เทศน์พระ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้อุโบสถ เดือนหน้าเข้าพรรษาแล้ว เพิ่งออกพรรษาไปเมื่อ ๒ วันนี้ อีก ๒ วัน เข้าพรรษาอีกแล้ว ดูวันเวลามันเร็วขนาดไหน ชีวิตนี้มันจะยาวไกลขนาดไหน เดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่เวลามันอยู่กับปัจจุบันนี้มันลืมตัว วันหนึ่งนานนัก วันๆ หนึ่งก็ปรุงร้อยแปด เพ้อเจ้อเพ้อฝัน จะไปธุดงค์ จะไปร้อยแปดพันเก้า แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้คิดเลย
ในปัจจุบันนี้เราทำอะไรอยู่ ถ้าในปัจจุบันนี้รู้จักตัวเองอยู่ วันคืนมันก็เป็นวันคืนนะ ถ้าเป็นทุกข์ วันคืนยาวไกลมาก เมื่อวานออกพรรษา กฐินเมื่อวานนี้ จะเข้าพรรษาพรุ่งนี้อีกแล้ว วันคืนมันล่วงไปๆ ราตรีเดียว ราตรีเดียวมันเป็นมืดกับสว่างเท่านั้นเอง ถ้าใจมันมีหลักขึ้นมา อยู่โดยสอุปาทิเสสนิพพาน สะเลยนะ เศษส่วน เศษเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ทรงธาตุทรงขันธ์ไว้เพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์ใคร
จะตายจะอยู่มีค่าเท่ากัน มีค่าเท่ากัน เพราะตายอยู่มันไม่มีอะไรหรอก มันไม่มีอะไรเลย คำว่า ไม่มี ต้องใจเป็นธรรมนะ คำว่า ไม่มี มันเป็นสมมุติ สิ่งที่เป็นสมมุติจะให้มันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นไปได้ไหม ของที่เป็นสมมุติแล้วจะอาศัยมันเป็นความจริง มันเป็นไปได้ไหม คำว่า ไม่มี เพราะมันสมมุติ แต่มันมีในหัวใจ มีในธรรมดวงนั้น ใจที่เป็นธรรมมันมีคุณค่าตรงนั้น เพราะตรงนั้นมันเป็นธรรม ถ้าตรงนั้นเป็นธรรม สิ่งที่เป็นอยู่มันเป็นเหมือนของเด็กเล่น ของเด็กเล่นมันต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา แล้วตอนนี้สิ่งที่มันยังเหลืออยู่ กาลเวลา ชีวิตที่ยังเหลืออยู่มันสอุปาทิเสสนิพพาน คือเศษ เศษเหลือทิ้ง
ถ้าไม่ใช่เศษเหลือทิ้ง ดูสิ กายกับจิต ถ้าเป็นอายุขัย มันจะเกิดมาพร้อมกันแล้วตายไปพร้อมกัน ตายพร้อมกัน หมายถึงว่า มันเหมือนกับเทียนเล่มหนึ่งที่มันเผาไหม้ไปหมดเล่มนั้น แต่ถ้าพูดถึงสอุปาทิเสสนิพพาน มันเป็นเทียนเล่มหนึ่ง แต่ผู้รับรู้มันไม่เกี่ยว ผู้รับรู้ไม่เกี่ยว มันถึงเหลือเศษส่วน เศษส่วนคือว่ามันต้องเป็นไปตามอายุขัย ถ้าอายุขัยแล้วมันยังมหัศจรรย์ขึ้นมาอีก เห็นไหม พระอรหันต์ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ จะอยู่อีกกี่กัปก็อยู่ได้ จะอยู่ได้เพราะอะไร เพราะจิตที่มันเป็นธรรมมันไม่ออกจากร่าง มันก็ไปไหนไม่ได้ แต่ร่างกายนี้ต้องแข็งแรง สิ่งที่แข็งแรงเพราะมันไม่เป็นภาระ ดูสิ ขนาดปกติมันยังเป็นภาระเลย พาขับพาถ่ายนี้เป็นภาระแล้วนะ แล้วถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วย มันชราภาพไป ไปแบกไว้ทำไม มันเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมครูบาอาจารย์ท่านบริหารร่างกายของท่าน สิ่งนี้ถึงว่าถ้ามันจะเป็นธรรมดาเพราะใจมันเป็นธรรมก่อน สิ่งที่เป็นสมมุตินี้เป็นธรรมดา
แต่ถ้าเป็นเรา เป็นปุถุชน เป็นกิเลส มันยึดหมด มันเป็นไปหมด มันเป็นภาระหมด มันเป็นอันเดียวกัน มันแยกออกจากกันไม่ได้ ถ้ามันแยกออกจากกันไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ มันไม่เป็นสมมุติหรอก มันจริง จริงตามสมมุติ มันจริง เราก็จริง ชีวิตก็จริง ทุกข์ก็จริง เจ็บก็จริง ปวดก็จริง แล้วก็ต้องตายจริงๆ เกิดก็เกิดจริงๆ
ไหนว่าเกิดตายมันเป็นสมมุติไง
เกิดเป็นสมมุติ สมมุติเพราะอะไร เพราะมันมีการวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณมันจะเห็นนะ การเกิดดับ อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์หนึ่งก็คือชีวิตหนึ่ง ความคิดหนึ่งก็ชีวิตหนึ่ง อารมณ์ความคิด คิดรอบหนึ่งก็เป็นชีวิตหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺาณํ เห็นการเกิดดับในชีวิต สวรรค์ในอก นรกในใจ สิ่งนี้มันเกิดดับ เกิดดับเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ใจ ใจเป็นพลังงานเฉยๆ สิ่งนี้มันเกิดดับ เกิดดับมาจากใจ แล้วถ้าสิ่งที่ตัวใจมันปฏิสนธิวิญญาณ มันไปเกิดในวัฏฏะล่ะ มันก็เกิดในวัฏฏะ นี่โลกนอก-โลกใน โลกนอก-โลกในจากหัวใจก็มี โลกนอก-โลกในจากความจริงก็มี สิ่งนี้เป็นความจริงนะ
ถ้ามันมีวุฒิภาวะ มันจะไม่ให้กาลเวลาล่วงไป การดำรงชีวิตก็ดำรงชีวิต ชีวิตมีความลุ่มๆ ดอนๆ ดูต้นไม้สิ หน้าฝน สภาพมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หน้าแล้ง สภาพมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ขณะที่เราอยู่ในพรรษา หน้าฝน เราจำพรรษา เราก็ต้องเร่งรัดของเรา แต่หน้าร้อน หน้าแล้ง หน้าต่างๆ เราออกธุดงค์ ออกธุดงค์ ธุดงค์ไปที่ไหน ธุดงค์ไปที่มันเป็นไปได้ ถ้ามันมีโอกาสไป มันไป ทีนี้มันไปไม่ได้ มันไปธุดงค์ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย ไปเอาอะไรมา เขาธุดงค์กันเพื่อไปชำระกิเลส แต่นี่ไปเอายาเสพติด ไปเอากิเลสมา ไปเอากิเลส มันก็ไปเห็น ไปเห็น ไปตามสภาพ ไปเห็นต่างๆ ไม่มีสิ่งใดดีเลย
ธุดงค์เพื่อจะชำระกิเลส มันกลับธุดงค์ไปเพื่อเอากิเลส ธุดงค์ไปถึงที่สุดแล้ว มันไปแล้วมันน้อยเนื้อต่ำใจ มันทำให้อ่อนแอ ทำให้ไม่สู้ ทำให้เป็นไป เพราะไปเห็นสังคม สังคม เรามองไปข้างนอกสิ สังคมมีแต่เอารัดเอาเปรียบกัน สังคมมีแต่ฉ้อฉล สิ่งที่ฉ้อฉล สังคมฉ้อฉล แล้วเราก็เป็นคนหนึ่งในสังคม มันก็ยิ่งฉ้อฉล เราเห็นความฉ้อฉลนั้น ใจเราก็อ่อนแอไปกับเขา มันอ่อนแอ เพราะมันฉ้อฉล สังคมเป็นอย่างนี้ มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ สิ่งต่างๆ พึ่งไม่ได้
แต่ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเราธุดงค์ ธุดงค์เราไปของเรา ในสภาพป่ามันมีเราอยู่คนเดียว สังคมจะฉ้อฉล เห็นไหม โลกนี้ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ สิ่งที่ทุกดวงใจว้าเหว่มันก็หาหลักหาเกณฑ์กัน หาหลักเกณฑ์ก็หาไม่ได้ ในเมื่อเราหาหลักจากสังคมไม่ได้ หาหลักจากสังฆะไม่ได้ หาจากหมู่คณะไม่ได้ เราก็ต้องหาในตัวของเราเอง
ในเมื่อถ้าตัวของเราเอง สังคมภายใน สังคมนี้มันคิดเรื่องอะไร มันมีสติเรื่องอะไร มันจะไปเกาะเกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้ามันเกาะเกี่ยวกับเรื่องปัจจัย เกาะเกี่ยวกับบริขาร เกาะเกี่ยวแล้วมันก็เกาะเกี่ยวออกไปข้างนอก ถ้ามันเกาะเกี่ยวกับธรรม เกาะเกี่ยวกับการเกิดดับ การเกิดดับถ้ามีสติมันจะเห็นการเกิดดับ แล้วมันจะมีความเป็นไป ถ้าจิตมันมีกำลัง จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะเป็นหลักของมัน ถ้าจิตไม่มีหลักมันก็ออกไปข้างนอก
ดูสิ ดูในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เด็กน้อยที่บวชเณร อายุเท่าไรถึงจะบวชได้ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เด็กอายุเท่าไรมันถึงจะบวชได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตอบเรื่องอายุนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเด็กที่มันไล่กาได้ เด็กที่มันสามารถไล่นกที่จะมากินข้าวได้ เด็กไล่นกได้นั่นน่ะบวชเณรได้ เด็กคนไหนที่มันลุกขึ้นไปแล้วมันเอามือโบกให้นกหนีไปได้
ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เด็กขนาดนั้นบวชเณรได้ ดูสิ สามเณร ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเพราะอะไร เพราะใจ อิสระของใจ ใจมีวุฒิภาวะ ใจมีจุดยืน ใจมีการค้นคว้าหาธรรมได้ ค้นคว้าหาธรรมนะ แล้วเวลาภิกษุบวช บวชตั้งแต่อายุเท่าไร ภิกษุบวชตั้งแต่อายุ ๒๐ ขึ้นไป ๒๐ ขึ้นไปบวชเป็นภิกษุได้ บวชเป็นภิกษุขึ้นมา ถ้าภิกษุขึ้นมามันออกธุดงค์ ออกต่างๆ มันเข้มแข็งขึ้นมา
ทำไมสามเณรบวชตั้งแต่อายุไล่กาได้ล่ะ
ไล่กา คนที่มันมีความเห็นที่ดี คนที่มันมีหลักมีเกณฑ์ ไล่กาได้นี่เป็นประโยชน์ได้ไง เป็นประโยชน์กับศาสนานะ เราบวชขึ้นมาเหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติจะเป็นประโยชน์กับเราไหม ถ้าข้อวัตรปฏิบัติเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเรานะ ใครทำ เวลาทำข้อวัตรขึ้นมามันได้อะไรล่ะ ได้แต่ความเหนื่อยอ่อน ได้เป็นงานขึ้นมา แต่งานอันนั้น ใครบ้างอยากทำงาน กิจของสงฆ์ๆ ภัตกิจ การกินก็เป็นงานอันหนึ่ง การตักอาหารใส่ปากแล้วเคี้ยวอาหารนี่เป็นงานอันหนึ่ง งาน งานการบดอาหาร แต่เวลากินอยู่ เราคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา แต่เราทำข้อวัตรนี่เป็นเรื่องเป็นการงาน ถ้ามองอย่างนี้เป็นการงาน แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา งานของใคร
นั่งสมาธิภาวนา เวลานั่งสมาธิภาวนา ถ้าจะมีการมีงาน เอาแล้ว งานนั่งสมาธิ เดินจงกรม มันเป็นงาน เราเป็นพระกรรมฐาน นี่คือความเพียร แต่เวลาไปทำงานมันไม่ใช่ความเพียร มันก็อ้าง กิเลสมันจะอ้าง อ้างว่า เราทำงานที่ละเอียด เราจะนั่งสมาธิ เราจะภาวนา งานนั้นเป็นงานหยาบๆ
งานหยาบๆ ถ้าใจมันละเอียด งานนั้นมันละเอียด ถ้าใจมันหยาบ งานละเอียดขนาดไหนมันก็หยาบ ใจหยาบๆ หยาบเพราะอะไร หยาบเพราะเล่ห์ มันมีเล่ห์ของมันนะ นั่งสมาธิภาวนาจะเป็นความเพียร แล้วมันเพียรจริงไหม มันเพียรแบบหุ่นยนต์ไง ครูบาอาจารย์ท่านว่านะ หมามันเดินดีกว่าอีก หมา หมามันวิ่งไปวิ่งมา หมามันวิ่งได้มากกว่าอีก เดินแบบหมา แล้วเป็นความเพียรไหม
เพราะใจมันหยาบ ใจมันหยาบ ขนาดนั่งสมาธิภาวนา มันเป็นเรื่องหยาบๆ เลย แต่ถ้าใจมันละเอียด ข้อวัตรปฏิบัติ งานมันก็ละเอียดขึ้นมา มันมีสติของมันขึ้นมา สิ่งที่เป็นสติมันเป็นสติ ถ้าใจมันดีเสียอย่าง ทุกอย่างจะดีหมดเลย ถ้าใจมันหยาบ ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับอะไรเลย ถ้าติดในงานก็เอางาน ถ้าไม่ได้ทำก็รำคาญ ต้องมีโน่นทำ มีนี่ทำ พอทำไปแล้ว ถ้าไม่ได้ทำมันก็รำคาญ รำคาญเพราะอะไร รำคาญเพราะติด
แต่ถ้าเป็นข้อวัตร ข้อวัตรนี่งานโยธานะ งานโยธานี่งานกรรมกร งานกรรมกรนั่นมันเป็นอาชีพ เพราะเราแบ่งชนชั้น ในสังคมเขาแบ่งชนชั้น แต่ถ้าในศาสนามันไม่มีชนชั้น มันเป็นปัจจัย มันเป็นสังคม มันเป็นสังฆะ มันเป็นธรรมวินัย มันเป็นหน้าที่ หน้าที่จากภายนอก-หน้าที่จากภายใน หน้าที่ภายนอก ถ้าข้างนอกมันสะอาด มันเรียบร้อยหมด การนั่งภาวนามันจะมีอะไรไปหลอกมันไหม
ถ้าพูดถึงมันมีข้อวัตรแล้วเราใช้เล่ห์ แล้วเราหลบไป หลบไปนั่งสมาธิ เราหลบเขามาเมื่อกี้ แล้วไอ้นั่นเขาจะทำหรือยัง แล้วออกไปสิ่งนั้นจะเสร็จหรือไม่ นี่มันหลบมาแล้วมันนึกว่าจะเป็นประโยชน์นะ แต่กลับเป็นโทษ เป็นโทษเพราะอะไร เป็นโทษเพราะมันต้องเอาความสะใจ เอาความเสียใจ เอาความดีใจไปทับถมขณะที่นั่งสมาธิภาวนา
แต่ถ้าเราทำเสร็จเรียบร้อยกลับมาแล้ว มันจะหลอกเราไม่ได้ เพราะงานตรงนั้นมันสิ้นสุดไปแล้ว มันจบไปแล้ว เก็บเรียบร้อยแล้ว มันจะไม่มีอะไรมาหลอกเราได้อีกเลย ฉะนั้น มันไม่มีอะไรมาหลอกเราได้ เรานั่งสมาธิภาวนา อะไรมันจะหลอกเรา นี่มันเป็นประโยชน์กับใคร เราทำเอง เรารู้เอง ปัจจัตตัง สิ่งที่เราทำ เรารู้เราเข้าใจทั้งหมด แล้วมันจะหลอกเราได้ไหม แต่ถ้าเป็นเล่ห์ เล่ห์เพราะกิเลส
จิตใจเข้มแข็ง จิตใจที่มีคุณธรรมจะไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำอะไรจะทำซื่อตรงกับตัวเอง ถ้าทำซื่อตรงกับตัวเองมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา การนั่งสมาธิ การภาวนา สัจธรรมมันจะเกิดขึ้นมากับเรา
แต่นี่มันไม่เป็นจริง กิเลสมันร้ายกาจอย่างนี้ มันเป็นเล่ห์ มันมีเล่ห์เหลี่ยมอยู่ในหัวใจของเรา เล่ห์เหลี่ยมนี้เล่ห์เหลี่ยมเพราะอะไร เพราะความไม่รู้ เพราะใจมันอ่อนแอ ใจอ่อนแอก็นึกว่าเป็นประโยชน์ นึกว่าสิ่งนี้เราทำแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา เราไม่ยอมลง ใจมันไม่ลงธรรม
ถ้าใจมันลงธรรมนะ นั่นมันเรื่องของเขา นี่มันเรื่องของเรา สิ่งนี้มันเป็นสังฆะเหมือนกัน เป็นหน้าที่ของสงฆ์ เราเป็นสงฆ์ไหม เราเป็นสงฆ์คนหนึ่งใช่ไหม เราเป็นสงฆ์องค์หนึ่งในศาสนา ถ้าเป็นสงฆ์องค์หนึ่ง การกระทำมันเป็นหน้าที่เราไหม ถ้าเป็นหน้าที่เรา ใครจะเห็นไม่เห็น เราทำให้มันจบสิ้นไป ทำให้มันจบสิ้นไป
ดูสิ เวลาพระธุดงค์ในสมัยพุทธกาล เราไปในสำนักหนึ่ง ในสำนักไหนก็แล้วแต่ เพราะสมัยก่อนไม่มีพระจำพรรษา พระถึงเวลาออกพรรษาแล้วถ้าไม่ธุดงค์ ชาวบ้านเขาจะต่อต้าน ชาวบ้านเขาต่อต้านเลยนะ ต้องให้พระออกธุดงค์ พระจะจำที่ไม่ได้ เพราะพระจำที่แล้วมันจะเป็นเจ้าที่ มันจะยึดของมัน มันจะติดลาภสักการะ มันจะไม่ยอม ทีนี้พระเราเดินธุดงค์ไป พอเราไปถึงสำนักร้าง ถ้าที่ไหนเป็นสำนักร้าง ภิกษุเอาเตียง เอาตั่ง เอาอาสนะ เอาของสงฆ์มาใช้ หลีกจากนั้นไปแล้วไม่เก็บ เป็นอาบัติปาจิตตีย์
ของของสงฆ์เราเก็บไว้ เราต้องมัดต้องผูก สมัยก่อนมันไม่มีเครื่องเก็บ เขาจะผูกไว้ แขวนไว้ตามในกุฏิ แล้วภิกษุมาใหม่เขาจะรื้อลงมาใช้ เอาลงมาใช้เสร็จก็อยู่อาศัยแล้วแต่เราจะพอใจ เพราะถ้าเราจะร่ำลาไปจากที่นั่น เราต้องเก็บ เตียงตั่งต้องเก็บให้พ้นจากปลวก สิ่งที่เป็นตั่ง เป็นเสื่อ เป็นหมอน ต้องมัดแล้วผูกกับกุฏิไว้ ให้ลอยไว้ เพื่อจะไม่ให้หนู ไม่ให้สิ่งต่างๆ มันมากัด ถ้าภิกษุไม่ทำ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าใช้ของสงฆ์ ของที่เอามาใช้ ถ้าไม่เก็บ อาบัติปาจิตตีย์
แล้วอาบัติมันอยู่ที่ไหนล่ะ ไม่เห็นมีอาบัติเลย ทิ้งส่งไปมันสบายใจตายห่าเลย เราไม่ต้องยุ่งอะไรกับใคร
เพราะอะไร เพราะใจมันอ่อนแอไง ใจมันอ่อนแอ คิดว่าสิ่งนี้เป็นงานโยธา เป็นงานของโลก มันไม่คิดว่าเป็นงานของเรา ถ้าเป็นงานของเรา เราเก็บเรารักษาของเรา สิ่งที่เราเก็บรักษาของเรา ถ้าทำสิ่งนี้เข้ามา เสขิยวัตรมันเกิด ธรรมวินัยมันเกิดกับคนคนนั้น ถ้าคนนี้มีธรรมวินัย ถ้าเรามีธรรมและวินัย จะเข้าสังคมไหน เราจะไปเกรงกลัวใคร สังคมไหนก็เข้าได้ มีศีล ศีลทำให้องอาจกล้าหาญ สังคมไหนก็เข้าใจเขาไปหมด ถ้าเราได้ฝึกได้ฝนของเรา แต่นี่ทำไมมันไม่มีศีล ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ
ข้อวัตรปฏิบัติ พระกรรมฐานเขาคุยกันเรื่องนี้นะ เรื่องข้อวัตร เรื่องปฏิบัติ เรื่องข้อวัตร อะไรสมควรไม่สมควร ประชุมกัน เห็นควรเหมือนกัน นี่ทิฏฐิเสมอกัน ความเป็นอยู่เสมอกัน สังคมนั้นมีความสุขอย่างยิ่ง ไอ้มันจะทิฏฐิ ประชุมกันเสร็จแล้วลับหลังพูดอีกอย่างหนึ่ง แล้วมันจะทิฏฐิเสมอกันอย่างไร ทิฏฐิมันเสมอกันตรงไหน เวลาประชุมเสร็จแล้วต้องทำอย่างนั้นน่ะ แล้วพลิกขึ้นมา พลิกขึ้นมาจะทำอย่างอื่นๆ ต่อไป แล้วสังคมจะอยู่กันอย่างไร ถ้าสังคมนั้นทิฏฐิมันไม่เสมอกัน มันก็ทำให้เกิดนิวรณ์ ถ้าเกิดนิวรณ์ขึ้นมา เราจะภาวนาอย่างไร
ถ้าภาวนา ความเห็นเสมอกัน สิ่งใดถ้ามันขัดใจขัดแย้งกันต้องคุยกันให้จบ คุยกันให้จบเลย แล้วลงด้วยธรรมวินัย ถ้าจิตเป็นธรรมนะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง ธรรมและวินัยเราสนทนากันได้ เราคุยกันได้ ไม่ลงใจอย่างไร สิ่งใดไม่ลงใจ ไม่ลงใจเพราะเหตุใด เพราะอะไร เพราะเรารื้อค้น อรรถกถา ฎีกา พระไตรปิฎก เรารู้มาจากไหน ต้นขั้วมันมาอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นการกระทำ ต้นขั้วมันมาจากไหน ใครเป็นคนพาทำมา
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สาวไปหาเหตุได้หมดล่ะ สิ่งที่กระทำมันมาจากไหน แล้วมันจะได้ประโยชน์สิ่งใด นี่เราไม่เห็นประโยชน์ของมัน เราไม่เห็นประโยชน์ของมัน เราถึงไม่เข้าใจมัน
โลกนี้เจริญๆ ไม่เจริญหรอก ทรัพยากรจะหมดไป ไม่มีอะไรคงที่หรอก โลกนี้มันอนิจจัง มันต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดคงที่หรอก อาศัยไม่ได้ทั้งนั้น อาศัยให้มันเป็นสิ่งที่เป็นความปรารถนาของเราไม่ได้ แต่อาศัยเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วคราว เหมือนธุดงค์เลย ธุดงค์ที่ว่าไปตามวัดต่างๆ ไปตามเรือนว่างที่เขาสร้างไว้ เขาสร้างไว้ถวายสงฆ์ สงฆ์ก็รับไว้ อยู่ชั่วคราวแล้วถึงเวลาเราก็จากไปๆ แล้วก็หมุนเวียนกันไป เพราะอะไร เพราะมันเหมือนกันในวัฏฏะนี้ การเกิดและการตายก็เหมือนกัน แต่ละภพแต่ละชาติมันก็เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน มันจะไปยึดอยู่เป็นของเราได้อย่างไร มีอะไรเป็นของเราบ้าง มันจะไม่เป็นของเรา เพราะอะไร เพราะมันต้องพลัดพรากไปเป็นธรรมดา นี่มันฝึกไว้ ฝึกไว้ ความเห็น ฝึกให้ใจมันรู้จักของมัน มันไม่ยึดของมัน มันเป็นไปธรรมดา ธรรมดาขึ้นมา เวลามันฝึกขึ้นมามันเห็นโทษของมันๆ มันก็ย้อนกลับเข้ามาข้างใน นี่ถ้ามันย้อนกลับเข้ามาข้างใน ถ้ามันไม่เห็นโทษข้างนอก มันจะไปรู้จักโทษข้างใน เป็นไปไม่ได้
เวลาพูดถึงธรรมมันเป็นสูตรสำเร็จ มันเป็นธรรมแล้วสำเร็จ มันเข้าไม่ถึงใจหรอก ถ้ามันจะเข้าถึงใจได้มันต้องเกิดมาจากใจ มันถึงต้องทวนกระแสเข้าไป ความคิดอย่างของเรา มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาตรึกขนาดไหน รู้ขนาดไหน น้ำตาไหลพรากขนาดไหนมันก็ไม่เข้าถึงใจ ถ้าไม่ทำความสงบของใจเข้ามามันเข้าไม่ถึงใจหรอก นี่ตรึกในธรรม โอ้โฮ! ซึ้งมาก น้ำตาเล็ด น้ำตาไหล โอ๋ย! บรรลุธรรม พอมันเสื่อมหมด ตีกลับ ธรรมะไม่มีแล้ว ถ้ามี ทำไมมันเสื่อมอย่างนี้ล่ะ ถ้าอย่างนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าโกหก นี่จิตตัวเองเสื่่อมนะ จิตตัวเองท้อถอยนะ ยังไปโจมตีธรรมพระพุทธเจ้าอีก ตัวเองทำผิด
เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมโดยธรรม ผู้ใดปฏิบัติสมควรแก่ธรรม มันจะคลาดเคลื่อนจากธรรมไปไหน ไอ้นี่ปฏิบัติธรรมด้วยกิเลส ปฏิบัติด้วยการคาดหมาย ปฏิบัติด้วยความรู้ของตัว ปฏิบัติด้วยทิฏฐิมานะ พอทิฏฐิมานะมันเกิดขึ้นมา พอมันเกิดสภาวะต่างๆ ขึ้นมาแล้วก็เข้าใจเอง นี่ปฏิบัติโดยกิเลส ทิฏฐิมานะมันเป็นธรรมไหม สิ่งที่ความรู้เห็นมันเป็นธรรมไหม มันเป็นกิเลสเราทั้งนั้นนะ นี่ถ้ามันเป็นกิเลสของเรา
แต่ธรรมของพระพุทธเจ้า เราศึกษามา ศึกษามากิเลสมันก็หลอกขึ้นมา มันสร้างภาพขึ้นมา อุปกิเลส กิเลสอย่างละเอียดสร้างขึ้นมา ไม่เข้าใจเลยว่าเป็นอุปกิเลส มันปล่อยมันวาง มันมีความเห็น มันซึ้งใจ ดีใจ มีความสุข ก็เข้าใจว่าเป็นธรรม...มันเป็นโลกียธรรม โลกุตตรธรรม เห็นไหม
โลกียธรรมเพราะอะไร เพราะจิตมันเป็นโลก ความคิดเห็นมันเป็นโลก แล้วสิ่งที่เกิดมาจากใจ เกิดจากโลก มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาจากธรรม ศีลที่บริสุทธิ์ ศีลที่ไม่บริสุทธิ์ทำให้เกิดสมาธิเป็นมิจฉาสมาธิ ศีลที่บริสุทธิ์ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมามันก็เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเพราะอะไร เพราะศีลมันควบคุมอยู่แล้ว นี่ขึ้นต้นจากความสะอาด
ขึ้นต้นจากทุศีล ขึ้นต้นจากคดงอ ปลายมันก็ยิ่งคดงอไปใหญ่
ขึ้นต้นด้วยความเถรตรง ตรงกับธรรมและวินัย ศีลที่เป็นปกติ ศีลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ พอเกิดสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันมีสติมีสัมปชัญญะอย่างไร มันก็เข้าใจ มันก็ต่างจากมิจฉาสมาธิ
มิจฉาสมาธิก็ ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ แต่ไม่มีสติ ไม่มีสติคือเหมือนกับรถยนต์ เหมือนกับเครื่องยนต์กลไก ไม่มีผู้ควบคุมมัน มันจะไปตามคำสั่งเราได้อย่างไร สิ่งที่เราควบคุมมันได้ เราสั่งการมันได้ มันถึงจะมีประโยชน์กับเราใช่ไหม
ดูสิ เขาส่งยานอวกาศ เอายานอวกาศไปถึงต่างดาว เขายังส่งข้อมูลมาได้เลย เพราะอะไร เพราะมันมีศูนย์ควบคุมใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติขึ้นมา สติมันอยู่กับเรา มันควบคุมสมาธิ เราควบคุมสมาธิได้ สมาธิ ทำไมไม่รู้จักสมาธิ ทำไมสมาธิต้องไปถามว่าสมาธิเป็นอย่างไร ว่างๆ ว่างๆ ทำอย่างไร จิตมันว่าง ทำอย่างไรต่อไป ว่างแล้วทำอย่างไรต่อไป เพราะสติเราไม่มี เราไม่มีศูนย์ควบคุมมัน ถ้าไม่มีศูนย์ควบคุมมันก็มิจฉาไง มิจฉาสมาธิเพราะไม่มีสติควบคุมมัน
ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิขึ้นมาด้วยศีลบริสุทธิ์ ทำให้สมาธิเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ดี สมาธิที่ดีย้อนไปๆๆ ให้เกิดปัญญา ฐานสมาธิที่ดีแล้ว สมาธิที่เป็นสัมมาที่ควรแก่การงาน ถ้าออกไปใช้ปัญญามันจะเกิดโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาเพราะมันไปเกิดปัญญาโดยธรรม ปัญญาโดยธรรมมันเกิดขึ้นมา ไม่มีใครสามารถตบแต่งให้มันเป็นตามความปรารถนาตามความต้องการของตัวเองได้ มันจะเป็นไปตามสภาวธรรม สภาวธรรมตามจริตตามนิสัย ตามกำลัง กำลังของสติ กำลังของสมาธิ กำลังของปัญญา กำลังของสิ่งต่างๆ มันจะเป็นไปโดยอำนาจวาสนาโดยพื้นฐานของจิตแต่ละดวงที่ไม่เหมือนกัน เพราะจิตแต่ละดวง การสร้างสมมาของจิตมันไม่เท่ากัน มันไม่เหมือนกัน แม้แต่ครูบาอาจารย์องค์เดียวกัน ผู้ปฏิบัติสำนักเดียวกัน แต่ก็ไม่มีเหมือนกันเลย
ถ้ามีเหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องตั้งเอตทัคคะ ๘๐ องค์หรอก องค์เดียวมันก็เหมือนกันหมดแล้ว ทำไมพระอรหันต์ยังจะต้องมีเอตทัคคะถึง ๘๐ องค์ ไม่เหมือนกันเลย แล้วทำไมพระอานนท์ได้รับเอตทัคคะตั้ง ๔-๕ แนวทาง เพราะอะไร เพราะสร้างมาเป็นพหูสูต เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เอตทัคคะทั้งนั้นเลย เลิศในทางนั้นๆ องค์เดียว แต่ได้ตั้งหลายแขนง นี่เพราะการกระทำ มันได้มาเพราะการกระทำ ความตั้งใจของแต่ละองค์
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเชื่อมั่นในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องย้อนกลับมาเอาธรรมเป็นตัวตั้ง อย่าเอาเราเป็นตัวตั้ง ต้องทำให้ตัวเรานี้ไร้ค่าเลย ดูสิ ดูสารตั้งต้นที่เขาจะไปทำงานสิ ถ้าค่ามันบริสุทธิ์ มันจะทำอะไรก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน บวชขึ้นมาแล้วทำให้ตัวเองไร้ค่าเลย ไร้ค่าแล้วทำใจให้มันเข้ากับธรรมวินัย แต่ถ้าตัวเองมันไปยึดมั่นถือมั่น นั่นล่ะคือตัวที่ทำให้เข้าสมาธิไม่ได้ สิ่งที่มันไม่เป็นสมาธิ ไม่เป็นสมาธิเพราะทิฏฐิมานะอันนั้นล่ะมันไม่เข้าสมาธิ
ถ้ามันเข้าสมาธิ มันจะเป็นสมาธิ มันเป็นธรรมของมัน ธรรมของมัน ตั้งสติ แล้วเราทำบริกรรม เราตั้งใจของเรา เราจะบริกรรมอย่างไรก็แล้วแต่ เราบริกรรมหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำไปตามข้อเท็จจริง ตั้งสติ ใช้ปัญญาก็ปัญญาหมุนไปเลย ถ้าพูดถึงถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้ามันมีปัญหาขึ้นมาก็พุทโธไวๆ ก็ได้ สิ่งใดๆ ก็ได้ ทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมาเถอะ อย่าไปห่วงว่ามันจะช้าหรือมันจะเร็ว มันจะช้าหรือมันจะเร็ว ความสมดุลของใจมันไม่เหมือนกัน จะเอาการปฏิบัติของคนอื่นมาเทียบเคียงมาวัดดวงใจเราไม่ได้ ดวงใจของเรามันเป็นที่เรา ดูสิ อาหารที่เรากิน เราพอใจ เราว่าอร่อย เรามีรสชาติของเรา แล้วเขาไปกิน เขาไม่อร่อย แล้วเขาต้องการเอาอาหารของเขาที่ว่าอร่อยของเขามาให้เรากิน ที่เรากินไม่ได้ มันจะมีรสชาติไปได้อย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติมันเป็นสมบัติของคนอื่น สมบัติของครูบาอาจารย์ สมบัติของหมู่คณะ สมบัติของใคร มันเรื่องของเขา เราทำของเรา เราฟังไว้เป็นประเด็น ฟังไว้เป็นทางวิชาการ เวลาของคนอื่นเป็นอย่างไร มันเป็นของคนอื่น แล้วก็ดูจังหวะ ดูเวลา เพราะขณะที่พูดจากใจมันเข้าไปประสบ มันเป็นอย่างนั้น แต่กาลเวลามันจะพิสูจน์เองว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้าไม่เป็นจริงมันจะเสื่อมของมันไป มันจะอยู่ของมันไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมาแล้วเราจะต่อยอดไหม เป็นจริงขึ้นมาแล้วเราจะทำให้มันเกิดประโยชน์ขึ้นมาไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมา นี่ไง มันถึงต้องตั้งสติของเรานะ
สิ่งใดที่มันเป็นหน้าที่ เพราะอะไร เพราะนี่มันเป็นบุญนะ ดูสิ ดูอย่างพระ เวลาพระที่สิ้นกิเลสแล้ว ไม่มีงานแล้ว ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระภัตตุเทสก์ เป็นต่างๆ ทำประโยชน์กับสงฆ์ ทำประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ส่วนรวมเพราะอะไร เพราะท่านใจเป็นธรรม สิ่งที่บริหารจัดการมันจะเป็นธรรม แล้วผู้ที่บวชเข้ามามันมีหลายหลาก สิ่งที่หลายหลากมาจากทุกทิศทุกทาง บวชแล้วเป็นนกพิราบสีขาวเหมือนกันหมด บวชแล้วเป็นลูกศิษย์ตถาคต บวชแล้ว ธรรมวินัยมีศีลมีค่าเท่ากัน มีค่าเท่ากันเพราะมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคือธรรมและวินัย สิ่งที่ควบคุม สิ่งที่เราเคารพบูชากันด้วยธรรมและวินัย แล้วถ้ามีคุณธรรมอีกชั้นหนึ่งขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าธรรมวินัยมันมีมรรคมีผล เป็นสิ่งที่เราจะตักตวงประโยชน์ของเราขึ้นมาได้ นี่สิ่งที่บริหารจัดการมันเป็นอย่างนั้น
ถ้าเราอยู่ในหมู่ในคณะ เราจะไปดัดแปลงนะ ดูสิ ดูต้นไม้ ดูพันธุ์ของพืชพรรณต่างๆ มันเหมือนกันไหม มันอยู่ในป่าด้วยกัน แต่มันไม่เหมือนกันเลย จริตคนก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเราไปหวังให้ใครก็แล้วแต่ทำให้เหมือนกับที่เราพอใจ เราบ้าตาย ถ้าเราไปหวังให้คนอื่นจะต้องทำให้เหมือนที่เราปรารถนา เหมือนกับที่เราต้องการนะ เรานี่เป็นคนบ้า เพราะต้นไม้แต่ละชนิดในป่ามันไม่เหมือนกัน มันเป็นเผ่าพันธุ์ของมัน แต่ละชนิดมันไม่เหมือนกัน มันก็ต้องเป็นตามธรรมชาติของมันที่มันเป็นอย่างนั้น ในเมื่อมันเป็นอย่างนั้น เราไม่พอใจ เราจะให้เป็นเหมือนเรา เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ในหมู่คณะ สิ่งที่เป็นไป เขาเป็นของเขาอย่างนั้น แล้วถ้าของเขาเป็นอย่างนั้น ถ้ามีครูมีอาจารย์ มีหมู่คณะ เขาจะพัฒนาของเขาขึ้นมานะ
ไม้ชนิดใดก็แล้วแต่ ถ้ามันมีราก มีอาหาร มีอากาศ มีน้ำ มันจะสดชื่นของมัน มันจะงอกงาม ใบมันจะเขียวขจีของมัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำคุณงามความดีตรงจริตตรงนิสัยของเรา ถ้าจริตมันเป็นอย่างไร ใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือสมาธิอบรมปัญญา ตั้งใจทำของเรา มันจะได้ผลประโยชน์ของเรา สิ่งที่ผลประโยชน์ของเรา ให้มันมีการเปลี่ยนแปลงของใจ
ใจถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงนะ ดูรถที่เข็มไมล์มันจะขึ้น เพราะอะไร เพราะล้อมันต้องหมุนไปใช่ไหม จิตถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา มันจะมีอาการของมันขึ้นมา ใจมันจะมีความรับรู้ต่างๆ ขึ้นไป ถ้าใจมันเปลี่ยนแปลง ขณิกะ อุปจาระ อัปปนาสมาธิ ถ้ามันจะเห็นสิ่งต่างๆ เห็นอะไร สิ่งที่เห็นเกิดขึ้นมาจากใจที่มันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ใจที่เปลี่ยนแปลง เห็นใหม่ๆ มันก็ต้องตื่นเต้นเป็นธรรมดา ให้มีสติกับจิต แล้วสิ่งใดที่เห็น กลับมาที่ผู้รู้ ถ้าเห็น อยากรู้ ก็ทดสอบ ก็ดูสิ่งที่รู้ไป ดูสิ่งที่รู้ จิตเป็นผู้รู้ ดูสิ่งที่รู้ สิ่งที่เกิดนิมิต สิ่งที่เห็น รู้ไป มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันไม่มีที่สิ้นสุด อาการของใจไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าตามไป ไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ ผู้ที่ชำระ ครูบาอาจารย์ที่จิตสะอาด มันไม่มีตัณหาความทะยานอยาก ดูโดยตามความจริงมันจะเป็นความจริง เห็นจริงๆ รู้จริงๆ ตามความเป็นจริง แต่ถ้าจิตเรามีกิเลส รู้ด้วยความปรุงแต่ง รู้ด้วยความคาดหมาย รู้ด้วยความปรารถนา สิ่งนี้มันก็ทำให้สิ่งที่เห็นมันไม่เป็นตามความเป็นจริงที่เราต้องการ
แต่ถ้าเราเห็นโทษของมัน เรากลับมาที่ผู้รู้ กลับมาที่สมาธิ กลับมาที่ตั้งฐานของมัน แล้วดูจิตของเราเป็นธรรมดา ธรรมดาของเราไปเรื่อยๆ มันสงบ มันละเอียดเข้ามาขนาดไหน แล้วเราออกวิปัสสนา
วิปัสสนาต้องฝึกนะ ปัญญาเกิดเองไม่ได้ ปัญญาเกิดเองเป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาของมาร เป็นปัญญาของกิเลส เพราะกิเลสมันมีกับเรา กิเลสคืออะไร? กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก กิเลสคือสมุทัย ถ้าจิตสงบขนาดไหนแล้วมันมีสมุทัย มันมีตัณหา สิ่งที่ความคิด ความรู้ที่เกิดจากตัณหามันเป็นธรรมไหม
แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา สิ่งที่ความสงบของใจแล้วออกรู้ ออกรู้ถ้าจิตมันสงบอยู่ อันนั้นเป็นธรรม แต่ถ้าจิตมันคลายตัวออกมา มันจะมีสมุทัยสอดเข้ามา สมุทัยคือตัณหา เพราะโดยตัวจิตมันมีตัณหาโดยธรรมชาติของมัน เพราะเราเกิดมาจากอวิชชา อวิชชามันมากับจิต ขณะที่ปัญญาเกิดมาจากจิต ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นกิเลสล้วนๆ เลย เพราะจิตคิดโดยอวิชชาทั้งหมด
แต่ขณะที่จิตสงบเข้ามา สงบเพราะอะไร สงบเพราะกิเลสมันสงบตัวลง พอสงบตัวลง มันก็มีโอกาสชั่วคราว ถ้ามันคิดมันพิจารณาของมันไป พิจารณาของมันไป ถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมา มันจะรู้เห็นของมัน รู้เห็นของมัน แต่เพราะความไม่เข้าใจมันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม
สิ่งนั้นมันเป็นตทังคปหาน เวลามันเสื่อมไปนะ ไม่ได้ชำระกิเลสสิ่งใดๆ เลย ไม่ได้ชำระกิเลสสิ่งใดๆ เลย พอออกมาแล้วมันก็เหมือนความรู้สึกธรรมดา มันยังมีโกรธ มีโลภ มีหลง มีความต้องการ มีความถวิลหา เอ๊ะ! แล้วชำระกิเลส ทำไมกิเลสมันไม่เห็นขาดออกไปจากใจเลย
มันไม่ขาดจากใจ ไม่ขาดธรรมดานะ มันจะเกิดทิฏฐิมานะ ถ้าจิตมันเห็นแล้ว เห็นสิ่งต่างๆ แล้วมันเสื่อมไป พอมันเสื่อมไป มันทุกข์มันร้อน สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ พอมันเสื่อม มันคลายไป เหมือนกับเรา เราเจ็บไข้ได้ป่วย ดูสิ ร่างกายปกตินี้แข็งแรงไหม ร่างกายปกติทำอะไรก็ทำได้นะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ยกอะไรก็ไม่ขึ้น แล้วมันยังทุกข์ร้อนอีก
จิตเสื่อมเหมือนกัน เวลามันเสื่อมไปแล้วมันทุกข์มันร้อนของมัน แต่อาการอย่างนี้มันก็เจอกันทุกคน มันเจอทุกคนเพราะอะไร เพราะดูสิ เราเกิดมา น้อยคนมากที่เกิดมาแล้วไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย มันต้องสร้างบุญญาธิการมาพอสมควร เพราะเกิดมาชาติหนึ่งไม่เคยป่วยเลย แต่คนเกิดมาก็มีไข้มีป่วยเป็นธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน ไอ้เรื่องจิตเสื่อมมันเป็นธรรมดาเลย จะรักษา จะวิธีการอย่างไรมันก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เสื่อมหนึ่ง เพราะกิเลสของเรามันหาทางพลิกแพลงเพื่อจะเอาชนะเราอยู่แล้ว
เสื่อมสอง เพราะความไม่รอบคอบ เพราะการกระทำไม่เป็น เพราะการไม่รู้จักรักษา
ดูสิ เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา เราซ่อมไม่เป็นหรอก เราต้องส่งไปศูนย์ เพราะเขาซ่อมของเขาเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเข้าไปหาจิต เราไม่เคยรักษามัน เราไม่เคยบำรุงรักษา มันก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา แล้วเรารักษาไม่เป็น เสื่อมเพราะกิเลส เสื่อมเพราะความไม่เป็น หนึ่ง มันมีหนึ่งมีสองที่จะทำให้เสื่อมเป็นธรรมดาเลย แล้วเราแก้ไขของเรา เราต่อสู้ของเรา เราพลิกแพลงของเรา จนถึงที่สุด เราแก้ไขของเราขึ้นมา
กว่ามันจะหายจากอาการเสื่อมขึ้นมา เสื่อมขึ้นมาแล้ว แล้วก็ย้อนกลับไป ย้อนกลับไปอะไร? สิ่งที่เคยเห็น สิ่งที่เคยทำ พอทำสิ่งที่เคยทำ ที่วิปัสสนาไปแล้วมันปล่อยวาง มันมีความสุขมากเลย สิ่งนั้นทำซ้ำทำซาก ทำซ้ำทำซาก ทำซ้ำทำซากเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่มีการตอบสนอง ถ้ามีการตอบสนองขึ้นมาเป็นอกุปปธรรม มันเห็นชัดเจนมากนะ เห็นชัดเจนว่ามันถึงที่สุดแล้วมันทำอย่างไรมันก็ไม่เสื่อม แล้วมันไม่มีโอกาสจะเสื่อม แล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเสื่อมเลย สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ
เวลามันเสื่อม เวลามันแปรสภาพไป เราก็เคยเป็นเคยรู้ มันถึงได้ทุกข์ใจมา แต่เวลาถึงที่สุดแล้วมันไม่เสื่อม มันต้องมีครูก่อนไง มีเคยเสื่อม มีเคยทำแล้วไม่ได้ดั่งผล แล้วพอถึงที่ได้ดั่งผล นี่ไง มันเทียบเคียงกันได้ ขาวกับดำ ดำก็เคยเห็น ดำก็เคยเป็น พอมาเป็นขาว ขาวก็รู้จักว่าขาว
แต่เทาๆ เทาๆ ไปอยู่อย่างนั้น ขาวก็ไม่รู้ ดำก็ไม่รู้ แล้วตะบี้ตะบันจะเอาให้ได้ แล้วมันเอามาจากไหนล่ะ ทำไมเราไม่พิสูจน์ เราปฏิบัติ ทำไมไม่มีอุบาย ทำไมไม่มีวิธีการ ทำไมโง่ขนาดนั้น ที่จะให้กิเลสมันเหยียบหัวอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้ากิเลสมันเหยียบหัวอยู่อย่างนั้น การกระทำของเรามันจะได้ประโยชน์อะไรล่ะ นี่ทำบูชากิเลส
ปฏิบัติธรรมมันยาก ปฏิบัติธรรมมันยาก ยากเพราะอะไร ยากเพราะกิเลสมันเป็นเรา สิ่งที่เป็นเรามันก็ต่อต้านตลอดเวลา ที่มันยาก ยากเพราะกิเลสนะ ไม่ใช่ยากเพราะธรรมหรอก ธรรมไม่เคยให้โทษใครเลย ดูสิ คนมีศีลมีธรรมไปอยู่ที่ไหนเขาก็ชมชอบว่าคนนั้นเป็นคนดี คนดีใครรังเกียจ มีใครรังเกียจคนดีไหม? ไม่มีใครรังเกียจคนดีเลย ธรรมมันเป็นความจริงขึ้นมา ใครรังเกียจมัน ไม่มีใครรังเกียจเลย แล้วเวลาให้ผลขึ้นมา ให้ผลเป็นอะไร? ให้ผลดีหมดเลย
แต่ขณะที่มันอยู่กับเรา มันไม่เป็นธรรมจริงนี่ มันเป็นธรรมที่ว่าเราอยากสร้างธรรม แต่กิเลสมันบังเงา กิเลสมันอ้าง แล้วกิเลสมันเป็นกิเลสทั้งหมด แล้วเราทำไป เวลากิเลสมันสอดเข้ามา สมุทัย สมุทัยมันสอดเข้ามา ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธคือมันละได้ ละได้ด้วยมรรค มันเป็นคู่โต้แย้งกันระหว่างมรรคกับสมุทัย
ทุกข์กับนิโรธ มันเป็นคู่ที่โต้แย้งกัน สิ่งที่คู่ ระหว่างโลกกับธรรมที่มันเป็นอริยสัจ ที่มันเป็นความจริง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มีแต่เหตุกับปัจจัยที่มันเกิดขึ้นมาจากใจ แล้วเราต้องทำให้มันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมากับเรา ไม่ใช่ทำขึ้นมาด้วยการทำวิจัย ไม่ใช่ทำขึ้นมาด้วยการศึกษา มันทำขึ้นมาจากหัวใจที่มันทำงานต่อกัน ที่มันทำลายต่อกันเป็นอริยสัจขึ้นมาจากภายใน
แล้วถ้ามันปล่อยวาง แล้วมันขาดขึ้นมา มันเห็นจริงขึ้นมา ดำก็รู้ว่าดำ ขาวก็รู้ว่าขาว ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ สุขก็รู้ว่าสุข ไม่ขาดก็รู้ว่าไม่ขาด แล้วเดี๋ยวนี้มันขาดแล้วมันก็รู้ว่าขาด มันขาดแล้วมันมีเหตุมีผลของมันตามความเป็นจริงของมัน มันขาดของมัน มันเห็นอย่างนี้ แล้วมันจะเสื่อมอีกไหม มันจะเสื่อมอีกไหม มันจะหมุนกลับไปอีกไหม มันไม่หมุนกลับไปก็เป็นเพราะความจริงของเราใช่ไหม เพราะเราทำจริงของเรา เราเอาสัจจะความจริงของเรา
วันคืนล่วงไปๆ สามเณร ๗ ขวบ บวชได้ตั้งแต่อายุเท่าไร อายุไม่สำคัญเลย เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกอายุไว้เลย แต่ทำไมบอกว่าพระต้อง ๒๐ ปีขึ้นไปล่ะ พระต้อง ๒๐ ปีขึ้นไปเพราะอะไร เพราะพระมันเป็นระดับ มันเป็นระดับระหว่างจากเณรขึ้นไปถึงพระ แล้วอายุ ๕๐ จะบวชสามเณรก็ได้ อายุกี่ร้อยปีบวชสามเณรก็ได้ เพราะไม่ได้จำกัด เพราะคนที่ปรารถนา นี่อำนาจวาสนาของเขา
เปิดกว้าง พระพุทธเจ้าเปิดกว้างหมดเลย แต่ถ้าบวชพระต้อง ๒๐ ปีขึ้นไป ถ้าบวชเณรตั้งแต่ไล่กาได้ ไล่นกได้ เด็กไล่นกได้ บวชได้แล้ว เพราะมันเป็นคุณธรรมจากภายใน มันเป็นคุณธรรม มันเป็นวุฒิภาวะของใจ มันไม่ใช่เอาอายุเอากาลเวลามาเทียบเคียงกัน ไม่ใช่แก่อ่อน เอาสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นอายุขัยสถิติมานับกัน มันอยู่ที่คุณธรรมในใจ มันอยู่ที่วุฒิภาวะที่เราจะรับผิดชอบมากหรือรับผิดชอบน้อย
ความรับผิดชอบ คนที่มีจริตนิสัยที่รับผิดชอบคือผู้ที่รับผิดชอบมาก ก็รับผิดชอบของเราไป แต่รับผิดชอบโดยธรรมนะ ไม่ใช่รับผิดชอบโดยกิเลส รับผิดชอบโดยกิเลส เอาสิ่งนี้มาอ้าง อ้าง ทำให้สังคมปั่นป่วนเลย ต้องเป็นอย่างนี้ๆ นี่มันไม่ใช่รับผิดชอบ มันเอาสิ่งนั้นมาฟาดหัวเขา เพราะสิ่งใดเป็นธรรม ประชุมสิ มันจบแล้วมันก็ต้องจบ ถ้าจบแล้วควรทำให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา สมควรไหม แล้วเขาทำได้ไหม
นี่มันเป็น ยังไม่ได้เที่ยวไปนะ ถ้าคนเที่ยวธุดงค์ไปมากๆ จะเห็นมากเลยว่าสังคมสงฆ์ เวลาสูงส่ง บางสำนักสูงส่ง สูงส่งมาก คุณธรรม ไปแล้วชื่นใจมากเลย แต่ไปบางสำนัก ดูไม่ได้เลยนะ ดูไม่ได้เลย เขาทิ้งของกันอีเหละเขะขะจนดูไม่ได้จริงๆ นะ ไปเห็นแล้วจะรู้
ไหนว่าเป็นพระด้วยกัน เป็นผู้ปฏิบัติด้วยกัน ทำไมทำไม่เหมือนกัน
ทำไม่เหมือนกันเพราะวุฒิภาวะความรับผิดชอบของใจนี่แหละมันไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันมันก็ไม่รับผิดชอบ มันทำอะไรมันก็ทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วก็ดูถูกเยาะเย้ยถากถางว่า ไอ้พวกที่มันทำมันติดในธรรมวินัย ติดในข้อวัตร ติดในการโอ้การอวด จะไปอวดตัวว่าเป็นคนดี สู้ฉันไม่ได้ ฉันไม่ติดอะไรเลย ใช้อะไรเสร็จก็โยนทิ้งๆๆ เลย แล้วยังอวดอยู่นั่น นี่ธรรม ไม่ติดอะไรเลย ทิ้งได้หมดเลย
ลองออกไปมันจะเห็นไปหมด สิ่งที่เห็น พันธุ์ไม้แตกต่างกันในป่าในเขา มันแตกต่างกันไปนะ เราก็เห็นใช่ไหม ดอกหญ้า ฝนตกขึ้นมา ดอกมันก็ออกสวยงาม ดอกกล้วยไม้ ดอกต่างๆ กว่ามันจะออก แล้วพอออกแล้วมันจะมีอายุของมัน นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา เราจะทำอะไรมันเป็นประโยชน์กับเรา สังคมโลกก็เป็นสังคมโลก สิ่งที่มันจะเป็นไป สังคมโลกเราต้องดู เห็นไหม ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ไปสังคมใดๆ ก็แล้วแต่ ย้อนกลับมาที่จิตของตัว ย้อนกลับมาดูใจนะ จะเอาอย่างนี้ไหม
ครูบาอาจารย์ท่านพูด เราก็ฟังมานะ ถ้าไปเห็นสิ่งใดผิด ท่านจะบอกเลย อย่างนี้เราจะทำไม่ได้เด็ดขาด
สิ่งใดที่ถูก อย่างนี้เราควรเก็บเป็นคติตัวอย่าง สิ่งใดที่มันผิดพลาด เขาทำแล้วเราเห็นชัดๆ เลยว่าสิ่งนี้ไม่ดี เราจะไม่ยอมทำอย่างนี้อีก นี่คนที่มีวุฒิภาวะ
นี่หลวงตาท่านพูดเอง ถ้าไปสำนักไหน หัวหน้าทำตัวไม่ดี หรือตระหนี่ถี่เหนียว ใจมันจะปฏิเสธ ใจมันจะไม่ยอมรับ แต่ขณะที่เราไปสังคมนั้น เราก็ต้องกลมกลืนไปกับเขา
ธรรมและวินัย วินัยคือกฎหมาย ธรรมคือการกระทบกระเทือนกัน เขาจะทำดีทำชั่วก็เรื่องของเขา เพราะมันเป็นสำนักของเขา เขาดูแลของเขา เราไปอาศัยเขาอยู่ชั่วคราว เราดูเป็นคติดูเป็นตัวอย่าง แล้วมันก็สะท้อนจากภายใน อย่างนี้ไม่ทำเด็ดขาด เพราะมันเป็นตัวอย่างชั่ว มันเป็นตัวอย่างของกิเลส มันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ไอ้คนที่ทำมันยังอหังการนะ ฉันทำได้ๆ ไอ้คนที่มันเห็นมันเศร้าใจ
นี่ก็เหมือนกัน เห็นสภาวะนั้นแล้วย้อนกลับมาดูเรา เที่ยวไปเห็นไป มันจะเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเห็นสภาวะแบบนั้น ตัวอย่างที่ดี มันจะเป็นตัวอย่างที่ดี แล้วเราเก็บไว้ เขาควรทำ เด็กขนาดไหน สามเณรมันทำดี เรายังต้องสะเทือนใจเราเลย แล้วผู้ใหญ่ทำไม่ดี เราจะเอามาเป็นตัวอย่างทำไม สิ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี เราเห็นแล้วเราต้องเก็บ เราต้องดู แล้วถ้าเปิดไปดูในพระไตรปิฎก มันมาจากไหน ยิ่งไปเจอในพระไตรปิฎก มันซึ้งใจมาก นี่ถอดแบบมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ ไม่ใช่เคารพด้วยฐานะว่าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แล้วโอ้อวดว่าเราเป็นภิกษุ เป็นพระป่า เป็นนักปฏิบัติ
แต่ถ้าเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเคารพธรรมวินัย ทำได้ ทำได้ทั้งหมด จะสูงจะต่ำขนาดไหน ทำได้ หน้าที่มันทำได้ ไม่ใช่เราสูงแล้วจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าอาวุโสมากจนทำอะไรไม่ได้ก็อย่ากินข้าวสิ ข้าวนี่กินตั้งแต่หัวแถวยันท้ายแถวเลย เวลาทำงาน หัวแถวทำไม่ได้ อาวุโสทำไม่ได้...ไม่ใช่หรอก มีค่าเท่ากัน แต่เขาเคารพ เขาบูชา ถ้าในเมื่อมันมีการเคารพบูชา อันนั้นมันเป็นการแสดงออกของน้ำใจ ค่าน้ำใจไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนเลย แต่ถ้ามันเป็นภาระ มันเป็นเรื่องหนักหนาสากรรจ์สำหรับเขา เราทำเองดีกว่า
สิ่งที่เขาทำนะ สติไม่เหมือนกัน ปัญญาคนไม่เหมือนกัน ถ้าจะไม่ให้กระทบกระเทือนกัน ทำเองเสียดีกว่า แต่ถ้าเป็นการที่เขาช่วยเหลือด้วยน้ำใจก็โอเคเป็นครั้งเป็นคราว ถึงที่สุด เรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ จะไม่มีสิ่งใดๆ จะมีอำนาจเหนือเราได้เลย เพราะเราควบคุมได้ เราทำของเราได้ สิ่งที่ทำ แล้วหมู่คณะก็ไม่เดือดร้อนไปกับเรา ใครจะมาอาศัยไม่มาอาศัยมันเรื่องของเขา เราต้องทำหน้าที่ของเรา เราต้องอยู่ของเรา นี่หน้าที่แค่ดำรงชีวิตนะ แค่ปัจจัยเครื่องอาศัยนะ
ภิกษุเรา ดูสิ วินัย เรื่องผ้า เรื่องความเป็นอยู่ วัจกุฎีวัตร การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม มันมีกฎกติกาหมดเลย แค่เครื่องอยู่อาศัย เรื่องธรรมวินัย วินัยบังคับตรงนี้หมดเลย แล้วเรื่องหัวใจล่ะ เรื่องของปัญญาล่ะ เรื่องของความเห็นล่ะ นี่เรื่องของธรรมแล้ว แล้วเรื่องของธรรมนี้บังคับกันไม่ได้
เรื่องของวินัยต้องทำให้เหมือนกัน เพราะไม่ใช่นานาสังวาส เราสมานสังวาส เราลงอุโบสถสามัคคีนี้มันเป็นธรรม ถ้ามันเป็นความเห็นต่าง มันจะเป็นนานาสังวาส เป็นโมฆียะ เป็นโมฆะ มันเป็นไปไม่ได้ เรื่องวินัยต้องเหมือนกัน
เรื่องธรรม เรื่องความเห็น เรื่องความเป็นไป มันอยู่ที่ใจของคนแต่ละคน แล้วเราทำของเราได้ จะเป็นประโยชน์กับเรา ให้มีตรงนี้ขึ้นมา สังคมเราจะร่มเย็นเป็นสุขนะ ในการประพฤติปฏิบัติมันจะมีคุณธรรม มีคุณธรรมจากข้างนอก คือหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ รับผิดชอบจากข้างนอก ข้างในมันจะไม่มีอะไรต่อต้าน มันไม่มีหลุมพราง ไม่มีอะไรทำให้เราต้องเข้าไปจำนนกับมัน หน้าที่ข้างนอกมันอ้างไม่ได้ กิเลสจะอ้างข้างนอกมาเหยียบย่ำเราไม่ได้ แล้วเรา หน้าที่ข้างนอกแล้วก็หน้าที่ข้างใน ดูสติ ให้มีสติให้มีปัญญา แล้วถ้ามีคุณธรรมขึ้นมานะ เงินซื้อไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกนี้มีคุณค่าเท่ากับหัวใจเป็นธรรม
หัวใจที่เขาเป็นปุถุชน หัวใจที่เขาเป็นคนดี เขายังมีค่าน้ำใจ เขายังเจือจานกัน เขายังรับผิดชอบสังคมขนาดนั้น แล้วใจที่เป็นธรรมมันจะมีคุณค่าขนาดไหน แล้วถ้าใจเราเป็นธรรมขึ้นมา เกิดมาไม่เสียชาติเกิด เกิดมาทั้งที พบพระพุทธศาสนา แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนใจเราเป็นธรรม เกิดในธรรมมันจะมีประโยชน์ เป็นอริยทรัพย์จากภายใน เรา จากใจดวงหนึ่งให้กับใจดวงหนึ่ง ใจดวงนี้จะมีคุณค่ามาก มีคุณค่าจนวางต่างๆ ได้
รสของธรรมย่อมชนะซึ่งรสทั้งปวง
ดูสิ รสของโลกเขา เขามีรสชาติของเขา แล้วรสของธรรมมันชนะเขาได้อย่างไร ใจที่มันมีสุข สุขมากขนาดไหนที่มันจะมากกว่ารสของกาม โลกนี้ รสของกามเขามีคุณค่า แล้วรสของเรามันจะมีคุณค่าขนาดไหนกับเรา จะเป็นประโยชน์กับเรา ให้มันเกิดที่นี่ ไม่ต้องฟังใครเลย สันทิฏฐิโกจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง