เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ก.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพวกเรา เห็นไหม พูดถึงปรารถนานี่อยากเห็นพระดีๆ เห็นวัดดีๆ แต่เวลาวัดดีๆ มันดีของใครล่ะ? ความดีของเรา เราก็คิดในสมองว่าความดีต้องเป็นอย่างที่เราคาดหมาย ความดีอย่างที่เราคาดหมายนะ เวลาเราสวดมนต์ทำวัตรกัน เห็นไหม ความดีที่ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีอะไรมันมีอยู่?

เวลาเรามาอยู่โพธารามใหม่ๆ นะ ชาวบ้านเขานินทาว่า “พระอะไรวะวันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย เดินไปก็เดินมา” เดินจงกรมเขาไม่รู้จักนะ เห็นไหม “พระอะไรวันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย” อ๋อ ถ้าพระดี คือพระต้องไถนาใช่ไหม? พระต้องทำไร่ไถนาอย่างพวกโยมใช่ไหม ถึงจะเป็นพระที่ดี นี่ไงความดีที่ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ เพราะอะไร? เพราะความไม่เข้าใจของเขา นี่ความรู้สึกของเขา เขาเข้าใจได้ของเขา

หลวงตาพูดประจำนะ “คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก” ถ้าคนโง่มาก คนโง่มันติเตียน คนโง่มันติฉินนินทา ไปถือสาอะไรมัน ก็มันโง่ มันไม่รู้หรอก ในเมื่อมันโง่ มันไม่เข้าใจ มันก็พูดประสามัน วัดดีๆ ดีของใคร? ดีของเขา เวลามาวัดก็ต้องบริการกัน เห็นไหม พระที่นี่มีปฏิสันถาร พระที่นี่ดี.. ปฏิสันถารนะ คารวะ ๖ หลวงปู่ฝั้นพูดประจำ

“ศาสนาจะเจริญ ศาสนาจะเสื่อม อยู่ที่คารวะ ๖”

คารวะ ๖ นะ เวลาประชุม ประชุมพร้อมกัน เวลาเลิก เลิกประชุมพร้อมกัน หมั่นประชุม หมั่นเลิกพร้อมกัน มีความสามัคคีในหมู่สงฆ์นั้น อาคันตุกะมา เห็นไหม อาคันตุกวัตร อาจริยวัตร มีการต้อนรับขับสู้กัน แล้วมันจะไม่เก้อเขิน พระเราจะมาสมานสามัคคีกัน

อาคันตุกวัตร เป็นอาคันตุกะไป มันมีกติกาของเขา เราเป็นอาคันตุกะมานี่ ในวัดเขาทำอย่างไร? อาจริยวัตร ผู้ที่ต้อนรับไม่รู้จักต้อนรับเขาก็เป็นอาบัติ อาบัติหมดนะ แต่คนมาก็ต้องมีกติกาของเขา เขามา เห็นไหม มาถึงเดินเข้าไปในเขตวัด ถ้าผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสมีพรรษามากกว่า ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ข้างนอก เอารองเท้ามาเคาะก่อนแล้วเก็บไว้ ต้องลดผ้าลง ห่มเป็นผ้าห่มลดไหล่ ในวินัยบอกไว้หมด

นี่ความดี.. ความดีของใคร? แล้วพอเข้าไปในวัดบอกวัดนี้ดี โอ้โฮ.. ขับรถเข้ามานะจะเข้าไปถึงกุฏิเลย บอกว่าวัดนี้ดี ความดีของใคร? ความดีของใคร? ถ้าความดีของใครนี้ เขาบอกว่าเขาต้องมีปฏิสันถาร ต้องมีอาคันตุกวัตร มี! อาคันตุกวัตรโดยธรรมวินัยไม่ใช่โดยโลก โดยโลก เห็นไหม ไม่มีขอบมีเขต นี่โดยโลกไง แล้วก็ว่าวัดดีๆ แล้วมันจะเหลือวัดดีไว้ไหม?

หลวงตาท่านพูดอยู่ประจำ ท่านบอกเลยนะ “วัดนี่เปรียบเหมือนสระน้ำ สระน้ำที่ใสสะอาด ใครมาก็ได้ตักดื่มกิน ได้ใช้สอยของเขาไป มีใครเข้าไป ก็เอามูตรเอาคูถ ไปเยี่ยวใส่ขี้ใส่ในสระน้ำนั้น ใครจะใช้น้ำนั้นได้”

นี้ไปวัดไปวาก็เหมือนกัน เอาอารมณ์ความรู้สึกเรา ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง หลงตัวเอง ความโลภ ความหลงของตัวเอง ใครก็ว่ารู้ๆ เห็นไหม เรียนมาขนาดไหนก็ว่ารู้ขนาดนั้น เราเป็นชาวพุทธนะ เราเป็นคนที่มีอำนาจวาสนามาก

พุทธศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธศาสนาสอนถึงหัวใจของเรา ศาสนาอื่นอ้อนวอนขอเอา ลัทธิศาสนาต่างๆ มันก็เหมือนกับไปเข้าทรงเจ้านั่นล่ะ ไปอ้อนวอน ไปขอกันเอา แต่ตรรกะ ปรัชญา ว่ากันไปนะ โอ้โฮ.. ดูดดื่มซาบซึ้งมาก แต่แก้ไขอะไรไม่ได้หรอก มันแก้ไขอะไรได้ เพราะการแก้ไข เห็นไหม มันต้องแก้ไขที่เรา

เราทุกข์เรายาก ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเอง เราจะแก้ไขเราได้อย่างไร? พุทธศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สิทธิเสรีภาพของทุกๆ คนมีเท่ากัน คนเกิดมาครรภ์ จากท้องพ่อท้องแม่ต้องมีจิตวิญญาณ เพราะมีจิตวิญญาณ ปฏิสนธิจิต ในไข่ของมารดาถึงมาเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ มนุษย์ทุกคนมีหัวใจ หัวใจอันนั้นเป็นความทุกข์ หัวใจที่เกิดมาในร่างกายมนุษย์นี่มันมีความทุกข์ความยาก

พุทธศาสนาสอนที่นี่ สอนให้แก้ทุกข์แก้ยาก.. แก้ทุกข์แก้ยากที่ไหน?

“ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

การเกิดนี่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ไปแก้กันที่การเกิดและการตาย พอเราเกิดมาแล้ว การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้ามีการเกิดที่ไหน? มีสถานะที่ไหน? มันต้องมีการรอรับที่นั่น ต้องมีการรับภาระที่นั่น การเกิดที่ไหน? ที่ไหนมีการเกิด ที่ไหนมีอัตตาตัวตนขึ้นมา ที่นั่นเป็นความทุกข์ทั้งหมด เห็นไหม ชาติปิ ทุกขา

แต่เราเกิดเป็นมนุษย์นะ พอเราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมานี่มนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์นะ เราทำหน้าที่การงาน ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว หาเงินก็ได้เงิน หาทองก็ได้ทอง เห็นไหม ไปปล้นชิงเขาก็ได้เงินได้ทองมาแต่ปล้นชิง เป็นพระเป็นเจ้าก็เหมือนกัน สมบัติของมนุษย์ สมบัติของพระ เห็นไหม เวลาเราบวชเราเรียนขึ้นมา สมบัติของพระคือศีลธรรม

ศีลธรรม คุณธรรมในหัวใจ สิ่งนี้เป็นสมบัติของพระ สมบัติของพระนะต้องมีธรรม มีวินัย สมบัติของโยม สมบัติของคฤหัสถ์เขา เขาก็มีปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา เวลาเราบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาแล้ว เราอยู่ในวัด อารามเป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล ไม่มีสมบัติเป็นส่วนตน ไม่มีเลยเป็นของส่วนกลาง เรามาอาศัยกุฏิวิหารของใคร? เขาสร้างไว้เป็นอาราม เป็นที่อยู่ของผู้ไม่มีเหย้าไม่มีเรือน

เราเป็นคฤหัสถ์นะ เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์นี่มีคุณค่า มีคุณค่าทำคุณงามความดีก็ได้ ทำความชั่วก็ได้ มนุษย์จะมีหัวใจที่เปิดกว้าง มนุษย์จะทำความดีขนาดไหน เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่พระพุทธเจ้าสอนถึงฆราวาสธรรม

ภิกษุคือผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร จะต้องทำที่เข้มแข็งกว่าเขา แต่นี่อ่อนแอกว่าเขานะ เห็นโยมมา โยมเป็นผู้อุปัฏฐาก โยมนี้เป็นเจ้านายเลย พระนี่กลับเป็นภารโรง คอยเปิดประตูวัดต้อนรับ “เชิญครับ เชิญครับ” แล้วจะเอาพระดีมาจากไหน?

เพราะพระดี เขาต้องการเวลาของเขา เขาต้องการเวลาเพื่อบ่มเพาะหัวใจของเขา การบ่มเพาะหัวใจนะ ศาสนทายาท เราไม่มีศาสนทายาท เราไม่สร้างภิกษุขึ้นมา สร้างศาสนทายาทขึ้นมา ศาสนามันจะอยู่ที่อะไรล่ะ? ศาสนา เห็นไหม ผู้นำในพุทธศาสนาคือภิกษุ พระสงฆ์ พระสงฆ์คือผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร พยายามแก้ของเราที่นี่ให้ได้

สมบัติข้างนอกมันเป็นเครื่องอาศัยนะ ปัจจัยเครื่องอาศัย เห็นไหม โลกเขาต้องหาอยู่หากินกัน พระก็ต้องมีปัจจัย ต้องบิณฑบาต ต้องมีที่อยู่อาศัยเหมือนกัน มีที่อยู่อาศัยเหมือนกันแต่มีเพื่อดำรงชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ ไอ้นี่มันเป็นพื้นฐาน เพราะปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้ามีพื้นฐานของชีวิตแล้วเอาชีวิตนี้ไปทำอะไร? เอาชีวิตนี้ไปทำประโยชน์อะไร?

ถ้าชีวิตนี้ทำประโยชน์ นี่พระ เห็นไหม ผู้ที่ฉลาด แต่นี้โลกเขาไม่รู้จัก เขาก็ว่า “เอ๊ะ.. ทำไมพระไม่ทำอะไรเลย เดินไปเดินมา นั่งเฉยๆ” นั่งเฉยๆ โยมนั่งเฉยๆ บ้างสิ นั่งสมาธิซักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง นั่งเฉยๆ สิ เวลานั่งเฉยๆ ขึ้นมาก็นั่งไม่ได้นะ เวลาทำงานขึ้นมาก็บ่นทุกข์บ่นยาก เวลาจะภาวนาขึ้นมาก็นั่งไม่ได้อีก มันไม่เอาอะไรเลยนะ กิเลสจะไม่ให้ทำอะไรเลย

นี่มันงานหยาบๆ ไง งานทางโลกเขางานหยาบๆ แค่นั้นงานหยาบๆ เห็นไหม งานหยาบๆ เรายังต้องทนทุกข์ทรมานกันขนาดนี้ งานหยาบๆ เรายังต้องแข่งขันทางสังคม เราต้องมีปัญญาของเรา เราต้องมีจุดยืนในสังคมของเรา นี่งานหยาบๆ นะ! แล้วงานละเอียดล่ะ?

งานละเอียดนี่ไง งานนั่งนิ่งๆ กำหนดจิตให้ได้ เอาใจไว้ในอำนาจของเรา สิ่งที่มันทุกข์มันยาก เห็นไหม ถ้าเราไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ เราจะนั่งไหม? เวลานั่งขึ้นมาแล้วโอดโอยนะ นั่งขึ้นมานี่ แล้วก็บอกเวลาทำงานก็บ่นว่าทุกข์ เวลานั่งสมาธิมันก็ไม่นั่ง เวลาทำงานมันก็เอาไม่ได้ ไม่เอาซักอย่าง โลกก็ไม่เอา ธรรมก็ไม่เอา แล้วเราจะเอาอะไรล่ะ? แล้วก็ว่าเราจะแก้ทุกข์แก้ยากไง

นี่พุทธศาสนา เห็นไหม ถ้าแก้นี่ปลดทุกข์ปลดยาก รื้อภพรื้อชาติ ถ้ารื้อภพรื้อชาติมันรื้อที่ใจนี้ ถ้ารื้อที่ใจนี้นะจิตมันต้องสงบเข้ามาก่อน ถ้าจิตสงบ เห็นไหม บริกรรมก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้ปัญญาอะไร? คือสิ้นสุดกระบวนการของความคิดทั้งหมด ฤๅษีชีไพร นักพรตต่างๆ เวลาปฏิบัตินี่สมถะทั้งนั้นแหละ สิ้นสุดกระบวนการของมันคือสงบหมด แต่มันมีตรรกะ เอาตรรกะมาหนุนความคิดตัวเอง เกิดความคิดว่า “อู้ฮู.. เกิดปัญญาๆ”

ปัญญาของกิเลสนะ ปัญญาความคิดของเรา ถ้าจิตไม่สงบเป็นปัญญาของกิเลสทั้งหมด แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาเหมือนกันแต่อบรมให้มันเป็นสมถะ อบรมให้มันกลับมารู้จักตัวตนของเรา

ถ้ามีความสำนึก มีความรู้สึกตัวเรา เห็นไหม ความสำนึกรู้จักตนนี่แหละ ทีนี้ความสำนึกรู้จักตน ตนไม่รู้จักตนนะ เราไม่รู้จักตัวเราเองนะ โอ้โฮ.. แต่ธรรมะเต็มหัวเลยนะ โอ้โฮ.. พูดธรรมะแจ้วๆๆ เลย แต่หาตัวเองไม่เจอ

ทุกข์อยู่ที่ไหน! ทุกข์เกิดจากใคร! นี่ธรรมะแก้ทุกข์ๆ ว่างๆ ว่างๆ อากาศมันก็ว่าง ในตุ่มในไหมันก็ว่าง มันปล่อยวางหมดแหละ ในตุ่มในไหมันก็ว่าง นี่มันว่างของมัน มันไม่มีใครรับผิดชอบของมัน มันว่างโดยธรรมชาติของมันใช่ไหม แต่หัวใจเรามันไม่ว่าง คำว่าว่างๆ ใครรู้ว่าว่าง? พอว่าว่างๆ ว่างๆ ว่างมาจากไหนล่ะ? มันเป็นอากาศลอยมาเหรอ? อากาศมันลอยมาเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรคงที่หรอก

ความว่างมันต้องมีสติ เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ ความว่างที่เรารู้สำนึกตัวเอง จับต้องตัวเอง จิตมีคำบริกรรมเข้าไป มันต้องมีผู้กระทำ มันต้องมีผู้บริหารจัดการ สตินี่ผู้บริหารจัดการ นี้เขาว่าสติก็ไม่ต้องทำ อะไรก็ไม่ต้องทำ ถ้าทำสติแล้วมันเป็นการเกร็ง มันจะเป็นการที่ว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค ปล่อยมันสบายๆ สบายๆ สบายๆ ก็กิเลสไง

นี่ไงความดีที่ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีนะ เรามาวัดมาวานี้ก็เป็นความดีอันหนึ่ง เพราะมันเป็นสมบัติของเรานะ อามิส บุญเกิดจากอามิส เกิดมาจากการเสียสละ การเสียสละนี่ฝึกใจของเราให้เสียสละ พอเสียสละไปแล้วได้ฟังธรรม สิ่งที่ฟังธรรมนี่ไปวัดไปวา เพราะสิ่งนี้มันทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นมา

ทานแล้วก็มีศีล ศีลคือความปกติของใจ นี่ความปกติของมัน ปกตินะ ถ้าคนโง่ ปกติมันบอกว่า “นี่ล่ะนิพพาน ก็มันปกติแล้วไง ไม่ทำอะไรใครเลย” นั่นล่ะหินทับหญ้าไว้ นี่มันทำสมาธิขึ้นมา แล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร? มันจะละเอียดเข้าไป ความดีที่มีกว่านี้ ความดีเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าไม่บอกไว้หรอก สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

สิ่งกระบวนการที่เขาทำ อย่างมากที่สุดก็จินตมยปัญญา จินตนาการกันไป พอจินตนาการก็เป็นเรื่องของเด็กๆ นวนิยายไง นี่มันเขียนนิยายกัน แล้วนิยายของกิเลสมันละเอียดกว่าเราอีก กิเลสมันเป็นเรา กิเลสมันหลอกเรา นั่นก็นิยายของกิเลส กิเลสมันก็สร้างภาพขึ้นมา วาดภาพขึ้นมา แล้วเราก็เคลิบเคลิ้มไปกับมัน

จินตมยปัญญา เพราะมันไม่เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากตัวตนของเรา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากความเห็นของเรา ถ้าปัญญาเป็นสัจธรรม เป็นอริยสัจ เป็นความจริงขึ้นมา จะไม่พูดอย่างนี้! คนไม่รู้จริง คนไม่เคยเห็นความจริง มันพูดถึงความจริงไม่ถูกหรอก คนไปรู้จริงเห็นจริงขึ้นมาเขาจะไม่พูดสิ่งที่ไม่ตรงกับความจริงเด็ดขาด

ทีนี้เราพูดจากจินตนาการของเรา พูดจากการคาดหมายของเรา มันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไร? คนที่จริง คนที่รู้จริงเขารู้ แต่ไอ้พวกเรามันไม่รู้น่ะสิ ไอ้พวกเรามันก็อยู่เป็นกบในกะลาเหมือนกันใช่ไหม เราก็โดนครอบด้วยกิเลสเหมือนกัน พอเขาพูดมาก็ว่า “อืม.. น่าจะใช่ โอ้.. มันเข้ากันได้ โอ้.. มันว่างนะ มันดีมาก” ไอ้กบในกะลาด้วยกันมันก็โดนหลอกประจำ แต่ไอ้คนที่อยู่นอกกะลามันรู้นะ

จิตที่มันอยู่นอกกะลา มันออกไปจากกิเลส มันฟังรู้หมดแหละ มันรู้เลยว่าอะไรจริงหรือไม่จริง แต่นี้ว่ากบนอกกะลานี่ ดูสิวัฏฏะ โดนครอบไว้ด้วยวัฏฏะ เห็นไหม โดนครอบด้วยอวิชชา มันไม่มีจิตดวงใดที่พ้นออกไปหรอก จิตทุกดวงอยู่ในกะลา อยู่ในอำนาจของมาร อยู่ในอำนาจของกิเลสทั้งหมด แล้วพอเขาจำเอาธรรมะมาพูด “อืม.. น่าจะใช่” น่าจะจริง เพราะอะไร? เพราะโดยศรัทธาของเรา โดยความเชื่อของเรา เราเป็นชาวพุทธอยู่แล้วใช่ไหม? พูดถึงพุทธศาสนา พูดถึงอริยสัจ “อืม.. ก็ใช่”

ก็ใช่! มันเป็นธรรมะสาธารณะ มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว วางธรรมและวินัยไว้ ใครๆ มันก็ท่องบ่นได้ทั้งนั้นแหละ ใครๆ ก็รื้อค้นได้ มันเป็นสมบัติสาธารณะ ใครๆ ก็มีสิทธิ์ สิทธิเสรีภาพของคนมีอยู่แล้ว แล้วศึกษาธรรม ทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะขึ้นมาแล้วมันจริงหรือไม่จริงล่ะ?

ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันจริง แต่ในใจเรามันปลอม ความเห็นเรามันปลอม แต่มันพยายามเคลมให้เป็นความจริง แล้วก็อ้างกันไปนะ ทีนี้ไอ้กบในกะลามันก็ไม่รู้ พอกบในกะลาไม่รู้มันก็เชื่อกันไป เห็นไหม นี่สิทธิเสรีภาพมันมีอยู่จริง ธรรมะก็มีอยู่จริง แต่เราเข้าไม่ถึงความจริงกันนะ

เราเกิดเป็นมนุษย์นะ เราเป็นเจ้าของศาสนา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้นะ “มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ปรินิพพาน”

จนถึงที่สุด เห็นไหม “มารเอย! มารเอย! บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง มั่นคง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน”

นี่ไง เพราะพระพุทธเจ้าวางหลักเกณฑ์เอาไว้ แต่ตอนนี้มันเข้ามาแล้วศึกษากันไป นี่ไงเราเป็นเจ้าของศาสนา ผิดถูกเราพูดได้ เราแก้ไขได้ กล่าวแก้คำจาบจ้วง กล่าวแก้ความเห็นผิด กล่าวแก้การที่คนหลงผิด มันจะเป็นบาปเป็นกรรมไปไหน? นี่ทำอย่างนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ทำให้เกิดไม่มีความสามัคคี

ความสามัคคีชักกันไปลงต่ำ กับความสามัคคีชักเข้าสู่ธรรม ความสามัคคีที่ดีขึ้น จะเอาความสามัคคีไหน? แต่นี่เป็นธรรมและวินัย เวลาธรรมของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าที่ไหน สังคมไหนเขามีความเห็นผิด ถ้าเราพูดไปแล้วมันจะกระทบกระเทือนกัน เราค้านไว้ในหัวใจ เราไม่เห็นด้วยเราก็ค้านไว้ในหัวใจ เราไม่ร่วมด้วย เราไม่ยอมรับกรรมอันนั้น เราไม่รับผิดชอบอย่างนี้ เราค้านไว้ในใจ ค้านไว้ในใจคือว่าเราไม่มีกรรมร่วมไปกับเขา

สังคมความเห็นของเขา โลกมันชักนำไปต่ำ กิเลสเหมือนน้ำมันไหลลงต่ำ ไม่มีหรอกน้ำมันจะขึ้นที่สูง ไม่มี แต่ธรรมวินัยนี้ขึ้น ธรรมวินัยทวนกระแส ขึ้นไปสู่ฐีติจิต สู่การกระทำของเรา แล้วแก้ไขของเรา แล้วจิตถ้ามันพ้นออกไปแล้วนะ จะไม่พูดเหมือนกบในกะลาอย่างนั้น กบในกะลามันพูดกันอย่างนั้นมันเป็นปรัชญา ถ้าเราเป็นกบนอกกะลา เราจะเห็นว่ามันกว้างขวางกว่านั้น ดีกว่านั้น ประเสริฐกว่านั้น

นี่ธรรมะจริงๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา นี้ประเสริฐที่สุด สมบัติอันนี้มีค่ามากนะ ครูบาอาจารย์ถ้าท่านเข้าไปถึงธรรมนั้นท่านจะถนอมรักษามาก ดูสิถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีนะ พวกเราสาวก สาวกะทำจนตาย ทำไปเถอะไม่รู้เรื่องหรอก แต่นี่เพราะธรรมวินัยมันวางเป็นกรอบไว้ แล้วเราทำของเรา ทำเข้าไปให้ถึงได้

นี่สิ่งที่มีอยู่ แล้วมี ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว พระพุทธเจ้าบอก ๕,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปีมันจะเสื่อมไปๆ เพราะอะไร? เพราะคนไม่เชื่อ มันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งดูกบในกะลาสิ มันบอกมันมีคุณธรรมกัน แล้วมันก็โป้ปดมดเท็จกันไปอย่างนั้น แล้วใครจะเชื่อ?

คนที่เป็นจริงเขาเห็นแล้วเขาเชื่อไม่ได้ พอเขาเชื่อไม่ได้ นี่ศาสนามันเสื่อมมันเสื่อมตรงนี้ไง เสื่อมตรงที่ว่าถ้าเขาบอกว่าเขามีคุณธรรมทำไมทำตัวอย่างนั้น? มีคุณธรรมทำไมทำตัวอย่างนั้น? ทำไมมีพฤติกรรมอย่างนั้น? พฤติกรรมอย่างนั้นมันเป็นคนมีคุณธรรมหรือ?

มันมองกันออก ดูกันออกได้นะ มันจะเสื่อมไปๆ เพราะคนไม่เชื่อ แต่ธรรมะไม่เคยเสื่อม ถ้าธรรมะเสื่อม พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ไม่ได้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาองค์ที่ ๔ นี่ธรรมะอันเดียวกัน พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหมือนกันนี่แหละ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะพูดอย่างนี้ จะบอกอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ เพราะเครื่องแก้กิเลสมีอยู่อันเดียว อริยสัจนี้มีอยู่อันเดียวที่แก้กิเลส แล้วในปัจจุบันนี้เราเจออยู่แล้ว

ของอยู่ตรงหน้าเรา สำรับอาหารอยู่ตรงหน้าเรา เราจะกินหรือไม่กิน ถ้าเรากินอาหารนั้นเราจะได้ประโยชน์ เราจะปฏิเสธไปกินตอนพระศรีอริยเมตไตรย มันก็สำรับอันนี้แหละ สำรับนี้ อริยสัจ ๔ อันนี้ นี่สิ่งนี้เป็นสูตรนี้ ถ้าเราตั้งใจได้ ทำได้ เพื่อประโยชน์ของเรานะ

เราเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนานี่ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรามีคุณค่าอย่างยิ่ง ความทุกข์ ความยากในทางโลกมันเป็นเรื่องธรรมดา ดูสิ ดูครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ ท่านยังป่วยยังไข้ หมอชีวกเป็นหมอประจำตัวของพระพุทธองค์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเจ็บยังไข้อยู่ คนเกิดมานี่มันเป็นเรื่องปกติ เรื่องกายมันเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา แต่หัวใจนี่ หัวใจเราเอาให้ได้ ถ้าเอาหัวใจเราได้ นี่คุณค่าของศาสนาอยู่ที่นี่ เอวัง