เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ ต.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราศึกษาศาสนา ว่าเกิดมาพบพุทธศาสนานี่มีบุญคุณกุศลมาก เพราะเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ถ้าเป็นศาสนาอื่นมันเป็นศาสนาแห่งการอ้อนวอน การอ้อนวอนการขอเอา มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เหตุและผลมันก็มีหลายระดับ ระดับของโลก ระดับของประเทศ ประเทศก็เหมือนร่างกายของมนุษย์ ถ้าร่างกายของมนุษย์นี่แข็งแรง สุขภาพดี เราจะอยู่สุขสบายมาก ถ้าร่างกายของมนุษย์ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วย มันพิการไป มันกระเทือนกันหมด

ประเทศชาติก็เหมือนกัน ถ้าประเทศชาติร่มเย็นเป็นสุขนะ ประเทศชาติที่มีปัญหา นี่เขาเรียกว่าสภาคกรรม พระเรานี่นะ เวลาทำอาบัติร่วมกัน ปลงอาบัติไม่ตกนะ เขาเรียกว่าอาบัติสภาคกรรม คือทำกรรมร่วมกัน อาบัติจะปลงได้ก็ต่อเมื่อไม่ได้ทำร่วมกัน สภาคาบัติ ปลงอาบัติไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอาบัติส่วนบุคคลเราปลงกับใครได้ นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของประเทศชาติมันเป็นเรื่องของส่วนรวม เวลาผิดหรือเวลาถูกมันก็กระเทือนกันไปหมด สิ่งที่กระเทือนกันไป กระแสทุนนิยม ทุนนิยม.. สังคมนิยม.. มันเป็นเรื่องของโลก

มัชฌิมาปฏิปทา ความพอเพียง เทียบสิ่งนี้มันเป็นไป แต่โลกเขามองไม่เห็น โลกเขามองไม่ได้ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วเราต้องมาเจือจานกันนะ แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ถ้าแผ่นดินธรรมเป็นธรรมขึ้นมา ประใหญ่ประเทศเล็กช่วยเหลือกันเจือจานกันมันก็พอเป็นไปได้ แต่ประเทศใหญ่ประเทศเล็กทุกคนต้องเห็นแก่ตัวก่อน ทุกคนต้องเห็นแก่ประชากรของประเทศของตัวเองก่อน ทรัพยากรถึงดูดไปกองไว้ที่นั่น ประเทศที่ยากจนก็ยากจนกันไป มันก็อยู่ที่ผู้นำด้วย ถ้าผู้นำที่ดีเห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า การคบมิตรที่ประเสริฐที่สุดคือการคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาให้เราพ้นจากทุกข์นะ เวลาเรื่องของความทุกข์มันเป็นความทุกข์จากหัวใจ แต่เรามองกันไม่เห็น ตาเราหยาบๆ กันนะ เราบอกเป็นความทุกข์เพราะเราขาดแคลน เราขาดแคลนสิ่งที่บริโภค เราขาดแคลนสิ่งที่อาศัย แต่ถ้าเป็นแผ่นดินธรรมเขาเจือจานกันได้ เห็นไหม ดูสิ ดูค่าของน้ำใจซิ เราไม่ได้ให้อะไรกันเลย เราให้แค่สายตาที่เอื้ออาทรต่อกัน เราก็มีความสุขแล้ว

สิ่งที่เราเอื้ออาทรกัน เรามองกัน เราเห็นความผูกพันกัน สิ่งนี้ถ้ามันเป็นธรรม.. เป็นแผ่นดินธรรมมันจะไม่ขาดแคลนหรอก แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลก คำว่าโลกกับธรรม โลกกับธรรมไม่เหมือนกันนะ โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน โลกคือการเกิดมา คือการแข่งขันนี่เป็นโลก หน้าที่การงานนี่เป็นโลก แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ ก็ทำหน้าที่การงานเหมือนกัน แต่มันเจือจานกัน มันมีน้ำใจต่อกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ.. ก็เป็นเรื่องของผลกำไรขาดทุนเท่านั้น

เวลาพูดถึงสังคมนิยม เขาบอกว่าให้เสมอภาคกัน มันเสมอภาคกันไม่ได้หรอก มันเสมอภาคกันไม่ได้ ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยไว้ ภิกษุห้ามอวดอุตริ มนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ห้ามอวด..

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัย พวกลัทธิเดียรถีย์ก็ท้าให้แสดงฤทธิ์แสดงเดช องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับคำท้าเลย พอรับคำท้าขึ้นมา พุทธบริษัทในศาสนาเราไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“บัญญัติธรรมวินัยไว้ไม่ให้คนอื่นเขาแสดงฤทธิ์แสดงเดช แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเอง จะไม่เป็นความผิดเหรอ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เปรียบเหมือนเราเป็นเจ้าของสวนมะม่วง เราไม่ให้คนเก็บมะม่วงในสวนของเราไป แต่เราสามารถเก็บได้ไหม”

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้มีอยู่ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ แสดงสิ่งต่างๆ ก่อนจะแสดงพระโมคคัลลานะก็จะขอแสดงแทน พระสารีบุตร ทุกคนจะขอแสดงแทน

“เธอจะทำอย่างไร”

“จะทำอย่างนั้นๆๆๆ”

“เราไม่อนุญาต เราไม่อนุญาต” แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แสดงเอง แสดงเสร็จแล้วก็ไปโปรดพุทธมารดา

สิ่งที่มันเป็นความจริงในศาสนา สิ่งที่เราไม่รู้เท่า แต่สิ่งที่รู้เท่านี่เขารู้ของเขา เขาทำของเขา สิ่งที่เป็นความจริงมันเป็นไปได้ มันเป็นไป แต่เราเชื่อไหมล่ะ เวลาเรื่องของความเป็นอยู่ทางโลก โลกบอกว่าในรัฐบาล ให้เราชาวพุทธทำบุญทำกุศลที่วัดข้างๆ บ้านของตัว ทุกคนให้ทำบุญทำกุศลเห็นไหม ให้เป็นไป ให้แสดงออก แสดงออกเพื่ออะไร.. เพื่อค่าน้ำใจ

สิ่งที่เป็นค่าน้ำใจเห็นไหม โลกกับธรรม ! ถ้าเป็นเรื่องของโลกๆ มันก็เป็นเรื่องความเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ความแข่งขัน แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ดูคนเจ็บไข้ได้ป่วยสิ เวลาถ้าไปโรงพยาบาล ถ้าเป็นโรคไปนะ ก็หวังแต่จะหาย หวังอยู่ตรงนั้น ที่ไหนมีความหวังหรือตัณหาความทะยานยาก ที่นั่นจะมีความทุกข์

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ร่างกายของเราเป็นเรือนรังแห่งโรค ในเมื่อมันแสดงตัวออกเราก็รักษามัน หน้าที่ของแพทย์เขาจะรักษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หน้าที่ของเรา เราต้องดูแลหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา โรคเครียด โรคที่ไปกระตุ้นให้โรคภัยไข้เจ็บมันรุนแรงขึ้น เรารักษาใจของเรา โรคมันเป็นธรรมชาติของมัน ถ้ามันรักษาหายก็หาย รักษาไม่หายก็ไม่หาย มันเป็นไปตามผลของเวรกรรม

ถ้าใจเป็นธรรม.. แม้แต่โลกกับธรรมอยู่ด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราอยู่กับโลกเขา ถ้าจิตใจของเรามีหลักมีจุดยืน เราจะไม่ตื่นเต้นไปกับเขา แต่ต้องมีหน้าที่การงานนะ เวลามักน้อยสันโดษ มักน้อยสันโดษในอะไร.. มักน้อยสันโดษในความทุกข์ไง มักน้อยสันโดษในการผิดศีล ผิดธรรม มักน้อยสันโดษมัน แต่ต้องเหยียบคันเร่งต่อเมื่อทำคุณงามความดี

ความเพียรชอบ เราอุตส่าห์มาแสวงหาที่พึ่งของใจ หลักของใจนะ เราได้แสวงหา เราได้เสียสละ แล้วเราภูมิอกภูมิใจ เรามีความพอใจของเรา นั้นคือบุญ บุญคือความสุขใจ บุญคือความอิ่มเอมใจ อิ่มเอมใจมาจากไหน เวลาผู้ที่ทำบุญทำกุศลแล้วไปเกิดเป็นเทวดา อาหารที่ว่าวิญญาณาหาร.. อาหารทิพย์ ทิพย์มันมาจากไหน ทิพย์ก็มาจากการกระทำอย่างนี้ไง ถ้ากระทำอย่างนี้แล้วใครเป็นคนกระทำ

เราลืมไปแล้วนะ.. โดยสามัญสำนึกของโลกเราลืมไปแล้ว แต่หัวใจมันสะสมไว้ มันตกผลึกในใจ มันลืมไม่ได้หรอก เพราะอะไร เจตนามาจากไหน มโน ! ความรู้สึกไง มันมาจากไหน สิ่งต่างๆ นี้มันมาจากไหน มันมาจากเรากระทำ ทำเพื่อใคร.. ทำเพื่อเรา

สิ่งที่ทำเพื่อเรา สิ่งที่เป็นคุณธรรม คุณธรรมของโลก คุณธรรมของเรา ธรรมเหนือโลก ถ้าธรรมเหนือโลกย้อนกลับมาที่เราหยุดหมด.. นิ่งหมด.. มันรู้เท่าทันไปหมดเลย มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของกรรม ดูสิ น้ำขึ้นน้ำลง น้ำขึ้นน้ำลงมันเป็นผลของความโน้มเอียงของโลกใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน สังคมมันมีขึ้นมีลง มันมีความเป็นไปของมัน เราเกิดในยุคสมัยของใคร บุญกุศลอำนาจวาสนาของใคร แต่ ! แต่ในเมื่อเราเกิดในสภาวะแบบนั้นแล้ว เราก็ต้องมีสติของเรา เราดูเหตุดูผล แล้วอยู่กับความถูกต้อง อยู่กับความดีงาม เราอยู่กับความถูกต้อง กระแสมันจะแรงขนาดไหน ถ้าเราฝืนได้นะเห็นไหม

เวลาพระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เองมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสร้างบุญญาธิการ.. ก็เหมือนกัน จะมีแรงเสียดทานมหาศาลเลย ดูสิ ดูเตมีย์ใบ้ กษัตริย์ไม่เชื่อนะว่าจะเป็นขันติบารมี เอามีดนี่เฉือนหูเลยนะ เฉือนปลายจมูกเลย ดูว่าทนได้จริงๆ ไหม องค์หนึ่งจะบำเพ็ญบารมี กษัตริย์อีกองค์หนึ่งไม่เชื่อ

นี่ก็เหมือนกัน การกระทำของพวกเรา ทำความดีไม่มีใครเขามาส่งเสริมหรอก ใครทำความดี..ดีเกินหน้าเกินตา แต่เราทำดีเพื่อดี เพื่อเรา ใครจะไม่รู้ไม่เห็นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเขากับเรื่องของเรา ใจของเขากับใจของเรา สุขของเขากับสุขของเรา ถ้าเรามีจุดเยือนของเรา เรารักษาใจของเรา ทำเพื่อเรา ทำดีเพื่อดี ไม่ใช่ทำดีเพื่อใครหรอก

โลกธรรม ๘ ติฉินนินทามันเป็นเรื่องธรรมดา เราจะดีขนาดไหน เขาจะติฉินว่าเลวขนาดไหน มันก็เรื่องของเขา แต่เรารู้ตัวของเราเอง เราเลวขนาดไหน เขาชมว่าดีขนาดไหน เราก็รู้ตัวเราเอง สิ่งที่เป็นโลกธรรม ๘ มันเป็นเรื่องของโลกธรรม ๘ ใช่ไหม แต่สัจจะความจริงมันเป็นเรื่องของใจเราใช่ไหม

ศาสนาพุทธ.. พุทธะ ! ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน พุทธะ ! ความรู้สึกของเรา ใจของเรา เรารู้ของเรา เราทำดีทำชั่วเรารู้ของเรา แล้วเรามาศึกษาศาสนา ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษา ศึกษาขึ้นมาแล้วเราปฏิบัติตาม

ดูสิ ดูบริษัทข้ามชาติ เขามาจ้างประเทศด้อยพัฒนาทำสินค้า เรารับจ้างทำ นี่ก็เหมือนกันศึกษาธรรมะมาแล้วก็รับจ้างทำ เคลมให้เป็นของเราไง รับจ้างทำคือทำไม่เป็น เป็นสินค้าของเราไม่ได้ แต่ถ้าค้นคว้าของเรา วิจัยของเรา มันจะเป็นสินค้าของเรานะ สินค้าของเราคือการประพฤติปฏิบัติ เรารับจ้างทำ มันก็ทำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำบุญกุศลมาแล้วก็ทำกันไป.. ทำไป.. แต่เราศึกษาอะไร เราได้ใคร่ครวญไหม สิ่งที่ทำขึ้นมานี่มันมีความรู้สึกที่ดีขึ้นไหม มันพัฒนาไหม พัฒนาการของจิตดีขึ้นไหม ถ้าดีขึ้นมานะโคนไม้มีความสุขที่สุด อยู่ที่โคนไม้เพราะมันเป็นสัจจะความจริง สิ่งที่เป็นโลกที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นสมมุติหมดนะ สมมุติก็เป็นของชั่วคราว ไม่มีอะไรคงที่สักอย่างหนึ่ง

โลกนี่เป็นอนิจจัง โลกนี่ไม่มีอะไรคงที่เลย แต่สิ่งที่เป็นอนิจจังมันต้องแปรสภาพอยู่แล้ว แต่เป็นอนิจจังที่ดีไง เป็นสิ่งที่เป็นอนิจจัง แต่เราก็สร้างสม เราก็ถนอมรักษา ตระกูลใดถ้ายังมีการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องใช้ไม้สอยในหมู่บ้าน ตระกูลนั้นจะไม่เสื่อมเลย ตระกูลใดใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่ดูแลรักษา ตระกูลนั้นจะดำรงความเป็นเศรษฐีอยู่ไม่ได้เลย นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

ทีนี้มันเป็นอนิจจัง ก็ใช่ ! มันเป็นอนิจจัง แต่เราก็ดูแลรักษา ถ้ามันเป็นอนิจจังเราก็รู้ เกิดมาแล้วก็ต้องตายแล้วกินอาหารทำไม รักษาโรคทำไม จะตายอยู่แล้วก็ให้มันตายไปสิ ทำไมกินข้าวละ นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นอนิจจัง แต่อนิจจังที่ทำแต่สิ่งที่ดีๆ กับเรา เพื่อให้มันตกผลึกเป็นบุญกุศล

สิ่งที่เป็นบุญกุศลมันเป็นสิ่งที่มีชีวิตมันหมุนเวียนไป เป็นวัฏฏะที่มันเวียนตายเวียนเกิด เราทำของเราเพื่อความดีของเรา นี่ศาสนา โลกกับธรรม เราอยู่กับโลก เราเกิดมาเป็นมนุษย์ โลกชั่วคราว ชีวิตหนึ่ง ๑๐๐ ปีแล้วเราก็ต้องตายไป เกิดมาแล้วจังหวะและโอกาส โอกาสของเรา ๑๐๐ ปี เราจะฝืนกระแสสังคมได้มากขนาดไหน

“กระแสโลก.. กระแสธรรม..” ถ้าเราเข้าถึงกระแสธรรมได้ เราจะเหนี่ยวรั้งเรามาประพฤติปฏิบัติได้ แล้วพอประพฤติปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันก็กระตุ้น มันก็มีการโต้แย้ง เราจะทำอย่างไร เราจะรักษาอย่างไร เราถึงมีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง พ่อแม่ครูบาอาจารย์ พ่อแม่เราเลี้ยงได้แต่ร่างกาย พ่อแม่ครูบาอาจารย์เลี้ยงทั้งร่างกายด้วย เลี้ยงทั้งจิตใจด้วยเห็นไหม

การสอนที่วิเศษที่สุด คือการสอนด้วยความเป็นอยู่นี้เป็นตัวอย่าง การสอนที่วิเศษที่สุดคือการไม่สอน คือการประพฤติปฏิบัติให้ดู แล้วเราอาศัยสิ่งนั้นเป็นตัวอย่าง แล้วเราประพฤติปฏิบัติทำให้ได้ ถึงที่สุดแล้วการศึกษานี้ศึกษาทันกันได้ เวลาต่างกันแต่ศึกษาทันกันได้ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ใจของเรานี้ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันจะทันกันได้ ถึงที่สุดแล้วนิพพาน คือไม่เกิดอีก

แต่ถ้าเราไม่มีถึงที่สุดนะ มันก็จะส่งผลให้เกิดในสิ่งที่ดีๆ ได้เกิดในสังคมที่ดี สังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องไปทุกข์ร้อนนัก มองทางโลกสิ สังคมในโลก ดูสิ เขาเกิดในประเทศ เขาเกิดในสิ่งต่างๆ แล้วเราย้อนมาดูเรา เรามีบุญไหม ประเทศชาติเราสงบร่มเย็นไหม แล้วหัวใจเราสงบร่มเย็นหรือยัง

ถ้าหัวใจเรายังไม่สงบร่มเย็น มันยังมีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่ ทำให้มันคลายออก ทำให้มันเป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไปได้ ทรัพย์อย่างนี้ไม่มีใครทำให้ได้ เราต้องทำของเราเอง พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งพุทธะที่มีความรู้สึกอยู่ที่ใจ เอวัง