เทศน์พระ วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจ ตั้งใจฟังธรรม วันนี้วันอุโบสถ วันอุโบสถศีล ชาวพุทธเขาจำศีลภาวนา แต่เราเป็นพระ เราจำศีลภาวนามาตั้งแต่วันบวช เพราะขณะที่บวช พอบวชเป็นพระ จตุตถกรรม เป็นพระแล้ว พระ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ถ้าจากการอาบัติหนักเป็นตาลยอดด้วน ขาดจากพระไปเลย ถ้าขาดจากพระ เห็นไหม มันเป็นพระทุกวินาที ขณะที่บวชออกมาจากโบสถ์ เป็นภิกษุเป็นพระตลอดไปจนกว่าจะลาสิกขาออกไปถึงเป็นคฤหัสถ์ ฉะนั้น เขาถืออุโบสถกัน อุโบสถเขาถือเป็นครั้งเป็นคราว แต่พระ ศีลมันโดยปกติของใจ ศีลเป็นโดยปกติ มันเป็นปกติเลย เป็นพระตลอดไป เป็นพระตลอดไปนี้เป็นสมมุติสงฆ์ แต่ถ้าเป็นอริยสงฆ์ล่ะ เป็นอริยสงฆ์ เอหิภิกขุ เราต้องบวชเราเอง เราต้องบวชหัวใจนะ
เวลาเราบวชเป็นพระสมมุติสงฆ์ ต้องมีอุปัชฌาย์ ต้องเป็นพิธีกรรม ต้องมีอุปัชฌาย์ ต้องมีคำกล่าวขอบวช เราจะเป็นพระขึ้นมาด้วยธรรมและวินัย แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ เราจะเป็นพระมาด้วยอริยสัจ ด้วยสัจจะความจริงในหัวใจ ถ้าด้วยสัจจะความจริงในหัวใจขึ้นมา ถ้าเป็นพระขึ้นมา เราจะรู้ตัวของเราว่าเราเป็นพระ เราจะรู้ตัวของเราตลอดมา
แต่ขณะที่เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์โลก เวลาเกิดขึ้นมา ขณะเกิดนี้ไม่มีใครรู้นะ ไม่มีใครรู้หรอก เวลาตายไปในนรกอเวจี มันเป็นแล้วถึงได้รู้ตัวขึ้นมา ขณะที่จะเกิดเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา รู้สึกตัวไหม รู้สึกตัวแต่สุขกับทุกข์ แต่ไม่รู้สึกตัวว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร เพราะอยู่ในครรภ์ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในครรภ์นั้น ๙ เดือน คลอดออกมาแล้ว ถ้าพ่อแม่ป้อนข้าวป้อนนมก็จะได้อาหารได้การกิน ได้ดำรงชีวิตอยู่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ป้อน ไม่ดูแลรักษา มันก็ตายเปล่านะ มันตายไป มันช่วยตัวเองไม่ได้เลย
แต่ขณะที่เป็นอริยสงฆ์ การเกิดในธรรมมันจะรู้ตัวตลอดนะ มันจะรู้ตัวว่าเป็นอย่างไร เพราะเราเกิดเอง เอหิภิกขุ เราบวชตัวเราเอง สมาธิก็เป็นสมาธิของเรา ถ้ามันเป็นสมาธิของเราถ้าเราไม่ใช้ปัญญาของเราออกไปในการใช้ปัญญา ในศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดเป็นมรรคญาณขึ้นมา มันจะไม่เกิดการกระทำ มรรคญาณไม่เกิด มรรคญาณไม่เกิด มันจะทำให้เป็นเอหิภิกขุได้อย่างไร
เอหิภิกขุมันบวชตัวเอง รู้สึกตัวเอง การเกิดอย่างนี้สำคัญมาก เพราะขณะการเกิดอย่างใดก็แล้วแต่ในโลกนี้ การเกิดโดยไม่มีสติ การเกิดมาด้วยความทุกข์ยาก การเกิดมาด้วยการรอดตายมาถึงได้เกิดใหม่ แต่เอหิภิกขุมันมีความรื่นเริงอาจหาญ มันมีความสุขตลอดเวลา มันจะรู้ตัวของมันตลอดเวลา มันจะเข้าใจของมันตลอดเวลา การเกิดอย่างนี้สำคัญมาก แต่การเกิดอย่างนี้ต้องอาศัยพื้นฐาน อาศัยอำนาจวาสนา
อำนาจวาสนานะ เราเป็นพระ เราบวชมา มาจากตระกูลต่างๆ กันมา การศึกษาก็ต่างกัน จริตนิสัยก็ต่างกัน มันถึงต้องมีธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐาน เวลาพระบวชใหม่มาต้องขอนิสัย ขอนิสัยเพื่ออะไร นิสัยของครูบาอาจารย์ ความเป็นอยู่ในวัดในวา ครูบาอาจารย์ท่านดำรงชีวิตอย่างไร ความดำรงชีวิตเป็นครูเป็นอาจารย์ อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร วัตรต่างๆ ข้อวัตรปฏิบัติ นี่ขอนิสัย ถ้าขอนิสัย บรรทัดฐาน ขอนิสัยเพื่ออะไร เพราะนิสัยมันเป็นธรรม มันเป็นวินัย มันเป็นอาบัติ อาบัติทุกกฏ อาวุโส-ภันเต สิ่งที่การอยู่ในวัด การเคารพกันโดยธรรมวินัย เคารพกันโดยธรรมวินัยนะ นี่เราเคารพกันโดยกฎหมาย
แต่ถ้าพระเรามีคุณธรรมในหัวใจ จะเป็นภันเต คือว่าอาวุโสอ่อนกว่า แต่มีคุณธรรม เราก็เคารพกันด้วยคุณธรรม หัวใจเรานับถือบูชา แต่ในบรรทัดฐานในธรรมวินัยเป็นสมมุติ มันก็ต้องตามอาวุโส-ภันเตไปตามธรรมวินัย ตามธรรมวินัยคือเราเคารพศาสดา เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ
ครูบาอาจารย์บอกว่าเหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป คือเราไม่เคารพธรรมวินัยไง วินัย ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล สมาธิ เราเหยียบย่ำไป เราเหยียบย่ำเราเอง เพราะศีลมันจะเกิดก็เกิดจากเรา เราวิรัติเอา ถ้าเป็นโสดาบัน สมุจเฉทฯ คือมันเป็นวินัยโดยธรรมชาติเลย มันสมุจเฉทฯ ตั้งแต่กิเลสขาด เพราะอะไร เพราะจิตมันไม่มีความลังเลสงสัย จิตที่มันผิดศีลผิดธรรมอยู่นี่เพราะมันลูบคลำ มันมีความลังเล มันไม่เข้าใจ คนลังเล คนลูบคลำ มันถึงได้ผิด ถ้าคนมันไม่มีความลังเลมันจะผิดที่ไหน จิตมันไม่มีเจตนา จิตมันไม่มีการกระทำในสิ่งที่ผิดพลาด นี่ไง มันถึงไม่เป็นสีลัพพตปรามาส การสีลัพพตปรามาสเกิดจากนิวรณธรรม เกิดจากความลังเล เกิดจากความสงสัยของเราเอง ถ้าเรามีความลังเลสงสัยของเราเอง การกระทำนั้นมันก็มีความผิดพลาดไปตลอดเวลา
สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ถ้ามันเป็นสมุจเฉทฯ มันเป็นโสดาบันโดยสัจจะความจริง สิ่งนี้มันจะเป็นธรรมชาติ มันจะเป็นความจริงอย่างนั้นเลย แต่ขณะที่เราเป็นปุถุชน เรากำลังจะประพฤติปฏิบัติอยู่ บรรทัดฐานเราต้องเคารพ เราต้องรักษา มันจะมีข้อวัตรติดหัวไป ติดหัวไปคือเรารู้ถูกรู้ผิด คนรู้ถูกรู้ผิด ดูสิ เราไปบนทางกฎจราจร ถ้าเราเป็นฝ่ายผิด รถมันเกิดอุบัติเหตุกัน เราเป็นฝ่ายผิดเราก็รู้ว่าเราผิด ถ้ารู้ว่าเราผิด เราก็ออมชอมกัน เราก็คุยกันให้มันจบสิ้นกันไปว่าเรารับผิดชอบขนาดไหน
นี่เหมือนกัน ถ้าคนรู้ถูกรู้ผิด ในสังคมเรามันจะไม่มีความโต้แย้งขัดแย้งกันหรอก รู้ถูกรู้ผิด ใครถูกใครผิดก็ว่าตามเหตุนั้น มันเป็นธรรม เป็นธรรมคือผิดก็ยอมรับว่าผิด ถูกก็ยอมรับว่าถูก แต่ถ้ามันไม่เป็นธรรม มันไม่เป็นธรรม มันเอาอำนาจบาตรใหญ่ เอาความเห็นของตัวเข้าตะแบง การตะแบงอย่างนั้นในหมู่คณะมันก็ไม่มีความสะดวกสบาย ในหมู่คณะมันก็มีความขัดแย้ง นี่มันไม่เป็นธรรม มันเป็นโลก
แต่ถ้าเป็นธรรม ถูกผิดเราก็รู้กันอยู่ ผิดก็ผิด ผิดแล้วจะเป็นอะไรไป ผิดเพราะไม่เจตนา ผิดเพราะไม่รู้ ผิดเพราะไม่รู้ก็ขออภัย จะปลงอาบัติ ปลงอาบัติเพราะความผิดพลาด สิ่งนี้เป็นอาบัติ เราไม่อยากมุสาซ้ำสองซ้ำสาม เพราะเราเป็นอาบัติมา เรารู้สิ่งไหนก็ไม่รู้ ทีนี้ก่อนจะลงอุโบสถเราก็ปลงอาบัติกันก่อน
เวลาผู้แสดงปาฏิโมกข์ ศีล ๒๒๗ สิ่งใดที่ผิด เพราะศีล ๒๒๗ มันตั้งแต่อาบัติหนัก อาบัติเบาไปเรื่อยๆ สิ่งที่ไปเรื่อยๆ เพื่อกลั่นกรอง เพื่อปรับสมดุลทางความคิด เราลงอุโบสถกัน ปรับสมดุลทางความคิด สิ่งนี้เป็นบรรทัดฐาน ธรรมวินัยมันเป็นบรรทัดฐานอย่างนี้ แล้วคนที่อยู่ในสังคมของสงฆ์มีการผิดพลาดอย่างไรบ้าง ถ้ามีการผิดพลาด เดี๋ยวจะปลงอาบัติ จะปลงอาบัติก็สะกิดกันไว้ นี่อาบัติ
อนาบัติคือสิ่งที่ไม่เป็น ในวินัย ในปาฏิโมกข์ ในพระไตรปิฎก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัยไว้ ตั้งเป็นนิยามเลย นิยามคือว่ามีผู้กระทำผิด ผิดเพราะเหตุนี้ถึงได้บัญญัติ บัญญัติว่าเป็นข้อห้าม แต่ถ้าเวลาทำไปมันมีอนาบัติ อนาบัติคือสิ่งที่ไม่เป็น เช่น ผ้าอาบน้ำฝน เวลาใช้อาบน้ำฝนให้อธิษฐานผ้าอาบน้ำฝน หมดจากกาลของกาลหน้าฝน ให้อธิษฐานใช้ต่อไป ให้อธิษฐานใช้ต่อไปนะ
แต่บางสำนักเขาบอกว่าหมดเวลาหมดกาลแล้วใช้ไม่ได้ๆ บริขารโจลก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ นี่มันตะแบงไป ไม่เป็นธรรมไม่เป็นวินัย
เป็นธรรมเป็นวินัยนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วินัยแล้วมันจะไปเข้ากับธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือความถูกต้องดีงาม วินัยเป็นข้อห้าม ข้อห้ามไม่ควรทำๆ แล้วธรรมวินัย การประหยัดมัธยัสถ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประหยัดมัธยัสถ์มากนะ ครูบาอาจารย์ที่มีธรรมในหัวใจจะประหยัดจะมัธยัสถ์ จะเคารพธรรมและวินัย จะยอม จะทำตามนั้น แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ถ้าของมันยังใช้ได้อยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ใช้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก
ในปาฏิโมกข์ สิ่งที่หมดกาลหน้าฝนแล้วให้อธิษฐานใช้ต่อไป ทีนี้อธิษฐานใช้ว่าอย่างไรล่ะ วสฺสิกสาฏิกา อธิษฐานว่าเป็นผ้าอาบน้ำฝน แล้วเราอธิษฐานอะไรต่อไป ก็อธิษฐานไม่ได้ อธิษฐานไม่ได้เพราะอะไร เพราะไม่เป็นธรรม พอไม่เป็นธรรม วินัยมันก็ขัดแย้ง เพราะไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรม มันไม่ประหยัด มันฟุ่มเฟือย มันฟุ้งเฟ้อ พอหมดกาลหมดสมัย ของยังดีอยู่ก็จะทิ้งไปๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บัญญัติวินัยไว้ให้หยาบกระด้างขนาดนั้นหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพุทธวิสัย ด้วยปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว้างขวางมาก ถึงบอกให้อธิษฐานใช้ต่อไป ให้อธิษฐานใช้ว่าอะไร ให้เป็นบริขารโจล บริขารโจลมันพ้นออกมาจากบริขาร ๘
บริขาร ๘ ผ้าสบง ผ้าจีวร สังฆาฏิ อธิษฐานเป็นผ้าสบง ผ้าจีวร แต่สิ่งนี้มันเป็นบริขารโจล มันออกมาจากบริขาร ๘ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่บริขาร ๘ ขาดไม่ได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ ให้อธิษฐานแล้วใช้ต่อไป เป็นอนาบัติ อนาบัติคือไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเราไปวินิจฉัยกันเฉพาะตัวกฎหมาย ตัววินัย หมดหน้าฝนแล้วใช้ไม่ได้
ใช้ไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรให้มันใช้ได้ล่ะ มันมีใช้ไม่ได้ แต่มันก็มีใช้ได้ ใช้ได้ต่อไป
ใช้ไม่ได้เพราะมันเป็นมุสาไง เพราะเราอธิษฐานว่าเป็น วสฺสิกสาฏิกา อธิษฐานว่าเป็นผ้าอาบน้ำฝน มันหมดฤดูกาลไปแล้ว ผ้าอาบน้ำฝนมันจะลากยาวไปได้อย่างไร พอมันหมดฤดูกาลแล้วมันก็อธิษฐานให้เป็นบริขารโจล อธิษฐานให้เป็นผ้าปูนอน อธิษฐานไว้ให้เป็นผ้าเช็ดบาตร อธิษฐานอะไรก็ได้เพื่อมันจะเป็นประโยชน์กับการใช้สอย จนผ้านั้นมันจะเก่าคร่ำคร่าจนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วถึงจะเสียสละนะ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประหยัดมัธยัสถ์อย่างนั้น สิ่งที่ประหยัดมัธยัสถ์ มันก็จะเข้ากับธรรม ถ้าเข้ากับธรรม ธรรมและวินัย ธรรมคือมันกว้างขวาง
ทีนี้เราประพฤติปฏิบัติมา วินัยมันเป็นการส่งต่อ ส่งต่อคือทำไปให้เป็นบรรทัดฐาน ให้สังคมเราร่มเย็นเป็นสุข สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่หูตาสว่าง จะคอยชี้นำเรา จะคอยบอกเรา บอกถึงเภทภัยไง เหมือนฝูงสัตว์เลย เหมือนฝูงสัตว์ เราเป็นสัตว์ใช่ไหม เราเข้าไปอยู่ป่าอยู่เขากัน เราออกไปกินเล็มหญ้ากัน มันมีเสือ มีสิงโต มีอะไรจะมาเอาไปกิน เราต้องระวังภัยตลอดเวลา แล้วหัวหน้าฝูงเป็นผู้ที่ฉลาด จะนำฝูงของเรา นำหมู่สงฆ์ของเราให้พ้นจากสิ่งที่เป็นสัตว์เป็นเสือ สิ่งที่เป็นสัตว์เป็นเสือมา ก็โลภะ โทสะ โมหะ
สิ่งที่เวลามันขัดแย้งกัน เวลาสัตว์ เสือมันตะครุบ มันตะครุบคนเอาไปกิน ตะครุบสัตว์เอาไปกิน นั่นมันตะครุบไปเป็นอาหาร แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันตะครุบเรา ตะครุบหัวใจของเราให้มันดื้อด้าน ให้มันดื้อด้านหาญธรรม ไม่กลัวสิ่งใดเลย สิ่งนั้นก็ไม่เป็นไร สิ่งนี้ก็ไม่เป็นไร ของเล็กน้อย ของเล็กน้อยอย่างนี้มันจะเป็นโทษอะไร ธรรมวินัยใหญ่กว่านี้อีก ประพฤติปฏิบัติไปเราจะได้มรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานเราใหญ่โตมาก กับไอ้ความผิดเล็กน้อยอย่างนี้เหยียบมันไปเลย นี่เวลามันกัดกิน เวลามันกัดกินหัวใจมันเป็นอย่างนั้น มันดื้อด้าน พอมันดื้อด้านขึ้นมามันก็หาญธรรม มันไม่ฟังใครหรอก มันไม่ฟังใครเลย แต่ครูบาอาจารย์เราจะพาลัดเลาะ พาพวกเราพ้นออกไปจากภัยไง
ภิกษุเป็นผู้ขอ ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร
ผู้ขอ ขออะไร? ขอให้ตัวเองรอดพ้น รอดพ้นจากกิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันเหยียบย่ำใจ มันเหยียบย่ำหัวใจ มันเหยียบย่ำเรา แล้วกิเลสมันก็กัดกินเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย แต่ครูบาอาจารย์ที่ผ่านพ้นจากปากเสือปากจระเข้ ปากเสือร้ายที่มันตะครุบเราอยู่นี่ มันจะพ้นภัยไปได้ การพ้นภัย เราเอาตัวเองยังไม่รอด เราเอาตัวเองไม่ได้ เริ่มต้นให้มีบรรทัดฐาน ธรรมและวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ ให้ปฏิบัติสมควรต่อกัน ให้ปฏิบัติร่วมกัน ให้เห็นเป็นไป เพราะสิ่งนี้ถนอมรักษา เหมือนภาชนะของเรา ภาชนะ ในบาตรเรา ดูสิ เราล้างบาตรไม่เกลี้ยง เราล้างบาตรไม่สะอาด เราเช็ดแล้ว เวลาเราออกบิณฑบาตพรุ่งนี้เช้า ไขมันที่ขอบบาตรไหลมา นี่เป็นสันนิธิ
ถ้าเราเช็ดบาตรไม่เกลี้ยง ล้างไม่เกลี้ยง แล้วเวลามันมีไขมันอยู่ พอโดนความร้อน เวลาไปบิณฑบาต ข้าวร้อนมันตกมาในบาตร ไขมันนั้นมันละลายออกมา นี่มันเป็นสันนิธิ มันเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ อาหารแรมคืน ถ้าเรารักษาไม่สะอาด เราทำไม่ได้ มันก็เป็นอาบัติไป มันก็หมักหมมไป เราไม่รู้ตัวเลย ถ้าเราไม่รู้ตัว เราไม่สำเหนียก ไม่ดูแลบริขารของเรา ไม่รักษาดูแล การใช้ของเรามันทำให้สะสมหมักหมมด้วยอกุศล ด้วยอาบัติ ด้วยความต่างๆ แล้วเราจะไปปฏิบัติอะไร
นู่นก็ไม่จำเป็น นี่ก็ไม่จำเป็น...สิ่งที่ทำกันมันฝึกสติ มันจำเป็นหมดล่ะ มันจำเป็น มันเป็นบรรทัดฐานให้ภาชนะเราสะอาด ถ้าภาชนะเราสะอาด บิณฑบาตมา ข้าวจะร้อนขนาดไหน มันจะมีสิ่งใดตกไปในบาตรเรา ถ้าของเราสะอาดบริสุทธิ์ มันปลอดจากอาบัติ มันเป็นบุญกุศลเขาด้วย เป็นบุญกุศลของเรา เพราะเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง
เราออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพเพื่อดำรงชีวิต ชีวิตนี้อาหารดำรงชีวิตของเรา อาหารคำข้าว กวฬิงการาหาร อาหารเป็นคำข้าว ให้ชีวิตนี้มันดำเนินต่อไป แล้วมีชีวิตขึ้นมา ชีวิตของสมณะ สมณะ ภิกษุ ภิกษุอยู่ที่ไหน พุทโธๆ อยู่ที่ไหน
เลี้ยงชีพจากภายนอก เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง การดำรงชีวิตเราสะอาดบริสุทธิ์ ญาติโยมเขาได้ทำบุญกุศลของเขา ชาวพุทธ บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา...อุบาสก อุบาสิกาเขาได้ทำกิจกรรมของเขา เขาได้สร้างบุญกุศลของเขา เขาได้ทำทานของเขา เขาได้สละทานของเขา เขาทำประโยชน์เพื่อเขา ประโยชน์ของเขาก็ได้ ประโยชน์ของเราก็ได้ ตระกูลของเขาก็เจริญรุ่งเรือง เพราะอะไร เพราะตระกูลของเขา ตระกูลของเขาคือหัวใจของเขา ตระกูล ตระกูลของคฤหัสถ์ใช่ไหม ไม่ประทุษร้ายสกุล สกุลของเขา เขาก็มีความสุขของเขา
สกุลของเรา ศากยบุตรพุทธชิโนรส สกุลของสมณะ แล้วสมณะก็มีสกุล มีสกุลสงบเสงี่ยม สกุลอยู่ในธรรมวินัย ต่างฝ่ายต่างไม่ประทุษร้าย มันก็เจริญงอกงาม พอเจริญงอกงาม บุญกุศลของเขา เขาก็ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยของเขา เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง นี่ศาสนาเจริญ เจริญอย่างนี้ ถ้าเจริญอย่างนี้ขึ้นมา ภาชนะเราสะอาด
ศีลก็เหมือนกัน ในหัวใจเราสะอาดขึ้นมา ถ้าหัวใจเราสะอาด อยู่ในข้อวัตรปฏิบัติของเรามันสะอาด ภาชนะเราสะอาด เวลาสมาธิเกิดขึ้นมาก็เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิเกิดอย่างไร สมาธิจะเกิดไหม ภิกษุเรา พระเราสมาธิมันไม่เกิด ทำสมาธิไม่ได้ ทำความสงบของใจไม่ได้ แล้วใครมันจะทรงธรรมทรงวินัย ธรรมวินัยมันว่างเปล่าหรือ ธรรมวินัยนี้เอาไว้หลอกเด็กใช่ไหม พระเขาหลอกเด็ก นรกสวรรค์ก็ไม่มี พระก็มนุษย์นี่แหละ คนห่มผ้าเหลือง แล้วทำไมต้องไปเสียสละ
เสียสละสิ ถ้าใจมันเป็นธรรม ใจของคนมันมีคุณธรรมขึ้นมา ใจของคนมันเป็นธรรมขึ้นมา สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ มันมองเห็น แต่ถ้าใจของพาล พระก็มนุษย์ มนุษย์ห่มผ้าเหลือง...ใช่ ก็มนุษย์นี่แหละ สมมุติสงฆ์ บวชนี้เป็นสมมุติหมด เวลาบวชขึ้นมา จตุตถกรรม สมมุติ อุปัชฌาย์บวชขึ้นมา ยกเข้าหมู่ เวลาบวชขึ้นมา ญัตติเข้ามา ยกเข้าหมู่มาเป็นภิกษุขึ้นมา มันเป็นสมมุติ จริงตามสมมุตินะ ถ้าสมมุติมันไม่จริง มันจะเกิดอริยสงฆ์ขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าสมมุตินี้โลเล สมมุตินี้ไม่เป็นความจริง อริยสงฆ์เกิดไม่ได้หรอก
ความจริงมันเกิดความจริงขึ้นมา ถ้าอริยสงฆ์เป็นความจริง บวชด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นสงฆ์ขึ้นมาจริงๆ มันไม่มีอาบัติ ไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ศีลมันก็เป็นศีลของเราโดยชอบธรรม เวลาเกิดศีลขึ้นมา ศีลคือความสะอาดของใจ ภาชนะมันจะสะอาดขึ้นมา แล้วทำสมาธิขึ้นมา เราต้องมีความบากบั่นสิ
อาหารที่เขากินกัน อาหารที่มีคุณภาพ มันต้องมีราคาแพง เขาต้องไปแสวงหา มันมีน้อยมันถึงมีคุณภาพ อาหารที่มีกล่นเกลื่อนไปเขาก็ไม่มีใครสนใจ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาเป็นไปทางโลก เขาแสวงหากัน เขาแสวงหาทางโลก มันแสวงหาอย่างนั้น เขายังทุกข์ยากมากเลย แล้วเราจะแสวงหาธรรมในหัวใจ ความสงบของใจ ความสงบของใจนะ มันไม่มี สินค้าอย่างนี้ไม่มีขายตามท้องตลาด มันจะอยู่ที่หัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา ถ้ามันกำหนดขึ้นมา ตั้งสติขึ้นมา ทำให้เป็นสมาธิขึ้นมา สินค้าอย่างนี้ไง ธรรมวินัยมันไม่ว่างเปล่านะ
ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ธรรมที่ถูกต้องชอบธรรม ดูสิ เขาทำงานกัน ถ้าเขาทำถูกต้องขึ้นมามันจะเป็นกุฏิวิหารขึ้นมา ทำถูกต้องขึ้นมาแล้วใช้ประโยชน์ได้ ประตูก็ไม่ตก สิ่งต่างๆ มันจะดีไปหมดเลย ถ้าเขาทำของเขาเป็น นี่งานของโลกเขา เขาก็ยังทำของเขาได้ แล้วงานของเราที่เราทำขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันทำขึ้นมา มันจะเป็นสมบัติของเราขึ้นมา ถ้าเป็นสมบัติของเราขึ้นมา บรรทัดฐานของเราต้องดีก่อน สติของเราดี บรรทัดฐานของเราดี ถ้ามันทำขึ้นมามันก็เป็นสมบัติของเรา มันเป็นจริงๆ ไม่ว่างเปล่าหรอก มีจริงๆ ทุกข์มันยังมีจริงๆ เลย แล้วสุขมันจะมีขึ้นมาไม่ได้หรือ ความสุขความเป็นไปของใจมันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้อย่างไร
ขณะที่มันเป็นทุกข์ขึ้นมามันก็มีของมัน ทุกข์ขึ้นมา ขณะทุกข์เป็นนามธรรม ทำไมมันหน้าเศร้าสร้อยขนาดนั้นล่ะ ทำไมมันเจ็บปวดขนาดนั้นล่ะ เวลาทุกข์มันก็มี แล้วเวลาสุขมันไม่มีได้อย่างไร แล้วสิ่งที่มันฟุ้งซ่าน สิ่งที่มันเหยียบย่ำหัวใจ มันจะสงบมาได้อย่างไร มันจะสงบไม่ได้จริงๆ หรือ หัวใจนี้สงบไม่ได้ใช่ไหม ถ้าหัวใจมันสงบไม่ได้ แล้วปัญญามันเกิดมาจากไหน ปัญญาที่เขาเกิดขึ้นมา เกิดปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส
ปัญญาเดี๋ยวนี้นะ มนุษย์เชื่อถือไม่ได้ เขาใช้คอมพิวเตอร์กันทั้งนั้นน่ะ เวลาทำงานโรงงาน มนุษย์ทำความละเอียด ทำความรอบคอบไม่ได้ก็หุ่นยนต์ เขาจะใช้หุ่นยนต์กันหมดแล้วนะ เพราะมนุษย์นี้โลเล มนุษย์นี้ไม่มีหลักมีเกณฑ์ แล้วบอกปัญญาๆ คอมพิวเตอร์มันฉลาดกว่ามนุษย์อีก แล้วคอมพิวเตอร์มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ประกอบโปรแกรมมันขึ้นมา สิ่งที่เขาประกอบขึ้นมาเพื่อเข้ากับงานของเขา เขาต้องการใช้หุ่นยนต์ ใช้งานประเภทใด เขาก็ตั้งโปรแกรมของเขาไว้อย่างนั้น มันก็ทำซ้ำซากอยู่อย่างนั้นน่ะ มันเป็นประโยชน์ เป็นอุตสาหกรรมขึ้นมาให้เขาได้ผลประโยชน์
แต่ถ้าปัญญาของเราเกิดขึ้นมา มันเป็นปัญญาสิ่งที่มีชีวิต ปัญญามันมีชีวิต มันเปลี่ยนแปลง มันมีพัฒนาการ มันมีพัฒนาการตั้งแต่ปัญญาหยาบๆ ปัญญาที่เอาความคิดของเราไว้ ความคิดที่มันทุกข์มันยาก ปัญญามันใคร่ครวญทัน มันจะเอาไว้ในอำนาจได้ เอาสิ่งนี้ไว้ในอำนาจได้ ปัญญาอย่างนี้ปัญญาอย่างหยาบๆ หยาบมากๆ หยาบมากๆ จริงๆ นะ หยาบมากๆ เพราะอะไร เรายังไม่เคยภาวนา เราจะไม่รู้หรอกว่าปัญญาหยาบปัญญาละเอียดมันเป็นอย่างไร
เขาว่า อย่างหยาบๆ ทำไมอาจารย์เอาแต่นามธรรมมาเหยียบย่ำกัน อวดดี เอาความดีมาข่มขี่กัน
ไม่ได้ข่มขี่นะ มันพูดจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่อย่างนั้นมันจะมีมรรคหยาบมรรคละเอียดหรือ มรรคหยาบมรรคละเอียด ดูสิ ทำไมมีสติ มีมหาสติ แล้วคนไม่รู้มันจะพูดได้อย่างไร ดูสิ ดูอย่างจีวรเรามันยังมีด้านนอกด้านในเลย มีตะเข็บ ตะเข็บเราใช้เราก็รู้ เวลาโยมเขาก็เหมือนกัน สิ่งใช้สอยของเขา เขามีด้านนอกด้านใน ถ้าเขากลับเอาด้านในใส่ด้านนอก ดูสิ เขาเป็นคนปกติไหม นี่มันมีด้านนอกด้านใน ปัญญาก็เหมือนกัน มันมีด้านนอกด้านใน ในปัญญาๆ มันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ นะ แล้วมันเห็นขึ้นไปมันถึงจะชำระล้างได้ มันถึงจะรู้จริงว่าสิ่งที่เป็นจีวรขึ้นมา เขาเย็บขึ้นมาอย่างไร ล้มตะเข็บอย่างไร ล้มแล้วด้านนอกด้านในเป็นอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาด้านนอกเป็นอย่างไร ปัญญาด้านในเป็นอย่างไร ถ้าคนมันไม่เคยเย็บจีวร ไม่เคยตัดจีวร มันจะล้มตะเข็บเป็นไหม ดูสังฆาฏิสิ สังฆาฏิ ๒ ชั้น ตะเข็บซ่อนอยู่ข้างในมันเย็บอย่างไร ถ้าเย็บไม่ดีแล้วมันเป็นถุงอีก เย็บไม่ดี มันตกอีก ใช้ไม่ได้อีก แล้วเขาเย็บกันอย่างไร ไอ้คนทำไม่เป็น ไม่เป็นไปหมดล่ะ จีวร จีวรก็ซื้อที่ร้านไง จีวร เดี๋ยวไปขอเขาก็ได้ เห็นไหม นี่ลอยมาจากฟ้า
บางคนกิเลสอวดอ้างว่าตัวเองมีบุญญาธิการ ของทุกอย่างมีคนเอามาให้ ของทุกอย่างมีคนเอามาปรนเปรอ คิดว่าตัวเองฉลาด เราฟังมาแล้วมันทุเรศ ตัวเองทำไม่เป็น ตัวเองทำอะไรไม่ถูกเลย แล้วยังมาคิดอีกว่า คนเย็บจีวรเป็นคนโง่ ต้องลงทุนลงแรง ไอ้เราไปถึงอ้าปากขอเขาก็ได้แล้ว นี่มันไม่เป็น พอทำไม่เป็น ทุกอย่างทางวิชาการมันก็ไม่มี
มรรคญาณก็เหมือนกัน สมาธิมันเกิดขึ้นมาไม่ได้ ปัญญามันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ แล้วมันก็เพ้อฝันเพ้อเจ้อไป ศึกษามาๆ สิ่งนี้รู้ สิ่งนี้รู้...มันทำไม่เป็นมันจะรู้ได้อย่างไร
สิ่งที่รู้ต้องรู้จริงทำจริง มันต้องทำขึ้นมา มันต้องมีการกระทำขึ้นมาในหัวใจ มรรคญาณมันต้องเกิด มรรคญาณมันไม่เกิด ดูสิ ต้นไม้ เวลาปลูกต้นไม้ ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีปุ๋ยไปใส่มัน มันตายไหม มันตายโดยธรรมชาติของมัน มันไม่มีอาหารของมัน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราไม่ทำขึ้นมา เราไม่ปลูกฝังขึ้นมา มันไม่เจริญเติบโตขึ้นมา
เอหิภิกขุ บวชตัวเอง บวชหัวใจ เราบวชมาจากอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชมาให้เป็นสมมุติสงฆ์แล้ว สมมุติสงฆ์มันก็ได้บุญกุศลถ้าเราอยู่ในศีลในธรรม แล้วอยู่ในศีลในธรรม หัวใจเป็นอย่างไร หัวใจแห้งผากไหม หัวใจมีความชุ่มชื่น มีอะไรเป็นอาหารให้หัวใจบ้าง
ถ้าไม่มีอาหารของหัวใจเลย มันก็ว้าเหว่ มันว้าเหว่ เขาวิเวกวังเวง มันไม่เป็นความสุข ว้าเหว่มาก เป็นความทุกข์มาก ถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมา มันก็เป็นปัญญาเพื่อจะหลอกตัวเองให้มันฟุ้งซ่าน นู่นก็ดี นี่ก็ดี มันส่งออกหมด มันไม่เป็นปัญญาเพื่อฆ่ากิเลสเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่มาจากตัวตน ปัญญาที่มาจากกิเลส ปัญญาที่มาจากเรา กิเลสมันใช้ปัญญาอย่างนี้ฆ่าอีกต่างหาก ปัญญาที่ควรจะเกิดมาฆ่ากิเลส กลายเป็นกิเลสมันใช้ความคิด คือคิดว่าปัญญามันทำลายตัวเอง จะไปที่นู่นจะดี จะไปภาวนาที่นู่นจะดี จะไปที่นู่น นู่นจะดี...ชาติหน้า มันตายเปล่า มันไม่เป็นปัจจุบัน
ย้อนกลับมาที่ใจสิ มาที่นี่มันก็จะดี มันจะดีอยู่ที่หัวใจ ถ้าหัวใจมันดี มันดีเดี๋ยวนี้ ดินฟ้าอากาศก็เหมือนกัน ทุกๆ สถานที่ อากาศร้อน ฤดูร้อนมันร้อนไปหมด ที่ไหนก็ร้อน ฤดูหนาวที่ไหนมันก็หนาวไปหมด สิ่งที่ฤดูกาลก็ฤดูกาล ฤดูกาลอยู่ข้างนอก ฤดูกาลภายในมันเอามาที่ในหัวใจเรา หัวใจเราเอาไว้ที่นี่ หักห้ามกันที่นี่ ปัญญาจะเกิดที่นี่ เห็นไหม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมามันจะออกไม่ได้ กิเลสออกไม่ได้นะ กิเลสมันกลัวธรรม
ถ้ากิเลสมันเข้มแข็งขึ้นมา ธรรมนี้สู้มันไม่ได้เลย ธรรมนี้โดนมันเหยียบย่ำทำลายหมดเลย ธรรมโดนกิเลสเหยียบย่ำทำลายเลย แล้วยังจะอวดอ้างว่านี่เป็นธรรมอีกนะ แต่ถ้าสติมันฟื้นขึ้นมา จับมันไว้ ที่คิดฟุ้งซ่าน มึงคิดทำไม แล้วที่คิดนี้มันเคยคิดไหม แล้วสิ่งที่ว่านู่นๆๆ มันเคยเป็นมาไหม นี่ก็นู่นมาตลอด ที่นู่นก็ดี ที่นี่ก็ดี ที่ไหนมันก็เป็นธาตุ ๔ มันก็เป็นฤดูกาลทั้งนั้น มันเป็นที่ใจเรา
ถึงกาลถึงเวลา เวลาร่มเย็นเราก็ร่มเย็น ดูสิ เวลาจิตเราสงบขึ้นมามันมีความร่มเย็นมาก มันมีความสุขของมันมาก แล้วเวลาจิตมันเสื่อมล่ะ นี่ไง มันเปลี่ยน ฤดูกาลมันเปลี่ยนแล้ว ฤดูกาลเวลาร้อน เร่าร้อนแล้ว เวลาชุ่มเย็น หน้าฝน หน้าฝนหน้าหนาวมาแล้ว สิ่งที่เป็นฤดูกาลมันก็เปลี่ยนแปลง สมาธิมันเปลี่ยนแปลง นี่ถ้ามันไม่มีปัญญาใคร่ครวญ
ถ้ามีปัญญาใช้พื้นฐานของสมาธิใคร่ครวญให้มันเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญา นี่ไง ตะเข็บนอกตะเข็บใน นี่ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา
ปัญญาอบรมสมาธิมันก็เป็นปัญญาการไล่ความคิด การตามความคิดเข้ามา ความคิดมันหดสั้นเข้ามาจนความคิดมันหยุดเข้ามา พอความคิดมันหยุด กิเลสมันเคยใช้ความคิดนี้เป็นช่องทางที่ออก เป็นอนุสัยนอนเนื่อง กิเลสนอนเนื่องไปกับความคิด พอความคิดมันถึงที่สิ้นสุด กิเลสออกไม่ได้ กิเลสออกไม่ได้ เราก็เห็นทันมัน ตรงนี้แหละที่เราจะเห็นความสงบของใจ ถ้าเห็นความสงบของใจ ถ้าเราฝึกปัญญาเป็น เวลามันออกขึ้นมา มันออกอย่างไร การคิดมันคิดมาจากไหน อะไรเป็นตัวเร้า อะไรเป็นตัวคิด ถ้าเราเห็นสภาวะแบบนี้ขึ้นมา ตรงนี้ต่างหากมันจะเป็นวิปัสสนา
วิปัสสนาเพราะอะไร เพราะมันมีจิต อาการของจิต ความคิดเป็นอาการ ทุกอย่างเป็นอาการ ความฟุ้งซ่านนี้เป็นอาการ ไม่ใช่ตัวมันเลย เราคิดว่าความคิดเป็นเรา ถ้าสรรพสิ่งเป็นเรา กิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ทำอะไรไม่ได้เลยนะ เพราะมันเอาเราฟาดใส่หน้าเรา กิเลสมันเอาความคิดเราฟาดหัวเลย สลบคาที่เลย ฟุ้งซ่านไปกับมันเพราะเป็นเรา เพราะความคิดกับเราเป็นอันเดียวกันแล้ว กิเลสกับเราเป็นอันเดียวกันแล้ว มันลากเราไปแล้ว ไปหมดเลย
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะขึ้นมายับยั้งมัน จับมันได้แล้วไล่ใช้ความคิดย้อนกลับมา มันตัดขาดกัน พอมันตัดขาดกัน หยุดหมด ความคิดกับจิตมันหยุด มันแยกออกจากกัน พอความคิดกับจิตมันแยกออกจากกันแล้วมันเสวย เสวยอย่างไร มันออกรู้อย่างไร ถ้าออกรู้ ใครเป็นคนออกรู้ ออกรู้ด้วยสติ มีสติ มีความเห็น นี่มันเป็นมรรคแล้ว นี่เป็นวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนาเกิดอย่างนี้ไง
นี่ไง ว่าปัญญาๆ ปัญญาของใคร ถ้าปัญญาในศาสนา ปัญญาในอริยสัจ โลกุตตรปัญญามันเป็นปัญญาอย่างนี้ มันเป็นตะเข็บใน มันไม่ใช่ตะเข็บนอก ไม่ใช่จีวรด้านนอกด้านใน โอ้โฮ! ด้านนอกสวยงามมาก โอ้โฮ! เรียบร้อยเลย แต่ตะเข็บมันอยู่ข้างใน เราห่มอยู่กับตัว ปัญญาเข้าข้างในขึ้นมามันจะเห็น เลาะตะเข็บได้ แยกจีวรออกเป็นชิ้นได้ กุสิต่างๆ แต่ละชิ้นจะแยกออกจากกัน เลาะตะเข็บหลุดหมดเลย มันไม่เป็นจีวรหรอก มันเป็นเศษผ้า
ความคิดก็เหมือนกัน มันทิ้ง มันทิ้ง ความคิดหรือความรู้สึกใช่ไหม มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าเลาะมันออกมันจะเป็นอะไร มันจะเป็นชิ้นเป็นอันได้ที่ไหน มันต่างอันต่างจริงของมัน มันเป็นขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เป็นสิ่งใดๆ เลย แล้วมันมาเหยียบย่ำเราได้อย่างไร มันมีความทุกข์อะไรมาเหยียบย่ำเรา มาเหยียบย่ำความคิด มาเหยียบย่ำหัวใจ ความคิดมันเหยียบย่ำหัวใจ เพราะกิเลสมันพาใช้ นี่ธรรมของกิเลส กิเลสว่าเป็นธรรมๆ สิ่งนี้เป็นธรรมของมัน เป็นธรรมของมัน มันก็เหยียบย่ำเรา
สิ่งนี้ถ้าเป็นธรรมล่ะ ถ้าเป็นธรรมจริงจริงๆ เหยียบย่ำกิเลส กิเลสออกไม่ได้ วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า มันจะแยกออกบ่อยครั้งเข้า แยกออกบ่อยครั้งเข้า ทำจริงทำจังนะ เราว่าจริงแล้วนะ ก็ทำจริงแล้ว ทำจริงแล้ว เหมือนกันเลย เราอยู่กับหลวงตา อดนอนผ่อนอาหาร ๗ วัน ๗ คืน ท่านบอก ไอ้ขี้เกียจ ไอ้ขี้เกียจ เราก็ทำแล้ว อู๋ย! ขยันขนาดนี้
มันขี้เกียจเพราะกิเลสมันสอดเข้ามา มันขี้เกียจเพราะกิเลสมันอาศัยความคิดเราเป็นประโยชน์กับมันด้วย คำว่า ขี้เกียจ เพราะเราไม่เปลี่ยนแปลงไม่พลิกแพลงความคิด ทำว่าเราทำแล้ว เอาสถิติ เอาเวลา เอาเวลาว่าทำมากทำน้อย แต่ไม่ได้เอาคุณสมบัติของมัน ไม่เอาคุณประโยชน์ของมันว่าถูกหรือผิด ถ้าถูกหรือผิด ถ้ามันผิดมันก็ผิดวันยังค่ำ โง่แล้วขยัน ไอ้โง่แล้วขยันมันทำให้เสียเวลา
นี่ก็เหมือนกัน โอ้โฮ! ปัญญาหมุนๆๆ แต่มันโง่ โง่เพราะกิเลสมันคุมอยู่ไง โง่แล้วขยัน แล้วก็ว่าเราขยันๆ ท่านบอกไอ้ขี้เกียจๆ เราก็งงนะ อยู่กับครูบาอาจารย์ท่าน เราก็งง โอ้โฮ! ขยันขนาดนี้นะ ทำทั้งวันทั้งคืน โอ้โฮ! เดินจงกรม ท่านบอกไอ้ขี้เกียจๆ งงมาก
ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ในปัจจุบันนี้ผู้ที่ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ เราว่าเราขยันหมั่นเพียร เราทำมาก โอ้โฮ! เราขยันขันแข็ง ทำมากเลย แต่กิเลสมันมาด้วย กิเลสมันมาด้วย เราถึงต้องมีอุบายพลิกแพลงมัน อย่าไปยอมจำนนกับมัน ถ้าเรายอมจำนนอยู่กับความคิดอย่างนี้ ยอมจำนนกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้นอนเนื่องในโอฆะ นอนเนื่องในอวิชชา อวิชชามันอยู่กับเรา
คนที่เขาไม่ได้บวชเขาก็เป็นคฤหัสถ์ เขาก็อยากประพฤติปฏิบัติ เราบวชแล้วเราก็เป็นพระ กระหยิ่มยิ้มย่อง โอ้โฮ! นี่ภิกษุนะ เป็นพระกรรมฐานด้วย จะฆ่ากิเลสนะ มันก็กระหยิ่มยิ้มย่องนะ แล้วเวลาทำไป กิเลสมันก็เหยียบหัวเอาไง พระกรรมฐานกิเลสมันขี่หัวอยู่นี่ มันขี่หัวมัน เหยียบอยู่นี่ เห็นไหม เราไปกระหยิ่มยิ้มย่อง เราไม่ได้คิดเลยว่ากิเลสมันไม่กลัวหรอก มันไม่กลัวหรอกพระกรรมฐานนี่ มันกลัวธรรม มันกลัวสติมันกลัวปัญญานะ เราตั้งมันขึ้นมา สติปัญญาเราตั้งขึ้นมา อย่าให้กิเลสมันเอาสถานะของพระมาขี่เราด้วย กิเลสมันเอาสถานะ เอาความกระหยิ่มยิ้มย่องพลิกกลับมาเหยียบหัวเรา กิเลสเหยียบหัวธรรม เหยียบหัวพระกรรมฐาน พระกรรมฐานที่จะสู้กับกิเลส ให้มันเหยียบหัวเอา พลิกขึ้นมา พลิกใจขึ้นมา
เราโดนครูบาอาจารย์ด่ามาก่อนแล้ว กูโดนด่ามาไม่มีที่ซุกเลยในศาลา ด่ารอบศาลาเลย เดินไปที่ไหนท่านก็อัดเอาๆ เราโดนมาหมดแล้ว ความรู้สึกอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ ก็ว่า เอ๊! ก็ขยัน เราก็ทำนะ นี่ก็เหมือนกัน ขยันมันส่วนขยัน ขยันมันต้องมีสติด้วย มีปัญญาด้วย สิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง เราต้องแยกแยะของเรา
ไก่ เขากินเนื้อ อย่ากินทั้งตัว กระดูกติดคอตายนะ กินอาหารมันก็ยังมีกระดูก มันก็ยังมีสารที่เป็นพิษ เรายังต้องเลือกกินเลย แล้วนี่เราเป็นภิกษุ เราเป็นพระ เป็นพระ กิเลสมันไม่กลัวหรอก มันไม่กลัว มันกลัวอะไร? มันกลัวสติกลัวปัญญาจริงๆ สติก็ต้องสติของเรา สติของพระพุทธเจ้าอยู่ในพระไตรปิฎกมันก็ไม่กลัวอีกล่ะ ส.เสือ ต.เต่า สระอิ มันไม่กลัวหรอก กิเลสมันไม่กลัวหรอก มันไม่กลัวสติของใครหรอก มันกลัวสติที่เราสร้างขึ้นมานี่ เพราะสติสร้างขึ้นมาปั๊บมันยับยั้งได้หมดไง พอมีสติปั๊บ มันคิดไม่ได้แล้ว เพราะสติทันแล้ว มันระลึก มันละอาย มีสติก็มีความระลึก มันก็มีความละอาย ทำไมคิดอย่างนี้ ทำไมทำอย่างนี้ อย่างนี้กรรมฐานหรือ นี่ภิกษุหรือ นี่เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสารจริงหรือ ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร ทำไมทำตัวอย่างนี้ มันก็ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา นี่มันยั้งคิดยั้งทำ
หุ่นยนต์เขาตั้งโปรแกรมไว้ มันถึงทำงานได้ตามธรรมชาติของมัน มนุษย์ ภิกษุ การกระทำมันจะเกิดขึ้นมาจากความคิด ไม่มีการคิด ไม่มีการสั่งการมาจากสมอง ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้หรอก แล้วถ้าสมองมันเกิดมาจากพลังงาน เกิดจากจิต แล้วถ้าจิต ด้วยการที่ฝึกฝนดีแล้ว มันจะผ่านสมองมา มันก็ทำในสิ่งที่สมควร สิ่งที่เป็นคุณ มันทำ นี่ไง ถ้ามันจับผิดได้ มันรักษาจิตได้ มันฟอกจิตได้ จิตมันสะอาดบริสุทธิ์ได้ การกระทำความคิดเราไม่มีโทษเลย ความเป็นโทษจะเกิดกับเราไม่ได้ ความเป็นโทษจะเกิดอย่างนี้ไม่ได้เลย สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเราหมด ถึงต้องทำให้ดีนะ เราตั้งใจของเรา เราทำของเรา
เป็นภิกษุ เราเป็นนักรบ แล้วรบกับกิเลส ถ้าจะรบกับกิเลส อย่าให้กิเลสมันฆ่าเรา กิเลสมันฆ่าเราไปวันๆ วันยังค่ำ กิเลสมันฆ่าไปทุกวัน ฆ่ากาลเวลาของเราไป ดูสิ จะเข้าพรรษาอีกแล้ว เดือนกรกฎาคมนี้เข้าพรรษาแล้ว ถ้าเข้าพรรษานี้ทำอย่างไร ถ้าเข้าพรรษา เราควรจะทำให้กิเลสมันเบาบางลง ให้มันเบาลงนะ เราอย่าชินชา ชินชาหน้าด้าน แล้วพอชินชาหน้าด้านไป กิเลสมันตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันจะเป็นความทุกข์ ไม่ใช่ว่าใครเลยนะ มันจะเป็นความทุกข์ของเราเอง ถ้าความทุกข์เราเกิดขึ้น สิ่งที่กิเลสมันพอก พอกจนใจมันใหญ่ขึ้น เราเองจะทุกข์ แล้วเราเองจะเอาตัวรอดอย่างไร
ดูสิ ขณะที่คนที่มีการศึกษาเขาหาตำแหน่งหน้าที่การงานของเขา ถ้าเขาได้หน้าที่การงานของเขา เขาจะชื่นอกชื่นใจของเขา นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นพระ เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ที่ยังรื่นเริงอาจหาญ เหมือนกับกาลเวลาในการแข่งขันของกีฬาเขา เขาเพิ่งเริ่มต้น ไม่ใช่มันจะหมดเวลาแล้ว ถ้าจะหมดเวลาแล้ว คนแก่คนเฒ่า ไม้ใกล้ฝั่ง ถ้าไม้ใกล้ฝั่ง มันจะล้มลงแม่น้ำเท่านั้น
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสเรา ถ้ามันหลอกเราไปวันๆ หนึ่ง มันทำให้กิเลสใกล้ฝั่ง เราจะตกอยู่ในโอฆะ มันตกนะ ร่างกายนี้ทั้งนั้นน่ะ คนเราจะอายุ ๑๒๐ ปีก็ได้ ๑๐๐ กว่าปีก็ได้ ไม่ใช่อายุขัยมันจะทำให้เรา แต่กาลเวลาในใจ มิติ ความคิดในใจ สิ่งนี้สำคัญ ถ้าเราตามมันเข้าไป
ความเป็นอยู่จากภายนอกมันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ อาราม ที่อยู่ของภิกษุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตไว้ทั้งหมดล่ะ ปัจจัยเครื่องอาศัยที่เราอาศัยอยู่นี่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้านะ แล้วเรามาเสวยสุขอยู่นี่ เรามาเป็นพระเป็นสงฆ์ เราอยู่ในสังคม เขาให้มาในปัจจัย ๔ เขาจะทำบุญกุศลของเขา นี่เราเสวยสุขนะ
เราได้มรดกตกทอดมา ศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเสวยสุขขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องระลึกรู้ตรงนี้ อย่าชะล่าใจ อย่านอนใจ มันเป็นบุญกุศลของเขา เขาอยากได้บุญกุศลของเขา เพราะเขาเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเป็นชาวพุทธ เขาถึงหาให้เรา ที่อยู่ที่อาศัยเขาหาให้เรา เขาดูแลเราทั้งนั้นน่ะ ดูแลเราเพื่ออะไร? ก็เพื่อจะให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะให้เรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อให้เรามีคุณธรรมในหัวใจ จะเป็นประโยชน์กับเขาขึ้นมาไง บุญของเขาก็ได้ไปเต็มๆ แล้วถ้าเราสร้างธรรมขึ้นมาในหัวใจ เอหิภิกขุ บวชขึ้นมาได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเขา เขาจะได้ประโยชน์กับเรา ได้ประโยชน์ที่ไหน
ดูสิ คนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาไปโรงพยาบาล ถ้าไม่มีหมอ มันมีแต่ตึกร้าง มันจะมีอย่างนี้ คนไข้จะไปรักษาอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ไปวัดไปวา มันได้ยินได้ฟังธรรมบ้างไหม ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ ธรรมอันนี้มันชโลมโลก ธรรมมันเป็นสิ่งที่เขาต้องการทั้งหมด แล้วธรรมในหัวใจขึ้นมา ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา เราแก้ไขได้ เรารู้จัก เราแก้ไข เราไม่ตื่นเต้นไปกับโลก เราอยู่ในธรรมของเรา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราด้วย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งได้ จะเป็นที่พึ่งของโลกได้ โลกเขาอาศัยพึ่งพาเราเพื่อประโยชน์กับเรา เขาถึงได้ทำบุญกุศลของเขา นั่นเป็นเรื่องระดับของทาน
ระดับของเราเป็นนักรบแล้ว ภิกษุต้องทรงธรรมทรงวินัย เราเกิดมาจากต่างๆ ฐานะกัน ระหว่างครอบครัวต่างๆ กัน แล้วมาบวชเป็นพระ เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราถึงต้องเอาธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐาน เอาธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐานนะ จริตนิสัย ทิฏฐิมานะของคน เรารับรู้ไว้ แต่เรามีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น หรือมีความเห็นมุมมองต่างๆ กัน ต้องเอาธรรมและวินัยนี้เป็นบรรทัดฐาน แล้วเอาธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง แล้วสิ่งต่างๆ ในสังคม ในหมู่คณะเรามันจะสงบลง ยอมรับกันโดยธรรม อยู่กันโดยธรรม ปฏิบัติให้มีธรรมในหัวใจขึ้นมา จะเป็นที่สงบสุขของเรา เอวัง
า