พระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจ.. ตั้งใจฟังธรรม วันนี้วันอุโบสถ วันอุโบสถศีล อุโบสถไง ความสะอาดบริสุทธิ์ของสงฆ์ ถ้าสงฆ์มีความสะอาดบริสุทธิ์นะ เราเป็นสงฆ์ เราเป็นสังฆะ ชีวิตเราต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ชีวิตเราต่างจากคฤหัสถ์นะ ถ้าคฤหัสถ์เห็นไหม นี่คนหนา คนหนานะ ทางคับแคบ เขาใช้ชีวิตของเขาโดยธรรมชาติของเขา คนดีน่ะแค่ศีล ๕ เขาอยู่ในสังคมเป็นคนดี เขาว่าคนดีแล้ว
แต่เวลาเป็นภิกษุ เราเห็นโทษของวัฏสงสาร ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราออกมาประพฤติปฏิบัติ ออกมาเป็นพระเป็นเจ้า นี่ชีวิตเราต่างจากคฤหัสถ์แล้วนะ สติปัญญาเราต้องแตกต่างจากเขา เราเป็นพระเป็นเจ้านะ เวลาโยมเขาทำบุญใส่บาตร เขายกมือไหว้น่ะ เขาไหว้ใคร? เขาไหว้อะไร? เขาไหว้คุณธรรมนะ เขาไหว้เพราะว่าเราเป็นภิกษุ เราเป็นพระ เห็นไหม เป็นผู้ที่รู้แจ้ง รู้แจ้งในเรื่องของกิเลสไง เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เขาไว้ใจ เขาไว้เนื้อเชื่อใจนะ
ในเมื่อเราเป็นพระแล้ว เราต้องทำตัวสมกับให้เป็นพระ ถ้าเราทำตัวสมกับให้เป็นพระ พระมันอยู่ที่ไหน? พระมันอยู่ที่โกนหัวห่มผ้าเหลืองนี่หรือ เดี๋ยวนี้นะ ละครทีวีเขาเล่นกันน่ะ เขาโกนหัวห่มผ้าเหลืองเขาก็เป็นพระนะ นั่นสมมุติซ้อนสมมุติ เราก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง สมมุติสงฆ์ เขาก็เป็นสมมุติอีกอันหนึ่ง เขาเล่นละครกัน เขาได้เงินได้ทองนะ เขายังได้ผลประโยชน์กับเรา เขายังได้ประโยชน์กับสังคม เขาได้รางวัลนะ แสดงดีเขามีบทบาท เขาได้รางวัล เขาแค่โกนหัวห่มผ้าเหลือง เขาก็ทำได้
แล้วของเรา เราก็โกนหัวห่มผ้าเหลืองเหมือนกัน แต่โกนหัวห่มผ้าเหลืองน่ะ เราโกนหัวเห็นไหม ภิกษุ เป็นผู้โกนผม บวชเข้ามาในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอุปัชฌายะนะ มีอุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์เป็นผู้ยกเข้าหมู่ ได้ทำจตุตถกรรม ทำญัตติขึ้นมาให้เป็นสงฆ์ ถ้าเป็นสงฆ์แล้วมันจริงตามสมมุติ มันจริงสมบูรณ์ตามสมมุติ แม้แต่การเกิดก็เป็นสมมุติ เห็นว่าการบวชเป็นพระนี่เป็นของเล่น
เวลาเกิดมาในท้องแม่ คลอดออกมา ของเล่นไหมล่ะ? ทุกข์ไหมล่ะ? มันก็ทุกข์ แต่ทุกข์อย่างนั้นมันทุกข์โดยข้อเท็จจริงหน้าเดียว คือต้องเกิดเป็นมนุษย์อย่างเดียว เพราะได้เกิดมาในครรภ์แล้ว คลอดมาเป็นมนุษย์ ไอ้นี่บวชเป็นพระ บวชเป็นพระขึ้นมา เข้าไปบวชในโบสถ์ออกมาแล้ว แต่ใจมันยังลังเล ใจเรามันยังติดนิสัยมา ถึงเวลาบวชแล้วต้องขอนิสัยครูบาอาจารย์ ขอนิสัย ถ้าบวชอยู่กับอุปัชฌาย์ ได้นิสัย อุปัชฌาย์ต้องถือนิสัยมา ไอ้นี่มันอยู่กับอาจารย์ต้องถือนิสัย ๕ ปี เพราะนิสัยเรานิสัยของคฤหัสถ์ นิสัยมันยังไม่เป็นภิกษุ นิสัยมันยังไม่เข้าดัดแปลงตัวเองให้เป็นพระ ต้องถือนิสัย ถือนิสัยคือว่าให้มีครูบาอาจารย์คอยติ คอยบอก คอยกล่าว เห็นไหม ถือนิสัยกัน
เวลาลูกศิษย์กระสันอยากสึก ครูบาอาจารย์ที่เป็นครูบาอาจารย์ต้องหาที่โน้มน้าว หาช่องทางพาออกวิเวก เวลาอุปัชฌาย์อาจารย์อยากสึก กระสันอยากสึก เราเป็นลูกศิษย์ลูกหา เราต้องหาอุบายวิธีการ ไม่ใช่ว่าเป็นครูบาอาจารย์แล้วจะมีคุณธรรมน่ะ ครูบาอาจารย์โดยพรรษา โดยธรรมวินัย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ในหัวใจ เราเคารพคุณธรรมอันนั้น ถ้าเคารพคุณธรรมอันนั้นมันแสดงออกมาจากใจ มันแสดงออกมาจากกิริยาท่าทาง มันออกมาโดยเจตนา มันออกมาโดยธรรมชาติ มันไม่ได้ออกมาด้วยการเสแสร้ง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์โดยพรรษา กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันก็พยายามทำตามหน้าที่กันไป มันจะได้มากได้น้อย ทำตามหน้าที่
แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่ใจเป็นธรรม มันไว้ใจได้ ถ้าไว้ใจได้ การไว้ใจได้มันก็เปิดใจ ใจมันลง ถ้าใจมันลงมันฟังธรรมนะ ถ้าใจไม่ลงนะ ไม่ได้ว่าฉัน ไม่ได้ว่าเรา ไม่ได้ว่านะ.. นู่น! ผลักออกไปไกลๆ เลย ไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น มันปิดหูปิดตาไง ครูบาอาจารย์ท่านว่า หูกระทะ ตาไม้ไผ่ สิ่งที่มีหูมีตา นี่ขอนิสัยมันต้องดูตรงนั้นไง เราขอนิสัย เราต้องแบ่งเบาภาระ
การแบ่งภาระ สิ่งใดที่เป็นหน้าที่ของสงฆ์ กิจของสงฆ์ อะไรเป็นกิจของสงฆ์บ้าง? กิจของสงฆ์จากภายนอก ถ้ากิจของสงฆ์จากภายนอก เราเจือจานกันรักษากัน สังคมสงฆ์เรามันก็เหมือนกับ ร่างกายมนุษย์ร่างกายหนึ่ง มันก็ประกอบด้วยส่วนของหัว ของแขน ของขา ของลำตัว สิ่งที่ของแขน ของขา หน้าที่ต่างๆ ก็ทำกันไป หน้าที่ต่างๆ เราเจือจานกัน เราเมตตากัน รู้จักกัน ร่างกายสิ่งใดถ้ามันพิการขึ้นมา ดูสิ เราไปเหยียบขวากหนาม เวลาเดินมันก็ไม่สะดวกแล้ว เวลาเรากินอาหารเข้าไปที่มันเผ็ดร้อนขึ้นมา ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยไปด้วยกันหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน สังฆะเรา สงฆ์ของเรา ใครคนใดคนหนึ่งมันขวาง คนใดคนหนึ่งมันมีปัญหาขึ้นมา มันกระเทือนกันไปหมดน่ะ มันไปไม่ได้หรอก มันติดกันไปหมด เพราะเราเป็นสังฆะ เป็นสงฆ์ ดูสิ ดูประเทศชาติ ถ้าจังหวัดใด หมู่ประเทศใดมีคราววาตภัย ทำไมเขารวบรวมกันหาเงินหาทองไปช่วยเหลือกัน เขาสงสาร เขาเมตตากัน เพราะเราอยู่ในชาติเดียวกัน นี่เหมือนกัน ก็สังคมสงฆ์ ก็สงฆ์เดียวกัน สังฆะอันเดียวกัน ถ้าสังฆะอันเดียวกัน ถ้าสิ่งใดมีปัญหาขึ้นมามันก็ขัดแย้งกันไปหมดน่ะ มันกระเทือนกันไปหมด
เราเป็นสมณะมันกระเทือนน่ะ มันสมควรไหมล่ะ ทีนี้มีหูมีตามันก็สังเกตตรงนี้สิ สังเกตว่าสมควร-ไม่สมควร สิ่งที่สมควร-ไม่สมควร ถ้าเราเป็นหัวก็สมควรให้เป็นหัว เป็นหัว เอาหัวเดินต่างเท้า เป็นหัวนะแต่จะเอาหัวเดินเป็นตีนน่ะ เอาหัวนี่ไถไป หัวเขาไม่ใช่เอาไว้ให้เดิน หัวเขาเอาไว้ใช้ความคิดปัญญาบริหารจัดการ เวลาเดินเขาใช้เท้าเดิน เขาไม่ใช้หัวเดินหรอก ถ้าเอาหัวเดินก็เอาหัวไถไปสิ เอาหัวไถไป
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นผู้นำ อยากเป็นผู้นำ อยากเป็นหัวหน้า แต่เวลาบริหารจัดการน่ะทำอะไรไม่ถูก ทำอะไรไม่เป็น แล้วทำอะไรไม่เป็นยังพากันออกนอกลู่นอกทาง เอาหัวไถไปเลย หัวเขาไม่ได้เอาไว้ให้ไถ หัวเขาเอาไว้ให้คิด ถ้าหัวเอาไว้ให้คิดมันจะคิดได้อย่างไร ถ้ามันไม่ได้ฝึกฝนขึ้นมา ไม่ได้ทำความสงบของใจขึ้นมา
ถ้ามีความสงบของใจขึ้นมา สติปัญญามันเป็นอย่างไร ปัญญาในศาสนา ศาสนาเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรกระทำ เรากระทำอย่างไร นี่มันเป็นตัวอย่างนะ การสอนที่สำคัญที่สุดคือการไม่ต้องสอน การสอนที่สำคัญที่สุดคือการดำรงชีวิตให้เขาดูนี่แหละ เราทำดีของเรา เรามีสติสัมปชัญญะ การเหยียดการคู้ของเรา การพูดการจาของเรา ถ้ามันมีคุณธรรมนะเขาเคารพนบนอบ เขาเชื่อใจ เขาพอใจ เขาฟัง
แต่ถ้ามันแสดงออกมาด้วยกิเลส กิเลสเราก็มี เรามากันทำไม เรามาเพื่อชำระกิเลสใช่ไหม เพราะเราเห็นภัยในวัฏฏะใช่ไหม เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ กิเลสมันพาเกิดพาตาย พอกิเลสมันพาเกิดพาตายทุกคนก็มาชำระกิเลส แล้วกิเลสในหัวใจเราก็มี แล้วท่านจะเอากิเลสมาฟาดฟันใส่เรา ใครมันจะยอมรับล่ะ
แต่ถ้าคุณธรรมใครๆ ก็หานะ ดูสิ น้ำจืด ฝนตกขึ้นมาทุกคนรองน้ำไว้ใช้นะ เวลาน้ำเสีย น้ำคร่ำ มีใครเขาไปดูดมาใช้บ้าง เขาไม่ต้องการหรอก เขาต้องการน้ำสะอาด เขาต้องการน้ำที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เราแสดงออกไปถ้ามันเป็นประโยชน์กับเขา เขาแสวงหา เขารองเอง น้ำฝนนี่เขาหาภาชนะมารองเลย เขาต้องการด้วย เขาแสวงหาด้วยน้ำสะอาดนี่ แต่ถ้าน้ำสกปรกไม่มีใครต้องการ
แล้วถ้าเราแสดงออกไปด้วยกิเลส กิเลสเราก็มีใช่ไหม กิเลสเขาก็มีใช่ไหม ก็เรามาเพื่อชำระกิเลสใช่ไหม ถ้าเราไม่ชำระกิเลส แล้วกิเลสของเรา เห็นไหม แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร.. แพ้เป็นพระ แต่แพ้เป็นพระนี่คนมันสมควรแพ้ เราแพ้เป็นพระ เราแพ้ของเรา เราแพ้สิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันจะออกไปกระทบกระเทือนกัน แต่มันเป็นพระขึ้นมา เป็นพระเป็นผู้ประเสริฐไง ประเสริฐขึ้นมาเพราะเรารู้ทัน สติสัมปชัญญะเรารู้ทันถึงตัณหาความทะยานอยากของเรา มันรู้สิ่งเร้า สิ่งทิฏฐิมานะที่มันต้องการเอาชนะคะคานเขา มันต้องการเหยียบอยู่บนหัวของคนอื่น สิ่งนี้มันเป็นกิเลสทั้งนั้นน่ะ...ตบหัวมันลง! ใจเรา สติสัมปชัญญะยับยั้งมันลง แล้วเหยียบมันลงไป นี่ไงคือการต่อสู้กิเลส นี่ที่มาชำระกิเลสกัน ที่มาต่อสู้กัน มาต่อสู้กัน ขันติบารมี
ในเมื่อมันออกมาเป็นไฟน่ะ โทสัคคินา โลภัคคินา ฯ มันเป็นราคะ โทสะ โมหะ มันเป็นไฟ มันเผาเราแล้วนะ มันเผาหัวใจเราแล้ว เผาหัวใจเราอยู่ หน้าเป็นยักษ์เป็นมารเลย พอหน้าเป็นยักษ์เป็นมารจะออกไปกินออกไปเคี้ยวเขาน่ะ จะไปเคี้ยวเขาแล้วเราเคี้ยวได้ไหมล่ะ ใครยอมให้เคี้ยวได้ง่ายๆ
โธ่.. วันพระมีอยู่หนเดียวนะ คนที่เขาฉลาด เขามีความคิดของเขาซับซ้อน เขามีการแก้ไขของเขา แล้วเราจะชนะเขาได้ไหม ดูสิ การทำศึกสงครามน่ะ มันจะมีชาติไหนชนะชาติไหน ไปปกครองกี่ร้อยปีเดี๋ยวมันก็ร่วมมือกัน เขาก็ต้องเอาชาติเขาคืน ไม่มีใครหรอกยอมให้คนเขากดขี่น่ะ ไม่มีหรอก โลกนี้ไม่มี นี่เหมือนกัน เราจะไปชนะคะคานเขา แล้วมันจะชนะคะคานเขาได้ไหม แล้วคิดดูว่าเราจะปกครองเขานี่ การยึดเมืองมันแสนยากเลย แต่การครองเมืองมันยากกว่านะ
นี่เราแพ้เป็นพระ ถ้าแพ้เป็นพระเราทำคุณงามความดี เราอยู่ของเขา เราไม่ต้องยึดเมือง ไม่ต้องครองเมือง เขาต่างหากเขาต้องการแสวงหาความจริง เขาวิ่งมาหาเราต่างหาก เขาขอความช่วยเหลือจากเรา เขาขอคำแนะนำจากเรา เขาขอเราทุกอย่างเลย ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าเป็นความดี อยู่เฉยๆ นี่กลิ่นของศีลมันหอมทวนลม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อยู่ที่ลุมพินีวัน เทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ๕ องค์เท่านั้นนะ ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์นะ เทศน์ธัมมจักฯ นี่ศาสนายั่งยืนมาจนป่านนี้ เวลาเทศน์มีคนไปฟังพระพุทธเจ้ากี่องค์ พระพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรกแค่ ๕ องค์เท่านั้นเอง เทศน์อยู่ ๕ องค์ แล้วดูสิเทวดา อินทร์ พรหม ก็ส่งข่าวต่อๆ กันไป ดูสิ ส่งข่าวต่อๆ กันไป เทศน์ธัมมจักฯ ปฐมเทศนา
จนป่านนี้เรายังจำกันได้ เทวเม ภิกขเว.. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เรายังจำกันได้เลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักรมันเคลื่อนแล้ว นี่อยู่ในป่าในเขาไม่มีใครรับรู้ด้วยเลย มันยังยั่งยืนมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้วนะ แล้วยังจะไปคู่กับศาสนาไป ๕,๐๐๐ ปี หมด ๕,๐๐๐ ปีไปแล้วสิ่งนี้พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้อริยสัจอันเดียวกันนี้แหละ ท่านก็เทศน์เหมือนกัน เทศน์เหมือนกัน สัจธรรมเหมือนกัน แต่มันเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ว่าตลาดมันเริ่มต้น ตลาดกำลังเจริญรุ่งเรือง คนมันก็สนใจกัน อันนี้เทศน์มา ๒,๕๐๐ กว่าปีเห็นไหม
แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะเราฟื้นฟูของเรา เราตั้งใจของเรา สิ่งใดที่เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็อยากเอาสิ่งนั้น.. นี่พุทธวิสัย สิ่งที่พุทธพจน์ เราอยากฟังอันนั้น เราอยากรู้อันนั้น ไม่ฟังใคร.. ไม่ฟังใคร.. คนเหมือนคน กิเลสเหมือนกัน ไม่ยอมรับใคร ยอมรับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เป็นวิชาการซะ แล้วเวลาเราศึกษาเข้าไปก็เอากิเลสเราไปศึกษาอีก กิเลสของเรา ตัณหาความทะยานอยากมันทั้งนั้นเลย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกต้องทั้งหมดน่ะ ผิดอย่างไร ผิดที่กิเลสเรานี่ไง ผิดว่าตีความผิดนี่ไง ผิดที่พอความเห็นของเรานี่ไง ผิดเพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นเขาไง ธรรมเป็นอย่างนั้น เราตีความเอง ไม่มีใครโต้เถียงไง
แต่ถ้าเป็นธรรมของครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านวิกฤต ผ่านเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันซับซ้อนมาในหัวใจ แล้วแก้ไขสิ่งนั้นหมดแล้วมันจะรู้ไง รู้จากใจ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงนั้นเห็นกิเลสมันยึดผิด มันเห็นผิด ความเห็นผิด ผิดต้องผิดแน่นอน
นกกับปลามันคุยกันน่ะ เราเป็นมนุษย์ เราเป็นนก เพราะเราอยู่บนบก ปลาอยู่ในน้ำ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความลึกลับซับซ้อนมันไม่ใช่อย่างที่เราคิดหรอก มันไม่เหมือนอย่างที่เราคิด ไม่เหมือนอย่างที่กิเลสคิด เวลาทำเข้าไปน่ะ เอ๊าะ.. ทำไมมันเป็นอย่างนั้น.. ทำไมเป็นอย่างนั้น.. เวลามันผ่านขั้นตอนไป ทำไมเป็นอย่างนั้น.. ทำไมเป็นอย่างนั้น.. มันเป็นความจริงเข้ามา ถ้ามันไปรู้จริงขึ้นมา อ้าว! มันไม่เหมือนที่เราคิดนะ มันไม่เหมือนที่เราตั้งใจเลย มันไม่เหมือนที่เราเจตนาเลย ทำไมมันไม่เหมือนกับสิ่งที่เรา.. เพราะอะไร เพราะเรามีกิเลสอยู่ เรามีความเห็นของเราอยู่ มันก็บวกความเห็นของเราเข้าไป มันจะเป็นความจริงไปไม่ได้หรอก
แต่เมื่อศึกษาเข้าไปแล้ว อ๊ะ.. ทำไมเป็นอย่างนั้น.. ทำไมเป็นอย่างนั้น.. อันนั้นมันเป็นความจริงนะ แต่ไอ้ความที่เราคาดขึ้นมามันปล่อย มันปล่อยทิฏฐิมานะ มันปล่อยความเห็นของเรา มันปล่อยความยึดมั่นถือมั่นของใจ มันปล่อยหมด พอมันปล่อยเข้าไปมันก็ปล่อยความจริงเข้ามา อ้าว! อ้าว! มันเป็นความจริงอย่างนั้นเลย ถ้าปฏิบัติเข้าไป
ครูบาอาจารย์เราท่านเคยผ่านอย่างนั้นมา ท่านถึงสมเพชพวกเราไง สมเพชไอ้พวกกิเลสตัณหา สมเพชไอ้พวกทิฏฐิมานะท่วมหัว สมเพชเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้ พอไม่รู้ขึ้นมาทิฏฐิมานะมันยังถือว่าเป็นความจริง แล้วยังมีกิเลสซ้อนมาอีกนะ เป็นปัญญาชน เดี๋ยวนี้ศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพราะว่าเป็นทฤษฎี ทางวิชาการมีมาก เราค้นคว้าของเราเองก็ได้ ไม่รู้เลยว่าค้นคว้าโดยกิเลสนะ มันทำอย่างไรมันก็ค้นคว้าด้วยกิเลส กิเลสมันบวกเข้ามาตลอด มันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาไปได้ มันไม่เป็นธรรมไปได้หรอก
แต่ถ้าเราค้นคว้าไป มันมีการพิสูจน์ตรวจสอบกันไป มันปล่อยไปเรื่อยๆ สิ่งที่รู้ทิ้งมาเรื่อยๆ สละมาเรื่อยๆ ถ้าไม่สละมา มาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันติดความเห็นของตัว ความเห็นของตัวน่ะ ความเห็นของตัวมันเกิดมาจากอะไร? ก็มันเกิดมาจากใจของเรา เกิดมาจากทิฏฐิมานะของเรา ทิฏฐิมานะเลยล่ะ สิ่งที่เห็นนะเป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้ มิจฉาทิฏฐิก็ได้
ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้อง ตรัสรู้เองโดยชอบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ การกระทำโดยชอบ ถ้าโดยชอบมันจะเป็นความชอบธรรม ถ้าความชอบธรรม มันรู้จริง แต่การรู้จริงอย่างนี้มันก็เป็นอนิจจัง มันอยู่ได้ชั่วคราว เพราะมันยังไม่เป็นสัจจะความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริงมันต้องมีการก้าวเดินไป ต้องมีการก้าวเดินเพราะเราไม่ใช่เป็นขิปปาภิญญาที่ตรัสรู้โดยปฏิบัติเร็วรู้เร็ว ถ้าไม่ปฏิบัติเร็วรู้เร็ว เราก็ต้องต่อสู้ ต้องพยายามฝึกฝนของเราไป
แต่กิเลสมันไม่ว่าอย่างนั้น เพราะกิเลสมันเทียบโดยปัญญาชน ทำงานเสร็จแล้วต้องเสร็จ ในเมื่อเรารู้แล้วคือต้องรู้ ความรู้แล้ว แต่รู้มันมีหยาบ-มีกลาง-มีละเอียด รู้อะไร? รู้อะไร? สิ่งนี้มันเป็นความจริงได้อย่างไร? มันไปรู้เพราะธรรมชาติสามัญสำนึก จิตมันเป็นธาตุรู้อยู่แล้ว สิ่งที่เป็นธาตุรู้มันถึงเป็นปฏิสนธิจิต มันเกิดแล้วมันเกิดดับๆ ของมันอยู่ตลอดเวลา
เราไปเกิดในสถานที่ใดล่ะ เราไปเกิดในชุมชนใด เราไปเกิดในทวีปใด ภาษาเขาเป็นคนละภาษา เราก็ได้ภาษานั้น ดูสิ คนเราพูดได้ ๕-๖ ภาษา เพราะอะไร เพราะชุมชนเขาพูดแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน สามัญสำนึกมันเป็นอย่างนั้น เพียงแต่มันจะเอาภาษาใดเข้าไปในหัวใจเท่านั้นเอง ถ้าเข้าไปในหัวใจมันเป็นภาษาของเขา เป็นความรู้สึกของเขา ความรู้สึกอย่างนั้น ภาษาของเขา
แต่ภาษาสากลคือภาษาใจ ภาษาใจคือภาษาสุข-ทุกข์ไง ความสุข-ความทุกข์ เพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร ความสุข-ความทุกข์มันเป็นสากล สิ่งที่เป็นสากลนะ สิ่งที่แก้ไขมัน มันก็เป็นสากล ดูสิ ดูบาลี เวลาเราแปลเป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษ แปลภาษาอะไรก็ได้ แปลเป็นภาษาต่างๆ ก็เพื่อคนรับรู้อย่างนั้น แต่ภาษาอย่างเรานี่ ภาษาอะไรมันจะลึกซึ้งเข้าไปถึงความหมายอันนั้น แล้วถ้าภาษาใจ ถ้าความรู้จริงอันนี้มันเข้าไปถึงความรู้สึกอันนั้น นี่ว่าปัญญาชนๆ ทิฏฐิมานะทั้งนั้น! ภาษาอย่างนั้นภาษาสมมุติ!
แล้วภาษาวิมุตติ.. สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แล้วถ้าภาวนามยปัญญามันจะเกิด มันจะเกิดอย่างไร ภาวนามยปัญญามันทำอย่างไร เพราะอะไร เพราะมันเกิดจากภาคปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ.. ไม่มี! การศึกษาที่ทำให้รู้แจ้ง.. ไม่มี! ไม่มี! ถ้าการศึกษาให้รู้แจ้ง คอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้ พระไตรปิฎกเขาคีย์เข้าคอมพิวเตอร์หมด มันจำได้หมดเลย มันรู้แจ้งไม่ได้ เพราะมันไม่มีชีวิต ไม่มีจิต
ถ้าเรามีจิต เราศึกษาขนาดไหนศึกษายิ่งยากกว่าคอมพิวเตอร์อีก เพราะคอมพิวเตอร์เวลาป้อนข้อมูลเข้าไปในโปรแกรมแล้วมันอยู่ตายตัว มันรู้ของมันอย่างนั้นนะ แต่จิตของเราเราจำมาขนาดไหน เราท่องจำมาขนาดไหน ศึกษามาขนาดไหน ต้องทบทวนตลอดนะ เพราะมันหลงลืมไง มันจำไม่ได้ มันจำได้เดี๋ยวมันก็ลืมไป เดี๋ยวก็ต้องมาฟื้นฟู เดี๋ยวก็ท่องไว้อย่างนั้นน่ะ ความจำเรายังหายไป ยังบกพร่องไป ไม่คงอยู่ได้
แต่ถ้าเป็นความรู้จริงขึ้นมานะ ถ้าอริยสัจเกิดขึ้นมาจากใจ ตรัสรู้มาน่ะ มันเป็นอะไร? พระอรหันต์ลืมในอะไร? พระอรหันต์ลืมได้ในสมมุติบัญญัติ สมมุตินี่พระอรหันต์ลืมได้ บัญญัติก็ลืมได้ สวดมนต์ผิดได้ พระอรหันต์สวดมนต์ผิดได้ เพราะสมมุติบัญญัติมันอยู่ที่ขันธ์ มันไม่ได้อยู่ที่ใจ
พระอรหันต์ไม่ลืมในอะไร? ไม่ลืมในอริยสัจ อริยสัจอยู่ที่ไหน? อริยสัจมันอยู่ที่ใจ เพราะตัวใจน่ะ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ .. จิตทำลายแล้วน่ะ มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ สิ่งที่อริยสัจ สิ่งนี้เพราะอะไร
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. ทุกข์ ความรับรู้ ทำไมมันจะลืมได้อย่างไร มันซ้อนอยู่ที่ใจ แล้วทุกข์นี่มันขาดได้อย่างไร? จิตที่มันปล่อยทุกข์มันปล่อยอย่างไร? ถ้ามันไม่รู้จักวิธีปล่อยทุกข์ มันจะปล่อยทุกข์มาได้ไหม อย่างเช่นเราปวดท้อง เราเข้าห้องส้วม เราถ่ายออกไป เรารู้ไหมว่าเราถ่ายออกไป เวลาถ่ายอุจจาระออกไปมันถ่ายออกไปอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน จิตมันถ่ายออกไปอย่างไร มันถ่ายขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ออกไปอย่างไร นี่มันถ่ายออกไปอย่างไร? ถ่ายออกไปจากจิต มันปล้อนออกมาอย่างไร มันปลิ้นออกมาอย่างไร ไอ้สิ่งที่มันติดจิต มันคายออกมาอย่างไร
ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สิ่งที่เป็นสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สิ่งที่มันคาใจอยู่นี่ ความเห็นผิดของใจมันหลุดออกไปได้อย่างไร? ไอ้อย่างปวดท้องถ่ายมันต้องเข้าส้วมทุกวันนะ เพราะเรากินเข้าไปแล้วก็ถ่ายทุกวัน ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เกิดดับ ทุกข์ก็เกิดทุกวัน เกิดทุกวันน่ะ แล้วเกิดทุกวัน พอทุกข์ ทุกข์ก็เป็นอนิจจัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
มันเกิดดับอย่างนั้นน่ะ ความทุกข์นี่เจ็บซ้ำซาก เกิดเจ็บปวดอยู่ตลอดไป มันถ่ายไปแล้วนะ มันกินแล้วถ่ายไปมันก็จบไปนะ เว้นไว้แต่ท้องเสีย มันถึงทำให้ท้องปั่นป่วน.. ไอ้กิเลสนี่มันเกิดดับจริงๆ มันไม่ได้ถ่ายเลย มันถ่ายไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของมันเกิดดับอยู่อย่างนั้น เกิดดับอยู่อย่างนั้นแล้วก็ทุกข์ใจ เจ็บปวดแสบร้อนไปกับใจอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้ขับถ่ายไปไหนเลย มันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องอยู่กับใจ แล้วถ้าพิสูจน์ของมัน พิสูจน์อย่างไร แล้วจะขับถ่ายมันออกไปอย่างไร การขับถ่ายนี่เห็นไหม นี่จิตที่มันกลั่นออกมาจากอริยสัจมันต้องรู้เหตุผล ถ้าไม่รู้เหตุผลมันจะรู้จักอริยสัจได้อย่างไร
นี่ไง พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ พระอรหันต์ลืมในสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติลืมได้ สมมุติบัญญัติเป็นวิชาการที่เป็นการศึกษา การศึกษาขึ้นมา ถ้าวิชาการออกใหม่ขึ้นมา เราศึกษาขนาดไหนก็ได้ ดูสิ ในทางปริยัติ นี่ธรรมบท สิ่งที่เขาธรรมบท สิ่งที่เขาเขียนออกมามันออกมาในทางวิชาการ มันดูซาบซึ้ง.. ซาบซึ้งขนาดไหนมันเป็นสัญญา! มันเป็นการแต่งขึ้นมาจากสมอง มันเป็นการหาข้อมูลขึ้นมาแล้วเขียนออกมา แต่อริยสัจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอริยสัจรู้ขนาดไหนก็เขียนออกมาไม่ได้ เขียนออกมาได้ไม่หมดไง
นี่ในทางปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่เทศน์กรรมฐานเรา เวลาภาคปฏิบัติเทศน์เป็นกรรมฐานมา เพิ่นพูดออกมาได้ สมมุติได้เท่านี้ไง หลวงตาท่านพูดอยู่ประจำ สมมุติได้แค่นี้ ความรู้จริงมันมากกว่านี้ที่จะสมมุติ คำว่า สมมุติ คือความรู้จริงของเรา แล้วเราพยายามพูดออกมา สื่อสารออกมาได้เท่านี้เอง เพราะสมมุติมีเท่านี้ที่จะสื่อสารความจริงออกมาได้เท่านี้ แต่ความจริงที่อยู่ในใจมันมีได้มากกว่านี้อีกมหาศาลเลย แล้วมันจะสื่อออกมาได้อย่างไร
แต่ถ้าคนรู้จริงมันจะเข้าไปรู้จริง เพราะสมมุติมันคับแคบไง สมมุติบัญญัติ ดูสิ ทางวิชาการจะเห็นว่ามากมายเลยที่เราจะศึกษาค้นคว้ากันน่ะ เราจะศึกษาค้นคว้ากันได้ไม่จบไม่สิ้นเลย แต่ถ้าความจริงที่ในหัวใจมันมากกว่านี้นะ แต่ภาษาสมมุติ ภาษาใจ ดูสิ เรามองตากันน่ะ ลึกซึ้งกว่านี้นะ มันเข้าใจกันไปหมดเลย สิ่งที่เข้าใจน่ะมันอยู่จากหัวใจของเรา
นี่ชีวิตเราต่างจากคฤหัสถ์แล้ว นี่วิชาการการศึกษาของเรา ดูสิ เราบวชมาแล้วศึกษาปริยัติ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์อาจารย์บอกแล้ว โอ้โลมปฏิโลม สิ่งที่ว่าย้อนหน้าย้อนหลัง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งนี้เป็นปริยัติ แล้วปริยัติถ้าเราศึกษาของเราเต็มที่ เราปริยัติแล้วเรามาปฏิบัติ ภาคปริยัติมันก็หลงลืมได้ แต่ถ้าภาคปฏิบัติขึ้นมา มันจะเกิดความรู้จริงขึ้นมา
ถ้าเกิดความรู้จริงขึ้นมา นี่สำคัญมากนะ ถ้าเกิดความรู้จริงขึ้นมามันจะเห็นความเป็นไปของจิต ถ้าเห็นความเป็นไปของจิต สิ่งอันใดก็แล้วแต่ในการดำรงชีวิตในปัจจัยเครื่องอาศัย มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ครูบาอาจารย์ของเราธุดงค์มานะ ถ้าเรายังติดเรื่องปัจจัย ๔ เราจะไม่เข้าใจ จิตนี้ไม่สามารถชำแรกเข้าไปถึงหัวใจเลย มันจะเข้าไปถึงหัวใจ เข้าไปถึงจิตที่เป็นสมาธิ จิตที่เป็นปัญญาขึ้นมา เป็นภาคปฏิบัติขึ้นมาน่ะ มันจะเข้าไปได้อย่างไร ถ้ามันเข้าไปได้อย่างนั้นนะ เราได้สมบัติอันละเอียดเข้าไปน่ะ สิ่งอะไรกระทบจากภายนอก..
ทำไมเราอดอาหารกันได้? ทำไมเราอดนอนผ่อนอาหารกัน? เราอดนอนผ่อนอาหารกันก็เพื่อให้จิตมันเข้าไปรู้จริงจากภายใน ถ้ามันรู้จริงจากภายใน สิ่งอยู่ภายนอกเหมือนบ้านเรา สิ่งที่อยู่นอกบ้าน ฝนตก แดดออก มันก็โดนฝนสาดเป็นธรรมดา สิ่งที่อยู่ในบ้านน่ะ สิ่งสมบัติอะไรที่อยู่ในบ้านเรา ตู้เซฟ สิ่งที่เป็นสมบัติที่มีคุณค่า เราจะเก็บไว้ในบ้านใช่ไหม เราไม่เก็บไว้นอกบ้านหรอก
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่จะเข้าไปรู้ในใจ! ถ้าสิ่งที่จะเข้าไปรู้ในใจ เข้าไปรู้ด้วยวิธีการใด นี่ข้อวัตรปฏิบัตินะ สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติน้อมมันเข้ามา ทวนกระแสเข้ามา หดสั้นเข้ามา ให้จิตเข้ามา มันถึงไม่เห็นผลประโยชน์จากปัจจัยเครื่องอาศัยไง ปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นการแสดงออกเท่านั้น ถ้าจิตมันดีนะ สิ่งนี้ดีเป็นคุณธรรม ถ้าวัดไหนมีคุณธรรม สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยจะเจือจานกัน จะเผื่อแผ่กัน เป็นธรรม คำว่า เป็นธรรม มีด้วยกัน อดด้วยกัน มีเท่าไรแบ่งปันเจือจานกัน ไม่ใช่เป็นโลก เป็นโลกมันกักตุน มันไม่ยอมเจือจานกัน มันเอาไปไว้ใช้อยู่คนเดียว แต่ถ้าเป็นธรรมทุกอย่างมันจะเจือจานกันหมด
ดูสิ ครูบาอาจารย์เราเป็นครูบาอาจารย์ขึ้นมานี่ พ่อแม่ครูจารย์ ท่านดูแลขนาดที่ว่าต้องให้ลูกศิษย์ได้มีได้ใช้ก่อน ลูกศิษย์ลูกหาต้องมีกินมีใช้ก่อน ครูบาอาจารย์นะท่านไว้ทีหลัง มีไว้ทีหลังเพราะอะไร เพราะเป็นครูบาอาจารย์เขาใช่ไหม เป็นหัวหน้าเขาใช่ไหม ในการเคารพนบนอบของสังคม สังคมเขานบนอบหัวหน้าก่อน ถ้าหัวหน้ากักตุนไว้มันก็ไม่ไปถึงลูกศิษย์ลูกหาอีก แต่ถ้ามันปล่อยเจือจานกันไป หัวหน้าขาดแคลนไม่เป็นไร เพราะว่าอะไร เพราะว่าสิ่งเคารพนบนอบเขาเชื่อถือของเขา เดี๋ยวมันมาเอง
แต่ถ้าหัวหน้ามีสมบูรณ์แล้วนะ ลูกน้องขาดแคลนนะ เขาก็บอกเห็นหัวหน้ามีสมบูรณ์แล้ว เขาจะมาเจือจานได้อย่างไร เขาไม่เจือจานหรอก เพราะหัวหน้ามันโง่ ถ้าหัวหน้ามันโง่มันก็พากันโง่ เพราะว่ามันก็ไม่เป็นพ่อแม่ครูจารย์ มันไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมามันต้องเจือจานกันก่อน ถ้าเจือจานอย่างนั้น ยิ่งสละมันยิ่งได้ ยิ่งสละมันได้น้ำใจ ได้ความเคารพนบนอบ ได้ความเชื่อถือ ได้หัวใจที่เขาอยากประพฤติปฏิบัติ มันจะเปิดกว้างเพราะอะไร เพราะมันลงใจ
มันลงใจว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เราอยู่ที่นี่เราจะปลอดภัย อยู่ที่นี่มันจะมีคนดูแลคุ้มครองเรา อยู่ที่นี่จะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำเรา อยู่ที่นี่ผิดพลาดไปครูบาอาจารย์ท่านจะคอยแนะนำเรา กับเราไปอยู่ของเรา ผิดพลาดขึ้นมาก็ต้องขวนขวายเอง ผิดพลาดขึ้นมาก็ต้องศึกษาว่ามันถูกมันผิด มันถูกมันผิด มันผิดไปแล้วมันถึงจะรู้ทีหลังไง มันเจ็บปวดไปแล้วไง มันถึงที่สุดแล้วไง ดูสิ ดูอย่างสัตว์ มันเป็นโรงฆ่าสัตว์ มันเข้าไปถึงโรงฆ่าสัตว์มันถึงรู้ว่าที่นี่โรงฆ่าสัตว์ไง
การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน! ถ้าอย่างน้อยจะทำให้เราเสียเวลานะ เวลามีปัญหาขึ้นมาในหัวใจ เราจะพลิกแพลง เราจะแก้ไข มันต้องใช้เวลาเป็นปีเป็นหลายๆ ปี แม้แค่ทิฏฐิความคิดอันเดียวนี่ ความคิดที่เห็นผิดที่มันฝังใจ เวลาเราจะปลดเปลื้องมันน่ะเป็นปีๆ ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเราขึ้นมาน่ะ ท่านชี้นำ ท่านคอยชี้นำ ท่านคอยบอก ท่านคอยเคาะ เขาเรียกคอยเคาะ ถ้าบอกขึ้นมาทิฏฐิมันก็เกิด ต้องคอยเคาะให้เห็นสังคม
ดูสิ สังคมความเป็นไปของเรา ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมามันจะเข้าไปในทางเดียวกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ขัดแย้งกัน จะไปในทางเดียวกัน สิ่งที่เป็นธรรมมันจะขัดแย้งได้อย่างไร นี่เพราะอะไร เพราะสิ่งปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งดำรงชีวิตมันเป็นเรื่องของหยาบๆ นะ
ศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีลของข้อวัตรปฏิบัติเป็นศีล นี่ข้อวัตรไง เป็นข้อวัตร เป็นการกระทำ มันเป็นการวัดใจ เป็นการหล่อหลอมให้เราไปในแนวทางเดียวกัน เป็นการหล่อหลอม เป็นเอกภาพ เป็นสิ่งที่เข้าไปชำระกิเลส เพราะทุกคนไม่มีกระทบกระเทือนกัน มันก็ไม่มีอะไรขุ่นใจ พอไม่มีอะไรขุ่นใจขึ้นมา ทุกคนต่างเปิดทางให้กัน ให้โอกาสภาวนา ถ้าใครนั่งภาวนา ใครนั่งสมาธิ เราจะหลีกเลี่ยง เราจะไม่เข้าไปก่อกวนให้เสียงดัง เราจะไม่เข้าไปแนะนำหรือเข้าไปให้ออกมาช่วยทำงาน เป็นโอกาสของเขา
นี่สิ่งที่เป็นนิวรณ์ สิ่งที่เป็นนิวรณธรรม สิ่งที่เป็นความวิตกกังวล สิ่งที่เป็นการกระเทือนใจ เอ๊ะ.. เราเอาเปรียบเขาไหม เรามานั่งสมาธินี่ คนอื่นเขาจะคิดอย่างไร แต่ถ้ามันเป็นธรรมด้วยกัน เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ไปในทางเดียวกัน ใครทำมันก็รู้กัน รู้ว่า เอ้า.. คนนั้นจะภาวนา คนนั้นอดอาหาร ก็เปิดช่องทางให้กัน เห็นไหม นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ! อาจารย์เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะนะ หมู่คณะ การกระทบกระเทือนกันมันไม่มีขึ้นมา หรือมันมีแต่มันมีน้อย สิ่งนี้มันน่าแสวงหา ทำไมเราต้องออกวิเวกกัน ออกอยู่ป่าคนเดียวก็เพราะเหตุนี้ไง เราจะทำภาวนา เขาจะทำข้อวัตร เราจะทำข้อวัตร เขาจะพาไปกิจนิมนต์...มันขัดแย้งกันไปหมดน่ะ!
แต่ถ้าเราอยู่ของเราคนเดียวนะ เราเลือกได้หมดนะ เราจะเลือกของเราเอง เราจะทำของเราเอง ถ้ามันมีเราทำของเราเอง ถ้าหมู่คณะมันเป็นเอกภาพ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปในทางเดียวกัน มันไม่เกิดนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันเป็นการกางกั้นสมาธิ ไปนั่งสมาธินะ วิตกกังวลไปหมดเลย นั่นจะเป็นไอ้นั่น นี่จะเป็นไอ้นี่ แล้วมันจะเป็นสมาธิมาจากไหน? ก็ไปนั่งเอาทุกข์ไง ไปนั่งเอาสิ่งที่เป็นไฟเผาใจไง แต่ถ้ามันเป็นคุณธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไป นี่พ่อแม่ครูจารย์ เพราะอะไร สิ่งที่มันหยาบๆ หยาบมาก
สิ่งที่เป็นศีล พวกศีลมันหยาบๆ มากเลย แต่! แต่กิเลสก็เอาความหยาบๆ นี่มากระทบกระเทือนกัน เพราะมันไม่มีทางออก กิเลสมันหยาบ กิเลสหยาบๆ มันแสดงออกหยาบๆ แสดงออกจากข้อวัตร ออกจากอาวุโส ภันเต ออกจากสูง-จากต่ำเหยียบย่ำกัน แต่ถ้าเป็นคุณธรรมมันไม่มีหรอก! มันน่าสังเวชนะ ดูสิ จากคฤหัสถ์มา เขาตั้งใจของเขา เขาอยากบวชเรียนของเขา เราเองเราอุตส่าห์ส่งเสริมเขาเข้ามา แล้วเขาเข้ามาแล้วทำไมเราไม่ส่งเสริมเขา ทำไมเราไม่ดูแลเขา ทำไมเราไม่ให้เขาโตขึ้นมา ไอ้อย่างการแสดงออกมันจะหยาบ-มันจะละเอียด มันก็นิสัยคฤหัสถ์น่ะ นิสัยโจรน่ะ
ดูสิ บริขารโจล อิมัง ปะริกขาระโจลัง อะธิฏฐามิ บริขารโจลไง เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ใช้ พระพุทธเจ้าให้ใช้บริขาร ๘ นี่สบง จีวร ให้ใช้อยู่แล้ว ถ้าเกินจากนั้นก็โจลังๆ.. โจรทั้งนั้น! ของโจรน่ะ ของที่มีอยู่ก็ไม่อยากจะใช้ อยากจะใช้ของโจร! นิสัยก็เหมือนกัน ความเห็นก็เหมือนกัน ความเห็นปกติ ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นปกติของมัน แต่อยากเป็นโจรไง! อยากออกนอกข้อวัตรปฏิบัติไง อยากเหยียบย่ำกันโดยกิเลสก็มันโจรทั้งนั้นน่ะ เขาเป็นคฤหัสถ์มา เขาเพิ่งบวชมา มันก็โจรมาน่ะ จากโจรมา จากคฤหัสถ์มา มันยังไม่มีนิสัย
เวลาครูบาอาจารย์ ได้นิสัยใครมา ให้ขอนิสัย นี่ไง หลวงตาท่านจะรับที่รับทาง ท่านพูดตรงนี้ประจำเลย ถ้าไม่มีหัวหน้า ท่านไม่รับ ถ้าไม่มีพระที่ไว้ใจได้ ท่านไม่ยอมรับ เพราะอะไร เพราะหัวหน้ามันไม่มี ถ้าหัวหน้าไม่มีมันก็หัวโล้นห่มผ้าเหลือง มีโจรทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ ในเมื่อผู้บวชใหม่เข้ามายังไม่ได้นิสัย คือมันติดนิสัยคฤหัสถ์เข้ามา พูดเสียงดัง การเดิน การเหิน การอยู่ มันนิสัยของชาวบ้านน่ะ มันไม่มีนิสัยของพระ
ถ้านิสัยของพระ การเดิน การเหยียด การคู้ ต้องมีสติ ถ้ามีสติ เราจะฝึกอย่างไรให้มีสติ ไอ้ที่ปากพล่ามๆๆ น่ะ ควรหยุดซะ เพราะอะไร เพราะไอ้พล่ามๆๆ อย่างนี้มันเป็นนิสัยโลก นิสัยธรรมน่ะ เพราะพูดออกไปมันกระเทือนคนอื่น มันกระเทือนกันไปทั่วล่ะ เพราะเสียงมันดัง เสียงมันไปกวนคนอื่น ถ้าเราจะคุยอะไรกัน เรามีปัญหาขึ้นมาเราก็มาคุยกัน ๒ คน มีอะไรก็คุยกันพอประมาณ เพราะอะไร เพราะว่าต่างคนต่างต้องรักษาใจตัว ไม่ให้เราไปกระทบกระเทือนใคร ไม่ให้ไปกระทบกระเทือนใครนะ ถ้าไปกระทบกระเทือนใคร นี่มันกระทบกระเทือนเพราะอะไร เพราะเวลาเรานั่ง เวลาเราเร่งความเพียรของเรา เราก็ไม่ต้องการให้ใครกระทบกระเทือนเรา
เวลาเราภาวนาขึ้นมา เราก็ต้องการความสงัด ใครก็ต้องการความสงัด ใครก็ต้องการความดี ใครก็ต้องการความดี ต้องการ เห็นไหม แต่ไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะกิเลสมันต้องการ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันขัดกับธรรมทั้งนั้นน่ะ ความต้องการอย่างนี้มันต้องการเฉยๆ ไม่ได้ มันต้องการมันไม่มีหรอก มันไปสั่งซื้อมาจากไหน การต้องการก็ต้องฝึกฝนขึ้นมา ฝึกฝนให้ตั้งสติขึ้นมา ตั้งกำหนดคำบริกรรมขึ้นมา ทำอย่างใด ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา ทำมันขึ้นมา ถ้าทำขึ้นมาก็เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา ถ้ามันเป็นประโยชน์ของเราได้ มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่เป็นความเห็นถูกต้อง มันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้อย่างไร
เพราะในการกระทำครั้งแรกๆ ครั้งใหม่ๆ เพราะอะไร เพราะไม้ดิบๆ ไม้ดิบๆ หมายถึงเริ่มต้นเราก็หักพร้าด้วยเข่าเลย เอาไม้มาเราจะหัก เราบวชมาเราจะภาวนา เราบวชมาเราจะนั่งวิปัสสนา เราจะทำ โอ้ย.. คิดร้อยแปดเลย มาถึงก็เอาซุงมาหักเลยนะ แล้วมันหักได้ไหม? หักลงไหม? หักไม่ลงสักคน แต่ถ้ามันขึ้นมานะ เราเก็บหอมรอมริบนะ แล้วค่อยถากค่อยถาง ค่อยสับ ค่อยฟัน ทำมันไปเรื่อย มีสติสัมปชัญญะ เราเริ่มต้นของเรา รักษาเจตนาอันนี้ไว้ เจตนาที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เจตนาที่บวช เจตนาบวชเพื่ออยากจะพ้นทุกข์ รักษาใจตรงนี้ไว้แล้วต่อสู้ไป
กิเลสมันเป็นเรา ความคิดว่าจะหักหาญมันด้วยกิเลสเพื่อจะฆ่ามันน่ะ เราก็คิดได้ เพราะมันเป็นความคิดที่เวลาเจตนาเราดี เวลาเรามีเจตนา เรามีศรัทธามีความเชื่อ แต่ศรัทธาความเชื่อ ศรัทธา-อจลสัทธา ศรัทธามันเสื่อมคลอนได้ ความคิดความเห็น ความคิดของคน ดูสิ อารมณ์ความรู้สึกเขาบอกว่า อย่าไปเชื่อนะ อารมณ์ความรู้สึกมันเปลี่ยนแปลง ต้องเชื่อทางวิชาการ ทีนี้ในทางวิชาการมันก็ต้องศึกษามาด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั่นน่ะ อารมณ์ความรู้สึกไปศึกษาทางวิชาการมา ถ้าศึกษาทางวิชาการมามันจะมีจุดยืนขึ้นมา อารมณ์ความรู้สึกมันดีกว่าวิชาการ เพราะวิชาการมันตายตัว วิชาการมันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นทางโลก แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ความรู้สึกอันนี้มันเหนือกว่าอีก
เขาบอกว่า อย่าให้ไปเชื่ออารมณ์ความรู้สึกอันนั้นนะ แต่อารมณ์ความรู้สึกนั้นน่ะ ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา อารมณ์เห็นไหม ดูสิ ธรรมธาตุมันเป็นธรรมทั้งหมดเลย แล้วมันแสดงออกมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกไหม มันก็เป็น เพราะอะไร เพราะธรรมอันนั้นน่ะ สิ่งนั้นไม่ให้เชื่อบุคคล ให้เชื่อธรรมะ แต่ในเมื่อใจเป็นธรรมขึ้นมาน่ะ มันธรรมเหนือโลกอีก มันรู้แจ้งโลก รู้แจ้งหมดเลย มันเป็นความจริง จะเป็นอารมณ์ความรู้สึกไหมล่ะ แล้วบอกถ้าพูดออกมามันต้องพูดเป็นทางวิชาการ ทางวิชาการมันก็เป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นกฎตายตัว
แต่ถ้าเป็นธรรม ดักหน้า-ดักหลัง ดูสิ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมคอยดักหน้า-ดักหลัง สิ่งไหนที่ผิดมา คอยบอกคอยแนะ แนะด้วยอุบายนะ ถ้าบอกตรงๆ นี่ ไม่เชื่อ เพราะอะไร เพราะว่าคำพูดมันไม่น่าเชื่อ เพราะอะไร ถ้าทางการปฏิบัติของเราต้องตอบมาแบบมาจากดาวอังคารน่ะ มาจากจักรวาลนอก อู้หูย.. นิพพานนี่มาจากดวงดาวอีกดวงดาวหนึ่ง อู้หูย.. นิพพาน..
นิพพานอยู่กลางหัวใจ! นิพพานอยู่กลางอกนี่!
นิพพานอย่างนั้นเป็นนิพพานทางวิชาการ? วิชาการมันเอานิพพานมาจากไหน? ถ้านิพพานมาจากหัวใจ มันออกมาจากใจนี่ ใจที่มันทุกข์ๆ นี่ พลิกขึ้นมามันก็เป็นนิพพาน มันก็สุข สุขที่นี่.. ทุกข์ ทุกข์ที่นี่ มันพลิกมาที่นี่ แล้วพูดมาน่ะ
ดูสิ ของที่เราเหยียบย่ำอยู่นี่ ฝ่าเท้าเหยียบย่ำผืนแผ่นดินอยู่นี่ แต่มองไม่เห็นแผ่นดิน อยากจะไปอเมริกา อยากจะไปเที่ยวดาวอังคาร ที่มึงเหยียบอยู่นี่มันก็ดาวดวงหนึ่งนะเว้ย! เหยียบอยู่บนโลกนี่ โลกนี้ก็ดาวดวงหนึ่ง แล้วทำไมต้องไปดาวอังคาร ต้องพิสูจน์โลกไหนกันอีก พิสูจน์ไปแล้วมันได้อะไร มันเหยียบอยู่ที่นี่ นี่หัวใจเราก็เหมือนกัน หัวใจที่มีกิเลสอยู่ กิเลสเหยียบย่ำอยู่นี่ สิ่งที่กิเลสมันเหยียบย่ำอยู่นี่ แล้วมันจะพลิกแพลงขึ้นมาให้เป็นธรรมได้อย่างไร
ถ้าให้เป็นธรรมขึ้นมา เวลาศึกษาขึ้นมา เวลาบอกไม่เชื่อ ไม่เชื่ออย่างนี้ ไม่เชื่อเพราะอะไร ไม่เชื่อเพราะมันเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์จริงๆ นะ ถ้ามันฟังเป็นตรรกะ เป็นปรัชญา เป็นสิ่งที่เรื่องโลก เรื่องตรรกะที่เทียบเคียงได้ โอ้โฮ.. มันซาบซึ้ง...สมมุติทั้งนั้นเลย ธรรมะปริยัติมันเป็นสมมุติบัญญัติหมดเลย
แต่ถ้าธรรมะเป็นธรรมนะ มันออกมาจากใจ ออกมาจากใจที่เราคาดหมายไม่ได้ เราคาดหมายไม่ถึง ฟังแล้วงงมาก งงจนปฏิเสธว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันไม่เป็นธรรมหรอก ถ้ามันเป็นธรรม มันต้องสื่อให้เราเข้าใจได้สิ เอ้า.. ก็หัวใจมึงปิด หัวใจมึงมืดบอดน่ะ หัวใจมืดบอดมันก็ต้องทำ เห็นไหม ถึงต้องมีข้อวัตรปฏิบัตินี่ไง ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติทวนกระแสเข้าไป เปิดหัวใจไง ถ้าใจมันเปิด ภาชนะที่คว่ำอยู่ให้มันหงายขึ้นมา ถ้าหงายขึ้นมา ธรรมะขึ้นมามันกระเทือนหัวใจเห็นไหม นี่ใจมันลง มันลงเพราะอะไร?
มันลงเพราะว่าครูบาอาจารย์ ใจเหนือเราไง ใจสูงกว่า ใจเข้าใจกว่า
กิเลสมันพลิกแพลง มันดีดดิ้นอย่างไรในใจของครูบาอาจารย์ กิเลสมันดีดดิ้นในหัวใจของเรา สิ่งที่หัวใจของเราเพราะเราไม่รู้ใช่ไหม มันถึงดีดดิ้นได้ แล้วมันก็เหยียบย่ำได้ เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้ทันมัน แต่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้วนะ มันดีดดิ้นขนาดไหนท่านก็เหยียบย่ำมันมาแล้ว ทำลายมาแล้ว วิธีการทำลายนั่นน่ะ ท่านเทศนาว่าการ ท่านเทศนาออกมาจากวิธีการนั่นน่ะ ครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ท่านมีความถนัดในทางใด การแสดงธรรมของท่านก็แสดงออกมาจากความถนัดของท่าน ออกมาจากประสบการณ์ของท่าน ถ้ามีประสบการณ์อย่างไร
แล้วประสบการณ์ของคน ดูสิ ทางวิชาการแขนงไหนก็แล้วแต่ ความถนัดของตนยังไม่เหมือนกันเลย ความถนัด ความละเอียดอ่อน กลอุบายวิธีการ นี่หยาบ-ละเอียดมหาศาล นี่ไง นี่เป็นคุณสมบัติของจิต ถ้าจิตมีคุณสมบัติอย่างนั้น มันเป็นประโยชน์อย่างนั้น เราเจอครูบาอาจารย์ที่ชำนาญการ เราจะได้ประโยชน์มากเลย เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แต่ท่านไม่ชำนาญการ ดูสิ ในทางการช่าง เขาทำได้นะ แต่เขาอธิบายไม่ได้น่ะ เขาทำได้หมดน่ะ โครงสร้างเขาทำได้หมดเลย แต่อธิบายมาเป็นวิชาการอธิบายไม่ถนัด เห็นไหม บางคนทำได้ด้วย อธิบายได้ด้วย สอนได้ด้วย ทำได้ด้วย นี่มันอยู่ที่วาสนาของเรา ถ้าวาสนาของเราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ชำนาญ เราก็มีโอกาสมากขึ้น
แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ มันก็บอก ขี้โม้ พูดอยู่นั่นน่ะ ไม่มีอะไรเลย โม้ไปเรื่อยเลย โม้ไม่โม้มันก็ต้องพิสูจน์กันสิ! ทำมา! ถ้ามันโม้นะ เราทำมันได้จริง ถ้าทำได้จริงเอาเหตุผลไปลบล้างท่าน ถ้าเหตุผลไปลบล้างท่าน ดูสิ ท่านจะอายเราไหม ถ้าเหตุผลเราดีกว่า เหตุผลเราชัดเจนกว่า แล้วท่านเอาเหตุผลสิ่งจอมปลอมมาสอนเราได้อย่างไร แต่ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา มันยอมไหม? มันคารวะหมด
ครูบาอาจารย์เราเวลาปฏิบัติขึ้นมา รู้สิ่งใดไป พระพุทธเจ้ารู้แล้ว รู้สิ่งใด พระพุทธเจ้ารู้แล้ว พระพุทธเจ้ารู้หมดแล้ว นี่พระไตรปิฎก ถึงว่าไม่ได้ค้านพระไตรปิฎกเลย สิ่งที่เป็นพระไตรปิฎกน่ะของจริงทั้งนั้นน่ะ เพราะปฏิบัติไป เพราะอะไร เพราะมันเป็นเชิงวิชาการที่เราพิสูจน์ไง เราพิสูจน์ใจเรา เราพิสูจน์การกระทำเรา แล้วพอทำไปเทียบกับวิชาการ.. เพี๊ยะ! เพี๊ยะ! เพี๊ยะเลย!
แต่ถ้าในเมื่อเรายังไม่ได้พิสูจน์จากใจของเรา เราไปพิสูจน์ทางวิชาการมาหมดเลย งงไปหมดเลยนะ ดูสิ เราจะปลูกบ้านกันสักหลังหนึ่ง บ้านที่วิจิตรพิสดาร กว่าเราจะสั่งของมา สั่งแล้วกว่าจะอ่านแปลนออก กว่าจะอะไร เรางงอยู่นั่นน่ะ ยังไม่จบเลย แต่นี่ของเรามีอยู่แล้ว เราอยู่ในคูหาในถ้ำ เวลาทางวิชาการมา ถ้ำมันมีประโยชน์อะไร มันเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ ขอให้เรารู้ทางจิตน่ะ พอออกไปเทียบแล้วใช้ได้หมดเลย แต่ถ้าเรายังไม่รู้น่ะ เราคาดหมายผิด วิ่งหาวัสดุก่อสร้าง วิ่งหาสิ่งต่างๆ วิ่งหาจนหมดกำลัง แล้วสร้างขึ้นมาแล้วนะกลายเป็นกองทรายกองดินกองอยู่นั่น ไม่เป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมา แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงหมด นี่พระไตรปิฎกมันเป็นอย่างนี้
ถ้าเราไปศึกษาแล้ว ยิ่งศึกษา ยิ่งงง.. ยิ่งศึกษา ยิ่งงง.. ศึกษามาเป็นทางปริยัติแล้ววางไว้ แล้วปฏิบัติให้ได้ ทำให้ได้ แล้วดูสิว่าพระพุทธเจ้าโกหก ถ้าพระพุทธเจ้าโกหก ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย แล้วเราปฏิบัติของเราสมควรแก่ธรรมไหม? ถ้ามันสมควรแก่ธรรมมันต้องสงบ ถ้าสมควรแก่ธรรมนะ วุฒิภาวะของใจมันจะปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ เราเจริญขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นสิ่งที่หยาบขึ้นเรื่อยๆ
เหมือนเชื้อโรคเลย เราเป็นแล้วหาย แล้วแต่ละโรคมาๆ เราเห็นเชื้อโรคแล้วเราจะกล้าไปเป็นโรคอีกไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจพัฒนาแล้วมันเห็นแล้วนะ มันเห็นคุณค่าของศีล เห็นคุณค่าของสมาธิ เห็นคุณค่าของปัญญา เห็นคุณค่าไปหมดเลย มันก็ปฏิบัติขึ้นมาก็เป็นเพื่อเรา ประโยชน์กับเรา
ให้ตั้งใจปฏิบัติ เราเสียสละการเป็นคฤหัสถ์มาแล้วนะ ชีวิตเราต่างจากคฤหัสถ์ อย่าเอาอารมณ์ความรู้สึกของโลกมาใช้ ดูสิ เราดูสัตว์เดรัจฉานสิ มันกัดกันด้วยปากด้วยเขี้ยวนะ มนุษย์เขาสู้กันด้วยปืนด้วยอาวุธนะ เราเป็นนักบวช เราจะเอาอะไรไปสู้กัน เราสู้กันด้วยคุณงามความดีนะ เราทำคุณงามความดีอยู่ในศีลในธรรม เขาเคารพนบนอบเราเอง เราไม่เอาทิฏฐิมานะแบบโลกๆ มาปะทะคะคานกัน เราต้องเอาคุณงามความดี เอาความถูกต้อง เอาเมตตาธรรมมาเจือจานกัน เพื่อให้เป็นสังฆะ ให้เป็นสงฆ์เรา อย่าเอาเรื่องโลกๆ มาใช้
เรื่องโลกๆ น่ะ สัตว์เดรัจฉานมันกัดกันด้วยเขี้ยวด้วยเล็บ มนุษย์เขาต่อสู้กันด้วยอาวุธ นักบวชเราต่อสู้กันด้วยปัญญา ด้วยความเห็น ด้วยความดี ด้วยคุณธรรม นี่ไง ชีวิตเราต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ความเป็นอยู่ก็ไม่เหมือนเขา การใช้ก็ไม่เหมือนเขา ปัญญาที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา นี่ภาคปฏิบัติเรา ภาวนามยปัญญาเขารู้ได้อย่างไร ปริยัติเขาไม่รู้นะ แล้วเขางง แล้วเขาไม่เชื่อ
แต่ถ้าปฏิบัติน่ะ ภาวนามยปัญญาเกิดอย่างไร เราอธิบายให้เขาฟังได้หมดน่ะ ถ้าเราเป็นพระปฏิบัติแล้วเรายังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของภาวนามยปัญญา แล้วเราจะทรงคุณธรรมได้อย่างไร พระเราไม่ทรงศีลทรงธรรม ใครจะทรง? ยิ่งพระปฏิบัติของเรายิ่งต้องมีคุณธรรม ยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อเป็นคุณธรรมของเรา
แต่! แต่อย่าให้เป็นสุกก่อนห่าม เพราะรู้นิดรู้หน่อยแล้วออกไปพูดน่ะมันเสื่อม แล้วมันทำให้วิตกกังวล ไม่ควรพูด ไม่ควรพูด ไม่ควรเอาความรู้สึก เอาอากาศปล่อยออกไปในอากาศไง เรากักเก็บออกซิเจนไว้ใช้ท่อลมแล้วปล่อยให้หมดเลยจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เราต้องเก็บกักไว้ ความรู้ ความเห็นอยู่ในหัวใจเก็บกักไว้ให้เป็นประโยชน์กับเรา ไม่ควรสุกก่อนห่าม ไม่ควรซื้อก่อนขาย ควรประพฤติปฏิบัติเอาตัวรอดให้ได้ จะเป็นสมบัติของเรา เอวัง