เทศน์บนศาลา

บารมีธรรม

๑๗ ก.ย. ๒๕๔๒

 

บารมีธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ให้เราเข้าถึงความจริงไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผลนะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ผู้ที่เข้าถึงจริงจะซึ้งในคุณของศาสนามาก คุณของศาสนา ศาสนาพุทธเรานี่มีตั้งแต่ผลเริ่มต้น จากความเห็น จากศรัทธา จากศีลยกขึ้นภาวนา เราเข้าถึงภาวนา เราเชื่อมั่นในศาสนา เราเชื่อมั่นในเหตุในผล ในหลักความจริง จนเรามุ่งมั่นขนาดนี้แล้ว ความมุ่งมั่นอันนั้นเป็นพื้นฐานนะ และความตั้งใจจริงขณะนี้ ความตั้งใจจริง ตั้งใจ ตั้งใจนี้เป็นสติ สติสัมปชัญญะสำคัญที่สุด

ขณะจะเริ่มปฏิบัติ เราต้องไม่คิดถึงสิ่งใดๆ ในโลกนี้เลย เปรียบเสมือนว่าเราเพิ่งเกิดใหม่ มีแต่เราคนเดียวปัจจุบันนี้เท่านั้นเลย แล้วก็ตั้งใจ นี่ตั้งใจเป็นอย่างนั้น ปฏิเสธความเห็นต่างๆ ที่เราเคยอาศัยมาก่อน วางไว้ให้หมด มันเคยสัมผัสมาวางไว้ เพราะถ้าจะตามสิ่งนั้นไปมันไม่มีวันที่สิ้นสุดหรอก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติต่างๆ มันไม่ใช่เฉพาะชาตินี้หรอก

ถ้าเราจะเอาแต่เรื่องกังวลอันนั้น ปล่อยไว้เลย กังวลนั้นเป็นผลของกรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน สัตว์เกิดมาต่างๆ กันเพราะกรรม การกระทำของเรามา มันจำแนกเราเกิดมาต่างกัน เราจะสาวกลับไปหาเหตุผลนั้นทำไม เพราะปัจจุบันนี้สาวดันเราขึ้นมาจนถึงว่าเรามุ่งมั่นในมาพบพระพุทธศาสนา เรามุ่งมั่นปฏิบัติ ศาสนานี้ละเอียดลึกซึ้งนัก ละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะเวลาเราทุกข์ เวลาเราทุกข์ กิเลสเราขึ้นมาฟูในหัวใจ เราจะขุดค้นได้อย่างไร เราจะคิดค้นได้อย่างไร

มีแต่ความสะใจต่อเมื่อสิ่งนั้นมันประสบไปแล้ว ลึกซึ้งขนาดนั้นน่ะ ลึกซึ้งขนาดที่ว่าแก้สิ่งที่ว่าเราไม่สามารถรู้ทันตัวเราเองได้เลย ลึกแสนลึก กว้างแสนกว้าง เหตุและผลนี้มีที่เทียบเคียงไว้มหาศาลเลย แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบพระพุทธศาสนานี้ต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสยัมภู ขุดค้น แสวงหาโมกขธรรม เจอแล้ววางไว้ เจอแล้วนะ ถ้ายังไม่เจอ เรามาหา เรามาค้นคว้าเอง ค้นคว้าเองมันก็ต้องมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความผิดพลาด มันจะไม่เข้าถึงหลักเลย

แต่อันนี้หลักแผนที่มีอยู่ มีอยู่เพราะเรามีวาสนา เรามีวาสนาเราถึงเกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว อริยสาวกต่างๆ มีแต่เสวยความสุข ข่าวขององค์นั้นสำเร็จที่เขาคิชฌกูฏ สำเร็จอยู่ที่ในถ้ำ ในเงื้อมผา นี่ข่าวของพระอริยเจ้าต่างๆ ที่สำเร็จไป สำเร็จไปหมายถึงว่าชำระกิเลสจากใจสิ้นหมดจากใจ ชำระกิเลส กิเลสมันตัวยุตัวแหย่ กิเลสทำให้เราไม่มีความสุข เราถึงว่าเห็นโทษของคำว่ากิเลส

กิเลสนี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าอุปมาอุปไมยไว้ไง กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสเป็นนามธรรมจนเราจับต้องไม่ได้ ถึงต้องอุปมาอุปไมยให้เห็นเป็นอย่างนั้น กิเลสก็คือความนึกคิดของเรานั่นล่ะ แต่เราจะจับต้องได้อย่างไร พระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติไว้ บัญญัติไว้ว่าเป็นกิเลส กิเลส คำว่า “กิเลส” มันคือเครื่องดองสันดานอยู่ในหัวใจ เครื่องดองสันดานเป็นอนุสัย เกิดมาจากใจของเรา ใจของเรามีกิเลสถึงได้เกิดอีก เกิดตายเกิดตายอยู่นี่

เกิดตายแล้วมีพบพระพุทธศาสนาที่ชำระการเกิดการตายอันนี้ “ชำระการเกิดและการตาย” มันแทบไม่ใช่เกิดไม่ใช่ตายแล้วเราจะสูญเปล่านะ มันมีความสุขอีกต่างหาก “วิมุตติสุข” สุขใด รสของใดในโลกนี้ไม่มีรสของวิมุตติ ธรรมวิมุตติในศาสนาเรา รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ในธรรมทั้งหลาย วิมุตติธรรมนี้สูงสุด เหนือรสใดๆ สมาธิธรรม สมาธิ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน แล้วปล่อยว่างไปเรื่อยๆ ปล่อยว่างตามความเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยว่างแล้วตามมารู้ทีหลัง ตาม เห็นไหม ปล่อยว่างวางเฉย เขาว่าสิ อันนั้นมันต้องมาวางเฉยอีก นั่นล่ะ เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้ทำตามความเป็นจริง

ขาดคือขาดออกไป กิเลสต้องขาดออกจากใจไปตามความเป็นจริง ขาดออกไปเป็นชั้นเป็นชั้น ถึงว่าภพภูมิของใจต่างกัน อำนาจวาสนาของคนก็ต่างกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในการเข้าถึงธรรมก็ทางต่างๆ กัน แม้แต่กรรมฐานก็ ๔๐ ห้อง วิธีการเข้าถึงกรรมฐาน เปิดช่องทางไว้ให้จริตนิสัยของแต่ละบุคคล จะเข้าหาช่องทางนั้นให้ได้ไง เข้าหาช่องทางไป

คนเรามันทุกข์มันร้อน เปรียบเหมือนเราอยู่กลางแดดกลางฝนไม่มีที่หลบที่ซ่อนเลย แล้วมาพบที่เป็นเพิง พบบ้านเรือน บ้านเรือนให้เราอยู่อาศัย ถ้าทำจิตให้สงบ เหมือนกับจิตตั้งมั่น มีที่พักที่อาศัย มีเรือนมีที่ให้พักให้หลบแดดหลบฝน นี่สมถกรรมฐาน เราเข้าหาความสุขก่อน ถ้าจิตมันสงบได้ ความสุขจะเกิดขึ้นพร้อมกับความสงบนั่นไง ความสงบนั้นเกิดขึ้นแล้วทำให้ความฟุ้งซ่านนั้นหายไป ความวิตกกังวลหายไป โล่งว่างนะ โล่งโถงไปเลย นั่นคือความสงบ จิตมันสงบมันเป็นอย่างนั้น ความสุขเกิดขึ้นพร้อมกับจิตที่สงบนั้นไป จิตที่สงบ จิตที่สงบเข้า บ่อยเข้า บ่อยเข้า จนเป็นสมาธิ สมาธิหมายถึงจิตตั้งมั่น

จิตของเราน่ะคลอนแคลน วอกแวกคลอนแคลนอยู่ตลอดเวลา มันเป็นตามประสามัน ธรรมชาติของจิตคือธาตุรู้ รู้ออกไป ส่ายออกไปอยู่เป็นปกติของมัน ส่ายออก ส่ายแส่อยู่ ส่ายแส่ไม่ส่ายแส่เปล่ามันมียางเหนียว มันเกาะมันติด เขาพูดตั้งแต่เมื่อไร ข่าวตั้งแต่กี่ปีกี่ชาติ ถ้าเพิ่งรู้เข้ามันก็สดๆ ร้อนๆ อารมณ์ความคิดในใจที่อยู่ในใจ มันก็ขุ่นมันก็ผุดขึ้นมากินอยู่ตลอดเวลา ของไม่เคยเสียไม่เคยหายถ้าเป็นอารมณ์ที่เก็บไว้ในใจ อารมณ์นี้ถ้าเปรียบวัตถุแล้วมันจะท่วมโลกธาตุนี้เลย เพราะความคิดนี้มันพลิกแพลงไปได้ตลอดเวลา มันติดมันพันไปตลอด นี่มันถึงว่ามียางเหนียวติดไป เปรียบเหมือนกับมันกินอาหาร กินอารมณ์ที่เป็นอาหาร กินแต่ความทุกข์ความร้อน กินแต่เรื่องเจ็บแสบปวดร้อนอยู่ในหัวใจนั้นตลอดเวลา

ถ้าตั้งมั่นแล้วมันต่างกันตรงนี้ ถ้าจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นมันเป็นคนที่เลือกอาหารนั้น รู้ถึงว่าอ๋อ! มันฟุ้งซ่านเพราะอะไร มันฟุ้งซ่าน มันมีความทุกข์ เราหักห้ามใจไม่ได้เพราะอะไร แล้วพอทำจิตสงบขึ้นมา เพราะมีพุทโธ พุทโธ เรากำหนดขึ้นมาหรือกรรมฐาน ๔๐ ห้องทำให้จิตนี้สงบได้ จิตนี้สงบได้เพราะมันกินธรรมเป็นอาหาร มันไม่ใช่สงบเฉยๆ หรอก มันเหมือนมันติดมันเหนียวมันเกาะไปทั่ว แต่พอมาเกาะพุทโธ เกาะกรรมฐานห้องใดห้องหนึ่ง ๔๐ ห้องนี้ แล้วเกาะๆๆ เกาะจนทรงตัวได้ นั้นคือสมาธิ สมาธิหมายถึงจิตตั้งมั่น จิตเราตั้งมั่น ตั้งมั่นแล้วควรแก่การงาน

แต่พอจิตตั้งมั่นมันก็มีความเวิ้งความว้างนั่นน่ะ อันนั้นส่วนใหญ่จะคิดว่าอันนั้นเป็นผล อันนั้นเป็นผลของการปฏิบัติธรรม มันเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งที่เราว่ากันเวลาปฏิบัติธรรม ธรรมนี้ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งมาก แล้วพอไปเจอแค่นั้นน่ะมันเป็นอารมณ์ของโลกเขาไง อารมณ์โลก เราอยู่ในโลก เราเอาอารมณ์ของโลกความคิดต่างๆ อารมณ์โลกอันนี้มันอารมณ์เกิดจากใจ มันก็ยังเป็นอารมณ์โลก อารมณ์ความเห็นมันเป็นอารมณ์โลก มันไม่ใช่อารมณ์ธรรมแท้

แต่มันเป็นบัญญัติ สมมุติบัญญัติเพื่อเข้าหาวิมุตติ สมมุติบัญญัติต้องบัญญัติกันเพื่อจะสื่อกันว่าสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้คืออะไร เราถึงก้าวเดินตามธรรม จิตที่มีบาทมีฐานก้าวเดินตามธรรมตามความเป็นจริง จิตสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนา จิตสงบแล้วยกขึ้น ยกขึ้นวิปัสสนาในกายหรือในจิต ในกายไง ยกขึ้นวิปัสสนา ตอนจะยกขึ้นมันไม่ยกขึ้น คำว่า “ยกขึ้น” ถ้าเป็นของเรายกขึ้นเมื่อไรก็ได้ ของเราหยิบยกขึ้น ไม่ยกขึ้นเราเอาเครื่องมือจับยกขึ้นก็ได้

แต่คำว่า “ยกขึ้น” มันคนระดับชั้นกับสมถกรรมฐาน มันสูงกว่า แต่สูงกว่า การยกขึ้นก็อยู่ที่จิตนั้นล่ะ เพียงแต่จิตนี้พลิกออกมาทำงานอีกระดับหนึ่งให้มันสูงขึ้นไป ทำงานระดับนี้ วิปัสสนาคือวิเคราะห์วิจัย วิเคราะห์วิจัยในจิตในกาย ในจิตในกายทำไมต้องวิเคราะห์มัน เพราะกายกับจิตนี้เป็นของเราอยู่แล้ว...ไม่ ไม่ใช่ของเราหรอก คำว่า “ของของเรา” มันหลอกทั้งหมด มันหลอกว่าเป็นของเรา มันยึดว่าเป็นของเรา

สิ่งที่หลอกว่าเป็นของเรา สังโยชน์เครื่องผูกใจกับกายกับกิเลสอันนี้ มันพันกันไปหมดเลย นี่มันถึงว่าสิ่งนี้เป็นของเรา จิตนี้ก็เป็นของเรา จิตนี้เป็นของเราจริง แต่มันก็เป็นของเราต่อเมื่อมันต้องเราชำระแล้วถึงเป็นของเรา จิตนี้มันเป็นของเรา ทำไมเราบังคับจิตของเราไม่ได้ล่ะ เราบังคับความคิด เราอยากทำคุณงามความดี สิ่งที่ผิดที่พลาดเราไม่อยากทำ ทำไมมันทนไม่ได้กับความคิดของตัวเอง เห็นไหม เวลามันอยากมันอยากจะทำไป มันโง่ขนาดนั้น กิเลสมันไม่มีเหตุผล ในเมื่อมันหลงไปแล้วมันพันไปตลอด อันนี้สิ่งนี้มันเกิดอยู่กับใจ

ถึงว่า ใจนี้ยังไม่ใช่ของเราถ้ายังมีกิเลสอยู่ ยังมีกิเลสอยู่ จนกว่าจะชำระกิเลสสิ้นออกไป ถึงจะเป็นตัวตนของเราแท้ไง อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไปจิตจึงเป็นอิสระ จิตที่เป็นอิสระนั้นถึงเป็นของเรา ถึงจะเป็นที่พึ่งตนได้จริงตามวิมุตติธรรมอันที่ว่าประเสริฐที่สุดในของศาสนา ในรสของธรรม นี่เราก้าวเดินไปตามนั้น ถึงว่า จิตถ้ายังกิเลสหุ้มห่ออยู่ มันไม่ใช่ของเรา เพราะกิเลสมันหลอก มันผลักไส มันห่อหุ้มไว้ มันหุ้มไว้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพราหมณ์ ไม่มีใครที่ว่าจะอาวุโสสูงกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราไม่มีใครเห็น มันเปรียบเหมือนไก่ที่กะเทาะฟองไข่ออกมาตัวแรก อันนั้นอาวุโสสูงสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากะเทาะเปลือกไข่ออกมาเป็นองค์แรก เปลือกไข่คืออวิชชาที่หุ้มห่อจิตอยู่ พอหุ้มห่อทั้งหมด เปลือกไข่หุ้มไข่ได้ทั้งหมด กะเทาะออกมา ไก่นั้นออกมาจากเปลือกนั้น ออกมาจากอวิชชาที่ครอบงำนั้นเป็นอิสระเสรี ไม่อยู่ในสังสารวัฏ

เรามันยัง...จิตนี้มันถึงพึ่งตนเองไม่ได้เพราะว่าเราต้องหักเข้ามา

ศาสนาเราสอนเรื่องจิตแก้จิต “จิตแก้จิต” พอจิตแก้จิต ความเห็นแก้ความเห็น มันเลยเป็นความยาก ความยากที่ว่ามันจะย้อนกลับมาได้อย่างไร เครื่องมืออะไร เครื่องมือคือธรรม มรรคอริยสัจจัง เครื่องดำเนิน สมาธิธรรมนี้เป็น ๑ ในมรรค ๘ แต่การทำสมาธิขึ้นมาเพื่อต้องการลดแรงดึงดูดของใจตัวนี้ ตัวอวิชชาที่ว่ามันครอบคลุมใจ มันครอบเป็นเจ้าวัฏจักรที่ผลักไสให้เราเป็นทุกข์อยู่นี้ไง

ถ้าคิดตามอวิชชา คิดออกมาถึงว่ามันเป็นอารมณ์โลกคือเป็นโลกียะ จะคิด จะขนาดไหน จะเวิ้งว้างขนาดไหน เวิ้งว้างจนใสจนสว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ วิปัสสนูปกิเลส เราว่าเราทำวิปัสสนา เราเป็นชาวพุทธ เราจะประพฤติปฏิบัติเพื่อจะให้พ้นจากทุกข์ เข้าไปหากิเลสให้กิเลสมันหลอก นอนซึ่งๆ หน้านอนจมให้กิเลสมันหลอก หันกลับมายังภูมิอกภูมิใจว่าเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่ไง ถึงบอกมันแหลมคมขนาดนั้น

มันอยู่ในหัวใจเราแล้วมันยังหลอก หลอกเทียบเคียงสิ เทียบเคียงว่าเราวิปัสสนาแล้ว ผลเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น นี่เอาอารมณ์คิดมาเทียบเข้าไป พอใจมันเวิ้งว้างเข้าไปมันนึกได้ นี่วิปัสสนูปกิเลส มันคิด มันคิดไปมันทำไป เป็นถ้าจิตมันสงบ มันคิดไปตามความเห็นวิปัสสนึก วิปัสสนึก วิปัสสนูปกิเลสมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันคิดไป มันไม่ได้ยกขึ้นตามสัจจะ

ตามสัจจะ อริยสัจ “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ”

“นิโรธ” นิโรธหลุดว่างหมดด้วยอริยมรรค

“ทุกข์นี้ควรกำหนด” ทุกข์มันอยู่ที่ตรงไหน? ทุกข์มันเกิดอยู่ที่หัวใจ กายนี้เป็นที่อยู่ของใจ กายนี้ก็มีทุกข์ไปด้วย แต่กายนี้มีทุกข์ส่วนน้อย กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่กาย มันอยู่ที่ใจ แต่ทำไมต้องวิปัสสนากายนี้ล่ะ งานต่างๆ ในโลกนี้ งานที่ว่าทำประเสริฐเลอเลิศในโลกนี้ งานในวัฏฏะ งานในวัฏฏะมีการไหว้วานมีการช่วยเหลือกันได้ งานในการชำระกิเลสนี้เป็นงานเอกของบุรุษ เอกของบุรุษผู้ที่จะพ้นออกไปจากกิเลสนะ เพราะว่ามันเป็นงานที่ทำแสนยาก มันใครจะมาช่วยไม่ได้ ใครจะมาแบบว่าทำให้ก็ไม่ได้

ถ้าทำได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดทางไว้แล้ว ต้องการนะ ให้สาวก-ให้สาวกะทั้งหลายให้มีทางเครื่องดำเนินไปนะ เมตตาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุด สูงมาก เมตตามาก ไม่อยากให้ใครมาทุกข์มายากในการประพฤติปฏิบัติให้มันทุกข์ยากหรอก เพราะความเป็นจริงมันทุกข์อยู่แล้ว แต่เราไม่เห็นทุกข์ เราเห็นแต่อาการทุกข์ที่เคลื่อนไปแล้ว แล้วก็บ่น ส่วนใหญ่จะบ่นว่าทุกข์ หันหน้าเข้าหากันมีแต่ความบ่น ความพิร่ำรำไพนะ ความรำพึงรำพันถึงความทุกข์นั่นน่ะ แต่จับมันไม่ได้ขณะที่มันทุกข์จริงๆ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในหัวใจ ไม่เคยเห็นทุกข์ ไม่เคยจับทุกข์ได้ยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้าใครจับทุกข์ได้ จับทุกข์ทุกข์ที่มันเกิดขึ้นกายกับใจ ถึงต้องย้อนกลับมาเพราะมันข้องอยู่ในนี้ มันสังสารวัฏ สังขารในขันธ์ ๕ สังสารวัฏมันหมุนไป สังขารมันก็หมุนไป ความคิดก็หมุนไป หมุนไปเกิดๆ ดับๆ ในกายและใจนี้ มันก็เลยเป็นของใหม่อยู่ตลอดเวลา จับหน้าจับหลังจับไม่ได้ ถึงต้องใช้ให้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นนะ ต้องให้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นถึงควรแก่การงาน ถึงจะจับถึงจะดูดสิ่งนี้จับต้องได้ ยังตั้งมั่นแล้วต้องหาวิธีการจะยกขึ้นมา ยกขึ้นมาให้เห็นกายให้ได้

จิตถ้าสงบแล้วถ้ามีวาสนาจะเห็นกายโดยธรรมชาติก็มี แต่โดยธรรมชาติก็เห็นแค่ชั่วคราว ตามหลักความจริงคือต้องจับต้องได้ ความจับต้องได้ด้วยจิต จิตเห็นกายเห็นจากตาของธรรมนะ ตาธรรมคือตาใจนะ ไม่ใช่ตาเนื้อ กายที่เห็นเห็นกันอยู่นี้เป็นกายนอก กายข้างนอกเรามองกายข้างนอก เราไปโรงพยาบาล เห็นคนเจ็บคนป่วยเราสลดสังเวช ทุกคนสะเทือนใจ สะเทือนใจมันก็สลดสังเวช มันก็อยากจะหัก อยากเอาตัวรอด อยากจะมีที่พึ่ง นั่นน่ะ มันเกิดสลดสังเวชคือว่ามันไม่ออกไปฟุ้งซ่าน สลดสังเวชเข้ามา มันตัดรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก กายนอก กายที่เห็นอย่างนั้นมันกายอย่างนั้นแล้วเราก็พิจารณากายอย่างนั้นกัน นึกขึ้นมาก็เป็นกายอย่างนั้น แม้แต่จิตว่าสงบแล้วนึกขึ้นมา วิปัสสนูมันเป็นความนึก

แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่นแล้วก็ต้องนึกเอาเหมือนกัน แต่มันคนละนึก ความนึกอย่างนี้คือน้อมนึกให้เกิดขึ้นก่อนไง น้อมนึกขึ้นมาให้จับกายนี้ตั้งให้ได้ กายตั้งให้ได้ให้อยู่ตามความเป็นจริงของกายนี้ ถ้าจับกายตั้งได้ ความเห็นกายตามหลักตามความเป็นจริงเพราะทุกข์มันอยู่ที่นั่น อาศัยฐานตรงนี้ออกมาเป็นกิเลสเผาลนกันอยู่นะ เผาลนเรานี้แหละ เผาลนเราก่อน กิเลสต้องเผาลนเราก่อน แล้วจึงเผาลนผู้อื่นต่อไป นี่ไง ถึงต้องแก้ทุกข์ตรงนี้

แก้ทุกข์ตรงที่สมุฏฐานของเหตุนั้นเลย แก้ทุกข์ที่ว่ามันส่งออกไปจากภวาสวะ จากฐานของใจ จากฐานของกายที่ออกไปยุ่งกับข้างนอก สิ่งที่มันหมุนวุ่นออกไปข้างนอกนั้นมันเป็นวัฏวนมันเป็นอย่างนั้น โลก สรรพสิ่งของโลกมันเป็นอยู่อย่างนั้น แต่ความที่เราต้องการให้เป็นในอำนาจของเรา ต้องการให้อยู่ในบังคับบัญชาของเรา นี่ไง มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ตามความเป็นจริง

ตามสัจธรรมมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด” ไม่มีเลยสิ่งใดที่คงที่ที่เป็นอัตตาอยู่ในโลกนี้ไม่มีเลย มันแปรสภาพทั้งนั้น โลกนี้หมุนไป วัฏฏะนี้หมุนไป แต่ธรรมมันเป็นอย่างนี้ วัฏฏะมันเป็นของดั้งเดิมอย่างนี้ นรกสวรรค์มันมีอยู่ดั้งเดิมของมันอยู่อย่างนี้อยู่แล้ว ภพในมิติต่างๆ มันก็มีของมัน สวรรค์นรกมีอยู่แล้ว แล้วความเป็นไปในโลกก็มีอยู่แล้ว

แต่เราก็อยากจะฝืน อยากจะดึงไว้กับเรา กาลเวลาก็อยากจะดึงไว้กับเรา เราจะอยากให้มีความสุข อยากจะอยู่กับมันนานๆ แต่ความสุขนี้ก็ต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา สุขอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ความทุกข์ดับไปความสุขเกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้นมาเดี๋ยวมันก็จางไป มันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว มันเป็นไตรลักษณ์อยู่ตามความเป็นจริง เราสวดมนต์เย็นอยู่ทุกวันๆ มันเป็นสัจจะมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว อันนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่เราก็ว่าเรารู้ๆๆ รู้ด้วยสัญญา รู้ด้วยเปลือกของโลก รู้ด้วยเปลือก รู้ด้วยความเห็นด้วยความสุตมยปัญญาที่จำเข้ามา สุตมยปัญญา สุตมยปัญญาคือการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วจำไว้ มันก็ว่ารู้ ถึงว่า สัญญาชำระกิเลสไม่ได้ สัญญาคือความจำได้หมายรู้อยู่นี่ ชำระกิเลสไม่ได้ แต่เป็นเครื่องยกให้เราสูงขึ้น ให้จิตของเราสูงขึ้น จากที่ไม่ศึกษาธรรมก็ต้องศึกษาธรรมก่อน แต่ศึกษาธรรมแล้ว อันนี้เป็นเครื่องมือดำเนินจะเข้าให้ถึงที่ว่าละเอียดเข้าไป

ละเอียดเข้าไป ถึงเริ่มจากทำสมาธิภาวนาอยู่นี่ มันก็ใช้สัญญาใช้ความที่ว่าแนวทางที่ครูบาอาจารย์สอนอันนั่นล่ะ แต่แนวทางขึ้นไปแล้ว มันต้องเดินขึ้นไป ก้าวเดินขึ้นไป ก้าวเดินขึ้นไป มีศีล มีสมาธิ มีสมาธิต้องยกขึ้นวิปัสสนา ถ้ามีสมาธิไม่ยกขึ้นวิปัสสนาแล้วมันเสื่อมสภาพหมด เพราะว่ามันเป็นเปลือกของโลก มันเป็นโลก มันเป็นโลกียะอยู่ ถึงคิดอยู่ก็เป็นโลกียะ แต่ถึงโลกียะมันก็ต้องก้าวเดินไป ก้าวเดินไป

ปัญญา ดูสิ อย่างที่ว่าภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้ เห็นไหม ลูกข่างที่เราปาไปเด็กเล่นลูกข่างกัน เวลาปาไป ลูกข่างเกิดจากความหมุน ขณะที่ทรงตัวได้เกิดจากอะไร? เกิดจากมือนี้จับก่อน จับลูกข่างไว้แล้วเอาเชือกพัน พันแล้วขว้างออกไป นี่ก็เหมือนกัน สุตมยปัญญาก็เหมือนกับมือเรานี่จับต้อง จับๆ เชือกฟั่นเข้าไป นี่เราเริ่มฟั่นเชือกเข้าไป แล้วเราปาออกไป เราปาออกไป ปาใหม่ๆ ใครเล่นเป็น ปาไม่ได้หรอก แต่อาศัยความชำนาญ ปาไปเรื่อยๆ

นี่ก็ความคิดไสขึ้นไปเรื่อยๆ ไสขึ้นไปเรื่อยๆ ไสขึ้นไปมันต้องเกิดขึ้นจากตรงนั้น ถึงว่ามันเป็นธรรมจักร ธรรมจักรเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมจักรไม่ใช่จักรของเรา มันต้องเกิดขึ้นจากเรา เกิดขึ้นจากหัวใจที่ไสเดินก้าวเดินไปนี่แหละ ก้าวเดินไปๆ ยกกายยกจิต จิตก็วิปัสสนาไปสิ วิปัสสนาจิต มันเกิดอย่างไร มันดับอย่างไร ต้องจับต้องคั้นให้ตายได้ ถึงจะเป็นอย่างนั้นได้

นี่ดูมันไง ปาไปขว้างไปจนกว่าลูกข่างนั้นมันจะออกไปแล้วทรงตัวได้หมุนอยู่ ความสมดุลของลูกข่างนั้นมันจะหมุนอยู่ ความสมดุลของปัญญาที่เราไส เราวิปัสสนาขึ้นไป ความสมดุลของ...นี่ธรรมจักร มันหมุนชั่วครั้งชั่วคราว หมุนชั่วครั้งชั่วคราวมันก็ว่างหมด ว่างตามความเป็นจริง วิปัสสนากายและจิตให้มันปล่อยว่าง ว่างด้วยธรรมจักร จักรนี้เคลื่อนออกมา จักรนี้เคลื่อนออกมาแล้วกลับมาชำระกิเลส กิเลสที่อยู่ในหัวใจนี่แหละ กิเลสที่เป็นนามธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกับใจนั่นน่ะนะ มันจะขาดออกไป ขาดออกไปโดยสังโยชน์ขาดออกไปด้วยธรรมจักรอันนี้ไง

ยกขึ้นวิปัสสนากายและจิต กายและจิตขาดออกไป ต้องขาดสมุจเฉทปหานออกไป ดั่งแขนขาดขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ต่างคนต่างเป็นอิสระแก่กัน ขันธ์ ๕ มันก็เป็นขันธ์ ๕ คือเป็นความคิดเฉยๆ ที่เราคิด คิดอยู่นี่มันเป็นความคิดเฉยๆ มันให้โทษไม่ได้ เพราะมันหมุนอยู่ในตัวมันเอง ทุกข์มันก็เป็นทุกข์อยู่ ความแปรสภาพอยู่เฉยๆ จิตนี้เป็นอิสระ อิสระเฉยๆ ของมัน

มันรู้สภาวะตามความเป็นจริงชัดเจนมาก ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ใจเป็นใจ ขันธ์เป็นขันธ์ ทุกข์เป็นทุกข์ จิตเป็นจิต นี่จิตมันปล่อยออกมาขนาดนั้น แต่ปล่อยก่อนหน้านั้นมันไม่ปล่อยอย่างนี้นี่นะ มันปล่อยเพราะมันว่าง มันว่างๆ เฉยๆ วิปัสสนูปกิเลสกับวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นมันต้องใคร่ครวญตรงนี้ ใคร่ครวญในกาย ใคร่ครวญในจิตนี้ จิตมันมีอะไร มันมีสิ่งอะไรเกิดขึ้นบ้าง

จิตนี้มันเป็นนามธรรม พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนา เวทนาความพอใจ-ไม่พอใจ อุเบกขาเวทนา เฉยอยู่ เวทนาตัวนี้มันมี มันเป็นเนื้อเดียวกัน มันสามารถปอกลอกออกมาได้ แล้วขันธ์กิเลสมันก็อาศัยช่วงนี้ช่วงจากใจออกมาที่ขันธ์เดินดำเนินออกมาพร้อมกับความพอใจของมัน

สิ่งใดที่เคยซับสัญญาไว้ว่าสิ่งนั้นสิ่งที่ตรงกับความเห็นความคิดของตัว เวลาอารมณ์ข้างนอกเข้ามากระทบมันก็พอใจ พอมันพอใจมันก็ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งใดที่ไปขัดใจมันมันก็ว่าไม่พอใจ ขัดกับใจมัน ใจของเรานี่แหละอาศัยขันธ์นี้เป็นเครื่องที่กระทบกัน นี่มันจะย้อนกลับ ย้อนกลับเข้าไปดูสิ่งที่มันกระทบกัน มันกระทบกัน กระทบกันแล้วเหตุกระทบเพราะอะไร มันมีอะไรให้กระทบ สิ่งที่กระทบ กระทบแล้วปรุงแต่งไปได้อย่างไร นี่ความคิดสังขารมันจะหมุนไป

มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ สิ่งนี้เป็นนามธรรมอยู่ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เกิดในมนุษย์ต้องมีดิ้นรนเป็นธรรมชาติเลย แต่ขันธ์ ๕ นี้มีเฉพาะในศาสนาของเรา ครูบาอาจารย์สอนมาอย่างนั้น แล้วชำระก้าวเดินเข้าไป มันเหมือนกัน เห็นเหมือนกัน รู้เหมือนกัน แล้วจะขาดเหมือนกัน แต่เป็นปัจจัตตังของดวงใจดวงนั้นน่ะ ดวงใจที่ปฏิบัตินั้นต่างหากมันเป็นปัจจัตตัง มันเห็นจำเพาะในหัวใจของเรา มันปอกลอก เหมือนกับว่าอาหารในสำรับ มืออันใดยกเข้าปากนั้นปากนั้นได้ลิ้มรส ลิ้มรสของอาหารนั้น แล้วร่างกายนั้นจะได้คุณค่าจากอาหารนั้น

วิปัสสนาในใจของดวงใดก็แล้วแต่ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาก็เป็นผลของใจดวงนั้น ถึงว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดไม่มีชื่อไม่มีเสียงไม่มีนามเกี่ยวกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นลองวิปัสสนาแล้วก้าวเดินออกไป ย้อนกลับมา ถึงว่าเป็นธรรมะของใจดวงนั้น ธรรมจักรดวงนั้นจะเฉือนออกไปชำระกิเลสของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นชำระออกไป ถึงว่ามีร่างกายมีจิตใจอย่างเรานักปฏิบัตินี้ประเสริฐแล้วประเสริฐมากๆ เลย ถึงว่าต้องตั้งใจ ตั้งใจคือตั้งสติ

ถ้ามีสติกำหนดรู้กับการดำเนินงาน การงานของเราอยู่นี้ถึงจะเป็นมรรค เป็นมรรคเครื่องดำเนินต่อไปในการก้าวเดินออกไปเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าสตินี้ขาดหายไป แม้แต่ทำสมาธิ สติขาดหายไปมันก็ยังไม่ใช่งานเลย จนกว่าสติมันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จนเป็นสติกับใจนี้เป็นเนื้อเดียวกัน กระเพื่อมออกมาสติพร้อมตลอด พร้อมตลอด พร้อมตลอดเลย เพราะความเคลื่อนออกไปจิตมันกระเพื่อม ขันธ์ ๕ ไปทำงาน มันเป็นแรงกระเพื่อมของใจออกมา

เวลาจิตมันฟุ้งซ่าน มันถึงว่าฟุ้งซ่านเพราะอย่างนี้เอง ฟุ้งซ่านเพราะมันมีอยู่ สมมุติของขันธ์นี้ ขันธ์นี้มันเป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่เป็นอาการของใจที่บัญญัติขึ้นมา มันมีอยู่ มันรับรู้มันก็กระเพื่อม คำว่า “กระเพื่อม” หมายถึงว่ามันรับรู้ รับรู้มีอารมณ์ออกไป แล้วกิเลสมันพอใจ-ไม่พอใจมันก็กระเพื่อมออกไป อารมณ์นี้ถึงว่าเสวย เป็นที่เสวย ใจเสวยอารมณ์ ใจไม่เสวยอารมณ์มันก็ปล่อยหมด มันก็ทรงตัวของมันเอง ทรงตัวของมันเองในอะไรล่ะ?

ถ้าทรงตัวของมันเองในสมถะก็ทรงตัวด้วยสมาธิ สมถะ ทรงตัวด้วยพุทโธๆ ทรงตัวด้วยธรรมของมันเองก็มี ทรงตัวด้วยอะไร จิตนี้จะทรงตัวอยู่ด้วยอะไร จิตนี้เหมือนกับยางเหนียวที่ติดไปทั่ว มีกิเลสอยู่ ยังติดไปทั่ว แต่ถ้าทรงตัวได้ จิตทรงตัวได้ จิตก็เป็นอิสระ คนที่เป็นอิสระไม่เป็นหนี้ใครมันมีแต่ความสุขขนาดไหนล่ะ ความที่เป็นหนี้ เกิดมานี้เป็นหนี้หมดเป็นหนี้กิเลส เป็นหนี้กรรมเก่า เป็นหนี้ภพชาติกรรมที่เราสะสมมา สะสมมา บุญหรือบาปนั้นน่ะมันก็สะสมมาทุกดวงใจ ไม่มีดวงใจดวงไหนเลยที่ไม่เคยทำความดีและความชั่วมา มันเคยทำมาไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง ถึงเวลากรรมมันประสบขึ้นมามันถึงจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน

ความเกิดต่างๆ กัน จริตนิสัยต่างๆ กัน การประพฤติต่างๆ กัน ถึงต้องให้เป็นปัจจัตตังเฉพาะจิตดวงนั้น จิตดวงที่ปฏิบัตินั้นน่ะต้องหาแนวทางหาทางเข้าของตัวเอง ความสมดุลของใจของดวงนั้น ความสมดุลของใจของดวงนั้น ถึงหมุนออกไปได้ ก้าวเดิน มันจะออกก้าวเดินไปได้

ถ้าไม่สมดุลกับดวงใจนั้น การก้าวการเดินมันจะขัดมันจะข้องไปตลอดเลย ความขัดข้องอันนั้นน่ะ ถ้าเราทำไม่ถูกทางของเรา ถูกทางเพราะกรรมที่สะสมมา ถึงว่าผู้ใดปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ผู้ใดปฏิบัติง่ายรู้ยาก ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากไม่รู้เลย นั้นเป็นสะสมวาสนาบารมี แต่เราก็ต้องมีวาสนามีบารมีสิ ถ้าไม่มีวาสนาไม่มีบารมี ทำไมมันมีความคิดความดำริอยากประพฤติปฏิบัติล่ะ อยากประพฤติปฏิบัติ อยากจะเอาตนพ้นออกจากอวิชชาที่ว่ามันเหนืออำนาจในหัวใจเรานี้ มันเหนืออำนาจในหัวใจเรา เรามีความคิดอย่างนั้น

เพราะว่ามันมีเครื่องมือดำเนินพร้อม มีกายกับใจ คนที่ยังพอมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อานาปานสติมีพร้อมอยู่ ขาดลมหายใจวันไหนวันนั้นถึงว่า เออ! คนนั้นหมด หมดโอกาส หมดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกคนนั้นก็ต้องตาย พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ “อานนท์คิดถึงความตายวันละกี่หน” พระก็ตอบ ๗ หนบ้าง ๑๐ หนแล้วแต่ พระพุทธเจ้าบอกผิดหมดเลย ต้องคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าพูดขนาดนั้นนะ “ทุกลมหายใจเข้าออก”

เราคิดถึงความตายอยู่นี่เป็นผู้ที่ไม่ประมาท คิดถึงลมหายใจเข้าออกก็มรณัสสติ กำหนดความตายตลอดเวลา จิตมันจะคึกคะนองไปไหน แต่มันไม่กำหนด มันกำหนดมันก็กำหนดข้างนอกๆ นี่ถ้ากำหนดความตายอยู่ตลอดเวลา ความตาย ความตายคือความพลัดพรากจากทุกๆ สิ่งที่เราหามา ความตายพลัดพรากจากทุกๆ สิ่งที่จิตนี้ไปเกาะเกี่ยว

ในเมื่อสิ่งนี้ต้องพลัดพรากออกไปจากเรา สิ่งนั้นต้องพลัดพรากออกไปเพราะเราตายไป แต่มีชีวิตอยู่ เราไม่ตายไปมันก็ต้องพลัดพรากจากเราไป ความพลัดพรากมันเป็นที่สุดอยู่แล้ว ความพลัดพรากอยู่นี้มันเป็นแน่นอนอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้คิดกัน เราไปตื่นไง เราไปตื่นว่ายังอยู่อีก ยังมีความเป็นไป ชีวิตนี้ยังดำรงอยู่ นี่ความประมาท พระพุทธเจ้าเตือนไว้แล้วนะ ภิกษุทั้งหลายจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ด้วยความไม่ประมาทนะ เป็นปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานเลย สั่งเอาไว้เลยตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุด ไม่ให้ประมาทในการพิจารณาการตายและการเกิด

ขันธ์ ๕ ก็ได้ ขันธ์ในร่างกายก็ได้ ในสังขารของเรา ในสังขารในกายในจิตพิจารณาอยู่ตลอดเวลา พิจารณาถึงความตายอยู่ตลอดเวลามันก็เศร้าหมอง การพิจารณาถึงความตายอยู่นี้มันก็แค่สลดสังเวช สลดสังเวชกับวิปัสสนาต้องยกขึ้น วิปัสสนาเท่านั้น วิปัสสนาเท่านั้นนะ

ถึงว่าถ้าวิปัสสนาเท่านั้นมันถึงชำระกิเลสเป็นชั้นๆๆ เข้าไปล่ะ จัดแยกออกไปแล้วมันก็ยังหมุนออกไป หมุนไปด้วยปัญญาหมุนออกไปด้วยปัญญา ชำระกิเลสขาดออกไปจากสังโยชน์ ๓ ตัว แต่งานยังอีกมหาศาลเลย งานการจะก้าวเดินจนพ้นจากวัฏฏะ วัฏฏะนี้มันดองสันดานนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่เราชำระออกไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ภูมิจิตภูมิธรรมของเรามันยกขึ้น พอยกขึ้นการก้าวเดินไปตามมรรคาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันปักใจเชื่อแล้ว

ความปักใจเชื่อ การปักใจเชื่อ ความเห็นต่างๆ มันจะเข้าทางหมด การเข้าทางเครื่องดำเนินไป แต่ถ้ายังไม่เข้า ไม่ปักใจตามไปเป็นอจลศรัทธา เห็นกายก็กายกับจิตแยกออกจากกันตามความเป็นจริง กายไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่กาย จิตนี้ปล่อยกายตามความเป็นจริง มันเห็นอยู่แล้ว โอ้! มันแยกได้จริงๆ มันก็จะซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ้งในธรรมนั้นแล้วก็จะซึ้งในธรรม พอซึ้งในธรรม ความซึ้งความเห็นจริง จากที่ว่าเราเชื่อ เราเชื่อเราปฏิบัติตามเพราะความเชื่อโดยความศรัทธา กับสมบัติที่เราจับต้องได้

เราทำธุรกิจ เราทำธุรกิจเราทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำมีการกำไรขึ้นมา เราทำแล้วเรากำไรขึ้นมามันก็ดีอกดีใจ มันอยากให้ทำต่อไป อันนี้ก็เหมือนกันในเมื่อเราวิปัสสนา เราวิปัสสนา เราชำระกิเลสของเรา มันหลุดออกไปเป็นชั้นเป็นตอน นี่มันกำไร มันมีกำไรมา มันมีผล มันมีผลมายืนยันกับใจว่าเราได้ก้าวเดินมาเป็นชั้นเป็นชั้นอย่างนี้ ความมีผลมันก็ทำให้เราอยากทำต่อไป แล้วก็ทำจริงจังด้วย เพราะมันได้ผลขึ้นมากับมือของตัวเอง

มันถึงว่าเป็นปัจจัตตังไง เป็นปัจจัตตังสำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริง เห็นปัจจัตตังต่อหน้า ถึงว่าเป็นปัจจุบันธรรม การชำระกิเลสต้องเป็นการชำระที่ปัจจุบันธรรมทั้งนั้น ปัจจุบันธรรมที่เห็นกัน...

(เทปขัดข้อง)

...ยังทำอะไรไม่ถูกเลย...

(เทปขัดข้อง)

...มันเหมือนกับว่าเรามีเชื้อโรคอยู่ในใจมหาศาลเลย แล้วเราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคอะไร แต่เราเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลา แล้วเรารู้สมุฏฐานของโรคว่าเราเป็นโรค แล้วเราจะชำระสมุฏฐานของโรคของเราได้ นี่การเห็นซึ่งๆ หน้า ถึงว่าเป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นการเห็นซึ่งปัจจุบันธรรม แล้วปัญญาที่มันหมุนไปมันต้องหมุนตอนนั้นด้วย หมุนขณะว่า หมุนเห็นว่าสิ่งนั้นเจอซึ่งๆ หน้าแล้วมันยังเป็นไตรลักษณ์ ขณะซึ่งๆ หน้ามันแปรสภาพซึ่งๆ หน้า นี่มันถึงยืนยันกันได้ว่าเป็นปัจจัตตัง ก้าวเดินไปตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก้าวเดินขึ้นไป ก้าวเดินขึ้นไปพอก้าวเดินขึ้นไปมันมรรคอริยสัจจัง มรรคเป็นสัจจะอยู่แล้ว

พออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่กลั่นออกมาจากอริยสัจ ถ้ารู้ รู้ปุ๊ปออกมาเลย หลุดออกไปจากอริยสัจนั้น มรรค ๔ ผล ๔ อริยสัจ ๑ อริยสัจชั้นหนึ่งผ่านไป ต้องยกขึ้นไป เพราะเราจะก้าวเดินออกไปจากทุกข์ทั้งหมด ไม่ให้เหลือ ไม่ให้เหลือตกค้าง จิตถ้ายังปล่อยวางกิเลสออกไปเป็นชั้นเป็นภูมิชั้นสูงขึ้นมันก็ยังตกค้างอยูในวัฏฏะนี้ไป เพราะมันยังมีเชื้ออยู่ มันยังต้องเกิดต้องตายต่อไป

ฉะนั้นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ชำระกิเลสให้สิ้นเป็นอิสระเสรีภาพตั้งแต่ปัจจุบันธรรมนี้ ตั้งแต่ที่จิตมันยังมีความศรัทธามีความเชื่อมั่น จิตของเรามันคลอนแคลนตลอดเวลานะ คลอนแคลนกับผู้ที่ปฏิบัติใหม่เท่านั้น แต่ผู้ที่เข้าถึงธรรมจุดนี้แล้วมันจะเป็นคลอนแคลนไปจากไหน มันถึงแล้ว เห็นเงาร่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเข้าถึง เข้าถึง ก้าวเข้าไป ก้าวเข้าไป นี่ผู้ที่ละกายกับจิตแยกออกจากกัน มันถึงว่าจะเดินต่อไป จะเดินต่อไป

ถึงจะเดินผิดเดินถูกก็เป็นวิปัสสนูไปเรื่อย ถ้าวิปัสสนาต้องให้จิตนี้ ให้เป็นสมาธิแล้วยกขึ้นตลอด ยกขึ้นพิจารณากาย กาย กายกับจิตต่อไปเรื่อยๆ เพราะกายกับจิตนี้เป็นเครื่องอยู่ เพราะจิตนี้อยู่ในกาย กิเลสอยู่ในจิต จิตนี้อาศัยกายอยู่ กายเป็นชั้น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต มันจะซ้อนเข้าไป ซ้อนเข้าไป ลึกเข้าไปเรื่อยๆ ความลึกเข้าไป ความจับต้องของที่ว่าเราจับต้องได้ยาก เรายกขึ้นวิปัสสนายากทีแรก เราว่าเราพิจารณากายได้แล้วเราจับต้องได้ เรามีวิธีการแล้ว เข้าไปก็ยังละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีก

การพยายามจะยกขึ้นวิปัสสนาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เพราะว่าวิปัสสนาทื่อๆ เข้าไปอย่างนั้นมันเป็นวิปัสสนู เพราะการวิปัสสนาเข้าไปแล้วมันขณะที่ใช้ปัญญาอยู่ปัญญาจะหลอก จะหลอกทั้งหมดว่าจะเข้าไปชำระกิเลส เหมือนกับเอาอาวุธเข้าไปตามจับผู้ร้าย แล้วก็ยื่นอาวุธนั้นให้ยิงเราต่อหน้า ต่อหน้านั่นล่ะ เวลาวิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาเข้าไปว่าอันนี้เป็นผล เทียบมาในพระไตรปิฎกก็ถูกต้อง ถูกต้องแล้วจิตมันก็เวิ้งว้าง เพราะมันสิ่งที่เหนือจากโลกเขามี ไม่มีใครเคยเห็นปัญญาอย่างนี้มันหมุนเข้าไป มันจะสรุปว่าเป็นผลตลอด เป็นผลตลอด นี่กิเลสขณะที่วิปัสสนาอยู่มันก็ต่อต้านอยู่ตลอดเวลา

กิเลสมันต่อต้าน กิเลสไม่ยอมแพ้ใคร กิเลสกลัวธรรมอย่างเดียวนะ กลัวธรรม แต่เวลาเรามีธรรมเข้าไป ทำไมกิเลสมันเอาธรรมเราไปเป็นอาวุธ มันชำระทำความเพียรให้เราขาดสูญไปล่ะ เพราะในเมื่อที่ว่าอันนี้เป็นผล วิปัสสนาแล้ว รู้แล้ว ปล่อยแล้ว ว่างแล้ว นี่หลอกให้เราตายใจ ก็ทำลายให้ความเพียรของเราหยุดอยู่แค่นั้น ก็คร่อมอยู่ตรงนั้นเอง

ในขณะที่ภาวนาอยู่ ในขณะที่ใช้ปัญญาอยู่ ถึงต้องไม่ยอม ถ้าไม่มีเหตุผลรองรับ เราจะไม่ยอมเชื่อความคิดอย่างนี้เด็ดขาด ถ้าเราเข้าไปเจอเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว มันถึงจะซึ้งใจ ใครเข้าไปเจอเหตุการณ์นี้โดนกิเลสหลอก หันหัวออกมาเลย เข้าไปชำระแล้วโดนผลักหัววิ่งออกมาว่าอันนี้เป็นผลแล้ว แล้วพอผ่านไปถึงจะซึ้งว่า อ๋อ! ในเมื่อเราว่าเราทำอยู่ เรานะ กิเลสในตัวเรายังหลอกเรานะ หลอกซึ่งๆ หน้าอย่างนั้นเอง

พอมันแปรสภาพไง สิ่งที่บอกอันนี้เป็นผล แล้วมันไม่ใช่ผลจริง พอไม่ใช่ผลจริง เวลากิเลสมันแสดงตัวออกมา ถึงจะรู้ว่าอันนี้มันก็เป็นมีอารมณ์ออกมา มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเหมือนเก่า มันยังไม่ได้ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ตามความเป็นจริง มันชำระได้แต่ว่าความยึดสักกายทิฏฐิในกายเท่านั้น ความยึดกายว่ากายกับใจนี้เป็นอันเดียวกัน ตามตำราบอกไว้อย่างนั้น แต่ความเป็นจริงมันเห็น เห็น รู้เห็น รู้แจ้งจนปล่อยวางตามความเป็นจริงแล้ว

แต่ในเมื่อตัวจิตมันยังขึ้นไปข้างบน ขึ้นไปในกามภพ ในกาม ในความเป็นกลาง ในความเป็นปฏิฆะ ในความผูกโกรธ มันมีอยู่หมด ความมีอยู่อันนั้นน่ะ แล้วเราจะย้อนกลับเข้าไป ย้อนกลับเข้าไปเพื่อจะจับต้องกายนั้น จับต้องจิตนั้น แล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนาอีก ในเมื่อกิเลสเคยเห็นช่องทางว่าเราต่อสู้มาแล้วนี่ เราต่อสู้ขึ้นไป เราวิปัสสนาขึ้นไป นี่เคยแพ้มา มันต้องตั้งป้อมสู้อยู่แล้ว การตั้งป้อมสู้เป็นนามธรรมนะ กิเลสที่เป็นนามธรรมในใจแล้วนี่ตั้งป้อมสู้เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่อยู่ในหัวใจเราเป็นที่อาศัยของสิ่งนี้ มันเคยอาศัยใจเรามาตลอด

ใจนี้เป็นที่อยู่ของเขา เป็นบ้านเป็นเรือนของเขา แล้วเราใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังสิ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมะของเรายังไม่ถึง เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเชื่อ ธรรมนี้เหมือนยา ธรรมาวุธใช้อาวุธที่เป็นธรรมนี้เข้าไปขับผลักไส เข้าไปขับไสให้กิเลสนี้ยุบยอบตัวลงก่อน ยุบยอบตัวลงแล้วเราถึงจะจับต้องจับต้อง จับต้องกายและจิตเพราะที่อยู่ที่อาศัยของกิเลสนี้ไง ที่อยู่ที่อาศัยแล้วธรรมชำระล้างกายและจิตนั้น ชำระล้างกายและจิตนั้นให้กิเลสมันหลุดออกไป

หลุดออกไปด้วยปัญญา หลุดออกไปด้วยเหตุด้วยผล ด้วยเหตุด้วยผลว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าทำให้เราเป็นทุกข์ สิ่งนี้ทำให้เราเกิดๆ ตายๆ มาตลอด สิ่งนี้ทำให้เราไม่เป็นอิสระกับในตัวเราเอง ไม่เป็นอิสระแม้แต่อารมณ์ความคิดนะ มันเกิดดับในธรรมชาติของมันเกิดดับ นี่มันเป็นธรรมชาติของมัน ถึงว่าขันธ์ ๕ ที่เป็นทุกข์กับขันธ์ ๕ ที่เป็นกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสอยู่มันเกิดแล้วก็ยึดให้เราไปด้วย มันเกิดดับ

แต่ความเห็นเราต้องตามไปตลอด ตามไปตลอด เหมือนกับคนจูงโคไปตลอดเลย กิเลสนี้เหมือนคนจูงโคเรา ใจเราเหมือนโคตัวหนึ่งต้องเดินตามไปต้อยๆ เลย เวลามันเกิดดับอย่างนั้น เพราะเราไม่รู้เท่า

ความละเอียดอ่อนของขันธ์ ขันธ์นอกมันก็เป็นหยาบเข้ามา ขันธ์ข้างในมันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เป็นชั้น เป็นชั้นเข้าไป ความละเอียดเข้าไป ความเวทนามันก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนเป็นอ้อยสร้อยอยู่ในใจ ก็นั่นก็เป็นเวทนา

ความอ้อยสร้อย ไฟสุมขอนในใจ ความเศร้าความหมองในใจ กับความที่ว่าความทุกข์ร้อนภายนอก ความละเอียดอ่อนของใจที่อยู่ข้างใน มันถึงว่าญาณจะจับต้องสิ่งนี้ได้ จับต้อง เราที่ว่าเราจับต้องได้มันเป็นการจับต้องที่ว่า เฮ้อ! มันเป็นการทอดอาลัยต่างหากล่ะ มันไม่ได้เป็นการจับต้อง การทอดอาลัยนี้มันออกมาเป็นความ...ออกมาไหล แนว เป็นไหลออกมาผ่านขันธ์มาหลายชั้นแล้วถึงร้อง เฮ้อ! เราทอดอาลัย ความทอดอาลัยว่า นี่ไงอ้อยสร้อย นี่ความอาลัยอาวรณ์

ไม่ใช่ ความอาลัยอาวรณ์ภายในนะ ภายในเวลาจิตเราวิเวกเข้าไป เวลาเราวิเวก ความวังเวงมันจะมีความสุขมากเลย ความวิเวกมันสงัด จิตนี้สงัด จิตนี้ปล่อย มันอิสระชั่วคราว ความสงัด เพราะจิตมันเป็นสมาธิ มันมีพื้นฐานอยู่แล้วด้วย มันเป็นสมาธิแล้วยกขึ้นเป็นวิปัสสนามันสูงขึ้น ถ้ามันปล่อย เวลาเราวิปัสสนาไป มันสู้ไปแล้วมันเหนื่อยยาก การงานที่ทุกข์แสนทุกข์แสนยาก แล้วใช้เข้าบ่อยๆ พลังงานมันน้อยลง

พอพลังงานน้อยลง ความเห็นความยึดมั่นของกิเลสมันมากกว่า มันผลักไสไปไง ความคิดของฝ่ายกิเลสมันมีอำนาจมากกว่าความคิดของธรรม เครื่องมือธรรมาวุธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีสถานะที่ด้อยกว่า ด้อยกว่าเพราะว่าเราส่งเสริมขึ้นไป จากเราทำความสงบของใจ ความสงบต้องกลับมาพักเพิ่มพลังงาน ต้องเติมพลังงานไว้ตลอดเวลา ในการกลับมาทำความสงบ

วิปัสสนาไปแล้ว วิปัสสนาไป พอวิปัสสนาไป ความปัญญามันเคลื่อนหมุนไปโดยไม่สม่ำเสมอ เห็นไหม เราต้องปล่อย เราอย่าไปเสียดายอาลัยอาวรณ์กับเวลานั้น ส่วนใหญ่นี้จะคิดว่าจะจับให้มั่นคั้นให้ตายต่อหน้า มันใกล้แล้วเราพยายามจะไสไป นั่นน่ะ มันทำให้เหนื่อยมาก การงานที่ทุ่มทั้งชีวิตนะ เอาชีวิตนี้เข้าแลก เอาความตายนี้แลกกัน เพราะถึงสุดท้ายแล้วมันแค่ตาย พอบอกว่าตายนี้แลกกัน กิเลสมันถึงจะกลัว ถ้าไม่เอาความตายแลกกัน บางทีมันก็เอาความตายขู่เราเหมือนกันนะ

ตายแล้วปฏิบัติอย่างนี้ จะเป็นคนที่ตาย คนที่มาประพฤติปฏิบัติอยู่นี้เป็นคนที่ไม่มีวาสนา คนที่มีวาสนาเขาต้องอยู่ในโลก เขาต้องมีความสุขอยู่ในกามคุณ ๕ นั่น ไอ้พวกที่ออกมาปฏิบัตินี่พวกแห้งๆ แล้งๆ เห็นไหม เราก็จะอ่อนใจไง บางทีความตายนี้มันก็เอามาหลอกเราเหมือนกัน แต่เราก็ทุ่มไปจนสุดตาย ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องเห็นดีกันน่ะ นี่ปัญญามันจะเกิด มันจะเกิดอย่างนั้น ปัญญามันเกิด

แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด ฝ่ายกิเลสมีอำนาจมากกว่า เราถึงต้องย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเพิ่มพลังงานของเรานี่ ทำความสงบ อย่าเสียดาย มันไม่อยากมา งานอยู่กับมือจะทำให้เสร็จคามือไง อันนี้มันเป็นงานของโลก เป็นวัตถุแต่อันนี้เป็นนามธรรม มันมียางเหนียว มันมีความผูกมัด สังโยชน์ สังโยชน์ที่มันไม่ใช่เจตนา ความเจตนา ความนึก ความคิดนี้มันเริ่มต้น มันเหนือสังโยชน์ มันเป็นผลออกมาแล้ว สังโยชน์นี้มันอยู่ในใจ สังโยชน์ ปฏิฆะ กามราคะนี้มันอยู่เป็นเนื้อเดียวเลย มันถึงว่ามันเป็นเครื่องดองใจ มันเป็นเนื้อเดียว มันเกิดดับพร้อมกับใจ

ทีนี้พอเราจะเอาเข้า สิ่งนี้เป็นเจตนา สิ่งนี้มันหยาบเกินไป มันเพราะมีเรา มันมีว่าเราปาลูกข่างไปพร้อมกับเชือกติดลูกข่างไปมันไม่สมดุล มันไม่สมดุลกัน มรรคไม่เป็นอริยสัจจัง มรรคนี้ไม่สมดุล มรรคนี้รวมตัวไม่ได้ มรรคไม่สามัคคี มรรคนี้ไม่สามารถชำระได้ มรรคนี้มีเราไปด้วย ลำเอียงไปด้วย มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา

มันจะมัชฌิมาปฏิปทานี่ก็การไสไป เพราะการไสไปมันหนักไปด้วยอะไร ถ้าขาดพลังงานคือสมาธินี้ พลังงานตัวขับไสไป พลังงานมันไม่ขับเคลื่อนไป ความดำริ นี่มรรค ๘ มรรค ๘ งานชอบ เราว่างานชอบ ถ้าเราทำความสงบอยู่ เรายังไม่เคยจับตัวกาย-จิตได้มันก็ยังไม่ใช่งานชอบ มันเป็นงานของสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน คนเราก้าวเดินไปสองขา ขาซ้ายและขาขวา

นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนากรรมฐานกับสมถกรรมฐานมันต้องก้าวเดินไปด้วยกัน ก้าวเดินไปด้วยกัน พอพลังงานตัวนั้นมันน้อยเราต้องถอยกลับมาทำความสงบให้ได้ ถ้าจิตมันหมุนออกไปนะ จนจับจิตตัวขันธ์ในได้มันจะหมุนไปแรง ปัญญามันจะกลับมาไม่ได้ มันจะไปเลยล่ะ ไปเลย ไปเลย

น้ำป่าไง เวลาน้ำป่ามามันจะรุนแรงมาก ความรุนแรงของน้ำป่า มาชั่วคราวแล้วก็หายไป ขณะที่ว่ามาชั่วคราว ขณะที่มาทำให้เราสู้ไม่ไหวเลย เราทำเป็นไปไม่ได้ เราจะพักในสมาธิ มันก็พักไม่ได้ ถึงต้องพยายามกำหนดอย่างรุนแรง ต้องพุทโธ พุทโธ อย่างรุนแรงถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องแบบว่าสู้ไปจนกว่าจะหมดกำลังไปข้างหนึ่ง หมดกำลังไปข้างหนึ่งมันก็หยุด หยุดแล้วเราก็กลับมาเสริมสร้างพลังงานตัวนี้ใหม่เลย น้ำป่ามาเที่ยวหนึ่งมันก็ซัดเอาจนเขื่อนจนทุกบ้านเรือนพังไปหมด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าฝ่ายกิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่ามันจะกวาดเราไปหมดเลย กวาดจนเราสู้ไม่ได้ จนหมดไปคือว่าวงรอบการวิปัสสนานี้เราไม่ได้ผล เราเสียพลังงานไปโดยเราต้านอะไรไว้ไม่ได้เลย เห็นไหม การต้านการยันกับกามราคะ ความรุนแรงของกามราคะที่มันโถมใส่เข้ามา เวลามันเกิดขึ้น นี่ไง กิเลสตัวกามราคะมันเป็นตัวที่รุนแรง

เราพิจารณามาแล้วจากข้างล่าง เราปล่อยกายมาแล้ว ปล่อย อันนั้นมันปล่อย ปล่อยในการเกาะเกี่ยว การสืบเสาะออกไปสู่ในชีวิตประจำวัน ในชีวิตในพื้นฐานของมนุษย์ แล้วมนุษย์ทิ้งกายออกไป จิตนี้เป็นอิสระมาแล้วน่ะ ทีนี้เราตามเข้าไปชำระให้จิตที่ว่าเป็นอิสระ อิสระจากกายนี้ ให้มันอิสระตามความเป็นจริงในตัวของมัน ในตัวของมันมันยังมีความคิดความเห็น ยังมีขันธ์ ๕ นี้ในหัวใจมัน ขันธ์ ๕ ความจำความคิดของมัน นั่นน่ะ ตามเข้าไปตรงนั้น

ทีนี้พอตามเข้าไปความรุนแรงของการต่อต้านของกิเลส ของกิเลส ของความเคยใจ ของสิ่งที่อยู่ด้วยกัน นี่น้ำป่ามันไหลลงมา มันพัดพามา เราต่อต้านขึ้นไป เราต่อต้านขึ้นไป เราวิปัสสนาขึ้นไปเรื่อยๆ พอมันแพ้มาก็ต้องตั้งใหม่ แพ้มาก็ต้องตั้งใหม่ ถึงต้องคราดต้องไถ ถึงชนะก็ยังต้องคราดต้องไถ แต่นี่แพ้มาเลย การแพ้มาเพราะว่าเราสู้ไม่ได้ เหตุผลเราไม่พอ ขณะนั้นเป็นปัญญานะ แต่เหตุผลของพลังงานของสมาธิไม่พอ มันไม่ได้ขับเคลื่อนไปเลย ปัญญายังไม่ได้หมุนออกไปเลย ลูกข่างนี้ยังไม่ได้ปาออกไปเลย

ปัญญามันจะเกิดต่อเมื่อการต่อสู้ การเตาะแตะ เตาะแตะหมายถึงว่าเตาะแตะในขั้นนั้น เตาะแตะในขั้นที่ว่าสิ่งงานที่ไม่เคยทำ งานที่แปลกประหลาด งานที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งข้างล่างมันมั่นคงแล้ว มันตั้งได้จริงอยู่ ก็ดูสิเราทำงาน งานที่อยู่บนพื้นดินมันทำง่าย งานที่เราต้องทำนั่งร้านขึ้นไปข้างบนมันทำยาก งานที่เราขึ้นไปทำบนที่สูงมันเป็นงานที่ทำยาก อันนี้จิตของเราพัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน พื้นฐานมีอยู่แล้ว แต่งานข้างบนนี้แรงโน้มถ่วงมันมี ทำให้ทำงานได้ยาก

จิตที่เข้าไปลึกซึ้งเข้าไปมันก็เหมือนกัน มันทรงตัวอย่างไร ถึงว่ามันต้องเตาะแตะ เตาะแตะจนกว่ามันจะทำงานคล่องแคล่วขึ้นมา ความคล่องแคล่วขึ้นมา มรรคมันก็เริ่มออกก้าวเดินไปได้ ปัญญาจะก้าวเดินขึ้นไป ก้าวเดินขึ้นไปด้วยพลังงานของเรา จากคนที่ไม่มีคุณความดีอะไรนี่แหละ มันจะสะสมของมันขึ้นไป วาสนาบารมีเกิดจากใคร วาสนาบารมีมันจะลอยมาจากฟ้าเหรอ อำนาจวาสนาบารมีก็เกิดจากการกระทำของเรา แต่วาสนาบารมีธรรมนี่สำคัญที่สุด

“บารมีธรรม” ธรรมที่เกิดที่ไหน? ธรรมเกิดขึ้นที่ใจ ความดี ความชั่ว ความดี ความชั่ว ความคิด ความเห็นรวมลงแล้วไปสะสมอยู่ที่ใจ ผ่านหู ตา จมูก ลิ้น กายมันต้องไปสะสมลงที่ใจ แต่เราเข้าไปทำงานกันในหัวใจ บารมีธรรมเกิดขึ้นจากใจ ใจดวงนั้นน่ะเสริมสร้างบารมีขึ้นมาจากการที่ว่าขับไสเราเข้าไปนี่แหละ นี่บารมีธรรมมันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

แล้วเราสร้างบารมีธรรม เราสร้างเสริมบารมีธรรมของเราขึ้นมามันจะทุกข์มันจะยากขนาดไหนมันต้องกัดฟันทน ใจต้องกัดเพชรขาด กัดเพชรขาดมันถึงชำระล้างตัวนี้ได้ ถ้ากัดเพชรไม่ขาด กัดเพชรไม่ขาดก็อ่อนแอสิ ก็แพ้สิ นักหลบน่ะ เจออะไรก็หลบเอา หลบเอา ความเห็นภายใน เห็นไหม หลบออก ยันกันไว้ก่อน หลบ นักหลบ นักหลบชำระกิเลสไม่ได้ ต้องนักรบต้องมีการต่อสู้ ต่อสู้กับอวิชชานั่นน่ะ อวิชชาคือว่ามันไหลมาเฉยๆ น้ำป่ามันพุ่งมา มันมีว่ามันจะชีวิตเหรอ มันมีความรู้เหรอ มันพุ่งออกมา มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น

ธรรมชาติที่ว่าสิ่งที่เกิดมากิเลสในหัวใจมันเป็นอย่างนั้น มันก่อเกิดอยู่ในใจแล้วมันก็อยู่กับใจ แล้วมันก็พุ่งออกมาเป็นอย่างนั้น แล้วไม่มีใครเคยชำระ ไม่มีสิ่งใดเคยจะมาต่อต้านสิ่งนี้เลย เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว มีเครื่องมือเข้าไปต่อต้าน มีจักรอันนี้เข้าไปทำลายได้ จักรเท่านั้น ธรรมจักรเท่านั้น เกิดขึ้นมาจากความเห็นความรู้ของเรานี่แหละ หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป หมุนเข้าไปเรื่อยๆ มันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำขึ้นเรื่อยๆ วิปัสสนาไปเรื่อย ก้าวเดินไปเรื่อย สะสมไปวันละเล็กวันละน้อย นี่บารมีธรรม ถ้าไม่มีบารมีธรรม ไม่ได้สร้างสมขึ้นมาแล้วมาจากไหน

นี่ถึงว่าเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ

เวลาทุกข์ ทุกข์เกิดที่ใจ มันเกิดขึ้นมาจากตรงนั้น แล้วเวลาจะแก้ทุกข์ไปแก้ที่อื่นก็ไม่ได้ แล้วผู้อื่นจะแก้ให้ก็ไม่ได้ นี่บารมีธรรมถึงสำคัญตรงนี้ไง แล้วเราก็สร้างของเราอยู่ มันถึงว่าถึงจะทุกข์มันก็ทน ถึงจะทุกข์ถึงจะไม่มีทางออกมันก็ต้องไสกัน ต่อสู้กัน สักวันหนึ่ง สักวันหนึ่งเราต้องชนะได้ ถ้ามีสักวันหนึ่งเราก็มีการกระทำที่เป็นมรรคอริยสัจจัง

ถ้าทำสักแต่ว่าทำ ทำไปให้มันครบกำหนดเวลา สติก็ไม่มี ความเห็นก็ไม่ถูกต้อง ก็ทำไปเฉยๆ หลบไว้เฉยๆ คาไว้เฉยๆ แต่ถ้าสติพร้อม ความมีสติ สติสัมปชัญญะ การทำงานซึ่งๆ หน้า การทำงานต่อหน้า งานนั้นก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา แล้วก็ยังมีแก่ใจ มีแก่ใจว่าจะก้าวเดินต่อไป จะต้องก้าวเดินต่อไป ถ้าไม่ก้าวเดินต่อไป ใครจะพาก้าวเดิน

กิเลสอยู่ที่ใจ ทุกข์อยู่ที่ใจ เราก็ทุกข์ของเราอยู่นี่ แล้วว่ามีวาสนาเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาพบเครื่องดำเนิน เกิดมาพบธรรมาวุธ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของธรรม เราสะสมไป เราได้สะสมขึ้นไปเรื่อยๆ จิตมันได้กินธรรมไปเรื่อยๆ จนยกขึ้นมา ยกขึ้นมาจะแก้จิตภายใน แก้ภายใน แก้ภายในให้ได้ แก้ภายในได้นี่แหละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนก่อน แก้ภายในได้เพราะมันมีความสุขขึ้นมาก่อนอีกล่ะ ความสุขที่เกิดขึ้นจากจิตสงบนั้นเป็นความสุขหยาบๆ เป็นความสุขที่เกิดมีมาก่อนพุทธศาสนาด้วย

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเคยไปเรียนกับคนอื่นมา นี่ความสุขของโลกถึงเป็นโลกียะ แต่ความสุขอย่างนี้ความสุขของโลกุตตระ ถ้ากิเลสมันออกไปจากใจ เป็นความสุขของโลกุตตระ “ธรรมเหนือโลก” โลกุตตระคือพ้นจากโลก จิตนี้ไม่เกาะเกี่ยวกับโลก เป็นพรหมจรรย์อยู่จบ พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว อยู่จบงานมันสิ้นสุด นี่หนึ่งเดียวนั้น ใจนี้เป็นหนึ่งเดียว แล้วยังอยู่จบจนสิ้นออกไป ถ้ามันชำระกามได้ทั้งหมด ชำระตอทั้งหมด ชำระอวิชชาทั้งหมดออกไปจากใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงนั้นอยู่ที่ไหน นั่นไง เพราะว่าถ้าคนไม่สัมผัสมันจะไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

ธรรมๆ คำว่า “ธรรม” ก็ว่าเป็นธรรมนั่นแหละ ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว นั่นคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมของพระสารีบุตรก็เป็นของพระสารีบุตรที่พระสารีบุตรหาขึ้นมา พยายามค้นคว้าขึ้นมา แล้วก็จบไปพร้อมกับท่านปรินิพพานไป พระจุนทะยังไปเผาศพเอาพระธาตุกลับมาให้พระพุทธเจ้า นี่เป็นของผู้นั้นไง

นี่ก็ธรรมของเรา ธรรมของผู้ที่ปฏิบัติ ธรรมของผู้ที่จะเข้าถึง

ถึงว่าธรรม ธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ แต่ท่านวางไว้ นี่ถึงว่าเป็นศาสดาของเรา เป็นผู้ที่เราก้าวเดินตาม ตามมรรคอริยสัจจังนี้ไป มรรคอริยสัจจัง ก้าวเดินไปที่ไหน ใจก้าวเดินออกมา ใจของเรานั่นน่ะ แล้วมันจะได้ธรรมอย่างที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ได้ธรรมอย่างนั้น นั่นเป็นของท่าน

ถ้าเราปฏิบัติของเราเดี๋ยวนี้เป็นของเรา แต่ใช้เครื่องดำเนิน ใช้วิชาการเพราะเป็นสาวกะ ผู้เดินตามนี่เป็นสาวก เป็นสาวกก้าวเดินตามครูบาอาจารย์ไป แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกวันนี้เป็นผู้แสวงหาเพราะมันยังไม่มี สิ่งที่ไม่มีมันลึกลับอยู่ที่หัวใจ ลึกลับเพราะกิเลสมันปกปิดไว้หมด ปกปิดใจไว้หมดเลย แล้วเครื่องดำเนินก็ไม่มี

นี่เครื่องดำเนินมี มันถึงต้องย้อนกลับมา เครื่องมือพร้อม ยาพร้อม ทุกอย่างพร้อม แล้วมีแก่ใจไหม เรามีแก่ใจที่จะรักษาโรคของตัวเอง มีแก่ใจจะรักษา จะชำระล้างโรคภัยไข้เจ็บในหัวใจนี้ นี่ธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นยา เป็นยาที่จะเข้ามาชำระล้าง กิเลสถึงได้กลัวธรรม

กลัวตั้งแต่ศีลขึ้นมา “ศีล” ศีลบังคับขอบไว้ ขอบ เว้นไว้หมด ขอบของศีลเป็นรั้วของบ้าน ธรรมนี้อยู่ในตัวบ้าน ศีลธรรม ศีลธรรมนี้ถึงเป็นขอบเขตเกาะเกี่ยวให้เราเข้ามา กิเลสมันจะเป็นอิสระไม่ได้แล้ว กิเลสจะเป็นอิสระเสรีอย่างแต่เดิมไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรม กิเลสมันเพ่นพ่านได้หมด ทั้งๆ ที่มีศีลนะ มีศีลครอบไว้ เรามีศีลอยู่ แล้วเวลาจะบังคับใจบังคับได้ไหม? บังคับไม่ได้ บังคับไม่ได้เพราะมันกิเลสมันอยู่ในนั้น มันขี้รดบนหัวใจ มันผลักไสใจตามอำนาจของมันไง

แต่ถ้าพอเราปฏิบัติเข้าไป บารมีสะสมเข้าไป สิ่งที่มันเคยคิดเป็นอิสระมันเกิดขึ้นไม่ได้ ชำระล้างออกไปจนใจนี้เป็นธรรม พอใจนี้เป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดับหมดเพราะอะไร เพราะเวลากระเพื่อมจิตนี้เสวยอารมณ์ กิเลสมีอยู่ มันปิดหูปิดตาเสวยตามอารมณ์นั้นไป จิตนี้เสวยทุกอย่างไปที่มันขวางหน้า

แต่ถ้าใจเป็นธรรมแล้ว ใจเป็นธรรม ความคิดเกิดขึ้นพร้อมกับสติสัมปชัญญะพร้อมมาเลย ถ้าสิ่งนั้นเป็นโทษมันจะหยุดแค่นั้น มันก้าวเดินไปไม่ได้ มันไม่เสวย จิตนั้นจะไม่เสวยไง ถึงเจตนา ถึงว่าจิตดวงที่เป็นธรรม ธรรมทั้งเอโก ธัมโมแล้ว พร้อมหมดตลอดเวลา เป็นอัตโนมัติพร้อมกับ...เราคิดมานี่เรายังไม่รู้เราคิดอะไรเลย ออกมาเป็นอารมณ์แล้ว บางทีสัญชาตญาณไปแล้วนะ มือไปแล้วยังไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าจิตเป็นธรรม ดูสิ เริ่มต้นแต่ความคิดนั้น ขยับขึ้นมาพร้อมทั้งสติ พร้อมกับสติสัมปชัญญะมาตลอด พร้อมกับปัญญา พอพร้อมกับปัญญาความคิดนั้นเป็นประโยชน์ มันจะคิดเลยคิดว่าอย่างนี้เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์

เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช้าขึ้นมาเล็งญาณก่อนจะโปรดใครก่อน จะโปรดใครก่อน นี่ความคิดออกมาโปรดใครก่อน เช้าบิณฑบาตไปแล้วไปโปรดองคุลิมาลก่อน ถ้าวันนี้ไม่ไปจะทำมาตุฆาตไม่มีโอกาสแล้ว เห็นไหม มันถึงว่าถ้าใจเป็นธรรม ออกมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะ มันจะออกเป็นธรรมไปตลอด นั้นถึงว่ากิเลสเกิดไม่ได้ไง กิเลสจะเกิดขึ้นจากใจที่เป็นธรรมนั้นไม่ได้ ถึงมันต้องขาดออกไปจากความเป็นจริง

แต่ถ้าใจยังเป็นเราอยู่นี่ มันเสวยไปทั่ว เสวยไปทั่ว ธรรมอันนั้น จากจิตที่มีกิเลสล้วนๆ นี่แหละมันพัฒนาขึ้นไป พัฒนาขึ้นไปจนเป็นธรรม ฟังสิ พอใจนั้นเป็นธรรมหมด มาขยับไปพร้อมกับสติสัมปชัญญะแล้วมันจะมีความสุขขนาดไหน ฟังสิ ความผิดพลาดจากใจดวงนั้นไม่มีเลย ไม่มี ใจดวงนั้นมีแต่ความสุข เป็นธรรมทั้งหมดเลย ธรรมของผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดผู้ประพฤติปฏิบัติ นี่บารมีธรรมควรสะสมอย่างยิ่ง สะสมไปจนหัวใจนั้นเต็มไปหมดด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนนะ แต่ขณะนี้สะสมเต็มแล้ว เป็นธรรมของดวงนั้นน่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้มาแบ่งมรรคผลของใคร มรรคผลของดวงนั้นก็เป็นของดวงนั้น ดวงที่ใจนั้นเสวย ดวงใจที่เป็นธรรมทั้งแท่งนั้น เสวยออกมานี้มันยังเป็นสมมุติอยู่ก็ยังเสวยความคิดออกมาเพื่อจะสื่อกัน เพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของโลก เพื่อประโยชน์ของเป็นผู้ชี้นำ เป็นมรรคาเครื่องดำเนินต่อไป แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ว่าเป็นมรรคา เป็นประโยชน์ทั้งหมด ใจที่สะสมแต่ประโยชน์ ใจที่ทำแต่คุณงามความดี มันจะเอาความทุกข์มาจากไหน มันจะเอาโทษมาจากไหนล่ะ นั้นเป็นใจที่เป็นธรรม

จะมีก็มีแต่กาย กายของพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายยังต้องโดนโจรทุบจนร่างแหลก เห็นไหม จากสิ่งที่มาถึงมาเสวยยังมากระทบได้อยู่นั้นเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นเศษส่วน เศษ สอุปาทิเสสนิพพาน ร่างกายนั้นยังมีอยู่ ร่างกายกรรมตามมาทัน ทันเฉพาะกายนั้น ไม่สามารถเข้าถึงใจดวงนั้นได้

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมีความสุขอยู่ในหัวใจนั้น ความผิดพลาดไง ความผิดพลาดในสัญชาตญาณมันเป็นไปได้ ความผิดพลาดในสัญชาตญาณในการความผิดนิดๆ หน่อยๆ ของกาย การเคลื่อนไปการก้าวเดินไปมันต้องไปเหยียบอะไรเป็นสิ่งที่ว่ามีชีวิตบ้าง อันนั้นมันสุดวิสัยไง โลกนี้มันมีแต่สิ่งมีชีวิต ความสุดวิสัยอันนั้นมันไม่มีเจตนา มันเลยไม่เป็นความทุกข์เผาลนในใจนั้นไง

แต่ถ้าใจมันเป็นทุกข์น่ะมันเกร็งไปหมด มันเป็นทุกข์ไปหมด ความเป็นทุกข์อันนั้นมันอยู่ที่ใจของคนที่ยังสงสัยในธรรมนั้นไง สิ่งที่สงสัยอยู่ในธรรมนั้น ความสงสัยนั้น ความสงสัยนั้นก็เลยทำให้ใจดวงนั้นมีแต่นิวรณธรรม แต่ใจที่เป็นธรรมแล้วกระเพื่อมมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะ ทำไปเป็นสัญชาตญาณนี้เรียกว่าสันดาน นี่ธรรมแท้ๆ ในสาวกทั้งหลายถึงไม่สามารถชำระสันดานได้ แต่สามารถชำระกิเลสได้ทั้งหมด

เราก็เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เป็นบริษัท ๔ เป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานวางไว้ ฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราก็เป็นบริษัทหนึ่ง เป็นเจ้าของศาสนา เป็นเจ้าของศาสนาเราก็ต้องเอาศาสนานี้มาประจักษ์ ถึงให้ในหัวใจของเราได้ ในธรรมในใจนี้ไง ให้ใจนี้เป็นธรรม ให้ใจนี้เป็นเจ้าของศาสนาจริงๆ เอโก ธัมโม ใจเป็นเอก ใจนี้เป็นธรรม เป็นเจ้าของศาสนาของบุคคลคนนั้น เป็นเจ้าของความรู้ธรรมเป็นทั้งนั้นเลย

แล้วยังเคารพ กลับมาเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากใจของเราที่ประพฤติปฏิบัตินั้นได้มาเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมก่อน แล้ววางมรรคาไว้ให้เราก้าวเดินตาม ถ้าไม่มีคนชี้นำทาง ไม่มีคนใครพาก้าวเดิน เราก็ยังจมอยู่ในมูตรในคูถอย่างที่กิเลสมันพาจมอยู่นั่นล่ะ

แต่เพราะอันนี้เราเชื่อแล้วเราปฏิบัติมันถึงจริง มันถึงว่า เป็นของเราด้วย แล้วซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะสรณะข้างนอกในตำราก็มีอยู่ แล้วมันเป็นอยู่ในหัวใจ มันกังวานอยู่ในหัวใจของธรรม ของใจที่เป็นธรรมดวงนั้น เอโก ธัมโมอยู่นั้นมันก็ต้องซึ้งมาจากข้างใน

ความซึ้ง ความรู้คุณ ความเคารพนับถือออกมาจากใจ ถึงว่า ถึงสัมผัสมันได้ นี่รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง วิมุตติธรรมนี้ประเสริฐที่สุดในศาสนาพุทธเรา เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราต้องวางเป้าหมายให้ก้าวถึงให้ได้ นี่คือเป้าหมายสูงสุด ถ้าไม่ถึงก็พยายาม พยายามประพฤติปฏิบัติอยู่ เพื่อเป็นวาสนาบารมี เป็นบารมีธรรม บารมีธรรมสะสมใจเราให้เกิดทุกภพทุกชาติก็ให้มันเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป จากการที่ว่ามีความสุขในความเป็นอยู่แล้วก็มีความสุขจริงๆ ความสุขแท้ในหัวใจที่เสวยธรรมนั้น เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

บารมีธรรมควรสะสมอย่างยิ่ง บารมีธรรมทำให้คนหลุดพ้นจากทุกข์ออกไปได้ “บารมีธรรม” ธรรมนี้เป็นเครื่องดำเนิน เป็นสิ่งที่ก้าวเดินตามออกไป “ธรรม” ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสะสมบารมีธรรมแล้วจะได้ผล ได้ผลออกไป ได้ผลออกจากกิเลส ได้ผลออกจากทุกข์

เพราะอาศัยเป็นเครื่องดำเนิน เครื่องอยู่เครื่องอาศัย เครื่องดำเนินไง ความเป็นธรรม ความเป็นธรรมของโลก ความเป็นธรรมของใจ ใจที่เป็นธรรม ใจเป็นใจที่เป็นธรรม ธรรมจากใจนี้สำคัญกว่าใจทางโลก เพราะจะไม่ไปทำให้โลกปั่นป่วน โลกจะเป็นความสุขเพราะใจผู้มีธรรมนี้เป็นหลักชัย หลักชัยของตัวเองและเป็นหลักชัยของโลกต่อไปภายภาคหน้า หลักชัยของตัวเอง