เทศน์พระ

สมณะ

๙ ก.พ. ๒๕๕๒

 

สมณะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อดีตอนาคตอย่าไปสนใจกับมัน สนใจวันนี้ เย็นนี้ คืนนี้เนสัชชิกไม่นอนทั้งคืน เพราะอะไร เพราะวันพระ วันมาฆบูชา เป็นวันระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราอยู่ป่าอยู่เขา ปกติวันพระปฏิบัติถวายหลวงปู่มั่น ถวายหลวงปู่ขาว ถือเนสัชชิกนี้เป็นเรื่องปกตินะ ตอนเราบวชใหม่ๆ เรื่องอดนอนเป็นเรื่องธรรมดา อดนอนผ่อนอาหารเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อะไรเลย พอมันทำกันอย่างนั้น สังคมที่ปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ สังคมปฏิบัติ การปฏิบัติเป็นเรื่องปกติ แต่สังคมโลกพอปฏิบัติหน่อย “จะเป็นไอ้นั่น จะเป็นไอ้นี่” แล้วเราไปฟังเขา เราขาอ่อนหมด

เราอย่าไปฟังใคร เราต้องฟังศาสดา ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเป็นแบบอย่างของเรามา

โลกฟังไม่ได้ เราอาศัยเขาอยู่กับโลก แต่เราเอาโลกเป็นใหญ่ไม่ได้ ธรรมะต้องเหนือโลก เราเป็นธรรมต้องเหนือกว่าเขา ความเหนือกว่าเขา เราอยู่กับเขาก็อะลุ่มอล่วยให้เขา เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็ก เด็กมันทำของมัน มันไร้เดียงสา มันไม่เข้าใจ ดูแล้วมันน่ารัก แต่นี่เขาเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม เขาเป็นโลกใช่ไหม เหมือนเด็กไร้เดียงสา แต่เขามีผลประโยชน์ เขาอยากได้ เวลาเขาอยากได้ เราก็เข้าใจใช่ไหม โลกเป็นอย่างนี้ กิเลสเป็นอย่างนี้ กิเลสก็เป็นเรา เราก็เป็นโลกมาก่อน พระมาจากไหน? พระมาจากคน พระไม่ได้ลอยมาจากฟ้า คนมาจากไหน? มาจากพ่อแม่ พ่อแม่มาจากไหน? ก็มาจากพ่อแม่ นี่เป็นเรื่องโลก ทีนี้พระมาจากคน คนก็มีกิเลส พระก็มีกิเลส ถ้ามีกิเลสแล้ว เราก็ต้องดูแลกิเลสเรา

กิเลสมันบีบบี้สีไฟ กิเลสมันมีอำนาจมาก เพราะเราไม่ทันกิเลส มันมีอวิชชา เราถึงได้จับพลัดจับผลูมาเกิด พอเกิดขึ้นมา พอมีสติสัมปชัญญะขึ้นมาก็ระลึกนะ “ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้” มันเป็นอย่างนี้เพราะเรามีสติ เราระลึกได้ แต่พอเราเผลอสติไป เราก็ใช้ชีวิตปกติไปอีก เราก็ไปตามโลก โลกก็เป็นใหญ่อยู่วันยังค่ำ

นี่เราเป็นพระแล้ว เราต้องตั้งสติไว้ ถึงเราจะมีกิเลสอยู่ เราก็ต้องบังคับมัน ต้องดูแลมัน เพื่ออะไร? เพื่อเราจะพ้นจากกิเลส เราทุกข์ไหม คำว่า “ทุกข์” ทุกคนก็ทุกข์ แล้วเราบวชมาเพราะอะไร เพราะแรงศรัทธา เราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ อ่านหนังสือมา ค้นคว้ามา แล้วมันน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือนั้นมันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความน่าเชื่อถือของเรา ถ้าใจมันลงธรรม เราจะระลึกถึงตัวเรา คนที่ระลึกถึงตัวเอง มีสติอยู่นี้ไม่ค่อยทำความผิดพลาด ความผิดพลาดเพราะเราเผลอ เราตื่นเต้นไปกับอารมณ์ความรู้สึก เราตื่นเต้นไปกับกระแส ตื่นเต้นไปกับโลก เราจะไปตามโลกนั้น มันไม่มีใครจะช่วยเราได้หรอก

ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งอาศัยนี้ถูกต้อง แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็ชี้นำเราเฉยๆ เราต้องพยายามขวนขวายประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วประพฤติปฏิบัติต้องให้มันถูกต้องด้วย

ดูสิ ตอนเช้าเด็กมันถามว่า “การปฏิบัติต้องมีกุศลใช่ไหม กุศลจากจิตทำให้เราพ้นจากกิเลสใช่ไหม”

พูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าคำพูดอย่างนี้มันทำให้คนคนนั้นนอนใจ เราตั้งใจว่าเป็นเจตนานี้เป็นกุศลแล้วใช่ไหม พอเรามีกุศลแล้วมันพาเราออกจากกิเลสใช่ไหม กุศลจิตจะเป็นตัวพาให้ออกจากกิเลส เป็นปัญญาที่ถูกต้อง

เรามีกุศลจิตมันก็ถูกต้อง ก็เรามีศรัทธาเราถึงออกบวช เรามีศรัทธามีความเชื่อ เราอยากจะพ้นทุกข์เราก็ออกบวช เป็นกุศลจิตไหม? เป็น กุศลจิตแล้วเวลาบวชขึ้นมาแล้วปฏิบัติไหม แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา กว่ามันจะสงบขึ้นมา กว่ามันจะพัฒนาขึ้นมา มันเป็นไปไหม

กุศลต้องรักษามันไว้ กุศลทำให้เกิดอกุศลก็ได้ อกุศลทำให้เกิดกุศลก็ได้ เป็นกุศล เราตั้งใจทำความดี แต่ดีของเราไง พอดีของเรา มันจะไม่ดีในธรรม ดีของเรามันดีทิฏฐิมานะ มันยังมีทิฏฐิมานะอยู่ ทิฏฐิมานะขณะที่ปฏิบัติมันก็ถูกต้อง

เวลาหลวงตาท่านพูด “เวลาปฏิบัติมีความเข้มแข็ง มีความองอาจกล้าหาญ เป็นทิฏฐิมานะอันหนึ่งใช่ไหม”

“ใช่”

“แล้วมันถูกต้องไหม”

“ถูก ถูกในขณะที่ปฏิบัติ”

แต่ถ้าเรายังกอดมันอยู่ เรายังเอาสิ่งนี้เป็นอารมณ์อยู่ มันทิ้งมาไม่ได้ เหมือนกับสิ่งที่เป็นพาหนะพาเรามา ถ้าเราไม่ขึ้นจากรถจากเรือ เราจะไปถึงที่ไม่ได้ รถกับเรือไปถึงสถานที่จอด แต่เราต้องลงจากรถจากเรือไปถึงที่จอด

นี่ไง สิ่งที่เป็นคุณงามความดีที่เราเจตนาดีทำความดี มันทำให้เราทำความดีมา แล้วถ้าเราถือเจตนา เราเป็นทิฏฐิ คนอื่นจะมาลูบคลำทิฏฐิอันนี้ไม่ได้เลยนะ มันจะโกรธมาก เพราะเราตั้งไว้ไง แต่ถ้ามันเป็นเจตนาดีของเรา แต่เราทำขึ้นมาแล้ว คนเรานี้มุมมองมันแตกต่างกันใช่ไหม คนทำงานมันมีหลากหลายวิธีการที่จะทำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่มีวิธีการเดียว แต่ถ้ามันมีวิธีการเดียว มันมีวิธีการที่หลากหลาย เขามีมุมมองอย่างนั้น เราก็ต้องเคารพมุมมองเขา แล้วเราก็ต้องเคารพมุมมองของเรา เราก็มีทิฏฐิของเรา แต่มุมมองของเราควรเป็นอย่างนั้น

ทิฏฐิเป็นเจตนา เจตนาเราต้องยึดไว้ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิเลย ครูบาอาจารย์ เวลาโลกเขาชักนำก็ไปกับเขาหมดไง “โอ๋ย! อย่างนี้มันลำบาก ครูบาอาจารย์จะมาอยู่ป่าอยู่เขาให้มันทุกข์ยากทำไม เดี๋ยวนี้โกดังสินค้าอาหารมันเต็มโลกเต็มสงสาร ทำไมต้องมาฉันมื้อกินมื้อ ทำไมต้องมาอดมาอยาก” นี่พอเขามาลูบหน้าลูบหลัง ถ้าเราไม่มีจุดยืน สัมมาทิฏฐิไม่มี เราก็จะคล้อยตามโลกเขาไป

เราจะไม่คล้อยตามโลกเขาไป แต่เราก็จะอะลุ่มอล่วย เราจะไม่แสดงกิริยามารยาทให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้เป็นทิฏฐิ เป็นสิ่งที่เรายึดมั่นจนเกินกว่าเหตุ

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ วันนี้เป็นวันสำคัญในศาสนา ศาสนาคืออะไร? ศาสนาคือรัตนตรัย ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรม ศาสนธรรม วันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้ววันนี้เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันสำคัญทางศาสนา ถ้าเราไม่มีความสำคัญ ประเพณีวัฒนธรรมเวลามันเจือจางไป วันสำคัญทางศาสนาก็ไม่สำคัญทางศาสนา คนที่ไม่สนใจเขาจะไม่สนใจเลย นี่ก็เหมือนกัน วันสำคัญทางศาสนา ถ้าตัวเรามีความสำคัญ สิทธิของเรา ความรู้สึกของเรามีความสำคัญ เพราะเราสำคัญ ศาสนาถึงสำคัญขึ้นมา เพราะเรายอมรับความจริงอันนั้น เราถึงต้องตั้งใจ

วันนี้วันสำคัญทางศาสนา เราต้องขยันหมั่นเพียร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอด สิ่งต่างๆ ผู้ที่พ้นจากกิเลสแล้วท่านยังภาวนาเป็นวิหารธรรม เราเองจะฆ่ากิเลส วันปกติเราก็ภาวนาอยู่แล้ว แต่วันสำคัญทางศาสนาเราต้องตั้งใจ มันจะเมื่อย มันจะเพลีย มันจะหิว มันจะโหย เวลาปฏิบัติมันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าวันสำคัญทางศาสนา ถ้าเราภาวนาแล้วเราจะไม่หิวไม่โหยเลย เราจะมีความชุ่มชื่นตลอดไป มันก็ไม่ใช่

วันสำคัญทางศาสนาก็คือวันสำคัญทางศาสนา แต่หัวใจของเรามีกิเลส กิเลสมันสำคัญกว่า มันก็จะนิ่งนอนใจของมัน มันก็ยังสุขสบายของมัน ความสุขสบายของกิเลสมันนอนจมอยู่ในมูตรในคูถ ในความขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง แล้วจิตมันนอนจมอยู่กับมูตรคูถ ถ้ามูตรคูถในส้วม เราไปคลุกคลีมัน มันจะเหม็น แต่เวลาความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นมูตรเป็นคูถ ทำไมมันไม่เหม็นล่ะ มันไม่เหม็นเพราะเราพอใจไง แต่มันเหม็นนะ

กลิ่นของศีลกลิ่นของธรรมมันหอมหวนนะ ดูสิ แมลงผึ้งมันดมตอมแต่เกสรดอกไม้ แมลงวันมันตอมแต่ขี้ นี่ก็เหมือนกัน จิตเราจะตอมขี้หรือ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงในหัวใจของเรา ถ้ามันมีความสำคัญขึ้นมา ถ้าเราสำคัญกับตนเองขึ้นมา เราจะตื่นตัว เราจะสลัดมันออกไป สลัดความขี้เกียจขี้คร้าน ขี้บ่น ขี้ทุกข์ขี้ยาก เราต้องสลัดมันออกไป

มันจะทุกข์ยากมันเป็นเรื่องของกิริยา การกระทำมันต้องมีทุกข์ยากเป็นธรรมดา จริงๆ เวลากินอาหารมันก็ลำบาก มันต้องหยิบใส่ปาก มันเป็นเรื่องลำบากมาก ทำไมเราไม่เห็นว่ามันเป็นความลำบากล่ะ แต่เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทำไมมันลำบากล่ะ การเคี้ยวนี่เหนื่อยนะ บดอาหารนี้ทุกข์มาก ทำไมมันชอบล่ะ ทำไมมันบอกว่ามันไม่เป็นงานล่ะ แต่เวลาเดินจงกรมมันบอกมันทุกข์ แต่เวลามันกินมันบอกมันไม่ทุกข์เลย

ภัตกิจมันเป็นกิจกรรม มันเป็นงานอันหนึ่ง สิ่งนี้มันไปหล่อเลี้ยงร่างกายเป็นธรรมดา แล้วถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ สิ่งใดฉันเข้าไปแล้วมันจะง่วงเหงาหาวนอน ดูสิ ดูพฤติกรรมของโลกเขา สารก่อมะเร็งกินเข้าไปจนเป็นมะเร็ง จนเป็นโรคเป็นภัยขึ้นมา เขาก็เป็นของเขา พฤติกรรมการกินทำให้คนเป็นทุกข์เป็นยาก

นี่ก็เหมือนกัน เราจะฉันของเรา เรามีสติสัมปชัญญะ ฉันแล้วเป็นประโยชน์หมด นี่วิธีการฝึก ฉันเข้าไปแล้วง่วงเหงาหาวนอนไหม ถ้าง่วงเหงาหาวนอน วันนี้เราฉันอะไรบ้าง พรุ่งนี้ไม่ฉันอะไรเลย ฉันข้าวเปล่าๆ เลย มันจะฉันได้มากได้น้อยก็ช่างหัวมัน แล้วเดินจงกรมภาวนาอยู่ อืม! เวลาฉันข้าวเปล่าๆ มันจืดมันชืด มันไม่อยากเคี้ยวเลย พะอืดพะอม มันก็ทำกระตุ้นให้ความคิดมันตีโพยตีพายในใจ “ทำไมต้องมาบีบคั้นกันอย่างนี้ ทำไมไม่ฉันในสิ่งที่เป็นความพอใจ”

เวลาฉันอยู่ จิตมันโดนบังคับมันก็จะตีโพยตีพาย ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็อ่อนแอ เราก็จะฉันตามกิเลส เสร็จแล้วก็ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง แต่ถ้าเราฉันขึ้นมามันพะอืดพะอม มันกินไม่ลง ฉันไม่ได้เลย แต่พยายามบังคับ บังคับเสร็จแล้วล้างบาตร แล้วเรากลับไปภาวนา ดูซิว่ามันง่วงไหม มันจะนั่งหลับไหม

ขณะที่ทำภัตกิจ กิจขณะที่ฉัน ถ้ามีสติสัมปชัญญะ นี่คือการฝึกไง ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราเอาชนะมันได้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

ขณะที่ฉัน ลิ้นกระทบ ตาเห็นก็อยากกิน รสชาตินี้มันจำด้วยสัญญาอารมณ์มันก็อยาก มันมีกำลังมาก แล้วเราก็แพ้มัน เราแพ้กิเลส ขณะปัจจุบันที่ฉันนี่เราแพ้มัน กินอิ่มนอนอุ่นสบาย สะใจ กิเลสมันพอใจ คึกคัก แต่เวลาไปนั่งก็สัปหงกโงกง่วง แต่ถ้าเราฝึก เรามีสติสัมปชัญญะของเรา สิ่งใดที่มันต้องการ ใช่ มันเอร็ดอร่อย แต่ไม่เคยกินหรือ ถ้าไม่เคยกินจะรู้ได้อย่างไรว่าอร่อย อร่อยหรือไม่อร่อยก็เคยกินมาแล้ว มันอร่อยเพราะสัญญา สัญญามันรู้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี มันเห็นมันก็รู้ว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี เราจะเอาหรือไม่เอา สติมันยับยั้ง

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันบูชากิเลสแล้ว กิเลสมันก็หวั่นไหว “โอ้โฮ! อันนั้นก็แจ๋ว อันนี้ก็ยอด” นี่กิเลสมันหวั่นไหว ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราต่อสู้กับมัน นี่ปัญญา การฝึกปัญญา ถ้าเราไม่ฝึก เราไม่ทำ ไม่ต่อสู้ แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้กับกิเลส ขณะที่เราอยู่เฉยๆ เราก็ไม่มีอะไรไปต่อสู้กับกิเลสเลย ขณะที่อายตนะมันเปิดทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเปิดทั้งหมด แล้วอดอาหารมา ผ่อนอาหารมา วันหนึ่งฉันหนเดียวมันก็หิวมันก็กระหายอยู่แล้ว เวลาบิณฑบาตมา ภัตตาหารเขาตามมาจะตักใส่บาตร มันกระทบหมด อายตนะมันเปิดหมด กิเลสมันเปิดหมดเลย เหมือนเราเปิดน้ำไหลเต็มที่เลย กิเลสมันจะออกได้ทั้งหมดเลย แล้วมีสติไหม ของอย่างนี้เราเคยสัมผัสไหม

ถ้ายับยั้งได้ ดูสิ เวลาตักอาหารใส่บาตรแล้ว ปฏิสงฺขา โยฯ ขณะตักอาหารใส่บาตรแล้ว ตักมาแล้ว แพ้มาแล้วรอบหนึ่ง ขณะที่ตักยับยั้งแล้ว ตัก ๑ ช้อน ไม่ตักเลย ตักส่วนน้อย ตักส่วนมาก คว่ำทั้งจานใส่บาตรเลย นี่ความคิดมันเป็นได้ทุกอย่างเลย แล้วเราจะเลือกอะไร ถ้าเราเลือกอะไร สติทันไหม สติมันใช้แล้ว ปัญญามันใช้แล้ว นี่คือการฝึกฝนไง เห็นไหม ๒๔ ชั่วโมงของเราภาวนาตลอดเวลา มันต่อสู้กับความต้องการของหัวใจ แล้วถ้ามีสติสัมปชัญญะยับยั้ง นี่คือการต่อสู้นะ นี่คือการใช้ปัญญานะ

การใช้ปัญญาไม่ใช่ว่าการนั่งสมาธิภาวนาใช้ปัญญา ปัญญาเกิดได้ทุกเวลา ปัญญามันเกิดตลอดเวลา ถ้าจิตเราพร้อม เราจะเห็นปัญญาตลอดเลย ฉันเสร็จแล้ว พอตักใส่บาตรแล้ว ข้าวมีอยู่สัก ๒๐ คำ ฉัน ๒ คำ หยุด ไม่ฉัน ฉัน ๕ คำ ฉัน ๘ คำ ไม่ฉันเลยก็ได้ ตักข้าวใส่บาตรแล้วนั่งดูเฉยๆ ก็ได้ ดูกิเลสมันดิ้น ดูความต้องการมันดิ้น ดูหัวใจมันดิ้น มันดิ้นให้มันดิ้นไป มันจะดิ้นให้มันดิ้นไป มือไม่จับ มือไม่หยิบเข้ามาใส่ปาก มันจะเข้ามาได้อย่างไร ให้มันดิ้นของมันไป นี่ต่อสู้กับมัน ต่อสู้ เหงื่อแตกเลย นี่คือการต่อสู้กับกิเลส

เราไม่เคยเจอกิเลสเลย เราไม่เคยเห็นกิเลสเลย เราบวชมา “นี่นักปฏิบัติๆ จะต่อสู้กับกิเลส”...ต่อสู้กับกิเลสหรือยอมจำนนกับกิเลสล่ะ ยอมจำนนกิเลส อะไรมา เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมไง “เป็นพระก็บิณฑบาตมาแล้ว ภัตตาหารเขาก็มาประเคนให้แล้วมันก็ถูกต้องหมด ตักใส่บาตรก็สิทธิของเรา มันก็มัชฌิมาปฏิปทา เป็นกลาง เรียบร้อย ถูกต้องตามธรรมวินัย”

ถูกต้องตามธรรมวินัย แต่ทำไมมันมีธุดงควัตรล่ะ ทำไมมีมักน้อยล่ะ ความถือสันโดษคือสิ่งที่พอมีพอเป็นไป มักน้อยมันมีแล้ว มักน้อยเพื่ออะไร? มักน้อยในกิเลสไง มักน้อยเพื่อไม่ให้กิเลสมันใหญ่ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมมักน้อยสันโดษเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ

ถ้าตัวเรามีความสำคัญทางศาสนา ถ้าตัวเรามีความสำคัญขึ้นมานี่ศาสนาเกิดแล้ว ศาสนาเกิดที่ไหน? ศาสนาเกิดที่ใจเราไง ใจเราเป็นธรรม ใจเรามีสติ ใจเรามีสัมปชัญญะ ใจเรามีปัญญาขึ้นมา นี่ใจเป็นธรรม ศาสนาเกิดแล้ว ธรรมะเกิดแล้ว ธรรมะเป็นเราแล้ว

แต่ถ้ากิเลสมันเกิด มันเหยียบจมดินไปเลย “นั่นก็ดี นี่ก็ดี โน่นก็ยอด” นั่นกิเลสเจริญ ธรรมะแห้งผาก เราได้แต่กากของอาหาร อาหารเป็นสิ่งที่ญาติโยมเขาต้องลงทุนลงแรงทำหน้าที่การงานของเขามา เขาหาเงินหาทองมา สิ่งนี้เป็นบุญกุศลของเขา เป็นเจตนาที่ดีของเขา อันนั้นเป็นบุญของเขา เป็นเรื่องของเขา สุขของเขา ทุกข์ของเขา

ส่วนของเรา สุขของเรา ทุกข์ของเรา เราเป็นนักรบ เราเป็นภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เขาก็ต้องการเจตนาเป็นบุญกุศลของเขา อันนั้นไม่มีความผิดเลย ของเขาบริสุทธิ์ผุดผ่อง เราตักใส่บาตรของเราแล้ว เราเอาไว้ข้างๆ บาตร มันไม่เสียหายตรงไหนเลย เราทำใช่ไหม ถ้าเป็นทิฏฐิมานะ “โน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ไม่ได้ไปหมด ผิดไปหมดเลย”

แต่ไม่ได้ ใช่ มันก็ไม่ได้ แต่วุฒิภาวะของโยมเขาไม่เข้าใจ พอเขาไม่เข้าใจ เขาแสวงหาของเขามา เขาทุกข์เขายากของเขามา ถ้าเจตนาตอบรับเขาดี เขาก็ชื่นใจของเขา ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะที่ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้วก็มีความชื่นใจ ปฏิคาหก ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ รับแล้วใช้ไปโดยบริสุทธิ์ สิ้นสุดไปแล้ว ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เราเอามาไว้ในบาตรเรา เขาไม่เห็นกับเราหรอกว่าเราจะฉันหรือไม่ฉันของเขา เขาไม่รู้หรอก แต่เขาเห็นเราตัก เขาก็ชื่นใจแล้ว โอ้! ท่านตักของเรา ท่านทำของเรา ดีอกดีใจ เขาดีใจก็ได้บุญของเขาแล้วนะ ถ้าเราโง่ เต็มท้อง ง่วงนอน แต่ถ้าเราตักมาอยู่ข้างบาตร เราไม่จับมันใส่ท้อง เราเอาตัวรอดได้นะ นี่ไง วุฒิภาวะของคฤหัสถ์เขากับวุฒิภาวะของพระ

พระเราต้องสูงกว่า เราเป็นคนชี้นำเขา เราเป็นคนชักนำเขา เราจะพาเขาไปที่ดี ถ้าเราพาไปที่ดี เราต้องตั้งใจ เราต้องมีสติสัมปชัญญะของเรา เราจะเอาตัวรอดได้ ถ้าเอาตัวรอดได้ พระก็เป็นพระที่ดี คฤหัสถ์ก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดี เพราะเขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา เป็นสิ่งที่ปกติของเขา เป็นความดีของเขา พระก็เป็นความดีของพระ เพราะพระเป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร พระก็ทำตัวให้เป็นพระที่ดี ศาสนาจะส่งเสริมกัน ศาสนาจะเจริญมาก ศาสนาจะไปได้สวยงามมากเลย ทำไมพระต้องออกบิณฑบาต บิณฑบาตก็เพื่อโยมเขาจะได้ใส่บาตร กิริยามารยาทของโยม มันตรวจสอบกันนะ นี่ศาสนาเจริญ

ความสำคัญของศาสนา ถ้าใจของเราแห้งผาก ตัวศาสนาเจริญ มันเป็นวันสำคัญทางศาสนา มันก็เป็นการจดจารึกไว้ในคัมภีร์ แต่ถ้ามันเป็นความสำคัญทางศาสนา ทุกคน คฤหัสถ์ก็มีความสำคัญในศาสนา ภิกษุก็มีความสำคัญในศาสนา วันสำคัญทางศาสนาระลึกถึงใคร? ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นเจ้าของศาสนา เจ้าของสวน เจ้าของไร่ เราเป็นพืชพรรณธัญญาหารในไร่นั้น ดูไร่สิ ในไร่มันก็มีผลไม้ มันก็มีแมลง มันก็มีวัชพืช มันมีทุกอย่างพร้อม เราจะเป็นอะไร

บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในวันวิสาขบูชา “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ วันนี้วันมาฆบูชา พญามารดลใจมาตลอดนะ “ให้นิพพานๆ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโต้แย้งกับมารตลอด “เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่แก่กล้า ยังไม่สามารถจะกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมปรินิพพาน”

มารก็ดลใจมาตลอด จนถึงที่สุดวันนี้วันมาฆบูชา วันนี้วันปลงอายุสังขาร “มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของเจ้าลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน” โลกธาตุนี้หวั่นไหว พระอานนท์นี้ตกใจหมดเลย ขนาดเป็นพระโสดาบันยังสะเทือนเลื่อนลั่น นี่เจ้าของศาสนา

เราเป็นบริษัท ๔ เป็นวัชพืช เป็นสัตว์ เป็นเชื้อโรคอยู่ในสวนนั้น นี่เจ้าของศาสนา เราจะทำอย่างไรเพื่อจะให้เป็นคุณธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ เราเคารพบูชา วันสำคัญทางศาสนาคือความสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ศาสนามีอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครมีวุฒิภาวะจะเข้าไปถึงธรรมอันนั้นได้ ถึงธรรมอันนั้น ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่มันอยู่ในหัวใจของเรานี่ ความรู้สึกของเรานี่แหละตัวธรรม ตัวธรรมคือตัวสสารรู้ ธาตุรู้ ธาตุ ๖ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ธาตุรู้ ธาตุ ๖ ตัว ตัวธาตุ ตัวสสารรู้ที่มีชีวิตที่มันเกิดมันตาย ตัวนี้เป็นตัวธรรมเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่เคยตาย นิพพาน วิมุตติสุข นิพพานคือสิ่งที่มีอยู่ จิตมันไม่เคยตาย สิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่ไม่เคยตายมันเข้ากันได้

แต่สิ่งที่ไม่เคยตาย แต่โดนกิเลสครอบงำอยู่ มันไม่เคยตาย มันตายไม่ได้ มันบุบสลายไม่ได้ มันถึงต้องเปลี่ยนแปลงสภาพ พอมันเปลี่ยนสภาพมันก็หมุนไปในวัฏฏะ มันก็เกิดก็ตายอยู่นี่ พอมันเกิดตายๆ มันวนอยู่ในวัฏฏะ นี่สิ่งที่มีอยู่แต่มันไม่เคยตาย มันโดนกิเลสอวิชชาครอบงำ มันก็หมุนไปในวัฏฏะ แต่เวลาสัจธรรม ธรรมะมันเข้าไปชำระสิ่งนี้ สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เคยตาย วิมุตติธรรมมันไม่ใช่สมมุติบัญญัติ มันพ้นจากสมมุติบัญญัติไป มันเป็นวิมุตติธรรมที่มันมีคงที่ของมัน คงที่ที่ไม่แปรสภาพ เพราะมันไม่มีอวิชชา

อวิชชาคืออะไร? อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ในอะไร? ไม่รู้ในสัจธรรม แต่รู้ตัวมันเอง พลังงานอะไรไม่รู้บ้าง ความร้อนมันก็มีความร้อน แต่มันไม่รู้ตัวมันเองใช่ไหม แต่ธาตุรู้มันมีพลังงาน มีความร้อน มันรู้ตัวมันเอง มันเผาผลาญตัวมันเอง มันเผาผลาญธาตุรู้ ธาตุรู้มันเผาผลาญตัวมันเอง มันร้อน มันทุกข์ สิ่งนี้มันเผาผลาญตัวมันเอง ทีนี้ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมาล่ะ เป็นธรรมขึ้นมา สัจธรรม มรรคญาณเข้าไปทำลายมัน เผาผลาญสิ่งนี้ เอาอะไรไปเผาผลาญ

วิชชา-อวิชชา วิชชาคือสัจธรรม สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป งานชอบ งานในการทำความสงบของใจ ใจจะสงบ จะเกิดปัญญาได้ มันต้องมีความสงบของมัน มีความสงบนี่มันเป็นสากล สมาธิเป็นสากล สมาธิมีอยู่แล้วในทุกลัทธิ แต่สมาธิของเขา สมาธิมันเป็นสากล แต่คำว่า “สากล” มันก็ยังเป็นมิจฉา-สัมมา มิจฉา มิจฉามันเห็นแก่ตัว มิจฉามันเข้าข้างแต่ตัวเอง มิจฉาหาผลประโยชน์ เพราะกลัวไง กลัวไม่รู้ กลัวไม่เห็น กลัวไม่เป็น กลัวไม่ได้ ความกลัวไม่รู้ กลัวไม่เห็น กลัวไม่เป็น กลัวไม่ได้ มันล่วงไปในอนาคตแล้ว มันจะไปเอาความรู้นั้นเป็นสมบัติของมัน กลัวไม่รู้ไง แต่ถ้าปล่อยหมด สัมมาไม่ใช่กลัวไม่รู้ มันเป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานของมัน แล้วพลังงานน้อมไปให้เห็นสิ่งที่จิตใต้สำนึกที่มันยึดมั่นถือมั่น

คนเรา ดูสิ เรารักกันชอบกัน รักกันใคร่กัน มันรักจากใครล่ะ ไม่มีเรา ไม่มีขั้วบวกขั้วลบ มันจะเกิดสันดาปไหม ไม่มีขั้วบวกขั้วลบ เกิดสันดาปขึ้นมาได้อย่างไร มันก็ต้องมีขั้วบวกขั้วลบมันถึงเกิดสันดาปของมันขึ้นมา ไม่มีเราจะไปรักใคร ไม่มีขั้วบวกขั้วลบระหว่างเพศตรงข้าม ขั้วบวกขั้วลบไม่มีมันจะไปสันดาปกับใคร มันมีแต่เขามันก็สันดาปกันไม่ได้ มันมีแต่เรามันก็สันดาปกับใครไม่ได้ เพราะมันมีเราขึ้นมาก่อนก็มีสักกายทิฏฐิยึดเราก่อนไง ความหลงผิดในเรา ความหลงผิดในสิ่งที่มันมีอยู่จริงในตามสมมุติ มันมีอยู่จริงโดยกรรม ในสถานะการเกิด การเกิดการตายมันเวียนไป

ดูสิ ผู้หญิงจะแปลงเพศเป็นผู้ชายก็ได้ ผู้ชายจะแปลงเพศเป็นผู้หญิงก็ได้ พระอานนท์เคยเป็นผู้หญิงมาก่อน แต่มีความปรารถนาอยากเป็นผู้ชาย การเกิดการตายมันปรับสภาพของมันไป ๕๐๐ ชาติก็เกิดมาเป็นผู้ชาย แล้วใครเป็นหญิงเป็นชายแท้ หญิงชายแท้อยู่ที่ไหน จิตนี้มีหญิงมีชายไหม จิตนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตก็คือจิต ความรู้สึกเป็นความรู้สึก เพียงแต่ว่าแรงปรารถนา ด้วยกรรมของแต่ละบุคคล หญิงก็เกิดเป็นหญิง ชายก็เกิดเป็นชาย เกิดเป็นหญิง หญิงก็มีอารมณ์ความรู้สึกของเขา ชายก็มีอารมณ์ความรู้สึกของเขา วุฒิภาวะมันถึงแตกต่างกันไป

เวลาจิตมันสงบเข้ามามันมีหญิงมีชายไหม เวลาปฏิบัติขึ้นมา ปัญญามีหญิงมีชายไหม มันไม่มีหญิงมีชายหรอก จิตนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ต่อเมื่อมันชำระกิเลสได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่ชำระกิเลสอยู่ ไม่ใช่ไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะอะไร เพราะขั้วบวกขั้วลบสันดาป เพราะเราไง เพราะติดในเรา ความติดในเรา ความไม่รู้จักเรา ถ้ามันรู้จักเรา ทำลายเราแล้ว เราเข้าใจเราทั้งหมด เราเข้าใจเราแล้ว เราเข้าใจสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อุปาทานในจิต กามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นความพอใจ กามราคะมันเกิดจากกามฉันทะ คือมันมีตัวพลังงานของจิตก่อน ถ้ามีตัวพลังงานของจิต จิตมันต้องการอะไร ไม่มีเรา เราจะปรารถนาอะไร สิ่งที่ปรารถนา ใครเป็นคนปรารถนา สารตั้งต้นไม่มี มันจะเกิดกระบวนการการผลิตมาได้อย่างไร มันไม่มีหรอก สิ่งที่มันจะเกิดการกระทบกระเทือนขึ้นมามันต้องมีสารตั้งต้นขึ้นมาใช่ไหม มันมีกามฉันท์ในหัวใจของเราขึ้นมาก่อน

สักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดในกาย ถ้ามันรู้สึกมันเห็นถูกในกายแล้ว มันถอนอุปาทานแล้ว มันเกิดความฉันทะขึ้นมาได้อย่างไร ฉันทะมันเป็นกิเลสอันละเอียดที่ในหัวใจมันยังมีของมันอยู่ ถ้ามีของมันอยู่ เกิดกามฉันทะ กามฉันทะมันพอใจตัวมันเอง พอมันพอใจในตัวมันเอง มันอิ่มในตัวมันเองแล้วมันก็จะออกหาเหยื่อ ออกหาสิ่งที่มันชอบมันพอใจ ความสุภะ ความสวยความงาม ความต้องการต่างๆ เกิดขึ้นมา นี่เป็นกามราคะ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องสมุฏฐานของจิต มันมีมาสภาพนี้อยู่แล้ว

ทางโลกเป็นกามคุณ ๕ สิ่งที่เป็นการสืบต่อ การดำรงเผ่าพันธุ์ ทางโลกเขาว่า “ถ้าถือศีล ๕ กันหมดแล้ว ถ้าบวชเป็นพระหมดแล้ว โลกจะมีคนสืบต่อสกุลกันได้อย่างไร” นี่ความวิตกกังวลของกิเลส แต่ความเป็นจริงไม่ต้องหรอก โดยธรรมชาติของมัน สภาคกรรม กรรมมันหมุนเวียนไปถึงวาระของมัน สภาวะมันจะเกิดมหาศาลเลย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หมุนเวียนไปในวัฏฏะ เพราะการสร้างกรรมมา คนสร้างกรรมมหาศาล ไม่ต้องวิตกกังวลสิ่งที่จะไม่มีผู้มารับผิดชอบสิ่งต่างๆ วิตกกังวลแต่มันจะมีมากเกินไปจนไม่มีใครควบคุมมันได้

ฉะนั้น เราอยู่ในสังคม เราต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ถ้าเรากำจัดใจของเรา เราชำระกิเลสในใจของเรา สิ่งที่เป็นสารตั้งต้นในหัวใจมันเกิดมาจากอะไร? เกิดมาจากความเข้าใจผิดของมัน มันถึงออกรับรู้ พอรับรู้ขึ้นไป ออกไปมันก็เป็นกามราคะ แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะทำให้จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามา สารตั้งต้นอันนี้มันเป็นความพอใจของมัน มันจะทำลายในตัวมันเองของมัน มันจะเห็นสิ่งตรงข้าม เพราะโดยสัญชาตญาณของมันต้องการความสวยความงาม ความพอใจของมัน เพราะกามฉันท์มันพอใจตัวมันเองแล้วมันต้องการสิ่งที่มันปรารถนา สิ่งนี้พอเป็นธรรมขึ้นมา พอจิตสงบขึ้นมามันเห็นอะไร? มันเห็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม

สัจธรรม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด มันเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด มันแปรสภาพทั้งหมด สิ่งที่คงที่ในโลกนี้ไม่มี มันเป็นโดยสัจธรรม ธรรมะเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าสัจจะความจริงในหัวใจ เพราะใจมันเร็วมาก พอจิตมันสงบ สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดแล้วมันสงบตัวขึ้นมา พอมันเห็นเรื่องของร่างกายนี้เป็นอสุภะ อสุภะเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ สิ่งที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด

สิ่งที่เคลื่อนที่ เราเคลื่อนที่ เราเห็นภาพต่างๆ ภาพจะเคลื่อนไหว พอเรายืนนิ่งปั๊บ ภาพมันจะชัดเจนใช่ไหม สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด พลังงานธรรมชาติของมันแสดงอาการออกไป มันเป็นความพอใจของมัน แล้วมันหมุนเวียนไปตามธรรมชาติของมัน พอจิตมันสงบขึ้นมา พอมันหยุดนิ่งขึ้นมา มันเห็นขึ้นมา สิ่งที่มันเคลื่อนไหวไปมันเป็นสัจธรรม มันเป็นความสวยความงาม สิ่งที่คงที่ สิ่งที่หยุดขึ้นมา มันเห็น มันเป็นอสุภะ อสุภะเพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจุบันธรรม มันเกิดขึ้นในสภาวะแบบนั้น มันเกิดขึ้นได้เพราะเป็นสัจธรรม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเป็นมหาสติ-มหาปัญญาในหัวใจ นี่สัจธรรม สิ่งนี้เกิดขึ้นในใจของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว นี่เกิดขึ้นในอสุภะ ยังไปทำลายจิตอีกชั้นหนึ่งนะ

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์เกิดขึ้นมาแล้ว ทำลายมาแล้ว ทำลายสิ่งต่างๆ ทำลายถึงที่สุด ทำลายอสุภะอสุภังจนถึงที่สุดแล้ว จิตนี้ว่างหมด จิตนี้ปล่อยมาหมด จิตนี้เป็นจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้เข้าไปทำลายตัวจิตเดิมแท้ ถ้าไม่รู้จริง เป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานสงฆ์เสียเอง เป็นผู้กล่าวโอวาทปาฏิโมกข์ “จะไม่ทำความชั่วใดๆ ทั้งสิ้น ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตนี้ให้ผ่องแผ้ว”

ไม่ทำชั่วใดๆ ทั้งสิ้น ชั่วที่ไหน? ชั่วที่มโนกรรม ชั่วที่ความคิด ไม่ใช่ชั่วที่การกระทำนะ ชั่วที่ความคิด ความคิดมันชั่ว ความคิดมันชั่วเพราะอะไร เพราะมันมีอวิชชาครอบงำ พอมีอวิชชาครอบงำขึ้นมา จิตเสวยอารมณ์ จิตเสวยความคิด จิตมันไม่ใช่ความคิด พอมันเสวยความคิด ถ้ามันมีอกุศลขึ้นมามันก็คิดชั่วออกไป แต่ถ้ามันมีคุณธรรมขึ้นมา มันกระเพื่อมออกมา มันจะคิดชั่วได้อย่างไร มันไม่คิดชั่วเพราะอะไร เห็นไหม ไม่ทำความชั่วใดๆ ทั้งสิ้น ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว ไม่ทำความชั่ว เสวยอารมณ์มันมีสติพร้อมไป เวลาพลังงานตัวนี้มันเคลื่อนออกไปมันมีสติพร้อม ไปดูการเคลื่อนไหว ดูสิ เราขยับตัว เราจะรู้สึกตัวไหม ลมพัดมา เราจะรู้ถึงความเย็นไหม จิตที่มันจะเสวยอารมณ์ พลังงานนี้มันจะขยับตัว มันพร้อมกับสติอัตโนมัติ สติอัตโนมัติมันเขยื้อนออกไป มันจะทำความชั่วได้ไหม นี่ไม่ทำความชั่วใดๆ เลย ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ก็อยู่ในวิมุตติสุขไง จิตผ่องแผ้ว จิตใสสะอาดของมันโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ใสสะอาดแบบจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ที่ใสสะอาด มันใสสะอาดแต่ไม่รู้จักตัวมันเอง

มันใสสะอาด ดูสิ เรามองพระอาทิตย์สิ ใสสว่าง เรากับพระอาทิตย์อยู่ห่างกันกี่พันปีแสง ดูสิ พระอาทิตย์กับเราอยู่ห่างกันขนาดไหน แล้วดูเวลาจิตมันผ่องใสๆ กับธรรมมันห่างกันเท่าไร แต่ถ้าพระอาทิตย์โดนทำลายหมด จักรวาล แกนของโลก แกนของกิเลสต่างๆ ในหัวใจ ภวาสวะ ตัวภพ ทำลายทั้งหมดแล้ว มันมีอะไรสว่างไสว มันมีอะไร

“ไม่ทำความชั่วใดๆ ทั้งสิ้น ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว” นี่มันเป็นภาษาสมมุติ ภาษาสื่อความหมาย แต่ผู้ที่รู้จริงรู้เหมือนกันหมด เอ่ยขึ้นมา คนรู้กับคนรู้คุยกันมันเข้าใจง่าย ถ้าคนไม่เข้าใจ คนไม่รู้ ทำอะไรเข้าไปมันก็ไม่เข้าใจ

วันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงโอวาทปาฏิโมกข์ แม้แต่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ก็ยังกล่าวโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะอะไร เพราะมันเป็นความรื่นเริงในธรรม คนดีมันต้องมีจุดศูนย์กลางของความดีสิ

คนดีๆ ดีตรงไหน คนนั้นเป็นคนดี ดีของใคร ดีของโจรก็ได้ ดีของมหาโจรก็ได้ ดีของคนดีก็ได้ คำว่า “ดี” แต่ความดีของคนมีคุณธรรม ความดีมีความเข้าใจกันทั้งหมด ความดีของคนมีคุณธรรม ความเข้าใจ เพราะดีถึงดีไง ไม่ใช่ดีแบบโลก ดีเพื่อจะเอาความชั่วข้างหน้า ดีเพื่อหลอกลวง เห็นไหม

เราต้องตั้งสติ เราเป็นนักรบ เราเป็นชาวพุทธ วันสำคัญของศาสนา ญาติโยมเขายังมีความรื่นเริงอาจหาญ เขายังแสวงหาของเขา เราอย่านอนใจ หน้าที่การงาน นกยังมีรวงมีรัง คนเราเกิดมา พระอรหันต์ก็มีร่างกาย พระอรหันต์ก็ต้องกินต้องถ่ายเหมือนกับเรา คือว่าการกิน การถ่าย การอยู่ มันต้องใช้สอย มันต้องมีเครื่องดำรงชีวิต ปัจจัยเครื่องอาศัยนี้เราแค่ดำรงชีวิต

ทีนี้ถ้าเราเกิดเป็นวัดเป็นวาขึ้นมา นี่เป็นความรับผิดชอบ ถ้ามันกว้างมันใหญ่ เราก็ต้องดูแลของเรา มันจัดเวรจัดวาระได้ อะไรที่มันหนักหนาเกินไป เราก็จัดวันเว้นวัน สิ่งที่เป็นการกระทำ สิ่งนี้ทำได้ การทำได้มันอยู่ที่นิสัยของคน นิสัยของคนเข้มแข็งมันก็เข้มแข็ง นิสัยของคนอ่อนแอมันก็อ่อนแอ นิสัยของคนปานกลาง อย่างนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย ความเห็นของคนมันหลากหลาย ความอยู่ด้วยกัน

จริงอยู่ ในธรรมบอกว่า ผู้ที่มีทิฏฐิเสมอกัน มีความเห็นเสมอกัน อยู่ด้วยกันจะมีความสุขมาก นี่เป็นความจริง แต่คนอย่างนี้จะหาได้ที่ไหนล่ะ การหา การเกิดขึ้นมา จริตนิสัย ดูสิ เราเกิดมาตามแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยนี่แหละ เกิดคนละภูมิภาค วัฒนธรรมการดำรงชีวิตมันก็หลากหลาย แล้วมาอยู่ร่วมกัน ถ้าใครได้ใช้ชีวิตแบบวัฒนธรรมของตัวมันก็รู้สึกว่าคล่องตัว ถ้าใช้วัฒนธรรมหนึ่ง แต่สิ่งนี้มันเป็นการฝึกได้ การแสวงหาได้

ดูสิ พระธุดงค์ของเราสมัยพุทธกาล เวลาพระออกพรรษาแล้วต้องออกธุดงค์ ธุดงค์กลับมาแล้ว เวลาคุยกัน “ที่นั่นดินดำ ที่นั่นดินดี” แค่นี้นะ การเช็คดิน การทำไร่ทำนา การดำรงชีวิต นี่เป็นติรัจฉานวิชา เพราะพระคุยกันอยู่อย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา “เธอคุยอะไรกันอยู่”

“ข้าพเจ้าคุยกันว่าไปธุดงค์บ้านนั้นมาบ้านนี้มา ก็มาคุยกันว่าที่นั่นดินดี ที่นั่นดินดอน”

“นั้นเป็นติรัจฉานวิชา เป็นวิชาที่ทำให้เนิ่นช้า”

แค่เราคุยกันเรื่องความเป็นอยู่นี่ยังเป็นติรัจฉานวิชาเลย เพราะสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านกระตุ้นให้พระเราตื่นตัวตลอดเวลา อย่านอนใจ หลวงตาท่านบอกว่า สูดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ดึงเข้าดึงออก หายใจเข้าหายใจออก หยุดเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะสิ้นอายุขัย อายุ ๘๐ ปี อายุ ๙๐ ปี เด็กๆ ตายก็มี คนอายุปานกลางตายก็มี คนชราตายก็มี อย่านอนใจ ถ้าไม่นอนใจขึ้นมา กาลเวลามันกินเราไปตลอดเวลา เราจะต้องตื่นตัว แล้วต้องมีสติสัมปชัญญะ ถ้าเราตื่นตัว ตั้งใจปฏิบัติ มันเป็นความเพียรชอบ

ถ้ามันทำของเรา สักแต่ว่าทำ เดินจงกรมไป เดินจงกรมลอย เดินจงกรมเหมือนหุ่นยนต์โรงงานมันทำตามวงจรงานของมัน ทำได้ทั้งวันทั้งคืน ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่มันไม่รู้อะไรเพราะมันไม่มีชีวิตใช่ไหม แล้วเราเดินจงกรมนั่งสมาธิเป็นอย่างนั้น เพราะขาดสติ ถ้าขาดสติเป็นเหมือนหุ่นยนต์เลย สักแต่ว่าทำ ผลมันไม่มีไง แต่ถ้าสติพร้อม ผลงานมันเกิด

เพราะจิตเวลาที่ว่าเห็นอสุภะๆ มันเห็นไม่ได้หรอก มันเห็นโดยตาเนื้อไม่ได้ เพราะตาเนื้อเป็นวิชาชีพ หมอเขาผ่าตัดก็ไม่เห็นหรอก มันเป็นวิชาชีพ มันเห็นโดยสัญชาตญาณ เห็นโดยเปลือกของตา แต่ถ้าพูดถึงเห็นโดยจิต โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมาก มันไม่ใช่หุ่นยนต์ไง นี่หุ่นยนต์ “นี่เห็นอสุภะๆ” แล้วเอารูปอสุภะมาดูกัน “อสุภะๆ” มันเป็นกระดาษเปื้อนหมึก มันเป็นอสุภะที่ไหนล่ะ

อสุภะ จิตมันเห็น ถ้าจิตมันเห็น มันสะดุ้งสะเทือนที่จิต จิตสะดุ้งสะเทือนมาก เพราะอะไร เพราะสิ่งหลงผิดมันอยู่ที่นั่น ศรมันปักอยู่ที่นั่น แล้วจะไปถอนศรออกจากใจ ดึงศรออกมามันต้องมีเลือด ศรมันมีหยักมีเขี้ยว เวลาดึงออกมามันจะบาดจากใจออกมา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราจะไปรื้อไปถอน มันเห็นมันสะดุ้งสะเทือน ความสะดุ้งสะเทือนนั้น โอ้โฮ! มันจะสว่างโพลง สะดุ้งสะเทือนขึ้นมา มันสว่างหมด จิตมันสะเทือนหมดเลย พอจิตสะเทือนขึ้นมา มันสะเทือนหมด ปัญญามันโพลงหมด นั่นมันถึงเป็นความจริง มันถอนได้ขนาดนั้น

ไม่ใช่ความคิดหรอก ไม่ใช่ความคิดตอกย้ำกัน “นี่สัจธรรมๆ” ไอ้นี่มันปากโม้ นกแก้วนกขุนทอง

ใช่อยู่ ว่าพูดถึงธรรมะแล้วมันสลดใจ สลดใจ นกแก้วนกขุนทองเวลามันพูด “แก้วจ๋า” โอ้โฮ! เจ้าของตบมือให้เพียบเลย มันก็ได้ผลงานของมันไง แต่มันละภพชาติได้ไหม ลองเอาอริยสัจไปสอนนกแก้วสิ แล้วให้นกแก้วมันพูดสิ มันก็พูดได้ นกแก้วมันก็พูดได้ “อริยสัจๆ” มันก็พูดได้ แล้วมันรู้ไหม มันรู้อะไร นี่ก็เหมือนกัน เราก็ท่องเหมือนนกแก้วนกขุนทองเลย ท่องที่ปากไง “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สติปัฏฐาน ๔” พูดกันแต่ปาก แล้วมันเห็นจริงไหม

ถ้ามันเห็นจริงมันไม่พูดอย่างนั้น มันเห็นจริง เราเคลื่อนไหวไป มันสลดสังเวช มันธรรมสังเวชตลอด เห็นคนเคลื่อนไหว เห็นคนเกิดคนตาย มันก็เจ็บปวดหัวใจแล้ว เพราะการเคลื่อนไหวอย่างนี้ การเกิดการตายอย่างนี้ ทำไมมันสะเหล่อ ทำไมมันเผลอมันเหม่อมันลอย แล้วมันมาอยู่วัดกัน มันบอกมันจะมาปฏิบัติๆ ดูสิ มันยังเผลอตัวเอง การขยับไม่มีสติเลย มันเหมือนหุ่นยนต์ๆ

ครูบาอาจารย์เวลาท่านเตือนสตินะ “พวกนี้พวกศพเดินได้” เหมือนไม่มีจิตวิญญาณไง เหมือนศพ

แต่ถ้ามันมีสติ มันเป็นคน ไม่ใช่ศพ มันมีสติสัมปชัญญะ มันเคลื่อนไหวมาจากจิต มันเคลื่อนไหวมาจากหัวใจของมัน หัวใจของมันเคลื่อนไหวออกมา พอหัวใจมันเคลื่อนไหวออกมา สติมันทันๆ

การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาต้องมีสติ เรามีสติสัมปชัญญะของเรา เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ทำอะไรตั้งใจทำ มันทำซ้ำทำซาก เหมือนการตรวจสอบทดสอบ ถ้ามันผิดพลาด คนเราทำผิดแล้วทำซ้ำ ทำไมภาวนามาแล้ว ๗ วันนี้จิตเป็นอย่างไร ถ้ามันไม่ดีขึ้นมา เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะมีสิ่งใดแก้ไขบ้าง จะตั้งสติอย่างไร จะกำหนดเวลา หัวค่ำขึ้นมาสวดมนต์ สวดมนต์เสร็จนั่งสมาธิภาวนาถึงกี่ทุ่ม กลางคืน ดูสิ พระจันทร์ขึ้นขนาดนี้เดินจงกรมได้สบายมาก แล้วนอนชั่วโมงสองชั่วโมง ตี ๔ ตี ๕ ลุก แล้วภาวนาต่อ สู้กันอยู่อย่างนี้ กลางวันหาที่ร่มเอา หาที่พักเอา สู้กับมัน สู้กับมัน

หน้าที่การงานของโลก ดูสิ ดูเขาตัดอ้อยกัน กลางคืนเขายังตัดอ้อยเลย แค่ตัดอ้อย เขาก็ตัด ๒๔ ชั่วโมง เขาต้องการเงินของเขา เขาตัดอ้อย เขาขวนขวายตลอด ไอ้นี่จะพ้นจากทุกข์ จะพ้นจากทุกข์ทำงานแพ้คนตัดอ้อย คนตัดอ้อยเขายังตัดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ไอ้นั่งสมาธิภาวนาทำเล่นทำหัวกันอย่างไร

ถ้ามันทำจริงขึ้นมามันจะเป็นผลงาน แล้วมันเทียบเคียงขึ้นมาได้ นี่สันทิฏฐิโก การประพฤติปฏิบัติมันวัดกันเวลาใจมันสงบ ใจมันสงบ ใจมันมีหลักมีเกณฑ์ พระที่มีศีลมีธรรม ดูการเคลื่อนไหว พระอัสสชิบิณฑบาต พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก เห็นการเหยียดการคู้ “พระองค์นี้มีสติ” การเคลื่อนไหวมันทำให้เห็นว่าไม่จับพลัดจับผลู ไม่ทำสิ่งใดขาดตกบกพร่อง “เอ๊! น่าเคารพบูชา” ตามไปเลย

“ใครเป็นอาจารย์ของท่าน”

“เราเป็นผู้บวชใหม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมณโคดมเป็นอาจารย์ของเรา”

“อาจารย์สอนอย่างไร”

“สอนว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

แต่ของเราท่องจำธรรมเขามา ไม่สาวไปหาเหตุ

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุคืออะไร? เหตุคือหัวใจ เหตุคือการเกิดและการตาย เราก็ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุใช่ไหม เหตุ ธรรม สัจธรรม เราก็ท่อง “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุคือทุกข์” แล้วก็ท่องๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่เห็นสักที นี่นกแก้วนกขุนทอง เพราะอะไร เพราะคุณธรรมในหัวใจมันไม่พอ มันไม่พร้อมที่จะรู้จริง มันไม่พร้อมที่จะต่อสู้ มันไม่พร้อมที่จะเผชิญกับความจริง

มันต้องพร้อมเผชิญกับความจริง ถ้าจิตเราพร้อมเผชิญกับความจริง มันเร็วมาก เราเหมือนกับทางโลก ทางวัตถุ ทางสสาร ต้องจับต้องแล้วดูว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แล้วเราถึงจะเชื่อ แต่เวลาจิตมันเป็น มันไวมาก แล้วจิตสงบขึ้นมามันเห็นเข้า มันเร็ว โอกาสในการทำงาน ความเร็วของจิต สติมันพร้อมกับความเร็วของจิตแล้วเป็นสมาธิ เวลาเกิดภาพขึ้นมาในหัวใจเป็นนิมิต มันจะเร็วมาก มันจะจับกัน มันจะทำลายกัน ต่อสู้กันในหัวใจ เราจะรู้เราจะเห็น เราจะตื่นเต้น นี่มันเกิดการกระทำ นี่ศากยบุตรพุทธชิโนรส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอก “เมื่อไหร่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้”

มันจะกล่าวแก้ได้อย่างไร ถ้ามันกล่าวแก้ได้ก็นี่ไง ว่าพระพุทธเจ้าปรารถนาอะไร พระพุทธเจ้าต้องการให้พระทำงานอย่างไร แล้วงานของพระกับงานของโลกมันต่างกันอย่างไร งานของโลกก็งานอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อหาอยู่หากินของเขา งานของพระก็นั่งสมาธิภาวนา เพื่อหางานในใจของตัว เวลาใจของตัวมันเกิดการงานขึ้นมา งานในการชำระกิเลส ในการพิจารณากาย กายนอก กายใน กายในกาย พิจารณากายในกายถึงที่สุด งานของพระมันปฏิบัติอย่างไร มันเปรียบเทียบได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเวลาจะไปกล่าวแก้ เวลาเขาพูดถึงงานของโลกขึ้นมา จนตรอก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบิณฑบาต พราหมณ์บอกเลย “สมณะอย่าขี้เกียจสิ สมณะต้องไถนา โยมเขายังไถนากินเลย พระทำไมมาบิณฑบาต ต้องไถนา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบทันที “เราไถนาอยู่ตลอดเวลา เราใช้ปัญญาเป็นแอก ใช้สติเป็นผาล ใช้ตัวเราเป็นเนื้อนา เราไถอยู่ตลอดเวลา เราไถจิต เราแก้ไขตลอดเวลา”

สมณะพราหมณ์เคารพบูชามาก

พราหมณ์เขาไม่ใส่บาตร พระพุทธเจ้าบิณฑบาตไป เขายังไม่ใส่บาตร เขาจะไล่ให้พ้นหน้าบ้านเขาไป เขาบอก “ทำไมสมณะไม่ทำงาน โยมยังต้องทำงานเลย”

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เราไถตลอดเวลา เราทำ จิตเราหมุนเวียนตลอดเวลา จิตเราแก้ไขกิเลสอยู่ตลอดเวลา”

ศรัทธามาก ศรัทธามากก็อยากจะใส่บาตรไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เรารับไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยขอด้วยเสียง บิณฑบาตด้วยภิกขาจาร ด้วยปลีแข้ง การขอด้วยเสียง พระพุทธเจ้าไม่รับ”

“ถ้าไม่รับ แล้วอยากทำบุญ ทำอย่างไร”

“เราไม่เห็นสิ่งใดๆ ในโลกนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่รับบิณฑบาตแล้วจะมีใครมีบุญกุศลใหญ่กว่าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะรับบิณฑบาตได้ ฉะนั้น ให้เอาอาหารนี้ไปเทลงใส่ในแม่น้ำ” พอเทลงใส่แม่น้ำ ลุกเป็นไฟขึ้นมาเลย นี่ไง การกล่าวแก้ในลัทธิต่างๆ

ถ้าเราภาวนาเป็น เราภาวนาของเราขึ้นมา เราจะเข้าใจว่างานของสมณะมันหนักหนาสาหัสสากรรจ์แค่ไหน สมณะ เห็นไหม สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ ผู้ใดเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง เขาเห็นความสงบสงัด ความเป็นธรรมในหัวใจ เป็นมงคลกับชีวิตของเขา เป็นมงคลชีวิตอย่างไร เพราะมันเป็นมงคลชีวิตกับผู้ที่รู้เห็นรู้แจ้งมาก่อน เพราะคนที่จะเป็นสมณะ ๑ ๒ ๓ ๔ ได้ เขาต้องพยายามต่อสู้กับกิเลสของเขา เขาใช้ปัญญาญาณของเขา เขาต่อสู้ เขาแลกมาด้วยชีวิต เขาต่อสู้มา ทำไมถึงเป็นมงคลล่ะ

มันเป็นมงคลกับผู้ที่เป็นสมณะ เป็นมงคลก่อน แล้วผู้ที่เห็นสมณะถึงเป็นมงคลต่อๆ ไป นี่การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง แค่เห็นสมณะก็เป็นมงคลของเขาแล้ว เขายังได้บุญกุศล เขายังได้ตักบาตร ทำบุญกุศลของเขาต่อๆ กันไป นี่เป็นบุญของเขา แต่เขาก็มีกิเลส เขาก็ต้องการความสะดวกสบายของเขา เขาอยากทำเพื่อประโยชน์ของเขา กิเลสของเขา เราเป็นสมณะ เราจะเชื่อเขาไม่ได้

คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก คนโง่มากกว่าคนฉลาด เขาโคกับขนโค ทีนี้คนโง่มาก เราจะเชื่อคนโง่ไม่ได้ เราต้องเชื่อเขาโค โคตัวหนึ่งมีเขาอยู่ ๒ เขา เราถึงเชื่อศาสดา เชื่อครูบาอาจารย์ของเรา เชื่อสมณะ เชื่อความเห็นจริงของเรา เราจะไม่เชื่อใคร เอวัง