เทศน์พระ

การพิจารณา

๑๖ ส.ค. ๒๕๕๑

 

การพิจารณา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ฟังเทศน์ก่อน เดี๋ยวลงอุโบสถ อุโบสถนี้ก็หนึ่งเดือน เข้ามานี่หนึ่งเดือน อีก ๒ เดือนออกพรรษาแล้วนะ เห็นไหม วันคืนล่วงไปๆ พรรษาหนึ่ง พรรษาสอง เห็นไหม มันจะล่วงของมันไปเรื่อยๆ เวลากินชีวิตของมนุษย์ไปตลอดเวลา เราตั้งใจแล้วนะ คนเกิดมาตายหมดนะ วันคืนล่วงไปๆ จริงๆ

ดูแม้แต่พืชพรรณธัญญาหาร เห็นไหม ฤดูกาลมันยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่าไว้ใจตัวเองนะ ใจตัวเองถ้ามันยังดีอยู่มันก็ร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าใจเรามันคลอนแคลนนะ เวลาใจของเรามันคลอนแคลน ร่างกายมันก็เป็นอย่างนี้ ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มันก็ต้องตายเป็นธรรมชาติของมัน เห็นไหม แต่ในหัวใจเรามันทุกข์

ถ้าใจเราคลอนแคลนขึ้นมา มันร้อนนะ ถ้ามันร้อนขึ้นมา เห็นไหม เวลาทำสมาธิ เรานั่งภาวนาของเรา ถ้าจิตมันดีมันจะมีความสุขของมัน ถ้าจิตมันเสื่อม ถ้ามันเสื่อมนะ มันมีให้เสื่อมมันยังว่ามีแล้วเสื่อม ถ้ามันไม่มีเลยมันจะเอาอะไรมาเสื่อม ถ้ามันไม่เสื่อมขึ้นมามันก็เร่าร้อนของมัน มันทุกข์ร้อนของมันเห็นไหม ความจริงของมันเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งมันเป็นอย่างนี้ เราถึงต้องขยันหมั่นเพียร คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียรนะ ความเพียรชอบ ถ้าความเพียรไม่ชอบ เห็นไหม สักแต่ว่าทำก็ทำกันไป

ในการภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าเราภาวนา ถ้ามันเป็นความจริงเราจะรู้แจ้ง เราจะฆ่ากิเลส พ้นจากกิเลสความชอบ ถ้ามันไม่ชอบ เห็นไหม เราเข้าใจเอานะ เวลาเราภาวนาไปเราเห็นนิมิต จิตเราเป็นอย่างไร เราเข้าใจของเราว่ามันเป็นธรรม ถ้ามันเป็นธรรมมันทำไมสงสัยล่ะ มันเป็นอาการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เป็นจินตมยปัญญา ปัญญาของเรามันเกิดขึ้นมามันเป็นจินตนาการขึ้นมา เห็นไหม จินตนาการด้วยสมาธิ จินตนาการด้วยจิตที่มันเป็น แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ

ถ้ามันเป็นจริง ทำไมเราไม่ขยันหมั่นเพียร ถ้าขยันหมั่นเพียรนะ เราขยันหมั่นเพียร ถ้าความเพียรเราชอบ ความเพียรเรามั่นคง เราทำขึ้นไปจิตมันจะพัฒนาของมันไป มันจะรู้ลึกเข้าไป เราจะรู้จริงของเราขึ้นไป ถ้ามันรู้จริงของเราขึ้นไป สิ่งที่เราว่าเป็นความจริงๆ ที่เราผ่านมา มันจะทิ้งไปโดยธรรมชาติของมัน เห็นไหม

คนเราได้เหล็กมา ไปเจอเงินมันก็อยากได้เงิน มันทิ้งเหล็กนั้นแบกเงินนั้นไป พอมันไปเจอทอง เห็นไหม มันจะทิ้งเงินนั้นเอาทองนั้นไป แต่ถ้าคนมันโง่นะ มันแบกเหล็กมามันว่ามาไกลแล้ว มันจะไม่ทิ้งอะไรเลย ทิฏฐิมานะของเราก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเรารู้ๆ นะ เรารู้เราเข้าใจมันเป็นการแบกทิฏฐิมานะ แล้วมันไม่ทิ้งอะไรเลย คือมันไม่พัฒนาของมันขึ้นไป แล้วถ้ามันไม่ได้ทิ้งสิ่งใดเลยมันก็เอาสิ่งใหม่ไม่ได้ พอเอาสิ่งใหม่ไม่ได้ เหล็กโดยสายตาของสามัญสำนึก จะเป็นเด็กจะเป็นผู้ใหญ่ เขาดูเหล็กก็คือเหล็ก เหล็กมันจะเป็นเงินเป็นทองไปได้อย่างไร มันเป็นเหล็กมันไม่ใช่เงิน เหล็กไม่ใช่เงินและไม่ใช่ทอง เงินทองมันก็ไม่ใช่เหล็ก

นี่ก็เหมือนกัน ความเห็นของเรามันเป็นความเห็นของเรา แต่มันไม่เป็นความจริง นี่ถ้าเป็นความจริงนะ หนึ่ง เราต้องรู้ของเราเองก่อน สอง ถ้ามันพูดออกไปแล้ว ทองคำไปวางไว้ที่ไหนมันก็เป็นทองคำเหมือนกัน ใครจะปฏิเสธว่าไม่ใช่ทองคำมันก็เป็นทองคำใช่ไหม คนจะรู้หรือไม่รู้ ทองคำมันก็คือทองคำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจของเรามันเป็นนะ เราภาวนาของเราไปแล้วมันเป็น มันจะต้องการให้ใครยอมรับล่ะ มันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมัน ทองคำไปวางไว้ที่ไหนมันก็เป็นทองคำ ความเห็นของเราไปอยู่ที่ไหนมันก็เป็นความเห็นของเราที่ถูกต้อง ถ้าความเห็นไม่ถูกต้องมันแปรปรวน มันแปรปรวนนะ

สิ่งที่มีอยู่เห็นไหม กิเลสมันอยู่ในใจ มันแสดงตัวออกมาของมันเป็นแน่นอน ถ้ามันแสดงตัวออกมา เห็นไหม มันเริ่มตั้งแต่จริตนิสัย ถ้าคนทางโลก เห็นไหม ถ้าคนอยู่ทางโลกเขาขยันหมั่นเพียร เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ คนที่ฉลาด คนที่มีเชาวน์ปัญญา มาบวชเป็นพระ มันก็มีเชาวน์ปัญญาของมัน ถ้าอยู่ทางโลก เห็นไหม เราเป็นคนอย่างนี้ไปบวชแล้วมันก็อย่างนี้ ถ้ามันบวชแล้วมันเป็นอย่างนี้ เราพยายามจะสร้างของเรา เราพยายามตั้งใจของเรา เห็นไหม

พยายามตั้งใจ ตั้งใจนะ ความเพียรชอบ ถ้ามันเป็นความตั้งใจ ถ้ามันเป็นความเพียรไม่ชอบ ความตั้งเฉยๆ จนมันเป็นความเกร็ง พอเป็นความเกร็งไปทำอะไรมันเครียดนะ สิ่งที่ทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา มันจะเป็นความเครียดของเรา เราจะมาภาวนาเพื่อประโยชน์ของเรา

เราบวชมาแล้ว เห็นไหม ดูสิ โลกนะ เราทิ้งจากโลกนี้มา มองไปทางโลกนะ โลกนี้มันต้องมีอาชีพ คนต้องมีหน้าที่การงาน แล้วทางสังคมเราทำงานอยู่กับเขา พอเงินเดือนเราสูงขึ้นมาเขาก็เปลี่ยนคนๆ เห็นไหม พอเขาเปลี่ยนคนเขามา เขาก็ให้เราออก เราทำธุรกิจของเรา ถ้าทำธุรกิจของเรา เราทำการค้าของเรา มันก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น โลกนี้มันมีอัตราเสี่ยงเยอะ แล้วเราอยู่กับเขาเราต้องตั้งใจของเรา เราตั้งใจทำของเรามันก็ยังมีความทุกข์

เวลาเราบวชมาแล้ว ชีวิตของเราฝากไว้กับสังคม ฝากไว้กับคฤหัสถ์ ฝากไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชีวิตของเราฝากไว้กับเขา หน้าที่ของเราภาวนาของเรา ชีวิตของเรามันมีปัจจัยเครื่องอาศัยแน่นอนอยู่แล้ว เวลาเราจะเร่งความเพียรของเรานะ ความเพียรของเรา หน้าที่การงานของเราต้องมากกว่าเขา แม้แต่ทางโลกเขาประกอบสัมมาอาชีวะของเขา เขายังต้องทุกข์ต้องยาก เขาต้องแข่งขันของเขา เขาต้องทำของเขาเพื่อการดำรงชีวิตของเขา

อันนี้เราแข่งขันกับกิเลสนะ กิเลสในหัวใจของเรามันต่อต้านตลอดเวลา แล้วเราเอง โดนกิเลสมันหลอกอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในความเพียรของเรากิเลสมันก็หลอก นั่งสมาธิกิเลสก็หลอก แล้วเราจะเอาชนะมัน เราจะต้องมีความตั้งใจมากกว่านั้น ถึงเริ่มต้นใหม่ๆ เราต้องตั้งสติ แล้วเราภาวนาของเราไป ให้เข้าทางจงกรม ให้นั่งสมาธิ เพราะอันนี้เป็นหน้าที่เป็นงานของเรานะ งานของพระ ถ้าพระเราไม่ทำความเพียร พระเราไม่ทำสมาธิ พระเราไม่สร้างปัญญาของเราขึ้นมา โยมเขาจะเอาที่ไหนมาเป็นที่พึ่งล่ะ เราเองเรายังพึ่งเราไม่ได้ แล้วเราจะไปสอนใคร เราจะไปสอนเขาได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่รู้

ถ้าเรารู้ขึ้นมา เห็นไหม เรารู้ขั้นของสมาธิ เราก็สอนได้ขั้นสมาธิ เรารู้ด้วยขั้นของปัญญา เราก็สอนด้วยขั้นของปัญญา ในปัจจุบันนี้เรารู้โดยสัญญา เราคิดว่าเรารู้ไง แล้วเราไปสอนเขา เราก็ไม่รู้ เขาก็ไม่รู้นะ เราไปสอนเขาทำไม ในเมื่อเรายังไม่มีความรู้ที่จะสอนเขาได้ เราก็บอกว่าครูบาอาจารย์ก็มี เห็นไหม

ผู้ที่ครูบาอาจารย์ของเรามีก็ไปถามครูบาอาจารย์ของเรา หน้าที่ของเรานะ เราอยู่ด้วยการเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในเมื่อเราเป็นบริษัท ๔ เราอยู่ด้วยกัน เราก็อยู่ด้วยกันเป็นบริษัท ๔ ไง เราเป็นศาสนทายาท เราเป็นธรรมทายาท เราอยู่ด้วยกัน มันไม่จำเป็นต้องไปสอนเขาหรอก ให้เขาศึกษาของเขา ผิดถูกขึ้นมาครูบาอาจารย์มีนะ

ฉะนั้น ถ้าเรารู้ในขั้นของสมาธิ เราก็สอนในขั้นของสมาธิ เรารู้ด้วยขั้นของปัญญา เราก็สอนด้วยขั้นของปัญญา ขั้นปัญญานะ ถ้าเรารู้แจ้งรู้จบ เห็นไหม เราสอนเทวดา อินทร์ พรหมได้เลย เทวดา อินทร์ พรหม ที่เขามาฟังเทศน์ เขาฟังเทศน์ที่ไหน เขารู้สถานะของเขา เขารู้เรื่องความเป็นอยู่ของเขานะ ความเป็นทิพย์ของเขา สิ่งที่เขามีสุขมีทุกข์ของเขา เขารู้ของเขา แต่เรื่องอริยสัจเขาก็ไม่รู้เห็นไหม เขาถึงต้องมาหาครูบาอาจารย์ของเรา

อริยสัจมันคืออะไร? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์มันอยู่ที่ไหน? แม้แต่เขาอยู่ของเขานะ เป็นเทวดา อินทร์ พรหม ทุกข์นี่เขายังไม่เข้าใจเลย เขาก็ว่ามันเป็นความสุข มันเป็นทิพย์ มันเป็นความสุข... มันเป็นความทุกข์อันหนึ่งนะ เป็นความทุกข์ที่เขาต้องรักษาของเขาไว้ ชีวิตของเขา เขาต้องรักษาของเขาไว้ เวลาหมดอายุขัยของเขา เขาก็ต้องตายไป ทุกข์ของเขาเขาไม่เห็นทุกข์หรอก เขาอยู่ของเขาด้วยความเพลิดเพลิน เห็นไหม

มาหาครูบาอาจารย์นี่ทุกข์ไหม? การเกิดและการตายทุกข์ไหม? การพลัดพรากเป็นความทุกข์ไหม? สิ่งนี้เป็นความทุกข์นั้นมันทุกข์ แต่เราไม่รู้จักว่ามันทุกข์เพราะอะไร เพราะมันยังไม่ถึงเวลา ถ้าถึงเวลาแล้วมันก็หมดโอกาสแล้ว ถึงเวลาเราก็ต้องตายไปแล้ว มันเหมือนถึงเวลาแล้วเราก็ต้องพลัดพรากแล้ว เวลาพลัดพรากขึ้นมาแล้วทุกข์ค่อยมารู้จัก รู้จักมันก็ตายแล้ว มันไม่ได้

แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา เราดูใจของเรา ถ้าใจของเรามันรู้จักใจของเรา ใจของเรามันสงสัยอะไร มันสงสัยในตัวเราไหม ถ้ามันสงสัยในตัวของเรา ทำไมเราไม่ค้นคว้าหาเหตุผล ถ้ามันหาเหตุผลขึ้นมาทำให้มันหายสงสัย มันสงสัยในสิ่งใด มันสงสัยในร่างกายของเรา มันสงสัยด้วยชีวิตของเรา สงสัยไปหมดนะ ตายแล้วไปไหน เกิดนี้มาจากไหน เกิดแล้วอยู่เพื่ออะไร อยู่เพื่อให้เขายอมรับ อยู่เพื่อให้เขาเคารพนบนอบ นี่ไง โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ลาภสักการะ

ทำไมต้องให้เขาเคารพนบนอบล่ะ ถ้าเรามีดีของเรานะ เราอยู่ที่ไหนเขารู้จักไม่รู้จักมันเรื่องของเขา เรารู้จักเรื่องของเรา เรารู้เรื่องใจของเรา ใจของเราเรารู้ใจของเราแล้วเราดูใจของเรานะ ใจของเราเราดูแลของเราเอง เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่นนะ เรื่องของข้างนอกเป็นเรื่องของข้างนอก เรื่องของเราเป็นเรื่องของเรา สุขทุกข์มันอยู่ที่เรา ตั้งสติย้อนกลับมาที่เรา ถ้าย้อนกลับมาที่เรานะ มันเห็นทุกข์ไง ทุกข์มันเกิดที่นี่

สถานที่เกิดของทุกข์คือใจ สถานที่เกิดของทุกข์ ความคิดมันเริ่มต้นตั้งแต่ที่ไหน? ความคิดมันมาจากไหน? ความคิดมันมาจากใจ สิ่งที่มาจากใจ คิดจบแล้วมันอยู่ที่ไหน? มันก็ขี้ทิ้งไว้บนหัวใจ พอขี้ทิ้งไว้บนหัวใจแล้ว ทุกข์คิดสิ่งใดมันก็มีความเจ็บปวดแสบร้อนในใจ เราก็ทุกข์อยู่ที่ใจ เห็นไหม

นี่ทุกข์ควรกำหนด ถ้าเราเห็นใจของเรา เรากำหนดทุกข์ได้ ทุกข์ควรกำหนด มันกำหนดขึ้นมา เห็นไหม กำหนดในอะไร? ทุกข์ควรกำหนด สิ่งที่มันเห็นเป็นอดีต-อนาคตไง สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา ทรัพย์สินนี้เป็นของเรา ทุกข์นี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเราหมดเลย มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นสมุทัย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ มันละความทุกข์ไง เหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งที่เกิดทุกข์นะเราพิจารณาของมัน ความคิดมันมาจากไหน? ความคิดมันมาจากเพราะความที่เราไม่รู้เท่าทันตัวเอง ถ้ารู้เท่าทันตัวเองกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันซ้อนเข้ามา ซ้อนให้เราคิดขึ้นมา ซ้อนให้เรามีความพอใจขึ้นมา มันมีความพอใจขึ้นมาแล้วมันเป็นความจริงไหม?

ในเมื่อมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นธรรมมันเป็นนาม เป็นรูป รูปคือสถานที่ตั้ง คือหัวใจ คือภพ นามคือความคิด นามรูป เห็นไหม มันเป็นนาม มันเป็นรูป เป็นนามเป็นรูปมันเป็นการเกิดดับ แล้วมันเป็นความจริงไหม? มันไม่เป็นความจริง มันเกิดดับของมันเฉยๆ แต่เพราะเราไม่รู้เท่าเราเลยไปคิดตามมัน พอคิดตามมันมันก็เลยทุกข์ไง มันก็ทุกข์เพราะมันไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ดั่งใจเลย ไม่ได้อะไรดั่งใจสักอย่างหนึ่ง

ถ้ามันไม่ได้ดั่งใจ แต่มันเป็นสามัญสำนึกใช่ไหม ความคิดของเราเป็นสามัญสำนึก เป็นการสื่อความหมายใช่ไหม ถ้าเราควบคุมมัน เราแยกแยะมัน เห็นไหม เวลากิเลสมันสิ้นไปแล้ว นามรูปมันก็มีอยู่อย่างนั้น เพราะอะไร เพราะสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะคนเรายังไม่ตายนะ ความคิดมันมีอยู่ แต่เป็นความคิดที่สะอาด เห็นไหม

จากความคิด นามรูปที่มีอวิชชาครอบงำ มันคายพิษ มันให้ผลแต่ความทุกข์กับหัวใจ แต่ขณะที่มันรู้เท่าหมดแล้วมันก็เป็นนามรูปนั่นแหละ แต่มันไม่มีพิษ มันไม่มีพิษเพราะมันไม่มีอวิชชา ถ้ามันจะคิดขึ้นมานะ เห็นไหม พระอรหันต์มีสติอยู่ตลอดเวลา ขณะที่คิดขึ้นมามันเสวยอารมณ์ ภพคือรูป รูปมันเป็นนาม นามที่มันจะคิดออกมา มันกระเทือนกัน มันเสวยอารมณ์ มันกระเพื่อม มันกระเพื่อมพร้อมกับสติมันไป มันรู้ตัวตลอดเวลา เห็นไหม มันคิดอะไร มันจะเจ็บไข้ได้ป่วย มันจะมีความทุกข์ความร้อน แดดร้อนทุกข์ไหม?

พระอรหันต์ไปยืนกลางแดด ร้อนไหม? ร้อน

พระอรหันต์หนาว หนาวไหม? หนาว

หนาวหรือร้อน เห็นไหม ความเย็นร้อนอ่อนแข็งมันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วมันเป็นความทุกข์ไหม? ถ้าเรารู้เราก็หาสิ่งใดมาบำบัดมัน มันก็หายไป เราอยู่ในอากาศอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น พอความรู้เท่าขึ้นมามันก็ไม่แบกโลก มันก็ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์เพราะอะไร? ไม่ทุกข์เพราะมันไม่ยึดไง มันไม่ยึด มันไม่มีความต้องการให้เป็นอย่างที่เราปรารถนา เป็นอย่างที่เราต้องการ มันเป็นธรรมชาติของมัน เย็นร้อนอ่อนแข็งมันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นความจริงอันนั้น

ในเมื่อเราอยู่กับเขา เราใช้ปัญญาอยู่กับเขา เราไม่ต้องการสิ่งบังคับให้มันเป็นความปรารถนาของเรา เราไม่ได้บังคับให้สิ่งนั้นมันสมความปรารถนาของเรา เขาเป็นอย่างนั้น พอเขาเป็นอย่างนั้น เราอยู่กับเขาอย่างนั้น เราอยู่กับเขาโดยธรรมชาติอย่างนั้น เราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจไง

ในเมื่อมีชีวิตอยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน ชีวิตนี้ยังมีเหลืออยู่นี้ เราก็อยู่กับเขา เห็นไหม พระอรหันต์ไม่เร่งให้ตัวเองตายหรอก ไม่ต้องเร่งให้ตัวเองมาตาย ถ้าเร่งให้ตัวเองตาย เห็นความตายมีประโยชน์เหรอ เห็นสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ใช่ไหม เห็นการสิ้นไป สิ่งที่สิ้นอายุขัยนั้นมันเป็นประโยชน์ใช่ไหม เห็นการดำรงชีวิตอยู่มันไม่เป็นประโยชน์เหรอ มันเป็นทุกข์เหรอ มันไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ

สามเณรเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เพราะฉะนั้นชีวิตของเขาต้องยาวไกลนะ ตั้งแต่เป็นเณร กรณีอายุครบ ๒๐ ปีก็ได้บวช บวชแล้วเป็นภิกษุไปอีกจนกว่าจะตายไป เห็นไหม กับพระอรหันต์ที่บรรลุธรรมตั้งแต่อายุ ๕๐-๖๐ ชีวิตของเขาการเป็นพระอรหันต์ของเขา เดี๋ยวอายุเขาถึงที่สุดเขาต้องละขันธ์ของเขาไป

แล้วสิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ คนมีอายุสั้นกับคนมีอายุยืนมันทุกข์ต่างกันไหม ความทุกข์ต่างกัน ถ้าต่างกันทางกิเลสมันต่างกัน แต่ทางสิ้นกิเลสแล้วไม่ต่างกันเลย มันไม่ต่างกันหรอก มันถือว่ามันลอยอายุขัยให้มันหมดสิ้นไป พอมันหมดสิ้นไปเห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งที่เหลือเศษส่วนทิ้งมันไว้กับโลกนี้

ในเมื่อเราเกิดมากับโลก เห็นไหม จิตของเรามันมีอวิชชา มันก็เกิดมาในไข่ เกิดมาในครรภ์ของมารดา เพราะฉะนั้นมันเป็นอวิชชา มันต้องเวียนตายเวียนเกิดเป็นธรรมชาติของมัน มันเวียนตายเวียนเกิดเพราะอำนาจของกรรม เรามีกรรมของเรา เราถึงเวียนตายเวียนเกิดในอำนาจของกรรม ในเมื่อกรรมมันเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เห็นไหม แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำสั่งสอน เห็นไหม สอนตั้งแต่คฤหัสถ์นะ คฤหัสถ์ให้เสียสละ ให้ความเป็นอยู่ ให้มีความสุขต่อกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าทำลายกัน การเบียดเบียนทำลายกันเป็นเรื่องสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา ในเมื่อเราไม่พอใจสิ่งใด ทุกคนก็ไม่พอใจเหมือนกับเราที่ไม่พอใจ ในเมื่อเราไม่พอใจสิ่งใด เราไม่ควรทำสิ่งไม่พอใจอย่างเราไม่พอใจกับคนอื่นเลย นี่ไง มันก็ไม่เบียดเบียนกัน เห็นไหม ศาสนาสอนตั้งแต่คฤหัสถ์ สอนตั้งแต่ผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัติ สอนเรื่องศีล ศีลคือความปกติของใจ ความปกติของใจ! ถ้าใจมันปกติศีลมันครบแล้ว เห็นไหม

ศีลมันคืออะไร? ศีลคือร่างกายของเรา ศีลคือจิตใจของเรา ในเมื่อเราไม่เอาร่างกายของเรา ไม่เอามือเอาไม้ของเราไปทำผิดศีล มันจะผิดศีลไหม ศีลมันคือความปกติของใจ ใจมันอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าร่างกายนี้ปกติมันก็เป็นความปกติ ถ้ามันผิดข้อวินัยข้อศีล มันผิดข้อบังคับของศีล ตัวเราเองมีความผิดเราก็ปลงอาบัติของเรา ปลงอาบัติเพราะอะไร? ปลงอาบัติเพื่อจะให้เราเริ่มต้นใหม่ ไม่ให้เกิดนิวรณธรรม ถ้าเกิดนิวรณธรรมการประพฤติปฏิบัติเราจะไปได้ยาก เราจะปลงอาบัติเพื่อไม่ให้เกิดนิวรณธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ให้เราก้าวเดิน ไม่ใช่วางธรรมไว้ปิดกั้นไม่ให้เราก้าวเดินนะ โน่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ ในเมื่อเรามีกิเลสอยู่ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อมีการผิดพลาดขึ้นมาแล้วเราต้องปลงอาบัติ เห็นไหม เราต้องต่อศีล เราทำของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา เพื่อไม่ให้กิเลสมันออกหน้า ให้มันคิดก่อนว่าเราโกหกตัวเองไม่ได้ เรามีความผิดอย่างนี้อยู่เราจะมาประพฤติปฏิบัติได้อย่างไร เราถึงต้องปลงอาบัติเพื่อตัดตอนกัน เห็นไหม

พอตัดตอนกันเสร็จแล้ว เราเริ่มประพฤติปฏิบัติต่อไปไม่ให้เกิดนิวรณธรรม ถ้าจิตมันเริ่มสงบเข้ามา เห็นไหม ขณิกสมาธิ สงบเล็กน้อย ความสงบเล็กน้อย ความสงบมาก เราก็ตั้งสติของเรา มันรู้เป็นปัจจัตตังนะ มันรู้กันในหัวใจของเรา

อุปจารสมาธิถ้ามันลึกเข้าไป ถ้าเรารู้จักรักษา ถ้ามันมีสมาธิมันเสื่อมไป สมาธิ เห็นไหม จิตเจริญแล้วเสื่อม ถ้าไม่มีสมาธิเลย พระเราไม่รู้จักสมาธิ ไม่รู้จักปัญญา มันจะเป็นพระได้อย่างไร เป็นพระเห็นไหม ดูสิ ทางโลกเขาสมมุติสงฆ์ เป็นพระเราต้องรู้จักสมาธิ รู้จักปัญญา ถ้าเรารู้จักสมาธิเห็นไหม อุปจารสมาธิจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันรู้อะไร มันเห็นอะไร ถ้ามันเห็นนิมิตสิ่งใด เราก็ตั้งสติไว้ เห็นแล้วผ่าน รับรู้แล้ววางไว้ รับรู้แล้ววางไว้ เว้นไว้แต่กาย ถ้าเห็นกายขึ้นมา เราต้องพิจารณาของเรา

ถ้าเห็นกายเห็นไหม เห็นกายในสมาธิไม่ใช่เห็นกายโดยตาเนื้อ ตาเนื้อเห็นกายขึ้นมามันก็เหมือนกับเห็นสัตว์เห็นอาหาร เห็นไหม เนื้อสัตว์มันเป็นอาหารมันก็เป็นเนื้อ แต่ถ้าเราเห็นจากข้างในนะ มันเห็นจากใจ ถ้ามันเห็นจากใจ สิ่งที่เห็นเป็นร่างกายให้เป็นวัตถุสิ่งใด เป็นเรื่องของอวัยวะ ๓๒ นี้ มันจะเห็นกาย

สิ่งที่เห็นกาย เห็นกายคือเห็นใคร? เห็นกายคือเห็นตัวของเราไง จิตมันเห็นตัวของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เวลาจิตสงบนะมันจะปล่อยกายได้เลย เวลาอัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ จิตมันหดตัวเข้ามาจนไม่รับรู้เรื่องของกาย ทั้งๆ ที่นั่งอยู่นี่ มีหัวใจกับร่างกายนี้ แต่หัวใจมันสงบเข้ามาจนมันปล่อยกายได้ มันสักแต่ว่ารู้ ไม่รับรู้สิ่งใดเลย สิ่งนี้เห็นไหม มันเป็นอะไรขึ้นมา มันไม่ได้เป็นอะไรเลย มันเป็นสมถะ มันเป็นการทำสมาธิ

แต่ถ้าใช้ปัญญาของเราขึ้นมา ปัญญาเห็นไหม จิตของเรามันอยู่กับเรา มันอยู่ในร่างกายนี้ แล้วร่างกายนี้มันติดสิ่งใด ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันเห็นกาย เห็นอวัยวะ เห็นสิ่งต่างๆ เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งใดก็ได้ ถ้ามีสติเห็นไหม เราจับนี่แล้วเราวิภาคะ คือแยกส่วนขยายส่วน มันจะแยกวิภาคะให้มันแยกส่วนขยายส่วน พอแยกส่วนขยายส่วนมันเห็นเป็นไตรลักษณ์ การแยกขยายคือไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ขึ้นมานี่เห็นสัจธรรม เห็นสัจธรรมมันสอนใจ ใจมันจะเข้าใจ มันจะมีปัญญาของมัน นี่ไงภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้ที่เกิดขึ้นมามันดีกว่าสิ่งที่ไปรู้โน่น รู้นี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นต่างๆ ที่ออกไปรับรู้ เห็นเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมซึ่งเป็นคำว่าสภาวะ เห็นไหม

ดูสิ ฝนตกแดดออก สิ่งที่ลมมันพัดไปมันก็เป็นสภาวะของมัน เป็นสภาวะที่ธรรมชาติ ใช่ไหม แต่เรารู้สภาวะนั้น เราไปรู้สภาวะ สภาวะไม่ใช่ธรรมนะ สภาวะเหมือนจิตที่มันเปลี่ยนแปลงไง จิตมันเป็นสภาวะอันหนึ่ง มันมีสภาวะมันรับรู้สิ่งใด มันไม่ใช่ปัญญา

ถ้าโลกุตตรปัญญา จิตมันสงบขึ้นมาเห็นกาย กายวิภาคะ การแยกส่วนขยายส่วนมันเป็นปัญญา ปัญญาเพราะอะไร? เพราะถ้าไม่มีการรำพึง มันจะเป็นไปได้ไหม? เราพิจารณาของเราอยู่ เราเห็นกายของเราแล้วพิจารณากาย มันก็เห็นของมันเป็นนิมิตใช่ไหม แล้วก็เพ่งกันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเรามีปัญญารำพึงนะ ให้มันเป็นอย่างนั้น ให้ไฟเผามัน ให้มันแปรสภาพของมัน ให้มันบูด ให้มันเน่า ให้มันเป็นหนอง ให้มันขึ้นอืด เห็นไหม

คำว่า “ให้” มันมาจากไหน? คำว่าให้มันเป็นการรำพึงขึ้นมาจากใจนะ ใจมันรำพึงขึ้นมา ใจมันบังคับมันขึ้นมา ใจมันสั่งการขึ้นมา พอมันสั่งการขึ้นมานั่นน่ะปัญญามันอยู่ตรงนั้น ปัญญามันอยู่ตรงนั้นนะ ไม่ใช่ว่าเราไปอยู่เฉยๆ แล้วมันจะเป็นไป บางทีมันก็เป็นไปถ้าอยู่เฉยๆ นะ เฉยๆ ถ้ากำลังมันดีมันก็แปรสภาพ แต่แปรสภาพอย่างนี้มันไม่จบ มันไม่จบเพราะมันไม่ถึงที่สุดของมัน

แต่ถ้าเรารำพึง เห็นไหม พอมันเห็นเป็นรูปโครงของร่างกายแปรสภาพให้มันเปื่อยเน่าไป พอมันเปื่อยเน่าไปมันจะเห็นเหลือโครงกระดูก พอเหลือโครงกระดูกจะทำอย่างไรต่อไป พอทำอย่างไรต่อไปจิตมันรำพึง เห็นไหม ให้ไฟเผาไป ให้สิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงของมันไป

คำว่า “ให้” นี่แหละนี่คือปัญญา ปัญญาคือรำพึงมาจากจิต มันรำพึงขึ้นมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจมันรำพึงขึ้นมา มันรำพึงขึ้นมาจากไหน? มันขึ้นมาจากภพ ขึ้นมาจากหัวใจที่มีกิเลส เห็นไหม พอรำพึงสิ่งสภาวะแบบนั้นขึ้นไป นี่ปัญญามันเกิดอย่างนี้ ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา พอมันเห็นของมัน มันแปรสภาพแล้ว พรึ่บ... สภาพมันว่างหมดเลย จิตมันก็รับรู้ขึ้นมา พอจิตรับรู้มันก็ปล่อยเข้ามาๆ ซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เพราะการซ้ำคือการฝึกปัญญาบ่อยครั้งเข้า ถ้าหนเดียวมันขาดเลย ขิปปาภิญญามันปล่อยเลยมันก็จบกระบวนการของมันไป

แต่ถ้ามันไม่จบกระบวนการขึ้นไป พอมันปล่อยมันก็ว่าง มีความสุข เราก็อยู่กับความสุขนั้น มีสติรับรู้อยู่กับสุขนั้น เวลามันคลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมาโดยธรรมชาติของมัน เห็นไหม มันก็เป็นวงรอบหนึ่ง ถ้าเราหยุดภาวนา เราก็ออกจากที่ภาวนาของเรา แต่ถ้ายังภาวนาเรากำหนดพุทโธต่อไป กำหนดพุทโธต่อไป แล้วรำพึงเป็นกายขึ้นมาต่อไป แล้วเกิดสภาพกายสภาวะแบบใดก็เกิดอีก ถ้าเกิดกายขึ้นมา มันเกิดสภาพกายขึ้นมามันเป็นเกิดสภาพต่อไป สภาพใหม่แต่เป็นกายอันเก่า

กายอันเก่าคือสักกายทิฎฐิ ความเห็นผิดในใจมันเป็นอันเก่า แต่การเห็นอันใหม่ก็เป็นรอบใหม่ เห็นไหม เป็นอีกรอบหนึ่ง รอบใหม่ต่อไป บ่อยครั้งเข้า หมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นวิปัสสนาไปแล้วมันเป็นขึ้นมา ถ้ากำลังมันดีขึ้นมา มันมีกำลังขึ้นมา เรารำพึงขึ้นมา มันจะเป็นสิ่งที่เราชักนำตลอด เพราะจิตใจเรามีกำลังของเรา เราชักนำไปเหมือนกับรำพึงขึ้นมา ต้องการให้เป็นสิ่งใดมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น

ต้องการให้เห็นกายมันก็เห็นกาย แต่เห็นกายโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันเป็นในขณะปัจจุบัน ต้องการเห็นมันก็ให้เห็น ต้องการให้แปรสภาพมันก็แปรสภาพ ถ้าแปรสภาพ ต้องการให้มันเป็นไป รำพึงในหัวใจตลอดไป คือปัญญามันนึกของมันตลอดไป ใครภาวนาเป็นแล้วมันจะรู้ รู้หลักการของมันว่ามันภาวนาเป็นอย่างไร มันปล่อยอย่างไร พอปล่อยแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถึงที่สุดแล้ว กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันจะปล่อยของมันเอง มันจะขาดของมันไปโดยธรรมชาติของมัน

มันไม่ใช่หน้าที่ของเราไปบังคับให้ทำเป็นแบบที่เราพอใจ เราจะว่าข้างในเป็นสิ่งที่เราพอใจ เราปรารถนาอย่างที่เราศึกษามาจากธรรมะในพระไตรปิฎก พิจารณากายไปแล้วกายมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น กายมันจะแปรสภาพอย่างนั้น เราจะไปบังคับให้เป็นอย่างที่เราคิดอย่างนี้ ไม่ใช่

ไม่ใช่เพราะเหตุใด? ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งที่เราคิดเราต้องการมันเป็นเรื่องของโลก โลกหมายถึงว่า เราต้องการให้มันเป็นไปเป็นสูตรสำเร็จ แต่ถ้าเป็นธรรมมันเป็นปัจจุบันธรรม มันจะไม่เป็นสิ่งที่เราต้องการให้มันเป็นไปตามนั้น เราต้องการให้เป็น “เป็น” หมายถึงว่าต้องการให้เห็นกาย ถ้าเห็นกายมันเห็นในขณะ ขณะที่เราพิจารณาของเราคนเดียวแต่ละรอบมันก็ไม่เหมือนกัน บางอย่างเราไปเห็นเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นขน เป็นผม เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นกระดูก เป็นโครงกระดูก เห็นร่างกายทั้งตัว มันจะอืด มันจะพุ มันจะพองอย่างไร มันจะพองขึ้นมา มันไม่เป็นไม่พองขึ้นมาให้มันแปรสภาพ ให้มันกลายเป็นน้ำ มันละลายเป็นน้ำ กลายสู่สภาพของดิน ของน้ำ ของอะไร

นี่อยู่ที่เทคนิค อยู่ที่ปัจจุบันธรรม อยู่ที่นิสัย อยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่การกระทำของจิต ไม่ต้องให้มันเหมือนกัน แม้แต่คนเดียวกันนั้นทำเหมือนอันเดียวกันนั้น มันยังไม่เหมือนกัน แล้วคิดดูว่าคนอื่นจะให้มันเป็นเหมือนกัน มันจะเป็นไปได้อย่างไร แม้แต่วงรอบหนึ่งๆ ก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกันไม่เหมือนกันแต่มันยังมีอยู่ เห็นไหม มีอยู่คือมันคิดขึ้นมา มันต้องการขึ้นมา มันทำความสงบของใจขึ้นมา แล้วมันให้เห็นกายขึ้นมา มันก็เห็นของมันได้ มันทำของมันได้

จนถึงที่สุดถ้ามันขาดแล้วนะ มันเห็นของมันไม่ได้ๆ ในเมื่อมันเห็นของมันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันปล่อยวางหมดแล้ว ถ้ามันปล่อยวางหมดแล้ว เราทำให้ความสงบของใจลึกเข้าไป มันก็ไปเห็นกายรอบใหม่ กายรอบใหม่มันเป็นสกิทาคามิมรรค มันเป็นกายที่ละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม

กายมันมีตั้งหลายชั้นนะ กายนอก กายใน กายในกาย กายของจิต วิปัสสนาไปเริ่มเห็นกาย เห็นอสุภะ ยังไม่เห็นหรอก อสุภะจะเห็นต่อเมื่อเป็นอนาคามิมรรค อนาคามิมรรคจะเห็นอสุภะ เห็นสุภะ - อสุภะในหัวใจ

แต่ในปัจจุบันนี้มันจะเห็นกายเฉยๆ เพราะสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย พระโสดาบันละกายได้ ละทิฏฐิมานะในความเห็นผิดของกายนี้ แต่ถ้าเรายังละทิฏฐิมานะความเห็นผิดของเราไม่ได้ เห็นผิดมันเป็นมิจฉาทิฏฐิใช่ไหม เห็นถูกเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นไหม ความเห็นผิดเห็นถูก เราวิปัสสนาไปคือพิจารณาให้เห็นผิดเห็นถูก ถ้าเห็นผิดเห็นถูกในหัวใจ เราจะวิปัสสนาของเราเข้าไป เราจะทำของเราบ่อยครั้งเข้า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันขยันหมั่นเพียร นี่งานของพระมันอยู่ที่นี่ งานของพระไม่ใช่ไปรู้อะไรสิ่งต่างๆ ภายนอก การรู้สิ่งต่างๆ ภายนอกฤๅษีชีไพรเขารู้มาก่อนเราแล้ว

ดูสิ กาฬเทวิล เห็นไหม ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้นะ กาฬเทวิลเป็นสหายเป็นเพื่อนของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นเพื่อนของพ่อ แล้วระลึกอดีตชาติได้ รู้อนาคต รู้วันตายของตัว รู้กำหนดวันตายของตัวเลย เวลาอยู่บนพรหมแล้วส่งข่าวกันขึ้นไป ลงมาดู เห็นไหม เห็นเจ้าชายสิทธัตถะทั้งดีใจทั้งเสียใจ

ดีใจเพราะอะไร?... ดีใจเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้ว

เสียใจเพราะอะไร?... เสียใจเพราะเราต้องตายก่อน

รู้เวลาตายเลย! รู้เวลากำหนดตาย รู้ต่างๆ ยังร้องไห้ ยังแก้กิเลสไม่ได้ แล้วเราจะไปรู้อะไรกัน สิ่งที่รู้ๆ มามันเป็นเรื่องธรรมดาของจิต เราไม่ได้ปฏิเสธถึงการรู้ เพราะสิ่งที่รู้คือจิตมันรู้ จิตรู้สิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้คืออาการของจิต แม้แต่มีสภาวะต่างๆ รู้นิมิต เห็นนิมิต เห็นสภาวะ เห็นต่างๆ สิ่งที่ถูกรู้ตัวรู้ไม่ได้แก้ไข แต่ถ้าเรากลับมาที่จิต กลับมาที่สัมมาสมาธิ แล้วที่มันออกไปเห็นกาย มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไหม? เป็นสิ่งที่ถูกรู้

แต่! แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกรู้จากสมาธิ จากสิ่งที่เป็นหลักเป็นฐาน สิ่งที่มีหลักมีเกณฑ์ สิ่งที่มีหลักมีเกณฑ์เวลาออกไป นี่ไงอริยสัจมันเกิดที่นี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นงานของพระ พระมันต้องรู้อย่างนี้ มันไม่ใช่ไปรู้เอาข้างนอกนั่น ไปรู้สิ่งต่างๆ ศึกษาธรรมวินัยของครูบาอาจารย์แล้วเอามาวิตกวิจาร วิตกวิจารขึ้นมามันเป็นจินตมยปัญญา มันก็เป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ท่าน แล้วเราเอามาวิตกวิจาร

เหมือนเราปัจจุบันนี้เราศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีของไอน์สไตน์ ทฤษฎีสัมพันธ์ ทฤษฎีต่างๆ ที่เราศึกษามา มันเป็นของใคร? มันก็เป็นของนักวิทยาศาสตร์ที่เขาคิดไว้แล้วเราก็ไปศึกษามา ไปท่องทฤษฎีเขามา แล้วเราก็เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเราล่ะ สิ่งที่เป็นความจริงของเราล่ะ สิ่งที่เป็นความจริงของเรา ทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ถ้าเราศึกษามา เห็นไหม ดูอย่างเลขคณิต เราเอามาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเราเอามาใช้ในการคำนวณ เรามาใช้ทำธุรกิจของเราได้ มันเป็นประโยชน์ของเรา นี่เป็นประโยชน์ของในการดำรงชีวิต

แต่ในการชำระกิเลส โลกุตตรธรรมไม่เป็นอย่างนั้น โลกุตตรธรรมมันต้องเกิดขึ้นมาจากเรา ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดจากการประกอบขึ้นมาจากเราไปเลย เราตั้งสติของเรา สติชอบ แล้วสติไม่ชอบล่ะ มันมีสติใช่ไหม

สัมมาสติ มิจฉาสติ... สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ... สัมมาปัญญา มิจฉาปัญญา

มันมีสัมมากับมีมิจฉาไปตลอด มีถูกกับผิดไปตลอด ไม่ใช่ว่าเราทำของเราแล้วเราจะบอกเป็นความถูกของเรา มันเป็นความถูกของกิเลส กิเลสมันยึดว่าความคิดเราถูก ความเห็นของเรานี่ถูก เพราะเราไม่เคยเห็นอย่างนี้ เราไม่เคยเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เป็นขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เพราะเราเป็นพระ เราปฏิบัติแล้วมันต้องเป็นความถูกต้องสิ

เป็นพระ กิเลสมันกลัวพระไหม? เวลาโกนหัวขึ้นมา อุปัชฌาย์บวชขึ้นมาเป็นพระแล้ว เราจะมีคุณสมบัติของการเป็นพระ เราไม่เคยคิดสิ่งที่ไม่ดีในหัวใจเลยเหรอ เป็นพระ กิเลสมันกลัวพระไหม? สมาธิปัญญากิเลสมันยังไม่กลัวเลย กิเลสมันไม่กลัวเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันหลบ กิเลสมันหาทางออกของมัน แต่ถ้าเราหมั่นฝึกหมั่นซ้อม เราปิดกั้นมันตลอดไป เราใช้ปัญญาไล่ต้อนมันตลอดไป ปัญญาเห็นไหม เวลามันจนมุมขึ้นมานะ เราไล่จนมุม เวลาเราภาวนาขึ้นมา กิเลสมันไล่เราจนมุมขึ้นมา มันต้องมีปัญญาหาทางออก

เช่น นั่งตลอดรุ่งขึ้นมา ปัญญามันหาทางออกเองนะ เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา ปัญญามันจะหาทางออกของมัน ปัญญามันจะรู้ของมัน ปัญญา คำว่าปัญญารู้ รู้อะไร? รู้โดยสัจจะความจริงไง ถ้ามันปล่อยหมดแล้วมันจะมีอะไรเป็นทุกข์

สิ่งที่มันต้อนเราจนมุมว่ามันเป็นความทุกข์ อะไรมันเป็นทุกข์? ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันจะดับไปด้วยอะไรล่ะ? ดับไปด้วยมรรคญาณไง ดับไปด้วยความเห็นจริงไง มันดับทุกข์ได้ไง ถ้ามันดับทุกข์ได้ เห็นไหม เวลากิเลสมันต้อนเราเข้าจนมุม เราก็ยังมีทางออก ออกมา ทางออกมาด้วยการช่วยเหลือตนเองด้วยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากความเพียรชอบ จากการกระทำของเราชอบ นี่พระทำที่นี่นะ ไอ้สิ่งที่รู้มาที่เห็นมามันเป็นทางผ่านมาเฉยๆ

เราจะมาวัด เห็นไหม เราจะผ่านอะไรมามหาศาลเลย พอเรามาเข้าประตูวัด เราถึงเข้าถึงวัด ถ้าเราไม่เข้ามาที่ศาลา แล้วเราไม่เข้ามานั่งบนอาสนะ เราจะเข้ามาถึงที่หรือยัง?

จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราจะทำของเรา เราจะเข้าถึงฐานของจิตหรือยัง เข้าถึงสมาธิหรือยัง ถ้าเข้าถึงสมาธิ เข้าถึงฐานของจิต แล้วมันออกวิปัสสนาไปมันถึงจะเป็นประโยชน์ของมัน แต่มันเข้ามาทำความสงบของใจ เราไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ อันนั้นมันเป็นนิมิตนะ มันเป็นความเห็น มันเหมือนของใครของมัน ตึกใครหลังใหญ่เวลาสกปรกโสโครกก็ต้องรักษา มันก็ต้องหลังใหญ่ ใครเป็นกระต๊อบห้องหอ เก็บล้างง่ายซักง่าย ทำความสะอาดง่าย มันก็จบได้ง่าย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเห็นมันรู้ขึ้นมา มันเหมือนกับเราสร้างบุญกุศลมาอย่างนั้น สิ่งนี้เราสร้างมานะ เมล็ดพันธุ์ของพืช มันจะเป็นเมล็ดพันธุ์สิ่งใด มันก็ต้องเมล็ดพันธุ์พืชสิ่งนั้น ใจของเราก็เหมือนกัน การเกิดและการตายมา การสร้างสมมาไม่เหมือนกัน ในเมื่อการสร้างสมของใจที่สะสมมา ตกผลึกมาในใจนี้ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติไปไง สิ่งใดเกิดขึ้นมา มันจะรู้เห็นสิ่งใด วางไว้

จะบอกว่า เราเคยรู้เคยเห็นสิ่งนี้มามหาศาลแล้ว แล้วเราเคยผิดพลาดกับเรื่องอย่างนี้มาเยอะมาก รู้โน้น รู้นี้ รู้ที่เห็นออกไปแล้วก็ตามมันไป แล้วไม่ได้อะไรเลย เวลามันเสื่อมหมดแล้ว ทุกข์มาก แต่ถ้าทิ้งมันหมดเลย เพราะมันเคยทุกข์เคยยากกับสิ่งที่รู้ เพราะเวลาจิตมันเสื่อมมันต้องเสื่อมแน่นอน เหมือนกับเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแล้วมันจะมีเงินเหลือในกระเป๋าไหม จิตสงบขึ้นมาแล้วออกรู้ตลอดเวลา มันจะมีอะไรเหลือ มันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา พอเสื่อมแล้วจะมาทำสมาธิขึ้นมาก็แสนทุกข์แสนยาก เพราะจิตมันเสื่อม

พอมันเสื่อมขึ้นมาแล้วพอกว่าจะได้มันขึ้นมา พอได้ขึ้นมาแล้ว ตอนนี้สิ่งที่รู้จะไม่เอาแล้ว เราจะวางไว้ตลอดๆ แล้วพยายามค้นคว้าหามันจนเข้าไปเจอตัวจิต จับจิตได้แยกแยะมันได้ วิปัสสนามันได้ พอมันปล่อยๆ นั่นไง พอมันปล่อยขึ้นมามันก็เบา เวลาเบาขึ้นมานะ วิปัสสนารอบหนึ่งที่มันเบา เวลาเราเดินไปเหมือนเราไม่ได้เดิน เหมือนเราลอยไปเลย ตัวมันเบาขนาดนั้น เราก้าวเดินโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของคนมีร่างกาย มันจะลอยไปได้อย่างไร มันก็เดินไปนี่แหละ แต่ความรู้สึกของใจเหมือนเราลอยไปลอยมา มันเบาขนาดนั้นนะ

มันถึงเปรียบเทียบได้กับเวลาเราไปเห็นนิมิต เราไปรู้สิ่งต่างๆ ขึ้นมา มันมีความรู้สึกอย่างนี้ไหม มันไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ มันปล่อยวางไม่ได้อย่างนี้ แล้วถ้ามันปล่อยวางได้ นี่ไง มรรคมันเป็นอย่างนี้ วิปัสสนามันเป็นอย่างนี้ มันต่างกัน ต่างกันกับสิ่งที่รู้เห็น สิ่งที่รู้เห็นนั่นน่ะ มันเป็นนิมิตเฉยๆ ฤๅษีชีไพรก็รู้ได้ ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเหาะได้ด้วยนะ เหาะเหินเดินฟ้าได้นี่เป็นธรรมชาติเลย การเหาะ เข้าสมาบัติเหาะได้ทั้งนั้น ของมันเป็นธรรมชาติของมัน เพราะจิต เรื่องของจิต พลังงานของจิตมันมีความพิสดารมหาศาลเลย แล้วถ้าคนทำมันใช้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา มันจะเป็นสิ่งที่โลกเขาพิสูจน์ไม่ได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องของนามธรรม ขณะที่เขาเหาะเหินเดินฟ้า เขารู้ได้ต่างๆ เขายังแก้กิเลสไม่ได้เลย

แต่นี่เราเป็นพระ เราบวชมาเป็นพระแล้วศากยบุตรพุทธชิโนรส แต่เวลาประพฤติปฏิบัติเป็นแบบฤๅษีชีไพร ไปรู้นั้นรู้นี้ ไปรู้ออกข้างนอก แล้วจะให้เป็นธรรมะ แล้วเวลาเป็นธรรมะไปคุยกับครูบาอาจารย์ท่านไม่ยอมรับ ก็คิดอย่างนี้ว่า เอ๊ะ ทำไมท่านไม่ยอมรับ ทำไมท่านไม่ฟังของเรา ทำไมเราก็รู้

เรารู้เพราะเราตื่น เรารู้เพราะเราไม่เคยเห็น เรารู้เพราะเราไม่เคยประสบสิ่งนี้มา พอประสบสิ่งนี้มาก็สวมเขาเอาเลย เคลมเอาว่านี้เป็นธรรม มันไม่ใช่ธรรม มันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่เข้ากรอบของอริยสัจเลย ถ้ามันเข้ากรอบอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จิตมันสงบอย่างไร

เห็นไหม ดูพระเรา จิตต้องรักษาสมาธิเป็น จะต้องใช้ปัญญาเป็น สมาธิมันเป็นอย่างไร? แล้วทำปัญญาขึ้นมาโลกุตตรปัญญามันปล่อยวางแต่ละรอบ มันปล่อยวางอย่างไร? พอมันปล่อยวางรอบแล้ว สิ่งใดที่มันชำระสะสางทิฏฐิจากในหัวใจไปบ้าง พอมันสะสางทิฏฐิในหัวใจ ทิฏฐินี่ สักกายทิฏฐิ ละทิฏฐิ ทิฏฐิที่เห็นผิด เวลาวงรอบหนึ่งมันปล่อยวางไปอย่างไร มันปล่อยวาง มันเบา มันเบาขึ้นมา สิ่งที่เป็นทิฏฐิที่มันยึดอยู่ จิตใต้สำนึกมันปล่อยอย่างไร? พอมันปล่อยขึ้นไป นี่ไงมันแก้กิเลสกันอย่างนี้ มันแก้กิเลสกันสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยอริยสัจ ๔ ด้วยมรรค ๘ ไม่ใช่ด้วยฤๅษีชีไพร ด้วยสำคัญตน ด้วยความรู้ของใจ ด้วยการที่จิตสงบเฉยๆ แล้วก็เห็นออกไปข้างนอก ไม่ใช่ทั้งสิ้น

มีครูบาอาจารย์ เห็นไหม ท่านจะแบ่งแยกตรงนี้ได้ถูกต้องไง สิ่งนี้เป็นโลก โลกียธรรม-โลกุตตรธรรม โลกียธรรมสิ่งที่เกิดมาจากใจ สิ่งที่รับรู้ขึ้นมาจากโลก จิตนี้คือโลก สัตตะเป็นผู้ข้อง ใจนี้เป็นผู้ข้องแล้วมันรู้สิ่งนี้ แล้วพอมันสงบขึ้นมามันก็ไปรู้ตามธรรมชาติของมัน รู้ตามความเห็นของมัน รู้ตามจริตของมัน ถ้าจริตมันสร้างอย่างนั้นมา มันออกรู้มันก็ออกรู้ บางคนสงบเฉยๆ ตามจริตที่ไม่เห็นก็คือไม่เห็น เห็นก็คือเห็น เห็นแล้วมันได้อะไร เห็นขึ้นมาแทนที่จะเป็นคุณงามความดีกลับเป็นโทษ เป็นโทษเพราะนึกว่านี่เป็นธรรม เพราะมันส่งออก มันเป็นการภาวนาส่งออก ส่งออกเสื่อมหมด

พอเสื่อมขึ้นมาหมด เสื่อมแล้วเสื่อมเล่าๆ จนเข็ด จนเข็ดขยาดของมันนะ แล้วกลับเข้ามารักษาใจเข้ามา แล้วพยายามน้อมมาให้จิตตั้งมั่นให้ได้ ต้องมีสติยับยั้งให้ได้ แล้วย้อนกลับเข้ามา เข้าไปในกาย เวทนา จิต ธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ นี่วิปัสสนาเกิดที่นี่ มรรคเกิดที่นี่ แล้วมันจะสิ้นสุดกันที่นี่ ทำได้ที่นี่ เห็นไหม ธรรมแบบโลกกับธรรมแบบธรรม

ธรรมแบบโลก เห็นไหม เราเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่เป็นเรื่องของโลกๆ แล้วมันจะเป็นอนิจจัง มันจะเสื่อมสภาพ มันจะไม่อยู่กับเราเด็ดขาด แล้วมันเสื่อมหมดแล้วนะก็เหลือแต่ความแห้งแล้ง เหลือแต่จิตใจที่อ้างว้าง แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ ถึงที่สุดแล้วนะอกุปปธรรม เป็นธรรมแท้ๆ ที่เป็นนามธรรมคงที่อยู่กับกลางหัวใจ เอวัง