เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ ก.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พูดถึงธรรมะนี่มันมีหลายหลากมาก เวลาผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัติ มันต้องแบบเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ฆราวาส เทศน์คฤหัสถ์ เห็นไหม เทศน์อนุปุพพิกถา คือให้ทำบุญกุศล ให้ถือเนกขัมมะ ถือพรหมจรรย์ เทศน์เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป พอฆราวาสมีใจฝักใฝ่ เขาเรียกเปิดใจ หงายภาชนะที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นมา พอหงายขึ้นมานี่ฟังเทศน์มันจะเข้าใจ แล้วฟังเทศน์มันจะกินหัวใจ มันจะทิ่มเข้าไปที่หัวใจ พระพุทธเจ้าต้องหงาย

หลวงตาท่านสอน พระพุทธเจ้าบอกว่าคนนอนหลับนี่เราปรารถนาดีกับเขาขนาดไหน เราจะเอาอาหารไปป้อนเขานะ เขาสำลักตายเลย ต้องทำให้เขาตื่นก่อน จิตของคนเรามันหลับใหล พอจิตของคนหลับใหลนี่นะ พระพุทธเจ้าต้องเทศน์อนุปุพพิกถา ให้ผลของการทำบุญกุศล ให้ทานนี่ได้ผลอย่างไร? ถ้าให้ผลมันจะไปสวรรค์ พอไปสวรรค์นี่เนกขัมมะ พอเนกขัมมะนะ เนกขัมมะคือถืออยู่คนเดียวไง พอเนกขัมมะปั๊บเราจะถือพรหมจรรย์

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์นะ เห็นไหม คนเรามันมีหลากหลาย ฉะนั้นชาวพุทธเราก็เหมือนกัน เราไปฟังธรรมะกัน เรามาทำบุญกุศลกันมันหลากหลายมาก หลากหลายหมายถึงว่า ไม่ใช่ว่าหลากหลายจนจับต้องอะไรไม่ได้นะ คำว่าหลากหลายมันเป็นพื้นความรู้สึกของจิตมันสูง มันต่ำ

ถ้าพื้นของจิตมันธรรมดา ก็ทำบุญกุศลนี่แหละ ก็ว่าเราก็เป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัดล่ะ? อู๋ย.. ว่างๆ อู๋ย.. สะดวกสบาย อู๋ย.. คนไปวัดนะ ไอ้คนที่ไปวัด ไอ้คนที่ไปภาวนานี่อัตตกิลม-ถานุโยค ไปทำตนให้ลำบากเปล่า ต้องไปทำให้ตนทุกข์ทรมาน แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่าความดีของธรรมะนี่มีเยอะแยะหลากหลายมากเลย

ความดีของคฤหัสถ์เรา นี่อยู่บ้านมีความกตัญญูกตเวที รักพ่อ รักแม่ เป็นเด็กดี เป็นคนดี ทำมาหากินเป็นความดี นี่มรรค เห็นไหม มรรคสัมมาอาชีวะ ถ้าพระเวลาพูดถึงการปฏิบัติ บอกมรรคคือสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ เราบอกว่านี่เป็นมรรคของฆราวาสเขา เป็นมรรคของคนที่ทำมาหากิน แต่ถ้ามรรคของพระ พระไม่มีอาชีพ พระเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง อาหารเลี้ยงชีวิตด้วยการทำบุญกุศลของญาติโยมเขา เขาทำบุญของเขา เราเลี้ยงชีพของเราแล้ว

ไอ้นี่เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มรรคเป็นปลีแข้งหรือ? เอาปลีแข้งมาเป็นมรรคหรือ? มรรคของพระนะมันเป็นมรรคญาณ เห็นไหม ความรู้สึก วิญญาณาหาร อารมณ์ความรู้สึกเป็นอาหารของใจ ถ้าอาหารของใจ เลี้ยงชีพนี่คิดดีคิดชั่วไง มันเป็นความคิดอันละเอียดนั้น ไม่ใช่เลี้ยงชีพชอบไปทำมาค้าขาย ทำอาชีพ ทำอาชีพนั่นมันเป็นเรื่องของโลก เวลาพระนี่มรรคญาณนะ เลี้ยงชีพชอบ เดินจงกรมมันมีความเห็นของมันอย่างไร?

นี่เราจะปูพื้นถึงเรื่องของธรรมะก่อน แล้วเวลาเราพูดกันในเว็บไซต์ เห็นไหม ในเว็บไซต์เราพูดถึงอะไรล่ะ? เราพูดถึงทุกคนอยากได้โสดาบัน นี่เขาพูดถึงมรรค ผล นิพพาน ถ้าพูดถึงมรรค ผล นิพพาน นี่เรื่องความละเอียดลึกซึ้งมันต้องลึกซึ้งกว่านั้น มันไม่ใช่เรื่องหยาบๆ ที่เอาฆราวาสมาทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ในเว็บไซต์นั้น ฉะนั้น เวลาเราพูดออกไป พอเราพูดออกไปเขาก็โต้แย้งมาบอกว่านี่เราพูดผิด

ธรรมะนี่นะ พระนี่ต้องคุยกันโดยส่วนตัว นี่เอาเรื่องในที่ลับมาเผยในที่แจ้งมันไม่ถูก ไอ้เรื่องในที่ลับ ลับของใครล่ะ? อยู่ที่ไหน นี่เราทำบุญกุศลหรือทำบาปอกุศลในที่แจ้งหรือที่ลับ ที่แจ้ง เห็นไหม คนเห็นทั่วไป ในที่ลับความคิดในใจไง ในที่ลับคือความหมักหมมในใจนั้นไง ในใจที่มันปิดไว้ในใจ แล้วมันลับที่ไหนล่ะ? มันไม่มีความลับเลย ไม่มีความลับ คนทำทุกคนรู้หมด

นี่พูดถึงตัวเราเองนะ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ เป็นพระนะเขารู้หมดแหละ คำพูดมันฟ้อง คำพูดมันเปิดใจออกมา มันเปิดความลับออกมา แล้วบอกว่าเอาเรื่องในที่ลับมาขายในที่แจ้ง มันไม่ลับอะไรเลยสำหรับคนรู้ มันไปลับสำหรับคนตาบอด ไอ้คนตาบอดนี่ไม่รู้ แต่คนรู้มันรู้ เห็นไหม แล้วเขาบอกว่าเรานี่ไปด่าเขา.. ไม่ได้ด่านะ

นี่ในทางสังคม เห็นไหม เวลาไปวัดนี่พระด่า เวลาอยู่บ้านบอก โอ๋ย.. วันนี้ดวงไม่ดีเลยโดนเมียเทศน์ เวลาเมียด่ามันบอกว่าเทศน์นะ เวลาพระเทศน์มันบอกว่าด่า เวลาพระเทศน์ท่านให้เหตุให้ผลใช่ไหม? การเทศน์คือให้เหตุให้ผล นี่ดูเวลาหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านอยู่กับครูบาอาจารย์นะ หลวงตาท่านบอกว่าท่านกลัวหลวงปู่มั่นมาก ทุกคนบอกว่าหลวงปู่มั่นดุมาก ดุมาก แต่หลวงตาบอกไม่ดุเลย

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ทางโลกว่าท่านดุคือท่านด่า ท่านดุท่านด่า นี่ท่านดุท่านด่าเรื่องอะไร? ท่านดุท่านด่าเรื่องความผิดพลาด ท่านดุท่านด่าด้วยเหตุผล นี้คือเทศน์นะ นี่คือการบอกขุมทรัพย์ หลวงตาบอกเลยนะ บอกว่าหลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมท่านมา การเป่ากระหม่อมมา การเลี้ยงดูมา การเชิดชูมา การอุ้มชูมา เห็นไหม ดูสิเทศน์สิ เป่ากระหม่อมมา

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน หลวงตา นี่เราอ้างสิทธิ์ว่าหลวงตา เอาสิทธิ์หลวงตามาโต้แย้ง หลวงตาท่านสอนอะไร? หลวงตาท่านเห็นด้วยกับอะไร? หลวงตาท่านสอนพุทโธนะ แต่ในความเห็นของเขา ในคำพูดของเขา มันเป็นคำพูดให้เป็นสีเทาๆ มันกั๊กไว้ไง

นี่ว่าใครทำพุทโธ พุทโธนี่นะ ชาวพุทธนี่หลงกับพุทโธมานาน ชาวพุทธปฏิบัติไปแล้วตัวแข็ง ตัวทื่อ สมถะไม่เกิดปัญญา ต้องเกิดปัญญาของเขา นั่นมันปัญญาอะไร? พอเราชี้เข้าไปนะว่าอ้าว.. เราด่า บอกว่าเราด่า เราไม่ได้ด่านะ เราบอกถึงเหตุถึงผล เราก็ต้องธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง ก็บอกเหตุผลมาสิ เหตุผลเราโต้แย้งไป นี่ไงบอกว่าในที่ลับ

ไม่มีหรอก ไม่มีที่ลับหรอก มันแจ้งหมด มันเปิดหัวใจมา มันเห็นชัดเจนหมดเลย ไม่มีที่ลับที่แจ้งหรอก นี่ที่ลับที่แจ้งสำหรับคนไม่รู้ แต่คนรู้มันไม่มีที่ลับที่แจ้ง นี่พูดถึงคำว่าด่า ฉะนั้น เวลาเขาพูด เห็นไหม เขาบอกว่า.. นี่ดูในแก้ดูจิต เออ.. ท่านก็พูดมีเหตุผลเนาะ ท่านก็พูดมีเหตุผลเนาะ แต่เสียอย่างเดียว คนรอบข้างท่านเอาท่านมาใช้เป็นประโยชน์

รอบข้างมันจะใช้อะไรใครได้ รอบข้างมันตาบอด คนตาบอดจะให้คนตาดีได้อย่างไร? คนตาบอดมันพูดอะไร คนตาดีจะเชื่อคนตาบอดไหม? คนตาบอดพูด แต่มันเป็นเหตุเป็นผลใช่ไหม? นี่ท่านพูดอะไรก็มีเหตุผลเนาะ เสียอย่างเดียว ท่านโดนคนเอามาใช้เป็นประโยชน์ นี่ไงเวลาพูด ถ้าด่า ถ้าพูดด้วยเหตุผล นี่ธรรมะมันด้วยเหตุผลก็พูดสิ ทำไมท่านพูดมีเหตุมีผล ท่านพูดน่าฟังนะ แต่เสียอย่างเดียวท่านโดนคนรอบข้างเอามาแอบใช้

นี่ทำไมไม่พูดเหตุผลมาว่าเราพูดออกไปมันผิดตรงไหน? มันถูกตรงไหน? อย่างเช่นว่าสติไม่ต้องฝึก เรารับไม่ได้เลยนะ เราจะบอกว่า เห็นไหม สัจธรรมปฏิรูป เราทำแล้วเราต้องมีเหตุมีผลของเรา เราทำอะไรก็แล้วแต่เราต้องการผลประโยชน์ใช่ไหม? เราทำสิ่งใดเราต้องการผลตอบแทนใช่ไหม?

อ้าว.. นี่ทำงานไปมันจะมีผลตอบแทนที่ไหน ในเมื่อสติบอกไม่ต้องฝึกเลย ไม่ต้องฝึกเลย ถ้าใครฝึกสติคนนั้นผิดหมด ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาตินะ จงดูอย่าขืนไปตามธรรมชาติ สิ่งนี้ใช้ไม่ได้หรอก เหมือนเด็กนี่ เด็กปล่อยให้มันโตขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน เรามีลูกของเรามานะ เราบอกลูก เราทำสัญญากันไว้เนาะ ลูกจะเรียนอะไรก็ได้ ลูกจะไปโรงเรียนก็ได้ ลูกจะทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจลูกเลย ตามธรรมชาติ ให้ลูกทำของมันไป มันเป็นไปได้ไหม?

เด็กมันจะโตขึ้นมาพ่อแม่ต้องบังคับ พ่อแม่ต้องให้เหตุผล ให้เหตุผล อย่างไรก็ต้องให้เหตุผลลูกว่าลูกต้องทำตัวเป็นคนดี แล้วเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ดีของสังคม สังคมเขาตรวจสอบเอง ไม่ใช่ดีในกลุ่มของเพื่อนลูกนะ ถ้าเพื่อนลูกนี่เด็กด้วยกัน ๑๐ คน มันก็บอกว่ามันเป็นคนดีนะ โอ๋ย.. ผู้ใหญ่นี่ไม่ดีเลย สังคมไม่ดีเลยนะรังแกพวกเรา เรา ๑๐ คนเป็นคนดีมาก นี้มันความคิดแบบเด็กๆ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสติมันไม่ฝึกมันเป็นไปไม่ได้.. เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็เป็นไปไม่ได้! นี่ไปฟ้องหลวงตา เราอยากให้หลวงตาเอาเราไปเช็คเลย ถ้าเช็คเราจะพูดเหตุผลนี้ให้ฟัง บอกเลยบอกว่าสติฝึกไม่ได้ ตั้งใจเป็นอัตตกิลมถานุโยคทันที ตั้งใจเป็นอัตตกิลมถานุโยคทันที

ตั้งใจ ความตั้งใจมั่นคือสติ แล้วไม่ตั้งใจมันจะไปไหนกัน.. ความตั้งใจมั่นใช่ไหม? ความตั้งใจของเราเป็นอะไร? นี่ความเจาะจง นี้ความเจาะจง พวกนี้เขาไม่เคยให้เหตุผลเรื่องนี้ เขาว่าเป็นสมาธิ เราตั้งสตินะพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นสมาธิต่อสติพร้อม ความรู้สึกเขาบอกว่าดูจิตด้วยสติพร้อม อันนั้นน่ะรู้สึกตัวทั่วพร้อม แล้วทั่วพร้อมของใคร? พอจงใจก็ผิด อะไรก็ผิด แล้วรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างไร?

รู้ตัวทั่วพร้อมอย่างไรถ้าไม่ตั้งสติ แล้วตั้งสติก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค เขาจงใจเลยเป็นอัตตกิลมถานุโยค นี่ในหมู่ศิษย์ที่พูด ถ้าตั้งใจเป็นอัตตกิลมถานุโยค แล้วถ้าตั้งใจเป็นสติ แล้วบอกสติมันจะเกิดเอง.. ตรงนี้มันเป็นจุดเริ่มต้น หลวงปู่มั่นพูด เราเอามาพูดบ่อย แต่พวกโยมตีความกันไม่ออก หลวงปู่มั่นท่านเตือนลูกศิษย์ประจำ

“ต้นคดปลายตรงไม่มี”

ต้นคด! ปลายตรงไม่มี.. เริ่มต้นจากการไม่ต้องตั้งสติ แล้วทำตามกันไป นี่เห็นไหม โทษนะ เราประชดประชันตลอด เวลาในทางโลก ทางวิชาการเขาสอนเอาเด็กเป็นศูนย์กลางนะ ทางวิชาการ ทางครูต้องเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ถ้าเอาเด็กเป็นศูนย์กลางนะ เมืองไทยจะมีแต่เด็กถือขวดนม มันก็จะกินนมของมัน เด็กเป็นศูนย์กลาง

ใช่ เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กมันต้องเป็นฝ่ายที่รับ ซึมซับเอาวิชาการนั้นไป แต่คนที่จะสอนเด็กต้องฉลาดกว่า ต้องมีทางเราจะสอน เราจะใช้อุบายอย่างไรให้เด็กนั้นมันมีความสนใจ มีการศึกษา ให้มันมีทางวิชาการขึ้นมา เด็กเป็นศูนย์กลางของการรับรู้ แต่ถ้าคนสอนมันนี่โง่จนในสมองกลวง เด็กมันก็มีแต่ขวดนม โตไปเมืองไทยจะมีแต่คนถือขวดนมคอยนอนกินนั่นน่ะ

นี่เอาเด็กเป็นศูนย์กลางไง เอาเด็กเป็นศูนย์กลางในการรับรู้ แต่ผู้ที่จะสอนเด็กนั้นต้องมีวิชาการ มีความรู้ที่สามารถจะสอนเด็กให้เด็กคนนั้นฉลาดขึ้นมา ให้ยืนตัวขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง

นี่ก็เหมือนกัน นี่ตามไป ถ้าตั้งสติเป็นอัตตกิลมถานุโยคทันที นี่ไงตรงนี้ ๑.

๒. พอออกไป เห็นไหม พอออกไปนี่สติเป็นอนัตตา สติ สมาธิ เป็นอนัตตา.. นี่ว่ากันไป เพราะต้นมันคด ปลายมันตรงไม่มีหรอก ถ้าพูดกันชัดๆ นะ อู้ฮู.. จี้ได้ทุกจุดเลย แต่นี่เขาบอกว่าเราด่า เราไม่ได้ด่านะ เราพูดเหตุพูดผล แล้วเวลาคำว่าด่า นี่อยู่ข้างนอกไง คำว่าด่ามันลบหมดไง มันลบว่าท่านโทสะ โอ้โฮ.. เสียงท่านเป็นอัตตาทั้งหมดเลย อู้ฮู.. เสียงดังมาก

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดนะ “หมู่คณะภาวนาเข้ามานะ มีเหตุขัดข้องผู้เฒ่าจะแก้ การแก้จิตนี้แสนยาก การแก้จิตนี่แสนยาก แล้วคนแก้มันจะไม่มีนะ ถ้าเราตายไปแล้วเนี่ย”

ท่านเป็นห่วงขนาดนั้นเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะว่าความรู้จริงอย่างนี้ แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ที่ว่าดุๆ นี่พลังของจิตมันออกมารุนแรง หลวงตาเวลาถ้าออกมาเต็มที่ มันก็เต็มที่ของท่าน แต่นี้พอเสียงดัง เสียงดังบอกว่าผิดหมด แต่มันก็มีดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างที่ว่า เอ๊ะ.. ท่านก็พูดมีเหตุผลนะ ท่านก็พูดมีเหตุผลนะ แต่เสียอย่างเดียวเสียงนี่เต็มไปด้วยอัตตา

นี่ความคิดของเขา เห็นไหม นี่คนตาบอด นี้พูดถึงว่าการด่าหรือไม่ด่า แล้วพูดถึงความจริงหรือไม่จริง เดี๋ยวจะพูดถึงความจริง แล้วความจริงนี่มันเป็นความจริงของเขา เขาด่าขนาดไหนนะ เหมือนเราเลยนะ นี่เด็กๆ นะเราเลี้ยงลูก พ่อแม่ทุกคนจะโดนลูกตบหน้า เด็กมันเล่นของมันด้วยความไร้เดียงสา พ่อแม่ก็ดีใจเนาะเด็กมันตบแผละๆ อู้ฮู.. มีความดีใจมากเลย

นี่ก็เหมือนกัน เด็กมันไร้เดียงสา มันไม่เข้าใจอะไรของมัน สังคมที่.. โทษนะ สังคมที่เขาด่านี่เราหัวเราะนะ คือมันจะรู้อะไร? มันก็เหมือนเด็กทารก มันไม่รู้อะไรหรอก สิ่งที่เราพูดออกไปมันไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้นเลย เพียงแต่ว่ามันได้ข้อมูลอย่างนั้นมา มันก็โต้แย้งออกมา มันยิ่งด่ายิ่งว่านะเรายิ่งขำนะมึง เราขำ ขำ แล้วยิ่งด่าเรา เอ๊อะ.. เขาด่าเพราะเขาไม่รู้

เหมือนกับเราอุ้มลูกเล็กๆ แล้วลูกมันตบเราแผละ แผละ.. เหมือนกัน ยิ่งตบมันไร้เดียงสา แต่ถ้าผู้ใหญ่คุยกันด้วยเหตุด้วยผลมันมีประโยชน์นะ มันจะมีประโยชน์ตรงนั้น พอเวลาเขาพูดขึ้นมา เห็นไหม เออ.. เขาพูดก็มีเหตุผลเนาะ แต่เสียอย่างเดียวเสียงเต็มไปด้วยอัตตา นี่มันยังไม่เปิด

เราจะบอกนะ เราพูดนี้เราจะย้อนกลับมาที่หลวงตา ตอนหลวงตาท่านเปิดเว็บไซต์ใหม่ๆ มีคนเข้าไปพูดมาก ท่านบอกว่า “เขาด่าเรานะไม่ได้ด่าลูกศิษย์” อันนี้ก็เหมือนกัน โยมไม่ต้องหวั่นไหวหรอก เราโดนเองเรายังหัวเราะได้เลย โยมมายุ่งอะไร?

ถ้าเราจะไปยืนกลางฝน เราจะไม่เปียกฝนเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราจะไม่ไปยืนกลางฝน เราก็หลบอยู่ในบ้านของเรา มันก็ไม่เปียกใช่ไหม? ถ้าเราเห็นสังคมเราจะช่วยเหลือเขาไหม? ถ้าเราจะช่วยเหลือสังคม เราก้าวออกไป เราจะต้องเปียกฝนแน่นอน ถ้าจะไม่เปียกฝนก็กลับเข้ามาอยู่กันเฉยๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดขึ้นมาทุกคนก็สงสาร ทุกคนก็เห็นสังคมแล้วทุกคนก็มีความเมตตา คนที่เห็นถูกแล้วทุกคนก็สงสารเขา ก็อยากจะจูงมาให้ถูกทาง แล้วพอเวลาเราพูดออกไป เห็นไหม เวลามันเปียกฝนขึ้นมาปฏิเสธไม่ได้.. ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องตกใจ อย่างที่หลวงตาว่านั่นแหละ หลวงตาบอกหน้าที่ของท่าน นี่ก็หน้าที่ของเรา

ให้ด่ามา ให้จัดการมา ให้เขาทำมาเถอะเต็มที่ของเขาเลย แต่เรากล้าพูด กล้าพูดนะ เพราะอะไรรู้ไหม? มีอยู่อันหนึ่งเดี๋ยวจะพูดรอบสอง อันหนึ่งที่เขาบอกว่าไอ้คนที่เอ็งว่านี่เสียใจมากเลย เพราะกำลังจะประพฤติปฏิบัติ แล้วพระสององค์มาพูดอย่างนี้ ต้องมีองค์ใดองค์หนึ่งผิดแน่นอน เสียใจมาก

นี่ไง ถ้าเราไม่แน่ใจเราจะกล้ามายืนกลางแดดไหม? แต่ของเขานี่เขามายืนก่อน พอยืนในที่สาธารณะ เพราะเขาใช้สื่อ ทีนี้เขาใช้สื่อ เขายืนในที่สาธารณะ เขาใช้ของเขาตลอดไป ใช้คนเดียวไง ทีนี้เราออกมายืน เห็นไหม สองคน พอออกมายืนคู่กันกลางแดดทั้งคู่ มันต้องมีผิดคนหนึ่ง เพราะเรายืนกระต่ายขาเดียว

ผิด! ผิด! ผิดอย่างเดียว เรารอเวลาที่จะปะทะไง รอเวลาที่จะมาหาเหตุหาผล เรารอตรงนี้ แต่คนอื่นพูดไม่มีความหมาย ไม่มีความหมาย.. แล้วจริงๆ นี่กล้าไหม? กล้าหรือเปล่า? ที่เขาพูด เห็นไหม ต้องมีผิดคนหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน ต้องมีผิดคนหนึ่ง สองคนนี้ต้องมีผิดคนหนึ่ง เสียใจมากอยากจะปฏิบัติ เราเห็นใจอยู่ แล้วเราก็เข้าใจอย่างนั้น เพียงแต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ สื่อนี้เขาก็ยึดหมด เขายึดสื่อ พอยึดสื่อไป ดูสิที่เราเอาซีดีไปแจก เห็นไหม พอแจกลบทิ้ง แจกลบทิ้ง แจกลบทิ้ง.. แต่คราวนี้พอออกไปนี่เขาลบไม่ได้ เพราะอะไรล่ะ?

แต่ถ้าเป็นเรานะ ทุกคนเวลาผู้ปฏิบัติเราต้องการหาความจริงใช่ไหม? ถ้าใครเสนอความจริงมาเราชอบไหม? เรามีเพชรอยู่เม็ดหนึ่ง เรายังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงเลย แล้วถ้ามีคนเสนอมาที่เป็นของจริงใครจะไม่ชอบ แต่นี่ของกูจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่กูรบกับมึงก็แล้วกันแหละ กูไม่ให้มึงเข้ามา กูไม่ให้มึงเข้ามา

นี่อะไรเป็นของจริงล่ะ? ตรงนี้ตกใจ ตกใจ คิดไม่ถึง เพราะเขาออกมายืนแล้วถอยไม่ได้ นี่พูดถึงสังคม พูดถึงเขาด่าไง ไม่ต้องตกใจหรอก เราจะยกแต่หลวงปู่มั่นมา ยกแต่หลวงตาเรามา ครูบาอาจารย์มา ไม่ใช่ด่า ไม่ใช่ด่านะ เทศน์.. คนเทศน์นี่ ถ้าเทศน์ไม่มีเหตุไม่มีผลนั้นมันไม่ใช่การเทศน์

“เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม”

รวมลงคือธรรม ถ้าเหตุกับผลมันไม่มี ธรรมมันมาจากไหน? เหตุกับผลมันไม่มี เห็นไหม เหตุผลไม่มีธรรมะมันมาจากไหนล่ะ? นี่ไงธรรมะเกิดเอง ธรรมะลอยจากฟ้า ธรรมะตกมาจากอากาศไม่มีหรอก มีแต่ขยะอวกาศ นี่ตกมาจากอากาศไม่มี ต้องบอกเหตุบอกผลได้ ไม่อย่างนั้นเวลาลูกศิษย์มาถามปัญหาเราจะรู้ได้อย่างไร?

ลูกศิษย์มาถามปัญหามันจะรู้ที่มาเลยนะ ภาวนาอย่างไร? นี่ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา แล้วปัญญาแล้วมันจะเกิดอย่างไร? รู้หมดนะ หลวงตานี่รู้หมดเวลาท่านเทศน์นะ พอขึ้นถึงมรรค ผล ท่านบอกว่าตรงนี้ไม่พูดข้ามไปก่อน เพราะกลัวลูกศิษย์จะเป็นสัญญาคือจำ พอจำแล้วมันจะเป็นวิปัสสนึก เวลาถ้าถึงจุดที่มันเป็นขณะที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลงท่านจะข้ามไปเลย ท่านบอกตรงนี้สำคัญท่านไม่พูด กระโดดข้ามไปเลย กระโดดข้ามไปเลย เพราะกลัวตรงนี้มาก

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงไม่มีเหตุมีผลเราจะแก้กันอย่างไร? คนเดินมาบนถนนนี่ ถนนมันขาดมันจะต่อเนื่องกันได้อย่างไร? ถนนมันต้องต่อเนื่องกันมาจนถึงเป้าหมายนั้น ถ้าถึงเป้าหมายนั้น คนที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา เคยผ่านถนนนั้นมามันจะบอกถนนนั้นผิดไปได้อย่างไร? นี่ความจริงต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าดูไปๆ นะ แล้วมันจะเป็นเอง อ้าว.. มึงขึ้นถึงต้นถนน แล้วมึงจะมาถึงปลายทางโดยที่ไม่ผ่านถนนมา มันเป็นไปได้อย่างไร?

มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี่มันบอกหมด เรื่องอย่างนี้นะเราไม่พูด เราไม่พูดเพราะอะไร? เพราะว่าถ้าพูดแล้วมันแบบว่า เห็นไหม รู้เขารู้เรา นี่ปล่อยให้เข้ามา แล้วถึงเวลาเราจะจัดการเอง เอวัง