เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ส.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ หลวงตาไม่มี แล้วสังฆะมันมาจากไหน สังฆะนี้มาจากไหน พระรัตนตรัยนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา มีพระพุทธเจ้ากับพระธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระสงฆ์องค์แรกของโลก ถ้าไม่มีพระสงฆ์ พระรัตนตรัยจะครบได้อย่างไร

เวลาคึกฤทธิ์พูด อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่นเห็นไหม หลวงตาพูดถึงหลวงปู่มั่นว่า “พระพุทธเจ้ามาสอนหลวงปู่มั่น”

คึกฤทธิ์บอกเลย บอกว่า “หลวงปู่มั่นสอนให้โง่หรือสอนให้ฉลาด ในเมื่อนิพพานมันไม่มีแล้ว นิพพานมันสูญไปแล้ว เอาอะไรมาสอนหลวงปู่มั่น” มันมาจากไหน

หลวงตาบอกว่า “ถ้าจะปฏิเสธว่าพระพุทธเจ้าไม่มี ต้องปฏิเสธก่อนว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไม่มี”

แล้วพระสงฆ์มีไหม พระสงฆ์ในสังคมไทยมีกี่แสนองค์ แล้วพระสงฆ์ที่เป็นพระสงฆ์ที่ดีก็มี พระสงฆ์ที่เลว ! ก็มี หลวงพ่อ หลวงตา ที่สอนผิด มันก็ผิดจริงๆ นั่นแหละ หลวงพ่อ หลวงตา ที่ไม่เป็นสอนผิด มันก็ผิด

พุทธพจน์ ! ให้เชื่อพุทธพจน์..พุทธพจน์ พุทธพจน์มันก็เหมือนกฎหมาย กฎหมายนี่พอเราทำความผิดขึ้นไป มึงมีสิทธิที่จะฟ้อง แต่กูก็มีสิทธิที่จะแก้ต่าง เอากูขึ้นศาล แล้วศาลวินิจฉัยมา ว่ากูถูกหรือผิด

พุทธพจน์ก็เหมือนกัน พุทธพจน์เหมือนกฎหมายเลย แต่กฎหมายนี้อยู่ที่คนตีความใช่ไหม อ้างพุทธพจน์แล้วบังคับ มึงบังคับเขา แล้วตัวมึงเองล่ะ มึงได้ประโยชน์มึงก็ว่าพุทธพจน์ พอบอกว่าในพระไตรปิฎกบอกว่า นรก สวรรค์มี เทวดามาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เห็นไหม เทศน์ธรรมจักรขึ้นไปนี่ เทวดา อินทร์ พรหม ส่งข่าวเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ ! อันนี้แต่งเติมเข้ามา เขาปฏิเสธนรก สวรรค์ เขาปฏิเสธว่า สิ่งที่เป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันเป็นอนุชนแต่งเข้ามาในพระไตรปิฎก

เวลาบอกถ้าเป็นความดีความชอบ เป็นความเห็นของมัน มันบอกพุทธพจน์ เวลาไม่เห็นด้วยมันบอกว่าไม่ใช่ ! แล้วบอกว่าต้องเชื่อพุทธพจน์ พุทธพจน์เหมือนกฎหมายนี้ มึงก็ถามสิ ถามว่ามึงผิดอะไร มึงบอกมาสิ พุทธพจน์สอนว่าอย่างไร เอ็งอ้างพุทธพจน์กันนะ เอ็งอ้างพระไตรปิฎก เอ็งเชื่อพระไตรปิฎกหรือเปล่า ถ้าเอ็งเชื่อพระไตรปิฎก เอ็งจะไม่ทำตัวกันอย่างนี้

ดูอย่างของพวกเรา ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เชื่อธรรมวินัย พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าไง เวลาพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เราจะพึ่งใคร “อานนท์ ! เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา... แม้แต่เราศาสดาก็จะต้องตายในคืน สิ่งใดพึ่งไม่ได้ ให้พึ่งธรรมและวินัย จะเป็นศาสดาของเธอ”

ธรรมและวินัย ! พุทธพจน์ก็ธรรมวินัย ถ้าคนเคารพพระธรรมวินัย ธรรมวินัยจากข้างนอก ธรรมวินัยคือกฎหมาย กฎหมายสมมุตินะ กฎหมายนี่เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย กฎหมายจะบังคับอะไรเรา

นี่ก็เหมือนกัน ไอ้นี้พูดถึงกฎหมาย นี้วินัย แล้วธรรมะ ธรรมะมันยิ่งกว้างขวางขึ้นไปใหญ่ ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริง เห็นไหม แล้วบอกว่า กฎหมายบังคับอะไร พุทธพจน์ ! พุทธพจน์ ! ยานี้รักษาอะไร ถามซิ ถามไอ้คนว่าพุทธพจน์นะ เขารักษาอะไร มึงยังไม่รู้เลย !

มึงว่า “พุทธพจน์ ! พุทธพจน์ !” พุทธพจน์ แปลว่าอะไร มึงอ่านด้วย ตัวอักษรมึงอ่านออกไง เหมือนเราอ่านทับศัพท์เห็นไหม เราอ่านภาษาอังกฤษออก แต่ความหมายเราไม่รู้ ไม่รู้หรอก อ่านพระไตรปิฎกอ่านไปเถอะ อ่านหนังสือออก แต่อ่านความหมายในสัจธรรมนั้นไม่ออก

แล้วเราประพฤติปฏิบัติกันขึ้นมา เพื่อจะให้จิตมันสงบเข้ามา ให้มันมีข้อเท็จจริงขึ้นมา ถ้ามันขัดแย้งกัน ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ !

เขาบอกว่า “สมาธิไม่ต้องทำ ไม่ต้องทำสมาธิเลย สมาธิห้ามทำเลย เพราะสมาธิทำแล้ว โง่เง่าเต่าตุ่น !”

ไอ้คนโง่เง่าเต่าตุ่น ในวงกรรมฐานเรา ในวงของครูบาอาจารย์ของเรา ที่ประพฤติปฏิบัติมันกี่องค์เอง ทำไมครูบาอาจารย์เราแสดงธรรมขึ้นมา

ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงตาท่านพูดเอง หลวงปู่มั่นไม่เคยว่างเลย สอนเทวดา อินทร์ พรหม ตลอด ยายกั้งนะเห็นไหม ที่มาตอนเกือบสว่างหรืออะไรนะ หน้าเต็มไปหมด เหลืองเป็นทองไปหมดเลย มันเชื่อไหม

มันว่า พุทธพจน์ ..พุทธพจน์.. มึงเชื่อไหม แล้วในวงปฏิบัติมันมีไม่เท่าไร แต่ผลงานของการประพฤติปฏิบัติ นี่ครูบาอาจารย์ที่รู้จริง จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง นี่ใช่ ! เรากราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้ายังกราบธรรมะเลย

คำสั่งสอนในพระไตรปิฎก ใช่ ! มันเป็นทฤษฎี มันเป็นปูนป่ายไม้ทาง แต่เราไปกอดมัน เหมือนเด็กเลย เห็นเด็กไหม เด็กนะมันเห็นผู้ใหญ่ทำงาน เด็กมันก็เล่นขายของกัน มันก็เล่นเหมือนผู้ใหญ่ทำงาน แล้วมันเป็นไหม เด็กนะ เห็นผู้ใหญ่ทำงาน มันก็อยากเป็นด้วย เห็นไหม เด็กๆ นะ เห็นผู้ใหญ่สูบบุหรี่ มันก็เอาไม้มาคีบไว้ มันก็ดูดเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าพูดถึงเป็นความจริง มันก็เหมือนเด็กๆ นะ เพราะอะไร เพราะมันเกิดจากเกิดจากกิเลสของเราใช่ไหม เกิดจากการสร้างภาพใช่ไหม สร้างภาพว่า ต้องเป็นอย่างนั้น.. ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเป็นจริงไหม มันไม่เป็นจริงหรอก !

แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมา สูงสุดสู่สามัญ.. เริ่มต้นออกไปจากกิเลสเรานี้ เริ่มต้นทุกคนเกิดมามีกิเลส ทีนี้พอมีกิเลส มันก็มีความยาก มีความต้องการ มีความปรารถนาเป็นธรรมดา ทีนี้พอมีความต้องการ มีความปรารถนาเป็นธรรมดา พอมีกิเลสมันก็รุกเร้า มันก็ต้องการจนเกินขอบเขต

เกินขอบเขตนี้คือกิเลส แต่ความต้องการการทำความดีไม่ใช่กิเลส เพราะมันเป็นธรรมชาติ พอเป็นธรรมชาติปั๊บ เราจะควบคุมอันนี้ พอควบคุมอันนี้แล้ว เอาสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งเร้า ทำแต่คุณงามความดี เขาเรียกว่ามรรค

การทำความดีนะ ถ้าความดีก็ห้ามทำ นั่งเป็นขอนไม้กันนะ ประพฤติปฏิบัตินะ นั่งเป็นขอนไม้เลย แล้วหุ่นยนต์มันดีกว่าเราอีก เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา หุ่นยนต์มันทำได้ดีกว่า กดปุ่มแล้วมันเดินได้ทั้งปีทั้งชาติเลย หุ่นยนต์นะมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา แล้วมันได้อะไรขึ้นมา

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราบังคับหมดทุกเลย ห้ามอยาก ห้ามมีความรู้สึก ห้ามมีอะไรเลยถ้ามีเป็นกิเลส กิเลสปฏิบัติไม่ได้ มันไม่ใช่ ! มันเป็นข้อเท็จที่มันมีอยู่ พอมีอยู่นี้ เราถึงต้องทำให้มันสงบก่อน พอทำให้มันสงบ ถ้ามันสงบเข้ามาเป็นสากล

สากล หมายถึงว่า มันไม่มีสิ่งเร้า เพราะถ้ามีกิเลส มีความฟุ้งซ่านอยู่ จิตใจมันจะสงบไม่ได้ ความสงบ คือกดตัวตน อีโก้นี่กดให้มันลงไป อีโก้กดไปแล้วมันก็เป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานที่มีชีวิตไง พลังงานที่มีชีวิตนะ เราจะบอกว่า ราจะค้านกันประจำเลยว่า ว่างๆ ว่างๆ นั่นน่ะ มันเป็นสสาร

โต๊ะตัวนี้นี้มันว่าง วัตถุ ศาลานี้ ไม่ผิดศีล ๕ ศาลานี้ศีลบริสุทธิ์ เพราะศาลานี้ไม่เคยทำร้ายใครเลย ศาลาไม่เบียดเบียนใครเลย มีแต่คนมาอาศัยมัน แล้วมันมีอะไรขึ้นมา ศาลาไม่มีชีวิตใช่ไหม

นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่มีหัวใจเรามันมีชีวิต มันมีความรู้สึก มันเป็นจิต จิตที่เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้นี้มันสกปรกด้วยอวิชชา อวิชชาพอมันมีสิ่งเร้า มันก็จะรุนแรงขึ้น พอรุนแรงขึ้นไป พอไปอ่านพระไตรปิฎกเข้า มันก็มีกิเลส กิเลสก็ไปเร้าขึ้น สร้างภาพ นิพพานเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นๆๆ

พุทธพจน์.. พุทธพจน์.. พุทธพจน์ก็เป็นฉลากยานะ พุทธพจน์สอนว่าอย่างไร พุทธพจน์มันมีความหมายว่าอย่างไร แล้วพุทธพจน์มันมีความรู้สึกว่าอย่างไร มันพูดออกมาได้ไหม มันพูดออกมาไม่ได้

ชาวพุทธมันเป็นอย่างนี้ไง มันไปกลับหัวกลับหางกัน เอาปริยัติคือทฤษฎีมาเป็นผล มาเป็นเป้าหมาย..

แต่ตามความเป็นจริงพระพุทธเจ้าสอนว่า “ปริยัติ... แล้วต้องปฏิบัติ !”

ถ้าเรียนปริยัตินะ กรรมฐานเรานี้ เวลาบวชแล้วเห็นไหม อุปัชฌาย์ให้เลย ถ้าอุปัชฌาย์องค์ไหนไม่ให้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นพระไม่ได้ เพราะว่าในศาสนาเป็นพระ.. พระคือผู้ประเสริฐ.. พระคือหัวใจ หัวใจที่มันรู้จริง มันผู้ประเสริฐ

นี้การที่จะรู้จริง ผู้ประเสริฐมันจะทะลุ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้ามันทะลุ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เข้าไป มันจะเข้าไป ถึงตัวฐานของความคิด ตัวฐานของความคิด เพราะตัวฐานของความคิดมันติดอยู่ที่นี่ การบวชพระ ถ้าไม่บอกกรรมฐาน ๕ เป็นพระไม่ได้ ! เป็นพระไม่ได้ ! แล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คือเป้าหมาย

นี้คือภาคปฏิบัติ คือปริยัติเรียนแล้วไง แต่เรามาเรียนปริยัติกัน เรียนนี้เรียนทางวิชาการ เรียนเหมือนเราเข้าโรงเรียนการปกครอง อยากเป็นนายอำเภอ อยากเป็นผู้ว่า ต้องเข้าโรงเรียนการปกครองนะ

นี้ก็เหมือนกัน ไปเรียนมาเพื่อให้รู้ธรรมวินัย เพื่อมาเป็นฝ่ายปกครอง มันเป็นฝ่ายปริยัติ มันเป็นคันถธุระ วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระมันก็ย้อนกลับมาที่นี่

พระพุทธเจ้าแบ่งการปกครองไว้ คันถธุระคือฝ่ายปกครอง คือทางทฤษฎี คือทางการเอกสาร ... แต่ถ้าฝ่ายวิปัสสนาธุระ เข้ามาชำระจิตใจ พระพุทธเจ้าก็วางไว้ให้ทำตามความเป็นจริง

ถ้าทำตามความเป็นจริงนะ มันต้องเปิดกว้าง ให้มันรู้จริง เราอย่าไปยึดว่าปริยัติ คือว่า พุทธพจน์.. พุทธพจน์นะ พุทธพจน์ให้ศึกษาไว้เพื่อปฏิบัติ มันจึงมีปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ ..เพราะปฏิบัติแล้วมันจึงจะรู้จริง ปริยัติไม่รู้จริงหรอก ปริยัติรู้จริงไม่ได้

ดูสิในทางการปกครอง ในการทำงาน ในทางเอกสาร ถ้าทำงานเป็นนะ มันก็รื่นไหลไปเลย แต่ถ้าทำงานไม่เป็นมันก็ขัดข้อง มันก็แค่นั้น ! มันปกครอง แต่มันถอนภพชาติไม่ได้ มันถอนอวิชชาไม่ได้ มันถอนถึงข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ ถ้าถึงข้อเท็จจริงของใจนั้นเห็นไหม เพราะอะไร เพราะเรื่องเอกสาร มันก็อยู่นี้ มันเป็นเรื่องของโลก โลกมันหมุนไป โลกมันพร่องอยู่เป็นนิจ โลกเป็นวัฏฏะ โลกมันจะหมุนไปอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นความจริง พระพุทธเจ้านะ ศาสนามันลึกซึ้งกว่านั้นไง คือปัญญาอย่างนี้

เขาพูดเองเมื่อวานเขาพูด เขาบอกว่า “ให้กำหนดไป กำหนดเป็นนามรูป รู้เท่านามรู้ไป”

แล้วหมอนี้ก็ถามเขา เขาเล่าให้ฟังเมื่อวานนะ ถามเขาว่า “ใช้ปัญญาแค่นี้นะหรือ ถอนกิเลสได้”

เขาบอกว่า “ให้ทำไปเถอะ”

นี่ไง เขายังสงสัยว่ามันง่ายอย่างนี้หรือ คือเราจินตนาการ เราคิดกันเอง มันจะฆ่ากิเลสได้อย่างไร ก็ถามกลับไป พอถามกลับไปก็บอก “ไม่ได้” พอไม่ได้ก็ให้กำหนดนามรูปไป กำหนดไปเรื่อย ทีแรกก็ให้กำหนดพุทโธไปก่อน

อย่างที่พูดนี้นะ เราพูดเป็นข้อเท็จจริง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกระแสสังคมมันเป็นอย่างนั้นตอนนี้ กระแสสังคมนี้ เพราะเราเป็นปัญญาชน แล้วเราจะพูดเลยว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา พอเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็พยายามศึกษากันเพื่อให้ติดปัญญา

ถ้าติดปัญญานะ ปัญญาอย่างพวกเราดีกว่า ดีกว่า เพราะอะไร เพราะโยมมาใส่บาตร มาอยู่กับพระ มาคลุกคลีกับพระ ผิดหรือถูกนะ เห็นผิดเห็นถูก คือมันมีประสบการณ์ตรง นี่คือปฏิบัติ

แต่ถ้าเราไปฟังเขาว่านะ ใส่บาตรต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นนะ เราเป็นพระ เป็นเนื้อนาบุญ เป็นคอยรับสังฆทานพวกนี้ จะมีปัญหาเรื่องนี้มาก เพราะคนมาหลากหลายความคิด แล้วพอหลากหลายเขาก็จะวางรูปแบบไว้ ไอ้รูปแบบนั้นก็ต่างคนต่างติดนั้นมา เราบอกว่า “นี่เป็นปัญญาหรือ”.. นี่มันเป็นสัญญา นี่มันเป็นสิ่งทำให้ขอบเขตของเรา เราไม่เข้าใจ

แต่ถ้ามันเป็นสัจจะนะ ..สูงสุดสู่สามัญ.. ถ้าเรามีเจตนา มีความเชื่อ มีศรัทธาความเชื่อ การเสียสละอันนั้นนะบุญกุศลมหาศาลเลย แต่ถ้าในทางโลกเห็นไหม เดี๋ยวนี้มีขนาดที่ว่ามีหางบัตรนะ ทำบุญแล้วไปล้วงเบอร์กัน โลกคิดกันขนาดนั้น โลกคิดออกไป แล้วอะไรถูก อะไรผิดล่ะ แล้วคนถ้าไปโลกอย่างนี้เขาก็ว่าได้ประโยชน์นะ พอมาทำบุญแล้วไม่ได้ประโยชน์เห็นไหม

การศึกษาถ้าไม่ได้ปฏิบัติมันจะไม่รู้ และไม่เข้าใจ ยิ่งคิดยิ่งงง แต่ถ้าเราเข้ามาเห็นของเรา มันเป็นสัจจะความจริง นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาทำกันนะมันเป็นสุตมยปัญญา.. ปัญญาการศึกษานี่พระพุทธเจ้าไม่ปรารถนา พระพุทธเจ้าปรารถนาภาวนามยปัญญา

ถ้าภาวนามยปัญญา พระไตรปิฎกเห็นไหม ดูพระองค์หนึ่งที่บอกว่าต้องพระไตรปิฎก เอาจากพระไตรปิฎกมาเปิดนะ เอาจากพระไตรปิฎกมาเปิดนะ คอมพิวเตอร์ดีกว่าเราอีก พระไตรปิฎกมันอยู่ที่ใจ ถ้ามันรู้ที่ใจนะ

พระในสมัยพุทธกาล บอกว่าศีลและวินัยเยอะแยะไปหมดเลย ปฏิบัติลำบากมาก ก็ไปลาพระพุทธเจ้า เพราะจะสึก พระพุทธเจ้าบอกว่า

“ศีลข้อเดียวรักษาได้ไหม”

“ได้ !”

รักษาใจ อยู่ต่อ ! อยู่ต่อ ! จนปฏิบัติไปจนสิ้นกิเลสเลย ศีลข้อเดียวคือรักษาใจ.. ก็จบแล้ว !

พระไตรปิฎกก็เหมือนกัน ..มาจากใจ ! ไอ้ที่ออกมาเป็นข้อๆ มันออกมาจากรายละเอียดปลีกย่อยไง แล้วเราก็ไปเอาอะไรปลีกย่อยมา มันเข้าไม่ถึงสัจจะความจริง ถ้าถึงสัจจะความจริงนะ มันจะไม่พูดอย่างนั้น บอกว่า ไม่ให้ทำเลยนะ ไม่ให้ทำสมาธิ ถ้าไม่ทำสมาธินะ มรรค ๗ ไม่มี มีมรรค ๘.. มรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ

เหมือนหน่วยกิต นักเรียนส่งหน่อยกิตเรียนไม่จบ อย่างนั้นเราจะจบทางวิชาการนี้ได้อย่างไร มรรค ๘ ! ศีล.. สมาธิ.. ปัญญา.. โดยสัจจะความจริง แต่คนมันทำไม่เป็น มันเอาแต่ความคิด เป็นความตรึก เป็นความรับรู้ของมัน มันก็สื่อสภาวะแบบนั้น

ที่พูดนี้พูดเป็นข้อเท็จจริง พูดเป็นหลักฐานไว้ เพราะอะไรรู้ไหมเพราะมันไม่มีใครโต้แย้ง แล้วต่อไปศาสนาเสื่อม.. เสื่อมอย่างนี้ เสื่อมเพราะคนไปตะครุบกันที่เงา ไม่เอาความจริงกัน เอาตะครุบที่เงาไง เอาแต่เงาของใจ ความคิด ไม่ได้เอาถึงตัวใจ เอาถึงหลักใจ ถึงตัวใน

ศาสนาจะเสื่อมถอย เพราะหัวใจของคนมันเข้าไม่ถึงสัจจะความจริง ศาสนาจะไม่เสื่อมจากอย่างอื่นหรอก ศาสนาเสื่อมที่หัวใจของมนุษย์ ศาสนาเสื่อมจากคนไม่เชื่อ ศาสนาเสื่อมจากคนเข้าไม่ถึง

แล้วก็ไปอ้างกันเห็นไหม อ้างเส้นผมบังภูเขา พุทธพจน์ ! พุทธพจน์ ! พุทธพจน์สอนอย่างนี้หรือ พุทธพจน์บอกว่า ให้ไปแบบหน่อแรด ! เวลาบวชแล้วในคำบวชเห็นไหม

“เธอจงไปเป็นภิกษุมาเถิด แล้วให้ถือนิสสัย ๔ อริยสัจ ๔ ให้ถือรุกขมูลเสนาสนัง ให้อยู่ตลอดชีวิตเถิด”

นี่พุทธพจน์ ! ให้อยู่รุกขมูลเสนาสนัง ให้อยู่โคนไม้ แล้วมันไปอยู่กันในตึก ในห้องแอร์ พุทธพจน์หรือเปล่า.. พุทธพจน์สอนอย่างหนึ่ง ! พวกมึงทำอย่างหนึ่ง ! แล้วเวลาหลวงพ่อ หลวงตาบอก....ทำไม่ถูก ไอ้ทำไม่ถูก.. จริงอยู่ เด็กฝึกงาน คนทำงาน ต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา เราจะไม่บอกหรอกว่าถูกหมด มันเป็นไปไม่ได้ ! คนฝึกงาน คนทำงานนะ มันจะผิด มันจะถูกมาได้อย่างไร

เราไปตั้งบริษัทขึ้นมาแต่ละบริษัท กว่าจะตั้งบริษัทขึ้นมา จนยืนได้นะ เห็นไหม ทางวิชาการ ๑๐๐ บริษัท เจ๊งไป ๗๕ บริษัท เหลือ ๓๕ บริษัทที่อยู่ได้ นี่เขาบอกว่าดีที่สุดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ !

ทีนี้พอเรามาปฏิบัติกันคนทั้งล้านคน พระสงฆ์สามสี่แสนองค์มันจะถูกหมด มันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนมีกิเลสหนา กิเลสหยาบต่างๆ กัน ที่นี่พอมันถูกหรือมันผิด ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริงของเขาสิ เพราะเขาขวนขวายของเขาแล้ว คนต้องมีการขวนขวาย ต้องมีการกระทำ นี้ครูบาอาจารย์ท่านจะเปิดช่องอย่างนี้ไง ให้พวกเราได้กระทำ ได้มีการขวนขวาย แล้วถูกหรือผิดครูบาอาจารย์ที่รู้จริงแก้ไขไปตามนั้น !

ไม่ใช่เอาทฤษฎีมาวาง แล้วมีแต่ทฤษฎี กระดาษกินไม่ได้ ทฤษฎีกินไม่ได้ ทฤษฎีเป็นมรรคผลขึ้นมาไม่ได้ แล้วสัจจะความจริงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไม่ได้เอามาเป็นความจริงไม่ได้ ! เอวัง