เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ ฟังธรรมนิดหนึ่ง ฟังธรรมหมายถึงว่า มันเป็นธรรมะ มันสะเทือนกิเลสเรา เรามาวัดมาวา เรามาตั้งใจปฏิบัติ เห็นไหม เหมือนนักกีฬา นักกีฬาเวลาลงลู่ไปแล้วเรามีเวลาแข่งขันนะ เวลาเราไม่ลงลู่ไปเราจะเอาอะไรไปแข่งขันกับเขา นี่ก็เหมือนกัน เราลงสนามแล้วนะ เรามาวัดแล้ว เราจะประพฤติปฏิบัติแล้วเราตั้งใจของเรา เราลงลู่ไปแล้วเราพยายามตั้งใจ มันจะได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร นักกีฬาให้ถึงเส้นชัย จะเข้าสุดท้ายก็ให้ได้เข้าเส้นชัย

นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเราไป กำหนดมากี่วันแล้วตั้งใจทำ ตั้งใจทำอย่าไปท้อถอย พอไปฟังธรรมะแล้ว ฟังสิ่งต่างๆ แล้ว โอ้โฮ.. ทำไมมันลำบากขนาดนั้นหรือ? จะลำบาก จะทุกข์ จะยาก จะง่าย จะสะดวกสบายนี่มันเป็นผลของบุญของกรรมนะ

นี่สิ่งที่เขาถามเมื่อวาน เห็นไหม บอกว่า “คนก่อนจะตายมันจะมีอาการอย่างไร?”

มีอาการอย่างไรมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม มันมีนะ ลูกศิษย์เขามาเล่าให้ฟังอยู่ อยู่ทางฉะเชิงเทรา เขากัดปลาอยู่บ่อยมาก เวลาเขาตายเขาจะเอามือเขากำแล้วชนกันอยู่อย่างนี้ เลือดแดงหมดเลยนะ ทำอยู่อย่างนี้แหละ คิดดูสินั่นคือกรรมของเขา นี่ถ้าคนไม่เข้าใจ แล้วทำไมเขาทำอย่างนั้นล่ะ? ลูกหลานเขาพยายามเอามือออกไป พอเอามือออกไปปั๊บนะ พอลูกหลานเอามือออกไปเขาก็เอามือมาชนอย่างเก่าอีก ชนอยู่อย่างนั้นแหละ นี่มันเป็นความรู้สึกของใจไง เราไปแก้กันที่ร่างกาย เห็นไหม ดูสิเวลาเราร้อนเราก็อาบน้ำ มันก็เย็นที่ร่างกายนี้ใช่ไหม แต่หัวใจมันเร่าร้อนมันหายไหม?

นี้ความฝังใจ กรรมนิมิต เวลากรรมนิมิตนี่นะ คนมีกรรม ถึงเวลาจะสิ้นใจมันจะเห็นนะ ดูสิหลวงตาพูดบ่อยมาก ดูจิตตคฤหบดี เห็นไหม เวลาจะตายนิมนต์พระมาสวดมนต์ให้ฟัง เทวดามารอรับเลย นี่กรรมนิมิตเขาเห็นนะ ยังมีชีวิตอยู่เขาเห็นแล้ว เห็นเทวดานี่เอารถมารับเลย นั่นล่ะเวลาตายปั๊บไปเลย จะไปชั้นไหนก็ได้ สวรรค์ทุกชั้นเปิดหมด นั่นคือกรรมดีของเขา เห็นไหม

คนจะตายนี่รื่นเริง ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนไปเที่ยว เวลาคนไม่มีกรรมอย่างนี้ แล้วเราศึกษา เราศึกษาว่าเวลาคนใกล้เสียชีวิตเราจะไปช่วยเขา จะอะไรนี่ หลวงตาพูดอย่างนี้นะ พูดว่า

“เวลามีชีวิตอยู่ธรรมะก็ไม่สนใจ เวลาตายแล้วจะมากุสลา ธัมมา”

นี่ท่านพูด เห็นไหม กุสลา ธัมมา มันกุสลาให้คนตายมีประโยชน์อะไร? ท่านจะต่อต้าน แต่ความจริงก็มีประโยชน์ ประโยชน์คือได้ทำบุญนิดหนึ่ง ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย แต่เรามีชีวิตอยู่ ทำไมกุสลา ธัมมา.. นี่กุสลาทำดี อกุสลาทำชั่ว แล้วนี่ทำไมไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าตอนนี้ทำแล้วมันจะเป็นสิ่งที่ดีไป

นี่ก็เหมือนกัน คนใกล้ตายมันเป็นผลสุดท้ายของวาระที่เขาจะหมดอายุขัยของเขาแล้ว แต่สิ่งที่ทั้งชีวิตของเขา เขาไม่ได้ทำอะไรของเขามาเลย เราก็มีความรู้ของเรานะ เราจะบอกเขาบอกว่าให้นึกถึงพุทโธ พุทโธคืออะไรล่ะ? นี่คนที่ยังมีสติอยู่ยังถามได้นะ คนใกล้จะตาย สติไม่ดีมันจะมาถามอะไรล่ะ? ให้นึกพุทโธนะ ให้นึกถึงคุณงามความดีนะ เขานึกของเขาไม่ออก

นั่นมันเป็นเวรเป็นกรรมของแต่ละบุคคล แต่ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่ดี ทุกคนอยากจะให้มีความสุขกัน ทุกคนอยากจะให้เขาไปดี ทุกคนก็คิดความปรารถนาดีทั้งนั้นแหละ แต่มันเป็นเรื่องสุดวิสัยไง มันเป็นเรื่องของเวรของกรรม เวรกรรมเขาทำของเขามา แล้วเราก็พยายามจะส่งให้เขาไปดี ส่งดีก็ตั้งแต่ตอนนี้ไง เราทำคุณงามความดีกัน เราเสียสละกัน เราทำบุญกุศลของเรา เราทำดีเราเตรียมพร้อมของเรา

นี่ทำดีมันต้องทำพร้อมตั้งแต่ที่นี่ เหมือนปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้มันต้องพรวนดิน ต้องปลูกต้นไม้ตั้งแต่รดน้ำต้นไม้ แล้วต้นไม้มันจะเจริญเติบโตขึ้นมา ไอ้นี่จะบอกให้ต้นไม้โตมาๆ มันเป็นล้อมาๆ ล้อมาก็ต้องค้ำกันอยู่อย่างนั้นล่ะ ไหวหรือไม่ไหวล่ะ?

นี่สิ่งที่ปรารถนาเป็นปรารถนาดี สิ่งที่ปรารถนาดีนี่เรื่องของสังคมใช่ไหม เราเป็นคนดี เห็นไหม ดูสิบารมีมันเกิดจากอะไรล่ะ? เกิดจากเราเสียสละ เกิดจากเราทำคุณงามความดีของเรา นี่เกิดบารมี สิ่งนี้ก็เหมือนกัน เราทำคุณงามความดีเพื่อเขาๆ อันนั้นเพื่อเขา แล้วเพื่อเราล่ะ? เพื่อเราอยู่ไหน?

เพื่อเราต้องคิดนะ ถ้าเพื่อเรานะ นี่เราพยายามจะบริหารจัดการให้ความเข้าใจในเรื่องสังคมทั้งหมด แต่เราลืมไป ถ้าเราบริหารจัดการนะ ถ้าเราเข้าใจเรื่องใจของเรา เราจะบริหารจัดการหัวใจทุกดวงได้หมดเลย

นี่ความลังเลสงสัยใช่ไหม? คนใกล้ตายจะมีความรู้สึกอย่างไร? เขาจะทำคุณงามความดีขนาดไหน? เราไปคิดตรงนั้น แต่ถ้าเราภาวนาของเราแล้วนะ พอจิตมันชำระกิเลสหมดแล้วมันรู้ของมัน เพราะถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ จิตนี้มันไปในวัฏฏะ มันวนไปโดยไม่มีต้นไม่มีปลาย แรงขับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

พอเป็นพระโสดาบันขึ้นมานี่มันทอนแรงขับนั้นออกไปแล้ว เหลืออีก ๗ ชาติ พอเป็นสกิทาคามีเหลืออีกชาติเดียว พออนาคามีจะไม่เกิดในกามภพแล้ว มันจะไปเกิดเป็นพรหมแล้ว ถึงที่สุดพอมันสิ้นกิเลสไปนี่ อะไรมันเกิด อะไรมันตายล่ะ? แล้วพอถึงสิ้นกิเลสแล้วมันจะเข้าใจวงจรของจิตทั้งหมดเลย พอเข้าใจวงจรของจิต เห็นไหม เราภาวนาเราก่อน เราต้องช่วยตัวเราเองให้ได้ก่อน ถ้าเราช่วยตัวเราเองได้แล้ว เราเข้าใจได้แล้ว เราจะเข้าใจเรื่องจิตของทุกดวงหมดเลย

“จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

อย่างเช่นใจของเรานี่ ใจของเราก็เกิดตายเหมือนกัน ใจเราก็มีทุกข์เหมือนกัน เราก็แก้ไขใจเราเหมือนกัน พอเราแก้ไขใจเราจบสิ้นกระบวนการแล้ว เราจะเข้าใจจิตทุกๆ ดวงเลย แล้วเราจะช่วยเหลือเขา เราจะเจือจานเขาได้ แต่เราจะเจือจานเขาได้ขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วนี่ว่า เอ๊ะ.. จะรื้อสัตว์ขนสัตว์จะทำอย่างไร? คนมันไม่เอา คนมันไม่เข้าใจ เราสอนอย่างไรก็ไม่เอา

คนมันไม่เอา เห็นไหม คนไม่เอา คำว่าไม่เอานี่เขาอยากได้นะ คนเกลียดทุกข์ อยากสุขทั้งนั้นแหละ ทุกคนอยากได้ความสุข แต่เขาไม่เข้าใจว่าสุขทุกข์เป็นอย่างไร? เราไปบอกว่าให้เขาทำความสุข ให้เขาเสียสละ ดูสิเราไปบอกชาวโลก เห็นไหม บอกให้เสียสละ นี่เขาบอกว่าเขาได้อะไรขึ้นมาล่ะ? เขาไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย ทั้งๆ ที่เขาอยากได้ แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะทำอย่างไร

นี้เขาไม่รู้ว่าเขาจะทำอย่างไร แล้วเราไปแนะนำเขานี่ เขาจะรู้ได้อย่างไร? เขารู้ไม่ได้ เห็นไหม ถึงบอกว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัยไง เราอยากช่วย ทุกคนอยากช่วย อยากจะทำ อยากให้เป็นคุณงามความดีทั้งนั้นแหละ แต่มันทำไม่ได้ เราทำแล้วแต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาไม่เข้าใจของเขา เห็นไหม เขาไม่เข้าใจ

นี่ไงมันไม่เปิดใจ ถ้ามันเปิดใจขึ้นมานี่มันถึงเวลาขึ้นมา มันถึงเวลานี่มันต้องฝึกมาตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าเราฝึกของเรา เราแก้ไขของเรา มันจะเป็นประโยชน์ของเรานะ เป็นประโยชน์ของเรา เป็นคุณงามความดีของเรา ถ้าเป็นคุณงามความดีของเราแล้ว เห็นไหม เราอุทิศส่วนกุศลได้ เราเจือจานเขาได้ มันเอาเราก่อนนะ ต้องแก้ไขที่เรา

ฉะนั้นพ่อแม่เรานะ ทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เราก็อยากเปิดตาใจได้ นี่ทำบุญกุศล อุทิศส่วนกุศล เลี้ยงข้ามภพข้ามชาติ เขาไปเกิดที่ดี เพราะในพระไตรปิฎกมีมากที่ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วนี่เราได้สมบัตินี้มาอย่างไร? ทั้งๆ ที่เวลาเขาไปนี่เขาไม่รู้นะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปช่วยสงเคราะห์ แล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา นี่ได้เพราะอะไร? ได้เพราะเห็นแสงฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ได้มาได้มาอย่างไร? ไปเกิดเป็นเทวดาแล้วนี่สิ่งนี้ได้มาอย่างไร? มันได้มาจากสิ่งที่ทำเป็นบุญกุศลแล้วมันส่งไป

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราดูแลพ่อแม่เรา เราพยายามของเรา ท่านจะคิดอย่างไรเรื่องของท่าน เห็นไหม พ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของเรานะ เราเกิดมาชีวิตนี้เราได้มาจากท่าน แล้วถ้าเราสงเคราะห์ เราพยายามอยู่ แล้วถ้ามันสุดวิสัยมันก็เรื่องสุดวิสัย ทำแล้วสุดวิสัยก็เรื่องสุดวิสัย

นี่ก็เหมือนกัน นี่เราปรารถนาดีกับสังคม เราพยายามทำดีที่สุด ไม่ใช่บอกว่าทำไม่ได้แล้วไม่ทำ ทำได้! ทำได้ส่วนหนึ่ง ดูสิดูอย่างร่างกาย เห็นไหม เรามีสารเคมี เรามียารักษาได้ แต่จิตใจมันต้องอาศัยธรรมะรักษา ถ้าอาศัยธรรมะรักษาเราก็ช่วยเหลือเขา

นี่ชวนกัน การฟังธรรม การแสดงธรรม การต่างๆ สิ่งที่แสดงธรรม ธรรมนี่มันไปสะกิดใจนะ ถ้ายังไม่สะกิดใจ ไม่เอ๊ะ.. ไม่รู้สึกเลย มันก็ยังมืดบอดอย่างนั้นแหละ คิดว่าตัวเองถูกอยู่ตลอดไป เพราะมันคิดด้วยสามัญสำนึกของตัว เห็นได้แค่นั้นไง วุฒิภาวะได้แค่นี้ คิดได้เท่านั้นแหละ แต่ถ้าวุฒิภาวะมันสูงขึ้นไปนะ มันเห็นไป มันสูงขึ้นไป แล้วความดีในโลกนี้มันยังไม่มีแค่นี้ไง

ความดีที่ยิ่งกว่านี้ยังมีอยู่.. เราทำดีขนาดไหนก็แล้วแต่ ความดีที่ยิ่งกว่านี้ยังมีอยู่ แล้วความดีเป็นอย่างไรล่ะ? ความดีอย่างหยาบ ความดีอย่างละเอียด.. ความดีอย่างหยาบๆ นี่ทาน เห็นไหม ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถ้าถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง สมาธิร้อยหนพันหนไม่เกิดปัญญาขึ้นมา

ร้อยหนพันหนนะ นี่เราทำสมาธิ เราถือศีลแล้วเราปฏิบัติของเรามันมีบุญกุศลมาก บุญกุศลตรงไหน? บุญกุศลให้มันเป็นไป ถ้าจิตมันเป็นสันทิฏฐิโก จิตมันสัมผัส มันเป็นปัจจัตตัง มันโอ้โฮ! โอ้โฮ! พอโอ้โฮ.. มันก็ปล่อยใช่ไหม? ดูสิเรามีความทุกข์ในหัวใจ เราก็แบกไว้หนักหนาเลย พอมันเห็นทุกข์มันก็ทิ้ง พอมันทิ้งมันก็ปล่อย ปล่อยมันก็ว่าง มันก็สะดวก มันก็สบาย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าใจ มันโอ้โฮ.. มันก็ปล่อย เห็นไหม พอมันปล่อยขึ้นมา มันปล่อยสิ่งต่างๆ ขึ้นมา นี่ไงถ้ามันสัมผัสขึ้นมา คุณสมบัติมันอยู่ตรงนี้ รู้ว่าสิ่งที่ไม่ดีแต่ก็ยังแบกหามไว้อย่างนั้นแหละ ทิ้งไม่เป็น ทิ้งไม่ได้ แต่ถ้ามันไปเห็นทุกข์ปั๊บมันทิ้งเลย ทิ้งเลย นี่พอทิ้งเลยสมบัติอะไรจะมีค่าเท่านี้ สมบัติอะไร?

ถ้าพอจิตใจเป็นอย่างนี้ปั๊บ การเสียสละนะมันทำได้หมดแหละ มันเสียสละได้หมดเลย ถ้ามันเสียสละไม่ได้นะ มันไปติดไง พอเรามีสมาธิ เห็นไหม ว่างๆ ว่างๆ มันก็ไปหวงแหน พอไปหวงแหนขึ้นไปแล้ว สิ่งที่หวงแหนนี่นะมันจะเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา เราจะรักษาไว้ขนาดไหนนะมันก็จะเป็นอนิจจัง มันต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา พอเสื่อมสภาพไปแล้วนะทุกข์มากเลย อยากได้ พออยากได้ก็ทุกข์สองชั้น สามชั้น เห็นไหม

แต่ถ้าเราตั้งสติของเรา เรากำหนดของเรา มันจะว่าง มันจะปล่อยวางมันเรื่องของมัน หน้าที่ของเรานะ.. ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราสร้างเหตุปัจจัยของเราไว้ ถ้าเหตุปัจจัยมันพอ เหตุปัจจัยมันเป็นนะ สมาธิมันอยู่กับเราไม่มีเสื่อมเลย สมาธิอยู่กับเราตลอดไป แต่มีเหตุปัจจัย เราสร้างเหตุและปัจจัย หน้าที่ของเราตั้งสติแล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา สิ่งที่จะเป็นหรือไม่เป็น มันเรื่องของเหตุปัจจัย ถ้าเหตุมันพอแล้วมันไม่เป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้นโดยธรรมดา เพราะแรงหนุนมันพอไง

นี่หน้าที่เราทำตรงนี้ ถ้ามันเข้าใจตรงนี้ปั๊บ เห็นไหม พอมันว่างขึ้นมาก็ โอ้โฮ.. โอ้โฮ.. ไปติดมันไง เราไม่สนใจเลย ไม่สนใจสมาธิเลย ไม่สนใจสิ่งที่เป็นเลย แต่เรามีสติของเราอยู่ เราสร้างเหตุของเราอยู่ สมาธิมันติดแนบอยู่กับจิตตลอดเวลา มันไม่ไปไหนหรอก แต่ถ้าเราไปติดมัน อยากได้ โอ้โฮ.. ถนอมรักษาเลย เสื่อมหมด เสื่อมหมดเลย เสื่อมหมดเพราะอะไร? เพราะนั่นมันเป็นวิบาก มันเป็นผล

เรากินอาหารเข้าไปในท้องแล้วจะให้อิ่มตลอดไปได้ไหม? เป็นไปไม่ได้หรอก แต่ถ้าเรากินอาหารอยู่บ่อยๆ ในท้องเรามันจะหิวไหม? มันเป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะเรากินอาหารอยู่ตลอดเวลา

นี่ก็เหมือนกัน จิตมีสติตลอดเวลา กำหนดคำบริกรรมอยู่ตลอดเวลา กำหนดออกไป มันเป็นหรือไม่เป็น อาหารตักใส่ปากลงท้อง มันเป็นความรู้สึกอิ่มขึ้นมา แต่เรากำหนดสติ เห็นไหม กำหนดพุทโธทำไมมันไม่เป็นสมาธิขึ้นมาบางที ไม่เป็นสมาธิขึ้นมาบางทีเพราะ! เพราะมันมีแรงต่อต้านในหัวใจ มันมีกิเลส มันมีตัณหา เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา พอกิเลสอยู่กับเรามันก็บิดเบือน พอบิดเบือนเราก็หาเหตุหาผลใช่ไหม? หาอุบายวิธีการ

หาอุบายนะ นี่ถ้าเราทำเหมือนเดิมตลอดไป ดูสิเวลาคนเขาไปเดินทาง เขาไปทางหนึ่งกลับทางหนึ่งเพื่อไม่ให้ศัตรูเขาดักทางได้ นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันทำอยู่ ไปทางนั้นกลับทางนั้นทุกวันๆ เขาดักมันได้หมดเลย กิเลสมันรู้ทันไง มันก็เป็นอุบายนะ เป็นอุบาย พุทโธ พุทโธ พุทโธบ้าง พุทโธแล้วกำหนดลมหายใจ

นี่หาเหตุหาผล หาอุบายวิธีการไม่ให้กิเลสมันทันกับคำบริกรรมของเรา เห็นไหม กิเลสมันทันแล้วมันก็สร้างภาพ มันก็ทำให้เราไม่ได้ แต่พอกิเลสนะ ถ้าเราจริงจังของเรา สติของเราจริงจังกับเรา เรากำหนดด้วยความชัดเจนของเรา กิเลสมันสู้ธรรมะไม่ได้.. กิเลสไม่กลัวอะไรเลย กิเลสนี่ไม่เคยกลัวอะไร ความคิดเรานี่ ความรู้สึกของเราไม่เคยกลัวอะไรเลย เพราะคิดเป็นเราใช่ไหม? ความรู้สึกเป็นเรา เราคิดเอง เราว่าเราคิดถูกหมดแหละ

กิเลสไม่เคยกลัวใครเลย กิเลสกลัวธรรมะ กลัวสติ กลัวคำบริกรรม ชัดๆ นี่มันกลัว อ้าว.. จริงๆ แล้วมันต้องสงบได้ มันต้องอยู่ในอำนาจของเรา แล้วตั้งใจทำไป ตั้งใจทำไป นี่พอมันชำนาญในวสี ชำนาญในการกระทำ ชำนาญในเหตุในผลนะ จิตตั้งมั่นทำความสงบบ่อยครั้งเข้าจนจิตมีกำลัง แล้วเราค่อยออกไปทำงาน ออกไปทำงานในวิปัสสนานะ ออกไปทำงานด้วยปัญญา โลกุตตรปัญญา ทำอย่างนั้นขึ้นมาแล้วมันจะเห็นผลนะ

เราตั้งใจแล้ว เราลงสนามแล้วนะ ลงลู่วิ่งแล้วเราพยายามของเรา จะทุกข์จะยาก งานทางโลกเรายังเหนื่อยล้ามาเลย เห็นไหม งานทางโลกงานแค่หาอาหารมาเลี้ยงร่างกายเท่านั้นแหละ แต่งานในการนั่งสมาธิภาวนามันเป็นงานแก้ไขจิตใจนะ แล้วแก้ไขจิตใจ พอแก้ไขจิตใจได้ ดูสิบุพเพนิวาสานุสติญาณมันเกิดตายมาขนาดไหน? จุตูปปาตญาณมันจะไปขนาดไหน? มันรู้มันเห็นนะ ถ้าไม่รู้ไม่เห็นแก้กิเลสไม่ได้ จบสิ้นกระบวนการไม่ได้

นี่ไงงานนี้มันละเอียด งานละเอียดคือมันเป็นความรู้สึกของเราเอง เราควบคุมความรู้สึกเราเอง เราเคยเจอนะ คนที่เขาไม่เข้าใจเขาบอกว่า เอ๊ะ.. เรามาเดินไปเดินมานี่ทำไม? เขาไม่รู้ ทำไมไม่มีงานทำหรือ? พระไม่มีงานทำหรือ? เห็นเดินไปเดินมา เดินไปเดินมา ไม่รู้หรอกว่าเดินไปเดินมานั่นทำยากมาก เพราะธรรมดามันไม่ยอมอยู่ในทางจงกรมไง ถ้ามีกิเลสมันเดินไปเดินมาแค่นี้ไม่ได้ มันจะออกนอกลู่นอกทางไง

เดินไปเดินมานั้น ถ้าจิตมันสงบนะเดินอยู่ได้เป็นวันๆ เขาเรียก “คนมีงานทำ” นั่งสมาธิอยู่ได้ เดินจงกรมอยู่ได้มันมีงานแล้ว เห็นไหม นี่งานอันละเอียด ละเอียดคือเอาใจเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ตั้งใจ มาแล้วตั้งใจทำ ตั้งใจนี่คือสติ พอสติมันดี ทำอะไรทุกอย่างมันก็เป็นเหตุเป็นผล ถ้าเราเลินเล่อ สักแต่ว่า พอสักแต่ว่ามันก็งานสักแต่ว่า เวลามันท้อใจ มันเหนื่อยใจนะ เฮ้อ! เฮ้อ.. ก็ทำไปๆ นี่สักแต่ว่าแล้ว

ถ้าตั้งใจแล้วตั้งสติขึ้นมา สติพร้อม เห็นไหม ถ้ามีสติ ความเพียรจะเป็นความเพียรชอบ ถ้าไม่มีสติมันเป็นสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าก็เหมือนไม่มีสติไม่มีสตังก็ทำไป แต่มันจะเป็นอย่างนี้ เพราะสติตั้งแล้วเดี๋ยวก็อ่อน เดี๋ยวก็เข้มแข็งขึ้นมา ต้องหัดฝึกหัดแล้วจะเห็นเหตุเห็นผล แล้วเราจะเอาตัวเรารอดได้ เอวัง