เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ ม.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราชาวพุทธ เขาจะบอกเลยนะ ในพระไตรปิฎกเหมือนกัน

“อย่าให้เชื่อบุคคล ให้เชื่อธรรมะเถิด”

อย่าให้เชื่อบุคคลนะ บุคคลนี่เชื่อไม่ได้ ให้เชื่อธรรมะเถิด แต่บังเอิญไง บังเอิญธรรมะมันไปสถิตในใจของครูบาอาจารย์เรา ธรรมะ! เราเชื่อธรรมะ แล้วธรรมะไปสถิตในใจของครูบาอาจารย์เรา ในมุตโตทัย เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกเลย

“ธรรมะสถิตในใจของปุถุชน มันก็ต้องเป็นปุถุชน มันก็มีกิเลสบวกมา ถ้าธรรมะไปสถิตในใจของพระโสดาบัน มันก็มีความสะอาดขึ้นมา ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ธรรมะไปสถิตในใจของพระสกิทาคามี ก็ ๕o เปอร์เซ็นต์ ธรรมะไปสถิตในใจของพระอนาคามี ก็พูดธรรมะได้สูงสุด ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าธรรมะไปสถิตในใจของพระอรหันต์นะ ธรรมะนี่สะอาดบริสุทธิ์ เพราะรู้เหมือนกัน”

แล้วลูกศิษย์เขาเอาหนังสือเล่มเขียว เล่มหลวงปู่แหวนเล่มเขียวน่ะ แล้วเขาอ่านแล้ว หนังสือเล่มนี้ไปแจกอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ทีนี้แจกวัดป่าบ้านตาด หลวงตาท่านก็นั่งเฉยๆ ไง แต่ลูกศิษย์เขาได้ฟังเทศน์ คนที่ฟังเทศน์นะ แล้วจับหลักเกณฑ์ได้ เห็นไหม

การฟังธรรม! สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง.. ได้ฟัง สิ่งได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ สิ่งที่เราไม่เข้าใจจะได้เข้าใจขึ้น สุดท้ายแล้วนะ ทำให้จิตใจผ่องแผ้วเพราะคือมันเข้าใจจริง พอคนฟัง อานิสงส์ของการฟังธรรม คนที่มีครูบาอาจารย์แล้วได้ฟังธรรมจะมีหลักมีเกณฑ์

เขาอ่านหนังสือหลวงปู่แหวน แล้วในหนังสือเขียนว่า ขันธ์ ๕ กับจิตเป็นอันเดียวกัน เขาก็เอาหนังสือเล่มนี้ขึ้นไปหาองค์หลวงตา บอกหนังสือนี่เขียนแล้วประวัติหลวงปู่แหวน แล้วเขียนว่าขันธ์ ๕ กับจิตเป็นอันเดียวกันน่ะมันไม่ถูกต้อง มันผิด! ทั้งๆ ที่เขาเป็นคฤหัสถ์นะ บอกหลวงตา “นี่ผิด!”

หลวงตาบอก “เออ ก็มันผิด!”

แล้วเขาบอกว่า “ผิดทำไมให้มาแจกล่ะ? ให้มาแจกอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด แล้วทำไมหลวงตาไม่โต้แย้งออกไปล่ะ?”

ท่านบอกว่า “ถ้าโต้แย้งนะ ต้องโต้แย้งหนังสือทั้งโลกเลย ต้องโต้แย้งหนังสือทั้งโลก เพราะมันผิดกันทั้งโลกล่ะ” ฉะนั้นถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์แล้วให้เลือกคัดเอา ให้เลือกคัดเอาว่าหนังสือเล่มไหนหรือตำราเล่มไหนพระอรหันต์เป็นผู้เขียนมา เป็นผู้จดจารึกมา อันนั้นเชื่อถือได้

“ถ้าหนังสือเล่มไหนไม่ใช่พระอรหันต์.. อย่าไปดูมัน!” ท่านพูดกับลูกศิษย์มาอย่างนี้นะ แล้วทำไมไม่โต้แย้งล่ะ? มันโต้แย้งไม่ได้ มันกรรมของสัตว์! เพราะว่าคนที่รู้จริงมันมีน้อยใช่ไหม ดูสิ ดูเช่นประวัติหลวงปู่มั่น เวลาคนยกย่องท่านว่าเขียนได้กินใจมาก ท่านบอกว่า

“ไม่รู้เขียนไม่ได้”

คนไม่รู้เขียนไม่ได้ มันตีความไม่ได้ อย่างเช่น ขันธ์ ๕ กับจิตเป็นอันเดียวกัน มีพระมาหาเราเยอะมาก พระอรหันต์นะ สิ้นจากกิเลสหมดเลย พูดไปเรื่อยล่ะ เราก็ถามว่า

“ขันธ์ ๕ กับจิตเป็นอันเดียวกันไหม?”

“อันเดียวกันครับ”

ส้มกับเปลือกส้มนะ เวลาเราอธิบาย เราหยิบส้มมามันทั้งเปลือกส้ม ส้มกับเปลือกส้มเป็นลูกเดียวกันไหม? เป็นผลเดียวกันไหม? ใช่.. ความคิดเรานี่นะ ความคิดกับพลังงานมันอันเดียวกัน ถ้าเป็นปุถุชนนะ มันจริงตามสมมุติ เราจินตนาการได้ใช่ไหม ว่าความรู้สึกเรากับความคิดเราเป็นอันเดียวกัน ทุกคนคิดอย่างนั้นนะ

ส้มกับเปลือกส้ม เวลาเราแกะออกมาแล้ว เปลือกส้มกับส้มอันเดียวกันหรือเปล่า? เอ็งกินเปลือกส้มไหม? เปลือกส้มเขาเอามาแกะทิ้ง แต่เขากินเนื้อส้ม ความคิดมันเป็นเปลือก ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเข้าไปที่สมาธิ เห็นไหม เข้าไปที่เนื้อส้มนั้น แต่โดยข้อเท็จจริงนะ เปลือกส้มมันมากับส้ม

แล้วที่ว่าขันธ์ ๕ กับจิตเป็นอันเดียวกันไหม ทุกคนต้องบอกเป็นอันเดียวกัน แต่ขณะที่เราหยิบเอาส้มมานะ ส้มนี่เราหยิบมาทั้งลูก เปลือกส้มกับส้มมาเป็นผลเดียวกันไหม? เป็น.. นี่ไง แต่เวลาถ้าแกะแล้วมันไม่ใช่

นี่ก็เหมือนกัน คนที่จะบอกว่าความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด มันแยกออกมาน่ะ อย่างน้อยมันต้องเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี คนรู้จริง.. ถ้าคนรู้จริง เขาถึงบอกว่าสิ่งที่รู้จริงนั้นถึงสักแต่ว่า เห็นไหม ความเป็นอยู่เราสักแต่ว่า สักแต่ว่า แต่เราเกิดขึ้นมา เราไม่รู้ มันสักแต่ว่าได้ไหม? เราทำอารมณ์ได้ไหม? มันทำไม่ได้ เห็นไหม

ความรู้ขนาดไหน ความรู้สึกขนาดไหน มันจะละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แต่ถ้าความรู้มันยังหยาบๆ อยู่ มันก็เป็นอย่างนั้น สิ่งที่เป็นอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไป เห็นไหม นี่รู้ไม่จริง แล้วมันยังมีอกุศลนะ ความรู้ไง ดูสิ จริงๆ นะ เวลาเราปฏิบัติกัน พอปัญญาเราหมุนขึ้นมา เราจะว่าพระไตรปิฎกผิดนะ เราจะว่าเราจะฉลาดกว่าพระพุทธเจ้านะ ว่าพระพุทธเจ้านี่พูดผิด เรานี่พูดถูก ทั้งๆ ที่เราผิด เราขี้เต็มตัวเลย! แต่ไปบอกว่าตำรานี่มันผิด

ตำรานี่ไม่ผิด พระไตรปิฎกนี่ไม่ผิดหรอก พระไตรปิฎกนี่ตามความจริงเลย แต่เราเข้ากันไม่ถึง เราไปตีความเข้าข้างตัวเอง เหมือนกฎหมาย เวลาประกาศใช้แล้ว คนตีความกัน เห็นไหม ต้องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญให้รัฐธรรมนูญตีความ

แต่ถ้าเรามีความละอายกับใจนะ เหมือนหมอนะ หมอเห็นไหม ดูสิ เวลาผู้ปฏิบัติมา หมอมานี่ เราให้ยา ให้ยานี่นะ เราให้ยากันไปน่ะ ยานี้มีผลข้างเคียงนะ มีผลข้างเคียงขึ้นมาถ้าเกิดว่าเขาเอายานี่ไปใช้แล้วเขาทนผลข้างเคียงไม่ได้ ถ้ามียาอีกตัวหนึ่ง เห็นไหม มันมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ใช้ยาตัวนี้ก็ได้ เห็นไหม คำว่า “ก็ได้” มันมีผลต่อการรักษาเหมือนกัน

แต่การรักษา ตัวยามันให้มีฤทธิ์ตรงไหนล่ะ แต่เราเป็นลูกคนไข้นะ ไปถึงนะ หมอต้องสั่งยาตัวนี้นะ มันไปสั่งหมอ! มันจะสั่งให้หมอให้หมอสั่งยาให้มัน นี่ไงเพราะเราไปยึด เห็นไหม ไปยึดว่าเรารู้ไง ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นไง มันไม่เป็นหรอก!

เห็นไหม ทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า สักแต่ว่า ไม่ใช่สักแต่ว่าหรอก ความจริงทั้งนั้นนะ ทุกข์ก็ทุกข์จริงๆ เกิดก็เกิดจริงๆ หิวก็หิวจริงๆ อิ่มก็อิ่มจริงๆ ทุกอย่างเป็นความจริงหมด แต่มันชั่วคราว ชั่วคราวตรงไหน ชั่วคราวที่จิตเราพอมันหิวกระหาย โดยสัญชาตญาณเราก็ดิ้นรนใช่ไหม เพราะเราทุกข์ใช่ไหม เราต้องดิ้นรน เราพยายามแสวงหาใช่ไหม เพราะเราดิ้นรน

แต่ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมานะ ความหิว ความกระหาย ถ้าใจมันปล่อยได้นะ มันหิวไหม? หิว.. แต่หิวนี่เราควบคุมได้ กิริยามารยาทเราควบคุมได้ เหมือนผู้ใหญ่น่ะ ผู้ใหญ่ถ้ามีสิ่งใดเกิดขึ้น เราเข้าใจ เราจะไม่ทุกข์ร้อนไปเหมือนเด็กๆ เด็กๆ ถ้าไม่ได้ดั่งใจมัน มันจะร้องไห้มันเลย

จิตของเรา จิตใต้สำนึกเหมือนเด็กๆ มันไม่ยอมอะไรทั้งสิ้น มันตีโพยตีพายตลอด มันจะเอาตามแต่ใจตัวมัน แต่นี้พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เรามีสิทธิขึ้นมา เรามีความละอาย เราถึงไม่กล้าแสดงออกมาตามความต้องการของกิเลส

กิเลสเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันถึงเป็นความจริงขึ้นมา เราถึงต้องเข้าไปหาข้อเท็จจริงก่อน เข้าไปหาข้อเท็จจริงว่าสิ่งใดที่มันเป็นความจริง เห็นไหม จิตถ้ามันสงบเข้ามา จะสงบเข้ามามันแยกออกไง พอแยกออกไปแล้วมันจะพูดนะ โอ้.. ทำไมเมื่อก่อนโง่อย่างนั้น ทำไมเราตีตำราผิดอย่างนั้น แต่เวลามันรู้ขึ้นมันก็เขียนเลยนะ

แล้วของครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม ประวัติหลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน เราไปเจอเล่มที่เขาพิมพ์มาน่ะ เรียบเรียงใหม่ เรียบเรียงใหม่ เราคิดในใจนะ มึงมีสิทธิอะไรมาเรียบเรียง? เพราะหลวงตาท่านเป็นพระอรหันต์ ไอ้คนที่เรียบเรียงมันปุถุชน เป็นฆราวาสด้วย เป็นคฤหัสถ์ด้วย แล้วมึงมาเรียบเรียงได้อย่างไร?

แล้วเรียบเรียงขึ้นไปน่ะ เพราะคำว่า “เรียบเรียง” นี่ วุฒิภาวะเขาไม่มี คำพูดไหนที่มันคือว่าผิดมารยาทสังคมก็ว่าพูดออกมาไม่ได้ หลวงตาท่านพูดนะ เวลาท่านเทศน์ออกมามันมีระเบิดนิวเคลียร์ มันจะเข้าไปทำลายกิเลส

แต่เวลาพระเอาไปถอดเทป มันรับไม่ได้ มันแบบมันรุนแรง มันพูดกระเทือนกิเลสไง ก็ไปเปลี่ยน ท่านบอกเลยนะ

“ของเราน่ะนิวเคลียร์! เวลามันไปเรียบเรียงใหม่ มันเอากล้วยหอม กล้วยไข่เข้าไป”

คือเอาคำสละสลวยเข้าไปไง เอามารยาทสังคมเข้าไปไง เอาเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของกิเลสไง แล้วเราไปอ่านเข้า ใครไปอ่านเล่มเรียบเรียงนะ เอ้อ.. อันนี้ดีเนาะ พูดจาเรียบร้อย อันต้นฉบับไม่ดีเลย รุนแรง

นี่ไง! มันไปลดค่าไง ลดค่าออกไปเรื่อยๆ ไง แล้วก็ลดค่ากันไปเรื่อย ไอ้คนไม่รู้มันก็ต้องไม่รู้ไปเรื่อย ยิ่งไม่รู้เท่าไหร่ มันก็ยิ่งมารยาทสังคมไง หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ คนที่ไม่มีธรรมนะ ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนค่อยเทศน์นะ ถ้าจะพูดอะไร ต้องพูดขัดใจเขาไม่ได้ ต้องพูดให้เขาชื่นใจ แล้วชื่นใจก็ชื่นใจกิเลสไง กิเลสมันก็พอใจไง แต่ถ้าพูดขัดใจเขา ติเตียนเขาเลยน่ะ

ในพระไตรปิฎก เห็นไหม ควรส่งเสริมผู้ที่มีคุณงามความดี ควรติเตียนผู้ที่ทำความผิด เรากล้าไหม? ถ้าคนมีอำนาจผิด เรากล้าติเตียนไหม? เรากล้าบอกเขาไหม? เราไม่กล้าเลย ยิ่งติเตียน.. ครับ ถูกครับ ถูกต้องครับ ดีครับ ดีครับ แล้วมันก็มาในตำรานี่ เขียนกันไป เขียนกันไป แล้วเขียนกันไป

ถ้าเขียนโดยไม่รู้ก็อย่างหนึ่งนะ แต่บางทีรู้ทั้งรู้ แต่ถ้าได้เขียน ได้บิดเบือน บิดเบือนผลประโยชน์ของตัวไง เอาชื่อตัว เอาครูบาอาจารย์มายกย่องตัว เอาฐานนี่.. มันน่าสลดสังเวชมาก นี่เขาเรียกว่าใจไม่ลง

ถ้าใจเราลงกับคุณธรรมนะ ผิดต้องเป็นผิด ถูกต้องเป็นถูก เรายังคิดว่าเราถูก แต่นี่บางทีมันอย่างที่ว่า ขันธ์ ๕ กับจิตเป็นอันเดียวกันนี่ มันเป็นไปไม่ได้! แม้แต่คฤหัสถ์นะ คนอ่านหนังสือเขามีเชาว์ปัญญา เขาฟังธรรมมา เขารู้เลยว่าอันนี้ผิด แล้วทำไมพระเขียนออกมาอย่างนี้ได้อย่างไร?

ถ้าเขียนออกมาอย่างนั้น คนที่เขียนมาแสดงว่าไม่รู้ว่าถูก-ผิดใช่ไหม ถ้าไม่รู้ถูก-ผิด มันบอกถึงวุฒิภาวะของใจนั้นแล้ว ว่าคนเขียนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ถ้าไม่รู้เรื่องพื้นฐานอย่างนี้ แล้วข้างบนมันจะพูดถูกได้อย่างไร พูดไม่ถูกหรอก! พูดไปก็ผิดไปหมดล่ะ

แล้วเวลามันน่าสงสาร สงสารพวกเรา สงสารไอ้พวกที่หาทางออก.. ก็ตำราเขียนอย่างนี้ แล้วถึงเวลามาถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์อธิบาย อธิบายมันสู้เอกสารไม่ได้ไง แต่ความจริงเขาคิดผิดนะ

ดูสิ ในทางวิทยาศาสตร์นะ อารมณ์คนเชื่อไม่ได้ อารมณ์คนแปรปรวนตลอด เราต้องเชื่อเอกสาร ต้องเชื่อสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเราเป็นปุถุชนนะ เราเป็นมนุษย์ปุถุชน อารมณ์เราเชื่อไม่ได้หรอก เราไปเห็นสิ่งใดดีเราก็ดีใจอยู่พักนึง แต่เราสงบอารมณ์นั้นไม่ได้หรอก อารมณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่ผู้ที่ปฏิบัตินะ โสดาบันนี่นะมันเป็นจิต มันเป็นความรู้สึกความเป็นความจริงอันนั้น สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ นี่มันเป็นความจริง พูดถึงมันก็เป็นความรู้สึกนั่นแหละ แต่มันไม่ใช่อารมณ์ มันเป็นธรรม แต่ธรรมนั้นก็แสดงออกมา

แต่มันด้วยความเชื่อถือศรัทธาไง เห็นไหม ดูสิ พระพุทธเจ้าพูดคำไหนออกมา มันเป็นวินัยเลยนะ พระพุทธเจ้าคำไหนถ้าใครฝืน เหมือนกับกษัตริย์ กษัตริย์สมัยโบราณนะ คำพูดของกษัตริย์นี่เหมือนกฎหมายนะ คำพูดของกษัตริย์ใครฝืน ตัดหัว! ตัดหัว! ตัดหัวเลย! คำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นเลย

นี่ถ้าคำพูดของคนรู้จริงล่ะ?

ผู้ที่รู้จริงพูดออกมา นั่นคือความจริงทั้งหมดเลย แต่เราก็ไม่เชื่อ เพราะเราไม่เชื่อตรงไหน ไม่เชื่อกิริยามารยาทของท่านไง อู๋.. อารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดรุนแรงมาก ก็มันออกมาจากใจ มันออกมาจากความรู้สึกอันนั้น ความรู้สึกอันนั้นมันกระเทือนใจมาก มันก็ไหลออกมาแรงมาก

ถ้าไหลออกมาแรงมาก แล้วเวลาเราไปถามปัญหา เห็นไหม เราเจอบ่อย เวลามาถามเรา ก็หนังสือเขียนอย่างนี้ไง โอ้โฮ.. เราบอกหนังสือใครเขียน เราพูดหลังไมค์พูดแรงกว่านี้นะ หนังสือนี่ใครเขียน? หนังสือนี่ใครเขียน?

อ้างหนังสือ.. นั่นเศษกระดาษเปื้อนหมึกมันมีคุณค่าอะไร? ถ้าหนังสือใครเขียน มันต้องดูที่นามปากกาด้วย ดูที่ผู้เขียนใครเป็นคนเขียน แล้วเขียนมาจริงหรือเปล่า? หลวงตาท่านเขียนประวัติหลวงปู่มั่นครั้งแรกนะ แล้วท่านไปลงตีพิมพ์ในหนังสือสัปดาห์ก่อน ท่านบอกเลยนะ

“ห้ามแก้ไขทุกตัว! เรียงพิมพ์ไปตามนี้!”

เพราะไอ้คนที่เรียงพิมพ์มันมีวุฒิภาวะอะไร พอคำไหนไม่สละสลวยมันก็ว่าคนเขียนเขียนผิด มันจะแก้ไขให้นะ มันจะแก้ไขให้เลย ท่านบอก “ห้ามเด็ดขาด! ห้ามเด็ดขาด!” เพราะตอนนั้นท่านยังเข้มข้นอยู่

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ สังคมมันกว้างขึ้น แล้วทุกคนเข้ามาด้วยเจตนา ทุกคนอยากจะช่วยอุ้มชู ทุกคนอยากจะแก้ไขอยากจะช่วยอุ้มชู อุ้มชูให้เป็นกิเลสไง เราจะอุ้มชูนะ เราต้องซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์กับหลักการอันนี้ก่อน ซื่อสัตย์กับคำวินิจฉัยของท่าน ต้องทำตามนั้นสิ อยากจะอุ้มชูแต่ขัดอกขัดใจเราไง กิเลสจริงๆ นี่มันรับไม่ได้ ธรรมะนี่มันจะทิ่มเข้าไปในกิเลส พอธรรมะมันรับไม่ได้ มันก็อยากดัดแปลง พอธรรมะรับไม่ได้นะ

เราพูดบ่อยนะ เมื่อก่อนเราเทศน์ เห็นไหม พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกได้อยู่ ๓ วิธีการ พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกโดยธรรมชาติอันหนึ่ง คือพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ๑ ด้วยฤทธิ์ของเทวดา ๑ ด้วยเมฆหมอกบัง ๑ ด้วยแสงนี่..

ลูกศิษย์เอาไปแกะเทป ขอตัดออกได้ไหมที่ว่าฤทธิ์เทวดานี่รับไม่ได้ ขอตัดออกได้ไหม บอกไม่ได้! ไม่ได้! มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ดูสิ ดูสมัยพุทธกาลนะ ลูกศิษย์พระสารีบุตรเป็นสามเณร ตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาต มันเหมือนกับพระที่จะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปถามปัญหาไง ไปถึงกุฏิ ฝนมันตกมา น้ำมันนอง เห็นไหม มันเป็นจุดเป็นต่อม เพราะจิตมันหมุนอยู่ตลอดเวลา ไปเจอสภาวะเป็นฟอง มันแตก เป็นอนิจจังน่ะ ผลัวะ! พระอรหันต์เลย

สามเณรน้อยก็เหมือนกัน ตามพระสารีบุตรไปไง จิตมันหมุนแล้ว ไปเจอเขาทดน้ำเข้านา เห็นไหม ทดน้ำเข้านา น้ำนี่มันไม่มีชีวิตเลย เขาทดเข้านาได้ ถามพระสารีบุตรเลย พระสารีบุตรเป็นอาจารย์

“น้ำนี่มันทดเข้านา น้ำมีชีวิตไหม?”

“ไม่มี”

ถ้าน้ำไม่มีชีวิต มันยังเป็นประโยชน์ได้ แล้วความรู้สึกเรานี่มันมีชีวิต ความรู้สึกเรานี่ เหมือนหลวงปู่ขาวที่ไปดูต้นข้าว แต่จิตมันต้องหมุนอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นปั๊บ เอาบาตรยื่นให้พระสารีบุตร บอกอาจารย์ไปบิณฑบาตเถิด เพราะปัญญามันเกิด มันกระตุ้นปั๊บ รสของธรรมมันชนะรสทั้งปวง ขอกลับกุฏิ ก็กลับกุฏิไปนั่งภาวนาไง

พอนั่งภาวนาปั๊บ พระสารีบุตรบิณฑบาตกลับมาฉันแล้วก็เลยคิดถึงสามเณรน้อย จะเอาอาหารนี้ให้ก่อนเพลไง ก่อนเพลนะ พระพุทธเจ้ารู้ว่าสามเณรน้อยมรรคญาณมันหมุน มันจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ถ้าเข้าไปตอนนี้สามเณรน้อยจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย ไปยืนขวางพระสารีบุตรนะ

ถ้ายืนขวางนี่ห้ามมัน มันก็พูดไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เกิด ก็ไปตั้งปัญหาถามพระสารีบุตรไง ถามธรรมะให้พระสารีบุตรตอบ ให้เสียเวลาไป แล้วก็ดึงไว้ไม่ให้พระอาทิตย์ขึ้น ให้พระอาทิตย์อยู่นั่น พูดจนสามเณรน้อยมรรคญาณรวมตัว สมุจเฉทกลายเป็นพระอรหันต์

พอพระพุทธเจ้ารู้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วปล่อยพระสารีบุตรเข้าไป พระสารีบุตรเข้าไปก็เอาข้าวไปให้ลูกศิษย์ ก็ห่วง พอฉันน่ะยังไม่เพล พอฉันเสร็จแล้วพระอาทิตย์ไปบ่าย ๒ โมงนู่นน่ะ สิ่งนี้มันทำได้ด้วยฤทธิ์ ด้วยฤทธิ์นี่มี! พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก

เวลาเทศน์น่ะมันต้องเทศน์บนข้อเท็จจริง แต่! แต่คนทำได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง คนที่ทำได้นะ เรื่องอย่างนี้เรื่องหยาบๆ มากนะ เรื่องอภิญญา เรื่องฌานโลกีย์นี่ สมัยพุทธกาลนะ มันยังไม่มีเทคโนโลยีนะ ใครเหาะเหินเดินฟ้าได้ต้องเป็นความจริงนะ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมันมีแล้ว ดูอย่างไอ้แสงเลเซอร์ มันยิงได้ มันทำได้ทั้งนั้นนะ

ทีนี้สิ่งที่เป็นความจริงขึ้นมาคืออริยสัจต่างหากล่ะ ปัญญา มรรคญาณ ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่างความชอบของใจมันเป็นอย่างไร กับไอ้สิ่งที่รับรู้ที่เหาะเหินเดินฟ้าที่รู้วาระจิต รู้อะไร.. ไร้สาระ!

เพราะปุถุชนก็ทำได้ เรื่องอย่างนี้พลังของจิต พลังของจิตไม่ใช่ปัญญา ถ้าพลังของจิตดี พลังของจิตทำได้น่ะ เหาะเหินเดินฟ้าได้ธรรมชาติเลย พลังของจิตดีนี่กำหนดแล้วจะรู้วาระจิตหมดเลย พลังของจิต แต่ไม่ใช่ปัญญา พลังของจิตถ้าไม่ใช่ปัญญาขึ้นมา พลังของจิตมันเป็นพลังเฉยๆ นี่อภิญญา แล้วถ้าพลังของจิตทุกคนเข้าใจได้ไง ฤๅษีชีไพรนี่เข้าใจได้

ถ้าเข้าใจได้ มันไม่ใช่มรรค แล้วถ้าเป็นมรรคมันเป็นอย่างไร?

สิ่งที่เป็นมรรค ถ้าคนทำไม่เป็น มันเป็นมรรคไปไม่ได้ แล้วปุถุชนมันจะรู้ได้อย่างไร? แม้แต่พลังงานยังเชื่อไม่เชื่อเลย สิ่งที่เหาะเหินเดินฟ้ายังไม่เชื่อเลย แล้วเรื่องของมรรคล่ะ มันละเอียดกว่าพลังงานเข้าไปอีก เพราะพลังงานเป็นพลังงานเฉยๆ

ปัญญาที่เกิดจากพลังงานนั้น แล้วพลังงานนั้นเป็นพลังงานที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสมาธิ พลังงานที่เป็นมิจฉา พลังงานที่ผิด พลังงานที่ผิดมันทำให้เราผิดพลาดไปอีก เห็นไหม มันละเอียดนะ ความว่าละเอียดนี่มันเป็นเรื่องของใจ มันก็เป็นความรู้สึกนั่นแหละ แล้วมันเข้าไปกระทบกัน แล้วเรามีวุฒิอย่างไร เราทำอย่างไร ตำราใครมาก็อ้างตำราเยอะมาก มาหาเรานะ อ้างตำรา อ้างตำรา มันก็สลดใจนะ

แต่สลดใจส่วนหนึ่ง แต่มันไอ้เรื่องต้นเหตุ ผู้เขียน แล้วผู้เขียนหรือผู้ที่ออกมาทำ ถ้าไม่รู้หรือเขาผิดโดยเขาไม่รู้ก็อย่างหนึ่งนะ แต่ถ้าเป็นพระเป็นเจ้านี่รู้ รู้แล้วทำทำไม? การกระทำนั้นก็เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเอง ประชาสัมพันธ์นั้นก็เพื่อโมฆบุรุษไง ตายเพราะลาภไง อยากดัง อยากใหญ่ อยากมีชื่อเสียง ความอยากอันนั้น ความอยากให้คนอื่นเสียหาย นี่น่าเสียใจ แต่หลวงตาท่านบอกว่า

“ถ้าจะแก้ ก็ต้องแก้ทั้งโลก”

คือว่าทุกคนมีกิเลส ของจริงมันมีอยู่น้อย ไม้ที่ดี ไม้แก่นในป่าใหญ่ มันก็มีแต่ไม้ดีๆ ไม่กี่ต้นนะ แต่ไม้เบญจพันธ์ ไม้พืชล้มลุก ไม้ที่ไม่มีประโยชน์เยอะแยะเลย นี่เหมือนกัน สังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลวปนกัน สิ่งนี้มันแก้ไขไม่ได้ เห็นมาตลอดนะ แล้วก็ประสาเรานะ ฝังในใจ ใครเอาหนังสือมาให้จะไม่เคยรับเลย แล้วคนกลัวมากนะ เดี๋ยวนี้เอามาทิ้งไว้บนโต๊ะแล้วกลับไป ทิ้งไว้บนโต๊ะนะ

ถ้าเอ็งอยากพิมพ์หนังสือ เอ็งอยากทำ ทำไมเอ็งไม่พิมพ์ไว้แจกกันเองล่ะ หนังสือนี่มันกินไม่ได้ไง เอ็งลองแจกอาหารสิ ทุกคนต้องการ แจกหนังสือไม่มีใครเอานะ แล้วพอพิมพ์แล้วก็ไม่รู้จะไปที่ไหน ก็มาทิ้งไว้ที่โต๊ะ ถ้าหนังสือนะ ส่วนใหญ่แล้วเราเผาทิ้งหมดเลย

เพราะ! เพราะเหมือนปัญญาของคน ถ้าเราบอกให้เขาถูก เขาจะใช้ประโยชน์ได้ เราบอกเขาผิดนะ มันเสียหายมาก แต่คนไม่เข้าใจ คนไม่คิด เสียใจนะ แต่! แต่ช่วยไม่ได้ อย่างที่หลวงตาท่านพูดถูกนะ มันกรรมของสัตว์ เพราะโลกเขาทำกัน ๙๙ เปอร์เซ็นต์เขาทำกันอย่างนั้น โลกเขาทำกันอย่างนั้น แล้วไอ้คนที่เห็นคนที่รู้น่ะ น่าคิดมากนะ เอวัง