เทศน์เช้า วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
การทำภัตกิจ ถ้าคนเราทำภัตกิจ เพราะอาหารก็แค่ใส่ปาก นี่การทำภัตกิจ ถ้ามันเป็นสมมุติทางโลก เนื้อนาบุญของโลก โยมก็อยากทำบุญ เพราะการทำบุญมันก็เป็นเรื่องนามธรรม เรื่องความเชิดชู เรื่องของหัวใจ การทำสภาวะแบบนั้น เวลามันเริ่มต้นนะ เราดู.. เราดูนะ
อย่างพวกเรานี่ มันมองเห็นไหม เวลาพระบอกว่าให้ปล่อยวาง ทุกคนให้ปล่อยวาง พระต้องเหมือนกับพระพุทธรูป ใครจะทำอย่างไรก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้
ใช่ !พระพุทธรูปเป็นอย่างนั้น แต่พระมีชีวิตนะ.. พระมีชีวิต มันมีความรู้สึก สิ่งที่มีความรู้สึกแล้วก็ต้องปล่อยวางสิ พระนี้ต้องปล่อยวาง คำว่าปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
ถ้าเราปล่อยวางแล้วเป็นโทษ มันปล่อยวางไม่ได้ ถ้าเราปล่อยวางแล้วเป็นประโยชน์ เช่น ทุกข์แล้วให้ปล่อยวาง เจ็บช้ำน้ำใจให้ปล่อยวาง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ก้าวเดิน มันปล่อยวางไม่ได้ ถ้าเราปล่อยวางกันไป แล้วเข้าใจกันผิดนะ
ถ้ามันปล่อยวาง ทำไมมันมีความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะชอบ ในมรรค ๘ มีความเพียรชอบนะ มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ มีความขวนขวายหมั่นเพียร นั่นความเพียรชอบ.. ถ้าไม่มีความเพียรชอบมรรคมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ดูสิ เวลาเราไปเข้าไปในเมือง ผ่านโรงพยาบาล ห้ามใช้แตร! ทำไมผ่านโรงพยาบาลแล้วห้ามใช้แตรล่ะ เขาต้องการความสงบของเขาใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน เรามาวัดมาวา ถ้าวัดทั่วไปเห็นไหม ไปวัดแล้วพระต้องต้อนรับ ต้องอะไร
แต่ถ้าความจริงแล้ว เวลาไปวัดนะ มันก็มีคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ในสมัยพุทธกาล ไปวัดที่ภาวนาเห็นไหม พระนี้ไม่อยู่เลย แล้วก็ไปถามว่าให้ทำอย่างไร.. ก็ให้เคาะระฆัง พอเคาะระฆังพระก็เดินมา เอ๊ะ ! พระต่างคนต่างเดินมา ต่างคนต่างไม่พูดกัน พระนี้ไม่ถูกกัน พระนี่ไม่พูดกัน ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้านะ
พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ใช่ ! นี่ถ้าวัตรปฏิบัติเป็นอย่างนั้น
วัตรปฏิบัตินะ มลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศ มลภาวะทางอาหาร เป็นมลภาวะหมดเลย แล้วพอโยมเข้ามา โทษนะ ! พวกโยมนี่คือตัวมลภาวะ !
พอมานะ อู๊ย ! ที่นี่สงบมากเลย
พอพูดว่าสงบมาก ไอ้คำว่า สงบมาก มันก็รบกวนเขาแล้ว พอเข้ามาแล้วตื่นเต้นนะ โอ๊ย.. ที่นี่ดีมากเลย ตื่นเต้นกันไปหมดเลย เสียงที่ออกมานะ ความสงบมาก.. สงบมากเลย แต่พูดออกมานั้นเสียง.. มลภาวะทางเสียงเกิดมาแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว แต่คนที่มาไม่เข้าใจ
แล้วพอพระจะเอ็ด พระจะว่านะ อู้หู ! จู้จี้.. จุกจิก
ดูนะ ดูเชื้อไวรัสสิ ดูไข้หวัดใหญ่เห็นไหม เมื่อก่อนไข้หวัดใหญ่ไม่รักษาก็หายนะ แต่พอไข้หวัดใหญ่มันพัฒนาขึ้นไป เดี๋ยวนี้ไข้หวัดใหญ่ตายได้นะ กิเลสเราในหัวใจนะมันพัฒนาอยู่ทุกวัน แล้วเรามากำจัดมัน เราจะมาขัดเกลากิเลส พอจะมาขัดเกลากิเลส เราก็จะมาเอาแต่ใจตัว เอาใจตัวด้วยอะไร ด้วยอ้างว่าเป็นธรรมะ
นี่ไงพระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น สอนให้ปล่อยวางใช่ไหม เราว่าปล่อยวาง นี่คิดกันไปอย่างนั้น แต่ถ้ามองทางโลกนะ ..โลกกับธรรมถึงอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน..
อย่างเช่น เด็กมาเห็นไหม เด็กมาแล้วเราต้องปลูกฝังเขา ศรัทธาใหม่มาก็ต้องปลูกฝังเขา แต่ ! แต่มันต้องมีขอบเขตใช่ไหม เวลาที่เป็นกติกา เวลาที่เขามีความสงบของเขา มันควรจะเป็นสภาวะแบบใด แล้วคนที่ยังไม่ภาวนาก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ มันก็เหมือนเป็นไปตามวัย
วัยของจิต ! ถ้าวัยของจิต เวลาวัยของจิต เวลาเราไปออกบวชใหม่ๆ ทุกคนออกมาบวชเป็นพระก็กลัวผี กลัวความสงบ ความวิเวก แต่พออยู่นานไป พอปฏิบัติเป็นนะ มันติดความสงัด ความวิเวก พอใครมาทำเสียงหนวกหูขึ้นมา ใครมาทำอะไร มันสะเทือนใจแล้ว มันหงุดหงิด แต่เดิมไม่ได้นะ เพราะอะไรรู้ไหม
เพราะเราก็เป็น.. เราบวชพรรษาแรกนะ ไปออกธุดงค์กันน่ะ ถ้ายังเห็นเทียนของหมู่คณะอยู่นะ เรากล้าเดินจงกรม พอเขาดับไฟเทียน เราก็เข้ากลดเหมือนกัน กลัว ! ยอมรับ ! เราถึงเปรียบเทียบใจเรากับเปรียบเทียบใจของโลก ทุกดวงใจมันจะเป็นอย่างนี้มา
นี่ไงเป็นไปตามวัย วัยของใจวุฒิภาวะของมันพัฒนาแล้วนะ มันชอบความสงัด มันชอบความวิเวก เพราะความสงัดวิเวกมันเป็นสัปปายะ ดูสัปปายะสิ...สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ คำว่าหมู่คณะเป็นสัปปายะ วุฒิภาวะมันเสมอกัน มันทำอะไรมันจะไปด้วยกัน
วุฒิภาวะ ! เหมือนโยมอยู่บ้านเลย เราอยากทำงาน แต่ลูกมันงอแง ลูกมันอยากให้เล่นกับมัน คุยกับมัน
วุฒิภาวะของพระใหม่ พระใหม่นี่ก็เหงา ก็ว้าเหว่ ก็อยากหาเพื่อนคุย อยากหาเพื่อน ถ้าทางโลกอ้างว่าศึกษา อยากจะศึกษาธรรมะ อยากจะคุยกับครูบาอาจารย์ที่ว่าเป็นรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์ก็อยากจะหาความสงบวิเวก
มีนะ.. เราอยู่ในวงการพระ อย่างเช่น ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ เวลาเห็นพระเดินมานี่ เขาจะเอาหนังสือขึ้นมาอ่านเลย ด้วยมารยาทเอ็งเข้ามาหากูไม่ได้ไง จะพูดออกไปก็ไม่ได้ นี่เราถึงบอกว่า วุฒิภาวะของใจคนมันไม่เท่ากัน..
โลกมันก็หลายหลากอยู่อย่างนี้ คลื่นลูกใหม่คลื่นลูกเก่าจะซัดกันมาอยู่อย่างนี้ แล้วหัวหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการจะทำอย่างไร จะทำเรื่องโลกนี้ให้มันเป็นสัปปายะ ให้ผู้ที่ปฏิบัติต้องการความสงัด ต้องการให้เขาอยู่มีความสงัด
คนที่เขามานะ เขาก็มาด้วยความวิริยะอุตสาหะของเขาเหมือนกัน เจออย่างนี้บ่อยมาก มาก็ โอ้โฮ ! ทุกคนจะบอกว่า หลง
เราจะบอกว่า ๙๙% หลงหมด เขาก็หลงกันทั้งนั้น แต่ตัวเราเองกว่าจะมา กว่าจะเป็นไป เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราคลุกคลีอยู่ในสังคม พอเราแยกออกไปมันเป็นเรื่องที่ยากมาก กิเลสมันไม่ให้ออกไปหรอก
แค่เราหิ้วปิ่นโตมาวัดนะ เขาจะบอกว่า พวกนี้ไม่มีวุฒิภาวะ ไปทำไม เสียเวลา สู้ทำมาหากินดีกว่า
ทำมาหากินดีกว่า.. ดีกว่าแล้วตั้งแต่หนุ่มจนแก่ดีกว่าไหม.. ดีกว่าไหม.. ถ้าดีกว่าเราได้อะไรขึ้นมาบ้าง
ใช่ ! มันเป็นการหาปัจจัยเครื่องอาศัย มันเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพื่อสถานะของเราทางสังคมนะ งานนี่.. คนเราจะมีวุฒิภาวะของคน จะดีด้วยอยู่ที่ผลของงาน ใครทำงานดีหรือทำงานไม่ดี งานของโลกนะ
ดูพระสิ พระนี่แม้แต่เดินมีสติหรือไม่มีสติ หลวงตาท่านจะพูดบ่อยเลย นี่ใจคึกใจคะนอง มันแสดงออก การแสดงออกของคนนี่ ทำข้อวัตร.. แค่ถูพื้นนี่ จะรู้เลยว่าพระองค์นี้มีสติหรือไม่มีสติ พระองค์นี้มีความหมั่นเพียรไหม พระองค์นี้จับผลุบผลับไหม พระองค์นี้ตั้งใจไหม
หลวงปู่มั่นท่านจะตัดผ้า ท่านจะวัดวุฒิภาวะของพระ ท่านตัดสบงเป็น ๕ ชิ้น ให้พระ ๕ องค์เย็บ.. เย็บแล้วดูฝีเข็ม.. ดูมันตั้งสติไหม คนตั้งใจไหม แล้วพอเย็บเป็นสบงผืนเดียวกันนี่ พระ ๕ องค์ ๕ นิสัย มารวมกัน นี่ไงความคึกความคะนองของใจ มันแสดงออกมา
แต่ถ้าความคึกความคะนองของใจไม่แสดงนะ เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราจะทำอะไรรวดเร็วมาก รวดเร็วเพราะฝึกสติ.. ฝึกสติมันจะเร็วขนาดไหน มันก็มีสติของมันนะ แต่ถ้ามันขาดสติ ช้าหรือเร็วมันก็ผิดหมด แต่ถ้าสติเราไม่ดี เราจะรีบให้เหมือนเขา
เวลาอยู่บ้านตาด เวลาถ้าใครเร็วไป ใครรีบเกินไป หลวงตาท่านพูดว่า หมา ! หมา ! หมา ! มันวิ่งแบบหมา มันเร็วแบบหมา เร็วแบบหมาไม่มีประโยชน์ ต้องเร็วแบบคน เร็วแบบคนแล้วมีสติสัมปชัญญะ นี่การฝึกฝนต้องเป็นแบบนี้ไง เราจะเร็วหรือจะช้านี่มันมีสติ มีสติแล้วมันจะไม่มีพลั้งพลาด
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมไว้เป็นข้อสุดท้ายเห็นไหม
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด
ความประมาทเลินเล่อนี่ พระพุทธเจ้าเห็นโทษมาก ถ้าคนมีสติ ไม่มีประมาทเลินเล่อนะ กระทำสิ่งใดก็ไม่ผิด แล้วมานั่งภาวนานี่ เวลานั่งภาวนานะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิต.. สติมันพร้อมไปนี่ มันไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ
นาโนเห็นไหม นาโนที่มันสะสม สิ่งที่เล็กที่สุดคือความรู้สึกที่มันละเอียดที่สุด แล้วมันซับซ้อน พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่นาโนเทคโนโลยี นี่เรื่องของหัวใจ พุทโธ พุทโธ แล้วสติมันพร้อม ถ้าสติมันขาดปั๊บ ! เริ่มต้นใหม่.. เริ่มต้นใหม่.. ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นเห็นไหม
สติมันสำคัญ แล้วพอสติมันสำคัญ แม้แต่เรากำหนด พุทโธ เราภาวนาของเรานี่ เรามีสติพร้อมมานี่ มันฝึกมา พอมันออกมาเคลื่อนไหว มันจะไม่ทำให้เรามีความผิดพลาด.. มันไม่ผิดพลาด มันจะเผลอบ้าง มันจะขาดสติบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันจะฝึกขึ้นไป พัฒนาขึ้นไป เห็นได้ชัดเจน !
ดูสิ อย่างเช่น อาหาร.. รสชาติของเรานี่ ถ้าเรากินกันใหม่ๆ เราจะติดรสของมันมาก แต่พอเรากินกันบ่อยๆ ครั้ง รสมันจะสนิท เราจะคุ้นเคยกับมัน เราจะไม่ตื่นเต้นไปกับมัน แต่ถ้าเราเจอใหม่มันก็อร่อยอีก
นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันพัฒนา มันพัฒนาอย่างนั้น นี่มลภาวะ ทุกคนมาแล้ว ใช่ ! มันจะตื่นเต้น ถ้าคนไม่เคยเลย มาใหม่ๆ โอ้โฮ !โอ้โฮ ! ทั้งนั้นล่ะ จะโอ้โฮขนาดไหนนะ เราก็ต้องศึกษาเห็นไหม
ดูสิ พวกโยมจะอุปัฏฐากพระ ทำไมต้องอุปัฏฐาก ทำไมนางวิสาขาตั้งความปรารถนามาเป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่อุปัฏฐากเขายังต้องสร้างบารมีกันมาเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าความคุ้นเคย เวลาทำมาแล้วนี่ ความคุ้นเคยกิเลสมันจะออกตรงนั้น ความคุ้นเคยเห็นไหม เราถึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา อย่าให้กิเลสมันเกาะได้ทัน
นี่มลภาวะทั้งหมด สิ่งนี้เป็นมลภาวะทั้งหมด แต่ ! แต่ในเมื่อเราอยู่กับโลก เราต้องบริหารมัน เราต้องดูแลมัน สิ่งที่ดูแลมัน แต่ทางโลกไม่เข้าใจ.. พอไม่เข้าใจ เวลาพูดออกไป มันไม่ทันกันเห็นไหม เวลาหลวงตาท่านเอ็ดลูกศิษย์ท่านนะ ท่านบอกว่า
ท่านรักนะ.. ท่านไม่ได้เอ็ดใครเลย ท่านเอ็ดกิเลสในหัวใจของเรา
ไอ้ที่มันไม่รู้ ที่เราว่ามันดีๆ นะ มันผิดหมด ! แต่คนใหญ่เขามองเห็น เรามองไม่เห็น แล้วเราจะไม่เข้าใจ เราจะน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมเราทำดีขนาดนี้ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านเอ็ด
เหมือนลูกๆ เลย ลูกๆ จะบ่นกับพ่อแม่ทุกคนเลยว่า พ่อแม่ชอบว่า.. พ่อแม่ชอบว่า แต่น้ำใจของพ่อแม่ว่าเพื่ออะไร น้ำใจของพ่อแม่เห็นไหม เพราะความรักของพ่อแม่มันเป็นความรักที่บริสุทธิ์ ความรักของพ่อแม่ไม่ต้องการสิ่งใดเลย
แต่ความรักของครูบาอาจารย์นะ พ่อแม่ครูบาอาจารย์นะ ท่านต้องการสร้างศาสนทายาทนะ มันยิ่งกว่าพ่อแม่อีก เพราะพ่อแม่ของเรานะ ถ้าลูกเรานะมีที่ยืนในสังคม ลูกเราเอาตัวรอดในสังคม ลูกเราเลี้ยงตัวเองได้ พ่อแม่ก็ชื่นใจแล้ว !
แต่ถ้าเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์นะ ถ้ามันเลี้ยงตัวเองได้ แต่การรู้จริงยังไม่เกิดขึ้นมา การสั่งสอนนั้นสั่งสอนศิษย์ผิดไปเห็นไหม นี่ลูกศร ! หัวของลูกศรมันไปทางผิดทั้งหมดเลย หัวรถจักรมันไปทางผิดนะ มันจะลากรถจักรทั้งขบวนนั้นผิดหมดเลย โคนำฝูงถ้ามันผิด มันจะพาฝูงโคนั้นผิดหมดเลย
เห็นไหมมันสำคัญตรงนี้ ถ้าสำคัญต้องรู้จริง แต่ความจริงก็คือความจริง อริยสัจก็คืออริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะตรัสรู้อันเดียวกัน พระอรหันต์ทุกองค์จะตรัสรู้อันเดียวกัน.. อันเดียวกันเห็นไหม
มันถึงว่า.. จะบอกว่าจริตนิสัย.. ใช่ ! เวลาอ้างกันนะ อ้างว่าจริตนิสัยไม่เหมือนกัน การกระทำไม่เหมือนกัน จริตนิสัยไม่เหมือนกัน อาหารแต่ละภูมิภาค อาหารแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน หรืออาหารในพื้นที่เดียวกัน แต่คนละรสชาติ เข้ม อ่อน ต่างๆ กัน ก็ไม่เหมือนกัน ฝึกจริตนิสัยไม่เหมือนกัน แต่ผลต้องเหมือนกัน !
อริยสัจมีอันเดียว ! ทุกข์.. สมุทัย.. นิโรธ.. มรรค.. ต้องอันเดียว !
อย่าอ้างว่ามันไม่เหมือนกัน แล้วจะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ ! ขณะจิตที่มันแปรไปนะ จะพระอรหันต์สายไหน จะพระอรหันต์ทิศไหนก็แล้วแต่นะ ต้องเหมือนกัน ! พูดเหมือนกัน ! ผลสรุปต้องเหมือนกัน.. เหมือนกันหมด ! เหมือนกับอาหารที่กินเข้าไป ลงใส่ท้องแล้วอิ่มเหมือนกันหมดเลย !
เพียงแต่อาหารที่กินไปอิ่มแล้วนี่ ถ้าเป็นสารพิษ.. ดูสิคนเขากินยาประท้วงเห็นไหม เขากินยาเพื่อทำลายชีวิตเขานะ นั่นลงไปเป็นอาหารไหม มันทำให้ชีวิตเขาตายใช่ไหม อาหารถ้าลงท้องแล้วมันอิ่มเหมือนกัน แต่ถ้าอาหารเป็นพิษลงท้องแล้วมันไม่อิ่ม มันตาย !
นี่ก็เหมือนกัน ศาสนทายาท ที่ว่ามันอิ่มๆ อิ่มอย่างไร.. นี่มลพิษ ตัวเรามีทั้งหมด ถ้าคนเข้าใจตรงนี้นะ แล้วพยายามดูตัวเองนะ
หลวงตาท่านสอนประจำ ท่านเอ็ดเราบ่อย ให้ดูเรา.. ให้ดูใจเรา
เวลาเราเสียงดังขึ้นมา สมณสารูปนะ... เขาไม่พูดกันอย่างนี้ ย้อนกลับมาที่เรา ให้ดูที่เรา
แต่ขณะที่เราปกครอง เราดูแลเห็นไหม เหมือนกับพ่อแม่สอนลูกก็ปรารถนาดี แต่ความปรารถนาดี เราอ้างว่าเจตนาไม่ได้ มันต้องถูกด้วย
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ ถ้าเรามีความตั้งใจจริง ย้อนมาดูที่ใจเรา รักษาที่ใจเราเห็นไหม แล้วสิ่งต่างๆ มันจะดีไปหมดเลย แล้วเรานี่ ต่อไปนะ เราจะพูด เราจะคิดเองว่า ทำไมเมื่อก่อนเราคิดไม่ได้ ทำไมเมื่อก่อนเราว่าเราถูก พอเวลามันผ่านไปเห็นไหม มรรคหยาบมันฆ่ามรรคละเอียด !
ความคิดของเรา ถ้าเรายึดมั่นของเรานะ เหมือนเราแบกเหล็กมาทั้งชีวิตเลย แล้วเราไปเจอเงิน เจอทอง เราไม่กล้าทิ้งเหล็กของเราเห็นไหม ถ้าเราไปเจอเงิน เราทิ้งเหล็กเราก็แบกเงินมา เราแบกเงินมา.. ถ้าทางไกลมา เราก็ทิ้งเงิน..ถ้าเราเจอทอง
นี่ก็เหมือนกัน ทิฐิมานะ ความเห็นของเรานี่ ถ้ามันพัฒนาขึ้นมา เราย้อนกลับไปเราจะเห็นเอง เราจะรู้เองเห็นเองเลยว่าสิ่งที่เราทำมานี้ผิดหมดเลย
แต่การกระทำมันต้องเริ่มต้นจากผิดนี่แหละ เริ่มต้นจากอวิชชา เริ่มต้นจากตัวตนของเรา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเราไม่เห็นเหมือนครูบาอาจารย์ท่าน มันจะเหมือนได้อย่างไร วุฒิภาวะของใจมันคนละชั้น ! โลกกับธรรม คำพูดคำเดียวกันก็ตีความต่างกันแล้ว
นี่เพียงแต่มันตีความจากเรา ก็ตีความจากวุฒิภาวะของเรา ตีความจากฐานความคิดของเรา มันจะผิดจะถูก ถ้าเราพัฒนาได้ เราจะปล่อยวางเอง เราจะรู้เอง แล้วเราจะซาบซึ้งครูบาอาจารย์เอง
เวลาครูบาอาจารย์ท่านกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ท่านรู้ได้อย่างไร รู้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางธรรมวินัยไว้นี่ เราไม่เคยเห็นตัวท่านนะ ๒,๐๐๐กว่าปี เราเคยเห็นตัวท่านไหม ทำไมเรากราบกันจากหัวใจของเราล่ะ กราบจากหัวใจเฉยๆ นะ
ถ้าภาวนาเป็นรู้จริงขึ้นมา มันจะกราบมาจากขั้วหัวใจเลย !!
มันจะกราบมาจากหัวใจเลยว่า เราเกิดมาในพระพุทธศาสนาเป็นบุญกุศลมาก.. พุทธะ ! ผู้รู้.. ผู้ตื่น.. ผู้เบิกบาน.. บุญกุศล เพราะพุทธะคือหัวใจ คือผู้รู้นี่ มันสามารถแก้ไขได้ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้
พระเจ้าคือเรา.. เราเป็นสรรพสิ่งทั้งหมด เราเป็นทั้งหมดเลย ถ้าเราแก้ไข เราเป็นเองเห็นไหม อยู่ที่การกระทำ จากหยาบไปหาละเอียด ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นอย่างนี้หมด ! เพียงแต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านแล้ว ท่านถึงจะรู้ และเข้าใจ
ถ้ายังไม่ผ่านนะ มันก็เหมือนขวานคนละเล่มปะทะกัน คือต่างคนต่างถือทิฐิว่าฉันถูก.. ฉันเป็น.. ฉันดี.. แล้วก็ปะทะกัน เพราะดีทุกคน แต่ดีในขั้นอะไร ดีในของเด็ก ดีในของผู้ใหญ่ ดีในของผู้เฒ่า
ความดีมันมีลึกลับซับซ้อน ดีมีเยอะแยะไปหมดเลย เราถึงถ้าปล่อยของเรา ถ้าเรามีสิ่งที่ดีกว่า พิสูจน์แล้วดีกว่า เราต้องแก้ไขแล้วเราทำไป จะเป็นประโยชน์กับศาสนา เป็นประโยชน์กับเรา ต้องรู้จริงก่อน เรารู้จริงแล้วเราจะเป็นประโยชน์กับศาสนา เอวัง !