เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o ก.ย. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพูดธรรมะ เห็นไหม พูดธรรมะมันเหมือนธรรมะของเก่าๆ แต่การพูดใหม่ๆ การพูดทุกวันๆ การพูดบ่อยครั้งตอกย้ำ นี่อานิสงส์ของการฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน อันหนึ่งสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน เราเคยได้ยินตลอดมาแล้ว สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน หรือสิ่งที่ได้ยินมาแล้ว แต่! แต่ยังไม่มั่นใจ ลังเลใจ สิ่งที่เคยได้ยินแล้วตอกย้ำสิ่งที่เป็นความลังเลสงสัย

สิ่งที่เกิดขึ้น.. ถึงที่สุดถ้าปฏิบัติธรรม เห็นไหม เวลาผู้ที่ฟังธรรมนั่งสมาธินี่จิตใจมันผ่องแผ้ว คำว่าผ่องแผ้วมันสะอาดในหัวใจ ถ้าจิตใจผ่องแผ้วนี้เป็นอาหารของใจ ที่เราแสวงหากันอยู่นี่ เราทำบุญกุศลกันอยู่นี่ก็เพื่อสิ่งนี้.. เพื่อสิ่งนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“ในสโมสรสันนิบาต ทุกดวงใจว้าเหว่”

ทุกดวงใจว้าเหว่! คำว่าทุกดวงใจ เห็นไหม เพราะคนเกิดมาทุกดวงใจว้าเหว่ นี่แม้แต่ผู้ที่สิ้นทุกข์แล้ว แต่ตอนเกิดมามันจะสิ้นทุกข์ได้อย่างไร? มันต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก่อน ฉะนั้น ทุกดวงใจที่เกิด นี่ทุกดวงใจว้าเหว่ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดูสิเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ว่าฉลาดกว่าสัตว์ แต่! แต่สัตว์อย่างเช่นนก กาต่างๆ มันไปตามอิสรภาพของมัน มันบินไปตามอิสรภาพของมัน

แต่มนุษย์มันเป็นสัตว์สังคม เห็นไหม ต้องสร้างกติกาขึ้นมา มนุษย์สร้างโซ่ตรวนขึ้นมาร้อยรัดตัวเองไว้ สร้างโซ่ตรวนขึ้นมามันเป็นกติกาสังคมใช่ไหม? ต้องมีกฎหมาย ประเพณีวัฒนธรรม ต้องมีเพื่ออะไร? เพื่อให้คนอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข นี่ดอกไม้หลากสี เขาเอามาร้อยเป็นพวงมาลัย มันก็เป็นพวงมาลัยที่เอาไว้บูชาพระ เอาไว้ต่างๆ ได้

จริตของคน ความคิดของคนมันหลากหลายนัก ถ้าไม่มีกฎหมาย ไม่มีข้อบังคับมันก็อยู่กันไม่ได้ แต่เพราะมีข้อบังคับอย่างนี้ไง แต่สัตว์มันก็มีวัฒนธรรมของเขา แต่มันมีอิสรภาพของมันตามแต่ที่มันเป็นปัจจุบันนะ แต่อิสรภาพของมัน เห็นไหม ในวงจรชีวิตของมัน มันก็มีความทุกข์ของมันทั้งนั้นแหละ

นี้พูดถึงเวลาเปรียบเทียบไง บุคลาธิษฐาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาเปรียบเทียบให้เราเห็นไง ว่ามนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นผู้ที่ฉลาด เห็นไหม แต่ว่าโง่กว่าสัตว์ คำว่าโง่กว่าสัตว์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ใช่ไหม? เราก็เป็นมนุษย์ใช่ไหม? เพียงแต่พูดให้เราได้คิดไง แต่ถ้าพูดว่าโง่กว่าสัตว์ได้อย่างไร? เราคิดทางวิทยาศาสตร์ ฟังแล้วมันฟังไม่ได้หรอก ฟังแล้วนะมนุษย์มันต้องฉลาดกว่าสัตว์ มนุษย์เอาสัตว์มาใช้งานได้ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเปรียบเทียบนี่เปรียบเทียบให้เราสะเทือนใจไง

ธรรมะนี่เป็นการเทียบเคียงไง การสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเทียบตัวอย่าง เหมือนถามปัญหานี่ตอบตรงๆ ไม่ได้ ถ้าตอบตรงๆ ไปมันมีการโต้แย้งนะ ต้องอ้อม ต้องอ้อมหมายถึงว่ามีเหตุมีผล ยกตัวอย่าง ยกบุคลาธิษฐานให้เห็น ให้เข้าใจ นี่ความเข้าใจนั้นมันจะไปปล่อยทิฏฐิมานะในหัวใจของเรา

นี่การสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีวิธีการหลากหลายนัก ทีนี้การประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติ นี่เราปฏิบัติตัวของเรา ดูสิเราอยากได้บุญกุศลกันมา เราขวนขวายกันมา เราขวนขวาย เราทำของเรามาเพื่ออะไร? เพื่อหัวใจของเรา ถ้าเพื่อหัวใจของเรา นี่เรื่องของวัตถุมันเป็นวัตถุที่จับต้อง แต่เรื่องของนามธรรม เรื่องของความพอใจ เรื่องของบุญกุศลมันอยู่ในหัวใจของเรา

มันอยู่ในหัวใจของเรานะ ความพอใจ ความสุขที่ซื้อไม่ได้.. อามิส เห็นไหม บุญกุศลที่เราทำกันอยู่นี่เป็นอามิส ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีต้องให้ผลเป็นความสุขกับเรา ถ้าเราทำดีนะมันมั่นใจไง ถ้ามือเราไม่มีแผล เรามั่นใจของเรามาก ทำสิ่งใดก็ได้ นี่ผู้ที่มีศีลมีธรรมจะเข้าสังคมไหนมันก็องอาจกล้าหาญทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันมีแผล มันไม่กล้าทำสิ่งใด

นี่สิ่งที่เป็นบุญกุศลเป็นอามิส อามิสนี่ขับเคลื่อนไปตามกำลังของอามิส มันเป็นผลของวัฏฏะ แต่สุขเวลาเราทำสมาธิขึ้นมา.. นี่จริงๆ นะ คำนี้เราพูดบ่อยมาก พูดทุกวันเลยว่าว่างๆ ว่างๆ มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันไม่ถึงใจหรอก มันไม่ถึงใจ คำพูดมันไม่ถึงใจหรอก แต่ถ้ามันว่างอยู่ในตัวของมันเองนะ อึ๊! อึ๊! โอ้โฮ.. มันถึงใจมาก

เราจะบอกว่า “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของความปล่อยวาง รสของความปล่อยวางนะ ความปล่อยวางที่ว่าคำว่าหินทับหญ้าเราก็บอกว่ามันไม่มีอะไรเลย แต่รสของการปล่อยวาง การปล่อยวางแล้วนะ แล้วถ้ามันถอดถอนได้มันคนละรส รสชาติมันละเอียดแตกต่างกันมาก ถ้ารสชาติละเอียดแตกต่างกัน ดูสิรสชาติของธรรม ธรรมรส

ถ้ารสชาติของธรรม คำพูดมานี่เหมือนกับผลไม้ อย่างเช่นส้ม เห็นไหม ธรรมชาติของเรา เราปอกเปลือกทิ้งนะ เรากินแต่เนื้อส้ม เราจะบอกว่าโอ๋ย.. เนื้อส้มหวานมากเลย แต่เด็กมันไม่รู้ใช่ไหม? มันก็กินทั้งเปลือกส้มนั่นแหละ ทำไมส้มมันขม ส้มมันขม เราก็รู้ส้มขมคือเปลือกใช่ไหม? มันกินเปลือก แต่ถ้ามันกินเนื้อส้ม มันกินแต่ส้ม

เพราะมีนะเราดูอยู่ พวกโยมเขาไปต่างประเทศ เขาบอกว่าการบินไทยเขาเสิร์ฟมังคุด ฝรั่งไม่รู้นะมันยกมังคุดมันกัดเลย มันปอกไม่เป็น เห็นไหม บอกว่ากินเปลือกส้มนี่เราไม่เข้าใจนะ บอกมันเป็นไปไม่ได้หรอก มนุษย์ก็เป็น มนุษย์ก็มีปัญญา ใครจะกินเปลือกส้มเขาก็ปอกกันทั้งนั้นแหละ นี่ฝรั่งมันไม่รู้จักมังคุด มันเอามังคุดแล้วก็เอาปากเคี้ยวเลย จนต้องบอกวิธีกินเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราคิดว่าเราเข้าใจๆ เราคิดว่าเข้าใจนะ อวิชชา! อวิชชา! ความละเอียดลึกซึ้งของใจลึกซึ้งกว่านี้นัก ลึกซึ้งกว่าสิ่งที่เราคิดนัก เพราะลึกซึ้งถ้าเราไม่สัมผัส เราไม่รู้ ไม่รู้หรอก อย่างไรก็ไม่รู้ ธรรมะบอกอย่างไรก็ไม่รู้ ทฤษฎีรู้ไม่ได้ ถ้ารู้ได้นะพระพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ.. ปริยัติแล้วปฏิเวธไม่มี ปริยัติต้องปฏิบัติ

คำว่าปฏิบัตินี่ใช่ศึกษามา ศึกษามาแล้วปริยัตินี่ ธรรมวินัยนี่ใช่เราเคารพบูชาทั้งนั้นแหละ แต่เวลาปฏิบัติ เวลาถ้าปฏิบัติแล้ว ถ้ามาแล้วมันเป็นการสร้างภาพในใจ เราบอกคนสร้างภาพๆ นี่เราเห็นได้ไหม? แต่ถ้าใจเราเองมันสร้างของมันโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าเรารู้ตัวจะหลงได้อย่างไร? รู้ตัวติดได้อย่างไร? เราไม่รู้หรอก เราไม่รู้

เพราะเราไม่รู้นี่ไง เพราะเราไม่รู้พอไปสัมผัสอย่างนั้นปั๊บ ทีนี้พอจะแสดงออกมา คำพูดออกมามันฟ้องหมดแหละ มันฟ้องออกมาว่าหยาบหรือละเอียด เห็นไหม ดูสิมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ความคิดหยาบๆ เราคิดว่าใช่หมดแล้วไง พอคิดว่าใช่แล้วมันก็ทอดธุระ มันก็วางแล้ว แล้วสิ่งที่เราจะเข้าไปอันละเอียดจะเข้าไปได้อย่างไร? ถ้าเข้าไปละเอียดนะ อ๋อ.. โอ้โฮ.. โอ้โฮ.. ร้องโอ้โฮนะ โอ้โฮ

ดูหลวงปู่บัวสิ หลวงปู่บัวที่ว่าหลวงตามหาบัวไปแก้ที่วัดป่าแก้วชุมพล เห็นไหม

“อ้าว.. ว่ามาสิ”

พอว่ามาเป็นขั้นๆ ขึ้นไปนะ หมดแล้ว นี่ใช่ หลวงตาท่านอุทานเลย โอ้โฮ! แล้วท่านบอก เห็นไหม มันเข้าไปอีก ยังเข้าไปอีก แต่คนเข้าใจว่าหลวงปู่บัวท่านจะอธิบายของท่านไปเรื่อยๆ เลย เรื่อยๆ แล้วหลวงตาบอก

“อ้าว.. ต่อไปสิ”

“แค่นี้แหละ ก็นี่ว่าสุดแล้ว”

ท่านอุทานเลยนะ “อ้าว.. วันนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์นะ นี่ให้ทำต่อไป ให้ทำต่อไปอีก”

นี่พอความเข้าใจว่า พอความเข้าใจว่ามันก็ทอดธุระ พอมันทอดธุระมันจะละเอียดเข้าไปได้อย่างไร? มันละเอียดเข้าไปไม่ได้หรอก สิ่งที่ละเอียดเข้าไป นี่ภาคปฏิบัติมันพูดได้รู้ได้ ทีนี้ประสาเรานี่เราไม่รู้ พอเราไม่รู้ โดยปริยัติมันเทียบเคียง นี่เวลาพูดมันพูดแก้ไขใคร?

เราถึงพูดพระไตรปิฎก เห็นไหม ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าพูดกับใคร? เวลาพูดกับคฤหัสถ์ท่านก็สอนเรื่องพื้นฐาน แล้วพูดกับใครล่ะ? ถ้าพูดกับพระสารีบุตร พูดกับพระอรหันต์ด้วยกัน พูดต่างๆ ธรรมะมันจะละเอียดไปอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นเวลาพระสารีบุตรไปเทศน์สอนคฤหัสถ์กลับมา นี่เพราะว่าไปเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ พอเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ เสร็จแล้วก็บอกว่าขันธ์ ๕ ทิ้งขันธ์ ๕ หมด พอทิ้งขันธ์ ๕ ก็ไปอนาคามี

ไปรายงานพระพุทธเจ้าไง บอกว่าวันนี้ไปเทศน์สอนคฤหัสถ์มา บอกเขาว่าอย่างนั้น นี่นึกว่าเป็นผลงานไง พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอทำไมสอนต่ำทรามอย่างนั้น อนาคามีนะ ทำไมไม่สอนไปกว่านั้น” ในพระไตรปิฎกมีหมดแหละ ในพระไตรปิฎกมี เวลาคนอ่านพระไตรปิฎก วุฒิภาวะของเราจะรู้ได้แค่ไหนว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไร? ความหมายเพื่ออะไร? แล้วพูดแค่ไหน? มันมีระดับของมันนะ

นี่พูดถึงปริยัติ แต่ถูกต้อง ธรรมและวินัยนี่เคารพบูชาทั้งนั้นแหละ แต่มันปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี้ความไม่รู้ของเรา ความประพฤติปฏิบัติของเรา นี่ก็เหมือนกัน เราสร้างบุญกุศลของเราเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิสเราต้องสร้างของเรา เราปรารถนาความสุข ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตนี้ อำนาจวาสนาบารมี ความดีนี่กลิ่นของศีลหอมทวนลม คนดี คนเสียสละ คนเป็นคนดี ความดีคุ้มครองเรานะ ผู้มีศีล ๕ นะ ศีล ๕ ย่อมคุ้มครองเรา

นี่สีเลนะสุคะติง ยันติ, สีเลนะโภคะสัมปะทา เห็นไหม ถือศีลถือธรรมมันมีโภคะ มีต่างๆ ขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะเราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เรารู้จักเก็บรักษา แต่ถ้าไม่มีศีลนะมันใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มันใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย นี่หาเท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก เวลาเข้ามาส่วนหนึ่งนะ เวลาออกไม่มีบันยะบันยังเลย แต่ถ้ามีศีลขึ้นมา จะหาได้มากได้น้อยมันก็กระเหม็ดกระแหม่ของมันนะ แล้วมันรู้จักเก็บออมของมัน จริตนิสัยก็ดีขึ้น จริตของเรา ความคิดความเห็นของเราจะดีขึ้น เพราะเราเห็นคุณค่าของมัน เรารักษาของมัน เห็นไหม

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ตระกูลไหนไม่มีการซ่อมแซมบำรุงรักษา ตระกูลนั้นจะมั่นคงไปไม่ได้เลย ตระกูลใดมีการซ่อมแซมรักษา เก็บหอมรอมริบ ตระกูลนั้นจะมั่นคง”

นี่ในวงตระกูล ในโลกนะ นี้เรื่องของโลกนะ เรื่องของโลก พระพุทธเจ้าสอนเรื่องโลกๆ นะ ยังไม่ได้พูดเรื่องปฏิบัติเลย แล้วเวลาปฏิบัติของเรา เห็นไหม ดูสิเวลาพระปฏิบัติเงียบขรึมไปหมดเลย โอ้โฮ.. พระพวกนี้นะไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่มีอะไร

นี่มนุษยสัมพันธ์อะไร? การคลุกคลีมันออกหมดเลย นี่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างรักษาใจของตัว ต่างคนต่างตั้งสติของตัว เห็นไหม ในพุทธกาลที่ว่าพระปฏิบัติ เขาปฏิบัติเขานัดกันว่าไม่พูดกันเลย ถ้าเวลามานี่เขาจะมาทำบุญเจอที่ไหน เจอพระเขาบอกให้เคาะระฆัง ต่างคนต่างมาไง ต่างคนต่างเดินมา นี่ผู้ที่มาทำบุญว่า โอ้โฮ.. พระที่นี่ไม่ถูกกัน ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าว่านี่ยอดธรรม

นี้ไงสัปปายะ เห็นไหม สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ทุกอย่างเป็นสัปปายะแล้วเราจะทำอย่างไร? อยู่ที่เราแล้ว เราจะทำอย่างไร? เราจะแสวงหาอย่างไร เพื่อความเป็นจริงของเรา เพื่อความเป็นจริงนะ ถ้าใจมันเป็นจริงขึ้นมา แล้วความเป็นจริงแล้วมันเทียบเคียงได้ มันทันกันได้ การปฏิบัติมันทันกันได้หมดแหละ ถ้าทันกันได้หมด เห็นไหม มันหลอกกันไม่ได้หรอก มันหลอกกันไม่ได้ แต่ที่มันหลอกอยู่นี้ ปัจจุบันที่มันหลอกอยู่นี่ไม่ใช่หลอกกัน เราหลอกเราก่อน เราคาดหมายก่อน เราคาดหมายแล้วเราไปเทียบเคียงกันเอง เอาสิมันเปิดเผยได้

ดูสิธัมมสากัจฉา ดูที่เจ้าคุณจูมธรรมเจดีย์ให้หลวงปู่ขาวคุยกับหลวงตา ให้หลวงตาไปหาหลวงปู่แหวน นี่มันคุยกันได้ มันสัมผัสได้ มันรู้ได้ แล้วมันรู้ได้นี่เช่นหลวงตาไปหาหลวงปู่แหวนเพราะอะไร? หลวงตาไปหาหลวงปู่แหวน เพราะหลวงปู่แหวนกิตติศัพท์ท่านร่ำลือมาก เพราะท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น

นี่ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์เนี่ย เทศน์ที่ออกไปนี่คนฟังรู้ คนฟังจริงเขารู้ตั้งแต่เทศน์ออกไป นี่ สิ่งนี้มันออกมาจากใจ การเทศน์ เห็นไหม พระนะเขาพิสูจน์กันด้วยการเทศนาว่าการหนึ่ง การเทศนาว่าการนี้อันดับหนึ่ง อันดับที่สองการนั่งตลอดรุ่ง นี่พิสูจน์ว่าพระจริงหรือไม่จริง การที่พูดออกมานี่มันออกมาจากใจ ออกมาจากขั้วหัวใจ ออกมาจากความรู้อันนั้น ถ้าออกจากความรู้อันนั้น ถ้าความรู้อันนั้นมันบิดเบือนมันจะรู้จริงได้อย่างไร?

นี่เวลาเทศนาว่าการมันเปิดใจ มันออกมาจากใจดวงนั้น ถ้าใจไม่รู้ก็คือสิ่งที่ไม่รู้นั้นออกมา ถ้าใจมันรู้ถึงสิ่งที่ออกมา นี่มันเปิดหัวอกเลยล่ะ มันเปิดข้อมูลทั้งหมดเลย ถ้าไม่รู้ไม่กล้า กระเหม็ดกระแหม่ กระมิดกระเมี้ยนอยู่อย่างนั้นแหละ โฮ้.. แล้วเมื่อนั้น เมื่อนี้ก็ว่ากันไปนะ นี่พิสูจน์พระ พิสูจน์เรื่องธรรมที่ออกมาจากใจนั่นล่ะ

สอง การนั่งตลอดรุ่ง พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริงเขาพิสูจน์กันตรงนี้ แล้วไอ้อย่างความเห็นเรา เพราะเราไม่รู้เอง เราไม่รู้ของเรานะ เราไม่รู้ของเรา เราก็คิดของเราไป มันพิสูจน์ได้นะ แต่คนที่จะพิสูจน์ได้..

นี่เราพูดบ่อย เห็นไหม ถ้าเราพิสูจน์นี่มีหลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ เรายอม ถ้ามีผู้ที่นั่งฟังอยู่ด้วยเป็นสององค์นี้นะคุยกันได้ ถ้านอกนั้นเราไม่เอา ไม่เอาเพราะอะไร? เพราะข้างในมันต่างกันแล้ว พอข้างในมันต่างกันเขาจะวัดค่าของเราไม่ได้ แต่ถ้าคนที่ทันกัน คนที่เท่ากัน วัดค่านั้นได้ ฉะนั้น สิ่งนี้มันจะน้อยลงเรื่อยๆ

ทีนี้เรื่องโลกเป็นเรื่องโลกไม่สำคัญ เรื่องโลกเป็นของโลก แต่ถ้าความจริงมันเป็นความจริงอันนั้น ถ้าความนั้นจริงนี่มันพิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้ แล้วสิ่งนี้ทุกๆ คนมีสิทธิเสรีภาพนะ เพราะทุกคนมีหัวใจ ทุกคนมีความรู้สึก ทุกคนพยายามถ้าทำของเราได้ ในหัวใจของเราได้

มันมีต้นทุนอยู่แล้วแหละ แต่ต้นทุนอันนี้มันโดนมาร มันโดนอวิชชาครอบงำไว้ แล้วเราทำบุญกุศลมันเหมือนกับสิ่งที่อัดอั้นตันหัวใจ เหมือนสิ่งที่น้ำเสียนี่เปิดมันออก เปิดมันออก เห็นไหม นี่หมุนเวียนเอาศีลเอาธรรมเข้าไปให้มันสะอาดขึ้น ให้มันดีงามขึ้น น้ำที่เป็นน้ำเสียเป็นน้ำดีขึ้นมา น้ำดีขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

นี่เราทำสมาธิ เราภาวนาของเรา นี่ปัญญาเราเกิดขึ้นมา จนทำถึงที่สุดนะมันทำลายหมด หมดสิ้นกระบวนการของมัน นี้คือผลที่เราปรารถนากันนะ เราปรารถนาสิ่งนี้เพื่อประโยชน์กับเรานะ.. นี่พูดถึงศาสนา เราทำบุญกุศลเพื่อบุญกุศล เอวัง