้อง มันจะร้องเสียงเสือ น่าตกใจ ทุกคนจะกลัว เพราะเสือมันเอาสัตว์โลกเป็นอาหาร เสือมันกินคน เสือมันกินสัตว์โลกทั้งหมดเลย เวลามันบันลือสีหนาทขึ้นมา ทุกคนจะตกใจ ทุกคนจะกลัวเสือ เสือเป็นสัตว์ที่อันตราย แต่หมามันห่มหนังเสือ เวลามันจะบันลือสีหนาทอย่างเสือ มันก็เห่าเป็นหมานั่นน่ะ การแสดงธรรมออกมาไง ธรรมที่แสดงออกมามันไม่เป็นธรรม นี่ถ้ามันไม่เป็นธรรม

กรรมฐานเราเวลาแสดงธรรมเขาถึงกลัวตรงนี้มาก การแสดงธรรม ถ้าคนไม่เข้าใจแสดงธรรมออกไปด้วยทิฏฐิมานะ ด้วยความไม่รู้จริงของตัว มันจะขายขี้เท่อ มันจะเอากิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสมันหลบอยู่ใต้หัวใจ เพราะกิเลสมันหลบอยู่ใต้หัวใจ เวลาเราทำความสงบของใจ ใจมันมีธรรมะขึ้นมา มันก็หลบซ่อน กิเลสมันหลบซ่อนอยู่ใต้หัวใจนั้นนะ มันฉลาดมาก

ดูสิ เวลามันบันลือสีหนาทออกมา ถ้ามันเป็นธรรมจริงๆ เสือมันย่างก้าวแบบเสือ มันมีแบบเสือ ทำออกมาจากหัวใจ เพราะกิริยาของเสือ เวลามันจะร้องมันก็ร้องแบบเสียงเสือ เสือมันร้องไป มันร้องด้วยเสียงเสือ ทุกอย่างจะเป็นเสือหมด เพราะอะไร เพราะมันเป็นเสือโดยธรรมชาติ แต่ถ้ากิเลสมันซ่อนอยู่ในหัวใจ กิเลสมันซ่อนอยู่ในใจเรา มันออกไปมันไม่ได้เป็นเสียงเสือนะ

ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกัน ธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อแสดงออกมาเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม

ถ้าเป็นธรรมขึ้นมามันมีวิธีการนะ วิธีการที่ว่า มรรค ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันเกิดอย่างไร ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมาที่มันชำระกิเลส ไม่ใช่ยอดธรรมๆ ที่ว่ามันเข้าไปสงบเฉยๆ อย่างนั้นไม่ได้ สิ่งที่เข้าไปสงบเฉยๆ ดีที่สุดมันก็เป็นสมาธิเท่านั้นเอง แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมามันต้องมีการประหัตประหารกัน มันมีการเข้าไปเห็นนะ เข้าไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยธรรม โดยธรรมมันเห็นสิ่งที่ซ่อนเร้น

กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันจะแสดงตัวออกมาได้อย่างไร

ดูสิ เวลาแดดออก ฝนตกแดดออกต่างๆ มันเป็นธรรมชาติของเขา เรามีภาชนะไปเก็บสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ใช่ไหม แผงโซลาร์เซลล์เขายังเก็บพลังงานไฟฟ้าเข้าแบตของเขา เขาใช้ประโยชน์ของเขาได้ เรามีภาชนะเก็บน้ำไว้ น้ำฝนนั้นเราเอาไว้ดื่มกินก็ได้ เอาไว้ใช้ประโยชน์อย่างใดก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเกิดขึ้นจากปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากจิต วิธีการ มรรคญาณ สิ่งที่มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่มันเกิดการชำระกิเลสขึ้นมา สิ่งที่มีการชำระกิเลส มันมีการใช้งานไง แสงแดดเขามีแผงโซลาร์เซลล์ เขาเอาไว้ใช้งาน สมาธิที่มีการสะสมไว้มันก็เป็นพลังงาน คือแสงแดดนั่นน่ะ แสงแดดคือแผงโซลาร์เซลล์ คือตัวจิต ตัวพลังงานเกิดจากจิต แล้วจิตมีสติระลึกอยู่ พุทโธๆ เข้าไป มันก็ทำให้จิตนั้นสะสมขึ้นมา เป็นพลังงานขึ้นมา มันก็เป็นสมาธิใช่ไหม แล้วถ้าสมาธิ พลังงานนั้นอยู่ในแบตนั้น เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย มันก็อยู่ในแบตนั้น นี่ก็เหมือนกัน แบตนั้นถ้าใช้ไปมันก็เสื่อมสภาพไป พลังงานมันต้องหมดไปเป็นธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นยอดธรรมๆ มันทำสิ่งใดบ้างล่ะ

แต่ถ้าเอามาใช้เป็นประโยชน์ขึ้นมา มันมีเพียรชอบ งานชอบ ความเป็นความชอบ ชอบเพราะอะไร เพราะมันใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใคร่ครวญในสิ่งที่มันเป็นกิเลส กิเลสที่เป็นนามธรรมที่มันอาศัย อาศัยกายกับใจ อนุสัย อนุสัยมันนอนเนื่องไปกับใจ ใจมันคิดออกมามันมีกิเลสตามนอนเนื่องออกมา ถ้าเรานอนเนื่องออกมามันไปเกาะสิ่งใด นี่ใจที่เป็นพิษ ใจที่เป็นพิษ มันเป็นพิษของมัน พอเป็นพิษของมัน มันแสดงออกไป สิ่งที่เป็นพิษมันก็ไปตามพลังงานนั้น มันเข้าไป มันเป็นพิษ มันก็ทำให้ไม่มีความบริสุทธิ์

แต่ถ้าเราใช้ธรรมของเรา ใช้ธรรมาวุธ ใช้สิ่งที่เป็นปัญญาเข้าไป มันก็ใคร่ครวญ ใคร่ครวญสิ่งที่ต้องใคร่ครวญ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะใจมันอาศัยสิ่งนั้น กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันอาศัยสิ่งใดแสดงออก? มันอาศัยสิ่งนี้เป็นที่แสดงออกถึงตัวของมัน ในเมื่อเราเห็นการแสดงออกจากตัวของมัน มันอาศัยสิ่งนี้มา เราก็ใคร่ครวญสิ่งนั้นกลับไปให้เป็นธรรม

การพิจารณากาย มันจะเป็นกายขนาดไหน ถ้าเห็นกายแล้วพิจารณากาย ให้มันเป็นสัจจะความจริง อยู่ที่กำลังของคน อยู่ที่กำลังของผู้พิจารณานะ การพิจารณา มันจะพุพอง มันจะแตกขนาดไหน มันจะเกิดเป็นสภาวะแบบใด มันอยู่ที่กำลังของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นเห็นโดยปัญญา โดยการเทียบเคียง มันก็เป็นปัญญาของใจดวงนั้น เพราะอะไร เพราะอวิชชา เพราะกิเลสตัณหามันนอนเนื่องมา มันแสดงออก มันอาศัยสิ่งนั้นออกไปหาผลประโยชน์กับมัน

แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา มันย้อนกลับ วิปัสสนาสิ่งนี้เข้าไป เราจะล้างความเป็นพิษของมัน สิ่งที่เป็นวัตถุมันเป็นพิษแล้วมันจะเสียหาย แต่ถ้าเป็นใจ ดูสิ ดูอาหารสิ่งที่เป็นพิษ เขาเอามาชำระล้างขึ้นมา อย่างกลอยเขาเอาไปแช่น้ำไว้ มันเอามาเป็นประโยชน์ มาใช้กินก็ได้ ใช้เป็นอาหารก็ได้

ใจที่เป็นพิษ ถ้ามันมีสติขึ้นมา มันทำสมาธิขึ้นมา มันก็สะอาดขึ้นมาชั่วคราว สะอาดชั่วคราวขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาเพื่อฝึกฝนให้มันเกิดโลกุตตรปัญญาขึ้นมา ถ้ามันฝึกฝน เกิดโลกุตตรปัญญาขึ้นมา เหมือนกับอาหารนั้นเขาเอาไปแช่ไว้เพื่อให้สารพิษมันหมดออกไปจากอาหารชนิดนั้น แล้วเขาเอาไปทำอาหารขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับร่างกาย

จิตที่มันเป็นพิษ มันเป็นพิษอยู่แล้ว มันเป็นพิษมันแสดงออกมันก็เป็นพิษ ถ้าเราไม่ยับยั้งมัน เราไม่เอาไปแช่ คือเราไม่เอาสติยับยั้งมันไป เราไม่ทำสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นพิษอยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นพิษคือมันคิดสะสมให้เราเป็นทุกข์ คิดสะสมให้เราเป็นทุกข์ ดูสิ ดูเราตั้งเป้าหมายไว้ แล้วทำที่เราตั้งเป้าหมายไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ แล้วมันปฏิบัติมันไม่ถึงเป้าหมายนั้นเราก็เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์มันเป็นสัจจะ ทุกข์เป็นสัจจะเป็นอริยสัจจะ ถ้าทุกข์เป็นสัจจะ เราตั้งเป้าหมายไว้แล้วเราพยายามทำของเรา มันจะได้ไม่ได้มันอยู่ที่วาสนาของคน อยู่ที่เหตุใช่ไหม เราพยายามสร้างเหตุของเรา แล้วทำให้มันถูกต้องตามธรรม อย่าให้มันถูกต้องตามกิเลส

ถูกต้องตามกิเลสคือตั้งเป้าหมายไว้แล้วก็ทำไม่ได้อย่างนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ แล้วทำไม่เป็นจริงไง คือเราปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม เราไปปฏิบัติธรรมสมควรแก่กิเลส คือตั้งเป้าหมายไว้แล้วอยากได้อยากเป็น ทำสักแต่ว่าทำ ทำด้วยความไม่มีสติสัมปชัญญะ

ให้มันต่อเนื่องนะ ในพระไตรปิฎก ทุกวรรคทุกตอนเลย ผู้ที่ภาวนาไม่ได้ผล ๑๐ อย่าง ปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ คือไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย เดี๋ยวก็มุมานะ เดี๋ยวก็ปล่อยวาง มันอยู่ที่นิสัยเราด้วย นิสัยเรานั้นเป็นคนจริง เราตั้งเป้าแล้วจะเป็นความจริง เราทำของเราจริงตลอดไป จริงตลอดไป ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี...๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องได้เป็นอนาคามีอย่างต่ำ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีเลย ทำให้มันต่อเนื่อง นั่งสมาธิภาวนาให้มันถูกต้องนะ

ถ้ามันนั่งภาวนาไม่ถูกต้อง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ชีวิตคนมันมากกว่านั้นอีก คนเราชีวิต ๗๐ ปี ๑๐๐ ปี มันเกิน ๗ ปีอีก แต่มันทำสม่ำเสมอไหม มันทำจริงไหมล่ะ มันทำหยิบโหย่ง มันทำไม่จริง ถ้าทำไม่จริงมันก็ได้ผลไม่จริงสิ เวลาเกิดสมาธิขึ้นมา สงบขึ้นมาหนหนึ่งหรือปัญญาเกิดหนหนึ่งก็ดีอกดีใจกันไป นี่มันไม่ต่อเนื่อง

ถ้ามันทำต่อเนื่อง ทำสุดความสามารถเลย เพื่ออะไร? เพื่อจะพ้นจากทุกข์ เพื่อจะให้เห็นสัจจะความจริง ถ้ามันพ้นจากทุกข์ เห็นสัจจะความจริง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี แต่ปฏิบัติสม่ำเสมอ ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย บอกการปฏิบัติที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้พวกเราที่ปฏิบัติอยู่นี่ไม่ได้ผล ความสม่ำเสมอคือเสมอต้นเสมอปลาย พอเสมอต้นเสมอปลาย วันนี้ก็เท่านี้ มันมีแต่มากขึ้นนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาความเพียรมันจะมีแต่เพิ่มขึ้นๆ ไอ้นี่เราไม่เพิ่มขึ้นเพราะอะไร เพราะเราทำแล้วมันไม่ได้ผล แล้วก็อ้างร้อน อ้างหนาว อ้างกันไป...ร้อนหนาวที่ไหนก็เป็น

ดูสิ เวลาเขาหลอมเหล็ก จุดหลอมละลายของเหล็กแดงไปหมดเลย เศษเหล็กเอามาหลอมละลายขึ้นมาแล้วเป็นเหล็กเส้นขึ้นมาใหม่เพื่อมาใช้งาน นี่ก็เหมือนกัน อ้างว่าร้อน อ้างว่าร้อน เราจะหลอมละลายกิเลส เราจะต่อสู้กับมัน สมาธิมันจะเกิดขึ้นมา มันร่มเย็น เกิดจากความร้อน เกิดจากสติ เกิดจากความจงใจของเรา มันเป็นความร้อนไหม ทุกข์สิ ทำไมจะไม่ร้อนล่ะ ในเมื่อมันเป็นทุกข์มันก็ต้องร้อนเป็นธรรมดา ก็มันทุกข์ มันก็ร้อน ร้อนเป็นตบะธรรม มันเป็นตบะ มันจะเผาผลาญกิเลส มันจะเผาผลาญของมัน มันจะร้อนจะหนาวก็ช่างหัวมันสิ มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นการต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับกิเลสนะ

ปฏิบัติธรรมคือชนะตน ชนะตนคือชนะกิเลส ชนะกิเลสคือชนะเรา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนชำระตน ตนกำจัดตน มันเป็นผลงานของเรานะ ไม่ต้องไปมองคนอื่น เราอยู่กันเป็นหมู่คณะ สัตว์สังคมต้องอาศัยกัน สังฆะ สังฆะคือสังคม สังคมของสงฆ์ เราจะลงอุโบสถสังฆกรรมต่อกัน เรามาเพื่ออะไร เรามาเพื่อเข้าหมู่ ให้หมู่คณะตรวจสอบกัน มหาปวารณา ปวารณา “ถ้าข้าพเจ้ามีสิ่งใดผิดให้ตักเตือนกัน” เราจะตักเตือนกันเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ของสงฆ์ ไม่อย่างนั้นศาสนามันจะเสื่อมไปๆ เสื่อมอย่างนี้เพราะอะไร เพราะมันเป็นความเห็นส่วนบุคคล ตีความกันไป “ธรรมะเป็นอย่างนั้นๆ”

เวลาเข้าหมู่ ทิฏฐิเสมอกัน คำว่า “ทิฏฐิเสมอกัน” ถ้าเราอยู่คนเดียว แล้วเราคิดของเราคนเดียวตลอดไป มันจะเป็นความย้ำคิดย้ำทำ พอย้ำคิดย้ำทำ ผิดถูกเราไม่รู้นะ เราไม่รู้ความคิดนี้ผิดหรือถูก แต่กิเลสมันบอกว่าถูก ถูก เราก็ทำของเราไป มันเป็นจริตเป็นนิสัย ถึงเวลาแล้วพอเข้าหมู่ไปมันแปลกเขาไง มันเข้าไปในหมู่คณะ หมู่สงฆ์ สังฆะ สังฆะคือหมู่สงฆ์

เอหิภิกขุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้ แล้วบวชขึ้นมา ถ้าผู้ที่สิ้นกิเลสนะ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” แต่ถ้ายังมีกิเลส “เธอจงเป็นภิกษุมาเพื่อประพฤติปฏิบัติต่อไป” เอหิภิกขุ เอหิภิกขุการชำระกิเลส การบวชตนเอง ถ้าเราบวชตนเอง เราจะต่อสู้กับกิเลสของเรา อันนั้นเป็นประโยชน์กับเรา

แต่ในเมื่อเราเป็นสังคม สังคมของเรา สังฆะ ศาสนาเจริญ ศาสนาเสื่อม เสื่อมที่ภิกษุเรา ภิกษุเราเข้าใจสัจจะความจริง เข้าใจเรื่องศาสนา ศาสนาคืออะไร? ศาสนาคือศีลธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะ ตัวศาสนาคือตัวธรรมะ แล้วตัวธรรมะ ธรรมะคือธรรมและวินัย ถ้าธรรมวินัย เราก็ทำประสาของเรา แต่ถ้าเราเข้าหมู่ขึ้นมา เราทำของเราด้วย เราก็ทำอยู่แล้ว ความเห็นเราเป็นอย่างนี้ แล้วเราเข้ามาในหมู่คณะ เราทำอยู่กับตัวนะ เวลาหมู่คณะเขาทำอะไรมันขัดแย้งกัน

ดูสิ สูตร ทฤษฎี บวก ลบ คูณ หาร มันต้องเหมือนกันหมด สูตรที่ออกมาต้องเหมือนกัน แล้วเราเข้าหมู่ขึ้นมา ทำแล้วมันจะออกมาเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน มันมีความสุข มันอบอุ่น

ถ้าเรามีศีล เราจะเข้าสังคมไหนก็ได้ เราองอาจกล้าหาญในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ถ้ามันเกิดขึ้นมา สังคมมันเกิดที่นี่ สังคมมันเกิดขึ้นมา เรามาลงอุโบสถร่วมกันก็เพื่อสิ่งนี้ เพื่อจะคอยขัดเกลา คอยให้เราไม่ตกกระแสออกไปเป็นเรื่องของกิเลส ทำอะไรมันจะลำบาก มันจะอัตคัดขาดแคลน มันต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะหายใจเข้าและหายใจออกก็ลำบาก หายใจเข้าและหายใจออกก็เหนื่อยนะ การกินต้องใช้กำลังงาน ต้องเคี้ยว ต้องอะไร มันก็เหนื่อย ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ การกินการอยู่มันก็ทุกข์ นอนอยู่มันก็ทุกข์ ถ้ามันนอนเป็นความสุข นอนอย่าขยับเลย ทั้งวันทั้งคืนได้ไหม มันก็ไม่ได้ อิริยาบถมันอยู่ไม่ได้หรอก เวลายืน เดิน นั่ง นอน ความเป็นไปในชีวิตประจำวันเรามันก็ทุกข์อยู่ แล้วเวลามันจะลงอุโบสถ มาร่วมสังฆกรรม มันจะเป็นทุกข์มาจากไหนล่ะ

ทุกข์ก็ทุกข์เพื่อดีไง ทุกข์ก็ทุกข์เพื่อสัจจะความจริงไง สัจจะอริยสัจจะมันจะเกิดขึ้นมาก็เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเราไง มันถึงตรวจสอบกัน เอามานี่เพื่อตรวจสอบ เราลงอุโบสถร่วมกันก็เพื่อสังฆะ เพื่อสงฆ์ เพื่อความสะอาด เพื่อความบริสุทธิ์ ความสะอาดบริสุทธิ์ของศีล แล้วถ้าตั้งใจทำขึ้นมาจะเกิดสมาธิ ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะศีลมันสะอาด ถูกต้อง มันสะอาดเพราะอะไร สะอาดเพราะเราก็ทำของเรา หนึ่ง แล้วมันเข้ามาในหมู่คณะ ถ้ามันผิด มันเข้ามาแล้วทำผิด มันขัดแย้งกับทางดี

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปทางเดียวกัน ขัดแย้งกันไม่ได้ ถ้าขัดแย้งกันต้องมีคนใดคนหนึ่งผิด นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเข้ามาเป็นหมู่คณะ การกระทำจะเป็นในแนวทางเดียวกัน แล้วมันจะผิดหมดทั้งสังฆะ ทั้งพระเป็น ๔๐-๕๐ องค์ มันจะผิดหมด มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันก็ต้องมีคนถูกอยู่บ้างใช่ไหม ตรงนี้มันจะตรวจสอบกัน มันจะตรวจสอบกันอย่างนี้ ลงอุโบสถเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้ ศีลมันสะอาดบริสุทธิ์ของมันไป แล้วเวลาสะอาดบริสุทธิ์ของมันออกมาแล้ว เวลาข้างในมันเป็นไป ทำสิ่งที่เป็นความตกค้าง สารพิษที่ตกค้างอยู่ในใจ เราต้องเอามันออก เอามันออกมาเพื่อให้เราสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สิ่งที่สกปรกในใจ แล้วมันได้ทำลายออกไป เราทำอย่างไร

มันจะแจ้งนะ ถ้าใครได้กระทำมามันจะแจ้งมาก มันจะบอกกล่าวได้ นี่ร่มโพธิ์ร่มไทร พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็อย่างนี้ไง เลี้ยงหัวใจไง หัวใจมันต้องมีการกระทำของมัน มันถึงจะมีสิ่งตอบสนอง ถ้าไม่มีสิ่งตอบสนอง “ยอดธรรมๆ” ไปสงบอยู่เฉยๆ ไปสงบอยู่เฉยๆ อย่างนั้นแล้วเสวยอารมณ์ เพราะมันไม่อยากคิด มันขี้เกียจ พอจิตมันเป็นสมาธิแล้วมันขี้เกียจ มันไม่ยอมคิดอะไรนะ พอไม่คิดอะไร มันเข้าใจว่าเป็นธรรม พอเข้าใจว่าเป็นธรรม มันจะไปนอนจมอยู่นั่นน่ะ พอนอนจมอยู่อย่างนั้น “นี่ยอดธรรมๆ”

๑. มันเป็นสารพิษที่เราไม่รู้ตัวอยู่แล้ว

๒. มันปกป้องตัวมันเอง ไม่ยอมทำอะไร เพียงแต่เทียบเคียงว่าเป็นเหมือนกัน

๓. “ยอดธรรมๆ”

สิ่งที่ยอดธรรม ยอดธรรมมันมีอะไรเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม ศีลเป็นอย่างไร สมาธิที่มันสงบตัวเข้ามา แล้วเวลามันคลายตัวออกมา สมาธิมันเจริญขึ้นไป เดี๋ยวสมาธิเสื่อม มันเป็นเหตุใด อธิบายถึงความเจริญกับเสื่อม สมาธิมันต่างกันอย่างไร

แล้วเวลาปัญญาที่เกิดจากสมาธิ ถ้าสมาธิมันอ่อนไปมันก็เป็นสัญญา เวลาที่ใช้ปัญญาขึ้นไปต่อสู้กับกิเลส ถ้ามันเป็นสัญญาขึ้นมา สมุทัยมันสอดเข้ามาในสมาธินั้น สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยคือกิเลส มันสอดเข้าไปในสมาธิ สมาธิก็เสื่อมไป อ่อนไปเป็นธรรมดา ขนาดมันสอดเข้าไปในปัญญา ปัญญาที่เป็นโลกุตตรปัญญา สมาธิรองรับ สมาธิที่เป็นฐาน ฐานให้เกิดโลกุตตรปัญญา ได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญในกิเลสไปอยู่พักหนึ่ง มันจะปล่อยวางไปชั่วครั้งชั่วคราว แต่ขณะที่ใช้บ่อยมาก ใช้บ่อยเกินไปจนสมาธิมันอ่อนตัวลง กำลังพื้นฐานมันรับปัญญาสิ่งนั้นไม่ได้ สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากที่เป็นสมุทัยมันก็สอดเข้ามา พอสอดเข้ามา ปัญญาก็ล้มลุกคลุกคลาน ปัญญามันก็คิด มันก็ใช้ปัญญาโดยรอบไม่ได้

ปัญญาที่มันใคร่ครวญเข้าไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการของมันคือตัณหาความทะยานอยากกับจิตที่มันแยกออกจากกัน ระหว่างกาย เวทนา จิต ธรรม กับจิตที่มันแยกออกจากกัน ปล่อยวางๆ ที่มันเป็นคราวๆ ไป มันก็ปล่อยไม่ได้ ปล่อยไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาเป็นตัวเชื่อม เป็นสิ่งที่ร้อยรัดไล่เข้ามาให้สัญญากับจิตเป็นอันเดียวกันแล้วล้มลุกคลุกคลานไป นี่คือการใช้ปัญญาที่จิต ที่เป็นอุปสรรคของการใช้ปัญญาที่จิตมันเสื่อมไป

ขณะที่จิตเป็นปัญญาโดยมรรคญาณ เวลาสมาธิมันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญไปในฐานของสมาธิ เวลาพิจารณาไปแล้วจิตมันปล่อย ปล่อยสิ่งนั้นออกมาเป็นตทังคปหาน ปล่อยด้วยการปล่อยสิ่งที่มันเป็นสารพิษในหัวใจเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นไป เป็นครั้งเป็นคราวขึ้นไปมันก็หมั่นฝึกหมั่นซ้อม

สิ่งที่เป็นไป สมาธิมันก็เป็นสมาธิ เจริญแล้วเสื่อม เกิดจากตัณหาความทะยานอยากมันสอดแทรกเข้ามา สมุทัยมันสอดแทรกเข้ามา ขณะที่ใช้ปัญญาขึ้นไป ปัญญาที่เราใช้ปัญญาขึ้นไป มันก็มีสมุทัยสอดแทรกเข้ามาเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมาเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาเพราะการฝึกฝน การกระทำของเรา คนฝึกงาน งานที่มีการฝึกขึ้นมาแล้วเป็นงานของใจ งานของการที่จะรื้อภพรื้อชาติ งานของการที่เราต่อสู้กับสารพิษในหัวใจ

โลกนี้มันร้อน โลกร้อน โลกร้อนเพราะสารพิษ เพราะขยะเป็นพิษ สิ่งนี้เกิดเพราะมนุษย์ใช้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มนุษย์ต้องการความสะดวกสบาย มนุษย์คิดเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของตน แล้วมันก็เอาสิ่งที่เป็นผลลบ โทษของเทคโนโลยีนั้นมาด้วย

ในการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา ว่าเป็นธรรมๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมๆ ที่เราฝึกฝนขึ้นมา เราว่าเป็นธรรม กิเลสมันก็ตามมาด้วย กิเลสมันก็มีการเทียบเคียงขึ้นมากับธรรมนั้น ถ้ากิเลสมันก็มีการเทียบเคียงขึ้นมากับธรรมนั้น มันก็เป็นกิเลสในหัวใจ มันถึงต้องใช้สติของเราใคร่ครวญ ใช้สติในการฝึกฝน

ครูบาอาจารย์ต้องเป็นอย่างนี้นะ เพราะนี่คือประสบการณ์ของจิต จิตมันเคยเห็นสภาวะแบบนี้ มันใคร่ครวญสภาวะแบบนี้ขึ้นมา มันทำขึ้นมา ติด ติดอย่างไร ล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานอย่างไร แล้วเวลามันปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางอย่างไร แล้วเวลาปล่อยวางจริงๆ เวลามันสมุจเฉทปหาน มันขาดออกไปดั่งแขนขาด มันขาดออกไป พอขาดออกไป สังโยชน์ขาดออกไป จิตปล่อยวางมา จิตมันพ้นออกจากอริยสัจเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มันคายพิษ คายพิษ คายพิษไง จิตที่เป็นพิษมันจะคายของมันออกมา พอคายออกมา นี่เป็นผู้ประเสริฐ พระเป็นผู้ประเสริฐ ประเสริฐเพราะอะไร เพราะมันไม่เกิดในโลก โลกมันต้องเวียนตายเวียนเกิดนะ

เกิดมาชาตินี้เกิดมาเป็นชาวพุทธ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ออกมาเป็นภิกษุ บวชเป็นพระเป็นสงฆ์ เป็นนักรบ รบกับกิเลสของตัว กองทัพเขารบกับข้าศึกข้างนอก เราเป็นนักรบ รบกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ถ้ามันเอาสิ่งที่เป็นพิษในหัวใจออกหมด มันจะต้องไม่เกิดอีก

คำว่า “ไม่เกิดอีก” ดูสิ เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็กเลย โลกนี้เหมือนเด็กๆ ทุกคนมีตัณหาความทะยานอยาก ต้องการให้ได้ดั่งใจของตัว มีชีวิตอยู่ก็อยากสุขสบาย อยากมีสถานะ อยากมีทุกๆ อย่าง แล้วถ้าจิตที่มันพ้น เอาสารพิษออกไปจากใจ มันพ้นออกไปจากสิ่งที่ใจมันเรียกร้อง

จะไม่มีสิ่งใดสมความปรารถนาเลย แล้วเด็กมันไม่เข้าใจข้อเท็จจริงมันก็เรียกร้องไปตามแรงปรารถนาของจิตนั้น แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญาของเรา เราใคร่ครวญออกมา เราเอาสารพิษออกมาจากใจ เราดูโลกมันเป็นอย่างนั้นเลย โลกนี้เขาพร่องอยู่ เขาติดอยู่ ติดอยู่เพราะเขาไม่รู้ เขาไม่รู้ ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรม ธรรมว่าอย่างนั้น ธรรมบอกว่าไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา แต่ตัณหาความทะยานอยาก แรงขับมันมี แรงขับมี พลังงานที่ว่ามันมีแรงดึงดูดอยู่ มี มันก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น มันก็แสดงออกโดยข้อเท็จจริงอย่างนั้น เหมือนเด็กๆ ต้องเวียนตายเวียนเกิดทั้งๆ ที่ไม่อยากเกิด ทั้งๆ ที่ไม่อยากตาย แต่ก็ต้องเวียนตายเวียนเกิด ในเมื่อจิตมันเป็นพิษ

แต่ในเมื่อเรารักษาของเรา เราใคร่ครวญของเรา เราชำระล้างของเราจนมันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นความจริงขึ้นมา มันเห็นแล้วมันสลดสังเวช ธรรมสังเวช ปลงธรรมสังเวช แสดงธรรม ถ้าเขาไม่รู้ธรรมตามเรามันก็เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะอะไร เพราะเขาเข้าไม่ถึง เขาเข้าไม่ได้ ศึกษาอยู่ พยายามประพฤติปฏิบัติอยู่ แต่มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้มันก็เป็นเรื่องของเด็กๆ ของเขาอย่างนั้น นี่มันมองโลกอย่างนั้นนะ ถ้าเราทำของเรา เราปฏิบัติของเรา มันได้ผลของเรา เราดูใจของเราแล้วเรารักษาของเราให้เป็นประโยชน์ของเรานะ

ใจเราเป็นพิษ มาลงอุโบสถ ลงอุโบสถศีลเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อใจของเรา เพื่อจุดยืนของเรา เพื่อการกระทำของเรา เอวัง