เทศน์บนศาลา

มายากิเลส

๒๗ ก.ค. ๒๕๔๒

 

มายากิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มงคลอย่างยิ่ง ตั้งใจนะ เป็นวันมงคลอย่างยิ่ง เป็นวันอาสาฬหบูชา พระอัญญาโกณฑัญญะ มีดวงตาเห็นธรรม มีดวงตาเห็นธรรมเพราะว่าเชื่อไง เชื่อมั่น เพราะความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นถึงจะมีกำลังใจ ผู้ที่จะปฏิบัติมันต้องมีกำลังใจก่อน กำลังใจ กำลังใจความเชื่อมั่นของเรา เราเชื่อมั่นว่าเราก็เป็นเอกบุรุษคนหนึ่ง เอกบุรุษคนหนึ่ง เกิดมาด้วยบุญกุศลอย่างมหาศาล เกิดมาด้วยบุญกุศล ถึงได้เกิดพบพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบารมีมาเป็นพุทธภูมิก่อน สร้างบารมีมหาศาล ทนทุกข์ ทนทุกข์ทรมานนะ ในขณะที่สร้างบารมีมา สร้างบารมีมาจนมาตรัสรู้ กว่าจะตรัสรู้ได้ก็ยังต้องขวนขวายแสวงหามาตลอด แสวงหามา แสวงหาเพราะว่าธรรมนี้มันประเสริฐมาก ธรรมนี้ประเสริฐมาก ชำระล้างได้ทั้งหมดเลย ทุกข์ในหัวใจทั้งหมด มันให้ผลถึง ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

หมดจากทุกข์ ทุกข์นี้สิ้นไปจากใจจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนเป็นพระองค์แรก แล้วยังเสวยสุขอีก พ้นจากทุกข์นี้ก็ประเสริฐมากแล้ว พ้นจากการเกิดและการตาย พ้นจริงๆ เพราะว่ามันได้ถอนรากเง้าของกิเลส อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้เป็นรากแก้วของกิเลส ปักอยู่ที่กลางหัวอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถอนกิเลสออกจากใจก่อน ออกจากใจถึงได้ปฏิญาณตน ปฏิญาณตนเพราะบอกปัญจวัคคีย์ เวลาไปพูดกับปัญจวัคคีย์

ปัญจวัคคีย์ว่าไม่ ไม่รับเพราะว่าเป็นผู้ที่มักมาก หันกลับมาเสวยสุขก่อน พระพุทธเจ้าถึงบอกปัญจวัคคีย์ว่า เธอเคยได้ยินคำนี้ไหม ไม่เคยบอกนะ พระพุทธเจ้าไม่เคยปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่เคย ไม่เคยว่าถ้ายังมีความเชื้ออยู่ในใจจะไม่ปฏิญาณ ไม่บอก ไม่พูด เพราะว่าตนซื่อสัตย์กับตนเอง “เคยได้ยินได้ฟังไหมว่าเราเคยพูดคำนี้”

จนปัญจวัคคีย์ต้องน้อมใจลงฟัง คำว่า “น้อมใจลงฟัง” ถ้าน้อมใจเชื่อฟังมันก็จะได้เปิดรับเข้าไปในใจของผู้ที่ฟัง ต้องน้อมใจเชื่อ เปิดใจ ผู้ที่พูดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดจริง

แล้วหัวใจที่ผู้ปฏิบัติ ปัญจวัคคีย์นั้นก็แสวงหาอุปัฏฐากเจ้าชายสิทธัตถะมาตั้ง ๖ ปี เพราะต้องการนะ รอมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เกิดนะ พอเกิดขึ้นมา พระเจ้าสุทโธทนะเกิดขึ้นมาให้พราหมณ์มาดูลักษณะ ทายว่าถ้าออกบวชต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ขนาดว่ารอมาตั้งแต่แบเบาะจนถึงออกบวช จนออกบวชแล้วยังตามไปอุปัฏฐากอยู่ ตั้งใจรอขนาดนั้นนะ ผู้ที่ว่ามืดบอดไม่มีผู้ชี้นำทาง ต้องรอขนาดนั้น

แต่พอรอขณะนั้น เห็นการกระทำอันนั้น นี่เจตนาเต็มๆ อยากพ้นทุกข์เหมือนกัน เพราะใครๆ ก็บอกว่าเป็นศาสดา เป็นผู้สิ้นกิเลส แต่เวลาสอน เวลาไปศึกษามา แม้แต่พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปอยู่กับสัญชัย เพราะไปศึกษา แล้วยัง ๒ คนมาปฏิญาณกันว่านี่ไม่ใช่ ถ้าเรา ๒ คนนี้ได้เจอ ได้ฟังสิ่งใดที่เป็นความจริง เราจะสัญญาว่าเราจะบอกกันนะ เราจะบอกกันถ้ามีทางว่าใครไปเจอความจริงก่อนให้มาบอก ให้มาบอกกล่าวกันด้วย

เพราะว่าถึงศึกษาอยู่ มันก็รู้อยู่ไปตลอด นั่นน่ะ สมัยนั้นมีอยู่แล้วที่เจ้าลัทธิต่างๆ กำลังสอนกันอยู่ สอนให้ทางว่าจะพาไปพ้นทุกข์ แต่ทั้งนี้มันไปไม่ได้ ไปไม่พ้น ถึงได้ปฏิญาณกันอยู่ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ธรรมที่ว่าประเสริฐมหาศาล ตรัสรู้แล้วเป็นความเห็น จนท้อใจว่าจะไม่สอนนะ จะไม่สอน ขนาดว่าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่พอไปรู้เข้าตามความเป็นจริงมันละเอียดลึกซึ้งขนาดที่ว่า “จะสอนใครได้หนอ” จนทอดธุระ

นี่ลึกซึ้งขนาดไหน ขนาดปัญญาที่ออกมาเวลาสอนออกมาแล้ว ละเอียดอ่อน ละเอียดไปทุกซอกทุกมุมของที่อวิชชามันจะซุกซ่อนอยู่ตามหัวใจของเรานะ ท่านชี้ๆ ๆ ขนาดนั้น ละเอียดอ่อนขนาดนั้น รู้ขนาดนั้น

แต่พอย้อนกลับมาว่า “แล้วใครมันจะรู้ได้” ทำให้ท้อใจไป เพราะมันลึกแสนลึก กว้างแสนกว้าง แต่อยู่ที่กลางหัวอกเรา ลึกแสนลึก มันคาดหมายไม่ได้ เพราะถ้าเราคาด เราหมายหรือเราจินตนาการไป มันเป็นธรรมคาดหมาย คาดหมายทั้งหมด ถึงว่า ลึกแสนลึก กว้างแสนกว้างก็กว้างครอบ ๓ โลกธาตุ ๓ โลกธาตุนี้ครอบหมด รู้ไปหมด เพราะจิตดวงนี้เคยเกิดเคยตายในวัฏฏะทุกๆ ดวง ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ก็เคยเกิดเคยตายมาทุกดวง เพราะสะสมบารมีมาตลอด

ถึงว่า เวลารู้ เวลาสลัดมันกิเลสหมดจากใจก็สะอาดหมด แต่ใจนี้ ๓ โลกธาตุนี้ครอบหมด เพราะว่าสิ่งที่เป็นผลที่ว่าจะไปตกอยู่ตรงนั้นได้ชำระล้างหมดจากใจดวงนี้แล้ว กว้างขนาดไหน กว้างแสนกว้าง ลึกแสนลึก แต่อยู่ที่กลางหัวอก ฉะนั้นเราถึงว่าเราเกิดเป็นชาวพุทธ แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วเรามีบุญกุศลมหาศาลเลย เฉพาะสิ่งความเป็นจริงอย่างนี้ ความเป็นจริงในศาสนาธรรมแท้ๆ การแสวงหาทุกคนต้องแสวงหา แสวงหาเพราะอะไร

แสวงหาเพราะเราทุกข์ แสวงหาทางออกกันอยู่ แล้วเราเกิดมาเราเจอ เราเจออยู่ เจอจังๆ หน้าเลย จังๆ หน้า แล้วเราจะสามารถปฏิบัติตามนั้นได้ไหม มันต้องถามตัวเราแล้วนะ ถามตัวเรา เพราะว่า เพราะเจอจังๆ หน้าแล้วมันเห็นว่าเราประสบทุกข์ด้วย ทุกข์ที่ในความเป็นอยู่ของเรา การเกิดมา การแสวงหามา การดำรงชีวิตมานี้เป็นสิ่งที่ทุกข์ทั้งหมดเลย ทุกข์ถึงเป็นอริยสัจ เพราะเราทุกข์อยู่แล้ว เราต้องหายาแก้ทุกข์ หายาแก้ทุกข์

เราถึงย้อนกลับมา ถึงว่าเป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เกิดพบพุทธศาสนา ถ้าปฏิเสธ นี่เทียบค่าตรงนี้ก่อน ถ้าปฏิเสธหรือว่าเราไม่ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ เราไม่เชื่อธรรมะตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้อย่างนี้ เป็นทางเดินของเรา ถ้าเราไม่เชื่อหรือเราไม่ได้ทำ

ถึงมีคำโบราณว่านะ เกิดเป็นคนพบพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้บวช ตามหลักไม่ได้บวช คนนั้นเหยียบแผ่นดินผิด เหยียบแผ่นดินผิดเหมือนเกิดผิดที่เลยล่ะ เกิดมาพบของที่ประเสริฐมาก แล้วเราปล่อยให้หลุดมือเราไป นี่เหยียบผิดที่

ทีนี้เราขึ้นมา เรามาปฏิบัติแล้ว เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อธรรมที่ท่านตรัสรู้ไว้ ตรัสรู้แล้วประทานไว้แล้ว อัญญาโกณฑัญญะผ่านไปก่อน เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก แล้วเราเดินตามมา ทุกข์ในหัวใจสมัยพุทธกาลกับทุกข์ในสมัยปัจจุบันนี้อันเดียวกัน ทุกข์เหมือนกัน ความเป็นไปเหมือนกัน การกำจัดทุกข์ได้ก็เหมือนกัน แต่กาลเวลามาตั้งแต่ผ่านมา กับเราที่ประสบกัน ความเห็นของเรา เพราะความเห็นนี้มันเป็นความเห็นมีกิเลสออกนำมาก่อน เป็นความลังเลสงสัยไง

จริง เชื่อ เชื่ออันนี้ก็เป็นเชื่อแบบศรัทธา แต่ถ้าปฏิบัติเข้าถึงเนื้อของธรรมแล้วจะเป็นอจลศรัทธา อจลศรัทธาคือศรัทธาที่ปักแน่น ศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน ตัวที่ศรัทธาปักแน่น กำลังใจมันจะเกิดขึ้นขนาดไหน ตัวศรัทธานี้ปักแน่นเข้าไป เข้าไปแล้วจะไขว่คว้า ในขณะที่ปฏิบัติกันเขาขนาดว่าว่าทำกันทั้งชีวิตนะ

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา แล้วพรุ่งนี้เป็นวันเข้าพรรษา พระจักขุบาลปฏิญาณตนว่าจะไม่นอน ๓ เดือน จะไม่นอน จะอยู่ในเนสัชชิก เพราะความเชื่อถึงได้ตั้งมั่น วันนี้วันอาสาฬหบูชา จะเป็นวันเริ่มต้นที่เราจะตั้งไง ตั้งว่าเราจะทำ จะปฏิบัติอย่างไร จะมีข้อบังคับตนกับข้อที่เราจะเริ่มต้นให้ตั้งเป็นกติกาของเรา ถึงว่าเป็นธุดงควัตร แล้วแต่ใครจะตั้ง

เพราะความเชื่ออันนั้น ความตั้งใจอันนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน เป็นวันเริ่มต้นของปีนี้ วันปีผ่านมา ผ่านมา เราก็ปฏิบัติมาทุกๆ ปี ทุกๆ พรรษาที่ผ่านมา แล้วพรรษานี้เราจะได้อะไร ถ้าตั้งตนขึ้นมานี่มันก็ว่าวันเข้าพรรษา วันอธิษฐานพรรษา วันจะตั้งต้น แล้ววันจะตั้งกติกากับตัวเอง แล้วปฏิบัติให้เข้าทาง

การปฏิบัติ กิเลสมันอยู่ในการปฏิบัติของเราไปด้วย เราเริ่มต้นปฏิบัติ เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ สันดาน สันดานนี้มันฝังมากับจิต ความนึกคิดเดิมอยู่ที่จิต อยู่ที่จิตเพราะจิตนี้ จิตใต้สำนึก อวิชชาอยู่เป็นเจ้าวัฏจักรปกครองทั้งหมด อวิชชานี้อยู่บนเรือนของอะไร? เรือนยอดของใจ ปกครองทั้งหมด นั้นความคิดที่จะใฝ่ดีเพราะเราประสบซึ่งๆ หน้ากับศาสนธรรม

เราถึงว่าเราก็เชื่อ เพราะประเพณีตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ถือกันมาแล้ว แต่มาพอปฏิบัติ สิ่งที่เป็นอวิชชาอยู่ในหัวใจ ในหัวใจเรา เรือนยอดอันนั้น เราคิดขึ้นมาถึงจะมีอวิชชาตัวนี้คิดแนบออกมาด้วย จะนำมาตลอด นำติดมาครึ่งหนึ่งตลอด ความเห็นของเรานะ เห็นดึงดีเข้าไปเท่าไรก็แล้วแต่ แต่อวิชชาก็อยู่ในความเห็นนั้น ความเห็นนั้น คิดดี คิดได้ไม่นาน มันจะล้ม คิดได้ไม่นานหรอก มันจะเกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดมันก็ลังเลสงสัยแล้ว จริงหรือไม่จริงหนอ

“อวิชชา” เพราะอวิชชาเป็นเรือนยอดของความคิดนี่นา ถึงว่าก่อนเชื่อ ศรัทธาแล้วปฏิบัติ แล้วแต่ตั้งแต่ทานเข้ามาก่อน ฉะนั้นถึงต้องมีศีล มีศีลแล้วถึงทำสมาธิ แล้วถึงเกิดปัญญา

“มีศีล” ศีลนี้ปกครองตั้งแต่เปลือกข้างนอกเข้ามา จนถึงอธิศีลจิต จิตภายในที่ถือศีล น้อมคิด มโนกรรมเกิด พอน้อมคิดมโนกรรม เรามีศีล ๕ จิตเป็นปกติ พอปกติแล้วถึงกำหนด เราจะทำสมาธิต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ หรือกำหนดบริกรรมบทใดบทหนึ่งให้จิตนี้เป็นที่เกาะเกี่ยว

จิตนี้ปฏิบัติใหม่ๆ เหมือนกับเด็กอ่อน เด็กอ่อนเพราะว่าผู้ที่ผ่านพ้นไปแล้วจะเห็นว่า เด็กอ่อนหมายถึงว่า มันเคยเสวยอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เสวยความคิด ความคิดที่มันออกมาตามปกตินี้แหละ มันเสวยมาตลอดเวลา จิตนี้ถึงแสดงตัวว่า อ้อ! นี้เป็นความคิด ถึงเผาลนเรา เผาลนผู้ที่คิดนั้นน่ะ เผาลนเพราะต้องเผาลนเราก่อนให้เราอยาก เราทำ เราต้องการสิ่งใด เราถึงแสวงหาสิ่งนั้นก่อน แสวงหาเข้าไป ไปต้องการความสะดวก ไปต้องความเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นต่อไป ต่อๆ ไป

ถ้ามันดับมันก็ดับที่เราก่อนใช่ไหม ถึงว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นได้แต่ชี้นำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้ที่วางธรรม อันประเสริฐ ประเสริฐสุดยอดนี้ไว้ให้เราเดิน เราจะเดินเข้าไปช่องทางไหนจะเข้าถึงธรรมจริง เราจะเดินช่องทางไหนล่ะ ฉะนั้นถ้าเรามั่นใจแล้ว ตัวนี้ ตัวที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้อวิชชามันสงบตัวลง สงบตัวลงให้เราเป็นอิสระที่จะทำให้เราพ้นจากความทุกข์นี้ได้บ้าง

ฟังนะ คำว่า “ได้บ้าง” มันจะไม่ได้ทั้งหมดเพราะอะไร เพราะมันอาศัยหัวใจของผู้ที่ปฏิบัติทุกๆ ดวงอยู่เป็นบ้านของมัน ฉะนั้นเราจะทำลายบ้านของอวิชชา สิ่งใดสิ่งนั้นเขาจะยอมหรือ จะยอมก็ยอมให้เรามาปฏิบัติ เรานี้มาปฏิบัติอวิชชาก็บอกให้มาปฏิบัติ ก็แฝงตัวมาด้วย บังเงามาตลอด บังเงาความคิดของเรามาตลอดไปด้วย บังเงามา อ้าว! ปฏิบัติไปถึงแล้วก็สงสัย ปฏิบัติไปแล้วก็พักไว้ก่อน ไว้เมื่อนั้น เมื่อนี้ หรือคิดออกไปก็ยังยืม ยืมนะ อวิชชายืมธรรม ยืมธรรมของพระพุทธเจ้ามาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้

การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามหลักความจริง พอประสบตามความเป็นจริงแล้วมันเสวยสมาธิธรรม เสวยมรรคผลนิพพาน มรรคผลขั้นใดก็แล้วแต่ มันสมุจเฉทปหานจากใจ ใจนี้ว่าง รู้สึกตามความเป็นจริงแล้วถึงเทียบออกมามันก็จะเข้ากับธรรมะของพระพุทธเจ้าที่วางไว้แล้ว แต่ถ้าเรายังปฏิบัติอยู่ เราพิจารณาอยู่ เราก็ใช้อวิชชามันอยู่ในความคิดเราด้วย อวิชชาก็คิดไปด้วย พอคิด คิดเพราะอวิชชาคิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องมีความลังเลสงสัย พอเกิดความลังเลสงสัยก็เทียบกลับเข้าไปที่พระไตรปิฎก เทียบกลับไปธรรมะของพระพุทธเจ้า

“เหมือนกัน เหมือนกัน” การเทียบแบบนี้ อวิชชามันหลอกไหม เทียบว่า “เหมือนกัน เหมือนกัน” แต่ถ้าสมุจเฉทปหานขาดออกไปจากใจ เห็นตามความเป็นจริง รู้ อ๋อ! ตามความเป็นจริง แล้วถึงว่าเหมือนกัน ถึงมาเทียบมาเหมือนกัน ไม่ใช่สงสัยแล้วไปเทียบ มันขาดออกไปเลย ว่างออกไปเลย กิเลสขาดออกไป แล้วค่อยย้อนกลับเข้าไปเทียบกับพระไตรปิฎก ถึงว่า อ๋อ! อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่เราผ่านมาแล้ว เราผ่านมาแล้ว เราผ่านมาแล้ว ผ่านอย่างนั้นไป

ถึงได้ว่าไม่ใช่ยืมธรรมของพระพุทธเจ้ามาหนุนความเห็นของอวิชชา

แม้แต่ในการประพฤติปฏิบัตินะ ในประพฤติปฏิบัติ เราว่าเราปฏิบัติอยู่นี้ เราเข้าถึงหลักตามความเป็นจริงแล้ว แต่ความเป็นจริงของอวิชชาแบ่งเป็นครึ่งหนึ่ง “เหมือนอย่างนั้น เหมือนอย่างนี้” ถึงว่าต้องทำความสงบให้มากกว่านั้น ความสงบที่เรามาประพฤติปฏิบัตินี้เราสงบกาย สงบวาจา เราทำกายให้เป็นหนึ่ง เราหนึ่งเดียว เราทำวาจา วาจาเราไม่พูดถึง เราทำจิตให้ลงไปอีก ถ้าตรงนี้ยังวิปัสสนาไม่ได้ ให้มันลึกลงไปอีก ลึกลงไปอีก ความลึกลงไปให้ตัวตนมันสั้นเข้า สั้นเข้า

สมาธินี้เปรียบเหมือนหินทับหญ้า สามารถกดกิเลสไว้ได้จำนวนหนึ่ง กดกิเลสไว้ได้ สมาธินี้เหมือนหินทับหญ้า หญ้าจะเกิดไม่ได้ แต่มีรากของหญ้าอยู่ใต้หินนั้น ยกหินนั้นออก หญ้าต้องเกิดทันที สมาธิสามารถกดได้ ถ้ากดลงไปหญ้าไม่เกิด แต่มันมีสมาธิ สมาธินี้เป็นเอกัคคตารมณ์ สมาธินี้มีผู้รู้ สมาธินี้เป็นหนึ่ง ตัวที่เป็นหนึ่งนี้ ถึงว่ามีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่จับต้องได้สิ่งนั้นคืออะไร

พอมันว่างเข้ามา จิตพยายามทำความสงบเข้ามา จะด้วยปัญญาอบรมสมาธิ หรือจะด้วยกำหนดบริกรรมก็แล้วแต่ ให้จิตนั้นสงบเข้ามา สงบเข้ามา ความสงบอันนั้นมันเป็นปัญญา มันเป็นความเห็น ความเห็นอันนี้มันไม่ใช่วิปัสสนาญาณ มันเป็นการตะล่อมใจต่างหาก ความตะล่อมใจเข้ามาให้จิตนี้เป็นหนึ่ง

จิตนี้แผ่ออกไป เราพยายามตัดรอน ตัดรอนให้กระแสของที่มันพุ่งออกไป อาศัยขันธ์ออกไปหากิน อาศัยความคิด อาศัยกิ่งก้าน เราตัดกิ่งก้านนั้นเข้ามา เข้ามา จิตมันสงบตัวเข้ามา อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ อันนี้เป็นคำบริกรรมที่มันเคยกินอารมณ์ต่างๆ ให้มันกินพุทโธ พุทโธ นะ

พุทโธนี้เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นั่นน่ะ เราเอาพุทโธนี้เป็นที่หยุด เป็นที่ว่าให้จิตพักตรงนี้ ให้แสดงตัวออกมา จากแสดงตัวออกไปทางกินอารมณ์ แสดงตัวออกไปทางกินอารมณ์ จิตแสดงตัวออกมาด้วยเป็นอารมณ์ จิตเกาะพุทโธเข้ามาเรื่อยๆ พุทโธเข้ามาเรื่อยๆ เกาะพุทโธนี้

พุทโธนี้เป็นธรรม พุทโธนี้ไม่สืบต่อให้เราคิดฟุ้งซ่านออกไป พุทโธนี้ตัดเข้ามาให้ระยะห่างของจิต ตัวกระแสออกไปกับตัวจิตเข้าๆ มา เข้ามา จนกลับมา จิตกลับมาที่ใจ กับกระแสที่ออกไป เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระยะหดเข้ามา หดเข้ามาจนเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพ จิตเป็นเอกภาพ จิตนี้เป็นหนึ่ง จิตนี้สามารถยกขึ้นทำงานได้

จิตนี้ไม่เป็นเอกภาพ จิตนี้เกาะเกี่ยว จิตนี้พึ่งตนเองไม่ได้ จิตนี้พึ่งตนเองไม่ได้จะเอาจิตขึ้นมาทำอะไร การวิปัสสนาต้องใช้พื้นฐานของจิต พื้นฐานของผู้ที่ไปภาวนา แต่ไม่ใช่เรา ถ้าเราวิปัสสนาด้วย เราเอาความเห็นของเราด้วย อันนี้เป็นจินตมยปัญญา มันไม่ยกขึ้นเป็นภาวนามยปัญญา

ถ้าเราวิปัสสนาอยู่ตลอดเวลา เราคิด เราดูอยู่ตลอดเวลา อันนั้นมันคิดเพื่อจะร่นย่นระยะ ความฟุ้งซ่านออกไปให้หดเข้ามาให้เป็นเอกภาพ ถ้าจิตยังไม่เป็นเอกภาพ จิตทำงานนี้ไม่มีพลังงานมันเป็นทำงานทางโลก เป็นโลกียะทั้งหมดเลย ถึงจะเป็นโลกียะ ฌานสมาบัติก็เป็นโลกียะ สมาธิต่างๆ ก็เป็นโลกียะ แต่โลกียะมันก็ดีกว่าโลกียารมย์ที่เขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในโลกนั้นทั้งหมดเลย อันนี้มันเป็นโลกียะ แต่ก็เป็นโลกียะที่มีความสงบตัวเข้ามาเป็นธรรมระดับหนึ่ง เป็นธรรมที่เป็นที่พึ่งอาศัยได้ เป็นธรรมที่ใจเคยกินแต่ของเผ็ด ของร้อน กินแต่ยาพิษ พอมากินพุทโธ พุทโธ เสวยพุทโธตลอดเวลา มันนิ่งเข้ามา นี่คือเสวยเงาของพระพุทธเจ้า

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” จิตสงบเข้ามา จิตนี้ได้สัมผัสกับเงาของตถาคตแล้ว นี่เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นกัลยาณชน กับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ถึงว่ามันต่างกันตรงนี้ ต่างกันที่จิตนี้มีเครื่องเกาะ เครื่องอาศัย จิตนี้เป็นเอกภาพ ฟังวิธีเป็นเอกภาพสิทธิ์สิ เป็นเอกภาพไม่เป็นขี้ข้าใคร ไม่เป็นขี้ข้าใครชั่วกาล ชั่วกาลที่สติที่พร้อม ชั่วกาลที่ควบคุมใจได้ เป็นเอกภาพอยู่ มันเป็นนามธรรม เพราะเราตะล่อมมากันด้วยคำบริกรรม

แต่คำบริกรรมวันไหนมันเบาลง จางลงนี่มันไหลออกไปจากที่เราตะล่อมเข้ามาให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะจิตมันออกจากที่เราตะล่อมไป มันก็แผ่ซ่านออกไป มันก็เป็นอารมณ์โลกอีก ออกจากสมาธิมา มันก็เป็นอารมณ์โลก มันก็เป็นความทุกข์อย่างเดิม

การประพฤติปฏิบัติ เราเข็นครกขึ้นภูเขา เข็นครกขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วเราควรจะหาที่พักหรือว่าให้ครกนั้นไม่ให้ไหลลงมาแล้ว ถึงว่าพอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เป็นเอกภาพแล้ว ควรจะทำงาน ทำงานในกาย เวทนา จิต ธรรม ในกายก็ได้ ในกายนี้จะเห็นภาพชัดที่สุด

แต่ถ้าใช้ความคิด คนที่มีปัญญา พุทธจริต จริตของผู้มีปัญญา ส่วนใหญ่จะพิจารณากายมันจะมองไม่เห็น เพราะการพิจารณากายนี้มันเป็นกำปั่นทุบดิน แต่เป็นภาพที่เห็นชัด เห็นชัดจากตาธรรม ไม่ใช่เห็นชัดจากมโนนึก มโนนึกนั้นน้อมได้นิดหน่อย มโนนึกย้อนเข้ามา ย้อนจิตเข้ามา ย้อนจิตเข้ามา เพราะอาศัยมโน

เรายิงแสงออกไปจากฐาน พอฉายแสงส่องออกไป แสงนั้นกระทบกับอะไรมันก็ได้แค่นั้น ถ้าหากเราดึงสิ่งนั้นหรอกไปไกล แสงนี้ยาวออกไปไกล เราคิดถึงมโนภาพ ภาพกายนั้นเพื่อจะให้แสงกระทบภาพนั้นให้หดแล้ว หดเข้ามา หดเข้ามา ความหดเข้ามา ระยะร่นเข้ามา เข้ามา เข้ามาถึงใจ ถึงจะเป็นสมาธิ ถึงตัวนี้ ถึงเป็นความว่างในฌานโลกีย์ก็เป็นความว่าง ความว่างในจริยธรรมความสงบนี้

ทีนี้ความว่างในความสงบกับความว่างในฌาน การเพ่งอยู่ การว่างในฌานนั้นเป็นฌาน ถึงบอกว่าต้องไม่ใช่ว่า ศีล ฌาน ปัญญา...ศีล สมาธิ ปัญญา ต่างหาก ไม่ใช่ศีล แล้วฌาน แล้วปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะปัญญานี้มันเป็นความสงบ มันสงบเสงี่ยม แล้วมันมีพลังงาน แต่ถ้าเป็นฌานมันก็มีพลังงาน แต่พลังงานการส่งออก พลังงานการโน้มนึกไปในการเหาะเหินเดินฟ้า ในการที่ว่าเห็นออกไปข้างนอก ถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงตะล่อมมาเข้ามาที่สมาธิ สมาธินี้มันถึงพอเป็นควรแก่การงาน

พอนึกขึ้นมา พอเห็นภาพกาย ความเห็นอันนั้นขนพองสยองเกล้า การเห็นกายตามความเป็นจริง ขนพองสยองเกล้า เพราะเห็น เห็นแล้วว่ามันแปรสภาพให้เห็น ขณะที่เห็นก็เป็นอย่างนี้เหรอ กายที่สักแต่ว่ากาย เราอ่านแต่ตำรามา เราศึกษามา เราจำมาว่ากายกับเรา กายกับจิตนี้แยกกัน แต่ขณะที่เราไปเห็น เราก็ยังตื่นเต้นขนาดนี้นะ ขณะที่เข้าไปเห็นว่ากายสงบออกมาจากจิตและเห็นกายตามความเป็นจริงแล้วมันแปรสภาพ

แปรสภาพนี้ แปรสภาพเพราะเขาอยู่คงที่ไม่ได้ต่างหาก มันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว สิ่งที่เราจะทำคุณงามความดีนี้มันแสนยาก สิ่งที่ไหลไปตามกิเลสนี้มันแสนง่าย กิเลสมันไหลไปเรื่อย กิเลสมันหลอกคนให้โง่ แต่ผู้ที่จะทุกข์คือเรา กิเลสไม่เคยมาทุกข์กับเราเลย มันไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปเรื่อยๆ แต่ในเมื่อเราจะย้อนกลับ ทวนกระแสเข้ามา ทวนกระแสเข้าไปหาตัวจิต ตัวที่ว่าจิตนี้อาศัยกายตรงไหนอยู่นั่นน่ะ

ถึงว่า พอทวนเข้าไป กว่าเราจะต้อนเข้าไป กว่าเราจะเห็นสิ่งนี้ มันใช้พลังงานเราไปมาก พอการใช้พลังงานไปมาก เราก็แบบว่าหมด เกือบหมดพลังงานอยู่แล้ว แล้วพอไปเห็นเข้า เห็นเข้ามันก็แปรสภาพให้เห็นเร็ว มันทรงไว้ไม่ได้ สมาธิเราไม่สามารถจับยืนไว้ได้นาน ขณะแปรสภาพให้เห็นด้วยความมันเป็นอนิจจังโดยตัวมันเองเราก็ยังขนพองสยองเกล้าขนาดนั้น แล้วถ้าวิปัสสนา แล้วมันขาดแบบที่ว่าเป็นเอกภาพ แล้วเราควบคุมการขาด เราควบคุมทั้งหมดเลย ทำไมเมื่อกี้บอกว่าไม่มีเราล่ะ ทำไมตอนนี้มาเป็นเราอีกแล้ว

เพราะถ้ามีเรา มันก็เป็นโลกใช่ไหม แต่คำว่า “เรา” นี้มันว่าหมุนไปตามความเป็นจริง มันหมุนไป ไม่ใช่ว่ามันหมุนไปที่ว่ามันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของมัน เป็นไตรลักษณ์เพราะเราดันขึ้นจากสมาธิ หน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติคือการเดินมรรค แล้วมรรคถ้ามันสามัคคีแล้วมันจะรวมไป

ในธัมมจักฯ ทเวเม ภิกฺขเว ภิกษุทั้งหลายทาง ๒ ส่วนที่ไม่ควรเดิน ในอัตตกิลมถานุโยค ในกามสุขัลลิกานุโยค ในการปฏิบัติไม่ให้ไปทาง ๒ ส่วนนี้ ให้ลงที่มัชฌิมาปฏิปทา

ถ้าเราทำขึ้นไป ถ้ามันไหลลงมามันก็ไปตามทางของมัน เราดันขึ้นไป แล้วมันถึงว่าให้ธรรมจักรมันหมุนไปในตัวของมันเอง หน้าที่ของเราอยู่ตรงนี้ หน้าที่ของเราอยู่ที่ว่าเราวิปัสสนา เราใคร่ครวญของเราไป แล้วมันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงมันอยู่ที่ว่า เรามีสติพร้อมไหม เรามีสติแล้วเราตั้งใจ งานชอบ ความเพียรชอบ หมายถึงว่าเราควบคุม แต่ความจริงไม่ใช่เรา ถ้าปฏิบัติไปแล้ว มันจะรู้ว่าเรานี้จะอ่อนไป อ่อนไป ความเป็นเรามันจะน้อยไป น้อยไป แต่มันจะหมุนเป็นธรรมชาติ ถ้ามันหมุนไปได้เองโดยที่ไม่มีเราไม่มีสิ่งใดนั้นคือธรรมจักร นั้นคือจักรเคลื่อนไป

ถ้ายังเป็นเราอยู่มันจิตมันจะรวมเป็นหนึ่ง ธรรมจักรนี้จะรวมเป็นหนึ่ง รวมเป็นว่าเป็นหนึ่ง แต่มันไม่สามัคคี เป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเพราะมีเรา แต่ถ้ามันหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน มันหมุนไปโดยธรรมชาติ จักรนี้ได้หมุนไปแล้ว เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญาพอ มันจะหมุนไปพอดี พอดี พอดี พอดี พอดีมันก็ขาด นี่เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์จนเก้อๆ เขินๆ เห็นขนาดนั้นนะ มันปล่อยได้ตามความเป็นจริงอันนั้น นี่คือปล่อยตามความเป็นจริง

คำว่า “ปล่อย” ปล่อยมันคือปล่อย แต่มันสมุจเฉทปหาน ปล่อยแล้วว่าง มีความสุข สุขที่เกิดจากสมาธิว่าสุขที่เป็นเอกภาพอันนั้นมันว่าง ว่างอันนั้น ว่างสมาธิ กับว่างวิปัสสนา ว่างจากการชำระกิเลส มันรวมลงเหมือนกัน แล้วความสกปรก ความที่มันเก็บงำไว้ในหัวใจมันหลุดไปพร้อมกันเลย มันรวมลงเป็น ๒ ชั้น นั่นน่ะว่างในว่าง ว่างในว่างอันนี้มันถึงจะเป็นตามความเป็นจริง ว่างอันนี้ ว่างอันนี้เพราะเราชำระตามความเป็นจริง

แล้วพอเห็นอันนี้ เทียบไปสิ มันจะไม่เทียบ ไม่เทียบไปเลย เพราะว่ามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้จำเพาะตน รู้ในหัวใจขึ้นมาเลย รู้ตามความเป็นจริงเลย เห็นสิ่งนี้กระเด็น สิ่งที่ขาด สิ่งที่หลุดออกไป นั่นเพราะเห็นตามความเป็นจริง เกิดจากอะไร? เกิดจากการเราล้มลุกคลุกคลาน เกิดจากการที่ว่าเราเชื่อมั่นก่อน เราเชื่อมั่นแล้วเราพยายามมุ่งเข้าหาจุดเป้าหมายของเรา หาจุดเป้าหมาย “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เราเข้าหาเป้าหมาย เราทุ่มทั้งชีวิต

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม จะลงแรงขนาดไหนมันก็เหนื่อยแล้วมันไม่ใช่ เพราะไม่สมควร ความไม่สมควรนั้นมันจะให้ผลเป็นสมควรได้อย่างไร พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว “ถ้าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เมื่อไรจะมรรคผลนิพพานจะถึงกาลถึงเวลา”

พระพุทธเจ้า “อานนท์ถามอย่างนั้นได้อย่างไร ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พระอรหันต์จะไม่สิ้นจากโลกเลย จะไม่สิ้น”

แต่เพราะถ้าปฏิบัติแล้วไม่สมควร มันเข้าไม่ถึงธรรม การเข้าไม่ถึงธรรมอันนั้น ธรรมนั้นก็ยังมีอยู่ แต่เราเข้าไม่ถึง ถึงจะลงแรงขนาดไหนก็เข้าไม่ถึง

มีอยู่ในพระไตรปิฎกนะ มีผู้ที่ปฏิบัติ ปฏิบัติขนาดที่ว่าทำตัวเป็นสุนัข เพราะมีความเห็นว่า ตัวเองนี้ถ้าเป็นนึกคิดว่าถ้าทำตัวเป็นสุนัขมันเป็นสิ่งที่ทำยาก มันเป็นสิ่งที่ทำยากมาก แล้วทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์ไง ใช้ดำรงชีวิตเหมือนสุนัขเลย การกิน การนอน ทำตัวเองให้เป็นสุนัขเลย แล้วพอทำไป ใช้ชีวิตอย่างนั้นอยู่นาน เสร็จแล้วพอกลับเข้ามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เขาปฏิบัติอย่างนั้น เขาจะได้ผลอย่างไร

ถ้าไม่สมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติ เพราะมีความเห็นว่าจะปฏิบัติอย่างนั้น แล้วปฏิบัติแล้วทำไมไม่เชื่อมั่นว่าเราปฏิบัติถูกล่ะ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ปฏิบัติอย่างนั้น มีความเห็นอย่างนั้น แต่ก็ยังลังเลสงสัย แล้วต้องมาถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอก “อย่าให้เราตอบเลย” เพราะพระพุทธเจ้าไม่อยากตอบ แต่ผู้ที่มาถามก็ขอให้ตอบ ถามครั้งที่ ๒ ถามครั้งที่ ๓ จนพระพุทธเจ้าว่าครั้งที่ ๓ แล้ว เขามีความจงใจอยากจะทราบ พระพุทธเจ้ารู้อยู่แล้ว ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังปัญญาของพระพุทธเจ้าได้เลย ไม่มีสิ่งใดจะปิดตาธรรมของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐนั้นได้เลย

ถึงได้บอกว่า “ถ้าปฏิบัติอย่างนั้น ตายไปก็ต้องเป็นหมาเหมือนกัน”

เสียใจมากจนร้องไห้เลยนะ นี่เพราะว่าปฏิบัติไม่สมควร อันนี้ภาพมันชัด มันชัดมาก เพราะอะไร เพราะเขาทำนอกลู่นอกทางเลย แต่เพราะความจงใจ ความตั้งมั่น ถ้ามันสมควรแก่ธรรม คำว่า “สมควรแก่ธรรม” นี่เราต้องย้อนกลับมาที่เรา ถ้ามันสมควรนะ สมควรมันต้องเป็นไป ถ้าเป็นไปมันก็ต้องขาดที่ใจเรา ขาดที่ใจเราก็เป็นปัจจัตตังที่ใจเรา เป็นปัจจัตตัง แล้วพูดตามถูกต้อง เห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงนะ อ้อ ! กิเลสมาอย่างนี้ ความคิดคิดอย่างนี้ เริ่มต้นอย่างนี้

สติสัมปชัญญะ สติ-มหาสติ-สติอัตโนมัติ นี่มันลึกเข้าเป็นชั้นๆ ๆ เข้าไปนะ เพราะอะไร เพราะว่าความละเอียดอ่อนของใจ ระยะร่นระยะห่างมันจะเข้าไปเรื่อยๆ นะ จากที่ว่าเริ่มเป็นปกติเรานี่มันคิดออกมาโดยเราไม่รู้ตัวเลย เราพิจารณากายจนขาดออกไป กายกับจิตขาดออกไปจากกัน

ทีนี้พอจะคิดออกมามันก็ต้องมาหยุดอยู่ตรงนี้สิ ความเห็นอย่างไร คือว่าเห็นถูกว่า อ้อ! คิดอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นี่เห็นตามความเป็นจริงไง ความคิดเราคิดออกมาอย่างนี้เนาะ ออกไปแล้วมันต่อกันไม่ได้ ความคิดเราขาดช่วง ที่เราเห็นมันขาดช่วงเลย เพราะเมื่อก่อนกายกับจิตมันอยู่ด้วยกัน จิตนี้มันคิดว่ากายเป็นของเรา เราเป็นกาย กายมีในเรา เรามีในกาย มีด้วยกันหมดเกาะเกี่ยวกันไปหมด แต่พอมันขาดแล้วตรงนี้มันเก้อๆ เขินๆ มันต่อกันไม่ได้ ความต่อกันไม่ได้เราก็เห็นเอง ความเห็นเองนี่มันประจักษ์พยานเต็มๆ ในหัวใจของเรา ความเห็นเอง ความรู้เอง เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติเอง

ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรม มันก็ลงพอดีมัชฌิมาปฏิปทา ว่ามัชฌิมาปฏิปทา ถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางทางอันนี้ไว้ ไม่มีใครบอก สมัยนั้นไม่สอนกันอย่างนี้ เจ้าลัทธิต่างๆ ก็สอนกันไปอย่างหนึ่ง ที่ว่าอยู่กันแบบเสวยสุขไปเลย ๕๐๐ ปีแล้วสิ้นไปก็มี เชื่อว่าจิตนี้ตายแล้วสูญไง ว่าตายแล้วทำอย่างนี้ มันก็เกิดซ้ำๆ ซากๆ อย่างนี้ก็มี ความคิดที่ว่าไม่เชื่อทั้ง ๒ ฝ่าย

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ประทานอันนี้ไว้ มัชฌิมาปฏิปทาความเป็นกลาง ปฏิบัติแล้วก็เป็นกลาง ไม่เชื่อทั่ง ๒ ฝ่าย มรรคขึ้นที่สร้างขึ้นมาก็มัชฌิมาปฏิปทาอีก ไม่เอียงเอนไปข้างใดข้างหนึ่งเพราะมันเป็นฐาน เจ้าแห่งจักรวาล ศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่หัวใจ เพราะหัวใจนี้หมุนพาตาย พาเกิด จักรวาลนี้หมุนพาตายพาเกิดอยู่ที่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ที่กลางหัวใจ

ฉะนั้น เวลาธรรมจักรมันหมุนเข้ามา มันก็ต้องหมุนเข้ามา หมุนเข้ามาชำระต้นเหตุ มันจะเข้ามาชำระต้นเหตุอันนี้ต่างหาก พอการหมุนเข้ามา ถึงว่า ธรรมถึงทวนกระแสโลก ธรรมทวนกระแสทุกๆ อย่าง ทวนกระแสโลกทั้งหมด การทวนกระแสโลก ถ้าไปตามโลกมันก็เป็นโลก การทวนกระแสเข้ามา ถึงจะหักเข้ามา พระพุทธเจ้าถึงว่าเป็นผู้ที่เป็นสยัมภู รู้ด้วยตนเอง

การคิดส่งออกนี้ ใครๆ ก็คิดได้ การคิดส่งออก เป็นวิชาการ ใครก็ส่งได้ การส่งเป็นวิชาการนั้นประเสริฐ วิชาการประเสริฐอย่างไร ประเสริฐทำให้โลกเจริญ ประเสริฐทำให้สังคมเป็นที่พึ่งอาศัย แต่ประเสริฐขนาดไหนมันก็อมทุกข์ไปตลอด พอจิตสงบตัวลง จิตมันมีพลังงาน พอจิตมีพลังงาน...

...สัจธรรมนะ สัจธรรมในโลกนี้ พวกวิทยาศาสตร์นี้ก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง เป็นสมมุติสัจจะ สมมุติสัจจะมันก็ยังเป็นประโยชน์แก่โลก แต่ความเห็นแก่ตัวของเรานี่มันเอียงก่อน มันเป็นอดีตอนาคต การคิดของเรามันเป็นอดีตอนาคต เพราะความคิดนี้เคลื่อนมา มันเคลื่อนออกมาจากอวิชชาแล้ว มันเคลื่อนออกมาเป็นอารมณ์ พอมันเคลื่อนออกมาเป็นอารมณ์ ความคิดออกไปอย่างนั้น มันก็เป็นโลก แล้วมันเทียบเคียงขึ้นมา มันก็ได้ธรรมะเทียบเคียง

แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบไปแล้ว จะไม่ใช้ปัญญาอันนั้นหรือ? สังขาร สังขารที่มีสมาธิหนุนไว้นี้ สังขารนี้เป็นปัญญา สังขารที่มันคิดโดยธรรมชาติของมัน นั่นมันคือกิเลสชัดๆ กิเลสชัดๆ มันหมุนไปตามมันเลย สังขารเหมือนกัน ตัวสังขารคือตัวความคิดที่เราศึกษามา ตัวเราคิดศึกษามา

แต่ถ้ามีสมาธิ มีสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่น ไอ้สังขารตัวนี้มันก็ปรุงเหมือนกัน แต่ปรุงเป็นมรรค มรรคนี้หมุนไป หมุนไปด้วยตัวสมาธินี้ ความดำริชอบตบท้ายด้วยสมาธิชอบ มรรค ๘ ความเห็นชอบกับต้องมีสมาธิชอบด้วย หมุนกันไป งานชอบ เพียรชอบ การงานชอบ ตั้งใจชอบ หมด หมุนเข้าไปเลย

เพราะเราทำจิตนี้ให้สงบแล้วมันมีพลังงานขึ้นมา ตัวพลังงานตัวนี้มันไม่ต้องสงบจนเต็มที่ สงบจนเต็มที่ ความสงบ จิตที่ลงไปเต็มที่นั้นประเสริฐ ดี แล้วมันถ้าถอนกลับมายิ่งมีพลังงานใหญ่ แต่ตัวจิตที่มันสงบไป ความสงบอันนั้นมันเป็นอัปปนาสมาธิ มันดิ่ง มีสติพร้อมอยู่ มันพัก ออกมานี้พลังงานมาก แต่พลังงานตัวนี้ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนามันก็จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนา ความสงบอันนี้สามารถจะคิดว่าอันนี้เป็นผลได้เลย ถ้ามันยกออกมาก็ยกความคิดเดิม

ทีแรกเราจะปฏิเสธว่าถ้าความคิดนี้เป็นโลกเป็นโลกเราจะปฏิเสธ เวลาจิตมันสงบแล้วเราจะเอาอะไรเป็นความคิดล่ะ มันแยกกันตรงนี้ แยกกันที่ว่า ถ้ามีสมาธิอยู่ คือจิตมันเป็นเอกภาพ จิตนี้ไม่คลอนแคลน จิตนี้พึ่งตัวเองได้ อันนั้นเป็นมรรค หมุนไป หมุนไป พอความคิดออกมามันจะฟันความคิดความเห็นในหัวใจของเรานี้ ขาด ขาดออก ความขาดคือความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย ความคิดต่างๆ นั้นคือช่องทางที่กิเลสมันอาศัยหากิน กิเลสนี้เป็นนามธรรม แต่อาศัยขันธ์ อาศัยความคิดเรา อาศัยความเห็น อาศัยวิชาชีพต่างๆ เบียดเข้ามา มีความเห็นแก่ตัวอยู่ในความคิดนั้น

แต่พอมีสมาธิเข้ามามันก็ความคิดนั้น แต่ความคิด การวนกลับมา ความคิดที่วนกลับมา สังขาร ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร “ปัญญา” ตามปริยัติ ตามตำราเขียนว่า ปัญญาในศาสนาคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร กองสังขารคือกองความคิด สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง สัญญา สังขาร วิญญาณ รอบรู้ในกองสังขาร

ถึงว่าปัญญาก็หมุนกลับมารอบรู้ไอ้ความคิดเรานั่นแหละ แล้วก็อาศัยสิ่งที่เราเล่าเรียนมา สิ่งที่เราใช้อยู่นั้นหมุนออกไป แต่หมุนออกไป หมุนเทียบเคียงเข้ามาเพื่อจะให้กิเลสที่มันอาศัยอยู่นี้ หลุดออกไป

ถึงว่าพอจิตสงบแล้ว มันก็ต้องใช้ความคิด แต่ความคิดจากรากฐานที่ว่ามันไม่มีเราเข้าไปลำเอียง ความคิดที่เป็นธรรมจักร ธรรมจักรนี้หมุนไปชำระกิเลส ถ้าไม่มีธรรมจักร เอาอะไรไปชำระ “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล” ถ้ามรรคนี้ไม่ได้เคลื่อนออกไป เคลื่อนออกไป วนกลับมาชำระกิเลส ถ้ามรรคนี้ไม่ได้เคลื่อน ธรรมจักรนี้ไม่ได้หมุนไป แล้วธรรมจักรที่ว่าธรรมจักรหมุนไป เกิดที่ไหนถ้าเราไม่ได้สร้างขึ้นมา เราสร้างขึ้นมาเป็นธรรม เราสร้างขึ้นมาจนธรรมจักรนั้นเป็นธรรมจักร ธรรมจักรเป็นขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธาเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว แล้ววางไว้ให้เราก้าวเดินขึ้นไป ฟังสิ ผู้ที่ปฏิบัติสามารถสร้างธรรมจักรขึ้นมาในท่ามกลางหัวใจ แล้ววนเข้ามาชำระกิเลสของผู้ที่ปฏิบัตินั้น

ทำไมถึงว่าเป็นอริยสัจล่ะ จากสัจจะโลก สัจจะที่ว่าเป็นวิชาชีพ สัจจะที่เขามีกันอยู่เรายังตามไม่ทันเลย แล้วเรายิ่งหมุนตามเข้าไป ตามเข้าไป เรามีแต่กองทุกข์ เรามีแต่กว้านเข้ามาเผาไหม้ตัวเอง แต่เวลาเราหมุนธรรมจักรขึ้นมาจากลางหัวใจ เราหมุนขึ้นมาด้วยทำความสงบก่อน ให้จิตนี้สงบจากการลำเอียงในหัวใจแล้วเราก็สร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมา

ถ้าไม่ได้ยก กาย เวทนา จิต ธรรมขึ้นวิปัสสนา มันไม่เป็นธรรมจักร มันเป็นการเทียบเคียงเพราะอะไร เพราะไม่มีจำเลย เห็นไหม แม้แต่ผ่านกายเข้ามาแล้ว ทำไมว่าต้องขุดคุ้ยค้นหาอีกล่ะ? มันต้องค้นหาเพราะว่ากิเลสมันนอนเนื่องมา จิต น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา จิตสงบแล้วมันต้องเห็นกิเลส มันต้องชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริง

ตายเปล่าเลยนะ ตายเปล่าๆ ต้องขุดคุ้ยทุกๆ ขั้นตอนเข้าไป เพราะเวลาจิตมันสงบ มรรค ๔ ผล ๔ มรรค ๔ ขั้นตอนมันก็เป็นมรรค มรรคนี้ก็หมุนไป แต่ถ้าเราเป็นสมาธิแล้วมันก็เป็นมรรคแล้ว พอเป็นมรรคแล้ว มรรคนี้จะประหารกับอะไรล่ะ? มรรคนี้มันก็ต้องหันมาชำระกิเลสสิ แล้วกิเลสอาศัยอยู่ในอะไรล่ะ? อาศัยอยู่กายกับใจ มันก็ต้องลงตีตรงกายกับใจนั้นล่ะ

กายกับใจ กายกับจิต พิจารณาไปสิ พิจารณากายตรงนี้ก็พิจารณากาย กายที่ว่ามันชำระ มันแยกออกระหว่างกายกับจิตที่ว่าแยกออกแล้ว มันแยกออกเพราะเป็นสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นดึงกลายมาเป็นเรา กับความโน้มนึกในกายมันไม่แยกขาด มันมีอุปาทานในกาย อุปาทานลึกๆ อยู่นั่นน่ะ วิปัสสนากายออกไป

จากวิปัสสนากายครั้งแรก วิปัสสนากายครั้งแรกครั้งที่เห็นนั้นเรานึก เราเห็นกาย ตามความเป็นจริงแล้วแตกออกเป็นไตรลักษณ์ อันนี้ก็เป็นไตรลักษณ์ แต่ไตรลักษณ์อีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะว่าจากกายนี้ เป็นรูปธรรม แต่พิจารณาอันนี้ กายนี้แตกออกเป็นธาตุ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ จิตนี้แยกออก แยกออกจากกันด้วยวิปัสสนา แยกออกจากกัน ไสออกไป กิเลสที่มันเชื่อมโยงอยู่ตรงนี้ต่างหากที่มันหลุดออก หลุดออกไป หลุดออกไปเวิ้งว้าง เวิ้งว้างมาก ไม่มีค่าใดๆ เลยนะ หัวใจไม่เห็นค่าของสิ่งที่ว่าวัตถุสิ่งของไม่มีค่า มันปล่อยหมดเลย ตอนนี้เป็นจิตล้วนๆ เลย เป็นจิตล้วนๆ กายกับจิตที่ว่าแยกมาแล้ว แยกตรงนี้ต่างหากถึงจะแยกตามความเป็นจริง แยกตามความเป็นจริงอีกทีหนึ่ง จะเห็นเป็นปัจจัตตัง

มรรค เรียกว่าเมื่อขุดคุ้ยหาที่อยู่ของกิเลสได้ มรรคนี้สามารถจับต้องที่ว่ากิเลสอาศัยทางนี้เป็นทางเดิน เหมือนกับพลังงานนี้มันจะไปตามท่อส่ง เราสามารถทำลายท่อส่งนั้น พลังงานมาไม่ได้ พลังงานนั้นคือตัวมรรคที่มันเกาะมากับความคิด เกาะมากับกิเลสที่มันออกมานั่นน่ะ วิปัสสนาเข้าไปทำลายสิ่งที่อยู่ของมันทั้งหมด แล้วกิเลสมันจะไปไหนล่ะ กิเลสมันก็ต้องหลุดออกไป

พอการหลุดออกไปด้วยความเห็น ด้วยมรรคที่มันหมุนไปแล้วมันอยู่ในหัวใจ มันหลุดออกไป เหมือนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในร่างกายหลุดออกไปจากตัวจิต ความสะอาดของจิตสะอาดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ความสะอาดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ชั้นนี้ก็ว่าพ้นออกจากกายด้วยกายกับใจนี้ขาดออกจากกันเลย

ตรงนี้เป็นตรงที่การจะหาจำเลยหายากมาก เพราะว่ามันเป็นการแยกเป็น ๒ ฝั่ง แม่น้ำแยกเป็น ๒ ฝั่ง ตรงกลางนี้เป็นแม่น้ำ ฝั่งซ้ายและฝั่งขวามันแยกออกจากกัน มันจะข้ามเข้าไปหาอีกฝั่งหนึ่งได้อย่างไร ขนาดอยู่ฝั่ง เมื่อก่อนนี้แม่น้ำไม่มีแม่น้ำ ฝั่ง ๒ ฝั่งนี้รวมเป็นอันเดียวกัน แต่ขณะนี้ ๒ ฝั่งนี้แยกออกจากกันแล้ว เพราะวิปัสสนาไปมันก็ตกลงที่แม่น้ำนั้น เราจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เราจะไม่มีพลังงานพอ มันจะข้ามฝั่งนั้นไม่ได้ มันจะตกลงที่กลางแม่น้ำ จมน้ำ จมน้ำ จมน้ำ เวลาวิปัสสนาไปก็อย่างนั้น ว่าง ว่าง ว่างหมด เพราะมันเป็น ๒ ฝั่ง ถ้าอย่างนี้จิตมันจะพักอยู่นาน พักอยู่ตรงนี้นานมาก

ทีนี้พอพักอยู่นานไป เราก็วิปัสสนาไป หรือทำไปนี่มันรู้ รู้เพราะอะไร รู้เพราะว่ามันสงบตัวอยู่ มันสงบตัวอยู่ในเรานี่ กิเลส แต่ถ้าเราจับได้นะ เราจับได้ เราค้นคว้าเข้าไป ตัวนี้คือตัวขันธ์แท้ ตัวนี้คือตัวกามราคะ ขันธ์ ๕ นอก ขันธ์ ๕ ในไง ขันธ์ ๕ ตัวสัญญา ตัวจำภพ จำชาติ จำความเห็นของตัว ความเคยชิน ความพอใจ ความเห็น ความบิดเบี้ยว อยู่ที่ตรงนี้หมดเลย เพราะมันเป็นสัญญา

พอจับตรงนี้ได้มันจะฟูมาก การฟูอันนี้มันจะตื่นเต้นมาก เพราะว่าใจกับใจมันจับกัน แม่น้ำ ๒ ฝั่งกระโดดข้ามไปฝั่งโน้นมันจะไม่มีที่หลบไปอีกแล้ว จากที่กิเลสนี้พยายามจะหลบเรา หลบธรรมจักรนะ ไม่เคยหลบเราหรอก มันหลอกเราต่างหาก มันจะย่ำหัวเรา มันแยกออกไปแล้ว แล้วเราโดดข้ามธรรมจักรนี้ หมุนจนข้ามฝั่งไป เพราะจักรนี้ การขุดคุ้ย การหาตัวกิเลสมันข้ามมา นี่หมุนออกไป พอเห็นปั๊บจับเข้าไป เพราะร่นจากไปแล้วเขาจะไปไหนล่ะ มันติด กิเลสมันจนมุม มันแสดงตัวออกเต็มที่เลย การแสดงออกตัวเต็มที่ อสุภะ-อสุภัง

ถ้าพิจารณากายตรงนี้เป็นอสุภะ อสุภะเลย เพราะสุภะมันสวยมันงาม ความชอบ เป็นอสุภะ พิจารณาจิตนี้ก็คือกามราคะ จิตนี้เป็นกามทั้งหมด ถ้าพิจารณาตรงนี้เข้าไปตรงนี้ การต่อสู้กับกามนะ กามคือโอฆะ กามคือเป็นบ่อเกิดแห่งการสืบภพ สืบชาติ การสืบภพ สืบชาติเกิดมาจากกาม การจะชำระกาม เราต้องชำระเข้ามาเป็นขั้นๆ เข้ามา ชำระกามสิ่งที่ว่ากามภพนี้มันกว้างมาก กามภพนี้เป็นที่ดูดดื่มมาก ตั้งแต่เทวดาลงมาถึงอบายภูมินี้เป็นกามภพทั้งหมดเลย การสืบต่อของกามภพ มันจะทำให้เกิดให้เป็นที่ติดที่ข้อง

มันเป็นสิ่งที่สกปรก สิ่งที่สกปรกแต่ชาวโลกเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่พอใจ สิ่งที่การสืบภพ สืบชาติ นักวิทยาศาสตร์ถึงบอก เขาถึงว่าในสมัยพุทธกาลพุทธเจ้าปฏิบัติจนพ้นไป เขาต่อว่าพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ที่ทำลายภพทำลายชาติ ทำให้มนุษย์หมดไปจากโลก

แล้วมันหมดไปจริงไหมล่ะ มองดูเดี๋ยวนี้จาก ๑๖ ล้านคนในประเทศไทย เดี๋ยวนี้ ๖๐ ล้านคนนี้มันมาจากไหนล่ะ แล้วมันทำลายที่ไหน มันมีแต่เพิ่ม เราต่างหากจะทำลายไอ้อวิชชา ไอ้ความเห็นในหัวใจต่างหาก เราไม่ได้ทำลายภพชาติข้างนอกนั้นหรอก ภพชาติข้างนอกที่เกิดตาย เกิดตาย มันยังมีเกิดตายกันอีกมหาศาล แต่ของเราต่างหาก ของเราต่างหาก ตนที่เป็นที่พึ่งแห่งตนนี้ต่างหาก นี่วนกลับเข้ามา

มันรุนแรงเพราะว่ามันต่อต้านแรง มันเป็นสิ่งที่ต้องการต่อสู้กันแบบรุนแรงมาก แต่ถ้าเราจับไม่ได้...ว่าง ฟังสิ เราค้นตรงนี้ไม่เจอ ว่าง แม่น้ำแยกออก ว่าง ว่าง แต่ถ้าค้นเจอ ถ้าจับตรงนี้เจอ การปฏิบัติธรรม ธรรมจักรหมุนไป หมุนไปหาจำเลยอย่างหนึ่ง หมุนไปหาจำเลย จับจำเลยได้แล้ววิปัสสนาการชำระการไต่สวนกันว่าสิ่งใดเป็นสิ่งตามความเป็นจริง สิ่งใดเป็นสิ่งเกิดดับ สิ่งใดเป็นวนเป็นวัฏฏะ นี่มันต่างกันตรงนั้น ต่างกันที่ว่าวิปัสสนา กับสมถะวิปัสสนาเป็นของคู่กัน การขุดคุ้ย การหาเป้าหมายกับการวิปัสสนาก็คู่กัน

ทีนี้พอเจอตรงนั้น เจอตรงนั้นนะ เพราะว่ามันอยู่ที่ว่าวาสนาของแต่ละบุคคลจะเจอในลักษณะไหน ลักษณะหมายถึงว่าการสะสมมา เชื้อของใจที่สะสมมาแต่ละใจ แต่ละดวง แต่ละดวง ต้องเป็นปัจจัตตังแต่ละดวงใจนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนธรรมะนี้ แล้วธรรมะนี้ ไม่เป็นว่าต้องตายตัวของใคร ปัญญาต้องมีระดับไหน ปัญญาจะเกิดขึ้นจะหมุนไปเพราะว่าสิ่งที่ว่าเกิดดับ เกิด ดับ ในหัวใจที่สะสมมา การสะสมมา การชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ อันนี้สะสมธรรม สะสมการเกิดการตาย สะสมความหนาแน่นของกิเลสมามันถึงเป็นเจ้าวัฎจักร

แต่ธรรมจักรเข้าไปชำระๆๆ ชำระเข้าไป เกิดจากธรรม กิเลสกลัวธรรม กิเลสไม่เคยกลัวอะไรเลย กลัวธรรม ธรรมอยู่ที่ไหน? ธรรมอยู่ที่ว่าเราสร้างขึ้นมา เพราะธรรมเป็นนามธรรม แต่ถ้าไปถึงที่สุดแล้วไม่ใช่นามธรรม มันเป็นสิ่งจริงๆ เลย แต่ที่เป็นนามธรรมอยู่เพราะว่าใจมันเกิดดับอยู่แล้ว พอมันสร้างธรรมขึ้นมา ธรรมก็เกิดดับพร้อมกับไอ้กิเลสที่มันเกิดดับอยู่นี่ มันถึงยังเป็นสิ่งที่หลอกอยู่ เกิดดับ เกิดดับ พอมันเกิดดับของเรา เราเห็นตามความเกิดดับนั้นเราก็เชื่อมัน เราไปหมุนเข้าไป ว่าสิ่งที่เกิดดับนี้เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เกิดดับทั้งหมด

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่เกิดไม่ตาย มันอยู่ตรงไหน ถ้าเราวนเข้ามาสิ เราวนเข้ามา ไม่ใช่วนออกไป เทียบเคียงออกไป เทียบเคียงออกไปต้องเป็นอย่างนั้นเด็ดขาดเลย แต่ถ้าเทียบเคียงเข้ามามันกระทบเข้าจนได้แหละ พอกระทบเข้าไปแล้วมันแสดงตัวพอแสดงตัวออกมา ทำไมมันรุนแรงขนาดนั้นล่ะ เวลาไม่เห็นทำไมมันหลบอยู่ได้เงียบไม่มีเลย แต่พอเจอขึ้นมา มันแสดงตัวออกมาแล้วมันต่อต้านออกมาเป็นโอฆะนี่มันรุนแรงขนาดนั้น ให้เทียบให้เห็นว่าเจอกับไม่เจอต่างกันตรงนี้

งานขุดคุ้ยมันถึงเป็นงานที่สำคัญมาก ขุดคุ้ยเจอแล้ววิปัสสนาก็หลอกไปตลอดเลย เพราะวิปัสสนานี้เป็นการวิ่งแข่งกันแล้วระหว่างกิเลสกับธรรม ขณะนี้กิเลสกับธรรม ถ้าธรรมแซงหน้าไป กิเลสมันก็ยุบยอบตัวลง ถ้ากิเลสแซงหน้ามา ธรรมสู้ไม่ไหวนะ วิปัสสนานั้นไปไม่ได้ ไปไม่ได้หมายถึงว่าวิปัสสนาไปแล้วกายจะไปเห็นว่ามันขาดกลับไม่ใช่อย่างนั้น กับวิปัสสนาไปอารมณ์ก็รุนแรงไปพร้อม พร้อมๆ ต้องวกกลับ พักกลับมากำหนดพุทโธให้ได้ กลับมาพักสมาธิให้ได้ ถ้ามาพักสมาธิมาเพิ่มให้กายนี้ เป็นสมาธิคือจิตนี้เป็นเอกภาพเพิ่มพลังงานมันขึ้นมา ถ้ามันรวมตัวทั้งหมด มันก็สู้กับกิเลสได้ แต่ถ้ามันรวมตัวขึ้นมาทั้งหมดแล้ว ใช้ไปมากๆ พลังงานนี้ใช้ไปมากๆ มันอ่อนแรงลง อ่อนแรงลง กิเลสมีช่องทางเข้ามาได้ เพราะอะไร

เพราะธรรมอ่อนตัวลง เพราะความเป็นธรรมาวุธ อาวุธเรา อาวุธที่เป็นธรรมมันอ่อนตัวลง กิเลสมันต้องการรักษาชีวิตของมันอยู่แล้ว ต้องการรักษาสิ่งที่มันอาศัยอยู่แล้ว มันก็มีโอกาสแซงเข้ามา วิปัสสนานี้มันถึงไปไม่ได้ คำว่า “ไปไม่ได้” หมายถึงว่าวิปัสสนาไปแล้วมันหลอก หลอกว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ความว่างอย่างนี้ อย่างนี้ มันทำเป็นพรหมให้นอนเลย นี่หลอก ๒ อย่าง หลอกที่ว่าอันนี้ถึงที่แล้ว แล้วยังหลอกผลมาให้ดูอีกต่างหาก

ถ้าเราพิจารณาไปมันเป็นสัจจะความจริงแน่นอนว่าสิ่งที่เราไม่เคยทำต้องมีความผิดและความถูก ไอ้การหลงการหลอกในวิปัสสนานี้มีโดยธรรมชาติ มีโดยธรรมชาติที่ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ต้องเป็นอย่างนั้นเลย

นี้เราสร้างของเราเอง เรามั่นใจ เราสร้างเอง เราเทียบ ถ้ามันปัจจัตตังมันขาดออกไปจากใจ มันจะรู้ตามความเป็นจริงใช่ไหม แต่ถ้าไม่ตามความเป็นจริง เป็นความที่ว่าเราคาดหมายมันจะมีความลังเลสงสัยจริงๆ “หรือว่าจะเป็นอย่างนั้น หรือว่าจะเป็นอย่างนี้” ถ้ามี “หรือว่า” นี่ใช้ไม่ได้ มี “หรือว่า” มีความระแวง มีความยิบๆ ในหัวใจที่ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ทั้งนั้นเลย

เพราะกิเลสมันจะหลบตัวอยู่แล้ว กิเลสมันจะหาที่ซ่อนอยู่แล้ว มันจะซ่อน แล้วสร้างภาพใหม่ออกมาอีกภาพหนึ่งว่าอันนี้เป็นภาพอย่างนั้น นี้นะตรงนี้เป็นผลของมัน แล้วก็สร้าง เพราะมันมีพื้นฐานของความว่าง เพราะเราก้าวเดินขึ้นมาจากสัจจะธรรมดา จนเป็นอริยสัจจะมาเป็นขั้น เป็นขั้นตอนในอริยสัจที่เราหมุนออกมา เห็นอริยสัจขึ้นมาพร้อมกันแล้วดับไปพร้อมกัน พ้นออกมากลั่นมันออกมา จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ๒ รอบแล้ว ทำไมมันไม่มีความว่างโดยพื้นฐาน ความว่างโดยพื้นฐานอันนี้ ถึงว่าอันนี้เป็นผล

แล้วมันถ้าเราอยู่กันตรงนั้นแล้ว มันก็จะมีสิ่งนี้สิ่งที่ว่านี้ยุบยิบ ยุบยอบอยู่ในใจตลอด ถ้าเราค้นกลับเข้ามาอีก เปรียบเทียบใหม่ คือภาวนาไปเรื่อยๆ ซ้ำ คราด ไถ อยู่ตรงนั้นไม่ยอมก้าวผ่านไป ถ้าก้าวผ่านไป เห็นว่าตรงนี้ผ่านแล้ว ผ่านออกไป มันผ่านไปเพราะเราว่า แล้ววิปัสสนาอยู่ข้างบนนั้น บนนั้นที่ไหน

บนนั้นก็เป็นการเราคาดหมายแล้ว เพราะว่าเป็นบน ในเมื่อโอฆะอันนี้ยังไม่ทำลายอยู่มันจะไปบนได้อย่างไร แต่มันรับว่าไปบน พอไปบนมันก็เทียบธรรมะว่าบนอีกแล้ว ทั้งๆ ที่ว่ามันก็...ถ้าธรรมจักรหมุนไป มันก็ต้องมาชำระตรงนี้ ตรงที่โอฆะนี้ นี่คือกิเลสหลอกในวิปัสสนา

กิเลสนี้มันหลอกเราทั้งๆ ที่เราหมุนจะฆ่ามัน ทำไมมันจะไม่หลอกล่ะ มันเป็นเจ้าวัฎจักร มันพาเราเกิดมา มันเป็นเจ้าของเรา มันเป็นเจ้าของชีวิตเรา มันอยู่ก้นบึ้ง อยู่บึ้ง อยู่เรือนยอด อยู่ในใจเรา นั่นน่ะ มันเป็นเจ้าของเราอยู่แล้วมันถึงหลอกเราได้

แต่เพราะคำว่า “เรา” คำว่า “เป็นความประมาท” เพราะเราไม่ละเอียดพอ

ย้อนกลับ ต้องย้อนกลับ สิ่งที่หลงนี้มันเป็นเรื่องปกติ ทำไมถึงว่าปกติ? เพราะว่าการวิปัสสนาไปมันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ที่ว่าลึกๆ มาก กว้างแสนกว้าง ลึกแสนลึกอยู่ที่กลางหัวใจนี้ไง หัวใจ นักวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เวลาค้นคว้าต่างๆ ในอวกาศ ในจักรวาลนี้ขนาดว่าคำนวณได้หมดเลย แล้วเราย้อนกลับมาในอวกาศของจิต ในอวกาศของจิตที่มันเวิ้งว้าง มันถึงละเอียดอ่อนตรงนี้ มันเห็นตรงนี้ เห็นความมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์ของธรรมจักร ความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าทำไมรู้อย่างนี้ได้ ทั้งๆ ที่เป็นโอฆะนะ นั่นน่ะ ย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนาตรงนี้

“วิปัสสนา” วิปัสสนาหมายถึงว่าอสุภะกับกามราคะระหว่างจิต ถ้าพิจารณาจิตนี้เป็นกามราคะ ตามออกมาเพราะอะไร เพราะสัญญา เพราะสัญญาความพอใจของมัน เพราะสังขารมันปรุงทันทีเลย ถ้าเป็นอสุภะ อสุภะมันเห็นว่า อ้อ! ร่างกายนี้มันเป็น มันตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นของที่ว่าเน่าแน่ๆ ถ้าที่ไหนสร้างเนื้อขึ้นมาที่นั่นต้องเน่าแน่นอน ที่ไหนที่เป็นวัตถุมันต้องแปรสภาพทั้งหมด มันเป็นอสุภะโดยตามความเป็นจริง แต่กิเลสมันจับไว้ไง อสุภะถ้ามันเห็น

แต่นี้มันดึงไว้มันถึงไม่เห็นว่าเป็นอสุภะ แล้วมันเห็นข้ามด้วย วิปัสสนาคืออย่างนี้ไง วนกลับมา วนกลับมา จนธรรมจักรนี้เคลื่อนนะ เคลื่อนออกไป หมุนเข้ามาทำลายโอฆะนี้ระเบิดออก กามราคะนี้ระเบิดออก ระเบิดออกไป กามภพ รูปภพ อรูปภพ กามภพ หลุดออกมีไหม ภพ ๓ หลุดออกไปจากใจ อันนี้จะเวิ้งว้างมาก อันนี้จะลึกซึ้งมาก

ความสุขเกิดขึ้นมาว่า ต่อไปถ้าปฏิบัติไม่ถึง ไม่ต่อไปปฏิบัติไปไม่ถึง อันนี้ก็ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ไม่เกิดในกามภพ ไม่เกิด ขาดออกจากออกไปเลยกามภพโอฆะ การเกิด การดับ การตาย การสร้างเรือนอยู่ในกายนี้ไม่มี กายนี้ว่างหมด หัวใจว่างหมด ไม่มี บ้านเรือนทำลายหมดแล้ว เหลือขันธ์เดียว ทำลายขันธ์ ๕ ออกจากใจ ขันธ์ ๕ ภายใน ขันธ์ ๕ ที่ว่าเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ขาดหมด

พอขาดหมด มันถึงเห็นว่า อ๋อ! นรกสวรรค์มีจริง ความเป็นไปมีจริง มันเชื่อมั่นมาตั้งแต่กายหลุดออกไปแล้ว ตั้งแต่สักกายทิฏฐิแล้ว แต่จุดที่ว่ามันเป็นไปนี้ คิดดูสิว่ามันทำลายภพไปทั้งภพ บัญชีที่ว่าเราจะต้องไปใช้จ่ายบัญชีล่างนี้เราลบหมดแล้ว ลบหมดเลย ลบบัญชีออกจากที่ว่า เราต้องเข้าไปเวียนว่ายตายเกิดตามบัญชีนั้น ลบออกไป พ้นออกไปเลย ว่างหมด ว่างไปหมดเลย

ความว่างอันนี้ จิตนี้ว่างหมด มันว่างโดยธรรมชาติเลยนะ อันนี้ธรรมชาติมันเป็นว่าง ความว่างแล้ว เพราะมันเป็นความคิดไม่ได้ ว่างหมด ว่างหมด เราอาศัยความว่างนั้นไว้ พอเราเห็นความว่างก็รักษาความว่างไว้ว่าอันนี้เป็นผล ตัวนี้เป็นผล ตัวนี้เป็นที่สุดท้าย ตัวนี้เป็นที่ถึงธรรม รักษาไว้ รักษาไว้ รักษาไว้ รักษาไว้เดี๋ยวมันก็จะเห็นเองหรอก พอรักษาไว้นึกว่าตัวนี้เป็นความจริง เป็นความจริงตรงไหน

รูปราคะ-อรูปราคะ รูปฌาน-อรูปฌาน นี่ความว่างอันเดียวกัน ความว่างอันนี้รูปฌาน-อรูปฌานมันก็เป็นความว่าง รูปฌาน ฟังสิ มันเป็นฌาน มันเป็นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อันนี้เป็นสังโยชน์ที่ว่าละเอียดมาก ละเอียดที่ว่ามันเป็นเนื้อเดียวกันกับจิตเลย มันฝังอยู่ที่จิตนั้นเลย ฝังอยู่กับความว่างนั้นน่ะ แล้วมันจะเป็นความว่างได้อย่างไรล่ะ

ราคะ กามฉันทะ ความพอใจ ที่ว่ากามราคะเป็นโอฆะทำลายไปแล้ว แต่ความพอใจ ความพอใจเป็นฉันทะ ความพอใจ ความอ้อยอิ่ง ความนอนตายอยู่นั่น ตอนนี้ว่างขนาดไหนมันก็นอนตาย คนที่ว่างๆ นั่นน่ะ จิตอยู่บนความว่างนั้นไง ความว่างอันนี้มันเป็นที่อยู่ ความว่างนี้มันเข้ากับกามราคะ ความเป็นราคะ มันถึงว่ามันไม่ใช่ของจริง ถ้าเป็นราคะอยู่นี้มันต้องทำลาย ถึงว่าพอว่างอันนี้ถึงว่าคิดว่ามันเป็นผล แต่อยู่ไปว่างคู่กับไม่ว่างมันเฉานะ

มันเป็นความว่างโดยธรรมชาติของมัน ฟังสิ ความว่างอันนั้นมันพ้นออกไปจากขันธ์แล้ว แต่มันเป็นอวิชชา นี้ตัวอวิชชาเองที่ว่ามันเป็นเรือนยอด เวลาเราคิดอะไรมันจะปกป้องมา มันรักษามา นี่เสือ หรือตัวกิเลส ตัวอวิชชา ตัวเจ้าวัฎจักร อาศัยขันธ์ อาศัยความคิดมนุษย์ใช้ออกมา แล้วเราทำลายขันธ์ทั้งหมด ทำลายทางเดินทั้งหมด เสือตัวนี้มันหลบเข้าถ้ำ มันไปไม่ได้ ขวากหนามเต็มไปหมด ตามสิ่งที่มันจะออกไปหากิน รู้ว่าเป็นภัยมาก มันก็ฉลาด มันก็ย้อนกลับมาอยู่ในถ้ำนั้น อยู่ในถ้ำนั้นมันจำศีลอยู่ที่นั้น มันไม่ออกมาหากินอีกเลย แล้วเราก็ไม่เห็นตัวมันอีกเลย แล้วเราก็ไปถึงปากถ้ำนั้น เราก็ไปพักอยู่ที่นั่น โดนอวิชชากล่อมให้นอนอยู่นั่น

นี่ว่าเป็นความว่างในตัวมันจริง เพราะมันเป็นความพอใจ ดูสิ ขนาดใจคิดออกมามันยังควบคุมไม่ได้ แล้วใจอันนั้นมันเป็นหนึ่งเดียว มันไม่ได้คิดอะไรเลย มันเป็นความว่างโดยธรรมชาติของมัน ถึงถ้าตายไป พรหมมันหนึ่งเดียวอยู่แล้ว สุทธาวาส สุทธาวาสอีก ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วก็สุกไปข้างหน้าไง

แต่ถ้าวิปัสสนา วิปัสสนาเชื่อธรรม มีวาสนา มีวาสนาหันกลับเข้ามา หันกลับลงมา การหันกลับลงมา สิ่งที่เป็นตัวมันเอง รัดร้อยตัวมันเองขึ้นไป เหมือนกับเหล็ก สนิมในเหล็กกัดเหล็กเอง สนิมในเหล็กนะ สนิมเกิดจากเหล็ก แต่มันก็กัดแล้วทำลายเหล็กนั้นให้ผุกร่อนไป อวิชชามันก็เป็นสิ่งที่ว่า เหมือนกับเหล็กนั่นล่ะ เหล็ก เพราะมันมีตัวตนอยู่ กว้างขนาดไหน มันก็มีสิ่งที่สะท้อนออกมาได้ ธรรมจักรอันนี้จะเกิด มันจะเกิดแบบสนิมในเหล็กนั้น เพราะว่ามันไม่มีสิ่งสืบต่อแล้ว เพราะมันเป็นความว่าง มันเป็นสิ่งที่อยู่ข้างบน อยู่ที่เราคิดว่าอันนี้เป็นผลเลยทีเดียว

แต่ถ้าอันนี้มันเป็นญาณ ญาณที่ว่า มหาสติ-มหาปัญญา อันนี้เป็นปัญญาญาณ ปัญญาญาณที่เกิดสนิมในเหล็กนั้น สนิมในเหล็กนั้นกว่าจะเกิดได้มันต้องเหล็กมันจะอยู่กระทบกับสิ่งใดบ้างมันถึงจะเกิดความชื้น มันถึงเกิดสนิมขึ้นมา นี่เป็นเหล็กนะ แล้วกว่าสนิมจะกัดให้เหล็กนั้นผุกร่อนไป นี่เหมือนกัน อวิชชา อวิชชาอยู่ที่ความว่างนั้น แล้วธรรมจักรจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ธรรมจักรจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะหมุนกลับมาได้อย่างไร

การหมุนกลับมา ถ้าเราไม่มีการริเริ่ม การพลิกแพลงในหัวใจ มันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถึงอรหัตตมรรคนี่ละเอียดอ่อนมาก อรหัตตมรรค อรหัตตมรรคเคลื่อน ถ้าอรหัตตมรรคเคลื่อน เคลื่อนออกมานะ เคลื่อนออกมา เคลื่อนออกมา จากสนิมในเหล็ก จากสิ่งที่ว่าเป็นไปไม่ได้ มันจะเคลื่อนออกมาเพราะเกิดความลังเล เกิดความสงสัยว่าทำไมความว่าง ความว่างนี้ ทำไมมันต้องรักษาไว้ ทำไมความว่าง คำว่า “รักษา” เพราะมันจะพลิกแพลงได้ ในเมื่อมีอวิชชาอยู่ มันจะทำตามความพอใจของมัน มันจะรักษาชีวิตมัน

การที่มันเคลื่อนรักษาชีวิตมันอันนี้ อันนี้มันทำให้ชีวิตเราได้เห็นความพลิกเปลี่ยนแปลงของมัน อ้อ! อันนี้มันไม่ใช่ของจริง มันไม่ใช่เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลง มีการพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา นี่มันจะหมุนกลับ คือการขุดคุ้ย คือการจับตัวอวิชชาได้ ใครเห็นอวิชชาตามความเป็นจริงนี่ไง ใครเห็นอวิชชาตามความเป็นจริง จะไม่กล้าบอกว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

อวิชชามันเป็นอวิชชา อวิชชามันเป็นอวิชชา มันเกิดดับพร้อมกับปฏิจจสมุปบาท พร้อมกันทั้งหมด ไม่เกิดเป็นสายใย ไม่เกิดเป็นการต่อเนื่อง ไม่เกิด มันอยู่ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วมันก็เกิดดับ เกิดดับ อยู่ในอวิชชานั้น มันละเอียดอ่อน จนไม่มีสายใยจะผ่านออกมาได้เลย นั่นน่ะ อยู่ที่ตรงนั้น ถ้าเห็นตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนั้น นี่คือการขุดคุ้ยหาอวิชชานะ

กว่าจะเข้าไปทำลายถึงตรงนี้ได้นะ มันกระเสือกกระสนเข้าไปถึงตรงนั้นนะ ถึงตรงที่ว่าสนิมในเหล็กเกิดตรงนั้นเลย พอจับต้องอันนี้ได้วิปัสสนา วิปัสสนาคือเคลื่อน เคลื่อนออกไปนะ คอยดูว่าการเกิดดับ อันนี้คือการเกิดดับจริงๆ เกิดดับที่ในอวิชชานั้นเลย เกิดดับ เกิดดับอยู่อย่างนั้น เพราะมันไม่สืบต่อมาแล้ว มันอยู่ในถ้ำ มันอยู่ในสิ่งที่เราต้อนเข้าไปจนมุมแล้ว นั่นน่ะ วิปัสสนา

ถ้าเห็นจับตรงนี้ได้ จับตัวอวิชชาได้ การวิปัสสนามันละเอียดอ่อนจนคิดไม่ได้ อะไรไม่ได้ เฝ้ามองอยู่นั่น เฝ้ามองอยู่จนมันพลิกตัว ดับ อวิชชาดับคราวนี้นะ ดับหมด ไม่ใช่ว่าง ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นเอก เป็น เอโก ธัมโม อยู่นั่น ไม่มีของคู่ ไม่มีของเทียบเคียง พูดออกมาเป็นภาษาไม่ได้ มันถึงว่าธรรมะอันประเสริฐนั้น นี้คือธรรมที่ไม่เสื่อม ธรรมอันนี้ไม่เคยเสื่อม ธรรมอันนี้อยู่ในจิตนั้นตลอดไป ตลอดไปเลย ถึงมันเป็นที่ว่าให้ความสุขเป็นวิมุตติสุข

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปถึงตรงนี้ก่อนแล้วก็เสวยวิมุตติสุข คิดว่าจะไปสอนใครได้ จะไปสอนใครได้ เสวยอยู่อย่างนี้ตลอดมาเลย ถ้าไม่ออกมาสอนมันก็มีแต่ความสุขอันนั้น ความสุขอันนั้นเป็นพื้นฐาน สุขใดๆ จะเทียบกับสุขนี้ไม่มี ไม่มีเลย สุขที่ไม่เจือด้วยอามิส สุขที่ไม่ได้เจือด้วยอะไรเลย มันอิ่มตัวอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่สุขด้วยขันธ์ มันไม่ใช่สุขด้วยเวทนา มันไม่ใช่ ไม่ใช่เสียทุกอย่างเลย มันสื่อออกมาเป็นภาษาพูดไม่ได้เลย นี่ประเสริฐขนาดนั้น

ถึงว่าเข้าไปถึงจุดนั้น จุดนี้ต่างหาก ถึงว่าเป็นตามความเป็นจริง นี่คือธรรม ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ มันลึก ลึกจนเข้าไม่ได้เลย แต่ก็เป็นไปได้เพราะว่ามันเป็นพุทธศาสนา พุทธศาสนามีมรรคอริยสัจจัง พุทธศาสนานี้ถึงเป็นศาสนาที่ประเสริฐ ทำให้ดวงใจทุกๆ ดวงที่มีกิเลสเข้าไปจนชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น

ตามความเป็นจริง เพราะว่าเราได้เกิดเป็นพุทธ อยู่ในพุทธ เป็นชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นศากยบุตร เป็นพุทธชิโนรส แล้วทำไมไม่ก้าวเดินตามบิดาล่ะ ทำไมไม่ก้าวเดินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ก้าวล่วงเป็นองค์แรกไปล่ะ เราจะมาเดินเลียบๆ เคียงๆ ไปไหนกันล่ะ

นี่ไง ถึงว่าย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาที่ใจเรา ใจคนที่ปฏิบัตินั้น ใจผู้ที่ปฏิบัติ ย้อนกลับมาที่ใจเรา เราก็มีหัวใจ ทำไมครูบาอาจารย์ก็ก้าวเดินมาจากสิ่งนี้ล่ะ สิ่งที่ว่าไม่มีทางที่จะก้าวเดิน สิ่งที่ว่าตัวเองจะไม่มีวาสนา ตัวเองจะเข้าไม่ถึง แต่ก็ก้าวถึงนำชัยไปก่อน เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต พระพุทธเจ้าวางทางไว้ให้เดิน เดินขึ้นไปแบบเหมือนพรมปูไว้เลย เราจะเดินเข้าไปถึงหรือไม่ถึง ย้อนกลับมาถามเรา ถ้าถามเราแล้วถึงจะว่า เออ! มีเหตุที่จะให้ถามเรา พอถามเรา เราก็ตอบของเราเองสิ เราจะทำได้หรือไม่ได้ นี่คือกำลังใจ กำลังใจเกิดขึ้นจากตรงนี้

กำลังใจเกิดขึ้นจากคนเห็นสาระคุณในตัวของเรา ในตัวของเรา ในเกิดเป็นมนุษย์นี้ ในเกิดเป็นคนนี้ แล้วปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เรายิ่งเป็นคนเหนือคน คนเหนือคนคือคนที่ตายไปแล้วไม่กลับมาเกิดอีก มันไม่เกิดตั้งแต่วันที่ถึงธรรมนั้นแล้ว มันเห็นว่ากิเลสหลุดหมด การตาย การเกิด หลอกทั้งหมดเลย หลอกทั้งหมดเลย

จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้เข้าถึงธรรมแล้วมันไม่เคยตายแล้ว มันก็ไม่ต้องแปรสภาพอีกต่างหาก จิตนี้ไม่เคยตาย แต่มีกิเลสอยู่ มันไม่เคยตาย แต่มันไม่เคยตายจากชีวิตของมัน แต่มันเสวยภพต่างหากล่ะ มันเกิดสูงๆ ต่ำๆ ภพมนุษย์ ภพเทวดา ภพเปรต ภพผี มันเสวยได้หมด มันไม่เคยตาย มันเสวย แต่ขณะที่มันเสวยนี้มันก็เอาทุกข์มาให้เราตลอดไป แล้วพอมันสิ้นจากกิเลส ไม่สิ้นจากเชื้อที่จะไปเกิดไปดับอีก มันก็เป็นของที่ไม่เคยตายเหมือนกัน แล้วไม่เคยตายแบบธรรมด้วย แบบ เอโก ธัมโม ด้วย แบบขึ้นฝั่งด้วย แบบวิมุตติสุขด้วย

ถึงว่ามันเป็นสมบัติของชาวพุทธที่จะไขว่คว้า มันเป็นสมบัติของชาวพุทธที่ว่าจะก้าวเดินตามไป อันนี้ถึงว่าเป็นสมบัติจริงที่เราเวลาทำบุญกุศลกันอธิษฐานให้ถึงซึ่งนิพพานทุกคน ให้ถึงซึ่งนิพพานเพราะว่านิพพานนี้เชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกว่า นี้คือสุข นี้คือสิ่งที่ไม่แปรสภาพอีก นี้คือสิ่งที่ตามเป็นจริง นี้คือสาระจริง (เทปสื้นสุดเพียงเท่านี้)