เทศน์บนศาลา

การบวชพระ

๑๖ ส.ค. ๒๕๔๒

 

การบวชพระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๒
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากว่าจะพบธรรม พระพุทธเจ้าเกิดมานะ พระพุทธเจ้าเกิดมาก็เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดมาแล้วขนาดปรนเปรอขนาดที่ว่า มีวาสนาบารมีขนาดนั้นนะ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่กับความสุขในกามคุณ ๕ ทั้งหมด เต็มไปหมดเลย พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะดึงไว้ให้เป็นจักรพรรดิ มีความสุขขนาดนั้น คนเรามันต้องมีความสุข ขนาดสร้างบารมีเป็นพุทธภูมิมาตลอด แต่ขนาดนั้นก็ยังมีความทุกข์ในหัวใจอยู่ ยังมีขวากหนามในหัวใจอยู่ มันถึงไม่ใช่ธรรม

มันจะเป็นธรรมก็ต่อเมื่อเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม ๖ ปีก็ยังทุกข์ยากแสนยาก ทุกข์มาก พระพุทธเจ้าทุกข์มาก นั่งสลบถึง ๓ หน นั่งสลบ ฟื้นแล้วนั่งสลบ ทรมานร่างกายทุกข์อย่างที่ในลัทธิต่างๆ เขาสอนกันอยู่ ทำมาทั้งหมด พระพุทธเจ้าทำมาทั้งหมดเลย ทำมาเพื่ออยากจะรู้ อยากจะให้พ้นทุกข์ อยากจะให้พ้นจากทุกข์ อยากจะให้พ้นจากการเกิด เพราะเกิดมาเท่าไรมันก็ทุกข์เท่านั้น การเกิดมามันเอาความทุกข์มาด้วย แต่มันก็ยังมีการเกิด เกิดก็เพราะมันมีกิเลสพาเกิด กิเลสต้องพาหัวใจทุกดวงใจเกิดทั้งหมด

ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สะสมบารมีมาขนาดนั้น แต่ก็ต้องมาเกิด เกิดเป็นชาติสุดท้าย ไว้ลายของพระพุทธเจ้า เกิดแล้วเกิดมาขนาดนั้น ที่ว่าบุญกุศลขนาดนั้นกับบุญกุศลของพวกสาวกทั้งหลายสู้กันไม่ได้หรอก ก็ยังมีความทุกข์ ปฏิบัติมาก็อีกตั้ง ๖ ปี จนถึงวันสุดท้ายวันวิสาขบูชา ถ้าวันนี้นั่งแล้วไม่ได้ตรัสรู้นะ ไม่ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง ร่างกายจะมอดไหม้ไป โครงกระดูกจะสลายไปก็ไม่ยอมลุก มันมีความเด็ดขาดอย่างนั้น เด็ดขาดของอาชาไนย เป็นผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ให้ได้ก่อน เด็ดขาดที่ความเป็นจริง ไม่ให้กิเลสมาหลอก เสนอหน้ามาหลอกได้เลย ไม่ให้กิเลสมาแย่งความเพียรของเรา ไม่ให้กิเลสมาหลอกล่อให้เราออกไปทางอื่นได้อีก

จนตรัสรู้นะเป็นปฐมยาม ปฐมยามขึ้นมา ได้บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันกำหนดได้ตามความเป็นจริงว่าจิตนี้มันเกิดตายมาขนาดไหน จุตูปปาตญาณ รู้ว่าตายแล้วก็เกิดอีก ขนาด ๒ ยามนี้ยังเห็นว่าการมามาอย่างไร แล้วสัตว์ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน มันยืนยันถึงวัฏฏะ นั่นน่ะ มันมาหลอกข้างหน้าว่าให้เคลิบเคลิ้มกับในสิ่งที่ความเป็นจริงนี้ ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นผู้วิเศษ แต่ในเมื่อสร้างมา สร้างบุญกุศลมาขนาดนั้น ทุกข์ยากมาเต็มแรงแล้ว ถึงว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณก็ไม่ใช่ เพราะมันสาวได้ไม่มีที่สิ้นสุด จุตูปปาตญาณก็เกิดตายเกิดตายไม่มีที่สิ้นสุด

ย้อนกลับมาดูที่ฐานของจิต ที่ตัวของเรา ในที่ที่เกิดขึ้น ใครพามาเกิด อาสวักขยญาณมันอยู่ที่ตัวนั้นน่ะ อยู่ที่ตัวจิตปฏิสนธิพาเกิดนี้ต่างหากล่ะ มันไม่ใช่รูป รส กลิ่น เสียง พาเกิดไม่ใช่ภูเขาเลากา ไม่ใช่วัฏฏะพาเกิด ของสิ่งนั้นมีอยู่ดั้งเดิมตามความเป็นจริง ภูเขาเลากาในโลกมีอยู่แล้ว กามคุณ ๕ ก็มีอยู่แล้วในเรื่องของใจ แต่ไอ้กิเลสพาเกิดต่างหาก นั่นฐานตัวนั้น อาสวักขยญาณเข้าถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฐานของจิตนั้นระเบิดทำลายทั้งหมด โล่งไปหมด ว่างไปหมด นั่นคือนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหา มันพ้นจากทุกข์ไปจริงเพราะตรงนั้น

ตรงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินเป็นองค์แรก ผ่านออกไปก่อนแล้วถึงจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงประกาศธรรมมาถึงพวกเรา เสวยวิมุตติสุขอยู่ในป่านะ เสวยวิมุตติสุขอยู่ อยู่ที่แม่น้ำเนรัญชรา เสวยอยู่อย่างนั้น จนกำหนดดูจิต เสวยไปจนเข้าใจว่าใครจะรู้ถึงความเป็นจริงอันนั้น

ธรรมอันประเสริฐสุด ธรรมประเสริฐมาก ประเสริฐสูงสุด จนทำให้หัวใจของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้วเสวยวิมุตติสุขอยู่ตามหลักความเป็นจริง จนถึงว่าใครหนอมันจะรู้ธรรมได้ตามอย่างนั้น มันประเสริฐ มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์จนที่ใครจะเข้าถึงไม่ได้เลย จนไม่คิดว่าจะสอนใคร นั่นน่ะ ถึงออกมาว่าธรรมๆ อันประเสริฐ ธรรมอันนี้ได้เข้าไปชำระแทรกกิเลสออกจากดวงใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด จึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา แล้วธรรมอันนั้นที่ทำให้ทุกคนย่อมแสวงหา พระพุทธเจ้าถึงไม่รู้ว่าจะสอนใครได้ เพราะมันละเอียดอ่อนมาก

จนได้กำหนดใจดู อาฬารดาบส อุทกดาบส “โอ้! ดาบสทั้ง ๒ มีคุณแก่เรา แล้วเป็นผู้ที่จิตควรแก่การงาน จิตควรแก่การงาน ควรจะสอนควรจะได้ธรรม” พอจะไปสอนอาฬารดาบส อุทกดาบส ตายแล้วเมื่อวานนี้ ตายแล้วเมื่อ ๗ วันที่แล้ว ตายไปแล้ว ตายไปแล้ว พระพุทธเจ้าเสียดายโอกาสของคนที่ตายไปแล้ว

แต่เรายังไม่ตาย เรายังมีชีวิตอยู่ แล้วมาประสบธรรม ประเสริฐสุด แล้วทำไมตายไปแล้วไม่ไปสอน? มันสอนไม่ได้ ไม่สอนคนตาย เพราะคนที่ตายแล้ว ตายออกไปจากอาฬารดาบส แล้วเข้าสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ เกิดบนพรหม ไม่ใช่อาฬารดาบสแล้ว เป็นพรหมไปแล้ว ลืมพระพุทธเจ้าไปหมด เพราะเป็นภพอยู่ในพรหมนั้นจะตามไปสอนได้อย่างไร

เพราะว่าถ้าเป็นอาฬารดาบสอยู่ เจ้าชายสิทธัตถะมา เคยเป็นศิษย์ครูอาจารย์กันอยู่ จะย้อนถึงภายหลังจะมีคุณกันอยู่ แต่ในเมื่อเขาสร้างบุญกุศลของเขา ได้สมาบัติ เขาไปเกิดเป็นพรหม เป็นคนใหม่แต่จิตดวงเก่า นี่วัฏวนเป็นอย่างนั้น เป็นคน เป็นพรหม เป็นพรหมองค์ใหม่ แต่หัวใจจากอาฬารดาบสขึ้นไปแล้วจะไปสื่ออย่างไร จะไปสื่อให้เขาระลึกชาติอีกชาติหนึ่งได้อย่างไร มันเป็นคนละภพ ถึงว่าคนตายแล้วหมดโอกาสไม่ได้สอนคนตาย สอนคนเป็น

ย้อนกลับไปหาใคร เอ...แล้วใครจะรับธรรมอันนี้ได้เป็นคนแรก ถึงว่าเห็นปัญจวัคคีย์ เห็นปัญจวัคคีย์เป็นผู้มีคุณอยู่ ปัญจวัคคีย์นี้เป็นผู้ที่ว่าได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาตอนแสวงหาธรรมอยู่ เพราะอย่างนั้นโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน ไปหาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ทำสัญญากันว่าจะไม่รับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมา เพราะอะไร เพราะว่าได้อุปัฏฐากกันอยู่ เห็นว่าพระพุทธเจ้านี้ทำตบะธรรม ทำตามที่พราหมณ์ในสมัยโบราณเขาทำอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กระทำมาทุกอย่าง ต่อสู้ทุกอย่าง เป็นผู้ที่เราจะหวังพึ่งได้

แล้วหวนกลับมานะ หวนกลับมาจากอดอาหาร จากการทำสมาธิ ทรมานร่างกาย ทรมานทุกอย่าง นึกว่ากิเลสมันอยู่ที่ร่างกาย นึกว่าอยู่ที่การปฏิบัติ เพราะโลกนี้ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ โลกนี้ก็มองกันด้วยตาเนื้อ มองกันด้วยประเพณีวัฒนธรรมอย่างนั้น สิ่งที่เคยมีมาก็ทำกัน ปัญจวัคคีย์ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน คิดว่าความพ้นทุกข์นี้มันต้องอุกฤษฏ์จนเหนือทุกๆ สิ่ง

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ตามสายกลางที่โลกนี้ไม่เคยมี โลกนี้ไม่เคยมี โลกนี้ไม่เคยเป็น วัฒนธรรมประเพณีไหนก็ไม่เคยมี เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาฉันอาหาร ถึงบอกว่าเป็นผู้ย้อนกลับมามักมากในความสุข จะมาหาเรานี้ก็จะมาหาเราให้เราช่วยอุปัฏฐาก ทำสัญญากันว่าจะไม่รับแต่ด้วยบุญกุศล ด้วยความภูมิหลังที่เคยทำกันมา ก็ปูอาสนะไว้ มาแล้วก็รับด้วยความเก้อๆ เขินๆ ก็ยังรับไป เพราะว่าเป็นผู้มีบุญ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ให้น้อมใจลงฟัง” เพราะใจนั้นหยาบ มันไม่ควรแก่การงาน “เธอเคยได้ยินไหมว่าเราสิ้น เราเป็นพระอรหันต์”

“ไม่เคยได้ยิน”

เพราะว่าเป็นสุภาพบุรุษ คนที่ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น จะไม่เอ่ยสิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็นในใจของตัว “แต่บัดนี้ปัญจวัคคีย์ เธอเคยได้ยินไหมว่าเราสำเร็จแล้ว เราสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว”

“ไม่เคยได้ยิน”

“บัดนี้ได้ยินแล้วจงน้อมใจลงฟัง จงน้อมใจลงฟัง”

เทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ธรรมจักรให้มันเคลื่อนไป

จนพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ตามความเป็นจริงนะ แล้วก็เป็นเครื่องยืนยันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รู้ตาม

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา...” สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เมื่อก่อนเราก็เห็นอยู่ แต่มันไม่เข้าถึงใจ เห็นการแปรสภาพไป เราก็อยากให้เห็นมันเป็นไป เห็นเป็น เห็นก็เห็นเฉยๆ แต่นี้ใจพร้อมน้อมลงฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทาง ๒ ฝ่าย อัตตกิลมถานุโยค ทางที่มันไปลำบากทุกข์ไป กับทางที่ว่าชุ่มอยู่ในกามที่คนหลงระเริงว่ากามคุณ ๕ เป็นความสุข มันผิดทั้งนั้นเลย เพราะใจมันข้องเกี่ยวกับสิ่งนั้น

แต่มัชฌิมาปฏิปทาในการประพฤติปฏิบัติ ใจที่เป็นสมาธิธรรม ใจที่มีพื้นฐานที่ปัญจวัคคีย์ก็ปฏิบัติมาพร้อมกัน มันมีความหนักแน่น มีเอกัคคตารมณ์ คือใจที่จับต้องได้ สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินั่นน่ะ พอฟังธรรมตรงหลักความเป็นจริงว่ากิจควรอย่างใด กิจควรกำหนด “ทุกข์ควรกำหนด” พระพุทธเจ้ากำหนดแล้ว กิจควรกำหนด ทุกข์ควรทำเราทำแล้ว กิจควรพิจารณาเราทำแล้วนะ เดี๋ยวนี้มันปล่อยออกเป็นวงของวัฏฏะแล้ว เห็นไหม มันต้องรู้ต้องเห็นตามหลักความเป็นจริง

จนอัญญาโกณฑัญญะนี้เปล่งอุทาน อุทานเพราะเห็นตามความเป็นจริง อุทานนี้ออกมานี้อุทานพร้อมกับกิเลสหลุดออกไป สรรพสิ่งเกิดขึ้นต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา จิตที่เป็นอยู่ในหัวใจเรา เป็นสมาธิ เป็นอะไร มันก็แปรสภาพเป็นธรรมดา แต่มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนาดูตามความเป็นจริง พอเห็นตามความเป็นจริงจนหลุดออกไป หลุดออกไปคือว่าความเห็นเบลอ ความเห็นไม่เข้าใจ หลุดออกไปจากใจของอัญญาโกณฑัญญะ เปล่งอุทานออกมา

พระพุทธเจ้ารับเป็นหลักประกัน แล้วเทศน์อนัตตลักขณสูตรจนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัสสชิ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดจากอนัตตลักขณสูตร ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต ทุกอย่างปล่อยหมด ปล่อยจนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดนะ ถึงน้อมขอบวช ขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สงฆ์เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าบอกว่า “เอหิภิกขุ จนเป็นภิกษุมาเถิด พรหมจรรย์นี้เราตรัสไว้ดีแล้ว พรหมจรรย์นี้ตรัสไว้ดีแล้ว”

นี่พระอรหันต์บวช บวชเข้ามา บวชเข้ามาอยู่ในธรรมวินัยนี้ พระอรหันต์บวช แล้วเผยแผ่ศาสนามา ๔๕ ปี จนวันสุดท้าย วันสุดท้ายจะนิพพานที่กุสินารา สุภัททะยังเข้าไปถามธรรมอยู่ เข้าไปถามพระพุทธเจ้า ไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ศาสนาต่างๆ เขาว่าเขาก็มีแก่นมีสาร ดีไปทั้งนั้น...”

พระพุทธเจ้าบอก “อย่าถามให้ชักช้าไปเลย ในลัทธิศาสนาต่างๆ ไม่มีมรรค มันจะไม่มีผล มันไม่มีเหตุมันจะเอาผลมาจากไหน”

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็เหมือนกัน ตรัสรู้แล้วเปล่งออกไป ธรรมนั้นเคลื่อนออกไปแล้ว

วันที่พระพุทธเจ้าประกาศธรรมกับวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน สุภัททปริพาชกมาถามว่า ลัทธิต่างๆ ศาสนาต่างๆ สอนว่าถึงสิ้นสุดของทุกข์เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ตามหลักความเป็นจริงว่า ถ้าไม่มีมรรคอริยสัจจัง ในลัทธิศาสนาอื่นๆ มรรคคือเป็นเหตุ มรรคคือเครื่องดำเนินไม่มี เอาผลมาจากไหน ผลเอามาจากไหน มันจะมีผลได้อย่างในเมื่อไม่มีเหตุ เพราะฉะนั้นอย่าถามให้เนิ่นช้า ให้พระอานนท์บวชให้เป็นเอหิภิกขุเหมือนกัน บวชมาเลยเพราะว่ามันจะได้ผล มันจะได้ผลตามความเป็นจริง

คืนนั้นพระพุทธเจ้าต้องพยายามดำรงธาตุขันธ์ไว้ เพราะว่ามันกำลัง...เกวียนกำลังจะแตกทำลายไป หัวใจนี้กำลังจะทิ้งธาตุขันธ์ไป ให้พระอานนท์บวชสุภัททปริพาชก บวช อานนท์บวชให้แล้วก็ไปภาวนาอยู่นะ คืนนั้น สำเร็จสิ้นคืนนั้น การบวช บวชคืนนั้น แล้วสุภัททะปริพาชกนี้เป็นนักปราชญ์เป็นผู้ที่มีพื้นฐาน พอผู้ที่มีพื้นฐานแล้วพระพุทธเจ้าสอน ไม่มีเหตุคือมรรคในลัทธิศาสนาต่างๆ เหตุ มรรคคืออะไร? คือความดำริชอบ ความดำริชอบคือปัญญา ความเห็นชอบ เพราะชอบการงานชอบ ชอบที่เข้ามากำจัดกิเลสในหัวใจ

คืนนั้นสุภัททปริพาชกก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป นี่เอหิภิกขุ การบวชในสมัยพุทธกาล บวชเข้ามา บวชเข้ามา พระปัญจวัคคีย์สิ้นจากกิเลสแล้ว บวชเข้ามาในพรหมจรรย์เพื่ออยู่ในพรหมจรรย์นี้ให้เป็นสุขเถิด กับบวชเข้ามาเพื่อประพฤติปฏิบัติแบบสุภัททปริพาชกบวช บวชเข้ามาก่อน บวชเข้ามาพร้อมกับกิเลสแล้วเข้ามาทำลายกิเลสออกไปจากใจ สุภัททปริพาชกเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ เอหิภิกขุในคืนมาฆะ

เอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าบวชให้ บวชให้เป็นภิกษุออกมาจากที่พระพุทธเจ้าเปล่งวาจา “เป็นภิกษุมาเถิด” ๑,๒๕๐ องค์นี่มานั่งนะไม่ได้กำหนดนัดหมายมา มาเฝ้าพ่อ มาเคารพระลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเยี่ยม ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น ไม่เคยเป็นอย่างนั้น เพราะพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ๑,๒๕๐ องค์ มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในสโมสรสันนิบาตของผู้มีธรรม นั่งฟังทุกคนใจเป็นสุขอยู่แล้ว เพราะมันเป็นวิมุตติสุขในหัวใจของพระอรหันต์ทั้งหมด

มานั่งฟังพระพุทธเจ้านะ จะฟังโอวาทของพระพุทธเจ้านะ ในโอวาทปาติโมกข์ ละความชั่วทั้งหมด ทำแต่ความดี ทำใจให้ผ่องแผ้ว ทำใจแบบให้ผ่องแผ้ว ละความชั่วแล้วก็เป็นความชั่ว ความชั่วที่ละออกไป ทำแต่คุณงามความดี ดีและชั่วมันก็สะสมลงที่ใจ ต้องใช้ตบะธรรมเผาผลาญกิเลสออกไปให้ใจนั้นผ่องแผ้วพ้นออกไปจากใจ อันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ แม้แต่สมณโคดมที่เป็นพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเราก็สอนอย่างนั้น

แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เกิดเป็นมนุษย์ มันการเกิดนี้การว่าย การตาย การเกิดในวัฏสงสารนี้มันสำคัญมาก เราต้องเกิดต้องตายหมุนกันไป วัฏวน ดูสิ ดูอย่างอาฬารดาบส เขาสร้างคุณงามความดีมาขนาดนั้นเวลาเขาตายไป เขาก็ไปเกิดบนพรหม วัฏฏะพาให้เขาไปเกิด เขาสร้างคุณงามความดี เข้าสมาบัติได้ อะไรได้ทั้งหมด แต่ไม่ได้ชำระกิเลส ก็ไปเกิดบนพรหม เกิดบนพรหม พระพุทธเจ้าไม่ได้ตามไปสอน

แต่เรากลับมาเกิดกึ่งกลางพระพุทธศาสนา หัวใจดวงที่มาเกิด เกิดพบพระพุทธศาสนา ธรรมที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะ จนหัวใจอันนั้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ธรรมที่เข้าไปแทรกเข้าไปในหัวใจ เอโก ธัมโม ธรรมอันเอกในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันนั้นต่างหากที่เราแสวงหา เราเชื่อมั่นในธรรมอันนั้น เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราถึงไม่เหยียบแผ่นดินผิด เราเข้าเพราะเราเชื่อ

เราทุกข์ในหัวใจเรา เราอยากจะพ้นทุกข์เราถึงได้มาบวช บวชเป็นภิกษุสงฆ์ บวชมาเป็นลูกศิษย์ของตถาคต บวชมาเพื่อแสวงหาสัจธรรม เราเชื่อ เราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงต้องมาประพฤติปฏิบัติ บวชแล้วเราไม่บวชเฉพาะร่างกายนี่นะ การบวชโดยจตุตถกรรม ญัตติจตุตถกรรมเราบวชขึ้นมาเป็นพระสงฆ์ เราบวชเป็นพระสงฆ์ เราบวช เราบวชร่างกายแล้ว เราต้องบวชหัวใจของเราด้วย เราจะบวชหัวใจ การบวชหัวใจมันต้องมีเป้าหมาย การประพฤติปฏิบัติเข้าไป

“การบวช” การบวชร่างกายไปที่โบสถ์ หาอุปัชฌาย์มา ไปนัดหมายหาอุปัชฌาย์ หาพระมายกสงฆ์ ญัตติเข้ามาในญัตติจตุตถกรรม เป็นสงฆ์โดยธรรมวินัย เราได้สภาวะของสงฆ์มาโดยธรรมวินัยนี้ ถูกต้องตามหลักตามความเป็นจริง เราได้สภาวะของผู้ประพฤติปฏิบัติมาโดยที่เราสมุจเฉท เราตั้งใจเข้ามาแล้วเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติโดยตามความเป็นจริง โดยตามความเป็นจริงของสมมุติโลกของบัญญัติของพระพุทธเจ้า

สมมุติบัญญัติ ธรรมและวินัยนี้พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นี้ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่เราต้องสาวสมมุติเข้าไปหาของจริง เราถึงต้องว่าการบวชแล้ว “บวช” บวชเข้ามาแล้วถึงว่าบวชแล้วจะมีความสุข เป็นพระจะมีความสุขมาก ว่าเป็นพระจะมีความสุขมาก โลกเขามองกันอย่างนั้น เป็นพระจะมีความสุขอยู่บนความศรัทธาของญาติโยมเขา ความศรัทธาอันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้

พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ธรรมเกิดแล้ว เทวดารับรู้แล้ว พระสงฆ์ตั้งแต่อัญญาโกณฑัญญะเกิดขึ้นแล้ว จนสะสมมาเป็นสังคมของชาวพุทธ สังคมของชาวสงฆ์ ประเพณีวัฒนธรรม เขาเชื่อในพระสงฆ์ เขาถึงทำบุญในพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของเขา เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นทักขิเณยยะ เป็นที่ทำบุญของญาติโยมเขา

แล้วใจของเรา เราเอาอะไรให้ใจเรากินบ้างล่ะ ปากของเราได้อาศัยญาติโยมเขาเลี้ยงชีวิตมา แต่ใจของเราเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ถ้าใจของเรายังเป็นทุกข์อยู่ เราได้บวชมาถูกต้องตามหลักความเป็นจริง เราถึงแสวงหาที่ที่จะออกจากทุกข์ ที่ที่จะออกจากทุกข์นี้ ตอนบวชอุปัชฌาย์ก็สอนไว้แล้ว ในเงื้อมผาในที่ป่าเขา ในที่ที่ทำให้หัวใจมันสยดสยอง ให้ที่สงัดวิเวก ไม่ใช่คลุกคลีอยู่ในเมือง

ทางโลกเขาบอกว่า ถ้าพระจริง ถ้าหัวใจแน่จริง ทำไมไม่ทำให้เกิดขึ้นมาในเมือง

มันจะเกิดได้อย่างไร ในเมื่อกามคุณมันชุ่มอยู่ในหัวใจ กามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง นี่ สัมผัสเป็นกามคุณ กามคุณเพราะคนเกิดขึ้นมามีอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันสื่อกันด้วยความเป็นอยู่ของโลกเขา มันสื่อกันในโลกเขา โลกเขาใช้นี่เป็นสื่อ มันถึงเป็นคุณ คุณเพราะการสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ แต่ในเมื่อมาบวชเป็นพระแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเราก็มีอยู่ เรามีอยู่ ในเมื่อมันเป็นของเคยทาง ของเคยกิน ของเคยใช้ เสียงกระทบหูเป็นสิ่งที่กระทบอารมณ์ มันรู้สึกอยู่

ในเมื่อไปอยู่ในที่คลุกคลีมันก็ต้องไปตามกามคุณ กามคุณทำให้หัวใจนี้ไม่ทำให้ความสงบขึ้นมาไม่ได้ มันทำให้ใจฟูขึ้นมา เราต้องทำใจให้สงบก่อน ทำจิตให้สงบ เราถึงต้องอาศัยที่ในป่าเขา ในที่รกชัฏ ในที่ว่าเป็นที่สยดสยองของหัวใจในที่สงัดวิเวก สัปปายะในเครื่องของดำเนิน

เราเป็นชาวพุทธแล้วเราเป็นภิกษุสงฆ์ด้วย เราได้บวช บวชเข้ามาในท่ามกลางพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาก ที่ธรรมะวางไว้ตามหลักความเป็นจริง เราจะเอาธรรมนั้นเข้ามาในหัวใจของเราต่างหาก เราจะเอาเข้ามาในหัวใจของเรา เราถึงต้องทุ่มมา กายที่บวชเป็นสงฆ์นี่แหละ อยู่ป่า อยู่เขา อยู่ป่าอยู่เขาเป็นอริยประเพณี

ในอุปัชฌาย์นะ ในการบวชบอกแล้วให้อยู่ป่าอยู่เขา หาในที่สงบเพื่อชำระกิเลส ถ้าอยู่ในเมืองมันก็ชำระ อยู่ในเมืองมันก็เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้เหมือนกัน แต่เป็นภิกษุสงฆ์อยู่ที่ในเมืองศึกษาปริยัติในการปฏิบัติ ศึกษาปริยัติมาเพื่อปฏิบัติ อันนี้เราศึกษาปริยัติมาตั้งแต่อุปัชฌาย์ให้เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งนี้เป็นยอดของปริยัติ

ปริยัตินั้นเป็นการศึกษากาลเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในครั้งพุทธกาลมากับธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี้เป็นองค์ศาสดา ธรรมและวินัยนี้เป็นองค์ศาสดาของเราที่เราจะต้องดำเนินตาม...ถูกต้อง ไม่ผิดเลย แผนที่นั้นถูกต้องไม่ผิดเลย แต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจก็เป็นปริยัติที่มันกระเทือนถึงใจของเรา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจก็คือร่างกายของเรานี่ไง ปริยัติที่ขุดค้นในกายของเรานี่ไง ขุดค้นที่จิตของเรา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันจะมีค่าขึ้นมาเพราะหัวใจนี้มันผ่านออกมา

เสียงดังอยู่ทั่วโลกสงสาร เสียงดัง คลื่นเสียงดังอยู่ในจักรวาลทั้งหมดเลย ถ้าหูไม่ได้ยินมา มันก็มีอยู่อย่างนั้น คนเราไม่มีหัวใจ หูได้ยินเสียงมันก็ไม่รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียงทั้งหมดผ่านอายตนะเข้าไปมันก็ต้องไปถึงที่หัวใจ หัวใจต้องรับรู้ เสียงมันถึงเกิดขึ้น อายตนะนี้ ปริยัตินี้ มันก็สะเทือนใจกระเทือนใจ ใจอยู่นั่น อันนี้ถึงเป็นปริยัติที่ว่าถ้ามันขุดคุ้ยแล้วมันถึงจะชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริง

ถึงว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่หน้าที่ของเราจะค้นคว้าน่ะอาศัยอะไรเป็นชัยภูมิ มันถึงต้องอาศัยที่ป่าที่เขา ที่จะมีไม่ให้สิ่งที่ว่ามันฟูขึ้นมา สิ่งที่มันฟูอยู่แล้ว ไปเจอกลับสิ่งที่ฟูสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อกัน มันก็ทำให้เราทุกข์ลำบาก ขนาดเราปฏิบัติอยู่ในป่า เราว่าเราทำใจให้เราสงบ มันยังไม่สงบเข้ามาได้ตามหลักความเป็นจริง เพราะกิเลสมันต่อต้าน จะทุกข์จะยาก ถ้าเราอยู่กับธรรม เราชื่นใจอยู่กับธรรมอยู่กับคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย บวชแล้วให้อยู่หาที่ที่เราจะประพฤติปฏิบัติ ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่โอวาทคำสุดท้ายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายเธออยู่หน้าอยู่ต่อหน้าเรา เราองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสิ่งใดที่ควรอยากจะถาม ถามเถิด ถ้าเราตายไปแล้วนะ เธอจะย้อนขึ้นมาคิดทีหลังเธอจะเสียใจว่า แม้อยู่ต่อหน้าก็ไม่ได้ถามปัญหาไว้

แต่ภิกษุสงฆ์นั้นมันมีความอิ่มบุญในเมื่อต่อหน้าพระพุทธเจ้า และมีความระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะปรินิพพานที่จะหลุดจากมือไป ไม่มีใครถามอะไรเลย รอแต่ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพูดเพื่อจะให้มันฝังไว้ในใจ เพื่อที่จะให้ตนเองได้พ้นจากกิเลส เพื่อจะเอานี้เป็นวิชาการหรือเป็นทางเป็นแผนที่ดำเนินพ้นไปไง

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอไม่ถามเราจะพูดเป็นคำสุดท้ายนะ พวกภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายขอให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด สังขารคือร่างกายกับสังขารคือจิตใจ พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด แล้วเราจะมีที่อยู่ที่อาศัย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายควรพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ให้ไว้แก่เรา

เราก็เชื่อ เรามั่นใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมีธรรมในหัวใจ ทุกข์ได้สิ้นไปจากใจแล้วก็ยังสงสารหมู่ สงสารลูกศิษย์ลูกหาสาวกทั้งหลายที่จะเดินตาม วางเป้าหมายไว้ทั้งหมดเลย เราเชื่ออันนั้นเราก็มีความอุ่นใจ มีความมุมานะ อุตส่าห์บวชแล้วยังต้องหาที่สงัดวิเวกเพื่อจะชำระกิเลส หาที่สงัดหาที่วิเวก อันนี้เป็นอริยประเพณี เป็นประเพณีของพระอริยเจ้า อริยประเพณี ประเพณีการถือธุดงควัตร ประเพณีในการประพฤติปฏิบัติ

เราถึง ร่างกาย เราบวชกายมาแล้ว เราพยายามจะบวชร่างกายและบวชใจอีกทีหนึ่ง เราบวชร่างกายมาด้วยอุปัชฌาย์บวชมา เราได้สภาวะสงฆ์มาแล้ว เราพอใจในสภาวะของความเป็นเพศของสงฆ์เรา แล้วเรายังเชื่อมั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หัวใจมีครูมีอาจารย์เป็นที่พึ่ง เห็นไหม เชื่อมั่น ความเชื่อมั่นจึงเกิดศรัทธา เกิดศรัทธาถึงเดินออกประพฤติปฏิบัติ

ถึงออกมาทรงอริยประเพณีไว้ที่ร่างกายอีกล่ะ ร่างกาย การทรงไว้การธุดงควัตร ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดา เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นอริยประเพณีของพระอริยเจ้า เราก็ทรงไว้ ทรงไว้เพื่อจะให้เป็นทางให้มีหนทางเข้าไปหาใจของเรา ให้มีหนทาง มีพิธีการจะบวชใจให้ได้ บวชร่างกาย

พระพุทธเจ้าบวชอัญญาโกณฑัญญะ ปัญจวัคคีย์ก่อน บวชสุภัททะเป็นองค์สุดท้าย เราบวชจากอุปัชฌาย์ที่เป็นสงฆ์ในพระพุทธเจ้าให้สงฆ์นี้เป็นใหญ่ในศาสนาของเราชาวพุทธ แล้วได้รับการตราตั้งแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ เป็นพ่อที่จะญัตติให้เราเป็นสงฆ์ขึ้นมาได้ สังคมสงฆ์ในโบสถ์ได้ยกเราขึ้นมาเป็นสงฆ์ อันนี้เราก็ได้มา เราได้มาเพราะธรรมวินัยนี้ทำให้เราเป็นสงฆ์มาแล้ว แล้วเรายังเชื่ออริยประเพณี วิธีการชีวิตการดำรงอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ดำรงอยู่ในป่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า เกิดในป่าที่ลุมพินีวัน แล้วก็ตรัสรู้ในป่าอีก แล้วยังปรินิพพานก็อยู่ที่โคนต้นรังนั้น นี่อริยประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วประเพณีของพระอริยเจ้าที่ดำรงมาตั้งแต่หลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน หลวงปู่มั่นเป็นครูบาอาจารย์ที่มาพยายามยกศาสนาขึ้นมารอบใหม่ ให้เราเกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา แล้วเจอธรรมอันนั้น เราถึงพยายามจะทรงประเพณีของพระอริยเจ้า เราเป็นลูกศิษย์ที่มีครูมีอาจารย์ เราจะตามครูบาอาจารย์ของเราไป

ในเมื่อหัวใจมันยังบวชขึ้นมายังไม่ได้เป็นสงฆ์ เราบวชร่างกายขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องทรงประเพณีของพระอริยเจ้าไว้เพื่อเป็นทางเดินของเรา เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่คลุกคลีในสิ่งที่ว่าให้อายตนะของเราอยู่ในกามคุณที่จะทำให้เราฟุ้งซ่านต่อไป เราถึงเป็นคนที่ฉลาดเป็นคน เป็นพระสงฆ์ที่ฉลาด เป็นนักปฏิบัติที่ฉลาด ที่จะหาชัยภูมิที่เหมาะสมกับการทำหัวใจให้สงบ ทำหัวใจให้สงบ ทำหัวใจให้ยกขึ้นสู่การบวชใจให้เป็นเห็นตามหลักความเป็นจริง

การทำใจให้สงบกำหนด พุทโธ พุทโธ พุทโธ การอยู่ในป่า ในป่าในที่วิเวกนี้ มันก็ยังมีสิ่งที่จะทำให้เราไม่นอนใจ แม้แต่ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าไปอยู่ในป่า แล้วไปประพฤติปฏิบัติไปเจอสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ยอกแสลงใจ ไปเจอสิ่งต่างๆ ทำให้ตกใจ กลับไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่าเจอสิ่งที่ทำสิ่งในจิตวิญญาณมันทำให้หลอกลวง หลอกให้เรากลัว หลอกให้กลัวและกลัวมากๆ จนกลับไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่าให้กำหนดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่ใจแล้วสั่งให้พระองค์นั้นกลับไปอยู่ที่เก่าด้วย ให้ไปอยู่ที่ว่ากลัวๆ นั่นน่ะ สิ่งที่กลัวๆ สิ่งที่ในป่าที่สงัดที่วิเวก ที่กลัวมันจะได้ไม่คิดไปตามกามคุณ ๕ นั้นไง กามคุณ ๕ มันสะสมไว้ในใจ ไม่ได้กระทบรูป ไม่ได้กระทบตามอายตนะ มันก็ปรุงขึ้นมาในหัวใจ

ในใจนี้ประหลาดมหัศจรรย์มาก มันรับสิ่งต่างๆไว้ตั้งแต่เราเกิดมา สิ่งที่สะสมมาในใจที่มันชอบใจมันฝังใจ เวลาจิตสงบเข้าไปมันจะออกมาทั้งหมดเลย เพราะมันอยู่ในจิต มันอยู่ในใต้จิตสำนึกของเรา สัญญาความจำได้หมายรู้มันจะสะสมไปที่จิต สิ่งใดๆ ที่ผ่านเข้ามาในคลองของตา ในคลองของอายตนะทั้งหลาย มันจะสะสมลงไปที่ใจ สะสมลงไปไว้ที่นั่นหมด ทั้งๆ ที่เราเกิดมามันก็สะสมอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว มันสะสมจนให้หัวใจนี้สกปรกไปด้วยกิเลส อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ครอบงำอยู่ที่ใจ ฉะนั้น เราบวชร่างกายมาแล้ว ใจไม่ได้บวช ใจมันก็ต่อต้านในการประพฤติปฏิบัติ

แต่เพราะเราเป็นคนที่มีวาสนา เป็นคนที่เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ เป็นชาวพุทธแท้ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่จะเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราเชื่อศาสดาของเรา เราถึงได้ต้องออกมา ออกมาอยู่ในที่มันสงัด ออกมาต่อสู้กับกิเลสของตัวเอง

ธรรมและวินัยเท่านั้นที่กิเลสกลัว กิเลสไม่กลัวสิ่งใดเลย ไม่กลัวสิ่งที่รูป รส กลิ่น เสียง

ไม่กลัวในการที่มันสะสมไว้ในใจ

มันจะแหย่ มันจะยุแยงให้เราออกไป จะให้เราไม่ประพฤติปฏิบัติ

ในการประพฤติปฏิบัติก็ว่าลำบาก ว่ายากเข็ญ

ถ้ายากเข็ญในงานของโลกเขา ในงานของการเกิดมา เราไม่ได้ปฏิบัติเราก็ต้องหาอยู่หากินมันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง เป็นความทุกข์อันนั้นแล้วยังจะต้องมีหัวใจที่เป็นกิเลสมันเร่าร้อน มันยุแหย่ให้ใจนั้นมีความทุกข์เข้าไปซ้ำสอง ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติเข้ามาในท่ามกลางของศาสนา ท่ามกลางของศาสนาที่มีแต่คฤหัสถ์เขาคอยจะทำกับเนื้อนาบุญของโลกอยู่แล้ว เรามีสิ่งนั้นดำรงปัจจัย ๔ หน้าที่ของพระคือหน้าที่ของการทำใจให้สงบ ทำใจให้ออกจากกิเลสให้ได้ ยกขึ้นไปบวชใจให้ได้

อุปัชฌาย์บวชเรา ครูบาอาจารย์บวชเรามา แต่หัวใจนี้ไม่มีใครบวชให้ได้ เราต้องบวชใจเราเอง เราต้องบวชใจของเรา เราต้องประพฤติปฏิบัติของเราเอง ของเราเองคือว่าเราต้องน้อมเหนี่ยวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาให้ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ ให้พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด พิจารณาสังขาร สิ่งที่คิดที่ปรุงขึ้นมาทำให้ใจไม่สงบ ใจมันไม่สงบเพราะมันมีสิ่งที่ยุแหย่ มันยุแหย่ออกมา มันยุแหย่ออกมา เราจะทำอย่างไรเข้าไปสงบมันล่ะ? เราก็กำหนด พุทโธ พุทโธ

เพราะคำว่า “ยุแหย่” จิตปกติของสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับ ในหัวใจที่มันเกิดดับ เกิดดับ มันก็ต้องเกิดดับ ความคิดก็เกิดดับ แต่ความคิดเกิดดับพร้อมกับกิเลสอันนี้มันยุแหย่ของเรา มันต้องการความสะดวก มันต้องการความสบาย มันต้องการความพอใจของมัน อันนี้คืออาหารของมัน เราจะตัดทอนอาหารของกิเลส เราจะเริ่มทำให้กิเลสสงบตัวลง เราถึงต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ

พุทโธนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานไว้ ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง อันดับ ๑ คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ในเมื่อพุทโธนี้เป็นธรรม เป็นธรรมก็เหมือนกับปริยัตินั่นน่ะ ปริยัติในพระไตรปิฎกนั้นเป็นพระไตรปิฎกอยู่ในตู้พระไตรปิฎก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้ก็เป็นอาหารจากข้างนอก เป็นพุทธานุสติ พุทธานุสติกำหนด ถ้ากิเลสออกมาจากใจนี้ กิเลสมันยุแหย่ออกมา มันขุดคุ้ยออกไป กิเลสคือความเร่าร้อน พาใจให้เร่าร้อน

แต่พุทโธนี้เป็นชื่อ เป็นพุทธานุสติ พุทธานุสตินี้ป็นธรรม เป็นธรรมมันก็เป็นปริยัติ เป็นการท่อง เป็นการระลึก เป็นการระลึกเข้าไป ระลึกเข้าไป คือพยายามไม่ให้กิเลสนี้อาศัยใจออกมา จะต้องการเนื้อของใจให้อยู่กับพุทโธ พุทโธจะชำระชำแรกเข้าไปในใจของเรา ในใจของผู้ที่นึกพุทโธ ผู้ที่นึกเพราะความนึกมันก็เกิดจากกิเลส กิเลสนี้มันก็พานึกอยู่แล้ว จิตที่มันคิดออกมานี้มันก็มีอาศัยความนึกอันนี้ออกมาเป็นเนื้อของมัน แล้วออกมาเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นกิริยา เป็นเงาของจิตแล้ว

พุทโธก็เหมือนกัน ถึงพุทโธนี้จะเป็นเงาหรือเป็นปริยัติก็จริงอยู่ แต่เป็นธรรม เป็นแผนที่ เป็นธรรมที่เหมือนกับยาอยู่ในขวด เรายกยานั้น เราเอายานั้นใส่ปาก เราดื่มกินยาเข้าไป ยานั้นจะเข้าไปให้คุณประโยชน์แก่ร่างกาย ทำลายเชื้อที่เป็นความเจ็บไข้ในร่างกายของเรา คำว่า “พุทโธ พุทโธ” ก็เหมือนกัน ถึงจะเป็นพุทธานุสติ ก็อยู่ เป็นยาอยู่ เราพยายามกรอกใจของเราด้วยพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้เป็นธรรม ให้ธรรมนี้เข้าไปถึงใจของตัว เข้าไป เข้าไป ก็เหมือนดื่มยาเข้าไป ดื่มยาเข้าไป มันต้องดื่มกิน

จากพุทโธนี้เป็นปริยัติ เป็นคำที่ระลึกนึกถึง พอนึกพุทโธ พุทโธ มันก็สะเทือนหัวใจ สะเทือนมาก แล้วก็นึก นึก นึก นึกจนมันเป็นเนื้อเดียวกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธนี้กับใจเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม นี่คือการดื่มเข้าไป ดื่มยาเข้าไปในปาก แต่ใจดื่มอารมณ์เป็นอาหาร ดื่มธรรมเป็นอาหาร นี่ความทำจิตให้สงบเข้าไปด้วยพุทโธ พุทโธ ดื่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงจะเป็นพระปริยัตินึกเอาก็จริงอยู่ พอเข้าไปถึงใจ เข้าเป็นเนื้อเดียวกับใจ พุทโธกับใจเป็นอันเดียว

ถึงว่า พุทธะ พุทโธ คือผู้รู้คือหัวใจ ชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพุทโธ ใจของผู้รู้ทุกดวงก็พุทโธ ถึงว่า “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต” ความเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเห็นกันที่ตรงนี้ มันจะไปเห็นกันที่ตรงอื่นไม่ได้เลย ตรงอื่นนี่ก็เป็นปริยัติ วาดภาพมาขนาดไหนก็เป็นปริยัติหมด ปริยัติคือเป็นการกำหนดขึ้นมา เป็นการวาดหมายขึ้นมา ปริยัติคือการจำมา ปฏิบัติ ปฏิบัติอยู่ในหัวใจขณะนี้นี่ไง แล้วพอปฏิบัติแล้วมันเข้าเป็นอันเดียวกันกับใจ นี่คือเห็น

จากที่ว่าเป็นปริยัติ มันเป็นปฏิเวธ คือว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิเวธคือสัมผัสกันจากความรู้สึกตามความเป็นจริง ปฏิเวธในการทำความสงบ ไม่ใช่ปฏิเวธในการหลุดพ้นออกจากกิเลส จิตสงบ ว่าง เวิ้งว้างไปหมดเลย ควรแก่การงาน

ดูสิ ดูอย่างโลกนี้ ต้นไม้ใบหญ้ามันรกไหม มันรกเราต้องถากต้องถางออกไป นี่อารมณ์ก็เหมือนกัน มันรกใจ ความรกใจมันเข้าไม่ถึงเนื้อของใจ มันต้องถากต้องถาง ถากถางหญ้า ถากถางวัชพืชออกเพื่อจะให้เกิดพื้นดิน พื้นดินเพื่อเราจะปลูกต้นไม้ตามที่เราต้องการ เราจะปลูกไม้ผล ไม้ประดับ ไม้อะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่จริตนิสัยของคนชอบ คนศรัทธา ก็ปลูกสิ่งนั้นเข้าไปในพื้นดินของตัว

ในเมื่อเราถากถางอวิชชา ถากถางความฟุ้งซ่านของใจ เนื้อของใจถากถางออกให้ใจมันสว่าง มันสงบ ใจเวิ้งว้าง เราถากถางวัชพืชออกจากใจ แล้วเราจะปลูกอะไรล่ะ เราต้องปลูกพืชตามที่เราต้องการลงไปใช่ไหม แต่การปลูกพืชนั้นในทางโลกเขาเขาก็ได้ไม้ผลไม้ประดับตามแต่สิ่งที่ว่าสิ่งใดปักลงไปในดินเป็นพันธุ์ไหนมันก็ออกมาเป็นพันธุ์นั้น เราถากถางความฟุ้งซ่านออกจากใจทั้งหมด เวิ้งว้างจนเป็นพุทธะ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วว่าอันนี้เป็นผล

นี่ถ้าเราไม่เคยพบครูบาอาจารย์นะ เราไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาฬารดาบสเขาก็ทำแบบนี้ นี่พื้นฐานของใจที่ควรแก่การงาน ถ้าเข้าถึงตรงนี้จิตสว่างไสว จิตผ่องใส ตายไปเกิดเป็นพรหม เหมือนอาฬารดาบสที่ว่าเข้าสมาบัตินั้น ไปเป็นพรหมอยู่อย่างนั้น แต่ไม่มีวิชาการ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีเทคนิคในการยกใจขึ้น ขึ้นในอะไร? ในวัชพืชถางออกหมดแล้ว ในความฟุ้งซ่านถางออก ยกขึ้นในสติปัฏฐาน ๔ ไง

สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม “กาย เวทนา จิต ธรรม” เพราะมันคลุมใจอยู่ ใจสะเทือน กาย เวทนา จิต จิตคลุมไหม จิตสะเทือน บวชใจมันบวชอย่างนี้ เราต้องบวชใจของเรา จากใจของเราดื้อดึงไม่ยอมบวช บวชแต่ร่างกาย ร่างกายบวชแล้วแต่จิตมันยังไม่ยอมบวช มันยังประท้วงด้วยนะ จิตมันประท้วง จิตมันเร่าร้อน

จิตว่า ทำไมเราทำแล้วไม่ได้ผล ทำไมเราต้องมาทุกข์มาลำบาก ทำไมคนอื่นเขาสะดวกสบาย เขาบวชแล้วเขาอยู่กันสนุกสนาน อยู่กันแบบชุ่มอยู่แบบพอใจ มีเครื่องบำรุงบำเรอ

อันนั้นเขาโง่ เรายังไปว่าเขาฉลาดอีกได้อย่างไร นี่กิเลสมันฉลาด แต่มันจะหลอกให้พระปฏิบัตินั้นโง่ไง มันไปเลือกหาสิ่งที่ว่าเขาจมกันอยู่ในกามคุณ ๕ เราบวชมาแล้วเป็นนักบวช กามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวโลกเขาใช้กัน ชาวโลกเขาใช้สื่อใช้ความหมายกัน เราเป็นนักบวช เราต้องเห็นโทษของกามคุณ ๕ เห็นโทษของกามคุณ ๕ ถึงทำใจให้สงบได้ พอจิตเราสงบ ถ้าสงบตามความเป็นจริงเข้าไปถึงพุทธะ มันจะมีความพอใจ

แต่ในเมื่อเข้าไม่ถึงพุทธะ ใจมันต่อต้าน ว่าเราเป็นคนไม่มีวาสนา เราเป็นคน...ทั้งๆ สิ่งนั้นมันเป็นการใช้ของโลก มันเป็นการทำใจให้เราฟุ้งซ่าน เราจะไปเห็นคุณของมัน นี่มันประท้วง เวลาใจประท้วงประท้วงอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่เราไปบังคับ เราบังคับโค บังคับควายให้ไถนา เราบังคับจิตของเรา เราจะบวชจิตของเรา เราจะบวชจิตของเราให้เป็นพระขึ้นมา ให้ในใจให้ได้ พอบวชพระให้ใจให้ได้ เราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะยับยั้งสิ่งที่กิเลสมันพาหลอกนี้ไง

สิ่งที่กิเลสมันอยู่กับเรามากี่ภพกี่ชาติแล้ว กามคุณ ๕ มันเกิดขึ้นมาในภพชาติไหนมันก็มีอายตนะจะสัมผัส ในขันธ์ ๕ ในภพของมนุษย์ ในขันธ์ ๔ ในเทวดา ถึงเป็นขันธ์ ๕ ก็ได้ เพราะเป็นรูปของจิต ในขันธ์ ๑ ในพรหม เห็นไหม ในวัฏวนนี้มันก็มีสิ่งกระทบมีอายตนะทั้งหมด ในขันธ์ ในพรหม ในผัสสาหารมันก็มีผัสสะกันอยู่ตลอด ในกายทิพย์มันก็เป็นเทวดามาตลอด ในกายของมนุษย์ก็มีขันธ์ ๕ นี่กามคุณ ๕ มันเป็นเครื่องอยู่อาศัย

เราเกิดมาในกามคุณ ๕ เราคลุกคลีกับมันมากี่ภพกี่ชาติ ทำไมไม่เบื่อหน่าย พอไม่เบื่อหน่าย ไม่เบื่อหน่ายเปล่า จะปฏิบัติมันก็ยังจะห่วงอันนั้นอีก ห่วงกามคุณ ๕ แต่ไม่เห็นโทษของกามคุณ ๕ โทษของกามคุณ ๕ กามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง มันทำให้เกิดกามราคะ กามราคะอันนั้นทำให้ผู้ที่อยู่ในพรหมจรรย์นี้เร่าร้อน การอยู่ในพรหมจรรย์เพื่อจะให้เป็นหนึ่ง แต่เพราะกามคุณนั้นไปคุ้ยกามราคะ เราไม่เห็นโทษของมันอีกหรือ กามคุณนี้มันจะให้โทษเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้นนั่นน่ะ

แต่เราก็ยังอยากจะเสพกามคุณ แบบในการที่เป็นก่อนเราจะได้บวชกายนี้อีกล่ะ

มันต้องย้อนกลับมาให้เห็นโทษของมัน การเห็นโทษของมันด้วยปัจจัตตัง รู้ตามความเป็นจริง มันจะเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นผู้ที่พึ่งตนเองได้ มันจะมีความพอใจ ครูบาอาจารย์หรือผู้ได้สั่งสอนเรามามันก็มาจากข้างนอก เรายืมของยืมมา ถ้ายืมมาใช้ ทีแรกมันก็ว่า เออ! น่าจะเป็นคุณ พอใช้ไปใช้ไปมันจะว่า เออ! อันนี้มันจะจริงหรือไม่จริง เพราะเราไม่ได้เกิดจากของเรา ของเขา-ของเรา ของเขา-ของเรา เห็นไหม ความคิดแบ่งแยกเขากับเรา เดี๋ยวมันก็จะไม่เชื่อ

แต่ในเมื่อเราสร้างคุณปัญญาของเราเกิดขึ้นจากใจเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราสามารถบังคับใจของเราให้อยู่ในขอบเขตของเรา ขอบเขตในการที่ว่าเราจะยกใจขึ้นมาให้สว่าง ให้สงบ ให้มีพื้นฐานของการงานที่ควรแก่การงานนั้น กิเลสมันหลอกไป มันประท้วงก็เรื่องของกิเลสมัน ต้องชี้หน้ากิเลสมัน

ชี้หน้ากิเลสว่า เอ็งพาข้าตายข้าเกิดมากี่ภพกี่ชาติแล้ว แล้วข้ากำลังจะทำลายเอ็ง ขนาดเริ่มต้นเอ็งยังประท้วง เอ็งยังทำให้เราต้องออกไปเติมเชื้อเพลิงให้มันอีกเหรอ อันนั้นเป็นเชื้อเพลิงของกิเลสให้รู้ด้วย

นี่มันต้องสอนตนเอง เชื้อเพลิง เชื้อเพลิงขับไส เราจะบั่นทอนให้มันเบาบางลง แต่กิเลสมันยังประท้วง มันอยากกินเชื้อเพลิงเข้ามาขับไสให้มันลุกโพลงในท่ามกลางหัวใจ ความร้อน ความทุกข์ นั้นทำไมไม่ซึ้งใจนัก นี่ความซึ้งใจ ปัญญามันจะเกิด เรามีปัญญาเกิด เรากำลังดำรงอริยประเพณีอยู่ เราดำรงอริยประเพณีจากร่างกาย เราจะดำรงอริยประเพณีเข้ามาในหัวใจ ดำรงอริยประเพณี

อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากภายใน สิ่งที่ว่าชาวโลกเขาหาไม่ได้ สิ่งที่ว่าเกิดมาในโลกเขาหาทรัพย์กันเขาก็หากันไปเป็นสมมุติของโลก หามาด้วยการทุกข์ยาก หามาด้วยความทุกข์ความยากความลำบากอยู่แล้ว ยังหามาเพื่อให้เป็นโทษกับใจของตัว เป็นโทษกับใจของตัว เป็นโทษกับหมู่คณะ หามาเก็บหามารักษา แล้วก็ต้องคอยเก็บคอยรักษาให้เป็นภาระเดือดร้อนไปทั้งหมด

อริยทรัพย์ภายในหัวใจนี้หามาจะมากมายขนาดไหน ให้ใหญ่กว่า ๓ โลกธาตุ มันก็มีที่เก็บ มันเก็บเข้าไปเป็นนามธรรมในใจสบาย สบายจริงๆ สบายมากๆ เพราะมันอยู่ในหัวใจ ความรู้ ปัญญาเกิดขึ้นจากการวิปัสสนาญาณ จะมากมายซับซ้อนขนาดไหนมันก็อยู่ในใจ มันเป็นนามธรรมที่อยู่ในใจ เราถึงต้องขึ้นในกาย เวทนา จิต ธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ ตัวนี้ จิตมันยกขึ้นเพราะมีความสะอาด ความสะอาด งานที่ประเสริฐ งานที่สะอาด มันต้องอาศัยจิตที่สะอาด จิตที่สกปรกทำงานอย่างนี้ไม่ได้ จิตที่หมองไปด้วยกิเลส ในอุปกิเลสในหัวใจทั้งหมด

ความคิดของโลก ความคิดของความเคยชิน ความคิดของความเคยชิน คิดวิปัสสนาตามกระแสโลกที่เขาทำกัน ว่างๆ นามรูป ว่างไปหมด ยังไม่ทำความสงบให้ใจมีพื้นฐานก่อนก็ไปว่างนามรูป ว่างไปพิจารณาไปก่อน ความพิจารณาอันนั้นกิเลสมันหัวเราะชอบใจ มันหัวเราะ เห็นไหม มันประท้วงทีแรก เราก็พยายามจะทำใจเข้ามาให้ตัดรูป รส กลิ่น เสียง เข้ามาให้ได้

พอตัด รูป รส กลิ่น เสียงเข้ามา ถ้าเป็นโลกียะมันก็เป็นอย่างนี้ พิจารณาเข้ามาตัด รูป รส กลิ่น เสียง พยายามดูนามรูป ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา ไปดูก่อน ไปดูก่อนโดยที่ยังไม่สมควรแก่การงาน เราไม่มีเงินจะไปซื้อของเลย เราเที่ยวไปดูแคตตาล็อค อันนั้นก็สวย อันนั้นก็งาม น้ำลายหกยืดยืด มันหน้าอาย มันหน้าอายเพราะว่ามันไม่มีทรัพย์หรือไม่มีสภาวะเพียงพอที่จะไปแลกสินค้านั้นมาไง ในอริยทรัพย์ในหัวใจมันไม่มีพื้นฐานของใจที่พอที่จะไปแลกเปลี่ยน นั่นคือประสาโลก แต่ตามหลักความจริงไม่ใช่แลกเปลี่ยน

ชำระสะสางในใจจนสะอาดขึ้นมา แต่ในเมื่อพื้นฐานไม่พอแล้วเราไปวิปัสสนาหมุนไปก่อน น้ำลายหกน้ำลายไหลเป็นความอยากได้ เป็นความตะเกียกตะกาย ทำไมไม่สมเพชตัวเองบ้าง นี่ผู้ปฏิบัติถ้าเห็นตรงนี้มันจะเข้าใจ สมเพชตัวเอง น่าสงสารตัวเอง ตัวเองไม่มีพื้นฐานแต่ต้องการสิ่งที่เกินกำลังของตัว

แต่ถ้าทำจิตสงบก่อน จิตมีพื้นฐาน จิตที่มีเงินทองพอสมควร มีเงินทองแล้วต้องมีการแลกเปลี่ยน มีสมาธิ มีจิตเป็นตั้งมั่น จิตนี้จับต้องได้ถึงจะยกขึ้นดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม มันต้องรู้เห็นตามความเป็นจริง รู้เห็นจากภายใน รู้เห็นจากตาธรรม ตาธรรม ตาจากภายใน กิเลสมันเกิดขึ้นที่ใจ ตาของใจ ตาของใจที่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมนั่นน่ะ

อ้อ! มันก็เกิดดับ ขณะที่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ในหัวใจตามหลักความเป็นจริง มันเห็นแล้วมันยังตื่นเต้น ตื่นตระหนกทั้งๆ ที่มีเงินพอนะ ควรจะซื้อของสิ่งนั้นได้ แต่พอจะซื้อเข้าจริงๆ ก็ยังตกใจ

นี่ก็เหมือนกันทั้งๆ ที่พยายามจะค้นหาสติปัฏฐาน ๔ สติคือสติปัฏฐาน สติที่สมควรแก่งาน สติปัฏฐาน ตั้งสติ ตั้งใจ ตั้งใจอยากค้นคว้ากิเลส อยากหากิเลส แต่พอเจอกิเลสเข้าก็ยังอกสั่นขวัญหาย ยังวิ่งหนีกิเลสอีกนะ ทั้งที่จะเจอหน้ากิเลส พอกิเลสมาให้เห็นหน้า อ้าว! ไหนว่าจะชำระกิเลส ทำไมวิ่งหนีล่ะ หลุดมือไปไง เห็น กาย เวทนา จิต ธรรมขึ้นมาครั้งแรกใหม่ๆ จะตื่นเต้นดีอกดีใจ จนหลุดมือไป นี่ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน เอหิปัสสิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม

เวลาธรรมประกาศขึ้นกลางหัวใจก็ยังไม่รู้ว่าอันนี้ธรรมหรืออันนี้โทษ ทั้งๆ ที่เราจะเห็นธรรม เราจะชำระกิเลสออกไปจากใจ เอาธรรมเข้ามาบรรจุแทน แต่พอเห็นเหตุแห่งการเข้าไปหาธรรม เห็นเหตุแห่งการจะปฏิบัติให้ธรรมเข้ามาได้ เราเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม กายหรือใจวิปัสสนาคือการชำระออก ชำระออกจากใจ มันเป็นเนื้อของใจ มันอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว แต่เมื่อเราไปเจอ เราไม่เคยเห็น เราไปตื่นเต้นกับความว่าง ตื่นเต้นกับสิ่งที่ว่าใจมันสงบอยู่ เราไม่ได้ตื่นเต้นกับการที่ว่าทำให้ทำความว่างนั้น ทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินี้ให้ควรแก่การงาน

การยกขึ้น ยกขึ้นวิปัสสนาต้องขุดคุ้ย ต้องพยายามสร้างขึ้นมา มันไม่มาเอง เป็นไปไม่ได้ สิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วมาเอง พอจิตสงบแล้วจะเห็นตัวปลา ใจสงบแล้วจะสงบจากวัฏฏะ สงบจากจากวัชพืช เห็นไหม ถากถางวัชพืชออกทั้งหมด ออกมาเห็นแต่เนื้อดิน ควรจะปลูกพืช ปลูกผล มันก็ไม่ทำ มันไม่ยอมทำตามให้ว่าจะชำระกิเลส กิเลสมันจะหลอกไปตลอดสายของกิเลสที่มันจะอยู่ในหัวใจ มันจะหลอกว่าความเวิ้งว้างอันนี้เป็นผล อันนี้เป็นผล อันนี้เป็นมรรค

ผลอะไร แค่ทำลายวัชพืชออกไป โลกทั้งโลกมันทับอยู่ที่กลางหัวใจ ดินทั้ง ๓ โลกธาตุถมอยู่ที่หัวใจ ยังไม่เห็นการแตกสลายออกไปจากใจเลย นี่มันถึงน่าขยะแขยงว่ากิเลสนี้ทำไมมันเจ้าวัฏจักรนัก กิเลสนี้ทำไมมันข่มขี่แล้วถึงเจ็บป่วยแสบร้อนขนาดนี้ กิเลสนี้มันเหยียบย่ำเรา แม้แต่ว่าประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็ยังเหยียบย่ำอยู่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นน่ะ มันถึงไม่เห็น ถึงไม่เห็น การไม่เห็น การไม่ขุดคุ้ย การไม่ยกขึ้นเพราะการไม่ยกขึ้น การไม่ขุดคุ้ย มันถึงไม่มีงานทำ

พอมันไม่มีงานทำ มันก็เป็นความว่างในตัวมันเอง ความว่างอันนั้นกิเลสมันแค่สงบตัวลง สงบตัวลง วัชพืชเราตัดออกแล้ว เราทำลายวัชพืช ฝนตกมาห่าเดียวเพราะดินนี้ชุ่มไปด้วยรากของวัชพืช มันจะงอกงามเจริญเลย สมาธิก็เหมือนกัน ทำความสงบของใจสงบขนาดไหนก็แล้วแต่ว่า กิเลสไม่มีเลย มันว่างหมดเลย พอมันกระทบกับกามคุณเท่านั้นแหละ มันเจริญงอกงามออกมาอีกแล้ว ถึงว่าความว่างนั้นมันเป็นแค่สัมมาสมาธิ เป็นแค่ควรแก่การงาน มันต้องยกขึ้นวิปัสสนา

ยกขึ้นวิปัสสนาในภูเขาเลากาเหรอ ยกขึ้นวิปัสสนาในอวกาศเหรอ มันไม่ใช่ ยกขึ้นวิปัสสนาในอวกาศ อวกาศเป็นกิเลสเหรอ ภูเขาเลากา แก้วแหวนเงินทองในโลกนี้เป็นกิเลสเหรอ ทอง แร่ธาตุทอง ธาตุทอง แร่ธาตุของทองเอาไปวิเคราะห์สิ มันมีกิเลสอยู่ตรงไหน ในแบงค์ในเงินมันมีกิเลสอยู่ตรงไหน? มันไม่มี ไอ้ใจที่เป็นกิเลสต่างหากไปติดมัน ไอ้หัวใจที่มีกิเลสต่างหาก ไอ้หัวใจของเราต่างหากที่ไปติดมัน มันถึงต้องวิปัสสนา ต้องทำลายกิเลสที่หัวใจ เพราะหัวใจมันติดที่กายกับใจ

หัวใจ ทำไมมันติดหัวใจอีกล่ะ หัวใจทำไมมันติดจิตล่ะ? เพราะหัวใจมันเป็นสิ่งที่รองรับภาชนะธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลสออกทั้งหมด มันธรรมทั้งแท่ง ธรรมล้วนๆ ในใจของพระพุทธเจ้า แต่ในใจของเรามันกิเลสล้วนๆ แต่ก็มีใจเหมือนกัน ถึงว่ามันติดกับใจ ใจกับกิเลสนี้เป็นอันเดียวกัน มันเป็นความลำบากตรงนี้ มันเป็นความลำบากที่ว่า แม้แต่กิเลสกับใจมันก็เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเราเกิดมาจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

ศาสนาพุทธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้ประเสริฐ ประเสริฐสุด ประเสริฐจนสามารถผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามดวงนั้นหลุดพ้นจากกิเลสไปได้ มันไม่มีสิ่งนี้มาก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ไม่มี ในการเห็นธรรม ในการทำใจให้พ้นจากวัฏฏะ ไม่เคยมี ไม่เคยมีเลย จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนั่นถึงเป็นเอก ธรรมเป็นหนึ่งที่ในหัวใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นคือเป็นธรรม นั้นคือใจที่บริสุทธิ์

แต่ในเมื่อใจมันเป็นกิเลส ใจมันมีกิเลสอวิชชาครอบคลุมอยู่ มันถึงว่าธรรม หัวใจที่จะเป็นภาชนะใส่ธรรมมี อันนี้ต่างหากถึงว่าเป็นวาสนาของผู้ที่เกิดมา ผู้ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนานี้มีวาสนาเพราะมีกายกับใจ ใจดวงนั้นเป็นภาชนะที่จะบรรจุธรรมได้ ถึงเป็นวาสนาของผู้ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เป็นวาสนาของผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้นักรบที่จะออกประพฤติปฏิบัติ เป็นนักรบ รบกับกิเลส นักรบที่จะรบกับกิเลส มันถึงมีหัวใจ ถึงมีวาสนา

ฉะนั้นพอปฏิบัติไป กิเลสมันก็ยังหลอกเราอยู่ ในเมื่อกิเลสมันหลอกเราอยู่ เราจะไปยอมแพ้กิเลสเหรอ ในเมื่อกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ในเมื่อกิเลสมันพาให้เราทุกข์อยู่นี่ ทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถึงมันจะหลอกว่า ในการยกขึ้นวิปัสสนามันจะไม่ยก มันจะว่าอันนี้เป็นความเวิ้งว้างเป็นอวกาศอยู่แล้ว มันถึงได้ยิ่งวิปัสสนาในการส่งออก วิปัสสนาผิด วิปัสสนาในอวกาศ ในภูเขา ในแก้วแหวนเงินทอง ไม่ใช่กิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ ใจนี้อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา ร่างกายที่เข้มแข็ง ร่างกายที่เข้มแข็งที่เป็นสุภาพบุรุษ มันถึงบรรจุหัวใจที่เป็นสุภาพบุรุษ หัวใจที่เป็นอาชาไนยอยู่ในร่างกายนั้น

ถึงได้เรียนปริยัติมาจากอุปัชฌาย์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” คือกาย อวิชชาอยู่กับจิต จิตคือขันธ์ ๕ มันอยู่กับเราทั้งหมดเลย มันถึงว่า แม้แต่ประพฤติปฏิบัติ ใจที่อยู่ ใจที่ว่าเป็นภาชนะนั้นกิเลสมันก็อยู่ท่วม มันต้องชำระกิเลสออกไป ความที่ทำออกไปถึงต้องพิจารณากายกับใจเท่านั้น กายกับใจที่เห็นตามความเป็นจริง ตามสภาวะขุดค้น

การยกขึ้นสติปัฏฐาน ๔ การยกขึ้นสติปัฏฐาน ๔ เราได้แต่ชื่อสติปัฏฐาน ๔ เราได้แต่ความจำสติปัฏฐาน ๔ เราได้แต่มโนภาพของกายกับจิต แต่เราไม่เคยเห็นตามความเป็นจริงของกายกับจิต กายที่เขาเห็นกัน นายแพทย์ที่เขาผ่าตัดในโลกนี้ เขาผ่าตัดในคนเรา ผ่าตัดมาเป็นแสนๆ คน ไม่มีนายแพทย์ไหนที่เป็นอริยบุคคลขึ้นมาจากการใช้มีดผ่าตัด ไม่มี เพราะมันเป็นกายนอก

กายในก็เหมือนกันมีดผ่าตัดผ่าไม่ได้ ผ่าเข้าไปก็เห็นเนื้อ เห็นเลือด แต่เพราะหัวใจมันติดในเลือดในเนื้อ หัวใจมันติดอยู่ในกายนี้ มันต้องอาศัยตาธรรม ตาธรรมผ่า มีดผ่าแล้วไม่เห็น มีดผ่าคือเป็นโลกไปหมด แต่ถ้าตาธรรมตั้งกายขึ้นมาตามหลักความเป็นจริงนะ เห็นตาธรรม ธรรมเห็นกายเห็นจากสภาวะข้างใน สภาวะที่เห็นกาย ตั้งกายขึ้น ให้กายแปรสภาพ ให้กายเป็นอนิจจัง ให้กายตั้งขึ้นเป็นปฏิภาคะ

การเห็นกายครั้งแรกก็ตื่นเต้น เพราะนั่นคือบาทฐานของที่กิเลสอาศัยอยู่ ในเมื่อสัมมาสมาธิยกขึ้นเป็นวิปัสสนา เพราะเห็นตามความเป็นจริงแล้ว นั่นน่ะคือการต่อสู้ จากกิเลสที่มันหลอกเราอยู่ เราก็สามารถย้อนกลับ ย้อนกิเลสกลับไป ย้อนกิเลสกลับไป จนเข้าไปจับได้ ต้องย้อนกิเลสกลับไป กิเลสมันจะหลอกให้เราส่งออกไปวิปัสสนาในอวกาศ ในภูเขาเลากาในแก้วแหวนเงินทอง

แต่เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แล้วยังเป็นนักบวช เป็นพระสงฆ์อีกต่างหาก เป็นผู้ทรงอริยประเพณีของพระอริยสงฆ์ในสมัยพุทธกาล เป็นผู้ทรงประเพณีของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงประเพณี ประเพณีวัฒนธรรมนั่นเป็นเปลือก ใจที่เป็นธรรม ในเมื่อเราทรงไว้แล้วเราถึงย้อนกลับ ย้อนกลับเข้ามาดูภายใน ยกใจขึ้น บวชใจให้ได้ จะบวชใจให้เป็นอริยเจ้าตามหลักความเป็นจริง ถึงว่าพอบวชเข้ามาใจมันพร้อม ใจมันพร้อม ใจมันมีสมาธิแล้วยกขึ้น ยกขึ้น กายพอตั้งขึ้นมาเห็นตามความเป็นจริง

จากกายนอกกายปกติ กายนอกที่หมอเขาผ่าตัดกันอยู่ เขาไม่เห็นแบบเรา หมอนี่เป็นแสนๆ ในโลกเรานี่ทำงานของเขาไปวิชาชีพ แต่เราเป็นภิกษุสงฆ์ เราเป็นพระ เราเป็นนักรบ เราจะรบกับกิเลส มันต้องให้ตาใน ตาธรรม ตาสมาธิเห็นกายตามความเป็นจริง กายนี้มันเป็นโครงภาพ เป็นภาพที่เห็นกะโหลก เป็นภาพที่เห็นอวัยวะ ๓๒ ของเรา หรือเห็นทั้งร่างแล้วแต่วาสนาบารมีของบุคคลที่จะเห็น มันต้องเห็นตามความเป็นจริงจากภายใน แล้ววิปัสสนากันภายใน

เพราะภายในมันกระเทือนกิเลส มันกระเทือนหัวใจที่ชำระกิเลสนั้น กิเลสมันอยู่ที่ใจ ใจเกาะเกี่ยวอยู่ที่กาย ถ้าขณะวิปัสสนาอยู่แล้วทำลายกายนั้นแปรสภาพออกต่อหน้าต่อตา กิเลสไหนมันจะหน้าด้าน กิเลสไหนมันจะยึดขนาดไหน แต่ในเมื่อมันจับต้องสิ่งใดไม่ได้เพราะมันสลายออกไปหมด กิเลสมันอยู่ที่ไหน กิเลสมันจะอาศัยบนอะไร

ในเมื่อกิเลสมันคือความหลง หลงว่ากายนี้เป็นของเรา หลงว่าจิตนี้เป็นของเรา หลงว่าทุกๆ อย่างนี้เป็นของเรา มันหลง มันหลงมันถึงบวชตัวเองไม่ได้ ความหลงคือความปลอม ของปลอมคือความหลง ในเมื่อมันหลง มันใช้ไฟเทียมๆ ไฟพลาสติก มันใช้สิ่งต่างๆ ที่จะบวชมัน มันใช้สิ่งต่างๆ ที่ว่ามันเป็นของปลอมมาบวชใจ บวชกันที่หนังสือ บวชกันที่การเขียน บวชกันที่สมมุติเหรอ

แต่ในเมื่อถ้าบวชตามความเป็นจริงสิ ตบะธรรมที่เราสร้างขึ้นมา มันสว่างขนาดไหนนั่นคือตบะธรรม ความเห็นจากภายใน สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา ปัญญาที่เป็นสัมมา ตบะธรรมที่เป็นธรรม มันเผาผลาญจากข้างใน นี่มันเผาผลาญจากตบะธรรม จากไฟจริง จากไฟที่เป็นคุณเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเผาผลาญให้กิเลสชำแรกออกไป

จากของดิบกลายเป็นของสุก จากใจที่ดิบๆ จากใจที่เป็นปุถุชนยกขึ้นให้ใจมันสุก นี่บวชใจ ใจมันสุก เขาบวชผลไม้กัน บวชกล้วยบวชชีเขาบวชอะไร เขาใช้ไฟอ่อนไฟแก่เพื่อจะให้มันสุก ให้เรากินได้รสชาติ

หัวใจก็เหมือนกัน ตบะธรรมที่แผดเผา ความแผดเผาอย่างเดียว ความแผดเผาไฟอย่างเดียวเอาใจไปบวชมันก็โดนเผาอย่างเดียว เผาให้ใจสงบได้ แต่ไม่มีปัญญา ปัญญา ความแผดเผาของตบะ กับใช้ปัญญาขุดคุ้ย ปัญญาชำแรกออกจาก เอาให้กิเลสมันเผาไหม้ออกไปจากใจ ให้ใจนี้เป็นเนื้อบริสุทธิ์ ให้ใจนี้สุกขึ้นมา นี่การบวชใจ

การบวชใจด้วยวิธีการพิจารณากาย การบวชใจด้วยการพิจารณาใจ ใจกับกายอาศัยอยู่ด้วยกัน วิปัสสนามันได้ทั้งกายและใจ ในสติปัฏฐาน ๔ การบวชใจด้วยใจก็พิจารณาใจกับใจเข้าไป การบวชด้วยกายพิจารณาจนกายมันแปรสภาพไป พิจารณากายแปรสภาพ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จะหลุดออกไปเลย

จากที่ความเป็นความหลง ความหลง ความเห็นว่าเป็นเรา ถึงจะเชื่อธรรมะพระพุทธเจ้าในภาคปริยัติ แล้วเราเป็นประพฤติปฏิบัติด้วยก็ยังเชื่อแต่ปาก เพราะความหลงคือความอวิชชา ความหลงมันอยู่ในเนื้อของใจ มันไม่ใช่อยู่ที่ว่าปากพูด หรือไม่ได้อยู่ที่ความนึกคิด ความนึกคิดนี้ก็เป็นขี้ของกิเลส เพราะมันนึกก่อน มันเริ่มดำริขึ้นมา แล้วมันก็นึกแล้วมันเป็นผลออกมา เห็นไหม กิเลสมันขี้มันถ่ายแล้วมันก็ไปแล้ว

แต่เราก็ยังหลงอยู่ นี่จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกของใจมันหลง มันหลง มันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง แต่ความพูดข้างนอกเป็นปริยัติเข้าไปว่าเรารู้หลักความเป็นจริง กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย แต่มันไม่ขาด พิจารณาจนกายที่ว่ามันแปรสภาพเห็นเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา แปรสภาพไปทั้งหมดเลย มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นการสอนใจ

วิปัสสนาคือการพลิกใจ พลิกใจดู พลิกกายดู เพราะใจมันติดที่กาย เราพิจารณากาย พลิกไปพลิกมา อะไรมันเห็นกายล่ะ? ก็ใจมันเห็นกาย จากมันโง่ๆ มันติดข้องกันอยู่ให้มันฉลาดขึ้นมา กว่าที่มันฉลาดขึ้นมา คือว่ามันฉลาดตรงไหน?

ฉลาดทางโลกเขาก็กว้านกันไป ปัญญาโลก วิชาชีพ

แต่ฉลาดทางธรรม ฉลาดที่ว่ามันโง่เพราะจิตมันหลง ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริงเพราะมันแปรสภาพให้เห็นต่อหน้า ไม่มีมิติ ไม่มีกาลเวลา เข้ามาในวิปัสสนาญาณขณะนั้น พิจารณากายจนกายแปรสภาพออกไป มันเห็นจะๆ ซึ่งๆ หน้า ความเห็นจะๆ ซึ่งๆ หน้านี่แหละ มันถึงจะอ๋อ! พออ๋อ! ขึ้นมามันก็ฉลาดขึ้นมา

ฉลาดในการรู้จากตามความเป็นจริงว่ากายนี้ไม่ใช่เรา มันแปรสภาพอยู่ตามความเป็นจริงในธรรมะของพระพุทธเจ้า สวดมนต์เช้า ทำวัตรเช้าก็บอกอยู่แล้ว กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต เห็นไหม เราสวด เราท่อง เราบ่นอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริงจากภายใน มันจะร้อง อ๋อ! แล้วมันจะปล่อย มันจะสลัดทิ้งทันทีเลย ความสลัดทิ้งหลุดออกไปนั่นน่ะ อันนั้นถึงจะเป็นปัจจัตตัง

มันเหนือโลกเหนือสงสาร ใน ๓ โลกธาตุนี้ไม่มี แต่ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่จะบวชใจของตัว ผู้ที่ปฏิบัติ การบวชใจของตัวมันต้องใช้ใจบวชใจ มันต้องใช้ตบะที่เราสร้างสมขึ้นมา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่มีธรรมในใจของเรา จริงอยู่ เราก็เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมที่เรากราบเราไหว้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบไหว้นั้น ธรรมอันนั้นมาบวชใจเรา

จริงอยู่ ใจบวชใจ แต่อาศัยธรรมของพระพุทธเจ้าจากเป็นปริยัติที่ศึกษามาจากพระไตรปิฎกเป็นตู้ๆ นั่น แล้วก็จากอุปัชฌาย์สอนเข้ามา แล้วคำที่ท่องบ่นในการประพฤติปฏิบัติทีแรกมันก็ยังเป็นคำท่องบ่น เป็นปริยัติภายใน เป็นปริยัติที่ขณะปฏิบัติอยู่ ปริยัติอยู่คือการท่องจำ ท่อง ท่อง ท่องเข้ามาพุทโธ พุทโธ เข้ามาแล้วก็ต้องยกขึ้นปฏิบัติด้วยวิปัสสนาญาณ ลึกเข้าไปแล้ว ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนามันก็เป็นปริยัติของใจตลอดไป ปริยัติในภาคปฏิบัติตลอดไป คือการจำมาทั้งหมด

ในเมื่อมีปฏิบัติในใจคือยกขึ้นวิปัสสนาอันนั้น การปฏิบัติ การยกขึ้นวิปัสสนา การใคร่ครวญจิตและใจ กับกาย ระหว่างกายกับใจนี้ อันนี้ต่างหากที่ว่าเป็นภาคปฏิบัติภายใน จากปริยัติเป็นปฏิบัติ ปฏิบัติกันซึ่งๆ หน้า

แล้วปฏิเวธล่ะ? การศึกษาข้างนอก เวลาจบงานรับปริญญากัน รับใบประกาศ นักธรรมตรี นักธรรมโธ นักธรรมเอก แต่อันนี้ใจเป็นอริยบุคคลชั้นตรี ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ชั้นด็อกเตอร์ ชั้นหลุดออกไปจากอวิชชาทั้งหมด เห็นไหม ใครเป็นผู้ที่มอบให้ล่ะ ใครมอบความรู้อันนี้ให้?

ไม่มี ธรรมตามสัจจะ ธรรมตามความเป็นจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่แล้ว ธรรมอันนี้เป็นสัจจะตามความเป็นจริง สัจจะของจริงเข้ากับผู้ที่ปฏิบัติจริง ผู้ที่รู้จริง ผู้ที่เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน หลุดไปจริงๆ เป็นอกาลิโก ธรรมอันนี้ธรรมที่ไม่มีกาลไม่มีเวลา กับหัวใจที่เกิดดับเกิดดับมันเป็นของสมมุติอยู่ แต่มันมีภาชนะในใจที่เป็นอกาลิโกอยู่เหมือนกัน

การเกิดตายมันเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ แต่ใจนั้นไม่เคยตาย กับอกาลิโกของธรรมที่มีอยู่โดยธรรมชาติอยู่อันนี้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ต่างหาก มารู้อันนี้ แล้วเราก็เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็กำลังดำเนินทางอยู่เข้าไป แล้วมันไปประสบเข้าจริง มันก็เป็นจริงในใจของดวงที่ปฏิบัติไง นั่นคือการบวชใจ

ถ้าใจได้บวชอย่างนี้ด้วยใจบวชใจ เราก็เป็นคนที่ประเสริฐ ประเสริฐขึ้นมา เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บวช ได้บวชในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริงของสมมุติเขา แล้วก็ยังมีความมุมานะเชื่อ ออกประพฤติปฏิบัติในที่วิเวก ในที่สัปปายะ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)