เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ ต.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้นึกว่าไม่มีคนไง เมื่อวาน ๔ รอบ ๕ รอบ โอ้โฮ.. เจ็บคอมาก นึกว่าจะไม่มีคน พอดีแหละเดี๋ยวจะพูดเรื่องไอ้พริกต้นนั้น ไอ้พริกต้นนั้นมันจบไม่ได้ พริกต้นนั้นจบไม่ลง เมื่อวานกลางคืนเขายังมาโต้แย้งอีก บอกว่าไม่รู้ไง

เมื่อวานพูดถึงต้นพริกต้นนั้น อีกามันกินพริกในวัด แล้วมันไปขี้ถ่ายทิ้งไว้ แล้วเม็ดพริกมันไปเกิดในป่า นายพรานป่าเขาไปเก็บพริกต้นนั้นไปกิน ว่านี่มันเป็นของๆ สงฆ์ มันเป็นของสงฆ์แล้วเขาเป็นเปรตไง ฉะนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ เด็กบอกเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่รู้มันจะเกิดกรรมได้อย่างไร เพราะความไม่รู้ไง เราย้อนกลับมา เพราะความไม่รู้เราถึงมานั่งเกิดกันอยู่นี่ไง เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ไง

เพราะความไม่รู้ เห็นไหม รู้หรือไม่รู้ เราเอาเป็นตัวตั้งไม่ได้ มันต้องเอาข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง เพราะนกมันคาบไปกินจริงๆ เพราะเราไม่รู้ของเราเอง อย่างเช่นในปัจจุบันนี้เรื่องเงินในท้องตลาด เงินที่ทำสกปรกมาในท้องตลาดนี่ เรารู้ไหม? อย่างเงินที่เขาฉกชิงวิ่งราวมา เขาเอามาฝากกับเราไว้ เราไม่รู้เพราะคนมาฝากไว้ ตำรวจมาจับนี่มีโทษไหม มีโทษทั้งนั้นแหละ

เรารู้หรือไม่รู้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม แต่เรารับของโจรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่นี่เราไม่ใช่รับของโจร เพราะเราไม่รู้ แต่เราจะปฏิเสธว่าความไม่รู้นั้นไม่ผิดไม่ได้ เพราะว่าเราไม่รู้นี้ไม่ผิดไม่ได้ ถ้าอย่างเช่นลักขโมย ถ้าไม่มีเจตนานี่ไม่ผิดใช่ไหม แต่นี้มันไปทำตามข้อเท็จจริงอันนั้น กรรมมีมากมีน้อยทั้งนั้นแหละ

อย่างของที่เอามาฝากไว้ต่างๆ อย่างเช่นในท้องตลาดมันเป็นเรื่องของโลก คำว่าโลก หลวงตาพูดประจำว่า “โลกมันสกปรก” ธรรมมันสะอาด โลกมันสกปรก แต่เราอยู่กับโลก มันเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่เราจะป้องกันไม่ได้ ทีนี้มันเป็นเวรเป็นกรรมของแต่ละบุคคล

ฉะนั้น เราบอกว่าทำไมพรานป่านั้นต้องไปเจอพริกต้นนั้น ทำไมพรานป่าไม่ไปเจอพริกต้นอื่น ทำไมพรานป่าไม่ไปเจอสวนพริกที่เขาปลูกไว้ล่ะ เห็นไหม มันเป็นเวรเป็นกรรมของคนๆ นั้น เวรกรรมนี่ ถ้าเวรกรรมเกิดขึ้นมาแล้วมันเป็นอย่างนั้น อย่างที่ว่าเป็นของๆ สงฆ์ เรื่องอย่างนี้มันก็เลยเป็นเรื่องโลกแตกเลย

ฉะนั้น เป็นของๆ สงฆ์ ของๆ สงฆ์ นี้เป็นของๆ สงฆ์ไหมเนี่ย ไม่เป็นของๆ สงฆ์ นี่โยมมาถวายทาน บุคคลเป็นผู้รับ เห็นไหม คณโภชน์ ภิกษุ ๔ องค์ฉันรวมกันเป็นวงเป็นคณโภชน์ ภิกษุฉันแยกออกจากกันต่างหากเป็นบุคคล ฉันแยกจากกันเป็นบุคคลนะ คณโภชน์คือภิกษุ ๔ องค์รวมกัน แล้วหันหน้ารวมกันเป็นคณะ อย่างนั้นคือคณโภชน์

นี้ไม่ใช่คณโภชน์ นี้เป็นบุคคล สิ่งที่เป็นบุคคล ได้มานี่เป็นบุคคล เห็นไหม เพราะเราศึกษาตามตำรากันมา ตามตำราบอกว่า นี่เวลาพระพุทธเจ้าบอกว่า

“เวลาทำบุญ ควรทำบุญที่ไหน”

พระพุทธเจ้าบอก “ตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าลงมาเรื่อยๆ จนถึงถ้ามีพระที่ไว้ใจไม่ได้ ก็ให้ถวายสังฆทาน”

พอสังฆทานปั๊บ มันก็ไปเขียนกันว่า “โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ” ภิกขุสังโฆมันก็เซ็นสัญญา พอเซ็นสัญญาขึ้นมาแล้วต้องทำสัญญานั้น พอภิกขุสังโฆ เห็นไหม มันก็ต้องอุปโลกน์ อุปโลกน์แล้วมันก็จบกันไป แต่ถ้าสีละวันตัสสะล่ะ สีละวันตัสสะมันก็จบ มันจบกระบวนการได้

ถ้าเป็นของสงฆ์ มันก็เอามาอุปโลกน์มันก็จบ ไม่ใช่ว่าพอของๆ สงฆ์แล้วจะทำอะไรไม่ได้เลย เว้นไว้แต่สิ่งที่แจกไม่ได้ เห็นไหม ครุภัณฑ์แจกไม่ได้ เรื่องโต๊ะ เรื่องตั่ง เรื่องต่างๆ อย่างเช่นที่ดินมันแจกไม่ได้ ของแจกไม่ได้ก็คือของแจกไม่ได้

ถ้าของแจกได้ ภิกษุแจกของใช้ของสอยนี่ของแจกได้ แต่เป็นเครื่องใช้ไม้สอยแจกไม่ได้ แจกไม่ได้เพราะมันเป็นของๆ วัด ของๆ วัดนี้แจกไม่ได้ เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่จากวัดๆ หนึ่งให้อีกวัดๆ หนึ่ง จากสงฆ์นี้ให้กับสงฆ์นั้น อย่างครูบาอาจารย์ท่านให้ นี่มันทำได้ มันทำของมันได้ แต่พอเราไปเกร็งอย่างนั้นว่าเป็นของๆ สงฆ์ แล้วอะไรเป็นของสงฆ์ล่ะ ทุกอย่างถวายนี้เป็นของสงฆ์หรือ

เพราะเวลาเราถวายทานกัน นั่นล่ะภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต นั่นล่ะเป็นของสงฆ์ สงฆ์ต้องอุปโลกน์ แต่ถ้าอย่างนี้เราไม่ได้กล่าวคำถวายใช่ไหม มันเป็นเจตนาบริสุทธิ์ของเราใช่ไหม เราจะปรารถนาสิ่งใดก็เป็นอย่างนั้น ปรารถนาเป็นสังฆทานก็เป็นสังฆทาน สังฆทานของเราไง นี่อย่างเช่น กัปปิยัง กะโรหิ กัปปิยัง ภันเต

มันเป็นวินัยกรรม พวกโยมก็โอ้โฮ.. อยากจะช่วยพระไง พอเอาส้มมาก็ปาดไว้หมดแล้ว อันนี้กัปปิแล้ว.. วินัยกรรมต้องทำต่อหน้า! วินัยกรรมจะไปทำส่วนตัวไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเป็นความรังเกียจของพระ พระรังเกียจ เห็นไหม

อย่างของพีชคามและภูตคาม พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ของนี้ภูตคาม ของนี้มีสิทธิ์ที่มันเกิดได้ ภิกษุฉันไปแล้ว ในพระไตรปิฎกว่าฉันถั่วเขียว กับฉันอะไรที่ว่าไปถ่ายแล้วมันยังเกิดอีกไง ภิกษุมีความรังเกียจ มีความรังเกียจว่าโยมเอามาถวายทาน ภิกษุนั้นไม่ยอมฉัน พอไม่ยอมฉันก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกมาว่า

“ทำไมถึงไม่รับของเขา”

“พอข้าพเจ้าฉันแล้ว ไปถ่ายแล้วมันยังเกิดได้อีกเลย”

เห็นไหม มีความรังเกียจ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เลยบอก

“อย่างนั้นให้เธอทำกัปปิยัง กะโรหิ”

สิ่งนี้โยมเอาของมาถวายพระแล้ว พอถวายพระแล้ว สิทธิแล้ว แต่ตัวสิทธิของพืชมันเกิดได้ ตัวสิทธิของพืชมันยังเกิดได้ มันยังมีสิทธิ์ของมัน เห็นไหม ต้องกัปปิยัง กะโรหิ กัปปิยะของนี้สมควรแก่สงฆ์ไหม นี่ถ้าสงฆ์บอกสมควรแล้ว มัน ๒ ชั้นไง พอสมควรแก่สงฆ์แล้ว สงฆ์นั้นฉันได้

นี่เป็นวินัยกรรม วินัยกรรมคือการกระทำต่อหน้า แต่เดี๋ยวนี้ไปบิณฑบาตสิ โอ้โฮ.. ปรารถนาดี “หลวงพ่อ กัปปิให้เสร็จแล้ว กัปปิให้เสร็จแล้ว” กัปปิอยู่คนเดียว ก็เอ็งพูดอยู่คนเดียว มันเป็นความรังเกียจของผู้รับ มันไม่ใช่ความรังเกียจของผู้ให้ ผู้ให้เขาให้ด้วยความพอใจอยู่แล้ว เพราะผู้ให้เป็นคฤหัสถ์ ศีลของเขาไม่เหมือนกับพระ ศีลของเขาศีล ๕ ศีล ๑๐ เท่านั้น แต่พระนี้ถือศีล ๒๒๗ นั่นเป็นวินัยกรรม มันแก้ไขได้ไง

แต่สิ่งที่เป็นต้นพริกนั้นมันเป็นเวรเป็นกรรม สิ่งที่มันเป็นเฉพาะส่วน ฉะนั้นก็เลยเดือดร้อนกันไปหมดเลย โอ๋ย.. อย่างนี้ขยับไม่ได้เลย เป็นเปรตกันไปหมดเลย.. เป็นเปรตถ้าหัวหน้ามันโง่ ถ้าหัวหน้ามันฉลาดมันไม่เป็นเปรต มันเป็นการส่งเสริมกัน บริษัท ๔ พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วนะ

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมปรินิพพาน”

จนวันสุดท้าย “บัดนี้! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราสามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

นี่ไง กล่าวแก้การกระทำ เป็นผู้ที่ชี้นำให้ความถูกต้อง ความผิดพลาดนี้มันมีไหม ความถูกต้อง ความผิดพลาด แล้วทิฐิมานะของคนมันหลากหลายไปทั้งนั้นแหละ นี่เราบอกมันเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่รู้.. เราสลดตรงนี้ไง สลดตรงที่ว่าเหมือนกับไก่ เวลาพรานป่ามันมามันเอาหัวซุกไปในใบไม้ มันคิดว่าไม่มีใครเห็นมันไง เวลาไก่มันหนีตายนะ พอพรานจะยิงมัน มันเอาหัวซุกเข้าไปในใบไม้นะ มันบอกว่าไม่มีใครเห็นมันไง มันเอาหัวซุกไว้นั่นล่ะ มันไม่เห็นเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิเสธว่าไม่รู้ ตัวมันทั้งตัวโผล่มานั่นนะ มันเป็นการกระทำ มันเป็นเวรเป็นกรรมของมันนะ เราปฏิเสธส่วนปฏิเสธสิ แต่ความจริงเป็นความจริงของมันสิ มันเอาหัวซุกไปในใบไม้เลย กูไม่รู้ไม่ชี้ กูไม่รู้ไม่ชี้ กูไม่รู้ กูไม่รับรู้ นี้เขาบอกว่าเราไม่รู้ คำว่าไม่รู้คืออวิชชา เพราะความไม่รู้ของเรา เราถึงได้ผิดพลาดกันมาอยู่นี่ไง แต่ถ้าความรู้ของเราเกิดขึ้นมา จะเกิดขึ้นมาอย่างไร?

เกิดมาก็นี่การศึกษา กาลเวลา วุฒิภาวะ เปิดหรือไม่เปิด ถ้าไม่เปิดมันก็ยืนกระต่ายขาเดียวไปอย่างนั้นแหละ ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีความผิด ไม่มีความผิด.. เพราะมันเรื่องโลกกับธรรม เราปฏิเสธไม่ได้หรอก เราเกิดมาแล้ว สังคมมันมี ดูสิเราอยู่ในสังคม ดูคนมาสัมพันธ์กับเราสิ มันกะล่อน ปลิ้นปล้อนขนาดไหน มันเป็นอย่างนั้นแหละ นี่เป็นคนนะ แล้วเป็นวัตถุล่ะ?

ดูสิ เช่นเงินนี่ พูดถึงฟอกเงิน เงินสกปรก เงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดมันมากมายขนาดไหน แล้วมีใครรู้มันบ้าง แล้วเราใช้สอยบ้างหรือเปล่า ถ้าเปรียบเป็นของสงฆ์มันก็เป็นเปรตหมดเลย เพราะเงินที่ทุจริตหมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดมีเท่าไหร่ แล้วใครรู้บ้าง แต่มันรู้ได้ รู้ได้ถ้าเวลาเขาจับได้ เขาเข้าห้องแล็ป เขาพิสูจน์ได้มันมีสารใช่ไหม อย่างเช่นยาบ้ามันก็มีสารของมัน มีสิ่งต่างๆ เขาพิสูจน์ได้ อย่างที่มาที่ไปของเงินก็พิสูจน์ได้ แต่พวกเราเทคโนโลยีมันไม่ถึงไง เราอยู่ในสังคมนี่

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นไป พริกต้นนั้นมันเป็นเวรเป็นกรรม เป็นเฉพาะส่วน เป็นเฉพาะของคนที่ไปประสบ แล้วทุกคนจะไปเจอพริกต้นนั้นหรือ พริกต้นนั้นมันก็เป็นพริกต้นนั้น นี่อยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกว่าอย่างนั้นจริงๆ ดูสิธรรมมันละเอียดนะ พระพุทธเจ้านั่งอยู่นี้แล้วมันมีโจรหนีภัยมา มันหนีภัยมาผ่านหน้าพระพุทธเจ้าไป พอผ่านพระพุทธเจ้าไปพระพุทธเจ้าขยับ พอทีนี้พวกที่เขาจะจับมันก็ตามมา ตามมาเจอพระพุทธเจ้าก็ถามว่า

“เห็นโจรนั้นไหม”

“ไม่เห็น”

ขณะที่นั่งอยู่เมื่อกี้นั้นเห็น แต่พระพุทธเจ้าขยับ พอผ่านไปแล้วมันเห็นไหม ไม่เห็น เพราะอะไร เพราะชีวิตเขา เขาทำกรรมของเขาก็ทำกรรมของเขา ถ้าข้าราชการนั้นเขาจับโจรนั้นได้ มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของเขา แต่พระพุทธเจ้าไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลย พระพุทธเจ้านั่งอยู่นะ โจรมันผ่านหน้ามาก็รู้ว่าโจร พระพุทธเจ้าขยับ นั่งท่าใหม่

“เห็นโจรไหม”

“ไม่เห็น”

นี่กรณีอย่างนี้เราอยู่ในวงของสงฆ์นะ พระนี่ผู้ที่ปฏิบัติเขาก็ถือกันมาก เขาถือกันแบบว่าอย่างเช่นสัตว์มันกินสัตว์ มันจะได้เสียกัน เขาจะห้ามหรือไม่ห้าม จะเข้าไปแยกไหม งูมันกำลังรัดคางคกหรือรัดสัตว์อยู่ เราจะไปห้ามมันไหม เราจะแยกมันออกจากกันไหม เพราะอะไร เพราะมันเป็นลาภของงู แล้วคางคกเป็นชีวิตของมัน เราจะเห็นว่าอิ่มหนึ่งกับชีวิตหนึ่ง อันไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน?

แต่เราแยก เราอยู่ในป่าเราแยกบ่อย เราเจอนี่ พองูมันรัดพวกเขียดพวกอะไร มันจะร้องมาก พอร้องแล้วเราจะไปช่วยมัน พอทีนี้ไปช่วยมัน พระก็บอกว่า “อ้าว.. มันเป็นลาภของงู แล้วเราไปทำนี่ เราไปแย่งไปชิงลาภของมัน ลักทรัพย์หรือเปล่า” อู้.. เราธุดงค์มานะ เราเจอเรื่องนี้มาเยอะ เวลาพระเขาเคร่งๆ นะ เวลาเขาเถียงกันเรื่องอย่างนี้ แล้วเราไปทำนี่เขาปรับอาบัติว่าผิดหรือไม่ผิด แล้วเราถึงว่าเราจะผิดหรือไม่ผิด

นี่ก็เหมือนกัน อย่างที่พูดไป พอพูดเรื่องพริกต้นนั้นก็เป็นปัญหานะ พอพูดถึงโจรผ่านมาแล้วขยับ เดี๋ยวจะเป็นปัญหารอบ ๒ เพราะว่าโกหกไง อ้าว.. ก็เห็นอยู่เมื่อกี้แล้วบอกว่าไม่เห็น เพราะถ้ามันครบองค์ประกอบมันก็โกหกใช่ไหม แต่นี้ได้เปลี่ยนท่าใหม่ ท่าเมื่อกี้นั่งอยู่มันเห็นใช่ไหม เปลี่ยนท่าใหม่ อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวนะ

แต่เรื่องชีวิตคนนี่.. ใช่ เขาทำกรรมมา เขาเป็นโจรมา ถ้าเขาจับไปเพื่อประโยชน์ของสังคมก็จริงอยู่ แต่ชีวิตคน พระพุทธเจ้าเห็นชีวิตคนมีคุณค่า แล้วจับได้หรือไม่ได้มันเป็นสิทธิระหว่างเจ้าหน้าที่กับโจรนั้น แต่พระพุทธเจ้าจะว่าอนาคตังสญาณก็รู้ พระพุทธเจ้ารู้อนาคตังสญาณ แต่มันเป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์นะ สิ่งที่เป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์ ถ้าพูดไปเฉพาะเจาะจง แล้วเราถือเฉพาะเจาะจง เห็นไหม

มหาปเทส ๔ สิ่งใดที่บัญญัติแล้วนะ เข้ากับสิ่งที่บัญญัตินั้นได้ ให้ควรไว้เป็นบัญญัติ สิ่งใดที่ยังไม่บัญญัติ มันยังไม่มี แล้วถ้าสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ ให้ถือว่าเป็นอย่างนั้น.. ให้ถือว่า! ในปัจจุบันนี้ยิ่งไปใหญ่เลยนะ เทคโนโลยีเจริญขึ้นมา สิ่งใดที่เป็นอาหารเลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นเป็นอาหาร

นี่อยู่ในพระไตรปิฎก แล้วคอฟฟี่เมต แล้วต่างๆ มันเลี้ยงทารกได้ไหม แล้วเราจะตัดสินกันอย่างไร แล้วพอเวลาพูดกันไป ส่วนประกอบมันไม่เข้ากับองค์ประกอบของวินัย แล้วเวลาเราอยู่บ้านตาดใหม่ๆ ที่ออกมาใหม่ๆ เขาถามหลวงตาเลยว่า

“นี่ฉันได้ไหม”

หลวงตาบอก “ไม่ได้”

“เพราะเหตุใด”

“เพราะมันไปบำรุงปอบ มันไปบำรุงความอยากไง”

ถ้าพูดทางศีลปั๊บ วินัยกฎหมายมันตีความกัน มันเถียงกันหัวชนฝาเลย แต่พื้นจริงท่านก็มีคำตอบของท่าน แต่ท่านพูดให้เด็ดขาดเลย “มันไปบำรุงปอบ คือไปบำรุงกิเลส” ไม่ให้ฉัน! แต่ทีนี้ในทางโลกเขาว่ากันไปประสาของเขา อะไรฉันได้หรือไม่ได้ก็ว่ากันไป

นี่ธรรมวินัย วินัยมันเป็นอย่างนั้น แต่มันอยู่ที่คนนี่หยาบหรือละเอียด ถ้าคนละเอียดนะเขาเข้าใจของเขา ถ้าคนหยาบนะแล้วมันเป็นกาลเทศะ มันเป็นกาลเป็นเวลา มันเป็นกาลเวลาหนหนึ่ง เห็นไหม ดูสิ สมัยพุทธกาลนะ ข้าวยากหมากแพง ภิกษุไปเจอมะม่วง ไปเจอของที่ตกอยู่ ภิกษุให้เก็บได้เลย เก็บมาแล้วไปเจอใครที่ไหน วางให้เขาประเคนให้ ถ้าไม่มีใครมาวางประเคน ให้บังสุกุลเอา ถ้าหิวแล้วให้ฉันได้เลย

แต่สุดท้ายแล้ว พอพ้นจากยุคข้าวยากหมากแพงปั๊บ พระพุทธเจ้ายกเว้นวินัยข้อนี้ออกไป แต่เมื่อก่อนถ้าเจอของนี่หยิบเอาได้เลย บังสุกุล แล้วถือไว้นี่ห้ามกิน ห้ามฉัน แล้วเดินไป ถ้าไปเจอใครให้วาง ให้เขาประเคนให้เรา เพราะเวลาข้าวยากหมากแพง เห็นไหม มันเป็นกาลเทศะที่พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยจะให้มันสะดวกสบายทั้งนั้นล่ะ แต่สะดวกสบายโดยที่ว่าเราไม่แถนะ เราไม่แถ เราไม่ทำให้กิเลสมันพอกขึ้นมาในหัวใจ

นี่ของนี้เป็นของสงฆ์หรือไม่เป็นของสงฆ์ ถ้าเป็นของสงฆ์ก็ทำให้เป็นของที่ควรแจกกันได้ ของๆ สงฆ์นี่ทำให้ควรเป็นของแจกกัน ไม่ใช่ของๆ สงฆ์แล้วเป็นของๆ สงฆ์ตายตัวไปแล้วใช้อะไรไม่ได้ ทีนี้พอคำว่าของๆ สงฆ์นั้นมันตายตัวไปแล้ว มันเป็นกรรม นี่กรรมมันส่วนกรรม มันเป็นส่วนกรรมนะ นี้พูดถึงธรรมวินัย ไม่ใช่ยืนกระต่ายขาเดียวเลย อย่างนี้ทำอะไรไม่ได้เลย ก็แข็งทื่อ กลายเป็นซื่อบื้อไปเลยหรือ

วินัยจะทำให้เรียบง่าย วินัยทำให้พวกเราอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข วินัยไม่ใช่ทำร้ายใคร นี่หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ “ธรรมวินัยไม่ทำร้ายใคร ธรรมวินัยไม่ทำให้ใครต่ำทรามไป” เราทำให้ถูกต้องดีงามแล้ว ไม่มีหรอก มันไม่ผิดพลาดไปหรอก แต่นี้เพราะกิเลสไง ไม่ยอมรับอะไรเลย ไม่ผิด แล้วไม่แก้ไข อ้าว.. ก็ไม่รู้ พริกมันเกิดขึ้นมาเอง ไม่รู้ๆๆ

ไม่รู้คืออวิชชา! ไม่รู้คืออวิชชาตัวพาตายพาเกิด แต่ถ้ารู้ขึ้นมา ศึกษาขึ้นมา แก้ไขขึ้นมาแล้ว นี่ถึงวาระของกรรมมันมา ถ้าไม่ถึงวาระของกรรมมันมา เราเกิดมาทำไมกัน เราเกิดมาด้วยสายบุญสายกรรมนี่เกิดมาเพราะเหตุใด ก็นี่ถึงวาระที่มันมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นวาระของมัน

อันนี้วาระของเขา เขาสร้างบุญสร้างกรรมกันมา อ้าว.. นกตัวนั้นกับพรานคนนั้นมันทำอะไรกันมา มันถึงเวลาแล้วกรรมมันก็ให้ผล นั่นวาระไง นี่ธรรมะไง กรรมจัดสรรไง ธรรมะจัดสรรให้มันลงไปในจังหวะที่มันต้องไปเจอกัน

ทำไมเรามาเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกัน นี่สายบุญสายกรรมมันมาอย่างไร มันมีมาทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีสายบุญสายกรรมมา มันไม่มีหรอกจะมาเกิด อยู่ดีๆ ก็มาเจอกัน ไม่มีหรอก พระพุทธเจ้าบอก “เราเป็นญาติกันโดยธรรม” มันต้องมีสายบุญสายกรรมกันมา มันถึงมาเจอกันนะ เสร็จแล้วสิ่งที่เราอยู่ด้วยกัน เราก็เอาธรรมะเข้าหาใจ มีความผิดพลาด มีความอะไรในหัวใจก็ให้อภัยกัน เพื่อแก้ไขตรงนี้เพื่อให้มันดีไปไง ไม่อย่างนั้นมันจะดันกันไปอย่างนี้

กรรม เห็นไหม กัมมะพันธุ กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมทั้งนั้นแหละ ทำกรรมดี ทำกรรมดีไปเรื่อยๆ ถึงที่สุดแล้วให้พ้นจากกรรมดีและกรรมชั่ว พ้นจากทุกข์ไป สิ้นสุดของการประพฤติปฏิบัตินะ เอวัง