เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาพูดเรื่องศาสนา เรื่องศาสนานี่มันละเอียดอ่อนนะ มันละเอียดอ่อนหมายถึงว่าเวลาความละเอียดอ่อนกว่ามันจะซาบซึมเข้าไปถึงหัวใจ มันถึงมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ ทีนี้คนปฏิบัติมันต้องมีพื้นฐาน ถ้าไม่มีพื้นฐานขึ้นมาเลย เวลาปฏิบัติไปนี่คำพูดเหมือนกัน ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูดนะ เวลาท่านอยู่หนองผือมันมีคนซื่อคนหนึ่ง ท่านถามว่า
ในพื้นที่ที่เอ็งทำนาทำไร่อยู่นั่นน่ะ มันมีต้นมะขามป้อมไหม?
มีครับ
ท่านก็รอว่าเขาจะคิดได้ไหม? คืออยากให้มันเก็บมะขามป้อมมาถวายท่านบ้าง มันก็ไม่เก็บมาใช่ไหม? จนถึงสุดท้ายท่านก็ถามว่า
เฮ้ย.. ต้นมะขามป้อมเอ็งมีลูกไหม?
มีครับ
แล้วมันก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน มันซื่อ ซื่อจนคิดไม่ออกไง
อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราพูดธรรมะกัน ถ้าเราเอาโลกมาจับนะ โลกเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเอาวิทยาศาสตร์มาจับแล้วมันไม่ซึมซับเข้าไปถึงหัวใจ มันไม่ซึมซับหรอก มันเป็นความคิดจากภายนอก ถ้าความคิดจากภายนอก เห็นไหม นี่เขาเรียกว่าธาตุ
ธาตุคนปฏิบัติได้ ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้นะมันย่อยสลาย คือว่ามันยุบตัวเข้าไปถึงตัวมันไม่ได้ คือมันไม่ทวนกระแสเข้าไป มันจะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างนั้น คือว่ามันเป็นความคิดโลกๆ ความคิดโลกๆ คือเป็นวิทยาศาสตร์ มันมีความคิดอย่างนั้นแหละ ถ้าความคิดอย่างนั้นนะ นี่เป็นไปโดยธาตุ
เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ คนจะปฏิบัติได้ ปฏิบัติไม่ได้ นี่ถ้าปฏิบัติไม่ได้นะ ปฏิบัติไม่ได้หมายถึงเราพยายามปฏิบัติของเราอยู่ แต่มันไม่เข้าถึงใจ.. ถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ ก็ปฏิบัติเพื่อสร้างสมบารมี นี่อินทรีย์สังวร อินทรีย์แก่กล้า ความแก่กล้าของใจมันจะพัฒนาของมันเข้าไปได้ไหม? ถ้ามันพัฒนาของมันเข้าไปได้มันจะเป็นประโยชน์ของมัน
ถ้ามันพัฒนาเข้าไปไม่ได้ เห็นไหม เข้าไปไม่ได้เหมือนกับว่ามันสุดวิสัย แต่ถ้าสุดวิสัย ดูสิทำไมบางคนปฏิบัติยาก บางคนปฏิบัติง่าย บางคนปฏิบัติยาก ส่วนใหญ่มันยากทั้งนั้นแหละ ยากเพราะอะไร? เพราะสาวก สาวกะ พวกเราสร้างบุญญาธิการมาไม่เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เหมือนกับผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา คนสร้างบุญญาธิการมานี่มันเข้าใจง่าย
ดูเชาว์ปัญญาของเด็ก เด็กบางคนมันจะมีเชาว์ปัญญาดี เด็กบางคนจะมีความสำนึกดี เด็กบางคนจะมีความสำนึกหยาบมากเลย ไอ้นี่มันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นการสะสมมาของใจทั้งนั้นแหละ สิ่งที่สะสมมาของใจ เห็นไหม นกกับปลา เวลานกคุยกับปลา นกมันก็ว่าบนอากาศ มันบินไปในความเวิ้งว้างของมัน ปลามันก็ไปในน้ำของมัน มันไปในน้ำลึกน้ำตื้นของมัน มันไปประสามัน ทัศนคติมันไปคนละเรื่องกัน โลกกับธรรมมันเป็นอย่างนั้น
ถ้าโลกกับธรรมเป็นอย่างนั้นนะ เราไม่ต้องไปแบกรับภาระ สิ่งที่สุดวิสัยมันเป็นกรรมของสัตว์ ถ้ากรรมของสัตว์นะ มันเป็นสุดวิสัยนะ เราไปแก้ไขไม่ได้ไง เราจะเปลี่ยนน้ำให้เป็นน้ำมัน หรือเปลี่ยนน้ำมันให้เป็นน้ำ มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่เราแก้ไขของเรา พยายามทำของเรา พยายามทำของเราถึงที่สุดแล้วมันต้องอุเบกขา มันต้องปล่อยสัตว์ไปตามกรรม
ไม่ใช่ว่าสงสารเขา แบกรับเขา โลกนี่จะไปแบกโลกทั้งโลกไม่ได้หรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเอาโลกนี้ไปไม่ได้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาตรัสรู้ขึ้นมานี่ทอดธุระเลยนะว่าจะสอนเขาได้อย่างไร? แต่เวลาพรหมนิมนต์หนึ่ง แต่ความเห็นของท่าน ท่านพิจารณาของท่านแล้ว เพราะท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วพวกสหชาติ อย่างพวกพระอานนท์ พวกพระอุบาลี นี่สหชาติเกิดมาร่วมกัน
การเกิดร่วมกันต้องสร้างบุญญาธิการมา ดูปัญจวัคคีย์สิ ปัญจวัคคีย์ก็สร้างมาด้วยกัน เวลาออกอุปัฏฐาก เห็นไหม แต่คนจะได้มากได้น้อยมันอยู่ที่ความสามารถ อยู่ที่ดุลยพินิจ อยู่ที่ดุลยพินิจของเขาหนึ่ง แล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์สอนมันเป็นไปไม่ได้หรอก เหมือนลูกเรา เหมือนเด็กนี่นะ เด็กนี่เวลาพ่อแม่คลอดมา ถ้าไม่เลี้ยงดูนี่ตายหมดแหละ เด็กเลี้ยงตัวเองไม่ได้หรอก เด็กต้องอาศัยพ่อแม่เลี้ยงดูเหมือนกัน
จิตของเรามันมีโอกาสได้สัมผัส มีโอกาสได้เปิดตาของใจ แต่มันจะสัมผัสไหม? มันจะเปิดตาไหม? ถ้าไม่เปิดตา เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า นี่ถ้าใครได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้พบมันหมดโอกาสไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการเหมือนกัน การฆ่า.. การฆ่าคือชักสะพาน คือการไม่พูดด้วย คือการไม่สอน ชักสะพานคือการฆ่าทิ้ง ฆ่าทิ้งคือเสียโอกาสของเขาไป
นี่ก็เหมือนกัน อยู่กับครูบาอาจารย์แล้วเขาจะมีดุลยพินิจของเขาอย่างไร? ดุลยพินิจเป็นเรื่องของความหยาบๆ คือเรื่องของโลก บางคนนะ ดูสิเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านคอยติเตียน เตือนกิเลสของเรา ท่านคอยตบมือของเรา นี่เด็กน้อยมันจะรำคาญ มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ แต่ความปรารถนาดีของเราก็ต้องชักนำ
ความปรารถนาดีของพ่อแม่ เห็นไหม พ่อแม่ครูจารย์ ดูสิ ใครบ้างไม่อยากสร้างบุคลากรไว้ในศาสนา ศาสนทายาทเพื่อดำรงศาสนาไป แต่สร้างศาสนาทางไหนล่ะ? เวลาใจมันชุ่มชื่น ใจมันดีขึ้นมามันก็แนบชิดกับศาสนา เวลาใจมันโลเล ใจมันออกไป มันก็คิดออกไปทางโลก
ดูสิดูการเผยแผ่ธรรมของพระ เห็นไหม นี่เป็นพิธีกรรม โอ๊ย หน้ารื่นเริง หน้ารื่นรมย์ของเขา แต่มันเป็นเรื่องโลกๆ มันติดนะ มันติดอยู่สภาวะแบบนั้นแล้วมันเข้าไม่ได้หรอก แต่ถ้าเวลาของเรา เวลาครูบาอาจารย์ของเราต้องการที่สงบสงัด ที่อยู่โคนไม้ เพราะที่สงบสงัดมันเกิดอะไร? มันเกิดความโต้แย้งของใจ เวลาอยู่คนเดียวให้ระวังความคิดของตัว ความคิดมันจะเกิดนะ
นี่มันต้องแยกออก มันไม่คลุกคลีในหมู่ ไอ้นี่จัดการกัน บริหารจัดการกัน คลุกคลีกันไปอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็บอกอู้ฮู.. ศาสนาดีอย่างนั้น ดีอย่างนั้น ดีสิมันเพลิน แล้วดีอย่างนี้มันดีไปไม่ได้นานหรอก เพราะอะไร เพราะกิเลสในหัวใจ มันเหมือนคนมีเชื้อโรค คนที่กินของแสลงมันต้องแสดงออกเป็นธรรมดา
กิเลสของเราในใจ มันมีของเราในใจ มันคลุกคลีเข้าไป เดี๋ยวมันต้องมีเป็นธรรมดา ดูหมาสิ หมาเวลาหยอกล้อกัน มันเล่นกัน มันสนุกไหม? มันเพลิดเพลินกัน มันเล่นกันน่ารักมากเลย เดี๋ยวมันก็กัดกัน มันผิดใจกันมันก็กัดกัน
นี่ก็เหมือนกัน การคลุกคลีกันอยู่ในหมู่ เดี๋ยวมันก็มีปัญหากัน นี่มันต้องแยกออกไป แต่โลกเขาทำอย่างนั้นไม่ได้ เขาบอกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นความไม่มีอำนาจวาสนา ไม่มีบารมี ถ้าได้มีการคลุกคลี มีการส่งเสริมเป็นคนดี เราไปมองโลกๆ นะ นี่ผู้นำที่เป็นธรรม เห็นไหม นี่มรรคหยาบ มรรคละเอียด.. มรรคละเอียดมันจะละเอียดเข้าไปขนาดไหน?
แม้แต่กายวิเวก จิตวิเวก กายมันต้องวิเวกก่อน ถ้ากายไม่วิเวกมันคลุกคลี คนไม่เคยภาวนาไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้หรอก ถ้าเข้าใจ เห็นไหม มันต้องการความสงบ มันต้องการความสงัด มันต้องการการหลีกเร้น แต่เวลาเราหลีกเร้นขึ้นมา ใครจะเข้ามากวนๆ กวนมันก็ออกมา
นี่เวลาจิตสงบ มันสงบตัวลง มันหดตัวสั้นเข้ามา หดตัวสั้นเข้ามา เวลากระทบขึ้นมา อายตนะมันออกรับรู้มันทำให้ขุ่นมัวไป เหมือนน้ำในแก้วเลย น้ำตะกอนในแก้ว เห็นไหม ขยับขึ้นไปมันก็ขุ่นไปเป็นธรรมดา เราต้องรอ พยายามทำให้มันนิ่ง เพื่อให้ตะกอนมันอยู่ในก้นแก้ว
นี่ก็เหมือนกัน พยายามทำใจให้สงบขึ้นมา แล้วมันมีตะกอน มีขุ่นของมัน มันมีสภาพของมัน เห็นไหม นี่สิ่งต่างๆ อย่างนี้ ถ้าพูดถึงคนทำขึ้นมาแล้วมันเข้าใจถึงสภาวะเลยผ่าน เราเคยผ่านการกระทำมานี่ ใครทำอย่างไรมันจะรู้ของมัน มันเข้าใจของมัน
นี่ครูบาอาจารย์ท่านผ่านของท่านมา ท่านได้เห็นกิริยาสิ่งที่ควรหรือไม่ควร แล้วถ้าสิ่งที่ไม่ควร ติเตียนแล้ว เตือนแล้ว บอกแล้ว ถ้าเขาฟัง เขาแก้ไขของเขา เขาจะได้ประโยชน์ของเขา เขาไม่ฟัง เขาไม่แก้ไข แล้วเขาเอาไปเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นความเห็นของตัว ให้เป็นเรื่องโลกๆ ไง
ธรรมะเป็นโลกไปหมดเลย โลกเป็นใหญ่ โลกชักนำไป โลกคืออะไร? โลกคือโลกธรรม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันเกิดขึ้นเดี๋ยวเดียวมันก็เสื่อมเป็นธรรมดา แต่ถ้าธรรมล่ะ? ธรรมของเรา ธรรมที่มันเป็นขึ้นมานี่ เห็นไหม มันเหนือโลกธรรมนะ ธรรมะเหนือธรรมชาติ ธรรมชาติคือสภาวะการเปลี่ยนแปลง สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วความเป็นจริงที่มาจากไหน?
ความสงบของใจ มันสงบของใจเดี๋ยวมันก็เสื่อมเป็นธรรมดา มันเป็นอนิจจัง แล้วถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันใช้ใคร่ครวญขนาดไหน? อันนี้ปัญญาเกิดขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ มีปัญญาเกิดขึ้นมาก็ตื่นไปกับมัน ตื่นโลก ตื่นธรรม ตื่นไปหมดเลย
การตื่น เห็นไหม การตื่นคือเราไม่นิ่ง สิ่งต่างๆ มันต้องนิ่งก่อน นิ่งแล้วต้องพัฒนาเข้ามา มันมีเหตุมีผลของมันเข้ามา สิ่งที่เข้ามามันจะชะล้างของมันเข้ามา สิ่งที่ชะล้างเข้ามา เห็นไหม มันจะเห็นมรรคหยาบ มรรคละเอียด มันจะเห็นว่าเป็นตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน มันจะแปรสภาพอย่างไร?
อันนี้ไม่เห็นอะไรเลย มันเป็นการนึกเอา เป็นการใคร่ครวญเอา จะว่าอินทรีย์อ่อนก็ได้ จะว่าเป็นความเห็นของโลกๆ ก็ได้ เป็นของโลก เห็นไหม แล้วนี่เราเป็นผู้นำ ดูพ่อแม่จะเชื่อลูก ให้ลูกพาเที่ยว ให้ลูกพาไปในโลกตลอดเวลา แล้วพ่อแม่จะประกอบอาชีพในโลกนี้อย่างไร? พ่อแม่จะยืนอยู่ในโลกนี้อย่างไร? ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน จะให้เด็กชักนำไปไม่ได้หรอก จะให้คนชักนำไปทางนั้น คนชักนำไปทางนี้ เรื่องโลกๆ ทั้งนั้น
เรื่องโลกๆ เข้ามานี่ เข้ามาในวัดแล้ว วัดปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติมันต้องเอาวัตรเป็นที่ตั้ง เอาวัตรปฏิบัติ เอาข้อวัตร เอาการกระทำของวัดเป็นที่ตั้ง เอาครูบาอาจารย์เป็นที่ตั้ง ถ้าเป็นที่ตั้งนะมันจะพัฒนาเรา ไอ้นี่ทำไมไม่แก้ไข จะแก้ไขอย่างไรล่ะ? ก็มันไม่ยอมรับ มันเป็นสภาวะกรรมของสัตว์ ถ้ามันเป็นกรรมของสัตว์เราก็ต้องตั้งใจ เราต้องยอมรับความเป็นจริง
มันเป็นความจริง ถ้ามันแก้ไขได้ นี่โลกที่เป็นอย่างนั้น โลกที่ว่ามีการศึกษา เห็นไหม ดูสิโรงเรียนมีการศึกษาเข้าไปนี่จบหมดแหละ ไม่จบครูก็ช่วยให้จบ นี่ให้จบออกไปเพราะอะไร? มันเสียที่นั่ง กลัวคนอื่นจะไม่ได้เข้ามาเรียนต่อไป โลกต้องเป็นอย่างนั้นนะ ประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จ แต่ปฏิบัติธรรมมันมีแง่มุมของมันอีกมหาศาลเลย มันมีกรรมของสัตว์ มันมีจริตนิสัย มันมีอำนาจวาสนา มันมีต่างๆ เข้ามารองรับทั้งนั้นแหละ
ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา บางคนปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ยาก บางคนปฏิบัติแล้วสักแต่ว่า ปฏิบัติไปเพื่อสร้างสมบารมี ปฏิบัติไปให้ภพชาติมันสั้นเข้ามา ภพชาติสั้นเข้ามานะ ถ้าปฏิบัติไปปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาใคร? ก็บูชาความรู้สึกเรา บูชาใจเรา เพราะมันได้กล่อมเกลาใจของเรา เห็นไหม
บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็บูชาเรานี่แหละ บูชาใจของเรา บูชาให้มันพัฒนาขึ้นมา ให้มันมีอำนาจวาสนา มีบารมีของมันขึ้นมา เพื่อประโยชน์ของมัน นี่การปฏิบัติบูชา! ถ้าการปฏิบัติบูชา มีแต่ว่าเราจะมีความอดทน มีความวิริยะ อุตสาหะได้แค่ไหน?
ชีวิตนะถ้ามันมองโลก ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือพลังงานเท่านั้น แต่ชีวิตของเรา เราจะเสพสุขไปทางโลก เราสร้างสมบารมี เห็นไหม เราต้องมีศีลมีธรรม มันมีที่เกาะ มีเครื่องอยู่ไง ถ้าใจไม่มีเครื่องอยู่มันทนไม่ไหวหรอก มันเป็นไปกับโลก โลกมันคอยเร่งเร้าตลอดเวลา เราต้องมีศีลมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีหมู่คณะช่วยชักนำกัน คบบัณฑิตไม่คบพาล
พาลนอก พาลข้างใน ถ้าพาลข้างนอก เห็นไหม พาลข้างนอกคือพากันออกนอกลู่นอกทางว่าเป็นปฏิบัติธรรม โคมันโง่ มันพาลงไปในวังน้ำวนหมดแหละ มันตายหมด นี่ตายหมด รักษาไว้ไม่ได้ ถ้ารักษาบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เรารักษาไว้ไม่ได้นะ มันเป็นเปรตเป็นผีของมันในคราบของมนุษย์ เวลาชักนำกันไป ถ้าเป็นโคที่ฉลาดมันจะชักนำเข้ามาให้เป็นบริษัท ๔ ให้เป็นบริษัทเจ้าของศาสนา
แล้วศาสนาอยู่ที่ไหน? ศาสนามันอยู่สัมผัสที่ใจ.. ศาสนาสัมผัสที่ใจนะ สิ่งปลูกสร้าง ศาสนบุคคลต่างๆ นี่มันเป็นวัตถุ มันเป็นเครื่องประกอบเท่านั้นเอง มันเป็นผลของวัฏฏะ แต่ตัวศาสนามันพ้นออกไปวิวัฏฏะ วิวัฏฏะมันก็ต้องมีสติ มีปัญญา มีการกระทำของมันขึ้นไป เห็นไหม แล้วมีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งอาศัยเกาะไปก่อน
ใจมันไม่มีหลักเกณฑ์ก็เกาะไปก่อน เกาะให้ได้ ขอให้มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาเป็นเครื่องอาศัย มีเครื่องอยู่จนมันเป็นความจริงของมัน นี่วิหารธรรม พอใจมันเป็นธรรมขึ้นมา มันมีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่นะ มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ มันเห็นความแตกต่างโลกกับธรรม มันจะเห็นเลยนะ เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็กจริงๆ นะ เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็กมันเล่นขายของ มันสังเวชไหม? มันทำอะไรกัน มันเป็นสมมุติ มันเล่นกัน
นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่มีคุณธรรม ธรรมเหนือโลก มองโลกที่เขาทำธุรกิจกัน เขาทำหน้าที่การงานเหมือนคนเล่นกัน แต่เล่นจริงๆ นะ ต้องทำจริงๆ ถ้าไม่ทำจริงๆ ก็ไม่ได้ผลจริงๆ เหมือนเล่นกัน มันเป็นสมมุติอันหนึ่ง เห็นไหม หัวโขนเหมือนกับสมมุติอันหนึ่ง แต่ต้องทำจริงๆ เพราะเราต้องการปัจจัย ๔ เราก็ต้องการปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิต แต่ว่าเวลาปฏิบัติธรรมนี่มันละเอียดกว่า ละเอียดกว่าเพราะมันเป็นความจริง เสื่อมก็เสื่อมจริงๆ มีก็มีจริงๆ ได้ก็ได้จริงๆ รู้ก็รู้จริงๆ แล้วถ้าไม่ได้จริงๆ
เวลากิเลสมันหลอก เห็นไหม แล้วเราไปเชื่อกิเลสกันไป ธรรมะนี่ต่ำ ดึงฟ้าให้ต่ำ ดึงสัจธรรมอันนั้นให้เป็นความเห็นของตัว จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น แล้วมันเสียดายโอกาส ถ้าครูบาอาจารย์ท่านชักนำขึ้นไป เราต้องมีเชาว์ปัญญาของเรา เราต้องแยกแยะสิ ปัญญาต้องคิดสิ เวลาหลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า
สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิของท่านอย่างหนึ่ง เพราะสัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัยร่วมอยู่ด้วย มันมีสมุทัย มันมีความเห็นของตัวร่วมอยู่ด้วย
สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างหนึ่ง ท่านก็คิดของท่าน ท่านก็ใคร่ครวญของท่าน ท่านบอกว่าท่านไม่ได้เถียงด้วยทิฏฐิมานะ ท่านเถียงด้วยมุมมองของท่าน เพราะท่านก็มีมุมมองของท่าน ท่านเห็นอย่างนั้น ท่านรู้สึกอย่างนั้น เห็นไหม แต่เวลาหลวงปู่มั่นบอกว่า สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอีกอย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิของเรา..
นี่ไงของเราๆ คำว่า ของเรา เพราะอะไร? เพราะใจเราเป็นโลก ใจเราเป็นความรู้สึก ใจเราเป็นภวาสวะ ใจเป็นภพ ใจเป็นภพมันก็คิดตามประสาของมัน มันสัมผัสด้วยความเห็นของมัน มันยังเป็นเด็กน้อยอยู่ มันยังไม่เข้าใจของมัน มันก็ว่าของมันเป็นความจริง แต่เราไปใคร่ครวญอยู่ อืม.. มันก็จริงของท่าน
ไม่ใช่เถียงด้วยทิฏฐิมานะ เถียงด้วยความรู้ความเห็นของตน เถียงหาเหตุหาผล แล้วก็ใคร่ครวญหาเหตุผล แล้วก็ทดสอบกัน ทดสอบแล้วมันพัฒนาของมันขึ้นไปมันก็จะปล่อย ปล่อยไปว่า เออ.. จริงของท่าน ท่านถูกเราผิด ท่านถูกหมดเลย เราผิด แต่ไอ้นี่เราถูกหมดเลย ท่านทำไมเห็นว่าเราผิด แล้วท่านทำไมไม่ยอมรับเรา ท่านทำไมไม่ว่าเราถูกต้อง นี่กิเลสทั้งนั้น โลกทั้งนั้น โลกเป็นใหญ่ไม่ได้ ต้องธรรมเป็นใหญ่ ครูบาอาจารย์ท่านจะชักนำของท่านขึ้นไป พยายามให้มันย้อนกลับ ให้มันละเอียดเข้ามา
นี่สภาวธรรมมันละเอียดเข้าไปอย่างนั้น มันถึงต้องมีหลักมีเกณฑ์ มีการใคร่ครวญ ใช้สติ ใช้ปัญญา อย่าเชื่อมั่นกิเลส อย่าเชื่อมั่นเรา ถ้ากิเลสกับเราเป็นอันเดียวกัน เราเชื่อเราก็คือเชื่อกิเลส ถ้าเราเชื่อธรรมะ เราเชื่อสัจจะความจริง เราเชื่อครูบาอาจารย์ ท่านพูดของท่านเป็นอย่างนั้น ลองพิสูจน์ดูก่อนสิ
เราเป็นอย่างนี้ เราว่าของเราถูกต้อง เราพิสูจน์ดูก่อนสิ ถ้ามันละเอียดเข้าไป มันเห็นความจริงเข้าไป มันจะปล่อยของเรานะ ปล่อยของเราเข้าไป พัฒนาเข้าไป ถ้ามันไม่ปล่อยก็เป็นโลกอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันก็เป็นเล่ห์เป็นเหลี่ยม เป็นเล่ห์กล เล่ห์กลของกิเลส กิเลสมันมีเล่ห์กลมาก อ้างธรรมะ อ้างสัจธรรม อ้างไปหมดเลย แล้วก็ว่าเป็นสัจธรรม มันอ้างไง
นี่กิเลส เรื่องของกิเลสไง นี่โลกียธรรม มันเป็นเรื่องโลกๆ แล้วเวลาเสื่อมไปจะคอตกนะ ถ้าใครเสื่อมไป ใครปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลของตัวเอง มันจะทุกข์ใจมาก แล้วมันจะเสียดายโอกาส เวลาจิตมันดีๆ เหมือนเราเลย เรามีเงินมีทอง เราสามารถที่จะทำธุรกิจ สามารถที่จะทำประโยชน์ได้ เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไป พอเงินหมดแล้วนี่ แหม.. แหม.. เลย
นี่สิ่งใดๆ ที่คิดย้อนหลังแล้วเสียใจสิ่งนั้นไม่ดีเลย แล้วในปัจจุบันนี้กว่าเราจะทำได้ เราจะมีทุนได้ จะมีโอกาสได้ เห็นไหม ตลาดไม่วาย สัจธรรมยังมีอยู่ แล้วโอกาสชีวิตยังมีอยู่ เห็นไหม แล้วมีคนบอกให้ทำ แล้วทำไมเราไปเชื่อกิเลสของเรา แล้วจะให้ทุกคนเห็นตามเรา เห็นตามเราก็เห็นกิเลสสิ สัจธรรมอันเดียวกัน พระอรหันต์เหมือนกันหมดเลย นี่อันเดียวกัน แล้วเราทำไมต้องให้เขามาเหมือนเราล่ะ? เราทำไมไม่เหมือนสัจธรรมล่ะ?
ถ้าสัจธรรม เห็นไหม นี่ปัญญามันใคร่ครวญ มันมีเหตุมีผลของมัน มันจะไม่เชื่อตัวมันเองจนเกินไปนัก มันจะเชื่อธรรม ไม่เชื่อตัวเองจนเกินไปนักแล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา.. นี่ธรรมเป็นใหญ่ อย่าให้โลกเป็นใหญ่ มันเรื่องของสัตว์โลกไม่ต้องไปวิตกกังวลหรอก มันเป็นอย่างนั้นเอง มันดื้อมันด้าน มันเป็นอย่างนั้นเอง มันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง แล้วเราจะไปให้คนดื้อด้านให้มันเบาบางมาเป็นอย่างเรามันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ นี่ถึงต้องวางไว้ตามความเป็นจริง
สัจจะเป็นความจริง มันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมของเขาดี เขาทำได้ดีของเขา ถ้ากรรมของเขา ความทิฏฐิมานะของเขาเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้นแล้วเราจะไปแบกทำไม? นี่ดูสิดูเวลาธรรมที่เป็นสัจธรรมความจริง เวลาคิดออกมานี่ไปแบกขอนทำไม? ความคิดมันเป็นเรื่องความหนักของจิตนะ จิตต้องคิดต้องทำ นี่มันบริหารจัดการ เห็นไหม
นี่ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นเรื่องที่หนักอย่างยิ่ง เป็นภาระอย่างยิ่ง ต้องคิดอย่างยิ่ง ความคิดต้องไปหนัก ต้องไปแบกหามมันโดยไปคิดมันขึ้นมา แล้วไปคิดทำไมก็ทิ้งไปสิ แต่นี่ไปแบกทำไมโลกน่ะ โลกไปแบกมันทำไม? เราวางไว้ตามความเป็นจริงสิ เขาเห็นดีก็ดีของเขา เขาไม่เห็นดีก็เรื่องของเขา มันกรรมของเขาไม่ใช่ของเรา เรารักษาใจของเรา จบ! ดูใจของเรา แล้วทำหน้าที่ของเรา ภาวนาของเราให้ถึงที่สุด ให้พ้นจากกรรมได้ เอวัง