เทศน์พระ

เราต้องจริง

๒๙ ก.ย. ๒๕๕๑

 

เราต้องจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ธรรมะนี้ฟังทุกวันเลย เวลาอยู่อุโบสถที ฟังธรรม เวลาอยู่วัดเราก็ฟังเทศน์ ยิ่งวิทยุ ยิ่งกลางคืนดึกๆ ถ้าเราตั้งใจ ในทางจงกรม เปิดทิ้งไว้ เปิดในทางจงกรมแล้วเดินจงกรม มันต้องให้มันตื่นตัว อย่าหลับใหล ให้ตื่นตัว ดูสิ เวลาโยมเขายังขวนขวายเลย ใครๆ เขาก็ขวนขวายนะ ยิ่งศึกษาธรรมมันจะหาทางออก เรามีโอกาสแล้ว เราเป็นพระ เราบวชแล้ว หน้าที่การงานอื่นไม่มี

แต่ในปัจจุบัน ที่นี่มันจะมีงานบ้างเพราะเป็นวัดสร้างใหม่ วัดสร้างใหม่ก็มีงานบ้าง มีงานเพื่อเป็นรวงเป็นรังให้พวกเราอยู่ นกมันยังมีรวงมีรัง ที่อยู่อาศัยมันต้องมี ที่เราสร้างขึ้นมา สร้างเพื่อเรา สร้างกันเอง มันไม่เดือดร้อนนะ ถ้าเราไม่สร้างกันเอง ให้ผู้อื่นเขามาสร้าง เขาจะลากเราไปเป็นเรื่องโลกๆ เลยล่ะ เราต้องชิงเขามา ชิงการนำ ชิงให้มันจบ ทีนี้พอชิงให้มันจบมันก็ยุ่งยากหน่อย ไอ้ยุ่งยากมันก็ต้องยุ่งยาก ยุ่งยากเพราะเป็นวัดสร้างใหม่ใช่ไหม แต่ถ้าทำจบแล้ว ดูสิ เอ็งดูที่โพธารามสิ มันมีการก่อสร้างอีกไหม ที่สร้างจบแล้วมันจะมีการก่อสร้างอีกไหม มันไม่มีหรอก แต่การบำรุงรักษา การดูแล ข้อวัตร ข้อวัตรทำให้เราตื่นตัว

เราอย่าชินชา เราชินชาเข้าไปนี่มันเล่ห์ กิเลสมันร้ายนัก มันอ้างตลอด แล้วมันจะหาช่องออกของมัน สิ่งที่เราทำ เราทำเป็นปัจจุบัน เอ็งดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นตีตาดตลอด ท่านจะตีตาดของท่าน ท่านจะออกกำลังกายของท่าน ท่านจะดูแลของท่านนะ สิ่งนี้เป็นข้อวัตร เห็นไหม กิน อยู่ เวลาออกบิณฑบาต เวลาชราภาพขึ้นมาแล้วพระไปขอร้อง บอกไม่ต้องบิณฑบาต จะบิณฑบาตมาให้ฉัน ท่านไม่บิณฯ ก็ไม่ฉัน นี่สู้น้ำใจท่านไม่ได้นะ ไอ้เราจะเอาสะดวกสบาย

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่เสาร์ท่านเป็นพระอรหันต์ เวลาพูดถึงให้ท่านสอน “ทำให้ดูมันยังไม่เอาเลย” หลวงปู่เสาร์ท่านพูดอย่างนี้นะ “ก็ดูสิ ทำให้มันดูอยู่นี่ มันยังไม่สนใจเลย จะไปเทศน์อะไร” นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านสิ้นจากกิเลส

เรากิเลสเต็มหัวใจ ถ้าเรากิเลสเต็มหัวใจ เราจะเอาหลักเอาเกณฑ์ของเรา เราอย่าให้กิเลสมันอ้างเล่ห์ มันอ้างเล่ห์ มันหาทางออก ทำไปทำมาจนนิสัยเคยชิน ถ้าเคยชินขึ้นมา เลยกลายเป็นปกติเลย “พระเป็นอย่างนี้ พระอยู่เฉยๆ เป็นหัวตออย่างนี้”...มันหัวตอ มันไม่ใช่พระ

ถ้าพระมันจะมีสติ มันมีสติสัมปชัญญะ มันมีการเคลื่อนไหว มีการกระทำ มันมีหิริมีโอตตัปปะ มันมีความละอาย มันตื่นตัวของมัน ถ้าการตื่นตัวของมัน การตื่นตัวของหัวใจ ถ้าการตื่นตัวของหัวใจ นั่นคืออะไร? ก็คือสติไง ถ้ามีสติ มีการตื่นตัว มันมีการกระทำ เราต้องตื่นตัว ต้องขวนขวาย ญาติโยมเขายังหาทางออกกัน เขายังขวนขวายมาอยู่วัดอยู่วา เขายังมาประพฤติปฏิบัติกัน ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ภิกษุเห็นภัยในวัฏสงสารอย่างพวกเรา เราเป็นภิกษุเห็นภัยในวัฏสงสาร อีกปักษ์เดียว ปักษ์หน้าออกพรรษาแล้ว มันก็อีกพรรษาหนึ่งแล้ว วันคืนล่วงไปๆ เห็นภัยไหม

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คนจะตาย หมอกำหนดเลย อีก ๗ วันตาย อีกเดือนหนึ่งตาย อีก ๖ เดือนตาย ๖ เดือนตาย โรคนี้อยู่ได้อีก ๖ เดือน เขากำหนดวันตาย เขารอวันตายแล้ว พอรอวันตาย เขาจะขวนขวายของเขา ไอ้นี่เราไม่รู้จักวันตายของเราหรือ เราจะตายเมื่อไหร่ เราตายแล้วงานเราเสร็จหรือยัง ถ้างานยังไม่เสร็จ ทำไมไม่ตื่นตัว

มันต้องตื่นตัวนะ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันทุกข์ยากไหม? มันทุกข์ มันทุกข์ยาก มันเหนื่อยล้า มันเป็นธรรมดาของมัน เราทำของมัน ตื่นตัวตลอดเวลา ได้ผลไม่ได้ผลต้องทำ ทำขึ้นมาเพื่ออะไร? เพื่อไม่ให้กิเลสดินมันพอกหางหมู ถ้าเราไม่ทำ กิเลสมันทำ พอกิเลสมันทำ มันจะเอาเราไว้ในอำนาจของมันนะ

แล้วเราเป็นพระ ดูสิ มีคนเขาเคารพนับถือ เขามาทำบุญตักบาตร ปัจจัยเครื่องอาศัยมาจากโยมทั้งหมด แล้วเราทำหน้าที่อะไรของเรา หน้าที่ของเราพร้อมหรือยัง หน้าที่ของเรา เขาทำหน้าที่ของเขาแล้ว แล้วหน้าที่ของเราล่ะ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านแล้ว แล้วผู้รับฟังล่ะ ผู้ที่รับธรรมของท่านได้ทำหน้าที่ของตัวหรือยัง ถ้าได้ทำหน้าที่ของตัว หน้าที่ของเราได้ทำหรือยัง ดูสิ เราเข้าทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว แล้วใจเป็นธรรมไหม

มันเป็นสูตรนะ เดี๋ยวนี้เป็นสูตร “ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น”...ทำอย่างนั้นกิเลสมันรู้ทัน มันหัวเราะเลย มันเปิดช่องไว้ให้เราไปยอมจำนนกับมันเลย

เราทำแล้วเราคอยพลิกแพลง เราต้องมีสติพลิกแพลง พลิกแพลงให้มันเป็นปัจจุบัน พลิกแพลงเลย ถ้ามันเคยได้สิ่งนี้ สภาวะแบบนี้ เราต้องตั้งอารมณ์อย่างนี้ เอาอันนี้เป็นอารมณ์ถ้ามันทำได้ ถ้ามันทำไม่ได้ เราก็หาทางพลิกแพลงต่อไป ย้อนหน้าย้อนหลัง ย้อนกลับมา ไม่ใช่ซื่อบื้อเป็นหัวตออย่างนั้นน่ะ

หัวตออยู่อย่างนั้น ดูสิ สมาธิแช่ๆ ไว้อย่างนั้นน่ะ “สงบๆ สบายๆ” แช่ไว้อย่างนั้นเลย สบาย ทำไมไม่มีกำลังขึ้นมา

โดยธรรมชาติของมัน ไฟ ดูสิ เราจุดไฟเผาป่า ลองลมพัดมาสิ มันกระพือขึ้นมา พอไฟป่ามันติด มันติดไปทั้งป่าเลย เขาดับมันไม่ได้เลย สมาธิก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมา ทำไมมันไม่มีกำลัง ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมา ทำไมมันไม่มีกำลังเผากิเลส มันฟ้องกันตรงนี้ชัดๆ เลย

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสมาธิมันดี มันต้องตื่นตัว มันต้องจับได้ มันจับได้เลยล่ะ พอสมาธิขึ้นไป มันสงบขึ้นมา เหมือนพรม เราทำความสะอาด เรากวาดไปเรื่อยๆ เวลาขี้หยากไย่ ขี้ขยะมันกองโตขึ้น ทำไมมันกองโตขึ้นล่ะ เวลาฝุ่นมันกระจายไปทั้งศาลา เหมือนไม่มีนะ เอ็งลองกวาดเข้าไปสิ กวาดเข้าไปรวมกันๆ ทำไมเป็นฝุ่นกองเบ้อเร่อเท่อขึ้นมาเลย

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันสงบขึ้นมา มีกำลังขึ้นมา มันต้องเห็นกิเลส ไอ้ขยะกองนั้นมันต้องเห็น แล้วขยะมันกองอยู่ที่ใจ ทำไมมันกวาดข้ามไปข้ามมา ข้ามมาข้ามไป แล้วทำไมมันไม่เห็นขยะ มันไม่เห็นขยะมันก็ไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม มันไม่เห็นขยะ มันทำอะไรได้ กวาดไปกวาดมา กวาดจนฟุ้งกระจายไปในศาลา กวาดฟุ้งกระจายไป กวาดฟุ้งกระจายมา กวาดไปอยู่อย่างนั้น กวาดไปกวาดมา “ว่างๆ ว่างๆ”...มันว่างๆ มันฟุ้งไปฟุ้งมา มันเป็นประโยชน์อะไร

ในหัวใจก็เหมือนกัน ถ้าสมาธิมันมีกำลังของมัน มันมีสติของมัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ของมีอยู่ เราลืมของไว้ เราไม่เห็น เราเดินไปเดินมา เราเหยียบ ทิ่มตำเท้าเลย เพราะเราวางไว้อยู่นั่น แต่เรามองไม่เห็น เราเหยียบไปเลย มันยังรู้สึกตัวขึ้นมาได้ วัตถุที่มองไม่เห็น ที่ลืมทิ้งไว้ ของทิ้งไว้ในตู้ ไปเปิด นึกว่าลืมไปแล้ว เปิดมา อ้าว! อยู่นี่เอง แล้วเราเผลอ เราลืมไป นี่มันยังเห็นได้ ของมีอยู่มันต้องมี กิเลสในหัวใจมันมีอยู่ มันต้องมี แต่เพราะเราสะเพร่า เราเคลม เราต้องการให้สมความปรารถนา นั่นมันเป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้นน่ะ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องตรวจสอบ ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านพิจารณาของท่าน พิจารณากาย พิจารณาขนาดไหน วางขนาดไหน ออกมาแล้วอารมณ์มันปกติ ตรวจสอบแค่นี้มันก็รู้ จิตมันเป็นอย่างนี้ พิจารณากาย พิจารณาต่างๆ เวลาพิจารณาไปแล้วมันว่างขนาดไหน ตรวจสอบใจ มันรู้ เทียบ มันรู้

โธ่! ขณะที่เราเป็นนะ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เราบิณฑบาต กลิ่นกายหญิง เราเฉียดเข้าไป สูดลมเลย มันมีความรู้สึกไหม สติมันดีอยู่ ไม่มีหรอก “อู้หูย! เก่งมาก ดีมาก”

เวลามันขึ้นมา สูดลม มี “อ้าว! นี่อะไร” นี่เราตรวจสอบขนาดนี้นะ ตรวจสอบใจเราเอง มันเข้าตรวจสอบเลย ตรวจสอบมาตลอด

ขณะที่มันอยู่ในตัวมันเอง เรามีสมาธิ เราเดินจงกรมอยู่ เราจะว่าเราแจ๋วมาก เราแน่มาก แต่เวลามันกระทบขึ้นมามันออกมาอย่างไร สังเกตสิ สังเกตใจเรา ถ้าสังเกตใจเรา มันต้องมี ของมีอยู่ กิเลสมีอยู่ มันต้องจับต้องได้ มันเห็นของมัน มันจับต้องได้แน่นอน ถ้ามันจับต้องได้ นั่นน่ะคือตัวมัน แล้ววิปัสสนามัน

มันไม่ใช่ตะกอนในแก้ว ปล่อยไว้อย่างนั้นแล้วให้ตะกอนยุบตัวลง ตะกอนมันก็นอนก้น เดี๋ยวขยับขึ้นมามันก็ขึ้นอีก “สบายๆ จะทำรุนแรงขึ้นมาก็ไม่ได้ มันเสียกิริยา เสียมารยาท”

ก็จะเอาตะกอนออก น้ำต้องกระเพื่อมไปแน่นอน น้ำกระเพื่อมไม่ได้หรือ อารมณ์เกิดไม่ได้หรือ ความรู้สึกเกิดไม่ได้หรือ

ใช่อยู่ ถ้ามันเป็นการทำความสงบ เวลากระเพื่อมมันก็มีความหงุดหงิด เวลามันหงุดหงิดขึ้นมา เราก็ตั้งสติรักษามัน รักษามันเพื่อความสงบ นี่มันสงบ สงบ เราทำบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนมันตั้งมั่น มันชำนาญ พอมันชำนาญแล้ว ความสงบนี้รักษาได้ ในเมื่อเรามีคำบริกรรม เรามีสติของเรา เราทำอยู่อย่างนี้ด้วยเหตุ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ในเมื่อเหตุมันดี สมาธิมันจะหนีไปไหน ในเมื่อเราชำนาญขนาดนั้นแล้ว มันจะกระเพื่อม กระเพื่อมในสมาธิจะเป็นอะไรไป

น้ำจะกระเพื่อมในสมาธิ หมายถึงว่า เราเข้าไปตัก เราพยายามจะเอาตะกอนออกจากแก้วน้ำ มันจะกระเพื่อม มันจะเป็นอย่างไร มันจะหงุดหงิด ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็มันอยู่ในการควบคุม มันอยู่ในอำนาจของสมาธิ สมาธิมันสามารถควบคุมใจของเราได้ แล้วมันจะกระเพื่อม กระเพื่อมเพราะการทำงาน เวลามันออกไปใช้ปัญญา ปัญญามันออกไปกับการกระทำ มันต้องมี มันไม่ใช่ว่าถ้าเป็นสมาธิแล้วเหมือนตะกอนในแก้วที่มันนอนอยู่ก้นแก้ว ห้ามขยับ ขยับไม่ได้ พอขยับปั๊บ ตะกอนมันก็ต้องฟูขึ้นมาเป็นธรรมดา ตะกอนมันโดนน้ำขยับขึ้นมา น้ำก็ต้องขุ่น

นี่เหมือนกัน พอจะวิปัสสนา มันขยับ มันคนละสถานะ ถ้าคนวิปัสสนาเป็น คนทำเป็น มันขั้นของสมถะ มันจะรู้เลยว่าตั้งสติอย่างไร ในสมถะมันสงบตัวลงอย่างไร มันยุบยอบตัวลง มันเป็นสมาธิอย่างไร แล้วมันคลายตัวออกเป็นสมาธิอย่างไรด้วยความชำนาญ แต่เวลาในขั้นของปัญญา ขั้นของปัญญาเพราะอะไร เพราะจิตมันชำนาญ เหมือนเรา เราเป็นคนที่มีสติ แก้วน้ำของเรา เราเขย่าปั๊บ มันก็ต้องขุ่น พอเราปล่อย มันก็นิ่งลง เราก็รู้อยู่ ทีนี้พอเรารู้อยู่ เราจะตกใจไหม

พอเราไม่ตกใจ เวลาเราทำสมาธิเข้มแข็ง พอเราจะไปวิปัสสนา เวลาน้ำขุ่นขึ้นมา ขุ่นก็เพื่อจะเอาออก มันจะเป็นอะไรไป ขุ่นในสมาธิกับขุ่นไม่เป็นสมาธิ ถ้าขุ่นไม่เป็นสมาธิ มันจะฟุ้งซ่าน จิตจะฟุ้งซ่านมาก มันจะไม่พอใจมาก มันจะอึดอัดขัดข้องใจไปหมดเลย อื้อหืม! โลกนี้แทบระเบิดเลย มันขัดใจ มันขัดใจมาก เวลาจิตเสื่อม มันขัดใจมาก

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา เวลามันทำงานมันเพลิน ไม่ใช่ขัดใจนะ มันเพลินในการทำงาน มันเพลินจนสมาธิเสื่อม เพลินจนเสื่อม ต้องกลับมาทำสมาธิอีก เห็นไหม ถ้าเป็นสมถะมันจะขัดข้องใจเลย เพราะมันไม่พอใจ เพราะจิตมันสงบ มันมีความสุข แล้วมันมาขัดแย้งกับใจ มันจะขัดข้องใจ นี่ขั้นของสมถะ ขั้นของการทำสมาธิ

ผู้ที่ทำสมาธิจะรู้จักขั้นของสมาธิ ขั้นของสมาธิจะรักษาใจอย่างไร ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมามันเป็นโลกียปัญญาแน่นอน มันเป็นปัญญาของคอมพิวเตอร์ เราทำของเราให้เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งนะ คอมพิวเตอร์ ถึงเวลามันชำรุดทรุดโทรม มันเสียหาย มันซ่อมได้ แต่คนเวลาชำรุด ตายเลย แล้วคอมพิวเตอร์มันไม่มีชีวิต ไม่มีใครรับรู้

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นโลกียปัญญานี่ปัญญาของโลก มันเป็นจริตนิสัย ถ้าสร้างบุญก็ได้บุญ สร้างกรรมก็ได้กรรมไปสภาวะแบบนั้น แต่มันชำระกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเข้าถึงสมาธิ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่โปรแกรมมัน พลังงานที่เป็นไฟฟ้าที่มาเข้าในคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าเข้ามาสะดวกไหม ไฟฟ้านี้ไฟอ่อนไหม ไฟตกไหม ไฟดีไหม สมาธิดีไหม ไฟสม่ำเสมอไหม สมาธิสม่ำเสมอไหม ถ้าสมาธิสม่ำเสมอเข้าไปในเครื่อง ไฟไม่เสียหาย เรื่องไฟไม่มีแล้ว มันเป็นเรื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องใช้ตรงนั้นไป เรื่องคอมพิวเตอร์คือเรื่องของกาย

ถ้าเรื่องของไฟ ทีนี้เรื่องของไฟ เดี๋ยววูบเดี๋ยววาบตลอดเวลา สมาธิเราไม่มี เราไม่ตั้งมั่น เราชำนาญของเรา ถ้าเราชำนาญ เราแก้ไขของเรา แต่ขั้นของปัญญามันแก้ไข จะแก้ไข จะทำอย่างไร ขั้นของปัญญามันใคร่ครวญออกไป มันต้องเอาสมาธิเป็นพื้นฐาน เป็นการรองรับไป

ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาของการกระทำ ถ้าเรามีการกระทำ เราเข้าใจของเรา เราจะรู้แจ้งของเรา มันมีขั้นตอนของมัน มีเหตุการณ์ของมัน ขั้นตอนจริงๆ มันต่างกัน สมถะกับวิปัสสนามันต่างกัน ขั้นของสมถะคือมันสงบเหมือนกับตะกอนจากแก้วน้ำ โดยธรรมชาติ เราตักน้ำขุ่นขนาดไหน ตั้งไว้เถอะ เดี๋ยวตะกอนมันต้องนอนก้นเป็นธรรมดา ธรรมดา จิตก็เหมือนกัน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ธรรมดา ฟุ้งซ่านขนาดไหนก็ธรรมดา ทำสมาธิมันเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว แต่เพราะมันไม่มีใครใช้ประโยชน์ มันไม่เคยมีใครเห็น แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่เอาแก้วมาตั้ง เหมือนคนที่เขาอยู่ริมน้ำ เป็นเรื่องธรรมดาของเขาเลย เขาเห็นทุกวัน คือว่ามันจะขุ่นหรือมันจะใส เขาไม่เดือดร้อน เขาไม่มีอะไรเศร้าหมองใจของเขา แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เคย มันจะเศร้าหมองใจ มันจะเศร้าหมอง ดีใจเสียใจไปกับเขา

การทำสมาธิจนชำนาญแล้วมันก็เหมือนผู้ที่เขาชำนาญ เขารู้ของเขา เขาไม่ตื่นเต้นหรอก เขาไม่ตื่นเต้นเลย แต่ขั้นของปัญญาไม่รู้นะ เอาออกไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

น้ำกับตะกอนมันเป็นธรรมดา เพราะเอาสารส้มมาแกว่งก็ได้ มันแก้ไขอย่างไรก็ได้ นี่เป็นน้ำ แต่เป็นกิเลสมันเป็นไปไม่ได้หรอก กิเลสจะออกจากใจ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคนไม่เคยทำ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามันจะทำ ทำอย่างไร วิปัสสนาอย่างไร จะเอามันออกอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร วิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม เอาอย่างไรมันถึงจะออกไป ถ้าออกไป ทำออกไป วิปัสสนาทำไม่ถูกต้อง ออกไม่ได้หรอก แก้วน้ำอยู่ที่นี่ แล้วเราไปทำที่ไหน ไปทำในแม่น้ำลำคลอง มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องของแม่น้ำลำคลองใช่ไหม มันไม่ใช่แก้วน้ำ ไม่ใช่หัวใจเรา เราไปศึกษาธรรมะกัน “ธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนั้น” มันเป็นน้ำสาธารณะ

ดูน้ำท่วมมา น้ำหลากมา ท่วมทั้งประเทศเลย แต่หัวใจเราล่ะ กิเลสมันท่วมท้นใจ เราไม่ได้รักษาอะไรมันเลยหรือ ทำไมไม่รักษา นี่นักรบหรือ รบกับอะไร ถ้ารบกับกิเลสมันต้องแก้ไข มันต้องต่อสู้ มันต้องทำของเราให้ได้ อย่าประมาทเลินเล่อ

ขยะกลางศาลา ขยะทั่วไป มันแผ่ขยายออกไปจนมองไม่เห็น แต่ถ้าหมั่นกวาดหมั่นทำ เรากวาด เราเห็นชัดๆ เลย เช้าๆ มา เรากวาดขึ้นมา ทำไมมันมากองอยู่รวมกันอย่างนี้ เรากวาดทิ้งไป เพราะอะไร เรากวาดออกไป นี่ก็เหมือนกัน เราปล่อยฟุ้งกระจาย เราไม่มีสติรักษา เราไม่ดูแลมันไง

แต่ถ้าเราดูแลมัน จิตมันสงบ มันเห็นได้ มันต้องจับต้องได้ มันต้องวิปัสสนาได้ ถ้าวิปัสสนาได้ มันปล่อยวางขนาดไหน ถ้าจับไม่ได้นะ ไม้กวาดเราอยู่ไหน เห็นเขากวาด ดูสิ เวลาพระทำข้อวัตรกัน เห็นเขากวาดกัน เออ! เขากวาดก็คือเขากวาด แล้วเรากวาดไหม เราเคยทำไหม ถ้าเรากวาดของเรา โอ้โฮ! เพราะเรากวาดเอง มันซึ่งๆ หน้านะ

ธรรมะของคนอื่น เราไปดู ไปจินตนาการ มันว่าเหมือน เหมือนทั้งนั้นน่ะ เหมือนเพราะเราดูเราเห็น แต่ตามข้อเท็จจริง เราไม่เคยจับไม้กวาดเลย เราไม่ได้กวาดฝุ่นสิ่งสกปรก ใบไม้ ให้มากองแล้วกวาดทิ้งไป เก็บขยะทิ้งไป การจะทิ้งไปมันต้องมีการเก็บทิ้งไป เราต้องทำกับมือ ทำกับเรา เรารู้ของเราเอง แล้วมันชัดเจน ชัดเจนแล้วมีสตินะ แต่ถ้ามันปล่อยวางๆๆ ปล่อยวางการกระทำของเรา ปล่อยวางขนาดไหน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันต้องมีการกระทำนะ มันเป็นไปจริงๆ ตามข้อเท็จจริง ถ้าไม่ตามข้อเท็จจริง มันเป็นจินตมยปัญญา ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น เห็นไหม

ดูสิ ดูเมื่อวานเขาถามว่า พระอรหันต์ในปัจจุบันนี้จะสามารถนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นประธานจัดงานได้ไหม

คำถามนี้เราเข้าใจว่าเขาไม่เชื่อว่ามีพระอรหันต์ เขาจะล่อให้เราตอบเขา แล้วให้เราขายภูมิ เขาจะล่อให้เราขายภูมิว่าพวกเรากรรมฐานนี่โง่บ้าเซ่อ เราถึงไม่ตอบ เราถามกลับเลยว่า เอ็งเชื่อไหมว่าในสมัยปัจจุบันนี้มีพระอรหันต์

เราจะบอกว่าชาวบ้านหรือผู้ที่เขาเข้ามาในวัดเรา เขาเชื่อเราหรือยัง กิริยามารยาทการแสดงออกของเรา เรื่องของธรรมะออกมามันจริงเท็จแค่ไหน ถ้ามันจริงเท็จแค่ไหน ความจริงของมัน มันอาจหาญมาก

อ้าว! ทำไมถึงจะไม่มี ในเมื่อมันมีสุขมีทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ มันแก้ไขได้ไหม สุขทุกข์ปัจจุบันถ้ามันแก้ไขได้มันต้องเป็นจริงสิ ถ้าเป็นจริง ทำไมพระอรหันต์จะเกิดขึ้นไม่ได้ พระอรหันต์ต้องเกิดขึ้นได้

ถ้าเรารู้จริงนะ เราจะสามารถเคลียร์ปัญหาอย่างนี้ได้ ถ้าเราไม่สามารถรู้จริง แล้วถ้าเราไม่รู้จริง วิธีการเราพูดออกไปมันถูกต้องไหม

คนคอยจับผิดเราเยอะมากนะ ในเมื่อเขาไม่เชื่อ คนที่เขาไม่เชื่อ แล้วคิดดูสิ เวลาเขามา ยิ่งเขาไม่เชื่อ เขาจะจับผิด เขาจะเข้ามาในหมู่พระของเรา เข้ามาในหมู่วัดของเราด้วยความเคารพนบนอบ ดูสิ ข้าศึก ข้าศึกที่เวลาเขาทำสงครามกัน ทางการข่าวเขาต้องรู้เขารู้เรา เขาต้องส่งนักสืบของเขา ส่งแนวที่ ๕ เข้าไปสืบความลับของฝ่ายศัตรู ถ้าคนเขาไม่เชื่อ เขาต้องส่งคนเข้ามา ต้องมีการคอยเก็บข้อมูลจากพวกเรา แล้วเก็บข้อมูลจากผู้ประพฤติด้วยว่าจริงหรือไม่จริง

แต่ถ้าข้อมูลของเราจริง ดูสิ เวลาพระเทวทัตให้นายธนูไปยิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ไปฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ผู้ที่เข้ามาคนแรกนะ วางแผนตัดตอน คนนี้ไปยิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว ๒ คนต่อไปให้ไปยิงคนที่ยิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว ๔ คนให้ยิงคนที่ไปยิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ถึง ๓๑ คน

คนแรกไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ จะมายิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ยิงทำไม เรื่องอะไรจะต้องมายิง” เทศนาว่าการแสดงฤทธิ์แสดงเดช จนคนนั้นขอบวชเป็นพระ

ไอ้ ๒ คนที่จะรอฆ่าคนนี้ เอ๊ะ! ทำไมมันช้า ไม่มาสักที ตามไปดู ตามไปถึง ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เอาบวชอีก

ไอ้ ๔ คนที่จะมาฆ่าอีก ๒ คน มันตามไปๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอา ๓๑ คนนั้นบวชเป็นพระหมดเลย แล้วปฏิบัติถึงสิ้นสุดกิเลส บวชหมด

อกุศล นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเข้ามาสืบ เขาไม่เชื่อถือ แต่ถ้าเราเป็นความจริง เราก็แสดงความจริงสิ เขาเชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นทิฏฐิมานะของคนใช่ไหม ทิฏฐิมานะของคนมันแก้ไขได้ มันเปลี่ยนแปลงได้ใช่ไหม ถ้าทิฏฐิมานะของคนเปลี่ยนแปลงได้ เราเอาสัมมาทิฏฐิวางไว้ให้เขาได้ศึกษา ถ้าเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิเข้ามา ถ้าเขาถึงสัมมาทิฏฐิ ถ้าเขามีบุญกุศล เขาก็เปลี่ยนความคิดของเขา คนที่เข้ามาศึกษาเขาไม่เชื่อความเห็นของพวกเรา เขาไม่เชื่อนักปฏิบัตินะ ทีนี้นักปฏิบัติมันต้องปฏิบัติให้จริง

โธ่! เราเคยธุดงค์ไปนะ มีพระหลวงตาองค์หนึ่ง เวลาเขาถามปัญหา อริยสัจ ๓ อริยสัจมี ๓ ไง สุข ทุกข์ ทุกขเวทนา เขาว่าอริยสัจ

จริงๆ หรือ อริยสัจ เราก็นั่งฟังอยู่ด้วย แหม! เกาหัวเลยนะ เขาไม่ถามเรา เขาถามนั่น นี่วุฒิภาวะอย่างนี้

ในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน สิ่งใดที่เรายังไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งพูดออกไป เพราะมีคนมาหาเราบอกว่า มาให้เราแก้ปัญหา

เราก็บอกว่า “ผิด”

“อ้าว! ก็พระบอกว่าถูก”

“พระไหนล่ะ”

“พระนั้นสอน”

อ้าว! ตายห่าเลย สอนเขาผิด แล้วก็มาหาเรา เราก็พูดไปอีกอย่างหนึ่ง มันขัดแย้งกันนะ แต่ถ้าถูกต้อง อย่างที่พูดถูกต้องตั้งแต่ทีแรก มันถูก มันถูกมาหมด ถ้าเราบอกถูกนะ ถ้าอะไรไม่รู้ บอกไม่รู้ อย่างวันนี้ตอบปัญหา เขาก็ถามว่า “จะเป็นอย่างนั้นไหม”

เราบอก “คนโง่เท่านั้นที่พูดมัดคอตัว”

เราบอกว่าจริงอยู่ เราเห็นด้วย แต่มันมีตัวแปร ตัวแปรคือว่ากาลเวลามันจะแปรไปอีกเยอะแยะเลย จะเป็นอย่างนั้นไป มันยังอนิจจังอยู่ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วนี่เรื่องของโลกนะ

แต่ถ้าเรื่องของหัวใจไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเรื่องของหัวใจ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนรักษาตน ตนแก้กิเลสของตน กิเลสของเรา เราจัดการเอง ไม่เกี่ยวกับตัวแปรใดๆ ทั้งสิ้นเลย ตัวแปรคือขี้เกียจเท่านั้นน่ะ ตัวแปรแก้กิเลสคือขี้เกียจ คือเห็นแก่ปากแก่ท้อง กินเข้าไปเยอะๆ แล้วก็นอนเป็นหมู ตัวแปรมีแค่นี้เอง

ถ้าเราลองสละมันสิ เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยได้มาเป็นธรรม เราใช้เป็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ภิกษุ เวลาฉันอาหารให้เหมือนกับหยอดน้ำมันล้อเพลาเกวียนให้ไม่มีเสียงดังเท่านั้นเอง เรากินเพื่อดำรงชีวิต เราไม่ได้กินเพื่อกาม เพื่อเกียรติ เพื่อศักดิ์ศรี โลกเขากินเพื่อกาม เพื่อเกียรติของเขา เขาต้องกินเพื่อสังคมของเขา เราไม่ต้องการอย่างนั้น

ถ้าขี้เกียจก็ขี้เกียจตรงนี้ ถ้าตัวแปรอย่างนี้ ตัวแปรเพราะเราเซ่อ เราไม่เข้าใจ เราเซ่อกับกิเลส กิเลสเหยียบย่ำเอา แล้วเราออกไปแสวงหาสิ่งที่เป็นโทษกับเราเอง เราเอาเข้าปากเราเองนะ สิ่งที่ผิดพลาด เราทำทั้งนั้นเลย ไม่มีใครทำ เราทำทั้งนั้นน่ะ เราเป็นคนทำขึ้นมาแล้วมันผิดพลาด ใครเป็นคนทำ? ก็เราทำทั้งนั้น แล้วไหนว่าจะเอาชนะกิเลส นี่แค่การดำรงชีพเท่านั้นนะ

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป สมาธิมาจากไหน อะไรเป็นสมาธิ แล้วทำสมาธิมันจะรวมลงได้อย่างไร ในเมื่อจริตนิสัยของคนเยอะแยะไป แล้วนิสัยเยอะขนาดไหน ถ้ามันทำไม่จริง “นิ่งๆ นิ่งๆ” เขาว่า “นิ่งๆ ทำอย่างไรต่อ นิ่งๆ ทำอย่างไรต่อ”

ก็ขาดการบริกรรมน่ะ ขาดการบริกรรม

ของมันเล็กน้อยนะ ดูของเล็กๆ เลย แต่ถ้าทำไป ของเล็กๆ ทำให้เสียหายทั้งนั้น ของเล็กๆ ทำไม่ได้ ดูอย่างสติ สติสัมปชัญญะมันเล็กน้อยไหม สติก็ระลึกรู้แค่นี้ แต่มันสืบต่อไม่ได้ พอสืบต่อไม่ได้ เราก็ทำสมาธิกันไม่ได้ ของเล็กๆ น้อยๆ เพราะไอ้ตัวของเล็กๆ น้อยๆ ทำให้การปฏิบัติเราไม่ก้าวเดิน ที่มันปฏิบัติกันไม่ได้ก็เพราะไอ้ของเล็กๆ น้อยๆ นี่ไง เห็นสิ่งนี้ไม่สำคัญไง “อู๋ย! กูจะวิปัสสนา กูจะมีปัญญา” แต่ดำรงชีวิตอย่างไร ปัจจุบันชีวิตนี้ทำตัวกันอย่างไร

มันเริ่มต้นจากที่นี่ คนเขาจะทำสวนทำไร่กัน เขาทำที่ไหน? เขาทำที่ดินทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดในโลกนี้มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก หัวใจเรา ตัวเรา สิ่งนี้สำคัญกว่า สิ่งนี้สำคัญกว่าแล้วทำอย่างไร ถ้าสำคัญกว่า กิเลสมันอ้างเล่ห์ว่า “ทำขึ้นมาปั๊บ มีข้อวัตร มีความเป็นอยู่ ปฏิเสธหมดเลย อันนี้สำคัญกว่า”...สำคัญโดยกิเลส

เพราะสิ่งที่ในหัวใจเรา เรารักษามันด้วยสติสัมปชัญญะ สิ่งที่เป็นข้อวัตร เราทำได้ทั้งนั้น ทำด้วยสติ ตั้งสติขึ้นมา ไอ้นั่นก็คือพุทโธเหมือนกัน พุทโธคือว่าเราตั้งสติอยู่กับมัน ตั้งสติอยู่กับอะไรก็ได้ เราจะทำอะไรก็มีสติอยู่กับมันอย่างนั้น ถ้าเรามีสติ อะไรจะมาขัดขวางการกระทำเราไม่ได้เลย การเหยียดการคู้ การทำของเราด้วยสติโดยปกติในชีวิตประจำวันมันมีสติตลอด

เพราะเราบวชใหม่ๆ บวชใหม่ๆ แล้วเราเอาตัวเองไว้ไม่ได้ เรากำหนดพุทโธทั้งวันทั้งคืนเลย กวาดวัด จับไม้กวาด พุทโธๆๆ เพราะอะไรรู้ไหม ถ้าไม่พุทโธ กูทุกข์! กูทุกข์! เราเองนี่ทุกข์ เราเองเอาใจของเราไว้ไม่ได้ เราเอาใจของเราไว้ในอำนาจไม่ได้ ทุกข์มาก แล้วจะเอามันอยู่ก็เอามันไม่อยู่ เอาไม่อยู่ ทำอย่างไรล่ะ กำหนดพุทโธๆๆ ทั้งวันทั้งคืนเลย เอาจนได้ ยังไม่ไหว ไม่ไหว ไม่นอน ถือเนสัชชิกเลย ไม่นอน เพราะเวลานอนแล้ว กินอิ่มนอนอุ่นมันก็คิดมาก ฟุ้งซ่านมาก เวลานั่งสมาธิไป โอ้โฮ! เกิดนิมิตติดต่อกันเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนดูหนังเลย เพราะจิตมันใหม่ จิตมันใหม่ เวลาปฏิบัติใหม่ๆ ของเดิมมันจะออกมาทั้งนั้นน่ะ มีสติสัมปชัญญะสู้มัน สู้กับมันอย่างไร

หลวงตาท่านบอกว่า สู้เสือด้วยมือเปล่า เราไม่มีสติไม่มีกำลังเลย จะเอาอะไรไปสู้กับมัน กิเลสในหัวใจ สู้เสือด้วยมือเปล่า เข้าไปต่อสู้ มันตะปบเลือดสาดทุกคนเลย มันจะสู้กิเลสด้วยตัวเอง เราทำไมจะไม่มีสติล่ะ

เราผ่อนมัน ดูสิ เราไม่นอนเลย อดนอนผ่อนอาหาร อดนอนผ่อนอาหารต่อสู้กับมัน ในเมื่อมันเป็นกิเลสดิบๆ มันเป็นไม้ดิบๆ มันเอากันไม่อยู่ ต้องเอาให้อยู่ เอาให้อยู่ เอากับตัวเอง ตั้งสัจจะเอากับตัวเองให้ได้ พอเอาให้อยู่ขึ้นมาแล้ว อันนี้เป็นสันทิฏฐิโกเลย มันสงบไม่สงบเราก็รู้ แล้วมันสงบขึ้นมามันทุกข์มาก พอมันสงบขึ้นมา มันสงบโดยไม่มีสติ สงบโดยไม่รู้เรื่อง สงบโดยความเพียร โดยความกดไว้ “เอ๊ะ! อวิชชาดับต้องเป็นพระอรหันต์ แล้วนี่มันก็เอาตัวเองอยู่แล้ว ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์” ความคิดโง่ๆ นะ แต่ตอนนั้นมันไม่โง่ ตอนนั้นมันว่ามันเก่ง แต่พอผ่านไปแล้วนะ นี่ความคิดโง่ๆ

มันก็โง่ทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร เพราะเราศึกษาธรรมมาใช่ไหม ความปล่อยวาง ความว่างเป็นนิพพาน ทุกอย่างเป็นนิพพาน อะไรเป็นนิพพานไปหมดเลย แล้วพอมันหยุดเฉยๆ นี่สติมันยังไม่พร้อมด้วยนะ มันหยุดเฉยๆ ไม่รู้อะไรเลย ว่างๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้นแหละ นี่มันขาดสติ มันทำอะไรไม่ได้หรอก

พอถึงที่สุดแล้ว ไปหาใคร ใครก็แก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ ไปหาหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนบอก “อวิชชาอย่างหยาบสงบตัวลง” ฟังสิ อวิชชาอย่างหยาบ แล้วอวิชชาอย่างกลางล่ะ แล้วอวิชชาอย่างละเอียดล่ะ แล้วอะไรเป็นอวิชชาล่ะ แล้วอวิชชายังมีอย่างกลาง อย่างหยาบ อย่างละเอียดอีกหรือ คือว่าความฟุ้งซ่านเฉยๆ ความฟุ้งซ่านของใจ ใจมันฟุ้งซ่านกันไป เวลามีสติสัมปชัญญะมันก็ควบคุมได้ ควบคุมได้ชั่วครั้งชั่วคราว ควบคุมได้ด้วยสติ ด้วยสมาธิ แต่มันยังจับใจไม่ได้เลย

จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตสงบแล้วเห็นกาย การเห็นกายขึ้นไป เห็นกายขึ้นมาแล้วอย่าเลินเล่อ นี่ปฏิบัติกันด้วยความเลินเล่อ สิ่งใดก็ตะครุบเงาไปเรื่อย ตะครุบเงาไปเรื่อย เป็นสูตรเลย “พิจารณากายเห็นกายเป็นโสดาบัน พิจารณากายเห็นกายเป็นสกิทาคามี พิจารณากายเห็นกาย...” จริงๆ มันก็คือกายอันเก่านั่นน่ะ มันพิจารณาไปไหน มันไม่ได้ก้าวเดินไปไหนเลย เพราะมันไม่ได้ทดสอบ

ทดสอบซ้ำ ทำซ้ำ เหมือนกับเราเลื่อยไม้ เราตัดไม้ ถ้ามีดเราอ่อน เราสับไปได้ครึ่งๆ มันหักไม่ได้ หรือเราสับไปนิดหน่อย ต้นไม้มันจะขาดได้อย่างไร แค่นั้นน่ะ แล้วก็ไปสับที่อื่นอีกแล้ว “พิจารณากายเห็นกายเป็นพระโสดาบัน”

เราว่าเป็นโสดาบัน ต้นไม้มันยังไม่ขาดนะ กุปปธรรม-อกุปปธรรม กุปปธรรมไม่ขาด มันเสื่อม มันตีกลับ มันตีกลับ แต่ถ้ามันขาดลงไปแล้ว มันต่อกันไม่ได้ มันจะตีกลับได้อย่างไร แล้วมันขาดออกไป กับสิ่งที่เราสับแล้วไม่ขาด คำว่า “สับไม่ขาด” มันเป็นปกติของเรานี่ไง ปกติของเรา เราพิจารณา เราใช้ปัญญาอย่างไร ปัญญาเป็นปัญญาสามัญสำนึก เราคิดของเรา เหมือนกับเอามีดฟันไป มันเป็นสามัญสำนึก มันขาดไหม

ถ้ามันขาด อกุปปธรรม ดั่งแขนขาด ถ้าเราสับไปที่ต้นไม้ ต้นไม้มันล้มดังครืน! ไปเลยนะ ต้นไม้เราสับที่โคน ต้นไม้ใหญ่เวลาล้มไป เสียงมันดังขนาดไหน แล้วสิ่งที่มันขาดออกไป มันตัดกันได้ไหม แต่ถ้ามันสับไปๆ ดูสิ เป็นสูตรไง พิจารณากายเห็นกาย พิจารณากายเห็นกาย พอเห็นกายขึ้นมา ก็เราสับแล้ว เราได้ทำแล้ว เราได้ทำแล้ว เราได้ทำแล้ว เราได้สับแล้ว แต่ต้นไม้ขาดหรือยัง ต้นไม้ได้ขาดหรือยัง เราได้ทำหรือเปล่า? ทำ เราได้พิจารณาหรือเปล่า? พิจารณา เราพิจารณาแล้ว เราเห็นกายแล้ว แต่มันถึงที่สุดไหม มันถึงที่สุดไหม ถ้ามันไม่ถึงที่สุด มันไม่เป็นอกุปปธรรม เราได้ทำหรือเปล่า? ทำ แต่ผลที่ตอบสนองล่ะ

นี่ไง สิ่งที่เป็นจริง ผู้ที่ปฏิบัติถ้ามันถึงที่สุดมันเห็นจริง มันต้องล้มครืน! ต่อหน้าไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วสิ่งที่รู้คืออะไร สิ่งที่รู้มันขาดออกไปคืออะไร สิ่งที่ขาดไป ความเป็นจริงมันเกิดขึ้นมา เหมือนตัดต้นไม้ขาดไปเลย ดั่งแขนขาด ถ้าดั่งแขนขาด แขนมันขาดออกไปทั้งแขน แขนนี้เราตัดทิ้งมันไปเลย

ใหม่ๆ ใช่อยู่ ถ้ามันเป็นอุบัติเหตุ พอแขนขาดไป มันชา มันไม่รู้สึกตัวหรอก แต่ความชา เดี๋ยวมันเจ็บปวดขึ้นมา แขนมันขาด

ถึงได้บอกว่า ที่ว่า “พระโสดาบันเป็นพระโสดาบันโดยที่ตัวเองไม่รู้ ต้องให้อาจารย์บอกจริงไหม”

มันจะเป็นจริงได้อย่างไร ไม่ต้องมีใครบอก พระโสดาบันต้องเป็นพระโสดาบัน ดั่งแขนขาด ถ้ามันเป็นวิปัสสนาโดยสติปัญญา ขาด เห็นต่อหน้า รู้ต่อหน้าเลย แต่ถ้ามันเป็นบุญวาสนา ที่ว่าขาดโดยที่ไม่รู้ ขาดโดยที่ไม่รู้มันก็คือขาดออกไป พอขาดออกไป แขนขาดมันจะมีอาการชาไหม เส้นเลือดมันขาด มันจะชาไหม แล้วเดี๋ยวมันจะเจ็บปวดไหม มันต้องไปถามใครไหม? ไม่ต้องถามใคร! ไม่ต้องถามใคร! มันเป็นความจริงอันหนึ่ง มันเป็นความจริงเลย ความจริงนี้มันเกิดขึ้นมา

ถ้ามันเป็นความจริง เหมือนตัดต้นไม้ขาด ทีนี้ตัดต้นไม้ขาด ถึงบอกว่าอย่าเลินเล่อ ต้องซ้ำ ต้องทดสอบ ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆๆ ไอ้ตรงนี้ ตรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วมันไม่เคลื่อนที่

เพราะเราเคยพลาดตรงนี้มาเยอะมาก พลาดจนขนาดที่ว่าไปหาครูบาอาจารย์ เศร้าสร้อยเลยนะ แล้วครูบาอาจารย์สอนอย่างไร สุดท้าย ใครพูดอย่างไร ฟังไว้ แต่เราเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน แล้วก็ซ้ำอยู่นั่นล่ะ มันจะปล่อยวาง จริงๆ เลย การปล่อยวางของเราปล่อยวางเป็นร้อยหนพันหนกว่าที่มันจะขาด ไม่ใช่วิปัสสนาแล้วจะขาด ไม่จริงหรอก!

เวลาใครพิจารณามาบอก “ปล่อยแล้ว วางแล้ว”

ไม่เคยเชื่อเลย ไม่เชื่อเพราะอะไร ไม่เชื่อ เพราะคำพูดอย่างนั้นมันเป็นตทังคปหาน แล้วเราก็เคยเป็นมาแล้ว

ผู้ที่ปฏิบัติมาบอกว่า “มันปล่อยแล้ว เวทนามันปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อ”

“ก็ซ้ำเวทนาไปสิ”

“อ้าว! ก็มันปล่อยแล้ว”

“ปล่อยแล้วมันเป็นเวทนาเก่าเว้ย! ปล่อยแล้วมึงไม่หายเจ็บหายปวดหรือ เวทนายังเกิดอยู่ใช่ไหม”

“ค่ะ”

“แล้วทำไมไม่ทำต่อล่ะ แล้วเวทนามันปล่อยแต่ละครั้งเหมือนกันไหม”

“ไม่เหมือนกันค่ะ”

“อ้าว! แล้วทำไมไม่ทำล่ะ”

นึกเอาเองไง นึกว่าปล่อยเวทนาแล้วคือปล่อยไง

มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ตรงนี้ ตรงที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การทำซ้ำๆๆ การตรวจสอบซ้ำๆๆ พระที่พลาด พลาดตรงนี้มากนะ พอตรวจสอบซ้ำ ไม่ตรวจสอบซ้ำเปล่านะ ย้ายที่ เป็นสูตรไง “ก็พิจารณากายแล้ว”

พิจารณากายก็พิจารณากายต่อไปๆๆ ฟันต้นไม้ต้นนี้ไม่ขาด จะไปฟันข้อข้างบน พอฟันข้อข้างบนไม่ได้ ไปฟันข้อข้างล่าง ย้ายไปย้ายมา ย้ายไปย้ายมา มันไม่ซ้ำ ไม่ซ้ำไง

มันต้องซ้ำๆๆๆ อยู่ตรงนั้นน่ะ ให้มันขาดให้ได้ อย่าย้ายที่ อย่าเลินเล่อ ที่มันผิดพลาดเพราะมันไม่ซ้ำกับที่เก่า มันไม่ซ้ำที่เก่า มันย้ายที่ไปทำที่อื่นโดยเข้าใจว่ามันเป็นความเห็นของตัวไง มันต้องซ้ำลงไปที่เก่า ซ้ำตรงนั้นล่ะ ซ้ำที่เดิม! ซ้ำลงไป! ซ้ำจนไม่มี ฟันแล้วฟันอากาศ นั่นน่ะใช่

ไอ้นี่ฟันลงไปก็ต้นไม้ ว่าขาดแล้วนะ แต่ทำไมมีดมันกระเด็นกลับมา มันขาดได้อย่างไร ถ้ามันขาดไป มันไม่มีต้นไม้ขวางหน้า มีดเราฟันไปมันจะโดนอะไร มีดเราฟันไปมันจะโดนอะไร

แต่นี่มันฟันไปมันก็เด้งกลับ เด้งกลับคือความรู้สึกเราไง ความรู้สึกต้องมีอยู่ ถ้าความรู้สึกมันมีอยู่ มันไม่ขาด สิ่งที่ทำอยู่นี่มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง ถึงที่สุดมันต้องขาดไปเลย ขาดไปเลย ขาดไปเลย

เวลาพูด มีพระมาถามเยอะมาก “ทำไมต้องสมุจเฉทปหาน ทำไมต้องขาด”

แล้วไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอก “ไม่ต้องขาดหรอก พิจารณาอย่างนี้แหละ นี่โสดาบัน สกิทาคามี ว่ากันไป ไอ้พวกที่เขาขาดก็ปล่อยเขาไป คนที่ว่าเขาขาด”

นี่ไง แล้วเวลาเราฟังเทศน์ ดูสิ ของหลวงตา “ต้องขาด สมุจเฉทปหาน”

หลวงปู่เจี๊ยะ “ขาด พิจารณาขาดไปเลย”

เปิดวิทยุเสียงธรรมฟัง เวลาเทศน์หลวงปู่เจี๊ยะ “ขาด ขาด ขาดเลย”

หลวงปู่บุดดา “ขาด”

ของจริงนี่ขาด

แต่นี้มันยังมีของปลอม “สักแต่ว่า ทำสบายๆ เฉยๆ ไว้ ทำนิ่งๆ”

มันมีอยู่ ๒ กระแสในวิทยุเสียงธรรมนั่นน่ะ

ชุดหนึ่งบอกให้พิจารณาจนถึงที่สุด ให้ขาดออกไป สมุจเฉทปหาน

อีกชุดหนึ่งบอกไม่ต้อง นิ่งๆ รู้เฉย สักแต่ว่า

มันมีอยู่ ๒ กระแส กระแสหนึ่งถูก กระแสหนึ่งผิด แล้วต้องจับให้ดี พิสูจน์ให้ได้ ถ้าเราเป็นคนจริง เราปฏิบัติจริง เราพิสูจน์ได้ เรานี่รู้เลย ฟังนี่รู้เลย

ในเมื่อตะกอนมันนอนก้นแก้วเฉยๆ มันไม่มีตะกอนออก มันจะชำระกิเลสได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

แต่ในโลกนี้มันเป็นเรื่องสุดวิสัย ดูสิ พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระอรหันต์ต้องแสนกัป คำว่า “แสนกัป” คือว่าสร้างบุญญาธิการมา ทีนี้เราได้สร้างบุญญาธิการมาแก่อ่อนอย่างไร เราก็พยายามของเรา แต่ต้องถูไถ ต้องทดสอบ อย่าย้ายที่ อย่าย้ายของเราไป ต้องทำซ้ำทำซาก

มันมี ๒ กระแสในวิทยุ ในธรรมการเทศนา มันเลยทำให้เราไขว้เขว แล้วเราก็จะไปยึดสิ่งที่มันเข้ากับเรา เข้ากับกิเลสไง เข้ากับความเห็นของเรา ถ้าอันไหนมันเข้ากับความเห็นของเรา เราก็เอามาเสริมเราว่านี่ถูกต้อง อันไหนที่ขัดแย้งกับกิเลสของเรา เราก็ว่าไม่ใช่จริตของเรา แต่ทำไมไม่คิดล่ะ

เวลาเราพูด ทำไมหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่บัว ท่านพิจารณากายด้วยการเห็นกายล่ะ ทำไมหลวงตาท่านพิจารณาเวทนาล่ะ พิจารณาธาตุ พิจารณาอสุภะ แล้วเวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านพิจารณากายด้วยปัญญาของท่าน ท่านบอกพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย ทำไมเรายอมรับว่าถูกหมดล่ะ

เพราะอันเดียวกันไง เพราะท่านพิจารณาของท่านโดยจริต แต่เวลาถึงที่สุดแล้วมันขาดเหมือนกัน มันต้องขาด หลวงปู่ดูลย์ก็ว่าต้องขาด ขาดแล้วมันเป็นสภาวะที่มันขาดไปเลย หลวงปู่ดูลย์ก็พูดอย่างนั้น เพียงแต่การเดินแต่ละสาย ถ้ามันเป็นความจริง ใครถนัดเส้นทางสายไหนก็อันเดียวกัน ถูกเหมือนกัน ถูกเหมือนกัน ไม่ผิดเลย

แต่ถ้าผิดนะ มันไม่เหมือนกันตั้งแต่แรกไง ไม่เหมือนกันตั้งแต่แรกที่ว่า “ใครจะขาดก็ช่างหัวมัน” ท่านพูดอย่างนี้ พระมาพูดให้ฟังจริงๆ ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เลย “ถ้าเขาบอกจะขาดก็เรื่องของเขาเถอะ แล้วเขาจะให้ขาดก็เรื่องของเขา เราว่าไม่ขาด เป็นอย่างนี้ อ้าว! อย่างนี้เป็นโสดาบัน”

โอ้โฮ! เราฟังแล้วตกใจเลยนะ แต่มันก็กรรมของสัตว์ สัตว์มันเชื่อ สัตว์มันพอใจความสะดวกสบายอย่างนั้นก็เรื่องกรรมของสัตว์ที่เขามีความเห็นอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเป็นความจริง เพราะอะไร มันไม่ได้เกี่ยวกับจริตนิสัย มันเกี่ยวกับอริยสัจ มันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นอริยสัจ ที่มรรคญาณต้องเป็นอย่างนั้น

แม้แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดเองเลยว่า พิจารณากายโดยไม่ต้องเห็นกาย ไม่ต้องเห็นกาย นี่ด้วยปัญญาวิมุตติ ด้วยปัญญาเปรียบเทียบ

แต่ผู้ที่เห็นกายวิภาคะ อุคคหนิมิต วิภาคะเป็นการขยายส่วนแยกส่วน การกระทำ สุดท้ายแล้วก็เหมือนกัน เหมือนกันที่ต้นไม้มันล้มครืนไปเหมือนกัน เหมือนกัน นี่ไง ถ้าถูกแล้ว ให้พูด มาบนอากาศ มาทางเครื่องบินก็ถูก มาทางใต้ดิน มุดดินมาก็ถูก มาทางน้ำ มาทางบก มาทางเรือ ถูกหมดเลย

ถ้ามันผิดนะ อย่างไรมันก็ผิด ถ้าผิด คำว่า “ผิด” ผู้รู้ท่านรู้ว่าถูกหรือผิด แต่เราผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่รู้ถูกรู้ผิด เพราะเราเข้าใจตามโลกียปัญญา คือปัญญาของโลก ความสัมพันธ์ตรรกะปรัชญามันรู้ได้แค่นี้ ถ้ารู้ได้แค่นี้ คืออย่าเลินเล่อ อย่าชะล่าใจ ต้องซ้ำ ทำหมั่นเพียร

ในเมื่อเรายังอยู่ในพรรษา เรายังมีกำลังของเราอยู่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แยกส่วนขยายส่วนให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ให้เป็นสัจธรรมขึ้นมา เป็นสัจธรรมขึ้นมา แล้วถ้าเป็นจริงนะ โอ้โฮ! มันจะรำพึงขึ้นมาเลยนะ โอ้โฮ! ไอ้ที่ว่าปัญญาเราสุดยอดแล้วน่ะ มันเป็นกองขี้ควาย มันเป็นสิ่งที่ไร้สาระเลย พอมันถึงความจริงขึ้นมา โอ้โฮ! ให้มันรู้ขึ้นมาเถอะ ให้มันถึงบางอ้อ อ้อ! ช็อกเลย ช็อกความรู้สึกทั้งหมดเลย

แต่นี่มันเป็นธรรมะของเราบ้าง เป็นโลกียปัญญาบ้าง เป็นธรรมะของครูบาอาจารย์บ้าง แล้วจิตมันมหัศจรรย์ มันก็สร้างภาพความเป็นไป มันก็ว่างๆ สบายๆ ก็ว่ากันไปนะ เพราะมันไม่มีการกระทำ

กิจจญาณไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนปัญจวัคคีย์ “เธอเคยได้ยินไหมว่าเราบอกว่าเป็นพระอรหันต์ อยู่กันมา ๖ ปี บอกว่าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่เคยบอก บัดนี้เป็นพระอรหันต์ จงเงี่ยหูลงฟัง” เป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เป็นเพราะกิจจญาณ สัจจญาณ สัจจะความจริง มีกิจจญาณ มีมรรคญาณ ถึงที่สุดแล้ว ญาณ ๑๖ มันได้กระทำแล้ว มันสิ้นสุดแล้ว มันถึงปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นพระอรหันต์เพราะมีการกระทำ เพราะจิตมันเป็นไป

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้ามันเป็นของเรา จิตมันเป็นขึ้นไป เราปฏิบัติขึ้นไป มันต้องมีเหตุมีผล มันพูดได้ชัดเจน ถ้าพูดได้ชัดเจนแล้ว มันจะไม่เสียหายตรงที่ว่า เราจะบอกใคร เราจะเทศนาว่าการใคร มันไม่เสียหายไง

ถ้ามันเสียหายนะ เพราะว่าเวลาเขามาหาเรา เขาบอกเลย “ก็พระสอนอย่างนี้”

โอ้โฮ! ช็อกเลยนะ เพราะอะไร เพราะเราพูดไปมันขาวกับดำ เราแย้งไปขาวกับดำเลย

ไม่ใช่ จิตกว่ามันจะเข้าได้ มันจะเป็นไป มันต้องตั้งสติ แล้วสมาธิคือสมาธิ มันจะหกเหินเดินฟ้า มันจะเป็นสมาธิมาทางไหนก็คือสมาธิ ปัญญา ออกปัญญาแล้วถึงเป็นปัญญา เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา

แต่เพราะของเรามันไม่ได้ขั้นของวิปัสสนา เราเข้าถึงสิ้นสุดกระบวนการของวิปัสสนาไม่ได้ เราก็ต้องบอกว่าเป็นอย่างนี้ มันก็เหมือนกับพูดในขั้นของสมถะนั่นแหละ คือว่าพิจารณาไปมันก็จะปล่อย ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้ากำหนดมัน พิจารณามัน มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือมันเป็นขั้นของสมถะไง คือมันปล่อยว่างเฉยๆ แล้วถ้าขั้นของวิปัสสนามันอยู่ไหนล่ะ ถ้าขั้นวิปัสสนา มันแยกส่วนขยายส่วนไปแล้ว แล้วจิตมันรวมแล้วมันตัดขาด แล้วนั่นมันอยู่ไหน

มันเป็นคนละส่วนกัน ถ้าเป็นคนละส่วนกัน จิตมันเป็นไปแล้ว มันจะชัดเจน มันจะไม่ผิดพลาด ถ้ามันผิดพลาด มันผิดพลาดเพราะเราพูดผิด แล้วพอเราพิจารณาไป ถ้ามันผ่านไป เราจะร้องโอ้โฮ! เลยนะ ถ้าร้องโอ้โฮ! โอ้โฮ! เพราะรู้จริง ถ้าไม่ได้ โอ้โฮ! มันก็ยังถูไถกันไปอย่างนี้

ถึงบอกว่าอย่าเลินเล่อ ตั้งสติ แล้วให้ประพฤติปฏิบัติ อีกปักษ์เดียวออกพรรษาแล้วนะ เอวัง